ใต้ร่มธรรม
แสงธรรมนำใจ => หยาดฝนแห่งธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: sithiphong ที่ พฤศจิกายน 18, 2012, 08:07:59 pm
-
ทาน
-http://www.84000.org/tipitaka/book/bookpn01.html-
พระพุทธพจน์
เย นํ ททนฺติ สทฺธาย
วิปฺปสนฺเนน เจตสา
ตเมว อนฺนํ ภชติ
อสฺมึ โลเก ปรมฺหิ จ
บุคคลเหล่าใดมีใจผ่องใส ย่อมให้ข้าวด้วยศรัทธา
บุคคลเหล่านั้นย่อมได้ข้าวนั้นเอง ทั้งโลกนี้และโลกหน้า
ตสฺมา วิเนยฺย มจฺเฉรํ
ทชฺชา ทานํ มลาภิภู
ปุญฺญานิ ปรโลกสฺมึ
ปติฏฺฐา โหนฺติ ปาณินํ
เพราะเหตุนั้นพึงเปลื้องความตระหนี่เสีย แล้วให้ทาน
บุญเท่านั้น เป็นที่พึ่งของสัตว์ในโลกหน้า
จาก เสรีสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ข้อ ๒๘๔
ทานที่มีผลมาก มีอานิสงส์มาก
ประณีต ก้องสมุทร
สารบัญ
เรื่อง
ทานที่มีผลมาก มีอานิสงส์มาก
การใช้ทรัพย์ ๕ ประการ
มหาทาน
ทานของสัตบุรุษนัยที่ ๑
ทานของสัตบุรุษนัยที่ ๒
กาลทาน ๕ อย่าง
ให้ทานในที่ใดมีผลมาก
ทานที่เจาะจงและไม่เจาะจง ๒๑ ประเภท
สังฆทาน ๗ ประเภท
ถวายภิกษุรูปเดียว ก็เป็นสังฆทาน
ทัททัลลวิมาน-แสดงอานิสงส์ของสังฆทาน
เรื่องเศรษฐีเท้าแมว
ความบริสุทธิ์แห่งทักษณาทาน ๔
อานิสงส์ของทาน ๕ อย่าง
ทานที่มีผลมาก อานิสงส์มาก ๗
http://www.84000.org/tipitaka/book/bookpn01.html (http://www.84000.org/tipitaka/book/bookpn01.html)
.
-
ทาน
-http://www.84000.org/tipitaka/book/bookpn01.html-
ทานที่มีผลมาก มีอานิสงส์มาก
คนเราที่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ มิได้อยู่โดยลำพังเพียงคนเดียว ย่อมมี พ่อ แม่ พี่ น้อง ญาติ มิตร สหาย ข้าทาส บริวาร และบุตร ภรรยา สามีด้วยกันทั้งนั้น การที่เราจะอยู่ร่วมกับคนเหล่านั้นด้วยความสุข และเป็นที่รักของคนเหล่านั้น นอกจากจะต้องเป็นคนดี มีเมตตากรุณา มีสัมมาคารวะต่อ ผู้ที่ควรคารวะ พูดวาจาอ่อนหวานแล้ว ยังต้องอาศัยความมีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ อุดหนุน เจือจานกันเป็นเครื่องผูกใจคน เหล่านั้นด้วย
ผู้ขอบ่อยๆ ย่อมเป็นที่รังเกียจของผู้อื่นฉันใด ผู้ให้ก็ย่อมเป็นที่รักของผู้อื่นฉันนั้น
ด้วยเหตุนี้ การให้จึงเป็นการผูกน้ำใจผู้อื่นไว้ได้ประการหนึ่ง ปกตินั้นคนเรามักจะมีความตระหนี่ หวงแหนอยู่เป็นประจำใจ ยากนักที่จะหยิบยื่นสิ่งใดให้แก่ใครๆ ได้โดยง่าย เพราะฉะนั้น คนที่สามารถหยิบ ยื่นของๆ ตนให้แก่ผู้อื่นได้นั้นนับว่าน่าสรรเสริญอย่างยิ่ง ถ้ารู้จักให้เสียครั้งหนึ่งแล้ว ก็ไม่ยากเลยที่จะให้ใน ครั้งต่อๆไป
ทั้งๆที่ทุกคนรู้จักการรับ และการให้มาตั้งแต่เด็กๆ เพราะต่างก็เคยรับและเคยให้กันมาแล้ว การรับนั้นไม่ยาก ขอให้รับด้วยความอ่อนน้อมเป็นพอ ส่วนการให้นั้นเชื่อว่าคงมีคนไม่มากนักที่จะให้ได้ถูกต้อง ให้เกิดประโยชน์ ทั้งฝ่ายผู้ให้และผู้รับ เป็นการให้แบบสัตบุรุษ คือคนดีทั้งหลาย ตามที่พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ ถ้าไม่ได้ศึกษาเรียนรู้มาก่อน น้อยคนนักที่จะประพฤติปฏิบัติได้ถูกต้อง แม้แต่ทรัพย์ที่เราขวนขวายแสวงหามา เราก็ยังไม่ทราบว่าจะใช้ทรัพย์นั้นไปในทางใดจึงจะเกิดประโยชน์ ทั้งๆที่พระพุทธเจ้าก็ได้ทรงแสดง เรื่องการใช้ทรัพย์ ไว้ในอังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต อาทิยสูตรที่ ๑ (ข้อ ๔) ๕ ประการ คือ
๑. ใช้ทรัพย์ที่หามาได้โดยสุจริตชอบธรรม บำรุงเลี้ยงตนเอง บิดา มารดา บุตร ภรรยาและบ่าว ไพร่ให้มีความสุข ไม่อดยาก
๒. ใช้ทรัพย์ที่หามาได้โดยสุจริตชอบธรรม เลี้ยงดูมิตรสหายให้อิ่มหนำสำราญ
๓. ใช้ทรัพย์ที่หามาได้โดยสุจริตชอบธรรม ป้องกันอันตรายอันเกิดจากไฟ จากน้ำ พระราชา โจร หรือทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก เพื่อให้ตนปลอดภัยจากอันตรายนั้นๆ
๔. ใช้ทรัพย์ที่หามาได้โดยชอบธรรม ทำพลี คือบูชา หรือบำรุงในที่ ๕ สถาน คือ ญาติพลี บำรุง ญาติ อติถิพลี ต้อนรับแขก ปุพเปตพลี ทำบุญอุทิศให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ราชพลี บำรุงราชการมีการเสียภาษี อากรเป็นต้น และเทวตาพลี ทำบุญแล้วอุทิศให้แก่เทวดา เพราะว่าเทวดาย่อมคุ้มครองรักษาผู้นั้นด้วยคิดว่า "คนเหล่านี้แม้ไม่ได้เป็นญาติของเราเขาก็ยังมีน้ำใจให้ส่วนบุญแก่เรา เราควรอนุเคราะห์เขาตามสมควร"
๕. ใช้ทรัพย์ที่หามาได้โดยชอบธรรม บำเพ็ญทักษิณาทานที่มีผลเลิศ เกื้อกูลแก่สวรรค์ มีวิบาก เป็นสุข ไว้ในสมณะพราหมณ์ผู้เว้นจากความประมาท มัวเมา ตั้งอยู่ในขันติโสรัจจะเป็นผู้หมั่นฝึกฝนตนให้ สงบระงับจากกิเลส ในข้อ ๕ นี้ตรัสสอนให้ใช้ทรัพย์ที่หามาได้ให้ทานแก่ผู้มีศีล ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ปฏิบัติเพื่อความหมดจดจากกิเลส ผู้เป็นทักขิเณยยบุคคล เพราะทานที่ให้แก่ผู้มีศีลมีผลมาก ทำให้เกิดใน สวรรค์ ได้รับความสุขอันเป็นทิพย์ นอกจากนั้นผู้ถวายยังอาจบรรลุคุณวิเศษ เพราะธรรมที่ท่านผู้ประพฤติ ดีปฏิบัติชอบเหล่านั้นยกมาแสดงให้ฟังได้อีกด้วย ผู้มีปัญญาย่อมไม่เสียดายทรัพย์ที่หมดเปลืองไปเพราะเหตุ เหล่านี้ เพราะว่าท่านได้ใช้ทรัพย์นั้นถูกทางแล้วเกิดประโยชน์แก่ตนและผู้อื่นแล้ว โดยเฉพาะทรัพย์คือบุญที่ ท่านถวายไว้ในผู้มีศีลเหล่านั้น ยังสามารถติดตามตนไปในโลกหน้าได้อีกด้วย
ควรหรือไม่ที่เราจะใช้ทรัพย์ให้ถูกต้องตามที่พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้
และควรหรือไม่ที่เราจะใช้ทรัพย์นั้นจำแนกแจกทาน
ด้วยเหตุนี้ จึงควรที่จะรับรู้เรื่องของทาน ตลอดจนการให้ทานที่ถูกต้องไว้บ้าง เพื่อทานของเราจะ ได้เป็นทานที่มีผลมาก มีอานิสงส์มาก
คำว่า ทาน ที่แปลว่า การให้ นั้น จัดเป็นบุญเป็นกุศล เป็นความดีอย่างหนึ่ง หมายถึง เจตนาที่ เป็นเหตุให้เกิดการให้ก็ได้ หมายถึงวัตถุ คือสิ่งของที่ให้ก็ได้ ทานจึงมีความหมายที่เป็นทั้งนามธรรมและรูป ธรรม ถ้าหมายถึงเจตนาที่ให้ก็เป็นนามธรรม ถ้าหมายถึงวัตถุที่ให้ก็เป็นรูปธรรม ในที่นี้จะขอกล่าวถึงทาน ในความหมายทั้งสองอย่างนี้รวมๆกันไป
เจตนาที่เป็นเหตุให้เกิดการให้ทานนั้น แบ่งตามกาลเวลาได้ ๓ กาล คือ ปุพเจตนา เจตนาที่เกิดขึ้น ก่อน คือเมื่อนึกจะให้ ก็แสวงหาตระเตรียมสิ่งที่จะให้นั้นให้พร้อม มุญจเจตนา เจตนาที่เกิดขึ้นในขณะกำลังให้ ของเหล่านั้น อปรเจตนา เจตนาที่เกิดขึ้นหลังจากได้ให้เรียบร้อยแล้ว แล้วเกิดความปีติยินดีในการให้ของตน
บุคคลใดที่ทำบุญหรือให้ทานด้วยจิตใจที่โสมนัสยินดี ทั้งประกอบด้วยปัญญา เชื่อกรรมและผลของ กรรมครบทั้ง ๓ กาลแล้ว บุญของผู้นั้นย่อมมีผลมาก
เจตนาทั้ง ๓ กาลนี้ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องดับไปเช่นเดียวกับสังขารธรรมอื่นๆ และเมื่อดับไป แล้วสามารถจะส่งผลนำเกิดในสุคติภูมิเป็นมนุษย์และเทวดาได้ ใน พระไตรปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน แสดงความบุพกรรม คือกรรมในชาติก่อนๆ ของผู้ที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ที่เกี่ยวกับทานไว้มากมาย ตัวอย่าง เช่น พระอรหันต์รูปหนึ่งในอดีตชาติได้ถวายผลมะกอกผลหนึ่งแก่พระพุทธเจ้าที่ประทับอยู่ในป่าใหญ่ รูปหนึ่ง เคยถวายดอกบุนนาค รูปหนึ่งเคยถวายขนม รูปหนึ่งเคยถวายรองเท้า เป็นต้น นับแต่นั้นมาท่านเหล่านั้นไม่ เคยเกิดในทุคติภูมิเลย เกิดอยู่แต่ในสุคติภูมิ เป็นมนุษย์และเทวดาเท่านั้น ตราบจนในชาติสุดท้ายได้สำเร็จ เป็นพระอรหันต์
วัตถุทาน คือสิ่งของที่ให้นั้นก็มีหลายอย่าง กล่าวกว้างๆ ก็ได้แก่ปัจจัย ๔ คือ จีวร ซึ่งรวมทั้ง เครื่องนุ่งห่มด้วย บิณฑบาต ซึ่งรวมทั้งอาหารเครื่องบริโภคทุกอย่าง เสนาสนะ ที่อยู่อาศัย คิลานเภสัช คือยารักษาโรค
ในโภชนทานสูตร อัง. ปัญจก. ข้อ ๓๗ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า ทายกผู้ให้โภชนะเป็น ทาน ชื่อว่าให้ฐานะ ๕ อย่างแก่ปฏิคาหก คือ ผู้รับ ๕ อย่าง คือ ๑. ให้อายุ ๒. ให้วรรณะ คือผิวพรรณ ๓. ให้ความสุข คือ สุขกาย สุขใจ ๔. ให้กำลัง คือความแข็งแรงของร่างกาย ๕. ให้ปฏิภาณ คือฉลาดใน การตั้งปัญหาและตอบปัญหา
ถ้าจะพูดให้ละเอียดขึ้นไปอีก พระพุทธองค์ก็ทรงจำแนกวัตถุทานไว้ ๑๐ อย่างคือ ข้าว น้ำ ผ้า ยาน (พาหนะ) ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่อยู่ ที่อาศัย และประทีปดวงไฟ
ใน กินททสูตร สัง. สคาถ. ข้อ ๑๓๘ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
การให้ข้าวและน้ำ ชื่อว่า ให้กำลัง การให้ผ้า เครื่องนุ่งห่ม ชื่อว่า ให้ผิวพรรณ การให้ยานพาหนะ ชื่อว่า ให้ความสุขทั้งกายและใจ การให้ประทีบดวงไฟ ชื่อว่าให้ดวงตา การให้ที่อยู่อาศัย ชื่อว่า ให้ทุกอย่าง คือให้กำลัง ให้ผิวพรรณ ให้ความสุข และให้ดวงตา
แต่การพร่ำสอนธรรม คือการให้ธรรมะ ชื่อว่าให้สิ่งที่ไม่ตาย เพราะบุคคลจะพ้นจากความตาย ไม่ต้องเกิดอีกได้ ก็เพราะอาศัยการได้สดับตรับฟังธรรม ด้วยเหตุนี้พระพุทธองค์จึงตรัสว่า
การให้ธรรมะชนะการให้ (สิ่งอื่น) ทั้งปวง แม้การจะทำทานให้ถูกต้องก็ต้องอาศัยการฟังธรรม
ใน วนโรปสูตร สัง สคาถ. ข้อ ๑๔๖ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบเทวดาที่มาทูลถามว่า ชนพวก ไหนมีบุญเจริญในกาลทุกเมื่อ ทั้งกลางวันและกลางคืน ชนพวกไหนตั้งอยู่ในธรรมสมบูรณ์ด้วยศีล เป็นผู้ไป สวรรค์ ด้วยข้อความว่า ชนเหล่าใดสร้างอาราม (คือสวนดอกไม้ สวนผลไม้) ปลูกหมู่ไม้ (เพื่อให้ร่มเงา) สร้างสะพาน และชนเหล่าใดให้โรงน้ำดื่มเป็นทาน บ่อน้ำ บ้านเป็นที่พักอาศัย ชนเหล่านั้นย่อมมีบุญเจริญในกาลทุกเมื่อ ทั้งกลางวันและกลางคืน ชนเหล่านั้นตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นผู้ไปสวรรค์
ซึ่งมีความหมายว่า ชนเหล่าใดทำกุศลมีการสร้างอารามเป็นต้น เหล่านี้ เมื่อระลึกถึงการทำกุศลนั้น ในกาลใด ในกาลนั้นบุญย่อมเจริญ คือเพิ่มขึ้น และเมื่อชนเหล่านั้นตั้งอยู่ในธรรม คือกุศลธรรม ๑๐ มีการไม่ ฆ่าสัตว์ เป็นต้น ย่อมเป็นผู้มีศีลสมบูรณ์ ละโลกนี้ไปแล้วย่อมเกิดในสวรรค์
นอกจากนั้น เจตนาที่เป็นเครื่องงดเว้นจากปาณาติบาต เป็นต้น พระพุทธองค์ก็ตรัสว่าเป็น มหาทาน เป็นทานที่ยิ่งใหญ่ดังที่ตรัสไว้ในปุญญาภิสันทสูตร อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต ข้อ ๑๒๙ ว่า
การงดเว้นจากปาณาติบาต คือการไม่ฆ่าสัตว์ทั้งด้วยตนเองและใช้ผู้อื่น เป็นการให้ความไม่มีเวร ไม่มีภัยแก่สัตว์ทั้งหลาย เป็นการให้ความปลอดภัยแก่ชีวิตสัตว์
การงดเว้นจากอทินนาทาน คือการถือเอาของที่เจ้าของเขามิได้ให้ทั้งโดยตนเอง และใช้ผู้อื่น เป็นการให้ความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของผู้อื่น
การงดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร คือการประพฤติผิดในบุตร ภรรยา สามีของผู้อื่น ชื่อว่า ให้ความ บริสุทธิ์แก่บุตร ภรรยา สามีของผู้อื่น
การงดเว้นจากมุสาวาท คือการกล่าวเท็จ กล่าวไม่จริงชื่อว่าให้ความจริงแก่ผู้อื่น
การงดเว้นจากสุรา เมรัย และของมึนเมา เสพติด อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ชื่อว่าให้ความ ปลอดภัยแก่ทุกสิ่ง คือให้ความปลอดภัยแก่ชีวิตสัตว์ แก่ทรัพย์สินของผู้อื่น แก่บุตร ภรรยา สามีของผู้อื่น และให้แต่คำพูดที่เป็นจริงแก่ผู้อื่น ทั้งนี้เพราะผู้ที่มึนเมาแล้วย่อมขาดสติ เป็นผู้ประมาท สามารถจะประพฤติ ล่วงศีลได้ทุกข้อ รวมทั้งประพฤติผิดอื่นๆด้วย ด้วยเหตุนี้ผู้ที่อัตคัตขาดแคลนทรัพย์สิ่งของที่จะนำออกให้เป็น ทานก็ไม่ควรเดือดร้อนใจ เพราะเราสามารถจะบำเพ็ญทานที่ยิ่งใหญ่เป็นมหาทาน เป็นทานที่ไม่เจาะจง เป็นทานที่แผ่ไปยังสัตว์ทั้งหลายหาประมาณมิได้ ด้วยการรักษาศีล ๕ ยิ่งถ้าสามารถจะทำได้ทั้งสองอย่างก็ ยิ่งประเสริฐ
ขอกล่าวถึง ทาน ที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า ทานของอสัตบุรุษและทานของสัตบุรุษ ตามที่แสดง ไว้ใน อสัปปุริสสูตร และ สัปปุริสสูตร อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ดังต่อไปนี้
ทานของอสัตบุรุษ คือทานของคนไม่ดี มีอยู่ ๕ อย่าง คือ ให้โดยไม่เคารพ ๑ ให้โดยไม่ยำเกรง ๑ ไม่ให้ด้วยมือของตนเอง ๑ ให้โดยทิ้งขว้าง ๑ ไม่เห็นผลในอนาคตแล้วให้ ๑
ส่วน สัตบุรุษ ย่อมให้ทานโดยเคารพ ๑ ให้โดยยำเกรง ๑ ให้ด้วยมือของตนเอง ๑ ให้โดยไม่ทิ้ง ขว้าง ๑ เห็นผลในอนาคตจึงให้ ๑
อีกนัยหนึ่ง แสดงว่า ทานของสัตบุรุษ มี ๕ อย่าง คือให้ทานโดยศรัทธา ๑ ให้ทานโดยเคารพ ๑ ให้ทานตามกาลอันควร ๑ เป็นผู้มีจิตคิดอนุเคราะห์ให้ทาน ๑ ให้ทานโดยไม่กระทบตนและผู้อื่น ๑ ถ้าตรง ข้ามกับ ๕ ข้อนี้ก็ชื่อว่าเป็นทานของอสัตบุรุษ
-
ทาน
-http://www.84000.org/tipitaka/book/bookpn01.html-
ทานของสัตบุรุษนัยที่ ๑
๑. ให้ทานโดยเคารพ คือให้โดยความเต็มใจ ไม่ได้ให้ด้วยความเกรงกลัวหรือจำใจให้ เวลาให้
ก็ให้ด้วยกิริยาที่นอบน้อมยิ้มแย้มแจ่มใส
๒. ให้ทานโดยยำเกรง คือเคารพในทานของตนและเคารพในผู้รับ การเลือกให้แต่ของดี ของมี
ประโยชน์ ของสะอาดมีรสดี เป็นต้น ชื่อว่าเคารพทานของตน อีกประการหนึ่งผู้ที่ให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่
พอใจ ผู้ที่ให้ของที่เลิศ ย่อมได้ของที่เลิศ ผู้ที่ให้ของที่ดี ย่อมได้ของดี ผู้ที่ให้ของที่ประเสริฐย่อมเข้าถึงสถานที่
ประเสริฐ นรชนใดให้ของที่เลิศ ให้ของที่ดี ให้ของที่ประเสริฐ นรชนนั้นจะบังเกิดในที่ใดๆ ย่อมมีอายุยืน มียศ
นี้เป็นพระดำรัสของพระพุทธเจ้า
การเลือกผู้รับที่สมควรแก่ของ และเลือกผู้รับที่เป็นผู้มีศีล มีคุณธรรม ชื่อว่า เคารพในผู้รับ ข้อนี้
มิได้หมายความว่าถ้าผู้รับเป็นสัตว์ดิรัจฉาน หรือเป็นผู้ไม่มีศีลแล้ว ไม่ต้องให้ ควรให้ทั้งสิ้น แต่ของที่ดี ของที่
ประณีต ของที่สะอาด มีรสเลิศ ย่อมสมควรแก่ผู้รับที่เลิศ คือผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรม ผู้มีศีลยิ่งกว่าผู้อื่น ยิ่งให้
แก่ผู้มีศีลจำนวนมากเป็นประโยชน์สุขแก่ผู้มีศีลจำนวนมาก ที่เรียกว่า สังฆทาน ยิ่งมีผลมากจนประมาณไม่
ได้ว่าเท่านั้นเท่านี้ชาติ
๓. ให้ด้วยมือของตน ข้อนี้หมายความว่า เวลานี้เราเป็นมนุษย์ มีมือ มีเท้า มีอวัยวะครบบริบูรณ์
เราจึงควรทำทานนั้นด้วยมือตนเอง ไม่ควรใช้ผู้อื่นทำแทนอยู่เสมอๆ ถ้าจะใช้ก็ควรใช้เป็นบางครั้งบางคราว
ในเวลาจำเป็น นอกจากนั้นแล้วควรทำทานด้วยมือของตนเอง เพราะนอกจากจะทำให้เกิดเจตนาที่เป็นบุญ
ในขณะที่กำลังให้แล้ว ในวัฏฏะอันยาวนานนี้ เราไม่อาจทราบได้ว่าเราจะเกิดเป็นคนมือขาดเท้าขาดเมื่อใด
ถ้าเราเกิดเป็นคนมือขาดแล้ว แม้ของมีอยู่และเราอยากให้ทานด้วยมือของเราเอง เราจะให้ได้อย่างไร นอก
จากจะอาศัยผู้อื่นทำแทนเท่านั้น
๔. ให้โดยไม่ทิ้งขว้าง ข้อนี้หมายถึงไม่ทิ้งขว้างการให้ คือให้อยู่โดยสม่ำเสมอ ให้อยู่เป็นประจำ
๕. เห็นผลในอนาคตจึงให้ หมายความว่า ให้เพราะเชื่อว่า ทานมีจริง ผลของทานมีจริง ทาน
ทำให้เกิดในสวรรค์ได้จริง แม้เกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นผู้มั่งคั่งบริบูรณ์ด้วยทรัพย์สิน หรือเชื่อว่าทานเป็นการขัด
เกลาความตระหนี่ เป็นบันไดก้าวไปสู่สวรรค์และมรรคผล นิพพานได้ สัตบุรุษท่านเชื่ออย่างนี้จึงให้ทาน
ถ้าเป็นทานของอสัตบุรุษ ก็มีนัยตรงข้ามกับที่กล่าวนี้
ทานของสัตบุรุษนัยที่ ๒
๑. ให้ทานโดยศรัทธา ผู้ที่เป็นสัตบุรุษ คือคนดีทั้งหลายนั้นย่อมให้ทานเพราะเชื่อกรรม และผล
ของกรรมว่ามีจริงจึงให้ ครั้นให้แล้วย่อมเป็นผู้มั่งคั่งมีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเป็นผู้มีรูปงาม น่าดูน่าเลื่อม
ใส มีผิวพรรณงดงามในที่ๆ ทานนั้นเผล็ดผล
๒. ให้ทานโดยเคารพ คือ ให้ด้วยกิริยาที่เคารพ นอบน้อม ครั้นให้แล้วย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์
มาก มีโภคะมาก และเป็นผู้มีบุตร ภรรยา ทาส และคนใช้หรือคนงาน เป็นผู้เคารพเชื่อฟัง สนใจสดับรับ
ฟังคำสั่ง ตั้งใจใคร่รู้ในที่ๆ ทานนั้นเผล็ดผล
๓. ให้ทานตามกาลอันควร ครั้นให้แล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และย่อม
เป็นผู้มีความต้องการที่เกิดขึ้นตามกาลบริบูรณ์ ในที่ๆ ทานนั้นเผล็ดผล คือ เป็นผู้มีทรัพย์มาตั้งแต่วัยเด็ก
สามารถจะนำทรัพย์สินนั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ในขณะที่ยังมีกำลังวังชาแข็งแรง สติปัญญาเฉียบแหลม
ไม่ใช่ได้ทรัพย์มาเมื่อหมดกำลังกายและกำลังปัญญาจะนำทรัพย์สินนั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์แล้ว
กาลทาน หรือทานที่ให้ในกาลอันควรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงไว้ใน กาลทานสูตร
อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ว่ามีอยู่ ๕ อย่าง คือ
๑. อาคันตุกะทาน คือทานที่ให้แก่ผู้มาสู่ถิ่นของตน หมายความว่าผู้นั้นเป็นผู้มาใหม่ ยังไม่รู้จัก
สถานที่และบุคคลในถิ่นนั้น เราก็ช่วยสงเคราะห์ให้ที่พักหรือข้าวของต่างๆ เพื่อให้เขาได้รับความสะดวกสบาย
แม้พระภิกษุที่จรมาจากที่อื่น ท่านยังไม่รู้จักทางที่จะไปบิณฑบาตเป็นต้น ภิกษุที่อยู่ก่อนหรืออุบาสก อุบาสิกา
ก็ช่วยอนุเคราะห์ท่าน ด้วยการถวายอาหารบิณฑบาต และของใช้ที่จำเป็นแก่สมณะ ทำให้ท่านได้รับความ
สะดวกสบายไม่เดือดร้อน อย่างนี้จัดเป็น อาคันตุกะทาน และเป็นกาลทาน
๒. คมิกะทาน คือทานที่ให้แก่ผู้เตรียมตัวจะไป หมายความว่า ให้แก่บุคคลที่เตรียมตัวจะไปยัง
ถิ่นอื่น สัตบุรุษย่อมสงเคราะห์คนที่จะเดินทางไปนั้น ด้วยค่าพาหนะ หรือด้วยยานพาหนะ ตลอดจนเครื่อง
อุปโภคบริโภคที่สมควร
๓. ทุพภิกขทาน คือ ทานที่ให้ในสมัยข้าวยากหมากแพง ผู้คนอดอยาก ได้รับความเดือดร้อน
แม้ในสมัยที่น้ำท่วม ไฟไหม้ ผู้คนเดือดร้อนไร้ที่อยู่ การให้ที่พักอาศัย และข้าวของ เครื่องใช้ข้าวปลาอาหาร
ในเวลานั้น ก็จัดเป็นกาลทาน
๔. นวสัสสะทาน การให้ข้าวใหม่แก่ผู้มีศีล
๕. นวผละทาน การให้ผลไม้ใหม่แก่ผู้มีศีล
ที่ข้อ ๔ และข้อ ๕ จัดเป็นกาลทาน เพราะข้าวใหม่ก็ดีผลไม้ที่ออกใหม่ตามฤดูกาลก็ดี มิใช่ว่า
จะมีอยู่เสมอตลอดปี มีเป็นครั้งเป็นคราวตามฤดูกาลเท่านั้น สัตบุรุษย่อมนำข้าวใหม่และผลไม้ที่เพิ่งออกใหม่
ถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ผู้ทรงศีล แล้วจึงบริโภคเองต่อภายหลัง ท่านที่เคยมีชีวิตอยู่ในชนบทคงจะเคยพบเห็น
ว่า เวลาที่ข้าวออกรวงเป็นน้ำนม ชาวนาก็จะเก็บเอารวงข้าวอ่อนมาทำเป็นข้าวยาคูถวายพระ ข้าวแก่อีกนิด
ก็เอามาทำเป็นข้าวเม่า ข้าวสุกแล้วก็เอามาสีเป็นข้าวสารหุง ถวายพระภิกษุผู้ทรงศีลก่อน แม้ชาวสวนเมื่อ
ผลไม้แก่จัดเขาก็จะเก็บเอามาถวายพระเสียก่อน แล้วจึงนำออกขายหรือบริโภคเอง คนที่มิใช่ชาวนาชาวสวน
บางคน เมื่อเห็นข้าวใหม่หรือผลไม้ออกใหม่วางขายตามตลาด ก็ซื้อมาแบ่งถวายพระเสียก่อนแล้วจึงบริโภค
นับว่าท่านเหล่านี้ ได้ทำบุญของท่านถูกกาละเทศะเป็นอย่างยิ่ง ตรงต่อคำสอนของพระบรมศาสดา ในข้อ
กาลทาน
บางแห่งท่านรวมเอาการให้ข้าวใหม่ และการให้ผลไม้ใหม่ไว้เป็นข้อเดียวกัน แล้วเพิ่ม คิลานทาน
คือ การให้ทานแก่คนเจ็บไข้ไร้ที่พึ่ง ด้วยยา และอาหารเป็นต้น ซึ่งคิลานทาน นี้ก็สมควรจะเป็นกาลทานได้
เช่นกัน
เพราะเหตุที่กาลทาน เป็นทานที่ให้ในเวลาจำกัดทำไม่ได้โดยสม่ำเสมอ พระผู้มีพระภาคเจ้า
จึงตรัสว่าเป็นทานที่มีผลมาก ยิ่งให้ในผู้มีศีลผู้ประพฤติตรงยิ่งมีผลมาก แม้บุคคลผู้อนุโทนาต่อทานของผู้นั้น
หรือช่วยเหลือให้ทานของผู้นั้นสำเร็จผล ก็ได้รับผล ทั้งบุญของผู้ให้ก็ไม่บกพร่อง เพราะฉะนั้นบุคคลจึงควร
ยินดีในการให้ทาน ทานที่บุคคลให้แล้วย่อมมีผลมาก ทั้งยังติดตามไปเป็นที่พึ่งแก่เขาในโลกหน้าด้วย
๔. มีจิตคิดอนุเคราะห์จึงให้ หมายความว่า สัตบุรุษนั้นเมื่อเห็นผู้ใดได้รับความลำบาก ขาด
แคลนสิ่งใด ก็มีจิตคิดช่วยเหลือคนเหล่านั้นด้วยความเต็มใจ โดยไม่หวังผลตอบแทนโดยไม่คิดว่าเมื่อเรา
ช่วยเหลือเขาแล้ว เขาจะต้องตอบแทนคุณของเรา แต่ช่วยเหลือเพราะต้องการให้คนเหล่านั้นได้รับความสุข
สบาย ครั้นให้แล้วย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีโภคะมาก และเป็นผู้มีจิตน้อมไปเพื่อบริโภคกามคุณ ๕ ที่สูงๆที่ประณีต
ที่เป็นของดียิ่งๆ ขึ้นไปในที่ที่ทานนั้นเผล็ดผล
๕. ให้ทานโดยไม่กระทบตนและผู้อื่น หมายความว่าไม่กระทบคุณงามความดีของตน และ
ไม่กระทบคุณงามความดีของผู้อื่น บางคนเคยทำทานด้วยทรัพย์สินและเงินทองครั้งละมากๆ แต่บางคนก็ทำ
เพียงครั้งละเล็กๆ น้อยๆ ตามฐานะของตน คนที่ทำมากบางคนทำแล้วก็ชอบข่มคนอื่น ชอบกล่าววาจาดูถูก
ผู้อื่นที่ทำน้อยกว่า เป็นการยกตนข่มท่านอย่างนี้ชื่อว่าทำให้คุณงามความดีของตนลดน้อยลง
เพราะอะไร
เพราะเราอุตส่าห์ละความตระหนี่ นำทรัพย์สินเงินทองออกทำบุญให้ทาน แต่แล้วเราก็กลับทำลาย
ความดีของเราเองด้วยการเพิ่มกิเลส คือดูถูก ดูหมิ่นผู้อื่น ทั้งผู้ที่ทำบุญให้ทานน้อยนั้นเกิดได้ยินคำพูดอันไม่
เพราะหูนั้นเข้า ถ้าเขาขาดโยนิโสมนสิการ จิตใจที่เป็นกุศลของเขาก็ดับวูบลง แล้วอกุศลคือความโทมนัสเสีย
ใจก็จะเกิดขึ้นแทน อย่างนี้ชื่อว่าทำลาย คุณงามความดีของผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นเสื่อมจากคุณความดี คือกุศลที่มี
อยู่ หรือบางคนเป็นผู้รักษาศีล ๕ โดยเคร่งครัดแต่ได้ให้สุรายาเมาเป็นทานแก่ผู้อื่นไม่ว่าจะด้วยกรณีใดๆ ก็
ตามทำให้ผู้รับมึนเมา ขาดสติ สามารถจะกระทำบาปอกุศลต่างๆ มีการฆ่าสัตว์เป็นตนได้ อย่างนี้ก็เป็นการ
ให้ที่กระทบความดีของตนและผู้อื่นเช่นกัน เพราะเราเป็นผู้มีศีลอยู่แล้ว แทนที่จะชักชวนคนอื่นให้เขามีศีล
อย่างเรา กลับทำให้เขาเสื่อมเสียจากศีล ทานอย่างนี้สัตบุรุษท่านไม่กระทำ สัตบุรุษครั้นให้ทานโดยไม่กระทบ
ตนและผู้อื่นแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และโภคทรัพย์นั้น ย่อมไม่เป็นอันตรายจากไฟ
จากน้ำ จากพระราชา จากทายาทหรือจากคนที่ไม่เป็นที่รักในที่ๆ ทานนั้นให้ผล
นี่คือการให้ทานของสัตบุรุษ ถ้าตรงกันข้ามก็เป็นทานของอสัตบุรุษ
ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ ถ้าไม่มีเหตุ ผลก็เกิดไม่ได้ทั้งเหตุก็สมควรแก่ผลด้วย คือเหตุดี ผลต้องดี
เหตุชั่วผลต้องชั่ว ไม่ใช่เหตุดีแล้วผลชั่ว หรือเหตุชั่วแล้วผลดี ถ้าเป็นอย่างนั้นเหตุก็ไม่สมควรแก่ผล สัตบุรุษ
ท่านทำเหตุ คือทานของท่านดีผลที่ได้รับก็ต้องดีเป็นธรรมดา
ใน อิสสัตถสูตร สัง. สคาถ. ข้อ ๔๐๕ พระเจ้าปเสนทิโกศล ได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลควรให้ทานในที่ไหน
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า มหาบพิตร ควรให้ทานในที่ที่จิตเลื่อมใส คือจิตเลื่อมใสในที่ใด
ในบุคคลใด ควรให้ในที่นั้น ในบุคคลนั้น
พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลถามต่อไปว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทานที่ให้แล้วในที่ไหนจึงมีผลมาก
พระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ทานที่ให้แล้วแก่ท่านผู้มีศีล มีผลมาก ให้ในท่านผู้ไม่มีศีล
หามีผลมากไม่
เพราะฉะนั้น การให้ทานในที่ใด จึงเป็นอย่างหนึ่ง ที่นั้นมีผลมากหรือไม่ เป็นอีกอย่างหนึ่ง
ด้วยเหตุนี้ หากบุคคลที่ท่านเลื่อมใสเป็นผู้มีศีลทานของท่านย่อมมีผลมาก ยิ่งผู้มีศีลนั้นเป็นผู้
ละกิเลสทั้งปวงได้แล้ว เป็นพระอรหันตขีณาสพแล้ว ทานของท่านที่ถวายในท่านผู้มีศีลนั้น ด้วยจิตผ่องใส
ยิ่งมีผลมาก
ถึงแม้พระผู้มีพระภาคเจ้า จะทรงแสดงว่า ควรให้ทานในผู้ที่ท่านเลื่อมใส และมีศีลก็จริง
แต่พระองค์ก็มิได้ทรงสอนให้ละเลยบุคคลที่ท่านมิได้เลื่อมใส ตลอดจนสัตว์เดรัจฉาน ยาจก วณิพก
เป็นต้นเสีย เพราะเห็นว่าได้ผลน้อย ทั้งนี้เพราะขึ้นชื่อว่าบุญแล้วแม้เล็กน้อย ก็ไม่ควรประมาท ปล่อย
ให้ผ่านไปโดยไม่สนใจ ด้วยว่าน้ำที่หยดลงในตุ่มทีละหยด ก็ยังเต็มตุ่มได้ ฉันใด บุญที่ว่าเล็กน้อยนั้น
เมื่อสะสมไว้บ่อยๆ เนืองๆ ก็เป็นบุญมากได้ฉันนั้น
พระพุทธองค์ตรัสว่า การสาดน้ำล้างภาชนะลงไปในบ่อน้ำครำ ด้วยเจตนาที่จะให้สัตว์
ที่อาศัยอยู่ในที่เหล่านั้นได้รับความสุข ก็ยังมีอานิสงส์ไม่น้อย จะป่วยกล่าวไปไยกับการให้ทาน
ในผู้มีศีล หรือในบุคคลหมู่มากที่ประพฤติปฏิบัติตรง ทั้งโดยเจาะจงและไม่เจาะจง
ใน ทักขิณาวิภังคสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงจำแนกอานิสงส์
ของทานที่ให้โดยเจาะจงและไม่เจาะจงไว้ตามลำดับขั้น ถึง ๒๑ ประเภท คือ
๑. ให้ทานแก่ดิรัจฉาน มีอานิสงส์ร้อยชาติ คือ ให้อายุ วรรณะ สุขะ พละ และปฏิภาณ
ถึง ๑๐๐ ชาติ
๒. ให้ทานแก่ปุถุชนทุศีล มีอานิสงส์พันชาติ
๓. ให้ทานแก่ปุถุชนผู้มีศีล มีอานิสงส์แสนชาติ
๔. ให้ทานแก่ปุถุชนผู้ปราศจากความยินดีในกาม นอกพุทธศาสนา อย่างพวกนักบวชหรือฤาษี
ที่ได้ฌานเป็นต้น แม้ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา ก็ยังมีอานิสงส์ถึงแสนโกฏิชาติ
สี่ประเภทนี้เป็นปาฏิปุคคลิกทาน เป็นทานที่ให้โดยเจาะจง คือให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งโดย
เฉพาะ และมีผลจำกัด ยังมีปาฏิปุคคลิกทานที่มีผลไม่จำกัด คือให้ผลนับประมาณชาติไม่ได้ มากน้อย
ตามลำดับขึ้นอีก ๑๐ ประเภท ดังต่อไปนี้
๑. ให้ทานแก่บุคคลผู้ปฏิบัติ เพื่อทำให้แจ้งซึ่ง โสดาปัตติผล
๒. ให้ทานแก่พระโสดาบันบุคคล คือผู้ที่บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว
๓. ให้ทานแก่บุคคลผู้ปฏิบัติ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งสกทาคามิผล
๔. ให้ทานแก่พระสกทาคามีบุคคล
๕. ให้ทานแก่บุคคลผู้ปฏิบัติ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล
๖. ให้ทานแก่พระอนาคามีบุคคล
๗. ให้ทานแก่บุคคลผู้ปฏิบัติ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งอรหัตตผล
๘. ให้ทานแก่พระอรหันต์
๙. ให้ทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า
๑๐. ให้ทานแก่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
รวมเป็นปาฏิปุคคลิกทาน คือทานที่ให้โดยเจาะจง ๑๔ ประเภท ใน ๑๔ ประเภทนี้
ประเภทที่ ๑ มีผลน้อยที่สุด ประเภทที่ ๑๔ มีผลมากที่สุด
ทานที่ให้โดยไม่เจาะจงผู้ใดผู้หนึ่งที่เรียกว่า สังฆทาน มี ๗ อย่าง
๑. ให้ทานในสงฆ์ ๒ ฝ่าย (คือภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์) มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
๒. ให้ทานในสงฆ์ ๒ ฝ่าย ในเมื่อพระตถาคตปรินิพพานไปแล้ว
๓. ให้ทานในภิกษุสงฆ์
๔. ให้ทานในภิกษุณีสงฆ์
๕. ให้ทานในบุคคลที่ขอมาจากสงฆ์ ๒ ฝ่าย ด้วยคำว่าขอได้โปรดจัดภิกษุและภิกษุณีจำนวน
เท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า
๖. ให้ทานในบุคคลที่ขอมาจากภิกษุสงฆ์ ด้วยคำว่าขอได้โปรดจัดภิกษุจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็น
สงฆ์แก่ข้าพเจ้า
๗. ให้ทานในบุคคลที่ขอมาจากภิกษุณีสงฆ์ ด้วยคำว่าขอได้โปรดจัดภิกษุณีสงฆ์จำนวนเท่า
นี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า
สังฆทานทั้ง ๗ อย่างนี้ ปัจจุบันเราทำได้เพียง ๒ อย่าง คือให้ทานในภิกษุสงฆ์ และให้ทาน
ในบุคคลที่ขอมาจากภิกษุสงฆ์เท่านั้นเพราะพระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้ว ภิกษุณีสงฆ์ก็สูญวงศ์แล้ว
ขึ้นชื่อว่าสังฆทานย่อมมีผลมาก มากจนประมาณไม่ได้ว่าเท่านั้นเท่านี้ชาติ แม้ในอนาคตกาล
จักมีแต่ โคตรภูภิกษุ มีผ้ากาสาวะพันที่คอ หรือผูกข้อมือ เป็นคนทุศีล มีธรรมลามก พระพุทธองค์
ก็ยังตรัสว่า คนทั้งหลายจักถวายทานเฉพาะสงฆ์ได้ในเหล่าภิกษุทุศีลนั้น ทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์
แม้ในเวลานั้นก็มีผลนับประมาณไม่ได้ ปาฏิปุคคลิกทานจะมีผลมากกว่าสังฆทาน คือทักษิณาที่ถึง
แล้วในสงฆ์แม้โคตรภูสงฆ์ หาเป็นไปได้ไม่
แต่ว่าสังฆทาน จะเป็นสังฆทานได้ก็ต่อเมื่อผู้ถวายมีความเคารพยำเกรงต่อสงฆ์เท่านั้น
วางใจในสงฆ์เสมอเหมือนกันหมด ไม่ยินดีเมื่อได้พระหรือสามเณรที่ชอบใจ หรือไม่ยินร้ายเมื่อได้พระหรือ
สามเณรที่ไม่ชอบใจ หรือต้องการผู้แทนของสงฆ์ที่เป็นพระเถระ แต่ได้พระนวกะหรือสามเณรก็เสียใจ หรือ
ได้พระเถระผู้ใหญ่ก็ดีใจอย่างนี้ ทานของผู้นั้นก็ไม่เป็นสังฆทานเพราะขาดความเคารพในสงฆ์ หรือผู้แทนที่
สงฆ์ส่งไปในนามของสงฆ์ ด้วยเหตุนี้การถวายสังฆทานที่ถูกต้องจึงทำได้ไม่ง่ายนัก
ในทางพระวินัย ภิกษุ ๔ รูปขึ้นไป จึงเรียกว่า สงฆ์แต่การถวายไทยธรรมแก่ภิกษุแม้รูปเดียว
ที่สงฆ์จัดให้เป็นองค์แทนของสงฆ์ ก็จัดเป็นสังฆทานเหมือนกัน ดังมีเรื่องเล่าไว้ใน อรรถกถาปปัญจสูทนี
ภาค ๓ (หน้า ๗๑๗) อรรถกถาทักขิณาวิภังคสูตร ว่า
กุฎุมพี คือ เศรษฐีคนหนึ่งเป็นเจ้าของวัดวัดหนึ่ง ได้ไปขอภิกษุรูปหนึ่งมาจากสงฆ์ ด้วยคำว่า
ขอพระคุณเจ้าทั้งหลายจงให้ภิกษุรูปหนึ่งจากสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แม้เขาจะได้ภิกษุทุศีลรูปหนึ่งเขาก็ปฏิบัติต่อ
ภิกษุรูปนั้นด้วยความเคารพนอบน้อม ตกแต่งเสนาสนะและเครื่องบูชาสักการะพร้อม ล้างเท้าให้ภิกษุนั้น
เอาน้ำมันทาเท้าให้ แล้วถวายไทยธรรมด้วยความเคารพยำเกรงต่อสงฆ์เหมือนกับบุคคลเคารพยำเกรงต่อ
พระพุทธเจ้า ภิกษุรูปนั้นฉันภัตตาหารแล้วก็กลับวัด หลังจากนั้นได้กลับมาขอยืมจอบที่บ้านของกุฎุมพีนั้น
อีกครั้งหนึ่ง คราวนี้กุฎุมพีเอาเท้าเขี่ยจอบให้ คนที่เห็นกิริยาของกุฎุมพีนั้นก็ถามว่า เมื่อเช้านี้ท่านถวายทาน
แก่ภิกษุรูปนี้ด้วยความเคารพนบนอบอย่างยิ่ง แต่บัดนี้แม้สักว่ากิริยาที่เคารพก็ไม่มี กุฎุมพีตอบว่า
เมื่อเช้านี้เราเคารพยำเกรงต่อสงฆ์ เราหาได้เคารพยำเกรงต่อภิกษุรูปนี้เป็นส่วนตัวไม่
-
ทาน
-http://www.84000.org/tipitaka/book/bookpn01.html-
การถวายทานในสงฆ์ที่เรียกว่าสังฆทานนั้น คำว่า สงฆ์ ท่านมุ่งเอา พระอริยสงฆ์ คือ พระโสดาปัตติมรรค พระโสดาปัตติผล พระสกทาคามิมรรค พระสกทาคามิผล พระอนาคามิมรรค พระ อนาคามิผล พระอรหัตตมรรค และพระอรหัตตผล รวมเป็น ๔ คู่ ๘ บุคคล หาได้หมายเอาสมมุติสงฆ์ไม่ ทั้งนี้เพราะพระอริยสงฆ์นั้นเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สุปฏิปันโน คือ ปฏิบัติดี อุชุปฏิปันโน ปฏิบัติ ตรง ญายปฏิปันโน ปฏิบัติแล้วเพื่อญายธรรม สามีจิปฏิปันโน ปฏิบัติชอบ ทั้งพระอริยสงฆ์เหล่านั้นยังเป็น อาหุเนยโย คือ เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาบูชา ปาหุเนยโย เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาต้อนรับ ทักขิเณยโย เป็นผู้ควรแก่ไทยธรรมที่เขานำมาถวายด้วยศรัทธา อัญชลีกรณีโย เป็นผู้ควรแก่การกระทำ อัญชลี อนุตตรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ เป็นนาบุญอันเยี่ยมของโลก ไม่มีนาบุญอื่นที่ยิ่งกว่า
ใน ขุ. วิมานวัตถุ ทัททัลลวิมาน ข้อ ๓๔ กล่าวถึง อานิสงส์ของสังฆทานว่า มากกว่า ทานธรรมดา ดังนี้
นางภัททาเทพธิดาผู้พี่สาว ได้ถามนางสุภัททาเทพธิดาผู้น้องสาวว่า ท่านรุ่งเรืองด้วยรัศมี ทั้งเป็นผู้เรืองยศ ย่อมรุ่งโรจน์ล่วงเทพเจ้าชาวดาวดึงส์ทั้งหมดด้วยรัศมี ดิฉันไม่เคยเห็นท่าน เพิ่งจะมาเห็นในวันนี้เป็นครั้งแรก ท่านมาจากเทวโลกชั้นไหน จึงมาเรียกดิฉันด้วย ชื่อเดิมว่า ภัททา ดังนี้เล่า
นางสุภัททาเทพธิดาผู้น้องสาวตอบว่า ข้าแต่พี่ภัททา ฉันชื่อว่าสุภัททา ในภพก่อนครั้งยังเป็นมนุษย์อยู่ ดิฉันได้เป็นน้องสาวของพี่ ทั้งได้เคยเป็นภริยาร่วมสามีเดียวกับพี่ด้วย ดิฉันตายจากมนุษย์โลกนั้นมาแล้ว ได้มาแล้วเกิดเป็นเทพ ธิดาประจำสวรรค์ ชั้นนิมมานรดี
นางภัททาเทพธิดา ถามต่อไปว่า ดูก่อนแม่สุภัททา ขอเธอได้บอกการอุบัติของเธอในหมู่เทพเจ้าเหล่านิมมานรดี ซึ่งเป็นที่ ๆ สัตว์ได้สั่งสมบุญกุศลไว้มากแล้วจึงได้มาบังเกิด เธอได้มาเกิดในที่นี้ เพราะทำบุญกุศลสิ่งใดไว้ และใคร เป็นครูแนะนำสั่งสอนเธอ เธอเป็นผู้เรืองยศ และถึงความสุขพิเศษไพบูลย์ถึงเช่นนี้ เพราะได้ให้ทานและ รักษาศีลเช่นไรไว้ ดูก่อนแม่เทพธิดา ฉันถามเธอแล้ว นี่เป็นผลของกรรมอะไร โปรดตอบฉันด้วย
นางสุภัททาเทพธิดา ตอบว่า เมื่อชาติก่อน ดิฉันมีใจเลื่อมใส ได้ถวายบิณฑบาต ๘ ที่แก่สงฆ์ผู้เป็นทักขิไณยบุคคล ๘ รูป ด้วยมือของตน เพราะบุญกรรมนั้น ดิฉันจึงมีวรรณะงามเช่นนี้ ฯลฯ และมีรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ เพราะ บุญกรรมนั้น
นางภัททาเทพธิดาได้ถามต่อไปอีกว่า พี่เลี้ยงดูพระภิกษุทั้งหลาย ผู้สำรวมดี ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ให้อิ่มหนำสำราญด้วยข้าวและน้ำ ด้วยมือของตนเองมากกว่าเธอ ครั้นให้ทานมากกว่าเธอแล้ว ก็ยังได้บังเกิดในเหล่าเทพเจ้าต่ำกว่าเธอ ส่วน เธอได้ถวายทานเพียงเล็กน้อย อย่างไรจึงมาได้ผลอย่างพิเศษไพบูลย์ถึงเช่นนี้เหล่าแน่ะแม่เทพธิดา ฉันถาม เธอแล้ว นี่เป็นผลเป็นกรรมอะไร โปรดตอบฉันด้วย
นางสุภัททาเทพธิดาตอบว่า เมื่อชาติก่อน ดิฉันได้เห็นพระภิกษุผู้อบรมทางจิตใจเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่ จึงได้นิมนต์ท่าน รวม ๘ รูปด้วยกัน มีพระเรวตเถระเป็นประธาน ด้วยภัตตาหาร ท่านพระเรวตเถระนั้นมุ่งจะให้เกิด ประโยชน์ อนุเคราะห์แก่ดิฉัน จึงบอกดิฉันว่าจงถวายสงฆ์เถิด ดิฉันได้ทำตามคำของท่าน ทักขิณา ของดิฉันนั้นจึงเป็นสังฆทาน อันดิฉันให้เข้าไปตั้งไว้ในสงฆ์ เป็นทานที่ไม่อาจปริมาณผลได้ว่ามีอยู่ เท่าไร ส่วนทานที่คุณพี่ได้ถวายแก่ภิกษุด้วยความเลื่อมใสนั้น เป็นรายบุคคล จึงมีผลไม่มาก
นางภัททาเทพธิดา เมื่อจะรับรองความข้อนั้น จึงกล่าวว่า พี่เพิ่งรู้เดี๋ยวนี้เองว่า การถวายสังฆทานนี้ มีผลมาก ถ้าว่าพี่ได้ไปบังเกิดเป็นมนุษย์อีก จักเป็น ผู้รู้ความประสงค์ของผู้ขอ ปราศจากความตระหนี่ถวายสังฆทาน และไม่ประมาทเป็นนิตย์
เมื่อสนทนากันแล้ว นางสุภัททาเทพธิดาก็กลับไปสู่ทิพวิมานของตนบนสวรรค์ขั้นนิมมานรดี ท้าวสักกเทวราชได้ทรงสดับการสนทนานั้น จึงตรัสถามนางภัททาเทพธิดาว่า เทพธิดาผู้นั้นเป็นใคร มาสนทนากับเธอ มีรัศมีรุ่งโรจน์กว่าเทพเจ้าเหล่าดาวดึงส์ทั้งหมด
นางภัททาเทพธิดา เมื่อจะบรรยายข้อที่สังฆทานของเทพธิดาผู้น้องสาวว่ามีผลมาก จึงทูลว่า ขอเดชะ ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมเทพ เทพธิดาผู้นั้นเมื่อชาติก่อนยังเป็นมนุษย์อยู่ในมนุษย์โลก เป็นน้องสาวของหม่อมฉัน และยังได้เคยร่วมสามีเดียวกับหม่อมฉันด้วย เธอสั่งสมบุญกุศล คือ ถวายสังฆทาน จึงได้ไพโรจน์ถึงอย่างนี้เพคะ
สมเด็จอมรินทราธิราช เมื่อจะทรงสรรเสริญสังฆทานจึงตรัสว่า ดูก่อนนางภัททา น้องสาวของเธอไพโรจน์กว่าเธอ ก็เพราะเหตุในปางก่อน คือ การถวาย สังฆทานที่ไม่อาจปริมาณผลได้ อันที่จริง ฉันได้ทูลถามพระพุทธเจ้า ครั้งประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ ถึงผลแห่งไทยธรรมที่ได้จัดแจงถวายในเขตที่ผลมากของมนุษย์ทั้งหลาย ผู้มุ่งบุญ ให้ทานอยู่หรือทำ บุญปรารภเหตุแห่งการเวียนเกิดเวียนตาย จะถวายในบุคคลประเภทใดจึงจะมีผลมาก
พระพุทธเจ้าตรัสตอบข้อความนั้นแก่ฉันอย่างแจ่มแจ้งว่า ท่านผู้ปฏิบัติเพื่ออริยมรรค ๔ จำพวก และท่านผู้ตั้งอยู่ในอริยผล ๔ จำพวก พระอริยบุคคล ๘ จำพวกนี้ ชื่อว่าสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติตรง ดำรงมั่นอยู่ในปัญญาและศีล เมื่อมนุษย์ทั้งหลายผู้มุ่งบุญถวายทานในท่านเหล่านี้ หรือทำบุญปรารภ การเวียนเกิดเวียนตาย ทานที่ถวายในสงฆ์ย่อมมีผลมาก พระสงฆ์นี้เป็นผู้มีคุณความดีอันยิ่งใหญ่ ยังผลให้เกิดแก่ผู้ถวายทานในท่านอย่างไพบูลย์ ยากที่ใครจะปริมาณว่าเท่านี้ๆ ได้ เหมือนทะเลยาก ที่คาดคะเนได้ว่ามีน้ำเท่านี้ๆ ฉะนั้น
พระสงฆ์เหล่านี้แล เป็นพระผู้ประเสริฐสุด เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าผู้มีความเพียรเป็นเยี่ยม ในหมู่นรชน เป็นแหล่งสร้างแสงสว่าง คือญาณของชาวโลก ได้แก่ นำเอาแสงสว่าง คือ พระสัทธรรมที่ พระพุทธเจ้าทรงประกาศไว้แล้วมาชี้แจง ปวงชนผู้ใคร่ต่อบุญเหล่าใด ถวายทานมุ่งตรงต่อสงฆ์ ทักขิณาของเขาเหล่านั้น ชื่อว่าเป็นทักขิณาที่ถวายดีแล้ว เป็นยัญวิธีที่เซ่นสรวงถูกต้อง จัดเป็น บูชากรรมที่บูชาแล้วชอบเพราะทักขิณานั้นจัดเป็นสังฆทาน มีผลมาก อันพระสัมมาสัมมาพุทธเจ้า ทั้งหลายผู้รู้แจ้งโลก ทรงสรรเสริญ
ชนเหล่าใดยังท่องเที่ยวอยู่ในโลก มาหวนระลึกถึงบุญเช่นนี้ได้ เกิดปีติโสมนัส ก็จะกำจัดมลทิน คือความตระหนี่ทั้งความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความลังเลในใจ และความวิปลาสอันเป็นมูลฐานเสียได้ ทั้งจะไม่ เป็นผู้ถูกผู้รู้ติเตียน ชนเหล่านั้นก็จะเข้าถึงสถานที่ที่เป็นแดนสวรรค์
จากวิมานวัตถุเรื่องนี้ แสดงชัดว่า สังฆทาน ที่ถวายเจาะจงแด่พระอริยสงฆ์นั้น มีผลมาก มี อานิสงส์มากจริง ทั้งนี้ เพราะเหตุที่พระอริยสงฆ์ท่านประกอบด้วย พระคุณ ๙ ประการดังกล่าวมาแล้ว ทาน ที่ถวายในท่านเหล่านี้จึงมีผลมาก ถ้ายังเกิดอยู่ตราบใดสังฆทานนี้ก็ให้ผลไปเกิดในที่ดีมีความสุขนับชาติ ไม่ได้ทีเดียว ยิ่งกว่านั้น พระอริยสงฆ์ท่านยังอาจแสดงธรรมที่ท่านได้เห็นแล้วบรรลุแล้วให้ผู้ถวายได้เห็น ตามบรรลุตามเป็นผู้บริสุทธิ์ หมดจดจากกิเลสเช่นเดียวกับท่านได้อีกด้วย การหมดจดจากกิเลสนี้เป็น อานิสงส์สูงที่สุดสำหรับบุคคลที่ถวายในสงฆ์ ด้วยเหตุนี้ ทานที่ถวายในสงฆ์หรือสังฆทานจึงมีผลมากและ อานิสงส์มากอย่างนี้
ก็พระคุณ ๙ ประการ ของพระอริยสงฆ์นั้น ๔ ประการแรก เป็นพระคุณเฉพาะส่วนตัวของท่าน ๕ ประการหลัง มีอาหุเนยโยเป็นต้น เป็นพระคุณที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่ถวายทาน แก่ท่าน คือให้ได้รับผลมาก แม้อุทิศให้แก่เปรต เปรตทราบแล้วอนุโมทนาชื่นชมยินดี ก็ยังพ้นสภาพเปรต เป็นเทวดาได้
ขอนำเรื่องของ เศรษฐีเท้าแมว ใน ธรรมบทภาค ๕ มาเล่าประกอบไว้ด้วย เรื่องนี้เกิดขึ้น ในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่
อุบาสกผู้หนึ่ง ไปฟังธรรมที่วัดเชตวัน ในกรุงสาวัตถีได้ยินพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "บุคคล บางคนให้ทานด้วยตนเอง แต่ไม่ชักชวนผู้อื่น เพราะฉะนั้นเมื่อเขาตายไป เขาย่อมได้รับโภค สมบัติ แต่ไม่ได้รับบริวารสมบัติในที่ๆ เขาไปเกิด
ส่วนบางคนตนเองไม่ให้ทาน แต่เที่ยวชักชวนคนอื่นให้ให้ทาน เพราะฉะนั้นเมื่อเขา ตายไป เขาก็ย่อมได้รับแต่บริวารสมบัติ แต่ไม่ได้รับโภคสมบัติในที่ๆ เขาไปเกิด
ส่วนบางคนตนเองก็ไม่ให้ทาน ทั้งไม่ชักชวนคนอื่นให้ให้ทานด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อเขา ตายไป เขาก็ย่อมไม่ได้รับทั้งโภคสมบัติ และบริวารสมบัติในที่ๆ เขาไปเกิด
ส่วนบางคนตนเองก็ไห้ทาน ทั้งยังชักชวนคนอื่นให้ให้ทานด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อเขา ตายไป เขาก็ได้รับทั้งโภคสมบัติ และบริวารสมบัติในที่ๆ เขาไปเกิด"
อุบาสกผู้นี้เป็นบัณฑิต ได้ฟังดังนั้นก็คิดจะทำบุญให้ได้รับผลครบทั้งโภคสมบัติและบริวารสมบัติ เขาจึงเข้าไปกราบทูลขอถวายภัตตาหารแก่พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกทั้งหมดในวันรุ่งขึ้น พระพุทธเจ้า ก็ทรงรับคำอาราธนานั้น อุบาสกนั้นจึงได้เที่ยวป่าวร้องไปตามชาวบ้านร้านตลาดทั้งหลาย ชักชวนให้บริจาค ข้าวสารและของต่างๆ เพื่อนำมาประกอบอาหารถวายก็ได้รับสิ่งของต่างๆ มากบ้างน้อยบ้างตามศรัทธาและ ฐานะของผู้บริจาค อุบาสกคนนั้นเที่ยวป่าวร้องไปอย่างนี้ จนมาถึงร้านค้าของท่านเศรษฐีผู้หนึ่ง ท่านเศรษฐี เกิดไม่ชอบในที่เห็นอุบาสกนั้นเที่ยวป่าวร้องไปอย่างนั้น ท่านคิดว่า "อุบาสกคนนี้เมื่อไม่สามารถถวาย อาหารแก่พระพุทธเจ้า และพระสงฆ์สาวกทั้งวัดเชตวันได้ ก็ควรจะถวายตามกำลังของตน ไม่ควรจะเที่ยวชักชวนคนอื่นเขาทั่วไปอย่างนี้"
เพราะเหตุที่คิดอย่างนี้ แม้ท่านจะร่วมทำบุญกับอุบาสกนั้นด้วย แต่ท่านก็ทำด้วยความไม่เต็มใจ ได้หยิบของให้เพียงอย่างละนิดละหน่อย คือใช้นิ้ว ๓ นิ้วหยิบของนั้น จะหยิบได้สักเท่าไร เวลาให้น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ก็ให้เพียงไม่กี่หยด เพราะเหตุที่ท่านมือเบามาก หยิบของให้ทานเพียงนิดหน่อย คนทั้งหลายก็เลย ตั้งชื่อท่านว่า เศรษฐีเท้าแมว เป็นการเปรียบเทียบความมือเบาของท่านกับความเบาของเท้าแมว
อุบาสกนั้นเป็นคนฉลาด เมื่อรับของจากท่านเศรษฐีจึงได้แยกไว้ต่างหาก ไม่ได้รวมกับของที่ตนรับ มาจากผู้อื่นเศรษฐีก็คิดว่า "อุบาสกนี้คงจะเอาเราไปเที่ยวประจานเป็นแน่" เมื่อคิดอย่างนี้ จึงใช้ให้คน ใช้ติดตามไปดู คนรับใช้ได้เห็นว่าอุบาสกนั้นนำเอาของของเศรษฐีไปแบ่งใส่ลงในหม้อที่ใช้หุงต้มอาหารนั้นหม้อ ละนิด อย่างข้าวสารก็ใส่หม้อละเมล็ดสองเมล็ดเพื่อให้ทั่วถึง พร้อมกับกล่าวให้พรท่านเศรษฐีด้วยว่า "ขอให้ทาน ของท่านเศรษฐีจงมีผลมาก" คนรับใช้ก็นำความมาบอกนาย ท่านเศรษฐีก็คิดอีกว่า "วันนี้เขายังไม่ ประจานเราพรุ่งนี้เวลานำเอาอาหารไปถวายพระที่วัดเชตวัน เขาคงจะประจานเรา ถ้าเขาประจานเรา เราจะฆ่าเสีย" ดังนั้นในวันรุ่งขึ้นท่านจึงเหน็บกริชซ่อนไว้แล้วไปที่วัดเชตวัน ในเวลาที่อุบาสกและชาวเมือง ช่วยกันอังคาสเลี้ยงดูพระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ เมื่อช่วยกันถวายภัตตาหารแล้ว อุบาสกผู้นั้นได้กราบ ทูลพระพุทธเจ้าว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้เที่ยวชักชวนมหาชนให้ถวายทานนี้ขอให้ คนทั้งหลายผู้ที่ข้าพระองค์ชักชวนแล้ว บริจาคแล้ว ทั้งผู้บริจาคของมาก ทั้งผู้บริจาคของน้อย จงได้รับผลมากทุกคนเถิด" ท่านเศรษฐีได้ยินแล้วก็ไม่สบายใจ กลัวอุบาสกจะประกาศว่า ท่านให้ของเพียง หยิบมือเดียว คิดอีกว่า "ถ้าอุบาสกเอ่ยชื่อเรา เราจะแทงให้ตาย" แต่อุบาสกนั้นกลับกราบทูลว่า "แม้ผู้ที่ บริจาคของเพียงหยิบมือเดียว ทานของผู้นั้นก็จงมีผลมากเถิด"
ท่านเศรษฐีได้ฟังดังนั้นก็ได้สติ คิดเสียใจว่า "เราได้คิดร้ายล่วงเกิดต่ออุบาสกนี้อยู่ตลอดเวลา แต่อุบาสกนี้เป็นคนดีเหลือเกิน ถ้าเราไม่ขอโทษเขา เราก็เห็นจะได้รับกรรมหนัก" คิดดังนี้แล้ว จึงเข้า ไปหมอบแทบเท้าของอุบาสกนั้น เล่าเรื่องให้ฟังพร้อมทั้งขอให้ยกโทษให้ พระพุทธองค์ทอดพระเนตรเห็น กริยาอาการของท่านเศรษฐีอย่างนี้ก็ตรัสถามขึ้น เมื่อทรงทราบแล้วจึงได้ตรัสว่า "ขึ้นชื่อว่าบุญแล้ว ใครๆ ไม่ควรดูหมิ่นว่าบุญนี้เล็กน้อย ทานที่บุคคลถวายแล้วแก่ภิกษุสงฆ์ อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขเช่นนี้ ไม่ ควรดูหมิ่นว่าบุญนี้เล็กน้อย คนที่ฉลาดทำบุญอยู่ ย่อมเต็มด้วยบุญ เหมือนหม้อน้ำที่เปิดปากไว้ ย่อมเต็ม ด้วยน้ำฉันนั้น" ในตอนท้าย พระพุทธองค์ตรัสพระคาถาว่า "บุคคลไม่ควรดูหมิ่นบุญเล็กน้อยว่าจะไม่ มาถึง แม้หม้อน้ำก็ยังเต็มด้วยหยาดน้ำที่ตกลงมาฉันใด ผู้ฉลาดเมื่อสะสมบุญแม้ทีละน้อยทีละ น้อย ก็ย่อมเต็มด้วยบุญฉะนั้น"
ท่านเศรษฐีได้ฟังแล้วก็ได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุเป็นพระโสดาบันบุคคล พระธรรมเทศนาของ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ประกอบด้วยประโยชน์อย่างยิ่งอย่างนี้ ถ้าเราหมั่นฟังอยู่เสมอและฟังด้วยความตั้งใจ ก็ย่อมได้ปัญญา ดังเศรษฐีท่านนี้เป็นตัวอย่าง
จากเรื่องของท่านเศรษฐีผู้นี้ ทำให้ทราบว่าการให้ทานนั้น เป็นเหตุให้ได้รับโภคสมบัติ การชัก ชวนผู้อื่นให้ทานนั้นเป็นเหตุให้ได้รับบริวารสมบัติ ในที่ๆ ตนไปเกิด
เพราะฉะนั้น เมื่อใครเขาทำบุญ หรือใครเขาชักชวนใครๆ ทำบุญ ก็อย่างได้ขัดขวางห้ามปราม เขาเพราะการกระทำเช่นนี้เป็นบาป เป็นการทำลายประโยชน์ของบุคคลทั้ง ๓ ฝ่าย คือตนเองเกิดอกุศลจิต ก่อน ๑ ทำลายลาภของผู้รับ ๑ ทำลายบุญของผู้ให้ ๑
และจากเรื่องนี้ก็ทำให้เห็นชัดว่า สังฆทานนั้นมีผลมาก และมีอานิสงส์มาก การที่กิเลสคือความ ตระหนี่ได้ถูกขัดเกลาออกไป ทำให้จิตใจที่หนาอยู่ด้วยกิเลสเบาบางลงไปได้ชั่วขณะนี้แหละ คืออานิสงส์ที่แท้ จริงของบุญ ยิ่งกิเลสถูกขัดเกลาไปได้มากเท่าไร ทานของผู้นั้นก็มีอานิสงส์มากเท่านั้น
เสื้อผ้าที่สกปรกเปรอะเปื้อนต้องการสบู่หรือผงซักฟอกเข้าไปช่วยชำระล้างให้สะอาดฉันใด จิตใจที่เปรอะเปื้อนด้วยกิเลสก็ต้องการบุญ มีทานเป็นต้น เข้าไปช่วยชำระล้างขัดเกลาให้สะอาดหมด จดฉันนั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงความบริสุทธิ์แห่งทักษิณา คือทานไว้ ๔ อย่าง คือ
๑. ทักษิณาบางอย่างบริสุทธิ์ฝ่ายทายกคือผู้ให้ แต่ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคคาหกคือผู้รับ กล่าวคือผู้ให้เป็นผู้มีศีลงาม มีธรรมงาม ได้ของมาโดยชอบธรรม เป็นผู้เชื่อกรรมและผลของกรรม แต่ ผู้รับเป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก
๒. ทักษิณาบางอย่างบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคคาหก แต่ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก กล่าวคือผู้รับ เป็นผู้มีศีลงาม มีธรรมงาม แต่ผู้ให้เป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก ได้ของมาโดยไม่ชอบธรรม เป็นผู้ไม่เชื่อ กรรมและผลของกรรม
๓. ทักษิณาบางอย่าง ไม่บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกและปฏิคคาหก คือทั้งผู้ให้และผู้รับ เป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก
๔. ทักษิณาบางอย่างบริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกและปฏิคคาหก คือทั้งผู้ให้และผู้รับเป็นผู้มี ศีลงาม มีธรรมงามทานที่บริสุทธิ์ทั้งสองฝ่ายอย่างนี้ย่อมมีผลไพบูลย์
อนึ่ง พระบรมศาสดาตรัสว่า ถ้าทายกคือผู้ให้เป็นผู้มีศีลงาม มีธรรมงาม ได้ของมา โดยชอบธรรม มีศรัทธาเชื่อกรรมและผลของกรรม และปฏิคคาหกคือผู้รับ เป็นผู้มีศีลงาม มีธรรมงาม ปราศจากราคะแล้วทานของผู้นั้นเลิศกว่าอามิสทานทั้งหลาย
อนึ่งใน ทานานิสังสสูตร อัง. ปัญจก. ข้อ ๓๕ พระพุทธองค์ทรงแสดงอานิสงส์ของทาน ไว้ ๕ อย่างคือ
๑. ผู้ให้ทาน ย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจของชนหมู่มาก ๒. สัปบุรุษ ผู้สงบ มีพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และสาวกของพระพุทธเจ้า ย่อมคบหาผู้ให้ทาน ๓. กิตติศัพท์อันงามของผู้ให้ทาน ย่อมขจรขจายไปทั่ว ๔. ผู้ให้ทาน ย่อมไม่เหินห่างจากธรรมของคฤหัสถ์ คือมีศีล ๕ ไม่ขาด ๕. ผู้ให้ทาน เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
แล้วทรงสรุปเป็นคาถาว่า ผู้ให้ทานย่อมเป็นที่รักของชนเป็นอันมาก ชื่อว่าดำเนินตามธรรมของสัปบุรุษ (คือ มหาบุรุษ หรือพระโพธิสัตว์) สัปบุรุษผู้สงบ ผู้สำรวมอินทรีย์ ประพฤติพรหมจรรย์ ย่อมคบหาผู้ให้ทานทุกเมื่อ สัปบุรุษเหล่านั้น ย่อมแสดงธรรมเป็นที่บรรเทาทุกข์แก่เขา เขาได้ทราบชัดแล้ว ย่อมเป็นผู้หาอาสวะมิได้ ปรินิพพานในโลกนี้
ควรอย่างยิ่งที่เราจะสะสมบุญ มีทานเป็นต้น ให้งอกงามเพิ่มพูนขึ้นในจิตใจของเรา เพราะว่า เมื่อไรที่จิตใจของเราเต็มเปี่ยมไปด้วยบุญ เมื่อนั้นกิเลสจะไม่มีหลงเหลืออยู่ในจิตใจของเราเลย
ใน ทานสูตร อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ข้อ ๔๙ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้ ทานที่ให้แล้ว มีผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มาก และเหตุปัจจัยที่ทำให้ทานที่ให้แล้วมีผลมาก และมีอานิสงส์ มาก ไว้ดังต่อไปนี้
๑. บุคคลบางคน ให้ทานด้วยความหวังว่า เมื่อตายไปแล้ว จักได้เสวยผลของทานนี้ เมื่อตายไป ได้เกิดในเทวโลกชั้นจาตุมหาราชิกา สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่ในเทวโลก แล้ว ก็กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ คือกลับมาเกิดในโลกนี้อีก ทานอย่างนี้มีผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มาก
๒. บุคคลบางคนไม่ได้ให้ทาน เพราะหวังผลของทาน แต่ให้ทานเพราะรู้ว่าทานเป็นของดี เป็นบุญ เป็นกุศล จึงให้เมื่อตายไป ได้เกิดในเทวโลกชั้นดาวดึงส์ สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความ เป็นใหญ่ในเทวโลกแล้ว ก็กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ คือกลับมาเกิดในโลกนี้อีก ทานอย่างนี้มีผลมากแต่ ไม่มีอานิสงส์มาก
๓. บุคคลบางคนไม่ได้ให้ทาน เพราะหวังผลของทาน ไม่ได้ให้ทานเพราะรู้ว่าทานเป็นของดี แต่ให้ทานเพราะละอายใจที่ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย บรรพบุรุษเคยทำมา ถ้าไม่ทำก็ไม่สมควร ครั้นตายลงได้เกิดในเทวโลกชั้นยามา สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่ในเทวโลกแล้ว ก็ กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ คือกลับมาเกิดในโลกนี้อีก ทานอย่างนี้มีผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มาก
๔. บุคคลบางคน ไม่ได้ให้ทานเพราะหวังผลของทาน ไม่ได้ให้ทานเพราะรู้ว่าทานเป็นของดี ไม่ได้ให้ทานตามบรรพบุรุษ แต่ให้ทานเพราะเห็นสมณพราหมณ์เหล่านั้นหุงหากินไม่ได้ เราหุงหา กินได้ ถ้าไม่ให้ก็ไม่สมควร ครั้นตายลงได้เกิดในเทวโลกชั้นดุสิต สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความ เป็นใหญ่ในเทวโลกแล้ว ก็กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ คือกลับมาเกิดในโลกนี้อีก ทานอย่างนี้มีผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มาก
๕. บุคคลบางคน ไม่ได้ให้ทานเพราะหวังผลของทาน ไม่ได้ให้ทานเพราะรู้ว่าทานเป็นของดี ไม่ได้ให้ทานตามบรรพบุรุษ ไม่ได้ให้ทานเพราะเห็นว่า สมณพราหมณ์หุงหากินไม่ได้ แต่ให้ทานเพราะ ต้องการจำแนกแจกทานเหมือนกับฤาษีทั้งหลายในปางก่อนได้กระทำมหาทานมาแล้ว เขาตาย ไปได้เกิดในเทวโลกชั้นนิมมานรดี สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ก็กลับมาสู่ความ เป็นอย่างนี้ คือกลับมาเกิดในโลกนี้อีก ทานอย่างนี้มีผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มาก
๖. บุคคลบางคน ไม่ได้ให้ทานเพราะหวังผลของทาน ไม่ได้ให้ทานเพราะว่าทานเป็นของดี ไม่ได้ให้ทานตามบรรพบุรุษ ไม่ได้ให้ทานเพราะเห็นว่าสมณพราหมณ์หุงหากินไม่ได้ ไม่ได้ให้ทานเพราะ ต้องการจำแนกแจกทานเหมือนฤาษีทั้งหลายในปางก่อนได้กระทำมหาทาน แต่ให้ทานเพราะคิดว่า เมื่อให้แล้ว จิตจะเลื่อมใสโสมนัสจึงให้ ครั้นตายไปย่อมเกิดในเทวโลกชั้นปรนิมมิตวสวัตดี สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ก็กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ คือกลับมาเกิดในโลกนี้อีก ทาน อย่างนี้มีผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มาก
๗. บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่ได้ให้ทานเพราะเหตุที่กล่าวแล้วทั้ง ๖ อย่างข้างต้นนั้น แต่ให้ ทานเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต คือให้ทานนั้นเป็นเครื่องขัดเกลาจิตใจหมดจดจากกิเลสด้วยอำนาจของ สมถะและวิปัสสนา จนได้ฌานและบรรลุ จนได้ฌานและบรรลุเป็นพระอนาคามีบุคคล ตายแล้วได้ไปเกิดใน พรหมโลก เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่ในพรหมโลกแล้ว เป็นผู้ไม่ต้องกลับมาเกิด ในโลกนี้อีก คือปรินิพพานในพรหมโลกนั้นเอง ทานชนิดนี้เป็นทานที่มีผลมาก และมีอานิสงส์มาก
สรุปรวมความว่า ทานชนิดใดก็ตาม เป็นปัจจัยให้ต้องเกิดอีก ทานชนิดนั้นแม้มีผลมาก ได้เกิด ที่ดีมีความสุขอันเป็นทิพย์ แต่ทานนั้นก็ไม่มีอานิสงส์มาก เพราะไม่สามารถจะทำให้หมดจดจากกิเลสได้
ส่วนทานชนิดใดเป็นปัจจัยให้ไม่ต้องเกิดอีก ทานชนิดนั้นชื่อว่ามีผลมากด้วย มีอานิสงส์ มากด้วย เพราะทำให้หมดจดจากกิเลส
ฉะนั้นคำว่า "อานิสงส์มาก" ในที่นี้ จึงหมายถึงการหมดจดจากกิเลสทั้งปวง ไม่ต้องเกิดอีก
-
ทาน
-http://www.84000.org/tipitaka/book/bookpn01.html-
จริงอยู่ การเกิดในสวรรค์แต่ละชั้นนั้น มีความสุขมาก เพราะได้รับกามคุณอันเลอเลิศที่เป็น
ทิพย์ ละเอียดประณีตขึ้นไปตามลำดับชั้น แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสว่า กามคุณนั้นเป็นของเลว เป็น
ของชาวบ้าน เป็นของชวนให้หลงใหล เป็นของมีสุขน้อย แต่มีโทษมาก เพราะฉะนั้นเมื่อพระองค์ทรง
แสดงธรรม คือ อนุปุพพิกถา แก่คฤหัสถ์ จึงได้ทรงแสดงโทษของกามไว้ด้วย ผู้ที่ยินดีหลงไหลเพลิด
เพลินในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อันน่าใคร่ น่าพอใจ ย่อมไม่อาจล่วงทุกข์ไปได้ ผู้ที่จะล่วง
ทุกข์ได้ก็เพราะเห็นโทษของกาม ก้าวออกจากกามด้วยสมถะและวิปัสสนาเท่านั้น
ด้วยเหตุนั้น ทานที่เป็นเครื่องปรุงแต่งจิต ขัดเกลาจิตให้อ่อน ให้ควรแก่การเจริญสมถะและ
วิปัสสนาจนบรรลุมรรคผลไม่ต้องกลับมาเกิดอีก จึงเป็นทานที่มีผลมาก และมีอานิสงส์มากแม้สังฆทานที่
กล่าวว่ามีผลมาก มีอานิสงส์มาก ก็เพราะผู้ถวายมีโอกาสได้ฟังธรรมจากสงฆ์แล้วบรรลุอริยสัจธรรม ก้าว
ล่วงทุกข์ทั้งปวงไม่ต้องกลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก
พระพุทธองค์ทรงมีพระมหากรุณาอันยิ่งใหญ่แก่สัตว์โลกแม้เมื่อทรงแสดงเรื่องทาน ก็ทรงแสดงให้
พุทธบริษัทได้รับประโยชน์ครบทั้ง ๓ ประการ คือ ประโยชน์ในโลกนี้ ประโยชน์ในโลกหน้า และประ
โยชน์อย่างยิ่ง คือ มรรค ผล นิพพาน ด้วยเหตุนี้ จึงควรทำใจให้เลื่อมใส บำเพ็ญทานให้เกิดประโยชน์
ทั้ง ๓ ประการ จึงจะได้ชื่อว่า ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์อย่างแท้จริง
ควรหรือไม่ ที่เราจะทำทานชนิดที่มีผลมาก มีอานิสงส์มาก
---------------
ทานที่มีผลมาก มีอานิสงส์มาก
ประณีต ก้องสมุทร
ขอขอบคุณ
คุณนวชนก โพธิ์เจริญ
[ ผู้คัดลอก และตรวจทาน ]
จัดทำเมื่อ 21 เมษายน พ.ศ. 2545
-
อานิสงส์ ถวายสังฆทาน วิหารทาน และธรรมทาน
-http://www.trendytarot.com/632110/%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B9%8C-%E0%B8%96%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%86%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%99-%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%99-%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%99-
ผู้ถาม : “หลวงพ่อคะ ถวายสังฆทานให้พระองค์เดียวได้ไหมคะ..?”
หลวงพ่อ : “ได้ แต่พระไปกินองค์เดียวพระองค์นั้นลงนรก นี่เรื่องจริงนะ อย่างฉันรับนี่ฉันรับองค์เดียว แต่ว่าองค์เดียวนี่ถือว่าเป็นผู้แทนคณะสงฆ์นะ อย่าไปกินไปใช้แต่ผู้เดียวนี่ไม่ได้ ของเขาย่อมมีอานิสงส์สมบูรณ์แบบ พระองค์เดียวหรือพระ 3 องค์ ถือว่าเป็นผู้แทนสงฆ์ พระ 3องค์ก็แบ่งไปใช้แค่ 3 องค์ไม่ได้ จะต้องไปรวมทั้งคณะ คำว่า สังฆทาน สังฆะ เขาแปลว่า หมู่ ”
ผู้ถาม : “ลูกเป็นคนยากจนมีเงินน้อย อยากจะได้อานิสงส์มากๆ จะทำบุญอย่างไรดีคะ..?”
หลวงพ่อ : “คืออานิสงส์จริงๆต้องทำบุญให้มากที่สุดเท่าที่จะพึงทำได้ สมมติว่าเรามีเงินอยู่ 10 บาท จะไปมาที่นี่ค่ารถ 6 บาท กินก๋วยเตี๋ยว 3 บาท ได้ครึ่งชาม หมดไป 9 บาท เหลือ 1 บาท เขียนหน้าซองเลยว่า เงินนี้ถวายสังฆทาน วิหารทาน และธรรมทาน อันนี้อานิสงส์มากเหลือเกิน จำนวนเงินเขาไม่จำกัด เขาจำกัดกำลังใจ ถ้ากำลังใจมุ่งด้านดีนะ
การทำบุญมากๆ คำว่า “ทำมาก” หมายความว่าทำบ่อยๆ แต่คำว่า “บ่อยๆ” ไม่ต้องทุกวันก็ได้นะ คำว่า “มาก” หมายความว่าทำเต็มกำลังที่พึงทำ ไม่ใช่ขนเงินมามาก เวลาทำบุญต้องดูก่อนว่า ค่าใช้จ่ายเรามีความจำเป็นเพียงใด ไอ้เงินที่มีความจำเป็นอย่านำมาทำบุญ มันจะเดือดร้อนภายหลัง และเหลือส่วนนั้นไว้บ้าง แล้วแบ่งทำบุญพอสมควร
และประการที่ 2 การทำบุญถ้าใช้วัตถุมาก แต่กำลังใจน้อย อานิสงส์จะน้อย ถ้าหากใช้วัตถุน้อยแต่กำลังใจมีมากก็มีอานิสงส์มาก อย่างถวายสังฆทานที่บรรดาญาติโยมพุทธบริษัทนำมานี่ลงทุนไม่มากแต่อานิสงส์มหาศาล
ความจริงถ้าพูดถึงอานิสงส์กันจริงๆ ละก็ รู้สึกว่าจะมากกว่าจัดงานที่บ้านหรือที่วัดตั้งเยอะแยะ ทั้งนี้เพราะว่าอะไร เพราะว่าถวายสังฆทานราทำกันแบบเงียบๆ ไม่มีกังวล การบำเพ็ญกุศลแต่ละคราว ถ้ามีกังวลมากอานิสงส์มันก็น้อย เพราะว่าจิตที่เราเข้าสู่กุศล มันห่วงงานอื่นมากกว่า ไม่ตั้งจิตโดยเฉพาะ
และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการถวายสังฆทานในหมู่ตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป ตามพระวินัยท่านเรียกกันว่า คณะสงฆ์ ถ้าต่ำกว่านั้นเป็น คณะบุคคล เป็นบุคคลเดียวเป็น ปาฏิคคลิกทาน ทานโดยเฉพาะทีนี้การถวายสังฆทานแก่พระสงฆ์เป็นหมู่นี้อานิสงส์มาก
เรื่องนี้ก็มีตัวอย่างคนที่มีทรัพย์น้อยทรัพย์มาก อย่างท่าน อินทกะเทพบุตร กับ อังกุระเทพบุตร ไงล่ะ?
ท่านอินทกะเทพบุตร ทำบุญนอกหลักเขตพระพุทธศาสนา เวลานั้นพระพุทธศาสนายังไม่มี ตั้งโรงทาน 80 โรง ให้ทานถึงสองหมื่นปี เลี้ยงคนกำพร้า คนตกยาก คนเดินทาง พอตายจากความเป็นคน ไปเกิดเป็นเทวดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นเทวดาที่มีบุญน้อยที่สุดเพราะเขตบุญเล็กไป คนไร้ศีลไร้ธรรม ใช่ไหม??
ตรงกันข้าม ท่านอังกุระเทพบุตร เกิดเป็นคนจน พ่อตาย ตัดฟืนเลี้ยงแม่ ก็ไม่ได้ตัดขายมากมาย เอาแค่พอกินพอใช้ ไปวันๆ วันหนึ่งพระสงฆ์เดินผ่านไปที่นั่น ท่านมีโอกาสได้ถวายทานในฐานะไม่ได้เตรียมตัวไว้ ก่อน คนจนจะมีอะไรมากนักใช่ไหมล่ะ เพียงแค่ครั้งเดียวในชีวิตเท่านั้น อาศัยคุณความกตัญญูรู้คุณอย่างหนึ่ง แล้วก็ถวายสังฆทานหนึ่ง สองอย่างด้วยกัน ตายแล้วไปเกิดเป็นเทวดามีบุญมากที่สุดในดาวดึงส์ นอกจากพระอินทร์แล้วไม่มีใครโตกว่า”
การทำบุญใส่บาตร
ผู้ถาม : “การที่เราทำบุญใส่บาตรตามหน้าบ้านกับพระที่เรารู้จักตามวัด แล้วไปทำที่วัดอันไหนจะมีอานิสงส์มากกว่ากันเจ้าคะ...?”
หลวงพ่อ : “คือว่าการใส่บาตรไม่เฉพาะเจาะจง พระอะไรมาก็ใส่ อย่างนี้ก็เป็นสังฆทาน ทีนี้ไปใส่บาตรตามพระที่ชอบใช่ไหม.....?”
ผู้ถาม : “ไม่ใช่ชอบเจ้าคะ คือว่าศรัทธาคะ”
หลวงพ่อ : “ชอบกับศรัทธาก็ครือๆกัน ถ้าศรัทธาฉันตั้งแต่ 4 องค์ขึ้นไป เป็นสังฆทานมีอานิสงส์เหมือนกัน แต่ถ้าหากฉันตั้งแต่ 1 องค์ ถึง 3องค์ อย่างนี้เป็น “ปาฏิคคลิกทาน””
ผู้ถาม : “มีอานิสงส์มากไหมคะ..?”
หลวงพ่อ : “มีโยม ถ้าเป็น ปาฏิคคลิกทาน ถ้าวัดกันตามลำดับแย่นะ ไล่เบี้ยตั้งแต่ ให้ทานกับคนไม่มีศีล จนถึงพระอรหันต์ มีอานิสงส์ไม่เท่ากัน แต่จะพูดสรุปโดยย่อว่า
ถวายทานกับพระอรหันต์ 100 ครั้ง มีผลไม่เท่ากับถวายทานกับพระพุทธเจ้า 1 ครั้ง
ถวายทานกับพระพุทธเจ้า100 ครั้ง มีผลไม่เท่ากับถวายสังฆทาน 1 ครั้ง
และถ้าถวายสังฆทาน 100 ครั้ง มีผลไม่เท่ากับถวายวิหาร 1 ครั้ง คือสร้างวิหารมีการก่อสร้าง เช่น สร้างส้วม ศาลาการเปรียญ กุฏิ โบสถ์ วิหาร เป็นต้น
การถวายทาน 1 ครั้งในชีวิต และถวายด้วยจิตที่บริสุทธิ์มีศรัทธาแท้ พระพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า ผลของสังฆทานนี้จะดลบันดาลให้แก่บุคคลผู้ถวายเกิดไปทุกชาติ ขึ้นชื่อว่าความยากจนเข็ญใจไม่มี ในแดนใดเต็มไปด้วยความทุกข์ยากลำบากขัดสน คนที่ถวายสังฆทานแล้วจะไม่เกิดในที่นั้น ผลให้ไปไกลมาก ท่านกล่าวว่า แม่แต่พุทธญาณเอง ก็ยังไม่เห็นผลที่สุดของกรถวายสังฆทาน
คำว่า “ไม่เห็นผลที่สุดของกรถวายสังฆทาน”หมายความว่า แม้แต่บุคคลผู้เป็นเจ้าของสังฆทาน บำเพ็ญเพียรบารมีแล้ว แล้วเกิดไปอีกกี่แสนชาติก็ตาม จนกระทั่งเข้าพระนิพพาน อานิสงส์นั้นก็ยังไม่หมด นี่เป็นอำนาจของการถวายสังฆทาน
ฉะนั้นการถวายสังฆทานเป็นส่วนบุคคล กับการถวายเป็นสังฆทาน อานิสงส์มันต่างกันหลายแสนเท่า แล้วก็ยังมีอีกเวลาหนึ่งถ้าพระออกจากสมาบัติ นี่คูณหนักเข้าไปอีกไม่รู้เท่าไร
ทีนี้การถวายสังฆทานแก่พระมีผลไม่เสมอกันอยู่อย่างหนึ่งคือ หมายความว่าถวายทานแก่ พระที่มีจิตกำลังฟุ้งซ่านไปด้วยอำนาจของนิวรณ์5ประการ อย่างนี้เราถวายกี่หมื่นแสนอานิสงส์มันก็ไม่มาก
ถ้าหากว่าถวายแก่ท่านผู้ปฏิบัติกรรมฐาน ถ้าหากเข้าถึงจิตบริสุทธิ์ เรื่องบริสุทธิ์แค่ไหนก็ช่าง อย่างน้อยที่สุดก็มีขณิกสมาธิ อุปาจารสมาธิ บางท่านก็เข้าถึง ฌานสมบัติ บางท่านนี่เป็นถึงพระอริยเจ้า ก็เข้าถึง ผลสมาบัติ ถ้าถวายทานกับท่านที่ออกจาก นิโรธสมาบัติ หมายความว่าให้คนเดียวนะ ก็ให้ผลปัจจุบันทันด่วน ได้ผลวันนั้นเลย ”
ผู้ถาม : “แล้วอย่างเราใส่บาตรโดยเราลงมือใส่เอง กับให้ลูกจ้างคือเด็กของเราไปใส่แทนอย่างไหนจะได้บุญมากกว่ากันคะ..?”
หลวงพ่อ : “เราไม่ได้ไปแต่ให้คนอื่นไปแทน ได้บุญเท่ากัน แต่เราใส่เองเราเกิดความปลื้มใจอันนี้ได้กำไรอีกนิด แต่ผลมันเสมอกัน”
ผู้ถาม : “เวลาเราไปใส่บาตรแล้ว ถ้าหากว่าพระไม่ได้ฉันอาหารของเรา เราจะได้บุญไหมคะ..?”
หลวงพ่อ : “บุญมันเริ่มที่คิดว่าจะให้แล้วนะ พระจะฉันหรือไม่ฉันไม่ใช่ของแปลก คือการให้ทาน ตัวให้นี่ตัดความโลภ และตัวนี่กันความจนในชาติหน้า อันดับรองลงมา “ทานัง สัคคโส ปาณัง” ทานเป็นบันไดให้เกิดในสวรรค์
ทีนี้พอเราเริ่มให้ปั๊บ มันเริ่มได้ตั้งแต่เราตั้งใจ การตั้งใจน่ะมันตัดสินใจเด็ดขาดแล้วนะ เช่น คิดว่าพรุ่งนี้จะใส่บาตรข้าวขันนี้ เราไม่กินแน่นอน คิดว่าเราจะไม่กินเอง ตั้งแต่วันนี้คิดว่าจะใส่บาตรนี่บุญมันเกิดตั้งแต่เวลานี้
แต่พอพรุ่งนี้ต้องใส่จริงๆนะ อย่านึกโกหกพระไม่ได้นะ ไม่ใช่แกล้งนึกทุกๆวัน คิดว่านึกได้บุญ เลยไม่ได้ใส่บาตรสักที นี่ดีไม่ดีฉันพูดไปพูดมาเสียท่าเขานะ
แต่ถ้าคิดจะทำจริงๆนะ คือพรุ่งนี้จะใส่บาตรแน่ๆ แต่ว่าวันนี้เกิดตายก่อน นี่ได้รับ 100 เปอเซ็นเลย ก็อย่างที่พระพุทธเจ้าบอกนั่นแหละ
“เจตนาหัง ภิกขเว ปุญญัง วทานิ”
“ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่าตัวตั้งใจเป็นตัวบุญ”
พระพุทธเจ้าบอกว่า มันมีผลตั้งแต่การตั้งใจเริ่มสละออก พอคิดว่าเริ่มจะทำ อารมณ์มันตัดตั้งแต่ตรงนั้นแล้ว ถือว่าไม่ได้เป็นของเราแล้ว มันได้ตั้งแต่ตอนนั้น”
ผู้ถาม : “หลวงพ่อคะ การใส่บาตรวิระทะโย มีอานิสงส์อย่างไรคะ..?”
หลวงพ่อ : “อานิสงส์เท่ากับการ ถวายสังฆทานธรรมดา ไม่ต่างกัน อานิสงส์เหมือนกันหมด แต่ว่าใช้ วิระทะโย (คาถาภาวนากันจน) มันมีผลปัจจุบัน ชาตินี้ทำให้เงินไม่ขาดตัว ถ้าใส่บาตรทุกวัน สวดมนต์อยู่เสมอ จะหมดก็มีมาต่อจนได้ ถ้าแบ่งเวลาทำสมาธิละก็ขลังมาก รวยมาก
หน่อย”
คัดมาจากหนังสือหลวงพ่อตอบปัญหาธรรมเล่ม1
ภาพประกอบหัวเรื่องจาก -http://www.3a100.com/ArnisisongSangkatan.html-
-
อานิสงส์ ถวายสังฆทาน วิหารทาน และธรรมทาน
-http://www.trendytarot.com/632110/%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B9%8C-%E0%B8%96%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%86%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%99-%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%99-%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%99-
เนื้อนาบุญที่ดี
ผู้ถาม : “เห็นพระบางองค์ดูลักษณะไม่สำรวม ท่านวนเวียนคอยรับบาตรบ้านคนคนนี้แล้วก็ถ่ายลงใส่ถัง ถ้าเราไม่ใส่บาตรพระแบบนี้เราจะเป็นคนบาปไหมคะ..?”
หลวงพ่อ : “บาป เขาแปลว่า ชั่ว บุญเขาแปลว่า ดี ถ้าเรา ไม่ใส่ก็ไม่ชั่วตรงไหนนี่ เพราะว่ามันเป็นทรัพย์สินของเรา เขาแสดงอาการไม่เป็นที่น่าเลื่อมใส เราไม่ให้ไม่เห็นจะแปลก เพราะว่าพระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสว่า การให้ทานก็จะต้องเลือกให้เหมือนกัน เพราะผู้รับถือว่าเป็น “เนื้อนาบุญ”
ถ้าหว่านพืชลงในนาลุ่มน้ำก็ท่วมตาย ถ้าดอนเกินไปน้ำไม่ถึงก็ตาย ต้องหว่านในเนื้อนาที่เหมาะสม ถ้าเราเห็นนามันไม่ควรเราก็ไม่ให้ ทำไม่เหมาะไม่สม ไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ถ้าห็เป็นการเลี้ยงโจร
แต่ว่าพูดถึงทานการให้ เจตนาเราจะตั้งอย่างไรก็ตาม ตัวนี้มันเป็นผลตัดโลภะอยู่ตลอดเวลา ส่วนใหญ่จริงๆที่มีอานิสงส์สูงคือ ตัดโลภะ ความโลภ เพราะคนที่มีความโลภนี้ให้ทานไม่ได้ เงินที่จะให้ทานนี้มันตัดความสุขของเจ้าของ หากว่าให้ทานไม่ได้ เขากินเขาใช้ก็มีความสุข เขาอุตส่าห์ตัดความสุขของเขาส่วนนี้ออกไป เป็นการตัดโลภะ ความโลภ เป็นก้าวหนึ่งที่จะถึงพระนิพพาน อันนี้เขาไม่ต่ำ มันเป็น จาคานุสสติกรรมฐาน
จาคานุสสติกรรมฐานนี่ไม่ต้องไปภาวนา จิตคิดว่าจะให้ทานทุกๆวันนี่นะ จิตคิดว่า จิตคิดว่าถึงเวลานั้นเราจะใส่บาตร มากหรือน้อยก็ตาม อันนี้เป็นจาคานุสสติกรรมฐาน และการใส่บาตรหน้าบ้านเขาถือว่าเป็นสังฆทาน ถ้าพระองค์ไหนมีจริยาไม่สมควร เราไม่ให้มันก็ไม่แปลก การถวายสังฆทานมันมีผลสำหรับผู้รับ ถ้าผู้รับไม่ดีก็ลงอเวจีไปเอง”
ผู้ถาม : “กระผมจะทำบุญใส่บาตรเหมือนกันครับ แต่คิดว่าของที่จะใส่บาตรทำบุญมันไม่ดี ก็เลยอายไม่อยากใส่กะไว้ว่าถ้าเมื่อมีอาหารดีเมื่อไรจะใส่บาตร ผมคิดอย่างนี้ถูกไหมครับ..?”
หลวงพ่อ : “การทำบุญทำไมจะต้องอาย เคยมีนักเทศน์เขาถามกันว่า “มียายกับตา 2 คน แกหุงข้าวแล้วแฉะอีก ไอ้แกงก็เปรี้ยวแล้วเปรี้ยวอีก แกกินไม่ลง ของมันกินไม่ได้ เวลาพระมาบิณฑบาตแกก็บอกใส่บาตรดีกว่า”
พระนักเทศน์เขาก็ถามกันว่า “อย่างนี้จะได้อานิสงส์ไหม”ก็ต้องตอบว่า “ได้อานิสงส์ แต่ผลที่ขาจะได้รับก็เป็นทาสทาน”
ผู้ถาม : “ทาสทานเป็นยังไงครับ...?”
ทานมี 3 ประเภท
หลวงพ่อ : “คำว่า ทาสทาน หมายความว่า ให้ของเลวที่เรากินเราใช้ เวลาที่เราใช้สอยมันก็ต้องเลวกว่าที่เขากินเขาใช้กัน ได้ก็ได้ของเลว
ถ้าให้ของเสมอที่เรากินอยู่ หรือที่เราใช้อยู่ เขาเรียกว่า สหายทาน ผลที่เราจะได้รับ ก็เสมอกัยที่เรากินเราใช้
ถ้าให้ของที่ดีกว่าที่เรากินเราใช้ เขาเรียกว่า สามีทาน สามีทานเขาไม่ได้แปลว่า ผัวทานนะ สามีเขาแปลว่า นาย เวลาที่ได้รับผลเราก็จะได้ของเลิศ
ถ้าถามว่า ทาสทาน มีอานิสงส์ไหม ก็ต้องดูตัวย่าง ท่านอาฬวีเศรษฐี เป็นมหาเศรษฐีมีทรัพย์ 80 โกฏิ พระราชาตั้งเป็นมหาเศรษฐี แต่ว่าผ้าที่แกนุ่งนี่ ผ้าใหม่แกนุ่งไม่ได้ นุ่งผ้าช้ำแล้วใกล้จะขาดแล้วแกนุ่งได้ ข้าวที่จะกินเม็ดสวยๆก็กินไม่ได้ ต้องเป็นข้าวหัก หรือปลายข้าวแกจึงจะกินได้ ของทุกอย่างที่แกใช้ต้องเป็นของเลว แต่อย่าลืมนะว่าเข้าเป็นมหาเศรษฐีได้นะ”
หลวงพ่อปรารถเพิ่มว่า
หลวงพ่อ : “การตั้งใจว่าจะใส่บาตรด้วยของดีๆน่ะดี แต่ว่าวันไหนมีอาหารที่เราคิดว่าไม่ดีก็ใส่บาตรได้
การให้ทานพระพุทธเจ้าบอกว่า อย่าเบียดเบียนตัวเอง ถ้าเบียดเบียนตัวเองเป็น อัตตกิลมมถานุโยค เป็นการทรมานตัวเอง
และการให้ทานพระพุทธเจ้าให้ดูอีกว่า ควรให้หรือไม่ควรให้ ถ้าให้นอกในเขตของคนเลวอานิงสงส์ก็น้อย อาจจะไม่มีเลย รู้ว่าคนนี้ควรจะให้เราก็ให้ ถ้าไม่ควรให้เราก็ไม่ควรให้ ให้แล้วไปกินเหล้าเมายา ไปสร้างอันตรายกับคนอื่น เราไม่ให้ดีกว่าเป็นการต่อเท้าโจร ให้พลังแก่โจร เวลาจะให้ท่านวางกฎดังนี้
ผู้ให้บริสุทธิ์ บริสุทธิ์หรือไม่เขาจึงให้สมาทานศีลก่อน ถ้าสักแต่ว่าสมาทานนี่ซวย เวลายั้ยต้องตั้งใจรักษาศีลจริงๆ จิตตอนนั้นมันถึงจะบริสุทธิ์ คืออยู่ในช่วงว่างจากกิเลส ถ้าตั้งใจสมาทานศีลด้วยดี จิตตอนนั้นบริสุทธิ์
ผู้รับบริสุทธิ์ หมายความว่า ถ้าผู้รับเป็นพระ ก็พยายามให้เป็นพระจริงๆนะ ถ้าถวายสังฆทานนี่ไม่ต้องห่วง ผู้รับบริสุทธิ์แน่นอน พระองค์ไหนถ้าไม่บริสุทธิ์ กินแล้วตกนรก
วัตถุทานบริสุทธิ์ ถ้าไม่ได้ฆ่าวัตว์เอามาทำบุญ ไม่ได้ขโมยสตางค์เอามาทำบุญ เป็นของเราหามาได้โดยชอบธรรม
อย่างนี้ของดีก็ตาม ของเลวก็ตาม มีอานิสงส์มาก อานิสงส์คือความดี ความชื่นใจมาก
แต่ถ้าผู้ให้บริสุทธิ์ ผู้รับบริสุทธิ์ วัตถุทานไม่บริสุทธิ์ ความดีก็ลดน้อยลง
แต่ผู้ให้บริสุทธิ์ ผู้รับไม่บริสุทธิ์ วัตถุทานไม่บริสุทธิ์ ให้บาทหนึ่ง จะได้สักสตางค์หรือเปล่าก็ไม่รู้
รวมความว่าต้องบริสุทธิ์ทั้ง 3 อย่าง ถ้าลดไปอย่างใด อย่างหนึ่งอานิสงส์ก็ลดตัวลงมา ถ้าลดเสียหมดก็ไม่มีเลย”
เจตนาครบ 3 กาล
หลวงพ่อ : “แต่ว่าการให้ทาน พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้อีกประเภทหนึ่ง ต้องครบ 3 กาล จึจะมีอานิสงส์สูง คือ
ก่อนที่จะให้ก็ต้องตั้งใจให้
ขณะให้ก็ดีใจ
เมื่อให้แล้ว ก็เกิดความเลื่อมใส
มีเรื่องเล่าว่า สมัยหนึ่ง เมื่อท่านอนาถบิณฑกเศรษฐีจนลง ขนาดข้าวเป็นเม็ดแทบไม่มีกิน ต้องกินปลายข้าว แต่ว่าศรัทธาท่านยังไม่ถอย ท่านนิมนต์พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์ไปฉันภัตตาหารที่บ้าน ท่านก็เอาปลายข้าวละเอียด เรียกว่า ข้าวปลายเกวียนต้ม แล้วเอาน้ำผักดองเปรี้ยวๆเค็มๆ ทำเป็นกับมาถวายพระพุทธเจ้า แล้วกราบทูลพระพุทธเจ้า
“เวลานี้ทานของข้าพระพุทธเจ้าเศร้าหมอง พระพุทธเจ้าข้า”
พระพุทธเจ้าถามว่า “เธอมีเจตนาในการถวายทานมีความรู้สึกอย่างไร..?”
ท่านบอกว่า “ก่อนจะให้ก็เต็มใจพร้อมเสมอ ในขณะนี้ก็ปลื้มใจ เมื่อให้แล้วเกิดความเลื่อมใส ดีใจว่าให้แล้วพระพุทธเจ้าข้า”
พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสว่า “ดูก่อน มหาเศรษฐี ลูขัง วา ปะณีตัง วา” หมายความว่า ถ้าคนให้ทานมีเจตนาพร้อมเพรียงทั้ง 3 กาลอย่างนี้ ของดีก็ตาม ของเลวก็ตาม ย่อมมีอานิสงส์เลิศ มีอานิสงส์สูง แต่ที่ท่านอนาถบิณฑกเศรษฐีท่านทำนั้น ท่านถวายพระพุทธเจ้า และพระที่ฉันก็เป็นพระอรหันต์ทั้งหมด นับเป็นยอดของทาน
ถ้าหากว่าเราไม่รู้จะเลือกยังไง องค์นี้จะเป็นโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี อรหันต์หรือเปล่า หรือเป็นพระโปเก พระเชียงกง ถ้าเราไม่รู้ก็ถวายเป็นสังฆทานเลย เพราะสังฆทานอานิสงส์สูงมากรองจากวิหารทาน”
ผู้ถาม : “หลวงพ่อครับ ใส่บาตรตอนเช้าบังเอิญหากับข้าวไม่ทัน เอาปลาเค็มที่กินค้างเมื่อวานนี้ ใส่ไปเพราะความจำเป็น อย่างนี้มีอะไรเกิดขึ้นหรือเปล่าครับ..?”
หลวงพ่อ : “มีแน่ เป็นผลร้ายแรงมาก”
ผู้ถาม : “ขนาดไหนครับพลวงพ่อ..?”
หลวงพ่อ : “ตายแล้วเกิดเป็นเทวดา นี่เป็นจริงๆนะ”
ผู้ถาม : “ก็นี่เขากินเหลือนี่ครับ”
หลวงพ่อ : “เดี๋ยวก่อน... เคยอ่านเจอในพระไตรปิฎกไหม ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จไปในที่แห่งหนึ่ง เวลานั้นสายเกินเลยเวลาอาหารตอนเช้าใช่ไหม พร้อมกับคณะสงฆ์ ก็มีพราหมณ์คนหนึ่งบอกว่า
“อาหารของข้าพเจ้ามี แต่เวลานี้มันเป็นเดนไปเสียแล้ว การถวายพระพุทธเจ้าพร้อมไปด้วยคณะสงฆ์เกรงจะเป็นบาป”
พระพุทธเจ้าถามว่า “เธอคิดว่าเป็นเดนน่ะ เธอตักกินในหม้อหรือเปล่า”
เขาบอกว่าเปล่า เขาตักออกมาใส่ถ้วยแล้วกิน พระพุทธเจ้าบอกว่า “อย่างนี้ไม่ถือว่าเป็นเดน ถวายพระสงฆ์หรือพระพุทธเจ้าก็ดี จะมีอานิสงส์สมบูรณ์แบบ”แล้วท่านก็ตรัสต่อไป “ถึงแม้ว่าอาหารจะเป็นเดน คือกินในถ้วยนั้นแล้ว แต่ถ้าพระท่านหิว ถ้าเอาไปถวาย ก็มีอานิสงส์สมบูรณ์แบบเหมือนกัน ไม่มีโทษ มีแต่คุณ”
การทำบุญ มี 3 วิธี
หลวงพ่อ : “อีกประการหนึ่ง พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า สมัยพระพุทธกัสสปท่านเทศน์ไว้อย่างนี้ คือ
“บุคคลใดทำบุญด้วยตนเอง ไม่ชักชวนคนอื่น ในชาติต่อไป จะร่ำรวย แต่ขาดบริวารสมบัติ”
“แต่ถ้าดีแต่ชักชวนเขา ไม่ทำเอง ชาติต่อไปมีเพื่อนมากมาย แต่ตัวเองจน”
“ถ้าทำบุญด้วยตนเองด้วย ชักชวนคนอื่นด้วย รวยด้วยมีพรรคพวกด้วย
นี่ท่านเทศน์แบบนี้นะ ถ้าเราทำคนเดียวก็ได้ก็ทำ ทีนี้ถ้าเราชวนเขาด้วย แต่ว่าการชวนนี่ก็ลำบากนะ ถ้าชวนเขาทำบุญด้วยก็อย่าหวังว่าเขาจะให้เรานะ คิดว่าเขาให้หรือไม่ให้ก็เป็นเรื่องของเขา คือแนะนำเขาว่าเวลานี้เราทำนู่นทำนี่ จะทำบุญร่วมด้วยไหม.. ถ้าบังเอิญเขาไม่ร่วมทำบุญด้วยก็อย่าโกรธ เราถือว่าเราชวนเข้าทำดี ถ้าเราโกรธเขา บุญเราจะด้อยลงไป เพราะตัวโกรธเข้ามาตัด”
ผู้ถาม : “ดิฉันเคยอ่านเจอในหนังสือที่หลวงพ่อเขียนบอกว่าการถวายสังฆทานควรมี พระพุทธรูป ผ้าไตรจีวร และอาหาร อันนี้จำเป็นจะต้องมีครบตามนี้ไหมคะ..?”
หลวงพ่อ : “ความจริงเราไม่ทำถึงขนาดนั้นก็ได้ การถวายสังฆทานในที่บางแห่งใช้เครื่อง 5 เครื่อง 8 นี่เป็นเพียงการสร้างขึ้น เรามีข้าวเพียงช้อนหนึ่ง แกงเพียงช้อนหึ่ง น้ำเพียงช้อนหนึ่ง แล้วถวายไป บอกว่าเป็นสังฆทานเพียงเท่านี้ก็ใช้ได้ แต่ว่าที่เขียนไว้ในหนังสือ ว่าควรทำแบบนี้เพราะ ผีกี่ร้อยกี่พันรายก็ตาม มาขอกันแบบนี้เรื่อยๆ คือขอเหมือนกัน ที่ฉันแนะนำเขาตามที่ผีขอนะเลยถามเขาว่า
“ผลที่ได้แก่พวกเอ็งเป็นยังไง..?”เขาบอกว่า
ถวายพระพุทธรูปเป็นของสงฆ์ อานิสงส์ก็คือถ้าเป็นเทวดามีรัศมีกายสว่างไสวมาก เพราะว่าเทวดาหรือพรหมเขาไม่ดูกันที่เครื่องแต่งตัว เขาดูแสงสว่างจากกาย
ผ้าไตรจีวร หรือผ้าสักผืนหนึ่ง เขาจะได้เครื่องประดับอันเป็นทิพย์ เครื่องแต่งตัวทิพย์
อาหารหรือของกิน จะทำให้ร่างกายเป็นทิพย์”
ผู้ถาม : “ทีนี้ถ้าหากว่า ท่านทั้งหลายเหล่านั้นจุติจากเทวดาโลกก็ดี พรหมก็ดี มาเกิดเป็นมนุษย์ อานิสงส์เหล่านี้จะติดตามมาอีกไหมครับ...?”
หลวงพ่อ : “อานิสงส์ตามมาคือ
มีรูปร่างหน้าตาสวย เพราะอานิสงส์ถวายข้าวพระพุทธรูป แล้วก็มีปัญญาทรงตัว นี่อำนาจพุทธนานุภาพนะ
เครื่องประดับแต่งตัวดี และไม่อดอยาก เพราะอาศัยทาน
ยกตัวอย่าง นางวิสาขา เป็นคนสวยงามมาก เพราะในชาติก่อนได้เคยซ่อมแซมพระพุทธรูป และปลูกโรงทำหลังคาคลุมพระพุทธรูป จึงเป็นปัจจัยได้ เบญจกัลยาณี คือความงาม 5 ประการ
และนางวิสาขาเป็นคนรวยมาก มีเครื่องลดามหาปสาธน์ราคา 16 โกฏิ เป็นเครื่องประดับ เพราะอานิสงส์เคยถวายผ้าไตรจีวรไว้ในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ถ้าเป็นผู้ชายออกบวชในสำนักพระพุทธเจ้า เมื่อท่านตรัสว่า “เอหิภิกขุ” แปลว่า “เธอจงมาเป็นภิกษุเถิด” เพียงเท่านี้ ก็จะได้ผ้าไตรจีวรที่สำเร็จด้วยฤทธิ์ ลอยลงมาสวมตัวทันที
ทั้งนี้ด้วยอำนาจบารมีที่ท่านได้บำเพ็ญแล้วด้วยดี จึงเป็นปัจจัยให้นางวิสาขาเป็นทั้งคนสวยคนรวย และเป็นคนมีปัญญามาก ได้เป็นพระโสดาบันตั้งแต่อายุ 7 ขวบ”
ผู้ถาม : “ทีนี้ก็มีคนสงสัยเรื่องสังฆทานครับ ถามว่าสังฆทานที่มาถวายหลวงพ่อ แล้วก็ผาติกรรมไป แล้วก็กลับมาถวายหลวงพ่ออีกครั้งหนึ่ง อานิสงส์จะสมบูรณ์หรือไม่อย่าไงครับ ...?”
หลวงพ่อ : “เท่ากันแหละ เขาเอาแบงค์มาถวายก็เป็นสังฆทาน ถ้าอยากจะมีของไปรับเอามาก็เท่ากัน”
ผู้ถาม : “ซื้อมาเองกับผาติกรรมนะครับ...?”
หลวงพ่อ : “แต่อย่าลืมว่าสตางค์ของใคร นั่นเป็นสัญลักษณ์เป็นนิมิตออกมา มีของสักหน่อยใจมันก็สบายกว่าไม่มีของใช่ไหม ถ้าเจตนาให้เงินมันเป็นอะไรมันก็เป็นตามนั้น และก็ตั้งใจเฉยๆ เกรงว่าไม่เป็นไปตามนั้นให้มันมีของตั้งอยู่ ถ้าต้องการจีวรต้องการพระพุทธรูป ก็เป็นนิมิตจับ
อย่าลืมว่าอานิสงส์ของสังฆทาน อะไรๆก็ต้องไปดาวดึงส์เป็นอย่างน้อย ส่งฆทาน กับวิหารทาน จุดแรกต่ำสุด คือดาวดึงส์ หลังจากนั้นจะไปเลวกว่านั้นก็ตามใจ แต่อย่าลืมนะดาวดึงส์นี่เข้ายาก ไม่ใช่เข้าง่ายๆเลย นอกจากทำบุญขั้นสังฆทานและวิหารทานแล้ว ถ้าเป็นบุญเล็กน้อย ก็ต้องเป็นการทำบุญตัดชีวิต
คำว่า “ทำบุญตัดชีวิต” ก็หมายความว่า ถ้าเราเดินทางเอาข้าวไปจำกัด ขณะกินข้าวอยู่เห็นสุนัขเดินมา หรือไก่ เดินมานึกสงสารมัน “ให้มันกินหน่อยเหอะวะ” อย่างนี้ไปถึงดาวดึงส์ได้”
ทำบุญวันเกิด
ผู้ถาม : “หลวงพ่อคะ กรทำบุญวันเกิด เราจะทำหลังวันเกิดหรือก่อนวันเกิดดีคะ...?”
หลวงพ่อ : “ตอนไหนก็ได้ การทำบุญวันเกิด เราถือว่าปีหนึ่งเรามีโอกาสทำบุญครั้งหนึ่ง ที่เราทำบุญวันเกิดนี่เป็นนโยบายของพระ ท่านให้เรามีจิตเป็นกุศลไว้ ถ้าถึงวันเกิดเราตั้งใจจะทำบุญ เราจะทำอะไรบ้าง มีการเตรียมการไว้ในใจ ถ้าจิตมันนึกอย่างนี้ เวลาตายอานิสงส์ได้ทันที
อย่าง สาตกีเทพธิดา เธอจะเอาดอกบวมขมไปบูชาเจดีย์ที่เขาบรรจุกระดูกพระอรหันต์ แต่พอจัดดอกไม้ยังไม่ทันพ้นบ้านถูกวัวขวิดตาย อาศัยที่เธอตั้งใจบูชาพระด้วยดอกไม้นั้นยังไปไม่ถึง พอตายแล้วก็เกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เทวโลก มีวิทานทองคำที่อยู่ มีนางฟ้า 1000เป็นบริวาร
อย่างนี้เขาถือว่าเป็น อนุสสติ ถ้าเรานึกจะถวายเป็นสิ่งของ ก็เป็น จาคานุสสติ คิดว่าเราจะทำบุญกับพระองค์นั้นองค์นี้ นึกถึงพระสงฆ์ ก็เป็น สังฆานุสสติ ถ้าเราคิดจะทำบุญกับพระสงฆ์แต่ให้มีพระพุทธรูปตั้งอยู่ด้วย นึกถึงพระพุทธก็เป็น พุทธานุสสติ ถือว่าเป็นการเจริญพระกรรมฐานไปในตัว แต่พระท่านไม่ได้บอกตรงๆเท่านั้นเอง”
ผู้ถาม : “หลวงพ่อคะ แล้วอย่างทำบุญเพียงแค่เล็กน้อย เช่น การสร้างโบสถ์นี่คะ คือไม่ได้ทำทั้งหลังคะ ทำเฉพาะประตูไม้ เขามาเรี่ยไรก็ร่วมทำบุญกับเขาไป อย่างนี้บุญคงน้อยกว่าการทำบุญทั้งหลังใช่ไหมคะ ..?”
หลวงพ่อ : “ถ้าเราทำบุญสร้างโบสถ์ สร้างวิหาร สร้างกุฏิ สร้างศาลา ทั้งหมดนี่เราไม่ได้ทำเต็มหลัง วิมานจะปรากฏเลย ถ้าเราได้มโนยิทธิจะสามารถไปเที่ยวดูได้เลย”
ผู้ถาม : “รู้สึกว่าสมบัติที่เราทำมันเล็กน้อย ก็คิดว่าบุญคงได้น้อยคะ”
หลวงพ่อ : “สมบัติมันเล็กน้อยก็จริง แต่ว่าอานิสงส์มันไม่เล็กน้อย ก็แบบซื้อลอตเตอรี่ใบเดียวถูกรางวัลที่หนึ่งน่ะ อย่างทำบุญสร้างโบสถ์ สร้างศาลา สร้างอาคาร สร้างส้วม เขาเรียกว่าวิหารทาน อันนี้จัดเป็นบุญสูงสุด
ตัวอย่างตอนที่พระพุทธเจ้าเคยเกิดเป็น มฆมานพ ท่านกับเพื่อนอีก 32 คน ช่วยกันทำศาลาหลังหนึ่งไว้เป็นที่พักของคนเดินทาง มีช้างสำหรับลากไม้หนึ่งเชือก มีนายช่างหนึ่งคน
ตายไปแล้ว ท่านมฆมานพก็ไปเกิดเป็นพระอินทร์ เพื่อนอีก 32 คน ก็ไปเกิดเป็นเทวดา มีวิมานคนละหลัง นายช่างไปเป็น วิษณุกรรมเทพบุตร ช้างที่ลากไม้เป็น เอราวัณเทพบุตร มีวิมานคนละหลังเหมือนกัน เห็นไหม... สร้างศาลาหลังเดียว ก็มีวิมานคนละหลัง นี่เป็นเรื่องของอานิสงส์นะ ”
ผู้ถาม : “หลวงพ่อครับ กุศลชนิดใดมีอานิสงส์มากกว่าวิหารทานบ้างละครับ”
หลวงพ่อ : “ “สัพพะทานัง ธัมมะทานัง ชินาติ” การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง ให้ธรรมทานซิคุณ หนังสือเรียนของเด็ก หนังสือเรียนของผู้ใหญ่ หนังสือเรียนของพระ หนังสือธรรมะต่างๆ
ดูตัวอย่าง พระสารีบุตร ให้ปัญญากับประชาชนทั้งหลาย เพราะอานิสงส์ได้เคยสร้างพระธรรมซึ่งเป็นถ้อยคำที่มีประโยชน์ถวายพระพุทธเจ้า เกิดมาชาติหลังสุดเป็นพระที่มีปัญญามาก
อย่างเงินที่เขาถวายฉันไว้นี่ พอกลับไปถึงวัดก็เรียบร้อย เลี้ยงอาหารพระบ้าง ค่ากระแสไฟฟ้าบ้าง ค่าก่อสร้างบ้างโดยเฉพาะเทปคลาสเซทที่ขายม้วนละ 25 บาท ถ้าเอาทุนจริงๆแล้วมันไม่พอรวมความว่า ที่ท่านตั้งใจนี่ มีผล 4 อย่าง
สร้างพระพุทธรูป
วิหารทาน
สังฆทาน
ธรรมทาน
ทั้งหมดนี้ไม่ต้องใช้ทุนมากก็ได้ เอาสัก 50 สตางค์เป็นอันว่าการทำบุญเอาแค่พอควรนะ แต่ให้มันเป็นบุญใหญ่ เขามุ่งแบบนั้นนะ คือเราเอาไปผสมกับเขาแล้วกัน ไม่ต้องสร้างทั้งหลัง ”
ผู้ถาม : “กระผมสงสัยเรื่องการทำบุญ บางคนทำช้า บางคนทำไว อยากเรียนถามหลวงพ่อว่า อานิสงส์จะต่างกันหรือไม่ขอรับ..?”
หลวงพ่อ : “ต่างกัน คือได้ช้าได้เร็ว ก็เหมือน ท่านจูเฬกสาฎกท่านตั้งใจฟังเทศน์จากพระพุทธเจ้า ตั้งใจถวายทานตั้งแต่ ยามต้น และยามที่สอง จิตเป็นห่วงยายที่บ้านไม่มีโอกาสจะฟังเทศน์เพราะไม่มีผ้าห่ม พอยามที่ 3 ใกล้สว่าง จึงตัดสินใจถวายแล้วประกาศว่า “ชิตัง เม ชิตัง เม” พระเจ้าปเสนธิโกศลได้ยินก็ทราบว่าชนะความตระหนี่ จึงนำผ้าสาฎกและทรัพย์สินต่างๆมาให้มีฐานะเป็นคหบดีคนหนึ่ง
ต่อมาพระพุทธเจ้าตรัสว่า “ถ้าพราหมณ์นี้ถวายในยามต้นจะได้เป็น มหาเศรษฐี ถ้าถวายยาม 2 จะได้เป็น อนเศรษฐี ยามที่ 3 จะได้เป็นคหบดีใหญ่ ที่ได้น้อยเพราะถวายช้าเกินไป” พระองค์จึงตรัสว่า การบำเพ็ญกุศลผลความดีในศาสนาของเรานี้จงอย่าเนิ่นช้า ต้อง “ตุลิตะ ตุลิตัง สีฆะ สีฆัง” คือ เร็วๆ ไวๆ ”
คัดมาจากหนังสือหลวงพ่อตอบปัญหาธรรมเล่ม1
ภาพประกอบหัวเรื่องจาก -http://www.3a100.com/ArnisisongSangkatan.html-
.
-
ท่านจูเฬกสาฎก
โดย หลวงพ่อพระราชพรหมยาน
-http://www.kaskaew.com/index.asp?contentID=10000004&title=%B7%E8%D2%B9%A8%D9%E0%CC%A1%CA%D2%AE%A1&getarticle=150&keyword=&catid=6-
มีเรื่องในธรรมบท ท่านว่าเวลานั้นพระพุทธเจ้าพักอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร เวลานั้น องค์สมเด็จพระพิชิตมารทรงบรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณใหม่ ๆ คำว่าพระพุทธเจ้ายังไม่ปรากฎในโลก แต่คำว่าอรหันต์นี่ชาวบ้านรู้เรื่อง เขาต้องการอรหันต์กัน แต่ยังไม่รู้จักอรหันต์จริง ๆ
วันนั้นพระพุทธเจ้าเสด็จไปที่เมืองสาวัตถี และไปพักที่พระเชตวันมหาวิหาร บรรดาทายกก็ประกาศว่า เวลานี้องค์สมเด็จพระบรมโลกนาถคือพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้วในโลก ขอบรรดาท่านทั้งหลายจงไปฟังเทศน์พระพุทธเจ้าทั้งกลางวันและกลางคืน ใครจะไปกลางคืนก็ได้ ใครจะไปกลางวันก็ได้
ในตอนนั้นท่านบอกว่า มีพราหมณ์คู่หนึ่งสองตายายสองสามีภรรยา ชื่อว่า จูเฬกสาฎก แต่ว่าพราหมณ์จูเฬกสาฎกตามบาลีท่านบอกว่า ในสมัยพระวิปัสสี พราหมณ์คนนี้ชื่อว่ามหาสาฎก แปลว่าสาฎกใหญ่ สมัยพระพุทธเจ้าองค์นี้ มาเกิดใหม่ชื่อสาฎกตามเดิม ชื่อจูเฬกสาฎก แปลว่า สาฎกเล็ก
พอตาพราหมณ์ได้ฟังก็บอกกับท่านยาย ถามท่านยายว่า ยายจะไปฟังเทศน์กลางคืนหรือว่ากลางวัน เพราะเราไปพร้อมกันไม่ได้ เพราะจนมาก มีผ้านุ่งคนละผืน มีผ้าห่มผืนเดียว พราหมณ์ออกจากบ้านต้องห่มผ้า เมื่อสามีออกจากบ้าน ภรรยาก็ต้องเฝ้าบ้าน เพราะไม่มีผ้าห่ม ถ้าภรรยาออกนอกบ้าน สามีก็ต้องเฝ้าบ้าน เพราะไม่มีผ้าห่ม ยายก็บอกว่า กลางคืนตาฉันไม่ดี ให้ตาไปฟังกลางคืนก็แล้วกัน กลางวันจึงจะไป
ก็เป็นอันว่าท่านจูเฬกสาฎกก็ตกลงใจ (ฉันก็ยกย่องเป็นท่านจูเฬกสาฎกนะ อย่าลืมนะว่าท่านทันสมัยพระพุทธเจ้า ไม่โง่ตามฉันหรอกนะ อย่างน้อยก็ไปนิพพานนานแล้ว) ก็ตัดสินใจ พอค่ำก็เดินทางไปที่มหาวิหารพระเชตวันไปนั่งด้านหน้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตั้งใจเทศน์สงเคราะห์โดยเฉพาะ คนฟังมาก แต่วันนั้นท่านจี้จุดเฉพาะท่านจูเฬกสาฎก แต่คนที่พลอยได้นะมีเยอะ ตามธรรมดาพระพุทธเจ้าเทศน์ต้องมุ่งก่อนว่า วันนี้เราไปเทศน์จะมีใครบรรลุมรรคผลไหม จะมีผลเป็นประการใดบ้าง ถ้าไม่มีผลเลยนี่ไม่ไป ถ้าจะไปแล้วจะต้องพูดแบบไหนจึงจะมีผล ท่านรู้ไปก่อน
ในเมื่อท่านจูเฬกสาฎกไปนั่งข้างหน้า ท่านก็เทศน์เรื่อง ทานบารมี อธิบายผลของทานว่า ทานเป็นปัจจัยให้เกิดความรักเป็นต้น ผู้ให้ย่อมเป็นที่รักของผู้รับ เป็นต้น และบรรดาเพื่อน ๆ ของบุคคลผู้รับก็ย่อมรักผู้ให้ เทศน์อย่างนี้ เทศน์อานิสงส์ของทานว่า การมีชีวิตอยู่ก็มีความสุขและก็มีพวกมาก ตายไปแล้วก็ไปเกิดบนสวรรค์ มาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ก็เป็นคนร่ำรวย ท่านเทศน์ยาว
พอถึงยามต้น หัวค่ำนะ พราหมณ์ตัดสินใจคิดว่า เราจะถวายผ้าห่มผืนนี้กับพระพุทธเจ้า พอคิดเพียงเท่านี้ก็ห่วงบ้าน เทศน์ไพเราะแบบนี้ไม่เคยมีมาก่อน ถ้าเราถวายผ้าผืนนี้กับพระพุทธเจ้า พรุ่งนี้ยายก็มาไม่ได้ใช่ไหม ห่วงยาย พระพุทธเจ้าก็เทศน์ต่ออีก พอถึงยามที่สองก็ตัดสินใจใหม่อีก แล้วก็ห่วงยายอีก พอถึงยามที่สามเลิกห่วงยาย (เห็นแก่ตัวแล้วนะ) ช่างมันเถอะ ยายจะมาฟังได้หรือไม่ได้ก็ช่างมัน กูถวายละ ก็เปลื้องผ้าที่ห่ม (คงจะแสนเก่า ไม่ใช่แสนใหม่นะ มีผืนเดียวนี่นะ) เอาไปวางที่พระบาทของพระพุทธเจ้า แล้วก็ถอยหลังออกมาเปล่งวาจาว่า “กูชนะแล้ว กูชนะแล้ว” ตามภาษาบาลีว่า “ชิตัง เม ชิตัง เม” เราชนะแล้ว เราชนะแล้ว
เวลานั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลนั่งฟังเทศน์อยู่ด้วย จึงให้ราชบุรุษเข้าไปถามว่า ดูซิลุงแก่แกชนะอะไรของแก เดินจะไม่ไหวอยู่แล้วใช่ไหม ในเมื่อราชบุรุษเข้าไปถาม ท่านบอกว่าชนะความตระหนี่ เพราะตัดสินใจมาตั้งแต่ตอนเย็น ตัดสินใจไม่ได้ เวลานี้ตัดสินใจได้แล้ว ก็รวมความว่า วันพรุ่งนี้ทั้งตัวแกเองรวมทั้งยายด้วยไม่ได้ฟังเทศน์ ถึงแม้จะไม่ได้ฟังก็ตามใจ ฟังเทศน์นี่ชื่นใจมากแล้ว
เวลานั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลท่านทราบ ก็สั่งให้เขาไปเอาผ้าสาฎกที่พระองค์ทรงใช้เองเอามาสองผืน (หนึ่งคู่) ให้แก แกก็น้อมไปถวายให้พระพุทธเจ้าอีก ทีนี้สั่งเอามาให้อีกสองคู่ แกก็ถวายพระพุทธเจ้าอีก ไปถึง 32 คู่ ว่าเรื่อยกันไปนะ 2 คู่ 3 คู่ 4 คู่ ว่าเรื่อยไปถึง 32 คู่ พอถึง 32 คู่ ก็คิดในใจว่า ถ้าเราไม่เอาไว้เลย ท่านผู้ให้จะหาว่าเรารังเกียจ เลยกันไว้สองคู่ เพื่อยายคู่หนึ่ง เพื่อตัวคู่หนึ่ง อีก 30 คู่ ถวายพระพุทธเจ้า
พระเจ้าปเสนทิโกศลก็คิดว่า คนนี้มีความเลื่อมใสในที่ที่เราเลื่อมใสแล้ว จึงให้ไปนำผ้ากำพลที่พระองค์ใช้เองอย่างดีที่สุด ราคาแสนกหาปณะมาสองผืน มามอบให้พราหมณ์ ท่านจูเฬกสาฎกก็เอาไปทำเพดานให้พระพุทธเจ้าเสียผืนหนึ่ง เอาไปกั้นเพดานที่บ้านเสียผืนหนึ่ง เมื่อเวลาพระสงฆ์ไปฉัน
พอรุ่งขึ้นอีกวันตอนบ่าย พระเจ้าปเสนทิโกศลมาเห็นผ้ากำพลก็จำได้ ก็ถามพระพุทธเจ้าว่า ใครถวาย พระพุทธเจ้าก็บอกว่า จูเฬกสาฎกถวาย จึงทรงเรียกจูเฬกสาฎกมา อีตานี้ใจหายวาบ สั่งให้เข้าเฝ้าด่วน ให้มาด่วนเดี๋ยวนี้ (น่ากลัวหัวขาด) พอรับสั่งให้เข้ามาถึง ก็บอกว่า ฉันให้ผ้าเธอถึง 32 คู่ ไล่เป็นลำดับมา เธอถวายพระพุทธเจ้า เธอเอาไว้สองคู่เพื่อตากับยาย ฉันให้ผ้ากำพลเธอใช้เพราะเธอมีศรัทธา เธอทำไมจึงถวายพระพุทธเจ้าอีก
ท่านก็เลยบอกว่า ผ้ากำพลไม่เหมาะกับข้าพระพุทธเจ้า คนฐานะอย่างนี้ไม่สมควร สมควรกับพระเจ้าอยู่หัวอย่างเดียว ไม่เช่นนั้นก็พระพุทธเจ้าเท่านั้น
ท่านก็เลยบัญชาใหม่ว่า นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เราให้คู่ 4 กับเธอ คือ โค 4 ช้าง 4 ม้า 4 ควาย 4 แล้วก็ผู้หญิง 4 ผู้ชาย 4 ทาสชาย 4 ทาสหญิง 4 และทรัพย์สินอีก 4,000 กหาปณะ (เวลานั้นเป็นคนรวยแล้วนะ) และบ้านสำหรับเก็บส่วยเก็บภาษีอีก 4 ตำบล รวยใหญ่เลย กลายเป็นอนุเศรษฐีไป
ต่อมาตอนเย็น พระสงฆ์ทั้งหลายก็นั่งคุยกัน (พระพุทธเจ้าอยู่ในมหาวิหาร) ว่าน่าอัศจรรย์ที่จูเฬกสาฎกถวายผ้าแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าเพียงแค่ผืนน้อย ๆ ผืนเดียว ผ้าเก่าด้วย มีผลปัจจุบันขนาดนี้ องค์สมเด็จพระชินสีห์ฟังแล้วก็คิดว่า เราควรจะไปที่นั่น พอไปถึงท่านก็ถามว่า “เธอคุยเรื่องอะไรกัน” (นี่เป็นธรรมดานะ ธรรมดาของพระพุทธเจ้า พระสงฆ์ก็เหมือนกัน รู้แล้วต้องทำเป็นไม่รู้) พระก็เล่าให้ฟัง พระพุทธเจ้าก็บอกว่า จูเฬกสาฎกถวายช้าไป ถ้าถวายตถาคตตั้งแต่ยามต้น จะได้คู่ 12 หากถวายยามกลางจะได้คู่ 8 คือ 8 คู่ นี่ถวายยามสุดท้ายจึงได้ 4 คู่ (น้อยไป) ฉะนั้น การทำบุญต้องเร็ว ๆ ไว ๆ ตุลิตะ ตุลิตัง สีฆะ สีฆัง เร็ว ๆ ไว ๆ
-
อานิสงส์กฐินทาน
โดย หลวงพ่อพระราชพรหมยาน
-http://www.kaskaew.com/index.asp?contentID=10000004&title=%CD%D2%B9%D4%CA%A7%CA%EC%A1%B0%D4%B9%B7%D2%B9&getarticle=38&keyword=&catid=7-
ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เป็นเวลากาลที่จะทอดผ้าพระกฐินทาน เหตุฉะนั้นในวันนี้อาตมาภาพจะได้นำเอาเรื่องราวของบุญที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า “ปุญญานิ ปรโลกัสมิง ปติฏฐา โหนติ ปาณินัง” ซึ่งแปลเป็นใจความง่าย ๆ ว่า “บุญกุศลย่อมจะทำให้บุคคลมีความสุขต่อไปในภายภาคข้างหน้า”
ความมีอยู่ว่า ในสมัยเมื่อองค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ เวลานั้นองค์สมเด็จพระบรมครูทรงเสด็จประทับอยู่ในพระคันธกุฎีมหาวิหาร อันเป็นวิหารที่นางวิสาขาหาอุบาสิกาสร้างถวาย ตั้งอยู่ในเขตแห่งเมืองสาวัตถีคือเมืองสาเกต อันเป็นเขตพระราชฐานของพระราชา มีนามว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลบรมกษัตริย์
เวลานั้นเป็นเวลาก่อนที่จะเข้าพรรษา มีภิกษุชาวปาฐา 30 รูป ตั้งใจไปเฝ้าองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เมืองสาเกต อันเป็นเขตของเมือง
สาวัตถี แต่ว่าเวลานั้นองค์สมเด็จพระมหามุนีได้มีพระพุทธฎีกาบัญญัติว่า ถึงวาระเวลากาลฤดูฝนตั้งแต่กลางเดือน 8 ให้บรรดาภิกษุทั้งหลายหาที่พักจำพรรษาห้ามเดินไปในสถานที่อื่น จนกว่าจะถึงวันกลางเดือน 11
ทั้งนี้เพราะว่าในสมัยก่อนนั้น องค์สมเด็จพระชินวรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ได้ทรงบัญญัติฤดูกาลแห่งการจำพรรษา ฉะนั้นจึงมีเหตุอยู่ว่า เวลาฤดูฝนชาวบ้านเขาปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหารมาก สาวกขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าบางท่านก็ดี แต่บางท่านก็เต็มที เพราะว่าไร้มารยาทเดินลัดทุ่งหญ้าทุ่งนา เหยียบพืชพันธุ์ธัญญาหารที่ชาวบ้านเขาปลูกไว้ ทำให้ต้นพืชต้นข้าวเขาเสียหาย
ต่อมาเมื่อมีคนตำหนิว่า สาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไร้มายาท ปราศจากความดี ทำลายทรัพย์สินเหล่านี้ของเขาให้สิ้นไป เหตุฉะนี้องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาจึงได้ทรงบัญญัติว่า “ตั้งแต่ต้นฤดูฝน คือกลางเดือน 8 เป็นต้นไปให้ บรรดาภิกษุสงฆ์ทั้งหลายจำพรรษาสิ้นเวลา 3 เดือน ถึงกลางเดือน 11”
เวลานั้นภิกษุชาวปาฐา 30 รูป จะเข้ามาเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เดินมาระหว่างทางไม่ทันจะถึง ก็ปรากฎว่าถึงกลางเดือน 8 พอดี จึงต้องหยุดพักจำพรรษาตามที่องค์สมเด็จพระชินสีห์ทรงอนุมัติ คือการจำพรรษานั้นจะจำพรรษาที่บ้านทุ่งก็ได้ ที่บ้านร้างก็ได้ บ้านว่างก็ได้ ในโพรงไม้ก็ได้ อย่างนี้เป็นต้น เพราะเป็นที่กันฝนได้ ครั้นเมื่อออกพรรษาภิกษุ 30 รูป ทั้งหลายเหล่านั้นก็ตั้งใจจะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดา
เวลานั้นพระพุทธเจ้าก็ยังทรงบัญญัติว่า พระต้องมีผ้าแค่ 3 ผืน นั่นเอง สบง 1 ผืน จีวร 1 ผืน สังฆาฏิ 1 ผืน และมีผ้าเกินคือผ้าอังสะอีก 1 ผืน ใช้เป็นผ้าซับในกับรัดประคตเอว มีเกินนอกนี้ไม่ได้ เหตุฉะนั้น บรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายเวลานั้นจึงมีผ้าจำกัด เวลาที่จะเดินไปเฝ้าพระทรงสวัสดิโสภาคย์ ก็ต้องผ่านใบหญ้าใบไม้ที่เปียกชุ่มใบด้วยน้ำฝนและน้ำค้าง สบงจีวรของท่านทั้งหลายเหล่านั้นก็เปียกชุ่มโชกไปในระหว่างทาง
พอไปถึงเมืองสาเกตุ เวลานั้นองค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์กำลังแสดงพระธรรมเทศนาอยู่ ครั้นเทศน์จบแล้ว บรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายจึงพากันไปเฝ้าองค์สมเด็จพระบรมครูก็ต้องเข้าไปทั้งที่เปียก ๆ เพราะมันไม่มีผ้าจะผลัด เมื่อเข้าไปแล้วก็ถวายนมัสการองค์สมเด็จพระสวัสดิโสภาคย์ แล้วก็นั่งอยู่
เวลานั้นนางวิสาขาเฝ้าองค์สมเด็จพระบรมครูอยู่พอดีครั้นเห็นบรรดาภิกษุชาวปาฐาทั้ง 30 รูปนี้ มีผ้าสบงจีวรเปียกโชกไปอย่างนั้น จึงได้กราบทูลขอพรต่อองค์สมเด็จพระภควันต์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “ภันเต ภควา ข้าแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เจริญ พระพุทธเจ้าข้า ต่อแต่นี้ไปข้าพระพุทธเจ้าขอประทานพรจากพระผู้มีพระภาคว่า ฤดูกาลหลังจากออกพรรษาแล้ว ขอบรรดาประชาชนทั้งหลายมีโอกาสถวายผ้าไตรจีวรแก่คณะสงฆ์ในพระพุทธศาสนา”
เมื่อองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาได้สดับนั้นแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วก็ทรงอนุมัติ แล้วก็ทรงประกาศให้บรรดาประชาชนถวายผ้าพระกฐินทานแก่บรรดาพระภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษาครบไตรมาสในอาวาสนั้น ๆ ได้
นี่เป็นอันว่า ต้นเหตุแห่งการทอดผ้าพระกฐินในศาสนานี้ก็มีนางวิสาขาเป็นคนแรก สำหรับอานิสงส์กุศลบุญราศีในการถวายผ้าพระกฐินทานนี้ องค์สมเด็จพระชินสีห์ตรัสว่ามีอานิสงส์มากเป็นกรณีพิเศษคือ คนถวายผ้าพระกฐินทานหรือร่วมในการถวายกฐินทานครั้งหนึ่ง จะปรารถนาเป็นพระอัครสาวกก็เป็นได้ จะปรารถนาพระนิพพานเพื่อเป็นพระอรหันต์ปกติก็เป็นได้
ยิ่งกว่านั้นไซร้ ก่อนที่บรรดาผลทั้งหลายเหล่านั้น คือความเป็นพระพุทธเจ้าก็ดี ความเป็นพระอัครสาวกก็ดี หรือว่าเป็นอรหันต์สาวกก็ดี จะมาถึง สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกล่าวว่า ในขณะที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏะ มีบารมียังไม่สูงดียังไม่พอที่จะบรรลุมรรคผลได้ อานิสงส์กฐินทานจะให้ผลตามนี้
กล่าวคือ อันดับแรกเมื่อตายจากความเป็นคนไปเกิดเป็นเทวดา แล้วก็จะลงมาเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช ปกครองประเทศทั่วโลก มีมหาสมุทรทั้ง 4 เป็นขอบเขต 500 ชาติ
เมื่อบุญแห่งความเป็นพระมหาจักรพรรดิสิ้นไป บุญก็หย่อนลงมา จะได้เป็นพระมหากษัตริย์ 500 ชาติ
หลังจากนั้นมา เมื่อบุญแห่งความเป็นกษัตริย์ได้หมดไปก็จะเป็นมหาเศรษฐี 500 ชาติ
บุญแห่งความเป็นมหาเศรษฐีหมดไป ก็จะเป็นอนุเศรษฐี 500 ชาติ
บุญแห่งความเป็นอนุเศรษฐีหมดไป ก็จะเป็นคหบดี 500 ชาติ
รวมความแล้ว สมเด็จพระบรมโลกนาถตรัสว่า “คนที่ทอดผ้าพระกฐินครั้งหนึ่งก็ดี บุญบารมีส่วนนี้ยังไม่ทันจะหมด ก็ปรากฎว่าท่านเจ้าของไปนิพพานก่อน” เมื่อองค์สมเด็จพระชินวรตรัสอย่างนี้แล้ว จึงได้ตรัสอีกว่า “เราเทศน์คราวนี้ เทศน์ตามนัยที่องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดามีพระนามว่าปทุมุตตระ ได้เทศน์ไว้เมื่อ 91 กัปป์มาแล้ว พระองค์ก็รับรองว่าอานิสงส์เป็นอย่างนี้”
หลังจากนั้นองค์สมเด็จพระมหามุนีจึงได้นำเอาเรื่องราวอดีตทาน ซึ่งเป็นอัตตโนบุพกรรม กล่าวคือ เป็นกรรมของพระองค์มาตรัส ตอนนั้นองค์สมเด็จพระทรงสวัสดิ์ทรงตรัสว่า “ภิกขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถอยหลังจากกัปป์นี้ไป 91 กัปป์ ถ้านับกัปป์นี้ด้วยก็เป็น 92 กัปป์ ยังมีพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งทรงอุบัติขึ้นในโลก มีพระนามว่า
ปทุมุตระ เวลานั้น พระปุมุตระได้แสดงพระธรรมเทศนาอานิสงส์กฐินตามที่กล่าวมาแล้ว”
ขณะนั้นเองปรากฎว่า มีชายมหาทุคคตะคนหนึ่ง คำว่า มหาทุคคตะนี้จนมาก เป็นทาสของท่านคหบดี ได้ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระชินสีห์ โดยนั่งอยู่ท้ายบริษัท ฟังเทศน์ที่องค์สมเด็จพระทรงสวัสดิโสภาคย์เทศน์นั้น ท่านเทศน์ตามนัยเมื่อกี้นี้ เมื่อฟังจบก็รู้สึกดีใจนักว่า อานิสงส์กฐินนี่มากมายเหลือเกิน แต่ว่าเราอยากจะทอดกฐิน เราก็เป็นเพียงทาสของเขา เงินสักบาทหรือสลึงหนึ่งก็ไม่มี ไอ้เครื่องแต่งกายของเรานี้มันก็แสนจะขาดแสนจะเก่า เราจะทำอย่างไรเล่าจึงจะมีโอกาสได้ทอดกฐิน แต่ว่าพระพุทธเจ้าตรัสว่า นอกจากจะเป็นเจ้าภาพแล้ว ถ้าหากว่ามีการช่วยในการทอดกฐิน เราก็มีอานิสงส์เหมือนกัน ซึ่งองค์สมเด็จพระภควันต์กล่าวว่า ถึงแม้ว่าจะช่วยในการทอดกฐิน จะปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าก็ได้ เป็นพระอัครสาวกก็ได้ เป็นมหาสาวกก็ได้ เป็นปกติสาวกก็ได้ และนอกนั้นไซร้ก็ยังได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ เป็นกษัตริย์ เป็นมหาเศรษฐี เป็นอนุเศรษฐี เป็นคหบดี ถ้ากระไรก็ดี เราจะช่วยนายของเราทอดกฐิน
เมื่อดำริอย่างนี้แล้ว ครั้นฟังเทศน์จากสมเด็จพระประทีบแก้วจบ ชาวบ้านเขากลับ ท่านมหาทุคคตะก็กลับเหมือนกัน เมื่อกลับมาถึงบ้านก็ชวนนายทอดกฐิน พูดถึงอานิสงส์ให้ฟัง นายฟังแล้วก็ดีใจว่า เออหนออานิสงส์กฐินทานนี่มีอานิสงส์มาก การถวายก็ไม่ยากเรามีผ้าจีวรผืนหนึ่ง หรือว่าสบงผืนหนึ่ง หรือว่าสังฆาฏิผืนหนึ่งก็ได้ จะถวายทั้งไตรก็ได้ ถวายมากก็ได้ ถวายน้อยก็ได้อานิสงส์เหมือนกัน ฉะนั้น ท่านนายจึงกล่าวว่า “โภ ปุริสะ ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ ถ้ากระไรก็ดีทรัพย์สินของเรานี้มีอยู่ แต่ว่าการทอดกฐินเป็นของใหม่ เราไม่มีความเข้าใจ ถ้าเธอจะให้ทอดกฐินทานก็จงเป็นผู้จัดการในการทอดกฐินก็แล้วกัน”
ท่านมหาทุคคตะก็จัดการทุกอย่าง ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่ามีอะไรบ้างนอกจากนั้นของที่เกินออกไปจากของบริวารเจ้านายจะทำก็ตามใจทุกอย่าง จนเสร็จภารกิจทุกประการ เมื่อจัดการครบถ้วนเรียบร้อย ถึงวันจะทอดกฐินท่านก็มานั่งนึกว่า ไอ้ทรัพย์สมบัติหมดนี่เป็นของนายแต่ผู้เดียว เรามีหน้าที่ในการจัดแต่ไม่มีส่วนในทานแม้แต่น้อยหนึ่งเลย จึงได้เข้าไปในป่าเปลื้องเครื่องแต่งตัวออก ถอดเสื้อเอากางเกงออก กลัดใบไม้แล้วก็นุ่งใบไม้ห่มใบไม้แทน เข้าไปในร้านที่ตลาด เอาเสื้อกับกางเกงนี่เข้าไปบอกเจ้าของร้านว่า ไอ้เสื้อเก่า ๆ กางเกงเก่า ๆ ของฉันนี่มันจะแลกของอะไรได้บ้างหนอ ของในร้านนี้เอาอะไรก็ได้ ฉันต้องการแต่เพียงอย่างเดียวที่ท่านจะพึงให้ได้
เจ้าของร้านมานั่งพิจารณาว่า ไอ้ผ้าเก่า ๆ เสื้อเก่า ๆ มันก็เปื่อยแล้ว จะไปเทียบกับอะไรมันก็ไม่ได้สักอย่าง ก็เลยตัดสินใจให้ด้ายไปหนึ่งกลุ่ม ให้เข็มไปหนึ่งเล่ม แล้วก็บอกว่าเสื้อผ้าของท่านเหล่านี้ ความจริงราคามันก็ไม่เท่ากับเข็มหนึ่งเล่ม ด้ายหนึ่งกลุ่ม แต่ว่าในฐานะที่ท่านจะเอาไปทำบุญ เราขอตัดสินใจให้ ฝ่ายท่านมหาทุคคตะท่านได้เท่านั้นท่านก็ดีใจ ด้ายหนึ่งกลุ่ม เข็มหนึ่งเล่ม เอามาร่วมในการทอดผ้าพระกฐินทานกับเจ้านาย
เมื่อทอดผ้าพระกฐินทานเสร็จแล้วไซร้ องค์สมเด็จพระจอมไตรคือพระพุทธเจ้าก็ทรงอนุโมทนา กล่าวถึงอานิสงส์เมื่อกี้นี้เป็นเหตุ ครั้นองค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์กล่าวจบ คนทั้งหลายเขาก็กลับกันหมด ท่านมหาทุคคตะก็คลานเข้าไปไหว้พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตระ แล้วได้กล่าวคำมโนปณิธานตั้งความปรารถนาว่า “ด้วยอานิสงส์บุญบารมี ที่ข้าพระพุทธเจ้ามีหน้าที่ขวนขวายในการจัดงานทอดผ้าพระกฐินทานก็ดี และข้าพระพุทธเจ้าสละเสื้อผ้าอันเป็นสมบัติชิ้นสุดท้ายที่ข้าพระพุทธเจ้ามี โดยแลกกับด้ายกลุ่มหนึ่งกับเข็มเล่มหนึ่ง เข้ามาร่วมในการทอดกฐิน ขออานิสงส์กุศลบุญราศรีอันนี้ จงดลบันดาลให้ข้าพระพุทธเจ้าได้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตกาลเถิดพระพุทธเจ้าข้า”
เมื่อท่านมหาทุคคตะตั้งมโนปณิธานอย่างนั้นแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วทรงพระนามว่าปทุมุตระ ก็ทรงพิจารณาดูด้วยอำนาจพระพุทธญาณว่า มหาทุคคตะคนนี้ปรารถนาพระโพธิญาณ อยากจะทราบว่ามโนปณิธานความปรารถนาของเธอจะสำเร็จผลหรือไม่ หลังจากนั้นองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาก็ทรงทราบว่า หลังจากนี้ไป ต่อไปอีก 91 กัปป์ มหาทุคคตะคนนี้จะไปเกิดเป็นลูกกษัตริย์ ที่กรุงกบิลพัสด์มหานคร จอมบพิตรอดิศรจะได้นามว่า สิทธัตถะราชกุมาร หลังจากนั้นจะออกบำเพ็ญ มหากษัตริย์จะได้เป็นพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า พระสมณโคดม
เมื่อทรงทราบอย่างนี้แล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วทรงพระนามว่า
ปทุมุตระ ก็ทรงประกาศคำพยากรณ์ให้ทราบ ท่านมหาทุคคตะก็ดีใจกลับมาที่บ้าน หลังจากนั้นไซร้ ท่านก็ตั้งใจบำเพ็ญกุศลบุญราศรีตามกำลังที่จะพึงมี โดยนัยว่าทรัพย์ทั้งหลายเหล่านี้ของท่านไม่มี เพราะท่านเป็นทาสเขา แต่อานิสงส์ที่พาเจ้านายไปทอดผ้าพระกฐินทาน เพราะอานิสงส์ที่พระพิชิตมารบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ว่า ท่านจะได้เป็นพระพุทธเจ้ามีพระนามว่า พระสมณโคดม จากนี้ไปอีก 91 กัปป์ เหตุนี้เป็นเหตุให้เจัานายมีความยินดี ได้กล่าวว่า
“มหาทุคคตะ ความดีในการทอดผ้าพระกฐินทาน พร้อมด้วยเครื่องบริวารที่เราจะได้โดยยาก ซึ่งเป็นอานิสงส์ที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ต่อแต่นี้ไป ถ้าเราจะปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าก็ได้ เป็นอัครสาวกก็ได้ เป็นปกติสาวกก็ได้ แต่เวลาใดที่ยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏสงสาร ในกาลข้างหน้า ถ้าบุญบารมีนั้นยังไม่เต็ม เราสามารถจะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิได้ถึง 500 ชาติ เป็นอนุเศรษฐี 500 ชาติ และเป็นคหบดี 500 ชาติ
แต่องค์สมเด็จพระบรมโลกนาถก็ยังตรัสว่า อานิสงส์ทั้งหลายเหล่านี้ยังได้ไม่หมด ก็ปรากฎว่าบุคคลผู้เป็นเจ้าของกฐินทานและผู้ติดตามจะไปนิพพานก่อน อาศัยที่ความดีขององค์สมเด็จพระชินวรทรงเทศน์ และเธอก็ได้แนะนำเราให้ปฏิบัติความดีที่เราไม่เคยเข้าใจมาก่อน ฉะนั้น ความดีอันนี้ มหาทุคคตะ เราขอปล่อยท่านจากความเป็นทาส คือนับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เจ้าก็จงเป็นไทไม่ต้องเป็นทาสต่อไป และเราจะให้บ้านส่วนของเรา 100 หลัง เป็นที่เก็บส่วย เป็นเครื่องทำมาหากิน ให้ข้าทาสหญิงชายช้างม้าวัวควายพอสมควรแก่ฐานะ”
รวมความว่า นับแต่เวลานั้นมา ท่านมหาทุคคตะก็พ้นจากความเป็นมหาทุคคตะ กลายเป็นคหบดีคนหนึ่ง อยู่ในฐานะคหบดีมีเงินกิน มีเงินพอใช้พอสมควรแก่ฐานะ และหลังจากนั้นมา ท่านก็บำเพ็ญกุศลจริยาสัมมาปฏิบัติ เมื่อสิ้นอายุขัยเจ้านายของท่านก็ตาย แล้วไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เทวโลกมีความสุข
สำหรับท่านมหาทุคคตะ ได้เคยบำเพ็ญบารมีเพื่อปรารถนาพระโพธิญาณมาก่อน และในตอนนี้องค์สมเด็จพระชินวรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า บารมีเข้าขั้นเริ่มต้นปรมัตถบารมี เหตุฉะนั้น มหาทุคคตะคนนี้ เมื่อตายจากความเป็นคน จึงไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดุสิต มีความสุข
.
-
02-อนาถปิณฑิกเศรษฐี
เอตทัคคะในฝ่ายผู้เป็นทายก
-http://www.84000.org/one/3/02.html-
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เกิดในตระกูลมหาเศรษฐี ในเมืองสาวัตถี บิดาชื่อว่า “สุมนะ”
มีทรัพย์สมบัติมากมายมหาศาล เมื่อเกิดมาแล้วบรรดาหมู่ญาติได้ตั้งชื่อให้ว่า “สุทัตตะ” เป็น
คนมีจิตเมตตาชอบทำบุญให้ทานแก่คนยากจนอนาถา
ได้ชื่อใหม่เพราะให้ทาน
เมื่อบิดามารดาของท่านล่วงลับไปแล้ว ได้ดำรงตำแหน่งเศรษฐีแทน ให้ตั้งโรงทานที่
หน้าบ้านแจกอาหารแก่คนยากจนทุกวัน จนกระทั่งประชาชนทั่วไปเรียกท่านตามลักษณะนิสัย
ว่า “อนาถบิณฑิกะ” ซึ่งหมายถึง “ผู้มีก้อนข้าวเพื่อคนอนาถา” และได้เรียกกันต่อมาจนบาง
คนก็ลืมชื่อเดิมของท่านไปเลย
ท่านอนาถบิณฑิกะ ทำการค้าขายระหว่างเมืองสาวัตถีกับเมืองราชคฤห์เป็นประจำ
จนมีความสนิทสนมคุ้นเคยกับเศรษฐีเมืองราชคฤห์ นามว่า “ราชคหกะ” และต่อมาเศรษฐีทั้ง
สองก็มีความเกี่ยวดองกันมากขึ้น โดยต่างฝ่ายก็ได้น้องสาวของกันและกันมาเป็นภรรยา ดังนั้น
เมื่ออนาถบิณฑิกะ นำสินค้ามาขายยังเมืองราชคฤห์จึงได้มาพักอาศัยที่บ้านของราชคฤหเศรษฐี
ผู้ซึ่งมีฐานะเป็นทั้งน้องเขยและพี่เมียอยู่เป็นประจำ
อนาถบิณฑิกเศรษฐีสำเร็จพระโสดาบัน
อนาถบิณฑิกเศรษฐี ดำรงชีวิตอยู่ในกรุงสาวัตถี โดยมิได้ทราบข่าวเกี่ยวกับการเกิดขึ้น
แห่งพระพุทธศาสนาเลย จวบจนวันหนึ่งท่านได้นำสินค้ามาขายยังเมืองราชคฤห์ และได้เข้าพัก
ในบ้านของราชคหกเศรษฐีตามปกติ แต่ในวันนั้น เป็นวันที่ราชคหกเศรษฐี ได้กราบทูล
อาราธนาพระบรมศาสดาพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์เป็นจำนวนมากมายและฉันภัตตาหารที่เรือน
ของตนในวันรุ่งขึ้น
ราชคหกเศรษฐี มัวยุ่งอยู่กับการสั่งงานแก่ข้าทาสบริวาร จึงไม่มีเวลามาปฏิสันถาร
ต้อนรับท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเหมือนเช่นเคย เพียงแต่ได้ทักทายปราศัยเล็กน้อยเท่านั้นแล้วก็
สั่งงานต่อไปแม้ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ก็เกิดความสงสัยขึ้นเช่นกัน จึงคิดอยู่ในใจว่า
“ราชคหกเศรษฐี คงจะมีงานบูชาอัญหรือไม่ก็คงจะกราบทูลเชิญพระเจ้าพิมพิสารเสด็จมายัง
เรือนของตนในวันพรุ่งนี้”
เมื่อการสั่งงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว ราชคหกเศรษฐี จึงได้มีเวลามาต้อนรับพูดคุยกับ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี และท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ได้ไต่ถามข้อข้องใจสงสัยนั้น ซึ่งได้รับคำ
ตอบว่าที่มัวยุ่งอยู่กับการสั่งงานนั้นก็เพราะได้กราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระ
ภิกษุสงฆ์ มาเสวยและฉันภัตตาหารที่เรือนของตนในวันพรุ่งนี้
อนาถบิณฑิกเศรษฐี พอได้ฟังคำว่า “พระพุทธเจ้า” เท่านั้นเอง ก็รู้สึกแปลกประหลาด
ใจ จึงย้อนถามถึงสามครั้งเพื่อให้แน่ใจ เพราะคำว่า “พระพุทธเจ้า” นี้เป็นการยากยิ่งนักที่จะ
ได้ยินในโลกนี้ เมื่อราชคหกเศรษฐีกล่าวยืนยันว่า “ขณะนี้ พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระ
สงฆ์ เกิดขึ้นแล้วในโลก” จึงเกิดปีติและศรัทธาเลื่อมใสอย่างแรงกล้า ปรารถนาจะไปเข้าเฝ้า
พระพุทธองค์ในทันที่นั้น แต่ราชคหกเศรษฐียับยั้งไว้ว่ามิใช่เวลาแห่งการเข้าเฝ้า จึงรอจนรุ่งเช้า
ก็รีบไปเข้าเฝ้าก่อนที่พระพุทธองค์จะเสด็จไปยังบ้านราชคหกเศรษฐี ได้ฟังอนุปุพพิกถาและ
อริยสัจสี่จากพระพุทธเจ้าแล้วได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคลในพระพุทธศาสนา
ประกาศตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต
อนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างวัดถวาย
อนาถบิณฑิกเศรษฐี ได้ช่วยอังคาสถวายภัตตาหารแด่พระบรมศาสดาและพระภิกษุ
สงฆ์ ครั้นเสร็จภัตตากิจแล้วก็ได้กราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดาเพื่อเสด็จไปประกาศพระ
ศาสนายังเมืองสาวัตถี พร้อมทั้งกราบทูลว่า จะสร้างพระอารามถวายเมืองสาวัตถีนั้น พระบรม
ศาสดาทรงรับอาราธนาตามคำกราบทูล
อนาถบิณฑิกเศรษฐี รู้สึกปราบปลื้มปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง รีบเดินทางกลับสู่กรุงสาวัตถี
โดยด่วน ในระหว่างทางจากกรุงราชคฤห์ถึงกรุงสาวัตถี ระยะทาง ๕๔ โยชน์ ได้บริจาคทรัพย์
จำนวนมากให้สร้างวิหารที่ประทับเป็นที่พักทุก ๆ ระยะหนึ่งโยชน์ เมื่อถึงกรุงสาวัตถีแล้วได้
ติดต่อขอซื้อที่ดินจากเจ้าชายเชตราชกุมาร โดยได้ตกลงราคาด้วยการนำเงินปูลาดให้เต็มพื้นที่
ตามที่ต้องการ ปรากฏว่าเศรษฐีใช้เงินถึง ๒๗ โกฏิ เป็นค่าที่ดิน และอีก ๒๗ โกฏิ เป็นค่าก่อ
สร้างพระคันธกุฏีที่ประทับของพระบรมศาสดา และเสนาสนะสงฆ์ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๕๔
โกฏิ แต่ยังขาดพื้นที่สร้างซุ้มประตูพระอาราม ขณะนั้น เจ้าชายเชตราชกุมารได้แสดงความ
ประสงค์ขอเป็นผู้จัดสร้างถวาย โดยขอให้จารึกพระนามของพระองค์ที่ซุ้มประตูพระอาราม ดัง
นั้นพระอารามนี้จึงได้ชื่อว่า “เชตวนาราม”
-
02-อนาถปิณฑิกเศรษฐี
เอตทัคคะในฝ่ายผู้เป็นทายก
-http://www.84000.org/one/3/02.html-
เศรษฐีทำบุญจนหมดตัว
เมื่อการก่อสร้างพระอารามเสร็จแล้วได้กราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดาพร้อมด้วย
พระภิกษุสงฆ์เสด็จเข้าประทับจัดพิธีฉลองพระอารามอย่างมโหฬารนานถึง ๙ เดือน (บางแห่ง
ว่า ๕ เดือน) ได้จัดถวายอาหารบิณฑบาตอันประณีตแก่พระบรมศาสดาและพระภิกษุสงฆ์ เมื่อ
พิธีฉลองพระอารามเสร็จสิ้นลงแล้วได้กราบอาราธนาพระภิกษุจำนวนประมาณ ๒๐๐ รูป ไป
ฉันภัตตาหารที่บ้านของตนทุกวันตลอดกาล
อนาถบิณฑิกเศรษฐี ทำบุญโดยทำนองนี้ ทั้งให้ทานแก่คนยากจน และการถวายทาน
แด่พระภิกษุสงฆ์ จนกระทั่งทรัพย์สินเงินทองที่เก็บสะสมไว้ลดน้อยลงไปโดยลำดับ ทรัพย์ที่
หาได้มาใหม่ก็ไม่เท่ากับจ่ายออกไป ภัตตาหารที่จัดถวายพระภิกษุสงฆ์ก็ลดลงทั้งคุณภาพและ
ปริมาณ จนที่สุดข้าวที่หุงถวายพระก็จำเป็นต้องใช้ข้าวปลายเกวียน กับข้าวก็เหลือเพียงน้ำ
ผักเสี้ยนดอง ตนเองก็พลอยอดอยากลำบากไปด้วย ถึงกระนั้นเศรษฐีก็ยังไม่ลดละการทำบุญ
ถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสงฆ์ได้แต่กราบเรียนให้พระภิกษุสงฆ์ทราบว่า ตนเองไม่สามารถ
จะจัดถวายอาหารอันประณีตมีรสเลิศเหมือนเมื่อก่อนได้ เพราะขาดปัจจัยที่จะจัดหาพระภิกษุ
สงฆ์ที่เป็นปุถุชนก็พากันไปรับอาหารบิณฑบาตที่ตระกูลอื่นที่ถวายอาหารมีรสเลิศกว่า
เศรษฐีขับไล่เทวดา
ขณะนั้นเทวดาตนหนึ่งผู้เป็นมิจฉาทิฎฐิ ซึ่งสิงสถิตอยู่ที่ซุ้มประตูบ้านของท่าน
อนาถบิณฑิกเศรษฐี ไม่เลื่อมใสพุทธศาสนา เบื่อระอาที่พระภิกษุสงฆ์เดินรอดซุ้มประตูเข้าออก
ทุกวัน เพราะในขณะที่ภิกษุสงฆ์เดินรอดซุ้มประตูนั้นตนไม่สามารถจะอยู่บนซุ้มประตูได้ เมื่อ
เห็นเศรษฐีกลับกลายมีฐานะยากจนลงเพราะทำบุญแก่พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา จึงปรากฎ
กายต่อหน้าท่านเศรษฐีกล่าวห้ามปรามให้เศรษฐีเลิกทำบุญเสียเถิด แล้วทรัพย์สินเงินทองก็จะ
เพิ่มพูนขึ้นเหมือนเดิม ท่านเศรษฐีจึงถามว่า
“ท่านเป็นใคร ?”
“ข้าพเจ้าเป็นเทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ซุ้มประตูเรือนของท่าน”
“ดูก่อนเทวดาอันธพาล เราไม่ต้องการเห็น ไม่ต้องการฟังคำพูดของท่าน ขอท่านจง
ออกไปจากซุ่มประตูเรือนของเรา อย่ามาให้ข้าพเจ้าเห็นอีกเป็นอันขาด”
เทวดาตกใจ ไม่สามารถจะอยู่ที่ซุ่มประตูเรือนของเศรษฐีได้อีกต่อไป กลายเป็นเทวดา
ไร้ที่สิงสถิต ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เข้าไปหาเทวดาผู้มีศักดิ์สูงกว่าตนให้ช่วยเหลือ
แต่ไม่มีเทวดาองค์ใดจะสามารถช่วยได้ เพียงแต่บอกอุบายให้ว่า “ทรัพย์เก่าของเศรษฐีจำนวน
๘๐ โกฏิ ซึ่งใส่ภาชนะฝังไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำถูกน้ำเซาะตลิ่งพังจมหายไปในสายน้ำ ท่านจงไปนำ
ทรัพย์เหล่านั้นกลับคืนมามอบให้ท่านเศรษฐี แล้วท่านเศรษฐีก็จะหายโกรธยกโทษให้ และ
อนุญาตให้อยู่อาศัยที่ซุ้มประตูบ้านดังเดิมได้”
เทวดาทำตามนั้น ได้นำทรัพย์เหล่านั้นมามอบให้เศรษฐีด้วยอำนาจฤทธิ์เทวดา เมื่อ
เศรษฐียกโทษให้แล้วได้อยู่ ณ สถานที่เดิมของตนสืบไป
ต้นแบบการทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย
พุทธบริษัทผู้ใฝ่บุญนั้น ย่อมปรารภเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ ขึ้นมาเป็นเรื่องทำบุญได้เสมอ
เช่นเรื่องของอนาถบิณฑิกเศรษฐี นี้ วันหนึ่งหลานของท่านเล่นตุ๊กตาที่ทำจากแป้งแล้วหล่นลง
แตก หลานร้องไห้ด้วยความเสียดายตุ๊กตา เพราะไม่มีตุ๊กตาจะเล่น ท่านเศรษฐีได้ปลอบโยน
หลานว่า
“ไม่เป็นไร เราช่วยกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ตุ๊กตากันเถิด” ปรากฏว่าหลานหยุด
ร้องไห้ รุ่งเช้า ท่านจึงพาหลายช่วยกันทำบุญเลี้ยงพระแล้วกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้ตุ๊กตา
ข่าวการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ตุ๊กตาของท่านเศรษฐี แพร่ขยายไปอย่างรวดเร็ว
ประชาชนชาวพุทธบริษัททั้งหลาย เห็นเป็นเรื่องแปลกและเป็นสิ่งที่ดีที่ควรกระทำ ดังนั้นเมื่อ
ญาติผู้เป็นที่รักของตนตายลงก็พากันทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้เหมือนอย่าที่ท่านเศรษฐีกระทำ
นั้น และถือปฏิบัติกันอย่างแพร่หลายสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
มอบภารกิจของตนให้ลูกหลาย
ตามปกติทุก ๆ วัน ภิกษุทั้งหมดผู้อยู่ในกรุงสาวัตถีจะรับนิมนต์เพื่อฉันภัตตาหารใน
บ้านของอนาถบิณฑิกเศรษฐี และในบ้านของนางวิสาขาดังนั้น บุคคลอื่น ๆ ผู้ประสงค์จะ
ถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์ก็ต้องมาขอโอกาสแก่ท่านทั้งสองนี้ เมื่อนิมนต์พระได้แล้วก็ต้องเชิญ
ท่านทั้งสองนี้ไปเป็นประธานที่ปรึกษาด้วย ทั้งนี้ก็เพราะท่านทั้งสองทราบดีว่าควรประกอบ
ควรปรุงอาหารอย่างไรให้ต้องกับอัธยาศัยและวินัยของพระ ควรจัดสถานที่อย่างไรจึงจะเหมาะ
สม นอกจากนี้ก็เพื่อเป็นสิริมงคลแก่เจ้าของบ้านเรือนที่จัดงานอีกด้วย ดังนั้นท่านทั้งสองจึงไม่
ค่อยมีเวลาอยู่ปฏิบัติเลี้ยงดูพระภิกษุที่นิมนต์มาฉันที่บ้านของตน นางวิสาขาจึงได้มอบหมาย
ภารกิจหน้าที่นี้แก่หลานสาว
ส่วนอนาถบิณฑิกเศรษฐี ได้มอบให้แก่ลูกสาวคนโตชื่อว่า “มหาสุภัททา” นางได้ทำ
หน้าที่นี้อยู่ระยะหนึ่ง ได้ฟังธรรมจากพระคุณเจ้าแล้วได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ต่อมาได้แต่ง
งานแล้วก็ติดตามไปอยู่ในสกุลของสามี
จากนั้นอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ได้มอบหมายให้ลูกสาวคนที่สองชื่อว่า “จุลสุภัททา”
นางก็ทำหน้าที่แทนบิดาด้วยดีโดยตลอด และก็ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันเช่นกัน ต่อจากนั้นไม่
นาน นางก็ได้แยกไปอยู่กับครอบครัวของสกุลสามี อนาถบิณฑิกเศรษฐี จึงได้มอบหน้าที่ให้
ลุกสาวคนเล็กชื่อว่า “สุมนาเทวี” กระทำแทนสืบมา
ลูกสาวป่วยเรียกบิดาว่าน้องชาย
สุมนาเทวี ทำหน้าที่ด้วยความขยันเข้มแข็ง งานสำเร็จลงด้วยความเรียบร้อยทุกวัน
ทั้ง ๆ ที่นางอายุยังน้อย จากการที่นางได้ทำบุญถวายภัตตาหาร พระภิกษุสงฆ์และได้ฟังธรรม
เป็นประจำ นางก็ได้บรรลุเป็นพระสกทาคามี แต่ต่อมานางได้ล้มป่วยลงมีอาการหนัก ใคร่อยาก
จะพบบิดา จึงให้คนไปเชิญบิดามา
ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี พอได้ทราบว่าลูกสาวป่วยหนักก็รีบมาเยี่ยมโดยเร็ว พอมา
ถึงได้ถามลูกสาวว่า
“แม่สุมนา เจ้าเป็นอะไร ?”
“อะไรเล่า น้องชาย ?” ลูกสาวตอบ
“เจ้าเพ้อหรือ แม่สุมนา ?” บิดาถาม
“ไม่เพ้อหรอก น้องชาย” ลูกสาวตอบ
“แม่สุมนา ถ้าอย่างนั้น เจ้ากลัวหรือ ?” บิดาถาม
“ไม่กลัวหรอก น้องชาย”
นางสุมนาเทวี พูดโต้ตอบกับบิดาได้เพียงเท่านั้นก็ถึงแก่กรรม
พระโสดาบันร้องไห้ไปกราบทูลพระศาสดา
ท่านเศรษฐี แม้จะเป็นพระโสดาบัน ก็ไม่อาจจะกลั่นความเศร้าโศกเสียใจเพราะการ
จากไปของธิดาได้ เมื่อเสร็จงานศพและได้ร้องไห้น้ำตานองหน้าไปเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาพระ
พุทธองค์ได้ตรัสปลอบว่า
“อนาถบิณฑิกะ ก็ความตายเป็นสิ่งเที่ยงแท้ของสรรพสัตว์มิใช่หรือเหตุไฉนท่านจึง
ร้องไห้อย่างนี้ ?”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อนั้นข้าพระองค์ทราบดี แต่นางสุมนาเทวีธิดาของข้าพระ
องค์ เมื่อใกล้เวลาจวนจะตาย นางไม่สามารถคุมสติได้เลย นางบ่นเพ้อจนกระทั่งตาย ข้าพระ
องค์โทมนัสร้องไห้เพราะเหตุนี้ พระเจ้าข้า”
พร้อมทั้งได้กราบทูลถ้อยคำที่นางสุมนาเทวีเรียนตนเองว่าน้องชาย ถวายให้พระพุทธ
องค์ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคได้สดับแล้วตรัสว่า
“ดูก่อนมหาเศรษฐี บุตรของท่านมิได้เพ้อหลงสติอย่างที่ท่านเข้าใจ แต่ที่นางเรียก
ท่านว่าน้องชายนั้น ก็เพราะท่านเป็นน้องของนางจริง ๆ นางเป็นใหญ่กว่าท่านโดยมรรคและ
ผล เพราะท่านเป็นเพียงพระโสดาบัน แต่ธิดาของท่านเป็นพระสกทาคามี เป็นอริยบุคคลสูง
กว่าท่าน และบัดนี้ นางได้ไปเกิดเสวยสุขอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิตแล้ว นี่แหละคฤหบดี ธรรมดา
บุคคลไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิตก็ตาม ถ้าอยู่ด้วยความไม่ประมาท ประพฤติดีปฏิบัติ
ชอบ ก็ย่อมเสวยสุขเพลินทั้งในโลกนี้และโลกหน้า”
อนาถบิณฑิกเศรษฐี ได้ฟังพระพุทธดำรัสแล้วหายจากความเศร้าโศกเสียใจกลับได้รับ
ความปีติเอิบอิ่มใจขึ้นมาแทน เมื่อควรแก่เวลาแล้วก็กราบทูลลากลับสู่เคหสถานของตน
เพราะความที่อนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นผู้มีศรัทธามั่นคงไม่หวั่นไหว ฝักใฝ่ในการทำ
บุญให้ทาน ไม่มีผู้ใดจะเปรียบเทียบได้ พระพุทธองค์ยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้
เลิศกว่าอุบาสกทั้งหลาย ในฝ่าย ผู้เป็นทายก
-
อานิสงส์การทำบุญ
-http://dhammatogo.org/index.php?option=com_content&view=article&id=115:dana&catid=52:2010-04-26-21-53-26&Itemid=88-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ได้ทรงปรารภถึงการให้ทานของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี แต่ว่าทานนั้นเป็นของเศร้าหมอง คือข้าวก็เป็นปลายข้าว เป็นข้าวที่หักสองท่อนบ้าง สามท่อนบ้าง ส่วนอาหารก็มีเพียงน้ำผักดองเป็นที่สอง คือเนื้อผักดองหมดแล้ว เหลือแต่น้ำผักดองเท่านั้น
ทานเศร้าหมองจำนวนน้อยแต่มีอานิสงส์มาก
พระพุทธองค์ทรงตรัสปลอบเศรษฐีว่า บุคคลให้ทานอันเศร้าหมองหรือประณีตก็ตาม แต่ให้ทานนั้นโดยเคารพ ทำความนอบน้อมให้ ให้ด้วยมือตนเอง ให้ของที่ไม่เหลือ เชื่อกรรมและผลของกรรมให้ทาน ทานนั้นๆ บังเกิดผลในตระกูลใดๆ ในตระกูลนั้นๆ จิตของผู้ให้ทานย่อมน้อมไปเพื่อบริโภคอาหารอย่างดี ย่อมน้อมไปเพื่อบริโภคผ้าอย่างดี ย่อมน้อมไปเพื่อบริโภคยานอย่างดี ย่อมน้อมไปเพื่อบริโภคกามคุณ ๕ อย่างดี แม้บริวารชนของผู้ให้ทานนั้น คือ บุตร ภรรยา ทาส คนใช้ คนทำงาน ก็เชื่อฟังดี เงี่ยหูฟัง ไม่ส่งจิตไปที่อื่น เพราะผลของกรรมที่ตนกระทำโดยเคารพนั้น ฯ
มหาทานประณีตจำนวนมากแต่มีอานิสงส์น้อย
ครั้นนั้น พราหมณ์ชื่อเวลามะ ได้ให้ทานเป็นมหาทานอย่างนี้ คือ ทองคำ เงิน สำริด อย่างละ ๘๔,๐๐๐ ชนิด ช้างมงคล พร้อมด้วยเครื่องทรงชั้นดี ๘๔,๐๐๐ เชือก หญิงสาว ซึ่งประดับตกแต่งด้วยเครื่องประดับด้วยเพชน นิล จินดา ราคาแพง ๘๔,๐๐๐ คน และรวมไปถึงของกินของใช้ เสื้อผ้า ที่พักอาศัย เป็นมหาทานที่ประณีตอย่างดีมีจำนวนมหาศาล ซึ่งไม่มีใครจะสามารถทำได้ แต่ว่ามหาทานนั้นก็มีอานิสงส์น้อย เพราะก็ในทานนั้น ไม่มีใครเป็นพระทักขิเณยยบุคคล (ไม่มีพระอริยบุคคลมารับทาน มีแต่ปุถุชน) ใครๆ ไม่ชำระทักขิณานั้นให้หมดจด
ลำดับอานิสงส์บุญประเภทต่าง ๆ
ทานที่บุคคลถวายแก่พระโสดาบันผู้เดียวบริโภคมีผลมากกว่ามหาทานที่เวลามพราหมณ์ให้ทานแก่ปุถุชนจำนวนมาก
ทานที่บุคคลถวายแก่พระโสดาบันร้อยท่านบริโภคมีผลมากกว่าพระโสดาบันผู้เดียวบริโภค
ทานที่บุคคลถวายแก่พระสกทาคามีผู้เดียวบริโภคมีผลมากกว่าพระโสดาบันร้อยท่านบริโภค
ทานที่บุคคลถวายแก่พระสกทาคามีร้อยท่านบริโภคมีผลมากกว่าพระสกทาคามีผู้เดียวบริโภค
ทานที่บุคคลถวายแก่พระอนาคามีผู้เดียวบริโภคมีผลมากกว่าพระสกทาคามีร้อยท่านบริโภค
ทานที่บุคคลถวายแก่พระอนาคามีร้อยท่านบริโภคมีผลมากกว่าพระอนาคามีผู้เดียวบริโภค
ทานที่บุคคลถวายแก่พระอรหันต์ผู้เดียวบริโภคมีผลมากกว่าพระอนาคามีร้อยท่านบริโภค
ทานที่บุคคลถวายแก่พระอรหันต์ร้อยท่านบริโภคมีผลมากกว่าพระอรหันต์ผู้เดียวบริโภค
ทานที่บุคคลถวายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้ารูปเดียวบริโภคมีผลมากกว่าพระอรหันต์ร้อยท่านบริโภค
ทานที่บุคคลถวายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าร้อยรูปบริโภคมีผลมากกว่าพระปัจเจกพุทธเจ้ารูปเดียวบริโภค
ทานที่บุคคลถวายแก่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าบริโภคมีผลมากกว่าพระปัจเจกพุทธเจ้าร้อยรูปบริโภค
ทานที่บุคคลถวายแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขบริโภคมีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าบริโภค
การที่บุคคลสร้างวิหารถวายสงฆ์ผู้มาจากทิศทั้ง ๔ มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขบริโภค
การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้าพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะมีผลมากกว่าทานที่บุคคลสร้างวิหารถวายสงฆ์อันมาจากทิศทั้ง ๔
การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท ๕ (ศีล ๕) มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
การที่บุคคลเจริญเมตตาจิตโดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอมมีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท คือ ศีล ๕
การที่บุคคลเจริญอนิจจสัญญาแม้เพียงเวลาลัดนิ้วมือมีผลมากกว่าการที่บุคคลเจริญเมตตาจิตโดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม ฯ
สรูปอานิสงส์ของบุญ
การให้ทานเจาะจง (ปาฏิปุคคิกทาน) มีอานิสงส์น้อย
ทานที่ถวายแก่ปุถุชนมีอานิสงส์น้อยกว่า
ทานที่ถวายแก่พระอริยบุคคลตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปจนถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีอานิสงส์มากน้อยกว่ากันตามลำดับ
แม้แต่เศษอาหารที่เหลือนำไปเทไว้ตามโคนต้นไม้หรือชายป่าเพื่อให้มด แมลง หรือหนอนได้กิน ก็มีอานิสงส์มากเช่นเดียวกัน
การให้ทานเป็นของกลางสงฆ์ (สังฆทาน) มีอานิสงส์มากกว่าทานเจาะจง
สังฆทานที่มีอานิสงส์มากที่สุดคือการสร้างสถานปฏิบัติธรรม (วิหาร, เสนาสนะ) ถวายเแก่ภิกษุสงฆ์ที่มาจากทิศทั้ง ๔ เพราะเป็นการให้ความสะดวกในการบำเพ็ญสมณะธรรม เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้อื่นได้สร้างความดี และถ้ามีผู้พักอาศัยอยู่ปฏิบัติ จนบรรลุธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้สร้างถวายก็จะได้รับอานิสงส์มากกว่าการถวายทานทั่วๆ ไป
การเลื่อมใส นับถือพระรัตนตรัย คือพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่ง เป็นสรณะ มีอานิสงส์มากกว่าการให้ทาน เพราะได้ชื่อว่ามีที่พึ่งทางใจและมีแบบอย่างในการดำเนินชีวิต คือ มีพระพุทธเจ้าทรงให้คำแนะนำ มีพระธรรมเป็นหลักปฏิบัติ และมีพระสงฆ์เป็นแบบอย่างและเป็นกัลยาณมิตร อุปมาเหมือนลูกที่ยังไม่โต เรียนหนังสือยังไม่จบ ก็ต้องพึ่งพ่อแม่หรือผู้ปกครองในการเลี้ยงดู อบรม สั่งสอน เท่ากับว่ามีพระพุทธเจ้าเป็นเหมือนพ่อ มีพระธรรมเป็นเหมือนแม่ และมีพระสงฆ์เป็นเหมือนพี่(เลี้ยง)
การเลื่อมใส สมาทานสิกขาบททั้ง ๕ ข้อ (ศีล ๕) มีอานิสงส์มากกว่าการเลื่อมใสในพระรัตนตรัย เพราะผู้ที่สมาทานรักษาสิกขาบทได้สมบูรณ์คือมีกายและวาจาปกติ ปราศจากบาปอกุศลทั้งหลาย เห็นทุกข์โทษที่จะเกิดตามมาถ้าละเมิดสิกขาบทเหล่านั้น เรียกว่าได้เดินตามรอยพระรัตนตรัย เป็นการไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ทำให้ตนเองได้รับความผาสุก และเป็นที่พึ่งของตนได้ เปรียบเหมือนเด็กที่เรียนจบปริญญา สามารถทำงานเลี้ยงตนเองได้ ไม่ต้องพึ่งพาพ่อแม่ในการเลี้ยงดูอีกต่อไป ส่วนการเลื่อมใสนับถือพระรัตนตรัยว่าเป็นที่พึ่ง ที่เคารพ แต่ยังไม่ได้ปฏิบัติตามหลักคำสอน เปรียบเหมือนพ่อแม่ที่ชื่นชมยินดีเมื่อลูกได้รับปริญญา ถามว่า ปริญญาของใคร? ปริญญาของลูก ดังนั้น พ่อแม่จึงมีสิทธิ์ได้แค่ชื่นชมยินดีในปริญญาของลูก แต่ไม่มีสิทธิ์ที่จะนำปริญญาของลูกไปประกอบอาชีพ แต่ว่าลูกนั้นทั้งดีใจที่ตนได้รับปริญญาและยังสามารถนำปริญญานั้นไปประกอบอาชีพได้อีกด้วย
การเจริญเมตตาจิต แม้เพียงเวลาสูดดมของหอม ก็มีอานิสงส์มากกว่าการรักษาศีล ๕ เพราะการสมาทานสิกขาบททั้ง ๕ คือการงดเว้นจากสิ่งที่เป็นบาปอกุศล เป็นการไม่ทำความชั่ว แต่ก็ถือว่ายังไม่เป็นการประกอบกรรมดี เรียกว่ามีศีล ส่วนการเจริญเมตตาจิต คือมีความรักใคร่ ปรารถนาดี ช่วยเหลือผู้อื่นที่ควรได้รับการช่วยเหลือ เป็นการประกอบกรรมดี เรียกว่ามีธรรม ดังนั้น ผู้ที่เจริญเมตตาจิต ก็จะประพฤติธรรมควบคู่กับการรักษาศีล ๕ ด้วยเสมอ ส่วนผู้ที่เลื่อมใสสมาทานสิกขาบท อาจจะมีศีล ๕ สมบูรณ์ แต่อาจจะไม่มีธรรมก็ได้ เช่น
ไม่ฆ่าสัตว์ ชื่อว่าให้ความปลอดภัยแก่ชีวิตผู้อื่น แต่ก็ไม่เคยเมตตากรุณาต่อสัตว์ที่กำลังหิวโหย หรือกำลังเจ็บป่วยทรมาน
ไม่ลักทรัพย์ผู้อื่น ชื่อว่าให้ความปลอดภัยแก่ทรัพย์สมบัติผู้อื่น แต่ก็ไม่ประกอบอาชีพที่บริสุทธิ์เป็นสัมมาอาชีพ เช่น ทำอาชีพค้าแรงงานทาส หรือค้าขายสุรา เป็นต้น
ไม่ประพฤติผิดในกาม ชื่อว่าให้ความปลอดภัยแก่ชีวิตครอบครัวของตนเองและผู้อื่น แต่ก็ไม่สังวรในกาม คือยังไปเที่ยวซุกซนตามสถานเริงรมย์ที่มีการขายบริการทางเพศ
ไม่พูดเท็จ ชื่อว่าให้ความปลอดภัย ให้ความสามัคคีแก่สังคม แม้จะพูดความจริง คำสัจจะ แต่ก็พูดไม่ไพเราะ พูดไม่รู้จักกาละเทศะ พูดสิ่งไม่มีประโยชน์ หรือพูดไม่มีจิตเมตตา พูดไม่รักษาน้ำใจ
ไม่ดื่มของมึนเมา ชื่อว่ารักสุขภาพตนเอง และชื่อว่าให้ความปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สินผู้อื่น แต่ก็ไม่เคยฝึกเจริญสติสัมปชัญญะ ปล่อยกายปล่อยใจกลายเป็นคนซึมเซ่อเมอลอย ประมาทขาดสติยิ่งกว่าดื่มของมึนเมา
การเจริญอนิจจสัญญา แม้เพียงเวลาลัดนิ้วมือเดียว ทำให้รู้แจ้งในไตรลักษณ์ มีอานิสงส์มากที่สุด ถ้าไม่เข้าใจในไตรลักษณ์ ก็จะไม่เห็นทุกข์ ถ้าไม่เห็นทุกข์ ก็จะดับทุกข์ไม่ได้ เพราะผู้ที่สามารถรู้จริงเห็นแจ้งในอนิจจสัญญา อย่างแท้จริง ไม่ไช่เป็นเพียงสุตปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการอ่านหรือการฟัง และจำได้ กับจินตามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการคิดพิจารณาหาเหตุผลอย่างนั้นอย่างนี้ เท่านั้น แต่เป็นภาวนามยปัญญา คือปัญญาที่เกิดจากการอบรมสมาธิภาวนาเป็นอย่างดีแล้ว จึงทำให้เข้าใจในสรรพสิ่งทั้งหลายว่า มันเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยงแท้แน่นอนเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป มันเป็นทุกข์ มีสภาพเป็นทุกข์ คือทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ บางครั้งชอบใจ เป็นสุข บางครั้งเสียใจ เป็นทุกข์ และมันเป็นอนัตตา คือไม่ใช่ตัวตน บังคับให้เป็นอย่างที่ต้องการไม่ได้ และเมื่อรู้ว่า มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ และมันบังคับไม่ได้ ก็ไม่ควรยึดถือว่าเป็นเรา หรือเป็นของเรา จึงทำให้เข้าใจ รู้เห็นตามความเป็นจริง ยถาภูตะญาณทัสสนะ แล้วก็ทำให้เบื่อหน่ายคลายกำหนัด คายทิฏฐมานะ เมื่อเบื่อหน่ายคลายกำหนัด ก็จะได้วิมุตติจิตหลุดพ้นจากการครอบงำของกิเลสได้ ดังนั้น การเจริญอนิจจาสัญญาจึงมีอานิสงส์มากมาย เพราะจะทำให้ผู้เจริญพ้นทุกข์ได้ ฯ
-
สุดยอดแห่งบุญที่แท้จริง ตามพระพุทธพจน์
ใน เวลามสูตร ( อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต สีหนาทวรรค)
มีข้อความในตอนต้นสรุปได้ว่า พระพุทธองค์ได้ตรัสถามท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีว่า ขณะนี้ท่านยังให้ทานอยู่หรือหนอ ท่านเศรษฐีกราบทูลว่า
ขณะนี้ยังให้ทานอยู่ แต่ทานนั้นเป็นของราคาถูก เป็นเพียงปลายข้าว กับน้ำผักดองเท่านั้น
พระพุทธองค์จึงตรัสว่า นั่นมิใช่สิ่งสำคัญ ต่สิ่งที่สำคัญคือ การให้ทานโดยเคารพ ทำความนอบน้อมให้ ให้ด้วยมือตนเอง ให้ของที่ไม่ใช่เหลือทิ้ง เชื่อกรรมและผลของกรรมให้ทาน ย่อมมีอานิสงส์ที่จะได้ อาหาร เสื้อผ้า ยานพาหนะ เป็นต้น อย่างดี ผู้คนรอบข้าง ก็จะเชื่อฟังเป็นอันดี
และพระองค์ได้ตรัสเล่าเรื่องในอดีตให้ท่านเศรษฐีฟังอีกว่า ในอดีต มีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อว่า เวลามพราหมณ์ ได้ให้มหาทานอันยิ่งใหญ่ ประกอบด้วย
๑. ถาดทองคำ เต็มด้วยเงิน
๒. ถาดเงิน เต็มด้วยทอง
๓. ถาดสัมฤทธิ์ เต็มด้วยเหรียญเงิน
๔. ช้าง ประดับด้วยเครื่องประดับอย่างดีที่สุด
๕. รถ ประดับด้วยเครื่องประดับอย่างดีที่สุด
๖. แม่โคนม พร้อมถาดสัมฤทธิ์สำหรับรองน้ำนม
๗. หญิงสาว ประดับด้วยอาภรณ์นานาพรรณ
๘. บัลลังก์ ประดับด้วยของมีค่ายิ่ง
๙. ผ้า ชนิดเนื้อดีที่สุด
ทั้ง ๙ ข้อนี้ มีจำนวนข้อละ ๘๔ , ๐๐๐
นอกจากนั้นยังให้ ข้าว น้ำ ของหวาน ของคาว เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อาศัย อีกเป็นจำนวนมาก ราวกับการไหลของแม่น้ำ เวลามพราหมณ์ผู้ที่ได้กล่าวถึงนี้
มิใช่ใครอื่น ก็คือเรานี่เอง (คือ พระองค์นั่นเอง ที่ครั้งนั้นเกิดเป็นเวลามพราหมณ์) และพระองค์ได้ตรัสต่อไปว่า
ก็แต่ว่า ในการให้มหาทานในคราวครั้งนั้น ไม่มีผู้ควรแก่ทักขิณาเลย ไม่มีผู้ใดที่จะทำทักขิณาให้บริสุทธิ์ได้เลย บุคคลผู้ใดให้ทานคืออาหารแก่ผู้สมบูรณ์
ด้วยความเห็น (คือพระโสดาบัน) เพียงองค์เดียว เพียงครั้งเดียว การให้ทานคืออาหารแก่พระโสดาบัน เพียงองค์เดียว เพียงครั้งเดียว ยังมีผลมากกว่า
มหาทานของเวลามพราหมณ์นั้น
การให้ทานแก่พระโสดาบัน ๑๐๐ องค์ นั้น ยังมีผลน้อยกว่าการให้ทานแก่พระสกทาคามีเพียงองค์เดียว
การให้ทานแก่พระสกทาคามี ๑๐๐ องค์นั้น ยังมีผลน้อยกว่าการให้ทานแก่พระอนาคามีเพียงองค์เดียว
การให้ทานแก่พระอนาคามี ๑๐๐ องค์นั้น ยังมีผลน้อยกว่าการให้ทานแก่พระอรหันต์เพียงองค์เดียว
การให้ทานแก่พระอรหันต์ ๑๐๐ องค์นั้น ยังมีผลน้อยกว่าการให้ทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าเพียงองค์เดียว
การให้ทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ๑๐๐ องค์นั้น ยังมีผลน้อยกว่าการให้ทานแก่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเพียงองค์เดียว
การให้ทานแก่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังมีผลน้อยกว่าการให้ทานแก่พระภิกษุสงฆ์ ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นองค์ประธาน
การให้ทานแก่พระภิกษุสงฆ์ ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นองค์ประธาน ยังมีผลน้อยกว่าการสร้างวิหาร ถวายแก่สงฆ์ผู้มาจากทิศทั้ง ๔
การสร้างวิหารถวายแก่สงฆ์ผู้มาจากทิศทั้ง ๔ ยังมีผลน้อยกว่าผู้มีจิตเลื่อมใส ถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ
การมีจิตเลื่อมใส และถึงพระรัตนตรัยว่าเป็นสรณะ เพียงอย่างเดียว ยังมีผลน้อยกว่า การมีจิตเลื่อมใสและถึงพระรัตนตรัยว่าเป็นสรณะด้วย และสมาทานรักษาศีล ๕ ด้วย
การมีจิตเลื่อมใสและถึงพระรัตนตรัยว่าเป็นสรณะ และสมาทานรักษาศีล ๕ ด้วย ยังมีผลน้อยกว่า การเจริญเมตตาจิต เพียงชั่วเวลาสูดดมของหอม
การเจริญเมตตาจิต เพียงชั่วเวลาสูดดมของหอม ยังมีผลน้อยกว่า การเจริญอนิจจสัญญา ( ความกำหนดหมายว่าไม่เที่ยง) เพียงชั่วเวลาดีดนิ้วมือ ฯ
การเจริญเมตตาจิต เพียงชั่วเวลาสูดดมของหอม และเจริญอนิจจสัญญาเพียงชั่วเวลาดีดนิ้วมือ ที่จะให้ได้อานิสงส์อย่างสูงเช่นนี้ได้ ผู้นั้นต้องเป็นผู้มีจิตทรงฌานสมาบัติ และมุ่งดำเนินจิตไปในแนวทางแห่งวิวัฏคามินีกุศล คือมุ่งหวังความหลุดพ้นจากสังสารวัฏโดยส่วนเดียว
และด้วยกำลังแห่งฌานสมาบัตินั้น จึงทำให้ได้อานิสงส์สูงสุดนี้
สำหรับคนธรรมดาที่ยังไม่ได้ฌาน คงจะยังไม่ได้รับอานิสงส์ขั้นสูงสุดดังในพระสูตรนี้ แต่ก็จะเป็นพลวปัจจัยให้ได้อานิสงส์ขั้นสูง คือความพ้นทุกข์ ในอนาคตอันไม่ไกล
ตามความเข้าใจของผม ลำดับอานิสงส์ในการทำบุญมีดังนี้คือ
- ให้ทาน เพื่อให้ได้ทรัพย์สมบัติ
- รักษาศีล เพื่อให้ได้รูปสมบัติ
- เจริญภาวนา เพื่อให้ได้ธรรมสมบัติ
อนิจจสัญญา จัดเป็นอารมณ์ของการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เป็นภาวนามัยกุศล ผู้หมั่นเจริญอยู่เนืองนิตย์ ย่อมได้อานิสงส์คือ ธรรมสมบัติ ได้แก่ ศีล สติ สมาธิ และปัญญาญาณ ตามหลักท่านกล่าวว่า ไตรลักษณ์ มี ๓ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่ในพระสูตรนี้ ให้เจริญอนิจจสัญญาเพียงอย่างเดียวเท่านั้นหรือ....
เพียงอย่างเดียวก็ได้ เพราะทั้ง ๓ นี้เป็นสภาพเนื่องถึงกันหมด ดังที่ท่านกล่าวว่า
ยะทะนิจจัง ตัง ทุกขัง ยัง ทุกขัง ตะทะนัตตา สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นก็เป็นอนัตตา
คำว่า " เจริญอนิจจสัญญา" คือ ใช้จิตน้อมนึกคิดพิจารณา ถึงสภาพที่ไม่เที่ยงแท้ถาวรของทุกสิ่งอยู่ตลอดเวลา พยายามไม่เผลอไปคิดว่า "สิ่งนั้นมันเที่ยงแท้แน่นอน จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลงไปเป็นอันขาด" ซึ่งจะไม่มีวันเป็นไปได้ เพราะผิดไปจากความเป็นจริง ความเป็นจริง ๆ ๆ คือ " ไม่เที่ยง"
บางครั้ง ถ้านึกคิดพิจารณาลำบาก ก็มีคาถาที่ครูอาจารย์ท่านสอนไว้ คือ
ทุ ก สิ่ ง ไ ม่ เ ที่ ยง อ ย่ า ยึ ด มั่ น ถื อ มั่ น ให้บริกรรมกำกับจิตไว้อยู่เสมอ ย่อมจะได้รับอานิสงส์ขั้นสูงสุด ในอนาคตอันใกล้นี้อย่างแน่นอนครับ
ที่มา : -http://www.palungjit.com-
-
พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 193
กฐินขันธกะ
ภิกษุปาไฐยรัฐเดินทางเข้าเฝ้า
[๙๕] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเขตวันอาราม
ของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุปาไฐยรัฐจำนวน
๓๐ รูป ล้วนถืออารัญญิกธุดงค์ บิณปาติกธุดงค์ และเตจีวริกธุดงค์ เดิน
ทางไปพระนครสาวัตถุเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจวนถึงวันเข้าพูดพรรษา
ไม่สามารถจะเดินทางให้ทันวันเข้าพรรษาในพระนครสาวัตถี จึงจำพรรษา ณ
เมืองสาเกต ในระหว่างทาง ภิกษุเหล่านั้นจำพรรษามีใจรัญจวนว่า พระผู้มี-
พระภาคเจ้าประทับอยู่ใกล้ ๆ เรา ระยะทางห่างเพียง ๖ โยชน์ แต่พวกเราก็
ไม่ได้เฝ้าพระองค์ ครั้นล่วงไตรมาส ภิกษุเหล่านั้นออกพรรษาทำปวารณา
เสร็จแล้ว เมื่อฝนยังตกชุก พื้นภูมิภาคเต็มไปด้วยน้ำ เป็นหล่มเลน มีจีวร
ชุ่มชื้นด้วยน้ำ ลำบากกาย เดินทางไปถึงพระนครสาวัตถี พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกคหบดี เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่
ควรส่วนข้างหนึ่ง.
การที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลาย ทรงปราศัยกับพระอาคันทุกะทั้ง
หลายนั่นเป็นพุทธประเพณี.
พุทธประเพณี
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า ดูก่อนภิกษุ
ทั้งหลาย พวกเธอยังพอทนได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ พวกเธอ
เป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน จำพรรษาเป็นผาสุก และไม่
ลำบากด้วยบิณฑบาตหรือ ?
พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 194
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า พวกข้าพระพุทธเจ้ายังพอทนได้ พวกยัง
อัตภาพให้เป็นไปได้ พระพุทธเจ้าข้า อนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นผู้
พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน จำพรรษาเป็นผาสุก และไม่ลำบาก
ด้วยบิณฑบาต พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระพุทธเจ้าในชุมนุมนี้เป็นภิกษุ
ปาไฐยรัฐจำนวน ๓๐ รูป เดินทางมาพระนครสาวัตถุ เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระ-
ภาคเจ้า เมื่อจวนถึงวันเข้าพรรษา ไม่สามารถจะเดินทางให้ทันวันเข้าพรรษา
ในพระนครสาวัตถุ จึงจำพรรษา ณ เมืองสาเกต ในระหว่างทาง พวกข้า
พระพุทธเจ้านั้นจำพรรษามีใจรัญจวนว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ใกล้ ๆ
เรา ระยะทางห่างเพียง ๖ โยชน์ แต่พวกเร้าก็ไม่ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
ครั้นล่วงไตรมาส พวกข้าพระพุทธเจ้าออกพรรษาทำปวารณาเสร็จแล้ว เมื่อ
ฝนยังตกชุก พื้นภูมิภาคเต็มไปด้วยน้ำ เป็นหล่มเลน มีจีวรชุ่มชื้นด้วยน้ำ
ลำบากกาย เดินทางมา พระพุทธเจ้าข้า.
พระพุทธานุญาตใต้กรานกฐิน
[๙๖] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทำธรรมีกถา ในเพราะ
เหตุเป็นเค้ามลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลาย ผู้จำพรรษาแล้วได้กรานกฐิน
พวกเธอผู้ได้กรานกฐินแล้ว จักได้อานิสงส์ ๕ ประการ คือ:-
๑. เที่ยวไปไหนไม่ต้องบอกลา.
๒. ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ.
๓. ฉันคณะโภชน์ได้.
๔. ทรงอดิเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา.
๕. จีวรอันเกิดขึ้น ณ ที่นั้นจักได้แก่พวกเธอ.
พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 195
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ ๕ ประการนี้ จักได้แก่เธอทั้งหลาย
ผู้ได้กรานกฐินแล้ว.
วิธีกรานกฐิน
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แล สงฆ์พึงกรานกฐินอย่างนี้ คือ ภิกษุผู้ฉลาด
ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
กรรมวาจาให้ผ้ากฐิน
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าเจ้า ผ้ากฐินผืนนั้นเกิดแล้วแก่
สงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้ผ้ากฐินผืนนี้
แก่ภิกษุมีชื่อนี้ เพื่อกรานกฐิน นี้เป็นญัตติ.
ท่านเจ้าข้า ขอสงจงพึงข้าพเจ้า ผ้ากฐินผืนนี้เกิดแล้วแก่
สงฆ์ สงฆ์ให้ผ้ากฐินผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้ เพื่อกรานกฐิน การให้
ผ้ากฐินผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้ เพื่อกรานกฐิน ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่าน
ผู้นั้นพึงเป็นนิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด.
ผ้ากฐินผืนนี้ สงฆ์ให้แล้วแก่ภิกษุมีชื่อนี้ เพื่อกรานกฐิน
ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั่นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ ด้วยอย่างนี้.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล กฐินเป็นอันกราน อย่างนี้ไม่เป็น
อันกราน.
กฐินไม่เป็นอันกราน
[๙๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อย่างไรเล่า กฐินไม่เป็นอันกราน คือ:-
๑. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงขีดรอย.
๒. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงซักผ้า.
พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 196
๓. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงกะผ้า.
๔. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงตัดผ้า.
๕. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงเนาผ้า.
๖. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงเย็บต้น.
๗. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงทำลูกดุม.
๘. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงทำรังคุม.
๙. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงประกอบผ้าอนุวาต.
๑๐. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงประกอบผ้าอนุวาตด้าน
หน้า.
๑๑. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงดามผ้า.
๑๒. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงย้อมเป็นสีหม่นเท่านั้น.
๑๓. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ท่านิมิตได้มา.
๑๔. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยผ้าที่พูดเลียบเคียงได้มา.
๑๕. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ยืมเขามา.
๑๖. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยผ้าที่เก็บไว้ค้างคืน.
๑๗. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยผ้าที่เป็นนิสสัคคีย์.
๑๘. กฐินไม่เป็นอัน กราน ด้วยผ้าที่มิได้ทำกัปปะพินทุ.
๑๙. กฐินไม่เป็นอันกราน เว้นจากผ้าสังฆาฏิเสีย.
๒๐. กฐินไม่เป็นอันกราน เว้นจากผ้าอุตราสงค์เสีย.
๒๑. กรินไม่เป็นอันกราน เว้นจากผ้าอันตรวาสกเสีย.
๒๒. กฐินไม่เป็นอันกราน เว้นจากจีวรมีขันธ์ ๕ หรือเกิน ๕ ซึ่ง
ตัดดีแล้ว ทำให้มีมณฑลเสร็จในวันนั้น .
พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 197
๒๓. กฐินไม่เป็นอันกราน เว้นจากการกรานแห่งบุคคล.
๒๘. กฐินไม่เป็นอันกรานโดยชอบ ถ้าภิกษุผู้อยู่นอกสีมาอนุโมทนา
กฐินนั้น แม้อย่างนี้ กฐินก็ชื่อว่าไม่เป็นอันกราน.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล กฐินไม่เป็นอันกราน.
กฐินเป็นอันกราน
[๙๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อย่างไรเล่า กฐินเป็นอันกราน คือ:-
๑. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าใหม่.
๒. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าเทียมใหม่.
๓. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าเก่า.
๔. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าบังสุกุส.
๕. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ตกตามร้าน.
๖. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ไม่ได้ทำนิมิตได้มา.
๗. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ไม่ได้พูดเลียบเคียงได้มา.
๘. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ไม่ได้ยืมเขามา.
๙. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ไม่ได้เก็บไว้ค้างคืน.
๑๐. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ไม่ได้เป็นนิสสัคคีย์.
๑๑. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ทำกัปปะพินทุแล้ว.
๑๒. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าสังฆาฏิ.
๑๓. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าอุตราสงค์.
๑๔. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าอันตรวาสก.
๑๕. กฐินเป็นอันกราน ด้วยจีวรมีขันธ์ ๕ หรือเกิน ๕ ซึ่งตัดดีแล้ว
ทำให้มีมณฑลเสร็จในวัน.
พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 198
๑๖. กฐินเป็นอันกราน เพราะการแห่งบุคคล.
๑๗. กฐินเป็นอันกรานโดยชอบ ถ้าภิกษุอยู่ในสีมาอนุโมทนากฐิน
นั้น แม้อย่างนี้ กฐินก็ชื่อว่าเป็นอันกราน.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล กฐินเป็นอันกราน.
[๙๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อย่างไรเล่า กฐินเป็นอันเดาะ ?
มาติกา ๘
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มาติกาเพื่อเดาะกฐิน ๘ ข้อนี้ คือ
๑. กำหนดด้วยหลีกไป. ๒. กำหนดด้วยจีวรทำเสร็จ.
๓. กำหนดด้วยตกลงใจ. ๔. กำหนดด้วยผ้าเสียหาย.
๕. กำหนดด้วยได้ยินข่าว. ๖. กำหนดด้วยสิ้นหวัง.
๗. กำหนดด้วยล่วงเขต. ๘. กำหนดด้วยเคาะพร้อมกัน.
อาทายสัตตกะที่ ๑
[๑๐๐] ๑. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ถือจีวรที่ทำเสร็จแล้วหลีกไป
ด้วยคิดว่าจักไม่กลับมา การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยหลีกไป
๒. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไป เธออยู่นอกสีมา เกิด
ความคิดอย่างนี้ว่า จักให้ทำจีวรผืนนี้ ณ ภายนอกสีมานี้แหละ จักไม่กลับมา
ละ เธอให้ทำจีวรผืนนั้นเสร็จ การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยทำจีวร
เสร็จ.
๓. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไป เธออยู่นอกสีมา เกิด
ความคิดอย่างนี้ว่า จักไม่ให้ทำจีวรผืนนี้ จักไม่กลับ การเดาะกฐินของภิกษุ
นั้น กำหนดด้วยตกลงใจ.
พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 199
๔. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไป เธออยู่นอกสีมา เกิด
ความคิดอย่างนี้ว่า จักให้ทำจีวรผืนนี้ ณ ภายนอกสีมานี้แหละ จักไม่กลับ
แล้วให้ทำจีวรผืนนั้น จีวรของเธอ ที่กำลังทำอยู่นั้นได้เสียหรือหาย การเดาะ
กฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยผ้าเสียหาย.
๕. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไปด้วยคิดว่าจักกลับมา เธอ
อยู่นอกสีมา ให้ทำจีวรผืนนั้น ครั้นทำจีวรเสร็จแล้ว ได้ยินข่าวว่าในอาวาส
นั้น กฐินเดาะเสียแล้ว การเคาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยได้ยินข่าว.
๖. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไป ด้วยคิดว่าจักกลับมา
เธออยู่นอกสีมา ให้ทำจีวรผืนนั้น ครั้นทำจีวรเสร็จ คิดว่าจักกลับมา จัก
กลับมา แล้วล่วงคราวกฐินเดาะ ณ ภายนอกสีมา การเดาะกฐินของภิกษุนั้น
กำหนดด้วยล่วงเขต.
๗. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไปด้วยคิดว่าจักกลับมา เธอ
อยู่นอกสีมา ทำให้จีวรผืนนั้น ครั้นทำจีวรเสร็จ คิดว่าจักกลับมา จักกลับมา
แล้วกลับมาทันกฐินเดาะ การเดาะกฐินของภิกษุนั้น พร้อมกับภิกษุทั้งหลาย
อาทายสัตตกะที่ ๑ จบ
สมาทายสัตตะ ที่ ๒
[๑๐๑] ๑. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำเสร็จแล้ว หลีกไป
ด้วยคิดว่าจักไม่กลับมา การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยหลีกไป
๒. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว นำจีวรหลีกไป เธออยู่นอกสีมา เกิด
ความคิดอย่างนี้ว่า จักให้ทำจีวรผืนนี้ ณ ภายนอกสีมานี้แหละ จักไม่กลับ เธอ
ให้ทำจีวรผืนนั้นเสร็จ การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ
พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 200
๓. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว นำจีวรหลีกไป เธออยู่นอกสีมา เกิดความ
คิดอย่างนี้ว่า จักไม่ให้ทำจีวรผืนนี้ จักไม่กลับ การเดาะกฐินของภิกษุนั้น
กำหนดด้วยตกลงใจ.
๔. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว นำจีวรหลีกไป เธออยู่นอกสีมา เกิดความ
คิดอย่างนี้ว่า จักให้ทำจีวรผืนนี้ ณ ภายนอกสีมานี้แหละ จักไม่กลับ เธอให้
ทำจีวรผืนนั้น จีวรของเธอที่ทำอยู่นั้น ได้เสียหรือหาย การเดาะกฐินของภิกษุ
นั้นกำหนดด้วยผ้าเสียหาย.
๕. ภิกษุได้กรายนกฐินแล้ว นำจีวรหลีกไป ด้วยคิดว่าจักกลับมา
เธออยู่นอกสีมา ให้ทำจีวรผืนนั้น ครั้นทำจีวรเสร็จแล้ว ได้ยินข่าวว่า ใน
อาวาสนั้นกฐินเดาะเสียแล้ว การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยได้ยินข่าว.
๖. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว นำจีวรหลีกไป ด้วยคิดว่าจักกลับมา เธอ
อยู่นอกสีมา ให้ทำจีวรผืนนั้น ครั้นทำจีวรเสร็จแล้วคิดว่าจักกลับมา จักกลับ
มาล่วงเขต.
๗. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว นำจีวรหลีกไป ด้วยคิดว่าจักกลับมา เธอ
อยู่ ณ ภายนอกสีมา ให้ทำจีวรผืนนั้น ครั้นทำจีวรเสร็จแล้ว คิดว่าจักกลับมา
จักกลับมา แล้วกลับมาทันกฐินเดาะ การเดาะกฐินของภิกษุนั้น พร้อมกับภิกษุ
ทั้งหลาย.
สมาทายสัตตกะ ที่ ๒ จบ
อาทายฉักกะ ที่ ๓
[๑๐๒] ๑. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ถือจีวรที่ค้างไว้หลีกไป เธออยู่
นอกสีมา เกิดความคิดอย่างนี้ว่า เราจักให้ทำจีวรผืนนี้ ณ ภายนอกสีมานี้แหละ
-http://www.tripitaka91.com/91book/book07/151_200.htm-
http://www.tripitaka91.com/91book/book07/151_200.htm (http://www.tripitaka91.com/91book/book07/151_200.htm)
.
-
พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 201
จักไม่กลับ แล้วให้ทำจีวรผืนนั้นเสร็จ การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วย
ทำจีวรเสร็จ.
๒. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ถือจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป เธออยู่นอกสีมา
เกิดความคิดอย่างนี้ว่า จักไม่ให้ทำจีวรผืนนี้ จักไม่กลับมา การเดาะกฐินของ
ภิกษุนั้น กำหนดด้วยตกลงใจ.
๓. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ถือจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป เธออยู่นอกสีมา
เกิดความคิดอย่างนี้ว่า จักให้ทำจีวรผืนนี้ ณ ภายนอกสีมานี้แหละ จักไม่กลับ
แล้วให้ทำจีวรผืนนั้น จีวรของเธอที่ทำอยู่นั้นได้เสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุ
นั้น กำหนดด้วยผ้าเสียหาย.
๔. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ถือจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปด้วยคิดว่าจักกลับ
มา เธออยู่นอกสีมา ให้ทำจีวรผืนนั้น ครั้นทำจีวรเสร็จแล้ว ได้ทราบข่าวว่า
ในอาวาสนั้นกฐินเดาะแล้ว การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยได้ยินข่าว.
๕. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ถือจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป ด้วยคิดว่าจัก
กลับมา เธออยู่นอกสีมา ให้ทำจีวรผืนนั้น ครั้นทำจีวรเสร็จแล้วคิดว่าจักกลับ
มา จักกลับมา แล้วล่วงคราวกฐินเดาะ ณ ภายนอกสีมา การเดาะกฐินของภิกษุ
นั้น กำหนดด้วยล่วงเขต.
๖. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ถือจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป ด้วยคิดว่าจัก
กลับมา เธออยู่นอกสีมา ไห้ทำจีวรผืนนั้น ครั้นทำจีวรเสร็จแล้ว คิดว่าจัก
กลับมา จักกลับมา แล้วกลับมาทันกฐินเดาะ การเดาะกฐินของภิกษุนั้น พร้อม
กับภิกษุทั้งหลาย.
อาทายฉักกะ ที่ ๓ จบ
พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 202
สมาทายฉักกะ ที่ ๔
[๑๐๓] ๑. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป เธอ
อยู่นอกสีมา เกิดความคิดอย่างนี้ว่า เราจักให้ทำจีวรผืนนี้ ณ ภายนอกสีมานี้
แหละจักไม่กลับ เธอให้ทำจีวรผืนนั้นเสร็จ การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนด
ด้วยทำจีวรเสร็จ.
๒. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป เธออยู่นอก
สีมา เกิดความคิดอย่างนี้ว่า จักไม่ให้ทำจีวรผืนนี้ จักไม่กลับมา การเดาะกฐิน
ของภิกษุนั้น กำหนดด้วยตกลงใจ.
๓. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป เธออยู่นอก
สีมา เกิดความคิดอย่างนี้ว่า จักให้ทำจีวรผืนนี้ ณ ภายนอกสีมานี้แหละ จัก
ไม่กลับ แล้วให้ทำจีวรผืนนั้น จีวรของเธอที่ทำอยู่นั้น ได้เสียหรือหาย การ
เดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยผ้าเสียหาย.
๔. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป ด้วยคิดว่าจัก
กลับมา เธออยู่นอกสีมา ให้ทำจีวรผืนนั้น ครั้นทำจีวรเสร็จแล้ว ได้ยินข่าวว่า
ในอาวาสนั้นกฐินเดาะเสียแล้ว การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยได้
ยินข่าว.
๕. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป ด้วยคิดว่าจัก
กลับมา เธออยู่นอกสีมา ให้ทำจีวรผืนนั้น ครั้นทำจีวรเสร็จแล้ว คิดว่าจักกลับ
มาจักกลับมา แล้วล่วงคราวกฐินเดาะ ณ ภายนอกสีมา การเดาะกฐินของภิกษุ
นั้นกำหนดด้วยล่วงเขต.
๖. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป ด้วยคิดว่าจัก
กลับมา เธออยู่นอกสีมา ให้ทำจีวรผืนนั้น ครั้นทำจีวรเสร็จแล้วคิดว่าจักกลับมา
พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 203
จักกลับมา แล้วกลับมาทันกฐินเดาะ การเดาะกฐินของภิกษุนั้น พร้อมกับภิกษุ
ทั้งหลาย.
สมาทายฉักกะ ที่ ๔ จบ
การเดาะกฐินกำหนดด้วยทำจีวรเสร็จเป็นต้น
[๑๐๔] ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไป เธออยู่นอกสีมา
เกิดความคิดอย่างนี้ว่า จักให้ทำจีวรผืนนี้ ณ ภายนอกสีมานี้แหละ จักไม่กลับ
มา เธอให้ทำจีวรผืนนั้นเสร็จ การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยทำจีวร
เสร็จ.
ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไป เธออยู่นอกลีมา เกิดความ
คิดอย่างนี้ว่า จักไม่ให้ทำจีวรผืนนี้ จักไม่กลับ การเดาะกฐินของภิกษุนั้น
กำหนดด้วยตกลงใจ.
ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไป เธออยู่นอกลีมา เกิดความ
คิดอย่างนี้ว่า จักให้ทำจีวรผืนนี้ ณ ภายนอกสีมานี้แหละ จักไม่กลับ แล้วไห้
ทำจีวรผืนนั้น จีวรของเธอทีทำอยู่นั้นได้เสียหรือหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น
กำหนดด้วยผ้าเสียหาย.
[๑๐๕] ภิกษุได้กรานกินแล้ว ถือจีวรหลีกไป ด้วยทั้งใจว่าจักไม่
กลับมา เธออยู่นอกสีมา เกิดความติดอย่างนี้ว่า จักไห้ทำจีวรผืนนี้ ณ ภาย
นอกสีมานี้แหละ เธอให้ทำจีวรผืนนั้นเสร็จ การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนด
ด้วยทำจีวรเสร็จ.
ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไป ด้วยตั้งใจว่าจักไม่กลับมา
เธออยู่นอกสีมา เกิดความติดอย่างนี้ว่า จักไม่ให้ทำจีวรผื่นนี้ การเดาะกฐิน
ของภิกษุนั้น กำหนดด้วยตกลงใจ.
พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 204
ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไป ด้วยตั้งใจว่า จักไม่กลับมา
เธออยู่นอกสีมา เกิดความคิดอย่างนี้ว่า จักให้จีวรผืนนี้ ณ ภายนอกสีมานี้แหละ
แล้วให้ทำจีวรผืนนั้น จีวรของเธอที่ทำอยู่นั้นได้เสียหรือหาย การเดาะกฐินของ
ภิกษุนั้น กำหนดด้วยผ้าเสียหาย.
[๑๐๖] ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไป ด้วยไม่ตั้งใจ คือ
เธอไม่ได้คิดว่าจักกลับมา และไม่ได้คิดว่าจักไม่กลับมา เธออยู่นอกสีมา เกิด
ความคิดอย่างนี้ว่า จักให้ทำจีวรผืนนี้ ณ ภายนอกสีมาน แหล่ะ จักไม่กลับ
เธอให้ทำจีวรผืนนั้นเสร็จ การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ.
ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไปด้วยไม่ตั้งใจ คือ เธอไม่ได้
คิดว่าจักกลับมา และไม่ได้คิดว่าจักไม่กลับมา เธออยู่นอกสีมา เกิดความคิด
อย่างนี้ว่าจักไม่ให้ทำจีวรผืนนี้ จักไม่กลับ การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนด
ด้วยตกลงใจ.
ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไปด้วยไม่ตั้งใจ คือ เธอไม่ได้
คิดว่าจักกลับมา และไม่ได้คิดว่าจักไม่กลับมา เธออยู่นอกสีมา เกิดความคิด
อย่างนี้ว่า จักให้ทำจีวรผืนนี้ ณ ภายนอกสีมานี้แหละ จักไม่กลับแล้วให้ทำจีวร
ผืนนั้นจีวรของเธอที่ทำอยู่นั้นได้หรือเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนด
ด้วยผ้าเสียหาย.
[๑๐๗] ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไปด้วยคิดว่าจักกลับมา
เธออยู่นอกสีมาเกิดความคิดอย่างนี้ว่าจักให้ทำจีวรผืนนี้ ณ ภายนอกสีมานี้แหละ
จักไม่กลับ เธอให้ทำจีวรผืนนั้นเสร็จ การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วย
ทำจีวรเสร็จ.
พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 205
ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไปด้วยตั้งใจว่าจักกลับมา เธออยู่
นอกสีมา เกิดความคิดอย่างนี้ว่า จักไม่ให้ทำจีวรผืนนี้ จักไม่กลับ การเดาะ
กฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยตกลงใจ.
ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไปด้วยคิดว่าจักกลับมา เธออยู่
นอกสีมา เกิดความคิดอย่างนี้ว่า จักให้ทำจีวรผืนนี้ ณ ภายนอกสีมานี้แหละ
จักไม่กลับ แล้วให้ทำจีวรผืนนั้น จีวรของเธอที่ทำอยู่นั้นได้เสียหรือหาย การ
เดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยผ้าเสียหาย.
ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไปด้วยคิดว่าจักกลับมา เธออยู่
นอกสีนา ให้ทำจีวรผืนนั้น ครั้นทำจีวรเสร็จแล้ว ได้ยินข่าวว่า ในอาวาสนั้น
กฐินเดาะแล้ว การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยได้ยินข่าว.
ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไปด้วยคิดว่าจักกลับมา เธออยู่
นอกสีมา ให้ทำจีวรผืนนั้น ครั้นทำจีวรเสร็จแล้วคิดว่าจักกลับมา จักกลับมา
แล้วล่วงคราวกฐินเดาะ ณ ภายนอกสีมา การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วย
ล่วงเขต.
ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไปด้วยคิดว่าจักกลับมา เธออยู่
นอกสีมา ให้ทำจีวรผืนนั้น ครั้นทำจีวรเสร็จแล้ว คิดจักกลับมา จักกลับมา
แล้วกลับมาทันกฐินเดาะ การเดาะกฐินของภิกษุนั้น พร้อมกับภิกษุทั้งหลาย.
[๑๐๘] ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไป. (นักปราชญ์พึงให้
พิสดารอย่างนี้ ดุจอาทายวาร)
ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ถือจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป เธออยู่นอกสีมาเกิด
ความคิดอย่างนี้ว่า จักไห้ทำจีวรผืนนี้ ณ ภายนอกสีมานี้แหละ จักไม่กลับ เธอ
ให้ทำจีวรผืนนั้นเสร็จ การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ
(นักปราชญ์พึงให้พิสดารอย่างนี้ ดุจสมาทายวาร)
พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 206
[๑๐๙] ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ค้างไว้หลีกไป เธออยู่นอก
สีมา เกิดความคิดอย่างนี้ว่า จักให้ทำจีวรผืนนี้ ณ ภายนอกสีมานี้แหละ จัก
ไม่กลับ เธอให้ทำจีวรผืนนั้นเสร็จ การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วย
ทำจีวรเสร็จ.
ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป เธออยู่นอกสีมา
เกิดความคิดอย่างนี้ว่า จักไม่ให้ทำจีวรผืนนี้ จักไม่กลับ การเดาะกฐินของ
ภิกษุนั้น กำหนดด้วยตกลงใจ.
ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป เธออยู่นอกสีมา
เกิดความคิดอย่างนี้ว่า จักให้ทำจีวรผืนนี้ ณ ภายนอกสีมานี้แหละ จักไม่กลับ
แล้วให้ทำจีวรผืนนั้น จีวรของเธอที่ทำอยู่นั้นได้เสียหรือหาย การเดาะกฐิน
ของภิกษุนั้น กำหนดด้วยผ้าเสียหาย.
[๑๐๐] ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป ด้วยคิด
ว่าจักไม่กลับมา เธออยู่นอกสีมา เกิดความคิดอย่างนี้ว่า จักให้ทำจีวรผืนนี้ ณ
ภายนอกสีมานี้แหละ เธอให้ทำจีวรผืนนั้นเสร็จ การเดาะกฐินของภิกษุนั้น
กำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ.
ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป ด้วยคิดว่าจักไม่
กลับมา เธออยู่นอกสีมา เกิดความคิดอย่างนี้ว่า จักไม่ให้ทำจีวรผืนนี้ แหละ
การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยตกลงใจ.
ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป ด้วยคิดว่าจักไม่
กลับมา เธออยู่นอกสีมา เกิดความคิดอย่างนี้ว่า จักให้ทำจีวรผืนนี้ ณ ภาย
พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 207
นอกสีมานี้แหละแล้วให้ทำจีวรผืนนั้น จีวรของเธอที่ทำอยู่นั้นได้เสียหรือหาย
การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยผ้าเสียหาย.
[๑๑๑] ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปด้วยไม่ทั้งใจ
คือไม่ได้คิดว่าจักกลับมา และไม่ได้คิดว่าจักไม่กลับมา เธออยู่นอกสีมา เกิด
ความคิดอย่างนี้ว่า จักให้ทำจีวรผืนนี้ ณ ภายนอกสีมานี้แหละ จักไม่กลับ
เธอให้ทำจีวรผืนนั้นเสร็จ การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ.
ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปด้วยไม่ตั้งใจ คือ
ไม่ได้คิดว่าจักกลับมา และไม่ได้คิดว่าจักไม่กลับ เธออยู่นอกสีมา เกิดความ
คิดอย่างนี้ว่า จักไม่ให้ทำจีวรผืนนี้ จักไม่กลับ การเดาะกฐินของภิกษุนั้น
กำหนดด้วยตกลงใจ.
ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป ด้วยไม่ตั้งใจ คือ
ไม่ได้คิดว่าจักกลับมา และไม่ได้คิดว่าจักไม่กลับมา เธออยู่นอกสีมา เกิดความ
คิดอย่างนี้ว่า จักให้ทำจีวรผืนนี้ ณ ภายนอกสีมานี้แหละ จักไม่กลับ แล้วให้
ทำจีวรผืนนั้น จีวรของเธอที่ทำอยู่นั้นได้เสียหรือหาย การเดาะกฐินของภิกษุ
นั้น กำหนดด้วยผ้าเสียหาย.
-http://www.tripitaka91.com/91book/book07/201_250.htm-
http://www.tripitaka91.com/91book/book07/201_250.htm (http://www.tripitaka91.com/91book/book07/201_250.htm)
-
[๑๑๒] ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปด้วยคิดว่า
จักกลับมา เธออยู่นอกสีมา เกิดความคิดอย่างนี้ว่า จักให้ทำจีวรผืนนี้ ณ
ภายนอกสีมานี้แหละ จักไม่กลับละ เธอให้ทำจีวรผืนนั้นเสร็จ การเดาะกฐิน
ของภิกษุนั้นกำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ.
พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 208
ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ค้างไว้หลีกไป ด้วยคิดว่าจักกลับมา
เธออยู่นอกสีมา เกิดความคิดอย่างนี้ว่า จักไม่ให้ทำจีวรผืนนี้ จักไม่กลับ
การเคาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยตกลงใจ.
ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป ด้วยคิดว่าจักกลับ
มา เธออยู่นอกสีมา เกิดความคิดอย่างนี้ว่า จักให้ทำจีวรนี้ ณ ภายนอกสีมา
นี้แหละ จักไม่กลับ เธอให้ทำจีวรนั้น จีวรของเธอที่ทำอยู่นั้นได้เสียหรือหาย
การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยผ้าเสียหาย.
ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปด้วยคิดว่าจักกลับมา
เธออยู่นอกสีมา ให้ทำจีวรผืนนั้น ครั้นทำจีวรเสร็จแล้ว ได้ยินข่าวว่า ในอาวาส
นั้นกฐินเดาะเสียแล้ว การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยได้ยินข่าว.
ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป ด้วยคิดว่าจักกลับ
มา เธออยู่นอกสีมา ให้ทำจีวรผืนนั้น ครั้นทำจีวรเสร็จแล้วคิดว่าจักกลับมา
จักกลับมา แล้วล่วงคราวกฐินเดาะ ณ ภายนอกสีมา การเดาะกฐินของภิกษุนั้น
กำหนดด้วยล่วงเขต
ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป ด้วยคิดว่าจักกลับ
มา เธออยู่นอกสีมา ให้ทำจีวรผืนนั้น ครั้นทำจีวรเสร็จแล้วคิดว่าจักกลับมา จัก
กลับมา แล้วกลับมาทันกฐินเดาะ การเดาะกฐินของภิกษุนั้น พร้อมกับภิกษุ
ทั้งหลาย.
อาทายภาณวาร จบ
พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 209
ความสิ้นหวัง ๑๒ หมวด
[๑๑๓] ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว หลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร เธออยู่
นอกสีมา เข้าไปยิ่งที่ซึ่งมีหวังจะได้จีวรนั้น ได้ไม่สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง
เธอคิดอย่างนี้ว่า จักให้ทำจีวรผืนนี้ ณ ภายนอกสีมานี้แหละ จักไม่กลับ เธอ
ให้ทำจีวรผืนนั้นเสร็จ การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ.
ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว หลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร เธออยู่นอกสีมา
เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังจะได้จีวรนั้น ได้ไม่สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง เธอคิดอย่าง
นี้ว่า จักไม่ให้ทำจีวรผืนนี้ จักไม่กลับ การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนด
ด้วยตกลงใจ.
ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว หลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร เรออยู่นอกสีมา
เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังจะได้จีวรนั้น ได้ไม่สิ้นหวัง ไม่ได้ตามหวัง เธอคิดอย่าง
นี้ว่า จักให้ทำจีวรผืนนี้ ณ ภายนอกสีมานี้แหละ จักไม่กลับ เธอให้ทำจีวรผืน
นั้น จีวรของเธอที่ทำอยู่นั้นได้เสียหรือหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนด
ด้วยผ้าเสียหาย.
ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว หลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร เธออยู่นอกสีมา
เกิดความคิดอย่างนี้ว่า จักเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนี้ ณ ภายนอกสีมาน
แหละ จักไม่กลับ แล้วเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น เธอสิ้นหวังว่าจะได้
จีวรนั้น การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยสิ้นหวัง.
[๑๑๔] ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว หลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร คิดว่า
จักไม่กลับมา เธออยู่นอกสีมา เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังจะได้จีวรนั้น ได้ไม่สมหวัง
ไม่ได้ตามหวัง เธอคิดอย่างนี้ว่า จักให้ทำจีวรผืนนี้ ณ ภายนอกสีมานี้แหละ
เธอให้ทำจีวรผืนนี้ในเสร็จ การเดาะกฐินขอองภิกษุนั้น กำหนดด้วยการทำจีวร
เสร็จ.
พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 210
ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว หลีกไปด้วยหวังจะได้จีวร คิดว่าจักไม่กลับ
มา เธออยู่นอกสีมา เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังจะได้จีวรนั้น ได้ไม่สมหวัง ไม่ได้
ตามหวัง เธอคิดอย่างนี้ว่า จักไม่ให้ทำจีวรผืนนี้ การเดาะกฐินของภิกษุนั้น
กำหนดด้วยตกลงใจ.
ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว หลีกไปด้วยหวังจะได้จีวร คิดว่าจักไม่กลับ
มา เธออยู่นอกสีมา เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังจะได้จีวรนั้น ได้ไม่สมหวัง ไม่ได้
ตามหวัง เธอติดอย่างนี้ว่า จักให้ทำจีวรผืนนี้ ณ ภายนอกสีมานี้แหละ เธอ
ให้ทำจีวรผืนนี้ในเสร็จ จีวรของเธอที่ทำอยู่นั้นได้เสียหรือหาย การเดาะกฐิน
ของภิกษุนั้น กำหนดด้วยผ้าเสียหาย.
ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว หลีกไปด้วยหวังจะได้จีวร คิดว่าจักไม่กลับ
มา เธออยู่นอกสีมา เกิดความคิดอย่างนี้ว่า จักเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังจะได้จีวร
นี้ ณ ภายนอกสีมานี้แหละ แล้วเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังจะได้จีวรนั้น เธอสิ้นหวัง
ว่าจะได้จีวรนั้น การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยสิ้นหวัง.
[๑๑๕] ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว หลีกไปด้วยหวังจะได้จีวรโดยไม่ได้
ตั้งใจ คือ เธอไม่ได้คิดว่าจะกลับ และไม่คิดว่าจักไม่กลับมา เธออยู่นอกสีมา
เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังจะได้จีวรนั้น ได้ไม่สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง เธอคิดอย่าง
นี้ว่า จักให้ทำจีวรผืนนี้ ภายนอกสีนานี้แหละ จักไม่กลับ เธอให้ทำจีวร
ผืนนั้นเสร็จ การเคาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ.
ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว หลีกไปด้วยหวังจะได้จีวร โดยไม่ตั้งใจ คือ
เธอไม่ได้คิดว่าจะกลับมา และไม่ได้คิดว่าจักไม่กลับมา เธออยู่นอกสีมา เข้า
ไปยังทีซึ่งมีหวังจะได้จีวรนั้น ได้ไม่สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง เธอคิดอย่างนี้ว่า
จักไม่ให้ทำจีวรผืนนี้ จักไม่กลับ การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วย
ตกลงใจ.
พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 211
ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว หลีกไปด้วยหวังจะได้จีวร โดยไม่ตั้งใจ คือ
เธอไม่ได้คิดว่าจะกลับมา และไม่ได้คิดว่าจักไม่กลับมา เธออยู่นอกสีมา เข้า
ไปยังที่ซึ่งมีหวังจะได้จีวรนั้น ได้ไม่สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง เธอคิดอย่างนี้ว่า
จักให้ทำจีวรผืนนี้ ณ ภายนอกสีมานี้แหละ จักไม่กลับ เธอให้ทำจีวรผืนนั้น
เสร็จ จีวรของเธอที่ทำอยู่นั้นได้เสียหรือหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนด
ด้วยผ้าเสียหาย.
ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว หลีกไปด้วยหวังจะได้จีวร โดยไม่ตั้งใจ คือ
เธอไม่ได้คิดว่าจักกลับมา และไม่ได้คิดว่าจักไม่กลับมา เธออยู่นอกสีมา เกิด
ความคิดอย่างนี้ว่า จักเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังจะได้จีวรนี้ ณ ภายนอกสีมานี้แหละ
จักไม่กลับ แล้วเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังจะได้จีวรนั้น เธอสิ้นหวังว่าจะได้จีวรนั้น
การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยสิ้นหวัง.
ความสิ้นหวัง ๑๒ หมวด จบ
ความสมหวัง ๑๒ หนวด
[๑๑๖] ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว หลีกไปด้วยหวังจะได้จีวร คิดว่า
จักกลับมา เธออยู่นอกสีมา เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังจะได้จีวรนั้น ได้สมหวัง
ไม่ได้ผิดหวัง เธอคิดอย่างนี้ว่า จักให้ทำจีวรผืนนี้ ณ ภายนอกสีมานี้แหละ
จักไม่กลับ เธอให้ทำจีวรผืนนั้นเสร็จ การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนด
ด้วยทำจีวรเสร็จ.
ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว หลีกไปด้วยหวังจะได้จีวร คิดว่าจักกลับมา
เธออยู่นอกสีมา เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังจะได้จีวรนั้น ได้สมหวัง ไม่ได้ผิดหวัง
เธอติดอย่างนี้ว่า จักไม่ให้ทำจีวรผืนนี้ จักไม่กลับ การเดาะกฐินของภิกษุนั้น
กำหนดด้วยตกลงใจ.
พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 212
ภิกษุได้กรานกรินแล้ว หลีกไปด้วยหวังจะได้จีวร คิดว่าจักกลับมา
เธออยู่นอกสีมา เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังจะได้จีวรนั้น ได้สมหวัง ไม่ได้ผิดหวัง
เธอคิดอย่างนี้ว่า จักให้ทำจีวรผืนนี้ ณ ภายนอกสีมานี้แหละ จักไม่กลับ เธอ
ให้ทำจีวรผืนนั้นเสร็จ จีวรของเธอที่ทำอยู่นั้นได้เสียหรือหาย การเดาะกฐิน
ของภิกษุนั้น กำหนดด้วยผ้าเสียหาย.
ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว หลีกไปด้วยหวังจะได้จีวร คิดว่าจักกลับมา
เธออยู่นอกสีมา เกิดความติดอย่างนี้ว่า จักเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังจะได้จีวรนี้ ณ
ภายนอกสีมานี้แหละ จักไม่กลับ แล้วเข้าไปยิ่งที่ซึ่งมีหวังจะได้จีวรผืนนั้น
เธอสิ้นหวังว่าจะได้จีวรผืนนั้น การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยสิ้นหวัง.
[๑๑๗] ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว หลีกไปด้วยหวังจะได้จีวร คิดว่า
จักกลับมา เธออยู่นอกสีมา ได้ยินข่าวว่า ในอาวาสนั้นกฐินเดาะเสียแล้ว จึง
คิดอย่างนี้ว่า เพราะกฐินในอาวาสนั้นเดาะ จักเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังจะได้จีวร
นี้ ณ ภายนอกสีมานี้แหละ เธอเข้าไม่ยังที่ซึ่งมีหวังจะได้จีวรนั้น ได้สมหวัง
ไม่ได้ผิดหวัง เธอคิดอย่างนี้ว่า จักให้ทำจีวรผืนนี้ ณ ภายนอกสีมานี้แหละ
จักไม่กลับ เธอให้ทำจีวรผืนนั้นเสร็จ การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนด
ด้วยทำจีวรเสร็จ.
ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว หลีกไปด้วยหวังจะได้จีวร คิดว่าจะกลับมา
เธออยู่นอกสีมา ได้ยินข่าวว่า ในอาวาสนั้นกฐินเดาะเสียแล้ว จึงคิดอย่างนี้ว่า
เพราะกฐินในอาวาสนั้นเคาะ จักเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังจะได้จีวรนี้ ณ ภายนอก
สีมานี้แหละ เธอเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังจะได้จีวรนั้น ได้สมหวัง ไม่ได้ผิดหวัง
เธอคิดอย่างนี้ว่า จักไม่ให้ทำจีวรผืนนี้ จักไม่กลับ การเดาะกฐินของภิกษุนั้น
กำหนดด้วยตกลงใจ.
พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 213
ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว หลีกไปด้วยหวังจะได้จีวร คิดว่าจะกลับมา
เธออยู่นอกสีมา ได้ยินข่าวว่า ในอาวาสันนกฐินเดาะเสียแล้ว จึงคิดอย่างนี้
ว่า เพราะกฐินในอาวาสนั้นเดาะ จักเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังจะได้จีวรนี้ ณ ภาย
นอกสีมานี้แหละ จักไม่กลับ แล้วเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังจะได้จีวรนั้น เธอสิ้น
หวังจะได้อย่างนี้ว่า จักให้ทำจีวรผืนนี้ ณ ภายนอกสีมานี้แหละ จักไม่กลับ
แล้วให้ทำจีวรผืนนั้น จีวรของเธอที่ทำอยู่นั้น ได้เสียหรือหาย การเดาะกฐิน
ของภิกษุนั้น กำหนดด้วยผ้าเสียหาย.
ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว หลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร คิดว่าจักกลับมา
เธออยู่นอกสีมา ได้ทราบข่าวว่า ในอาวาสนั้น ๆ กฐินเดาะเสียแล้ว จึงคิดอย่างนี้
ว่า เพราะกฐินในอาวาสนั้นเดาะ จักเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังจะได้จีวรนี้ ณ ภาย
นอกสีมานี้แหละ จักไม่กลับ แล้วเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังจะได้จีวรนั้น เธอสิ้นหวัง
จะได้จีวรผืนนั้น การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยสิ้นหวัง.
[๑๑๘] ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว หลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร คิดว่า
จักกลับมา เธออยู่นอกสีมา เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังจะได้จีวรนั้น ได้สมหวัง
ไม่ได้ผิดหวัง เธอให้ทำจีวรผืนนั้น ครั้นทำจีวรเสร็จแล้ว ได้ยินข่าวว่า
ในอาวาสนั้นกฐินเดาะเสียแล้ว การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยได้ยิน
ข่าว.
ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว หลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร คิดว่าจักกลับมา
เธออยู่นอกสีมา เกิดความคิดอย่างนี้ว่า จักเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังจะได้จีวรนี้ ณ
ภายนอกสีมานี้แหละ จักไม่กลับ แล้วเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังจะได้จีวรนั้น เธอ
สิ้นหวังจะได้จีวรนั้น การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยสิ้นหวัง.
พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 214
ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว หลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร คิดว่าจักกลับ
มา เธออยู่นอกสีมา เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังจะได้จีวรนั้น ได้สมหวัง ไม่ได้ผิด
หวัง เธอให้ทำจีวรนั้น ครั้นทำจีวรเสร็จแล้ว คิดว่าจักกลับมา จักกลับมา
ล่วงคราวเดาะกฐินนอกสีมา การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยล่วงเขต.
ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว หลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร คิดว่าจักกลับมา
เธออยู่นอกสีมา เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังจะได้จีวรนั้น ได้สมหวัง ไม่ได้ผิดหวัง
เธอให้ทำจีวรนั้น ครั้นทำจีวรเสร็จแล้วคิดว่า. จักกลับมา จักกลับมา แล้ว
กลับมาทันกฐินเดาะ การเดาะกฐินของภิกษุนั้น พร้อมกับภิกษุทั้งหลาย.
ความสมหวัง ๑๒ หมวด จบ
กรณียะ ๑๒ หมวด
[๑๑๙] ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว หลีกไปด้วยกรณียะบางอย่าง เธอ
อยู่นอกสีมา มีความหวังจะได้จีวร เธอเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังจะได้จีวรนั้น ได้
ไม่สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง จึงคิดอย่างนี้ว่า จักให้ทำจีวรนี้ ณ ภายนอกสีมา
นี้แหละ จักไม่กลับ เธอให้ทำจีวรนั้นเสร็จ การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนด
ด้วยทำจีวรเสร็จ.
ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว หลีกไปด้วยกรณียะบางอย่าง เธออยู่นอกสีมา
มีความหวังว่าจะได้จีวร เธอเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น ได้ไม่สมหวัง
ไม่ได้คามหวัง จึงคิดอย่างนี้ว่า จักไม่ให้ทำจีวรนี้ จักไม่กลับ การเดาะกฐิน
ของภิกษุนั้น กำหนดด้วยตกลงใจ.
ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว หลีกไปด้วยกรณียะบางอย่าง เธออยู่นอกสีมา
มีความหวังว่าจะได้จีวร เธอเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังจะได้จีวรนั้น ได้ไม่สมหวัง
ไม่ได้ตามหวัง จึงคิดอย่างนี้ว่า จักให้ทำจีวรนี้ ณ ภายนอกสีมาน แหละ จัก
พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 215
ไม่กลับ จึงให้ทำจีวรนั้น จีวรของเธอที่ทำอยู่นั้น ได้เสียหรือหาย การเดาะ
กฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยผ้าเสียหาย.
ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว หลีกไปด้วยกรณียะบางอย่าง เธออยู่นอกสีมา
มีความหวังว่าจะได้จีวร จึงคิดอย่างนี้ว่า จักเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนี้
ณ ภายนอกสีมานี้แหละ จักไม่กลับละ จึงเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังจะได้จีวรนั้น
เธอสิ้นหวังว่า จะได้จีวรนั้น การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยสิ้นหวัง.
[๑๒๐] ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว หลีกไปด้วยกรณียะบางอย่าง คิดว่า
จักไม่กลับมา เธออยู่นอกสีมา มีความหวังว่าจะได้จีวร จึงเข้าไปยังที่ซึ่งมี
หวังว่าจะได้จีวรนั้น ได้ไม่สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง เธอคิดอย่างนี้ว่า จักให้
ทำจีวรนี้ ณ ภายนอกสีมานี้แหละ แล้วให้ทำจีวรนั้นเสร็จ การเดาะกฐินของ
ภิกษุนั้น กำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ.
ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว หลีกไปด้วยกรณียะบางอย่าง คิดว่าจักไม่
กลับมา เธออยู่นอกสีมา มีความหวังว่าจะได้จีวร จึงเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่า
จะได้จีวรนั้น ได้ไม่สนหวัง ไม่ได้ตามหวัง เธอติดอย่างนี้ว่า จักไม่ให้ทำ
จีวรนี้ การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยตกลงใจ.
ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว หลีกไปด้วยกรณียะบางอย่าง คิดว่าจักไม่
กลับมา เธออยู่นอกสีมา มีความหวังว่าจะได้จีวร จึงเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่า
จะได้จีวรนั้น ได้ไม่สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง เธอคิดอย่างนี้ว่า จักให้ทำจีวร
นี้ ณ ภายนอกสีมานี้แหละ แล้วให้ทำจีวรนั้น จีวรของเธอที่ทำอยู่นั้นได้เสีย
หรือหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยผ้าเสียหาย.
ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว หลีกไปด้วยกรณียะบางอย่าง คิดว่าจักไม่กลับ
เธออยู่นอกสีมา มีความหวังว่าจะได้จีวร จึงติดอย่างนี้ว่า จักเข้าไปยังทีซึ่ง
พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 216
มีหวังว่าจะได้จีวรนี้ ณ ภายนอกสีมานี้แหละ แล้วเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้
จีวรนั้น เธอสิ้นหวังว่าจะได้จีวรนั้น การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วย
สิ้นหวัง.
-http://www.tripitaka91.com/91book/book07/201_250.htm-
http://www.tripitaka91.com/91book/book07/201_250.htm (http://www.tripitaka91.com/91book/book07/201_250.htm)
-
[๑๒๑] ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว หลีกไปด้วยกรณียะบางอย่าง โดย
ไม่ตั้งใจ คือ เธอไม่ได้คิดว่าจักกลับมา และไม่ได้คิดว่าจักไม่กลับมา เธอ
อยู่นอกสีมา มีความหวังว่าจะได้จีวร จึงเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น
ได้ไม่สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง เธอติดอย่างนี้ว่า จักให้ทำจีวรนี้ ณ ภายนอก
สีมานี้แหละ จักไม่กลับ จึงให้ทำจีวรนั้นเสร็จ การเดาะกฐินของภิกษุนั้น
กำหนด ด้วยทำจีวรเสร็จ.
ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว หลีกไปด้วยกรณียะบางอย่าง โดยไม่ดังใจ
คือ เธอไม่ได้คิดว่าจักกลับมา และไม่ได้คิดว่าจักไม่กลับมา เธออยู่นอกสีมา
มีความหวังว่าจะได้จีวร จึงเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น ได้ไม่สมหวัง
ไม่ได้ตามหวัง เธอคิดอย่างนี้ว่า จักไม่ให้ทำจีวรนี้ จักไม่กลับละ การเดาะ
กฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยตกลงใจ.
ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว หลีกไปด้วยกรณียะบางอย่าง โดยไม่ตั้งใจ
คือ เธอไม่ได้คิดว่าจักกลับมา และไม่ได้คิดว่าจักไม่กลับมา เธออยู่นอกสีมา
มีความหวังว่าจะได้จีวร จึงเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น ได้ไม่สมหวัง
ไม่ได้ตามหวัง เธอคิดอย่างนี้ว่า จักให้ทำจีวรนี้ ณ ภายนอกสีมานี้แหละ จัก
ไม่กลับ แล้วให้ทำจีวรนั้น จีวรของเธอที่ทำอยู่นั้นได้เสียหรือหาย การเดาะ
กฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยผ้าเสียหาย.
ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว หลีกไปด้วยกรณียะบางอย่าง โดยไม่จงใจ
คือ เธอไม่ได้คิดว่าจักกลับมา และไม่ได้คิดว่าจักไม่กลับมา เธออยู่นอกสีมา
พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 217
มีความหวังว่าจะได้จีวร จึงคิดอย่างนี้ว่า จักเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนี้
ณ ภายนอกสีมานี้แหละ จักไม่กลับละ แล้วเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวร
นั้น เธอสิ้นหวังที่จะได้จีวรนั้น การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยสิ้น
หวัง.
กรณียะ ๑๒ หมวด จบ
หวังได้ส่วนจีวร ๙ วิธี
[๑๒๒] ๑. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ประสงค์จะไปสู่ทิศ จึงหลีกไป
แต่ยังหวังได้ส่วนจีวร เธอไปสู่ทิศแล้ว ภิกษุทั้งหลายถามว่า อาวุโส จำ
พรรษาที่ไหน และส่วนจีวรของท่านอยู่ที่ไหน เธอตอบอย่างนี้ว่า ผมจำพรรษา
ในอาวาสโน้น และส่วนจีวรของผมก็อยู่ที่อาวาสนั้น ภิกษุเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้
ว่า อาวุโส ท่านจงนำจีวรนั้นมา พวกผมจักทำจีวรให้ ณ ที่นี้ เธอกลับไป
สู่อาวาสนั้นแล้วถามภิกษุทั้งหลายว่า อาวุโส ส่วนจีวรของผมอยู่ที่ไหน ภิกษุ
เหล่านั้นตอบอย่างนี้ว่า อาวุโส มีส่วนจีวรของท่าน ๆ จักไปไหน เธอตอบ
อย่างนี้ว่า ผมจักไปสู่อาวาสชื่อโน้น ภิกษุทั้งหลายในอาวาสนั้น จักทำจีวรให้
ผม ภิกษุเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ไม่ควร อาวุโส อย่าไปเลย พวกผม
จักช่วยทำจีวรให้ ณ ที่นี้ เธอคิดอย่างนี้ว่า จักให้ทำจีวรผืนนี้ ณ ภายนอก
สีมานี้แหละ จักไม่กลับ แล้วให้ทำจีวรนั้นเสร็จ การเดาะกฐินของภิกษุนั้น
กำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ.
๒. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ประสงค์จะไปสู่ทิศ จึงหลีกไป . . .
การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยตกลงใจ.
พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 218
๓. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ประสงค์จะไปสู่ทิศ จึงหลีกไป. . .
การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยผ้าเสียหาย.
[๑๒๓] ๔. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ประสงค์จะไปสู่ทิศ จึงหลีกไป
แต่ยังหวังได้ส่วนจีวร เธอนั้นไปสู่ทิศแล้ว ภิกษุทั้งหลายถามว่า อาวุโส
จำพรรษาที่ไหน และส่วนจีวรของท่านอยู่ที่ไหน เธอตอบอย่างนี้ว่า ผมจำ
พรรษาในอาวาสโน้น และส่วนจีวรของผมก็อยู่ที่อาวาสนั้น ภิกษุเหล่านั้น กล่าว
อย่างนี้ว่า อาวุโส ท่านจงไปนำจีวรนั้นมา พวกผมจักทำจีวรให้ ณ ที่นี้ เธอ
กลับไปสู่อาวาสนั้นแล้ว ถามภิกษุทั้งหลายว่า อาวุโส ส่วนจีวรของผมอยู่ที่
ไหน ภิกษุเหล่านั้นตอบอย่างนี้ว่า อาวุโส ในส่วนจีวรของท่าน เธอถือจีวรนั้น
ไปสู่อาวาสแห่งนั้น ภิกษุทั้งหลายในระหว่างทางถามเธอว่า อาวุโส จักไปไหน
เธอตอบอย่างนี้ว่า ผมจักไปสู่อาวาสชื่อโน้น ภิกษุทั้งหลายในอาวาสนั้น จักทำ
จีวรให้ผม ภิกษุเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ไม่ควร อาวุโส อย่าไปเลย พวกผม
จักทำจีวรให้ ณ ที่นี้ เธอคิดอย่างนี้ว่า จักให้ทำจีวรนี้ ณ ภายนอกสีมานี้แหละ
จักไม่กลับ แล้วให้ทำจีวรนั้นเสร็จ การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยทำ
จีวรเสร็จ.
๕. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ประสงค์จะไปสู่ทิศ จึงหลีกไป แต่ยิ่ง
หวังได้ส่วนจีวร เธอนั้นไปสู่ทิศแล้ว ภิกษุทั้งหลายถามว่า อาวุโส
จำพรรษาที่ไหน และส่วนจีวรของท่านอยู่ที่ไหน เธอตอบอย่างนี้ว่า ผม
จำพรรษาในอาวาสโน้น และส่วนจีวรของผมก็อยู่ที่อาวาสนั้น ภิกษุเหล่านั้น
กล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโส จงไปนำจีวรนั้นมา พวกผมจักทำจีวรให้ ณ ที่
นี้ เธอกลับไปสู่อาวาสนั้นแล้ว ถามภิกษุทั้งหลายว่า อาวุโส ส่วนจีวรของผม
อยู่ที่ไหน ภิกษุเหล่านั้นตอบอย่างนี้ว่า อาวุโส นี้ส่วนจีวรของท่าน เธอถือ
พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 219
จีวรนั้นไปสู่อาวาสแห่งนั้น ภิกษุทั้งหลายในระหว่างทางถามเธอว่า อาวุโส
จักไปไหน เธอตอบอย่างนี้ว่า ผมจักไปสู่อาวาสชื่อโน้น ภิกษุทั้งหลายใน
อาวาสนั้นจักทำจีวรให้ผม ภิกษุเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ไม่ควร อาวุโส อย่าไป
เลย พวกผมจักทำจีวรให้ ณ ที่นี้ เธอคิดอย่างนี้ ว่าจักไม่ให้ทำจีวรนี้ จักไม่
กลับ การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยตกลงใจ.
๖. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ประสงค์จะไปสู่ทิศ จึงหลีกไป แต่
ยังหวังได้ส่วนจีวร เธอนั้นไปสู่ทิศแล้ว ภิกษุทั้งหลายถามว่า อาวุโส
จำพรรษาที่ไหน และส่วนจีวรของท่านอยู่ที่ไหน เธอตอบอย่างนี้ว่า ผม
จำพรรษาในอาวาสโน้น และส่วนจีวรของผมก็อยู่ที่อาวาสนั้น ภิกษุเหล่านั้น
กล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโส จงไปนำจีวรนั้นมา พวกผมจักทำจีวรให้ ณ
ที่นี้ เธอกลับไปสู่อาวาสนั้นแล้วถามภิกษุทั้งหลายว่า อาวุโส ส่วนจีวรของ
ผมอยู่ที่ไหน ภิกษุเหล่านั้นตอบอย่างนี้ว่า อาวุโส นี้ส่วนจีวรของท่าน เธอ
ถือจีวรนั้นไปสู่อาวาสแห่งนั้น ภิกษุทั้งหลายในระหว่างทางถามเธอนั้น ว่าอาวุโส
จักไปไหน เธอตอบอย่างนี้ว่า ผมจักไปสู่อาวาสชื่อโน้น ภิกษุทั้งหลาย
ในอาวาสนั้นจักทำจีวรให้ผม ภิกษุเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ไม่ควร อาวุโส
อย่าไปเลย พวกผมจักทำจีวรให้ ณ ที่นี้ เธอคิดอย่างนี้ว่า จักให้ทำจีวรนี้ ณ
ภายนอกสีมานี้แหละ จักไม่กลับ แล้วให้ทำจีวรนั้น จีวรของเธอที่ทำอยู่นั้น
ได้เสียหรือหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้นกำหนดด้วยผ้าเสียหาย.
[๑๒๔] ๗. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ประสงค์จะไปสู่ทิศจึงหลีกไป
แต่ยังหวังจะได้จีวร เธอนั้นไปสู่ทิศแล้ว ภิกษุทั้งหลายถามว่า อาวุโส
จำพรรษาที่ไหน และส่วนจีวรของท่านอยู่ที่ไหน เธอตอบอย่างนี้ว่า ผม
จำพรรษาในอาวาสโน้น และส่วนจีวรของผมก็อยู่ที่อาวาสนั้น ภิกษุเหล่านั้น
พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 220
กล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโส จงไปนำจีวรนั้นมา พวกผมจักทำจีวรให้ ณ ที่
นี้ เธอกลับไปสู่อาวาสนั้นแล้ว ถามภิกษุทั้งหลายว่า อาวุโส ส่วนจีวรของ
ผมอยู่ที่ไหน ภิกษุเหล่านั้นตอบอย่างนี้ว่า นี้ส่วนจีวรของท่าน เธอถือจีวรนั้น
มาสู่อาวาสนั้น เมื่อเธอมาถึงอาวาสนั้นแล้ว ได้คิดอย่างนี้ว่า จักให้ทำจีวรนี้
ณ ภายนอกสีมานี้แหละ จักไม่กลับละ เธอให้ทำจีวรนั้นเสร็จ การเดาะกฐินของ
ภิกษุนั้น กำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ.
๘. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ประสงค์จะไปสู่ทิศจึงหลีกไป. . . .เธอคิด
อย่างนี้ว่า จักไม่ให้ทำจีวรผืนนี้ จักไม่กลับละ การเดาะกฐินของภิกษุนั้น
กำหนดด้วยตกลงใจ.
๙. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ประสงค์จะไปสู่ทิศจึงหลีกไป . . . เธอคิด
อย่างนี้ว่า จักให้ทำจีวรผืนนี้ ณ ภายนอกสีมานี้แหละ จักไม่กลับละ เธอให้
ทำจีวรผืนนั้นเสร็จ จีวรของเธอที่ทำอยู่นั้นได้เสียหรือหาย การเดาะกฐินของ
ภิกษุนั้น กำหนดด้วยผ้าเสียหาย.
หวังได้ส่วนจีวร ๙ วิธี จบ
ผาสุวิหาร คือ อยู่ตามสบาย ๕ ข้อ
[๑๒๕] ๑. ภิกษุใดกรานกฐินแล้ว ต้องการจะอยู่ตามสบาย จึงถือ
จีวรหลีกไปด้วยตั้งใจว่า จักไปสู่อาวาสชื่อโน้น ถ้าในอาวาสนั้น ความสบาย
จักมีแก่เรา เราจักอยู่ ถ้าความสบายไม่มีแก่เรา เราจักไปสู่อาวาสชื่อโน้น ถ้า
ในอาวาลนั้น ความสบายจักมีแก่เรา เราจักอยู่ ถ้าความสบายไม่มีแก่เรา เรา
จักไปสู่อาวาสชื่อโน้น ถ้าในอาวาสนั้น ความสบายจักมีแก่เรา เราจักอยู่ ถ้า
ความสบายไม่มีแก่เรา เราจักกลับ เธออยู่นอกสีมาเกิดความคิดอย่างนี้ว่า จัก
พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 221
ให้ทำจีวรผืนนี้ ณ ที่นี้แหละ จักไม่กลับละ เธอให้ทำจีวรผืนนั้นเสร็จ การ
เดาะกฐินขางภิกษุนั้น กำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ.
๒. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ต้องการจะอยู่ตามสบาย จึงถือจีวรหลีก
ไปด้วยตั้งใจว่า จักไปสู่อาวาสชื่อโน้น ถ้าในอาวาสนั้น ความสบายจักมีแก่เรา
เราจักอยู่ ถ้าความสบายไม่มีแก่เรา เราจักไปสู่อาวาสชื่อโน้น ถ้าในอาวาสนั้น
ความสบายจักมีแก่เรา เราจักอยู่ ถ้าความสบายไม่มีแก่เรา เราจักไปสู่อาวาส
ชื่อโน้น ถ้าในอาวาสนั้น ความสบายจักมีแก่เรา เราจักอยู่ ถ้าความสบายไม่
มีแก่เรา เราจักกลับ เธออยู่นอกสีมาเกิดความคิดอย่างนี้ว่า จักไม่ให้ทำจีวร
ผืนนี้ จักไม่กลับละ การเดาะกฐินของภิกษุนั้นกำหนดด้วยตกลงใจ.
๓ ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ต้องการจะอยู่ตามสบาย จึงถือจีวรหลีก
ไป ด้วยตั้งใจว่า จักไปสู่อาวาลชื่อโน้น ถ้าในอาวาสนั้น ความสบายจักมีแก่
เรา เราจักอยู่ ถ้าความสบายไม่มีแก่เรา เราจักไปสู่อาวาสชื่อโน้น ถ้าในอาวาส
นั้น ความสบายจักมีแก่เรา เราจักอยู่ ถ้าความสบายไม่มีแก่เรา เราจักไปสู่
อาวาสชื่อโน้น ถ้าในอาวาสนั้น ความสบายจักมีแก่เรา เราจักอยู่ ถ้าความ
สบายไม่มีแก่เรา เราจักกลับ เธออยู่นอกสีมาเกิดความติดอย่านี้ว่า จักให้ทำ
จีวรผืนนี้ ณ ที่นี้ แหละ จักไม่กลับละ เธอให้ทำจีวรผืนนั้นเสร็จ จีวรของเธอ
ที่ทำอยู่นั้น ได้เสียหรือหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้นกำหนดด้วยผ้าเสียหาย
๔. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ต้องการจะอยู่ตามสบาย จึงถือจีวรหลีก
ไป ด้วยดังใจว่า จักไปสู่อาวาสชื่อโน้น ถ้าในอาวาสนั้น ความสบายจักมีแก่
เรา เราจักอยู่ ถ้าความสบายไม่มีแก่เรา เราจักไปสู่อาวาสชื่อโน้น ถ้าใน
อาวาสนั้น ความสบายจักมีแก่เรา เราจักอยู่ ถ้าความสบายไม่มีแก่เรา เราจัก
พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 222
ไปสู่อาวาสชื่อโน้น ถ้าในอาวาสนั้น ความสบายจักมีแก่เรา เราจักอยู่ ถ้า
ความสบายไม่มีแก่เรา เราจักกลับ เธออยู่นอกสีมา ให้ทำจีวรผืนนั้น ครั้น
ทำจีวรเสร็จแล้ว คิดว่าจักกลับ จักกลับ จนล่วงคราวกฐินเดาะ ณ ภายนอก
สีมา การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยล่วงเขต.
๕. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ต้องการจะอยู่ตามสบาย จึงถือจีวรหลีก
ไป ด้วยตั้งใจว่า จะไปสู่อาวาสชื่อโน้น ถ้าในอาวาสนั้น ความสบายจักมีแก่เรา
เราจักอยู่ ถ้าความสบายไม่มีแก่เรา เราจักไปสู่อาวาสชื่อโน้น ถ้าในอาวาสนั้น
ความสบายจักมีแก่เรา เราจักอยู่ ถ้าความสบายไม่มีแก่เรา เราจักไปสู่อาวาส
ชื่อโน้น ถ้าในอาวาสนั้น ความสบายจักมีแก่เรา เราจักอยู่ ถ้าความสบายไม่
มีแก่เรา เราจักกลับ เธออยู่นอกสีมา ให้ทำจีวรผืนนั้น ครั้นทำเสร็จแล้ว
คิดว่าจักกลับ จักกลับ กลับมาทันกฐินเดาะ การเคาะกฐินของภิกษุนั้น
พร้อมกับภิกษุทั้งหลาย.
ผาสุวิหาร คือ อยู่ตามสบาย ๕ ข้อ จบ
ปลิโพธและส้นปลิโพธ
[๑๒๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กฐินมีปลิโพธ ๒ และสิ้นปลิโพธ ๒.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อย่างไรเล่า กฐินมีปลิโพธ ๒ คือ อาวาส.
ปลิโพธ ๑ จีวรปลิโพธ ๑
ปลิโพธ ๒
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อาวาสปลิโพธเป็นอย่างไร ?
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ยังอยู่ในอาวาสนั้น หรือ
หลีกไปผูกใจอยู่ว่าจักกลับมา อย่างนี้แลชื่อว่าอาวาสปลิโพธ.
พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 223
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็จีวรปลิโพธเป็นอย่างไร ?
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ยังไม่ได้ทำจีวร หรือทำ
ค้างไว้ก็ดี ยังไม่สิ้นความหวังว่าจะได้จีวรก็ดี อย่างนี้แลชื่อว่าจีวรปลิโพธ.
ก่อนภิกษุทั้งหลาย กฐินมีปลิโพธ ๒ อย่างนี้แล.
สิ้นปลิโพธ ๒
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อย่างไรเล่า กฐินสิ้นปลิโพธ ๒ คือสิ้นอาวาส
ปลิโพธ ๑ สิ้นจีวรปลิโพธ.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สิ้นอาวาสปลิโพธอย่างไร ?
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ หลีกไปจากอาวาสนั้น ด้วย
สละใจ วางใจ ปล่อยใจ ทอดธุระว่าจักไม่กลับมา อย่างนี้แล ชื่อว่าสิ้น
อาวาสปลิโพธ.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สิ้นจีวรปลิโพธเป็นอย่างไร ?
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ทำจีวรเสร็จแล้วก็ดี ทำ
เสียก็ดี ทำหายเสียก็ดี ทำไฟไหม้เสียก็ดี สิ้นความหวังว่าจะได้จีวรก็ดี อย่าง
นี้แล ชื่อว่าสิ้นจีวรปลิโพธ.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กฐินสิ้นปลิโพธมี ๒ อย่างนี้แล.
กฐินขันธกะ ที่ ๗ จบ
ในขันธกะนี้มี ๑๒ เรื่อง และเปยยาลมุข ๑๑๘
หัวข้อประจำขันธกะ
[๑๒๗] ๑. ภิกษุชาวปาไฐยรัฐ ๓๐ รูป จำพรรษาอยู่ในเมืองสาเกต
รัญจวนใจ ออกพรรษาแล้วมีจีวรเปียกปอนมาเฝ้าพระพุทธชินเจ้า ๒. ต่อไปนี้
เป็นเรื่องกฐิน คือได้อานิสงส์กฐิน ๕ คือ:-
พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 224
ก เที่ยวไปไหนไม่ต้องบอกลา ข. เที่ยวไปไม่ต้องถือไตรจีวรครบ
สำรับ ค. ฉันคณโภชน์ได้ ง. เก็บอดิเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา จ. จีวรลาภ
อันเกิดในทีนั้น เป็นของภิกษุผู้ได้กรานกฐินแล้ว.
๓ ญัตติทุติยกรรมวาจา ๔. อย่างนี้กฐินเป็นอันกราน อย่างนี้ไม่เป็นอันกราน
คือ กฐินกรานด้วยอาการ เพียงขีดรอย ชัก กะ ตัด เนา เย็บ ด้น ทำลูกดุม
ทำรังคุม ประกอบผ้าอนุวาต ประกอบผ้าอนุวาตด้านหน้า ดามผ้า ย้อม ทำ
นิมิต พูดเลียบเคียงผ้าที่ยืมเขามา เก็บไว้ค้างคืน เป็นนิสสัคคิยะ ไม่ได้ทำ
กัปปะพินทุ นอกจากไตรจีวร นอกจากจีวรมีขันธ์ ๕ หรือเกินกว่า ซึ่งตัดดี
แล้วทำให้เป็นจีวรมีมณฑลนอกจากบุคคลกราน กรานโดยไม่ชอบ ภิกษุอยู่
นอกสีมาอนุโมทนากฐินอย่างนี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่าไม่เป็นอันกราน
๕. กฐินกรานด้วยผ้าใหม่ ผ้าเทียมใหม่ ผ้าเก่า ผ้าบังสุกุล ผ้าตกตามร้าน
ผ้าที่ไม่ได้ท่านิมิต ผ้าที่ไม่ได้พูดเลียบเคียงได้มา ไม่ใช่ผ้าที่ยืมเขามา ไม่ใช่
ผ้าที่ทำค้างคืน ไม่ใช่เป็นผ้านิสสัคคิยะ ผ้าที่ทำกัปปะพินทุแล้ว ผ้าไตรจีวร
ผ้ามีขันธ์ ๕ หรือเกินกว่า ซึ่งตัดดีแล้วทำให้เป็นจีวรมีมณฑลเสร็จในวันนั้น
บุคคลกราน กรานโดยชอบ ภิกษุอยู่ในสีมาอนุโมทนา อย่างนี้ชื่อว่ากราน
กฐิน ๖. มาติกาเพื่อเดาะกฐิน ๘ ข้อ คือ:-
๑. กำหนดด้วยหลีกไป ๒. กำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ ๓. กำหนดด้วย
ตกลงใจ ๔. กำหนดด้วยผ้าเสียหาย ๕. กำหนดด้วยได้ยินข่าว ๖. กำหนดด้วย
สิ้นหวัง ๗. กำหนดด้วยล่วงเขต ๘. กำหนดด้วยเดาะพร้อมกัน.
๗. อาทายสัตตกะ ๗ วิธี คือ:-
๑. ถือจีวรที่ทำเสร็จแล้วไปคิดว่าจักไม่กลับ การเดาะกฐินของภิกษุ
นั้นกำหนดด้วยหลีกไป ๒. ถือจีวรไปนอกสีมา คิดว่าจักทำ ณ ที่นี้ จักไม่
กลับละ การเดาะกฐินของภิกษุนั้นกำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ ๓. ถือจีวรไปนอก
สีมา คิดว่าจักไม่ให้ทำ จักไม่กลับ การเดาะกฐินของภิกษุนั้นกำหนดด้วยตก-
พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 225
ลงใจ ๔. ถือจีวรไปนอกสีมา คิดว่าจักให้ทำจีวร ณ ที่นี้ จักไม่กลับละ กำลัง
ทำ จีวรเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนด้วยผ้าเสียหาย ๕. ถือจีวร
ไป คิดว่าจักกลับ ให้ทำจีวรนอกสีมา ครั้นทำจีวรเสร็จแล้ว ได้ยินข่าวว่า
ในอาวาสนั้น กฐินเดาะแล้ว การเดาะกฐินของภิกษุนั้นกำหนดด้วยได้ยินข่าว
๖. ถือจีวรไปคิดว่าจักกลับ ไห้ทำจีวรนอกสีมา ครั้นทำจีวรเสร็จแล้วอยู่ นอก
สีมาจนกฐินเดาะ การเดาะกฐินของภิกษุนั้นกำหนดด้วยล่วงเขท ๗. ถือจีวรไป
คิดว่าจักกลับ ให้ทำจีวร ณ ภายนอกสีมาครั้นทำจีวรเสร็จแล้ว คิดว่าจักกลับ
จักกลับ กลับทันกฐินเดาะ การเดาะกฐินของภิกษุนั้นพร้อมกับภิกษุทั้งหลาย.
๘. สมาทายสัตตกะมี ๗ วิธี ๙. อาทายฉักกะและสมาทายฉักกะ คือ ถือจีวรที่ทำ
ค้างไว้ไปอย่างละ ๖ วิธี ในมีการเดาะ กำหนดด้วยหลีกไป ๑๐. อาทายภาณวาร
กล่าวถึงภิกษุถือจีวรไปนอกสีมาคิดว่าจักให้ทำจีวร มี ๓ มาติกา คือ:-
๑. กำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ ๒. กำหนดด้วยตกลงใจ ๓. กำหนดด้วย
ผ้าเสียหาย กล่าวถึงภิกษุถือผ้าหลีกไป คิดว่าจักไม่กลับไปนอกสีมาแล้วคิดว่าจัก
ทำมี ๓ มาติกา คือ:-
๑. กำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ ๒. กำหนดด้วยตกลงใจ ๓. กำหนดด้วย
ผ้าเสียหาย กล่าวถึงภิกษุถือจีวรหลีกไป ด้วยไม่ได้ตั้งใจภายหลังเธอคิดว่าจักไม่
กลับ มี ๓ นัย กล่าวถึงภิกษุถือจีวรไป คิดว่าจักกลับ อยู่นอกสีมา คิดว่าจัก
ทำจีวร จักไม่กลับ ให้ทำจีวรเสร็จ การเดาะกฐินของภิกษุนั้นกำหนดด้วยทั้ง
จีวรเสร็จ ด้วยตกลงใจ ด้วยผ้าเสียหาย ด้วยได้ยินข่าว ด้วยล่วงเขท ด้วย
เดาะพร้อมกับภิกษุทั้งหลาย รวมเป็น ๑๕ ภิกษุนำจีวรหลีกไปและนำจีวรทีทำ
ค้างไว้หลีกไปอีก ๔ วาระก็เหมือนกัน รวมทั้งหมด ๑๕ วิธี หลีกไปด้วยสิ้น
หวัง ด้วยหวังว่าจะได้ หลีกไปด้วยกรณียะบางอย่าง ทั้งสามอย่างนั้น นักปราชญ์.
พึงทราบโดยนัยอย่างละ ๑๒ วิธี.
พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 226
๑๑. หวังได้ส่วนจีวร ผาสุวิหาร คือ อยู่ตามสบาย ๕ ข้อ ๑๒. กฐินมีปลิโพธ
และสิ้นปลิโพธ นักปราชญ์พึงแต่งหัวขอคามเค้าความเทอญ.
หัวข้อประจำขันกะ จบ
อรรถกฐินขันธกะ
เรื่องภิกษุชาวเมืองปาเฐยยะ
วินิจฉัยในกฐินขันธกะ พึงทราบดังนี้:-
บทว่า ปาเยฺยกา มีความว่า เป็นชาวจังหวัดปาเฐยยะ. มีคำ
อธิบายว่า ทางค้านทิศตะวันตก ในแคว้นโกศล มีจังหวัดชื่อปาเฐยยะ,
ภิกษุเหล่านั้น มีปกติอยู่ในจังหวัดนั้น. คำว่า ปาเยฺยกา นั้น เป็นชื่อของ
พวกพระภัททวัคคิยเถระ ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมพระบิดาของพระเจ้าโกศล ใน
พระเถระ ๓๐ รูปนั้น รูปที่เป็นใหญ่กว่าทุก ๆ รูป เป็นพระอนาคามี รูปที่
ด้อยกว่าทุก ๆ รูปเป็นพระโสดาบัน; ที่เป็นพระอรหันต์ หรือปุถุชน แม้
องค์เดียวก็ไม่มี.
บทว่า อารญฺถา มีความว่า มีปกติอยู่ป่า ด้วยอำนาจสมาทาน
ธุดงค์, ไม่ใช่สักว่าอยู่ป่า. ถึงในข้อที่ภิกษุเหล่านั้นเป็นผู้ถือบิณฑบาตเป็นต้น
ก็มีนัยเหมือนกัน.
อันที่จริง คำว่า มีปกติอยู่ป่า นี้ ท่านกล่าวด้วยอำนาจธุดงค์ที่เป็น
ประธาน แต่ภิกษุเหล่านี้ สมาทานธุดงค์ทั้ง ๑๓ ทีเดียว.
-http://www.tripitaka91.com/91book/book07/201_250.htm-
http://www.tripitaka91.com/91book/book07/201_250.htm (http://www.tripitaka91.com/91book/book07/201_250.htm)
-
อภัยทาน คืออย่างไร ? (สมเด็จพระญาณสังวรฯ)
-http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=6185-
อภัยทาน คืออย่างไร ?
อภัยทาน ก็คือการยกโทษให้
คือการไม่ถือความผิดหรือการล่วงเกินกระทบกระทั่งว่าเป็นโทษ
อภัยทานนี้เป็นคุณแก่ผู้ให้ ยิ่งกว่าแก่ผู้รับ เช่นเดียวกับทานทั้งหลายเหมือนกัน คืออภัยทานหรือการให้อภัยนี้ เมื่อเกิดขึ้นในใจผู้ใด จะยังจิตใจของผู้นั้นให้ผ่องใสพ้นจากการกลุ้มรุมบดบังของโทสะ
อันใจที่แจ่มใส กับใจที่มืดมัว ไม่อธิบายก็น่าจะทราบกันอยู่ทุกคนว่าใจแบบไหนที่ยังความสุขให้เกิดขึ้นแก่เจ้าของ ใจแบบไหนที่ยังความทุกข์ให้เกิดขึ้น และใจแบบไหนที่เป็นที่ต้องการ ใจแบบไหนที่ไม่เป็นที่ต้องการเลย
ความจริงนั้น ทุกคนที่สนใจบริหารจิต จะต้องสนใจอบรมจิตให้รู้จักอภัยในความผิดทั้งปวง ไม่ว่าผู้ใดจะทำแก่ตน แม้การให้อภัยจะเป็นการทำได้ไม่ง่ายนัก สำหรับบางคนที่ไม่เคยอบรมมาก่อน แต่ก็สามารถจะทำได้ด้วยการอบรมไปทีละเล็กละน้อย เริ่มแต่ที่ไม่ต้องฝืนใจมากนักไปก่อนในระยะแรก
ตัวอย่างเช่น เวลาขึ้นรถประจำทางที่มีผู้โดยสารคอยขึ้รถอยู่เป็นจำนวนมาก หากจะมีผู้เบียดแย่งขึ้นหน้า ทั้งๆ ที่ยืนอยู่ข้างหลัง ถ้าเกิดโกรธขึ้นมาไม่ว่าน้อยหรือมาก ก็ให้ถือเป็นโอกาสอบรมจิตใจให้รู้จักอภัยให้เขาเสีย เพราะเรื่องเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องที่ควรถือโกรธกันหนักหนา เป็นเรื่องเล็กน้อยเหลือเกินควรจะอภัยให้กันได้ แต่บางที่ไม่ตั้งใจคิดเอาไว้ก็จะไม่ทันให้อภัยจะเป็นเพียงโกรธแล้วจะหายโกรธไปเอง
โกรธแล้วหายโกรธเอง กับโกรธแล้วหายโกรธเพราะให้อภัย ไม่เหมือนกัน โกรธแล้วหายโกรธเองเป็นเรื่องธรรมดา ทุกสิ่งเมื่อเกิดแล้วต้องดับ ไม่เป็นการบริหารจิตแต่อย่างใด แต่โกรธแล้วหายโกรธเพราะคิดให้อภัย เป็นการบริหารจิตโดยตรง จะเป็นการยกระดับของจิตให้สูงขึ้น ดีขึ้น มีค่าขึ้น
ผู้ดูแลเห็นความสำคัญของจิต จึงควรมีสติทำความเพียรอบรมจิตให้คุ้นเคยต่อการให้อภัยไว้เสมอ เมื่อเกิดโทสะขึ้นในผู้ใดเพราะการปฏิบัติล้วงล้ำก้ำเกินเพียงใดก็ตาม พยายามมีสติพิจารณาหาทางให้อภัยทานเกิดขึ้นในใจให้ได้ ก่อนที่ความโกรธจะดับไปเสียเองก่อน
ทำได้เช่นนี้จะเป็นคุณแก่ตนเองมากมายนัก ไม่เพียงแต่จะทำให้มีโทสะลดน้อยลงเท่านั้น และเมื่อปล่อยให้ความโกรธดับไปเอง ก็มักหาดับไปหมดสิ้นไม่ เถ้าถ่านคือความผูกโกรธมักจะยังเหลืออยู่ และอาจกระพือความโกรธขึ้นอีกในจิตใจได้ในโอกาสต่อไป
ผู้อบรมจิตให้คุ้นเคยอยู่เสมอกับการให้อภัย แม้จะไม่ได้รับการขอขมา ก็ย่อมอภัยให้ได้ ในทางตรงกันข้าม ผู้ไม่เคยอบรมจิตใจให้คุ้นเคยกับการให้อภัยเลย โกรธแล้วก็ให้หายเอง แม้ได้รับการขอขมาโทษ ก็อาจจะไม่อภัยให้ได้ เป็นเรื่องของการไม่ฝึกใจให้เคยชิน
อันใจนั้นฝึกได้ ไม่ใช่ฝึกไม่ได้ ฝึกอย่างไดก็จะเป็นอย่างนั้น ฝึกให้ดีก็จะดี ฝึกให้ร้ายก็จะร้าย...
:: การบริหารจิตสำหรับผู้ใหญ่
:: สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
-
อภัยทาน มีวิธีการปฏิบัติอย่างไร ?
-http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=479.0-
อภัยทาน นั้น คือการยกโทษ หรือ การไม่เอาเรื่อง ( ใช่หรือป่าวตามความคิดของดิฉัน )
=======================================================
หลาย ๆ ครั้ง ที่ดิฉัน พบปัญหา ไม่ว่าจะเกิด จากเจตนา หรือไม่เจตนา ของคนรอบข้าง หรือมีแม้ของตัวเอง
ทุกครั้ง ดิฉัีน ก็จะคุมอารมณ์ ได้บ้าง หรือ ไม่ได้บ้าง แต่สุดท้ายก็จะมานั่งนึกได้ ว่าควรจะอภัย หรือ ยกโทษ
ที่นี้การให้ อภัย หรือ ยกโทษ ให้นั้น มีวิธีขั้นตอนปฏิบัติจริง ๆ ในพระพุทธศาสนาอย่างไร ดิฉันไม่ค่อยทราบ
บางครั้งก็ นึกการแผ่เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา บ้าง หรือ กล่าวคำอโหสิกรรมบ้าง
แต่บางอย่าง เมื่อเราได้ทำลงไปอย่างนั้น ใจไม่ก็ยังไม่ยอมให้อภัย เพราะบางเรื่องเป็นเรื่องที่พิจารณาแล้วให้อภัยไม่ได้ หรือให้ อภัยไปแล้ว เราก็ยังถูกเบียดเบียน เหมือนเดิม
ดังนั้นเวลาพระท่านสอน การให้อภัย เป็นทาน นั้นทำอย่างไร ถึงจะเป็นขั้นตอนที่ถูกต้อง
เนื่องด้วย เป็นเรื่องของใจ จะใ่ส่ให้เป็นทาน ทำอย่างไร ?
ทานกุศลแบ่งออกเป็น 2 วิธีใหญ่ๆ คือ
1. อามิสทาน
2.ธรรมทานและอภัยทาน
ดังจะได้อธิบายโดยลำดับดังต่อไปนี้
อามิสทาน คืออะไร
การบริจาคหรือการเสียสละ ทรัพย์สินเงินทองข้าวของ
ตลอดทั้งกำลังกายและสติปัญญาความรู้ความ สามารถของตนเอง
เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ด้วยคุณธรรมคือ เมตตา กรุณา มุทิตา พรหมวิหาร
การเสียสละวัตถุสิ่งของหรือสิ่งที่ เนื่องกันเช่นกำลังกาย
สติปัญญา ความรู้ ความสามารถ เป็นต้น เหล่านี้เรียกว่า อามิสทาน
เมื่อเราบริจาคหรือเสียสละไปแล้ว เป็นกุศลคุณความดี มีอานิสงส์หรือมีผลอย่างไร ?
มีผลเกิดขึ้นทั้งใน ทางจิตใจของเราและมีผลที่เรียกว่าเป็นวิบาก
คือจะมีผลของกรรมนี้ให้ บังเกิดผลแก่ตน ถ้าจะว่าถึงคุณความดีคือทานหรือจาคะ
คือการเสียสละ เช่นนี้ เมื่อมีการเสียสละไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น
ประการแรก ที่เห็นชัดเจนคือ ผู้นั้นเป็นผู้ที่มีจิตใจกว้างขวาง
เปี่ยมด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา แก่สรรพสัตว์โลกอื่น
คุณธรรมนี้เกิดขึ้นแล้วในใจและมี ปกติเป็นผู้มีจิตใจที่ถูกชำระความตระหนี่ เหนียวแน่น
ความเห็นแก่ตัว จำเพาะตัว จำเพาะตน จำเพาะหมู่เหล่าให้หมดสิ้นไป
การ ให้ธรรมและการให้อภัยเป็นทาน ชื่อว่า ธรรมทานและอภัยทาน
ในพระธรรมบท พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ สพพทานํ ธมมทานํ ชินาติ ธรรมทานชนะการให้ทานอื่นทั้งปวง
อย่าง ไรจึงเรียกว่า ธรรมทาน ?
ปฏิบัติธรรมเองเพื่อชำระกิเลส ออกจากกาย วาจา ใจของตนเอง
ตั้งตนอยู่ในคุณความดี เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้อื่น เรียกว่าแจกธรรมะ
ซึ่ง ตรงกันข้ามกับผู้ที่ดำเนินชีวิตประจำวันพูดแต่คำพูดไม่ดี ทำแต่กรรมที่ไม่ดี
คิดแต่ความคิดที่ไม่ดีมาตลอด ประพฤติปฏิบัติตัวอย่างที่เลวแก่ผู้อื่น
ชื่อว่าแจกอธรรม ธรรมทานต้องปฏิบัติเองเพื่อละชั่ว ทำดี ทำใจให้ใส
เพื่อชำระกิเลส หยาบ กลาง และละเอียดๆ ยิ่งขึ้นไปถึงวิสุทธิ
คือ ความบริสุทธิ์แห่งใจ แล้วจึงจะพบสันติสงบ
และจะถึงนิพพานคือความดับ กิเลสไม่มีเหลือ
จะถึงนิพพานต้องเป็นลำดับจนถึงที่สุดอย่างถาวรนี่ เรียกว่าธรรมทาน
เบื้องต้นเป็นปฐมคือทำความดี ละชั่ว ทำใจให้ใสเองทั้งหมด และเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้อื่น
แล้วยังให้การแนะนำสั่งสอนอบรมผู้อื่น'
ให้ประพฤติปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบตามพระธรรม พระวินัย
และสนับสนุนอุปการะแก่ความประพฤติปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเช่น นั้นของบุคคล
หรือคณะบุคคล ผู้ที่กำลังเพียรประพฤติปฏิบัติธรรม
เพื่อ ชำระกิเลสแห่งทุกข์นั้นให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
ตรงนี้ก็ยิ่งด้วยธรรม ทานไปอีก
อย่างไรเรียก อภัยทาน ?
ก็เมื่อบุคคลเจริญธรรมขึ้นด้วยทานกุศล ศีลกุศล และภาวนากุศล
เพื่อ ละชั่ว ทำดี ฝึกอบรมจิตใจให้ผ่องใสและอบรมปัญญาให้บริสุทธิ์ยิ่งขึ้นเพียงใด
ความเข้าใจ ความซึ้งใจในบาปบุญคุณโทษก็เจริญมากขึ้น
และ พรหมวิหารธรรมอันมีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ก็เจริญขึ้นเป็นบุญบารมี
เป็นเมตตาบารมี และ อุเบกขา บารมี อุปบารมี และ ปรมัตถบารมียิ่ง ขึ้นเพียงนั้น
ความเห็นอกเห็นใจเข้าใจในความ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ของสัตว์โลก
ผู้ยัง มีจักษุอันมืดบอดด้วยความหลงผิด จึงคิดผิด พูดผิด ทำผิดๆ
ในเราก็มีมากขึ้น ความรักปรารถนาให้สัตว์โลกเป็นสุข
ด้วยเมตตาพรหมวิหารธรรม และความเวทนาสงสาร
ปรารถนาให้สัตว์โลกให้พ้นจากความทุกข์ด้วยกรุณา พรหมวิหารธรรม
แม้จะถูกกร้าวร้าว ปรามาส ล่วงเกิน และถูกก่อกรรมทำเข็ญแก่ตนมาแล้วมาก
จากทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคตเพียงใด ย่อมไม่ติดใจโกรธพยาบาทยิ่งขึ้น
และ สามารถอดทน อดกลั้นต่อความก้าวร้าว ปรามาส ล่วงเกิน ความเบียดเบียน
จากสัตว์โลกทั้งหลายผู้ล่วงเกิน และผู้เบียดเบียนโดยรอบทั้งหลายเหล่านั้น
ได้มากขึ้นเพียงนั้น จนถึงวางใจเป็นอุเบกขาไม่ยินดี ยินร้ายได้มั่นคง
นี้ชื่อว่า อภัยทาน จัดเป็นทานอันเยี่ยมยอดไปอีก
ขอขอบคุณ http://www.dhammakaya.org (http://www.dhammakaya.org)
http://lovesuck.exteen.com/20051207/entry (http://lovesuck.exteen.com/20051207/entry)
-----------------------------------------------------
อภัยทานคือคำสอนของ พระพุทธเจ้า
ท่านสาธุชนทั้งหลายเมื่อเอ่ยถึง เรื่องทานคนส่วนมากมักจะเข้าใจในทำนองเดียวกันว่าก็คือการให้เงินให้ทองให้ ข้าวของสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคเท่านั้น แต่อันที่จริงทานมิได้หมายเอาเพียงเท่านี้ การให้แบบนี้ในพระพุทธศาสนาเรียกว่าอามิสทาน
ยังมีการ ให้อย่างที่สองคือการให้ความรู้ความเข้าใจ การให้คำปรึกษา การแนะนำแนะแนวในเรื่องต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิตเพราะว่าโดยปกติแล้วคนปกติเราที่จะเก่งไปเสียทุกเรื่องทำ ได้ทุกอย่างโดยไม่ต้องอาศัยการชี้แนะให้คำปรึกษาจากคนอื่นนั้นคงจะมีน้อย เพราะโดยที่จริงแล้วคนเราจะถนัดบางอย่างหรือเก่งบางอย่างแต่บางอย่างก็ไม่ ได้เก่งไม่ถนัดเลยต้องอาศัยคนอื่นจะทำงานหรือเรื่องนั้น ๆ ให้เสร็จลงได้ การให้ความรู้นี้ ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่าธรรมทาน
อามิสทานช่วยแก้ปัญหาเรื่องความขัดสนยากจนในด้านของกิน ของใช้ได้ ธรรมทานช่วยแก้ปัญหาได้หลายด้านยิ่งใหญ่ที่สุด ก็คือแก้ปัญหาเรื่องภพชาติการเวียนว่ายตายเกิดได้
แต่ ปัญหาที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่มีอยู่ในสังคมมนุษย์ปัจจุบันก็คือปัญหา การทะเลาะแก่งแย่งแบ่งพรรคแบ่งพวกขาดความสามัคคีจะเอาแพ้เอาชนะกันจนอีกฝ่าย หนึ่งสูญพันธุ์ไปจากโลกจึงจะยอมเลิกราปัญหาแบบนี้ต้องใช้อภัยทานจึงจะแก้ไขได้
จะขอยกตัวอย่างเรื่องราวใน พระพุทธศาสนาที่มีการทะเลาะแก่ง แย่งกันจนด่าทอกันและเตรียมพร้อมที่จะรบราฆ่าฟันกันในหมู่พระประยูร ญาติของพระพุทธองค์ในเรื่องการแย่งน้ำในแม่น้ำโรหิณีเพื่อทำการเกษตร
พระพุทธเจ้าเสด็จมาตรัสห้ามโดยสรุปก็คือทั้งสองฝ่ายคิดถึงเหตุผลแล้วรู้ว่าถ้า การเกิดฆ่ากันก็จะทำให้เกิดความเสียหายมากในที่สุดแล้วก็ยอมอภัยให้กันได้ เหตุการณ์ก็จบลงด้วยดีไม่มีใครต้องเดือดร้อนล้มหายตายจาก มีทานอีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นทานที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ทานทั้งสองข้างต้น นั้นก็คืออภัยทาน หมาย ถึงการให้อภัยไม่ถือโทษโกรธเคืองไม่จองเวรจองกรรมต่อใครๆบางครั้งบาง เหตุการณ์อภัยทานนี้อาจจะมีความยิ่งใหญ่และสำคัญมากกว่าทานทั้งสองเสียด้วย ซ้ำ เพราะเป็นที่มาแห่งทานทั้งสองนั้นได้
ถ้าไม่ให้ อภัยแล้วไหนเลยจะให้ข้าวของเงินทองช่วยเหลือพวกศัตรูหรือผู้ที่ตนเกลียดได้ ถ้าไม่ให้อภัยแล้วไหนเลยจะให้ความรู้ให้คำปรึกษาที่เป็นประโยชน์แก่พวกคนที่ เป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับตนเองได้
แต่ที่กล่าว อย่างนี้มิใช่จะต้องการไปขัดแย้งกับคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่าสพฺพทา นํ ธมฺมทานํ ชินาติ แปลว่าการให้ธรรมคือความรู้ย่อมชนะการให้สิ่งทั้งปวง และมิใช่ว่าทานทั้งสองนั้นจะไม่มีประโยชน์
ที่จริงแล้ว การให้อภัยเป็นเรื่องที่ไม่ยากเกินไปสำหรับกัลยาณชนคนดีงามทั้งหลาย แต่การให้อภัยนั้นต้องมี เหมือนกันทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่เฉพาะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง คือถ้าฝ่ายหนึ่งให้อภัยแล้วอีกฝ่ายหนึ่งยังจ้องที่จะทำลายล้างผลาญกันอยู่ การให้อภัยมันก็เกิดไม่ได้
มีเรื่องแปลกอยู่สำหรับ มนุษย์ปุถุชนทั่วไปที่ต้องการให้คนอื่นให้อภัยแก่ตนเองไม่ต้องมาโกรธไม่ต้อง เกลียดไม่ต้องคิดทำร้ายไม่ต้องมาเบียดเบียนตนถึงแม้ตนจะไปฆ่าเขาก่อนทำร้าย ทำลายไปด่าไปว่าเขาก่อนก็ตามหรือแม้เรื่องที่ตนทำผิดต่าง ๆ ก็ตามจะมากน้อยอย่างไรก็ต้องการให้คนอื่นอภัยให้ แต่ถึงคราวที่ตนจะต้องให้อภัยคนอื่น บ้างกลับทำไม่ได้ คือจะคิดว่าตนเองถูกหมดคนอื่นผิดหมดแล้วอภัยทานจะเกิดได้อย่างไร
แต่อีกเรื่องคือเรื่องที่พระ เจ้าวิทูฑภะฆ่าล้างเผ่าเจ้าศากยะสาเหตุมาจากการถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม จากเจ้าศากยะในเรื่องชาติกำเนิดเรื่องนี้พระพุทธเจ้าเสด็จมาทรงห้ามกองทัพ พระเจ้าวิทูฑภะถึงสองครั้งสองครา แต่เมื่อถึงครั้งที่สามทรงเห็นว่า มันเป็นเรื่องของกรรมเก่าของพวกเจ้าศากยะไม่อาจจะทรงห้ามได้ จำเป็นต้องที่จะให้เป็นไปตามกรรม สุดท้ายแล้วเพราะไม่มีอภัยทานจึง เกิดการนองเลือดต้องล้มหายตายจากกันจำนวนมาก
ผู้ที่เป็น ตัวอย่างในเรื่องอภัยทานคงไม่มีใครเกินพระพุทธเจ้า แม้อดีตชาติที่ผ่านมาจะกี่ร้อยกี่พันชาติก็ตามถึงจะถูกพระเทวทัตจองเวรทำ ร้ายขนาดไหนก็ตาม แม้ในปัจจุบันที่ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้วพระเทวทัตก็คงตามทำร้ายทำลายพระ พุทธเจ้าเหมือนเดิมจนวาระสุดท้ายพระเทวทัตก็ถูกแผ่นดินสูบ ก็ไม่ปรากฏแม้แต่นิดเดียวว่า พระพุทธเจ้าทรงผูกเวรจองเวรกับพระเทวทัต ทรงให้อภัยได้เสมอ
ถ้าจะคิดง่าย ๆ ในเรื่องอภัยทาน เราในฐานะเป็นชาวพุทธนับถือพระพุทธเจ้าศึกษาเรียนรู้ธรรมมามาก
การ อภัยทานเป็นความประพฤติที่คนประเสริฐที่สุดในโลกคือพระพุทธเจ้าทรงประพฤติ เป็นแบบอย่างมาแล้ว
พวกเราจะให้อภัยเพราะถือว่าได้ทำตามคำสอนของ พระพุทธเจ้าเราก็จะเป็นคนประเสริฐเหมือนอย่างพระองค์ท่านได้
หรือเราจะมาคิดถึงส่วนรวมที่จะต้องมาเสียหายเพราะการทะเลาะวิวาท กันของพวกเราก็พอจะให้อภัยหยุดทะเลาะกันได้
หรือไม่ก็มาคิดถึงเรื่องเวร กรรม เมื่อเราทำกรรมกับเขาสักวันหนึ่งเขาก็ต้องทำกับเราคืนบ้างซึ่งมันอาจจะ แรงกว่าที่เราทำกับเขาก็ได้ หรือต้องไปตามใช้เวรกรรมกันอย่างไมมีที่สิ้นสุด
หรือมาคิดถึงมรณะคือความตาย ซึ่งต่างคนก็ต่างจะตายอยู่แล้วทำไมต้องมาทะเลาะกันชิงกันทำเรื่องไม่ดี ไม่ใช่การแข่งกันทำความดี ก็พอที่จะให้อภัยกันได้
ท่าน สาธุชนอภัยทานเป็น เรื่องดีเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่กำจัดเวรภัยได้จริง ถ้าท่านไม่อยากมีเวรมีภัยต่อไปทั้งในชาตินี้และชาติต่อ ๆ ไป ท่านต้องรู้จักการให้อภัย ด้วยความคิดว่า บุญบาปมีจริง ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว ทำกรรมได้กรรมทำเวรได้เวร
ขอกราบขอบพระคุณ พระศรีรัชมงคลบัณฑิต ผู้เขียนบทความ
อาจารย์ประจำสังกัดคณะศาสนา และปรัชญา มมร.
http://gotoknow.org/blog/dhammakaya-16/216031 (http://gotoknow.org/blog/dhammakaya-16/216031)
----------------------------------------------------
อภัยทานเป็นการทำทานอัน ประเสริฐ
อะวัชเช วัชชะมะติโน วัชเช จะ อะวัชชะทัสสิโน
มิจฉาทิฏฐิสะมาทานา สัตตา คัจฉันติ ทุคคะติง
เมื่อหมู่ชนพวกใดใจคิดผิด
วิปริตจากธรรมคำสั่งสอน
ไม่รู้โทษรู้คุณบุญบาปจร
จึงสับสนสำส่อนเสียสัมมา
เขาจึงถึงทุกข์มหันต์ในบั้นปลาย
จะโชคร้ายแดดิ้นสิ้นยศฐา
ต้องลำบากยากเข็ญเห็นทันตา
ในโลกหน้ามีนรกไว้หมกตน
กวีโดย..พระราชกวี วัดราชาธิวาส
การอภัยทาน
อภัยในที่นี้ก็หมายถึงทานอย่างที่สอง เรียกว่า อภัยทาน แม้สิ่งที่เรียกว่า“ อภัยทาน ”นี้ ก็ต้องมีปฏิคาหก มีผู้รับเหมือนกัน อภัยทาน หมายถึง ให้อภัย คำว่า อภัย นี้แปลว่า ไม่ต้องกลัว ให้อภัย คือเราให้ความไม่ต้องกลัวแก่บุคคลนั้น แปลว่า บุคคลนั้นไม่ต้องกลัวเรา นี่คือให้อภัย ทีนี้บางคนอาจจะคิดว่า นี้มันไม่ใช่ให้ทาน.... นี่มันไม่รู้ เขาพูดไปทั้งที่ไม่รู้การให้อย่างนี้ เรียกว่า ให้ทาน แต่เขาเรียกว่า “ อภัยทาน ”เป็นสิ่งที่ให้กันได้ ให้ได้ทั้งทางกาย ให้ได้ทั้งทางวาจา ให้ได้ทั้งทางจิตใจ ทางร่างกาย เขามาขอขมาขออภัยเราก็รับ ทางวาจา บอกอโหสิกรรม ทางจิตใจ เราก็สลัดความโกรธ ความอาฆาตจองเวรอย่างนี้ก็เรียกว่า“ อภัยทาน ” ทั้งนั้นมีได้ทั้งทางกาย ทางวาจา ทางใจ
ทีนี้แยกประเภทให้เห็นชัดว่าอภัยทานนี้ อย่างน้อยก็มีอยู่สัก ๓ อย่าง อภัยทานอย่างแรกคือ การให้อภัยโทษ ให้ขมาโทษ คือยอมรับการขมาโทษ เรียกว่า ให้อภัยโทษ รับการขอขมานี่ เข้าใจกันดีแล้วไม่ต้องอธิบายก็ได้ อย่างที่สอง เราไม่เบียดเบียน ไม่ประทุษร้ายใครนั่นแหละ คือให้อภัยทานเหมือนกัน เราจงเป็นอยู่อย่างไม่เบียดเบียน อย่างไม่ประทุษร้ายใคร ที่เขาเรียกกันว่า “ศีล” ศีล นั่นแหละคือ อภัยทาน เราไม่ประทุษร้าย ไม่เบียดเบียนแก่ชีวิตแก่ร่างกาย หรือแก่น้ำใจ ไม่เบียดเบียนเนื้อตัวของเขา ไม่เบียดเบียนจิตใจของเขา ไม่ทำลายชีวิตของเขาทุกระดับ นับตั้งแต่สัตว์เดรัจฉานขึ้นมา จนถึงมนุษย์ จนกระทั่งเทวดา หรือพรหมอะไร
ถ้ามันจะมี แปลว่าสิ่งที่มีชีวิต มีความรู้สึกนึกคิดแล้ว เราไม่เบียดเบียนให้เขารู้สึกกระทบกระทั่งเป็นทุกข์นี้เรียกว่า ให้ความไม่เบียดเบียน ความไม่ประทุษร้าย อย่างที่สาม แผ่เมตตาจิตอยู่เป็นปกติ ทุกวัน ทุกคืน ทุกลมหายใจเข้าออก นี้ก็คือ อภัยทาน นึกดูแล้วก็น่ารวย ในข้อที่ว่าอภัยทานนี้ไม่ต้องลงทุนสักสตางค์หนึ่งก็ได้ ต้องเสียหลายแสนนะ แต่ว่าทำอภัยทานนี้ ไม่ต้องให้สตางค์สักสตางค์หนึ่งก็ทำได้ แล้วยังจะมีผลสูงกว่าเสียด้วย
อนึ่ง ขอให้รู้ไว้ว่า อภัยทานนี่มันทำยากกว่าที่จะให้วัตถุ เพราะมันเป็นเรื่องจิตใจมากขึ้นไปอีก คนถือตัว ใครมาขอขมาก็ไม่ยอมให้ แถมทำผู้อื่นเดือดร้อนอยู่เรื่อย ไม่รักผู้อื่น ไม่เห็นใจผู้อื่น นี่เรียกว่า ไม่มีอภัยทาน ขอให้ตัดสินใจแน่ลงไปว่า เรานี้ตั้งแต่วันนี้ไป จะสะสางเรื่องอภัยทานนี้ให้เป็นชิ้นเป็นอัน สำหรับวัตถุทานก็ทำมามากแล้ว แต่เรื่องอภัยทานนี้ดูยังโหรงเหรง นี่ขอให้ไปชำระสะสาง คือทำให้มันมีขึ้น ให้มันครบถ้วน ให้มันถูกต้องว่า
๑. ให้อภัยโทษ ยอมรับขมา
๒. ไม่เบียดเบียน ไม่กระทบกระทั่ง ไม่ประทุษร้ายใครหมด
๓. อยู่ด้วยจิตที่แผ่เมตตา ทั้งกลางวัน กลางคืน
ทั้งหมดนี้ ก็เป็นอภัยทาน
เจริญในธรรมครับ /***
ที่มา http://piggyoui.multiply.com/journal/item/6 (http://piggyoui.multiply.com/journal/item/6)
http://www.kroobannok.com/blog/16403 (http://www.kroobannok.com/blog/16403)
.
-
อภัยทาน มีวิธีการปฏิบัติอย่างไร ?
-http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=479.0-
อภัยทาน รักบริสุทธิ์
ชีวิตคือการลงทุน
ชีวิตคือการลงทุน ตัวชีวิตคือต้นทุน สิ่งที่ได้มาหลังจากชีวิตคือกำไรทั้งหมด การเกิดมาในโลกนี้ เหมือนการมาเที่ยว หรือไปเที่ยวต่างประเทศ เราชื่นชมได้ทุกอย่างที่เห็น แต่เมื่อจะเดินทางกลับจะต้องวางทุกอย่างไว้ที่เดิม เพราะนั่นเป็นสมบัติของแผ่นดินนั้นเก็บเอาเพียงความสุข ความเบิกบานใจ ไปติดตัวกลับบ้านก็พอ ชีวิตในโลกนี้มีทั้งกำไรที่เป็นสินทรัพย์และกำไรที่เป็นอริยทรัพย์ สินทรัพย์เราทิ้งไว้ให้เป็นสมบัติของโลกต่อไป ให้คนอื่นชื่นชมด้วย หากเรามีโอกาสกลับมาเที่ยว (เกิดใหม่) อีก เราก็มีโอกาสได้ชื่นชมอีก อริยทรัพย์ คือ บุญ ความสุข ความเบิกบานใจ อิ่มใจ พอใจ เป็นสมบัติแท้ของเราตามเราไปได้ทุกแห่งหน
การลงทุนให้ได้กำไร คือหัดทำความพอใจในสิ่งที่เรามีความโชคร้ายของมนุษย์ คือการไม่รู้ว่าตนเองโชคดีทุกชีวิตล้วนมีภัย ภัยของชีวิตอาจเกิดขึ้นได้ทุกเสี้ยววินาที ภัยที่เกิดจากภายนอก ไม่ร้ายแรงเท่ากับภัยภายในภัยที่ผู้อื่นสร้างขึ้น กระทบเราน้อยกว่าภัยที่เราสร้างขึ้นเอง บางคนทำผิดแล้ว กลับมานั่งเสียใจในภายหลังก็บ่อย ภัยทั้งหลายล้วนเป็นยาพิษ ที่ปลิดชีวิตจิตใจเราได้ทั้งสิ้น
มนุษย์อื่นทำลายเรา ก็ทำได้เพียงขณะหนึ่ง แต่จิตที่ตั้งไว้ผิดจะทำลายเราข้ามภพชาติ ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงสอนเรื่อง “อภัยทาน” คือการยกโทษ แสดงอโหสิกรรมต่อกันไทยเรามีประเพณีอย่างหนึ่งคือ เมื่อจุดธูปขอขมาศพ ก็จะขออโหสิกรรมต่อกัน คืออย่าได้มีเวรต่อกันในภพหน้า ให้ทุกอย่างจบลงที่ภพชาตินี้ แม้ศัตรูคู่อาฆาตก็ต้องอโหสิกรรมต่อกัน
บางครั้ง พิธีสำคัญในชีวิต เรามักจะไปขอพรผู้ใหญ่ และกล่าวว่ากรรมใดที่เราได้ล่วงเกิน ขอให้ท่านยกโทษให้ คือให้สิ่งที่เราทำเป็นอโหสิกรรม ทำให้ใจเราว่างเพียงพอเพื่อรองรับความดี ที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่ เช่น พิธีบวช เป็นต้น
การแสดงอภัยทานเป็นการชำระใจ แม้จะดูพูดง่าย แต่ก็ทำได้ยาก หากไม่ฝึกทำจนเป็นปกติ เพื่อให้เข้าใจง่ายและอยากทำให้ได้ ขอให้เรามาพิจารณาเหตุผล ถึงความต่อเนื่องของผลกรรมที่มีผลข้ามภพข้ามชาติว่า ให้ผลเผ็ดร้อนเพียงใด และยังเป็นผลที่เราหนีไม่ได้อีกด้วย
เราต้องถามตนเองก่อนว่า เราต้องการยุติการเผล็ดผลของกรรมกับคนๆ นั้นเพียงภพนี้ หรือต้องการจะพบเขา จะเจอเขาอีกต่อไป เราต้องการจะยุติปัญหาเหล่านี้เพียงภพชาตินี้ หรือต้องการลากยาวไปถึงภพชาติข้างหน้า เรามีสิทธิเสรีในตัวเรา
บางคนรักมาก หลงมาก เพราะเขาดีมาก ก็ปรารถนาให้พบกันทุกภพทุกชาติ บางคนก็อธิษฐานไม่ขอร่วมเดินทาง แต่ก็ไม่ยกโทษ ในที่สุดผลของการไม่ยกโทษ คือไม่ยอมให้อภัย ก็เหมือนการผูกสิ่งที่เราไม่ชอบไว้ที่เอวตนเองตลอดเวลา
การให้อภัย จะทำใหเราสามารถยุติปัญหาต่างๆ ได้ เหมือนคนล้างแก้วน้ำสะอาด ทำให้เหมาะสมที่จะรองรับน้ำบริสุทธิ์ที่เทลงไปใหม่ เหมือนการโยนของที่เราไม่ชอบทิ้งเสีย โดยไม่ต้องเสียดาย
การให้อภัย คือการแสดงกำลังใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุด อภัยทาน เวลาจะให้ ไม่ต้องไปขอใคร ไม่เหมือนใครมาของเนเรา เราต้องควักกระเป๋าให้ แต่ให้อภัย เราไม่ต้องหาจากไหน และไม่รู้สึกว่าเป็นการศูญเสีย
ขอให้เราภูมิใจ เมื่อมีใครมาขอโทษ เมื่อมีใครให้อภัยเรา หรือเมื่อสำนึกได้ว่า เราได้ทำอะไรผิดพลาดไป ก็ขอโทษกัน การขอโทษหรือการให้อภัย มิใช่การเสียหน้า หรือเสียรู้ มิใช่การได้เปรียบเสียเปรียบแต่อย่างใด หากแต่เป็นการชำระใจให้สะอาด เหมือนภาชนะสกปรก ก็ชำระล้างให้สะอาด
ใครจะคิดอย่างไรมิใช่ประเด็น แต่สำหรับเราผู้แสดงออกว่า เราให้อภัยในเรื่องนี้ต่อบุคคลผู้นี้แล้ว นั่นเป็นสิ่งสำคัญ เพราะสิ่งนั้นจะถูกบรรจุลงไปในเครื่องคอมพิวเตอร์คือจิตของเราทันที
การผูกอาฆาต ความพยาบาท ความอิจฉา โกรธ เกลียด ความคิดแก้แค้น ทิฐิมานะ เป็นต้น เป็นเสมือนเชื้อไวรัส อภัยทาน คือ เครื่องมือแอนตี้ไวรัส ส่วนจิตของเรา เหมือนคอมพิวเตอร์
ในชีวิตที่เหลืออยู่นี้ อาจจะดูเหมือนยาว แต่มีใครบอกได้ว่าเราจะอยู่ได้ปลอดภัยถึงวันไหน เราต้องการความทรงจำที่เลวร้ายหรือต้องการความทรงจำที่ดีในชีวิต
เราต้องการนั่งนอนอย่างมีความสุข มีชีวิตอยู่ด้วยความอิ่มเอิบ หรือต้องการมีชีวิตอยู่ด้วยการถอนหายใจ ด้วยความทุกข์และกังวลใจ สิ่งเหล่านี้ กำหนดได้ที่ตัวเราเอง กำหนดวิธีคิดให้ถูกต้อง
ความคิดเป็นสิ่งที่ทรงพลังมาก สุขหรือทุกข์ของมนุษย์อยู่ที่วิธีคิด คิดเป็นก็พ้นทุกข์ คิดไม่เป็น แม้แต่เรื่องมิใช่เรื่อง ก็อาจเกิดเรื่องได้
ขอให้เรามาคิดดูว่า ในชีวิตของเราคนหนึ่ง อย่างเก่งก็อยู่ได้ ๙๐ ปี เกินนี้ไปถือเป็นกำไรชีวิต ทำไมเราจะเสียเวลามาครุ่นคิดเรื่องไร้สาระ ทำไมเราจะต้องเสียเวลามาทำเรื่องที่ทำให้เกิดทุกข์
การยอมกันเสียบ้าง ก็เป็นความสุขได้ไม่ยาก บางครั้ง การยอมแพ้ อาจเป็นชัยชนะยิ่งใหญ่ข้ามภพชาติ การยกโทษ อาจดูเหมือนเรายอม เราไม่ติดใจ ไม่เอาเรื่อง แล้วเขาจะได้กำเริบ ส่วนเราเสียเปรียบความจริงไม่ใช่ เรากำลังบำเพ็ญบารมีขั้นสูง คือ “อภัยทาน” อันเป็น “ทานบารมี” ที่สูงส่ง
เราอาจคิดว่า การให้อภัยบ่อยๆ แก่คนบางคน เขาอาจจะไม่ปรับตัว ยังก่อเหตุอยู่เสมอๆ งานก็ไม่สำเร็จ ยังเหลวไหลอยู่เหมือนเดิม นั่นอาจเป็นเหตุผลในการทำงาน แต่สำหรับเหตุผลของใจนั่น เมื่อให้อภัย ในเราก็เบา เพราะหมดห่วง หมดทุกข์ หมดสนิมที่จะมากัดใจให้ผุกร่อน
วิธีคิด มีความสำคัญมากสำหรับชีวิตของคน เรามักได้ยินเสมอๆ ว่า แพ้หรือชนะ อยู่ที่กำลังใจ แท้จริงแล้ว คำว่า “กำลังใจ” ก็คือวิธีคิดนั่นเอง พลังที่ยิ่งใหญ่ของมนุษย์คือ การที่ใจมีกำลัง
มนุษย์เราจึงต้องสร้างกำลังใจให้แก่กันและกัน กำลังใจเป็นสิ่งที่ให้ไม่รู้จักหมด ยิ่งเราให้คนอื่นได้มากเท่าไร กำลังใจก็จะยิ่งเกิดขึ้นแต่เรามากเท่านั้น เหมือนวิชาความรู้ ยิ่งให้ยิ่งพอกพูน ยิ่งหวงไว้เฉพาะตัว ก็ยิ่งหดหาย
การให้อภัย อาจพูดง่าย แต่ทำยาก แม้จะเป็นเรื่องยาก เพราะในไม่อยากทำ แต่ก็สามารถทำได้เมื่อเราฝืนใจทำ และจะเป็นความสุขใจในภายหลังเมื่อครวญคำนึง
มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเล่าให้ข้าพเจ้าฟัง เป็นเรื่องที่มีอุทาหรณ์และคติน่าคิดมาก เกี่ยวกับเรื่องของคนที่ไม่ยอมให้อภัยใคร และเป็นคนผูกโกรธ ผูกเกลียด ผูกอาฆาต พยาบาท มองเห็นคนอื่นเป็นศัตรูคู่ต่อสู้ตลอดเวลา กระทั่งวันหนึ่งตายไปพร้อมกับจิตใจที่ขุ่นมัวและผูกอาฆาต
ท่านเล่าว่า เขาอธิษฐานไปเกิดเป็นลูกของศัตรู เพื่อจะได้ทำร้ายจิตใจอย่างใกล้ชิด แนบเนียนที่สุด จะได้เผาผลาญคนนั้นให้ถึงที่สุดให้ทุกข์ที่สุด ให้สาละวนอยู่กับเรื่องทุกข์ตลอดเวลา เขาเป็นลูกเกเร ผลาญทรัพย์ ทำลายวงศ์สกุล นำความทุกข์เดือดร้อนเข้าบ้านทุกวัน
พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสเป็นหลักใจว่า คนที่ตายขณะจิตเศร้าหมอง ย่อมไปสู่อบาย แม้คนพวกนี้ จะไม่เชื่อเรื่องอยาย เรื่องนรกที่เป็นภพภูมิ แต่เขาก็ปฏิเสธไม่ได้ถึงนรกคือความเร่าร้อนรุนแรงที่คุกรุ่นภายในใจ ในขณะยังมีชีวิตอยู่ ส่วนคนที่ตายขณะจิตผ่องใส จะไปสู่สวรรค์ คือสภาพที่ใจปลอดโปร่งโล่งเบา ก็จะมีแก่ผู้นั้น
สิ่งที่น่าคิดก็คือ ข้าพเจ้าทราบจากนักปราชญ์บัณฑิตโบราณ ท่านพูดเอาไว้ว่า การที่เราโกรธใคร เราไม่ให้อภัยเขา หรือเราไม่ไปขออโหสิกรรม ความโกรธนั้นจะเป็นกรรมหนักติดตัว คืดติดใจเราไปยาวนานข้ามภพข้ามชาติ แปลว่า ไม่ว่าเราจะไปเกิดภพใดชาติใดกรรมนั้นก็จะตามไปไม่สิ้นสุด
ยิ่งไปกว่านั้น การที่กรรมส่งผลข้ามภพข้ามชาตินั้น เป็นสิ่งที่น่าสะพรึงกลัวยิ่งนัก เพราะเราไม่สามารถจะรู้ได้ว่า เราได้ทำอะไรกับใครไว้บ้างในครั้งอดีต
คนบางคนเกิดมามักถูกใส่ร้ายตลอดเวลา ไม่ว่าจะหันไปทำอะไร จะมีแต่คนคอยจ้องจับผิด คิดร้าย นินทาลับหลังให้ต้องเสียใจอยู่เสมอ บางคน คิดทำอะไรขึ้นมา พอจะสมหวังก็กลับมีอันต้องเป็นไปให้ผิดหวัง พลาดหวังอยู่บ่อยๆ เราก็คิดว่าเป็นเรื่องของโชควาสนาไป แต่ความจริงคือเรื่องอดีตกรรมที่เราไม่ยอมแก้ไข ทั้งๆ ที่แก้ไขได้
ยิ่งไปกว่านั้น บางคนต้องทุกข์เพราะคนใกล้ตัว ทุกข์เพราะคนที่เรารัก ที่เป็นตัวชีวิตของเราเอง เช่น มีลูกเกเร ทำให้พ่อแม่เสียใจ มีลูกผลาญทรัพย์ มีลูกไม่อยู่ในโอวาท มีลูกอกตัญญู มีลูกทำลายชื่อเสียงวงศ์ตระกูล พ่อแม่คิดถึงลูกทีไร ก็มีแต่เรื่องร้อนใจตลอดเวลา
เราจะเห็นว่า บางครอบครัว ญาติพี่น้องต้องทะเลาะกันเหมือนเป็นข้าศึกศัตรูกันมาหลายภพหลายชาติ บางทีต้องฆ่ากันเป็นทอดๆ ถามว่าสิ่งเหล่านี้คืออะไร ปัญญาธรรมดาของมนุษย์อย่างพวกเราพอจะทำความเข้าใจได้หรือไม่ กฎหมายที่มีอยู่สามารถคลี่คลายปมปัญหาได้ไหม คำตอยคือยาก เพราะนี่เป็นเรื่องของเศษกรรมที่ยังมิได้รับ “อโหสิ” ระหว่างเราและเขา
ฉะนั้น ถ้าไม่ต้องการเสวยวิบากกรรมอันเลวร้ายข้ามภพ ข้ามชาติ ท่านต้องหัดให้อภัยแก่คนทุกคน แก่สัตว์ทุกชนิด ให้อภัยแม้ศัตรูที่คิดจะทำร้ายหมายปองชีวิตเรา อภัยต่อทุกอย่างที่เขาทำไม่ดีกับเรา ให้ทุกอย่างเป็นอโหสิกรรมทั้งหมด เพื่อเราจะได้ไม่ต้องมีปัญหาในอนาคต
บางครั้ง เราเห็นเรื่องจริงในชีวิตจริง หรืแม้แต่ที่ปรากฏเป็นข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ หากเรามองย้อนคิดให้ดีสักนิด นิ่งคิดให้ละเอียดลึกซึ้งสักหน่อย เราก็จะเข้าใจได้ว่า การไม่ให้อภัยกันนั้น มีผลร้ายข้ามภพข้ามชาติได้ถึงเพียงนั้นเชียวหรือ
บางคนเราไม่รู้จักกันมาก่อน แต่พอเห็นหน้าก็รู้สึกไม่ชอบทันทีเลย จะพูด จะคุย จะทำอะไร ดูจะเกะกะลูกตาของเราไปหมด แม้แต่ความรู้สึกที่เขามีต่อเราก็เช่นกัน นั่นเป็นเพราะอดีต เราไม่ยอมให้อภัยกัน
สิ่งที่มนุษย์เรารักกันมากที่สุด คือ สามี ภรรยา ลูก แต่ทำไมบางที เมื่อแต่งงานกันแล้ว สามีสามารถฆ่าภรรยาได้ หรือภรรยาก็สามารถฆ่าสามีทิ้งได้อย่างง่ายดาย นั่นเป็นเพราะอะไร ไม่มีสิ่งใดที่จะอธิบายได้ดีเท่ากับบอกว่า นั่นคือผลกรรมที่เกิดจากการไม่ยอมให้อภัยกันในอดีตชาติ และส่งผลมาถึงภพนี้ จึงต้องมาแก้แค้นชำระโทษกัน
การที่เราไม่ยอมให้อภัย เหมือนเราไม่ยอมล้างสิ่งสกปรกออกจากร่างกายเรา แม้ว่าเราจะไปที่ไหน สวมใส่เสื้อผ้าชิ้นใด งามเพียงไรร่างกายของเราก็ยังคงสกปรก และตามไปทุกหนทุกแห่ง ความงามของเรือนร่างที่ประดับด้วยเครื่องเพชร ด้วยเสื้อผ้า ก็ไม่อาจทำให้ร่างกายสะอาดได้ การให้อภัย เปรียบเหมือนการอายน้ำชำระร่างกาย
ข้อนี้ เปรียบเสมือนเมื่อเราไม่ให้อภัยใคร ใจเราย่อมดิ่งอยู่กับคนนั้น และตัวเขาก็จะถูกผูกไว้กับความรู้สึกของเรา เหมือนความสกปรกของร่างกายที่ตามเราไปตลอดเวลา เพราะไม่ยอมชำระล้างให้สะอาด
ท่านทั้งหลายอาจลืมคิดไปว่า ลูกหลานที่เกิดมาแล้วผลาญทรัพย์ ทำลายชื่อเสียง ทำให้พ่อแม่ต้องเดือดร้อนนอนทุกข์นั้น แท้จริงก็คือศัตรูในชาติที่แล้วที่เรามิได้อโหสิกรรมให้เขา เราไม่ได้ยกโทษให้เขา คือเราไม่ได้แก้ปมที่เคยผูกไว้ให้หลุดออกไป กรรมระหว่างเรากับเขาจึงติดตามกันมาเผล็ดผลถึงวันนี้
บางที คนที่เขาโกรธเรา หากเราโกรธตอบ ก็จะเป็นการตอบรับกระแสกัน เหมือนเราโทรศัพท์ถึงกัน ถ้าอีกฝ่ายไม่เปิดโทรศัพท์รับ ฝ่ายที่โทรถึงก็หมดสิทธิ์จะคุยกับเราเพราะกระแสไม่ถึงกัน
การตอบรับซึ่งกันและกัน ถ้าเป็นความดี เป็นความรัก ความอบอุ่นก็ดีไป แต่ถ้าเป็นความเกลียด ความโกรธ สิ่งที่จะตามมาคือการรับรู้และเก็บอารมณ์ทั้งโกรธและเกลียดนั้นไว้ด้วยกัน ทั้ง ๒ ฝ่าย
เมื่อรู้แล้วก็ควรสละอารมณ์นั้นด้วยตัวเราเองก่อน เพื่อป้องกันจิตเรามิให้เป็นทุกข์เพราะคนนั้นเป็นเหตุ เราอาจคิดเสมือนหนึ่งเขาไม่ได้มีอยู่ในโลกนี้เลยก็ได้ การให้อภัยเขา คือคิดถึงเขาในฐานะเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตาย ไม่สมควรจะไปยึดเป็นรักเป็นชัง
ก็เมื่อแม้แต่รัก ท่านยังสอนให้เราละทิ้ง เพื่อมิให้ยึดติด แล้วทำไมเราจะยังมองเห็นโกรธ เป็นสิ่งที่จะต้องยึดมั่นอยู่ได้
การที่เราเห็นสิ่งผิดปกติในชีวิตเราบางครั้ง เช่น มีแต่เรื่องให้เกิดทุกข์ มีแต่คนทำให้ใจขุ่นมัว มีลูกไม่ดี มีหลานไม่สมประสงค์ ทำให้เราต้องเก็บมาคิดเสมอ ขอให้เราถือว่า นี่คือเศษเสี้ยวแห่งผลกรรมที่ติดอยู่ในความคิดตั้งแต่อดีตชาติ ซึ่งบัดนี้เผล็ดผล งอกงามออกมาอยู่ใกล้ตัวเราที่สุด
วิธีแก้คือ ต้องอภัยให้แก่ทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่วินาทีนี้ทันที เพื่อภพชาติต่อไปเราจะได้ไม่ต้องรับรู้ความทุกข์ของใครต่อใครอีก พึงทราบว่า คนที่ทำให้เราทุกข์ใจที่สุด คือคนที่เรารักที่สุด คือผู้อยู่ใกล้เราที่สุด
บางครั้ง ศัตรูยอมอธิษฐานจิตแห่งความพยาบาท ให้มาเกิดเป็นลูกของเรา เป็นหลานของเรา เป็นญาติของเรา เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาเราก็มี เพื่อเขาจะได้ทำลายน้ำใจ ชื่อเสียง วงศ์สกุลของเราให้ถึงที่สุด นั่นเป็นเพราะเราไม่ได้อโหสิกรรมต่อเขา หรือไม่ได้แสดงอภัยทานต่อเขาจากชาติที่แล้วนั่นเอง
-
อภัยทาน มีวิธีการปฏิบัติอย่างไร ?
-http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=479.0-
ฉะนั้น ทุกครั้งที่เราเห็นเหตุการณ์แปลกประหลาดเกิดขึ้นกับชีวิตใครหรือแม้แต่เกิด กับเราเอง และเราเองไม่สามารถจะวิเคราะห์ได้ด้วยปัญญาธรรมดา ขอให้ลองมองผ่านกฎเกณฑ์แห่งกรรมดูบ้าง ก็จะช่วยให้จิตใจของเราโปร่งเบาขึ้นมาได้
การคิดถึงกฎแห่งกรรม หาใช่การคิดแบบทอดธุระ หรือโยนบาป โดยไม่คิดจะแก้ปัญหาไม่ การคิดเรื่องกฎแห่งกรรม เป็นหลักการสัญข้อหนึ่งในการแก้ปัญหาทางใจตามหลักพระพุทธศาสนา หลักธรรม เป็นกฎเกณฑ์ที่ให้ผลได้แยบยลทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ปัญหาบางอย่างที่แก้ไม่ตก ที่สลัดไม่ออก ที่ไม่มีทางจะหลบลี้หนีได้ เป็นสิ่งที่เราต้องแบกรับด้วยชีวิต เราต้องพิจารณาความจริงย้อนหลัง และยอมรับเหตุการณ์นั้นให้ได้
สิ่งหนึ่งที่ควรคิดคือ เรื่องผลกรรมที่เกิดขึ้นจากกรรมในอดีตที่เราไม่ได้ทำให้เป็น “อโหสิกรรม” คือไม่ยอมให้อภัยในภพชาติที่แล้ว และวันนี้สิ่งที่เกิดกับเรา จึงเป็นสิ่งสมควร สมเหตุสมผล
วิธีแก้คือ เราต้องยอมรับความจริงของสิ่งที่เกิดกับตัวเรานั้นให้ได้ หากคิดได้เช่นี้ ก็จะทำให้จิตใจเราเยือกเย็นและอ่อนโยนลงได้
ความทุกข์ส่วนใหญ่ มักเกิดจากการไม่ยอมรับความจริงที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ความทุกข์ของมนุษย์ส่วนมาก มักเกิดจากต้องการเปลี่ยนแปลง แต่เปลี่ยนไม่ได้ หรือไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง แต่กลับเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น
ถามว่าการให้อภัยในความผิดพลาดของคนๆ หนึ่ง เป็นสิ่งที่ทำยากหรือง่าย คำตอบคือ ทำง่าย หากเราฝึกหัดทำเป็นประจำ
ขอให้เราฝึกเสมอๆ ว่า ไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรกับเรา ขอให้เราฝึกให้อภัยทุกวัน ทำเหมือนที่เราแผ่เมตตาให้แก่สรรพสัตว์ ขอให้เราทำทุกครั้ง ทำทุกวินาที ทำเหมือนกรวดน้ำหลังทำบุญ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้สรรพสัตว์น้อยใหญ่
เมื่อเราสร้าง “อภัยทาน” ให้เป็นลักษณะนิสัยตลอดเวลาได้แล้ว เราจะรู้สึกว่า การให้อภัยแก่ใครนั้น เป็นเรื่องง่ายดาย เป็นเรื่องธรรมดาๆ คือทำได้โดยไม่ต้องฝืนใจทำ
ขอให้เราทราบไว้ว่า เมื่อเราหัดสร้าง “อภัยทาน” เป็นปกติแล้ว เศษกรรมต่างๆ แทนที่จะติดตามเราไปข้ามภพข้ามชาติ ก็จะถูกสลัดออก คือตามไปไม่ได้ เพราะมิได้เป็นกรรมอีกต่อไป หากแต่เป็นแต่เพียงกิริยาที่แสดงออก เพราะเราให้อภัยเสียแล้ว
เมื่อเราให้อภัยเสียแล้ว ใครๆ ที่ผูกอาฆาตพยาบาทเราไว้ แรงพยาบาทของเขา ก็จะหมดโอกาสติดตามเรา เพราะกรรมนั้นหมดแรงส่ง เนื่องจากเราได้ “อโหสิ” เสียแล้ว
จึงขอเชิญชวนท่านทั้งหลาย มาฝึกปฏิบัติ “อภัยทาน” และ “อโหสิกรรม” ตั้งแต่บัดนี้กันเถิด เพื่อยุติสนิมในใจ คือความอาฆาตพยาบาท เพื่อยุติแรงส่งของกรรมที่ตามไปเผล็ดผลอันเผ็ดร้อนข้ามภพข้ามชาติ
พึง หลับตาให้ใจสงบครู่หนึ่งก่อน แล้วตั้งใจกล่าวคำแผ่เมตตาเบาๆ ดังนี้
สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง
อเวรา โหนตุ จงเป็นสุขๆ เถิด อย่าได้มีเวรต่อกันและกันเลย
อัพยาปัชฌา โหรตุ จงเป็นสุขๆ เถิด อย่าได้พยาบาทเบียดเบียน
ซึ่งกันและกันเลย
อนี ฆา โหนตุ จงเป็นสุขๆ เถิด อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย
สุขี อัตตานัง ปริหรันตุ จงเป็นผู้มีสุข รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้น
เทอญ
ตายไม่มี
“สัตว์ทุกชนิดกลัวตาย เพราะคิดว่าความตายเป็นภัยร้ายแรงของชีวิต ผวาว่าความตายใครๆ หลีกเลี่ยงไม่ได้ เกิดความสิ้นหวังท้อแท้ว่าความตายไม่อาจรักษาด้วยการเยียวยาใดๆ แต่ความจริงแล้วความตายนี้แลคือทิพยโอสถชนิดเลิศ ที่ธรรมชาติใช้รักษาโรคร้ายทุกชนิดของธาตุขันธ์ ความตายจึงมิใช่สิ่งที่น่ากลัวเพราะความตายเป็นทิพยโอสถของชีวิต”
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนให้พิจารณามรณสติเพื่อบรรเทาความมัว เมาในชีวิต ในเวลา ในความประมาท ก็เพราะต้องการให้คนมีสติตื่นตัว ให้รู้ว่า ความตายอยู่แค่ปลายจมูกเท่านั้น เรารู้วันเวลาเกิดได้ แต่เวลาตายเราไม่รู้ และไม่มีทางจะรู้ด้วยหากไม่เจริญมรณสติเป็นประจำ
การเจริญมรณสติ คือนึกถึงความตายบ่อยๆ อย่างนี้ จะสอนใจให้กล้าเผชิญความจริงได้ไม่ยาก
เมื่อพิจารณาความจริงอีกขั้นหนึ่ง เหนือจากสมมติสัจจะคือ พิจารณาให้เห็นความจริงตามหลักธรรมชาติ มองทุกอย่างให้เห็นเป็น อนัตตา ปราศจากตัวตนที่ควรเข้าไปยึดมั่น อย่างที่ตรัสแสดงใน อนัตตลักขณสูตร เราก็จะเข้าใจได้ว่า ความตายไม่มี และไม่มีอะไรตาย สิ่งที่เราเรียกว่าตายเป็นแต่เพียงการปรับตัว และเปลี่ยนสภาพของธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ กับวิญญาณของธาตุเท่านั้น
ตามธรรมดาของร่างกายเป็นทุกข์และอยู่ได้ยาก ต้องมีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา เราเห็นกันทุกคน แต่มีน้อยที่ใส่ใจ
ขอให้พิจารณาง่ายๆ ดังนี้ จากเล็กสุดในท้องแม่ เลือดก้อนหนึ่งค่อยเจริญเติบโตมาเป็นตัวคน เมื่อโตมากก็จำต้องออกมาอยู่นอกท้องแม่ มิฉะนั้นจะเกิดปัญหา เราสมมติเรียกว่า “เกิด” แท้จริงการเกิดก็คือวิธีเปลี่ยนแปลงสภาวะที่ทนได้ยากอย่างหนึ่งของธรรมชาติ นั่นเอง จากนั้นก็เป็นก้อนเลือดมีชีวิต นอนแบเบาะ หัดกิน หัดพูด หัดคลาน หัดรับสัมผัสจากโลกใบใหญ่นอกครรภ์แม่ การพึ่งตัวเองมีมากขึ้นตามลำดับ
เขาต้องกินเอง ดื่มเอง หัดเดินเอง และการที่ได้คิดเอง ทำเองนี่แล เป็นความปรารถนาสุดยอดของชีวิต
ความยิ่งใหญ่ของชีวิตอยู่ที่ได้รับอิสรภาพตามลำดับ เป็นอิสระทั้งกายและใจตามที่พระพุทธองค์ตรัสสอนเรื่องวิมุติ ความหลุดพ้น แท้จริงแล้วก็คืออิสรภาพนั่นเอง เพราะหลุดพ้นจากบ่วงจึงเป็นอิสระแล้ว อะไรคือบ่วงคล้องชีวิต
ต่อมาเมื่อโตขึ้นอีกหน่อย เขาก็หัดเดินเอง วิ่งเอง วินาทีแรกที่เขาเกินเองได้โดยที่ไม่มีคุณแม่คอยประคอง เป็นวินาทีแห่งความสุข เมื่อเขายืนด้วยลำแข้งของตนเองได้เป็นอิสระไม่เป็นภาระของใคร เป็นตัวของตัวเองแล้ว ความภูมิใจจะเกิดขึ้นทันที
เขาจะรู้สึกมั่นใจในชีวิต แต่ก็มั่นใจเพราะมีคุณพ่อคุณแม่ยืนเคียงข้าง เพราะภายในจิตลึกๆ ก็ยังต้องการที่พึ่งอยู่ ใจยังต้องมีที่พักพิงที่มั่นคง นั่นคือที่พึ่งอันอบอุ่นจากคุณพ่อคุณแม่
วัยเด็กนี้เอง เป็นวันที่หนูน้อยต้องได้รับการอบรมบ่มเพาะปลูกฝังจริต นิสัย ใจคอ เรียนรู้ดีชั่ว ควรมิควร เรียนรู้ ถูกกับผิด จากคุณพ่อคุณแม่ ก่อนที่จะออกไปสู่โลกกว้าง ทางไกล
การเรียนรู้ถูกกับผิดนั้น เรียนได้จากทุกสถานที่ เพราะเป็นขาวกับดำชัดเจน และมีกฎเกณฑ์ตายตัว ส่วนการจะรู้ว่าอะไร ควรไม่ควร นั้นยาก ต้องใช้ใจต่อใจ ใช้จิตสำนึกแทนตัวอักษร ซึ่งคุณพ่อคุณแม่เท่านั้นจะให้เราได้ดีกว่าใครๆ ในข้อนี้
บางครั้งสิ่งที่ว่าถูกต้องนั่นเองกลับเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ ไม่ควรพูด ไม่ควรคิด เรื่องละเอียดอ่อนเช่นนี้ คนที่จะกล้าบอกเรา ก็มีแต่คนที่รักเราจริงๆ เท่านั้น แล้วใครเล่าจะรักเราบริสุทธิ์ มีความเมตตาอาทร และอ่อนโยนเท่ากับพ่อแม่
โตมาหน่อย เราก็ต้องเรียนรู้โลกกว้าง มีการศึกษา มีงานทำ มีครอบครัว แล้วชีวิตใหม่ต้วน้อยก็ถือกำเนิดมาดูโลกกับเราอีก เจ้าหนูน้อยก็เป็นอย่างที่เราเคยเป็น เขาเริ่มต้นชีวิตอย่างที่เราเคยเริ่มต้นมา วันผ่านไป วัยก็ตามมา แต่สิ่งที่ผ่านมามิใช่เพียงกาลเวลาที่ผ่านไป ทุกอย่างได้จารึกปรัชญาชีวิตเอาไว้ให้เราได้รำลึกถึงทุกเหตุการณ์ณ์เสมอ แม้ความจำจะลืมบางอย่างไปแต่ใจยังจดจำ
ขณะที่ลูกเจริญไปข้างหน้า ความชราตามหาเรา วัยเราเจริญลง วัยลูกเจริญขึ้น ก็มาถึงช่วงวัยแก่เฒ่า เราอาจคิดว่าตัวเองแก่ เพราะเห็นหน้าตาเหี่ยวย่น ผมหงอก ฟันหลุด เจ็บปวด ป่วยไข้ไม่สบาย เรี่ยวแรงหมด นั่งโอย แม้นอนก็ยังโอย เราคิดว่านี่คือวัยชรา
ความเป็นจริงเราชรามาตั้งแต่เกิด ชรามาเยือนเราตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ แต่เราไม่คิดกันเท่านั้นเอง
คำว่า “วัย” ที่เราพูดว่าเจริญวัย แท้จริงก็คือเจริญความเสื่อมเพราะคำว่า “วัย” แปลว่า “เสื่อมสินไป” เราแก่ตั้งแต่เกิด เรามิได้แก่เฉพาะวันนี้เท่านั้น
และแล้วก็มาถึงบั้นปลายของชีวิต เราเรียกว่า “ตาย” ความจริงตายไม่มี ตายเป็นเพียงคำสมมติเรียกชื่อ “ทิพยโอสถ” ที่สามารถรักษาโรคร้ายทุกชนิด
ที่เราสมมติเรียกว่าตายนั้น เป็นแต่เพียงธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ปรับความสมดุลเท่านั้นเอง
ความสมดุลของธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ คือการดำรงอยู่อย่างเป็นสุขของชีวิต ถ้าธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ขาดความสมดุล ชีวิตก็เป็นทุกข์เพราะความเจ็บ ก็คือความไม่สมดุลของธาตุทั้ง ๔ ขันธ์ ๕
เมื่อเจ็บมาก ก็แสดงว่า ธาตุตัวใดตัวหนึ่งทำงานบกพร่อง เช่น อาหารไม่ย่อยเราก็เป็นทุกข์ แสดงว่าธาตุไฟไม่ทำงาน ธาตุดินมีปัญหา ระบบเลือดแย่ แสดงว่าธาตุน้ำเดินไม่สะดวก เป็นต้น
เมื่อธาตุทั้ง ๔ ทำงานไม่ได้ หรือทำงานไม่คล่องตัว ตัวชีวิตก็รวนเร ทรงตัวอยู่ไม่ได้ ก็จำเป็นต้องปรับสภาพเพื่อให้อยู่ได้ วิธีปรับสภาพอาจจะด้วยวิธีใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย มีเยียวยา หรือผ่าตัด สุดแท้แต่ความเหมาะสม
ในโลกแห่งเทคโนโลยี มนุษย์เราช่างอาจหาญพากเพียรต่อสู้เอาชนะความตายด้วยวิธีการต่างๆ แต่สุดท้ายก็พ่ายแพ้ เพราะเป็นการพยายามที่ฝืนระบบธรรมชาติ หากไม่ฝืนธรรมชาติ วินาทีธาตุขันธ์แยกจากกัน ก็จะเป็นความสงบสุขมากกว่านี้ เพราะไม่ได้ถูกบีบบังคับ
ความจริง คนเราเมื่อถึงจุดหนึ่งก็ควรจะปล่อยให้ธรรมชาติเยียวยาดีกว่า มิใช่ยอมให้เทคโนโลยีมาก้าวก่ายจนเกินไป ชีวิตมาจากธรรมชาติ ก็จำเป็นต้องใช้ธรรมชาติเยียวยา มิใช่เทคโนโลยีจนนาทีสุดท้าย
ธรรมชาติคือหมอที่ดีที่สุดของชีวิต เมื่อธาตุ ๔ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตัวเองขั้นสุดท้าย ขอยืนยันว่า มิใช่เทคโนโลยี มิใช่เครื่องมือทางวัตถุ ต้องเป็นธรรมชาติ มนุษย์เราควรปล่อยให้ตัวชีวิตเป็นอิสระก่อนสิ้นลมจะดีกว่า เพื่อให้ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ปรับสภาพเข้าหากันให้ลงตัว ให้จบลงอย่างเป็นสุข
ธรรมชาติไม่เคยทำลายใคร ไม่เคนก่อทุกข์ให้ใคร การฝึกต่างหากที่เป็นการก่อทุกข์ ขอให้มั่นใจในระบบการทำงานของธรรมชาติเพราะตัวตนของเรามาจากธรรมชาติ
เพราะฉะนั้น ความตายไม่มี มีแต่เพียงการปรับเปลี่ยนสภาวะของธาตุขันธ์เท่านั้น เหมือนกับตะวันออกตะวันตกไม่มี มีเพียงการเคลื่อนไหว หมุนตัว (วัฏฏะ) ของลูกโลก เมื่อมองจากจุดที่อยู่เหนือโลก (โลกุตระ) หรือนอกโลกเรา คือมองจากความเป็นจริงมิใช่มองจากสิ่งที่เราเห็นด้วยตา เช่น มุมมองจากยานอวกาศ เราก็จะเห็นเพียงลูกโลกดวงกลมๆ ไม่มีที่ใดบอกว่าตะวันออกด้านนี้ตะวันตกด้านโน้น ทุกอย่างเป็นวงโคจรการทำงานตามธรรมชาติในระบบสุริยจักรวาล
เมื่อมองจากสภาวะที่เป็นจริงของชีวิตในมุมที่เป็นจริง เกิดแก่เจ็บตายก็เป็นการทำงานตามระบบธรรมชาติเท่านั้น เกิด แก่ เจ็บ ตาย จึงเป็นเพียงวงจรการเดินทาง (สังสารวัฏ) ของชีวิต เหมือนเราเห็นพระอาทิตย์ขึ้น แล้วก็เดินทางไปสู่การอัสดง นั่นเป็นการมองตามที่ตาเห็นเท่านั้น
เมื่อเราไม่เห็นดวงอาทิตย์ เราคิดว่าอาทิตย์ตกดิน แต่ความจริงมิใช่ดวงอาทิตย์ตกดิน และก็มิใช่ว่าไม่มีดวงอาทิตย์ วินาทีที่หายไปจากสายตาเรานั่นเอง ดวงอาทิตย์ก็ไปปรากฏแก่สายตาของคนอีกผากหนึ่งของมุมโลก
อีกมิติหนึ่งของชีวิตก็เช่นกัน เมื่อธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ แยกกันตามธรรมชาติเราร้องไห้เสียใจ เพราะมองว่าเป็นการตาย มองเห็นเหมือนอาทิตย์อัสดง แต่อาจจะมีมิติหนึ่งที่กำลังหัวเราะดีใจรับชีวิตใหม่เหมือนกับคนอีกฟากหนึ่ง กำลังรอให้พระอาทิตย์อุทัยแสงในมุมของตน
นี่คือสิ่งที่พิจารณาตามความจริง ทั้งระบบสุริยจักรวาลและระบบของชีวิต ซึ่งชีวิตเองเป็นเพียงเศษธุลีของ สุริยจักรวาลเท่านั้น
มนุษย์เกิดมาสู่โลก นึกว่าโลกนี้เป็นของเรา เราเป็นเจ้าของจึงยึดยื้อฉุดแย่งแบ่งปันกันเป็นเจ้าของ ความยึดมั่นครอบครองจึงเกิดขึ้น เพราะมนุษย์ยึดติด กำโลกไว้แน่นนี่เอง เขาจึงเป็นทุกข์ เป็นทุกข์เนื่องจากไม่เคยสมหวังในสิ่งใดจริงๆ พอกำสิ่งนี้ไว้ได้ อย่างอื่นก็หลุดมือ ต้องคว้าหาใหม่ตลอดเวลา เมื่อได้มาก็ดูเหมือนดีใจ แต่พอเสียไปก็เป็นทุกข์
ความจริงแล้ว ไม่มีอะไรเลยจริงๆ ที่เข้าไปยึดถือแล้วไม่ทำให้เราเจ็บตัว แม้จะเป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ก็ตามท่านจึงสอนให้อยู่ในโลกนี้อย่างบางเบา สัมผัสสมบัติของโลกแต่เพียงแผ่วเบา อย่าหอบหิ้ว แบกหาม กอดกำ เหนี่ยวรั้ง คือ เมื่อทำชีวิตบนโลกให้บางเบา แล้วเราจะพอหาความสุขในชีวิตได้บ้าง แต่ถ้าพิจารณาความจริงของชีวิตและของโลก ต้องให้หนักแน่น ทำแผ่วเบาไม่ได้
แปลว่า ถึงจุดหนึ่ง ต้องไม่คิดแบกหามยึดมั่นมาก เพราะไม่มีอะไรเป็นของเราจริงๆ แม้สิ่งที่เรามีกรรมสิทธิ์วันนี้ สุดท้ายก็มิใช่ของเรา สิ่งที่เรารักที่สุดก็ไม่อาจอยู่กับเราได้ เพราะสุดท้ายปลายทางเราต้องจากสิ่งนั้นไป ทิ้งทุกอย่างไว้ให้คนข้างหลังดูแล ชีวิตเป็นของน้อยอย่างนี้
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 24, 2010, 04:02:52 PM โดย nathaponson »
-
อภัยทาน มีวิธีการปฏิบัติอย่างไร ?
-http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=479.0-
มีเรื่องเล่าว่า เหล่าเทพบุตรเทพธิดากำลังเก็บดอกไม้บนสรวงสวรรค์ เทพธิดาตนหนึ่งลงมาเกิดเป็นมนุษย์ในตระกูลดี มีสามี มีลูก มีทรัพย์สมบัติมาก ทำบุญทำทาน รักษาศีล เจริญสมาธิปัญญาในพระพุทธศาสนา ทำประโยชน์ให้แก่แผ่นดินมาก เมื่ออายุได้ ๙๐ กว่า ก็สิ้นอายุ เธอไปเกิดเป็นเทพธิดาอีกครั้ง หัวหน้าเทพเมื่อเห็นเธอจึงถามว่า เมื่อเช้านี้เธอหายไปไหน
เธอก็เล่าให้ฟังว่า เธอไปเกิดในมนุษย์โลก มีครอบครัวแสวงหาสมบัติ เกลือกกลั้ว เกลื่อนกล่นอยู่กับการมี การเป็น มีสามี มีลูก มีเกียรติ มียศ มีเพื่อนฝูง มีบริวาร เลี้ยงลูกจนเติบโต มีหลาน มีเหลนไม่น้อย และเธอก็มีอายุยืนถึง ๙๐ ปี ด้วยอานิสงส์บุญเมื่อตายลงจึงมาเกิดที่นี่อีก
เทพบุตรฟังแล้วถึงกับตะลึงว่า ชีวิต ๙๐ ปีในโลกมนุษย์นั้นเป็นเพียงชั่วเวลาเช้าถึงเที่ยงของเทวโลกเท่านั้นหรือ
บาง ท่านอาจไม่เข้าใจ แต่เมื่อมองดูภพภูมิต่างมิติระหว่างมนุษย์เรากับสัตว์เดรัจฉานก็น่าจะเห็น ได้ชัด สัตว์บางตัวมีอายุเพียง ๗ วัน ๑๕ วัน ๑ เดือน เขาก็เต็มที่แล้ว ขณะที่เรามีอายุขัย ๘๐ หรื ๙๐ ปี หรือสัตว์เดรัจฉานบางชนิดก็มีอายุมากกว่าเราหลายเท่า เช่น เต่า ช้าง เป็นต้น
การเรียนรู้ชีวิต ต้องมองให้เห็นความจริงทั้งในภพกว้างและมุมแคบ เพื่อคลายความติดยึดอันรุนแรง ที่ท่านเรียกว่า "อุปทาน” ตัวติดยึดนี่เอง คือจุดกำเนิดแห่งทุกข์ทั้งปวง
เราอยู่ในโลกยุคเทคโนโลยี โลกทั้งโลกอยู่ในกำมือเราก็จริงแต่ไม่อาจกำทุกสิ่งไว้ในอำนาจ ทุกอย่างผ่านมาแล้วก็ผ่านไป
การมองชีวิตตามหลักสัจธรรม ตามธรรมชาติ แก้ทุกข์ได้ยิ่งคราที่ใจได้ทุกข์ถึงที่สุดเราต้องกล้าหาญ มองให้เห็นความจริง กล้าเผชิญรากแก้วความจริงอันประเสริฐ (อริยสัจ) นี้ให้ได้ เพราะความจริงทำให้คนฉุกคิดได้ ความจริงตามธรรมชาติไม่เคยทำร้ายใคร หรือทำลายใคร ท่านจึงบอกว่าประเสริฐ สิ่งที่ทำให้คนลุ่มหลงต่างหากที่ประทุษร้ายคน
ความตายไม่มี มีเพียงการปรับสภาพของธาตุขันธ์
เมื่อปรับเปลี่ยนได้ที่ ซ่อมแซมจุดบกพร่องได้แล้ว ก็มารวมตัวกันใหม่ เราก็สมมติว่า “เกิด” เมื่อเกิดแล้วโต แก่เฒ่า และทำงานหนัก เมื่อชำรุดทรุดโทรมก็จำเป็นต้องซ่อม หากซ่อมไม่ไหวก็แยกส่วน ซึ่งเราสมมติเรียกว่า “ตาย"” และก็วนเวียนกันอยู่เช่นนี้ เกิด-ตาย เกิด-ตาย เป็นวังวนแห่งสังสารวัฏ ชีวิตมีเท่านี้จริงๆ
“ความตายไม่มี มีแต่การปรับเปลี่ยนเพื่อความสมดุลของธรรมชาติเท่านั้น”
คำนี้สำคัญ ที่เราควรใคร่ครวญพิจารณาทุกเช้า หลังตื่นนอน ก่อนออกจากบ้าน แม้ในที่ทำงาน
ขณะที่ย่ำเท้าเปล่าลงบนยอดหญ้า ก่อนจะลงมือทำอะไรทั้งหมดในวันนั้น ให้พิจารณาความจริงตรงนี้ก่อน ให้รุ่งอรุณของแต่ละวันเป็นรุ่งอรุณที่สดใส เป็นรุ่งอรุณที่งดงามกับชิต
ขณะที่พระอาทิตย์ทอแสงส่องโลก ปัญญาต้องทอแสงส่องใจ
การปรับเปลี่ยนชีวิตต้องการวิถีธรรมชาติ มิใช่เทคโนโลยี หมอที่ดีที่สุดที่จะปรับความสมดุลของธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ คือธรรมชาติ
การเข้าใจระบบการทำงานของธรรมชาติ ต้องเท้าเปล่าสัมผัสดิน ต้องทำใจให้อยู่เหนืออารมณ์ มองโลกตามความเป็นจริง เมื่อเข้าใจธรรมชาติ ก็จะเข้าใจสัจธรรม และการกล้าเผชิญความจริงของชีวิตเท่านั้น ที่จะช่วยรักษาเยียวยาคราวที่ทุกข์สัมผัสใจ
โอกาสตรงนี้ ทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะอยู่ในภาวะหรือฐานะใด เพียงแต่ใครจะเริ่มต้นเรียนรู้ก่อนใครเท่านั้นเอง
...
ขอขอบคุณที่มาบทความ : หนังสือ อภัยทาน รักบริสุทธิ์ โดย ปิยโสภณ วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก
http://www.dhammasavana.or.th/article.php?a=131 (http://www.dhammasavana.or.th/article.php?a=131)
-
อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ติกนิบาต
ปัญจมวรรค ทานสูตร
-http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=278-
อรรถกถาทานสูตร
ในทานสูตรที่ ๙ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
บทว่า ทานํ ได้แก่ สิ่งที่พึงให้. อีกอย่างหนึ่ง เจตนาพร้อมด้วยวัตถุ ชื่อว่าทาน. บทว่า ทาน นี้ เป็นชื่อของการบริจาคสมบัติ. บทว่า อามิสทานํ ความว่า ปัจจัย ๔ ชื่อว่าอามิสทานด้วยสามารถแห่งความเป็นของที่จะต้องให้.
อธิบายว่า ปัจจัย ๔ เหล่านั้น ท่านเรียกว่าอามิส เพราะเป็นเครื่องจับต้องด้วยกิเลสมีตัณหาเป็นต้น. อีกอย่างหนึ่ง เจตนาเป็นเครื่องบริจาคปัจจัย ๔ เหล่านั้น ชื่อว่าอามิสทาน.
บทว่า ธมฺมทานํ ความว่า บุคคลบางคนในพระศาสนานี้ เมื่อ (แสดง) จำแนกกุศลกรรมบถ และอกุศลกรรมบถออกไปว่า
ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล
ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ
ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้ตำหนิ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้สรรเสริญ
ธรรมเหล่านี้สมาทานให้บริบูรณ์แล้วย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งไร้ประโยชน์ เพื่อทุกข์ ธรรมเหล่านี้ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ดังนี้
กระทำกรรมและผลของกรรมให้ปรากฏ ดุจชี้ให้เห็นโลกนี้และโลกหน้า โดยประจักษ์แสดงธรรม ให้เลิกละอกุศลธรรม ให้ตั้งอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย นี้ชื่อว่าธรรมทาน
ส่วนบุคคลบางพวกชี้แจงสัจจะทั้งหลายให้แจ้งชัดว่า
ธรรมเหล่านี้เป็นอภิญไญยธรรม
ธรรมเหล่านี้เป็นปริญไญยธรรม
ธรรมเหล่านี้เป็นปหาตัพพธรรม
ธรรมเหล่านี้เป็นสัจฉิกาตัพพธรรม
ธรรมเหล่านี้เป็นภาเวตัพพธรรม ดังนี้
แสดงธรรมอันเป็นข้อปฏิบัติ เพื่อบรรลุอมตธรรม นี้ชื่อว่าธรรมทานขั้นสุดยอด.
บทว่า เอตทคฺคํ ตัดบทเป็น เอตํ อคฺคํ แปลว่า (ธรรมทานนี้เป็นเลิศ).
บทว่า ยทิทํ ความว่า บรรดาทานสองอย่างเหล่านี้ ธรรมทานที่กล่าวแล้วนี้นั้น เป็นเลิศคือประเสริฐสุด ได้แก่สูงสุด.
อธิบายว่า บุคคลจะหลุดพ้นจากอนัตถะทั้งปวง คือก้าวล่วงทุกข์ในวัฏฏะทั้งสิ้นได้ ก็เพราะอาศัยธรรมทานอันเป็นอุบายเครื่องยังสัตว์ให้ถึงพระนิพพาน ก็ธรรมทานที่เป็นโลกิยะ เป็นเหตุแห่งทานทุกอย่าง คือเป็นรากเง่าของสมบัติทั้งปวง ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า
การให้ธรรม ย่อมชนะการให้ทั้งปวง
รสแห่งพระธรรม ย่อมชนะรสทั้งปวง
ความยินดีในธรรม ย่อมชนะความยินดีทั้งปวง
ความสิ้นไปแห่งตัณหา ย่อมชนะทุกข์ทั้งปวง ดังนี้.๑-
____________________________
๑- ขุ. ธ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๓๔
ในอธิการนี้ อภัยทานพึงทราบว่า ทรงสงเคราะห์เข้ากันด้วยธรรมทานนั่นเอง. การไม่บริโภคปัจจัยทั้งหลายเสียเอง แต่ปัจจัย ๔ อันตนพึงบริโภคแล้วแจกจ่ายแก่คนเหล่าอื่น โดยมีความประสงค์จะเผื่อแผ่แก่คนทั่วไป ชื่อว่า อามิสฺสํวิภาโค (แจกจ่ายอามิส). ความเป็นผู้ไม่มีความขวนขวายน้อย แสดงอ้างธรรมที่ตนรู้แล้ว คือบรรลุแล้วแก่คนเหล่าอื่น โดยมีความประสงค์จะเผื่อแผ่ธรรมแก่คนทั่วไป ชื่อว่า ธมฺมสํวิภาโค (แจกจ่ายธรรม).
การอนุเคราะห์ การสงเคราะห์คนเหล่าอื่นด้วยปัจจัย ๔ และด้วยสังคหวัตถุ ๔ ชื่อว่า อามิสานุคฺคโห (อนุเคราะห์ด้วยอามิส). การอนุเคราะห์ การสงเคราะห์คนเหล่าอื่นด้วยธรรม โดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแหละ ชื่อว่า ธมฺมานุคฺคโห (อนุเคราะห์ด้วยธรรม).
คำที่เหลือมีนัยกล่าวแล้วทั้งนั้น.
พึงทราบวินิจฉัยในคาถาทั้งหลาย ดังต่อไปนี้
บทว่า ยมาหุ ทานํ ปรมํ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลายตรัส ทานใดว่าเยี่ยม คือสูงสุด โดยความที่จิต (เจตนา) เขต (ปฏิคาหก) และไทยธรรมเป็นของโอฬาร หรือโดยยังโภคสมบัติเป็นต้นให้บริบูรณ์ คือยังโภคสมบัติเป็นต้นให้เผล็ดผล.
อีกอย่างหนึ่ง ตรัสว่าเยี่ยม เพราะย่ำยีคือกำจัดธรรมที่เป็นปฏิปักษ์อื่นๆ มีโลภะและมัจฉริยะเสียได้.
บทว่า อนุตฺตรํ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลายตรัสทานใด ชื่อว่าเว้นจากทานอื่นที่ยอดเยี่ยมกว่า และให้สำเร็จความยิ่งใหญ่ เพราะยังเจตนาสมบัติเป็นต้นให้เป็นไปดียิ่ง และเพราะความเป็นทานมีผลเลิศ โดยความเป็นยอดทาน.
แม้ในบทว่า ยํ สํวิภาค นี้พึงนำเอาบททั้งสองว่า ปรมํ อนุตฺตรํ มาเชื่อมประกอบเข้าด้วย.
บทว่า อวณฺณยิ ความว่า ประกาศแล้ว คือสรรเสริญแล้ว โดยนัยมีอาทิว่า๒-
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทายกเมื่อให้โภชนะ ชื่อว่าย่อมให้ฐานะทั้ง ๕ แก่ปฏิคาหกทั้งหลาย ดังนี้ และโดยนัยมีอาทิว่า๓-
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าสัตว์ทั้งหลายพึงรู้ผลของการจำแนกทานอย่างนี้ ดังนี้.
____________________________
๒- องฺ. ปญฺจก. เล่ม ๒๒/ข้อ ๓๗
๓- ขุ. อิติ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๒๐๔
ก็เพื่อจะทรงแสดงทานและวิธีที่การจำแนกทานว่า (มีผล) อย่างยิ่ง คือยอดเยี่ยมนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำมีอาทิว่า อคฺคมฺหิ ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อคฺคมฺหิ ความว่า ในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และในพระอริยสงฆ์ผู้ประเสริฐที่สุด คือเป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยม เพราะประกอบไปด้วยคุณพิเศษมีศีลเป็นต้น.
บทว่า ปสนฺนจิตฺโต ความว่า ยังจิตให้เลื่อมใส คือกำหนดด้วยความเชื่อกรรมและผลแห่งกรรม และความเชื่อในพระรัตนตรัย.
อธิบายว่า ทานคือการให้ไทยธรรมแม้น้อย ย่อมมีอานุภาพมาก คือสว่างโชติช่วง แผ่ไพศาลไปได้มาก เพราะความถึงพร้อมด้วยจิต (เจตนาสัมปทา) และเพราะความถึงพร้อมด้วยเขต (ปฏิคาหก).
สมดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้วว่า
เมื่อจิตเลื่อมใสแล้ว ทักษิณาทาน (ที่บำเพ็ญ)
ในพระตถาคตเจ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและสาวก
ของพระองค์ ชื่อว่ามีผลน้อย ย่อมไม่มี ดังนี้.๔-
____________________________
๔- ขุ. วิมาน. เล่ม ๒๖/ข้อ ๔๗
บทว่า วิญฺญู ได้แก่ ผู้มีปัญญา.
บทว่า ปชานํ ความว่า รู้ชัดซึ่งผลของทานและอานิสงส์ของทานโดยชอบทีเดียว.
บทว่า โก น ยเชถ กาเล ความว่า ใครเล่าจะไม่ให้ทานในกาลเวลาที่สมควร.
อธิบายว่า ทานย่อมสำเร็จ (เกิดมีพร้อม) เฉพาะในเวลาที่ประจวบกับเหตุ ๓ อย่างเหล่านี้ คือ ศรัทธา ๑ ไทยธรรม ๑ ปฏิคาหก ๑ ไม่ใช่เกิดมีได้โดยประการอื่น.
อีกอย่างหนึ่ง จะให้ (ทาน) แก่ปฏิคาหกทั้งหลายได้ ในกาลอันควร (เท่านั้น)
พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงการจำแนกและอนุเคราะห์ด้วยอามิสทาน ด้วยพระคาถาที่หนึ่งอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงการจำแนกและการอนุเคราะห์ด้วยธรรมทาน จึงตรัสพระคาถาที่สองว่า เย เจว ภาสนฺติ ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุภยํ ความว่า คนทั้ง ๒ ฝ่าย คือผู้แสดง (และ) ผู้ฟัง (ผู้รับ) ที่ท่านกล่าวไว้แล้วว่า ภาสนฺติ สุณนฺติ (ย่อมกล่าว ย่อมฟัง) ดังนี้.
ก็ในบทว่า อุภยํ นั้น มีความย่อดังต่อไปนี้
คนเหล่าใดมีจิตเลื่อมใสแล้วในศาสนา คือพระสัทธรรมของพระสุคต คือพระผู้มีพระภาคเจ้าตั้งอยู่ในธรรมที่เป็นประธาน คือวิมุตตายตนะย่อมแสดงด้วย ย่อมฟังด้วยประโยชน์ กล่าวคือธรรมทาน การแจกจ่ายธรรม และการอนุเคราะห์ด้วยธรรมของผู้แสดงและปฏิคาหกเหล่านั้น ชื่อว่ายอดเยี่ยม เพราะยังปรมัตถประโยชน์ให้สำเร็จ ชื่อว่าย่อมบริสุทธิ์ เพราะหมดจดจากมลทินที่ทำความเศร้าหมองทุกอย่างมีความเศร้าหมองเพราะตัณหาเป็นต้น
ถามว่า ของคนเช่นไร?
ตอบว่า ของคนผู้ไม่ประมาทในคำสอนของพระสุคต ก็คนเหล่าใดไม่ประมาทในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือในโอวาทที่ทรงพร่ำสอนที่พระองค์ทรงประกาศแล้วโดยสังเขปอย่างนี้ว่า๕-
การไม่ทำบาปทั้งปวง ๑
การยังกุศลให้ถึงพร้อม ๑
การยังจิตของตนให้ผ่องแผ้ว ๑
นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.
____________________________
๕- ที. มหา. เล่ม ๑๐/ข้อ ๕๔ ขุ. ธ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๒๔
ดังนี้ แล้วยังสิกขา ๓ มีอธิสีลสิกขาเป็นต้นให้ถึงพร้อมโดยเคารพ ประโยชน์ย่อมบริสุทธิ์แก่คนเหล่านั้น ย่อมยังคนเหล่านั้นให้ผ่องแผ้วเกินเปรียบ ด้วยอรหัตผลวิสุทธิฉะนี้แล.
จบอรรถกถาทานสูตรที่ ๙
---------------------------------
.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ติกนิบาต ปัญจมวรรค ทานสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 277อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 278อ่านอรรถกถา 25 / 279อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=6453&Z=6470 (http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=6453&Z=6470)
.
-
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕
อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
-http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=23&A=5079&Z=5126-
ปุญญาภิสันทสูตร
[๑๒๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ห้วงบุญห้วงกุศล ๘ ประการนี้ นำความสุข
มาให้ ให้อารมณ์เลิศ มีสุขเป็นผล เป็นไปเพื่อสวรรค์ เป็นไปเพื่อสิ่งที่น่า
ปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ห้วงบุญ
ห้วงกุศล ๘ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ถึง
พระพุทธเจ้าเป็นสรณะ นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศลประการที่ ๑ นำความสุขมาให้ ให้
อารมณ์เลิศ มีสุขเป็นผล เป็นไปเพื่อสวรรค์ เป็นไปเพื่อสิ่งที่น่าปรารถนา
น่าใคร่ น่าพอใจ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ฯ
อีกประการหนึ่ง อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ถึงพระธรรมเป็นสรณะ
นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศลประการที่ ๒ ฯลฯ
อีกประการหนึ่ง อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ นี้
เป็นห้วงบุญห้วงกุศลประการที่ ๓ ฯลฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทาน ๕ ประการนี้ เป็นมหาทาน อันบัณฑิตพึงรู้ว่า
เป็นเลิศ มีมานาน เป็นเชื้อสายแห่งพระอริยะ เป็นของเก่า ไม่กระจัดกระจาย
ไม่เคยกระจัดกระจาย อันบัณฑิตไม่รังเกียจอยู่ จักไม่รังเกียจ อันสมณพราหมณ์
ผู้เป็นวิญญูไม่เกลียด ทาน ๕ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกใน
ธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละปาณาติบาต งดเว้นจากปาณาติบาต ดูกรภิกษุทั้งหลาย
อริยสาวกผู้งดเว้นจากปาณาติบาต ชื่อว่าให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่
เบียดเบียน แก่สัตว์หาประมาณมิได้ ครั้นให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความ
ไม่เบียดเบียนแก่สัตว์หาประมาณมิได้แล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งความไม่มีภัย
ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียน หาประมาณมิได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็น
ทานประการที่ ๑ ที่เป็นมหาทาน บัณฑิตพึงรู้ว่าเป็นเลิศ มีมานาน เป็นเชื้อสาย
แห่งพระอริยะ เป็นของเก่า ไม่กระจัดกระจาย ไม่เคยกระจัดกระจาย อันบัณฑิต
ไม่รังเกียจ อันสมณพราหมณ์ผู้เป็นวิญญูไม่เกลียด ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นห้วง
บุญห้วงกุศลประการที่ ๔ ฯลฯ
อีกประการหนึ่ง อริยสาวกละอทินนาทาน งดเว้นจากอทินนาทาน ฯลฯ
นี้เป็นทานประการที่ ๒ ฯลฯ นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศลประการที่ ๕ ฯลฯ
อีกประการหนึ่ง อริยสาวกละกาเมสุมิจฉาจาร งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร
ฯลฯ นี้เป็นทานประการที่ ๓ ฯลฯ นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศลประการที่ ๖ ฯลฯ
อีกประการหนึ่ง อริยสาวกละมุสาวาท งดเว้นจากมุสาวาท ฯลฯ นี้
เป็นทานประการที่ ๔ ฯลฯ นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศลประการที่ ๗ ฯลฯ
อีกประการหนึ่ง อริยสาวกละการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็น
ที่ตั้งแห่งความประมาท งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้ง
แห่งความประมาท ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ
สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทแล้ว ชื่อว่าให้ความไม่มีภัย ความ
ไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนแก่สัตว์หาประมาณมิได้ ครั้นให้ความไม่มีภัย ความ
ไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนแก่สัตว์หาประมาณมิได้แล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่ง
ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนหาประมาณมิได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย
นี้เป็นทานประการที่ ๕ ที่เป็นมหาทาน บัณฑิตพึงรู้ว่าเป็นเลิศ มีมานาน เป็น
เชื้อสายแห่งพระอริยะ เป็นของเก่า ไม่กระจัดกระจาย ไม่เคยกระจัดกระจาย
อันบัณฑิตไม่รังเกียจ จักไม่รังเกียจ อันสมณพราหมณ์ผู้เป็นวิญญูไม่เกลียด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศลประการที่ ๘ นำสุขมาให้ ให้อารมณ์
อันเลิศ มีสุขเป็นผล เป็นไปเพื่อสวรรค์ ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งที่น่าปรารถนา
น่าใคร่ น่าพอใจ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ห้วงบุญห้วงกุศล ๘ ประการนี้แล นำสุขมาให้ ให้อารมณ์อันเลิศ มีสุขเป็นผล
เป็นไปเพื่อสวรรค์ ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เพื่อ
ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ฯ
จบสูตรที่ ๙
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ บรรทัดที่ ๕๐๗๙ - ๕๑๒๖. หน้าที่ ๒๑๙ - ๒๒๑. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=23&A=5079&Z=5126&pagebreak=0 (http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=23&A=5079&Z=5126&pagebreak=0)
ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=23&i=129 (http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=23&i=129)
สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ http://84000.org/tipitaka/read/? (http://84000.org/tipitaka/read/?)
สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่_๒๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_23 (http://84000.org/tipitaka/read/?index_23)
.
-
๗๔.พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓
-http://www.dhammahome.com/front/tipitaka/show.php?id=74-
จริยาปิฎก
๑. การบำเพ็ญทานบารมี
๑. อกิตติจริยา
ว่าด้วยจริยาวัตรของอกิตติดาบส
[๑] ในสี่อสงไขยแสนกัป ความประพฤติอันใดในระหว่างนี้ ความประพฤติทั้งหมดนั้น เป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณ เราจักเว้นความประพฤติในภพน้อยใหญ่ในกัปล่วงแล้วเสีย จักบอกความประพฤติในกัปนี้ จงฟังเรา ในกาลใด เราเป็นดาบส ชื่ออกิตติ เข้าไปอาศัยอยู่ในป่าใหญ่อันว่างเปล่า สงัดเงียบ ปราศจากเสียงอื้ออึง ในกาลนั้น ด้วยเดชแห่งการประพฤติตบะของเรา สมเด็จอัมรินทร์ผู้ครองไตรทิพย์ทรงร้อนพระทัย ทรงแปลงเพศเป็นพราหมณ์เข้ามาหาเราเพื่อภิกษา เราได้เห็นอินทพราหมณ์มาขึ้นอยู่ใกล้ประตูบรรณศาลาของเรา จึงเอาใบหมากเม่าที่เรานำมาแต่ป่า อันไม่มีน้ำมัน ทั้งไม่เค็มให้หมด พร้อมกับภาชนะ.
ครั้นได้ให้หมากเม่าแก่อินทพราหมณ์นั้นแล้ว เราจึงคว่ำภาชนะ ละการแสวงหารบทมากเม่าใหม่ เข้าไปยังบรรณศาลา แม้ในวันที่ ๒ แม้ในวันที่ ๓ อินทพราหมณ์ก็เข้ามายังสำนักของเรา เราไม่หวั่นไหว ไม่อาลัยในชีวิต ได้ให้หมดสิ้นเช่นวันก่อนเหมือนกัน ในสรีระของเราไม่มีความหมองศรีเพราะการอดอาหารนั้นเป็นปัจจัย เรายังวันนั้น ๆ ให้น้อมล่วงไปด้วย ปีติ สุข และความยินดี ถ้าเราพึงได้ทักขิไณยบุคคลผู้ประเสริฐ แม้เดือนหนึ่งสองเดือนเราก็ไม่หวั่นไหว ไม่ท้อแท้ใจพึงทานอันอุดม เมื่อให้ทานแก่ อินทพราหมณ์นั้น เราจะได้ปรารถนายศและลาภก็หามิได้ เราปรารถนาพระสัพพัญญุตญาณเท่านั้น จึงได้ประพฤติกรรมเหล่านั้น ฉะนี้.
จบอกิตติจริยาที่ ๑
-
อานิสงค์ ของการสร้างบุญบารมี ( ทาน, ศีล, ภาวนา )
โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
-http://www.kanlayanatam.com/sara/sara68.htm-
ทาน
การทำทาน ได้แก่การสละทรัพย์สิ่งของสมบัติของตนที่มีอยู่ให้แก่ผู้อื่น โดยมุ่งหวังจะจุนเจือให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์และความสุขด้วยความเมตตาจิตของตน ทานที่ได้ทำไปนั้น จะทำให้ผู้ทำทานได้บุญมากหรือน้อยเพียงใด ย่อมสุดแล้วแต่องค์ประกอบ ๓ ประการ ถ้าประกอบถึงพร้อมด้วยองค์ประกอบทั้ง ๓ ประการต่อไปนี้แล้ว ทานนั้นย่อมมีผลมาก ได้บุญบารมีมาก กล่าวคือ
องค์ประกอบข้อที่ ๑ . " วัตถุทานที่ให้ต้องบริสุทธิ์ "
วัตถุทานที่ให้ ได้แก่สิ่งของทรัพย์สมบัติที่ตนได้สละให้เป็นทานนั้นเอง จะต้องเป็นของที่บริสุทธิ์ ที่จะเป็นของบริสุทธิ์ได้จะต้องเป็นสิ่งของที่ตนเองได้แสวงหา ได้มาด้วยความบริสุทธิ์ในการประกอบอาชีพ ไม่ใช่ของที่ได้มาเพราะการเบียดเบียนผู้อื่น เช่น ได้มาโดยยักยอก ทุจริต ลักทรัพย์ ฉ้อโกง ปล้นทรัพย์ ชิงทรัพย์ ฯลฯ
ตัวอย่าง ๑ ได้มาโดยการเบียดเบียนชีวิตและเลือดเนื้อสัตว์ เช่นฆ่าสัตว์ต่าง ๆ เป็นต้นว่า ปลา โค กระบือ สุกร โดยประสงค์จะเอาเลือดเนื้อของเขามาทำอาหารถวายพระเพื่อเอาบุญ ย่อมเป็นการสร้างบาปเอามาทำบุญ วัตถุทาน คือเนื้อสัตว์นั้นเป็นของที่ไม่บริสุทธิ์ แม้ทำบุญให้ทานไป ก็ย่อมได้บุญน้อย จนเกือบไม่ได้อะไรเลย ทั้งอาจจะได้บาปเสียอีก หากว่าทำทานด้วยจิตที่เศร้าหมอง แต่การที่จะได้เนื้อสัตว์มาโดยการซื้อหามาจากผู้อื่นที่ฆ่าสัตว์นั้น โดยที่ตนมิได้มีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจในการฆ่าสัตว์นั้นก็ดี เนื้อสัตว์นั้นตายเองก็ดี เนื้อสัตว์นั้นย่อมเป็นวัตถุทานที่บริสุทธิ์ เมื่อนำมาทำทานย่อมได้บุญมากหากถึงพร้อมด้วยองค์ประกอบข้ออื่น ๆ ด้วย
ตัวอย่าง ๒ ลักทรัพย์ ยักยอก ฉ้อโกง ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ รวมตลอดถึงการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง อันเป็นการได้ทรัพย์มาในลักษณะที่ไม่ชอบธรรม หรือโดยเจ้าของเดิมไม่เต็มใจให้ทรัพย์นั้น ย่อมเป็นของที่ไม่บริสุทธิ์ เป็นของร้อน แม้จะผลิดอกออกผลมาเพิ่มเติม ดอกผลนั้นก็ย่อมเป็นของไม่บริสุทธิ์ ด้วยนำเอาไปกินไปใช้ย่อมเกิดโทษ เรียกว่า " บริโภคโดยความเป็นหนี้ " แม้จะนำเอาไปทำบุญ ให้ทาน สร้างโบสถ์วิหารก็ตาม ก็ไม่ทำให้ได้บุญแต่อย่างไร สมัยหนึ่งในรัชการที่ ๕ มีหัวหน้าสำนักนางโลมชื่อ " ยายแฟง " ได้เรียกเก็บเงินจากหญิงโสเภณีในสำนักของตนจากอัตราที่ได้มาครั้งหนึ่ง ๒๕ สตางค์ แกจะชักเอาไว้ ๕ สตางค์ สะสมเอาไว้เช่นนี้จนได้ประมาณ ๒ , ๐๐๐ บาท แล้วจึงจัดสร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งด้วยเงินนั้นทั้งหมด เมื่อสร้างเสร็จแล้วแกก็ปลื้มปีติ นำไปนมัสการถามหลวงพ่อโตวัดระฆังว่าการที่แกสร้างวัดทั้งวัดด้วยเงินของแกทั้งหมดจะได้บุญบารมีอย่างไร หลวงพ่อโตตอบว่า ได้แค่ ๑ สลึง แกก็เสียใจ เหตุที่ได้บุญน้อยก็เพราะทรัพย์อันเป็นวัตถุทานที่ตนนำมาสร้างวัดอันเป็นวิหารทานนั้น เป็นของที่แสวงหาได้มาโดยไม่บริสุทธิ์ เพราะว่าเบียดเบียนมาจากเจ้าของที่ไม่เต็มใจจะให้ ฉะนั้น บรรดาพ่อค้าแม่ขายทั้งหลายที่ซื้อของถูก ๆ แต่มาขายแพงจนเกินส่วนนั้น ย่อมเป็นสิ่งของที่ไม่บริสุทธิ์โดยนัยเดียวกัน
วัตถุทานที่บริสุทธิ์เพราะการแสวงหาได้มาโดยชอบธรรมดังกล่าว ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นของดีหรือเลว ไม่จำกัดว่าเป็นของมากหรือน้อย น้อยค่าหรือมีค่ามาก จะเป็นของดี เลว ประณีต มากหรือน้อยไม่สำคัญ ความสำคัญขึ้นอยู่กับเจตนาในการให้ทานนั้น ตามกำลังทรัพย์และกำลังศรัทธาที่ตนมีอยู่
องค์ประกอบข้อที่ ๒ . " เจตนาในการสร้างทานต้องบริสุทธิ์ "
การให้ทานนั้น โดยจุดมุ่งหมายที่แท้จริงก็เพื่อเป็นการขจัดความโลภ ความตระหนี่เหนียวแน่นความหวงแหนหลงใหลในทรัพย์สมบัติของตน อันเป็นกิเลสหยาบ คือ " โลภกิเลส " และเพื่อเป็นการสงเคราะห์ผู้อื่นให้ได้รับความสุขด้วย เมตตาธรรมของตน อันเป็นบันไดก้าวแรกในการเจริญเมตตา พรหมวิหารธรรมในพรหมวิหาร ๔ ให้เกิดขึ้น ถ้าได้ให้ทานด้วยเจตนาดังกล่าวแล้ว เรียกว่าเจตนาในการทำทานบริสุทธิ์ แต่เจตนาที่ว่าบริสุทธิ์นั้น
ถ้าจะบริสุทธิ์จริงจะต้องสมบูรณ์พร้อมกัน ๓ ระยะ คือ
( ๑ ) ระยะก่อนที่จะให้ทาน ก่อนที่จะทานก็จะมีจิตที่โสมนัสร่าเริงเบิกบานยินดีที่จะให้ทาน เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่นให้ได้รับความสุขเพราะทรัพย์สิ่งของของตน
( ๒ ) ระยะที่กำลังลงมือให้ทาน ระยะที่กำลังมือให้ทานอยู่นั้นเอง ก็ทำด้วยจิตใจโสมนัสร่าเริงยินดีและเบิกบานในทานที่ตนกำลังให้ผู้อื่น
( ๓ ) ระยะหลังจากที่ได้ให้ทานไปแล้ว ครั้นเมื่อได้ให้ทานไปแล้วเสร็จ หลังจากนั้นก็ดี นานมาก็ดี เมื่อหวนคิดถึงทานที่ตนได้กระทำไปแล้วครั้งใด ก็มีจิตใจโสมนัสร่าเริงเบิกบาน ยินดีในทานนั้น ๆ
เจตนาบริสุทธิ์ในการทำทานนั้น อยู่ที่จิตใจโสมนัสร่าเริงเบิกบานยินดีในทานที่ทำนั้นเป็นสำคัญ และเนื่องจากเมตตาจิต ที่มุ่งสงเคราะห์ผู้อื่นให้พ้นความทุกข์ และให้ได้รับความสุขเพราะทานของตน นับว่าเป็นเจตนาบริสุทธิ์ในเบื้องต้น แต่เจตนาที่บริสุทธิ์เพราะเหตุดังกล่าวมาแล้วนี้ จะทำให้ยิ่ง ๆ บริสุทธิ์มากขึ้นไปอีก หากผู้ใดให้ทานนั้นได้ทำทานด้วยการวิปัสสนาปัญญา กล่าวคือ ไม่ใช่ทำทานอย่างเดียว แต่ทำทานพร้อมกับมีวิปัสสนาปัญญา โดยใคร่ครวญถึงวัตถุทานที่ให้ทานนั้นว่า อันบรรดาทรัพย์สิ่งของทั้งที่ชาวโลกนิยมยกย่องหวงแหนเป็นสมบัติกันด้วยความโลภนั้น แท้ที่จริงแล้วก็เป็นเพียงวัตถุธาตุประจำโลก เป็นสมบัติกลาง ไม่ใช่ของผู้ใดโดยเฉพาะ เป็นของที่มีมาตั้งแต่ก่อนเราเกิดขึ้นมา และไม่ว่าเราจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม วัตถุธาตุดังกล่าวก็มีอยู่เช่นนั้น และได้ผ่านการเป็นเจ้าของมาแล้วหลายชั่วคน ซึ่งท่านตั้งแต่ก่อนนั้น ได้ล้มหายตายจากไปแล้วทั้งสิ้น ไม่สามารถนำวัตถุธาตุดังกล่าวนี้ติดตัวไปได้เลยจนในที่สุดก็ได้ตกทอดมาถึงเรา ให้เราได้กินได้ใช้ไดยึดถือเพียงชั่วคราว แล้วก็ตกทอดสืบเนื่องไปเป็นของคนอื่น ๆ ต่อ ๆ ไปเช่นนี้ แม้เราเองก็ไม่สามารถจะนำวัตถุธาตุดังกล่าวนี้ติดตัวไปได้เลย จึงนับว่าเป็นสมบัติผลัดกันชมเท่านั้น ไม่จากไปในวันนี้ก็ต้องจากไปในวันหน้า อย่างน้อยเราก็ต้องจากต้องทิ้งเมื่อเราได้ตายลงนับว่าเป็นอนิจจัง คือไม่เที่ยงแท้แน่นอน จึงไม่อาจจะยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของเราได้ถาวรได้ตลอดไป แม้ตัววัตถุธาตุดังกล่าวนี้เอง เมื่อมีเกิดขึ้นเป็นตัวตนแล้ว ก็ต้องอยูในสภาพนั้นให้ตลอดไปไม่ได้ จะต้องเก่าแก่ ผุพัง บุบสลายไป ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนแต่อย่างไร แม้แต่เนื้อตัวร่างกายของเราเองก็มีสภาพเช่นเดียวกับวัตถุธาตุเหล่านั้น ซึ่งไม่อาจจะตั้งมั่นให้ยั่งยืนอยู่ได้ เมื่อมีเกิดขึ้นแล้วก็จะต้องเจริญวัยเป็นหนุ่มสาวแล้วก็แก่เฒ่าและตายไปในที่สุด เราจะต้องพลัดพรากจากของอันเป็นที่รัก ที่หวงแหน คือทรัพย์สมบัติทั้งปวง
เมื่อเจตนาในการให้ทานบริสุทธิ์ผุดผ่องดีพร้อมทั้งสามระยะดังกล่าวมาแล้ว ทั้งยังประกอบไปด้วยวิปัสสนาปัญญาดังกล่าวมาแล้วด้วย เจตนานั้นย่อมบริสุทธิ์อย่างยิ่ง ทานที่ได้ทำไปนั้นย่อมมีผลมาก ได้บุญมากหากวัตถุทานที่ได้ทำเป็นของบริสุทธิ์ตามองค์ประกอบข้อ ๑ ด้วย ก็ย่อมทำให้ได้บุญมากยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก วัตถุทานจะมากหรือน้อย เป็นของเลวหรือประณีตไม่สำคัญ เมื่อเราได้ให้ทานไปตามกำลังทรัพย์ที่เรามีอยู่ย่อมใช้ได้ แต่ก็ยังมีข้ออันควรระวังอยู่ก็คือ " การทำทานนั้นอย่าได้เบียดเบียนตนเอง " เช่นมีน้อย แต่ฝืนทำให้มาก ๆ จนเกินกำลังของตนที่จะให้ได้ เมื่อได้ทำไปแล้วตนเองและสามี ภริยา รวมทั้งบุตรต้องลำบาก ขาดแคลน เพราะว่าไม่มีจะกินจะใช้ เช่นนี้ย่อมทำให้จิตเศร้าหมอง เจตนานั้นย่อมไม่บริสุทธิ์ ทานที่ได้ทำไปแล้วนั้น แม้วัตถุทานจะมากหรือทำมาก ก็ย่อมได้บุญน้อย
-
อานิสงค์ ของการสร้างบุญบารมี ( ทาน, ศีล, ภาวนา )
โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
-http://www.kanlayanatam.com/sara/sara68.htm-
ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างที่ทำทานด้วยเจตนาอันไม่บริสุทธิ์ คือ
ตัวอย่าง ๑ ทำทานเพราะอยากได้ ทำเอาหน้า ทำอวดผู้อื่น เช่น สร้างโรงเรียน โรงพยาบาลใส่ชื่อของตน ไปยืนถ่ายภาพลงโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์เพื่อให้ได้รับความนิยมยกย่องนับถือ โดยที่แท้จริงแล้วตนมิได้มีเจตนาที่จะมุ่งสงเคราะห์ผู้ใด เรียกว่า " ทำทานด้วยความโลภ " ไม่ทำเพื่อขจัดความโลภ ทำทานด้วยความอยากได้ คืออยากได้หน้า ๆได้เกียรติ ได้สรรเสริญ ได้ความนิยมนับถือ
ตัวอย่าง ๒ ทำทานด้วยความฝืนใจ ทำเพราะเสียไม่ได้ ทำด้วยความเสียหาย เช่นทีพวกพ้องมาเรี่ยไร ตนเองไม่มีศรัทธาที่จะทำ หรือมีศรัทธาอยู่บ้างแต่มีทรัพย์น้อย เมื่อมีพวกมาเรี่ยไรบอกบุญ ต้องจำใจทำทานไปเพราะความเกรงใจพวกพ้อง หรือเกรงว่าจะเสียหน้า ตนจึงได้สละทรัพย์ทำทานไปด้วยความจำใจ ย่อมเป็นการทำทานด้วยความตระหนี่หวงแหน ทำทานด้วยความเสียดาย ไม่ใช่ทำทานด้วยจิตเมตตาที่มุ่งจะสงเคราะห์ผู้อื่น ซึ่งยิ่งคิดก็ยิ่งเสียดาย ให้ไปแล้วก็เป็นทุกข์ใจ บางครั้งก็นึกโกรธผู้ที่มาบอกบุญ เช่นนี้จิตย่อมเศร้าหมอง ได้บุญน้อย หากเสียดายมาก ๆ จนเกิดโทสะจริตกล้าแล้ว นอกจากจะไม่ได้บุญแล้ว ที่จะได้ก็คือบาป
ตัวอย่าง ๓ ทำทานด้วยความโลภ คือทำทานเพราะว่าอยากได้นั่น อยากได้นี่ อยากเป็นนั่น อยากเป็นนี่ อันเป็นการทำทานเพราะว่าหวังสิ่งตอบแทน ไม่ใช่ทำทานเพราะมุ่งหมายที่จะขจัดความโลภ ความตระหนี่หวงแหนในทรัพย์ของตน เช่น ทำทานแล้วตั้งจิตอธิษฐานขอพรให้ชาติหน้าได้เป็นเทวดา นางฟ้า ขอให้รูปสวย ขอให้ทำมาค้าขึ้น ขอให้รำรวยเป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี ทำทาน ๑๐๐ บาท แต่ขอให้ร่ำรวยนับล้าน ขอให้ถูกสลากกินแบ่งกินรวบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสมบัติสวรรค์ หากชาติก่อนไม่เคยได้ทำบุญใส่บาตรฝากสวรรค์เอาไว้ อยู่ๆก็มาขอเบิกในชาตินี้ จะมีที่ไหนให้เบิก การทำทานด้วยความโลภเช่นนี้ย่อมไม่ได้บุญอะไรเลย สิ่งที่จะได้พอกพูนเพิ่มให้มากและหนาขึ้นก็คือ " ความโลภ "
ผลหรืออานิสงส์ของการทำทานที่ครบองค์ประกอบ ๓ ประการนั้น ย่อมมีผลให้ได้ซึ่งมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติเอง แม้ว่าจะไม่ได้ตั้งเจตนาเอาไว้ล่วงหน้าก็ตาม เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นผลที่สืบเนื่องมาจากเหตุ เมื่อทำเหตุครบถ้วนย่อมมีผลเกิดขึ้นตามมาเอง เช่นเดียวกับปลูกต้นมะม่วง เมื่อรดน้ำพรวนดินและใส่ปุ๋ยไปตามธรรมดาเรื่อยไป แม้จะไม่อยากให้เจริญเติบโตและออกดอกออกผล ในที่สุดต้นไม้ก็จะต้องเจริญเติบโตและผลิตดอกออกผลตามมา สำหรับผลของทานนั้น หากน้อยหรือมีกำลังไม่มากนัก ย่อมน้อมนำให้เกิดในมนุษย์ชาติ หากมีกำลังแรงมากก็อาจจะน้อมนำให้ได้บังเกิดในเทวโลก ๖ ชั้น เมื่อได้เสวยสมบัติในเทวโลกจนสิ้นบุญแล้ว ด้วยเศษของบุญที่ยังคงหลงเหลืออยู่บ้าง ประกอบกับไม่มีอกุศลกรรมอื่นแทรกให้ผลก็อาจจะน้อมนำให้มาบังเกิดในมนุษย์อีกครั้งหนึ่ง และเมื่อได้มาบังเกิดเป็นมนุษย์แล้ว ก็ย่อมทำให้ได้เกิดในตระกูลที่ร่ำรวยมั่งคั่ง สมบูรณ์ไปด้วยทรัพย์ หรือไม่ก็เป็นผู้ที่มีลาภผลมาก ทำมาหากินขึ้นและร่ำรวยในภายหลัง ทรัพย์สมบัติไม่วิบัติหายนะไปเพราะวินาศภัย โจรภัย อัคคีภัย วาตภัย ฯลฯ
แต่จะมั่งคั่งร่ำรวยในวัยใดก็ย่อมแล้วแต่ผลทานแต่ชาติก่อน ๆ จะส่งผล คือ
๑ . ร่ำรวยตั้งแต่วัยต้น เพราะผลของทานที่ได้ตั้งเจตนาไว้บริสุทธิ์ดีตั้งแต่ก่อนจะทำทาน คือก่อนที่จะลงมือทำทานก็มีจิตเมตตาโสมนัสร่าเริง เบิกบานยินดีในทานที่ตนจะได้ทำเพื่อสงเคราะห์ผู้อื่น แล้วก็ได้ลงมือทำทานไปตามเจตนานั้น เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ย่อมโชคดี โดยเกิดในตระกูลที่ร่ำรวย ชีวิตในวัยต้นอุดมสมบูรณ์พูนสุขไปด้วยทรัพย์ ไม่ยากจนแร้นแค้น ไม่ต้องขวนขวายหาเลี้ยงตนเองมาก แต่ถ้าเจตนานั้นไม่งามบริสุทธิ์พร้อมกันทั้ง ๓ ระยะแล้ว ผลทานนั้นก็ย่อมส่งผลให้ไม่สม่ำเสมอกัน คือแม้ว่าจะร่ำรวยตั้งแต่วัยต้นโดยเกิดมาบนกองเงินกองทองก็ตาม หากในขณะที่กำลังลงมือทำทานเกิดจิตเศร้าหมองเพราะหวนคิดเสียดายหรือหวงแหนทรัพย์ที่จะให้ทานขึ้นมา หรือเกิดหมดศรัทธาขึ้นมาเฉยๆแต่ก็ยังฝืนใจทำทานไปเพราะเสียไม่ได้หรือเพราะตามพวกพ้องไปอย่างเสียไม่ได้ เช่นนี้ผลทานย่อมหมดกำลังให้ผลระยะที่ ๒ ซึ่งตรงกับวัยกลางคน ซึ่งจะมีผลทำให้ทรัพย์สมบัติหายนะไปด้วยประการต่างๆแม้จะได้รับมรดกมาก็ไม่อาจจะรักษาไว้ได้ หากเจตนาในการทำทานนั้นเศร้าหมองในระยะที่ ๓ คือทำทานไปแล้วหวนคิดขึ้นมาทำให้เสียดายทรัพย์ ความหายนะก็มีผลต่อเนื่องมาจนบั้นปลายชีวิตด้วย คือทรัพย์สินคงวิบัติเสียหายต่อเนื่องจากวัยกลางคนตลอดไปจนถึงตลอดอายุขัยชีวิตจริงของผู้ที่เกิดบนกองเงินกองทองก็มีให้เห็น เป็นตัวอย่างที่เมื่อได้รับทรัพย์มรดกแล้วก็วิบัติเสียหายไป หรือนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในวัยต้นแต่ก็ต้องล้มละลายในวัยกลางคน และบั้นปลายชีวิต แต่ถ้าได้ตั้งเจตนาในการทำทานไว้บริสุทธิ์ครบถ้วนพร้อม ๓ ระยะแล้ว ผลทานนั้นย่อมส่งผลสม่ำเสมอ คือร่ำรวยตั้งแต่เกิด วัยกลางคนและจนปัจฉิมวัย
๒ . ร่ำรวยในวัยกลางคนการที่ร่ำรวยในวัยกลางคนนั้น สืบเนื่องมาจากผลของทานที่ได้ทำเพราะเจตนางามบริสุทธิ์ในระยะที่ ๒ กล่าวคือไม่งามบริสุทธิ์ในระยะแรก เพราะก่อนที่จะลงมือทำทานก็มิได้มีจิตศรัทธามาก่อน ไม่คิดจะทำทานมาก่อนแต่ก็ได้ตัดสินใจทำทานไปเพราะเหตุบางอย่าง เช่นทำตามพวกพ้องอย่าเสียไม่ได้ แต่เมื่อได้ลงมือทำทานอยู่ก็เกิดโสมนัสรื่นเริงยินดีในทานที่กำลังกระทำอยู่นั้น ด้วยผลทานชนิดนี้ย่อมทำให้มาบังเกิดในตระกูลที่ยากจนคับแค้น ต้องต่อสู้สร้างตนเองมาในวัยต้น ครั้นเมื่อถึงวัยกลางคน กิจการหรือธุรกิจที่ทำก็ประสบความสำเร็จรุ่งเรื่อง และหากเจตนาในการทำทานได้งามบริสุทธิ์ในระยะที่ ๓ ด้วย กิจการหรือธุรกิจนั้นย่อมส่งผลรุ่งเรื่องตลอดไปจนถึงบั้นปลายชีวิต หากเจตนาในการทำทานไม่บริสุทธิ์ในระยะที่ ๓ แม้ธุรกิจหรือกิจการงานจะประสบความสำเร็จรุ่งเรืองในวัยกลางคน แต่ก็ล้มเหลวหายนะในบั้นปลาย ทั้งนี้เพราะผลทานหมดกำลังส่งผลไม่ตลอดจนถึงบั้นปลาชีวิต
๓ . ร่ำรวยปัจฉิมวัย คือร่ำรวยในบั้นปลายชีวิตนั้น สืบเนื่องมาจากผลทานที่ผู้กระทำมีเจตนางามไม่บริสุทธิ์ในระยะแรกและระยะที่ ๒ แต่งามบริสุทธิ์เฉพาะในระยะที่ ๓ กล่าวคือ ก่อนและในขณะลงมือทำทานอยู่นั้น ก็มิได้มีจิตโสมนัสยินดีในการทำทานนั้นแต่อย่างใด แต่ได้ทำลงไปโดยบังเอิญ เช่น ทำตามๆพวกพ้องไปอย่างเสียมิได้ แต่เมื่อได้ทำไปแล้วต่อมาหวนคิดถึงผลทานนั้น ก็เกิดจิตโสมนัสร่าเริง ยินดีเบิกบาน หากผลทานชนิดนี้จะน้อมนำให้มาบังเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะเกิดในตระกูลที่ยากจนข้นแค้น ต้องต่อสู้ดิ้นรนศึกษาเล่าเรียนและขวนขวายสร้างตนเองมากตั้งแต่วัยต้นจนล่วงวัยกลางคนไปแล้ว กิจการงานหรือธุรกิจนั้นก็ยังไม่ประสบกับความสำเร็จ เช่นต้องล้มลุกคลุกคลานตลอดมา แต่ครั้นถึงบั้นปลายชีวิตก็ประสบช่องทางเหมาะ ทำให้กิจการนั้นเจริญรุ่งเรื่องทำมาค้าขึ้นและร่ำรวยอย่างไม่คาดหมาย ซึ่งชีวิตจริง ๆ ของคนประเภทนี้ก็มีให้เห็นเป็นตัวอย่างอยู่มาก
องค์ประกอบข้อที่ ๓ . " เนื้อนาบุญต้องบริสุทธิ์ "
คำว่า " เนื้อนาบุญ " ในที่นี่ได้แก่บุคคลผู้รับการทำทานของผู้ทำทานนั้นเอง นับว่าเป็นองค์ประกอบข้อที่สำคัญที่สุด แม้ว่าองค์ประกอบในการทำทานข้อที่ ๑ และข้อที่ ๒ จะงามบริสุทธิ์ครบถ้วนดีแล้ว กล่าวคือวัตถุที่ทำทานนั้นเป็นของที่แสวงหาได้มาด้วยความบริสุทธิ์ เจตนาในการทำทานก็งามบริสุทธิ์พร้อมทั้งสามระยะ แต่ตัวผู้ที่ได้รับการทำทานเป็นคนที่ไม่ดี ไม่ใช่ผู้ที่เป็นเนื้อนาบุญที่บริสุทธิ์ เป็นเนื้อนาบุญที่เลว ทานที่ทำไปนั้นก็ไม่ผลิดอกออกผล
เปรียบเหมือนกับการหว่านเมล็ดข้าวเปลือกลงในพื้นนา ๑ กำมือ
แม้เมล็ดข้าวนั้นจะเป็นพันธุ์ดีที่พร้อมจะงอกงาม ( วัตถุทานบริสุทธิ์ )
และ ผู้หว่านคือกสิกรก็มีเจตนาจะหว่านเพื่อทำนาให้เกิดผลิตผลเป้นอาชีพ ( เจตนาบริสุทธิ์ ) แต่หากที่นานั้นเป็นที่ที่ไม่สม่ำเสมอกัน เมล็ดข้าวที่หว่านลงไปก็งอกเงยไม่เสมอกัน โดยเมล็ดที่ไปตกในที่เป็นดินดี ปุ๋ยดี มีน้ำอุดมสมบูรณ์ดี ก็จะงอกเงยมีผลิตผลที่สมบูรณ์ ส่วนเมล็ดที่ไปตกบนพื้นนาที่แห้งแล้ง มีแต่กรวดกับทรายและขาดน้ำก็จะแห้งเหี่ยวหรือเฉาตายไป หรือไม่งอกเงยเสียเลย การทำทานนั้น ผลิตผลที่ผู้ทำทานจะได้รับก็คือ " บุญ " หากผู้ที่รับการให้ทานไม่เป็นเนื้อนาที่ดีสำหรับการทำบุญแล้ว ผลของทานคือบุญก็จะได้เกิดขึ้น แม้จะเกิดก็ไม่สมบูรณ์ เพราะแกร็นหรือแห้งเหี่ยวเฉาไปด้วยประการต่าง ๆ
ฉะนั้นในการทำทาน ตัวบุคคลผู้รับของที่เราให้ทานจึงเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุด เราผู้ทำทานจะได้บุญมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับคนพวกนี้ คนที่รับการให้ทานนั้นหากเป็นผู้ที่มีศีลธรรมสูง ก็ย่อมเป็นเนื้อนาบุญที่ดี ทานที่เราได้ทำไปแล้วก็เกิดผลบุญมาก หากผู้รับการให้ทานเป็นผู้ที่ไม่มีศีลไม่มีธรรม ผลของทานก็ไม่เกิดขึ้น คือได้บุญน้อย ฉะนั้นคติโบราณที่กล่าวว่า " ทำบุญอย่าถามพระ หรือ ตักบาตรอย่าเลือกพระ " เห็นจะใช้ไม่ได้ในสมัยนี้ เพราะว่าในสมัยนี้ไม่เหมือนกับท่านในสมัยก่อนๆที่บวชเพราะมุ่งจะหนีสงสาร โดยมุ่งจะทำมรรคผลและนิพพานให้แจ้ง ท่านจึงเป็นเนื้อนาบุญที่ประเสริฐ แต่ในสมัยนี้มีอยู่บางคนที่บวชด้วยคติ ๔ ประการ คือ " บวชเป็นประเพณี บวชหนีทหาร บวชผลาญข้าวสุก บวชสนุกตามเพื่อน " ธรรมวินัยใดๆท่านไม่สนใจ เพียงแต่มีผ้าเหลืองห่มกาย ท่านก็นึกว่าตนเป็นพระและเป็นเนื้อนาบุญเสียแล้ว ซึ่งป่วยการจะกล่าวไปถึงศีลปาฏิโมกข์ ๒๒๗ ข้อ แม้แต่เพียงศีล ๕ ก็ยังเอาแน่ไม่ได้ว่าท่านจะมีหรือไม่ การบวชที่แท้จริงแล้วก็เพื่อจะละความโลภ ความโกรธ ความหลง ปัญหาว่า
ทำอย่างไรจึงจะได้พบกับท่านที่เป็นเนื้อนาบุญที่ประเสริฐ ข้อนี้ก็ย่อมขึ้นอยู่กับวาสนาของเราผู้ทำทานเป็นสำคัญ หากเราได้เคยสร้างสมอบรมสร้างบารมีมาด้วยดีในอดีตชาติเป็นอันมากแล้ว บารมีนั้นก็จะเป็นพลังวาสนาน้อมนำให้ได้พบกับท่านที่เป็นเนื้อนาบุญที่ประเสริฐ ทำทานครั้งใดก็มักโชคดี ได้พบกับท่านที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบไปเสียทุกครั้ง หากบุญวาสนาของเราน้อยและไม่มั่นคง ก็จะได้พบกับท่านที่เป็นเนื้อนาบุญบ้าง ได้พบกับอลัชชีบ้าง คือดีและชั่วคละกันไป เช่นเดียวกับการซื้อสลากกินแบ่งสลากกินรวบ หากมีวาสนาบารมีเพราะได้เคยทำบุญให้ทานฝากกับสวรรค์ไว้ในชาติก่อน ๆ ก็ย่อมมีวาสนาให้ถูกรางวัลได้ หากไม่มีวาสนาเพราะไม่เคยทำบุญทำทานฝากสวรรค์เอาไว้เลย ก็ไม่มีสมบัติสวรรค์อะไรที่จะให้เบิกได้ อยู่ ๆ ก็จะมาขอเบิก เช่นนี้ก็ยากที่จะถูกรางวัลได้
-
อานิสงค์ ของการสร้างบุญบารมี ( ทาน, ศีล, ภาวนา )
โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
-http://www.kanlayanatam.com/sara/sara68.htm-
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ว่า แม้วัตถุทานจะบริสุทธิ์ดี เจตนาในการทำทานจะบริสุทธิ์ดี จะทำให้ทานนั้นมีผลมากหรือน้อย ย่อมขึ้นอยู่กับเนื้อนาบุญเป็นลำดับต่อไปนี้ คือ
๑ . ทำทานแก่สัตว์เดรัจฉาน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ได้บุญน้อยกว่าให้ทานดังกล่าวแก่มนุษย์ แม้จะเป็นมนุษย์ที่ไม่มีศีล ไม่มีธรรมเลยก็ตาม ทั้งนี้เพราะสัตว์ย่อมมีวาสนาบารมีน้อยกว่ามนุษย์และสัตว์ไม่ใช่เนื้อนาบุญที่ดี
๒ . ให้ทานแก่มนุษย์ที่ไม่มีศีล ไม่มีธรรมวินัย แม้จะให้มากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าให้ทานดังกล่าวแก่ผู้ที่มีศีล ๕ แม้จะให้เพียงครั้งเดียวก็ตาม
๓ . ให้ทานแก่ผู้ที่มีศีล ๕ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าให้ทานดังกล่าวแก่ผู้มีศีล ๘ แม้จะให้เพียงครั้งเดียวก็ตาม
๔ . ให้ทานแก่ผู้ที่มีศีล ๘ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าถวายทานแก่ผู้มีศีล ๑๐ คือสามเณรในพุทธศาสนา แม้จะได้ถวายทานดังกล่าวเพียงครั้งเดียวก็ตาม
๕ . ถวายทานแก่สามเณรซึ่งมีศีล ๑๐ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าถวายทานดังกล่าวแก่พระสมมุติสงฆ์ ซึ่งมีศีลปาฏิโมกข์สังวร ๒๒๗ ข้อ
พระด้วยกันก็มีคุณธรรมแตกต่างกัน จึงเป็นเนื้อนาบุญที่ต่างกัน บุคคลที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนามีศีลปาฏิโมกข์สังวร ๒๒๗ ข้อนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ตรัสเรียกว่าเป็น " พระ " แต่เป็นเพียงพระสมมุติเท่านั้น เรียกกันว่า " สมมุติสงฆ์ " พระที่แท้จริงนั้น หมายถึงบุคคลที่บรรลุคุณธรรมตั้งแต่พระโสดาปัตติผลเป็นพระโสดาบันเป็นต้นไป ไม่ว่าท่านผู้นั้นจะได้บวชหรือเป็นฆราวาสก็ตาม นับว่าเป็น " พระ " ทั้งสิ้น และพระด้วยกันก็มีคุณธรรมต่างกันหลายระดับชั้น จากน้อยไปหามากดังนี้คือ " พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธเจ้า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธมเจ้า " และย่อมเป็นเนื้อนาบุญที่แตกต่างกัน ดังต่อไปนี้
๖ . ถวายทานแก่พระสมมุติสงฆ์ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานแก่ - พระโสดาบัน แม้จะได้ถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม ( ความจริงยังมีการแยกเป็นพระโสดาปัตติมรรคและพระโสดาปัตติผล ฯลฯ เป็นลำดับไปจนถึงพระอรหัตผล แต่ในที่นี้จะกล่าวแต่เพียงย่นย่อพอให้ได้ความเท่านั้น )
๗ . ถวายทานแก่พระโสดาบัน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแก่พระสกิทาคามี แม้จะถวายทานดังกล่าวเพียงครั้งเดียวก็ตาม
๘ . ถวายทานแก่พระสกิทาคามี แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแก่พระอนาคามี แม้จะถวายทานดังกล่าวเพียงครั้งเดียวก็ตาม
๙ . ถวายทานแก่พระอนาคามี แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแก่พระอรหันต์ แม้จะถวายทานดังกล่าวเพียงครั้งเดียวก็ตาม
๑๐ . ถวายทานแก่พระอรหันต์ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า แม้จะถวายทานดังกล่าวเพียงครั้งเดียวก็ตาม
๑๑ . ถวายทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแด่พระองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้จะถวายทานดังกล่าวเพียงครั้งเดียวก็ตาม
๑๒ . ถวายทานแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายสังฆทานที่มีองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน แม้จะถวายสังฆทานดังกล่าวเพียงครั้งเดียวก็ตาม
๑๓ . การถวายสังฆทานที่มีองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่า " การถวายวิหารทาน " แม้จะได้กระทำแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม " วิหารทาน ได้แก่การสร้างหรือร่วมสร้างโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ ศาลาโรงธรรม ศาลาท่าน้ำ ศาลาที่พักอาศัยคนเดินทางอันเป็นสาธารณะประโยชน์ที่ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน " อนึ่ง การสร้างสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์หรือสิ่งที่ประชาชนใประโยชน์ร่วมกัน แม้จะไม่เกี่ยวเนื่องกับกิจในพระพุทธศาสนา เช่น " โรงพยาบาล โรงเรียน บ่อน้ำ แท็งก์น้ำ ศาลาป้ายรถยนต์โดยสารประจำทาง สุสาน เมรุเผาศพ " ก็ได้บุญมากในทำนองเดียวกัน
๑๔ . การถวายวิหารทาน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ( ๑๐๐ หลัง ) ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการให้ " ธรรมทาน " แม้จะให้แต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม " การให้ธรรมทานก็คือการเทศน์ การสอนธรรมะแก่ผู้อื่นที่ยังไม่รู้ให้รู้ได้ ที่รู้อยู่แล้วให้รู้ยิ่งๆขึ้น ให้ได้เข้าใจมรรค ผล นิพพาน ให้ผู้ที่เป็นมิจฉาทิฐิได้กลับใจเป็นสัมมาทิฐิ ชักจูงผู้คนให้เข้าปฏิบัติธรรม รวมตลอดถึงการพิมพ์การแจกหนังสือธรรมะ "
๑๕ . การให้ธรรมทาน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการให้ " อภัยทาน " แม้จะให้แต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม การให้อภัยทานก็คือ " การไม่ผูกโกรธ ไม่อาฆาตจองเวร ไม่พยาบาทคิดร้ายผู้อื่นแม้แต่ศัตรู " ซึ่งได้บุญกุศลแรงและสูงมากในฝ่ายทาน เพราะเป็นการบำเพ็ญเพียรเพื่อ " ละโทสะกิเลส " และเป็นการเจริญ " เมตตาพรหมวิหารธรรม " อันเป็นพรหมวิหารข้อหนึ่งในพรหมวิหาร ๔ ให้เกิดขึ้น อันพรหมวิหาร ๔ นั้น เป็นคุณธรรมที่เป็นองค์ธรรมของโยคีบุคคลที่บำเพ็ญฌานและวิปัสสนา ผู้ที่ทรงพรหมวิหาร ๔ ได้ย่อมเป็นผู้ทรงฌาน ซึ่งเมื่อเมตตาพรหมวิหารธรรมได้เกิดขึ้นแล้วเมื่อใด ก็ย่อมละเสียได้ซึ่ง " พยาบาท " ผู้นั้นจึงจะสามารถให้อภัยทานได้ การให้อภัยทานจึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและยากเย็น จึงจัดเป็นทานที่สูงกว่าการให้ทานทั้งปวง
อย่างไรก็ดี การให้อภัยทานแม้จะมากเพียงใด แม้จะชนะการให้ทานอื่น ๆ ทั้งมวล ผลบุญนั้นก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า " ฝ่ายศีล " เพราะเป็นการบำเพ็ญบารมีคนละขั้นต่างกัน
-
ขออนุญาตลงเรื่อศีล และ ภาวนา ต่อครับ
อานิสงค์ ของการสร้างบุญบารมี ( ทาน, ศีล, ภาวนา )
โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
-http://www.kanlayanatam.com/sara/sara68.htm-
ศีล
" ศีล " นั้น แปลว่า " ปกติ " คือสิ่งหรือกติกาที่บุคคลจะต้องระวังรักษาตามเพศและฐานะ ศีลนั้นมีหลายระดับคือ ศีล๕ ศิล ๘ ศิล ๑๐ และ ศีล ๒๒๗ และในบ รรดาศีลชนิดเดียวกันก็ยังจัดแบ่งออกเป็นระดับธรรมดา มัชฌิมศีล ( ศีลระดับกลาง ) และอธิศีล ( ศีลอย่างสูง ศีลอย่างอุกฤษฏ์ )
คำว่า " มนุษย์ " นั้น คือผู้ที่มีใจอันประเสริฐ คุณธรรมที่เป็นปกติของมนุษย์ที่จะต้องทรงไว้ให้ได้ตลอดไปก็คือศีล ๕ บุคคลที่ไม่มีศีล ๕ ไม่เรียกว่ามนุษย์ แ ต่อาจจะเรียกว่า " คน " ซึ่งแปลว่า " ยุ่ง " ในสมัยพระพุทธกาลผู้คนมักจะมีศีล ๕ ประจำใจกันเป็นนิจ ศีล ๕ จึงเป็นเรื่องปกติของบุคคลในสมัยนั้น และจัดว่าเป็น " มนุษย์ธรรม " ส่วนหนึ่งในมนุษย์ธรรม ๑๐ ประการ ผู้ที่จะมีวาสนาได้เกิดมาเป็นมนุษย์จะต้องถึงพร้อมด้วยมนุษย์ธรรม ๑๐ ประการเป็นปกติ ( ซึ่งรวมถึงศีล ๕ ด้วย ) รายละเอียดจะมีประการใดจะไม่กล่าวถึงในที่นี้
การรักษาศีลเป็นการเพียรพยายามเพื่อระงับโทษทางกายและวาจา อันเป็นเพียงกิเลสหยาบมิให้กำเริบขึ้น และเป็นการบำเพ็ญบุญบารมีที่สูงขึ้นกว่าการให้ทาน
ทั้งในการถือศีลด้วยกันเองก็ยังได้บุญมากและน้อยต่างกันไปตามลำดับต่อไปนี้ คือ
๑ . การให้อภัยทาน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถือศีล ๕ แม้จะถือเพียงครั้งเดียวก็ตาม
๒ . การถือศีล ๕ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถือศีล ๘ แม้จะถือเพียงครั้งเดียวก็ตาม
๓ . การถือศีล ๘ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถือศีล ๑๐ คือการบวชเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา แม้จะบวชมาได้เพียงวันเดียวก็ตาม
๔ . การที่ได้บวชเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา แล้ว รักษาศีล ๑๐ ไม่ให้ขาด ไม่ด่างพร้อย แม้จะนานถึง ๑๐๐ ปี ก็ยังได้บุญน้อยกว่าผู้ที่ได้อุปสมบทเป็นพระในพระพุทธศาสนาที่มี ศีลปาฏิโมกข์สังวร ๒๒๗ ข้อ แม้จะบวชมาได้เพียงวันเดียวก็ตาม
ฉะนั้นในฝ่ายศีลแล้ว การที่ได้อุปสมบทเป็นพระในพระพุทธศาสนาได้บุญบารมีมากที่สุด เพราะเป็นเนกขัมบารมีในบารมี ๑๐ ทัศ ซึ่งเป็นการออกจากกามเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติธรรมขั้นสูง ๆ คือการภาวนาเพื่อมรรค ผล นิพพาน ต่อ ๆ ไป ผลของการรักษาศีลนั้นมีมาก ซึ่งจะยังประโยชน์สุขให้แก่ผู้นั้นทั้งในชาตินี้และชาติหน้า เมื่อได้ละอัตภาพนี้ไปแล้วย่อมส่งผลให้ได้บังเกิดในเทวโลก ๖ ชั้น ซึ่งล้วนแต่ความละเอียดประณีตของศีลที่รักษาและที่บำเพ็ญมา ครั้นเมื่อสิ้นบุญในเทวโลกแล้ว ด้วยเศษของบุญที่ยังคงหลงเหลืออยู่แต่เพียงเล็กๆน้อยๆหากไม่มีอกุลกรรมอื่นมาให้ผล ก็อาจจะน้อมนำให้ได้มาบังเกิดเป็นมนุษย์ที่ถึงพร้อมด้วยสมบัติ ๔ ประการ เช่น อานิสงส์ของการรักษา ศีล ๕ กล่าวคือ
๑ . ผู้ที่รักษาศีลข้อที่ ๑ ด้วยการไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ด้วยเศษของบุญที่รักษาข้อนี้ เมื่อน้อมนำมาเกิดเป็นมนุษย์ก็จะมีพลานามัยที่แข็งแรง ปราศจากโรคภัย ไม่ขี้โรค อายุยืนยาว ไม่มีศัตรูเบียดเบียนให้ต้องบาดเจ็บ ไม่มีอุบัติเหตุต่างๆที่จะทำให้บาดเจ็บหรือสิ้นอายุเสียก่อนวัยอันควร
๒ . ผู้ที่รักษาศีลข้อที่ ๒ ด้วยการไม่ถือเอาทรัพย์ของผู้อื่นที่เจ้าของมิได้เต็มใจให้ ด้วยเศษของบุญที่น้อมนำมาเกิดเป็นมนุษย์ ย่อมทำให้ได้เกิดในตระกูลที่ร่ำรวย การทำมาหาเลี้ยงชีพในภายหน้ามักจะประสบกับช่องทางที่ดี ทำมาค้าขึ้นและมั่งมีทรัพย์ ทรัพย์สมบัติไม่วิบัติหายนะไปด้วยภัยต่างๆเช่น อัคคีภัย วาตภัย โจรภัย ฯลฯ
๓ . ผู้ที่รักษาศีลข้อที่ ๓ ด้วยการไม่ล่วงประเวณีในคู่ครอง หรือคนในปกครองของผู้อื่น ด้วยเศษของบุญที่รักษาศีลในข้อนี้ เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์ ก็จะประสบโชคดีในความรัก มักได้พบกับรักแท้ที่จริงจังและจริงใจ ไม่ต้องอกหัก อกโรย และอกเดาะ ครั้นเมื่อมีบุตรธิดาก็ว่านอนสอนง่าย ไม่ดื้อด้าน ไม่ถูกผู้อื่นฉุดคร่าอนาจารไปทำให้เสียหาย บุตรธิดาย่อมเป็นอภิชาตบุตร ซึ่งจะนำเกียรติยศชื่อเสียงมาสู่วงศ์ตระกูล
๔ . ผู้ที่รักษาศีลข้อที่ ๔ ด้วยการไม่กล่าวมุสา ด้วยเศษของบุญที่รักษาศีลข้อนี้ เมื่อนำมาเกิดเป็นมนุษย์ จะทำให้เป็นผู้ที่มีสุ้มเสียงไพเราะ พูดจามีน้ำมีนวลชวนฟัง มีเหตุมีผลชนิดที่เป็น " พุทธวาจา " มีโวหารปฏิภาณไหวพริบในการเจรจา จะเจรจาความสิ่งใดก็มีผู้ฟังและเชื่อถือ สามารถว่ากล่าวสั่งสอนบุตรธิดาและศิษย์ให้อยู่ในโอวาทได้ดี
๕ . ผู้ที่รักษาศีลข้อที่ ๕ ด้วยการไม่ดื่มสุราเมรัย เครื่องหมักดองของมึนเมา ด้วยเศษของบุญที่รักษาศีลข้อนี้ เมื่อนำมาเกิดเป็นมนุษย์ ย่อมทำให้เป็นผู้ที่มีสมอง ประสาท ปัญญา ความคิดแจ่มใส จะศึกษาเล่าเรียนสิ่งใดก็แตกฉานและทรงจำได้ง่าย ไม่หลงลืมฟั่นเฟือนเลอะเลือน ไม่เสียสติวิกลจริต ไม่เป็นโรคสมอง โรคประสาท ไม่ปัญญาทราม ปัญญาอ่อนหรือปัญญานิ่ม
อานิสงส์ของศีล ๕ มีดังกล่าวข้างต้น สำหรับศีล ๘ ศีล ๑๐ และศีล ๒๒๗ ก็ย่อมมีอานิสงส์เพิ่มพูนมากยิ่ง ๆ ขึ้นตามระดับและประเภทของศีลที่รักษา แต่ศีลนั้นแม้นจะมีอานิสงส์เพียงไรก็ยังเป็นแต่เพียงการบำเพ็ญบุญบารมีในชั้นกลาง ๆ ในพระพุทธศาสนาเท่านั้น เพราะเป็นแต่เพียงระเบียบหรือกติกาที่จะรักษากายและวาจาให้สงบ ไม่ให้ก่อให้เกิดทุกข์โทษขึ้นทางกายและวาจาเท่านั้น ส่วนทางจิตใจนั้นศีลยังไม่สามารถที่จะควบคุมหรือทำให้สะอาดบริสุทธิ์ได้
ฉะนั้น การรักษาศีลจึงยังได้บุญน้อยกว่า การภาวนา เพราะการภาวนานั้น เป็นการรักษาใจ รักษาจิต และซักฟอกจิตให้เบาบางหรือจนหมดกิเลสคือ ความโลภ ความโกรธ และความหลง อันเป็นเครื่องร้อยรัดให้บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสงสารวัฏ การภาวนา จึง เป็นการบำเพ็ญบุญบารมีที่สูงสุด ประเสริฐที่สุด ได้บุญมากที่สุดเป็นกรรมดีอันยิ่งใหญ่เรียกว่า " มหัคคตกรรม " อันเป็นมหัคคตกุศล
-
อานิสงค์ ของการสร้างบุญบารมี ( ทาน, ศีล, ภาวนา )
โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
-http://www.kanlayanatam.com/sara/sara68.htm-
ภาวนา
การเจริญภาวนา นั้น เป็นการสร้างบุญบารมีที่สูงที่สุดและยิ่งใหญ่ที่สุดในพระพุทธศาสนา จัดว่าเป็นแก่นแท้และสูงกว่าฝ่ายศีลมากนัก การเจริญภาวนานั้น
มี ๒ อย่างคือ " สมถภาวนา ( การทำสมาธิ )" และ " วิปัสสนาภาวนา ( การเจริญปัญญา )" แยกอธิบายดังนี้ คือ
๑ . สมถภาวนา ( การทำสมาธิ )
สมถภาวนา ได้แก่การทำจิตให้เป็นสมาธิหรือเป็นฌาน ซึ่งก็คือการทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่านแส่ส่ายไปยังอารมณ์อื่น ๆ
วิธีภาวนานั้น มีมากมายหลายร้อยชนิด ซึ่งพระพุทธองค์ทรงบัญญัติแบบอย่างเอาไว้ ๔๐ ประการ เรียกกันว่า " กรรมฐาน ๔๐ "
ซึ่งผู้ใดจะเลือกใช้วิธีใดก็ได้ตามแต่สมัครใจ ทั้งนี้ย่อมสุดแล้วแต่อุปนิสัยและวาสนาบารมีที่ได้เคยสร้างอบรมมาแต่ในอดีตชาติ
เมื่อสร้างสมอบรมมาในกรรมฐานกองใด จิตก็มักจะน้อมชอบกรรมฐานกองนั้นมากกว่ากองอื่น ๆ และการเจริญภาวนาก็ก้าวหน้าเร็วและง่าย
แต่ไม่ว่าจะเลือกปฏิบัติวิธีใดก็ตาม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาศีลให้ครบถ้วนบริบูรณ์ตามเพศของตนเสียก่อน คือหากเป็นฆราวาสก็จะต้องรักษาศีล ๕ เป็นอย่างน้อย หากเป็นสามเณรก็จะต้องรักษาศีล ๑๐ หากเป็นพระก็จะต้องรักษาศีลปาฏิโมกข์ ๒๒๗ ข้อให้บริบูรณ์ ไม่ให้ขาดปละด่างพร้อย จึงจะสามารถทำจิตให้เป็นฌานได้ หากว่าศีลยังไม่มั่นคง ย่อมเจริญฌานให้เกิดขึ้นได้โดยยาก เพราะศีลย่อมเป็นบาทฐาน ( เป็นกำลัง ) ให้เกิดสมาธิขึ้น
อานิสงส์ของสมาธินั้น มีมากกว่าการรักษาศีลอย่างเทียบกันไม่ได้
ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสว่า " แม้จะได้อุปสมบทเป็นภิกษุรักษาศีล ๒๒๗ ข้อ ไม่เคยขาด ไม่ด่าวพร้อยมานานถึง ๑๐๐ ปี ก็ยังได้บุญกุศลน้อยกว่าผู้ที่ทำสมาธิเพียงให้จิตสงบนานเพียงชั่วไก่กระพือปีก ช้างกระดิกหู "
คำว่า " จิตสงบ " ในที่นี้หมายถึงจิตที่เป็นอารมณ์เดียวเพียงชั่ววูบ ที่พระท่านเรียกว่า " ขนิกสมาธิ " คือสมาธิเล็ก ๆน้อย ๆ สมาธิแบบเด็ก ๆที่เพิ่งหัดตั้งไข่ คือหัดยืนแล้วก็ล้มลงแล้วก็ลุกขึ้นยืนใหม่ ซึ่งเป็นอารมณ์จิตที่ยังไม่ตั้งมั่น สงบวูบลงเล็กน้อยแล้วก็รักษาไว้ไม่ได้ ซึ่งยังห่างไกลต่อการที่จิตถึงขั้นเป็นอุปจารสมาธิและฌาน แม้กระนั้นก็ยังมีอานิสงส์มากมายถึงเพียงนี้ โดยหากผู้ใดทรงจิตอารมณ์อยู่ในขั้นขณิกสมาธิแล้วบังเอิญตายลงในขณะนั้น อานิสงส์นี้จะส่งผลให้ไปบังเกิดในเทวโลกชั้นที่ ๑ คือชั้นจาตุมหาราชิกา หากจิตยึดไตรสรณคมน์ ( มีพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์เป็นที่พึ่งอันสูงสุดด้วย ก็เป็นเทวดาชั้นที่ ๒ คือ ดาวดึงส์ )
สมาธินั้นมีหลายขั้นตอน
ระยะก่อนที่จะเป็นฌาน ( อัปปนาสมาธิ ) ก็คือขณิกสมาธิและอุปจารสมาธิ ซึ่งอานิสงส์ส่งให้ไปบังเกิดในเทวโลก ๖ ชั้น แต่ยังไม่ถึงชั้นพรหมโลก
สมาธิในระดับอัปปนาสมาธิหรือฌานนั้น มีรูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔ ซึ่งล้วนแต่ส่งผลให้ไปบังเกิดในพรหมโลกรวม ๒๐ ชั้น แต่จะเป็นชั้นใดย่อมสุดแล้วแต่ความละเอียดประณีตของกำลังฌานที่ได้ ( เว้นแต่พรหมโลกชั้นสุทธาวาส คือ ชั้นที่ ๑๒ ถึงชั้นที่ ๑๖ ซึ่งเป็นที่เกิดของพระอนาคามีบุคคลโดยเฉพาะ ) รูปฌาน ๑ ส่งผลให้บังเกิดในพรหมโลกชั้นที่ ๑ ถึงชั้นที่ ๓ สุดแล้วแต่ความละเอียดประณีตของกำลังฌาน ๑
ส่วนอรูปฌานที่เรียกว่า " เนวสัญญา นาสัญญายตนะ " นั้น ส่งผลให้บังเกิดในพรหมโลกชั้นสูงสุด คือชั้นที่ ๒๐ ซึ่งมีอายุยืนยาวถึง ๘๔ , ๐๐๐ มหากัป เรียกกันว่า นิพพานพรหม คือนานเสียจนเกือบหาเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดมิได้ จนเป็นที่เข้าใจกันว่าเป็นนิพพาน
การทำสมาธิเป็นการสร้างบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่ ลงทุนน้อยที่สุดเพราะไม่ต้องเสียเงินเสียทอง ไม่ได้เหนื่อยยากต้องแบกหามแต่อย่างใด เพียงแต่คอยระวังรักษาสติ คุ้มครองจิตมิให้แส่ส่ายไปสู่อารมณ์อื่น ๆ โดยให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวเท่านั้น
การทำทานเสียอีกยังต้องเสียเงินเสียทอง การสร้างโบสถ์ วิหาร ศาลาโรงธรรมยังต้องเสียทรัพย์ และบางทีก็ยังต้องเข้าช่วยแบกหามเหนื่อยกาย แต่ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการทำสมาธิอย่างเทียบกันไม่ได้
อย่างไรก็ดี การเจริญสมถภาวนา หรือสมาธินั้น แม้จะได้บุญอานิสงส์มากมายมหาศาลอย่างไร ก็ยังไม่ใช่บุญกุศลที่สูงสุดยอดในพระพุทธศาสนา หากจะเปรียบกับต้นไม้ก็เป็นเพียงเนื้อไม้เท่านั้น
การเจริญวิปัสสนา ( การเจริญปัญญา ) จึงจะ เป็นการสร้างบุญกุศลที่สูงสุดยอดในพระพุทธศาสนา หากจะเปรียบก็เป็นแก่นไม้โดยแท้
๒ . วิปัสสนาภาวนา ( การเจริญปัญญา )
เมื่อจิตของผู้บำเพ็ญตั้งมั่นในสมาธิจนมีกำลังดีแล้ว เช่นอยู่ในระดับฌานต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นฌานในระดับใดก็ตาม
แม้แต่จะอยู่แค่เพียงอุปจารสมาธิ จิตของผู้บำเพ็ญเพียรก็ย่อมมีกำลังและอยู่ในสภาพที่นุ่มนวล ควรแก่การเจริญวิปัสสนาต่อไปได้
อารมณ์ของวิปัสสนานั้น แตกต่างไปจากอารมณ์ของสมาธิ เพราะว่าสมาธินั้นมุ่งแต่ให้จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งแต่อารมณ์เดียวโดยแน่นิ่งอยู่เช่นนั้น ไม่นึกคิดอะไร ๆ
แต่วิปัสสนาไม่ใช่ให้จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวนิ่งอยู่เช่นนั้น แต่เป็นจิตที่คิดและใคร่ครวญหาเหตุและผลในสภาวธรรมทั้งหลายและสิ่งที่เป็นอารมณ์ของวิปัสสนานั้น มีแต่เพียงอย่างเดียวคือ " ขันธ์ ๕ " ซึ่งนิยมเรียกกันว่า " รูป - นาม " โดย รูป มี ๑ ส่วน นาม นั้นมี ๔ คือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ
ขันธ์ ๕ ดังกล่าวเป็นเพียงอุปาทานขันธ์ เพราะแท้จริงแล้วเป็นแต่เพียงสังขารธรรมที่เกิดขึ้นเนื่องจากการปรุงแต่ง แต่เพราะอวิชชา คือความไม่รู้เท่าสภาวธรรม จึงทำให้เกิดความยึดมั่นด้วยอำนาจอุปาทานเป็นตัวตนและของตน การเจริญวิปัสสนาก็โดยมีจิตพิจารณาจนรู้แจ้งเห็นจริงว่า อันสภาวธรรมทั้งหลายอันได้แก่ขันธ์ ๕ นั้นล้วนแต่มีอาการเป็น พระไตรลักษณ์ คือ เป็น อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา โดย
๑ . อนิจจัง คือ ความไม่เที่ยง คือสรรพสิ่งทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ สมบัติ เพชร หิน ดิน ทราย และรูปกายของเรา ล้วนแต่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน เมื่อมีเกิดขึ้นแล้วก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา เพียงแต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้น ไม่อาจจะตั้งมั่นทรงอยู่ในสภาพเดิมได้ เช่นคนและสัตว์ เมื่อมีการเกิดขึ้นแล้วก็มีการเจริญเติบโตเป็นหนุ่มสาวและเฒ่าแก่จนตายไปในที่สุด ไม่มีเว้นไปได้ทุกผู้คน แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์เจ้าทั้งหลาย พรหมและเทวดา ฯลฯ
สรรพสิ่งทั้งหลายอันเนื่องมาจากการปรุงแต่งที่เรียกว่าอุปาทานขั้นธ์ ๕ เช่น รูปกาย ล้วนแต่เป็นแร่ธาตุต่างๆมาประชุมรวมกันเป็นหน่วยเล็กๆของชีวิตขึ้นมาก่อน ซึ่งเล็กจนตาเปล่ามองๆไม่เห็น เรียกกันว่า " เซลล์ " แล้วบรรดาเซลล์เหล่านั้นก็มาประชุมรวมกันเป็นรูปร่างของคนและสัตว์ขึ้น ซึ่งหน่วยชีวิตเล็กๆเหล่านั้นก็มีการเจริญเติบโตและแตกสลายไป แล้วเกิดของใหม่ขึ้นมาแทนที่อยู่ตลอดเวลา ล้วนแล้วแต่เป็นอนิจจังไม่เที่ยงแท้แน่นอน
๒ . ทุกขัง ได้แก่ " สภาพที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ " ทุกขัง ในที่นี้ไม่ได้หมายความแต่เพียงว่าเป็นความทุกข์กายทุกใจเท่านั้น แต่การทุกข์กายทุกข์ใจก็เป็นลักษณะส่วนหนึ่งของทุกขังในที่นี้ สรรพสิ่งทั้งหลายอันเป็นสังขารธรรม เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ไม่อาจที่จะทนตั้งอยู่ในสภาพนั้น ๆได้ตลอดไป ไม่อาจจะทรงตัวและต้องเปลี่ยนแปลงตลอดไป เพียงแต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้น เมื่อได้เกิดมาเป็นเด็กจะให้ทรงสภาพเป็นเด็ก ๆ เช่นนั้นตลอดไปหาได้ไม่ จะต้องเปลี่ยนแปลงไปเป็นคนหนุ่มและสาวแล้วก็เฒ่าแก่ จนในที่สุดก็ต้องตายไป แม้แต่ขันธ์ที่เป็นนามธรรมอันได้แก่เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ก็ไม่มีสภาพทรงตัวเช่นเดียวกัน เช่นขันธ์ที่เรียกว่าเวทนา อันได้แก่ความทุกข์กายทุกข์ใจ และความไม่สุขไม่ทุกข์ ซึ่งเมื่อมีเกิดเป็นอารมณ์ดังกล่าวอย่างใดขึ้นแล้ว จะให้คงทรงอารมณ์เช่นนั้นให้ตลอดไปย่อมไม่ได้ นานไปอารมณ์เช่นนั้นหรือเวทนาเช่นนั้นก็ค่อยๆจางไปแล้วเกิดอารมณ์ใหม่ชนิดอื่นขึ้นมาแทน
๓ . อนัตตา ได้แก่ " ความไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่สิ่งของ " โดยสรรพสิ่งทั้งหลายอันเนื่องมาจากการปรุงแต่ง ไม่ว่าจะเป็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ล้วนแต่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เช่น รูปขันธ์ย่อมประกอบขึ้นด้วยแร่ธาตุต่าง ๆ มาประชุมรวมกันเป็นกลุ่มก้อน เป็นหน่วยชีวิตเล็ก ๆ ขึ้นก่อน เรียกในทางวิทยาศาสตร์ว่าเซลล์ แล้วเซลล์เหล่านั้นก็ประชุมรวมกันเป็นรูปใหญ่ขึ้น จนเป็นรูปกายของคนและสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งพระท่านรวมเรียกหยาบ ๆ ว่าเป็นธาตุ ๔ มาประชุมรวมกัน โดยส่วนที่เป็นของแข็งมีความหนักแน่น เช่น เนื้อ กระดูก ฯลฯ เรียกว่า " ธาตุดิน " ส่วนที่เป็นของเหลว เช่น น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำลาย น้ำดี น้ำปัสสาวะ น้ำไขข้อ น้ำมูก ฯลฯ รวมเรียกว่า " ธาตุน้ำ " ส่วนสิ่งที่ให้พลังงานและอุณหภูมิในร่างกาย เช่น ความร้อน ความเย็น เรียกว่า " ธาตุไฟ " ส่วนธรรมชาติที่ทำให้เกิดความเคลื่อนไหว ความตั้งมั่น ความเคร่ง ความตึง และบรรดาสิ่งเคลื่อนไหวไปมาในร่างกาย เรียกว่า " ธาตุลม " ( โดยธาตุ ๔ ดังกล่าวนี้มิได้หมายความอย่างเดียวกับคำว่า " ธาตุ " อันหมายถึงแร่ธาตุในทางวิทยาศาสตร์ ) ธาตุ ๔ หยาบ ๆ เหล่านี้ได้มาประชุมรวมกันเป็นรูปกายของคน สัตว์และสรรพสิ่งทั้งหลายขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อนานไปก็ย่อมเปลี่ยนแปลงแล้วแตกสลายกลับคืนไปสู่สภาพเดิม โดยส่วนที่เป็นดินก็กลับไปสู่ดิน ส่วนที่เป็นน้ำก็กลับไปสู่น้ำ ส่วนที่เป็นไฟก็กลับไปสู่ไฟ และส่วนที่เป็นลมก็กลับไปสู่ความเป็นลม ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของคนและสัตว์ที่ไหนแต่อย่างใด จึงไม่อาจจะยึดมั่นถือมั่นรูปกายนี้ว่าเป็นตัวเราของเราให้เป็นที่พึ่งอันถาวรได้
-
อานิสงค์ ของการสร้างบุญบารมี ( ทาน, ศีล, ภาวนา )
โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
-http://www.kanlayanatam.com/sara/sara68.htm-
สมาธิ ย่อมมีกรรมฐาน ๔๐ เป็นอารมณ์ ซึ่งผู้บำเพ็ญอาจจะใช้กรรมฐานบทใดบทหนี่งตามแต่ที่ถูกแก่จริตนิสัยของตนก็ย่อมได้
ส่วนวิปัสสนานั้น มีแต่เพียงอย่างเดียวคือ มีขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์ เรียกสั้น ๆ ว่า มีแต่รูปกับนามเท่านั้นเอง ขันธ์ ๕ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา และวิญญาณ
ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสภาวธรรมหรือสังขารธรรมเกิดขึ้นเนื่องจากการปรุงแต่ง เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ไม่เที่ยง ทนอยู่ในสภาพเช่นนั้นไม่ได้ และไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนแต่อย่างใด อารมณ์ของวิปัสสนานั้น เป็นอารมณ์จิตที่ใคร่ครวญหาเหตุและผลในสังขารธรรมทั้งหลายจนรู้แจ้งเห็นจริงว่าเป็น พระไตรลักษณ์ คือเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา และ เมื่อใดที่จิตยอมรับสภาพความเป็นจริงว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตาจริง เรียกว่าจิตตกระแสธรรมตัด กิเลสได้
ปัญญาที่จะเห็นสภาพความเป็นจริงดังกล่าว ไม่ใช่แต่เพียงปัญญาที่จะนึกคิดและคาดหมายเอาเท่านั้น แต่ย่อมมีตาวิเศษหรือตาใน ที่พระท่านเรียกว่า " ญาณทัสสนะ " เห็นเป็นเช่นนั้นจริง ๆ ซึ่งจิตที่ได้ผ่านการอบรมสมาธิมาจนมีกำลังดีแล้ว ย่อมมีพลังให้เกิดญาณทัสสนะหรือปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริงดังกล่าวได้ เรียกกันว่า " สมาธิอบรมปัญญา " คือสมาธิทำให้วิปัสสนาญาณเกิดขึ้น และเมื่อวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นแล้ว ย่อมถ่ายถอนกิเลสให้เบาบางลง จิตก็ย่อมจะเบาและใสสะอาดบางจากกิเลสทั้งหลายไปตามลำดับ สมาธิจิตก็จะยิ่งก้าวหน้าและตั้งมั่นมากยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก เรียกว่า " ปัญญาอบรมสมาธิ "
ฉะนั้นทั้งสมาธิและวิปัสสนาจึงเป็นทั้งเหตุและผลของกันและกันและอุปการะซึ่งกันและกัน จะมีวิปัสสนาปัญญาเกิดขึ้นโดยขาดกำลังสมาธิสนับสนุนมิได้เลย
อย่างน้อยที่สุดก็จะต้องใช้กำลังของขณิกสมาธิเป็นบาทฐานในระยะแรกเริ่ม สมาธิจึงเปรียบเสมือนกับหินลับมีด ส่วนวิปัสสนานั้นเหมือนกับมีดที่ได้ลับกับหินคมดีแล้ว ก็ย่อมมีอำนาจถากถางตัดฟันบรรดากิเลสทั้งหลายให้ขาดและพังลงได้ อันสังขารธรรมทั้งหลายนั้นล้วนแต่เป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ตัวเราของเราแต่อย่างใด ทุกสรรพสิ่งล้วนแล้วแต่เป็นแค่ดิน น้ำ ลม และไฟ มาประชุมรวมกันชั่วคราวตามเหตุตามปัจจัยเท่านั้น ในเมื่อจิตได้เห็นความเป็นจริงเช่นนี้แล้ว จิตก็จะละคลายจากอุปาทาน คือความยึดมั่นถือมั่น โดยคลายกำหนัดในลาภ ยศ สรรเสริญ สุขทั้งหลาย ความโลภ ความโกรธ และความหลงก็เบาบางลงไปตามลำดับปัญญาญาณจนหมดสิ้นจากกิเลสทั้งมวล บรรลุซึ่งพระอรหัตผลต่อไป
ฉะนั้น การที่จะเจริญวิปัสสนาภาวนาได้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพยายามทำสมาธิให้ได้เสียก่อน หากทำสมาธิยังไม่ได้ ก็ไม่มีทางที่จะเกิดวิปัสสนาปัญญาขึ้น สมาธิจึงเป็นเพียงบันไดขั้นต้นที่ก้าวไปสู่การเจริญวิปัสสนาปัญญาเท่านั้น
ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า " ผู้ใดแม้จะทำสมาธิจิตเป็นฌานได้นานถึง ๑๐๐ ปี และไม่เสื่อม ก็ยังได้บุญน้อยกว่าผู้ที่มองเห็นความเป็นจริงทีว่า สรรพสิ่งทั้งหลายอันเนื่องมาจากการปรุงแต่ง ล้วนแล้วแต่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แม้จะเห็นเพียงชั่วขณะจิตเดียวก็ตาม "
ดังนี้ จะเห็นได้ว่าวิปัสสนานั้น เป็นสุดยอดของการสร้างบารมีโดยแท้จริง และการกระทำก็ไม่เหนื่อยยากลำบาก ไม้ต้องแบกหาม ไม่ต้องลงทุนหรือเสียทรัพย์แต่อย่างใดแต่ก็ได้กำไรมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับการให้ทานเหมือนกับกรวด และทราย ก็เปรียบวิปัสสนาได้กับเพชรน้ำเอก ซึ่งทานย่อมไม่มีทางที่จะเทียบกับศีล ศีลก็ไม่มีทางที่จะเทียบกับสมาธิ และสมาธิก็ไม่มีทางที่จะเทียบกับวิปัสสนา
แต่ตราบใดที่เราท่านทั้งหลายยังไม่ถึงฝั่งพระนิพพาน ก็ต้องเก็บเล็กผสมน้อย โดยทำทุกๆทางเพื่อความไม่ประมาท โดยทำทั้งทาน ศีล และภาวนา สุดแล้วแต่โอกาสจะอำนวยให้ จะถือว่าการเจริญวิปัสสนาภาวนานั้นลงทุนน้อยที่สุด แต่ได้กำไรมากที่สุดก็เลยทำแต่วิปัสสนาอย่างเดียวโดยไม่ยอมลงทุนทำบุญให้ทานใดๆไว้เลย เมื่อเกิดชาติหน้าเพราะเหตุที่ยังไม่ถึงฝั่งพระนิพพานก็เลยมีแต่ปัญญาอย่างเดียวไม่มีจะกินจะใช้ ก็เห็นจะเจริญวิปัสสนาให้ถึงฝั่งพระนิพพานไปไม่ได้เหมือนกัน
อนึ่ง พระพุทธองค์ได้ตรัสเอาไว้ว่า " ผู้ใดมีปัญญาพิจารณาจนจิตเห็นความจริงว่า ร่างกายนี้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน คน สัตว์ แม้จะนานเพียงชั่วช้างยกหูขึ้นกระดิก ก็ยังดีเสียกว่าผู้ที่มีอายุยืนนานถึง ๑๐๐ ปี แต่ไม่มีปัญญาเห็นความจริงดังกล่าว "
กล่าวคือ แม้ว่าอายุของผู้นั้นจะยืนยาวมานานเพียงใด ก็ย่อมโมฆะเสียเปล่าไปชาติหนึ่ง จัดว่าเป็น " โมฆะบุรุษ " คือบุรุษที่สูญเปล่า
ต่อไปนี้เป็นการเจริญสมถะและวิปัสสนาอย่างง่าย ๆ ประจำวัน
ซึ่งควรจะทำให้บ่อย ๆ ทำเนือง ๆ ทำให้มาก ๆ ทำจนจิตเป็นอารมณ์แนบแน่น ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใด ๆคือไม่ว่าจะยืน นั่ง หรือนอน ก็คิดและใคร่ครวญถึงความเป็นจริง ๔ ประการดังต่อไปนี้ หากทำแล้วพระพุทธองค์ตรัสว่า " จิตของผู้นั้นไม่ห่างวิปัสสนา และเป็นผู้ที่ไม่ห่างจากมรรค ผล นิพพาน " คือ
๑ . มีจิตใคร่ครวญถึงมรณัสสติกรรมฐาน หรือมรณานุสสติกรรมฐาน ซึ่งก็ คือการใคร่ครวญถึงความตายเป็นอารมณ์ อันความมรณะนั้นเป็นธรรมอันยิ่งใหญ่ที่ไม่มีใครสามารถที่จะเอาชนะได้ แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งทรงบรรลุถึงพระธรรมอันยิ่งใหญ่ที่ไม่ตาย แต่ก็ยังทรงทอดทิ้งพระสรีระร่างกายไว้ในโลก การระลึกถึงความตายจึงเป็นการเตือนสติให้ตื่น รีบพรากเพียรชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ก่อนที่ความตายจะมาถึง พระพุทธองค์ตรัสสรรเสริญมรณัสสติว่า " มรณัสสติ ( การระลึกถึงความตาย ) อันบุคคลทำให้มากแล้วย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ หยั่งลงสู่พระนิพพานเป็นที่สุด " อันมรณัสสติกรรมฐานนนั้น แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์เจ้าทั้งหลาย ซึ้งแม้จะได้บรรลุมรรคผลแล้วก็ยังไม่ยอมละ เพราะยังทรงอารมณ์มรณัสสตินี้ควบคู่ไปกับวิปัสสนา เพื่อความอยู่เป็นสุข ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า " ตถาคตนึกถึงความตายอยู่ทุกลมหายใจเข้าและออก "
มรณัสสติกรรมฐานนั้น โด ยปรกติเป็นกรรมฐานของผู้ที่มีพุทธจริต คือคนที่ฉลาด การใคร่ครวญถึงความตายเป็นอารมณ์ก็คือการพิจารณาถึงความจริงทีว่า ไม่ว่าคนและสัตว์ทั้งหลาย เมื่อมีเกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญวัยเป็นหนุ่มสาว เฒ่าแก่แล้วก็ตายไปในที่สุด ไม่อาจจะล่วงพ้นไปได้ทุกผู้คน ไม่ว่าจะเป็นคนยากดี มี จน เด็ก หนุ่มสาว เฒ่าแก่ สูงต่ำ เหลื่อมล้ำกันด้วยฐานันดรศักดิ์อย่างใด ในที่สุดก็ทันกันและเสมอกันด้วยความตาย " ผู้ที่คิดถึงความตายนั้น เป็นผู้ที่ไม่ประมาทในชีวิต ไม่มัวเมาในชีวิต เพราะเมื่อคิดถึงแล้วย่อมเร่งกระทำความดีและสร้างบุญกุศล เกรงกลัวต่อบาปกรรมที่จะติดตามไปในภพชาติหน้า "
ผู้ที่ประมาทมั่วเมาต่อทรัพย์สมบัติยศศักดิ์ตำแหน่งหน้าที่นั้นเป็นผู้ที่หลง เหมือนกับคนที่หูหนวกและตาบอด ซึ่งโบราณกล่าวตำหนิไว้ว่า " หลงลำเนาเขาป่ากู่หาพอได้ยิน หลงยศอำนาจย่อมหูหนวกและตาบอด " และกล่าวไว้อีกว่า " หลงยศลืมตาย หลงกายลืมเนา " และความจริงก็มีให้เห็นอยู่ทุกวันนี้ที่บางท่านใกล้จะเข้าโลงแล้ว ก็ยังหลงและมัวเมาในอำนาจวาสนา ตำแหน่งหน้าที่ จนลืมไปว่าอีกไม่นานตนก็จะต้องทิ้งต้องจากสิ่งเหล่านี้ไป แล้วทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนได้หลงใหลมัวเมาเฝ้าแสวงหาหวงแหนเกาะแนนอยู่นั้น ก็จะต้องสลายไปพร้อมกับความตายของตน สูญเปล่าไม่ได้ตามติดกับตนไปด้วยเลย แล้วไม่นานผู้คนที่อยู่เบื้องหลังก็ลืมเลือนตนไปเสียสิ้น ดูเหมือนกับวันเวลาทั้งหลายที่ตนได้ต่อสู้เหนื่อยยากขวนขวายจนได้สิ่งดังกล่าวมา ก็ต้องโมฆะสูญเปล่าไปโดยหาสาระ ประโยชน์อันใดมิได้เลย
มรณัสสติกรรมฐานนั้น เมื่อพิจารณาไปนาน ๆ จิตจะค่อย ๆ สงบและระงับจากนิวรณ์ธรรม ๕ ประการ ในที่สุดจิตก็เข้าถึงอุปจารสมาธิ และความจริงกรรมฐานกองนี้เป็นเพียงสมถภาวนาเท่านั้น แต่ก็ใกล้วิปัสสนา เพราะอารมณ์จิตที่ใช้นั้นเป็นการพิจารณาหาเหตุและผลในรูปธรรมและนามธรรม ซึ่งหากพลิกการพิจารณาว่า อันชีวิตของคนและสัตว์ ตลอดจนสรรพสิ่งทั้งหลายไม่อาจทรงตัวตั้งมั่นอยู่ได้ เมื่อมีเกิดขึ้นแล้วก็ย่อมมีความตายเป็นที่สุด เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดังนี้แล้ว ก็เป็นวิปัสสนาภาวนา
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อใกล้จะเสด็จดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานอีก ๓ เดือน ได้ทรงปลงอายุสังขาร แล้วตรัสสอนพระอานนท์พร้อมหมู่ภิกษุทั้งหลายว่า " อานนท์ ตถาคตได้เคยบอกเธอแล้วมิใช่หรือว่า สัตว์จะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจไปทั้งสิ้น สัตวจะได้ตามปรารถนาในสังขารนี้แต่ที่ไหนเล่า การที่จะขอให้สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นแล้ว ที่มีปัจจัยปรุงแต่งแล้ว และที่จะต้องมีการแตกดับเป็นธรรมดาว่าอย่าฉิบหายเลย ดังนี้ย่อมไม่อยู่ในฐานะที่จะมีได้ เป็นได้ การปรินิพพานของเราตถาคตจักมีในกาลไม่นานเลย ถัดจากนี้ไปอีก ๓ เดือน เราจักนิพพาน ฯลฯ สัตว์ทั้งปวงที่เป็นคนหนุ่ม คนแก่ ทั้งที่เป็นคนพาลและบัณฑิต ทั้งที่มั่งมีและยากจน ล้วนแต่มีความตายเป็นเบื้องหน้า เปรียบเสมือนภาชนะ ดินที่ช่างหม้อได้ปั้นแล้ว ทั้งเล็กและใหญ่ ทั้งที่สุกและที่ยังดิบ ล้วนแต่มีการแตกทำลายไปในที่สุดฉันใด ชีวิตแห่งสัตว์ทั้งหลายก็ล้วนแต่มีความตายเป็นเบื้องหน้าฉันนั้น วัยของเราแก่หง่อมแล้ว ชีวิตของเราริบหรี่แล้ว เราจักต้องละพวกเธอไป ที่พึ่งของตัวเอง เราได้ทำแล้ว ภิกษุทั้งหลาย เธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท มีสติ มีศีล มีความดำริอันตั้งไว้แล้วด้วยดี ตามรักษาซึ่งจิตของตนเถิด ในธรรมวินัยนี้ ภิกษุใดเป็นผู้ไม่ประมาท ก็สามารถที่จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ "
และในวันมหาปรินิพพาน พระพุทธองค์ได้ตรัสพระปัจฉิมโอวาทที่เรียกกันว่า " อัปปมาทธรรม " สั่งสอนพระสาวกเป็นครั้งสุดท้าย จนดูเหมือนว่าพระธรรม ๘๔ , ๐๐๐ พระธรรมขันธ์ที่ทรงสั่งสอนมานานถึง ๔๕ พรรษา ได้ประมวลประชุมรวมกันในพระปัจฉิมโอวาทนี้ว่า " ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ตถาคตขอเตือนท่านทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด "
๒ . มีจิตใคร่ครวญถึงอสุภกรรมฐาน อสุภ ได้แก่สิ่งที่ไม่สวยไม่งาม เช่น ซากศพ คือให้มีจิตพิจารณาให้เห็นความเป็นจริงที่ว่า ร่างกายของคนและสัตว์อันเป็นที่นิยมรักใคร่เสน่หา และเป็นบ่อเกิดแห่งตัณหาราคะ กามกิเลส ว่าเป็นของสวยของงาม เป็นที่เจริญตาและใจ ไม่ว่าร่างกายของตนเองและของผู้อื่นก็ตาม แท้ที่จริงแล้วก็เป็นอนิจจัง คือไม่เที่ยงแท้แน่นอน ทุกขัง คือทนอยู่ในสภาพเช่นนั้นไม่ได้ วันเวลาย่อมพรากความสวยสดงดงามให้ค่อย ๆ จากไปจนเข้าสู่วัยชรา ซึ่งจะมองหาความสวยงามใด ๆ หลงเหลืออยู่มิได้อีกเลย และในทันใดที่ตายลงนั้น แม้แต่ผู้ที่เคยสนิทสนมเสน่หารักใคร่ อันรวมถึงสามี ภริยาและบุตรธิดา ต่างก็พากันรังเกียจในทันใด ไม่ยอมเข้าใกล้ บ้านของตนเองที่อุตสาห์สร้างมาด้วยความเหนื่อยยากก็ไม่ยอมให้อยู่ ต้องรีบขน ๆออกไปโดยไวไว้ที่วัด แล้วซากเหล่านั้นก็เน่าเปื่อยสลายไป เริ่มตั้งแต่เนื้อหนังค่อย ๆ พองออก ขึ้นอืด น้ำเลือด น้ำเหลืองก็เริ่มเน่า แล้วเดือดไหลออกจากทวารทั้งหลาย เนื้อหนังแตกปริแล้วร่วงหลุดออกจนเหลือแต่กระดูก ส่งกลิ่นเน่าเหม็นเป็นที่น่ารังเกียจ สะอิดสะเอียน หาความสวยงามน่ารักเสน่หาใดๆมิได้อีกเลย ทั้งไร้คุณค่าและประโยชน์ คงมีค่าแค่เป็นอาหารแก่หมูหนอนเท่านั้น แล้วในที่สุดกระดูกก็กระจัดกระจายเรี่ยราดอยู่ตามดินและทราย แตกละเอียดผุพังเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แล้วเน่าเปื่อยเป็นปุ๋ยแก่พืชผักต่อไป หาตัวหาตนของเราที่ไหนมิได้เลย สังขารของเราในที่สุดก็เป็นเช่นนี้ ไม่มีอะไรคงเหลือไว้เลย
๓ . มีจิตใคร่ครวญถึงกายคตานุสสติกรรมฐาน บางทีเรียกกันง่าย ๆ ว่า " กายคตาสติกรรมฐาน " เป็นกรรมฐานที่มีอานิสงส์มาก เพราะสามารถทำให้ละ " สักกายทิฐิ " อันเป็นสังโยชน์ข้อต้นๆได้โดยง่าย และเป็นกรรมฐานที่เกี่ยวกับการพิจารณาร่างกายให้เห็นสภาพตามความเป็นจริง ซึ่งมักพิจารณาร่วมกับอสุภกรรมฐาน มรณัสสติกรรมฐาน ซึ่งพระอริยะเจ้าทุกๆพระองค์ที่จะบรรลุพระอรหัตน์ผลได้จะต้องผ่านการพิจารณากรรมฐานทั้งสามกองนี้เสมอ มิฉะนั้นแล้วจะเป็นพระอรหันต์ในพระพุทธศาสนามิได้ ทั้งนี้เพราะบรรดาสรรพกิเลสทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นความโลภ ความหลง และความโกรธ ต่างก็เกิดขึ้นที่กายนี้ เพราะว่าความยึดมั่นถือมั่นด้วยอำนาจอุปาทานว่าเป็นตัวตนและของตน จึงได้เกิดกิเลสดังกล่าวขึ้น การพิจารณาละกิเลสก็จะต้องพิจารณาละที่กายนี้เอง มรรค ผล และนิพพาน ไม่ต้องไปมองหาที่ไหนเลย แต่มีอยู่พร้อม ให้รู้แจ้งเห็นจริงได้ที่ร่างกายอันกว้างศอกยาววาและหนาคืบนี่เอง
การพิจารณา ก็คือให้มีจิตใคร่ครวญให้เห็นตามสภาพความเป็นจริง ที่ว่า อันร่างกายของคนและสัตว์ที่เฝ้าทะนุถนอมรักใคร่ว่าสวยงาม เป็นที่สนิทเสน่หาชมเชยรักใคร่ซึ่งกันและกันนั้น แท้ที่จริงแล้วก็เป็นของปฏิกูล สกปรกโสโครก ไม่สวยไม่งาม ไม่น่ารักใคร่ทะนุถนอม เป็นมูตร คูถ เพราะเป็นที่บรรจุไว้ซึ่งสรรพสิ่งทั้งหลายที่เป็นพืชผักและบรรดาซากศพของสัตว์ที่บริโภคเข้าไป ภายในกระเพาะนั้น แท้ที่จริงแล้วก็เป็นที่รวมฝังซากศพของบรรดาสัตว์ทั้งหลายนั้นเอง พืชและสัตว์ที่บริโภคเข้าไปก็ล้วนแต่เป็นของที่สกปรก ที่ขับถ่ายออกมาจากทวารทั้งหลายก็เป็นของที่สกปรกโสโครก ซึ่งต่างก็พากันรังเกียจว่าเป็น " ขี้ " มีสารพัดขี้ ซึ้งแม้แต่จะเหลือบตาไปมองก็ยังไม่กล้าที่จะมอง แต่แท้ที่จริงแล้วในท้อง กระเพาะ ลำไส้ภายในร่างกายของทุกผู้คนก็ยังคงมีบรรดาขี้เหล่านี้บรรจุอยู่ เพียงแต่มีหนังห่อหุ้มปกปิดเอาไว้ทำให้ไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอกเท่านั้นเอง แต่เราท่านทั้งหลายก็พากันกกกอด คลึงเคล้า เฝ้าชมเชยก้อนขี้เหล่านี้ว่าเป็นของสวยงาม น่ารักน่าใคร่เสน่หายิ่งนัก เมื่อมีการขับถ่ายออกมาจากทวารหูก็เรียกกันว่าขี้หู ขับถ่ายออกมาทางตาก็เรียกขี้ตา ที่ติดอยู่กับฟันก็เรียกขี้ฟัน ที่ออกมาทางจมูกก็เรียกว่าขี้มูก รวมความแล้วบรรดาสิ่งที่ขับออกมาพอพ้นร่างกายในทันใดนั้นเอง จากเดิมที่เป็นของน่ารักน่าเสน่หา ก็กลายมาเป็นของที่น่ารังเกียจไปโดยพลัน กลายมาเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากรักอยากเสน่หาเพราะว่าเป็นขี้ และก็ไม่มีใครอยากจะเป็นเจ้าของด้วย เมื่อไม่มีใครยอมรับเป็นเจ้าของ สิ่งที่ขับถ่ายออกมาทางผิวหนังจึงหาเจ้าของมิได้ ซึ่งต่างก็โทษกันว่าขี้ของใครก็ไม่ทราบได้ นานมาก็กลายมาเป็น " ขี้ไคล " ดังนี้เป็นต้น นอกจากสิ่งที่ขับถ่ายออกมาจะน่ารังเกียจดังกล่าวแล้ว
แม้แต่สังขารร่างกายของคนเราเมื่อได้แยกแยะพิจารณาไปแล้ว ก็จะเห็นความจริงที่ว่า เป็นที่ประชุมรวมกันของอวัยวะชิ้นต่างๆที่เป็นตา หู จมูก ลิ้น เนื้อ ปอด ตับ ม้าม หัวใจ กระเพาะอาหาร ลำไส้ หนัง พังผืด เส้นเอ็น เส้นเลือด น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำลาย น้ำตา น้ำปัสสาวะ ฯลฯ รวมกันเรียกว่าอาการ ๓๒ ซึ่งต่างก็ห้อยแขวนระเกะระกะยางโตงเตงอยู่ภายใน เมื่อแยกหรือควักออกมาดูทีละชิ้น จะไม่มีชิ้นใดที่เรียกกันว่าสวยงามน่ารัก น่าพิศวาสเลย กลับเป็นของที่น่ารังเกียจ ไม่สวย ไม่งาม ไม่น่าดู แต่สิ่งเหล่านี้ก็รวมประกอบอยู่ภายในร่างกายของเราทุกผู้ทุกคน โดยมีหนังหุ้มห่อปกปิดอยู่โดยรอบ หากไม่มีผืนหนังหุ้มห่อและสามารถมองเห็นภายในได้แล้ว แม้จะเป็นร่างกายของคนที่รักสุดสวาดขาดใจ ก็คงจะต้องเบือนหน้าหนีอกสั่นขวัญหาย บางทีอาจจะต้องถึงขั้นจับไข้ไปเลย ซึ่งอาจจะต้องถึงขั้นทำพิธีปัดรังควาญเรียกขวัญกันอีก หากจะถือว่าน่ารักน่าเสน่หาอยู่ที่ผืนหนังหรือแผ่นหนังรอบกาย ก็ลองลอกออกมาดูก็จะเห็นว่าไม่สวยงามตรงไหนแต่อย่างใด แต่ที่นิยมยกย่องรักใคร่หลงใหลกันอยู่ ก็คือผิวหรือสีของหนังชั้นนอกสุดเท่านั้น ถ้าได้ลอกหรือขูดผิวชั้นนอกสุดออกมาให้เหลือแต่หนังแท้แดงๆแล้ว แม้จะเป็นหนังสดสวยของนางงามจักรวาล ผู้คนก็คงจะต้องเบือนหน้าหนี จึงเป็นที่แน่ชัดว่า คนสวย คนงาม ก็คงสวยและงามกันแค่ผิวหนังชั้นนอกสุด รักและเสน่หาที่ผิวหนัง ซึ่งเป็นของฉาบฉวยนอกกาย หาได้สวยงามน่ารักเข้าไปถึงตับ ไต ปอด หัวใจ ม้าม กระเพาะ ลำไส้ น้ำเลือดน้ำหนอง อุจจาระ ปัสสาวะ ภายในร่างกายด้วยไม่ ส่วนผู้ที่ผิวหรือสีของหนังดำด่าง ไม่สดใสน่าดู ก็พยายามทาลิปสติก แต่งหน้าแต่งตา ทาสี พอกแป้งย้อม และดึงกันเข้าไปให้เต่งตึง และออกเป็นสีสันต่างๆแล้วก็พากันนิยมยกย่องชวนชมกันไป แต่ที่จริงแล้วก็เป็นความหลง โดยหลงรักกันที่แป้งและสีที่พอก หลอกให้เห็นฉาบฉวยอยู่แค่ผิวนอกเท่านั้น
เมื่อมีสติพิจารณาเห็นความเป็นจริงอยู่เช่นนี้ หากจิตมีกำลังก็จะทำให้นิวรณ์ ๕ ประการค่อยๆสงบระงับทีละเล็กละน้อย โดยเฉพาะจิตจะไม่เดือดร้อนกระวนกระวายแส่ส่ายไปในอารมณ์รักๆใคร่ๆ ในที่สุดจิตก็จะสงบเยือกเย็นลงจนถึงขั้นอุปจารสมาธิได้ หากสติมีกำลังพอก็อาจถึงขั้นปฐมฌานได้
-
อานิสงค์ ของการสร้างบุญบารมี ( ทาน, ศีล, ภาวนา )
โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
-http://www.kanlayanatam.com/sara/sara68.htm-
กายคตานุสสติกรรมฐานนั้น ความจริงก็เป็นเพียงสมถภาวนาที่ทำให้จิตเป็นสมาธิได้ถึงขั้นปฐมฌาน แต่ก็เป็นสมถภาวนาที่เจือไปด้วยวิปัสสนาภาวนา เพราะเป็นอารมณ์จิตที่ใคร่ครวญหาเหตุและผลตามสภาพเป็นจริงของสังขารธรรมหรือสภาวธรรม ซึ่งหากได้พลิกการพิจารณาอาการ ๓๒ ดังกล่าวให้รู้แจ้งเห็นจริงว่าอาการ ๓๒ ดังกล่าวนั้นไม่มีการทรงตัว เมื่อเกิดมีอาการ ๓๒ ขึ้นแล้ว ก็ไม่อาจจะตั้งมั่นอยู่ได้ จะต้องเปลี่ยนแปลงไปเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ตัวเราและของเราแต่อย่างใด ร่างกายไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือของผู้อื่น ต่างก็เต็มไปด้วยความทุกข์ ดังนี้ก็เป็นวิปัสสนา กายคตานุสสติกรรมฐาน เป็นกรรมฐานที่เมื่อได้พิจารณาไปแล้ว ก็จะเห็นความสกปรกโสโครกของร่างกายจนรู้แจ้งเห็นจริงว่า ไม่น่ารักน่าใคร่ จึงเป็นกรรมฐานที่มีอำนาจทำลายราคะกิเลส และเมื่อได้รู้แจ้งเห็นจริงดังกล่าวมากๆเข้า จิตก็จะมีกำลังและเกิดความเบื่อหน่ายในร่างกายทั้งของตนเองและผู้อื่น จึงเป็นการง่ายที่ " นิพพิทาญาณ " จะเกิดขึ้น
และเมื่อได้เกิดขึ้นแล้วจนมีญาณทัสสนะเห็นแจ้งอาการพระไตรลักษณ์ว่า ร่างกายเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ใช่เราไม่ใช่เขาแต่อย่างใด จิตก็จะน้อมไปสู่ " สังขารุเปกขาญาณ " ซึ่งมีอารมณ์อันวางเฉย ไม่ยินดียินร้ายในร่างกายและคลายกำหนัดในรูปนามขันธ์ ๕ เรียกว่าจิตปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่นในอุปาทาน - ขันธ์ ๕ ซึ่งจะนำไปสู่การละ " สักกายทิฐิ " อันเป็นการละความเห็นผิดในร่างกายนี้เสียได้ และถ้าละได้เมื่อใด ก็ใกล้ที่จะบรรลุความเป็นพระอริยะเจ้าเบื้องต้นในพระพุทธศาสนาคือเป็น " พระโสดาบัน " สมจริงตามที่ พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า " การเจริญกรรมฐานกองนี้จะไม่ห่างมรรค ผล และนิพพาน "
ฉะนั้น กายคตานุสสติกรรมฐาน จึงเป็นกรรมฐานเครื่องที่จะทำให้บรรลุพระอรหันต์ได้โดยง่าย ซึ่งในสมัยพระพุทธกาล ท่านที่บรรลุแล้วด้วยพระกรรมฐานกองนี้มีเป็นจำนวนมาก ในสมัยที่พระพุทธองค์ท่านตรัสรู้ใหม่ๆได้เสด็จไปพบพราหมณ์สองสามีภารยา ซึ่งมีบุตรที่สุดสวยชื่อว่า " นางมาคัณฑิยา " พราหมณ์ทั้งสองชอบใจในพระพุทธองค์ จึงได้ออกปากยกนางมาคัณฑิยาให้เป็นภรรยา พระพุทธองค์ไม่ทรงรับไว้และมองเห็นนิสัยของพราหมณ์ทั้งสองที่จะได้บรรลุมรรคผล จึงได้ทรงแสดงพระธรรมให้ฟัง โดยยกเอากายคตานุสติกรรมฐานขึ้นมาเทศน์ ซึ่งได้ตรัสตำหนิโทษแห่งความสวยงามแห่งรูปกายของนางมาคัณฑิยาว่า พระพุทธองค์ทรงเห็นว่าเป็นของปฏิกูล มูตรคูถเน่าเหม็น หาความสวยงามใดๆมิได้เลย พราหมณ์ทั้งสองพิจารณาตามก็ได้ดวงตาเห็นธรรม
ส่วนนางมาคัณฑิยาผูกโกรธ ต่อมาเมื่อนางได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าอุเทน กรุงโกสัมพี ก็ได้จองล้างจองผลาญพระพุทธองค์อย่างไม่มีที่สิ้นสุดเพราะแรงพยาบาท อีกท่านหนึ่งก็คือนางอภิรูปนันทา ซึ่งเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าเขมกะศากยะ ก็จัดว่ามีรูปงามที่สุดในสมัยนั้น และพระนางทรงภาคภูมิหลงใหลในความงดงามของพระนางยิ่งนัก แต่ด้วยบุญบารมีที่เคยได้สร้างสมอบรมมาแล้วเป็นอันมากในอดีตชาติ เป็นเหตุให้พระนางได้สดับพระธรรมของพระพุทธองค์จากพระโอษฐ์ ซึ่งได้ทรงเทศน์กายคตานุสติกรรมฐานควบคู่ไปกับมรณัสสติกรมมฐาน แล้วทรงเนรมิตรูปกายของสาวงามที่งามยิ่งกว่าพระนางให้ปรากฏขึ้น ให้พระนางได้มองเห็น แล้วบันดาลให้รูปเนรมิตนั้นค่อยๆเจริญวัย แก่ แล้วชราโทรมๆลงจนตายไปในที่สุด แล้วก็เน่าเปื่อยสลายไปต่อหน้า พระนางก็น้อมเอาภาพนิมิตนั้นเข้ามาเปรียบเทียบกับร่างกายของพระนางจนเห็นว่าอันร่างกายอันงดงามของพระนางนั้นหาได้งามจริงไม่ ทั้งเป็นอนิจจังและอนัตตา หาสาระแก่นสารที่พึ่งอันถาวรอันใดมิได้เลย จนพระนางได้บรรลุพระอรหันต์ในขขณะนั้นเอง และพระนางเขมาเทวีที่ยิ่งด้วยรูปโฉม และเป็นพระมเหสีองค์หนึ่งของพระเจ้าพิมพิสารแห่งเมืองราชคฤห์ ก็ได้บรรลุพระอรหันต์ในทำนองเดียวกันนี้เอง
๔ . มีจิตใคร่ครวญถึงธาตุกรรมฐาน คือ นอกจากจะมีจิตใคร่ครวญถึงความเป็นจริงของร่างกายดังกล่าวมาในข้อ ( ๓ ) แล้ว พึงพิจารณาแยกให้เห็นความเป็นจริงที่ว่า อันที่จริงร่างกายของเราเองก็ดี ของผู้อื่นก็ดี ไม่ใช่ตัวเราของเราแต่อย่างใดเลย
เป็นแต่เพียงธาตุ ๔ มาประชุม เกาะกุมรวมกันเพียงชั่วคราวเท่านั้นเอง ได้แก่ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ แล้วสิ่งเหล่านี้ก็ทนอยู่ในสภาพที่รวมกันเช่นนั้นไม่ได้ นานไปก็เก่าแก่แล้วแตกสลายตายไป ธาตุน้ำก็กลับไปสู่ความเป็นน้ำ ธาตุดินก็กลับไปสู่ความเป็นดิน ธาตุลมก็กลับไปสู่ความเป็นลม และธาตุไฟก็กลับไปสู่ความเป็นไฟตามเดิม เนื้อตัวร่างกายของเรา เมื่อได้แยกส่วนออกมาดูแล้ว ก็มิได้มีตัวตนที่ตรงไหนแต่อย่างใด เป็นแต่เพียงเนื้อ กระดูด ตับ ไต ไส้ กระเพาะ เส้นเอ็น หนัง พังผืด เนื้อเยื่อ มันสมอง ไขข้อ ฯลฯ มาเกาะกุมกัน ตัวตนของเราไม่มี
ครั้นเมื่อแยกแยะอวัยวะย่อยๆดังกล่าวออกไปจากหน่วยย่อยๆของชีวิต คือเซลล์เล็กๆที่มาเกาะกุมรวมกัน ก็จะเห็นว่าเซลล์เองก็เนื่องมาจากแร่ธาตุทั้งหลายซึ่งไม่มีชีวิตจิตใจมารวมกันเป็นกลุ่มก้อนเล็กๆ ไม่มีตัวตนของเราแต่อย่างใด แม้แร่ธาตุต่าง ๆ นั้น ก็เนื่องมาจากพลังงานโปรตอนและอิเล็กตรอนเท่านั้น หาใช่ตัวตนของเราแต่อย่างใดไม่ ที่หลงกันอยู่ว่าตัวเราของเราหาที่ไหนมิได้เลย
ทุกสรรพสิ่งที่ดิ้นรนแสวงหา สะสมกันเข้าไว้ ในที่สุดก็ต้องทิ้งต้องจาก ซึ่งป่วยการที่จะกล่าวไปถึงสมบัติที่จะนำเอาติดตัวไปด้วย แม้แต่เนื้อตัว ร่างกายที่ว่าเป็นของเราก็ยังเอาติดตัวไปด้วยไม่ได้ และก็เป็นความจริงที่ได้เห็นและรู้จักกันมานานนับล้านๆปีคนแล้วคนเล่า
ท่านทั้งหลายที่ได้เคยยิ่งใหญ่ด้วยยศศักดิ์อำนาจวาสนาและทรัพย์สมบัติในอดีตกาล จนเป็นถึงมหาจักรพรรดิมีสมบัติสร้างสมมาด้วยเลือดและน้ำตาของผู้อื่นจนค่อนโลก แต่แล้วในที่สุดก็ต้องทิ้งต้องจากสิ่งเหล่านี้ไป แม้แต่เนื้อตัวร่างกายของท่านที่เคยยิ่งใหญ่ จนถึงกับเป็นผู้ที่ไม่อาจจะแตะต้องได้ แต่แล้วก็ต้องทอดทิ้งจมดินและทราย จนในที่สุดก็สลายไปจนหาไม่พบว่าเนื้อ หนัง กระดูก ขน เล็บ ตับ ไต ไส้ กระเพาะของท่านว่าอยู่ที่ตรงไหน คงเหลืออยู่แต่สิ่งที่เป็นดิน น้ำ ลม และไฟ ตามสภาพเดิมที่ก่อกำเนิดมาเป็นตัวของท่านเพียงชั่วคราวเท่านั้น แล้วตัวของเราท่านทั้งหลายก็เพียงเท่านี้มิได้ยิ่งใหญ่เกินไปกว่าท่านในอดีต จะรอดพ้นจากสัจธรรมนี้ไปได้หรือ
ในเมื่อความเป็นจริงก็เห็นๆกันอยู่เช่นนี้แล้ว เหตุใดเราท่านทั้งหลายจึงต้องพากันดิ้นรนขวนขวายสะสมสิ่งที่ในที่สุดก็จะต้องทิ้ง จะต้องจากไป ซึ่งเท่ากับเป็นการทำลายวันเวลาอันมีค่าของพวกเราซึ่งก็คงมีไม่เกินคนละ ๑๐๐ ปี ให้ต้องโมฆะเสียเปล่าไปโดยหาสาระประโยชน์อันใดมิได้
เหตุใดไม่เร่งขวนขวายสร้างสมบุญบารมีที่เป็นอริยทรัพย์อันประเสริฐ์ ซึ่งจะติดตามตัวไปได้ในชาติหน้า แม้หากว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่มีจริงดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ อย่างเลวพวกเราก็เพียงเสมอตัว มิได้ขาดทุนแต่อย่างใด หากสิ่งที่พระพุทธองค์ได้ตรัสสอนเอาไว้ว่ามีจริงดั่งที่ปราชญ์ในอดีตกาลยอมรับ แล้วเราท่านทั้งหลายไม่สร้างสมบุญและความดีไว้ สร้างสมแต่ความชั่วและบาปกรรมตามติดตัวไป เราท่านทั้งหลายไม่ขาดทุนหรอกหรือ เวลาในชีวิตของเราที่ควรจะได้ใช้ให้เป็นประโยชน์ กลับต้องโมฆะเสียเปล่าก็สมควรที่จะได้ชื่อว่าเป็น " โมฆะบุรุษ " โดยแท้
-
การรักษาศีล 5
-http://www.sil5.net/index.asp?autherid=14&ContentID=10000024&title=%A1%D2%C3%C3%D1%A1%C9%D2%C8%D5%C5+5&bttcol=False-
ศีล ( Morality ) คือ ความปกติ และการรักษาศีลก็คือ ความตั้งใจรักษาปกติของตน อันเป็นหลักปฏิบัติที่ไม่ทำให้เดือดร้อน
แก่ตนเองและผู้อื่น และเป็นหลักแห่งความประพฤติที่จะทำให้เกิดความสะอาดทางกาย และวาจา ศีลมีหลายประเภท เช่น ศีล 5, ศีล 8, ศีล 10 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้ปฏิบัติ แต่ศีลที่ควรกระทำเพื่อให้เกิดความปกติในสังคมก็คือ ศีล 5 เพราะสะดวก
และง่ายที่จะปฏิบัติ มีดังนี้ คือ
• พึงละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
• พึงละเว้นจากการลักขโมย ฉ้อฉล
• พึงละเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
• พึงละเว้นจากการพูดเท็จ
• พึงละเว้นจากการดื่มเครื่องดองของเมา
ศีลทั้ง 5 ข้อนี้ เป็นหลักจำเป็นในสังคมมนุษย์ที่จะต้องปฏิบัติเพื่อให้เกิดความปกติ ทั้งในตนเองและสังคม เพราะช่วยควบคุม
ความประพฤติมิให้พลาดถลำลงในความชั่วอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงจัดอยู่ในระดับศีลธรรมอันเป็นมูลฐานที่จะนำไปสู่ความสงบ
ของจิตใจ ถ้าหากความสะอาดทางกายและวาจาไม่มีแล้ว เราก็ไม่สามารถทำจิตใจให้สงบได้
สรุปได้ว่า ทางสายกลางข้อ 3-4-5 เป็นการปฏิบัติทางศีลเพื่อให้เกิดความปกติทางกายและวาจาเท่านั้น
เบญจศีล
ในการอยู่ร่วมกันในสังคมนั้น จำเป็นที่แต่ละคน ซึ่งเป็นสมาชิกของสังคมจะต้องทำตนให้เป็นคนเต็มคน ที่เรียกว่าเป็นมนุษย์ หรือเป็นคน 100% เพื่อให้การอยู่ร่วมกันดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย มีความสงบสุข เกิดศานติสุข ไม่มีเวรภัยต่อกันและกันหลักธรรมที่จะทำคนให้เป็นให้เต็มคนอันยังผลให้การอยู่ร่วมกันมีความสุขมีความสงบสุขนั้นก็คือ เบญจศีลเบญจธรรม อันได้แก่
ตอนที่ ๑ เนื้อความและความหมาย
เบญจศีล แปลว่า ศีล ๕ ได้แก่..
๑.ปาณาติปาตา เวรมณี เจตนาเป็นเครืองงดเว้นจากการฆ่า การเบียดเบียน การทำร้ายร่างกายคนและสัตว์ แล้วมีจิตใจประกอบด้วยเมตตากรุณา มีความปรารถนาดี และสงสารเห็นอกเห็นใจผู้อื่นสัตว์อื่น
๒.อทินนาทานา เวรมณี เจตนาเป็นเครืองงดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยอาการแห่งขโมยหรือโจร อันได้แก่ ลัก ฉก ชิง วิ่งราว ขู่กรรโชก ขู่เข็ญ ปล้น จี้ ตู่ ฉ้อโกง หลอก ลวง ปลอม ตระบัด เบียดบัง สับเปลี่ยน ลักลอบ ยักยอก และรับสินบน แล้วเป็นผู้มีความขยันประกอบสัมมาชีพ บริจาคทาน และเคารพในกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่น
๓.กาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
บุคคลต้องห้ามสำหรับฝ่ายชาย คือ
(๑) ภรรยาคนอื่น
(๒) ผู้หญิงที่ยังอยู่ในความอุปการะของผู้อื่น (ต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่นอยู่)
(๓) ผู้หญิงที่จารีตต้องห้าม (แม่ ย่า ยาย พี่สาว น้องสาว ลูกสาว ชี หญิงผู้เยาว์
บุคคลที่ต้องห้ามสำหรับฝ่ายหญิง คือ
(๑) สามีคนอื่น
(๒) ชายจารีตต้องห้าม (พ่อ ปู่ ตา พี่ชาย น้องชาย ลูกชาย พระภิกษุ สามเณร ชายผู้เยาว์)
ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงไม่ใช่เฉพาะ ห้ามแต่ร่วมสังวาสเท่านั้น แม้แต่การเคล้าคลึง การพูดเกี้ยวพาราสี หรือการแสดงอาการ ปฏิพัทธ์แม้แต่ด้วยสายตาเนตรสบเนตร เป็นต้น ก็ชื่อว่า การละเมิดศีลข้อนี้แล้ว เมื่อไม่ล่วงละเมิดศีลข้อนี้แล้วเป็นผู้สำสวมในกามยินดีแต่ในภรรยาของตนเท่านั้น (สทารสันโดษ) จงรักภักดีแต่ในสามีของตน (ปติวัตร) ถ้ายังไม่ได้แต่งงานก็ต้องมีกามสังวร ตั้งตนอยู่ในขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงาม มีวัฒนธรรมอันดีชนิดที่ว่า "เข้าตามตรอกออกตามประตู"
๔.มุสาวาทา เวรมณี เจตนาเป็นเครืองงดเว้นจากการพูดเท็จ อันได้แก่คำปด ทวนสาบาน ทำเล่ห์กระเท่ห์ มารยา ทำกิเลส เสริมความสำรวมคำพูดเสียดแทง สับปลับ ผิดสัญยา เสียสัตย์ และคืนคำ แล้ว เป็นผู้รักสัจจะจะพูดแต่คำสัตย์จริงด้วยความจริงใจและปรารถนาดี มุ่งหวังดีต่อผู้ฟัง
๕.สุราเมรยะมัชชะปมาทัฏฐานา เวรมณี เจตนาเป็นเครืองงเว้นจากการดื่มน้ำเมาอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท อันได้แก่ น้ำสุรา เมรัย เครื่องดื่มมึนเมาอื่น ๆ และการเสพยาเสพติดอื่นๆ เช่น ฝิ่น เฮโรอีน กัญชา ยาบ้า หรือแม้แต่บุหรี่ แล้วเป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะในการประกอบกิจการทั้งปวง และเป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิตในการงาน ในวัย ในเพศ
ผู้จะเป็นคนเต็มคน คือ 100% จะต้องเป็นผู้มีการดำเนินชีวิตประจำวันที่ประกอบด้วยเบญจศีลเบญจธรรมทั้ง ๕ ประเด็นดังกล่าวแล้ว ถ้าขาด ๑ ประเด็นก็เป็นคนเพียง ๘๐ % หรือขาด ๒ ประเด็นก็เป็นคนเพียง ๖๐ % เป็น นับว่าเป็นหลักการขั้นพื้นฐานที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอน มุ่งเน้นให้พุทธศาสนิกชนได้ประพฤติปฏิบัติตาม เพื่อความเป็นมนุษย์อันจะได้เป็นสมาชิกที่ของสังคม ความสงบสุขในสังคมแต่ละวันจะเกิดขึ้นได้ก็อาศัยหลักมนุษยธรรม หรือ แต่ละคนเป็นคนเต็มคนนั่นเอง
อธิบายเบญจศีลอย่างย่อ ๆ
เบญจ แปลว่า ๕ ศีล แปลว่า ปกติ เบญจศีล จึงแปลว่า ปกติ ๕ อย่าง แปลว่า ตัด ก็ได้ เพราะตัด จากความชั่ว หรือมนุษยธรรมก็เรียก แปลว่า ธรรมสำหรับมนุษย์ หมายความว่า ธรรมที่ทำคนให้เป็นคนที่ควรแก่การเคารพนับถือความหมายของเบญจศีล
ความเป็นปกติของคน คือความเรียบร้อยสวยงามคนที่ไม่เรียบร้อยจะเป็นที่สวยงามไปไม่ได้ ได้แก่คนที่ผิดปกตินั้นเอง คนที่ไม่ปกตินั้นก็เป็นที่ผิดแปลกไปจากคนอื่น ๆ เช่น
- ปกติคนเราจะต้องไม่ฆ่ากัน ไม่ทำร้ายร่างกายกันเพราะคนก็ดี สัตว์ก็ดีต่างก็รักชีวิตของตนด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ประสงค์จะให้ใครมาฆ่าแกง หรือมาทำร้ายร่างกายตน หรือทรมานตนให้ได้รับความลำบาก คนที่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตของคนอื่น สัตว์อื่น จึงชื่อว่าคนผิดคน คือผิดปกติของคน
- ปกติคนเราจะต้องไม่ขโมยทรัพย์สมบัติของกันและกันเพราะใคร ๆ ก็ย่อมรัก ย่อมหวงแหนในทรัพย์สินของตน ไม่ประสงค์จะให้ใครมาเบียดเบียนและล่วงเกินในทรัพย์สินของตน คนที่ขโมยทรัพย์ของผู้อื่น จึงชื่อว่าทำผิดปกติของคนปกติของคนเราจะต้องไม่ล่วงละเมิดประเวณีของกันและกัน เพราะลูกใคร เมียใคร สามีใคร ใคร ๆ เขาก็หวง ไม่ประสงค์จะให้ใครมารับแกขมเหงน้ำใจ ลูกเมียสามีเปรียบเหมือนทรัพย์อันมีค่าของเขา คนที่รับแก ข่มเหงล่วงเกินผู้อื่น จึงชื่อว่าเป็นเป็นผู้ทำผิดปกติของคน
-ปกติของคนเราจะต้องไม่โกหกหลอกลวงกัน เพราะทุกคนไม่พึงปรารถนาจะให้ใครมาโกหกหลอกลวงตน ไม่ปรารถนาจะให้ใครมาหักรานประโยชน์ของตน ปรารถนาแต่ความสัตย์ความจริงด้วยกันทั้งสิ้น คนที่โกหกหลอกลวงผู้อื่นจึงชื่อว่าทำผิดปกติของคน
-ปกติของคนเราจะต้องรักษากายวาจาให้เรียบร้อย บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ร่างกายของตน ไม่ปรารถนาจะให้ร่างกายได้รับความลำบากด้วยทุกขเวทนาต่าง ๆ ทั้งพยายามเสริมสร้างร่างกายให้เจริญด้วยกำลังและสมบูรณ์ด้วยสติปัญญา จึงต้องงดเว้นจากการทำร้ายร่างกายตนเอง ด้วยการไม่ทำตนให้ผิดปกติ
คนที่ดื่มสุรา เมรัย และเสพของมึนเมาต่าง ๆ เช่น กัญชาและเฮโรอีน เป็นต้นจนกลายเป็นคนติดยาเสพติดให้โทษ เป็นคนขาดสติสัมปชัญญะ ตกอยู่ในฐานะแห่งความเป็นผู้ประมาท ชื่อว่าเป็นผู้ทำร้างร่างกายตนเอง จึงจัดว่าเป็นคนทำผิดปกติ
ศีล ๕ ประการนี้ ท่านเรียกว่า มนุษยธรรม แปลว่า ธรรมสำหรับมนุษย์ ธรรมทำให้คนเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์,เป็นธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดมาเป็นมนุษย์ เพราะ ผู้ที่จะมาเกิดเป็นมนุษย์ได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่สมบูรณ์ด้วยมนุษยธรรมนี้มาก่อน การเกิดมาเป็นมนุษย์เป็นเรื่องที่ยากแท้ ดังพระพุทธดำรัสว่า"กิจฺโฉ มนุสฺสปฏิลาโภ การได้อัตภาพมาเป็นมนุษย์เป็นเรื่องยาก" เมื่อเราได้อัตภาพเกิดมาเป็นมนุษย์แล้วอย่างนี้ ไม่พยายามรักษาสภาพปกติไว้ ก็จะกลายเป็นผู้ทำลายปกติของตนเอง
ผู้ที่ล่วงละเมิดศีล จึงชื่อว่าเป็นผู้ทำลายมนุษยธรรม ผู้ที่ทำลายมนุษย์ธรรมชื่อว่าเป็นผู้ทำลายปกติของตนเองด้วยประการฉะนี้
-
การรักษาศีล 5
-http://www.sil5.net/index.asp?autherid=14&ContentID=10000024&title=%A1%D2%C3%C3%D1%A1%C9%D2%C8%D5%C5+5&bttcol=False-
ตอนที่ ๒ วิรัติ คือการงดเว้น
การรักษาศีล คือ การรักษากายวาจาให้เรียบร้อยเป็นปกติ, การปฏิบัติธรรม คือ การฝึกฝนอบรมจิตใจให้งดงาม, คนดีมีศีลธรรม คือ คนที่มีกายวาจาเรียบร้อยและมีจิตใจงดงาม
การรักษาศีลนั้นมี ๓ วิธี เรียกว่า วิรัติ คือ การงดเว้น ได้แก่
๑.สมาทานวิรัติ การงดเว้นด้วยการสมาทาน
๒.สัมปัตตวิรัติ การงดเว้นในขณะเผชิญหน้า
๓.สมุจเฉทวิรัติ การงดเว้นโดยเด็ดขาด
การที่จะรักษาศีลให้บริสุทธิ์หมดจดเรียบร้อย ต้องประกอบด้วยวิรัติ ๓ อย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
สมาทานวิรัติ ได้แก่การเปล่งวาจาขอสมาทานศีลจากพระภิกษุ สาม เณร หรือ จากบุคคลผู้มีศีลโดยการเปล่งวาจาขอสมาทานเป็นข้อ ๆ ไปดังนี้
๑.ปาณาติปาตา เวรมณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขา บท คือ เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ด้วยตนเอง และการใช้ให้คนอื่นฆ่า
ในสิกขาบทนี้ เป็นทั้งสาหัตถิกประโยค เพราะลงมือฆ่าด้วยตนเอง, เป็นทั้งอาณัติก ประโยค เพราะใช้ให้คนอื่นฆ่า
๒.อะทินนาทานา เวรมณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมา ทานสิกขาบท คือ เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการลักทรัพย์ด้วยตนเอง และใช้ให้คนอื่นลัก
ในสิกขาบทนี้ คำว่า "ทรัพย์" หมายเอาทั้งสวิญญาณกทรัพย์ ทรัพยที่มีวิญญาณครอง เช่น คน สัตว์ และ วิญญาณฏทรัพย์ ทรัพย์ที่ไม่มีวิญญาณครอง ได้แก่ วัตถุสิ่งของต่าง ๆ และหมายความรวมไปถึงสังหาริมทรัพย์ ทรัพย์ที่เคลื่อนที่ได้และอสังหาริมทรัพย์ ทรัพย์ที่เคลื่อนที่ไม่ได้ในสิกขาบทนี้ เป็นทั้งสาหัตถิกประโยค เพราะลักด้วยตนเอง, เป็นทั้งอาณัติกประโยค เพราะใช้ให้คนอื่นลัก
๓.กาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมา ทานสิกขาบท คือ เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
ในสิกขาบทนี้ คำว่า "การประพฤติผิดในกาม" หมายถึงการร่วมประ เวณีในบุรุษและสตรีที่ไม่ใช่สามี-ภรรยาคู่ครองของตนเอง เช่น มารดาบิดาล่วงละเมิดกับบุตรธิดาของตนเอง หรือพี่ชายพี่สาวล่วงละเมิดกับน้องชายน้องสาวของตนเอง ก็เป็นการผิดประเวณีทั้งสิ้น
สิกขาบทนี้ เป็น สาหัตถิกประโยค เพราะผิดประเวณีด้วยตนเองอย่างเดียว ไม่เป็นอาณัติกประโยค เพราะใช้ให้คนอื่นผิดประเวณี
๔.มุสาวาทา เวรมณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการพูดปด พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ และ พูดเพ้อเจ้อ
ในสิกขาบทนี้ คำว่า "มุสาวาท" หมายความรวมไปถึง วจีทุจริต ๔ ประการ คือ การปด พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ และ พูดเพ้อเจ้อ การพูดปด ได้แก่ การพูดเท็จ หรือพูดให้คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ซึ่งเรียกว่า มุสาวาท
การพูดคำหยาบ ได้แก่ การด่าว่าคนอื่นให้ได้รับความอับอาย เรีบกว่า ผรุสวาจา
การพูดเพ้อเจ้อ ได้แก่ การพูดให้ไขว้เขว เหลวไหลไร้สาระ ทำให้เสียประโยชน์ของผู้อื่น เรียกว่า สัมผัปปลาปะสิกขาบทนี้ เป็นสาหัตถิกประโยค เพราะพูดด้วยตนเองอย่างเดียว ไม่เป็นอาณัติกประโยค เพราะให้ใช้คนอื่นพูด
๕.สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวรมณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทในสิกขาบทนี้ คำว่า "สุราและเมรัย" หมายถึง สุรา ๕ อย่าง และ เมรัย ๕ อย่าง ได้แก่
สุรา ๕ อย่าง ได้แก่
๑.ปิฏฐสุรา สุราทำด้วยแป้ง
๒.ปูวสุรา สุราทำด้วยขนม
๓.โอทนสุรา สุราทำด้วยข้าวสุก
๔.กิณณะปกะขิตตา สุราที่หมักเชื้อ
๕.สัมภาระสังยุตตา สุราที่ปรุงด้วยเครื่องเทศต่าง ๆ
เมรัย ๕ อย่าง ได้แก่
๑.ปุปผาสโว น้ำดองดอกไม้
๒.ผลาสโว น้ำดองผลไม้
๓.มธวาสโว น้ำดองน้ำผึ้ง หรือน้ำดองน้ำหวาน
๔.คุฬาสโว น้ำดองน้ำอ้อย
๕.สัมภาระสังยุตโต น้ำดองที่ปรุงด้วยเครื่องเทศต่าง ๆ
สิกขาบทนี้ เป็นสาหัตถิกประโยคเพราะดื่มหรือเสพด้วยตนเอง ไม่เป็นอาณัติกประโยค เพราะใช้ให้ผู้อื่นดื่มหรือเสพ
สัมปัตตวิรัติ ได้แก่การงดเว้นในขณะเมื่อเผชิญหน้ากับเหตุการณ์นั้น ๆ เช่น เกิดมีการต่อสู้กันขึ้น มีช่องทางพอที่จะฆ่าเขาได้ แต่ระลึกถึงศีลจึงไม่ฆ่า มีช่องทางพอที่จะโกงเขาได้แต่ไม่โกง มีช่องทางพอที่จะล่วงประเวณีได้แต่ไม่ล่วงประเวณี มีเหตุที่จะต้องให้โกหกเขาได้แต่ไม่โกหก มีโอกาสที่จะดื่มน้ำเมาได้ แต่ไม่ดื่มเพราะคำนึงถึงศีลดังกล่าวแล้ว อย่างนี้เป็นต้น เรียกว่า สัมปัตตวิรัติ แปลว่า งดเว้นได้ในขณะประจวบเข้าเฉพาะหน้า จัดเป็นผู้รักษาศีลเช่นเดียวกัน
สมุจเฉทวิรัติ ได้แก่ การงดเว้นโดยเด็ดขาด แม้อันตรายจะเข้ามาถึงชีวิตตนเอง ก็ไม่ล่วงละเมิดศีล เป็นวิรัติของพระอริยบุคคล ตัวอย่างเช่น ในกรณีที่ถูกบังคับให้ฆ่าคนอื่น ถ้าไม่ทำตนเองก็จะถูกฆ่า ก็ไม่ยอมฆ่าคนอื่นโดยเด็ดขาด ยอมให้เขาฆ่าตนเองดีกว่าที่จะล่วงละเมิดศีล ดังนี้เป็นต้น
ตอนที่ ๓ องค์แห่งศีล ๕
ในสิกขาบททั้ง ๕ นั้น ในแต่ละสิกขาบทมีองค์ประกอบต่าง ๆ กัน เมื่อครบองค์ศีลจึงขาด ถ้าไม่ครบองค์ศีลยังไม่ขาด เป็นแต่เพียงด่างพร้อยหรือบกพร่องไปบ้างเท่านั้น องค์แห่งศีลทั้ง ๕ นั้นมีดังต่อไปนี้
สิกขาบทที่ ๑
ปาณาติปาตา เวรมณี แปลว่า เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วง หมายถึง เว้นจากการฆ่าสัตว์ สิกขาบทที่ ๑ นี้มีองค์ ๕ คือ
๑.สัตว์นั้นมีชีวิต
๒.รู้อยู่ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต
๓.มีเจตนาจะฆ่าสัตว์นั้น
๔.พยายามฆ่าสัตว์นั้น
๕.สัตว์นั้นตายด้วยความพยายามนั้น
การฆ่าที่ประกอบไปด้วยองค์ ๕ นี้ ไม่ว่าจะฆ่าเองหรือใช้ให้คนอื่นฆ่าก็ตาม ยุยงให้สัตว์อื่นฆ่ากันก็ตาม เช่น จัดให้จิ้งหรีดกัดกันจนตายไป เป็นต้น ศีลก็ขาดทั้งนั้น
สิกขาบทที่ ๑
ปาณาติปาตา เวรมณี แปลว่า เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วง หมายถึง เว้นจากการฆ่าสัตว์
คำว่า"สัตว์"ในสิกขาบทที่ ๑ นี้ ท่านประสงค์เอาทั้งมนุษย์ชาย-หญิงทุกวัย จนที่สุดแม้กระทั่งที่ยังอยู่ในครรภ์ และสัตว์ดิรัจฉานทุกชนิด
สิกขาบทที่ ๑ นี้มีข้อห้ามไว้ ๓ ประการ ได้แก่
๑.การฆ่า
๒.การทำร้ายร่างกาย
๓.การทรกรรม
ในสิกขาบทที่ ๑ นี้ เป็นทั้งสาหัตถิกประโยค เพราะลงมือฆ่าด้วยตนเอง, เป็นทั้งอาณัติกประโยค เพราะใช้ให้คนอื่นฆ่า
การฆ่าโดยตรงศีลขาด, ส่วนการทำร้ายร่างกาย และการทรกรรม (ทรมาน) สัตว์ รวมเรียกว่า อนุโลมการฆ่า ศีลไม่ขาด เป็นแต่เพียงด่างพร้อยหรือศีลทะลุก็เรียก
การฆ่า
การฆ่า หมายถึง การทำให้ตาย แบ่งเป็น ๒ อย่าง ได้แก่
๑.ฆ่ามนุษย์
๒.ฆ่าสัตว์ดิรัจฉาน
การทำร้ายร่างกาย
การทำร้างร่ายกายนี้ ทางฝ่ายศาสนาถือเป็น "บุพพประโยคของการฆ่า" แบ่งออกเป็น ๓ สถาน ได้แก่
๑.การทำให้พิการ ได้แก่ การทำให้อวัยวะบางส่วนเสีย เช่น การทำให้ตาเสีย การทำให้แขนหรือขาเสีย เป็นต้น
๒.การทำให้เสียโฉม ได้แก่ การทำร้างร่างกายให้เสียรูปเสียงาม แต่ไม่ถึงกับให้พิการ เช่น
๓.การทำให้เจ็บลำบาก ได้แก่ การทำร้างร่างกายซึ่งไม่ถึงกับเสียโฉม แต่เสียความสำราญ เช่น ชกต่อย เฆี่ยนตี
การทรกรรม
ทรกรรม หมายถึง "การประพฤติเหี้ยมโหดแก่สัตว์โดยไม่ปรานี" จัดเป็น ๕ อย่าง ได้แก่
๑.ใช้การ ได้แก่ การใช้สัตว์เป็นพาหนะ อย่างไม่ปรานี มีแต่ใช้ ปล่อยให้อดอยาก ซูบผอม ไม่ให้พักผ่อนตามกาล หรือใช้เกินกำลังของสัตว์
๒.กักขัง ได้แก่ การเลี้ยงสัตว์ไว้ในกรงที่คับแคบเกินไป หรือผูกไว้เพื่อดูชมเล่น แต่ผู้เลี้ยงกักขัง หรือผูกมัดไว้จนไม่สามารถจะผลัดเปลี่ยนอิริยาบถได้ หรือไม่ปรนเปรอเลี้ยงดูให้สัตว์ได้รับความสุขพอสมควร ปล่อยให้อดอยาก เป็นต้น
๓.นำไป ได้แก่ การนำไปผิดอิริยาบถของสัตว์ สัตว์นั้นย่อมได้รับความลำบาก เช่น ผูกขาไก่หิ้วไป
๔.เล่นสนุก ได้แก่การนำสัตว์มาเล่นเพื่อความสนุก เช่นเอาประทัดผูกหางสุนัขแล้วจุดไฟ
๕.ผจญสัตว์ ได้แก่ การเอาสัตว์ให้ชนกันหรือกัดกัน เช่น ชนโค ชนไก่ กัดปลา เป็นต้น
สิกขาบทที่ ๒
อทินนาทานา เวรมณี เวรมณี แปลว่า "เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ด้วยอาการเป็นโจร"
สิ่งของที่เจ้าของไม่ให้ได้ในที่นี้ หมายถึงสิ่งของ ๒ อย่าง คือ
๑.สิ่งของที่มีเจ้าของ ทั้งที่มีวิญญาณ ซึ่งเรียกว่า สวิญญาณกทรัพย์ และที่ไม่มีวิญญาณ เรียกว่า อวิญญาณกทรัพย์
๒.สิ่งของที่ไม่ใช่ของใคร แต่มีผู้รักษาหวงแหน เช่น สิ่งของที่เป็นของสงฆ์ ของสโมสร ของส่วนรวม เป็นต้น
ในสิกขาบทที่ ๒ นี้ จึงมีข้อห้ามเป็น ๓ อย่าง ได้แก่
๑.โจรกรรม
๒.ความเลี้ยงชีพอนุโลมโจรกรรม
๓.กิริยาเป็นฉายาโจรกรรม
๑.โจรกรรม
โจรกรรม ได้แก่ "กิริยาที่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยอาการเป็นโจร" มี ๑๔ ประเภท ได้แก่
๑.ลัก ได้แก่"กิริยาที่ถือเอาสิ่งของด้วยอาการเป็นโจรในเวลาที่เงียบไม่ให้เจ้าของรู้" มี ๓ ลักษณะ คือ
ก.เมื่อเจ้าของเขาเผลอก็หยิบเอาสิ่งของนั้นไป เรียกว่า "ขโมย"
ข.เวลาสงัดคนแอบเข้าไปในเรือนแล้วหยิบเอาสิ่งของของเขาเรียกว่า"ย่องเบา"
ค.งัดหรือเจาะประตู-หน้าต่างที่ปิดอยู่แล้วถือเอาสิ่งของของเขาเรียกว่า "ตัดช่อง"
๒.ฉก ได้แก่ กิริยาที่ถือเอาสิ่งของในเวลาที่เจ้าของเขาเผลอ เช่น
วิ่งราว หมายถึง เจ้าของเขาเผลอก็เข้าแย่งเอาแล้ววิ่งหนีไป หรือ
ตีชิง หมายถึง ตีเจ้าของให้เจ็บแล้วถือเอาสิ่งของ
๓.กรรโชก ได้แก่ กิริยาที่แสดงอำนาจให้เจ้าของตกใจกลัวแล้วยอมให้สิ่งของ
๔.ปล้น ได้แก่ กิริยาที่ยกพวกตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไปข่มขู่เจ้าทรัพย์แล้วถือเอาสิ่งของของคนอื่นไป
๕.ตู่ ได้แก่ กิริยาที่ร้องเอาสิ่งของขงอผู้อื่นซึ่งมิได้ตกอยู่ในมือตนเอง
๖.ฉ้อ ได้แก่ กิริยาที่ถือเอาสิ่งของของผู้อื่นที่ตกอยู่ในมือตนเอง
๗.หลอก ได้แก่ กิริยาที่ถือเอาสิ่งของของผู้อื่นโดยการพูดจาหลอกลวงหรือโกหกเอา (ปั้นเรื่องขึ้นให้เจ้าทรัพย์หลงเชื่อแล้วจึงถือเอาทรัพย์ของเขาไป)
๘.ลวง ได้แก่ กิริยาที่ถือเอาสิ่งของของผู้อื่นด้วยการแสดงของอย่างใดอย่างหนึ่งให้เขาเข้าใจผิด (ใช้เพทุบายลวงให้เขาหลงเชื่อ)
๙.ปลอม ได้แก่ กิริยาที่ทำของไม่แท้ให้เห็นว่าเป็นของแท้ขึ้นเปลี่ยนเอาสิ่งของดีหรือ ของแท้ของเขาไป (ทำของปลอมขึ้นเปลี่ยนเอาของแท้ของเขา)
๑๐.ตระบัด ได้แก่ กิริยาที่ยืมสิ่งของของเขาไปแล้วถือเอาเป็นของตนเอง ไม่ส่งคืน (การยืมของเขาแล้วไม่ส่งคืนเจ้าของเดิม โดยยึดถือเอาเป็นของตัวเองไป)
๑๑.เบียดบัง ได้แก่ กิริยาที่ถือเอาเศษ เช่น เก็บเงินค่าเช่าได้มาก แต่ให้เจ้าของแต่เพียงน้อย ๆ(กินเศษกินเลยเล็ก ๆ น้อย ๆ)
๑๒.สัปเปลี่ยน ได้แก่ กิริยาที่ถือเอาสิ่งของของตนที่เลวเข้าไปไว้แทน แล้วเอาของที่ดีของผู้อื่นไปเสีย (เอาของที่ไม่ดีไปเปลี่ยนเอาของที่ดีของเขา)
๑๓.ลักลอบ ได้แก่ กิริยาที่ถือเอาสิ่งของต้องพิกัดซ่อนเข้ามาโดยไม่เสียภาษี, ค้าของหนีภาษี, ลักลอบขนของหนีภาษี เป็นต้น)
๑๔.ยักยอก ได้แก่ กิริยาที่ยักยอกทรัพย์ของตนที่จะต้องถูกยึดไปไว้เสียในที่อื่น (การใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต)
๒.ความเลี้ยงชีพอนุโลมโจรกรรม
ความเลี้ยงชีพอนุโลมโจรกรรม ได้แก่ กิริยาที่แสวงหาพัสดุในทางที่ไม่บริสุทธิ์ แต่ไม่นับเข้าในอาการโจรกรรม แบ่งเป็น ๓ ประเภท ได้แก่
๑.สมโจร ได้แก่ กิริยาที่อุดหนุนโจรกรรมโดยนัย เช่น รับซื้อของโจร คือเป็นผู้รับซื้อสิ่งของที่ผู้อื่นโจรกรรมได้มา
๒.ปอกลอก ได้แก่ กิริยาที่คบคนด้วยอาการไม่ซื่อสัตย์ มุ่งหมายจะเอาทรัพย์สมบัติของ เขาฝ่ายเดียว เมื่อเขาสิ้นตัวแล้วทิ้งเขาเสีย (คบกับคนอื่นโดยหวังผลประโยชน์ตนฝ่ายเดียว)
๓.รับสินบน ได้แก่ กิริยาที่ถือเอาทรัพย์ที่เขาให้ เพื่อช่วยทำธุระให้แก่เขาในทางที่ผิด
๓.กิริยาเป็นฉายาโจรกรรม
กิริยาเป็นฉายาโจรกรรม ได้แก่ กิริยาที่ทำทรัพย์พัสดุของผู้อื่นให้สูญและเป็นสินที่ใช้ตกอยู่แก่ตน มี ๒ ประเภท ได้แก่
๑.ผลาญ ได้แก่ กิริยาที่ทำอันตรายเสียหายแก่ทรัพย์สินพัสดุของผู้อื่น เช่น แกล้งเผาสวนยาง เผาบ้านของเขา เป็นต้น
๒.หยิบฉวย ได้แก่ กิริยาที่ถือเอาทรัพย์พัสดุของผู้อื่นด้วยความมักง่าย เช่น บุตรหลานประพฤติตนเป็นคนพาลนำเอาทรัพย์สินของพ่อ-แม่ ปู่-ย่า ตา-ยายไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นต้น
สิกขาบทที่ ๒ นี้มีองค์ ๕ คือ
๑.ของนั้นมีเจ้าของหวงแหน
๒.รู้อยู่ว่าของนั้นมีเจ้าของหวงแหน
๓.มีเจตนาจะถือเอาสิ่งนั้น
๔.พยายามถือเอาสิ่งนั้น
๕.ได้ของนั้นมาด้วยความพยายามนั้น
สิกขาบทที่ ๓
กาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
คำว่า"กาม"ในทีนี้ ได้แก่ กิริยาที่รักใคร่กันในทางประเวณี ซึ่งทั้งชายและ หญิงต่างก็เป็นวัตถุต้องห้ามของกันและกัน
หญิงที่ต้องห้ามในสิกขาบทนี้มี ๔ จำพวก คือ
๑.ภรรยาผู้อื่น ได้แก่ หญิง ๔ จำพวก ได้แก่
ก.หญิงที่แต่งงานแล้ว
ข.หญิงที่ไม่ได้แต่งงานแต่อยู่กินด้วยกันกับชายโดยอาการเปิดเผย
ค.หญิงผู้รับสิ่งของมีทรัพย์เนต้นของชาย แล้วยอมอยู่กับเขา
ง.หญิงที่ชายเลี้ยงเป็นภรรยา
๒.หญิงที่อยู่ในความพิทักษ์รักษาของเขา ได้แก่ หญิงที่ พ่อ แม่ ญาติ พี่น้อง รักษา
๓.หญิงที่จารีตห้าม ได้แก่ หญิง ๓ จำพวก คือ
ก.หญิงที่อยู่ในพิทักษ์รักษาของตัวเอง และ ผู้ที่เป็นเหล่ากอของตนเอง
ข.หญิงที่อยู่ใต้พระบัญญัติในพระศาสนา เช่น ภิกษุณี ชี เป็นต้น
ค.หญิงที่กฏหมายบ้านเมืองห้ามและลงโทษแก่ชายผู้สมสู่ด้วย
ชายที่ต้องห้ามในสิกขาบทที่ ๓
ชายก็เป็นวัตถุต้องห้ามสำหรับหญิงเหมือนกัน ท่านกล่าวแสดงไว้ ๒ จำพวก คือ
๑.ชายอื่นนอกจากสามี เป็นวัตถุต้องห้ามสำหรับหญิงที่มีสามี
๒.ชายที่จารีตห้าม เช่น พระภิกษุ สามเณร เป็นต้น เป็นวัตถุต้องห้ามสำหรับหญิงทั้งปวง
ในสิกขาบทนี้ คำว่า "การประพฤติผิดในกาม"หมายถึง การร่วมประเวณีในบุรุษและสตรีที่ไม่ใช่สามี-ภรรยาคู่ครองของตนเอง เช่น มารดาบิดาล่วงละเมิดกับบุตรธิดาของตนเอง หรือพี่ชายพี่สาวล่วงละเมิดกับน้องชายน้องสาวของตนเอง ก็เป็นการผิดประเวณีทั้งสิ้น
สิกขาบทที่ ๔
มุสาวาทา เวรมณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ แปลว่า "ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากมุสาวาท"
คำว่า "มุสาวาทา เวรมณี" แปลว่า เว้นจากมุสาวาท, ความเท็จ ชื่อว่า มุสา, กิริยาที่พูด หรือแสดงอาการมุสา ชื่อว่า มุสาวาท ในสิกขาบทที่ ๔ นี้
ในสิกขาบทที่ ๔ มีข้อห้ามเป็น ๓ อย่าง ได้แก่
๑.มุสา กล่าวเท็จ
๒.อนุโลมมุสา กล่าววาจาที่เป็นตามมุสา
๓.ปฏิสสวะ รับแล้วไม่ทำตามรับ
๑.มุสา มีลักษณะ ดังนี้
๑.เรื่องที่กล่าวนั้นไม่เป็นความจริง ๒.ผู้กล่าวจงใจ
๓.กล่าวให้คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ๔.ผู้ฟังเข้าใจผิด
การแสดงมุสานี้ไม่เฉพาะแต่ทางวาจาอย่างเดียวเท่านั้น แม้ทางกายก็อาจเป็นไปได้ เช่น เขียนหนังสือมุสาเขา แสดงอาการ หรือ สั่นศีรษะ ที่ทำให้เขาเข้าใจผิดจากความเป็นจริง
มุสามี ๗ ประเภท ได้แก่
๑.ปด ได้แก่ มุสาจัง ๆไม่อาศัยมูลเลย ท่านแสดงตัวอย่างไว้ ๔ อย่าง ได้แก่
ก.ส่อเสียด หมายถึง ปดเพื่อจะให้เขาแตกแยกกัน
ข.หลอก หมายถึง ปดเพื่อจะโกงเขา
ค.ยอ หมายถึง ปดเพื่อจะยกย่อง
ง.กลับคำ หมายถึง พูดแล้วไม่ทำตามรับ
๒.ทนสาบาน ได้แก่ กิริยาที่เลี่ยงสัตย์ว่าจะพูดตามเป็นจริง แต่ไม่ได้ตั้งใจจริงอย่างนั้น มีปดเป็นบริวาร, หมายถึง สาบานเพื่อหวังผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เป็นพยานทนสาบานแล้วเบิกความเท็จในศาล เป็นต้น
๓.ทำเล่ห์กระเท่ห์ ได้แก่ กิริยาที่อวดอ้างความศักดิ์สิทธิ์อันไม่เป็นจริง เช่น อวดรู้วิชาว่าคงกระพัน หรือพูดมุสาด้วยการใช้เพทุบาย ไม่พูดตรง ๆ
๔.มารยา ได้แก่ กิริยาที่แสดงอาการให้เขาเห็นผิดจากที่เป็นจริง เช่น คนไม่มีศีลแต่ทำทีให้เขาห็นว่าเป็นคนมีศีล, หรือเจ็บเล็กน้อยแต่ทำทีเป็นเจ็บปวดเสียมากมาย เป็นต้น
๕.ทำเลส ได้แก่ การพูดมุสาเล่นสำนวน คือ อยากจะพูดเท็จแต่ทำเป็นเลสเล่นสำนวนให้ผู้ฟังนำไปคิด
๖.เสริมความ ได้แก่ พูดมุสาอาศัยมูลเดิม แต่เสริมความให้มากกว่าที่เป็นจริง หรือเรื่องจริงมีนิดหน่อยแต่กลับพูดขยายความออกเสียยกใหญ่จนเกินความจริงไป เช่น พูดพรรณนาถึงสรรพ คุณยาให้เกินกว่าทั่วยาจะรักษาโรคได้
๗.อำความ ได้แก่ พูดมุสาเดิม แต่ตัดความที่ไม่ประสงค์จะให้รู้เสีย เพื่อทำความเข้าใจกลายไปเป็นอย่างอื่น (หมายถึง เรื่องจริงนั้นมีมาก แต่กลับพูดให้เห็นเป็นเรื่องเพียงเล็กน้อย)
๒.อนุโลมมุสา
อนุโลมมุสากำหนดรู้ได้ด้วยลักษณะ ๒ อย่าง ได้แก่
๑.วัตถุที่จะกล่าวนั้นไม่เป็นความจริง
๒.ผู้กล่าวไม่จงใจกล่าวให้ผู้ฟังเข้าใจผิด มี ๒ ประเภท ได้แก่
ก.เสียดแทง ได้แก่ กิริยาที่ว่าให้ผู้อื่นเจ็บใจ เช่น พูดประชด ด่า
ข.สับปรับได้แก่พูดปดด้วยความคะนองวาจาแต่ผู้พูดไม่ตั้งใจจะให้เขาเข้าใจผิด
คำพูดที่จริงที่ไม่สมควรพูด
คำพูดที่จริง แต่ให้โทษแก่ผู้อื่นและผู้พูดเอง เป็นคำพูดที่มุ่งหมายอย่างนั้น ซึ่งคำพูดนั้นมีมูลเหตุมาจากมุสาจึงจัดเข้าในอนุโลมมุสา ได้แก่
๑.คำส่อเสียด ได้แก่ คำพูดที่ได้ยินข้างหนึ่งติเตียนข้างหนึ่งแล้วเก็บไปบอกยุยงเขา เป็นเหตุให้เขาแตกแยกกัน
๒.คำเสียดแทง ได้แก่ การพูดให้เขาเจ็บใจ อ้างวัตถุที่เป็นจริงอย่างนั้นขึ้นพูด เป็นเหตุให้ผู้ที่ต้องถูกว่านั้นเจ็บใจ
๓.ปฏิสสวะ
ปฏิสสวะ ได้แก่ กิริยาที่รับคำผู้อื่นด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์คิดจะทำตามที่รับปากไว้จริง ๆ แต่ภายหลังกลับไม่ได้ทำตามที่รับปากไว้นั้น
ปฏิสสวะนี้มี ๓ ประเภท ได้แก่
๑.ผิดสัญญา ได้แก่ การที่ทั้งสองฝ่ายทำสัญญากันว่าจะทำเช่นนั้นเช่นนี้ แต่ภายหลังกลับไม่ได้ทำตามที่สัญญานั้น
๒.เสียสัตย์ ได้แก่ กิริยาที่ให้สัตย์แก่เขาฝ่ายเดียวว่าตนเองจะทำหรือไม่ทำเช่นนั้น เช่นนี้ แต่ภายหลังกลับไม่ทำตามคำพูดนั้น
๓.คืนคำ ได้แก่ การที่รับปากว่าจะทำหรือไม่ทำสั่งนั้นสิ่งนี้โดยมีไม่สัญญา แต่ภาย หลังกัลบไม่ทำตามนั้น
ปฏิสสวะ เป็นเหตุให้ผู้ประพฤติเสียชื่อเสียง จึงควรจะละเสีย ส่วนการ"ถอนคำ" ไม่นับเป็นปฏิสสวะ
ยถาสัญญา
การพูดมุสาที่ไม่ผิดศีล เรียกว่า "ยถาสัญญา" คือ คำพูดที่บุคคลพูดตามความสำคัญ หรือพูดตามโวหารที่ตนเองจำได้ และผู้พูดมีเจตนาบริสุทธิ์ ไม่มีเจตนาที่จะพูดให้ผิดไปจากความเป็นจริง มี ๔ ลักษณะ ได้แก่
๑.โวหาร ได้แก่ ถ้อยคำที่ใช้กันเป็นธรรมเนียม เช่น คำลงท้ายของจดหมายซึ่งแสดงความอ่อนน้อมว่า ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง เป็นต้น
๒.นิยาย ได้แก่ เรื่องที่เปรียบเทียบเพื่อให้ได้ใจความเป็นสุภาษิต เช่น นิยายที่จินตกวีแต่งขึ้น
๓.สำคัญผิด ได้แก่ กิริยาที่ผู้พูดสำคัญผิดและพูดออกไปตามความสำคัญผิดนั้น เช่น วันนี้เป็นวันอังคาร เมื่อมีผู้ถามว่าวันนี้เป็นวันอะไร ? ผู้พูดสำคัญว่าเป็นวันพุธ จึงตอบไปว่า "วันพุธ" เช่นนี้ต้น
๔.พลั้ง ได้แก่ กิริยาที่ผู้พูดตั้งใจจะพูดอย่างหนึ่งแต่พูดออกไปอีกอย่างหนึ่ง และการพูดเช่นนี้เมื่อพูดออกไปแล้วควรบอกใหม่ทันที เช่น ถูกถามว่า "ไปไหนมา ?" ก็รีบตอบเลยทันทีว่า "เปล่า…! ไปธุระมานิดหน่อย" คำว่า "เปล่า" นั้นเป็นคำพูดพลั้งหรือพูดด้วยความเคยชิน โดยไม่มีเจตนาจะพูดให้เขาเข้าใจผิด
สิกขาบทที่ ๕
สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวรมณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ แปลว่า ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
ความหมายของ "สุรา และ เมรัย"
น้ำเมาที่เป็นของหมักดอง เช่น กระแช่ น้ำตาลเมาต่าง ๆ ชื่อว่า"เมรัย", เมรัยนั้นที่เขากลั่นอีกชั้นหนึ่งเพื่อให้รสเข้มข้นขึ้น เช่น เหล้าชนิดต่าง ๆ ชื่อว่า "สุรา"
ในสิกขาบทนี้ คำว่า"สุราและเมรัย" หมายเอา สุรา ๕ อย่าง และ เมรัย ๕ อย่างซึ่งจะขอกล่าวตามลำดับต่อไป
สุรา ๕ อย่าง ได้แก่
๑.ปิฏฐสุรา สุราทำด้วยแป้ง
๒.ปูวสุรา สุราทำด้วยขนม
๓.โอทนสุรา สุราทำด้วยข้าวสุก
๔.กิณณะปกะขิตตา สุราที่หมักเชื้อ
๕.สัมภาระสังยุตตา สุราที่ปรุงด้วยเครื่องเทศต่าง ๆ
เมรัย ๕ อย่าง ได้แก่
๑.ปุปผาสโว น้ำดองดอกไม้
๒.ผลาสโว น้ำดองผลไม้
๓.มธวาสโว น้ำดองน้ำผึ้งหรือน้ำดองน้ำหวาน
๔.คุฬาสโว น้ำดองน้ำอ้อย
๕.สัมภาระสังยุตโต น้ำดองที่ปรุงด้วยเครื่องเทศต่าง ๆ
สิกขาบทนี้ เป็นสาหัตถิกประโยคเพราะดื่มหรือเสพด้วยตนเองเท่านั้น ไม่เป็นอาณัติกประโยค เพราะใช้ให้ผู้อื่นดื่มหรือเสพ
สิ่งมึนเมาที่อนุโลมเข้ากับสุราและเมรัย
การสูบ ฉีด หรือเสพ ยาเสพติดให้โทษ เช่น กัญชา เฮโรอีน มอร์ฟีน ฝิ่น ทินเนอร์ ฯลฯ เข้าไปในร่างกาย ซึ่งไม่ใมช่การดื่มกินเข้าไปเหมือนสุราและเมรัย ก็จัดว่าผิดศีลข้อที่ ๕ เหมือนกัน เพราะสิ่งเสพติดเหล่านี้ แม้จะไม่ได้ดิ่มกินทางปากก็ตามที แต่ก็สำเร็จเป็นการทำให้มีนเมา ทำให้ไม่สามารถควบคุมสติและควบคุมตนเองได้ เช่นเดียวกับหารดิ่มกินสุราเมรัย ซ้ำยังมีโทษร้ายแรงยิ่งกว่าสุราเมรัยเสียอีก
ยาเสพติด เช่น กัญชา เฮโรอีน มอร์ฟีน ฝิ่น ทินเนอร์ เป็นต้นนั้น ถึงแม้ว่าไม่มีในครั้งพุทธกาล และพระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงห้ามไว้ก็ตามที แต่ก็อนุโลมเข้ากันได้กับสุราเมรัยและของมึนเมาอย่างอื่นอีก เพราะอาศัยหลักฐานคือ มหาปเทส ๔ ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้เป็นหลัก เพราะฉะนั้นยาเสพติดทุกชนิดที่อนุโลมเข้ากับสิ่งที่ไม่ควร จึงทำให้ผู้ที่สูบ เสพ หรือ ฉีด สิ่งเสพติดให้โทษทุกชนิดผิดศีลข้อที่ ๕ ด้วย
มหาปเทสนั้นมี ๔ ประการ ได้แก่.-
๑. สิ่งใดไม่ได้ทรงห้ามไว้ว่าไม่ควร แต่เข้ากับสิ่งไม่ควร(อกัปปิยะ) ขัดต่อสิ่งที่ควร (กัปปิยะ) สิ่งนั้นไม่ควร
๒. สิ่งใดไม่ได้ทรงห้ามไว้ว่าไม่ควร แต่เข้ากันกับสิ่งที่ควร(กัปปิยะ) ขัดต่อสิ่งที่ไม่ควร สิ่งนั้นควร
๓. สิ่งใดที่ไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ว่าไม่ควร แต่เข้ากับสิ่งที่ไม่ควร(อกัปปิยะ) ขัดต่อสิ่งที่ควร(กัปปิยะ) สิ่งนั้นไม่ควร.
๔.สิ่งใดที่ไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ว่าควร แต่เข้ากับสิ่งที่ควร(กัปิยะ)ขัดกันกับสิ่งที่ไม่ควร (อกัปปิยะ) สิ่งนั้นควร
สุรา และ เมรัย และสิ่งเสพติดให้โทษทั้งหมดนั้น ย่อมทำให้ผู้ที่ดื่มมึนเมาเสียสติ เป็นบ่อเกิดแห่งความประมาท เลินเล่อเผลอสติ ขาดความยั้งคิด ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำทุกอย่างได้ทั้งหมด ไม่มีความละอาย และเป็นเหตุให้ทำความชั่วอย่างอื่นได้อีกมากมาย สร้างความปั่นป่วนให้สังคม การดื่มสุราเมรัย และหรือเสพยาเสพติดให้โทษ เป็นอบายมุข เป็นหนทางแห่งหายนะ ฉะนั้นน้ำเมาคือสุราเมรัยจึงได้ชื่อว่า "เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
-
ความหมายของศีล 5
-http://www.sil5.net/index.asp?autherid=13&ContentID=10000024&title=%A4%C7%D2%C1%CB%C1%D2%C2%A2%CD%A7%C8%D5%C5+5&bttcol=False-
ศีล 5 มีความหมายคือ
๑. เว้นจากทำลายชีวิต
๒. เว้นจากถือเอาของที่เขามิได้ให้
๓. เว้นจากประพฤติผิดในกาม
๔. เว้นจากพูดเท็จ
๕. เว้นจากของเมา คือ สุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
อาราธนาศีล 5
(ถ้าคนเดียวเปลี่ยนจากคำว่า "มะยัง" เป็น "อะหัง" และ "ยาจามะ" เป็น "ยาจามิ")
มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะณัติถายะ
ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ
ทุติยันปิ มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะณัตยาถะ
ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ
ตะติยัมปิ มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะณัติยาถะ
ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ
ข้าแต่ ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอสมาทานศีล 5 พร้อมด้วยไตรสรณคมน์ เพื่อประโยชน์แห่งการรักษา เป็นข้อ ๆ คำสมาทาน ว่า
ปาณาติปาตา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
(ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการฆ่าสัตว์ด้วยตนเองและไม่ใช่ให้ผู้อื่นฆ่า)
อทินนาทานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
(ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการลัก ,ฉ้อ ของผู้อื่นด้วยตนเอง และไม่ใช่ให้ผู้อื่นลัก ฉ้อ)
กาเมสุมิจฺฉานารา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
(ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม)
มุสาวาทา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
(ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการพูดเท็จ คำไม่เป็นจริง และคำล่อลวง อำพรางผู้อื่น)
สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
(ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการดื่มสุรา เมรัย เครื่องดองของทำใจให้คลั่งไคล้ต่าง ๆ )
อาราธนาศีล ๕
มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะณัตถายะ ติสะระเณนะ
สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ ฯ ทุติยัมปิ มะยัง ภันเต
วิสุง วิสุง รักขะณัตถายะ ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ
ยาจามะ ฯ ตะติยัมปิ มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะณัต
ถายะ ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ ฯ
อาราธนาศีล ๘ ในวันพระก็แบบเดียวกัน ต่างกันแต่
เปลี่ยน " ปัญจะ" เป็น "อัฏฐะ" เท่านั้น
-
ศีล อุโบสถ
-http://www.sil5.net/index.asp?contentID=10000004&title=%C8%D5%C5+%CD%D8%E2%BA%CA%B6&getarticle=15&keyword=&catid=1&title=%C8%D5%C5+%CD%D8%E2%BA%CA%B6&bttcol=False-
เตสํ สมฺปนฺนสีสานํ สมฺมทญฺญา วิมุตฺตานํ
อปฺปมาทวิหารฺนํ มาโร มคฺคํ น วินฺทติ
มารค้นหาอยู่ ย่อมไม่พบทางของท่านผู้มีศีลสมบูรณ์
อยู่ด้วยความไม่ประมาท หลุดพ้น เพราะรู้ชอบ
จาก . . . ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท
ศีลเป็นอาภรณ์อันประเสริฐ
( สีลํ อาภรณํ เสฏฺฐํ )
ประณีต ก้องสมุทร
ศีล ๕ เป็นศีลของคฤหัสถ์ ที่คฤหัสถ์ทั้งชายหญิงควรรักษาเป็นปกติ เป็น ประจำตลอดชีวิต
ถึงกระนั้น ศีลที่ยิ่งกว่า ศีล ๕ ขัดเกลากิเลสได้ยิ่งกว่าศีล ๕ ที่คฤหัสถ์ควรรักษาตามโอกาส เป็นครั้งคราว ก็มีอยู่ ศีลที่กล่าวนี้คือ อุโบสถศีล หรือศีลอุโบสถ ซึ่งคฤหัสถ์ชายหญิงบางท่านรักษาในวัน อุโบสถ สมัยก่อนท่านกำหนดวันรักษาอุโบสถศีลไว้มากกว่าวันนี้ แต่ปัจจุบันเหลือวันรักษาอุโบสถศีลเพียง เดือนละ ๔ ครั้งในวันพระคือในวันแรม ๘ ค่ำ แรม ๑๔ ค่ำหรือ ๑๕ ค่ำ ขึ้น ๘ ค่ำและขึ้น ๑๕ ค่ำ แต่บาง ท่านก็ประพฤติยิ่งกว่านั้น โดยอาศัยแนวที่ท่านกล่าวไว้ใน อรรถกถาราชสูตร อังคุตตรนิกายติกนิบาตว่า อุโบสถมี ๓ อย่างคือ
๑. ปกติอุโบสถ คืออุโบสถที่รักษากันเฉพาะวันที่กำหนดไว้ ในปัจจุบันนี้กำหนดเอาวันพระ คือวัน ๘ ค่ำ และ ๑๕ ค่ำ ทั้งข้างขึ้นและข้างแรม
๒. ปฏิชาครอุโบสถ คืออุโบสถที่รักษากันครั้งละ ๓ วัน คือถือเอาวันที่กำหนดไว้ในปกติอุโบสถ เป็นหลัก แล้วเพิ่มรักษาก่อนกำหนด ๑ วัน เรียกว่า วันรับ และหลังวันกำหนดอีก ๑ วัน เรียกว่า วันส่ง เช่นวัน ๘ ค่ำเป็นวันรักษาปกติอุโบสถ ผู้ที่จะรักษาปฏิชาครอุโบสถ ก็เริ่มรักษาตั้งแต่วัน ๗ ค่ำ ไปสิ้นสุดเอา เมื่อสิ้นวัน ๙ ค่ำ คือรักษาในวัน ๗ ค่ำ ๘ ค่ำและ ๙ ค่ำ รวม ๓ วัน ๓ คืน
๓. ปาฏิหาริยปักขอุโบสถ คืออุโบสถที่รักษากันเป็นประจำทุกวันตลอดพรรษา ๓ เดือนอย่าง หนึ่ง ถ้าไม่อาจรักษาได้ตลอด ๓ เดือน ก็รักษาให้ตลอด ๑ เดือน หลังจากออกพรรษาแล้ว คือรักษาใน กฐินกาล ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ อย่างหนึ่ง ถ้ายัง ไม่อาจรักษาได้ตลอด ๑ เดือน ก็รักษาเพียงครั้งละครึ่งเดือนหลังจากออกพรรษาแล้ว คือตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงสิ้นเดือน ๑๑ อีกอย่างหนึ่ง ทั้ง ๓ อย่างนี้เรียกว่า ปาฏิหาริยปักขอุโบสถ
ศีลอุโบสถนั้นเป็น ศีลรวม หรือ ศีลพวง คือมีองค์ประกอบถึง ๘ องค์ ถ้าขาดไปองค์ใดองค์ หนึ่งก็ไม่เรียกว่า ศีลอุโบสถ ตามพุทธบัญญัติ เพราะฉะนั้นการล่วงศีลอุโบสถเพียงข้อใดข้อเดียว ก็ถือว่า ขาดศีลอุโบสถ เพราะเหลือศีลไม่ครบองค์ของอุโบสถศีล พูดง่ายๆว่าขาดศีลองค์เดียว ขาดหมดทั้ง ๘ องค์ ผู้ที่รักษาอุโบสถศีลจึงต้องสำรวมระวัง กาย วาจา เป็นพิเศษ
อุโบสถศีลที่ประกอบด้วยองค์ ๘ มีดังนี้
๑. ปาณาติปาตา เวรมณี : งดเว้นจากการทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป
๒. อทินนาทานา เวรมณี : งดเว้นจากการถือเอาของที่เจ้าของมิได้ให้
๓. อพรหมจริยา เวรมณี : งดเว้นจากการประพฤติผิดพรหมจรรย์
๔. มุสาวาทา เวรมณี : งดเว้นจากการกล่าวเท็จ
๕. สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี : งดเว้นจากการดื่มสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
๖. วิกาลโภชนา เวรมณี : งดเว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล
๗. นัจจคีตวาทิต วิสูกทัสสนมาลาคันธ วิเลปนธารณ มัณฑนวิ ภูสนัฏฐานา เวรมณี : งดเว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการเล่นอันเป็นข้าศึกต่อกุศล ลูบทาทัด ทรงประดับตกแต่งร่างกายด้วยระเบียบดอกไม้ ของหอม เครื่องย้อม เครื่องทาอันเป็นฐานะ แห่งการแต่งตัว
๘. อุจจาสยนมหาสยนา เวรมณี : งดเว้นจากการนั่ง และการนอนบนที่นอนสูงใหญ่
อุโบสถศีลอันมีองค์ ๘ นี้ องค์ที่ ๑-๒-๔-๕ เหมือนศีลข้อ ๑-๒-๔-๕ ของศีล ๕ ที่แปลกกัน คือข้อ ๓
ศีล ๕ นั้น ข้อ ๓ ให้เว้นจากการประพฤติผิดประเวณีในผู้ที่มิใช่คู่ของตน แต่ถ้าเป็นคู่ครอง ของตนแล้วไม่ห้าม แต่ศีลข้อ ๓ ของอุโบสถศีลนั้น ให้งดเว้นจากการเสพประเวณีโดยเด็ดขาด แม้ใน คู่ครองของตนเอง จึงจะชื่อว่า พรหมจริยา คือ ประพฤติอย่างพรหม ส่วนที่เพิ่มเข้ามาคือ ศีลข้อ ๖-๗-๘ อุโบสถศีลนั้นก็มีองค์ของศีลเป็นเครื่องวินิจฉัยว่า การกระทำเช่นไรจึงล่วงศีลไว้เช่นเดียวกับศีล ๕ สำหรับศีลข้อ ๑-๒-๔-๕ นั้น มีองค์เหมือนศีลข้อ ๑-๒-๔-๕ ของศีล ๕ ที่ได้กล่าวไปแล้ว สำหรับศีล ข้อที่เหลือมีเครื่องวินิจฉัย ดังนี้
ศีลข้อ ๓ อพรหมจริยา เวรมณี มีองค์ ๔ คือ ๑. อชฺฌาจรณียวตฺถุ วัตถุที่จะพึงประพฤติล่วง ( คือมรรคทั้ง ๓ ) ๒. ตตฺถ เสวนจิตฺตํ จิตคิดจะเสพในวัตถุที่จะพึงล่วงนั้น ๓. เสวนปฺปโยโค พยายามเสพ ๔. สาทิยนํ มีความยินดี
ศีลข้อ ๖ วิกาลโภชนา เวรมณี มีองค์ ๔ คือ ๑. วิกาโล เวลาตั้งแต่เที่ยงแล้วไปจนอรุณขึ้น ๒. ยาวกาลิกํ ของเคี้ยวของกินที่สงเคราะห์เข้าในอาหาร ๓. อชฺโฌหรณปฺปโยโค พยายามกลืนกิน ๔. เตน อชฺโฌหรณํ กลืนให้ล่วงลำคอเข้าไปด้วยความเพียรนั้น
สำหรับศีลข้อนี้ ควรทราบว่า เวลาตั้งแต่อรุณขึ้นไปจนถึงเที่ยง เรียกว่า กาล คือเป็นเวลาบริโภค อาหาร ตั้งแต่เที่ยงแล้วไปจนถึงอรุณขึ้น (ของวันใหม่) เรียกว่า วิกาล เป็นเวลาที่ต้องเว้นจากการบริโภค อาหารทุกชนิด เว้นน้ำธรรมดา และน้ำดื่ม ๘ อย่าง ที่เรียกว่า ๑ อัฏฐบาน ที่มีพุทธานุญาตไว้ น้ำดื่ม ๘ อย่าง ( อัฏฐบาน ) นั้น คือ
น้ำที่ทำจากผลมะม่วง ๑ ผลหว้า ๑ ผลกล้วยมีเมล็ด ๑ ผลกล้วยที่ไม่มีเมล็ด ๑ ผลมะทราง ๑ ผลจันทน์ หรือผลองุ่น ๑ เง่าบัว ๑ ผลมะปรางหรือลิ้นจี่ ๑
ต่อมาทรงมีพุทธานุญาตน้ำผลไม้ทุกชนิด เว้นน้ำต้มเมล็ดข้าวเปลือก น้ำใบไม้ทุกชนิด เว้นน้ำ ผักดอง น้ำดอกไม้ทุกชนิด เว้นน้ำดอกมะทราง และทรงอนุญาตน้ำอ้อยสด
อรรถกถาท่านสรุปว่า ในเวลาวิกาลดื่มน้ำผลไม้ได้ทุกชนิด เว้นผลไม้ที่มีผลโตกว่าผลมะตูม ( บางแห่งว่าผลมะขวิด ) วิธีทำนั้นก็ต้องคั้นเอาแต่น้ำ และกรองให้ไม่มีกาก และไม่ผ่านการสุกด้วยไฟ น้ำปานะดังกล่าวนี้เท่านั้นที่ผู้รักษาอุโบสถศีลควรดื่มในเวลาวิกาล นอกนี้ไม่ควร พึงสังเกตว่า ไม่มีน้ำนมสดทุกชนิด คือน้ำนมของสัตว์ หรือนมที่ทำจากพืช เช่นถั่วเป็นต้น
นอกจากนี้ พระพุทธองค์ยังทรงอนุญาตให้บริโภคเภสัช ๒ ๕ อย่างคือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย รวมทั้งงบน้ำอ้อย ในเวลาวิกาลได้
๑-๒. พระวินัยปิฎกมหาวรรค เภสัชชขันธกะ ข้อ ๘๖ และข้อ ๒๖
ศีลข้อ ๗ แบ่งเป็น ๒ ตอน แต่ละตอนมีองค์โดยเฉพาะ ถ้ากระทำผิดศีลตอนใดตอนหนึ่ง เพียงตอนเดียว ก็ถือว่าขาดหมดทั้งสองตอน
ศีลข้อ ๗ ตอนแรก นัจจคีตวาทิตวิสูกทัสสนะ เว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการเล่นอันเป็นข้าศึกต่อกุศล มีองค์ ๓ คือ ๑. นจฺจาทีนิ การเล่นมีฟ้อนรำขับร้อง เป็นต้น ๒. ทสฺสนตฺถาย คมนํ ไปเพื่อจะดูหรือฟัง ๓. ทสฺสนํ ดูหรือฟัง
ศีลตอนแรกนี้ท่านห้ามทั้งเล่นเอง หรือใช้ให้ผู้อื่นเล่นแล้วตนดูหรือฟัง ผู้รักษาอุโบสถศีลแล้วยัง เปิดวิทยุฟังเพลง ฟังลิเก หรือมหรสพต่างๆ หรือเปิดโทรทัศน์แล้วหลบไปนั่งในที่ๆ มองไม่เห็นภาพ อาศัย ฟังแต่เสียงการละเล่นต่างๆ มีละคร เป็นต้นจากโทรทัศน์นั้น ย่อมไม่สมควรถือว่าผิดศีลข้อนี้ เพราะมีเจตนา ชัดแจ้ง
หากมีผู้อื่นเขาเปิดดูหรือฟังอยู่ ผู้รักษาอุโบสถศีลเพียงแต่ผ่านไป ได้เห็นหรือได้ยินเข้า แล้วก็ ผ่านเลยไปอย่างนี้ไม่ผิดแต่ไม่ใช่ว่าไม่ได้มีเจตนาจะดูหรือฟังมาก่อน แต่ผ่านไปเห็นหรือได้ยินเข้า แล้ว เลยพลอยร่วมวงดูหรือฟังกับเขาด้วย อย่างนี้ก็ผิด
ปกติเราก็ดูก็ฟังกันอยู่ทักวันทุกคืน เราจะหยุดดูหยุดฟังกันสักวันหนึ่ง คืนหนึ่ง ตามอย่าง พระอรหันต์ ท่านมิได้เทียวหรือ ก็ในวินัยของพระอริยเจ้านั้น
*การขับร้อง คือการร้องไห้ การฟ้อนรำ คือความเป็นบ้า การหัวเราะจนเห็นฟันพร่ำเพรื่อ คือความเป็นเด็ก ศีลข้อ ๗ ตอนหลัง มาลาคันธวิเลปนธารณมัณฑนวิภูสนัฏฐานา เวรมณี เว้นจากการลูบทา ทัดทรง ประดับตกแต่งร่างกายด้วยระเบียบดอกไม้ ของหอม เครื่องย้อม เครื่องทาอันเป็นฐานะแห่งการ แต่งตัว มีองค์ ๓ คือ ๑. มาลาทีนํ อญฺญตรตา เครื่องประดับตกแต่ง มีดอกไม้และของหอม เป็นต้น ๒. อนุญฺญาตการณาภาโว ไม่มีเหตุเจ็บไข้ เป็นต้นที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาต ๓. อลงฺกตภาโว ทัดทรงประดับตกแต่ง เป็นต้นด้วยจิตคิดจะประดับให้สวยงาม
ในข้อนี้มีข้อสังเกตคือ บางท่านก่อนไปวัดเพื่อสมาทานอุโบสถศีล ก็ตกแต่งร่างกาย ทาหน้า ทาปาก เป็นต้น อย่างสวยงามเสียก่อน เพราะคิดว่าได้กระทำก่อนสมาทานศีล จึงไม่ผิด แต่เจตนาใน การกระทำเพื่อให้สวยงามมีอยู่จึงถือว่าผิด เพราะผู้ที่จะรักษาอุโบสถศีลนั้น ต้องตั้งเจตนาที่จะรักษาไว้ ตั้งแต่รุ่งเช้าแล้วว่า จะรักษาอุโบสถศีลตลอดวันหนึ่งคืนหนึ่ง คำว่า วันหนึ่งคืนหนึ่งนั้น ท่านกำหนดนับตั้งแต่อรุณขึ้นของวันที่รักษาไปจนถึงอรุณขึ้นของวัน ใหม่ ถ้าน้อยกว่ากำหนดนี้ก็ไม่ชื่อว่าวันหนึ่งคืนหนึ่ง ผู้รักษาอุโบสถควรระลึกถึงข้อนี้ด้วย
ศีลข้อ ๘ อุจฺจาสยนมหาสยนา เวรมณี งดเว้นจากการนั่งและการนอนบนที่นอนสูงใหญ่ มีองค์ ๓ คือ ๑. อุจฺจาสยนมหาสยนํ ที่นั่งที่นอนสูงใหญ่ ๒. อุจฺจสยนมหาสยนสญฺญิตา รู้ว่าที่นั่งที่นอนสูงใหญ่ ๓. อภิสีทนํ วา อภิปชฺชนํ วา นั่งหรือนอนลง
คำว่า ที่นั่งและที่นอนสูงใหญ่ ในศีลข้อนี้ ท่านหมายเอาที่นั่งและที่นอนที่สูงใหญ่เกินประมาณ ที่ประดับตกแต่งด้วยเครื่องปูลาดที่วิจิตรงดงาม รวมไปถึงที่นอนที่ยัดด้วยนุ่มและสำลีด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อมิให้ ยินดีติดใจในความงามและสัมผัสที่อ่อนนุ่มสบายของที่นั่งที่นอนเหล่านั้น
อุโบสถศีลทั้ง ๔ ข้อที่แตกต่างและเพิ่มขึ้นจากศีล ๕ นั้นถ้าไม่พิจารณาให้ละเอียดแล้ว จะไม่ เห็นว่าศีลทั้ง ๔ ข้อนี้เพิ่มความขัดเกลายิ่งขึ้น จึงไม่น่ายากแก่การรักษา แต่โดยที่แท้แล้วมิได้เป็นเช่นนั้น มิฉะนั้นแล้วก็คงจะไม่มีผู้รักษาอุโบสถศีลน้อยมากอย่างนี้ เมื่อเทียบกับจำนวนพลเมืองทั้งประเทศ
ก็ปกติของคฤหัสถ์นั้น ยังยินดีติดใจในการการเสพประเวณี ในการบริโภคจนเกิน ประมาณ ในการตกแต่งร่างกายให้สวยงาม ในการนอนสบาย แต่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติ อุโบสถศีล ๔ ข้อนี้ขึ้น เพื่อขัดเกลาความยินดี ติดใจในสิ่งเหล่านี้ของคฤหัสถ์เป็นครั้งคราว เพียงชั่ววันหนึ่งคืนหนึ่งเป็นอย่างต่ำ ๓ วันเป็นอย่างกลาง ( ปฏิชาครอุโบสถ ) ๓ เดือนตลอด พรรษาเป็นอย่างสูง ( ปาฏิหาริยปักขอุโบสถ ) มิได้ทรงบัญญัติให้รักษาจนตลอดชีวิตอย่าง พระอรหันต์
เพราะฉะนั้น ผู้ที่รักษาอุโบสถศีลเพียงชั่ววันหนึ่งคืนหนึ่งเพราะน้อมระลึกว่า "แม้เราจะรักษา อุโบสถศีลจนตลอดชีวิตอย่างพระอรหันต์ไม่ได้ ก็ขอดำเนินรอยตามท่านด้วยการรักษาอุโบสถศีล อันมีองค์ ๘ นี้ ขั่ววันหนึ่งคืนหนึ่ง" เพียงเท่านี้ พระพุทธองค์ก็ยังตรัสว่า การรักษาอุโบสถศีลของผู้นั้นมี ผลมากมีอานิสงส์มาก* แม้พระราชาผู้ทรงเป็นใหญ่ใน ๑๖ แคว้น ก็ยังไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ ของอุโบสถที่ประกอบ ด้วยองค์ ๘ เพราะศีลนั้นทำให้เกิดในสวรรค์
* อุโปสถสูตร อํ ติกนิบาต ข้อ ๕๑๐ วิสาขสูตร อํ อัฏฐกนิบาต ข้อ ๑๓๓
ก็สมบัติมหาศาลของพระราชา ในเมืองมนุษย์นั้นเป็นของเล็กน้อย เปรียบเหมือนสมบัติ ของคนจน เมื่อเทียบกับสมบัติและความสุขอันเป็นทิพย์ในเทวโลก ที่ผู้รักษาอุโบสถศีลจะพึงได้ รับเมื่อสิ้นชีวิตไปแล้ว
ทั้งนี้เพราะเทวดาผู้เกิดในสวรรค์ชั้นต่ำสุดคือ จาตุมมหาราชิกานั้นยังมีอายุยืนถึง ๕๐๐ ปีทิพย์ ซึ่งวันหนึ่งคืนหนึ่งของสวรรค์ชั้นจาตุมมหาราชิกานั้นเท่ากับ ๕๐ ปีมนุษย์ ลองคิดดูเองเถิดว่า ๕๐๐ ปีทิพย์ นั้นจะเท่ากับกี่ปีมนุษย์ ยิ่งถ้าได้เกิดในสวรรค์ชั้นสูงขึ้นไป อายุก็เพิ่มขึ้นจากชั้นต่ำเป็นทวีคูณ ชั้นปรนิมมิต วสวตีอันเป็นสวรรค์ชั้นสูงสุด เทวดาในชั้นนี้อายุยืนถึง ๑๖,๐๐๐ ปีทิพย์ ( เทวโลกหรือสวรรค์นั้นมี ๖ ชั้น คือ จาตุมมหาราชิกา ดาวดึงสา ยามา ดุสิตา นิมมานนรตี ปรนิมมิตวสวตี )
อุโบสถศีล จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มากอย่างนี้
ถึงกระนั้นพระพุทธองค์ก็มิได้ทรงสอนให้หลงใหลติดใจในสมบัติ และความสุขในโลกสวรรค์ เพราะมิฉะนั้นแล้วพระองค์จะไม่ตรัสกับ นางวิสาขา มหาอุบาสิกาเลยว่า
อุโบสถ* มี ๓ อย่าง คือ
๑. โคปาลกอุโบสถ อุโบสถที่เปรียบเหมือนคนรับจ้างเลี้ยงโค
๒. นิคัณฐอุโบสถ อุโบสถของพวกนักบวชนิครนถ์
๓. อริยอุโบสถ อุโบสถของพระอริยะ
* อุโปสถสูตร อํ ติกนิบาต ข้อ ๕๑๐
บุคคลผู้รักษาอุโบสถเหมือนคนรับจ้างเลี้ยงโคนั้น เมื่อสมาทานอุโบสถศีลแล้ว ก็ปล่อยใจให้ คิดแต่เรื่องราวของความโลภความต้องการ อยากได้สิ่งโน้นสิ่งนี้มาบำรุงบำเรอตน ไม่ได้คิดจะทำความ ดีอย่างอื่นให้เกิดขึ้นเลย ไม่ผิดอะไรกับคนที่รับจ้างเลี้ยงโค ที่เมื่อถึงเวลาเช้าก็ไปรับโคมาเลี้ยง เวลา เย็นก็นำโคมาส่งเจ้าของแล้วรับเอาค่าจ้างไป กลับบ้านแล้วก็คิดแต่ว่าพรุ่งนี้จะพาโคไปกินหญ้า กินน้ำที่ ไหน คนรับจ้างนั้นไม่เคยได้รับประโยชน์อะไรจากโค มีน้ำนมเป็นต้นเลย ผู้รักษาโคปาลกอุโบสถก็เช่น กัน ไม่ได้รับประโยชน์จากอุโบสถศีลที่ตนรักษาเลย การรักษาแบบ โคปาลกอุโบสถ จึงไม่มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์ เพราะความตรึกไม่บริสุทธิ์ส่วน นิคัณฐอุโบสถ นั้นเป็นอุโบสถของนักบวชนอกพระพุทธศาสนา ซึ่งแตกต่างจากการรักษา อุโบสถในพระพุทธศาสนา กล่าวคือ ในอุโบสถ พวกนักบวชนิครนถ์ จะแนะนำชักชวนสาวก เป็นต้นว่า ไม่ให้ฆ่าสัตว์ในที่ทั้ง ๔ ในที่เลยร้อยโยชน์ไป นอกจากนั้นมิได้ห้าม การแนะนำชักชวนสาวกอย่างนี้ ชื่อว่า ห้ามการฆ่าสัตว์ในที่บางแห่ง ไม่ห้ามฆ่าสัตว์ในที่บางแห่ง เป็นการขาดความกรุณาเอ็นดูในสัตว์ บางพวก มิได้ให้ความเอ็นดูแก่สัตว์ทุกหมู่เหล่า อุโบสถของพวกนิครนถ์จึงไม่มีผลมากแต่ อริยอุโบสถ นั้นเป็นอุโบสถที่มีผลมาก มีอานิสงส์มาก เพราะผู้รักษามิได้ปล่อยใจให้ ฟุ้งซ่านไปในความยินดีต้องการ หรือความเศร้าหมองใดๆ ด้วยอำนาจของกิเลส แต่มาพากเพียรระลึก ถึงพระคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตลอดจนระลึกถึงศีลที่บริสุทธิ์ไม่ด่างพร้อยของตน และ ระลึกถึงคุณธรรมของผู้ที่เกิดเป็นเทวดา ว่าเทวดาเหล่านั้นได้เกิดเป็นเทวดา เพราะประกอบด้วยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา เช่นใด แม้เราก็ประกอบด้วยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา เช่นนั้น เมื่อพาก เพียรระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า เป็นต้น จิตย่อมผ่องใส ไม่เศร้าหมองเพราะกิเลส การรักษาอุโบสถ โดยการไม่ปล่อยใจให้ตกไปในอำนาจของอกุศลแล้วมาเจริญกุศลอย่างนี้ ชื่อว่า อริยอุโบสถ
อุโบสถจึงมีผลมาก เพราะจิตของผู้รักษาบริสุทธิ์ ไม่มีผลมากเพราะจิตเศร้าหมอง
บุคคลที่รักษาอุโบสถแล้ว เจริญพุทธานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคลนั้น ชื่อว่าเข้าจำ *พรหมอุโบสถ อยู่ร่วมกับพรหม และมีจิตผ่องใสเพราะ ปรารภพรหม
* อุโปสถสูตร อํ ติกนิบาต ข้อ ๕๑๐
คำว่า พรหม ในที่นี้ แปลว่า ประเสริฐ เป็นชื่อของพระพุทธเจ้า
บุคคลที่รักษาอุโบสถแล้ว เจริญธัมมานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระธรรมเป็นอารมณ์ พระพุทธเจ้า ตรัสว่า บุคคลนั้น ชื่อว่าเข้าจำ ธรรมอุโบสถ อยู่ร่วมกับธรรม และมีจิตผ่องใสเพราะปรารภธรรม
บุคคลที่รักษาอุโบสถแล้ว เจริญสังฆานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์เป็นอารมณ์ พระพุทธเจ้า ตรัสว่า บุคคลนั้น ชื่อว่าเข้าจำ สังฆอุโบสถ อยู่ร่วมกับสงฆ์ และมีจิตผ่องใสเพราะปรารภสงฆ์
บุคคลที่รักษาอุโบสถแล้ว เจริญสีลานุสสติ ระลึกถึงความบริสุทธิ์แห่งศีลของตน พระพุทธเจ้า ตรัสว่า บุคคลนั้น ชื่อว่าเข้าจำ ศีลอุโบสถ อยู่ร่วมกับศีล และมีจิตผ่องใสเพราะปรารภศีล
ศีลที่บริสุทธิ์นั้น คือ ศีลที่ไม่ขาด คือไม่ขาดศีลข้อต้นหรือข้อปลายเหมือนผ้าที่ขาดตรงชาย ๑ ไม่ทะลุ เหมือนผ้าที่ทะลุตรงกลาง เพราะขาดศีลตอนกลางในระหว่างข้อต้นและข้อปลาย ๑ ไม่ด่าง เหมือนแม่วัวที่มีรอยด่างสีดำหรือแดง รูปกลมหรือยาว ที่หลังหรื่อที่ท้อง เพราะขาด ศีลติดต่อกันเป็นลำดับ ๒ หรือ ๓ ข้อ ๑ ไม่พร้อย เหมือนแม่วัวที่มีจุดตามตัว เพราะศีลขาดเป็นระหว่างๆ ๑ บุคคลที่รักษาอุโบสถแล้ว เจริญเทวตานุสสติ ระลึกถึงคุณธรรมที่ทำให้ไปเกิดเป็นเทวดา พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคลนั้น ชื่อว่าเข้าจำ เทวดาอุโบสถ อยู่ร่วมกับเทวดา และมีจิตผ่องใสเพราะ ปรารภเทวดา
ผู้รักษาอุโบสถ เมื่อพากเพียรระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าเป็นต้นอยู่อย่างนี้ จิตย่อมผ่องใส ไม่เศร้าหมองเพราะกิเลส ครั้นเจริญอนุสสติให้จิตใจสงบอย่างนี้แล้ว ตายไปย่อมเกิดในสวรรค์ หากเจริญธรรมให้สูงยิ่ง กว่านี้ คือเจริญสมถะกรรมฐาน เป็นนิจจนได้ฌาน ฌานก็จะนำเกิดในพรหมโลกหรือหากเจริญวิปัสสนา จนสำเร็จมรรคผล เป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนาแล้ว ผู้รักษาอุโบสถศีลนั้นก็สามารถกำหนดการ เกิดของตนได้ว่า ยังมีอีกหรือไม่ คือถ้าเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ก็ยังต้องเกิดอีก แต่อย่างมากก็เกิดอีกไม่เกิน ๗ ชาติ หากสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ก็ไม่เกิดอีกเลย ก็เพราะอริยอุโบสถมีผลมาก มีอานิสงส์มากอย่างนี้ คืออย่างต่ำทำให้เกิดในสวรรค์ ๖ ชั้น อย่างกลางทำให้เกิดเป็นพรหม อย่างสูงทำให้ไม่เกิดอีกเลย ทุกท่านที่รักษาอุโบสถ จึงควรรักษาอริย อุโบสถ ดำเนินรอยตามพระอริยะ ส่วนผลที่ได้รับจะสูงต่ำเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับการกระทำของเราเอง รวมทั้งปัญญาบารมีที่ได้สั่งสมอบรมมาแต่ปางก่อนด้วยใน สักกสูตร อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ข้อ ๔๖ พระพุทธองค์ตรัสเตือนอุบาสกชาว สักกชนบท ที่รักษาอุโบสถศีลเป็นบางครั้งบางคราวว่า เป็นผู้ประมาทไม่ทำตามคำพร่ำสอนของพระองค์ ในเมื่อชีวิตมีภัยเพราะความโศก มีภัยเพราะความตายอย่างนี้ ก็ยังไม่รักษาอุโบสถศีลให้เป็นปกติ ให้ สม่ำเสมอ สาวกของพระองค์นั้นปฏิบัติตามคำพร่ำสอนของพระองค์โดยไม่ประมาทตลอด ๑๐ ปี ย่อม ได้รับความสุขเพียงอย่างเดียวตลอด ๑๐๐ ปีก็มี หมื่นปีก็มี แสนปีก็มี พึงเป็นพระโสดาบัน พระสกทา คามี พระอนาคามีก็มี
อย่าว่าแต่ผู้ที่ปฏิบัติตามคำพร่ำสอนของพระองค์ตลอด ๑๐ ปีเลย แม้ปฏิบัติตามคำสอนของ พระองค์น้อยกว่านั้นลงมาตามลำดับจนถึง ๑ วัน ๑ คืน ก็พึงได้รับความสุขอย่างเดียวตลอด ๑๐๐ ปีก็มี หมื่นปีก็มี แสนปีก็มี พึงเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามีก็มี
เมื่ออุบาสกชาวสักกชนบทได้ฟังพระพุทธองค์ตรัสเตือน พร้อมทั้งแสดงอานิสงส์ของอุโบสถศีล เช่นนั้น ก็กราบทูลรับรองว่า ต่อแต่นี้ไปจะรักษาอุโบสถศีลโดยสม่ำเสมอ มิได้ขาด
ก็ชีวิตของเราทั้งหลายในปัจจุบันนี้ ล้วนมีภัยอันตรายอยู่รอบตัว ไม่มีใครทราบว่าความตายจะ มาถึงเราเมื่อไร แล้วเรายังจะประมาทไม่ทำตามคำพร่ำสอนของพระพุทธองค์ด้วยการรักษาศีล ๕ หรือ อุโบสถศีลให้สม่ำเสมอดอกหรือ ในเมื่อศีลนั้นเป็นอริยทรัพย์ประการหนึ่งในบรรดาอริยทรัพย์ ๗ ประการ ที่พร้อมจะติดตามไปให้ความสุขแก่ผู้รักษาตลอดไป ตราบเท่าที่ยังต้องเกิดอยู่
เพราะฉะนั้น ผู้รักษาศีลดีแล้ว จึงไม่ต้องตั้งเจตนาปรารถนา ขอความไม่เดือดร้อนและ ความสุข จงเกิดแก่เรา ด้วยว่าความไม่เดือดร้อนและความสุข ย่อมเกิดแก่ผู้มีศีลเป็นธรรมดา แต่ผู้ทุศีลถึงจะตั้งเจตนาปรารถนาว่า ขอความไม่เดือดร้อนและความสุขจงเกิดแก่เรา เขาก็หา ได้รับผลสมตามเจตนาไม่ เพราะความเดือดร้อน และความทุกข์ย่อมเกิดแก่ผู้ทุศีลเป็นธรรมดา ธรรมที่ปฏิบัติดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้อย่างนี้
สำหรับศีลของคฤหัสถ์อีกอย่างหนึ่ง คือ ศีล ๘ ก็มี ๘ ข้อเหมือนอุโบสถศีล เพียงแต่ไม่กำหนด วันรักษาเหมือนอุโบสถศีล จะรักษาวันใด เมื่อไรก็ได้ เป็นการสะดวกสบายสำหรับผู้ที่ไม่อาจจะรักษาอุโบสถ ศีลในวันพระ ก็สามารถรักษาศีล ๘ ในวันอื่นเป็นการทดแทนได้ บางท่านมีศรัทธารักษาศีล ๘ จนตลอดชีวิต ควรแก่การสรรเสริญ และหากว่าท่านที่รักษาศีล ๘ นั้นจะได้รักษาศีล ๘ ของท่านตามแบบอย่างของพระอริยะ แล้ว ศีลของท่านก็ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
อนึ่งในการตั้งใจรักษาศีลนั้น อย่านึกว่าต้องไปสมาทานกับพระที่วัดเท่านั้นจึงจะเป็นศีล ความจริง แล้วจะสมาทานที่ไหนก็ได้ คือจะสมาทานที่วัด ในป่า หรือในบ้าน หากมีเจตนาคิดงดเว้นก็เป็นศีลแล้ว หรือ จะคิดงดเว้นเองโดยมิต้องสมาทานก็เป็นศีล โดยเฉพาะอุโบสถศีลนั้น ควรตั้งเจตนาในการรักษาไว้แต่รุ่งเช้า หากมีโอกาสไปวัดจะสมาทานกับพระอีกครั้งหนึ่งก็สมควร ทั้งนี้เพราะตามวัดต่างๆนั้น กว่าจะถึงเวลาที่พระ ท่านลงโบสถ์และให้ศีล ก็มักเป็นเวลาหลังจากที่ท่านฉันอาหารเช้าแล้ว ( โดยมากประมาณ ๙ น. ) ซึ่งเลย เวลาที่อรุณขึ้นมาหลายชั่วโมง ด้วยเหตุนั้นจึงควรสมาทานด้วยตนเองเสียก่อนแต่รุ่งเช้า
ในอดีต พระพุทธเจ้าของเราในสมัยที่ยังเป็นพระมหาชนกโพธิสัตว์ ก็ยังได้สมาทานศีลอุโบสถด้วย ตนเอง ในขณะที่ลอยอยู่กลางทะเล แม้ในสมัยพุทธกาล คนส่วนมากก็สมาทานศีลที่บ้าน ในวันอุโบสถ แล้วจึงถือดอกไม้ของหอม ไปวัดเพื่อฟังธรรม ( อรรถกถาเล่า ) ท่านมิได้ไปรับศีลจากพระที่วัด หากการรักษาศีลจำเป็นต้องไปสมาทานกับพระเพียงอย่างเดียว ก็น่าคิดว่าผู้ที่อยู่ในถิ่นกันดาร ในที่ไม่มีวัด ไม่มีพระ แต่นับถือพระพุทธศาสนา มิหมดโอกาสที่จะรักษาศีลหรือ เพราะเหตุนี้การทำอะไร จึงต้องอาศัย ปัญญา แม้การรักษาศีลก็ต้องอาศัยปัญญาพินิจพิจารณาให้รอบคอบ อย่าเพียงแต่ทำตามๆ กันโดยขาดเหตุผลด้วยเหตุนี้พระอรหันต์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า
* ศีลเท่านั้นเป็นเลิศ แต่ผู้มีปัญญาเป็นผู้สูงสุด ในโลกนี้ ความชนะในมนุษยโลกและเทวโลก ย่อมมีได้เพราะศีลและปัญญา
* ขุททกนิกาย, ปุณณเถรคาถา, สีลวเถรคาถา
ความชนะในที่นี้ หมายถึง ความชนะกิเลส มนุษย์ก็ตาม เทวดาก็ตาม จะชนะกิเลส ได้ก็เพราะศีลและปัญญา ศีลที่มีปัญญาเป็นพื้นฐาน จึงไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท ไม่เป็นทาส ของตัณหาและทิฏฐิ กล่าวคือ ผู้รักษาศีล มิได้มุ่งรักษาเพราะต้องการลาภ ยศ สรรเสริญ หรือสมบัติใดๆ มีโภคสมบัติเป็นต้น หรือมิได้รักษาเพราะเห็นผิดว่า เราจะบริสุทธิ์จากกิเลสได้เพราะศีลนี้ หมายความว่าผู้นั้น เห็นผิดว่า ลำพังศีลอย่างเดียว คือศีลเท่านั้นบรรลุนิพพานได้ ซึ่งเห็นผิดไปจากความจริง เพราะผู้จะบรรลุ นิพพานได้นั้น ต้องประกอบด้วย ศีล สมาธิ และปัญญา เบื้องต้นนั้น ศีลเป็นบาทให้เกิดสมาธิ สมาธิเป็นบาทให้เกิดปัญญา แต่เบื้องปลาย ศีล สมาธิ และปัญญา จะประชุมพร้อมกันเป็นมรรคสมังคี ในอริยมรรค มีองค์ ๘ เป็นอริยศีล อริยสมาธิ และอริยปัญญา อริยศีลที่ประกอบด้วยอริยสมาธิ และอริยปัญญา ในขณะนั้นเท่านั้น ที่บรรลุนิพพานได้ อริยศีลนี้ จึงชื่อว่า สีเลน นิพฺพุติ ยนฺติ โดยแท้จริง
ด้วยเหตุนี้ ศีลที่มีปัญญาเป็นพื้นฐาน จึงเป็นเครื่องกั้นทุจริต เป็นเสบียงเดินทางชั้นเยี่ยม เป็นพาหนะอันประเสริฐ เป็นเครื่องหอมที่ฟุ้งไปทั่วทิศานุทิศ เป็นสะพานนำไปถึงนิพพาน หากยังไม่ ปรินิพพานตราบใด ย่อมเกิดเป็นมนุษย์ * และเทวดาเท่านั้น
* อํ. ทุกนิบาต ข้อ ๒๗๕
จริงหรือไม่ว่า ศีลเป็นอาภรณ์อันประเสริฐ
กาเยน วาจาย จ โยธ สญฺญโต
มนสา จ กิญฺจิ น กโรติ ปาปํ
น อตฺตเหตุ อลิกํ ภณาติ
ตถาวิธํ สีลวนฺติ วทนฺติ
ผู้ใดสำรวมในโลกนี้ สำรวมทางกาย วาจาและใจ
ไม่ทำบาปอะไรๆ และไม่พูดพล่อย เพราะเหตุแห่งตน
ท่านย่อมเรียกคนเช่นนั้นว่า ผู้มีศีล
จาก :- สรภังคชาดก ขุททกนิกายชาดก ข้อ ๒๔๖๖
-
กรรมวิบาก และ อานิสงส์ของศีล ๕
-http://www.sil5.net/index.asp?autherid=24&ContentID=10000024&title=%CD%D2%B9%D4%CA%A7%A4%EC%A2%CD%A7%A1%D2%C3%C3%D1%A1%C9%D2%C8%D5%C5+5&bttcol=False-
กรรมวิบากของศีล ๕
ผู้ที่ล่วงละเมิดสิกขาบทที่ ๑ คือประพฤติปาณาติบาต (ฆ่าสัตว์) ย่อมได้รับกรรมวิบาก ๕ สถาน ได้แก่.-
๑.ย่อมเกิดในนรก
๒.ย่อมเกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน
๓.ย่อมเกิดในกำเนิดเปตวิสัย (แดนแห่งเปรต)
๔.ย่อมเป็นผู้มีอวัยวะพิการ
๕.โทษเบาที่สุด หากเกิดเป็นมนุษย์ ย่อมเป็นผู้มีอายุสั้น
ผู้ที่ล่วงละเมิดสิกขาบทที่ ๒ คือประพฤติทินนาทาน(ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยอาการแห่งขโมย/ลักทรัพย์) ย่อมได้รับกรรมวิบาก ๕ สถาน ได้แก่.-
๑.ย่อมเกิดในนรก
๒.ย่อมเกิดในกำเนิดสัตว์ ดิรัจฉาน
๓.ย่อมเกิดในกำเนิดเปตวิสัย
๔.ย่อมเป็นผู้ยากจนเข็ญในไร้ที่พึง
๕.โทษเบาที่สุด หากเกิดเป็นมนุษย์ ทรัพย์ย่อมฉิบหาย
ผู้ที่ล่วงละเมิดสิกขาบทที่ ๓ คือ ประพฤติผิดในกาม ย่อมได้รับกรรมวิบาก ๕ สถาน ได้แก่
๑.ย่อมเกิดในนรก
๒.ย่อมเกิดในกำเนิดสัตว์เดรัจฉาน
๓.ย่อมเกิดในกำเนิดเปตวิสัย
๔.ย่อมเป็นผู้มีร่างกายทุพลภาพ ขี้เร่ มากไปด้วยโรค
๕.โทษเบาที่สุด หากเกิดเป็นมนุษย์ ย่อมเป็นผู้มีศัตรูรอบด้าน
ผู้ที่ล่วงละเมิดสิกขาบทที่ ๔ คือประพฤติมุสาวาท พูดเท็จ ย่อมได้รับกรรมวิบาก ๕ สถาน ได้แก่.-
๑.ย่อมเกิดในนรก
๒.ย่อมเกิดในกำเนิดสัตว์เดรัจฉาน
๓.ย่อมเกิดในกำเนิดเปตวิสัย
๔.ย่อมเป็นผู้มีวาจาไม่เป็นที่เชื่อถือ มีกลิ่นปากเหม็นจัด
๕.โทษเบาที่สุด หากเกิดเป็นมนุษย์ จะถูกกล่าวตู่อยู่เสมอ
ผู้ที่ล่วงละเมิดสิกขาบทที่ ๕ สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานนา คือผู้ดื่มสุราเมรัย ย่อมได้รับกรรมวิบาก ๕ สถาน ได้แก่.-
๑.ย่อมเกิดในนรก
๒.ย่อมเกิดในกำเนิดสัตว์เดรัจฉาน
๓. ย่อมเกิดในเปตวิสัย
๔.ย่อมเป็นผู้มีสติไม่สมประกอบ
๕.โทษเบาที่สุด หากเกิดเป็นมนุษย์ ย่อมเป็นบ้า
อนึ่ง โทษแห่งการดื่มสุราเมรัยและเสพสิ่งเสพติดให้โทษซึ่งผู้ประพฤติย่อมได้รับโทษในปัจจุบัน ๖ อย่าง คือ
๑.เสียทรัพย์ ๒.ก่อการทะเลาะวิวาท
๓.เกิดโรค ๔.ถูกติเตียน
๕.เป็นผู้ไม่มียางอาย ๖.ทอนกำลังสติปัญญา
อานิสงส์แห่งการรักษาศีล ๕
สิกขาบทที่ ๑ ย่อมได้รับอานิสงส์ ๗ ประการ ได้แก่.-
๑.มีร่างกายสมส่วน ไม่พิการ
๒.เป็นคนแกล้วกล้าว่องไว มีกำลังมาก
๓.ผิวพรรณเปล่งปลั่งสดใส ไม่เศร้าหมอง
๔.เป็นคนอ่อนโยน มีวาจาไพเราะ เป็นเสน่ห์แก่คนทั้งหลาย
๕.ศัตรูทำร้ายไม่ได้ ไม่ถูกฆ่าตาย
๖.มีโรคภัยเบียดเบียนน้อย
๗.ย่อมเป็นผู้มีอายุยืน
สิกขาบทที่ ๒ ย่อมไดรับอานิสงส์โดยย่อ ๗ ประการ ได้แก่
๑.ย่อมมีทรัพย์สมบัติมาก
๒.แสวงหาทรัพย์โดยชอบธรรมได้โดยง่าย
๓.โภคทรัพย์ที่หามาได้แล้วย่อมมั่นคงถาวร
๔.สมบัติไม่ฉิบหายเพราะโจรภัย อัคคีภัย และอุทกภัย เป็นต้น
๕.ย่อมได้รับอริยทรัพย์
๖.ย่อมไม่ได้ยินและรู้จักคำว่า "ไม่มี"
๗.อยู่ที่ไหนก็ย่อมเป็นสุข เพราะไม่มีใครเบียดเบียน
สิกขาบทที่ ๓ ย่อมมีอานิสงส์โดยย่อ ๗ ประการ ได้แก่
๑.ไม่มีศัตรูเบียดเบียน
๒.เป็นที่รักของคนทั้งหลาย
๓.มีทรัพย์สมบัติบริบูรณ์
๔.ไม่ต้องเกิดเป็นหญิงหรือเป็นกระเทยอีก
๕.เป็นผู้สง่า มีอำนาจมาก
๖.มีอินทรีย์ ๕ บริบูรณ์
๗.มีความสุข ไม่ต้องทำงานหนัก
สิกขาบทที่ ๔ คือ ย่อมมีอานิสงส์โดยย่อ ๗ ประการ ได้แก่
๑.มีอินทรีย์ ๕ ผ่องใส
๒.มีวาจาไพเราะ มีไรฟันสม่ำเสมอเป็นระเบียบดี
๓.มีร่างกายสมส่วนบริบูรณ์ ผิวพรรณเปล่งปลั่ง
๔.มีกลิ่นปากหอมเหมือนกลิ่นดอกบัว
๕.มีวาจาศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เชื่อถือของคนทั่วไป
๖.ไม่เป็นอ่าง ไม่เป็นใบ้
๗.มีริมฝีปากแดงระเรื่อและบาง
สิกขาบทที่ ๕ มีอานิสงส์โดยย่อ ๖ ประการ ได้แก่
๑.รู้จักอดีต อนาคต ปัจจุบันได้รวดเร็ว
๒.มีสติตั้งมั่นทุกเมื่อ
๓.มีความรู้มาก มีปัญญามาก
๔.ไม่บ้า ไม่ใบ้ ไม่มัวเมาหลงไหล
๕.มีวาจาไพเราะ มีน้ำคำเป็นที่น่าเชื่อถือ
๖.มีความซื่อสัตย์ สุจริตทั้งกาย วาจา ใจ
อานิสงส์โดยย่อของการรักษาศีล
การรักษาศีลย่อมมีอานิสงส์มากมายจนสุดที่จะบรรยายให้ไหมดได้ แต่เมื่อกล่าวโดยหลักใหญ่ ๆ ซึ่งปรากฏในคำกล่าวสรุปหลังจากที่พระท่านให้ศีลว่ามี ๓ ประการ คือ
๑.ศีลเป็นเหตุให้ไปสู่สุคติ (สีเลนะ สุคติง ยันติ)
๒.ศีลเป็นเหตุให้ได้โภคทรัพย์ (สีเลนะ โภคะสัมปะทา)
๓.ศีลเป็นเหตุให้ถึงพระนิพพาน (สีเลนะ นิพพุติง ยันติ)
และเมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ศีลนั้นมี "ความไม่เดือดร้อน" เป็นอานิสงส์ที่สูงสุด
วิธีการหรือขั้นตอนการสมาทานศีล
เบื้องต้น ผู้ต้องการจะสมาทานศีล พึงจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย เสร็จแล้วกล่างคำบูชาพระรัตนตรัย ดังต่อไปนี้
คำกล่าวบูชาพระรัตนตรัย
อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา, พระผู้มีพระภาคเจ้า, เป็นพระอรหันต์, บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย, ได้ตรัสรู้ถูกถ้วนดีแล้ว,
อิเมหิ สักกาเรหิ ตัง ภะคะวันตัง อะภิปูชะยามิ, ข้าพเจ้าบูชา, ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น, ด้วยเครื่องสักการะเหล่านี้ (กราบ ๑ ครั้ง)
สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม,พระธรรมคือศาสนา อันพระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงไว้ดีแล้ว
อิเมหิ สักกาเรหิ ตัง ธัมมัง อะภิปูชะยามิ, ข้าพเจ้าบูชา, ซึ่งพระธรรมเจ้านั้น, ด้วยเครื่องสักการะเหล่านี้ (กราบ ๑ ครั้ง)
สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, หมู่พระสงฆ์ผู้เชื่อฟัง, ของพระผู้มีพระภาคเจ้า, ปฏิบัติดีแล้ว
อิเมหิ สักกาเรหิ ตัง สังฆัง อะภิปูชะยามิ, ข้าพเจ้าบูชา ซึ่งหมู่พระสงฆะเจ้านั้น, ด้วยเครื่องสักการะเหล่านี้ (กราบ ๑ ครั้ง)
หลังจากที่ได้กล่าวคำบูชาพระรัตนตรัยแล้ว พึงตั้งใจให้แน่วแน่ที่จะสมาทานศีล เพื่อนำไปประพฤติปฏิบัติให้เกิดความปกติทางกาย วาจา โดยกล่าวคำอาราธนาศีล ดังต่อไปนี้
คำอาราธนาศีล ๕
มะยัง ภันเต, วิสุง วิสุง รักขะนัตถายะ, ติสะระเณนะ สะหะ, ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ, ทุติยัมปิ มะยัง ภันเต, วิสุง วิสุง รักขะนัตถายะ,ติสะระเณนะ สะหะ, ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ, ตะติยัมปิ มะยัง ภันเต,วิสุง วิสุง รักขะนัตถายะ, ติสะระเณนะ สะหะ,ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ
หมายเหตุ.- ถ้าคนเดียวทั้งอาราธนาศีลและรับศีลให้เปลี่ยน มะยัง เป็น อะหัง,
เปลี่ยน ยาจามะ เป็น ยาจามิ นอกนั้นเหมือนกันหมด
พึงนั่งให้เรียบร้อย สำรวมกาย วาจา ใจ แล้วคำคำสมาทานศีล โดยกล่าวตามพระภิกษุ สามเณร หรือผู้มีศีล ตามลำดับ ดังต่อไปนี้
คำนมัสการ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
(แปลว่า ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง, >>>>>ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง, >>>>>ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง)
คำปฏิญาณตนถึงไตรสรณคมน์
พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
(แปลว่า ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า และ พระสงฆเจ้า ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกในการดำเนินชีวิต
>>>>>แม้ครั้งที่ ๒ ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า และ พระสงฆเจ้า ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกในการดำเนินชีวิต
>>>>>แม้ครั้งที่ ๓ ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า และ พระสงฆเจ้า ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกในการดำเนินชีวิต)
ต่อจากนี้พระท่านจะกล่าวว่า ติสะระณะคะมะนัง นิฏฐิตัง ผู้รับศีลพึงรับพร้อม ๆ กันว่า
"อามะ ภันเต"แล้วตั้งใจสมาทานศีล(รับศีล)ตามที่พระท่านนำกล่าวสมาทานต่อไปว่า.-
ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ,
(ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการฆ่า การเบียดเบียน การทำร้ายร่างกายคนและสัตว์ แล้วมีจิตใจประกอบด้วยเมตตากรุณา มีความปรารถนาดี และสงสารเห็นอกเห็นใจผู้อื่นสัตว์อื่น)
อะทินนาทานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ,
(ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยอาการแห่งขโมยหรือโจร อันได้แก่ ลัก ฉก ชิง วิ่งราว ขู่กรรโชก ขู่เข็ญ ปล้น จี้ ตู่ ฉ้อโกง หลอก ลวง ปลอม ตระบัด เบียดบัง สับเปลี่ยน ลักลอบ ยักยอก และรับสินบน แล้วเป็นผู้มีความขยันประกอบสัมมาชีพ บริจาคทาน และเคารพในกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่น)
กาเมสุ มิจฉาจารา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ,
(ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนาเป็นเครื่องงดเว้นเว้นจากการประพฤติผิดในกาม)
มุสาวาทา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ,
(ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากมุสาวาท)
สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
(ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการดื่มน้ำเมาอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท อันได้แก่ น้ำสุรา เมรัย เครื่องดื่มมึนเมาอื่น ๆ และการเสพยาเสพติดอื่นๆ เช่น ฝิ่น เฮโรอีน กัญชา ยาบ้า ฯลฯ)
(ต่อจากนี้พระท่านจะกล่าว ผู้รับศีลไม่ต้องว่าตาม)
อิมานิ ปัญจะสิกขาปะทานิ,
สีเลนะ สุคะติง ยันติ, สีเลนะ โภคะสัมปะทา,
สีเลนะ นิพพุติง ยันติ, ตัสฺมา สีลัง วิโสธะเย.
ผู้รับศีลพึงรับพร้อม ๆ กันว่า "สาธุ ภันเต" เสร็จแล้วไหว้ หรือ กราบตามสมควรแก่กรณี
-
ธรรมะปฏิบัติ การรักษาศีล จำแนกตามประเภทบุคคล : ศีล ๓๑๑
-http://thammapedia.com/practice/patipatti_sil311.php-
“อานนท์ ! พุทธบริษัททั้งสี่ คือภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทำสักการะบูชาด้วยเครื่องบูชาสักการะทั้งหลายอันเป็นอามิส เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน เป็นต้น หาชื่อว่าบูชาตถาคตด้วยการบูชาอันยิ่งไม่ อานนท์เอย ! ผู้ใดปฏิบัติตามธรรมปฏิบัติอันชอบยิ่ง ปฏิบัติธรรมอันเหมาะสม ผู้นั้นแลชื่อว่าสักการะบูชาเราด้วยการบูชาอันยอดเยี่ยม”
พุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน
อาจารย์วศิน อินทสระ
"ดูก่อนอานนท์ ธรรมหนึ่งคือ..
อานาปานสติสมาธิ ภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์,
สติปัฏฐาน ๔ อันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์,
โพชฌงค์ ๗ อันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมยังวิชชาและ วิมุติให้บริบูรณ์"
“..ดูก่อนภิกษุทั้งหลายธรรม ๒ อย่าง เป็นไปในส่วนแห่งวิชชา ธรรม ๒ อย่างเป็นไฉน
คือ สมถะ ๑ วิปัสสนา ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
สมถะ ที่ภิกษุเจริญแล้ว... ย่อมอบรมจิต จิตที่อบรมดีแล้ว... ย่อมละราคะได้
วิปัสสนา ที่อบรมดีแล้ว.. ย่อมอบรมปัญญา ปัญญาที่อบรมดีแล้ว.. ย่อมละอวิชชาได้"
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะสำรอกราคะได้ จึงชื่อว่าเจโตวิมุติ เพราะสำรอกอวิชชาได้ ชื่อว่าปัญญาวิมุติ"
หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม
การรักษาศีล
จำแนกตามประเภทบุคคล
๑. ศีล ๕ สำหรับทุกคน
๒. ศีล ๘ อุโบสถศีล
๓. ศีล ๑๐ สำหรับสามเณร
๔. ศีล ๒๒๗ ศีลสำหรับพระภิกษุ
๕. ศีล ๓๑๑ ศีลสำหรับพระภิกษุณี
-
ธรรมะปฏิบัติ การรักษาศีล จำแนกตามประเภทบุคคล : ศีล ๓๑๑
-http://thammapedia.com/practice/patipatti_sil311.php-
ศีล ๓๑๑ : สำหรับภิกษุณี
ศีล ๓๑๑ ข้อ : ศีลสำหรับพระภิกษณีุ มีในภิกขุนีปาฏิโมกข์, เป็นวินัยของภิกษุณีสงฆ์ ทำผิดถือว่าเป็นอาบัติ สามารถแบ่งออกได้เป็นลำดับขั้น ตั้งแต่ขั้นรุนแรงจนกระทั่งเบาที่สุด ดังนี้
๑. ปาราชิก ............................. ๘ ข้อ
๒. สังฆาทิเสส ....................... ๑๗ ข้อ
๓. นิสสัคคิยปาจิตตีย์ .............. ๓๐ ข้อ
๔. ปาจิตตีย์ ........................ ๑๖๖ ข้อ
๕. ปาฏิเทสนียะ ....................... ๘ ข้อ
๖. เสขิยะ ๗๕ ข้อ โดยแบ่งเป็น ๔ หมวด คือ
สารูป ........................... ๒๖ ข้อ
โภชนปฏิสังยุตต์ ............. ๓๐ ข้อ
ธัมมเทสนาปฏิสังยุตต์ ...... ๑๖ ข้อ
ปกิณณกะ ....................... ๓ ข้อ
๗. อธิกรณสมถะ ...................... ๗ ข้อ
รวมทั้งหมดแล้ว ๓๑๑ ข้อ
ผิดข้อใดข้อหนึ่งถือว่าต้องอาบัติ การแสดงอาบัติสามารถกล่าวกับพระภิกษุณีรูปอื่นเพื่อเป็นการแสดงตนต่อความผิดได้ แต่ถ้าถึงขั้นปาราชิกก็ต้องสึกอย่างเดียว
ครุธัมมปฏิคคหณูปสัมปทา ๘
( ข้อปฏิบัติของภิกษุณี ๘ ประการ )
ครุธัมมปฏิคคหณูปสัมปทา คือ เงื่อนไขอย่างเข้มงวด ๘ ประการ ที่ภิกษุณีจะต้องปฏิบัติตลอดชีวิต
๑. ต้องเคารพภิกษุแม้จะอ่อนพรรษากว่า
๒. ต้องไม่จำพรรษาในวัดที่ไม่มีภิกษุ
๓. ต้องทำอุโบสถและรับโอวาทจากภิกษุทุกกึ่งเดือน
๔. เมื่อออกพรรษาต้องปวารณาตนต่อภิกษุและภิกษุณีอื่นให้ตักเตือนตน
๕. เมื่อต้องอาบัติหนัก ต้องรับมานัต (รับโทษ) จากสงฆ์สองฝ่าย คือ ทั้งฝ่ายภิกษุและภิกษุณี ๑๕ วัน
๖. ต้องบวชจากสงฆ์ทั้งสองฝ่าย หลังจากเป็น *สิกขามานา เต็มแล้วสองปี
๗. จะด่าว่าค่อนแคะภิกษุไม่ได้
๘. ห้ามสอนภิกษุเด็ดขาด
*คำว่า "สิกขามานา" แปลว่า ผู้ศึกษา สตรีที่จะบวชเป็นภิกษุณีต้องเป็นนางสิกขามานา ก่อน ๒ ปี
๑. ปาราชิก มี ๘ ข้อ
๑. เสพเมถุน แม้กับสัตว์เดรัจฉานตัวผู้ (ร่วมสังวาสกับคนหรือสัตว์)
๒. ถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้มาเป็นของตน จากบ้านก็ดี จากป่าก็ดี (ขโมย)
๓. พรากกายมนุษย์จากชีวิต (ฆ่าคน)หรือแสวงหาศาสตราอันจะนำไปสู่ความตายแก่ร่างกายมนุษย์
๔. กล่าวอวดอุตตริมนุสสธัมม์ อันเป็นความเห็นอย่างประเสริฐ อย่างสามารถ น้อมเข้าในตัวว่า ข้าพเจ้ารู้อย่างนี้ ข้าพเจ้าเห็นอย่างนี้ (ไม่รู้จริง แต่โอ้อวดความสามารถของตัวเอง)
๕. นางภิกษุณีมีความกำหนัดยินดีการลูบ, การคลำ, การจับ, การต้อง, การบีบ, ของชายผู้มีความกำหนัด เบื้องบนตั้งแต่ใต้รากขวัญ๑ลงไป เบื้องต่ำตั้งแต่เข่าขึ้นมา
๖. นางภิกษุณีรู้ว่านางภิกษุณีอื่นต้องอาบัติปาราชิก ไม่โจทด้วยตนเอง ไม่บอกแก่หมู่คณะ ต้องอาบัติปาราชิก.
๗. นางภิกษุณีประพฤติตามภิกษุที่สงฆ์สวดประกาศยกเสียจากหมู่ เป็นผู้ไม่เอื้อเฟื้อ ไม่ทำคืน ไม่ทำตนให้เป็นสหายกับพระธรรม พระวินัย คำสอนของพระศาสดา. นางภิกษุณีนั้น อันสงฆ์พึงตักเตือน เมื่อไม่เชื่อฟัง จึงสวดประกาศตักเตือนชี้แจง ถ้าสวดประกาศครบ ๓ ครั้ง ยังไม่ละเลิก ต้องอาบัติปาราชิก.
๘. นางภิกษุณีที่เป็นคณะเดียวกัน ๖ รูป ประพฤติตนไม่สมควร มียินดีการจับมือบ้าง การจับชายสังฆาฏิบ้าง ของบุรุษ ยืนกับบุรุษบ้าง พูดจากับเขาบ้าง นัดหมายกับเขาบ้าง ยินดีการมาตามนัดหมายของเขาบ้าง เข้าไปสู่ที่มุงด้วยกันบ้าง ทอดกายให้เขาเพื่อเสพอสัทธรรมบ้าง พระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาราชิกแก่นางภิกษุณีผู้ประพฤติเช่นนั้น.
[กลับขึ้นด้านบน]
๒. สังฆาทิเสส มี ๑๗ ข้อ
๑. นางภิกษุณีฟ้องความกับคฤหบดี บุตรคฤหบดี ทาส กรรมกร หรือแม้โดยที่สุดกับสมณะนักบวช ต้องอาบัติสังฆาทิเสส.
๒. นางภิกษุณีรู้อยู่ รับสตรีซึ่งเป็นโจร อันคนทั้งหลายรู้ว่ามีโทษประหาร ให้อยู่ (ให้บวช) โดยไม่บอกเล่า พระราชา, สงฆ์, คณะ, หมู่, พวก เว้นแต่ผู้ที่สมควร (คือบวชในลัทธิอื่นแล้ว หรือบวชในสำนักนางภิกษุณีอื่นอยู่แล้ว) ต้องอาบัติสังฆาทิเสส.
๓. นางภิกษุณีแต่ลำพังผู้เดียวไปสู่ละแวกบ้านก็ตาม, ข้ามแม่น้ำก็ตาม, ค้างคืนก็ตาม, ล้าหลังแยกจากหมู่ (ในการเดินทาง) ก็ตาม ต้องอาบัติสังฆาทิเสส.
๔. นางภิกษุณีไม่บอกกล่าวสงฆ์ผู้ทำการ ไม่รู้ฉันทะ (ไม่ได้รับความยินยอม) ของคณะ เปลื้องโทษ นางภิกษุณีที่สงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันยกเสียจากหมู่ ตามธรรม ตามวินัย ตามสัตถุศาสนา ต้องอาบัติสังฆาทิเสส.
๕. นางภิกษุณีมีความกำหนัด รับของเคี้ยวของฉันจากมือบุรุษผู้มีความกำหนัด ด้วยมือของตนมาเคี้ยว มาฉัน ต้องอาบัติสังฆาทิเสส.
๖. นางภิกษุณีผู้พูดจูงใจให้ย่อหย่อนพระวินัยต้องอาบัติสังฆาทิเสส.
๗. ห้ามกล่าวาจา บอกคืนพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เมื่อโกรธเคือง และเมื่อกล่าวไปแล้ว ให้ภิกษุณีสงฆ์ตักเตือน เมื่อไม่เชื่อฟัง จึงสวดประกาศตักเตือน ถ้าครบ ๓ ครั้งแล้ว ยังไม่เลิกละ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
๘. ห้ามติเตียนภิกษุณีว่านางภิกษุณีทั้งหลาย ลุแก่อคติ ๔ และให้ภิกษุณีสงฆ์ตักเตือน เมื่อไม่เชื่อฟัง จึงสวดประกาศตักเตือน ถ้าครบ ๓ ครั้งแล้ว ยังไม่เลิกละ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
๙. ห้ามรวมกลุ่มกันประพฤติเสื่อมเสีย มีชื่อเสียงไม่ดี เบียดเบียนภิกษุณีสงฆ์ ปกปิดความชั่วของกันและกันและให้ภิกษุณีสงฆ์ตักเตือน เมื่อไม่เชื่อฟัง จึงสวดประกาศตักเตือน ถ้าครบ ๓ ครั้งแล้ว ยังไม่เลิกละ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส.
๑๐. ห้ามนางภิกษุณี กล่าวกะนางภิกษุณีที่ถูกสงฆ์สวดประกาศตักเตือนถ้ามีใครขืนทำ ให้ภิกษุณีสงฆ์ตักเตือน ถ้าไม่ฟัง ให้สวดประกาศเตือน ครบ ๓ ครั้งแล้ว ยังไม่ละเลิก ต้องอาบัติสังฆาทิเสส.
๑๑. ทำตัวเป็นสื่อรัก บอกความต้องการของอีกฝ่ายให้กับหญิงหรือชาย แม้สามีกับภรรยา หรือแม้แต่หญิงขายบริการ
๑๒. แกล้งใส่ความว่าปาราชิกโดยไม่มีมูล
๑๓. แกล้งสมมุติแล้วใส่ความว่าปาราชิกโดยไม่มีมูล
๑๔. ยุยงสงฆ์ให้แตกกัน
๑๕. เป็นพวกของผู้ที่ทำสงฆ์ให้แตกกัน
๑๖. เป็นผู้ว่ายากสอนยาก และต้องโดนเตือนถึง ๓ ครั้ง
๑๗. ทำตัวเป็นเหมือนคนรับใช้ ประจบคฤหัสถ์
[กลับขึ้นด้านบน]
๓. นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ ข้อ (อาบัติที่ต้องสละสิ่งของว่าด้วยเรื่องจีวร ไหม บาตร อย่างละ ๑๐ ข้อ)
๑. ห้ามสะสมบาตร ๑๖. ขอจีวรจากคฤหัสถ์ที่ไม่ใช่ญาติ เว้นแต่จีวรหายหรือถูกขโมย
๒. ห้ามอธิษฐานจีวรนอกกาลและแจกจ่าย ๑๗. รับจีวรเกินกว่าที่ใช้นุ่ง เมื่อจีวรถูกชิงหรือหายไป
๓. ห้ามชิงจีวรคืนเมื่อแลกเปลี่ยนกันแล้ว ๑๘. พูดทำนองขอจีวรดีๆ กว่าที่เขากำหนดจะถวายไว้แต่เดิม
๔. ห้ามขอของอย่างหนึ่งแล้วขออย่างอื่นอีก ๑๙. พูดให้เขารวมกันซื้อจีวรดีๆ มาถวาย
๕. ห้ามสั่งซื้อของกลับกลอก ๒๐. ทวงจีวรจากคนที่รับอาสาเพื่อซื้อจีวรถวายเกินกว่า ๓ ครั้ง
๖. ห้ามจ่ายของผิดวัตถุประสงค์เดิม ๒๑. รับเงินทอง
๗. ห้ามขอของมาจ่ายแลกของอื่น ๒๒. ซื้อขายด้วยเงินทอง
๘. ห้ามพูดติเตียนเมื่อถูกลงโทษโดยธรรม ๒๓. ซื้อขายโดยใช้ของแลก
๙. ห้ามขอของของคณะมาจ่ายแลกของอื่น ๒๔. ขอบาตร เมื่อบาตรเป็นแผลไม่เกิน ๕ แห่ง
๑๐. ห้ามขอของบุคคลมาจ่ายแลกของอื่น ๒๕. เก็บเภสัช ๕ (เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย) ไว้เกิน ๗ วัน
๑๑. ห้ามขอผ้าห่มหนาวเกินราคา ๒๖. แสวงและทำผ้าอาบน้ำฝนไว้เกินกำหนด ๑ เดือนก่อนหน้าฝน
๑๒. ห้ามขอผ้าห่มฤดูร้อน เกินราคา ๒๗. ให้จีวรภิกษุอื่นแล้วชิงคืนในภายหลัง
๑๓. เก็บจีวรที่เกินความจำเป็นไว้เกิน ๑๐ วัน ๒๘. ขอด้ายเอามาทอเป็นจีวร
๑๔. อยู่โดยปราศจากจีวรแม้แต่คืนเดียว ๒๙. กำหนดให้ช่างทอทำให้ดีขึ้น
๑๕. เก็บผ้าที่จะทำจีวรไว้เกินกำหนด ๑ เดือน ๓๐. น้อมลาภสงฆ์มาเพื่อให้เขาถวายตน
-
ธรรมะปฏิบัติ การรักษาศีล จำแนกตามประเภทบุคคล : ศีล ๓๑๑
-http://thammapedia.com/practice/patipatti_sil311.php-
๔. ปาจิตตีย์ มี ๑๖๖ ข้อ (ว่าด้วยอาบัติที่ไม่ต้องสละสิ่งของ)
๑.ห้ามฉันกระเทียม ๘๔. ห้ามใช้ร่มใช้รองเท้า เว้นแต่จะไม่สบาย
๒.ห้ามนำขนในที่แคบออก ที่แคบได้แก่ ขนรักแร่ และช่องให้กำเนิด ๘๕. ห้ามไปด้วยยาน เว้นแต่ไม่สบาย
(หมายเหตุ : ทั้งสองสิกขาบทนี้ เห็นได้ว่าเพื่อมิให้ถูกติว่า เลียนแบบคฤหัสถ์ เป็นการบัญญัติตามกาลเทศะ และสิ่งแวดล้อม. ตกมาถึงสมัยนี้ ความรังเกียจคงเปลี่ยนแปลงไป. สิกขาบทเหล่านี้ จึงคงอยู่ในประเภทที่ทรงอนุญาตไว้ก่อนปรินิพพานว่า ถ้าจะถอนสิกขาบทเล็กน้อยก็ถอนได้ เป็นการเปิดทางให้กาลเทศะ แต่พระสาวกสมัยสังคายนาเห็นว่า ถ้าปล่อยให้ถอนกันตามชอบใจ จะยุ่งกันใหญ่ คืออาจจะไปถอนสิกขาบทที่สำคัญเข้า แต่เห็นเป็นไม่สำคัญ ฉะนั้น ท่านจึงสวดประกาศห้ามถอน เป็นการใช้อำนาจสงฆ์สั่งการ เช่นนั้น).
๓.ห้ามใช้ฝ่ามือตบกันด้วยความกำหนัด ๘๖.ห้ามใช้ผ้าหยักรั้ง
๔.ห้ามใช้สิ่งที่ทำด้วยยางไม้(คำว่า ยางไม้ กินความถึงไม้, แป้ง, ดินเหนียว โดยที่สุด แม้ใบบัว) ใส่ในช่องให้กำเนิด ๘๗.ห้ามใช้เครื่องประดับกายสำหรับหญิง
๕.ห้ามชำระ(ช่องให้กำเนิด)ลึกเกิน ๒ ข้อนิ้ว ๘๘. ห้ามอาบน้ำหอมและน้ำมีสี
๖.ห้ามเข้าไปยืนถือน้ำและพัดในขณะที่ภิกษุกำลังฉัน ๘๙. ห้ามอาบน้ำด้วยแป้งงาอบ
๗.ห้ามทำการหลายอย่างกับข้าวเปลือกดิบ (นางภิกษุณีผู้ขอเอง, ใช้ให้ขอ, ฝัดเอง, ใช้ให้ฝัด, ตำเอง, ใช้ให้ตำ ซึ่งข้าวเปลือกดิบ. หุงต้มเอง ใช้ให้หุงต้ม ฉันข้าวนั้น หรือการฉันข้าวที่ตนทำเองต้องอาบัติ) ๙๐. ห้ามให้นางภิกษุณีทาน้ำมันหรือนวด
๘.ห้ามทิ้งของนอกฝานอกกำแพง ๙๑. ห้ามให้นางสิกขามานาทาน้ำมันหรือนวด
๙.ห้ามทิ้งของเช่นนั้นลงบนของเขียวสด ๙๒. ห้ามให้สามเณรีทาน้ำมันหรือนวด
๑๐.ห้ามไปดูฟ้อนรำขับร้อง ๙๓.ห้ามให้นางคหินีทาน้ำมันหรือนวด
๑๑.ห้ามยืนหรือสนทนาสองต่อสองกับบุรุษในที่มืด ๙๔.ห้ามนั่งหน้าภิกษุโดยไม่บอกก่อน
๑๒.ห้ามยืนหรือสนทนาสองต่อสองกับบุรุษในที่ลับ ๙๕.ห้ามถามปัญหาภิกษุโดยไม่ขอโอกาส
๑๓.ห้ามยืนหรือสนทนาสองต่อสองกับบุรุษในที่แจ้ง ๙๖.ห้ามเข้าบ้านโดยไม่ใช้ผ้ารัดหรือผ้าโอบ
๑๔.ห้ามทำเช่นนั้นในที่อื่นอีก (ทำเช่นนั้น คือ ภิกษุณี กับบุรุษสองต่อสอง ยืนอยู่บ้าง สนทนากันบ้าง กระซิบที่หูกันบ้าง ส่งนางภิกษุณีที่เป็นเพื่อนไปเสียบ้าง ในถนนรกบ้าง ในถนนตันบ้าง (ถนนเช่นนี้ เข้าทางไหนต้องออกทางนั้น) ในทางแยกบ้าง) ๙๗.ห้ามพูดปด
๑๕. ห้ามเข้าบ้านผู้อื่นแล้วเวลากลับไม่บอกลา ๙๘.ห้ามด่า
๑๖. ห้ามนั่งนอนบนอาสนะโดยไม่บอกเจ้าของบ้านก่อน ๙๙.ห้ามพูดส่อเสียด
๑๗. ห้ามปูลาดที่นอนในบ้านโดยไม่บอกเจ้าของบ้าน ๑๐๐.ห้ามกล่าวธรรมพร้อมกับผู้ไม่ได้บวชในขณะสอน
๑๘. ห้ามติเตียนผู้อื่นไม่ตรงกับที่ฟังมา ๑๐๑.ห้ามนอนร่วมกับอนุปสัมบัน(ผู้ไม่ใช้ภิกษุณี)เกิน ๓ คืน
๑๙. ห้ามสาปแช่งด้วยเรื่องนรกหรือพรหมจรรย์ ๑๐๒.ห้ามนอนร่วมกับผู้หญิง
๒๐. ห้ามทำร้ายตัวเองแล้วร้องไห้ ๑๐๓.ห้ามแสดงธรรมสองต่อสองกับผู้หญิง
๒๑. ห้ามเปลือยกายอาบน้ำ ๑๐๔.ห้ามบอกคุณวิเศษที่มีจริงแก่ผู้มิได้บวช
๒๒. ห้ามทำผ้าอาบน้ำยาวใหญ่เกินประมาณ ๑๐๕.ห้ามบอกอาบัติชั่วหยาบของภิกษุแก่ผู้มิได้บวช
๒๓. ห้ามพูดแล้วไม่ทำ ๑๐๖.ห้ามขุดดินหรือใช้ให้ขุด
๒๔. ห้ามเว้นการใช้ผ้าซ้อนนอกเกิน ๕ วัน(หมายเหตุ : ตามธรรมดานางภิกษุณีมีผ้าสำหรับใช้ประจำ ๕ ผืน คือ ๑. สังฆาฏิ (ผ้าซ้อนนอก สำหรับใช้เมื่อหนาว) ๒. อุตตราสงค์ (ผ้าห่ม) ๓. อันตรวาสก (ผ้านุ่ง) ๔. สังกัจฉิกะ (ผ้ารัดหรือผ้าโอบ) ๕. อุทกสาฏิกา (ผ้าอาบน้ำ). พิจารณาดูตามสิกขาบทนี้ เป็นเชิงห้าม เว้นการใช้ผ้าซ้อนนอก คือสังฆาฏิอย่างเดียว แต่ในคำอธิบายท้ายสิกขาบท ขยายความเป็นว่า เว้นผืนใดผืนหนึ่งใน ๕ ผืน เกิน ๕ วันไม่ได้ คำว่า เว้น คือไม่นุ่งไม่ห่มหรือไม่ตากแดด). ๑๐๗.ห้ามทำลายต้นไม้
๒๕. ห้ามใช้จีวรสับกับของผู้อื่น ๑๐๘.ห้ามพูดเฉไฉเมื่อถูกสอบสวน
๒๖. ห้ามทำอันตรายลาภจีวรของสงฆ์ ๑๐๙.ห้ามติเตียนภิกษุผู้ทำการสงฆ์โดยชอบ
๒๗. ห้ามยับยั้งการแบ่งจีวรอันเป็นธรรม ๑๑๐.ห้ามทิ้งเตียงตั่งของสงฆ์ไว้กลางแจ้ง
๒๘. ห้ามให้สมณจีวรแก่คฤหัสถ์หรือนักบวช ๑๑๑.ห้ามปล่อยที่นอนไว้ ไม่เก็บงำ
๒๙. ห้ามทำให้กิจการชะงักด้วยความหวังลอย ๆ ๑๑๒.ห้ามนอนแทรกภิกษุผู้เข้าไปอยู่ก่อน
๓๐. ห้ามคัดค้านการเพิกถอนกฐินที่ถูกธรรม ๑๑๓.ห้ามฉุดคร่าภิกษุออกจากวิหารของสงฆ์
๓๑. ห้ามนอนบนเตียงเดียวกันสองรูป ๑๑๔.ห้ามนั่งนอนทับเตียงหรือตั่งที่อยู่ชั้นบน
๓๒. ห้ามใช้เครื่องปูลาดและผ้าห่มร่วมกันสองรูป ๑๑๕.ห้ามพอกหลังคาวิหารเกิน ๓ ชั้น
๓๓. ห้ามแกล้งก่อความรำคาญแก่นางภิกษุณี ๑๑๖.ห้ามเอาน้ำมีสัตว์รดหญ้าหรือดิน
๓๔. ห้ามเพิกเฉยเมื่อศิษย์ไม่สบาย ๑๑๗.ห้ามฉันอาหารในโรงพักเดินทางเกิน ๓ มื้อ
๓๕. ห้ามฉุดคร่านางภิกษุณีออกจากที่อยู่ ๑๑๘.ห้ามฉันอาหารรวมกลุ่ม
๓๖. ห้ามคลุกคลีกับคฤหบดีหรือบุตรคฤหบดี ๑๑๙.ห้ามรับบิณฑบาตเกิน ๓ บาตร
๓๗. ห้ามเดินทางเปลี่ยวตามลำพัง ๑๒๐.ห้ามฉันอาหารในเวลาวิกาล
๓๘. ห้ามเดินทางเช่นนั้นนอกแว่นแคว้น ๑๒๑.ห้ามฉันอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน
๓๙. ห้ามเดินทางภายในพรรษา ๑๒๒.ห้ามฉันอาหารที่มิได้รับประเคน
๔๐. ห้ามอยู่ประจำที่เมื่อจำพรรษาแล้ว ๑๒๓.ห้ามชวนภิกษุไปบิณฑบาตด้วยแล้วไล่กลับ
๔๑. ห้ามไปดูพระราชวังและอาคารอันวิจิตร เป็นต้น ๑๒๔.ห้ามเข้าไปแทรกแซงในสกุลที่มีคน ๒ คน
๔๒. ห้ามใช้อาสันทิและบัลลังก์ ๑๒๕.ห้ามนั่งในที่ลับมีที่กำบังกับมาตุคาม (ผู้หญิง)
๔๓. ห้ามกรอด้าย ๑๒๖.ห้ามนั่งในที่ลับ (หู) สองต่อสองกับมาตุคาม
๔๔. ห้ามรับใช้คฤหัสถ์ ๑๒๗.ห้ามรับนิมนต์แล้วไปที่อื่นไม่บอกลา
๔๕. ห้ามรับปากแล้วไม่ระงับอธิกรณ์ ๑๒๘.ห้ามขอของเกินกำหนดเวลาที่เขาอนุญาตไว้
๔๖. ห้ามให้ของกินแก่คฤหัสถ์ เป็นต้น ด้วยมือ ๑๒๙.ห้ามไปดูกองทัพที่ยกไป
๔๗. ห้ามใช้ผ้านุ่งสำหรับผู้มีประจำเดือนเกิน ๓ วัน ๑๓๐.ห้ามพักอยู่ในกองทัพเกิน ๓ คืน
๔๘. ห้ามครอบครองที่อยู่เป็นการประจำ ๑๓๑.ห้ามดูเขารบกันเป็นต้น เมื่อไปในกองทัพ
๔๙. ห้ามเรียนติรัจฉานวิชชา ๑๓๒.ห้ามดื่มสุราเมรัย
๕๐. ห้ามสอนติรัจฉานวิชชา ๑๓๓.ห้ามจี้ภิกษุ
๕๑. ห้ามเข้าไปในวัดที่มีภิกษุโดยไม่บอกล่วงหน้า ๑๓๔.ห้ามว่ายน้ำเล่น
๕๒. ห้ามด่าหรือบริภาษภิกษุ ๑๓๕.ห้ามแสดงความไม่เอื้อเฟื้อในวินัย
๕๓. ห้ามบริภาษภิกษุณีสงฆ์ ๑๓๖.ห้ามหลอกภิกษุให้กลัว
๕๔. ห้ามฉันอีกเมื่อรับนิมนต์หรือเลิกฉันแล้ว ๑๓๗.ห้ามติดไฟเพื่อผิง
๕๕. ห้ามพูดกีดกันภิกษุณีอื่น ๑๓๘.ห้ามอาบน้ำบ่อยๆ เว้นแต่มีเหตุ
๕๖. ห้ามจำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ ๑๓๙.ให้ทำเครื่องหมายเครื่องนุ่งห่ม
๕๗. ห้ามการขาดปวารณาในสงฆ์สองฝ่าย ๑๔๐.วิกัปจีวรไว้แล้ว (ทำให้เป็นสองเจ้าของ-ให้ยืมใช้) จะใช้ต้องถอนก่อน
๕๘. ห้ามการขาดรับโอวาทและการขาดการอยู่ร่วม ๑๔๑.ห้ามเล่นซ่อนบริขารของภิกษุอื่น
๕๙. ห้ามการขาดถามอุโบสถและการไปรับโอวาท ๑๔๒.ห้ามฆ่าสัตว์
๖๐. ห้ามให้บุรุษบีบฝี ผ่าฝี เป็นต้น ๑๔๓.ห้ามใช้น้ำมีตัวสัตว์
๖๑. ห้ามให้บวชแก่หญิงมีครรภ์ ๑๔๔.ห้ามรื้อฟื้นอธิกรณ์ (คดีความ-ข้อโต้เถียง) ที่ชำระเป็นธรรมแล้ว
๖๒. ห้ามให้บวชแก่หญิงที่ยังมีเด็กดื่มนม ๑๔๕.ห้ามชวนพ่อค้าผู้หนีภาษีเดินทางร่วมกัน
๖๓. ห้ามให้บวชแก่นางสิกขมานาซึ่งศึกษายังไม่ครบ ๒ ปี ๑๔๖.ห้ามกล่าวตู่พระธรรมวินัย (ภิกษุอื่นห้ามและสวดประกาศเกิน ๓ ครั้ง)
๖๔. ห้ามให้บวชแก่นางสิกขมานาที่สงฆ์ยังมิได้สวดสมมติ ๑๔๗.ห้ามคบภิกษุผู้กล่าวตู่พระธรรมวินัย
๖๕. ห้ามให้บวชแก่หญิงที่มีสามีแล้ว แต่อายุยังไม่ถึง ๑๒ ๑๔๘.ห้ามคบสามเณรผู้กล่าวตู่พระธรรมวินัย
๖๖. ห้ามให้บวชแก่หญิงเช่นนั้นอายุครบ ๑๒ แล้ว (หมายความถึงตามข้อ 65) แต่ยังมิได้ศึกษา ๒ ปี ๑๔๙.ห้ามพูดไถลเมื่อทำผิดแล้ว
๖๗. ห้ามให้บวชแก่หญิงเช่นนั้นที่ศึกษา ๒ ปีแล้ว(หมายความถึงตามข้อ 65) แต่สงฆ์ยังมิได้สวดสมมติ ๑๕๐.ห้ามกล่าวติเตียนสิกขาบท
๖๘. ห้ามเพิกเฉยไม่อนุเคราะห์ศิษย์ที่บวชแล้ว ๑๕๑.ห้ามพูดแก้ตัวว่า เพิ่งรู้ว่ามีในปาฏิโมกข์
๖๙. ห้ามนางภิกษุณีแยกจากอุปัชฌายะ คือไม่ติดตามครบ ๒ ปี ๑๕๒.ห้ามทำร้ายร่างกายภิกษุ
๗๐. ห้ามเพิกเฉยไม่พาศิษย์ไปที่อื่น ๑๕๓.ห้ามเงื้อมือจะทำร้ายภิกษุ
๗๑. ห้ามให้บวชแก่หญิงสาวที่อายุไม่ครบ ๒๐ ปี (หมายเหตุ : พึงสังเกตว่า หญิงที่มีสามีแล้ว อายุครบ ๑๒ จะบวชเป็นนางภิกษุณี ต้องเป็นนางสิกขมานาศึกษาอยู่อีก ๒ ปี จนอายุครบ ๑๔ ปีบริบูรณ์แล้ว จึงบวชเป็นนางภิกษุณีได้ แต่ถ้ายังมิได้สามี ต้องอายุครบ ๒๐ จึงบวชได้. แต่ก่อนจะบวชเป็นนางภิกษุณี จะต้องเป็นนางสิกขมานา ๒ ปี ทุกรายไป. ฉะนั้น หญิงที่ประสงค์จะบวชเป็นนางภิกษุณี เมื่ออายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ จะต้องบวชเป็นสามเณรี และเป็นนางสิกขมานาก่อนอายุครบ เพื่อไม่ต้องยึดเวลาเป็นนางสิกขมานาเมื่ออายุครบแล้ว) ๑๕๔.ห้ามโจทภิกษุด้วยอาบัติสังฆาทิเสสที่ไม่มีมูล
๗๒. ห้ามบวชหญิงที่อายุครบ แต่ยังมิได้ศึกษาครบ ๒ ปี ๑๕๕.ห้ามก่อความรำคาญแก่ภิกษุอื่น
๗๓. ห้ามบวชหญิงที่ศึกษาครบ ๒ ปีแล้ว แต่สงฆ์ยังมิได้สมมติ ๑๕๖.ห้ามแอบฟังความของภิกษุผู้ทะเลาะกัน
๗๔. ห้ามเป็นอุปัชฌาย์เมื่อพรรษาไม่ครบ ๑๒ ๑๕๗.ให้ฉันทะแล้วห้ามพูดติเตียน
๗๕. ห้ามเป็นอุปัชฌาย์โดยที่สงฆ์มิได้สมมติ ๑๕๘.ขณะกำลังประชุมสงฆ์ ห้ามลุกไปโดยไม่ให้ฉันทะ
๗๖. ห้ามรับรู้แล้วติเตียนในภายหลัง ๑๕๙.ร่วมกับสงฆ์ให้จีวรแก่ภิกษุแล้ว ห้ามติเตียนภายหลัง
๗๗. ห้ามรับปากว่าจะบวชให้ แล้วกลับไม่บวชให้ ๑๖๐.ห้ามน้อมลาภสงฆ์มาเพื่อบุคคล
๗๘. ห้ามรับปากแล้วไม่บวชให้ในกรณีอื่น ๑๖๑.ห้ามเก็บของมีค่าที่ตกอยู่
๗๙. ห้ามบวชให้นางสิกขมานาที่ประพฤติไม่ดี ๑๖๒.ห้ามทำกล่องเข็มด้วยกระดูก งา หรือเขาสัตว์
๘๐. ห้ามบวชให้นางสิกขมานา ที่มารดาบิดาหรือสามีไม่อนุญาต ๑๖๓.ห้ามทำเตียง ตั่งมีเท้าสูงกว่าประมาณ
๘๑. ห้ามทำกลับกลอกในการบวช ๑๖๔.ห้ามทำเตียง ตั่งที่หุ้มด้วยนุ่น
๘๒. ห้ามบวชให้คนทุกปี ๑๖๕.ห้ามทำผ้าปิดฝีมีขนาดเกินประมาณ
๘๓. ห้ามบวชให้ปีละ ๒ คน ๑๖๖.ห้ามทำจีวรมีขนาดเกินประมาณ
-
ธรรมะปฏิบัติ การรักษาศีล จำแนกตามประเภทบุคคล : ศีล ๓๑๑
-http://thammapedia.com/practice/patipatti_sil311.php-
๕. ปาฏิเทสนียะ มี ๘ ข้อ (ว่าด้วยอาบัติที่พึงแสดงคืน)
๑. นางภิกษุณีไม่เป็นไข้ ห้ามขอบริโภค เนยใส
๕. นางภิกษุณีไม่เป็นไข้ ห้ามขอบริโภค ปลา
๒. นางภิกษุณีไม่เป็นไข้ ห้ามขอบริโภค น้ำมัน ๖. นางภิกษุณีไม่เป็นไข้ ห้ามขอบริโภคเนื้อ
๓. นางภิกษุณีไม่เป็นไข้ ห้ามขอบริโภค น้ำผึ้ง ๗. นางภิกษุณีไม่เป็นไข้ ห้ามขอบริโภค นม
๔. นางภิกษุณีไม่เป็นไข้ ห้ามขอบริโภค น้ำอ้อย ๘. นางภิกษุณีไม่เป็นไข้ ห้ามขอบริโภค นมสด
[กลับขึ้นด้านบน]
๖. เสขิยะ : ข้อที่ภิกษุณีพึงศึกษาเรื่องมารยาท ๗๕ ข้อ แบ่งเป็น ๔ หมวดคือ
หมวดที่ ๑ : สารูป (ความเหมาะสมในการเป็นสมณะ) มี ๒๖ ข้อ
๑.นุ่งให้เป็นปริมณฑล
(ล่างปิดเข่า บนปิดสะดือไม่ห้อยหน้าห้อยหลัง) ๑๔.ไม่พูดเสียงดังนั่งในบ้าน
๒.ห่มให้เป็นนปริมณฑล (ให้ชายผ้าเสมอกัน) ๑๕.ไม่โคลงกายไปในบ้าน
๓.ปกปิดกายด้วยดีไปในบ้าน ๑๖.ไม่โคลงกายนั่งในบ้าน
๔.ปกปิดกายด้วยดีนั่งในบ้าน ๑๗.ไม่ไกวแขนไปในบ้าน
๕.สำรวมด้วยดีไปในบ้าน ๑๘.ไม่ไกวแขนนั่งในบ้าน
๖.สำรวมด้วยดีนั่งในบ้าน ๑๙.ไม่สั่นศีรษะไปในบ้าน
๗.มีสายตาทอดลงไปในบ้าน (ตาไม่มองโน่นมองนี่) ๒๐.ไม่สั่นศีรษะนั่งในบ้าน
๘.มีสายตาทอดลงนั่งในบ้าน ๒๑.ไม่เอามือค้ำกายไปในบ้าน
๙.ไม่เวิกผ้าไปในบ้าน ๒๒.ไม่เอามือค้ำกายนั่งในบ้าน
๑๐.ไม่เวิกผ้านั่งในบ้าน ๒๓.ไม่เอาผ้าคลุมศีรษะไปในบ้าน
๑๑.ไม่หัวเราะดังไปในบ้าน ๒๔.ไม่เอาผ้าคลุมศีรษะนั่งในบ้าน
๑๒.ไม่หัวเราะดังนั่งในบ้าน ๒๕.ไม่เดินกระโหย่งเท้า ไปในบ้าน
๑๓.ไม่พูดเสียงดังไปในบ้าน ๒๖.ไม่นั่งรัดเข่าในบ้าน
[กลับขึ้นด้านบน]
หมวดที่ ๒ : โภชนปฏิสังยุตต์ (ว่าด้วยการฉันอาหาร) มี ๓๐ ข้อ
๑.รับบิณฑบาตด้วยความเคารพ ๑๖.ไม่เอามือทั้งมือใส่ปากในขณะฉัน
๒.ในขณะบิณฑบาต จะแลดูแต่ในบาตร ๑๗.ไม่พูดในขณะที่มีคำข้าวอยู่ในปาก
๓.รับบิณฑบาตพอสมส่วนกับแกง (ไม่รับแกงมากเกินไป) ๑๘.ไม่ฉันโดยการโยนคำข้าวเข้าปาก
๔.รับบิณฑบาตแค่พอเสมอขอบปากบาตร ๑๙.ไม่ฉันกัดคำข้าว
๕.ฉันบิณฑบาตโดยความเคารพ ๒๐.ไม่ฉันทำกระพุ้งแก้มให้ตุ่ย
๖.ในขณะฉันบิณฑบาต และดูแต่ในบาตร ๒๑.ไม่ฉันพลางสะบัดมือพลาง
๗.ฉันบิณฑบาตไปตามลำดับ (ไม่ขุดให้แหว่ง) ๒๒.ไม่ฉันโปรยเมล็ดข้าว
๘.ฉันบิณฑบาตพอสมส่วนกับแกง ไม่ฉันแกงมากเกินไป ๒๓.ไม่ฉันแลบลิ้น
๙.ฉันบิณฑบาตไม่ขยุ้มแต่ยอดลงไป ๒๔.ไม่ฉันดังจับๆ
๑๐.ไม่เอาข้าวสุกปิดแกงและกับด้วยหวังจะได้มาก ๒๕.ไม่ฉันดังซูด ๆ
๑๑.ไม่ขอเอาแกงหรือข้าวสุกเพื่อประโยชน์แก่ตนมาฉัน หากไม่เจ็บไข้ ๒๖.ไม่ฉันเลียมือ
๑๒.ไม่มองดูบาตรของผู้อื่นด้วยคิดจะยกโทษ ๒๗.ไม่ฉันเลียบาตร
๑๓.ไม่ทำคำข้าวให้ใหญ่เกินไป ๒๘.ไม่ฉันเลียริมฝีปาก
๑๔.ทำคำข้าวให้กลมกล่อม ๒๙.ไม่เอามือเปื้อนจับภาชนะน้ำ
๑๕.ไม่อ้าปากเมื่อคำข้าวยังมาไม่ถึง ๓๐.ไม่เอาน้ำล้างบาตรมีเมล็ดข้าวเทลงในบ้าน
[กลับขึ้นด้านบน]
หมวดที่ ๓ : ธัมมเทสนาปฏิสังยุตต์ (ว่าด้วยการแสดงธรรม) มี ๑๖ ข้อ
๑.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่มีร่มในมือ ๙.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่นั่งรัดเข่า
๒.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่มีไม้พลองในมือ ๑๐.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่โพกศีรษะ
๓.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่มีของมีคมในมือ ๑๑.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่คลุมศีรษะ
๔.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่มีอาวุธในมือ ๑๒.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่อยู่บนอาสนะ (หรือเครื่องปูนั่ง) โดยภิกษุอยู่บนแผ่นดิน
๕.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่สวมเขียงเท่า (รองเท้าไม้) ๑๓.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่นั่งบนอาสนะสูงกว่าภิกษุ
๖.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่สวมรองเท้า ๑๔.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่นั่งอยู่ แต่ภิกษุยืน
๗.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่ไปในยาน ๑๕.ภิกษุเดินไปข้างหลัง ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่เดินไปข้างหน้า
๘.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่อยู่บนที่นอน ๑๖.ภิกษุเดินไปนอกทาง ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่ไปในทาง
[กลับขึ้นด้านบน]
หมวดที่ ๔ : ปกิณณกะ (เบ็ดเตล็ด) มี ๓ ข้อ
๑. ภิกษุณีไม่เป็นไข้ไม่ยืนถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ
๒. ภิกษุณีไม่เป็นไข้ไม่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ หรือบ้วนน้ำลายลงในของเขียว (พันธุ์ไม้ใบหญ้าต่างๆ)
๓. ภิกษุณีไม่เป็นไข้ไม่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ หรือบ้วนน้ำลายลงในน้ำ
[กลับขึ้นด้านบน]
๗. อธิกรณสมถะ มี ๗ ข้อ (ธรรมสำหรับระงับอธิกรณ์)
๑. ระงับอธิกรณ์ (คดีความ หรือความที่ตกลงกันไม่ได้) ในที่พร้อมหน้า (บุคคล วัตถุ ธรรม)
๒. ระงับอธิกรณ์ (คดีความ หรือความที่ตกลงกันไม่ได้) ด้วยการยกให้ว่าพระอรหันต์เป็นผู้มีสติ
๓. ระงับอธิกรณ์ (คดีความ หรือความที่ตกลงกันไม่ได้) ด้วยยกประโยชน์ให้ในขณะเป็นบ้า
๔. ระงับอธิกรณ์ (คดีความ หรือความที่ตกลงกันไม่ได้) ด้วยถือตามคำรับของจำเลย
๕. ระงับอธิกรณ์ (คดีความ หรือความที่ตกลงกันไม่ได้) ด้วยถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ
๖. ระงับอธิกรณ์ (คดีความ หรือความที่ตกลงกันไม่ได้) ด้วยการลงโทษแก่ผู้ผิด
๗. ระงับอธิกรณ์ (คดีความ หรือความที่ตกลงกันไม่ได้) ด้วยให้ประนีประนอมหรือเลิกแล้วกันไป
-
ธรรมะปฏิบัติ การรักษาศีล จำแนกตามประเภทบุคคล : ศีล ๓๑๑
-http://thammapedia.com/practice/patipatti_sil311.php-
จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์