เรามาตามต่อกับคลาสการฝึกทักษะการฟัง
“สุนทรียสนทนาหรือไดอะล็อค” ในสัปดาห์ก่อนผมได้ชี้ให้เห็นความสำคัญของ
“อานุภาพแห่งการฟัง” ในฐานะเครื่องมือหลักของการบริหารด้วยหัวใจ และได้ให้โจทย์การบ้านเพื่อให้แต่ละคนกลับไปสร้าง
“เวลาคุณภาพ” เพื่อรับฟังคนรอบตัวอย่างลึกซึ้ง ด้วยความใส่ใจและไม่ด่วนตัดสิน ให้ทำแบบฝึกหัดเพื่อฝึกการฟังแบบนี้ เพียงวันละ 5 นาที แล้วนำประสบการณ์ที่ได้กลับมาแบ่งปันแลกเปลี่ยนกับกลุ่มในสัปดาห์นี้...
ผู้จัดการระดับหัวหน้าแผนกท่านหนึ่งกล่าวว่า “แต่ก่อนพอลูกน้องเข้าพบเพื่อมาปรึกษางาน ด้วยความที่ผมเองก็มีงานกองสุมอยู่บนโต๊ะด้วย ก็จะบอกให้เค้ารีบๆพูด ในขณะนั้นผมก็จะทำงานไปด้วย แต่แม้จะช่วยแก้ไขปัญหาให้ผ่านไป แต่ไม่ทันไรก็มีปัญหาแบบเดิมๆกลับมาอีก ทำให้ผมหงุดหงิดใจมาก ว่าลูกทีมทำงานไม่ได้เรื่อง คอยเอาแต่ปัญหามาให้ตลอด...”
“แต่พอตั้งใจว่า
จะรับฟังลูกน้องอย่างใส่ใจ 100% ก็จึงพักงานตัวเองไว้ก่อน ปล่อยให้เค้าพูดได้เต็มที่ ทำให้ผมสามารถมองเห็นเลยไปถึงสาเหตุที่มาของปัญหา แล้วพอเราเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า ปัญหานี้แท้จริงแล้วไม่มีใครผิด ก็จึงไม่รู้สึกหงุดหงิดกับลูกน้องอีกแล้ว ไม่คิดว่าเค้าเป็นตัวสร้างปัญหามาให้เราอีกต่อไป แต่เราและเขามาช่วยกันแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปด้วยกันดีกว่า เห็นได้ชัดว่า
บรรยากาศในการทำงานระหว่างผมกับลูกทีมดีขึ้นมากๆ...”ส่วนผู้บริหารอีกท่านสะท้อนในอีกมุมว่า “ส่วนกรณีของผมเป็นคนเจ้าระเบียบและดุ ความสัมพันธ์ในที่ทำงานก็จะเป็นในลักษณะที่ลูกน้องจะเกรงใจ มีอะไรไม่ค่อยกล้าเข้ามาปรึกษา พอไปคิดทำกันเอง ก็ผิดบ้างถูกบ้าง ทำให้ผมต้องคอยไปล้วงลูกซักถามปัญหา และคอยตัดสินใจให้ ผมก็เหนื่อย งานตัวเองก็ต้องทำ แล้วก็ต้องคอยตามแก้ปัญหาให้ลูกน้องอีก...”
“แต่พอไปทำแบบฝึกหัดการรับฟังกับพวกเค้า สักพักก็ทำให้เค้า
กล้าเดินเข้ามาหาเรามากขึ้นและเปิดใจกับเรามากขึ้น มีอะไรเค้าก็รายงานเราโดยตรง พอการสื่อสารในที่ทำงานมากขึ้น ปัญหาข้อผิดพลาดที่พบก็น้อยลงมาก ผมคิดว่าจะใช้วิธีนี้ไปตลอด
มันทำให้ผมสบายมากขึ้น ไม่ต้องคอยวิ่งไล่ตามแก้ปัญหาอีกต่อไป...”นี่เป็นผลลัพธ์ในแง่มุมเพียงเล็กน้อยที่แสดงให้เห็นถึง
“อานุภาพแห่งการฟัง” ที่เมื่อใครก็ตามนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ย่อมจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในด้านการสนทนา การสื่อสาร สร้างความสัมพันธ์ให้ดีขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ ไม่ว่าจะเป็นในที่ทำงาน หรือแม้แต่ในครอบครัวของตนเองก็ตาม...
น่าเสียดายที่หลายคนมักจะคิดว่าเป็นเรื่องที่รู้แล้ว ทำได้ง่ายๆ แล้วจึงมองข้ามความสำคัญไป เพราะ
“ทักษะการฟัง” นั้น ทำได้ยากมาก
เพราะมันกระทบโดยตรงกับอัตตาอันยิ่งใหญ่ของตัวเรา ยิ่งอัตตาตัวตนเรามากแค่ไหน คุณภาพในการฟังของเราก็ลดน้อยลงไปเท่านั้น...เราจึงจำเป็นจะต้องหมั่นฝึกฝนทักษะนี้อย่างต่อเนื่อง และผลพลอยได้ก็คือการลดทอนอัตตาตัวตนของเราไปได้มากขึ้นเช่นเดียวกัน....... ในสัปดาห์นี้ ผมจึงเริ่มนำพาทุกคน ให้ได้สัมผัสกับ
“สุนทรียสนทนา หรือไดอะล็อค” อย่างเต็มรูปแบบ อันเป็นกระบวนการกลุ่ม ที่ใช้ฝึกฝนพัฒนาทักษะการฟังสำหรับผู้เริ่มต้นได้เป็นอย่างดี โดยผมจัดให้ทุกคนนั่งล้อมกันเป็นวงกลมหันหน้าเข้าหากัน อันสื่อถึงความเท่าเทียมและร่วมกัน ไม่มีใครเป็นผู้นำ ไม่มีใครเป็นผู้ตาม ไม่มีใครเหนือกว่าใคร...
เริ่มต้นด้วย
“การปรับระดับคลื่นสมอง” เพื่อลดระดับจากโหมดความถี่สูงที่มีแต่ความรีบเร่งแข่งขัน ออกจากอารมณ์อันวุ่นวายและจิตอันฟุ้งซ่าน สู่โหมดความถี่ต่ำแห่งความผ่อนคลาย การปรับจูนคลื่นสมองให้มีความถี่ที่ช้าลง จะช่วยทำให้เกิดภาวะที่เหมาะสมต่อการรับฟังและการใคร่ครวญ เกิดการตกผลึกความคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ...
ผมนำพาให้ทุกคนหลับตา ดึงจิตกลับมาอยู่กับลมหายใจของตนเอง หายใจเข้าลึกๆยาวๆ หายใจออกเบาๆช้าๆ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อตั้งแต่บริเวณศรีษะ หว่างคิ้ว ไล่ลงมาจนถึง สัมผัสอารมณ์และความรู้สึกของตนเองในปัจจุบัน ไม่ว่ามันจะเป็นอย่างไร ให้โอกาสตนเองได้รับรู้และยอมรับมัน เว้นระยะแห่งความสงบไว้สักพักหนึ่ง แล้วให้ค่อยๆลืมตาขึ้น...
ในรอบแรกนี้ ให้แต่ละคนกล่าว
“เช็คอิน” โดยเป็นการบอกเล่าความรู้สึกสดๆที่มีในขณะนี้สั้นๆ คนละหนึ่งถึงสองนาที เพื่อให้ทุกคนได้กลับมาสัมผัสกับอารมณ์ในปัจจุบันขณะ...
มีคนบอกว่า ยังมีความกังวลใจอยู่บางเรื่อง บางคนก็คิดว่าเดี๋ยวต้องไปทำธุระอื่นต่อ หลายๆคนอาจรู้สึกว่า ร้อนไป หนาวไป ถึงตอนนี้ ผมจึงขอให้ทุกคนได้โอบอุ้มยอมรับเรื่องราวเหล่านั้น และวางใจที่จะพักวางเรื่องราวของภาระแล้วความกังวลต่างๆไว้ก่อนชั่วคราว เพื่อให้จิตใจได้ปล่อยวาง กลับมาสัมผัสความรู้สึกของตัวเอง อยู่กับปัจจุบันขณะอย่างแท้จริง...
หลังจากนั้น
ในรอบที่สอง เป็น “การเดินทางร่วมกัน” โดยเปิดเป็นพื้นที่อันว่างเปล่า ให้แต่ละคนพูดอะไรก็ได้ โดยไม่กำหนดวาระ ไม่ต้องมีหัวข้อ คนละสักสามถึงห้านาที วนกันไปไม่ต้องเรียงลำดับกัน แต่เป็นไปตามความสมัครใจว่าใครจะพูดก่อนพูดหลัง หากมีเวลาเหลือก็ให้ต่อรอบที่สามและสี่ จนกว่าจะถึงเวลากำหนดเลิก โดยมีข้อตกลงดังนี้
- ใครอยากจะพูดอะไรก็ได้ แต่ละคนไม่จำเป็นต้องพูดเรื่องเดียวกัน พูดไปคนละทิศละทางก็ได้ แต่ละคนก็ไม่ต้องสนับสนุนหรือค้านกับเรื่องที่คนอื่นพูดมา เพียงแต่พูดในมุมมองความเห็นของตนเองเท่านั้น
- พูดจากประสบการณ์ตรง พูดจากเรื่องที่มีความสดใหม่ เรื่องที่มันผุดบังเกิดขี้นมาในจิตใจขณะนั้น เป็นความจริง ณ ปัจจุบันขณะ (Moment of Truth) และบางครั้งหากเข้าถึงห้วงเวลาที่รู้สึกเปราะบางและรู้สึกไว้ใจปลอดภัยเพียงพอ ก็สามารถเปิดเผยเรื่องจริงในใจของตัวเอง ออกมาอย่างกล้าหาญ เต็มเปี่ยมไปอารมณ์ และความรู้สึก สิ่งเหล่านี้จะสร้างคุณค่าและผลกระทบกับจิตใจของผู้ร่วมวง มากกว่าความรู้ที่ไปจดจำแล้วนำมาเล่าต่อ รวมทั้งมีสำนึกที่จะไม่พาดพิงถึงเรื่องของบุคคลที่สามที่ไม่ได้อยู่ในวง อันจะทำให้กลายเป็นการนินทาไปได้
- ประเด็นในการพูดไม่สำคัญเท่าการฝึกในการฟัง ในวงไดอะล็อค เราจะร่วมกันสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการรับฟัง ด้วยการรักษาความลับในวง ฟังอย่างตั้งใจและไม่ตัดสิน ขณะที่กำลังฟังเสียงคนอื่นพูดอยู่ ขอให้ทุกคนรับรู้เสียงของตนเองในหัว รวมถึงเห็นกระบวนการรูปแบบการฟังของตนเอง
และหากในชั่วขณะใด บทสนทนาในวงเงียบลง จงใช้โอกาสในความเงียบนั้น เพื่อกลับมาใคร่ครวญในตนเอง ใช้ใจสำรวจความอึดอัดที่มาจากความเงียบนั้น ว่ามาจากสาเหตุใดกันแน่ ฟังบทสนทนาที่อยู่ลึกๆภายในตนเอง ไม่จำเป็นต้องรีบหาเรื่องมาพูด เพื่อทำลายความเงียบลง แต่จงใคร่ครวญและเลือกพูดเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น
ส่วนวงฝึกไดอะล็อคครั้งแรกของนักศึกษากลุ่มนี้จะเป็นอย่างไร พบกับตอนจบในสัปดาห์หน้าครับ........จากคอลัมน์
“การเดินทางแห่งความสุข” หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เซคชั่นกายใจ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 6 พ.ค.55
(https://fbcdn-sphotos-a-a.akamaihd.net/hphotos-ak-ash3/644369_371494916254797_1668265740_n.jpg)
[/COLOR]