ใต้ร่มธรรม

ประชาสัมพันธ์ => 108 โทรโข่ง => การเตือนภัยสังคมและกลุ่มมิจฉาชีพต่างๆ => ข้อความที่เริ่มโดย: sithiphong ที่ มกราคม 06, 2013, 08:18:35 pm

หัวข้อ: “เฟกไอดี” ภัยวัยโจ๋ เหยื่อแก๊งตุ๋น-ข่มขืน
เริ่มหัวข้อโดย: sithiphong ที่ มกราคม 06, 2013, 08:18:35 pm
“เฟกไอดี” ภัยวัยโจ๋ เหยื่อแก๊งตุ๋น-ข่มขืน
โดย ทีมข่าวอาชญากรรม    
6 มกราคม 2556 13:57 น.

-http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9560000001722-

โดยผู้กองตั้ง
       
       เตือนภัย “เฟกไอดี” เปิดช่องมิจฉาชีพอ้างชื่อคนดังหลอกเอาทรัพย์สิน จ้องล่วงละเมิดทางเพศ คนดังร้องถูกมือดีปลอมชื่อ 5 หมื่นรายต่อวัน ตะลึง! สถิติคนร้ายก่อเหตุ 100 คดี แต่ตำรวจจับได้ไม่เกิน 5 คดี เหตุไม่สามารถระบุตัวตนได้ ไม่รู้ว่าเป็นใคร
       
       ส่งท้ายปีมะโรงต้อนรับปีมะเส็ง เชื่อว่าการจัดสัมมนาให้แก่นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยศรีปทุม ในหัวข้อเรื่อง “ข่าวออนเฟซ หลุมพรางออนไลน์ที่สังคมกำลังเผชิญ” เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม ณ มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตบางเขน น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตในสังคมโลกออนไลน์ในสังคมปัจจุบัน
       
       หัวข้อสัมมนาข่าวออนเฟซ หลุมพรางออนไลน์ที่สังคมกำลังเผชิญที่ได้ถูกเปิดเผยขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา เชื่อว่าน่าจะเป็นเครื่องเตือนภัยให้กับผู้ที่เสพสื่อออนไลน์ ต้อนรับปีงูเล็กได้เป็นอย่างดี
       
       ทั้งนี้ หัวข้อการสัมมนาได้มีการแบ่งเป็น 3 หัวข้อย่อย ได้แก่ ภัยต่างๆ ในสื่อสังคมออนไลน์ ผลกระทบจากภัยที่เกิดขึ้นในสื่อสังคมออนไลน์ และการรู้เท่าทัน ป้องกัน และใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งตลอดการสัมมนาได้มีการนำเสนอและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างวิทยากรและผู้เข้าร่วมสัมมนาในประเด็นที่น่าสนใจด้วยกันหลายประเด็น เช่น รูปแบบของภัยในสื่อสังคมออนไลน์ และการเสพข้อมูลข่าวสารในสื่อสังคมออนไลน์อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์
       
       โดยงานสัมมนาครั้งนี้ได้เชิญวิทยากรมาร่วมให้ความรู้ เช่น พ.ต.อ.นิเวศน์ อาภาวศิน ผกก.กลุ่มงานตรวจสอบและวิเคราะห์การกระทำผิดทางเทคโนโลยี สำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (สทส.) นายธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการสื่อสารมวลชน และ น.ส.วรลักษณ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ ThaiPBS และ ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต ผอ.หลักสูตรนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีปทุม
       
       พ.ต.อ.นิเวศน์ ในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมายระบว่า ในสื่อสังคมออนไลน์โดยเฉพาะเฟซบุ๊กนั้นมีตัวปลอม หรือที่เรียกว่า “เฟกไอดี” เป็นจำนวนมาก บางรายไม่เคยใช้แต่มีชื่อปรากฏอยู่ในระบบ รวมทั้งบุคคลที่มีชื่อเสียง หรือเป็นบุคคลสำคัญในสังคมก็ถูกแอบอ้าง ซึ่งช่วงแรกๆ ทางเฟซบุ๊กไม่สนใจเพราะมีผู้ใช้เป็นจำนวนมาก และแต่ละวันมีการแจ้งปัญหาเข้าไปมากมายเช่นกัน ก่อนหน้านี้เฉลี่ย 50,000 รายต่อวัน ซึ่งต้องใช้เวลากว่า 1 เดือนถึงจะนำเรื่องร้องเรียนนั้นมาพิจารณาว่าขัดต่อข้อกำหนดการใช้หรือไม่ ซึ่งในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็เคยเข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจกับผู้บริหารเฟซบุ๊ก และเป็นที่น่ายินดีที่บางนโยบายมีการปรับปรุงเพื่อคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบแล้ว
       
       นอกจากเรื่องตัวปลอมแล้ว ในสื่อสังคมออนไลน์ก็ยังมีภัยอีก 2 รูปแบบใหญ่ รูปแบบแรกได้แก่ การหลอกลวงทั้งเรื่องทรัพย์สิน และละเมิดทางเพศ โดยในเรื่องการละเมิดทางเพศนั้นมีเด็กวัยรุ่นตกเป็นเหยื่อได้ง่าย ส่วนอีกรูปแบบหนึ่ง คือ การโจมตีโดยใช้เฟซบุ๊กเป็นเครื่องมือหรือช่องทางโจมตี ทำให้บางเรื่องไม่สามารถแยกแยะข้อเท็จจริงได้ว่าสิ่งใดจริงหรือไม่จริง ทั้งนี้ส่วนใหญ่สื่อสังคมออนไลน์ในไทยเป็นเฟกไอดี หากเราตกเป็นเหยื่อต้องแจ้งให้ทางเฟซบุ๊กทราบเขาจะพิจารณาเอาออกให้ แต่เราต้องรู้ว่าเป็นการทำผิดนโยบายของเฟซบุ๊กข้อไหน ซึ่งปัจจุบันนี้มีการแบ่งหมวดหมู่ให้เข้าใจง่ายขึ้นแต่อยากให้ป้องกันมากกว่า
       
       พ.ต.อ.นิเวศน์กล่าวด้วยว่า การเผยแพร่สิ่งใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อผู้อื่นนั้นต้องดูที่เจตนา อย่างข้อหาหมิ่นประมาทนั้นจะมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นข้อเท็จจริงและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ แต่ส่วนตัวแล้วเห็นว่าหากทำผิดแล้วขอโทษอย่างจริงใจ และแก้ไขให้ถูกต้องทุกคนก็ยอมรับได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัวจริงๆ ก็ต้องขึ้นกับคู่กรณี แต่ไม่ว่ากรณีใดเชื่อว่าหากจริงใจจริงคู่กรณีก็ไม่มีปัญหา การขอโทษ คุยดีๆ รู้ว่าผิดแล้วขอโทษในหลายเรื่องจบได้ง่าย
       
       พ.ต.อ.นิเวศน์กล่าวถึงวิธีการป้องกันภัยที่เกิดจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์ว่ามีด้วยกันหลายแนวทาง แต่สำหรับผู้ใช้วิธีการง่ายๆ คือ การตั้งค่าความเป็นส่วนตัว หรือตั้งกลุ่มที่สามารถคัดกรองได้ และสามารถคัดกรองผู้ที่มาแสดงความคิดเห็นได้ อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาประสบการณ์ทำงาน และการบังคับใช้กฎหมายที่ผ่านมาเห็นว่า สิ่งที่สำคัญในการป้องกันอาชญากรรมประเภทนี้คือ การป้องกันไม่ให้เกิดช่องโอกาส ซึ่งได้ข้อสรุปว่าวิธีการป้องกันที่ดีที่สุดคือการสามารถระบุตัวตนผู้ใช้ได้
       
       “จากสถิติตัวเลขอาชญากรรมในโลกออนไลน์พบว่า 100 คดี ตำรวจสามารถจับกุมได้ไม่เกิน 5 คดี เพราะไม่สามารถระบุตัวตนได้ ไม่รู้ว่าเป็นใคร นี่คือภัยที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย เบอร์โทรศัพท์แบบเติมเงินมีมากกว่าแบบลงทะเบียนเป็นจำนวนมาก บัตรเติมเงินสามารถซื้อสินค้าได้ โอนเงินได้ กดเงินในตู้เอทีเอ็มได้ แต่การติดตามทำได้ยากมาก ทั้งที่กฎหมายมีกำหนดเรื่องการระบุตัวตนแต่ไม่มีใครปฏิบัติ หรือมีแต่ตีความคำว่าผู้ให้บริการคืออินเทอร์เน็ตเท่านั้น” พ.ต.อ.นิเวศน์ระบุ
       
       พ.ต.อ.นิเวศน์ได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาว่า ต้องเปลี่ยนจากแบล็กลิสต์ เป็นไวต์ลิสต์ ให้กลุ่มคนที่สามารถยืนยันตัวตนได้มารวมกลุ่มกันและให้ได้รับสิทธิในเรื่องต่างๆ เช่นเดียวกับผู้ใช้โซเชียลมีเดียก็ต้องระบุตัวตนได้ ถ้าทำเรื่องนี้ได้สถานการณ์จะดีขึ้น นอกจากนี้ยังเห็นว่าสื่อสังคมออนไลน์ก็มีประโยชน์มากมายแต่ควรใช้อย่างสมดุล โดยยึดแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง คือ ใช้อย่างพอประมาณ ใช้อย่างมีเหตุมีผล และใช้อย่างมีภูมิคุ้มกัน คือ นำข่าวมาวิเคราะห์เป็นบทเรียน ไม่ใช้เทคโนโลยีมากจนเกินไป
       
       ด้านนายธามกล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้มีผู้ตกเป็นเหยื่อในสื่อสังคมออนไลน์มี 3 ข้อ คือ 1. ความสะดวกสบาย รวดเร็ว ใช้งานง่าย 2. มีเนื้อหาน่าสนใจ น่าติดตามเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นข่าว บันเทิง เกม 3. ความไว้วางใจระหว่างเพื่อน การติดตามผู้มีชื่อเสียง คนดัง นักการเมือง ดารา หรือแม้กระทั่งบริษัทเอกชนที่น่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นเหยื่อล่อให้เราตกไปในหลุมพรางได้ที่ดีที่สุด เรามองไม่เห็นห่วงโซ่สุดท้ายว่าจะเกิดผลกระทบอะไรขึ้น แต่ข้อมูลเชิงลบอยู่ในระบบเป็นสิบปี และสื่อใหม่ก็เอื้อให้เราผลิตเนื้อหาได้เหมือนกับแหวนลอร์ดออฟเดอะริงใส่แล้วมีอำนาจ หรือจริงๆ แล้วเราเป็นเหยื่อสิทธิเสรีภาพในโลกออนไลน์ที่มีมากมาย เป็นเหยื่อความต้องการของตัวเองที่อยากดัง หรือควบคุมสิ่งต่างๆ ได้ ซึ่งเราไม่อาจรู้ได้ว่าเราเป็นเหยื่ออะไรบ้าง
       
       “สื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊กทำให้เราเสพติดประสบการณ์ใหม่ๆ ความรู้สึกใหม่ๆ เช่น ข่าวสมัยก่อนอ่านอย่างเดียว แต่ปัจจุบันนี้สามารถแสดงความคิดเห็นได้ทันที เราไม่ได้ใช้สื่อใหม่เพื่อสื่อสาร แต่เราย้ายชีวิตตัวเอง ความรู้สึกตัวเองเข้าไปอยู่ในออนไลน์ ทำให้เราเสพติดประสบการณ์เสมือนจริง หรือนี่แหละคือหลุมพรางขนาดใหญ่ ซึ่งสังคมไม่อาจหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ได้เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ต้องอยู่ร่วมกัน และเราไมมีทางอื่นให้เลือกมากนัก หรือไม่มีเลย ดังนั้นสำคัญว่าจะถ่วงสมดุลอย่างไร สร้างสมดุลได้หรือไม่ จุดสมดุลของชีวิตจริงกับออนไลน์สำคัญกว่าเพราะเด็กเยาวชน รวมทั้งผู้ปกครองกำลังเผชิญอยู่” นายธามกล่าว
       
       ด้าน น.ส.วรลักษณ์กล่าวว่า ข้อมูลข่าวสารจากสื่อสังคมออนไลน์นั้นสามารถนำไปต่อยอดทำประโยชน์ได้มากมาย แต่ต้องตรวจสอบแหล่งที่มาให้ชัดเจน ให้ถึงต้นตอก่อนจะนำไปเผยแพร่ต่อสาธารณะ ต้องเตือนตัวเองเสมอว่าไม่ใช่อย่างที่เห็น มีอะไรมากกว่านั้น และหากเกิดความผิดพลาดจากการนำข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์มารายงานก็ต้องขอโทษและแก้ไขในพื้นที่เดิม โดยนำข้อมูลข้อเท็จจริงมานำเสนอโดยให้น้ำหนักเท่ากับการรายงานที่ผิดพลาดไป
       
       น.ส.วรลักษณ์กล่าวด้วยว่า สื่อก็คือคน เราเสพข้อมูลในโซเชียลมีเดียตลอดเวลาไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องบอกตัวเองว่ารายงานทันทีไม่ได้ ไม่เชื่อทั้งหมด หากตรวจสอบไม่ได้ก็จะไม่รายงาน ไม่จำเป็นต้องรายงาน ยอมช้าดีกว่า ถ้าผิดเรียกกลับมาไม่ได้ ข้อมูลทุกอย่างต้องตรวจสอบให้ได้ข้อเท็จจริงชัดเจนที่สุด ทั้งนี้ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยกำลังหารือกันในประเด็นดังกล่าวโดยเฉพาะเรื่องการนำข้อมูลข่าวสารจากสื่อสังคมออนไลน์ไปรายงานนั้นมีการเสนอให้นักข่าวต้องส่งข้อมูลไปให้กองบรรณาธิการตรวจสอบก่อน นอกจากนี้ยังมีการเสนอให้ผู้สื่อข่าวที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์แยกให้ชัดเจนระหว่างการใช้ในนามส่วนตัวและในการทำหน้าที่รายงานข่าว ซึ่งเชื่อว่าน่าจะช่วยแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่งแต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังอยู่ระหว่างการปรึกษาหารือซึ่งยังไม่มีข้อสรุป
       
       นอกจากนี้ จากข้อมูลของแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชน ยังได้เตือนภัยผู้เสพสื่อออนไลน์ 10 ประเภทที่ควรระวัง
       
       1. เพื่อน chat ไม่น่าคบ ไม่ควรโต้ตอบ ด่ากลับ หรือให้ความสนใจ, อย่าเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว เช่น อีเมล เบอร์โทรศัพท์ ชื่อและนามสกุลจริง
       
       2. พบเว็บไซต์ลามก ควรคลิกปิด pop-up ดังกล่าว ไม่ควรเข้าไปดูในเว็บไซต์ เพราะเป็นเว็บไซต์สำหรับผู้ใหญ่และอาจมีไวรัส, ควรปรึกษาเพื่อนที่เก่งคอมพิวเตอร์เพื่อตั้งค่าป้องกัน pop-up, ปรึกษาผู้ปกครอง ครูถึงเหตุผลที่ทำไมจึงไม่สามารถเข้าเว็บไซต์ลามกได้
       
       3. เวลารับ add คนแปลกหน้า หากเผลอรับ add อย่าใจอ่อนหลงเชื่อให้เบอร์โทรศัพท์หรือข้อมูลส่วนตัวไป, ให้เข้าไป profile แล้วคลิกปุ่ม remove from friends , คลิกปุ่ม report/block this person เพื่อแจ้งให้ทาง hi5/facebook ให้ block ชม บุคคลนี้จากการเข้า profile ของเรา
       
       4. ใช้เว็บบอร์ดอย่างปลอดภัย ให้มองหาปุ่มคลิกแจ้งลบ เพื่อแจ้งลบข้อความ รูปภาพไม่เหมาะสม หรือแจ้ง www.thaihotline.org (http://www.thaihotline.org) เพื่อประสานงานลบข้อมูลดังกล่าว, เลือกใช้เว็บบอร์ดของเว็บไซต์ที่เชื่อถือได้ เช่น เป็นที่นิยมของผู้ใช้ และมีกฎกติกามารยาทในการใช้งาน, เขียนข้อความชวนคิดดีทำดี
       
       5. ไม่นัดพบเพื่อน chat ลองพิจารณาดูว่ารู้จักเพื่อน chat ดีแล้วหรือยัง ,ระวังการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวระหว่างการ chat และปรึกษาผู้ปกครอง ครูในการนัดเจอเพื่อน chat
       
       6. ถูกเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัว ควรรีบแจ้งเว็บมาสเตอร์ให้ลบอีเมลออกจากหน้าเว็บบอร์ดทันที, ไม่ตอบกลับอีเมลจากคนแปลกหน้า ควรคลิกตั้งค่าเพื่อ block อีเมลที่ส่งมารบกวนเรา, ว่ากล่าวตักเตือนเพื่อนที่นำอีเมลของเราไปโพสต์ บอกเพื่อนว่าเราเดือดร้อนอย่างไร
       
       7. ภัยเสี่ยงจากเกมออนไลน์ ไม่ควรหลงเชื่อและโอนเงินไปให้, พึงระลึกว่าไม่ควรหลงเชื่อเพื่อนแปลกหน้าบนโลกออนไลน์ อย่าลืมปรึกษาผู้ปกครองก่อนใช้เงิน
       
       8. ส่งต่ออีเมลผิดกฎหมาย ควรลบอีเมลนั้นทิ้งไป ไม่ควรส่งต่อ, ควรนึกว่าหากเป็นรูปภาพหรือคลิปส่วนตัวของเราหลุดไป ก็คงไม่อยากให้มีการส่งต่อเช่นเดียวกัน ดังนั้นควรช่วยยุติการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าว
       
       9. ลืม sign out ไม่ควรแอบอ่านอีเมลของผู้อื่นเพราะเสียมารยาท, เตือนเพื่อนให้ระวังอย่าลืมออกจากระบบทุกครั้งหลังการใช้งาน เพราะคนอื่นอาจใช้อีเมลของเราสวมรอยไปกระทำความผิดได้
       
       10. ร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ปลอดภัย ให้ปฏิเสธไปเลยว่าไม่ดู เพราะสื่อลามกไม่เหมาะกับเด็กอย่างเรา, รีบแจ้งเจ้าของร้านทราบว่า มีกลุ่มนักเรียนกำลังดูเว็บไซต์ไม่เหมาะสม และแจ้งผู้ปกครอง ครู และหัวหน้าชุมชนให้ทราบ
       
       โลกโซเชียลมีเดีย จึงกลายเป็นดาบสองคมสำหรับผู้เสพสื่อ ผู้ใช้จึงต้องมีสติและรู้เท่าทันต่อขบวนการใช้สื่อออนไลน์หากิน เพราะในยุคการสารสื่อสารไร้พรมแดน ไม่ได้ใช้สื่อเพื่อการสื่อสารเพียงอย่างเดียว แต่ผู้เสพติดสื่อกลับย้ายชีวิตตัวเอง และความรู้สึกตัวเองเข้าไปอยู่โลกในออนไลน์ ทำให้เราเสพติดประสบการณ์เสมือนจริง นี่แหละคือหลุมพรางขนาดใหญ่ ที่กลุ่มวัยรุ่นและสตรีต้องพึงระวัง...

http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9560000001722 (http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9560000001722)