ใต้ร่มธรรม

คลังธรรมปัญญา => หนอนหนังสือ => หนังสือธรรมะ => ข้อความที่เริ่มโดย: ฐิตา ที่ มกราคม 31, 2013, 05:27:53 pm

หัวข้อ: พุทธธรรม หรือ กฎธรรมชาติและคุณค่าสำหรับชีวิต (ป. อ. ปยุตฺโต)
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ มกราคม 31, 2013, 05:27:53 pm


                                (http://www.udom.ac.th/animation/buda.gif)
(http://sphotos-b.ak.fbcdn.net/hphotos-ak-ash3/523276_545530995464890_803567618_n.jpg)

พุทธธรรม :พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต)
 ๑๔ กันยายน ๒๕๔๔
ส่วนนำ ความนำ
พุทธธรรม หรือ กฎธรรมชาติและคุณค่าสำหรับชีวิต

ความนำ สิ่งที่ควรเข้าใจก่อน

พระพุทธศาสนานั้น เมื่อมองในทัศนะของคนสมัยใหม่ มักเกิดปัญหาขึ้นบ่อยๆ
ว่าเป็นศาสนา (religion) หรือเป็นปรัชญา (philosophy)
หรือว่าเป็นเพียงวิธีครองชีวิตแบบหนึ่ง (a way of life) เมื่อปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้นแล้ว
ก็เป็นเหตุให้ต้องถกเถียงหรือแสดงเหตุผล ทำให้เรื่องยืดยาวออกไป
อีกทั้งมติในเรื่องนี้ก็แตกต่างไม่ลงเป็นแบบเดียวกัน ทำให้เป็นเรื่องฟั่นเฝือ ไม่มีที่สิ้นสุด

ในที่นี้ แม้จะเขียนเรื่องพุทธธรรมไว้ในหมวดปรัชญาก็จะไม่พิจารณา
ปัญหานี้เลย มุ่งแสดงแต่ในขอบเขตว่า พุทธธรรมสอนว่าอย่างไร มีเนื้อหา
อย่างไรเท่านั้น ส่วนที่ว่าพุทธธรรมจะเป็นปรัชญาหรือไม่
ให้เป็นเรื่องของปรัชญาเองที่จะมีขอบเขตครอบคลุมหรือสามารถตีความให้ครอบคลุมถึง
พุทธธรรมได้หรือไม่ โดยที่ว่าพุทธธรรม ก็คือพุทธธรรม และยังคงเป็น
พุทธธรรมอยู่นั่นเอง มีข้อจำกัดเพียงอย่างเดียวว่า หลักการหรือคำสอนใดก็ตาม
ที่เป็นเพียงการคิดค้นหาเหตุผลในเรื่องความจริงเพื่อสนองความต้องการ
ทางปัญญา โดยมิได้มุ่งและแสดงแนวทางสำหรับประพฤติปฏิบัติในชีวิตจริง
อันนั้น ให้ถือว่า ไม่ใช่พระพุทธศาสนา เฉพาะอย่างที่ถือว่า
เป็นคำสอนเดิมแท้ของพระพุทธเจ้า ซึ่งในที่นี้เรียกว่าพุทธธรรม

การประมวลคำสอนในพระพุทธศาสนามาวางเป็นข้อสรุปลงว่า พุทธธรรมที่
พระพุทธเจ้าทรงสอนและทรงมุ่งหมายแท้จริง เป็นอย่างไรนั้น
เป็นเรื่องยาก แม้จะยกข้อความในคัมภีร์ซึ่งถือกันว่าเป็นพุทธพจน์มาอ้าง
เพราะคำสอนในคัมภีร์มีปริมาณมากมาย มีแง่ด้านระดับความลึกซึ้งต่างๆ กัน
และขึ้นต่อการตีความของบุคคล โดยใช้สติปัญญาและความสุจริตใจหรือไม่เพียงไรด้วย
ในบางกรณี ผู้ถือความเห็นต่างกันสองฝ่าย อาจยกข้อความในคัมภีร์มา
สนับสนุนความคิดเห็นของตนได้ด้วยกันทั้งคู่ การวินิจฉัยความจริงจึงขึ้นต่อ
ความแม่นยำในการจับสาระสำคัญ และความกลมกลืนสอดคล้องแห่งหลัก
การและหลักฐานที่แสดงทั้งหมดโดยหน่วยรวมเป็นข้อสำคัญ แม้กระนั้น
เรื่องที่แสดงและหลักฐานต่างๆ ก็มักไม่กว้างขวางครอบคลุมพอ จึงหนีไม่พ้นจากอิทธิพล
ความเห็นและความเข้าใจพื้นฐานต่อพุทธธรรมของบุคคลผู้แสดงนั้น

ในเรื่องนี้ เห็นว่ายังมีองค์ประกอบอีกอย่างหนึ่งที่ควรนำมาเป็นเครื่องวินิจฉัยด้วย
คือ ความเป็นไปในพระชนมชีพ  และพระปฏิปทาของ
องค์สมเด็จพระบรมศาสดา ผู้เป็นแหล่งหรือที่มาของคำสอนเอง บุคลิกและ
สิ่งที่ผู้สอนได้กระทำ อาจช่วยแสดงความประสงค์ที่แท้จริงของผู้สอนได้ดีกว่า
คำสอนเฉพาะแห่งๆ ในคัมภีร์ หรืออย่างน้อยก็เป็นเครื่องประกอบ
ความเข้าใจให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ถึงหากจะมีผู้ติงว่า องค์ประกอบข้อนี้ก็ได้จาก
คัมภีร์ต่างๆเช่นเดียวกับคำสอน และขึ้นต่อการตีความได้เหมือนกัน
แม้กระนั้น ก็ยังต้องยอมรับอยู่นั่นเองว่า เป็นเครื่องประกอบการพิจารณาที่มีประโยชน์มาก

จากหลักฐานต่างๆ ทางฝ่ายคัมภีร์และประวัติศาสตร์ พอจะวาดภาพ
เหตุการณ์และสภาพสังคมครั้งพุทธกาลได้คร่าวๆ ดังนี้

 พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติในชมพูทวีป เมื่อประมาณ ๒,๖๐๐ ปีล่วงมา
แล้ว ทรงประสูติในวรรณะกษัตริย์ พระนามเดิมว่า เจ้าชายสิทธัตถะ เป็น
โอรสของพระเจ้าสุทโธทนะผู้ครองแคว้นศากยะ ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านตะวันออก
เฉียงเหนือของชมพูทวีป ติดเชิงเขาหิมาลัย ในฐานะโอรสกษัตริย์และเป็น
ความหวังของราชตระกูล พระองค์จึงได้รับการปรนเปรอด้วยโลกียสุขต่างๆ
อย่างเพียบพร้อม และได้ทรงเสวยความสุขอยู่เช่นนี้เป็นเวลานานถึง ๒๙ ปี
ทรงมีทั้งพระชายาและพระโอรส

 ครั้งนั้น ในทางการเมือง รัฐบางรัฐที่ปกครองแบบราชาธิปไตยกำลัง
เรืองอำนาจขึ้น และกำลังพยายามทำสงครามแผ่ขยายอำนาจและอาณาเขต
ออกไป รัฐหลายรัฐ โดยเฉพาะที่ปกครองแบบสามัคคีธรรม  (หรือแบบสาธารณรัฐ)
กำลังเสื่อมอำนาจลงไปเรื่อยๆ บางรัฐก็ถูกปราบรวมเข้าในรัฐอื่นแล้ว บาง
รัฐที่ยังเข้มแข็งก็อยู่ในสภาพตึงเครียด สงครามอาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ แม้รัฐ
ใหญ่ที่เรืองอำนาจ ก็มีการขัดแย้งรบพุ่งกันบ่อยๆ

 ในทางเศรษฐกิจ การค้าขายกำลังขยายตัวกว้างขวางขึ้น เกิดคน
ประเภทหนึ่งมีอิทธิพลมากขึ้นในสังคม คือ พวกเศรษฐี ซึ่งมีสิทธิ มีเกียรติยศ
และอิทธิพลมากขึ้นแม้ในราชสำนัก

 ในทางสังคม คนแบ่งออกเป็น ๔ วรรณะตามหลักคำสอนของศาสนา
พราหมณ์ มีสิทธิ เกียรติ ฐานะทางสังคม และอาชีพการงาน  แตกต่างกัน
ไปตามวรรณะของตนๆ แม้นักประวัติศาสตร์ฝ่ายฮินดูจะว่าการถือวรรณะใน
ยุคนั้นยังไม่เคร่งครัดนัก แต่อย่างน้อยคนวรรณะศูทร  ก็ไม่มีสิทธิที่จะฟัง
หรือกล่าวความในพระเวทอันเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของพราหมณ์ได้ ทั้งมี
กำหนดโทษไว้ (เท่าที่ทราบจากมานวธรรมศาสตร์ต่อมา ถึงกับให้ผ่าร่างกาย
เป็น ๒ ซีก) และคนจัณฑาลหรือพวกนอกวรรณะก็ไม่มีสิทธิได้รับการศึกษา
เลย การกำหนดวรรณะก็ใช้ชาติกำเนิดเป็นเครื่องแบ่งแยก โดยเฉพาะพวก
พราหมณ์พยายามยกตนขึ้น ถือตัวว่าเป็นวรรณะสูงสุด

 ส่วนในทางศาสนา พวกพราหมณ์เหล่านั้น ซึ่งเป็นผู้รักษาศาสนา
พราหมณ์สืบต่อกันมา ก็ได้พัฒนาคำสอนในด้านลัทธิพิธีกรรมต่างๆ ให้ลึกลับ
ซับซ้อนใหญ่โตโอ่อ่าขึ้น พร้อมกับที่ไร้เหตุผลลงโดยลำดับ การที่ทำดังนี้ มิใช่
เพียงเพื่อวัตถุประสงค์ทางศาสนาเท่านั้น แต่มุ่งสนองความต้องการของผู้มี
อำนาจ ที่จะแสดงถึงเกียรติยศความยิ่งใหญ่ของตนประการหนึ่ง และด้วย
มุ่งหวังผลประโยชน์ตอบแทนที่จะพึงได้จากผู้มีอำนาจเหล่านั้นอย่างหนึ่ง พิธี
กรรมเหล่านี้ล้วนชักจูงให้คนเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมากขึ้น เพราะหวังผล
ตอบแทนเป็นทรัพย์สมบัติและกามสุขต่างๆ พร้อมกันนี้ ก็ก่อความเดือดร้อน
แก่คนชั้นต่ำ พวกทาสกรรมกรที่ต้องทำงานหนัก และการทารุณต่อสัตว์ด้วย
การฆ่าบูชายัญครั้งละเป็นจำนวนมากๆ

 ในเวลาเดียวกันนี้ พราหมณ์จำนวนหนึ่งได้คิดว่าพิธีกรรมต่างๆ ไม่
สามารถทำให้ตนประสบชีวิตนิรันดรได้ จึงได้เริ่มคิดเอาจริงเอาจังกับปัญหา
เรื่องชีวิตนิรันดร และหนทางที่จะนำไปสู่สภาวะเช่นนั้น ถึงกับยอมปลีกตัว
ออกจากสังคมไปคิดค้นแสวงคำตอบอาศัยความวิเวกอยู่ในป่า และคำสอน
ของศาสนาพราหมณ์ในยุคนี้ ซึ่งเรียกว่า ยุคอุปนิษัท ก็มีความขัดแย้งกัน
เองมาก บางส่วนอธิบายเพิ่มเติมเรื่องพิธีกรรมต่างๆ บางส่วนกลับประณาม
พิธีกรรมเหล่านั้น และในเรื่องชีวิตนิรันดรก็มีความเห็นต่างๆ กัน มีคำสอน
เรื่องอาตมันแบบต่างๆ ที่ขัดกัน จนถึงขั้นสุดท้ายที่ว่า อาตมัน คือพรหมัน
เป็นที่มาและแทรกซึมอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่าง มีภาวะที่อธิบายไม่ได้อย่างที่เรียก

ว่า “เนติ เนติ” (ไม่ใช่นั่น ไม่ใช่นั่น) เป็นจุดหมายสูงสุดของการบำเพ็ญเพียร
ทางศาสนา และพยายามแสดงความหมายโต้ตอบปัญหาเกี่ยวกับเรื่องสภาพ
ของภาวะเช่นนี้ พร้อมกับที่หวงแหนความรู้เหล่านี้ไว้ในหมู่พวกตน
 พร้อมกันนั้น นักบวชอีกพวกหนึ่ง ซึ่งเบื่อหน่ายต่อความไร้สาระแห่ง
ชีวิตในโลกนี้ ก็ได้ไปบำเพ็ญเพียรแบบต่างๆ ตามวิธีการของพวกตนๆ ด้วย
หวังว่าจะได้พบชีวิตอมตะหรือผลสำเร็จอันวิเศษอัศจรรย์ต่างๆ ที่ตนหวัง
บ้างก็บำเพ็ญตบะ ทรมานตนด้วยประการต่างๆ ตั้งต้นแต่อดอาหารไปจนถึง
การทรมานร่างกายแบบแปลกๆ ที่คนธรรมดาคิดไม่ถึงว่าจะเป็นไปได้ บ้างก็
บำเพ็ญสมาธิจนถึงกล่าวว่าทำปาฏิหาริย์ได้ต่างๆ บ้างก็สามารถบำเพ็ญฌาน
จนได้ถึงรูปสมาบัติ อรูปสมาบัติ

 อีกด้านหนึ่ง นักบวชประเภทที่เรียกว่าสมณะอีกหลายหมู่หลายพวก ซึ่ง
ได้สละเหย้าเรือนออกบวชแสวงหาจุดหมายชีวิตเช่นเดียวกัน ก็ได้เร่ร่อนท่อง
เที่ยวไปในบ้านเมืองต่างๆ ถกเถียงถามปัญหากันบ้าง ตั้งตนเป็นศาสดาแสดง
ทัศนะของตนต่างๆ กันหลายแบบหลายอย่าง จนปรากฏว่า เกิดมีลัทธิต่างๆ
ขึ้นเป็นอันมาก  เฉพาะที่เด่นๆ ซึ่งปรากฏในคัมภีร์พุทธศาสนา ถึง ๖ ลัทธิ
 สภาพเช่นนี้ จะสรุปสั้นๆ คงได้ความว่า ยุคนั้น คนพวกหนึ่งกำลังรุ่ง
เรืองขึ้นด้วยอำนาจ ร่ำรวยด้วยทรัพย์สมบัติ และเพลิดเพลินมัวเมาอยู่กับ
การแสวงหาความสุขทางวัตถุ พร้อมกับที่คนหลายพวกก็มีฐานะและความ
เป็นอยู่ด้อยลงๆ ไป ไม่ค่อยได้รับความเหลียวแล ส่วนคนอีกพวกหนึ่ง ก็ปลีก
ตัวออกไปเสียจากสังคมทีเดียว ไปมุ่งมั่นค้นหาความจริงในทางปรัชญา โดย
มิได้ใส่ใจสภาพสังคมเช่นเดียวกัน

 เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงได้รับการบำรุงบำเรอด้วยโลกียสุขอยู่เป็นเวลา
นานถึง ๒๙ ปี และมิใช่เพียงปรนปรือเอาใจเท่านั้น ยังได้ทรงถูกปิดกั้นไม่ให้
พบเห็นสภาพความเป็นอยู่ที่ระคนด้วยความทุกข์ของสามัญชนทั้งหลายด้วย
แต่สภาพเช่นนี้ไม่สามารถถูกปิดบังจากพระองค์ได้เรื่อยไป ปัญหาเรื่องความ
ทุกข์ความเดือดร้อนต่างๆ ของมนุษย์ อันรวมเด่นอยู่ที่ความแก่ เจ็บ และ
ตาย เป็นสิ่งที่ทำให้พระองค์ต้องครุ่นคิดแก้ไข

 ปัญหานี้ คิดสะท้อนออกไปในวงกว้างให้เห็นสภาพสังคม ที่คนพวก
หนึ่งได้เปรียบกว่า ก็แสวงหาแต่โอกาสที่จะหาความสมบูรณ์พูนสุขใส่ตน
แข่งขันแย่งชิงเบียดเบียนกัน หมกมุ่นมัวเมาอยู่ในความสุขเหล่านั้น ไม่ต้อง
คิดถึงความทุกข์ยากเดือดร้อนของใครๆ ดำรงชีวิตอยู่อย่างทาสของวัตถุ
ยามสุขก็ละเมอมัวเมาอยู่ในความคับแคบของจิตใจ ถึงคราวถูกความทุกข์
เข้าครอบงำก็ลุ่มหลงไร้สติเหี่ยวแห้งคับแค้นเกินสมควร แล้วก็แก่เจ็บตายไป
อย่างไร้สาระ ฝ่ายคนที่เสียเปรียบ ไม่มีโอกาส ถูกบีบคั้นกดขี่อยู่อย่างคับ
แค้น แล้วก็แก่เจ็บตายไปโดยไร้ความหมาย

 เจ้าชายสิทธัตถะทรงมองเห็นสภาพเช่นนี้แล้ว ทรงเบื่อหน่ายใน
สภาพความเป็นอยู่ของพระองค์ มองเห็นความสุขความปรนเปรอเหล่านั้น
เป็นของไร้สาระ ทรงคิดหาทางแก้ไขจะให้มีความสุขที่มั่นคง เป็นแก่นสาร
ทรงคิดแก้ปัญหานี้ไม่ตก และสภาพความเป็นอยู่ของพระองค์ท่ามกลาง
ความเย้ายวนสับสนวุ่นวายเช่นนั้น ไม่อำนวยแก่การใช้ความคิดที่ได้ผล

 ในที่สุด ทรงมองเห็นภาพพวกสมณะ ซึ่งเป็นผู้ได้ปลีกตัวจากสังคม
ไปค้นคว้าหาความจริงต่างๆ โดยมีความเป็นอยู่ง่ายๆ ปราศจากกังวล และ
สะดวกในการแสวงหาความรู้และคิดหาเหตุผล สภาพความเป็นอยู่แบบนี้น่า
จะช่วยพระองค์ให้แก้ปัญหานี้ได้ และบางทีสมณะพวกนั้น ที่ไปคิดค้นหา
ความจริงกันต่างๆ บางคนอาจมีอะไรบางอย่างที่พระองค์จะเรียนรู้ได้บ้าง

 เมื่อถึงขั้นนี้ เจ้าชายสิทธัตถะจึงเสด็จออกบรรพชาอย่างพวกสมณะที่
มีอยู่แล้วในสมัยนั้น พระองค์ได้เสด็จจาริกไปศึกษาหาความรู้เท่าที่พวกนัก
บวชสมัยนั้นจะรู้และปฏิบัติกัน ทรงศึกษาทั้งวิธีการแบบโยคะ ทรงบำเพ็ญ
สมาธิจนได้ฌานสมาบัติ ถึงอรูปสมาบัติชั้นสูงสุด ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ได้
อย่างเชี่ยวชาญยิ่ง และทรงบำเพ็ญตบะทรมานพระองค์จนแทบสิ้นพระชนม์

 ในที่สุดก็ทรงตัดสินได้ว่า วิธีการของพวกนักบวชเหล่านี้ทั้งหมด ไม่
สามารถแก้ปัญหาดังที่พระองค์ทรงประสงค์ได้ เมื่อเทียบกับชีวิตของพระ
องค์ก่อนเสด็จออกบรรพชาแล้ว ก็นับว่าเป็นการดำรงชีวิตอย่างเอียงสุดทั้ง
สองฝ่าย จึงทรงหันมาดำเนินการคิดค้นของพระองค์เองต่อมา จนในที่สุดได้
ตรัสรู้  ธรรมที่พระองค์ทรงค้นพบนี้ ต่อมาเมื่อทรงนำไปแสดงให้ผู้อื่นฟัง
ทรงเรียกว่า “มัชเฌนธรรมเทศนา” หรือ หลักธรรมสายกลาง และทรง
เรียกข้อปฏิบัติอันเป็นระบบที่พระองค์ทรงจัดวางขึ้นว่า “มัชฌิมาปฏิปทา
หรือ ทางสายกลาง

 จากความท่อนนี้ จะมองเห็นทัศนะตามแนวพุทธธรรมว่า การดำรง
ชีวิตอยู่ในสังคมอย่างลุ่มหลงหมกมุ่นปล่อยตัวไปเป็นทาสตามกระแสกิเลส 
ก็ดี การหลีกหนีออกไปโดยสิ้นเชิง ไม่เกี่ยวข้องรับผิดชอบอย่างใดต่อสังคม
อยู่อย่างทรมานตนก็ดี นับว่าเป็นข้อปฏิบัติที่ผิดเอียงสุดด้วยกันทั้งสองอย่าง
ไม่สามารถให้มนุษย์ดำรงชีวิตอย่างมีความหมายแท้จริงได้

 เมื่อตรัสรู้แล้วเช่นนี้ พระองค์จึงเสด็จกลับคืนมาทรงเริ่มต้นงานสั่ง
สอนพุทธธรรมเพื่อประโยชน์แก่สังคมของชาวโลกอย่างหนักแน่นจริงจัง
และทรงดำเนินงานนี้จนตลอด ๔๕ ปี แห่งพระชนมชีพระยะหลัง

 แม้ไม่พิจารณาเหตุผลด้านอื่น มองเฉพาะในแง่สังคมอย่างเดียว ก็จะ
เห็นว่า พุทธกิจที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญเพื่อประโยชน์สุขแก่สังคมสมัยนั้น
จะสำเร็จผลดีที่สุดก็ด้วยการทำงานในบรรพชิตเพศเท่านั้น พระองค์จึงได้
ทรงชักจูงคนชั้นสูงจำนวนมากให้ละความมั่งมีศรีสุข ออกบวช ศึกษา และ
เข้าถึงธรรมที่ทรงสอนแล้ว ร่วมทำงานอย่างเสียสละอุทิศตนเพื่อประโยชน์
สุขของประชาชน ด้วยการจาริกไปเข้าถึงคนทุกชั้นวรรณะ และทุกถิ่นที่จะ
ไปถึงได้ ทำให้บำเพ็ญประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง

 อีกประการหนึ่ง คณะสงฆ์เองก็เป็นแหล่งแก้ปัญหาสังคมได้อย่าง
สำคัญ เช่นในข้อว่า ทุกคน ไม่ว่าจะเกิดในวรรณะใด เมื่อบวชแล้วก็มีสิทธิ
เสมอกันทั้งสิ้น ส่วนเศรษฐี คฤหบดี ผู้ยังไม่พร้อมที่จะเสียสละได้เต็มที่ ก็ให้
คงครองเรือนอยู่เป็นอุบาสก คอยช่วยให้กำลังแก่คณะสงฆ์ในการบำเพ็ญ
กรณียกิจของท่าน และนำทรัพย์สมบัติของตนออกบำเพ็ญประโยชน์
สงเคราะห์ประชาชนไปด้วยพร้อมกัน

 การบำเพ็ญกรณียกิจ ทั้งของพระพุทธเจ้าและของพระสาวก มีวัตถุ
ประสงค์และขอบเขตกว้างขวางเพียงใด จะเห็นได้จากพุทธพจน์ แต่ครั้งแรก
ที่ทรงส่งสาวกออกประกาศพระศาสนาว่า

ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงจาริกไป เพื่อประโยชน์และความสุข ของชนเป็นอันมาก
เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและ ความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ทั้งหลาย

(http://www.hemmy.net/images/arts/china001.jpg)

หัวข้อ: Re: พุทธธรรม หรือ กฎธรรมชาติและคุณค่าสำหรับชีวิต
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ มกราคม 31, 2013, 08:05:38 pm
(http://sphotos-c.ak.fbcdn.net/hphotos-ak-prn1/549190_142582692571655_694879039_n.jpg)

 พุทธธรรมนั้นมีขอบเขตในทางสังคมที่จะให้ใช้ได้และเป็นประโยชน์แก่
บุคคลประเภทใดบ้าง พึงเห็นได้จากพุทธพจน์ในปาสาทิกสูตร ซึ่งสรุปความ
ได้ว่า

 พรหมจรรย์ (คือพระศาสนา) จะชื่อว่าสำเร็จผลแพร่หลายกว้างขวาง
เป็นประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก เป็นปึกแผ่น ถึงขั้นที่ว่า เทวดาและมนุษย์
ประกาศไว้ดีแล้ว ต่อเมื่อมีองค์ประกอบต่อไปนี้ครบถ้วน คือ

 ๑. องค์พระศาสดา เป็นเถระ รัตตัญญู ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ
 ๒. มีภิกษุสาวก ที่เป็นเถระ มีความรู้เชี่ยวชาญ ได้รับการฝึกฝนอบรม  อย่างดี แกล้วกล้าอาจหาญ บรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะ
  สามารถแสดงธรรมให้เห็นผลจริงจัง กำราบปรัปวาท (ลัทธิที่ขัดแย้ง วาทะฝ่ายอื่น หรือคำสอนนอกรีตผิดเพี้ยน) ที่เกิดขึ้น ให้สำเร็จเรียบร้อยโดยถูกต้องตามหลักธรรม และมีภิกษุสาวกชั้นปูนกลาง และชั้นนวกะ ที่มีความสามารถเช่นเดียวกันนั้น
 ๓. มีภิกษุณีสาวิกา ชั้นเถรี ชั้นปูนกลาง และชั้นนวกะ ที่มีความสามารถเช่นเดียวกันนั้น
 ๔. มีอุบาสก ทั้งประเภทพรหมจารี และประเภทครองเรือนเสวยกามสุข ซึ่งมีความสามารถเช่นเดียวกันนั้น
 ๕. มีอุบาสิกา ทั้งประเภทพรหมจารินี และประเภทครองเรือนเสวยกามสุข ซึ่งมีความสามารถเช่นเดียวกันนั้นเพียงแต่ขาดอุบาสิกาประเภทครองเรือนเสียอย่างเดียว พรหมจรรย์ ก็ยังไม่ชื่อว่าเจริญบริบูรณ์เป็นปึกแผ่นดี

 ความตอนนี้แสดงว่า พุทธธรรมเป็นคำสอนที่มุ่งสำหรับคนทุกประเภท ทั้งบรรพชิต และคฤหัสถ์ คือ ครอบคลุมสังคมทั้งหมด
และลักษณะทั่วไปของพุทธธรรมนั้น สรุปได้ ๒ อย่าง คือ
 ๑. แสดงหลักความจริงสายกลาง ที่เรียกว่า “มัชเฌนธรรม” หรือเรียกเต็มว่า “มัชเฌนธรรมเทศนา” ว่าด้วยความจริงตามแนว
ของเหตุผลบริสุทธิ์ตามกระบวนการของธรรมชาติ นำมาแสดง เพื่อประโยชน์ทางปฏิบัติในชีวิตจริงเท่านั้น ไม่ส่งเสริมความพยายาม ที่จะเข้าถึงสัจธรรมด้วยวิธีถกเถียงสร้างทฤษฎีต่างๆ ขึ้นแล้วยึดมั่น ปกป้องทฤษฎีนั้นๆ ด้วยการเก็งความจริงทางปรัชญา
 ๒. แสดงข้อปฏิบัติสายกลาง ที่เรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” อันเป็นหลักการครองชีวิตของผู้ฝึกอบรมตน ผู้รู้เท่าทันชีวิต ไม่หลงงม
งาย มุ่งผลสำเร็จคือความสุข สะอาด สว่าง สงบ เป็นอิสระ ที่สามารถมองเห็นได้ตั้งแต่ในชีวิตนี้ ในทางปฏิบัติ ความเป็นสายกลางนี้ เป็นไปโดยสัมพันธ์กับองค์ประกอบอื่นๆ เช่น สภาพชีวิตของบรรพชิต หรือ คฤหัสถ์ เป็นต้น

 การสั่งสอนธรรมของพระพุทธเจ้า ทรงมุ่งผลในทางปฏิบัติ ให้ทุกคนจัดการกับชีวิตที่เป็นอยู่จริงๆ ในโลกนี้ และเริ่มแต่บัดนี้ ความรู้ในหลักที่เรียกว่า มัชเฌนธรรมเทศนา ก็ดี การประพฤติตามมรรคาที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ก็ดี เป็นสิ่งที่ทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพและระดับชีวิตอย่างใด สามารถเข้าใจและนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ตามสมควรแก่สภาพและระดับชีวิตนั้นๆ ถ้าความห่วงใยในเรื่องชีวิตหลังจากโลกนี้มีอยู่ ก็จงทำชีวิตแบบที่ต้องการนั้นให้เกิดมีเป็นจริงเป็นจังแน่นอนขึ้นมาเสียในชีวิตนี้ทีเดียว จนมั่นใจในตนเองโดยไม่ต้องกังวลห่วงใยในโลกหน้านั้นเลย

 ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันโดยธรรมชาติ ที่จะเข้าถึงผลสำเร็จเหล่านี้ แม้ว่าความสามารถจะต่างกัน ทุกคนจึงควรได้รับโอกาสเท่าเทียมกันที่จะสร้างผลสำเร็จนั้นตามความสามารถของตน และความสามารถนั้น ก็เป็นสิ่งที่ปรับเปลี่ยนเพิ่มพูนได้ จึงควรให้ทุกคนมีโอกาสที่จะพัฒนาความสามารถของตนอย่างดีที่สุด และแม้ว่าผลสำเร็จที่แท้จริง ทุกคนจะต้องทำด้วยตัวเอง โดยตระหนักในความรับผิดชอบของตน ที่จะต้องขวนขวายพากเพียรอย่างเต็มที่ แต่ทุกคนก็เป็นอุปกรณ์ในการช่วยตนเองของคนอื่นได้ ดังนั้น
หลักอัปปมาทธรรม และหลักความมีกัลยาณมิตร จึงเป็นหลักธรรมที่เด่น และเป็นข้อที่เน้นหนักทั้งสองอย่าง ในฐานะความรับผิดชอบต่อตนเองฝ่ายหนึ่ง กับปัจจัยภายนอกที่จะช่วยเสริมอีกฝ่ายหนึ่ง
 
หากยกเอาผลงานและพระจริยาของพระพุทธเจ้าขึ้นมาเป็นหลักพิจารณา จะมองเห็นแนวทางการบำเพ็ญพุทธกิจที่สำคัญหลายอย่าง เช่น  ทรงพยายามล้มล้างความเชื่อถืองมงายในเรื่องพิธีกรรมอันเหลวไหลต่างๆ โดยเฉพาะการบูชายัญ ด้วยการสอนย้ำถึงผลเสียหายและความไร้ผลของพิธีกรรมเหล่านั้น ทั้งนี้เพราะยัญพิธีเหล่านั้น ทำให้คนมัวแต่คิดหวังพึ่งเหตุปัจจัยภายนอก อย่างหนึ่ง ทำให้คนกระหายทะยานและคิดหมกหมุ่นในผลประโยชน์ทางวัตถุเพิ่มพูนความเห็นแก่ตน ไม่คำนึงถึงความทุกข์ยากเดือดร้อนของเพื่อนมนุษย์และสัตว์ อย่างหนึ่ง ทำให้คนคิดหวังแต่เรื่องอนาคต จนไม่คิดปรับปรุงปัจจุบัน อย่างหนึ่ง แล้วทรงสอนย้ำหลักแห่ง “ทาน” คือการให้เสียสละแบ่งปันและสงเคราะห์กันในสังคม

 สิ่งต่อไปที่ทรงพยายามสอนหักล้าง คือระบบความเชื่อถือเรื่องวรรณะ ที่นำเอาชาติกำเนิดมาเป็นขีดขั้นจำกัดสิทธิและโอกาสทั้งในทางสังคมและทางจิตใจของมนุษย์ ทรงตั้ง “สังฆะ” คือชุมชนแห่งสงฆ์ ที่เปิดรับคนจากทุกวรรณะให้เข้าสู่ความเสมอภาคกัน เหมือนทะเลที่รับน้ำจากแม่น้ำทุกสายกลมกลืนเข้าเป็นอันเดียวกัน  ทำให้เกิดสถาบันวัด ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นศูนย์กลางเผยแพร่วัฒนธรรมและการศึกษาที่สำคัญยิ่ง จนศาสนาฮินดูต้องนำไปจัดตั้งขึ้นบ้างในศาสนาของตน เมื่อหลังพุทธกาลแล้วราว ๑,๔๐๐ หรือ ๑,๗๐๐ ปี
 
ทรงให้สิทธิแก่สตรีที่จะได้รับประโยชน์จากพุทธธรรม เข้าถึงจุดหมายสูงสุดที่พุทธธรรมจะให้เข้าถึงได้ เช่นเดียวกับบุรุษ แม้ว่าการให้สิทธินี้ จะต้องทรงกระทำด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง ที่จะเตรียมการวางรูปให้สภาพการได้สิทธิของสตรีนี้ดำรงอยู่ด้วยดีในสภาพสังคมสมัยนั้น เพราะสิทธิของสตรีในการศึกษาอบรมทางจิตใจ ได้ถูกศาสนาพระเวทค่อยๆ จำกัดแคบลงมาจนปิดตายแล้วในสมัยนั้น

 ประการต่อไป ทรงสั่งสอนพุทธธรรมด้วยภาษาสามัญที่ประชาชนใช้ เพื่อให้คนทุกชั้น ทุกระดับการศึกษา ได้รับประโยชน์จากธรรมนี้ทั่วถึง ตรงข้ามกับศาสนาพราหมณ์ที่ยึดความศักดิ์สิทธิ์ของคัมภีร์พระเวท และจำกัดความรู้ชั้นสูงไว้ในวงแคบของพวกตนด้วยวิธีการต่างๆ โดยเฉพาะด้วยการใช้ภาษาเดิมของสันสกฤต ซึ่งรู้จำกัดในหมู่พวกตน เป็นสื่อถ่ายทอดและรักษาคัมภีร์ แม้ต่อมาจะมีผู้ขออนุญาตพระพุทธเจ้าให้ยกพุทธพจน์ขึ้นสู่ภาษาพระเวท พระองค์ก็ไม่ทรงอนุญาต ทรงยืนยันให้ใช้ภาษาของประชาชนตามเดิม

 ประการต่อไป ทรงปฏิเสธโดยสิ้นเชิงที่จะทำเวลาให้สูญเสียไปกับการถกเถียงปัญหาที่เกี่ยวกับการเก็งความจริงทางปรัชญา ซึ่งไม่อาจนำมาพิสูจน์ให้เห็นได้ด้วยวิธีแสดงเหตุผลทางคำพูด ถ้าใครถามปัญหาเช่นนี้ พระองค์จะทรงยับยั้งเสีย แล้วดึงผู้นั้นกลับมาสู่ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องที่เขาจะต้องเกี่ยวข้องและปฏิบัติได้ในชีวิตจริงโดยทันที  สิ่งที่จะพึงรู้ได้ด้วยคำพูด ทรงแนะนำด้วยคำพูด สิ่งที่จะพึงรู้ด้วยการเห็น ทรงให้เขาดู มิใช่ให้ดูสิ่งที่จะต้องเห็นด้วยคำพูด

 ทั้งนี้ ทรงสอนพุทธธรรมโดยปริยายต่างๆ เป็นอันมาก มีคำสอนหลายระดับ ทั้งสำหรับผู้ครองเรือน ผู้ดำรงชีวิตอยู่ในสังคม และผู้สละเรือนแล้ว ทั้งคำสอนเพื่อประโยชน์ทางวัตถุ และเพื่อประโยชน์ลึกซึ้งทางจิตใจ เพื่อให้ทุกคนได้รับประโยชน์จากพุทธธรรมทั่วถึงกัน พุทธกิจที่กล่าวมานี้ เป็นเครื่องยืนยันข้อสรุปความเข้าใจเกี่ยวกับพุทธธรรมที่พูดมาแล้วข้างต้น
 การที่ได้ประสูติและทรงเติบโตมาท่ามกลางวัฒนธรรมแบบพราหมณ์ และความเชื่อถือตามลัทธิต่างๆ ของพวกสมณะสมัยนั้น ทำให้พระองค์ต้องทรงเกี่ยวข้องและคุ้นกับถ้อยคำตามที่มีใช้กันในลัทธิความเชื่อถือเหล่านั้น จึงเป็นธรรมดาที่จะต้องทรงใช้ถ้อยคำเหล่านั้นในการสื่อสารทั่วไป แต่เมื่อทรงมีคำสอนใหม่ให้แก่สังคม ปัญหาก็เกิดขึ้นว่าจะทรงปฏิบัติต่อถ้อยคำเหล่านั้นอย่างไร
 ปรากฏว่า พระองค์ทรงมีวิธีปฏิบัติต่อถ้อยคำทางศาสนาเหล่านี้ เป็นที่น่าสังเกตอย่างหนึ่ง คือ ไม่ทรงนิยมหักล้างความเชื่อถือเดิมในรูปถ้อยคำที่ใช้ ถ้าถ้อยคำนั้นๆ มีความหมายของศัพท์ในทางที่ดีงาม ทรงหักล้างเฉพาะตัวความเชื่อถือผิดที่แฝงอยู่กับความหมายของถ้อยคำเหล่านั้น กล่าวคือ ไม่ทรงขัดแย้งด้วยวิธีรุนแรง แต่ทรงนำคนเข้าสู่ปัญญาด้วยเมตตากรุณา ให้เขาเกิดความรู้เข้าใจอย่างใหม่ มองเห็นความจริง จากถ้อยคำที่เขาเคยเข้าใจอย่างอื่น

 โดยนัยนี้ พระองค์จึงทรงนำคำบัญญัติที่ใช้กันอยู่ในศาสนาเดิมมาใช้ในความหมายใหม่ตามแนวของพุทธธรรมโดยเฉพาะบ้าง ทรงสร้างคุณค่าใหม่ให้แก่ถ้อยคำที่ใช้อยู่เดิมบ้าง เช่น ใช้ “พรหม” เป็นชื่อของสัตวโลกที่เกิดตายประเภทหนึ่งบ้าง หมายถึงบิดามารดาบ้าง ทรงเปลี่ยนความเชื่อถือเรื่องกราบไหว้ทิศ ๖ ในธรรมชาติ มาเป็นการปฏิบัติหน้าที่และรักษาความสัมพันธ์รูปต่างๆ ในสังคม เปลี่ยนความหมายของการบูชาไฟศักดิ์สิทธิ์สำหรับยัญพิธี ๓ อย่างของพราหมณ์มาเป็นความรับผิดชอบทางสังคมต่อบุคคล ๓ ประเภท เปลี่ยนการตัดสินความเป็นพราหมณ์และอารยะโดยชาติกำเนิด มาเป็นตัดสินด้วยการประพฤติปฏิบัติ
 บางครั้งทรงสอนให้ดึงความหมายบางส่วนในคำสอนของศาสนาเดิมมาใช้แต่ในทางที่ดีงามและเป็นประโยชน์ คำสอนใดในศาสนาเดิมถูกต้องดีงาม ก็ทรงรับรอง โดยถือความถูกต้องดีงามเป็นของสากลโดยธรรมชาติ ในกรณีที่หลักความประพฤติปฏิบัติในศาสนาเดิมมีความหมายหลายอย่าง ทรงชี้แจงว่าแง่ใดถูก แง่ใดผิด ทรงยอมรับและให้ประพฤติปฏิบัติแต่ในแง่ที่ดีงามถูกต้อง
 บางครั้งทรงสอนว่า ความประพฤติปฏิบัติที่ผิดพลาดเสียหายบางอย่างของศาสนาเดิมสมัยนั้น เป็นความเสื่อมโทรมที่เกิดขึ้นในศาสนานั้นเอง ซึ่งในครั้งดั้งเดิมทีเดียว คำสอนของศาสนานั้นก็ดีงามถูกต้อง และทรงสอนให้รู้ว่า คำสอนเดิมที่ดีของศาสนานั้นเป็นอย่างไร ตัวอย่างในข้อนี้ มีเรื่อง ตบะ การบูชายัญ หลักการสงเคราะห์ประชาชนของนักปกครอง และเรื่อง พราหมณธรรม  เป็นต้น

หัวข้อ: Re: พุทธธรรม หรือ กฎธรรมชาติและคุณค่าสำหรับชีวิต
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ มกราคม 31, 2013, 08:08:55 pm


ข้อความที่กล่าวมานี้ นอกจากจะแสดงให้เห็นความใจกว้างของพุทธธรรม และการที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งพระทัยสอนแต่ความจริงและความดีงามถูกต้องที่เป็นกลางๆ แล้ว ยังเป็นเรื่องสำหรับเตือนให้รู้จักแยกความหมายของคำบัญญัติทางศาสนาที่ใช้ในพุทธธรรม กับที่ใช้ในศาสนาอื่นๆ ด้วย
 อนึ่ง เมื่อสิ้นยุคขององค์พระศาสดาแล้ว เวลาล่วงไป และคำสอนแผ่ไปในถิ่นต่างๆ ความเข้าใจในพุทธธรรมก็แปรไปจากเดิมและแตกต่างกันไปหลายอย่าง เพราะผู้ถ่ายทอดสืบต่อมีพื้นความรู้การศึกษาอบรมสติปัญญาแตกต่างกัน ตีความหมายพุทธธรรมแผกกันไปบ้าง นำเอาความรู้ความเชื่อถือเดิมจากลัทธิศาสนาอื่นเข้ามาผสมแทรกแซงบ้าง อิทธิพลศาสนาและวัฒนธรรมในท้องถิ่นเข้าผสมผสานบ้าง คำสอนบางแง่เด่นขึ้น บางแง่เลือนลางลง เพราะการย้ำและเลี่ยงความสนใจตามความโน้มเอียงและความถนัดของผู้รักษาคำสอนบ้าง ทำให้เกิดการแตกแยกออกเป็นนิกายต่างๆ เช่น ที่แยกเป็นเถรวาท กับมหายาน ตลอดจนนิกายย่อยๆ ในสองนิกายใหญ่นั้น
 พระพุทธศาสนาเถรวาทนั้น เป็นที่ยอมรับของนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาทั่วโลก ว่าเป็นนิกายที่รักษาแบบแผนและคำสอนดั้งเดิมไว้ได้แม่นยำ แม้แต่ปราชญ์ฝ่ายมหายานยุคปัจจุบันก็เห็นความสำคัญนี้ ดังที่ในประเทศญี่ปุ่นได้ถือลงกันทั่วไปว่า การที่จะศึกษาพระพุทธศาสนามหายานให้ทั่วตลอด ต้องศึกษาพระพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม (คือเถรวาท) ด้วย เพราะมีพระสูตรบาลี ที่เป็นรากฐานของพระพุทธศาสนา พระสูตรของมหายานเพียงแต่อธิบายสาระที่บรรยายไว้โดยย่อในพระสูตรบาลี ให้ละเอียดกว้างขวางออกไป

 แม้กระนั้นก็ตาม ในพระพุทธศาสนาเถรวาทเอง เนื้อความบางแห่งในพระคัมภีร์ ที่เป็นส่วนเพิ่มเข้าในสมัยต่อมา ได้ระบุกาลเวลาไว้ชัดเจน ก็มี ไม่ได้ระบุไว้ ก็มี ถึงจะรู้กันว่าอยู่ในระยะแรกๆ ก่อนยุคอรรถกถา ก็ยังเป็นปัญหาที่คนรุ่นปัจจุบันนำมาถกเถียงคิดค้นหาความชัดเจนแน่นอน
 เนื่องจากพระพุทธศาสนาเน้นการใช้ปัญญา การปฏิบัติให้ถูกต้องจึงขึ้นต่อการศึกษา และคัมภีร์พระพุทธศาสนา แม้นับเพียงพระไตรปิฎกบาลี ที่เป็นแหล่งแห่งพุทธพจน์ ก็ใหญ่โตมีเนื้อหามากมาย ยากที่จะศึกษาให้ทั่วถึง
 ยิ่งในบางยุคบางสมัย พุทธศาสนิกชนยังเหินห่างจากการศึกษาหลักธรรมอีกด้วย ความรู้ความเข้าใจที่ประชาชนส่วนมากเชื่อถือและปฏิบัติ จึงอาศัยเพียงการฟังบอกเล่าและทำตามๆ กันมา เมื่อกาลเวลาล่วงผ่านไปนานๆ ความคลาดเคลื่อนก็มีมากขึ้นและชัดเจนยิ่งขึ้น จนกระทั่งบางกรณีถึงกับเสมือนเป็นตรงข้ามกับคำสอนเดิม หรือเกือบจะกลายไปเป็นลัทธิอื่นที่คำสอนเดิมคัดค้านไปแล้วก็มี

 ยกตัวอย่างในประเทศไทยนี้ เมื่อพูดถึงคำว่า “กรรม” ความเข้าใจของคนทั่วไปก็จะเพ่งไปยังกาละส่วนอดีต เจาะจงเอาการกระทำในชาติที่ล่วงแล้วหรือชาติก่อนๆ บ้าง เพ่งไปยังปรากฏการณ์ส่วนผล คือนึกถึงผลที่ปรากฏในปัจจุบันของการกระทำในอดีตบ้าง เพ่งไปยังแง่ที่เสียหายเลวร้ายคือการกระทำชั่วฝ่ายเดียวบ้าง เพ่งไปยังอำนาจแสดงผลร้ายของการกระทำความชั่วในชาติก่อนบ้าง และโดยมากเป็นความเข้าใจตามแง่ต่างๆ เหล่านี้รวมๆ กันไปทั้งหมด ซึ่งเมื่อพิจารณาตัดสินตามหลักกรรมที่แท้จริงในพุทธธรรมแล้ว จะเห็นได้ชัดว่าเป็นความเข้าใจที่ห่างไกลจากความหมายที่แท้จริงเป็นอันมาก
 
แม้ข้อธรรมอื่นๆ ตลอดจนคำบัญญัติทางธรรมแต่ละคำๆ เช่น อารมณ์ วิญญาณ บารมี สันโดษ อุเบกขา อธิษฐาน บริกรรม ภาวนา วิปัสสนา กาม โลกิยะ โลกุตตระ บุญ อิจฉา ฯลฯ ก็ล้วนมีความหมายพิเศษในความเข้าใจของประชาชน ซึ่งผิดแปลกไปจากความหมายดั้งเดิมในพุทธธรรม โดยตัวความหมายเองบ้าง โดยขอบเขตความหมายบ้าง มากน้อยต่างกันไปในแต่ละคำนั้นๆ
 ในการศึกษาพุทธธรรม จำเป็นต้องแยกความหมายในความเข้าใจของประชาชนส่วนที่คลาดเคลื่อนนี้ออกไปต่างหาก จึงจะสามารถเข้าใจความหมายที่แท้จริงได้
 ในการแสดงพุทธธรรมต่อไปนี้ ผู้แสดงถือว่าได้พยายามที่จะแสดงตัวพุทธธรรมแท้ อย่างที่องค์พระบรมศาสดาทรงสอนและทรงมุ่งหมาย
 ในการนี้ ได้ตัดความหมายอย่างที่ประชาชนเข้าใจออกโดยสิ้นเชิง ไม่นำมาพิจารณาเลย เพราะถือว่าเป็นเรื่องข้างปลาย ไม่จำเป็นต่อการเข้าใจตัวพุทธธรรมที่แท้แต่ประการใด

 แหล่งสำคัญอันเป็นที่มาของเนื้อหาและความหมายของพุทธธรรมที่จะแสดงต่อไปนี้ ได้แก่คัมภีร์พุทธศาสนา ซึ่งในที่นี้ ถ้าไม่มีกรณีเกี่ยวข้องเป็นพิเศษ จะหมายถึงพระไตรปิฎกบาลีอย่างเดียว เพราะเป็นคัมภีร์ที่ยอมรับกันทั่วไปแล้วว่า เป็นแหล่งรวบรวมรักษาพุทธธรรมที่แม่นยำและสมบูรณ์ที่สุด แม้กระนั้น ก็ได้เลือกสรรเอาเฉพาะส่วนที่เห็นว่าเป็นหลักการดั้งเดิมเป็นความหมายแท้จริงมาแสดง โดยยึดเอาหลักความกลมกลืนสอดคล้องกันในหน่วยรวมเป็นหลัก และเพื่อให้มั่นใจยิ่งขึ้น จึงได้นำพุทธจริยาและพุทธกิจที่ได้ทรงบำเพ็ญมาประกอบการพิจารณาตัดสินแนวทางและขอบเขตของพุทธธรรมด้วย
 เมื่อได้หลักการพิจารณาเหล่านี้มาเป็นเครื่องกำกับการแสดงแล้ว ก็มั่นใจว่าจะสามารถแสดงสาระแห่งพุทธธรรมได้ใกล้เคียงตัวแท้เป็นอย่างยิ่งอย่างไรก็ตาม ในขั้นพื้นฐาน การแสดงนี้ก็ยังต้องขึ้นกับกำลังสติปัญญาของผู้แสดง และความโน้มเอียงบางอย่างที่ผู้แสดงเองอาจไม่รู้ตัวอยู่นั่นเอง ฉะนั้น จึงขอให้ถือว่าเป็นความพยายามครั้งหนึ่ง ที่จะแสดงพุทธธรรมให้ถูกต้องที่สุดตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนและมุ่งหมาย โดยอาศัยวิธีการและหลักการแสดง พร้อมทั้งหลักฐานต่างๆ ที่เชื่อว่าให้ความมั่นใจมากที่สุด
 ถ้าแยกพุทธธรรมออกเป็น ๒ ส่วน คือ สัจธรรม ส่วนหนึ่ง กับ จริย-ธรรม ส่วนหนึ่ง แล้วกำหนดความหมายขึ้นใช้ในที่นี้โดยเฉพาะ โดยกำหนดให้สัจธรรมเป็นส่วนแสดงสภาวะหรือรูปลักษณะตัวความจริง และให้จริย-ธรรมเป็นฝ่ายข้อประพฤติปฏิบัติทั้งหมด ก็จะเห็นว่า
 สัจธรรม ในพุทธศาสนา หมายถึงคำสอนเกี่ยวกับสภาวะของสิ่งทั้งหลาย หรือธรรมชาติและความเป็นไปโดยธรรมดาของสิ่งทั้งหลาย หรือกฎธรรมชาตินั่นเอง ส่วน จริยธรรม ก็หมายถึงการถือเอาประโยชน์จากความรู้ความเข้าใจในสภาพและความเป็นไปของสิ่งทั้งหลาย หรือการรู้กฎธรรมชาติแล้วนำมาใช้ในทางที่เป็นประโยชน์
 
 อีกนัยหนึ่ง สัจธรรม คือธรรมชาติและกฎธรรมดา จริยธรรม คือความรู้ในการประยุกต์สัจธรรม
 หลักการทั้งหมดนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับตัวการนอกเหนือธรรมชาติ เช่น พระผู้สร้าง เป็นต้น แต่ประการใดเลย
 ด้วยเหตุนี้ ในการแสดงพุทธธรรมเพื่อความรู้ความเข้าใจที่มุ่งในแนวทฤษฎี คือ มุ่งให้รู้ว่าเป็นอะไร จึงควรแสดงควบคู่กันไปทั้งสัจธรรมและจริยธรรม คือแสดงหลักคำสอนในแง่สภาวะ แล้วชี้ถึงคุณค่าที่จะนำมาใช้ในทางปฏิบัติไว้ด้วย ให้เสร็จไปแต่ละอย่างๆ
 วิธีแสดงอย่างนี้เหมือนจะตรงข้ามกับเทศนาแบบอริยสัจ ๔ ซึ่งมุ่งผลในทางปฏิบัติคือการดับทุกข์หรือแก้ปัญหา จึงเริ่มด้วยปัญหาที่ปรากฏก่อน แล้วดำเนินไปสู่วิธีปฏิบัติในการแก้ไขให้ถึงจุดหมายโดยลำดับ ส่วนในที่นี้ เริ่มด้วยความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโลกและชีวิต ในแง่ของสภาวะตามธรรมชาติ ให้เห็นหลักความจริงทีละแง่ทีละอย่างก่อน แล้วกล่าวถึงความหมายหรือคุณค่าทางปฏิบัติของหลักความจริงแต่ละอย่างนั้น ที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตหรือแก้ปัญหาต่อไป แม้เมื่อมองหนังสือพุทธธรรมหมดทีเดียวตลอดทั้งเล่ม ก็จะเห็นภาพรวมอย่างเดียวกันนี้ คือ หนังสือทั้งเล่มมี ๒ ภาค เริ่มด้วยภาค ๑ แสดงธรรมฝ่ายสภาวะที่เป็นหลักความจริงกลางๆ ตามธรรมชาติ คือ มัชเฌน-ธรรมเทศนา แล้วจากนั้น ภาค ๒ แสดงธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติของมนุษย์ โดยสอดคล้องกับความจริงของธรรมชาตินั้น ตามมรรคาที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา
 
อย่างไรก็ตาม ในที่สุด เมื่อมองกว้างครอบคลุมทั้งหมดอีกครั้งหนึ่ง ก็จะเห็นว่า พุทธธรรม ที่บรรยาย ณ ที่นี้ มีโครงสร้างใหญ่ซ้อนอยู่ในหลักอริยสัจ ๔ นั่นเอง ดังจะเห็นได้ต่อแต่นี้ไป
อนึ่ง ในข้อเขียนนี้ ได้ตกลงใจแสดงความหมายภาษาอังกฤษของศัพท์ธรรมที่สำคัญๆ ไว้ด้วย โดยเหตุผลอย่างน้อย ๓ อย่าง คือ
ประการแรก ในภาษาไทยปัจจุบัน ได้มีผู้นำศัพท์ธรรมบางคำมาใช้เป็นศัพท์บัญญัติ สำหรับคำในภาษาอังกฤษที่มีความหมายไม่ตรงกันกับศัพท์ธรรมนั้น อันอาจทำให้ความเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ จึงนำความหมายในภาษาอังกฤษมาแสดงควบไว้ด้วย เพื่อไม่ให้ผู้อ่านถือไปตามความหมายที่มีผู้บัญญัติใช้ใหม่ในภาษาไทย
ประการที่สอง จำต้องยอมรับความจริงว่า นักศึกษาวิชาการสมัยใหม่จำนวนไม่น้อย เข้าใจความหมายในภาษาไทยได้ชัดเจนขึ้นในเมื่อเห็นคำภาษาอังกฤษควบอยู่ด้วย
ประการที่สาม ตำราภาษาต่างประเทศที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในปัจจุบันนี้ มีจำนวนมาก การรู้ความหมายศัพท์ธรรมที่นิยมใช้ในภาษาอังกฤษ ย่อมเป็นประโยชน์แก่นักศึกษาที่ต้องการค้นคว้าอย่างกว้างขวางต่อไป

หัวข้อ: Re: พุทธธรรม :ภาค ๑ มัชเฌนธรรมเทศนา (ป. อ. ปยุตฺโต)
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ กุมภาพันธ์ 01, 2013, 01:15:18 pm


(http://sphotos-e.ak.fbcdn.net/hphotos-ak-ash3/530688_424900400922691_1108699219_n.jpg)
ภาค ๑ มัชเฌนธรรมเทศนา
หลักความจริงที่เป็นกลางตามธรรมชาติ หรือธรรมที่เป็นกลาง
ชีวิตคืออะไร...?
ชีวิตเป็นอย่างไร ?
ชีวิตเป็นไปอย่างไร ?

ภาค ๒ มัชฌิมาปฏิปทา
บทเพิ่มเติม

ชีวิตคืออะไร ?
ก. ขันธ์ ๕ ส่วนประกอบห้าอย่างของชีวิต
ข. อายตนะ ๖ แดนรับรู้และเสพเสวยโลก

ก. ขันธ์ ๕ ส่วนประกอบห้าอย่างของชีวิต
ตัวสภาวะ
 พุทธธรรมมองเห็นสิ่งทั้งหลายในรูปของส่วนประกอบต่างๆ ที่มาประชุมกันเข้า ตัวตนแท้ๆ ของสิ่งทั้งหลายไม่มี เมื่อแยกส่วนต่างๆ ที่มาประกอบกันเข้านั้นออกไปให้หมด ก็จะไม่พบตัวตนของสิ่งนั้นเหลืออยู่ ตัวอย่างง่ายๆ ที่ยกขึ้นอ้างกันบ่อยๆ คือ “รถ” เมื่อนำส่วนประกอบต่างๆ มาประกอบเข้าด้วยกันตามแบบที่กำหนด ก็บัญญัติเรียกกันว่า “รถ”  แต่ถ้าแยกส่วนประกอบทั้งหมดออกจากกัน ก็จะหาตัวตนของรถไม่ได้ มีแต่ส่วนประกอบทั้งหลาย ซึ่งมีชื่อเรียกต่างๆ กันจำเพาะแต่ละอย่างอยู่แล้ว คือ ตัวตนของรถมิได้มีอยู่ต่างหากจากส่วนประกอบเหล่านั้นมีแต่เพียงคำบัญญัติว่า “รถ” สำหรับสภาพที่มารวมตัวกันเข้าของส่วนประกอบเหล่านั้น

 แม้ส่วนประกอบแต่ละอย่างๆ นั้นเอง ก็ปรากฏขึ้นโดยการรวมกันเข้าของส่วนประกอบย่อยๆ ต่อๆ ไปอีก และหาตัวตนที่แท้ไม่พบเช่นเดียวกัน เมื่อจะพูดว่าสิ่งทั้งหลายมีอยู่ ก็ต้องเข้าใจในความหมายว่า มีอยู่ในภาวะของส่วนประกอบต่างๆ ที่มาประชุมเข้าด้วยกัน
 เมื่อมองเห็นสภาพของสิ่งทั้งหลายในรูปของการประชุมส่วนประกอบเช่นนี้ พุทธธรรมจึงต้องแสดงต่อไปว่า ส่วนประกอบต่างๆ เหล่านั้นเป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง อย่างน้อยก็พอเป็นตัวอย่าง และโดยที่พุทธธรรมมีความเกี่ยวข้องเป็นพิเศษกับเรื่องชีวิต โดยเฉพาะในด้านจิตใจ การแสดงส่วนประกอบต่างๆ จึงต้องครอบคลุมทั้งวัตถุและจิตใจ หรือทั้งรูปธรรมและนามธรรม และแยกแยะเป็นพิเศษในด้านจิตใจ
 การแสดงส่วนประกอบต่างๆ นั้น ย่อมทำได้หลายแบบ สุดแต่วัตถุประสงค์จำเพาะของการแสดงแบบนั้นๆ  แต่ในที่นี้ จะแสดงแบบขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นแบบที่นิยมในพระสูตร

 โดยวิธีแบ่งแบบ ขันธ์ ๕ (the Five Aggregates) พุทธธรรมแยกแยะชีวิตพร้อมทั้งองคาพยพทั้งหมด ที่บัญญัติเรียกว่า “สัตว์” “บุคคล” ฯลฯ ออกเป็นส่วนประกอบต่างๆ ๕ ประเภท หรือ ๕ หมวด เรียกทางธรรมว่า เบญจขันธ์ คือ
 ๑. รูป  (Corporeality) ได้แก่ส่วนประกอบฝ่ายรูปธรรมทั้งหมด ร่างกายและพฤติกรรมทั้งหมดของร่างกาย หรือ สสารและพลังงานฝ่ายวัตถุ พร้อมทั้งคุณสมบัติ และพฤติการณ์ต่างๆ ของสสารพลังงานเหล่านั้น
 ๒. เวทนา  (Feeling หรือ Sensation) ได้แก่ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉยๆ ซึ่งเกิดจากผัสสะทางประสาททั้ง ๕ และทางใจ
 ๓. สัญญา  (Perception) ได้แก่ความกำหนดได้ หรือหมายรู้ คือ กำหนดรู้อาการเครื่องหมายลักษณะต่างๆ อันเป็นเหตุให้จำอารมณ์  (object) นั้นๆ ได้
 ๔. สังขาร  (Mental Formations หรือ Volitional Activities) ได้แก่องค์ประกอบหรือคุณสมบัติต่างๆ ของจิต ที่ปรุงแต่งจิตให้ดีหรือชั่ว หรือเป็นกลางๆ โดยมีเจตนาเป็นตัวนำ พูดง่ายๆ ว่า ความนึกคิดดีชั่วต่างๆ เช่น ศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา  ปัญญา โมหะ โทสะ โลภะ มานะ ทิฏฐิ อิสสา มัจฉริยะ เป็นต้น
 ๕. วิญญาณ  (Consciousness) ได้แก่ความรู้แจ้งอารมณ์ทางประสาททั้ง ๕ และทางใจ คือ การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรู้รส  การรู้สัมผัสทางกาย และการรู้อารมณ์ทางใจ
ขันธ์ ๕ กับอุปาทานขันธ์ ๕ หรือชีวิตกับชีวิตซึ่งเป็นปัญหา
 ในพุทธพจน์แสดงความหมายของอริยสัจ ๔   ซึ่งเป็นหลักธรรมที่ประมวลใจความทั้งหมดของพระพุทธศาสนา มีข้อความที่น่าสังเกตเป็นพิเศษเกี่ยวกับขันธ์ ๕ ปรากฏอยู่ในอริยสัจข้อที่ ๑ คือ ข้อว่าด้วยทุกข์

 ในอริยสัจข้อที่ ๑   นั้น ตอนต้นพระพุทธเจ้าทรงแสดงความหมายหรือคำจำกัดความของทุกข์ ด้วยวิธียกตัวอย่างเหตุการณ์ต่างๆ ที่มองเห็นได้ง่ายและมีอยู่เป็นสามัญในชีวิตของบุคคล ขึ้นแสดงว่าเป็นความทุกข์แต่ละอย่างๆ แต่ในตอนท้าย พระองค์ตรัสสรุปลงเป็นข้อเดียวว่า อุปาทาน-ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ ดังพุทธพจน์ว่า

 ภิกษุทั้งหลาย นี้คือ ทุกขอริยสัจ: ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ ความประจวบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ โดยย่ออุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์

 พุทธพจน์นี้ นอกจากแสดงถึงฐานะของขันธ์ ๕ ในพุทธธรรมแล้ว ยังมีข้อสังเกตสามัญ คือ ความหมายของ “ทุกข์” นั้น จำง่ายๆ ด้วยคำสรุปที่สั้นที่สุดว่า คือ อุปาทานขันธ์ ๕ หรือเบญจอุปาทานขันธ์เท่านั้น และคำว่าขันธ์ในที่นี้มี “อุปาทาน” นำหน้าด้วย

 สิ่งที่ควรศึกษาในที่นี้ ก็คือคำว่า “ขันธ์” กับ “อุปาทานขันธ์” ซึ่งขอให้พิจารณาตามพุทธพจน์ต่อไปนี้
 ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงขันธ์ ๕ และอุปาทานขันธ์ ๕ เธอทั้งหลายจงฟัง
 ขันธ์ ๕ เป็นไฉน? รูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ อันใดอันหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นภายในก็ตาม ภายนอกก็ตาม หยาบก็ตาม ละเอียดทรามก็ตาม ประณีตก็ตาม ไกลหรือใกล้ก็ตาม...เหล่านี้ เรียกว่า ขันธ์ ๕

 อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นไฉน? รูป...เวทนา…สัญญา...สังขาร...วิญญาณ อันใดอันหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นภายในก็ตาม ภายนอกก็ตาม หยาบก็ตาม ละเอียดก็ตาม ทรามก็ตาม ประณีตก็ตาม ไกลหรือใกล้ก็ตาม ที่ประกอบด้วยอาสวะ เป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน...เหล่านี้ เรียกว่า อุปาทานขันธ์ ๕

 รูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ คือธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน  ฉันทราคะ (ความกระสันอยาก)  ในรูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ นั้นคือ อุปาทานใน (สิ่ง) นั้นๆ
 หลักดังกล่าวนี้ เป็นพื้นฐานความเข้าใจที่สำคัญอย่างหนึ่ง ในการศึกษาพุทธธรรมต่อไป
 
คุณค่าทางจริยธรรม
 ตามปกติ มนุษย์มีความโน้มเอียงที่จะยึดถืออยู่เสมอว่า ตัวตนที่แท้ของตนมีอยู่ในรูปใดรูปหนึ่ง บ้างก็ยึดเอาจิตเป็นตัวตน  บ้างก็ยึดว่า มีสิ่งที่เป็นตัวตนอยู่ต่างหากแฝงซ้อนอยู่ในจิตนั้น ซึ่งเป็นเจ้าของ และเป็นตัวการที่คอยควบคุมบังคับบัญชากายและใจนั้นอีกชั้นหนึ่ง

 การแสดงขันธ์ ๕ นี้ มุ่งให้เห็นว่าสิ่งที่เรียกว่า “สัตว์” “บุคคล” “ตัวตน” เป็นต้นนั้น เมื่อแยกออกไปแล้วก็จะพบแต่ส่วนประกอบ ๕ ส่วนเหล่านี้เท่านั้น ไม่มีสิ่งอื่นเหลืออยู่ที่จะมาเป็นตัวตนต่างหากได้ และแม้ขันธ์ ๕ เหล่านั้นแต่ละอย่าง ก็มีอยู่เพียงในรูปที่สัมพันธ์อิงอาศัยกัน ไม่เป็นอิสระ ไม่มีโดยตัวของมันเอง ดังนั้นขันธ์ ๕ แต่ละอย่างๆ นั้นก็ไม่ใช่ตัวตนอีกเช่นกัน

 รวมความว่า หลักขันธ์ ๕ แสดงถึงความเป็น อนัตตา ให้เห็นว่าชีวิตเป็นการประชุมเข้าของส่วนประกอบต่างๆ หน่วยรวมของส่วนประกอบเหล่านี้ ก็ไม่ใช่ตัวตน ส่วนประกอบแต่ละอย่างๆ นั้นเอง ก็ไม่ใช่ตัวตน และสิ่งที่เป็นตัวตนอยู่ต่างหากจากส่วนประกอบเหล่านี้ก็ไม่มี  เมื่อมองเห็นเช่นนั้นแล้ว ก็จะถอนความยึดมั่นถือมั่นในเรื่องตัวตนได้ ความเป็นอนัตตานี้จะเห็นได้ชัดต่อเมื่อเข้าใจกระบวนการของขันธ์ ๕ ในวงจรแห่งปฏิจจสมุปบาทที่จะกล่าวต่อไป

 อนึ่ง เมื่อมองเห็นว่า ขันธ์ ๕ มีอยู่อย่างสัมพันธ์และอาศัยซึ่งกันและกัน ก็จะไม่เกิดความเห็นผิดว่าขาดสูญ ที่เรียกว่า อุจเฉททิฏฐิ และความเห็นผิดว่าเที่ยง ที่เรียกว่า สัสสตทิฏฐิ นอกจากนั้นเมื่อรู้ว่าสิ่งทั้งหลายไม่มีตัวตนและมีอยู่อย่างสัมพันธ์อาศัยกันและกันเช่นนี้แล้ว ก็จะเข้าใจหลักกรรมโดยถูกต้องว่าเป็นไปได้อย่างไร กระบวนการแห่งความสัมพันธ์และอาศัยกันของสิ่งทั้งหลายนี้มีคำอธิบายอยู่ในหลักปฏิจจสมุปบาทเช่นเดียวกัน

 อีกประการหนึ่ง การมองสิ่งทั้งหลายโดยวิธีแยกส่วนประกอบออกไปอย่างวิธีขันธ์ ๕ นี้ เป็นการฝึกความคิด หรือสร้างนิสัยที่จะใช้ความคิดแบบวิเคราะห์ความจริง คือ เมื่อประสบหรือเข้าเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ ความคิดก็ไม่หยุดตันตื้อ ยึดถือเฉพาะรูปลักษณะภายนอกเท่านั้น เป็นการสร้างนิสัยชอบสอบสวนสืบค้นหาความจริง และที่สำคัญยิ่งคือ ทำให้รู้จักมองสิ่งทั้งหลายตามภาวะล้วนๆ ของมัน หรือตามแบบสภาววิสัย (objective) คือมองเห็นสิ่งทั้งหลาย “ตามที่มันเป็น” ไม่นำเอาตัณหาอุปาทานเข้าไปจับ อันเป็นเหตุให้มองเห็นตามที่อยากหรือไม่อยากให้มันเป็น อย่างที่เรียกว่า สกวิสัย (subjective)

 คุณค่าอย่างหลังนี้ นับว่าเป็นการเข้าถึงจุดหมายที่ต้องการของพุทธธรรมและของหลักขันธ์ ๕ นี้ คือการไม่ยึดมั่นถือมั่น การไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายด้วยการใช้ตัณหาอุปาทาน แต่เข้าไปเกี่ยวข้องจัดการด้วย ปัญญา

 อย่างไรก็ดี ในการแสดงพุทธธรรมนั้น ตามปกติท่านไม่แสดงเรื่องขันธ์ ๕  โดยลำพังโดดๆ เพราะขันธ์ ๕  เป็นแต่สภาวะที่ยกขึ้นเป็นตัวตั้งสำหรับพิจารณา และการพิจารณานั้นย่อมเป็นไปตามแนวแห่งหลักธรรมอย่างอื่น ที่เป็นประเภทกฎสำหรับนำมาจับหรือกำหนดว่าขันธ์ ๕ มีสภาวะเป็นอย่างไร มีความเป็นไปอย่างไร เป็นต้น คือ ต้องแสดงโดยสัมพันธ์กับหลักธรรมชาติอย่างอื่น เช่น หลักอนัตตา เป็นต้น จึงจะปรากฏคุณค่าในทางปฏิบัติโดยสมบูรณ์ ดังนั้น จึงขอยุติเรื่องขันธ์ ๕ ไว้เพียงในฐานะสิ่งที่ยกขึ้นเป็นตัวตั้งสำหรับนำไปพิจารณากันในหลักต่อๆ ไป

หัวข้อ: Re: พุทธธรรม :อายตนะ ๖ แดนรับรู้และเสพเสวยโลก (ป. อ. ปยุตฺโต)
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ กุมภาพันธ์ 02, 2013, 05:43:20 am


(http://sphotos-f.ak.fbcdn.net/hphotos-ak-ash4/c0.101.403.403/p403x403/406056_555997101094653_1606760633_n.jpg)

ข. อายตนะ ๖ แดนรับรู้และเสพเสวยโลก
ช่องทางที่ชีวิตติดต่อกับโลก
 แม้ว่าชีวิตจะประกอบด้วยขันธ์ ๕ ซึ่งแบ่งซอยออกไปเป็นหน่วยย่อยต่างๆ มากมาย แต่ในทางปฏิบัติ คือ ในการดำเนินชีวิตทั่วไป มนุษย์ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับส่วนประกอบเหล่านั้นโดยทั่วถึงแต่อย่างใด

 ส่วนประกอบหลายอย่างมีอยู่และทำหน้าที่ของมันไปโดยมนุษย์ไม่รู้จัก หรือแม้รู้จัก ก็แทบไม่ได้นึกถึงเลย เช่น ในด้านรูปธรรม อวัยวะภายในร่างกายหลายอย่าง ทำหน้าที่ของมันอยู่ โดยมนุษย์ผู้เป็นเจ้าของไม่รู้ และไม่ได้ใส่ใจที่จะรู้ จนบางคราวมันเกิดความวิปริตหรือทำหน้าที่บกพร่องขึ้น มนุษย์จึงจะหันมาสนใจ แม้องค์ประกอบต่างๆ ในกระบวนการฝ่ายจิตก็เป็นเช่นเดียวกัน

 การศึกษาวิเคราะห์องค์ประกอบต่างๆ และกระบวนการทำงานทางร่างกาย เราปล่อยให้เป็นภาระของนักศึกษาทางแพทยศาสตร์และชีววิทยา ส่วนการศึกษาวิเคราะห์องค์ประกอบและกระบวนการทำงานด้านจิตใจ เราปล่อยให้เป็นภาระของนักอภิธรรมและนักจิตวิทยา

 แต่สำหรับคนทั่วไป ความหมายของชีวิตอยู่ที่ชีวิตในทางปฏิบัติ หรือชีวิตที่ดำเนินอยู่เป็นประจำในแต่ละวัน ซึ่งได้แก่การติดต่อเกี่ยวข้องกับโลก สิ่งที่ให้ความหมายแก่ชีวิต ก็คือการติดต่อเกี่ยวข้องกับโลก หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า ชีวิตตามความหมายของมนุษย์ คือชีวิตโดยความสัมพันธ์กับโลก

 ชีวิตในทางปฏิบัติหรือชีวิตโดยความสัมพันธ์กับโลกนี้ แบ่งออกได้เป็น ๒ ภาค แต่ละภาคมีระบบการทำงาน ซึ่งอาศัยช่องทางที่ชีวิตจะติดต่อเกี่ยวข้องกับโลกได้ ซึ่งเรียกว่า “ทวาร” (ประตู, ช่องทาง) ดังนี้

 ๑. ภาครับรู้และเสพเสวยโลก อาศัย ทวาร ๖  คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สำหรับรับรู้และเสพเสวยโลก ซึ่งปรากฏแก่มนุษย์โดยลักษณะและอาการต่างๆ ที่เรียกว่า อารมณ์ ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์
 ๒. ภาคแสดงออกหรือกระทำต่อโลก อาศัย ทวาร ๓  คือ กาย วาจา ใจ (กายทวาร วจีทวาร มโนทวาร) สำหรับกระทำตอบต่อโลก โดยแสดงออกเป็นการทำ การพูด และการคิด (กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม)

 ใน ภาคที่ ๑ มีข้อที่พึงย้ำเป็นพิเศษ เพื่อสะดวกแก่การศึกษาต่อไปว่า คำว่า “ทวาร” (ใน ทวาร ๖) นั้น เมื่อนำไปกล่าวในระบบการทำงานของกระบวนธรรมแห่งชีวิต ท่านนิยมเปลี่ยนไปใช้คำว่า “อายตนะ” ซึ่งแปลว่า แดนเชื่อมต่อให้เกิดความรู้ หรือทางรับรู้ ดังนั้นในการศึกษาเรื่องนี้ต่อไป จะใช้คำว่า “อายตนะ” แทนคำว่า “ทวาร”

 ใน ภาคที่ ๒ มีข้อพึงย้ำคือ กระบวนธรรมของชีวิตในภาคนี้ รวมอยู่ในขันธ์ที่ ๔ คือ สังขารขันธ์ ที่กล่าวมาแล้วในบทก่อน

 สังขารต่างๆ ในสังขารขันธ์ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากมาย แบ่งเป็น ฝ่ายดีบ้าง ฝ่ายชั่วบ้าง ฝ่ายกลางๆ บ้าง จะปรากฏตัวออกมาปฏิบัติการ โดยถูกเจตนาที่เป็นหัวหน้าหรือเป็นตัวแทนเลือกชักจูงมา หรือจัดแจงมอบหมายหน้าที่ ให้ช่วยกันทำการปรุงแต่งการแสดงออก หรือการกระทำทาง ทวาร ๓ คือ กาย วาจา ใจ เกิดเป็นกรรม คือการทำ การพูด การคิด

 ในกรณีนี้ สังขารจะถูกจัดประเภทเสียใหม่ให้สอดคล้องกับบทบาทของมัน โดย
 - แบ่งตามทางหรือทวารที่แสดงออก เป็นกายสังขาร วจีสังขาร และมโนสังขาร
 - เรียกตามชื่อหัวหน้าหรือตัวแทนว่า กายสัญเจตนา วจีสัญเจตนา และมโนสัญเจตนา หรือ
 - เรียกตามงานที่ทำออกมาว่า กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม แสดงให้เห็นง่ายขึ้น ดังนี้

๑. กายสังขาร        =  กายสัญเจตนา -------------  กายทวาร -- กายกรรม
[สภาพปรุงแต่งการกระทำทางกาย] = [ความจงใจ(แสดงออก)ทางกาย] [ทางกาย]  [การกระทำทางกาย]
๒. วจีสังขาร         = วจีสัญเจตนา  --------------- วจีทวาร -- วจีกรรม
[สภาพปรุงแต่งการกระทำทางวาจา] = [ความจงใจ(แสดงออก)ทางวาจา] [ทางวาจา][การกระทำทางวาจา]
๓. มโนสังขาร        =  มโนสัญเจตนา --------   มโนทวาร -- มโนกรรม
[สภาพปรุงแต่งการกระทำทางใจ]    = [ความจงใจ(แสดง)ทางใจ]  [ทางใจ] [การกระทำทางใจ]
 สังขาร ในฐานะเครื่องแต่งคุณภาพหรือคุณสมบัติต่างๆ ของจิต ได้กล่าวแล้วในเรื่องขันธ์ ๕
 ส่วน สังขาร ในฐานะกระบวนการปรุงแต่งแสดงออกและกระทำการต่างๆ ต่อโลก เป็นเรื่องกิจกรรมของชีวิต ซึ่งจะแสดงเป็นพิเศษส่วนหนึ่งต่างหาก ในตอนว่าด้วย “ชีวิตเป็นไปอย่างไร”
 ในที่นี้ มุ่งแสดงแต่สภาวะอันเนื่องอยู่ที่ตัวชีวิตเอง หรือองค์ประกอบของชีวิต พร้อมทั้งหน้าที่ของมันตามสมควร จึงจะกล่าวเฉพาะภาคที่ ๑ คือเรื่อง ทวาร ๖ ที่เรียกว่า อายตนะ ๖ อย่างเดียว
 
ตัวสภาวะ
 “อายตนะ” แปลว่า ที่ต่อ หรือแดน หมายถึงที่ต่อกันให้เกิดความรู้ แดนเชื่อมต่อให้เกิดความรู้ หรือแหล่งที่มาของความรู้ แปลอย่างง่ายๆ ว่า ทางรับรู้ มี ๖ อย่าง ดังที่เรียกในภาษาไทยว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

 ที่ว่าต่อ หรือเชื่อมต่อ ให้เกิดความรู้นั้น ต่อ หรือ เชื่อมต่อกับอะไร ? ตอบว่า เชื่อมต่อกับโลก คือ สิ่งแวดล้อมภายนอก
 แต่โลกนั้นปรากฏลักษณะอาการแก่มนุษย์เป็นส่วนๆ ด้านๆ ไป เท่าที่มนุษย์จะมีแดนหรือเครื่องมือสำหรับรับรู้ คือ เท่าจำนวนอายตนะ ๖ ที่กล่าวมาแล้วเท่านั้น

 ดังนั้น อายตนะ ทั้ง ๖ จึงมีคู่ของมันอยู่ในโลก เป็นสิ่งที่ถูกรับรู้สำหรับแต่ละอย่างๆ โดยเฉพาะ
 สิ่งที่ถูกรับรู้ หรือลักษณะอาการต่างๆ ของโลก เหล่านี้ เรียกชื่อว่า    “อายตนะ” เหมือนกัน เพราะเป็นสิ่งที่เชื่อมต่อให้เกิดความรู้ หรือเป็นแหล่งความรู้ เช่นเดียวกัน แต่เป็นฝ่ายภายนอก

 เพื่อแยกประเภทจากกันไม่ให้สับสน ท่านเรียกอายตนะพวกแรกว่า “อายตนะภายใน” (แดนต่อความรู้ฝ่ายภายใน) และเรียกอายตนะพวกหลังนี้ว่า “อายตนะภายนอก” (แดนต่อความรู้ฝ่ายภายนอก)

 อายตนะภายนอก ๖ อันได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งต้องกาย และสิ่งที่ใจนึก โดยทั่วไปนิยมเรียกว่า “อารมณ์” แปลว่า สิ่งอันเป็นที่สำหรับจิตมาหน่วงอยู่ หรือ สิ่งสำหรับยึดหน่วงของจิต แปลง่ายๆ ว่าสิ่งที่ถูกรับรู้ หรือสิ่งที่ถูกรู้นั่นเอง

 เมื่ออายตนะ (ภายใน) ซึ่งเป็นแดนรับรู้ กระทบกับอารมณ์ (อายตนะภายนอก) ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกรู้ ก็จะเกิดความรู้จำเพาะด้านของอายตนะแต่ละอย่างๆ ขึ้น เช่น ตากระทบรูป เกิดความรู้เรียกว่า “เห็น” หูกระทบเสียง เกิดความรู้เรียกว่า “ได้ยิน” เป็นต้น

 ความรู้จำเพาะแต่ละด้านนี้ เรียกว่า “วิญญาณ” แปลว่า ความรู้แจ้ง  คือรู้อารมณ์
 ดังนั้น จึงมี วิญญาณ ๖ อย่าง เท่ากับอายตนะและอารมณ์ ๖ คู่ คือ วิญญาณทางตา  ได้แก่ เห็น  วิญญาณทางหู ได้แก่ ได้ยิน  วิญญาณทางจมูก ได้แก่ ได้กลิ่น  วิญญาณทางลิ้น ได้แก่ รู้รส  วิญญาณทางกาย ได้แก่ รู้สิ่งต้องกาย วิญญาณทางใจ ได้แก่ รู้อารมณ์ทางใจ หรือรู้เรื่องในใจ

 สรุปได้ว่า อายตนะ ๖ อารมณ์ ๖ และ วิญญาณ ๖  มีชื่อในภาษาธรรม และมีความสัมพันธ์กัน ดังนี้
๑.  จักขุ   - ตา  เป็นแดนรับรู้   รูป - รูป     เกิดความรู้คือ จักขุวิญญาณ - เห็น
๒.  โสตะ  - หู         ,,      สัททะ - เสียง            ,,    โสตวิญญาณ - ได้ยิน
๓.  ฆานะ – จมูก      ,,      คันธะ - กลิ่น           ,,    ฆานวิญญาณ - ได้กลิ่น
๔.  ชิวหา  – ลิ้น       ,,          รส - รส           ,,    ชิวหาวิญญาณ- รู้รส
๕.  กาย   –  กาย     ,,   โผฏฐัพพะ - สิ่งต้องกาย   ,,    กายวิญญาณ  - รู้สิ่งต้องกาย
๖.  มโน   –  ใจ       ,,      ธรรม  - เรื่องในใจ   ,,    มโนวิญญาณ  - รู้เรื่องในใจ

 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวิญญาณจะต้องอาศัยอายตนะและอารมณ์กระทบกันจึงจะเกิดขึ้นได้  ก็จริง แต่การที่อารมณ์เข้ามาปรากฏแก่อายตนะ ก็มิใช่ว่าจะทำให้วิญญาณเกิดขึ้นได้เสมอไป จำต้องมี ความใส่ใจ ความกำหนดใจ หรือความใฝ่ใจประกอบอยู่ด้วย วิญญาณนั้นๆ จึงจะเกิดขึ้น

 ดังตัวอย่าง ในบางคราว เช่น เวลาหลับสนิท เวลาฟุ้งซ่าน หรือใจลอยไปเสีย เวลาใจจดจ่อแน่วแน่อยู่กับกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง ตลอดจนขณะอยู่ในสมาธิ รูปและเสียงเป็นต้น หลายๆ อย่างที่ผ่านเข้ามา อยู่ในวิสัยที่จะเห็น จะได้ยิน แต่หาได้เห็น หาได้ยินไม่

 อีกตัวอย่างง่ายๆ ขณะเขียนหนังสือ ใจจดจ่ออยู่ จะไม่รู้สึกส่วนของร่างกายที่แตะอยู่กับโต๊ะและเก้าอี้ ตลอดจนมือที่แตะกระดาษ และนิ้วที่แตะปากกาหรือดินสอ

 ในเมื่อมีอายตนะและอารมณ์เข้ามาถึงกันแล้ว แต่วิญญาณไม่เกิดขึ้นเช่นนี้  ก็ยังไม่เรียกว่าการรับรู้ได้เกิดขึ้น

 การรับรู้ จะเกิดขึ้น ต่อเมื่อมีองค์ประกอบเกิดขึ้นครบทั้ง ๓ อย่าง คือ อายตนะ อารมณ์ และวิญญาณ ภาวะนี้ในภาษาธรรมมีคำเรียกโดยเฉพาะว่า “ผัสสะ” หรือ “สัมผัส”  แปลตามรูปศัพท์ว่า การกระทบ แต่มีความหมายทางธรรมว่า การประจวบหรือบรรจบพร้อมกันแห่งอายตนะ อารมณ์ และวิญญาณ พูดอย่างเข้าใจกันง่ายๆ ผัสสะ ก็คือ การรับรู้ นั่นเอง

 ผัสสะ หรือ สัมผัส หรือการรับรู้นี้ มีชื่อเรียกแยกเป็นอย่างๆ ไป ตามทางรับรู้  คืออายตนะนั้นๆ ครบจำนวน ๖  คือ  จักขุสัมผัส  โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส

 ผัสสะ เป็นขั้นตอนสำคัญในกระบวนการรับรู้ เมื่อผัสสะเกิดขึ้นแล้ว กระบวนธรรมก็ดำเนินต่อไป เริ่มแต่ความรู้สึกต่ออารมณ์ที่รับรู้เข้ามานั้น ปฏิกิริยาอย่างอื่นของจิตใจ การจำหมาย การนำอารมณ์นั้นไปคิดปรุงแต่ง ตลอดจนการแสดงออกต่างๆ ที่สืบเนื่องไปตามลำดับ

 ในกระบวนธรรมนี้ สิ่งที่ควรสนใจเป็นพิเศษในการศึกษาขั้นนี้ ก็คือ ความรู้สึกต่ออารมณ์ที่รับรู้เข้ามา ซึ่งเกิดขึ้นในลำดับถัดจากผัสสะนั้นเอง ความรู้สึกนี้ในภาษาธรรม เรียกว่า “เวทนา” แปลว่า การเสวยอารมณ์ หรือ การเสพรสอารมณ์ คือความรู้สึกต่ออารมณ์ที่รับรู้เข้ามานั้น โดยเป็น สุขสบาย ไม่สบาย หรือเฉยๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง

 เวทนานี้ ถ้าแบ่งตามทางรับรู้ ก็มี ๖ เท่าจำนวนอายตนะ คือ เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางตา เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางหู เป็นต้น
 แต่ถ้าแบ่งตามคุณภาพ จะมีจำนวน ๓ คือ
 ๑. สุข ได้แก่ สบาย ชื่นใจ ถูกใจ
 ๒. ทุกข์ ได้แก่ ไม่สบาย เจ็บปวด
 ๓. อทุกขมสุข ไม่ทุกข์ ไม่สุข คือเรื่อยๆ เฉยๆ ซึ่งเรียกอีกอย่างว่า อุเบกขา อีกอย่างหนึ่ง แบ่งละเอียดลงไปอีกเป็น เวทนา ๕ อย่าง คือ
 ๑. สุข ได้แก่ สบายกาย
 ๒. ทุกข์ ได้แก่ ไม่สบายกาย เจ็บปวด
 ๓. โสมนัส ได้แก่ สบายใจ ชื่นใจ
 ๔. โทมนัส ได้แก่ ไม่สบายใจ เสียใจ และ
 ๕. อุเบกขา  ได้แก่ เฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์
 กระบวนการรับรู้เท่าที่กล่าวมานี้ เขียนให้เห็นง่ายๆ ได้ดังนี้
อายตนะ + อารมณ์ +    วิญญาณ    =   ผัสสะ -- เวทนา
ทางรับรู้  สิ่งที่ถูกรู้       ความรู้        การรับรู้   ความรู้สึกต่ออารมณ์
 ดังได้กล่าวแล้วว่า  อารมณ์ ก็คือโลกที่ปรากฏลักษณะอาการแก่มนุษย์ทางอายตนะต่างๆ การรับรู้อารมณ์เหล่านี้ เป็นสิ่งจำเป็นซึ่งช่วยให้มนุษย์มีความสามารถในการเกี่ยวข้องกับโลก ทำให้ชีวิตอยู่รอดและดำเนินไปด้วยดี

 ในกระบวนการรับรู้นี้  เวทนา ก็เป็นส่วนประกอบสำคัญอย่างหนึ่ง โดยทำหน้าที่เป็นเครื่องชี้บอกให้ทราบว่า อะไรเป็นอันตรายแก่ชีวิต ควรหลีกเว้น อะไรเกื้อกูลแก่ชีวิต ควรถือเอาประโยชน์ได้ เวทนาจึงช่วยให้กระบวนการรับรู้ที่ดำเนินต่อไป สามารถสร้างความรู้ความเข้าใจที่ครบถ้วนบริบูรณ์ เป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น

 แต่สำหรับมนุษย์ปุถุชน เวทนามิได้มีความหมายเพียงเท่านั้น คือมิใช่เพียงแค่ว่ากระบวนการรับรู้ได้มีส่วนประกอบเพิ่มเข้ามาอีกอย่างหนึ่ง ที่ช่วยเสริมความรู้ให้สมบูรณ์ อันจะทำให้มนุษย์มีความสามารถมากขึ้น ในการดำเนินชีวิตที่ดีงาม แต่เวทนา ยังหมายถึงการที่โลกมีอะไรอย่างหนึ่งเป็นผลตอบแทนหรือรางวัลแก่มนุษย์ ในการเข้าไปเกี่ยวข้องกับโลกด้วย ผลตอบแทนที่ว่านี้ คือความเอร็ดอร่อย ความชื่นใจที่เกิดจากอารมณ์ ซึ่งเรียกว่า สุขเวทนา

 ในกรณีที่กระบวนการรับรู้ดำเนินมาตามลำดับ จนถึงเวทนา ถ้ามนุษย์หันเข้าจับเวทนาไว้ตามความหมายในแง่นี้ มนุษย์ก็จะหันเหออกไปจากกระบวนการรับรู้ ทำให้กระบวนธรรมอีกอย่างหนึ่งได้โอกาสเข้ามารับช่วงแล่นต่อไปแทนที่ โดยเวทนาจะกลายเป็นปัจจัยตัวเอกที่จะก่อให้เกิดผลสืบเนื่องต่อไป พร้อมกันนั้น กระบวนการรับรู้ ซึ่งกลายไปเป็นส่วนประกอบและเดินควบไปด้วย ก็จะถูกกำลังจากกระบวนธรรมใหม่นี้บีบคั้น ให้บิดเบือนและเอนเอียงไปจากความเป็นจริง

 กระบวนธรรมรับช่วงที่ว่านี้ มักดำเนินไปในแบบง่ายๆ พื้นๆ คือ เมื่อรับรู้อารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว เกิดความรู้สึกสุขสบายชื่นใจ ( ?? ? ? เวทนา) ก็อยากได้ (ตัณหา) เมื่ออยากได้ ก็ติดใจพัวพันจนถึงขั้นยึดติดถือมั่น (อุปาทาน) ค้างใจอยู่ไม่อาจวางลงได้ ทั้งที่ตามความเป็นจริงไม่อาจถือเอาไว้ได้ เพราะสิ่งนั้นๆ ล่วงเลยผ่านพ้นหมดไปแล้ว
 จากนั้น ก็เกิดความครุ่นคิดสร้างภาพต่างๆ ที่จะให้ตนอยู่ในภาวะครอบครองอารมณ์อันให้เกิดสุขเวทนานั้น พร้อมทั้งคิดปรุงแต่งสร้างวิธีการที่จะให้ได้อารมณ์และสิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งอารมณ์นั้น แล้วลงมือกระทำการต่างๆ ทางกายบ้าง วาจาบ้าง เพื่อให้ได้มาซึ่งผลที่ต้องการ เพื่อจะได้เวทนาที่ชอบใจนั้นยิ่งๆ ขึ้นไปอีก

 ในทางตรงข้าม ถ้ารับรู้อารมณ์ใดแล้ว เกิดความรู้สึกทุกข์ เจ็บปวด ไม่สบาย (ทุกข-เวทนา) ก็ไม่ชอบใจ ขัดเคือง อยากจะพ้นไป หรือให้มันสูญสิ้นไป อยากทำลาย (ตัณหา) ผูกใจ ปักใจ ค้างใจกับสิ่งนั้น (อุปาทาน) ในทางร้าย ที่จะชิงชัง เกลียดกลัว หลีกหนี อย่าให้พบเห็นอีก เป็นต้น พร้อมกับเกิดเป็นปฏิกิริยา ให้ยิ่งยึดมั่นฝันหาผูกใจมั่นหมาย ที่จะให้พบให้ได้สุขเวทนาและสิ่งที่หวังว่าจะให้สุขเวทนาแก่ตนยิ่งขึ้นไปอีก

 ในกระบวนการนี้ ก็จึงบังเกิดเป็นสุขทุกข์แบบซับซ้อนรุนแรงเข้มข้น ที่เป็นผลเสกสรรค์ของมนุษย์เอง ซึ่งหมุนเวียนเข้าวงจรที่เริ่มจากเวทนาใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า กลายเป็นสังสารวัฏ วนอยู่อย่างนั้น ไม่สามารถก้าวต่อไปสู่ผลเลิศอย่างอื่น ที่ชีวิตนี้ยังสามารถเข้าถึงได้ยิ่งกว่านั้นขึ้นไป

หัวข้อ: Re: พุทธธรรม :กระบวนธรรมที่สืบทอดจากผัสสะ (ป. อ. ปยุตฺโต)
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ กุมภาพันธ์ 02, 2013, 05:52:53 am


                (http://sphotos-e.ak.fbcdn.net/hphotos-ak-ash4/480879_336871033097148_4259060_n.jpg)

 โดยนัยนี้ จะเห็นว่า ช่วงต่อที่กระบวนธรรมจะสืบทอดจากการรับรู้ (ผัสสะ) ต่อไปนั้น เป็นขั้นตอนที่สำคัญอย่างยิ่ง เรียกได้ว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อทีเดียว และในภาวะเช่นนี้ เวทนาเป็นองค์ธรรมที่มีบทบาทสำคัญมาก กระบวนธรรมที่ดำเนินต่อไปจะเป็นอย่างไร (สำหรับปุถุชน) ต้องขึ้นต่อสภาพของเวทนา ว่าจะเป็นแบบไหนอย่างใด ทั้งนี้ พอจะตั้งเป็นข้อสังเกตได้ว่า

 ก. กระบวนธรรมที่สืบทอดจากผัสสะ เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ ระหว่างกระบวนการรับรู้ที่บริสุทธิ์ กับกระบวนการสังสารวัฏ
 ในกระบวนการรับรู้บริสุทธิ์ เวทนามีบทบาทเป็นเพียงองค์ประกอบย่อยๆ อย่างหนึ่ง ที่ช่วยให้เกิดความรู้ที่ถูกต้องสมบูรณ์
 ส่วนในกระบวนการสังสารวัฏ เวทนาเป็นปัจจัยตัวเอก ที่มีอิทธิพลครอบงำความเป็นไปของกระบวนธรรมทั้งหมด กล่าวได้ว่า มนุษย์จะคิดปรุงแต่งอย่างไร และทำการอะไร ก็เพราะเวทนา และเพื่อเวทนา หรือชีวิตจะเป็นอย่างไร ก็เพราะเวทนาและเพื่อเวทนา

 นอกจากนั้น ในกระบวนการสังสารวัฏนี้ มนุษย์มิได้หยุดอยู่เพียงแค่เป็นผู้รับรู้อารมณ์ และเรียนรู้โลกเพื่อเกี่ยวข้องจัดการกับสิ่งแวดล้อมอย่างได้ผลดีเท่านั้น แต่ได้ก้าวต่อไปสู่ความเป็นผู้เสพเสวยโลกด้วย

 สำหรับกระบวนการรับรู้บริสุทธิ์นั้น ถ้าจะพูดให้ละเอียดชัดเจนตามหลัก ก็ต้องตัดตอนที่ช่วงต่อจากผัสสะนี้ด้วยเหมือนกัน โดยถือว่า การรับรู้เกิดขึ้นเสร็จสิ้นแล้วที่ผัสสะ ดังนั้น กระบวนธรรมต่อจากนี้ไปจึงแยกได้เป็นอีกตอนหนึ่ง และขอเรียกชื่อว่า กระบวนการญาณทัศนะ หรือ กระบวนธรรมแบบวิวัฏฏ์ เป็นคู่ปฏิปักษ์กับกระบวนการสังสารวัฏ

 แต่กระบวนธรรมแบบวิวัฏฏ์ เป็นเรื่องของการแก้ปัญหาชีวิต จึงจะยกไปพูดในตอนที่ว่าด้วย “ชีวิตควรให้เป็นอย่างไร ?” และ “ชีวิตควรเป็นอยู่อย่างไร ?” ไม่กล่าวไว้ในที่นี้

 ข. กระบวนธรรมที่สืบทอดจากผัสสะ เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อทางจริยธรรม ระหว่างความดีกับความชั่ว ระหว่างกุศลกับอกุศล ระหว่างความหลุดพ้นเป็นอิสระ กับการหมกติดหมุนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ

 เมื่อกล่าวถึงส่วนอื่นๆ ของกระบวนธรรมแล้ว ก็ต้องย้อนกลับไปพูดถึงอายตนะอีก เพราะกระบวนธรรมต่างๆ ที่กล่าวมานั้น ต้องอาศัยอายตนะ เริ่มต้นที่อายตนะ เมื่อว่าองค์ธรรมอื่นๆ สำคัญ ก็ต้องว่าอายตนะสำคัญ

เหมือนกัน เช่น เมื่อว่าเวทนาเป็นองค์ธรรมสำคัญยิ่งในกระบวนธรรมแบบเสพเสวยโลก อายตนะก็ย่อมมีความสำคัญมากด้วย เพราะอายตนะเป็นแหล่งหรือเป็นช่องทางที่อำนวยให้เวทนาเกิดขึ้น

 เวทนา เป็นสิ่งที่มนุษย์มุ่งประสงค์ อายตนะ เป็นแหล่งอำนวยสิ่งที่มุ่งประสงค์นั้น
 เท่าที่กล่าวมา สรุปได้ว่า อายตนะ ๖ ทำหน้าที่รับใช้มนุษย์ ๒ อย่าง คือ
 ๑. เป็นทางรับรู้โลก หรือเป็นแหล่งนำโลกมาเสนอต่อมนุษย์ เป็นเครื่องมือสื่อสาร ทำให้มนุษย์ได้รับข้อมูลแห่งความรู้ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้มนุษย์สามารถเกี่ยวข้องกับโลกได้ถูกต้อง ทำให้ชีวิตอยู่รอด และ
ดำเนินไปด้วยดี
 ๒. เป็นช่องทางเสพโลก หรือเป็นประตูที่มนุษย์จะเปิดออกไปรับอารมณ์ที่เป็นรสอร่อยของโลก มาเสพเสวย ด้วยการดู การฟัง การดม การลิ้มชิมรส การแตะต้องเสียดสี ความสนุกสนานบันเทิง ตลอดจนจินตนาการ
สิ่งที่หวานชื่นระรื่นใจ

 ความจริง หน้าที่ทั้งสองอย่างนี้ ก็ติดเนื่องอยู่ด้วยกัน
 หน้าที่อย่างแรก เรียกได้ว่าเป็นหน้าที่หลัก หรือหน้าที่พื้นฐานที่จำเป็น
 ส่วน หน้าที่ที่สอง เป็นหน้าที่รอง จะว่าเป็นของแถมหรือส่วนเกินก็คงได้ 
 ในกรณีทั้งสองนั้น การทำงานของอายตนะก็อย่างเดียวกัน ความแตกต่างอยู่ที่เจตจำนงของมนุษย์ ซึ่งมุ่งไปที่ความรู้ หรือมุ่งไปที่เวทนา

 สำหรับมนุษย์ปุถุชน ความสำคัญของอายตนะมักจะก้าวข้ามมาอยู่กับหน้าที่อย่างที่สอง คือการเสพโลก จนถึงขั้นที่กลายเป็นว่า หน้าที่อย่างที่หนึ่งมีไว้เพียงเพื่อเป็นส่วนประกอบสนองการทำหน้าที่อย่างที่สอง หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า กระบวนการรับรู้มีไว้เพื่อรับใช้กระบวนการเสพเสวยโลก หรือรับใช้กระบวนการสังสารวัฏเท่านั้นเอง

 ทั้งนี้เพราะว่า ปุถุชนมักใช้อายตนะ เพื่อมุ่งรับรู้เฉพาะความรู้ส่วนที่จะทำให้ตนได้เสพเสวยอารมณ์อร่อยของโลกเท่านั้น หาสนใจสิ่งอันพึงรู้นอกจากนั้นไม่

 ยิ่งกว่านั้น แม้ความสัมพันธ์กับโลกในภาคแสดงออก ด้วยการทำ การพูด การคิด ก็จะกลายเป็นการกระทำเพื่อรับใช้กระบวนการสังสารวัฏเช่นเดียวกัน คือ มุ่งทำ พูด คิด เพื่อแสวงหา และให้ได้มาซึ่งอารมณ์สำหรับเสพเสวย

 ยิ่งเป็นปุถุชนที่หนามากเท่าใด ความติดข้องพัวพันอยู่กับหน้าที่อย่างที่สองของอายตนะ ก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น จนถึงขั้นที่ว่า ชีวิตและโลกของมนุษย์ วนเวียนอยู่แค่อายตนะ ๖ เท่านั้นเอง

 เท่าที่กล่าวมานี้ จึงเห็นได้ว่า แม้อายตนะ ๖ จะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของขันธ์ ๕  และไม่ครอบคลุมทุกส่วนแห่งชีวิตของมนุษย์โดยสิ้นเชิง เหมือนอย่างขันธ์ ๕ ก็จริง แต่มันก็มีบทบาทสำคัญยิ่งในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ มีอำนาจกำกับวิถีชีวิตของมนุษย์เป็นอย่างมาก จนกล่าวได้ว่า ชีวิตเท่าที่มนุษย์รู้จักและดำเนินอยู่ ก็คือการติดต่อเกี่ยวข้องกับโลกทางอายตนะเหล่านี้ และชีวิตมีความหมายต่อมนุษย์ก็ด้วยอาศัยอายตนะเหล่านี้

 ถ้าอายตนะไม่ทำหน้าที่แล้ว โลกก็ดับ ชีวิตก็ไร้ความหมายสำหรับมนุษย์

 มีข้อความแห่งหนึ่งในบาลี แสดงกระบวนธรรมเท่าที่กล่าวมานี้ได้อย่างกระทัดรัด และช่วยเชื่อมความที่กล่าวมาในตอนว่าด้วยขันธ์ ๕ เข้ากับเรื่องที่อธิบายในตอนนี้ ให้ต่อเนื่องกัน มองเห็นกระบวนธรรมได้ครบถ้วนตลอดสายยิ่งขึ้น จึงขอยกมาอ้างไว้ ดังนี้
 อาศัยตาและรูป เกิดจักขุวิญญาณ, ความประจวบแห่งธรรมทั้งสามนั้น เป็นผัสสะ, เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี, บุคคลเสวยอารมณ์ใด ย่อมหมายรู้อารมณ์นั้น (สัญญา), หมายรู้อารมณ์ใด ย่อมตริตรึกอารมณ์นั้น (วิตักกะ), ตริตรึกอารมณ์ใด ย่อมผันพิสดารซึ่งอารมณ์นั้น (ปปัญจะ), บุคคลผันพิสดารซึ่งอารมณ์ใด เพราะการผันพิสดารนั้นเป็นเหตุ ปปัญจสัญญาแง่ต่างๆ  (สัญญาที่ซับซ้อนหลากหลาย) ย่อมผุดพลุ่งสุมรุมเขา ในเรื่องรูปทั้งหลาย ที่พึงรู้ได้ด้วยตา ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน
  (ต่อไปว่าด้วยอายตนะและอารมณ์อื่นๆ จนครบ ๖ คู่ ใจความอย่างเดียวกัน)
 
กระบวนธรรมนี้ เขียนให้เห็นง่ายขึ้นดังนี้
      กระบวนการรับรู้บริสุทธิ์  กระบวนธรรมแบบเสพเสวยโลก
  (กระแสปกติตามธรรมชาติ)   (เกิดมีผู้เสวย-สิ่งถูกเสวย  ผู้คิด-สิ่งถูกคิด)
 
    อายตนะ
        +
    อารมณ์ =   ผัสสะ - เวทนา - สัญญา- (วิตักกะ - ปปัญจะ) - ปปัญจสัญญาแง่ต่างๆ
        +           (สังขาร)
    วิญญาณ
 เมื่อเกิดปปัญจสัญญาแล้ว ก็ยิ่งมีความตริตรึกนึกคิด (วิตักกะ) ได้มากมายและกว้างขวางพิสดารยิ่งขึ้น ทำให้เกิดกิเลสต่างๆ เช่น ชอบใจ ไม่ชอบใจ หวงแหน ริษยา เป็นต้น ปนเป คลุกเคล้า ไปกับความคิดนั้น
หมายเหตุ:
    ๑. คำที่ควรเข้าใจ คือ ‘ปปัญจะ’ หมายถึง อาการที่คลอเคลียพัวพันอยู่กับอารมณ์นั้น และคิดปรุงแต่งไปต่างๆ ด้วยแรงตัณหา มานะ และทิฏฐิผลักดัน หรือเพื่อสนองตัณหา มานะ และทิฏฐิ คือ ปรุงแต่งในแง่ที่จะเป็นของฉัน ให้ตัวฉันเป็นนั่นเป็นนี่ หรือเป็นไปตามความเห็นของฉัน ออกรูปออกร่างต่างๆ มากมายพิสดาร จึงทำให้เกิดปปัญจสัญญาแง่ต่างๆ คือสัญญาทั้งหลายที่เนื่องด้วยปปัญจะนั่นเอง
    ๒. จะเห็นว่ามีสัญญา ๒ ตอน สัญญาช่วงแรก คือสัญญาขั้นต้น ที่กำหนดหมายอารมณ์ซึ่งปรากฏตามปกติธรรมดาของมัน สัญญาช่วงหลัง เรียกว่า  ‘ปปัญจสัญญา’ เป็นสัญญาเนื่องจากสังขาร ที่ปรุงแต่งภาพอารมณ์ ให้ออกรูปออกร่างแง่มุมต่างๆ มากมายพิสดารดังกล่าวแล้ว
    ๓. จะเห็นว่า กระบวนธรรมทั้งหมดนั้น แยกได้เป็น ๒ ตอน
 ก) ตอนแรก ตั้งแต่อายตนะภายในถึงเวทนา เป็นกระบวนการรับรู้บริสุทธิ์
     พึงสังเกตว่า ช่วงตอนนี้กระบวนธรรมเป็นกระแสบริสุทธิ์ตามธรรม
     ชาติ มีแต่องค์ธรรมที่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย (พึงอ่านความที่ยกมาอ้าง
     ข้างบน) ยังไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เกี่ยวข้อง
 ข) ตอนปลาย ตัดตอนแต่เวทนาไปแล้ว เกิดเป็นกระบวนธรรมแบบเสพ
      เสวยโลก หรือกระบวนการสังสารวัฏ มารับช่วงไป
      ความจริง ตั้งแต่เวทนานี้ไปเป็นทางแยก อาจต่อด้วยกระบวนธรรม
      แบบวิวัฏฏ์ก็ได้ แต่ในที่นี้มุ่งแสดงเฉพาะแบบสังสารวัฏก่อน
      ข้อพึงสังเกตในตอนนี้ ก็คือ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของช่วงหลังนี้ จะไม่มี
      เพียงองค์ธรรมต่างๆ ที่เป็นเหตุปัจจัยแก่กันตามธรรมชาติเท่านั้น แต่
      จะเกิดมีสัตว์บุคคลขึ้นมา กลายเป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้เสพเสวย
      กับสิ่งที่ถูกเสพเสวย ผู้คิดและสิ่งที่ถูกคิด เป็นต้น
    ๔. กระบวนธรรมเสพเสวยโลกในช่วงปลาย ที่แสดงข้างบนนี้ เป็นเพียงวิธีแสดงแบบหนึ่งเท่านั้น เลือกเอามาเพราะเห็นว่าสั้น และเข้ากับเรื่องที่กำลังอธิบาย คือขันธ์และอายตนะได้ดี อาจแสดงแบบอื่นอีกก็ได้ เช่นที่แสดงอย่างพิสดารในหลักปฏิจจสมุปบาทแบบทั่วไป ซึ่งเป็นกระบวนธรรมแบบสังสารวัฏโดยสมบูรณ์
    ๕ ว่าตามหลักอย่างเคร่งครัด วิญญาณ ผัสสะ เวทนา สัญญา ในกระบวนธรรมนี้ เป็นสหชาตธรรม ท่านถือว่าเกิดร่วมกัน พึงเข้าใจว่า ที่เขียนแสดงลำดับไว้อย่างนี้ มุ่งเพื่อศึกษาได้ง่าย
 เนื่องด้วยกระบวนธรรมนี้ แยกได้เป็น ๒ ช่วงตอน และช่วงตอนหลังอาจแยกไปเป็นกระบวนธรรมแบบสังสารวัฏ หรือแบบวิวัฏฏ์ก็ได้ ดังนั้น เพื่อมองเห็นภาพได้กว้างขวางขึ้น อาจเขียนแสดงได้ดังนี้
อายตนะ
    +      -กระบวนธรรมแบบสังสารวัฏฏ์
อารมณ์ =  ผัสสะ - เวทนา-
    +      -กระบวนธรรมแบบวิวัฏฏ์
วิญญาณ

 ในเรื่องอายตนะนี้ มีข้อควรทราบเพิ่มเติม เพื่อประโยชน์ในการ
ศึกษาต่อไป ดังนี้
 - อายตนะภายใน หรือทวาร ๖ นั้น มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “อินทรีย์ ๖” คำว่า อินทรีย์ แปลว่า ภาวะที่เป็นใหญ่ หมายถึงสิ่งที่ทำหน้าที่เป็นใหญ่ เป็นเจ้าหน้าที่ หรือเป็นเจ้าการในเรื่องนั้นๆ เช่น ตา เป็นเจ้าการในการรับรู้รูป หู เป็นเจ้าการในการรับรู้เสียง เป็นต้น อินทรีย์ ๖ คือ จักขุนทรีย์ โสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ ชิวหินทรีย์ กายินทรีย์ และมนินทรีย์

 คำว่า อินทรีย์ นิยมใช้กับอายตนะในขณะทำหน้าที่ของมัน ในชีวิตจริง และเกี่ยวกับจริยธรรม เช่น การสำรวมจักขุนทรีย์ เป็นต้น ส่วน อายตนะ นิยมใช้ในเวลาพูดถึงตัวสภาวะที่อยู่ในกระบวนธรรม เช่นว่า อาศัยจักขุ อาศัยรูป เกิดจักขุวิญญาณ เป็นต้น และเมื่อพูดถึงสภาว-ลักษณะ เช่นว่า จักขุไม่เที่ยง เป็นต้น อีกคำหนึ่งที่ใช้พูดกันบ่อย ในเวลากล่าวถึงสภาวะในกระบวนธรรม คือคำว่า “ผัสสายตนะ” แปลว่า ที่เกิดหรือบ่อเกิดแห่งผัสสะ คือที่มาของการรับรู้นั่นเอง

 -อายตนะภายนอก หรืออารมณ์ ก็มีชื่อเรียกอย่างอื่นอีก คือ “โคจร” (ที่เที่ยว, ที่หากิน) และ “วิสัย” (สิ่งผูกพัน, แดนดำเนิน)  และชื่อที่ควรกำหนดเป็นพิเศษ ใช้เฉพาะกับอารมณ์ ๕ อย่างแรก ซึ่งมีอิทธิพลมาก ในกระบวนธรรมแบบเสพเสวยโลก หรือแบบสังสารวัฏ คือคำว่า “กามคุณ” (ส่วนที่น่าใคร่น่าปรารถนา, ส่วนที่ดีหรือส่วนอร่อยของกาม)
 กามคุณ ๕ หมายถึง รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ เฉพาะที่น่าปรารถนา น่าใคร่น่าพอใจ

(อ่านต่อค่ะที่) : http://portal.in.th/i-dhamma/pages/8102/ (http://portal.in.th/i-dhamma/pages/8102/)
ความถูกต้องและผิดพลาดของความรู้
พุทธพจน์เกี่ยวกับอายตนะ
คุณค่าทางจริยธรรม (อายตนะ)

หัวข้อ: Re: พุทธธรรม หรือ กฎธรรมชาติและคุณค่าสำหรับชีวิต (ป. อ. ปยุตฺโต)
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ กุมภาพันธ์ 21, 2013, 06:07:02 am


                 (http://sphotos-c.ak.fbcdn.net/hphotos-ak-ash3/554067_413214495439611_1668924473_n.jpg)

ความถูกต้องและผิดพลาดของความรู้
 เมื่อพูดถึง อายตนะ ซึ่งเป็นแดนรับรู้ ก็ควรทราบเรื่องราวเกี่ยวกับความรู้ด้วย แต่เรื่องที่ควรทราบเกี่ยวกับความรู้ มีมากมายหลายอย่าง ไม่อาจแสดงไว้ในที่นี้ทั้งหมด จึงจะกล่าวไว้เพียงเรื่องเดียว คือ ความถูกต้องและผิดพลาดของความรู้ และแม้ในหัวข้อนี้ ก็จะกล่าวถึงหลักที่ควรทราบเพียง ๒ อย่างเท่านั้น

ก. สัจจะ ๒ ระดับ
ข. วิปลาส หรือ วิปัลลาส ๓

ก. สัจจะ ๒ ระดับ
 ผู้สดับคำสอนในพระพุทธศาสนาบางคน เกิดความสับสน เมื่อได้อ่านได้ฟังข้อความบางอย่าง เช่น
 บางแห่งว่า ไม่ควรคบคนพาล ควรคบบัณฑิต คนพาลมีลักษณะอย่างนี้ๆ บัณฑิตมีลักษณะอย่างนี้ๆ ควรยินดีแต่ของของตน ไม่ควรอยากได้ของของผู้อื่น ตนเป็นที่พึ่งของตน คนควรช่วยเหลือกัน ดังนี้เป็นต้น

 แต่บางแห่งว่า พึงพิจารณาเห็นตามความเป็นจริงว่า กายก็แค่กาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา พึงรู้เท่าทันตามเป็นจริงว่า ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา สิ่งทั้งหลายเป็นอนัตตา ดังนี้เป็นต้น

 เมื่อได้อ่านได้ฟังอย่างนี้แล้ว ก็มองไปว่า คำสอนในทางพระศาสนาขัดแย้งกันเอง หรือไม่ก็งงแล้วไม่เข้าใจ หรือบางคนเข้าใจบ้างแต่ไม่ชัดเจนพอ ทำให้เกิดการปฏิบัติสับสนผิดพลาด ดำเนินชีวิตไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ในเวลาที่ควรพูดควรปฏิบัติตามความรู้ในชีวิตประจำวันของชาวบ้าน กลับพูดหรือปฏิบัติด้วยความยึดถือในความรู้ตามสภาวะ เป็นต้น ทำให้เกิดความวุ่นวายและเสียหาย ทั้งแก่ตนและผู้อื่น

 คัมภีร์ฝ่ายอภิธรรม หวังจะช่วยป้องกันความสับสนผิดพลาดเช่นนี้ จึงสอนให้รู้จักแยกสัจจะ หรือความจริง เป็น ๒ ระดับ กล่าวคือ
๑. สมมติสัจจะ ความจริงโดยสมมติ (เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า โวหารสัจจะ ความจริงโดยโวหาร หรือโดยสำนวนพูด) คือ จริงตามมติร่วมกัน ตามที่ได้ตกลงกันไว้ หรือยอมรับร่วมกัน เป็นเครื่องมือสื่อสาร พอให้สำเร็จประโยชน์ในชีวิตประจำวัน (conventional truth) เช่น คน สัตว์ คนดี คนชั่ว โต๊ะ เก้าอี้ หนังสือ เป็นต้น ตัวอย่างที่พอเทียบให้เห็นเค้า เช่น ภาษาสามัญพูดว่า น้ำ ว่าเกลือ เป็นต้น

๒. ปรมัตถสัจจะ ความจริงโดยปรมัตถ์ คือ จริงตามความหมายสูงสุด ตามความหมายแท้ อย่างยิ่ง หรือ ตามความหมายแท้ขั้นสุดท้ายที่ตรงตามสภาวะและเท่าที่พอจะกล่าวถึงได้ หรือพอจะยังพูดให้เข้าใจกันได้ (ultimate truth) เพื่อสำหรับให้เกิดความรู้ความเข้าใจเท่าทันความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลาย คือ รู้จักสิ่งเหล่านั้นตามที่มันเป็น และเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด คือ การหยั่งรู้สัจธรรม ที่จะทำให้ความยึดติดถือมั่นหลงผิดทั้งหลายสลายหมดไป ทำให้วางใจวางท่าทีต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง หลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์ มีจิตใจเป็นอิสระ ปลอดโปร่ง ผ่องใส เบิกบาน มีความสุขที่แท้จริง

 สิ่งที่เป็นจริงโดยปรมัตถ์ เช่น นามธรรม รูปธรรม เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือจิต เจตสิก รูป นิพพาน ผัสสะ เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรีย์ ฯลฯ ตัวอย่างที่พอเทียบให้เห็นเค้า เช่น ในทางวิทยาศาสตร์ถือว่า คำว่า น้ำ ว่า เกลือ เป็นต้น ยังไม่ตรงสภาวะแท้ อาจมีแง่ความหมายที่คลุมเครือ หรือเขวได้ น้ำแท้ๆ คือ hydrogen oxide (H2O) เกลือสามัญก็เป็น sodium chloride (NaCl) จึงถูกแท้ ดังนี้เป็นต้น (ข้อเปรียบเทียบนี้ไม่ใช่ตรงกันแท้ แต่เทียบพอให้เห็นว่า ในวิชาการอื่น ก็มีการมองเห็นความจริงด้านอื่น ของสิ่งสามัญ และไม่ยอมรับว่าคำพูดสามัญสื่อความจริงได้ตรงแท้)

 อย่างไรก็ดี ความคิดเกี่ยวกับสมมติสัจจะ และปรมัตถสัจจะ ที่ท่านระบุออกมาเป็นคำบัญญัติในพระอภิธรรมนั้น ก็ยกเอาความในพระสูตรนั่นเองเป็นที่อ้าง แสดงว่า ความคิดความเข้าใจเรื่องนี้ เป็นของมีแต่เดิม แต่ในครั้งเดิมนั้น คงเป็นที่เข้าใจกันดี จนไม่ต้องระบุคำบัญญัติ ๒ คำนี้ ข้อความในพระสูตรที่ท่านยกมาอ้างนั้น เป็นคำของพระภิกษุณีชื่อวชิรา มีเนื้อความดังนี้

 นี่แน่ะมาร! ท่านจะมีความเห็นยึดถือว่าเป็นสัตว์ได้อย่างไร, ในสภาวะที่เป็นเพียงกองแห่งสังขารล้วนๆ นี้ จะหาตัวสัตว์ไม่ได้เลย, เปรียบเหมือนว่า เพราะคุมส่วนประกอบเข้าด้วยกัน ศัพท์ว่า “รถ” ย่อมมีฉันใด เมื่อขันธ์ทั้งหลายมีอยู่ สมมติว่า “สัตว์” ก็ย่อมมี ฉันนั้น

 ความคล้ายกันนี้ ที่เน้นในแง่ปฏิบัติ คือ ความรู้เท่าทันสมมติ และเข้าใจปรมัตถ์ แล้วรู้จักใช้ภาษาเป็นเครื่องสื่อความหมาย โดยไม่ยึดติดในสมมติ ไม่เป็นทาสของภาษานั้น สามารถยกบาลีที่เป็นพุทธพจน์มาอ้างได้อีกหลายแห่ง เช่น

 ภิกษุผู้เป็นอรหันตขีณาสพ...จะพึงกล่าวว่า ฉันพูด ดังนี้ก็ดี เขาพูดกับฉัน ดังนี้ก็ดี เธอเป็นผู้ฉลาด รู้ถ้อยคำที่เขาพูดกันในโลก ก็พึงกล่าวไปตามโวหารเท่านั้น
 เหล่านี้เป็นโลกสมัญญา เป็นโลกนิรุติ เป็นโลกโวหาร เป็นโลกบัญญัติ ซึ่งตถาคตใช้พูดจา แต่ไม่ยึดติด

 อนึ่ง พระอรรถกถาจารย์บรรยายลักษณะของพระสูตร (สุตตันตปิฎก) ว่าเป็น โวหารเทศนา เพราะเนื้อหาส่วนมากแสดงโดยโวหาร คือ ใช้ภาษาสมมติ
 ส่วนพระอภิธรรมเป็น ปรมัตถเทศนา เพราะเนื้อหาส่วนมากแสดงโดยปรมัตถ์ คือ กล่าวตามสภาวะแท้ๆ 
 นี้เป็นข้อสังเกตเพื่อประดับความรู้อย่างหนึ่ง

หัวข้อ: Re: พุทธธรรม หรือ กฎธรรมชาติและคุณค่าสำหรับชีวิต (ป. อ. ปยุตฺโต)
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ กุมภาพันธ์ 21, 2013, 06:13:28 am


ข. วิปลาส หรือ วิปัลลาส ๓
 วิปลาส คือ ความรู้คลาดเคลื่อน ความรู้ที่ผันแปรผิดพลาดจากความเป็นจริง หมายถึง ความรู้คลาดเคลื่อนขั้นพื้นฐาน ที่นำไปสู่ความเข้าใจผิด หลงผิด การลวงตัวเอง วางใจ วางท่าที ประพฤติปฏิบัติไม่ถูกต้อง ต่อโลก ต่อชีวิต ต่อสิ่งทั้งหลายทั้งปวง และเป็นเครื่องกีดกั้นขัดขวางบังตา ไม่ให้มองเห็นสัจภาวะ วิปลาส มี ๓ อย่าง คือ

 ๑. สัญญาวิปลาส สัญญาคลาดเคลื่อน หมายรู้ผิดพลาดจากความเป็นจริง
 ๒. จิตวิปลาส จิตคลาดเคลื่อน ความคิดผิดพลาดจากความเป็นจริง
 ๓. ทิฏฐิวิปลาส ทิฏฐิคลาดเคลื่อน ความเห็นผิดพลาดจากความเป็นจริง
 สัญญาวิปลาส หมายรู้คลาดเคลื่อน เช่น คนตกใจเห็นเชือกเป็นงู กาและกวางป่า มองหุ่นฟางสวมเสื้อกางเกงมีหม้อครอบ เห็นเป็นคนเฝ้านา คนหลงทางเห็นทิศเหนือเป็นทิศใต้ เห็นทิศใต้เป็นทิศเหนือ คนเห็นแสงไฟโฆษณากระพริบอยู่กับที่ เป็นไฟวิ่ง เป็นต้น

 จิตวิปลาส ความคิดคลาดเคลื่อน เช่น คนบ้าคิดเอาหญ้าเป็นอาหารของตน คนจิตฟั่นเฟือนมองเห็นคนเข้ามาหา คิดว่าเขาจะทำร้าย คนเห็นเงาเคลื่อนไหวในที่มืดสลัว คิดวาดภาพเป็นผีหลอก กระต่ายตื่นตูม ได้ยินเสียงลูกมะพร้าวหล่น คิดวาดภาพเป็นว่าโลกกำลังแตก เป็นต้น

 ทิฏฐิวิปลาส ความเห็นคลาดเคลื่อน ตามปกติ สืบเนื่องมาจากสัญญาวิปลาสและจิตวิปลาสนั่นเอง เมื่อหมายรู้ผิดอย่างไร ก็เห็นผิดไปตามนั้น เมื่อคิดวาดภาพเคลื่อนคลาดไปอย่างไร ก็พลอยเห็นผิด เชื่อถือผิดพลาดไปตามอย่างนั้น

 ยกตัวอย่าง เช่น เมื่อหมายรู้ผิดว่าเชือกเป็นงู ก็อาจลงความเห็นยึดถือว่าสถานที่บริเวณนั้นมีงูหรือมีงูชุม เมื่อหมายรู้ว่าผืนแผ่นดินเรียบราบขยายออกไปเป็นเส้นตรง ก็จึงลงความเห็นยึดถือว่าโลกแบน เมื่อคิดไปว่าสิ่งทั้งหลายเกิดขึ้น เป็นไป เคลื่อนไหวต่างๆ ก็ต้องมีผู้จัดแจงผลักดัน ก็จึงลงความเห็นยึดถือว่า ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม มีเทพเจ้าประจำอยู่และคอยบันดาล ดังนี้เป็นต้น

 ตัวอย่างที่กล่าวมานี้ เป็นชั้นหยาบที่เห็นง่ายๆ อาจเรียกอย่างภาษาพูดว่า เป็นความวิปลาสขั้นวิปริต
 ส่วนในทางธรรม ท่านมองความหมายของวิปลาสอย่างละเอียดถึงขั้นพื้นฐาน หมายถึงความรู้คลาดเคลื่อนชนิดที่มิใช่มีเฉพาะในบางคนบางกลุ่มเท่านั้น แต่มีในคนทั่วไปแทบทั้งหมดอย่างไม่รู้ตัว คนทั้งหลายตกอยู่ใต้อิทธิพลครอบงำของมัน และวิปลาสทั้ง ๓ ชนิดนั้น จะสอดคล้องประสานกันเป็นชุดเดียว วิปลาสขั้นละเอียดหรือขั้นพื้นฐานนั้น พึงเห็นตามบาลีดังนี้

 ภิกษุทั้งหลาย สัญญาวิปลาส จิตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส มี ๔ อย่าง
  ดังนี้; ๔ อย่างอะไรบ้าง ?  (กล่าวคือ)
  ๑. สัญญาวิปลาส  จิตวิปลาส  ทิฏฐิวิปลาส  ในสิ่งไม่เที่ยง     ว่าเที่ยง 
  ๒. สัญญาวิปลาส  จิตวิปลาส  ทิฏฐิวิปลาส  ในสิ่งที่เป็นทุกข์  ว่าเป็นสุข
  ๓. สัญญาวิปลาส  จิตวิปลาส  ทิฏฐิวิปลาส  ในสิ่งมิใช่ตัวตน  ว่าตัวตน
  ๔. สัญญาวิปลาส  จิตวิปลาส  ทิฏฐิวิปลาส  ในสิ่งที่ไม่งาม     ว่างาม

 วิปลาสเหล่านี้ เป็นอุปสรรคต่อการฝึกอบรมเจริญปัญญา และก็เป็นเป้าหมายของการฝึกอบรมปัญญาที่จะกำจัดมันเสีย การพัฒนาความรู้และเจริญปัญญาตามวิธีที่กล่าวไว้ในพุทธธรรม ล้วนช่วยแก้ไขบรรเทาและกำจัดวิปลาสได้ทั้งนั้น เฉพาะอย่างยิ่ง การใช้โยนิโสมนสิการแบบสืบสาวหาเหตุปัจจัยและแยกแยะองค์ประกอบตรวจดูสภาวะ โดยมีสติพร้อมอยู่

หัวข้อ: Re: พุทธธรรม :พุทธพจน์เกี่ยวกับอายตนะ (ป. อ. ปยุตฺโต)
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ กุมภาพันธ์ 21, 2013, 06:26:02 am


(http://sphotos-f.ak.fbcdn.net/hphotos-ak-prn1/61448_385370824890645_745131137_n.jpg)

พุทธพจน์เกี่ยวกับอายตนะ
ก) สรรพสิ่ง โลก และบัญญัติต่างๆ
ข) ความจริงเดียวกัน ทั้งแก่ผู้หลง และผู้รู้เท่าทัน
ค) จิตใจใหญ่กว้าง มีปัญญานำทาง อยู่อย่างมีสติ
ง) ก้าวไปในมรรคาแห่งอิสรภาพและความสุข

ก) สรรพสิ่ง โลก และบัญญัติต่างๆ
 ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงแก่พวกเธอซึ่ง “สรรพสิ่ง” (สิ่งทั้งปวง. ครบหมด, ทุกสิ่งทุกอย่าง), จงฟังเถิด; อะไรเล่าคือ สรรพสิ่ง: ตากับรูป หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายกับโผฏฐัพพะ ใจกับ   ธรรมารมณ์ - นี้เราเรียกว่า สรรพสิ่ง

 พระองค์ผู้เจริญ เรียกกันว่า “โลก โลก” ดังนี้, ด้วยเหตุเพียงไร จึงมีโลก หรือบัญญัติว่าเป็นโลก ?

 ดูกรสมิทธิ ที่ใดมีตา มีรูป มีจักขุวิญญาณ มีธรรมอันพึงรู้ด้วยจักขุ-วิญญาณ, ที่นั่นก็มีโลก หรือบัญญัติว่าเป็นโลก, ที่ใดมีหู...มีจมูก...มีลิ้น...มีกาย...มีใจ มีธรรมารมณ์ มีมโนวิญญาณ มีสิ่งอันพึงรู้ด้วยมโนวิญญาณ ที่นั้นก็มีโลก หรือบัญญัติว่าโลก
 ภิกษุทั้งหลาย เราไม่กล่าวว่า ที่สุดโลก เป็นสิ่งที่รู้ได้ เห็นได้ ถึงได้ ด้วยการไป, แต่เราก็ไม่กล่าวเช่นกันว่า บุคคลยังไม่ถึงที่สุดโลก จะทำความสิ้นทุกข์ได้
 (พระอานนท์กล่าว : ) ข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยย่อ ยังมิได้ทรงแจกแจงเนื้อความโดยพิสดารนี้ ข้าพเจ้าเข้าใจความโดยพิสดารดังนี้ :- บุคคลย่อมสำคัญหมายในโลกว่าเป็นโลก ถือโลกว่าเป็นโลกด้วยสิ่งใด สิ่งนั้นเรียกว่า “โลก” ในอริยวินัย

 ด้วยอะไรเล่า คนจึงสำคัญหมายในโลกว่าเป็นโลก ถือโลกว่าเป็นโลก ? ด้วยตา...ด้วยหู...ด้วยจมูก...ด้วยลิ้น...ด้วยกาย...ด้วยใจ คนจึงสำคัญหมายในโลกว่าเป็นโลก ถือโลกว่าเป็นโลก

 ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงการอุทัยพร้อม และการอัสดงแห่งโลก, จงฟังเถิด.
 การอุทัยพร้อมแห่งโลกเป็นไฉน ? อาศัยตา และรูป จึงเกิดจักขุวิญญาณ, ความประจวบแห่งสิ่งทั้งสามนั้น คือ ผัสสะ, เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี, เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี, เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี, เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี, เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี, เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสก็มีพร้อม; นี้คือการอุทัยพร้อมแห่งโลก

 อาศัยหู...อาศัยจมูก...อาศัยลิ้น...อาศัยกาย...อาศัยใจและธรรมารมณ์ จึงเกิดมโนวิญญาณ ฯลฯ นี้คือการอุทัยพร้อมแห่งโลก
 การอัสดงแห่งโลกเป็นไฉน ? อาศัยตา และรูป จึงเกิดจักขุวิญญาณ,ความประจวบแห่งสิ่งทั้งสามนั้นคือผัสสะ, เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี, เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี, เพราะตัณหานั้นแหละสำรอกดับไปไม่เหลือ ความดับอุปาทานจึงมี, เพราะดับอุปาทาน ความดับภพจึงมี, เพราะดับภพ ความดับชาติจึงมี, เพราะดับชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส จึงดับ, ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งหมด  ย่อมมีได้อย่างนี้; นี้เรียกว่าการอัสดงแห่งโลก

 อาศัยหู...อาศัยจมูก...อาศัยลิ้น...อาศัยกาย...อาศัยใจและธรรมารมณ์ จึงเกิดมโนวิญญาณ ฯลฯ เพราะตัณหานั้นแหละสำรอกดับไปไม่เหลือ…นี้คือการอัสดงของโลก

 พระองค์ผู้เจริญ เรียกกันว่า “มาร มาร” ...เรียกกันว่า “สัตว์ สัตว์” ...เรียกกันว่า “ทุกข์ ทุกข์” ดังนี้, ด้วยเหตุเพียงไร จึงมีมารหรือบัญญัติว่ามาร...จึงมีสัตว์หรือบัญญัติว่าสัตว์... จึงมีทุกข์หรือบัญญัติว่าทุกข์ ?

 ดูกรสมิทธิ ที่ใดมีตา มีรูป มีจักขุวิญญาณ มีธรรมอันพึงรู้ด้วยจักขุวิญญาณ ฯลฯ มีใจ มีธรรมารมณ์ มีมโนวิญญาณ มีธรรมอันพึงรู้ด้วยมโนวิญญาณ, ที่นั้นก็มีมารหรือบัญญัติว่ามาร...สัตว์หรือบัญญัติว่าสัตว์...ทุกข์หรือบัญญัติว่าทุกข์
 เมื่อตามีอยู่ พระอรหันต์ทั้งหลายจึงบัญญัติสุขทุกข์, เมื่อตาไม่มี พระอรหันต์ทั้งหลายย่อมไม่บัญญัติว่าสุขทุกข์, เมื่อหู...เมื่อจมูก...เมื่อลิ้น...เมื่อกาย...เมื่อใจมีอยู่ พระอรหันต์ทั้งหลาย จึงบัญญัติสุขทุกข์ เมื่อหู ฯลฯ ใจไม่มี พระอรหันต์ทั้งหลายย่อมไม่บัญญัติสุขทุกข์

ข) ความจริงเดียวกัน ทั้งแก่ผู้หลง และผู้รู้เท่าทัน
 ภิกษุทั้งหลาย ตา...หู...จมูก...ลิ้น...กาย...ใจ ไม่เที่ยง...เป็นทุกข์...เป็นอนัตตา, แม้สิ่งที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดขึ้น ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา, ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งเกิดจากสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จักเป็นของเที่ยง จักเป็นสุข จักเป็นอัตตาได้แต่ที่ไหน

 รูป...เสียง...กลิ่น...รส...โผฏฐัพพะ...ธรรมารมณ์ ไม่เที่ยง...เป็นทุกข์…เป็นอนัตตา, แม้สิ่งที่เป็นเหตุ  เป็นปัจจัยให้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ  ธรรมารมณ์เกิดขึ้น ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา, รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ซึ่งเกิดจากสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จักเป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นอัตตาได้แต่ที่ไหน

 ภิกษุทั้งหลาย ข้าวกล้างอกงามบริบูรณ์ และคนเฝ้าข้าวกล้าก็ประมาทเสีย, โคกินข้าวกล้า ลงสู่ข้าวกล้าโน้น พึงเมาเพลินประมาทเอาจนเต็มที่ ฉันใด, ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ ไม่สังวรในผัสสายตนะ ๖ ย่อมเมาเพลินประมาทในกามคุณ ๕ จนเต็มที่ ฉันนั้น

 ภิกษุทั้งหลาย ผัสสายตนะ ๖ เหล่านี้ที่ไม่ฝึก ไม่คุ้มครอง ไม่รักษา ไม่สังวร ย่อมเป็นเครื่องนำทุกข์มาให้...ผัสสายตนะ ๖ เหล่านี้ ที่ฝึกดีแล้ว คุ้มครองดี รักษาดี สังวรดี ย่อมเป็นเครื่องนำสุขมาให้...

 ตาเป็นเครื่องผูกล่ามรูปไว้, รูปเป็นเครื่องผูกล่ามตาไว้; หู - เสียง; จมูก - กลิ่น; ลิ้น - รส; กาย - โผฏฐัพพะ; ใจเป็นเครื่องผูกล่ามธรรมารมณ์ไว้, ธรรมารมณ์เป็นเครื่องผูกล่ามใจไว้ ดังนี้หรือ ?

 (หามิได้)  ตาก็มิใช่เครื่องผูกล่ามรูปไว้,  รูปก็มิใช่เครื่องผูกล่ามตาไว้; ฉันทราคะ (ความชอบใจจนติด) ที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยตาและรูปทั้งสองอย่างนั้นต่างหาก เป็นเครื่องผูกล่ามที่ตาและรูปนั้น ฯลฯ ใจก็ไม่ใช่เครื่องผูกล่ามธรรมารมณ์, ธรรมารมณ์ก็มิใช่เครื่องผูกล่ามใจ; ฉันทราคะที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยใจและธรรมารมณ์ทั้งสองอย่างนั้นต่างหาก เป็นเครื่องผูกล่ามที่ใจและธรรมารมณ์นั้น

 หากตาเป็นเครื่องผูกล่ามรูปไว้ หรือรูปเป็นเครื่องผูกล่ามตาไว้แล้วไซร้, การครองชีวิตประเสริฐ เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ ก็จะปรากฏไม่ได้;  แต่เพราะเหตุที่ตาไม่ใช่เครื่องผูกล่ามรูป,  รูปมิใช่เครื่องผูกล่ามตา, ฉันทราคะที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยตาและรูปสองอย่างนั้นต่างหาก เป็นเครื่องผูกล่ามที่ตาและรูปนั้น, เพราะเหตุฉะนั้น การครองชีวิตประเสริฐเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ จึงปรากฏได้ ฯลฯ

 พระผู้มีพระภาคก็ทรงมีพระจักษุ, พระผู้มีพระภาคก็ทรงเห็นรูปด้วยจักษุ, (แต่) ฉันทราคะไม่มีแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า, พระผู้มีพระภาคทรงมีพระทัยหลุดพ้นดีแล้ว; พระผู้มีพระภาคก็ทรงมีพระโสต...พระฆานะ...พระชิวหา...พระกาย...พระทัย...

หัวข้อ: Re: พุทธธรรม หรือ กฎธรรมชาติและคุณค่าสำหรับชีวิต (ป. อ. ปยุตฺโต)
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ กุมภาพันธ์ 21, 2013, 07:24:16 am


ค) จิตใจใหญ่กว้าง มีปัญญานำทาง อยู่อย่างมีสติ
 พระองค์ผู้เจริญ! ถึงแม้ข้าพระองค์จะชราแล้ว เป็นผู้เฒ่าผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ ก็ตาม, ขอพระผู้มีพระภาคสุคตเจ้า โปรดทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ แต่โดยย่อเถิด ข้าพระองค์คงจะเข้าใจความแห่งพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคได้เป็นแน่ ข้าพระองค์คงจะเป็นทายาทแห่งพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคได้เป็นแน่

 แน่ะมาลุงกยบุตร ! ท่านเห็นเป็นประการใด ? รูปทั้งหลายที่พึงรู้ด้วยจักษุอย่างใดๆ ซึ่งเธอยังไม่เห็น ทั้งมิเคยได้เห็น ทั้งไม่เห็นอยู่ ทั้งไม่เคยคิดหมายว่าขอเราพึงเห็น, ความพอใจ ความใคร่ หรือความรัก ในรูปเหล่านั้น จะมีแก่เธอไหม ?
 ไม่มี พระเจ้าข้า

 เสียง…กลิ่น...รส…โผฏฐัพพะ...ธรรมารมณ์ทั้งหลาย อย่างใดๆ ซึ่งเธอไม่ได้ทราบ ไม่เคยทราบ ไม่ทราบอยู่ ทั้งไม่เคยคิดหมายว่าเราพึงทราบ, ความพอใจ ความใคร่ หรือความรักในธรรมารมณ์เหล่านั้น จะมีแก่เธอไหม ?
 ไม่มีพระเจ้าข้า

 มาลุงกยบุตร! บรรดาสิ่งที่เห็น ได้ยิน รู้ ทราบ เหล่านี้ ในสิ่งที่เห็น เธอจักมีแค่เห็น ในสิ่งที่ได้ยินจักมีแค่ได้ยิน ในสิ่งที่ลิ้ม ดม แตะต้อง จักมีแค่รู้ (รส กลิ่น แตะต้อง) ในสิ่งที่ทราบ จักมีแค่ทราบ
 เมื่อใด (เธอมีแค่เห็น ได้ยิน ได้รู้ ได้ทราบ) เมื่อนั้น เธอก็ไม่มีด้วยนั่น (อรรถกถาอธิบายว่าไม่ถูกราคะ โทสะ โมหะ ครอบงำ), เมื่อไม่มีด้วยนั่น ก็ไม่มีที่นั่น (อรรถกถาอธิบายว่า ไม่พัวพันหมกติดอยู่ในสิ่งที่ได้เห็นเป็นต้นนั้น), เมื่อไม่มีที่นั่น เธอก็ไม่มีที่นี่ ไม่มีที่โน่น ไม่มีระหว่างที่นี่ที่โน่น (ไม่ใช่ภพนี้ ไม่ใช่ภพโน้น ไม่ใช่ระหว่างภพทั้งสอง), นั่นแหละคือที่จบสิ้นของทุกข์

 (พระมาลุงกยบุตรสดับแล้ว กล่าวความตามที่ตนเข้าใจออกมาว่า:)
 พอเห็นรูป สติก็หลงหลุด ด้วยมัวใส่ใจแต่นิมิตหมายที่น่ารัก แล้วก็มีจิตกำหนัดติดใจ เสวยอารมณ์แล้วก็สยบอยู่กับอารมณ์นั้นเอง, เวทนาหลากหลายอันก่อกำเนิดขึ้นจากรูป ขยายตัวเพิ่มขึ้น จิตของเขาก็คอยถูกกระทบกระทั่ง ทั้งกับความอยากและความยุ่งยากใจ เมื่อสั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้ ก็เรียกว่าไกลนิพพาน

 พอได้ยินเสียง…พอได้กลิ่น...พอลิ้มรส...พอถูกต้องโผฏฐัพพะ...พอรู้ธรรมารมณ์  สติก็หลงหลุด ฯลฯ ก็เรียกว่าไกลนิพพาน
 เห็นรูปก็ไม่ติดในรูป ด้วยมีสติมั่นอยู่, มีจิตไม่ติดใจ เสวยเวทนาไป ก็ไม่สยบกับอารมณ์นั้น; เขามีสติดำเนินชีวิตอย่างที่ว่า เมื่อเห็นรูป และถึงจะเสพเวทนา ทุกข์ก็มีแต่สิ้น ไม่สั่งสม; เมื่อไม่สั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้ ก็เรียกว่าใกล้นิพพาน

 ได้ยินเสียง...ได้กลิ่น...ลิ้มรส…ถูกต้องโผฏฐัพพะ...รู้ธรรมารมณ์ ก็ไม่ติดในธรรมารมณ์ ด้วยมีสติมั่นอยู่ ฯลฯ ก็เรียกว่าใกล้นิพพาน

 ด้วยเหตุเพียงไร บุคคลชื่อว่าเป็นผู้ไม่คุ้มครองทวาร ? คนบางคนเห็นรูปด้วยตาแล้ว ย่อมน้อมรักฝากใจในรูปที่น่ารัก ย่อมขุ่นเคืองขัดใจในรูปที่ไม่น่ารัก มิได้มีสติกำกับใจ เป็นอยู่โดยมีจิตคับแคบ (มีใจเล็กนิดเดียว), ไม่เข้าใจตามเป็นจริง ซึ่งความหลุดรอดปลอดพ้นของจิต และความหลุดรอดปลอดพ้นด้วยปัญญา ที่จะทำให้บาปอกุศลธรรมซึ่งเกิดขึ้นแล้วแก่ตัวเขา ดับไปได้โดยไม่เหลือ; ฟังเสียงด้วยหู...สูดกลิ่นด้วยจมูก...ลิ้มรสด้วยลิ้น...ต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ทราบธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ย่อมน้อมรักฝากใจในเสียง...ในธรรมารมณ์ อันน่ารัก ย่อมขุ่นเคืองขัดใจในเสียง...ในธรรมารมณ์ อันไม่น่ารัก ฯลฯ

 ด้วยเหตุเพียงไร บุคคลชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวาร ? ภิกษุเห็นรูปด้วยตาแล้ว ย่อมไม่น้อมรักฝากใจในรูปที่น่ารัก ไม่ขุ่นเคืองขัดใจในรูปที่ไม่น่ารัก มีสติกำกับใจ เป็นอยู่อย่างผู้มีจิตกว้างขวาง ไม่มีประมาณ เข้าใจตามเป็นจริง ซึ่งความหลุดรอดปลอดพ้นของจิต และความหลุดรอดปลอดพ้นด้วยปัญญา ที่จะทำให้บาปอกุศลธรรมซึ่งเกิดขึ้นแล้วแก่ตัวเขา ดับไปได้โดยไม่เหลือ; ฟังเสียงด้วยหู ฯลฯ ทราบธรรมารมณ์ด้วยใจ ย่อมไม่น้อมรักฝากใจในเสียง…ในธรรมารมณ์ อันน่ารัก ไม่ขุ่นเคืองขัดใจใน เสียง…ในธรรมารมณ์ อันไม่น่ารัก ฯลฯ”

ง) ก้าวไปในมรรคาแห่งอิสรภาพและความสุข
 ภิกษุทั้งหลาย  อย่างไรจึงจะชื่อว่าเป็นผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาท ? เมื่อภิกษุสังวรจักขุนทรีย์อยู่ จิตย่อมไม่ซ่านแส่ไปในรูปทั้งหลายที่พึงรู้ด้วยจักษุ, เมื่อมีจิตไม่ซ่านแส่ ปราโมทย์ก็เกิด, เมื่อมีปราโมทย์แล้ว ปีติก็เกิด, เมื่อมีใจปีติ กายก็สงบระงับ, ผู้มีกายสงบย่อมเป็นสุข, ผู้มีสุขจิตย่อมเป็นสมาธิ, เมื่อจิตเป็นสมาธิ ธรรมทั้งหลายก็ปรากฏ, เพราะธรรมทั้งหลายปรากฏ ผู้นั้นจึงนับว่าเป็นผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาท” (เกี่ยวกับโสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มโน ก็เช่นเดียวกัน)

 อานนท์ การอบรมอินทรีย์ (อินทรียภาวนา) ที่ยอดเยี่ยม ในแบบแผนของอารยชน (อริยวินัย) เป็นอย่างไร ? เพราะเห็นรูปด้วยตา…เพราะได้ยินเสียงด้วยหู...เพราะได้กลิ่นด้วยจมูก...เพราะรู้รสด้วยลิ้น…เพราะต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย...เพราะ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ ย่อมเกิดความชอบใจบ้าง เกิดความไม่ชอบใจบ้าง เกิดทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจบ้าง.แก่ภิกษุ; เธอเข้าใจชัดดังนี้ว่า ความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้วแก่เรานี้.เป็นสิ่งปรุงแต่ง เป็นธรรมหยาบ เป็นของอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น, ภาวะต่อไปนี้จึงจะสงบประณีต นั่นคืออุเบกขา (ความมีใจเป็นกลาง), (ครั้นแล้ว) ความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจไม่ชอบใจ.ที่เกิดขึ้นแก่เธอนั้น.ก็ดับไป อุเบกขาก็ตั้งมั่น”สำหรับบุคคลผู้ใดก็ตาม ความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไป อุเบกขาย่อมตั้งมั่นได้เร็วพลันทันที โดยไม่ยาก เสมือนคนหลับตาแล้วลืมตา หรือลืมตาแล้วหลับตา ฯลฯ นี้เรียกว่า การอบรมอินทรีย์ที่ยอดเยี่ยม ในแบบแผนของอารยชน...

 ภิกษุทั้งหลาย ก่อนสัมโพธิ เมื่อยังเป็นโพธิสัตว์ ผู้ยังไม่ตรัสรู้ เราได้เกิดความดำริขึ้นดังนี้ว่า: อะไรเป็นคุณ (ความหวานชื่น ความอร่อย) ของจักษุ ? อะไรเป็นโทษ (ข้อเสีย ความบกพร่อง) ของจักษุ ? อะไรเป็นทางออก (เป็นอิสระ ไม่ต้องอิงอาศัย) แห่งจักษุ ? อะไรเป็นคุณ...เป็นโทษ...เป็นทางออก แห่งโสตะ...ฆานะ...ชิวหา…กาย…มโน ?

 เราได้เกิดความคิดขึ้นดังนี้:  สุข  โสมนัส  ที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยจักษุ นี้คือคุณของจักษุ, ข้อที่จักษุ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา นี้คือโทษของจักษุ การกำจัดฉันทราคะ การละฉันทราคะในเพราะจักษุเสียได้ นี้คือทางออกแห่งจักษุ (ของโสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มโน ก็เช่นเดียวกัน)

 ตราบใด เรายังมิได้รู้ประจักษ์ตามเป็นจริง ซึ่งคุณของอายตนะภายใน ๖ เหล่านี้ โดยเป็นคุณ, ซึ่งโทษ โดยเป็นโทษ, ซึ่งทางออก โดยเป็นทางออก, ตราบนั้น เราก็ยังไม่ปฏิญญาว่าเราบรรลุแล้วซึ่งอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ...

 (ต่อไปตรัสถึงคุณ โทษ ทางออกพ้น แห่งอายตนะภายนอก ๖ ในทำนองเดียวกัน)
 ภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่รู้เห็นจักษุตามที่มันเป็น รู้เห็นรูปทั้งหลายตามที่มันเป็น  รู้เห็นจักขุวิญญาณตามที่มันเป็น  รู้เห็นจักษุสัมผัสตามที่มันเป็น รู้เห็นเวทนาอันเป็นสุขหรือทุกข์หรือไม่สุขไม่ทุกข์ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ตามที่มันเป็น ย่อมไม่ติดพันในจักษุ ไม่ติดพันในรูปทั้งหลาย ไม่ติดพันในจักขุวิญญาณ ไม่ติดพันในจักขุสัมผัส ไม่ติดพันในเวทนา อันเป็นสุข หรือทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ ที่เกิดเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย

 เมื่อผู้นั้นไม่ติดพัน ไม่หมกมุ่น ไม่ลุ่มหลง รู้เท่าทันเห็นโทษ ตระหนักอยู่ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ ย่อมถึงความไม่ก่อตัวพอกพูนต่อไป

 อนึ่ง ตัณหาที่เป็นตัวการก่อภพใหม่ อันประกอบด้วยนันทิราคะ คอยแส่เพลิดเพลินอยู่ในอารมณ์ต่างๆ  ก็จะถูกละไปด้วย

 ความกระวนกระวายทางกายก็ดี ความกระวนกระวายทางใจก็ดี ความเร่าร้อนกายก็ดี ความเร่าร้อนใจก็ดี ความกลัดกลุ้มทางกายก็ดี ความกลัดกลุ้มทางใจก็ดี ย่อมถูกเขาละได้; ผู้นั้นย่อมเสวย ทั้งความสุขทางกาย ทั้งความสุขทางใจ
 
 บุคคลผู้เป็นเช่นนั้นแล้ว มีความเห็นอันใด ความเห็นนั้นก็เป็นสัมมา-ทิฏฐิ, มีความดำริใด ความดำรินั้นก็เป็นสัมมาสังกัปปะ, มีความพยายามใด ความพยายามนั้นก็เป็นสัมมาวายามะ, มีความระลึกใดความระลึกนั้นก็เป็นสัมมาสติ, มีสมาธิใด สมาธินั้นก็เป็นสัมมาสมาธิ, ส่วนกายกรรม วจีกรรม และอาชีวะของเขา ย่อมบริสุทธิ์ดีมาแต่ต้นทีเดียว; ด้วยประการดังนี้ เขาชื่อว่ามีอริยอัฏฐังคิกมรรคอันถึงความเจริญบริบูรณ์ (เกี่ยวกับโสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มโน ก็เช่นเดียวกัน)

หัวข้อ: Re: พุทธธรรม :คุณค่าทางจริยธรรม (อายตนะ) (ป. อ. ปยุตฺโต)
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ กุมภาพันธ์ 25, 2013, 12:43:55 pm


(http://sphotos-c.ak.fbcdn.net/hphotos-ak-ash3/538232_336841509766767_1043545384_n.jpg)

คุณค่าทางจริยธรรม (อายตนะ)
 ๑. ในแง่กุศล-อกุศล ความดี-ความชั่ว อายตนะเป็นจุดเริ่มต้น และเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของทางแยกระหว่างกุศลกับอกุศล ทางสายหนึ่งนำไปสู่ความประมาทมัวเมา ความชั่ว และการหมกติดอยู่ในโลก อีกสายหนึ่งนำไปสู่ความรู้เท่าทัน การประกอบกรรมดี และความหลุดพ้นเป็นอิสระ

 ความสำคัญในเรื่องนี้อยู่ที่ว่า หากไม่มีการฝึกฝนอบรมให้เข้าใจและปฏิบัติในเรื่องอายตนะอย่างถูกต้องแล้ว ตามปกติ มนุษย์ทั่วไปจะถูกชักจูง ล่อให้ดำเนินชีวิตในทางที่มุ่งเพื่อเสพเสวยโลก เที่ยวทำการต่างๆ เพียงเพื่อแสวงหารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ชอบใจ และความสนุกสนานบันเทิงต่างๆ มาปรนเปรอตา หู จมูก ลิ้น ผิวกาย และใจอยากของตน พอกพูนความโลภ โกรธ หลง แล้วก่อให้เกิดความวุ่นวายเดือดร้อน ทั้งแก่ตนและผู้อื่น

 พอจะเห็นได้ไม่ยากว่า การเบียดเบียนกัน การขัดแย้งแย่งชิง การกดขี่บีบคั้น เอารัดเอาเปรียบกัน ตลอดจนปัญหาสังคมต่างๆ ที่เกิดเพิ่มขึ้น และที่แก้ไขกันไม่สำเร็จ โดยส่วนใหญ่แล้วก็สืบเนื่องมาจากการดำเนินชีวิตแบบปล่อยตัวให้ถูกล่อถูกชักจูงไปในทางที่จะปรนเปรออายตนะอยู่เสมอ จนเคยชินและรุนแรงยิ่งขึ้นๆ นั่นเอง

 คนจำนวนมาก บางทีไม่เคยได้รับการเตือนสติ ให้สำนึกหรือยั้งคิดที่จะพิจารณาถึงความหมายแห่งการกระทำของตน และอายตนะที่ตนปรนเปรอบ้างเลย และไม่เคยปฏิบัติเกี่ยวกับการฝึกอบรมหรือสังวรระวังเกี่ยวกับอายตนะหรืออินทรีย์ของตน จึงมีแต่ความลุ่มหลงมัวเมายิ่งๆ ขึ้น การแก้ไขทางจริยธรรมในเรื่องนี้

 ส่วนหนึ่ง อยู่ที่การสร้างความเข้าใจให้รู้เท่าทันความหมายของอายตนะและสิ่งที่เกี่ยวข้องว่า ควรจะมีบทบาทและความสำคัญในชีวิตของตนแค่ไหน เพียงไร และอีกส่วนหนึ่ง ให้มีการฝึกฝนอบรมด้วยวิธีประพฤติปฏิบัติเกี่ยวกับการควบคุม การสำรวมระวัง ใช้งาน และรับใช้อายตนะเหล่านั้น ในทางที่จะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงแก่ชีวิตของตนเองและแก่สังคม

 ๒. ในแง่ความสุข-ความทุกข์ อายตนะเป็นแหล่งที่มาของความสุขความทุกข์ ซึ่งเป็นเป้าหมายแห่งการดำเนินชีวิตทั่วไป และความเพียรพยายามเฉพาะกิจแทบทุกอย่างของปุถุชน ด้านสุขก็เป็นการแสวงหา ด้านทุกข์ก็เป็นการหลีกหนี

 นอกจากสุขทุกข์จะเกี่ยวเนื่องกับปัญหาความประพฤติดีประพฤติชั่วที่กล่าวในข้อ ๑ แล้ว ตัวความสุขทุกข์นั้น ก็เป็นปัญหาอยู่ในตัวของมันเอง ในแง่ของคุณค่า ความมีแก่นสาร และความหมายที่จะเข้าพึ่งพาอาศัยมอบกายถวายชีวิตให้อย่างแท้จริงหรือไม่
 คนไม่น้อย หลังจากระดมเรี่ยวแรงและเวลาแห่งชีวิตของตน

 วิ่งตามหาความสุขจากการเสพเสวยโลก จนเหนื่อยอ่อนแล้ว ก็ผิดหวัง เพราะไม่ได้สมปรารถนาบ้าง
 เมื่อหารสอร่อยหวานชื่น ก็ต้องเจอรสขื่นขมด้วย บางทียิ่งได้สุขมาก ความเจ็บปวดเศร้าแสบกลับยิ่งทวีล้ำหน้า เสียค่าตอบแทนในการได้ความสุขไปแพงกว่าได้มา ไม่คุ้มกันบ้าง

 ได้สมปรารถนาแล้วแต่ไม่ชื่นเท่าที่หวัง หรือถึงจุดที่ตั้งเป้าหมาย แล้วความสุขกลับวิ่งหนีออกหน้าไปอีก ตามไม่ทันอยู่ร่ำไปบ้าง
 บางพวกก็จบชีวิตลงทั้งที่กำลังวิ่งหอบ ยังตามความสุขแท้ไม่พบหรือยังไม่พอ ส่วนพวกที่ผิดหวังแล้ว ก็เลยหมดอาลัยปล่อยชีวิตเรื่อยเปื่อยไปตามเรื่อง อยู่อย่างทอดถอนความหลังบ้าง หันไปดำเนินชีวิตในทางเอียงสุดอีกด้านหนึ่ง โดยหลบหนีตีจากชีวิตไปอยู่อย่างทรมานตนเองบ้าง

 การศึกษาเรื่องอายตนะนี้ มุ่งเพื่อให้เกิดความรู้เท่าทันสภาพความจริง และประพฤติปฏิบัติด้วยการวางท่าทีที่ถูกต้อง ไม่ให้เกิดเป็นพิษเป็นภัยแก่ตนเองและผู้อื่นมากนัก อย่างน้อยก็ให้มีหลัก พอรู้ทางออกที่จะแก้ไขตัว นอกจากจะระมัดระวังในการใช้วิธีการที่จะแสวงหาความสุขเหล่านี้แล้ว ยังเข้าใจขอบเขตและขั้นระดับต่างๆ ของมัน แล้วรู้จักหาความสุขในระดับที่ประณีตยิ่งขึ้นไปด้วย
 เมื่อคนประพฤติปฏิบัติเกี่ยวกับสุขทุกข์อย่างถูกต้อง และก้าวหน้าไปในความสุขที่ประณีตยิ่งขึ้น ก็เป็นการพัฒนาจริยธรรมไปด้วยในตัว

 ๓. ในแง่การพัฒนาปัญญา อายตนะในแง่ที่เป็นเรื่องของกระบวนการรับรู้และการแสวงปัญญา ก็เกี่ยวข้องกับจริยธรรมตั้งแต่จุดเริ่มต้น เพราะถ้าปฏิบัติตอนเริ่มแรกไม่ถูกต้อง การรับรู้ก็จะไม่บริสุทธิ์ แต่จะกลายเป็นกระบวนการรับรู้ที่รับใช้กระบวนการเสพเสวยโลก หรือเป็นส่วนประกอบของกระบวนธรรมแบบสังสารวัฏไปเสีย ทำให้ได้ความรู้ที่บิดเบือน เอนเอียง เคลือบแฝง มีอคติ ไม่ถูกต้องตามความจริง หรือตรงกับสภาวะตามที่มันเป็น

 การปฏิบัติทางจริยธรรมที่จะช่วยเกื้อกูลในเรื่องนี้ ก็คือวิธีการที่จะรักษาจิตให้ดำรงอยู่ในอุเบกขา คือ ความมีใจเป็นกลาง มีจิตราบเรียบเที่ยงตรง ไม่เอนเอียง ไม่ให้ถูกอำนาจกิเลสมีความชอบใจไม่ชอบใจเป็นต้นเข้าครอบงำ

 ๔. ในแง่วิธีปฏิบัติทั่วไป การปฏิบัติทางจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับอายตนะโดยตรงบ้าง โดยอ้อมบ้าง มีหลายอย่าง บางอย่างก็มีไว้เพื่อใช้ในขั้นตอนต่างๆ กัน ทั้งนี้สุดแต่ว่าปัญหามักจะเกิดขึ้นที่จุดใด ทุกข์และบาปอกุศลมักได้ช่องเข้ามาที่ช่วงตอนใด

 อย่างไรก็ตาม ท่านมักสอนย้ำให้ใช้วิธีระวังหรือป้องกัน ตั้งแต่ช่วงแรกที่สุด คือ ตอนที่อายตนะรับอารมณ์ทีเดียว เพราะจะทำให้ปัญหาไม่เกิดขึ้นเลย จึงเป็นการปลอดภัยที่สุด

 ในทางตรงข้าม ถ้าปัญหาเกิดขึ้นแล้ว คือบาปอกุศลธรรมได้ช่องเข้ามาแล้ว มักจะแก้ไขยาก เช่น เมื่อปล่อยตัวให้อารมณ์ที่ล่อเร้าเย้ายวนปรุงแต่งจิต จนราคะ หรือโลภะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นแล้ว ทั้งที่รู้ผิดชอบชั่วดี มีความสำนึกในสิ่งชอบธรรมอยู่ แต่ก็ทนต่อความเย้ายวนไม่ได้ ลุอำนาจกิเลส ทำบาปอกุศลลงไป

 ด้วยเหตุนี้ท่านจึงย้ำวิธีระมัดระวังป้องกันให้ปลอดภัยไว้ก่อนตั้งแต่ต้น
 องค์ธรรมสำคัญที่ใช้ระวังป้องกันตั้งแต่ต้น ก็คือ สติ ซึ่งเป็นตัวควบคุมจิตไว้ให้อยู่กับหลัก หรือพูดอีกนัยหนึ่ง เหมือนเชือกสำหรับดึงจิต

 สติ ที่ใช้ในขั้นระมัดระวังป้องกัน เกี่ยวกับการรับอารมณ์ของอายตนะแต่เบื้องต้นนี้ ใช้ในหลักที่เรียกว่า อินทรียสังวร (การสำรวมอินทรีย์=ใช้อินทรีย์อย่างมีสติมิให้เกิดโทษ) เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การคุ้มครองทวาร  หมายถึง การมีสติพร้อมอยู่ เมื่อรับรู้อารมณ์ด้วยอินทรีย์ เช่น ใช้ตาดู หูฟัง ก็ไม่ปล่อยใจเคลิบเคลิ้มไปตามนิมิตหมายต่างๆ ให้เกิดความติดใคร่-ขุ่นเคือง ชอบใจ-ไม่ชอบใจ แล้วถูกโมหะและอกุศลอื่นๆ ครอบงำจิตใจ (ให้ได้แต่ปัญญาและประโยชน์)

 การปฏิบัติตามหลักนี้ ช่วยได้ทั้ง
 1. ป้องกันความชั่วเสียหาย
 2. ป้องกันความทุกข์ และ
 3. ป้องกันการสร้างความรู้ความคิดที่บิดเบือนเอนเอียง

 อย่างไรก็ตาม การที่จะปฏิบัติให้ได้ผล มิใช่ว่าจะนำหลักมาใช้เมื่อไรก็ได้ตามปรารถนา เพราะสติจะตั้งมั่นเตรียมพร้อมอยู่เสมอได้ จำต้องมีการฝึกฝนอบรม อินทรียสังวรจึงต้องมีการซ้อมหรือใช้อยู่เสมอ

 การฝึกอบรมอินทรีย์ มีชื่อเรียกว่า อินทรียภาวนา (แปลตามแบบว่า การเจริญอินทรีย์ หรือพัฒนาอินทรีย์) ผู้ที่ฝึกอบรมหรือเจริญอินทรีย์แล้ว ย่อมปลอดภัยจากบาปอกุศลธรรม จากความทุกข์ และจากความรู้ที่เอนเอียงบิดเบือนทั้งหลาย  เพราะป้องกันไว้ได้ก่อนที่สิ่งเหล่านั้นจะเกิดขึ้น นอกจากไม่ถูกอินทรีย์และสิ่งที่รับรู้เข้ามาล่อหลอกและครอบงำแล้ว ยังเป็นนายของอินทรีย์ สามารถบังคับความรู้สึกในการรับรู้ให้เป็นไปในทางที่ดีที่เป็นคุณ

 อินทรียสังวร นี้ จัดว่าเป็นหลักธรรมในขั้นศีล แต่องค์ธรรมสำคัญที่เป็นแกนคือสตินั้น อยู่ในจำพวกสมาธิ ทำให้มีการใช้กำลังจิตและการควบคุมจิตอยู่เสมอ จึงเป็นการฝึกอบรมสมาธิไปด้วยในตัว

 โยนิโสมนสิการ ซึ่งเป็นวิธีการทางปัญญา เป็นธรรมอีกอย่างหนึ่ง ที่ท่านให้ใช้ในเรื่องนี้คู่กับสติ คือ ปฏิบัติต่ออารมณ์ที่รับรู้ โดยมองหรือพิจารณาในทางที่จะให้ได้ความรู้ เห็นความจริง หรือเห็นแง่ที่จะเกิดคุณประโยชน์ เช่น พิจารณาให้รู้เท่าทันคุณโทษ ข้อดีข้อเสียของอารมณ์นั้น พร้อมทั้งการที่จะมีความเป็นอิสระ อยู่ดีมีสุขได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยอารมณ์นั้น ในแง่ที่จะต้องยอมให้คุณและโทษของมันเป็นตัวกำหนดความสุขความทุกข์และชะตาชีวิต

 ข้อปฏิบัติที่กล่าวถึงเหล่านี้ มีแนวปรากฏอยู่ในพุทธพจน์ข้างต้นบ้างแล้ว และบางหลักก็จะอธิบายต่อไปข้างหน้าอีก จึงพูดไว้โดยย่อเพียงเท่านี้.

(http://i191.photobucket.com/albums/z119/bee_99/4.gif)

หัวข้อ: Re: พุทธธรรม :ตัวกฎหรือตัวสภาวะ (ไตรลักษณ์) (ป. อ. ปยุตฺโต)
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ กุมภาพันธ์ 25, 2013, 01:14:25 pm


                    (http://www.isellpost.com/Website/Image/687/8b4ea11dfef4ed853e160fb25631f781.jpg)

ชีวิตเป็นอย่างไร ?
ไตรลักษณ์
ลักษณะโดยธรรมชาติ ๓ อย่างของสิ่งทั้งปวง

ตัวกฎหรือตัวสภาวะ (ไตรลักษณ์)
พุทธพจน์แสดงหลักไตรลักษณ์ ว่าดังนี้
คุณค่าทางจริยธรรม (ไตรลักษณ์)

ตัวกฎหรือตัวสภาวะ (ไตรลักษณ์)
 ตามหลักพุทธธรรมเบื้องต้นที่ว่า สิ่งทั้งหลายเกิดจากส่วนประกอบต่างๆ มาประชุมกันเข้า หรือมีอยู่ในรูปของการรวมตัวเข้าด้วยกันของส่วนประกอบต่างๆ นั้น มิใช่หมายความว่าเป็นการนำเอาส่วนประกอบที่เป็นชิ้นๆ อันๆ อยู่แล้ว มาประกอบเข้าด้วยกัน และเมื่อประกอบเข้าด้วยกันแล้ว ก็เกิดเป็นรูปเป็นร่างคุมกันอยู่เหมือนเมื่อเอาวัตถุต่างๆ มารวมกันเป็นเครื่องอุปกรณ์ต่างๆ

 ความจริง ที่กล่าวว่าสิ่งทั้งหลายเกิดจากการประชุมกันของส่วนประกอบต่างๆ นั้น เป็นเพียงคำกล่าวเพื่อเข้าใจง่ายๆ ในเบื้องต้นเท่านั้น

 แท้จริงแล้ว สิ่งทั้งหลายมีอยู่ในรูปของกระแส ส่วนประกอบแต่ละอย่างๆ ล้วนประกอบขึ้นจากส่วนประกอบอื่นๆ ย่อยลงไป แต่ละอย่างไม่มีตัวตนของตัวเองเป็นอิสระ และเกิดดับต่อกันไปเสมอ ไม่เที่ยง ไม่คงที่ กระแสนี้ไหลเวียนหรือดำเนินต่อไป อย่างที่ดูคล้ายกับรักษารูปแนวและลักษณะทั่วไปไว้ได้อย่างค่อยเป็นไป ก็เพราะส่วนประกอบทั้งหลายมีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์อาศัยซึ่งกันและกัน เป็นเหตุปัจจัยสืบต่อแก่กันอย่างหนึ่ง และเพราะส่วนประกอบเหล่านั้นแต่ละอย่างล้วนไม่มีตัวตนของมันเอง และไม่เที่ยงแท้คงที่อย่างหนึ่ง

 ความเป็นไปต่างๆ ทั้งหมดนี้เป็นไปตามธรรมชาติ อาศัยความสัมพันธ์และความเป็นปัจจัยเนื่องอาศัยกันของสิ่งทั้งหลายเอง ไม่มีตัวการอย่างอื่นที่นอกเหนือออกไปในฐานะผู้สร้างหรือผู้บันดาล จึงเรียกเพื่อเข้าใจง่ายๆ ว่าเป็นกฎธรรมชาติ

 มีหลักธรรมใหญ่อยู่ ๒ หมวด ที่ถือได้ว่าพระพุทธเจ้าทรงแสดงในรูปของกฎธรรมชาติ คือ ไตรลักษณ์ และ ปฏิจจสมุปบาท ความจริงธรรมทั้ง ๒ หมวดนี้ ถือได้ว่าเป็นกฎเดียวกัน แต่แสดงในคนละแง่หรือคนละแนว เพื่อมองเห็นความจริงอย่างเดียวกัน คือ

 ไตรลักษณ์ มุ่งแสดงลักษณะของสิ่งทั้งหลายซึ่งปรากฏให้เห็นว่าเป็นอย่างนั้น ในเมื่อสิ่งเหล่านั้นเป็นไปโดยอาการที่สัมพันธ์เนื่องอาศัยเป็นเหตุปัจจัยสืบต่อแก่กันตามหลักปฏิจจสมุปบาท

 ส่วนหลักปฏิจจสมุปบาท ก็มุ่งแสดงถึงอาการที่สิ่งทั้งหลายมีความสัมพันธ์เนื่องอาศัยเป็นเหตุปัจจัยสืบต่อแก่กันเป็นกระแส จนปรากฏลักษณะให้เห็นว่าเป็น ไตรลักษณ์

 กฎธรรมชาตินี้ เป็น ธรรมธาตุ คือภาวะที่ทรงตัวอยู่โดยธรรมดา เป็น ธรรมฐิติ คือ ภาวะที่ตั้งอยู่ หรือยืนตัวเป็นหลักแน่นอนอยู่โดยธรรมดา เป็น ธรรมนิยาม  คือกฎธรรมชาติ หรือกำหนดแห่งธรรมดา ไม่เกี่ยวกับผู้สร้างผู้บันดาล หรือการเกิดขึ้นของศาสดาหรือศาสนาใดๆ

 กฎธรรมชาตินี้แสดงฐานะของศาสดาในความหมายของพุทธธรรมด้วย ว่าเป็นผู้ค้นพบกฎเหล่านี้แล้วนำมาเปิดเผยชี้แจงแก่ชาวโลก

หัวข้อ: Re: พุทธธรรม :พุทธพจน์แสดงหลักไตรลักษณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ กุมภาพันธ์ 25, 2013, 03:04:29 pm


(http://sphotos-a.ak.fbcdn.net/hphotos-ak-prn1/155227_358203777603901_523034180_n.jpg)

พุทธพจน์แสดงหลักไตรลักษณ์ ว่าดังนี้
 ตถาคต (พระพุทธเจ้า) ทั้งหลาย จะอุบัติหรือไม่ก็ตาม ธาตุ (หลัก) นั้นก็ยังคงมีอยู่ เป็นธรรมฐิติ เป็นธรรมนิยามว่า
 ๑. สังขารทั้งปวง ไม่เที่ยง..............
 ๒. สังขารทั้งปวง  เป็นทุกข์.............
 ๓. ธรรมทั้งปวง เป็นอนัตตา..............

 ตถาคตตรัสรู้ เข้าถึงหลักนั้นแล้ว จึงบอก แสดง วางเป็นแบบ ตั้งเป็นหลัก เปิดเผย แจกแจง ทำให้เข้าใจง่ายว่า “สังขารทั้งปวง ไม่เที่ยง...สังขารทั้งปวง เป็นทุกข์...ธรรมทั้งปวง เป็นอนัตตา...”

 ไตรลักษณ์นี้ ในอรรถกถาบางทีเรียกว่า “สามัญลักษณะ” ในฐานะเป็นลักษณะร่วม ที่มีเสมอกันแก่สังขารทั้งปวง (แต่ไม่เสมอกันแก่ธรรมทั้งปวง)

 เพื่อความเข้าใจง่ายๆ ให้ความหมายของไตรลักษณ์ (the Three Characteristics of Existence) โดยย่อดังนี้
 ๑. อนิจจตา (Impermanence) ความไม่เที่ยง ความไม่คงที่ ความไม่คงตัว ภาวะที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมและสลายไป
 ๒. ทุกขตา (Conflict) ความเป็นทุกข์ ภาวะที่ถูกบีบคั้นด้วยการเกิดขึ้นและสลายไป ภาวะที่กดดันฝืนและขัดแย้งอยู่ในตัว เพราะปัจจัยที่ปรุงแต่งให้มีสภาพเป็นอย่างนั้นเปลี่ยนแปลงไป จะทำให้คงอยู่ในสภาพนั้นไม่ได้ ภาวะที่ไม่สมบูรณ์มีความบกพร่องอยู่ในตัว ไม่ให้ความสมอยากแท้จริง หรือความพึงพอใจเต็มที่ แก่ผู้อยากด้วยตัณหา และก่อให้เกิดทุกข์แก่ผู้เข้าไปอยากไปยึดด้วยตัณหา อุปาทาน
 ๓. อนัตตตา (Soullessness หรือ Non-Self) ความเป็นอนัตตา ความไม่ใช่ตัวตน ความไม่มีตัวตนแท้จริงที่จะสั่งบังคับให้เป็นอย่างไรๆ ได้

 สิ่งทั้งหลายหากจะกล่าวว่ามี ก็ต้องว่ามีอยู่ในรูปของกระแส ที่ประกอบด้วยปัจจัยต่างๆ อันสัมพันธ์เนื่องอาศัยกัน เกิดดับสืบต่อกันไปอยู่ตลอดเวลาไม่ขาดสาย จึงเป็นภาวะที่ไม่เที่ยง เมื่อต้องเกิดดับไม่คงที่ และเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่อาศัย ก็ย่อมมีความบีบคั้น กดดัน ขัดแย้ง และแสดงถึงความบกพร่องไม่สมบูรณ์อยู่ในตัว และเมื่อทุกส่วนเป็นไปในรูปกระแสที่เกิดดับอยู่ตลอดเวลาขึ้นต่อเหตุปัจจัยเช่นนี้ ก็ย่อมไม่เป็นตัวของตัว มีตัวตนแท้จริงไม่ได้ ไม่อยู่ในอำนาจของใครๆ ที่จะสั่งบังคับให้เป็นไปอย่างไรๆ ตามใจปรารถนา

 ในกรณีของสัตว์บุคคล ให้แยกว่า สัตว์บุคคลนั้นประกอบด้วยขันธ์ ๕ เท่านั้น ไม่มีสิ่งใดอื่นอีกนอกเหนือจากขันธ์ ๕ เป็นอันตัดปัญหาเรื่องที่จะมีตัวตนเป็นอิสระอยู่ต่างหาก จากนั้นหันมาแยกขันธ์ ๕ ออกพิจารณาแต่ละอย่างๆ ก็จะเห็นว่า ขันธ์ทุกขันธ์ไม่เที่ยง เมื่อไม่เที่ยงก็เป็นทุกข์ เป็นสภาพบีบคั้นกดดันแก่ผู้เข้าไปยึด เมื่อเป็นทุกข์ ก็ไม่ใช่ตัวตน

 ที่ว่าไม่ใช่ตัวตน ก็เพราะแต่ละอย่างๆ ล้วนเกิดจากเหตุปัจจัย ไม่มีตัวตนของมัน อย่างหนึ่ง เพราะไม่อยู่ในอำนาจ ไม่เป็นของของสัตว์บุคคลนั้นแท้จริง (ถ้าสัตว์บุคคลนั้นเป็นเจ้าของขันธ์ ๕ แท้จริง ก็ย่อมต้องบังคับเอาเองให้เป็นไปตามความต้องการได้ และไม่ให้เปลี่ยนแปลงไปจากสภาพที่ต้องการได้ เช่น ไม่ให้แก่ ไม่ให้เจ็บป่วย เป็นต้นได้) อย่างหนึ่ง

 พุทธพจน์แสดงไตรลักษณ์ในกรณีของขันธ์ ๕ มีตัวอย่างที่เด่น ดังนี้
 ภิกษุทั้งหลาย รูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ เป็นอนัตตา  หากรูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ จักเป็นอัตตา

(ตัวตน) แล้วไซร้ มันก็จะไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ ทั้งยังจะได้ตามปรารถนาในรูป ฯลฯ ในวิญญาณว่า “ขอรูป...ขอเวทนา...ขอสัญญา...ขอสังขาร...ขอวิญญาณของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย” แต่เพราะเหตุที่รูป ฯลฯ วิญญาณ เป็นอนัตตา ฉะนั้น รูป ฯลฯ วิญญาณจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และใครๆ ไม่อาจได้ตามความปรารถนา ในรูป ฯลฯ วิญญาณว่า “ขอรูป...ขอเวทนา...ขอสัญญา...ขอสังขาร... ขอวิญญาณของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย”

 ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายมีความเห็นเป็นไฉน?
 รูปเที่ยง หรือไม่เที่ยง ฯ (ตรัสถามทีละอย่าง จนถึง วิญญาณ)
 “ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า”
 ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ หรือเป็นสุข?
 “เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า”
 ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะเฝ้าเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา?
 “ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า”

 ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล รูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ทั้งภายในและภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ทั้งที่ไกลและที่ใกล้ ทั้งหมดนั้น เธอทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันถูกต้อง ตามที่มันเป็นว่า “นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่ใช่นั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา

 มีปราชญ์ฝ่ายฮินดูและฝ่ายตะวันตกหลายท่าน พยายามแสดงเหตุผลว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงปฏิเสธอัตตา หรือ อาตมัน ในชั้นสูงสุด ทรงปฏิเสธแต่เพียงธรรมที่เป็นปรากฏการณ์ต่างๆ อย่างเช่นในพระสูตรนี้เป็นต้น ทรงปฏิเสธขันธ์ ๕ ทุกอย่างว่าไม่ใช่อัตตา เป็นการแสดงเพียงว่า ไม่ให้หลงผิดยึดเอาขันธ์ ๕ เป็นอัตตา เพราะอัตตาที่แท้จริงซึ่งมีอยู่นั้น ไม่ใช่ขันธ์ ๕ และยกพุทธพจน์อื่นๆ มาประกอบอีกมากมาย เพื่อแสดงว่าพระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธเฉพาะธรรมที่เป็นปรากฏการณ์ต่างๆว่าไม่ใช่อัตตา แต่ทรงยอมรับอัตตาในขั้นสูงสุด และพยายามอธิบายว่า นิพพานมีสภาวะอย่างเดียวกับอาตมัน หรือว่า นิพพานนั่นเอง คือ อัตตา

 เรื่องนี้ ถ้ามีโอกาสจะได้วิจารณ์ในตอนที่เกี่ยวกับนิพพาน ส่วนในที่นี้ขอกล่าวสั้นๆ เพียงในแง่จริยธรรมว่า ปุถุชน โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับการศึกษาอบรมมาในระบบความเชื่อถือเกี่ยวกับเรื่องอาตมัน ย่อมมีความโน้มเอียงในทางที่จะยึดถือหรือไขว่คว้าไว้ให้มีอัตตาในรูปหนึ่งรูปใดให้จงได้ เป็นการสนองความปรารถนาที่แฝงอยู่ในจิตส่วนลึกที่ไม่รู้ตัว เมื่อจะต้องสูญเสียความรู้สึกว่ามีตัวตนในรูปหนึ่ง (ในชั้นขันธ์ ๕) ไป ก็พยายามยึดหรือคิดสร้างเอาที่เกาะเกี่ยวอันใหม่ขึ้นไว้ แต่ตามหลักพุทธธรรมนั้น มิได้มุ่งให้ปล่อยอย่างหนึ่ง เพื่อไปยึดอีกอย่างหนึ่ง หรือพ้นอิสระจากที่หนึ่ง เพื่อตกไปเป็นทาสอีกที่หนึ่ง อีกประการหนึ่งพูดฝากไว้สั้นๆ ให้ไปคิดว่า สิ่งที่มีอัตตา ย่อมมีไม่ได้ และสิ่งที่มีได้ ต้องไม่มีอัตตา

 อาการที่สิ่งทั้งหลายมีอยู่ในรูปกระแส มีความสัมพันธ์เนื่องอาศัยเป็นปัจจัยสืบต่อกัน และมีลักษณะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อย่างไร ยังจะต้องอธิบายด้วยหลักปฏิจจสมุปบาทต่อไปอีก ความจึงจะชัดยิ่งขึ้น

หัวข้อ: Re: พุทธธรรม หรือ กฎธรรมชาติและคุณค่าสำหรับชีวิต (ป. อ. ปยุตฺโต)
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ กุมภาพันธ์ 25, 2013, 03:54:17 pm


(http://sphotos-c.ak.fbcdn.net/hphotos-ak-ash4/402860_349629355128010_782457255_n.jpg)

คุณค่าทางจริยธรรม (ไตรลักษณ์)
๑. หลักอนิจจตา
๒. หลักทุกขตา

๑. หลักอนิจจตา
 อนิจจตา แสดงความไม่เที่ยง ความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปของสิ่งทั้งหลาย จนถึงส่วนย่อยที่ละเอียดที่สุด ทั้งฝ่ายรูปธรรม และนามธรรม ความไม่เที่ยงของส่วนย่อยต่างๆ เมื่อปรากฏเป็นผลรวมออกมาแก่ส่วนใหญ่ที่มนุษย์พอสังเกตเห็นได้ ก็เรียกกันว่าความเปลี่ยนแปลง ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจหรือรู้สึกเหมือนกับว่าสิ่งต่างๆ เหล่านั้นมีตัวมีตนของมัน ซึ่งเดิมมีสภาพเป็นอย่างหนึ่ง และบัดนี้ตัวตนอันนั้นเองได้เปลี่ยนแปลงแปรรูปไปเป็นอีกอย่างหนึ่ง

 ความเข้าใจหรือรู้สึกเช่นนี้ เป็นความหลงผิดอย่างหนึ่ง เป็นเหตุให้เกิดความยึดมั่นถือมั่น นำตัวเข้าไปผูกไว้กับภาพความนึกคิดอย่างหนึ่งซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริง เมื่อดำรงชีวิตอยู่อย่างผู้ไม่รู้เท่าทันสภาวะ ย่อมถูกฉุดลากให้กระเสือกกระสนกระวนกระวายไปตามภาพที่สร้างขึ้นลวงตนเองนั้น เรียกว่า อยู่อย่างเป็นทาส แต่ผู้รู้เท่าทันสภาวะ ย่อมอยู่อย่างเป็นอิสระ และสามารถถือเอาประโยชน์จากกฎธรรมดาเหล่านี้ได้

 ในทางจริยธรรม หลักอนิจจตาอาจใช้ให้เป็นประโยชน์ได้เป็นอันมาก โดยเฉพาะที่เป็นหลักใหญ่ ๒ ประการ คือ
๑) มีชีวิตซึ่งเป็นอยู่ด้วยปัญญา ที่ด้านนอกไม่ประมาท เร่งขวนขวายทำการปรับปรุงแก้ไขด้วยความรู้ที่ตรงต่อเหตุปัจจัย
 ความเป็นอนิจจังนั้น ว่าตามสภาวะของมัน ย่อมเป็นกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว แต่เมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของมนุษย์ ก็มีบัญญัติความเปลี่ยนแปลงด้านหนึ่งว่าเป็นความเจริญ และความเปลี่ยนแปลงอีกด้านหนึ่งว่าเป็นความเสื่อม อย่างไรก็ดี ความเปลี่ยนแปลงจะเป็นไปในด้านใด อย่างไร ย่อมแล้วแต่เหตุปัจจัยที่จะให้เป็น

 ในทางจริยธรรม จึงนำหลักอนิจจตามาสอนอนุโลมตามความเข้าใจในเรื่องความเสื่อมและความเจริญได้ว่า สิ่งที่เจริญแล้วย่อมเสื่อมได้ สิ่งที่เสื่อมแล้วย่อมเจริญได้ และสิ่งที่เจริญแล้วย่อมเจริญยิ่งขึ้นไปได้ ทั้งนี้แล้วแต่เหตุปัจจัยต่างๆ และในบรรดาเหตุปัจจัยทั้งหลายนั้น มนุษย์ย่อมเป็นเหตุปัจจัยที่สำคัญ ซึ่งสามารถส่งผลต่อเหตุปัจจัยอื่นๆ ได้อย่างมาก

 โดยนัยนี้ ความเจริญและความเสื่อมจึงมิใช่เรื่องที่จะเป็นไปเองตามลมๆ แต่เป็นสิ่งที่มนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้อง จัดการ และสร้างสรรค์ได้ อย่างที่เรียกว่า ตามยถากรรม  คือแล้วแต่มนุษย์จะทำเหตุปัจจัย โดยไม่ต้องคอยระแวงการแทรกแซงจากตัวการอย่างอื่นนอกเหนือธรรมชาติ เพราะตัวการนอกเหนือธรรมชาติไม่มี

 ดังนั้น ในทางจริยธรรม ความเป็นอนิจจัง หรือแม้จะเรียกว่าความเปลี่ยนแปลง จึงเป็นกฎธรรมชาติที่ทำให้มนุษย์มีความหวัง เพราะกฎธรรมชาติย่อมเป็นกลางๆ จะให้เป็นอย่างไรแล้วแต่จะทำเหตุปัจจัยที่จะให้เป็นอย่างนั้นขึ้น การเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ดีขึ้น จึงเป็นสิ่งที่ทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความเจริญทางวัตถุ หรือทางนามธรรม ตั้งแต่การทำคนโง่ให้เป็นคนฉลาด จนถึงทำปุถุชนให้เป็นพระอรหันต์ รวมทั้งการแก้ไข กลับตัว ปรับปรุงตนเองทุกอย่าง สุดแต่จะรู้เข้าใจเหตุปัจจัยที่จะให้เป็นอย่างนั้น แล้วสร้างเหตุปัจจัยนั้นๆ ขึ้น

 โดยสรุป ความเป็นอนิจจัง ในความเข้าใจระดับที่เรียกว่าเป็นความเปลี่ยนแปลง สอนว่า สำหรับผู้สร้างความเจริญหรือผู้เจริญขึ้นแล้ว ต้องตระหนักว่า ความเจริญนั้นอาจเปลี่ยนเป็นเสื่อมได้ เมื่อไม่ต้องการความเสื่อม ก็ต้องไม่ประมาท ต้องหลีกเว้นและกำจัดเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางเสื่อม พยายามสร้างและเปิดช่องให้แก่เหตุปัจจัยที่จะให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างที่จะรักษาความเจริญนั้นไว้ สำหรับผู้พลาดเสื่อมลงไปก็สามารถแก้ไขปรับปรุงได้ โดยละทิ้งเหตุปัจจัยที่ทำให้เสื่อมนั้นเสีย กลับมาสร้างเหตุปัจจัยที่จะทำให้เจริญต่อไป

 ยิ่งกว่านั้น ความเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปในทางเจริญอยู่แล้ว ก็สามารถส่งเสริมให้เจริญยิ่งขึ้นได้ โดยเพิ่มพูนเหตุปัจจัยที่จะทำให้เจริญให้มากยิ่งขึ้น พร้อมกับที่ต้องไม่ประมาทมัวหลงระเริงในความเจริญนั้น จนมองไม่เห็นความเป็นไปได้ของความเสื่อม และเหตุปัจจัยต่างๆ ที่จะให้เกิดความเสื่อมนั้นเสียเลย

 กล่าวมาถึงขั้นนี้ ก็มาถึงหลักธรรมสำคัญที่สุด ที่เป็นเครื่องประสานระหว่างสัจธรรมกับจริยธรรม คือการที่จะต้องมีปัญญา ตั้งต้นแต่รู้ว่าความเสื่อมและความเจริญแท้จริงที่ต้องการนั้น คืออะไร เหตุปัจจัยที่จะให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างที่ต้องการนั้นคืออะไร ตลอดจนข้อที่ว่า จะเพิ่มพูนความสามารถของมนุษย์ในการเข้าไปผลักดันเหตุปัจจัยต่างๆ ได้อย่างไร

 หลักอนิจจตา จึงมีความหมายอย่างยิ่งในทางจริยธรรม ตั้งแต่ให้ความหวังในการสร้างความเจริญก้าวหน้า รับรองหลักกรรม คือความมีผลแห่งการกระทำของมนุษย์ จนถึงเน้นความสำคัญของการศึกษาให้เกิดปัญญาที่สำหรับจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ อย่างมีผลดี

๒) มีชีวิตซึ่งเป็นอยู่ด้วยปัญญา ที่ด้านในจิตใจอิสระ เป็นสุขผ่องใสปล่อยวางได้ด้วยความรู้เท่าทันเหตุปัจจัย
 ในด้านชีวิตภายใน หรือคุณค่าทางจิตใจโดยตรง หลักอนิจจตา ช่วยให้ดำรงชีวิตอยู่อย่างผู้รู้เท่าทันความจริง
 ขณะที่ทางด้านชีวิตภายนอก เมื่อรู้ตระหนักถึงความผันผวนปรวนแปรไม่แน่นอน จึงไม่นิ่งนอนใจ ขวนขวาย ไม่ประมาท คอยใช้ปัญญาศึกษาให้รู้เท่าทันเหตุปัจจัย ทำการปรับปรุงแก้ไข หลีกเว้นความเสื่อม และสร้างสรรค์ความเจริญอยู่ตลอดเวลา โดยไม่ปล่อยปละละเลย แต่ภายในจิตใจ ด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันเหตุปัจจัยนั้น ก็ปล่อยวางได้ ดำรงอยู่ด้วยจิตใจที่เป็นอิสระ ไม่ตกเป็นทาสของความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเสื่อมและด้านเจริญ รู้จักที่จะถือเอาประโยชน์จากกฎธรรมชาติแห่งความเปลี่ยนแปลงนั้น และเกี่ยวข้องกับมันโดยไม่ต้องถูกกระแทกกระทั้นซัดเหวี่ยงฉุดกระชากลากไปอย่างไร้หลักเลื่อนลอยและมืดมัว เพราะเอาตัวเข้าไปยึดมั่นเกาะติดอยู่กับเกลียวคลื่นส่วนโน้นส่วนนี้ ในกระแสของมันอย่างไม่รู้หัวรู้หน จนช่วยตนเองไม่ได้ ที่จะช่วยคนอื่นเป็นอันไม่ต้องพูดถึง

 ผู้มีจิตใจเป็นอิสระ รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยตัณหาอุปาทานเท่านั้น จึงจะรู้ว่าอะไรเป็นความเสื่อม อะไรเป็นความเจริญที่แท้จริง มิใช่เพียงความเจริญที่อ้างสำหรับมาผูกรัดตัวเองและผู้อื่นให้เป็นทาสมากยิ่งขึ้น หรือถ่วงให้จมต่ำลงไปอีก และจึงจะสามารถใช้ประโยชน์จากความเจริญที่สร้างขึ้นนั้นได้มากที่สุด พร้อมกับที่สามารถทำตนเป็นที่พึ่งแก่คนอื่นได้อย่างดี

 ในทางจริยธรรมขั้นต้น หลักอนิจจตา สอนให้รู้ธรรมดาของสิ่งทั้งหลาย จึงช่วยไม่ให้เกิดความทุกข์เกินสมควรในเมื่อเกิดความเสื่อม หรือความสูญเสีย และช่วยไม่ให้เกิดความประมาทหลงระเริงในเวลาเจริญ

 ในขั้นสูง
ทำให้เข้าถึงความจริงโดยลำดับจนมองเห็นความเป็นอนัตตาทำให้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยจิตที่เป็นอิสระ  ไม่มีความยึดติดถือมั่น ปราศจากทุกข์ อย่างที่เรียกว่ามีสุขภาพจิตสมบูรณ์แท้จริง

 หลักอนิจจตา มักมีผู้นิยมนำมาใช้เป็นเครื่องปลอบใจตนเอง หรือปลอบใจผู้อื่นในเมื่อเกิดภัยพิบัติ ความทุกข์ ความสูญเสียต่างๆ ซึ่งก็ได้ผลช่วยให้คลายทุกข์ลงได้มากบ้างน้อยบ้าง การใช้หลักอนิจจตาในแง่นี้ ย่อมเป็นประโยชน์บ้าง เมื่อใช้ในโอกาสที่เหมาะสม และโดยเฉพาะสำหรับให้สติแก่ผู้ไม่คุ้น หรือไม่เคยสำนึกในหลักความจริงนี้มาก่อน แต่ถ้าถึงกับนำเอาการปลอบใจตัวแบบนี้มาเป็นหลักในการดำรงชีวิต หรือมีชีวิตอยู่ด้วยการปลอบใจตัวเองอย่างนี้ จะกลับเป็นโทษมากกว่า เพราะกลายเป็นความประมาท เท่ากับปล่อยตัวลงเป็นทาสในกระแสโลก คือไม่ได้ใช้หลักอนิจจตาให้เป็นประโยชน์นั่นเอง เป็นการปฏิบัติผิดต่อหลักกรรมในด้านจริยธรรม ขัดต่อการแก้ไขปรับปรุงตนเองเพื่อเข้าถึงจุดหมายที่พุทธธรรมจะให้แก่ชีวิตได้

หัวข้อ: Re: พุทธธรรม หรือ กฎธรรมชาติและคุณค่าสำหรับชีวิต (ป. อ. ปยุตฺโต)
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ กุมภาพันธ์ 25, 2013, 04:50:07 pm


                 (http://sphotos-h.ak.fbcdn.net/hphotos-ak-snc7/484188_306992466058366_1960258951_n.jpg)

๒. หลักทุกขตา
 ในหลักทุกขตา มีเกณฑ์สำคัญสำหรับกำหนดคุณค่าทางจริยธรรมอยู่ ๒ อย่าง คือ
 ๑) ทุกข์ที่เป็นธรรมดาของสังขาร ต้องรู้ทันไม่ยึดฉวยเอามาใส่ตัวให้เป็นทุกข์ของเรา แต่เป็นภาระที่ต้องจัดการด้วยปัญญาที่รู้เหตุปัจจัย

 ในเมื่อสิ่งทั้งหลายเกิดจากการประชุมกันเข้าขององค์ประกอบต่างๆ ที่เป็นส่วนย่อยๆ ลงไป และองค์ประกอบเหล่านั้น แต่ละอย่างล้วนไม่เที่ยง กำลังตกอยู่ในอาการเกิดขึ้น แปรไป และสลายตัว ตามหลักอนิจจตาอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น สิ่งที่เป็นหน่วยรวมนั้น จึงเท่ากับเป็นที่รวมของความแปร ปรวนและความขัดแย้งต่างๆ และแฝงเอาภาวะที่พร้อมจะแตกแยกและเสื่อมสลายเข้าไว้ในตัวด้วยอย่างเต็มที่

 เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่จะควบคุมองค์ประกอบต่างๆ ที่กำลังเปลี่ยนแปลงอยู่นั้นให้คุมรูปเป็นหน่วยรวมตามรูปแบบที่ประสงค์ก็ดี การที่จะควบคุมการเปลี่ยนแปลงนั้นให้ดำเนินไปในทิศทางที่ต้องการก็ดี จะต้องใช้พลังงานและวิธีการจัดระเบียบเข้ามาร่วมเป็นองค์ประกอบช่วยเป็นเหตุปัจจัยเพิ่มขึ้นอีกด้วย ยิ่งองค์ประกอบส่วนย่อยๆ ต่างๆ นั้น มีมากและสลับซับซ้อนยิ่งขึ้นเท่าใด ก็ต้องใช้พลังงานมากขึ้นและมีการจัดระเบียบที่ละเอียดรัดกุมยิ่งขึ้นเท่านั้น

 การปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลาย เพื่อให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ จะต้องทำที่ตัวเหตุปัจจัยของมัน และรู้ชัดถึงความสำเร็จผล หรือความผิดพลาดพร้อมทั้งทางแก้ไขต่อไปตามความพร้อมของเหตุปัจจัยเหล่านั้น นี้คือวิธีปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างอิสระไม่ผูกมัดตัว และไม่เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์

 ส่วนวิธีที่ตรงข้ามจากนี้ ก็คือการกระทำตามความยึดอยากด้วยตัณหาอุปาทาน โดยนำเอาตัวเข้าไปผูกมัดให้สิ่งเหล่านั้นบีบคั้น ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดความทุกข์แก่ตนเองแล้ว ก็ไม่ช่วยให้เกิดผลดีอย่างใดๆ ขึ้นมา


 ๒) หลักอริยสัจบอกหน้าที่กำกับไว้ว่า ทุกข์สำหรับปัญญารู้ทันและทำให้ไม่เกิดไม่มี แต่สุขที่คนมุ่งหมายต้องทำให้กลายเป็นชีวิตของเรา

 ตามหลัก “กิจในอริยสัจ” หน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติต่อทุกข์ ได้แก่ ปริญญา คือการกำหนดรู้ หรือทำความเข้าใจ หมายความว่า เรื่องทุกข์นี้ บุคคลมีหน้าที่เกี่ยวข้องเพียงแค่กำหนดรู้หรือทำความเข้าใจเท่านั้น

 การปฏิบัติต่อทุกข์โดยถูกต้องตามหลักกิจในอริยสัจนี้ เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง แต่เป็นเรื่องที่มักถูกมองข้ามไป พุทธธรรมสอนให้ปฏิบัติต่อทุกข์ด้วยการศึกษาให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ให้รู้จักทุกข์ คือให้รู้จักปัญหาของตน มิใช่เพื่อให้เป็นทุกข์ แต่เพื่อปฏิบัติต่อมันได้ถูกต้อง แล้วจะได้ไม่มีทุกข์ หรือพูดอย่างง่ายๆ ว่า เพื่อจะได้มีความสุขที่แท้จริงนั่นเอง

 พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ หลักกิจในอริยสัจสอนว่า สิ่งใดก็ตามที่เป็นปัญหาหรืออาจจะเป็นปัญหาขึ้นแก่ตน มนุษย์จะต้องศึกษาสิ่งนั้นให้รู้ให้เข้าใจอย่างชัดเจนที่สุด เพื่อจะได้จัดการแก้ไขป้องกันปัญหานั้นให้ถูกจุด การศึกษาปัญหามิได้หมายความว่าเป็นการสร้างปัญหาหรือหาปัญหามาใส่ตน แต่เป็นวิธีที่จะทำให้ปัญหาหมดไปหรือไม่มี เหมือนแพทย์จะบำบัดโรครักษาคนไข้ ก็ต้องรู้จักชีวิตร่างกายและวินิจฉัยโรคให้ถูก ตลอดจนรู้เข้าใจให้ถึงขั้นที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเป็นโรคขึ้นมา

 ทุกข์นั้น เมื่อเรารู้ทันและปฏิบัติหรือจัดการกับมันอย่างถูกต้อง ก็ทำให้มันไม่มีและไม่เกิดขึ้นมา แต่ถ้ารู้ไม่ทันและปฏิบัติไม่ถูก ก็ได้แต่หนีทุกข์ที่เอามาใส่ไว้ในตัวหรือสร้างให้แก่ตัวอยู่เรื่อยไป และหนีไม่พ้นสักที

 ในทางตรงข้าม ความสุขที่มนุษย์มุ่งหมาย ถ้าปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักกิจในอริยสัจ เราจะไม่ต้องมัวแสวงหา แต่กลายเป็นว่าเรามีความสุข คือไม่เป็นคนที่ต้องหาความสุข แต่เป็นคนมีความสุข เพราะความสุขกลายเป็นชีวิตของเรา หรือเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งในตัวของเรา

 ผู้ที่ไม่รู้หลักกิจในอริยสัจ อาจปฏิบัติต่อทุกข์อย่างผิดพลาด ขาดจุดหมาย เขวออกไปนอกทาง และอาจกลายเป็นการเพิ่มทุกข์แก่ตนด้วยการมองโลกในแง่ร้ายไปก็ได้

 เมื่อทราบหลักเกณฑ์ใหญ่ๆ ๒ ข้อนี้แล้ว จึงควรกำหนดคุณค่าต่างๆ ในทางจริยธรรมของหลักทุกขตา ดังต่อไปนี้
 ๑) การที่สิ่งทั้งหลายถูกบีบคั้นด้วยการเกิดขึ้น การเจริญ และการสลายตัว ทำให้เกิดความกดดัน ขัดแย้ง และการที่จะทนอยู่ในสภาพเดิมตลอดไปไม่ได้ ภาวะเช่นนี้แสดงว่า สิ่งทั้งหลายมีความบกพร่อง มีความไม่สมบูรณ์อยู่ในตัว ความบกพร่องหรือความไม่สมบูรณ์นี้ ยิ่งมีมากขึ้นโดยสัมพันธ์กับกาลเวลาที่ผ่านไป และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอก เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งทั้งหลายที่จะรักษาสภาพของตนไว้หรือขยายตัวเข้าสู่ความสมบูรณ์ จึงต้องต่อสู้ดิ้นรนอยู่ตลอดเวลา การดำรงสภาพชีวิตที่ดีไว้ การนำชีวิตเข้าสู่ความเจริญ และความสมบูรณ์ จึงต้องมีการแก้ไขปรับปรุงตัวอยู่ตลอดเวลา

 ๒) เมื่อความขัดแย้ง ดิ้นรนต่อสู้ เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยที่ให้เกิดความเปลี่ยนแปลง จะเป็นเหตุปัจจัยภายในหรือภายนอกก็ตาม การฝืนแบบทื่อๆ ย่อมให้ผลร้ายมากกว่าผลดี ไม่ว่าจะในกรณีของสิ่งต่างๆ บุคคล หรือสถาบัน เช่น ในเรื่องของวัฒนธรรมเป็นต้น ดังนั้น การรู้จักปรับตัวและปรับปรุงจึงเป็นเรื่องสำคัญ และข้อนี้ ย่อมเป็นการย้ำความจำเป็นของปัญญา ในฐานะหลักจริยธรรมสำหรับรู้เท่าทันและจัดการทุกสิ่งทุกอย่างให้ตรงตัวเหตุปัจจัย

 ๓) ความสุข และสิ่งที่ให้ความสุขอย่างที่เข้าใจกันในโลก ก็ตกอยู่ในหลักความจริงข้อนี้ด้วย ความสุขเหล่านี้ ย่อมมีความไม่สมบูรณ์อยู่ในตัว ในแง่ที่ว่า จะต้องแปรปรวนไปจากสภาพที่เป็นความสุข หรือจากสภาพที่จะหาความสุขนั้นได้ อย่างหนึ่ง และดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจให้ความพึงพอใจได้โดยสมบูรณ์ อย่างหนึ่ง

 ผู้ที่ฝากความหวังในความสุขไว้กับสิ่งเหล่านี้อย่างขาดสติ ย่อมเท่ากับทำตัวให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับความไม่สมบูรณ์ของสิ่งเหล่านั้น หรือทิ้งตัวลงไปอยู่ในกระแสความแปรปรวนของมัน แล้วถูกฉุดลาก กดดันและบีบคั้นเอาอย่างควบคุมตัวเองไม่ได้ สุดแต่สิ่งเหล่านั้นจะแปรปรวนไปอย่างไร ความหวังในความสุขมากเท่าใด เมื่อความแปรปรวนหรือผิดหวังเกิดขึ้น ความทุกข์ก็รุนแรงมากขึ้นตามอัตรา เป็นการหาความสุขชนิดขายตัวลงเป็นทาส หรือเอาค่าของชีวิตเป็นเดิมพัน

 ผู้หาความสุขที่ฉลาด เมื่อยังยินดีที่จะหาความสุขจากสิ่งเหล่านี้อยู่ จึงต้องมีชีวิตอยู่อย่างรู้เท่าทันความจริง แสวงหาและเสวยความสุขอย่างมีสติสัมปชัญญะ โดยประการที่ว่า ความแปรปรวนของมันจะก่อโทษให้เกิดพิษภัย หรือเกิดความกระทบกระเทือนน้อยที่สุด พูดอีกอย่างหนึ่งว่า ถึงจะเป็นอย่างไรก็ให้รักษาอิสรภาพของจิตใจไว้ให้ดีที่สุด

มีต่อค่ะ...

หัวข้อ: Re: พุทธธรรม :หลักทุกขตา (ป. อ. ปยุตฺโต)
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ กุมภาพันธ์ 25, 2013, 05:26:25 pm
ต่อค่ะ...  ๒. หลักทุกขตา
 ๔) ความสุขแยกโดยคุณค่า มี ๒ ประเภท คือ ความสุขในการได้สนองความต้องการทางประสาททั้งห้าและสนองความคิดอยากต่างๆ อย่างหนึ่ง ความสุขในภาวะจิตที่ปลอดโปร่งผ่องใส เอิบอิ่ม สดชื่น เบิกบานเป็นอิสระ ปราศจากสิ่งข้องขัด กีดกั้น จำกัดความนึกคิด เช่น ความวิตกกังวล ความรู้สึกคับแคบ และกิเลสต่างๆ ที่พัวพันจิตใจ อย่างหนึ่ง

 ความสุขประเภทแรก เป็นความสุขที่ต้องหา และเป็นแบบที่ขึ้นต่อปัจจัยภายนอก คือ วัตถุและอารมณ์สำหรับสนองความต้องการต่างๆ ลักษณะอาการของจิตในสภาพที่เกี่ยวข้องกับความสุขประเภทนี้ คือ การแส่หาดิ้นรนกระวนกระวายเป็นอาการนำหน้า อย่างหนึ่ง และความรู้สึกที่ยึดติด คับแคบ หวงแหน ผูกพันเฉพาะตัวอย่างหนึ่ง อาการเหล่านี้มีความสำคัญมากในทางจริยธรรม เพราะเป็นอาการของความยึดอยาก หรือความเห็นแก่ตัว และในเมื่อไม่จัดการควบคุมให้ดี ย่อมเป็นที่มาแห่งปัญหาต่างๆ

 การที่ต้องอาศัยอารมณ์อย่างอื่น ต้องขึ้นต่อปัจจัยภายนอกเช่นนี้ ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่ความสุขประเภทนี้ จะต้องทำให้ตัวบุคคลตกเป็นทาสของปัจจัยภายนอก ในรูปใดรูปหนึ่ง ไม่มากก็น้อย และความแปรปรวนของปัจจัยภายนอกนั้น ย่อมทำให้เกิดความกระทบกระเทือนแก่บุคคลนั้นด้วย ความสุขประเภทนี้ ทางธรรมเรียกว่า สามิสสุข เป็นสุขเนื่องด้วยหาสิ่งสำหรับมาเติมความรู้สึกบางอย่างที่ขาดไป หรือพร่องอยู่ คือต้องอาศัย หรือต้องขึ้นต่ออามิส

 ส่วนความสุขประเภทหลัง เป็นความสุขที่มีขึ้นได้เอง สร้างขึ้นได้ เป็นอิสระของตัว ไม่ขึ้นต่อสิ่งอื่น ไม่ต้องพึ่งพา ไม่ต้องอาศัยสิ่งหรืออารมณ์ภายนอกมาสนอง เป็นภาวะของจิตใจภายในที่เรียกได้ว่าเป็นตัวของตัวเอง ไม่มีสิ่งรบกวน หรือขุ่นระคาย

 ภาวะจิตที่มีความสุขอย่างนี้ อาจบรรยายลักษณะได้ว่า เป็นความ สะอาด เพราะไม่มีความรู้สึกที่เป็นกิเลสต่างๆ เข้าไปปะปนขุ่นมัว สว่าง เพราะประกอบด้วยปัญญา มองเห็นสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น เห็นกว้างขวางไม่มีขีดจำกัด มีความเข้าอกเข้าใจ และพร้อมที่จะรับรู้พิจารณาสิ่งทั้งหลายตามสภาววิสัย สงบ เพราะไม่มีความกระวนกระวาย ปลอดจากสิ่งกังวลใจ ไม่ว้าวุ่นหวั่นไหว ผ่อนคลาย ราบเรียบ เสรี เพราะเป็นอิสระ ไม่มีสิ่งที่จำกัดความนึกคิด ไม่มีความกีดกั้นข้องขัด โปร่งเบา ไม่ยึดติด ไม่คับแคบ เปิดกว้าง แผ่ความรู้สึกรักใคร่ปรารถนาดีด้วยเมตตาไปยังมนุษย์ สัตว์ ทั่วหน้า รับรู้ความทุกข์ของผู้อื่นด้วยกรุณา ร่วมบันเทิงใจด้วยมุทิตาในความสุขความรุ่งเรืองสำเร็จของคนทุกคน และ สมบูรณ์ เพราะไม่มีความรู้สึกขาดแคลน บกพร่อง ว้าเหว่ มีแต่ความแช่มชื่นเบิกบาน เปรียบในทางร่างกายเหมือนการมีสุขภาพดี ย่อมเป็นภาวะที่เต็มเปี่ยมสมบูรณ์อยู่ในตัว ในเมื่อไม่มีโรคเป็นข้อบกพร่อง
 
 ในภาวะจิตเช่นนี้ คุณธรรมที่เป็นส่วนประกอบสำคัญก็คือ ความเป็น อิสระ ไม่เกี่ยวเกาะผูกพันเป็นทาส และ ปัญญา ความรู้ความเข้าใจตามความเป็นจริง คุณธรรมสองอย่างนี้แสดงออกในภาวะของจิตที่เรียกว่า อุเบกขา คือ ภาวะที่จิตราบเรียบ เป็นกลาง พร้อมที่จะเข้าเกี่ยวข้องจัดการกับสิ่งทั้งหลายตามสภาววิสัย ตามที่ควรจะเป็นด้วยเหตุผลบริสุทธิ์

 ความสุขประเภทนี้ มีคุณค่าสูงสุดในทางจริยธรรม เรียกว่า นิรามิส- สุข คือความสุขที่ไม่ต้องอาศัยอามิส ไม่ต้องขึ้นต่อสิ่งภายนอก ไม่ก่อให้เกิดปัญหา เช่น ความห่วงกังวล ความเบื่อหน่าย ความหวาดหวั่น การแย่งชิงแต่เป็นภาวะที่ไม่มีปัญหาและช่วยขจัดปัญหา เป็นภาวะที่ประณีตลึกซึ้ง ซึ่งอาจพัฒนาไปจนถึงขั้นที่เกินกว่าจะเรียกว่าเป็นความสุข จึงเรียกง่ายๆ ว่า ความพ้นจากทุกข์ เพราะแสดงลักษณะเด่นว่าพ้นจากข้อบกพร่องและความแปรปรวน

 ในการดำรงชีวิตของชาวโลก ซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับการแสวงหาความสุขประเภทที่หนึ่งอยู่ด้วยเป็นธรรมดานั้น เป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์จะได้รับสิ่งสนองความต้องการทุกอย่างได้ทันใจทุกครั้ง ตลอดทุกเวลา สมหวังเสมอไป และคงอยู่ตลอดไป เพราะเป็นเรื่องขึ้นต่อปัจจัยภายนอกและมีความแปรปรวนได้ตามกฎธรรมชาติ จึงเป็นความจำเป็นที่จะต้องพยายามสร้างสภาพจิตอย่างที่เรียกว่าความสุขประเภทที่สองไว้ด้วย อย่างน้อยพอเป็นพื้นฐานของจิตใจ ให้มีสุขภาพจิตดีพอที่จะดำรงชีวิตอยู่ในโลกอย่างที่เรียกว่าสุขสบาย มีความทุกข์น้อยที่สุด รู้จักว่าควรจะปฏิบัติตนอย่างไรต่อความสุขประเภทที่หนึ่งนั้น เพื่อมิให้กลายเป็นปัญหา ก่อให้เกิดความเดือดร้อน ทั้งแก่ตนและบุคคลอื่น สภาพจิตเช่นนี้จะสร้างขึ้นได้ก็ด้วยการรู้จักมองสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น เพื่อความมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่าไม่ยึดติดถือมั่น ซึ่งอาศัยการรู้เท่าทันหลักความจริงของธรรมชาติ จนถึงขั้นอนัตตา

 ๕) ในการแสวงหาความสุขประเภทที่หนึ่ง ซึ่งต้องอาศัยปัจจัยภายนอกนั้น จะต้องยอมรับความจริงว่า เป็นการเข้าไปสัมพันธ์กันของคู่สัมพันธ์อย่างน้อย ๒ ฝ่าย เช่น บุคคล ๒ คน หรือ บุคคล ๑ กับ วัตถุ ๑ เป็นต้น และแต่ละฝ่ายมีความทุกข์ มีความขัดแย้ง บกพร่อง ไม่สมบูรณ์ แฝงติดตัวมาด้วยกันอยู่แล้ว เมื่อสิ่งที่มีความขัดแย้งกับสิ่งที่มีความขัดแย้งมาสัมพันธ์กัน ก็ย่อมมีทางที่จะให้เกิดความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้นทั้งในด้านปริมาณและระดับความรุนแรง ตามอัตราการปฏิบัติที่ผิด

 ตัวอย่างง่ายๆ ในกรณีการแสวงหาความสุขนี้ เพื่อความสะดวก ยกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้เสวยความสุข และอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ถูกเสวย ทั้งผู้เสวยและผู้ถูกเสวย มีความบกพร่องและขัดแย้งอยู่ในตัวด้วยกันอยู่แล้ว เช่น ตัวผู้เสวยเอง ไม่อยู่ในภาวะและอาการที่พร้อมอยู่ตลอดเวลาที่จะเสวยความสุขตามความต้องการของตน ฝ่ายผู้ถูกเสวยก็ไม่อยู่ในภาวะและอาการที่พร้อมอยู่ตลอดเวลาที่จะถูกเสวย ในภาวะเช่นนี้ เป็นไปไม่ได้ที่จะได้ฝ่ายเดียว โดยไม่ยอมเสียบ้างเลย เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่าย ไม่ตระหนักหรือไม่ยอมรับความจริงนี้ ย่อมถือเอาความยึดอยากของตนเป็นประมาณ และย่อมเกิดอาการขัดแย้งระหว่างกันขึ้น เริ่มแต่ความขัดใจเป็นต้นไป

 อนึ่ง อาการที่ผู้เสวยยึดอยากต่อสิ่งที่ถูกเสวยนั้น ย่อมรวมไปถึงความคิดผูกหวงแหนไว้กับตนและความปรารถนาให้คงอยู่ในสภาพนั้นตลอดไปด้วย อาการเหล่านี้เป็นการขัดแย้งต่อกระบวนการของธรรมชาติที่เป็นไปตามกระแสแห่งเหตุปัจจัยต่างๆ จึงเป็นการนำตนเข้าไปขวางขืนความประสานกลมกลืนกันในกระบวนการของธรรมชาติ เมื่อดำรงชีวิตอยู่โดยไม่รู้เท่าทันความเป็นจริงเหล่านี้ ถือเอาแต่ความอยากความยึด คือ ตัณหาอุปาทานเป็นประมาณ ก็คือการเป็นอยู่อย่างฝืนทื่อๆ ซึ่งจะต้องเกิดความกระทบกระทั่งขัดแย้ง บีบคั้น และผลสะท้อนกลับที่เป็นความทุกข์ในรูปต่างๆ เกิดขึ้นเป็นอันมาก

 ยิ่งกว่านั้น ในฐานะที่คู่สัมพันธ์ทั้งสองฝ่าย เป็นส่วนประกอบอยู่ในธรรมชาติ ความสัมพันธ์ระหว่างกันนอกจากจะเกี่ยวข้องไปถึงกระบวนการธรรมชาติทั้งหมดเป็นส่วนรวมแล้ว ยังมักมีส่วนประกอบอื่นบางส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างพิเศษ เป็นตัวการอย่างที่สามอีกด้วย เช่น บุคคลที่อยากได้ของสิ่งเดียวกัน เป็นต้น ความยึดอยากที่ถูกขัด ย่อมให้เกิดปฏิกิริยาแสดงความขัดแย้งออกมาระหว่างกัน เช่น การแข่งขัน ต่อสู้ แย่งชิง เป็นต้นเป็นอาการรูปต่างๆ ของความทุกข์ ยิ่งจัดการกับปัญหาด้วยความยึดอยากมากเท่าใด ความทุกข์ก็ยิ่งรุนแรงเท่านั้น แต่ถ้าจัดการด้วยปัญญามากเท่าใด ปัญหาก็หมดไปเท่านั้น

 โดยนัยนี้ จากอวิชชา หรือ โมหะ คือความไม่รู้สิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น จึงอยากได้อย่างเห็นแก่ตัวด้วยโลภะ เมื่อขัดข้องหรือถูกขัดขวาง และไม่มีปัญญารู้เท่าทัน ก็เกิดโทสะความขัดใจและความคิดทำลาย จากกิเลสรากเหง้า ๓ อย่างนี้ กิเลสรูปต่างๆ ก็ปรากฏขึ้นมากมาย เช่น ความหวงแหน ความตระหนี่ ความริษยา ความหวาดระแวง ความฟุ้งซ่าน ความวิตกกังวล ความหวาดกลัว ความพยาบาท ฯลฯ เป็นการระดมสร้างปัจจัยแห่งความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในตัวมากขึ้นๆ และกิเสสอันเป็นเครื่องหมายแห่งความขัดแย้งเหล่านี้ ย่อมกลายเป็นสิ่งสำหรับกีดกั้นจำกัด และแยกตนเองออกจากความประสานกลมกลืนของกระบวนการแห่งธรรมชาติ ความขัดแย้งต่อธรรมชาตินี้ ย่อมส่งผลร้ายสะท้อนกลับมาบีบคั้นกดดันบุคคลนั้นเอง เป็นการลงโทษโดยธรรมชาติ ทุกข์ในธรรมชาติ หรือสังขารทุกข์ จึงแสดงผลออกมาเป็นความทุกข์ที่รู้สึกได้ในตัวคน เช่น

 *เกิดความรู้สึกคับแคบ มืด ขุ่นมัว อึดอัด เร่าร้อน กระวนกระวาย กลัดกลุ้ม
 *เกิดผลร้ายต่อบุคลิกภาพ และก่ออาการทางร่างกาย เช่น โรคภัยไข้เจ็บ
 *ความทุกข์ที่เป็นอาการตามปกติทางร่างกายอันเป็นธรรมดาสังขาร เช่น ความเจ็บปวดในยามป่วยไข้ ทวีความรุนแรงเกินกว่า
 ที่ควรจะเป็นตามปกติของมัน เพราะความเข้าไปยึดด้วยตัณหา อุปาทาน เป็นการซ้ำเติมตนเองหนักยิ่งขึ้น
 *เป็นการก่อความทุกข์ความขัดแย้ง ความคับแคบ อึดอัด ขุ่นมัว  ให้เกิดแก่คนอื่นๆ ขยายวงกว้างออกไป
 *เมื่อคนส่วนใหญ่ในสังคม แต่ละคน ต่างระดมสร้างกิเลสขึ้นมาปิด กั้นแยกตนเองด้วยความเห็นแก่ตัว ความขัดแย้งต่างๆ ก็เกิดเพิ่มพูนมากขึ้น สังคมก็เสื่อมโทรมเดือดร้อน เพราะผลกรรมร่วมกัน ของคนในสังคม

 นี้คือกระบวนการทำให้สังขารทุกข์ เกิดกลายเป็นทุกขเวทนา หรือความทุกข์แท้ๆ (ทุกขทุกข์) ขึ้นมา เพราะเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายด้วยอวิชชา มีชีวิตอย่างฝืนทื่อๆ ต่อกระบวนการธรรมชาติ และปล่อยตัวลงเป็นทาสในกระแสของมัน เรียกสั้นๆ ว่า เพราะความยึดมั่นถือมั่น

 วิถีที่ตรงข้ามจากนี้ ก็คือ การเป็นอยู่อย่างรู้เท่าทันความจริง คือรู้จักสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น แล้วเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยปัญญา รู้จักที่จะปฏิบัติโดยประการที่ว่า ทุกข์ในธรรมชาติที่เป็นไปตามสภาวะของมันเองตามธรรมดาสังขาร จะคงเป็นแต่เพียงสังขารทุกข์อยู่ตามเดิมของมันเท่านั้น ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งเป็นพิษเป็นภัยมากขึ้น ทั้งยังสามารถถือเอาประโยชน์จากสังขารทุกข์เหล่านั้นด้วย โดยเมื่อรู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นทุกข์ เพราะเข้าไปยึดถือด้วยตัณหาอุปาทาน ก็ไม่เข้าไปยึดถือมัน ไม่เป็นอยู่อย่างฝืนทื่อๆ ไม่สร้างกิเลสสำหรับมาขีดวงจำกัดตนเองให้กลายเป็นตัวการสร้างความขัดแย้งขึ้นมาบีบคั้นตนเองมากขึ้น

 พร้อมกันนั้น ก็รู้จักที่จะอยู่อย่างกลมกลืนประสานกับธรรมชาติ และเพื่อนมนุษย์ ด้วยการประพฤติคุณธรรมต่างๆ ซึ่งทำใจให้เปิดกว้าง และทำให้เกิดความประสานกลมกลืน เช่น เมตตา-ความรักความปรารถนาดีต่อกัน กรุณา-ความคิดช่วยเหลือ มุทิตา-ความบันเทิงใจในความสุขสำเร็จของผู้อื่น อุเบกขา-ความวางใจเป็นกลาง ตัดสินเหตุการณ์ตามเป็นจริงตามเหตุปัจจัย และราบเรียบไม่หวั่นไหวเพราะกระแสโลก ความสามัคคี ความร่วมมือ การช่วยเหลือบำเพ็ญประโยชน์แก่กัน ความเสียสละ ความสำรวมตน ความอดทน ความเคารพอ่อนน้อม ความมีวิจารณญาณไม่หลงใหลในเหตุการณ์ เป็นต้น อันเป็นคุณสมบัติตรงข้ามกับกิเลสที่สร้างความขัดแย้งและความคับแคบ เช่น ความเกลียดชัง ความพยาบาท ความริษยา ความกลัดกลุ้มวุ่นวายใจ ความหวงแหน ความแก่งแย่งแข่งดี การเห็นแก่ได้ การตามใจตนเอง ความหุนหัน ความดื้อรั้น ความเย่อหยิ่ง ความกลัว ความหวาดระแวง ความเกียจคร้าน ความเฉื่อยชา ความหดหู่ ความมัวเมา ความลืมตัว ความลุ่มหลงงมงาย เป็นต้น

 นี้คือวิถีแห่งความมีชีวิตที่ประสานกลมกลืนในธรรมชาติ การสามารถถือเอาประโยชน์จากกฎธรรมชาติ หรือใช้กฎธรรมชาติให้เป็นประโยชน์ได้ การอยู่อย่างไม่สูญเสียอิสรภาพ อย่างที่ว่า อยู่อย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่ขึ้นต่อสิ่งใด หรือการมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา ซึ่งถือว่าเป็นการมีชีวิตอยู่อย่างประเสริฐสุด ตามพุทธภาษิตว่า “ปญฺญฺาชีวึ ชีวิตมาหุ เสฏฺฐํ”

(http://www.siamtag.com/img/20120530/L201205301338357972_1.jpg)

ชีวิตเป็นไปอย่างไร ?
♥ ปฏิจจสมุปบาท  การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันๆ จึงเกิดมี
♥ ตัวกฎหรือตัวสภาวะ (ปฏิจจสมุปบาท)
- http://portal.in.th/i-dhamma/pages/8122/ (http://portal.in.th/i-dhamma/pages/8122/)

หัวข้อ: Re: พุทธธรรม :ฐานะและความสำคัญ (ปฏิจจสมุปบาท) (ป. อ. ปยุตฺโต)
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ มีนาคม 06, 2013, 12:54:55 pm


           (http://worldamity.files.wordpress.com/2012/09/buddha1.jpg?w=520&h=313)

ชีวิตเป็นไปอย่างไร ?
ปฏิจจสมุปบาท  การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันๆ จึงเกิดมี
ตัวกฎหรือตัวสภาวะ (ปฏิจจสมุปบาท)

๑. ฐานะและความสำคัญ (ปฏิจจสมุปบาท)
๒. ตัวบทและแบบความสัมพันธ์ ในหลักปฏิจจสมุปบาท
๓. การแปลความหมายหลักปฏิจจสมุปบาท
๔. ความหมายโดยสรุป เพื่อความเข้าใจเบื้องต้น

๕. คำอธิบายตามแบบ
๖. ความหมายในชีวิตประจำวัน
๗. ความหมายลึกซึ้งขององค์ธรรมบางข้อ
๘. ปฏิจจสมุปบาทในฐานะมัชเฌนธรรมเทศนา

"""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""
๑. ฐานะและความสำคัญ (ปฏิจจสมุปบาท)
"""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""
 ปฏิจจสมุปบาท แปลพอให้ได้ความหมายในเบื้องต้นว่า การเกิดขึ้นพร้อมแห่งธรรมทั้งหลายโดยอาศัยกัน การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกัน ๆ จึงเกิดมีขึ้น หรือการที่ทุกข์เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัยสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันมา

 ปฏิจจสมุปบาท เป็นหลักธรรมอีกหมวดหนึ่ง  ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงในรูปของกฎธรรมชาติ หรือหลักความจริงที่มีอยู่โดยธรรมดา ไม่เกี่ยวกับการอุบัติของพระศาสดาทั้งหลาย

 พุทธพจน์แสดงปฏิจจสมุปบาทในรูปของกฎธรรมชาติว่าดังนี้
 ตถาคตทั้งหลาย จะอุบัติหรือไม่ก็ตาม ธาตุ (หลัก) นั้น ก็ยังคงมีอยู่ เป็นธรรมฐิติ เป็นธรรมนิยาม คือหลักอิทัปปัจจยตา๑

 ตถาคตตรัสรู้ เข้าถึงหลักนั้นแล้ว จึงบอก แสดง วางเป็นแบบ ตั้งเป็นหลัก เปิดเผย แจกแจง ทำให้เข้าใจง่าย และจึงตรัสว่า “จงดูสิ
 “เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร ฯลฯ”

 ภิกษุทั้งหลาย ตถตา (ภาวะที่เป็นอย่างนั้น) อวิตถตา (ภาวะไม่คลาดเคลื่อนไปได้) อนัญญถตา (ภาวะที่ไม่เป็นอย่างอื่น) คือหลักอิทัปปัจจยตา ดังกล่าวมานี้แล เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท

 ความสำคัญของปฏิจจสมุปบาท จะเห็นได้จากพุทธพจน์ว่า
 ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม  ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็น ปฏิจจสมุปบาท
 ภิกษุทั้งหลาย แท้จริง อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้แล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ในเรื่องนี้ โดยไม่ต้องเชื่อผู้อื่นว่า เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น ฯลฯ

 เมื่อใด อริยสาวกรู้ทั่วถึงความเกิดและความดับของโลกตามที่มันเป็นอย่างนี้ อริยสาวกนี้ เรียกว่าเป็นผู้มีทิฏฐิสมบูรณ์ ก็ได้ ผู้มีทัศนะสมบูรณ์ ก็ได้ ผู้ลุถึงสัทธรรมนี้ ก็ได้ ผู้ประกอบด้วยเสขญาณ ก็ได้ ผู้ประกอบด้วยเสขวิชชา ก็ได้ ผู้บรรลุกระแสธรรมแล้ว ก็ได้ พระอริยะผู้มีปัญญาชำแรกกิเลส ก็ได้ ผู้อยู่ชิดประตูอมตะ ก็ได้

 สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้จักธรรมเหล่านี้ รู้จักเหตุเกิดแห่งธรรมเหล่านี้ รู้จักความดับแห่งธรรมเหล่านี้ รู้จักทางดำเนินถึงความดับแห่งธรรมเหล่านี้ ฯลฯ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นแล จึงยอมรับได้ว่าเป็นสมณะในหมู่สมณะ และยอมรับได้ว่าเป็นพราหมณ์ในหมู่พราหมณ์   และจึงได้ชื่อว่า  ได้บรรลุประโยชน์ของความเป็นสมณะ และประโยชน์ของความเป็นพราหมณ์ ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน

 อย่างไรก็ดี มีพุทธพจน์ตรัสเตือนไว้ ไม่ให้ประมาทหลักปฏิจจสมุปบาทนี้ว่า เป็นหลักเหตุผลที่เข้าใจง่าย เพราะเคยมีเรื่องพระอานนท์เข้าไปกราบทูลพระองค์และได้ตรัสตอบดังนี้

 น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาเลย พระเจ้าข้า หลักปฏิจจสมุปบาทนี้ ถึงจะเป็นธรรมลึกซึ้ง และปรากฏเป็นของลึกซึ้ง ก็ยังปรากฏแก่ข้าพระองค์ เหมือนเป็นธรรมง่ายๆ

 อย่ากล่าวอย่างนั้น อย่ากล่าวอย่างนั้น อานนท์ ปฏิจจสมุปบาทนี้ เป็นธรรมลึกซึ้ง และปรากฏเป็นของลึกซึ้ง เพราะไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่แทงตลอดหลักธรรมข้อนี้แหละ หมู่สัตว์นี้จึงวุ่นวายเหมือนเส้นด้ายที่ขอดกันยุ่ง จึงขมวดเหมือนกลุ่มเส้นด้ายที่เป็นปม จึงเป็นเหมือนหญ้ามุงกระต่าย และหญ้าปล้อง  จึงผ่านพ้น อบาย ทุคติ วินิบาต สังสารวัฏ  ไปไม่ได้

 ผู้ศึกษาพุทธประวัติแล้ว คงจำพุทธดำริเมื่อครั้งหลังตรัสรู้ใหม่ๆ ก่อนเสด็จออกประกาศพระศาสนาได้ว่า ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าทรงน้อมพระทัยไปในทางที่จะไม่ทรงประกาศธรรม ดังความในพระไตรปิฎกว่า

 ภิกษุทั้งหลาย เราได้มีความดำริเกิดขึ้นว่า: ธรรมที่เราได้บรรลุแล้วนี้ เป็นของลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบระงับ ประณีต ไม่เป็นวิสัยแห่งตรรก ละเอียด บัณฑิตจึงจะรู้ได้

 ก็แหละ หมู่ประชานี้ เป็นผู้เริงรมย์อยู่ด้วยอาลัย  ยินดีอยู่ในอาลัย ระเริงอยู่ในอาลัย   สำหรับหมู่ประชาผู้เริงรมย์  รื่นระเริงอยู่ในอาลัย (เช่นนี้) ฐานะอันนี้ย่อมเป็นสิ่งที่เห็นได้ยาก กล่าวคือ หลักอิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท ถึงแม้ฐานะอันนี้ ก็เป็นสิ่งที่เห็นได้ยาก กล่าวคือ ความสงบแห่งสังขารทั้งปวง ความสลัดอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา วิราคะ นิโรธ  นิพพาน   ก็ถ้าเราพึงแสดงธรรม  และคนอื่นไม่เข้าใจซึ้งต่อเรา ข้อนั้นก็จะพึงเป็นความเหน็ดเหนื่อยเปล่าแก่เรา จะพึงเป็นความลำบากเปล่าแก่เรา

 พุทธดำริตอนนี้ กล่าวถึงหลักธรรม ๒ อย่าง คือ ปฏิจจสมุปบาท และนิพพาน เป็นการย้ำทั้งความยากของหลักธรรมข้อนี้ และความสำคัญของหลักธรรมนี้ ในฐานะเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้และจะทรงนำมาสั่งสอนแก่หมู่ประชา

(http://namaha.files.wordpress.com/2009/04/zen-buddha.jpg?w=300&h=225)

หัวข้อ: Re: พุทธธรรม หรือ กฎธรรมชาติและคุณค่าสำหรับชีวิต (ป. อ. ปยุตฺโต)
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ มีนาคม 06, 2013, 01:16:26 pm


๒. ตัวบทและแบบความสัมพันธ์ ในหลักปฏิจจสมุปบาท
""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""
 พุทธพจน์ที่เป็นตัวบทแสดงหลักปฏิจจสมุปบาทนั้น แยกได้เป็น ๒ ประเภท คือที่แสดงเป็นกลางๆ ไม่ระบุชื่อหัวข้อปัจจัย กับที่แสดงเจาะจงระบุชื่อหัวข้อปัจจัยต่างๆ ซึ่งสืบทอดต่อกันโดยลำดับเป็นกระบวนการ อย่างแรก มักตรัสไว้นำหน้าอย่างหลัง เป็นทำนองหลักกลาง หรือ หลักทั่วไป ส่วนอย่างหลัง พบได้มากมาย และส่วนมากตรัสไว้ล้วนๆ โดยไม่มีอย่างแรกอยู่ด้วย อย่างหลังนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นหลักแจงหัวข้อ หรือขยายความ เพราะแสดงรายละเอียดให้เห็น หรือเป็นหลักประยุกต์ เพราะนำเอากระบวนการธรรมชาติมาแสดงให้เห็นความหมายตามหลักทั่วไปนั้น

 อนึ่ง หลักทั้ง ๒ อย่างนั้น แต่ละอย่างแบ่งออกได้เป็น ๒ ท่อน คือ ท่อนแรกแสดงกระบวนการเกิด ท่อนหลังแสดงกระบวนการดับ เป็นการแสดงให้เห็นแบบความสัมพันธ์ ๒ นัย
 ท่อนแรกที่แสดงกระบวนการเกิด เรียกว่า สมุทัยวาร และถือว่าเป็นการแสดงตามลำดับ จึงเรียกว่า อนุโลมปฏิจจสมุปบาท เทียบในหลักอริยสัจเป็นข้อที่ ๒ คือ ทุกขสมุทัย
 ท่อนหลังที่แสดงกระบวนการดับ เรียกว่า นิโรธวาร และถือว่าเป็นการแสดงย้อนลำดับ จึงเรียกว่า ปฏิโลมปฏิจจสมุปบาท เทียบในหลักอริยสัจเป็นข้อที่ ๓ คือ ทุกขนิโรธ

 แสดงตัวบททั้ง ๒ อย่าง ดังนี้
๑) หลักทั่วไป
ก. อิมสฺมึ สติ อิทํ โหติ  เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี
อิมสฺสุปฺปาทา อิทํ อุปฺปชฺชติ เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น
ข. อิมสฺมึ อสติ อิทํ น โหติ เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี
อิมสฺสนิโรธา อิทํ นิรุชฺฌติ  เพราะสิ่งนี้ดับไป สิ่งนี้ก็ดับ (ด้วย)
พิจารณาตามรูปพยัญชนะ หลักทั่วไปนี้ เข้ากับชื่อที่เรียกว่า อิทัปปัจจยตา

๒) หลักแจงหัวข้อ หรือ หลักประยุกต์
     ก.อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี
 สงฺขารปจฺจยา วิญฺญฺาณํ    เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
 วิญฺญฺาณปจฺจยา นามรูปํ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี
 นามรูปปจฺจยา สฬายตนํ เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี
 สฬายตนปจฺจยา ผสฺโส เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
 ผสฺสปจฺจยา เวทนา  เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
 เวทนาปจฺจยา ตณฺหา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
 ตณฺหาปจฺจยา อุปาทานํ เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี
 อุปาทานปจฺจยา ภโว เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
 ภวปจฺจยา ชาติ  เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี
 ชาติปจฺจยา ชรามรณํ เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี
       .....…..........................................................................................

 โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสา สมฺภวนฺติ
 ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส และความคับแค้นใจ จึงมีพร้อม
 เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส สมุทโย โหติ
 ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้ จึงมีได้ ด้วยประการฉะนี้

    ข. อวิชฺชาย ตฺเวว อเสสวิราคนิโรธา  เพราะอวิชชาสำรอกดับไปไม่เหลือ
 สงฺขารนิโรโธ  สังขารจึงดับ
 สงฺขารนิโรธา วิญฺญฺาณนิโรโธ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
 วิญฺญฺาณนิโรธา นามรูปนิโรโธ เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
 นามรูปนิโรธา สฬายตนนิโรโธ เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
 สฬายตนนิโรธา ผสฺสนิโรโธ  เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
 ผสฺสนิโรธา เวทนานิโรโธ  เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ
 เวทนานิโรธา ตณฺหานิโรโธ  เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
 ตณฺหานิโรธา อุปาทานนิโรโธ เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
 อุปาทานนิโรธา ภวนิโรโธ  เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
 ภวนิโรธา ชาตินิโรโธ  เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
 ชาตินิโรธา ชรามรณํ  เพราะชาติดับ ชรามรณะ (จึงดับ)       
 ...................................................................................................

 โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสา นิรุชฺฌนฺติ
 ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส ความคับแค้นใจ ก็ดับ
 เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส นิโรโธ โหติ
 ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการฉะนี้
 ขอให้สังเกตว่า คำสรุปปฏิจจสมุปบาทนี้ บ่งว่า เป็นกระบวนการเกิดขึ้นและดับไปแห่งความทุกข์ ข้อความเช่นนี้ เป็นคำสรุปส่วนมากของหลัก ปฏิจจสมุปบาท ที่ปรากฏในที่ทั่วไป

 แต่บางแห่งสรุปว่า เป็นการเกิดขึ้นและสลายหรือดับไปของโลกก็มี โดยใช้คำบาลีว่า
“อยํ โข ภิกฺขเว โลกสฺส สมุทโย-นี้แล ภิกษุทั้งหลาย คือความเกิดขึ้นแห่งโลก”
“อยํ โข ภิกฺขเว โลกสฺส อตฺถงฺคโม-นี้แล ภิกษุทั้งหลาย คือความสลายตัวแห่งโลก”  หรือว่า
“เอวมยํ โลโก สมุทยติ-โลกนี้ย่อมเกิดขึ้นด้วยอาการอย่างนี้”
“เอวมยํ โลโก นิรุชฺฌติ-โลกนี้ย่อมดับไปด้วยอาการอย่างนี้”

 อย่างไรก็ดี ว่าโดยความหมายที่แท้จริงแล้ว คำสรุปทั้งสองอย่างนี้ ได้ความตรงกันและเท่ากัน ปัญหาอยู่ที่ความหมายของศัพท์ ซึ่งจะต้องทำความเข้าใจกันต่อไป

 ปฏิจจสมุปบาทนี้ ในคัมภีร์อภิธรรมและคัมภีร์รุ่นอรรถกถา มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ปัจจยาการ ซึ่งแปลว่า อาการที่สิ่งทั้งหลายเป็นปัจจัยแก่กัน

 ในหลักที่แสดงเต็มรูปอย่างในที่นี้ องค์ประกอบทั้งหมดมีจำนวน ๑๒ หัวข้อ องค์ประกอบเหล่านี้เป็นปัจจัยเนื่องอาศัยสืบต่อกันไปเป็นรูปวงเวียน ไม่มีต้น ไม่มีปลาย คือไม่มีตัวเหตุเริ่มแรกที่สุด (มูลการณ์ หรือ the First Cause) การยกเอาอวิชชาตั้งเป็นข้อที่หนึ่ง ไม่ได้หมายความว่า อวิชชาเป็นเหตุเริ่มแรกหรือมูลการณ์ของสิ่งทั้งหลาย แต่เป็นการตั้งหัวข้อเพื่อความสะดวกในการทำความเข้าใจ โดยตัดตอนยกเอาองค์ประกอบอันใดอันหนึ่ง ที่เห็นว่าเหมาะสมที่สุดขึ้นมาตั้งเป็นลำดับที่ ๑ แล้วก็นับต่อไปตามลำดับ

 บางคราวท่านป้องกันมิให้มีการยึดเอาอวิชชาเป็นมูลการณ์ โดยแสดงความเกิดของอวิชชาว่า “อวิชชาเกิด เพราะอาสวะเกิด อวิชชาดับ เพราะอาสวะดับ-อาสวสมุทยา อวิชฺชาสมุทโย อาสวนิโรธา อวิชฺชานิโรโธ”

 องค์ประกอบ ๑๒ ข้อของปฏิจจสมุปบาทนั้น นับตั้งแต่อวิชชา ถึง ชรามรณะเท่านั้น (คือ อวิชชา - สังขาร - วิญญาณ - นามรูป - สฬายตนะ  - ผัสสะ - เวทนา - ตัณหา - อุปาทาน - ภพ - ชาติ - ชรามรณะ) ส่วน โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส (ความคับแค้นใจ) เป็นเพียงตัวพลอยผสม เกิดแก่ผู้มีอาสวกิเลสเมื่อมีชรา มรณะแล้ว เป็นตัวการหมักหมมอาสวะ ซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดอวิชชา หมุนวงจรต่อไปอีก

 ในการแสดงปฏิจจสมุปบาทแบบประยุกต์ พระพุทธเจ้ามิได้ตรัสตามลำดับ และเต็มรูปอย่างนี้ (คือชักต้นไปหาปลาย) เสมอไป การแสดงในลำดับและเต็มรูปเช่นนี้ มักตรัสในกรณีเป็นการแสดงตัวหลัก

 แต่ในทางปฏิบัติ ซึ่งเป็นการเริ่มต้นด้วยเงื่อนปัญหา มักตรัสในรูปย้อนลำดับ (คือชักปลายมาหาต้น) เป็น
 ชรามรณะ - ชาติ - ภพ - อุปาทาน - ตัณหา - เวทนา - ผัสสะ - สฬายตนะ - นามรูป - วิญญาณ - สังขาร - อวิชชา
 ในทางปฏิบัติเช่นนี้ การแสดงอาจเริ่มต้นที่องค์ประกอบข้อหนึ่งข้อใดในระหว่างก็ได้ สุดแต่องค์ประกอบข้อไหนจะกลายเป็นปัญหาที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณา เช่น อาจจะเริ่มที่ชาติ  ที่เวทนา  ที่วิญญาณ  อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วเชื่อมโยงกันขึ้นมาตามลำดับจนถึงชรามรณะ (ชักกลางไปหาปลาย) หรือสืบสาวย้อนลำดับลงไปจนถึงอวิชชา (ชักกลางมาหาต้น) ก็ได้ หรืออาจเริ่มต้นด้วยเรื่องอื่นๆ ที่มิใช่ชื่อใดชื่อหนึ่งใน ๑๒ หัวข้อนี้ แล้วชักเข้ามาพิจารณาตามแนวปฏิจจสมุปบาทก็ได้ 
 โดยนัยนี้ การแสดงปฏิจจสมุปบาท จึงไม่จำเป็นต้องครบ ๑๒ หัวข้ออย่างข้างต้น และไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบที่ตายตัวเสมอไป

 ข้อควรทราบที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ
 - ความเป็นปัจจัยแก่กันขององค์ประกอบเหล่านี้ มิใช่มีความหมายตรงกับคำว่า “เหตุ” ทีเดียว เช่น ปัจจัยให้ต้นไม้งอกขึ้น มิใช่หมายเพียงเมล็ดพืช แต่หมายถึง ดิน น้ำ ปุ๋ย อากาศ อุณหภูมิ เป็นต้น เป็นปัจจัยแต่ละอย่าง และ
 - การเป็นปัจจัยแก่กันนี้ เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่จำต้องเป็นไปตามลำดับก่อนหลังโดยกาละหรือเทศะ เช่น พื้นกระดาน เป็นปัจจัยแก่การตั้งอยู่ของโต๊ะ เป็นต้น

หัวข้อ: Re: พุทธธรรม หรือ กฎธรรมชาติและคุณค่าสำหรับชีวิต (ป. อ. ปยุตฺโต)
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ มีนาคม 06, 2013, 02:28:25 pm


๓. การแปลความหมายหลักปฏิจจสมุปบาท
 หลักปฏิจจสมุปบาทนี้ ถูกนำมาแปลความหมายและอธิบายโดยนัยต่างๆ ซึ่งพอสรุปเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ดังนี้
 ๑. การอธิบายแบบแสดงวิวัฒนาการของโลกและชีวิต โดยการตีความพุทธพจน์บางแห่งตามตัวอักษร เช่น พุทธดำรัสว่าโลกสมุทัย  เป็นต้น

 ๒. การอธิบายแบบแสดงกระบวนการเกิด-ดับแห่งชีวิตและความทุกข์ของบุคคล ซึ่งแยกได้เป็น ๒ นัย
  ๑) แสดงกระบวนการช่วงกว้างระหว่างชีวิตต่อชีวิต คือ แบบข้าม
   ภพข้ามชาติ เป็นการแปลความหมายตามรูปศัพท์อีกแบบหนึ่ง
   และเป็นวิธีอธิบายที่พบทั่วไปในคัมภีร์รุ่นอรรถกถา ซึ่งขยาย
   ความหมายออกไปอย่างละเอียดพิสดาร ทำให้กระบวนการนี้มี
   ลักษณะเป็นแบบแผน มีขั้นตอนและคำบัญญัติเรียกต่างๆ จน
   ดูสลับซับซ้อนแก่ผู้เริ่มศึกษา

  ๒) แสดงกระบวนการที่หมุนเวียนอยู่ตลอดเวลาในทุกขณะของ
   การดำรงชีวิต เป็นการแปลความหมายที่แฝงอยู่ในคำอธิบาย
   นัยที่ ๑) นั่นเอง แต่เล็งเอานัยอันลึกซึ้งหรือนัยประยุกต์ของ
   ศัพท์ ตามที่เข้าใจว่าเป็นพุทธประสงค์ (หรือเจตนารมณ์ของ
   หลักธรรม) เฉพาะส่วนที่เป็นปัจจุบัน วิธีอธิบายนัยนี้ยืนยันตัว
   เองโดยอ้างพุทธพจน์ในพระสูตรได้หลายแห่ง เช่นใน เจตนาสูตร 
   ทุกขนิโรธสูตร  และโลกนิโรธสูตร  เป็นต้น

      ในพระอภิธรรม มีบาลีแสดงกระบวนการแห่งปฏิจจสมุปบาททั้งหมด ที่เกิดครบถ้วนในขณะจิตเดียวไว้ด้วย จัดเป็นตอนหนึ่งในคัมภีร์ทีเดียว

 ในการอธิบายแบบที่ ๑ บางครั้งมีผู้พยายามตีความหมายหลักปฏิจจ-สมุปบาทให้เป็นทฤษฎีแสดงต้นกำเนิดของโลก โดยถือเอาอวิชชาเป็นมูลการณ์ (the First Cause)  แล้วจึงวิวัฒนาการต่อมาตามลำดับหัวข้อทั้ง ๑๒ นั้น การแปลความหมายอย่างนี้ ทำให้เห็นไปว่าคำสอนในพระพุทธศาสนามีส่วนคล้ายคลึงกับศาสนาและระบบปรัชญาอื่นๆ ที่สอนว่ามีตัวการอันเป็นต้นเดิมสุด เช่น พระผู้สร้าง เป็นต้น ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของสัตว์และสิ่งทั้งปวง ต่างกันเพียงว่า ลัทธิที่มีพระผู้สร้าง แสดงกำเนิดและความเป็นไปของโลกในรูปของการบันดาลโดยอำนาจเหนือธรรมชาติ ส่วนคำสอนในพระพุทธศาสนา (ที่ตีความหมายอย่างนี้) แสดงความเป็นไปในรูปวิวัฒนาการตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยในธรรมชาติเอง

 อย่างไรก็ดี การตีความหมายแบบนี้ย่อมถูกตัดสินได้แน่นอนว่า ผิดพลาดจากพุทธธรรม เพราะคำสอนหรือหลักลัทธิใดก็ตามที่แสดงว่า โลกมีมูลการณ์ (คือเกิดจากตัวการที่เป็นต้นเค้าเดิมที่สุด) ย่อมเป็นอันขัดต่อหลัก อิทัปปัจจยตา หรือหลักปฏิจจสมุปบาทนี้ หลักปฏิจจสมุปบาทแสดงเหตุผลเป็นกลางๆ ว่า สิ่งทั้งหลายเป็นปัจจัยเนื่องอาศัยกัน เกิดสืบต่อกันมาตาม กระบวนการแห่งเหตุปัจจัยอย่างไม่มีที่สิ้นสุด มูลการณ์เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะในรูปพระผู้สร้างหรือสิ่งใดๆ

 ด้วยเหตุนี้ การแปลความหมายหลักปฏิจจสมุปบาทให้เป็นคำอธิบายวิวัฒนาการของโลกและชีวิต จึงเป็นที่ยอมรับได้เฉพาะในกรณีที่เป็นการอธิบายให้เห็นความคลี่คลายขยายตัวแห่งกระบวนการธรรมชาติในทางที่เจริญขึ้น และทรุดโทรมเสื่อมสลายลงตามเหตุปัจจัย หมุนเวียนกันเรื่อยไป ไม่มีเบื้องต้น ไม่มีเบื้องปลาย

 เหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับประกอบการพิจารณาว่า การแปลความหมายอย่างใดถูกต้อง ควรยอมรับหรือไม่ ก็คือ พุทธประสงค์ในการแสดงพุทธธรรม ซึ่งต้องถือว่าเป็นความมุ่งหมายของการทรงแสดงหลัก ปฏิจจสมุปบาทด้วย

 ในการแสดงพุทธธรรมนั้น พระพุทธเจ้าทรงมุ่งหมายและสั่งสอนเฉพาะสิ่งที่จะนำมาใช้ปฏิบัติให้เป็นประโยชน์ในชีวิตจริงได้ เกี่ยวข้องกับชีวิต การแก้ไขปัญหาชีวิต และการลงมือทำจริงๆ ไม่ทรงสนับสนุนการพยายามเข้าถึงสัจธรรมด้วยวิธีครุ่นคิดและถกเถียงหาเหตุผลเกี่ยวกับปัญหาทางอภิปรัชญา ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ การกำหนดความเป็นพุทธธรรม จึงต้องอาศัยการพิจารณาคุณค่าทางจริยธรรมประกอบด้วย

 ในกรณีการแปลความหมายแบบวิวัฒนาการชนิดหมุนเวียนไม่มีต้นปลายนั้น แม้จะพึงยอมรับได้ ก็ยังจัดว่ามีคุณค่าทางจริยธรรม (คือคุณค่าในทางปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่ชีวิตจริง)น้อย คือ ได้เพียงโลกทัศน์หรือชีวทัศน์อย่างกว้างๆ ว่า ความเป็นไปของโลกและชีวิตดำเนินไปตามกระแสแห่งเหตุผล ขึ้นต่อเหตุปัจจัยในกระบวนการของธรรมชาติเอง ไม่มีผู้สร้างผู้บันดาล และไม่เป็นไปลอยๆ โดยบังเอิญ

 ในความเข้าใจที่ถูกต้องตามหลักพุทธธรรม คุณค่าทางจริยธรรมอย่างสำคัญที่จะเกิดขึ้น คือ
 ๑. ความเชื่อหรือความรู้ตระหนักว่า ผลที่ต้องการ ไม่อาจให้สำเร็จด้วยความหวังความปรารถนา การอ้อนวอนต่อพระผู้สร้าง หรืออำนาจเหนือธรรมชาติใดๆ หรือด้วยการรอคอยโชคชะตาความบังเอิญ แต่ต้องสำเร็จด้วยการลงมือกระทำ คือ บุคคลจะต้องพึ่งตนด้วยการทำเหตุปัจจัยที่จะให้ผลสำเร็จที่ต้องการนั้นเกิดขึ้น
 ๒. การกระทำเหตุปัจจัยเพื่อให้ได้ผลที่ต้องการ จะเป็นไปได้ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในกระบวนการของธรรมชาตินั้นอย่างถูกต้อง ปัญญาจึงเป็นคุณธรรมสำคัญ คือ ต้องเกี่ยวข้องและจัดการกับสิ่งทั้งหลายด้วยปัญญา 
 ๓. การรู้เข้าใจในกระบวนการของธรรมชาติ ว่าเป็นไปตามกระแสแห่งเหตุปัจจัย ย่อมช่วยลดหรือทำลายความหลงผิดที่เป็นเหตุให้เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งหลายว่าเป็นตัวตนของตนลงได้ ทำให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้องเป็นประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ โดยไม่กลับตกไปเป็นทาสของสิ่งที่เข้าไปเกี่ยวข้องนั้นเสีย ยังคงเป็นอิสระอยู่ได้

 โลกทัศน์และชีวทัศน์ที่กล่าวนี้ แม้จะถูกต้องและมีคุณค่าตรงตามความมุ่งหมายของพุทธธรรมทุกประการ ก็ยังนับว่าหยาบ ไม่หนักแน่น และกระชั้นชิดพอที่จะให้เกิดคุณค่าทั้ง ๓ ประการนั้น (โดยเฉพาะประการที่ ๓) อย่างครบถ้วนและแน่นอน

 เพื่อให้การแปลความหมายแบบนี้มีคุณค่าสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จะต้องพิจารณากระบวนการหมุนเวียนของธรรมชาติ ให้ชัดเจนถึงส่วนรายละเอียดยิ่งกว่านี้ คือจะต้องเข้าใจรู้เท่าทันสภาวะของกระบวนการนี้ ไม่ว่า ณ จุดใดก็ตามที่ปรากฏตัวให้พิจารณาเฉพาะหน้าในขณะนั้นๆ และมองเห็นกระแสความสืบต่อเนื่องอาศัยกันแห่งเหตุปัจจัยทั้งหลาย แม้ในช่วงสั้นๆ เช่นนั้นทุกช่วง เมื่อมองเห็นสภาวะแห่งสิ่งทั้งหลายต่อหน้าทุกขณะโดยชัดแจ้งเช่นนี้ คุณค่า ๓ ประการนั้นจึงจะเกิดขึ้นอย่างครบถ้วนแน่นอน และย่อมเป็นการครอบคลุมความหมายแบบวิวัฒนาการช่วงยาวเข้าไว้ในตัวไปด้วยพร้อมกัน

 ในการแปลความหมายแบบที่ ๑   ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นความหมายอย่างหยาบหรืออย่างละเอียดก็ตาม จะเห็นว่า การพิจารณาเพ่งไปที่โลกภายนอก คือเป็นการมองออกไปข้างนอก ส่วนการแปลความหมายแบบที่ ๒ เน้นหนักทางด้านชีวิตภายใน สิ่งที่พิจารณาได้แก่กระบวนการสืบต่อแห่งชีวิตและความทุกข์ของบุคคล เป็นการมองเข้าไปข้างใน

 การแปลความหมายแบบที่ ๒  นัยที่ ๑  เป็นแบบที่ยอมรับและนำไปอธิบายกันมากในคัมภีร์รุ่นอรรถกถาทั้งหลาย  มีรายละเอียดพิสดาร และมีคำบัญญัติต่างๆ เพิ่มอีกมากมาย เพื่อแสดงกระบวนการให้เห็นเป็นระบบที่มีขั้นตอนแบบแผนชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ในเวลาเดียวกัน ก็อาจทำให้เกิดความรู้สึกตายตัวจนกลายเป็นยึดถือแบบแผน ติดระบบขึ้นได้ พร้อมกับที่กลายเป็นเรื่องลึกลับซับซ้อนสำหรับผู้เริ่มศึกษา ในที่นี้จึงจะได้แยกไปอธิบายไว้ต่างหากอีกตอนหนึ่ง ส่วนความหมายตามนัยที่ ๒  ก็มีลักษณะสัมพันธ์กับนัยที่ ๑ ด้วย จึงจะนำไปอธิบายไว้ในลำดับต่อกัน

หัวข้อ: Re: พุทธธรรม หรือ กฎธรรมชาติและคุณค่าสำหรับชีวิต (ป. อ. ปยุตฺโต)
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ มีนาคม 06, 2013, 02:45:44 pm


                (https://lh4.googleusercontent.com/-2woPyJbWRoo/UTboml3D4SI/AAAAAAAEyoA/zS9lFjJPxWY/w497-h373/2013-01-31)

๔. ความหมายโดยสรุป เพื่อความเข้าใจเบื้องต้น
 เพื่อความเข้าใจอย่างง่ายๆ กว้างๆ ในเบื้องต้น เห็นว่าควรแสดงความหมายของปฏิจจสมุปบาทไว้โดยสรุปครั้งหนึ่งก่อน
ความหมายของ “ทุกข์”
 คำสรุปของปฏิจจสมุปบาท แสดงให้เห็นว่า หลักปฏิจจสมุปบาททั้งหมด เป็นกระบวนการเกิด-ดับของทุกข์ หรือหลักปฏิจจสมุปบาททั้งหมด มีความมุ่งหมายเพื่อแสดงความเกิด-ดับของทุกข์

 คำว่า “ทุกข์” มีความสำคัญและมีบทบาทมากในพุทธธรรม แม้ในหลักธรรมสำคัญอื่นๆ เช่น ไตรลักษณ์ และอริยสัจ ก็มีคำว่าทุกข์เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ จึงควรทำความเข้าใจในคำว่าทุกข์กันให้ชัดเจนก่อน

 ในตอนต้น เมื่อพูดถึงไตรลักษณ์ ได้แสดงความหมายของทุกข์ไว้สั้นๆ ครั้งหนึ่งแล้ว แต่ในที่นี้ ควรอธิบายเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่ง
 เมื่อทำความเข้าใจคำว่าทุกข์ในพุทธธรรม ให้สลัดความเข้าใจแคบๆ ในภาษาไทยทิ้งเสียก่อน และพิจารณาใหม่ตามความหมายกว้างๆ ของพุทธพจน์ที่แบ่ง ทุกขตา เป็น ๓ อย่าง  พร้อมด้วยคำอธิบายในอรรถกถา  ดังนี้

 ๑. ทุกขทุกขตา ทุกข์ที่เป็นความรู้สึกทุกข์ คือ ความทุกข์กายทุกข์ใจ
  อย่างที่เข้าใจกันโดยสามัญ ตรงตามชื่อ ตามสภาพ ที่เรียกกันว่า
  ทุกขเวทนา (ความทุกข์อย่างปกติ ที่เกิดขึ้น เมื่อประสบ
  อนิฏฐารมณ์ หรือสิ่งกระทบกระทั่งบีบคั้น)

 ๒. วิปริณามทุกขตา ทุกข์เนื่องด้วยความผันแปร หรือทุกข์ที่เนื่องใน
  ความผันแปรของสุข คือความสุขที่กลายเป็นความทุกข์ หรือทำ
  ให้เกิดทุกข์ เพราะความแปรปรวนกลับกลายของมันเอง (ภาวะที่
  ตามปกติ ก็สบายดีเฉยอยู่ ไม่รู้สึกทุกข์อย่างใดเลย แต่ครั้นได้
  เสวยความสุขบางอย่าง พอสุขนั้นจางลงหรือหายไป ภาวะเดิมที่
  เคยรู้สึกสบายเป็นปกตินั้น กลับกลายเป็นทุกข์ไป เสมือนเป็น
  ทุกข์แฝง ซึ่งจะแสดงตัวออกมาในทันทีที่ความสุขนั้นจืดจางหรือ
  เลือนลางไป ยิ่งสุขมากขึ้นเท่าใด ก็กลับกลายเป็นทุกข์รุนแรง
  มากขึ้นเท่านั้น เสมือนว่าทุกข์ที่แฝงขยายตัวตามขึ้นไป ถ้าความ
  สุขนั้นไม่เกิดขึ้น ทุกข์เพราะสุขนั้นก็ไม่มี แม้เมื่อยังเสวยความสุข
  อยู่ พอนึกว่าสุขนั้นอาจจะต้องสิ้นสุดไป ก็ทุกข์ด้วยหวาดกังวลใจ
  หายไหวหวั่น)

 ๓. สังขารทุกขตา ทุกข์ตามสภาพสังขาร คือ สภาวะของตัวสังขาร
  เอง หรือสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดจากเหตุปัจจัย ได้แก่ ขันธ์ ๕
  (รวมถึง มรรค ผล ซึ่งเป็นโลกุตตรธรรม) เป็นทุกข์ คือ เป็น
  สภาพที่ถูกบีบคั้นด้วยปัจจัยที่ขัดแย้ง มีการเกิดขึ้น และการ
  สลายหรือดับไป ไม่มีความสมบูรณ์ในตัวของมันเอง อยู่ในกระแส
  แห่งเหตุปัจจัย จึงเป็นสภาพซึ่งพร้อมที่จะก่อให้เกิดทุกข์ (ความรู้
  สึกทุกข์หรือทุกขเวทนา) แก่ผู้ไม่รู้เท่าทันต่อสภาพและกระแส
  ของมัน แล้วเข้าไปฝืนกระแสอย่างทื่อๆ ด้วยความอยากความยึด
  (ตัณหาอุปาทาน) อย่างโง่ๆ (อวิชชา) ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องและ  ปฏิบัติต่อมันด้วยปัญญา


 ทุกข์ข้อสำคัญคือข้อที่ ๓ แสดงถึงสภาพของสังขารทั้งหลายตามที่มันเป็นของมันเอง  แต่สภาพนี้จะก่อให้เกิดความหมายเป็นภาวะในทางจิตวิทยาขึ้นก็ได้ ในแง่ที่ว่า มันไม่อาจให้ความพึงพอใจโดยสมบูรณ์๒ และสามารถก่อให้เกิดทุกข์ได้เสมอ แก่ผู้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยอวิชชาตัณหาอุปาทาน

หัวข้อ: Re: สิ่งทั้งหลาย คือกระแสเหตุปัจจัย มิใช่มีตัวตนที่เที่ยงแท้เป็นจริง
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ มีนาคม 06, 2013, 03:26:10 pm

(https://fbcdn-sphotos-b-a.akamaihd.net/hphotos-ak-prn2/p480x480/1476537_611276905593365_311405456_n.jpg)

สิ่งทั้งหลาย คือกระแสเหตุปัจจัย มิใช่มีตัวตนที่เที่ยงแท้เป็นจริง
 หลักปฏิจจสมุปบาท แสดงให้เห็นอาการที่สิ่งทั้งหลายสัมพันธ์เนื่องอาศัยเป็นเหตุปัจจัยต่อกันอย่างเป็นกระแส ในภาวะที่เป็นกระแสนี้ ขยายความหมายออกไปให้เห็นแง่ต่างๆ ได้ คือ
 - สิ่งทั้งหลายมีความสัมพันธ์เนื่องอาศัยเป็นปัจจัยแก่กัน
 - สิ่งทั้งหลายมีอยู่โดยความสัมพันธ์
 - สิ่งทั้งหลายมีอยู่ด้วยอาศัยปัจจัย
 - สิ่งทั้งหลายไม่มีความคงที่อยู่อย่างเดิมแม้แต่ขณะเดียว
 - สิ่งทั้งหลาย ไม่มีอยู่โดยตัวของมันเอง คือ ไม่มีตัวตนที่แท้จริงของมัน
 - สิ่งทั้งหลายไม่มีมูลการณ์ หรือต้นกำเนิดเดิมสุด

 พูดอีกนัยหนึ่งว่า อาการที่สิ่งทั้งหลายปรากฏเป็นรูปต่างๆ มีความเจริญความเสื่อมเป็นไปต่างๆ นั้น แสดงถึงสภาวะที่แท้จริงของมันว่า เป็นกระแสหรือกระบวนการ ความเป็นกระแสแสดงถึงการประกอบขึ้นด้วยองค์ประกอบต่างๆ รูปกระแสปรากฏเพราะองค์ประกอบทั้งหลายสัมพันธ์เนื่องอาศัยกัน กระแสดำเนินไปแปรรูปได้เพราะองค์ประกอบต่างๆ ไม่คงที่อยู่แม้แต่ขณะเดียว องค์ประกอบทั้งหลายไม่คงที่อยู่แม้แต่ขณะเดียวเพราะไม่มีตัวตนที่แท้จริงของมัน ตัวตนที่แท้จริงของมันไม่มีมันจึงขึ้นต่อเหตุปัจจัยต่างๆ เหตุปัจจัยต่างๆ สัมพันธ์ต่อเนื่องอาศัยกัน จึงคุมรูปเป็นกระแสได้ ความเป็นเหตุปัจจัยต่อเนื่องอาศัยกัน แสดงถึงความไม่มีต้นกำเนิดเดิมสุดของสิ่งทั้งหลาย

 พูดในทางกลับกันว่า ถ้าสิ่งทั้งหลายมีตัวตนแท้จริง ก็ต้องมีความคงที่ ถ้าสิ่งทั้งหลายคงที่แม้แต่ขณะเดียว ก็เป็นเหตุปัจจัยแก่กันไม่ได้ เมื่อเป็นเหตุปัจจัยแก่กันไม่ได้ ก็ประกอบกันขึ้นเป็นกระแสไม่ได้ เมื่อไม่มีกระแสแห่งปัจจัย ความเป็นไปในธรรมชาติก็มีไม่ได้ และถ้ามีตัวตนที่แท้จริงอย่างใดในท่ามกลางกระแส ความเป็นไปตามเหตุปัจจัยอย่างแท้จริงก็เป็นไปไม่ได้ กระแสแห่งเหตุปัจจัยที่ทำให้สิ่งทั้งหลายปรากฏโดยเป็นไปตามกฎธรรมชาติ ดำเนินไปได้ ก็เพราะสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง ไม่คงอยู่ เกิดแล้วสลายไป ไม่มีตัวตนที่แท้จริงของมัน และสัมพันธ์เนื่องอาศัยกัน

 ภาวะที่ไม่เที่ยง ไม่คงอยู่ เกิดแล้วสลายไป เรียกว่า อนิจจตา ภาวะที่ถูกบีบคั้นด้วยเกิดสลาย มีความกดดันขัดแย้งแฝงอยู่ ไม่สมบูรณ์ในตัว เรียกว่า ทุกขตา ภาวะที่ไร้ตัวตนที่แท้จริงของมันเอง เรียกว่า อนัตตตา

 ปฏิจจสมุปบาทแสดงให้เห็นภาวะทั้ง ๓ นี้ในสิ่งทั้งหลาย และแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ต่อเนื่องเป็นปัจจัยแก่กันของสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น จนปรากฏรูปออกมาเป็นต่างๆ ในธรรมชาติ

 สิ่งทั้งหลายที่ปรากฏมี จึงเป็นเพียงกระแสความเป็นไปแห่งเหตุปัจจัยที่สัมพันธ์ส่งผลสืบทอดกันมา อาจเรียกสั้นๆ ว่า กระบวนธรรม ซึ่งถือได้ว่าเป็นคำแปลของคำบาลีที่ท่านใช้ว่า ธรรมปวัตติ (ธมฺมปฺปวตฺติ)

 ภาวะและความเป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบาทนี้ มีแก่สิ่งทั้งปวง ทั้งที่เป็นรูปธรรม ทั้งที่เป็นนามธรรม ทั้งในโลกฝ่ายวัตถุ ทั้งแก่ชีวิตที่ประกอบพร้อมด้วยรูปธรรมนามธรรม โดยแสดงตัวออกเป็นกฎธรรมชาติต่างๆ คือ ธรรมนิยาม-กฎความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผล อุตุนิยาม-กฎธรรมชาติฝ่าย อนินทรียวัตถุ พีชนิยาม-กฎธรรมชาติฝ่ายอินทรียวัตถุรวมทั้งพันธุกรรม จิตตนิยาม-กฎการทำงานของจิต และกรรมนิยาม-กฎแห่งกรรม ซึ่งมีความเกี่ยวข้องเป็นพิเศษกับเรื่องความสุขความทุกข์ของชีวิต และเป็นเรื่องที่จริย-ธรรมจะต้องเกี่ยวข้องโดยตรง

 เรื่องที่ควรย้ำเป็นพิเศษ เพราะมักขัดกับความรู้สึกสามัญของคน คือ ควรย้ำว่า กรรมก็ดี กระบวนการแห่งเหตุผลอื่นๆ ทุกอย่างในธรรมชาติก็ดี เป็นไปได้ ก็เพราะสิ่งทั้งปวงเป็นของไม่เที่ยง (เป็นอนิจจัง) และไม่มีตัวตนของมันเอง (เป็นอนัตตา)
 
 ถ้าสิ่งทั้งหลายเป็นของเที่ยง มีตัวตนจริงแล้ว กฎธรรมชาติทั้งมวลรวมทั้งหลักกรรมย่อมเป็นไปไม่ได้ นอกจากนั้น กฎเหล่านี้ยังยืนยันด้วยว่า ไม่มีมูลการณ์หรือต้นกำเนิดเดิมสุดของสิ่งทั้งหลาย เช่น พระผู้สร้าง เป็นต้น

 สิ่งทั้งหลาย ไม่มีตัวตนแท้จริง เพราะเกิดขึ้นด้วยอาศัยปัจจัยต่างๆ และมีอยู่อย่างสัมพันธ์กัน ตัวอย่างง่ายๆ หยาบๆ เช่น เตียงเกิดจากนำส่วนประกอบต่างๆ มาประกอบเข้าด้วยกันตามรูปแบบที่กำหนด ตัวตนของเตียงที่ต่างหากจากส่วนประกอบเหล่านั้นไม่มี เมื่อแยกส่วนประกอบต่างๆ ออกหมดสิ้นแล้ว ก็ไม่มีเตียงอีกต่อไป เหลืออยู่แต่บัญญัติว่า “เตียง” ที่เป็นความคิดในใจ แม้บัญญัตินั้นเองที่มีความหมายอย่างนั้น ก็ไม่มีอยู่โดยตัวของมันเอง แต่ต้องสัมพันธ์เนื่องอาศัยกับความหมายอื่นๆ เช่น บัญญัติว่าเตียง ย่อมไม่มีความหมายของตนเอง โดยปราศจากความสัมพันธ์กับ การนอน แนวระนาบ ที่ตั้ง ช่องว่าง เป็นต้น

(https://fbcdn-sphotos-c-a.akamaihd.net/hphotos-ak-frc3/1424541_552197381539395_899753342_n.jpg)

ในความรู้สึกสามัญของมนุษย์ ความรู้ในบัญญัติต่างๆ เกิดขึ้น
โดยพ่วงเอาความเข้าใจในปัจจัยและความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องเข้าไว้ด้วยเหมือนกัน
แต่เมื่อเกิดความกำหนดรู้ขึ้นแล้ว ความเคยชินในการยึดติด
ด้วยตัณหาอุปาทาน ก็เข้าเกาะกับสิ่งในบัญญัตินั้น
จนเกิดความรู้สึกเป็นตัวตนขึ้นอย่างหนาแน่น บังความสำนึกรู้ และ
แยกสิ่งนั้นออกจากความสัมพันธ์กับสิ่งอื่นๆ
ทำให้ไม่รู้เห็นตามที่มันเป็น อหังการและมมังการจึงแสดงบทบาทได้เต็มที่
หัวข้อ: Re: สิ่งทั้งปวงอยู่ในกระแสเหตุปัจจัย (ป. อ. ปยุตฺโต)
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ มีนาคม 06, 2013, 03:50:13 pm

(https://scontent-b-nrt.xx.fbcdn.net/hphotos-frc3/l/t1.0-9/557611_363986823685894_60876486_n.jpg)

สิ่งทั้งปวงอยู่ในกระแสเหตุปัจจัย ไร้มูลการณ์ ไม่ต้องมีผู้สร้างผู้บันดาล
 อนึ่ง ธรรมดาของสิ่งทั้งหลาย ย่อมไม่มีมูลการณ์ หรือเหตุต้นเค้า หรือต้นกำเนิดเดิมสุด เมื่อหยิบยกสิ่งใดก็ตามขึ้นมาพิจารณา ถ้าสืบสาวหาเหตุต่อไปโดยไม่หยุด จะไม่สามารถค้นหาเหตุดั้งเดิมสุดของสิ่งนั้นได้ แต่ในความรู้สึกสามัญของมนุษย์ มักคิดถึงหรือคิดอยากให้มีเหตุต้นเค้าสักอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ขัดกับธรรมดาของธรรมชาติ เรียกได้ว่าเป็น สัญญาวิปลาสอย่างหนึ่ง เหตุเพราะความเคยชินของมนุษย์ เมื่อเกี่ยวข้องกับสิ่งใดและคิดสืบสวนถึงมูลเหตุของสิ่งนั้น ความคิดก็จะหยุดจับติดอยู่กับสิ่งที่พบว่าเป็นเหตุแต่อย่างเดียว ไม่สืบสาวต่อไปอีก

 ความเคยชินเช่นนี้ จึงทำให้ความคิดสามัญของมนุษย์ในเรื่องเหตุผล เป็นไปในรูปที่ขาดตอนติดตัน และคิดในอาการที่ขัดกับกฎธรรมดา โดยคิดว่าต้องมีเหตุต้นเค้าของสิ่งทั้งหลายอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าคิดตามธรรมดาก็จะต้องสืบสาวต่อไปว่า อะไรเป็นเหตุของเหตุต้นเค้านั้น ต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด เพราะสิ่งทั้งหลายมีอยู่อย่างสัมพันธ์เนื่องอาศัยเป็นปัจจัยสืบต่อกัน จึงย่อมไม่มีมูลการณ์หรือเหตุต้นเค้าเป็นธรรมดา ควรตั้งคำถามกลับซ้ำไปว่า ทำไมสิ่งทั้งหลายจะต้องมีเหตุต้นเค้าด้วยเล่า ?

 ความคิดฝืนธรรมดาอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดจากความเคยชินของมนุษย์ และสัมพันธ์กับความคิดว่ามีเหตุต้นเค้า คือ ความคิดว่า เดิมทีเดียวนั้น ไม่มีอะไรอยู่เลย ความคิดนี้เกิดจากความเคยชินในการยึดถืออัตตา โดยกำหนดรู้ขึ้นมาในส่วนประกอบที่คุมเข้าเป็นรูปลักษณะแบบหนึ่ง แล้ววางความคิดหมายจำเพาะลงเป็นบัญญัติ ยึดเอาบัญญัตินั้นเป็นหลัก เกิดความรู้สึกคงที่ลงว่าเป็นตัวตนอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงเห็นไปว่าเดิมสิ่งนั้นไม่มีแล้วมามีขึ้น

 ความคิดแบบชะงักทื่อติดอยู่กับสิ่งหนึ่งๆ ไม่แล่นเป็นสายเช่นนี้ เป็นความเคยชินในทางความคิดอย่างที่เรียกว่าติดสมมติ หรือไม่รู้เท่าทันสมมติ จึงกลายเป็นไม่รู้ตามที่มันเป็น เป็นเหตุให้ต้องคิดหาเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มีอยู่เป็นนิรันดรขึ้นมาเป็นเหตุต้นเค้า เป็นที่มาแห่งการสำแดงรูปเป็นต่างๆ หรือเป็นผู้สร้างสิ่งทั้งหลาย ทำให้เกิดข้อขัดแย้งขึ้นมากมาย เช่น สิ่งนิรันดรจะเป็นที่มาหรือสร้างสิ่งไม่เป็นนิรันดรได้อย่างไร ถ้าสิ่งเป็นนิรันดรเป็นที่มาของสิ่งไม่เป็นนิรันดร สิ่งไม่เป็นนิรันดรจะไม่เป็นนิรันดรได้อย่างไร เป็นต้น

 แท้จริงแล้ว ในกระบวนการอันเป็นกระแสแห่งความเป็นเหตุปัจจัยสืบเนื่องกันนี้ ย่อมไม่มีปัญหาแบบบ่งตัวตนว่ามีอะไรหรือไม่มีอะไรอยู่เลย ไม่ว่าเดิมทีเดียว หรือบัดนี้ เว้นแต่จะพูดกันในขั้นสมมติสัจจะเท่านั้น ควรย้อนถามให้คิดใหม่ด้วยซ้ำไปว่า ทำไมจะต้องไม่มีก่อนมีด้วยเล่า?

 แม้ความเชื่อว่าสิ่งทั้งหลายมีผู้สร้าง ซึ่งปรกติถือกันว่าเป็นความคิดธรรมดานั้น แท้จริงก็เป็นความคิดขัดธรรมดาเช่นกัน ความคิดเชื่อเช่นนี้เกิดขึ้น เพราะมองดูตามข้อเท็จจริงต่างๆ ซึ่งเห็นและเข้าใจกันอยู่สามัญว่ามนุษย์เป็นผู้สร้างอุปกรณ์ สิ่งของ เครื่องใช้ ศิลปวัตถุ ฯลฯ ขึ้น สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะการสร้างของมนุษย์ ฉะนั้น สิ่งทั้งหลายทั้งโลกก็ต้องมีผู้สร้างด้วยเหมือนกัน

 ในกรณีนี้ มนุษย์พรางตนเอง ด้วยการแยกความหมายของการสร้างออกไปเสียจากความเป็นเหตุเป็นปัจจัยตามปรกติ จึงทำให้เกิดการตั้งต้นความคิดที่ผิด

 ความจริงนั้น การสร้างเป็นเพียงความหมายส่วนหนึ่ง ของการเป็นเหตุปัจจัย การที่มนุษย์สร้างสิ่งใด ก็คือการที่มนุษย์เข้าไปร่วมเป็นเหตุปัจจัยส่วนหนึ่ง ในกระบวนการแห่งความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัยต่างๆ ที่จะทำให้ผลรวมที่ต้องการนั้นเกิดขึ้น แต่มีพิเศษจากกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยฝ่ายวัตถุล้วนๆ ก็เพียงว่า ในกรณีนี้ มีปัจจัยฝ่ายนามธรรมที่ประกอบด้วยเจตนาเป็นลักษณะพิเศษเข้าไปร่วมบทบาทด้วย แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังคงมีฐานะเป็นเพียงปัจจัยอย่างหนึ่งร่วมกับปัจจัยอื่นๆ และต้องดำเนินไปตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยจึงจะเกิดผลที่ต้องการ

 ยกตัวอย่าง เช่น เมื่อมนุษย์จะสร้างตึก ก็ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องเป็นเหตุเป็นปัจจัยช่วยผลักดันเหตุปัจจัยต่างๆ ให้ดำเนินไปตามสายของมันจนเกิดผลสำเร็จ ถ้าการสร้างเป็นการบันดาลผลได้อย่างพิเศษกว่าการเป็นเหตุปัจจัย มนุษย์ก็เพียงนั่งนอนอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง แล้วคิดบันดาลให้เรือนหรือตึกเกิดขึ้นในที่ปรารถนาตามต้องการ ซึ่งเป็นไปไม่ได้

 การสร้างจึงมิได้มีความหมายนอกเหนือไปจากการเป็นเหตุปัจจัยแบบหนึ่ง และในเมื่อสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยต่อเนื่องกันอยู่ตามวิถีของมันเช่นนี้ ผู้สร้างย่อมไม่อาจมีได้ในตอนใดๆ ของกระบวนการ

 อย่างไรก็ดี การพิจารณาเหตุผลในปัญหาเกี่ยวกับเหตุต้นเค้า และผู้สร้าง เป็นต้นนี้ ถือว่ามีคุณค่าน้อยในพุทธธรรม เพราะไม่มีความจำเป็นต่อการประพฤติปฏิบัติเพื่อประโยชน์ในชีวิตจริง แม้ว่าจะช่วยให้เกิดโลกทัศน์และชีวทัศน์กว้างๆ ในทางเหตุผลอย่างที่กล่าวข้างต้น ก็อาจข้ามไปเสียได้ ด้วยว่าการพิจารณาคุณค่าในทางจริยธรรมอย่างเดียว มีประโยชน์ที่มุ่งหมายคุมถึงอยู่แล้ว ในที่นี้จึงควรพุ่งความสนใจไปในด้านที่เกี่ยวกับชีวิตในทางปฏิบัติเป็นสำคัญ
หัวข้อ: Re: พุทธธรรม หรือ กฎธรรมชาติและคุณค่าสำหรับชีวิต (ป. อ. ปยุตฺโต)
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ มีนาคม 06, 2013, 05:12:52 pm

(https://fbcdn-sphotos-g-a.akamaihd.net/hphotos-ak-ash3/v/t1/547178_347361795348397_1297623544_n.jpg?oh=c3d3430740e3840ff3afa4298b36b473&oe=53A016DB&__gda__=1404094679_90605535b17ebfac0217493bc03fa23e)

ถ้ารู้ไม่ทันกระแสเหตุปัจจัย ชีวิตจะตกเป็นทาส ถูกมันกระแทกบีบคั้น
 ดังได้กล่าวแล้วแต่ต้นว่า ชีวิตประกอบด้วยขันธ์ ๕ เท่านั้น ไม่มีสิ่งใดอื่นอีกนอกเหนือจากขันธ์ ๕ ไม่ว่าจะแฝงอยู่ในขันธ์ ๕ หรืออยู่ต่างหากจากขันธ์ ๕ ที่จะมาเป็นเจ้าของหรือควบคุมขันธ์ ๕ ให้ชีวิตดำเนินไป

 ดังนั้น ในการพิจารณาเรื่องชีวิต เมื่อยกเอาขันธ์ ๕ ขึ้นเป็นตัวตั้งแล้ว ก็เป็นอันครบถ้วนเพียงพอ
 ขันธ์ ๕ เป็นกระบวนการที่ดำเนินไปตามกฎแห่งปฏิจจสมุปบาท คือมีอยู่ในรูปกระแสแห่งปัจจัยต่างๆ ที่สัมพันธ์เนื่องอาศัยสืบต่อกัน ไม่มีส่วนใดในกระแสคงที่อยู่ได้ มีแต่การเกิดขึ้นแล้วสลายตัวไป พร้อมกับที่เป็นปัจจัยให้มีการเกิดขึ้นแล้วสลายตัวต่อๆ ไปอีก ส่วนต่างๆ สัมพันธ์กัน เนื่องอาศัยกัน เป็นปัจจัยแก่กัน จึงทำให้กระแสหรือกระบวนการนี้ดำเนินไปอย่างมีเหตุผลสัมพันธ์ และคุมเป็นรูปร่างต่อเนื่องกันในภาวะเช่นนี้ ขันธ์ ๕ หรือ ชีวิต จึงเป็นไปตามกฎแห่งไตรลักษณ์ คือ อยู่ในภาวะแห่งอนิจจตา ไม่เที่ยง ไม่คงที่ เกิดดับเสื่อมสลายอยู่ตลอดเวลา อนัตตตา ไม่มีส่วนใดที่มีตัวตนแท้จริง และไม่อาจยึดถือเอาเป็นตัว จะเข้ายึดครองเป็นเจ้าของ บังคับบัญชาให้เป็นไปตามความปรารถนาของตนจริงจังไม่ได้ ทุกขตา ถูกบีบคั้นด้วยการเกิดขึ้นและสลายตัวอยู่ทุกขณะ และพร้อมที่จะก่อให้เกิดความทุกข์ได้เสมอ ในกรณีที่มีการเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยความไม่รู้และยึดติดถือมั่น

 กระบวนการแห่งขันธ์ ๕ หรือชีวิต ซึ่งดำเนินไปพร้อมด้วยการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดทุกขณะ โดยไม่มีส่วนที่เป็นตัวเป็นตนคงที่อยู่นี้ ย่อมเป็นไปตามกระแสแห่งเหตุปัจจัยที่สัมพันธ์แก่กันล้วนๆ ตามวิถีทางแห่งธรรมชาติของมัน

 แต่ในกรณีของชีวิตมนุษย์ปุถุชน ความฝืนกระแสจะเกิดขึ้น โดยที่จะมีความหลงผิดเกิดขึ้น และยึดถือเอารูปปรากฏของกระแสหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของกระแสว่าเป็นตัวตน และปรารถนาให้ตัวตนนั้นมีอยู่ คงอยู่ หรือเป็นไปในรูปใดรูปหนึ่ง

 ในเวลาเดียวกัน ความเปลี่ยนแปลงหมุนเวียนที่เกิดขึ้นในกระแสก็ขัดแย้งต่อความปรารถนา เป็นการบีบคั้นและเร่งเร้าให้เกิดความยึดอยากรุนแรงยิ่งขึ้น ความดิ้นรนหวังให้มีตัวตนในรูปใดรูปหนึ่ง และให้ตัวตนนั้นเป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี ให้คงที่เที่ยงแท้ถาวรอยู่ในรูปที่ต้องการก็ดี ก็ยิ่งรุนแรงขึ้น เมื่อไม่เป็นไปตามที่ยึดอยาก ความบีบคั้นก็ยิ่งแสดงผลเป็นความผิดหวัง ความทุกข์ความคับแค้นรุนแรงขึ้นตามกัน พร้อมกันนั้น ความตระหนักรู้ในความจริงอย่างมัวๆ ว่าความเปลี่ยนแปลงจะต้องเกิดขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่งแน่นอน และตัวตนที่ตนยึดอยู่อาจไม่มีหรืออาจสูญสลายไปเสีย ก็ยิ่งฝังความยึดอยากให้เหนียวแน่นยิ่งขึ้น พร้อมกับความกลัว ความประหวั่นพรั่นพรึง ก็เข้าแฝงตัวร่วมอยู่ด้วยอย่างลึกซึ้งและซับซ้อน

 ภาวะจิตเหล่านี้ก็คือ อวิชชา (ความไม่รู้ตามเป็นจริง หลงผิดว่ามีตัวตน) ตัณหา (ความอยากให้ตัวตนที่หลงว่ามีนั้นได้ เป็น หรือไม่เป็นต่างๆ) อุปาทาน (ความยึดถือผูกตัวตนในความหลงผิดนั้นไว้กับสิ่งต่างๆ)

 กิเลสเหล่านี้แฝงลึกซับซ้อนอยู่ในจิตใจ และเป็นตัวคอยบังคับบัญชาพฤติกรรมทั้งหลายของบุคคลให้เป็นไปต่างๆ ตามอำนาจของมัน ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว ตลอดจนเป็นตัวหล่อหลอมบุคลิกภาพและมีบทบาทสำคัญในการชี้ชะตากรรมของบุคคลนั้นๆ กล่าวในวงกว้าง มันเป็นที่มาแห่งความทุกข์ของมนุษย์ปุถุชนทุกคน

 โดยสรุป ข้อความที่กล่าวมานี้ แสดงการขัดแย้ง หรือปะทะกันระหว่าง กระบวนการ ๒ ฝ่าย คือ
 ๑. ความเป็นจริง ของกระบวนการแห่งชีวิต ที่เป็นไปตามกฎแห่งไตรลักษณ์ อันเป็นกฎธรรมชาติที่แน่นอน คือ อนิจจตา ทุกขตา และอนัตตตา ซึ่งแสดงอาการออกมาเป็น ชาติ ชรา มรณะ ทั้งในความหมายแบบตื้นหยาบ และละเอียดลึกซึ้ง
 ๒. ความไม่รู้ตามเป็นจริง ซึ่งกระบวนการแห่งชีวิตนั้น โดยหลงผิดว่าเป็นตัวตนและเข้าไปยึดมั่นถือมั่นเอาไว้ แฝงพร้อมด้วยความหวั่นกลัวและความกระวนกระวาย

 พูดให้สั้นลงไปอีกว่า เป็นการขัดแย้งกันระหว่างกฎธรรมชาติ กับความยึดถือตัวตนไว้ด้วยความหลงผิด หรือให้ตรงกว่านั้นว่า การเข้าไปสร้างตัวตนขวางกระแสแห่งกฎธรรมชาติไว้

 นี้คือชีวิตที่เรียกว่า เป็นอยู่ด้วยอวิชชา อยู่อย่างยึดมั่นถือมั่น อยู่อย่างเป็นทาส อยู่อย่างขัดแย้งฝืนต่อกฎธรรมชาติ หรืออยู่อย่างเป็นทุกข์

 การมีชีวิตอยู่เช่นนี้ ถ้าพูดในทางจริยธรรม ตามสมมติสัจจะ ก็อาจกล่าวได้ว่า เป็นการมีตัวตนขึ้น ๒ ตน คือ ตัวกระแสแห่งชีวิตที่ดำเนินไปตามกฎธรรมชาติ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย แม้จะไม่มีตัวตนแท้จริง แต่กำหนดแยกออกเป็นกระแสหรือกระบวนการอันหนึ่งต่างหากจากกระแสหรือกระบวนการอื่นๆ เรียกโดยสมมติสัจจะว่าเป็นตน และใช้ประโยชน์ในทางจริยธรรมได้ อย่างหนึ่ง กับตัวตนจอมปลอม ที่ถูกคิดสร้างขึ้นยึดถือเอาไว้อย่างมั่นคงด้วยอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ดังกล่าวแล้ว อย่างหนึ่ง
 ตัวตนอย่างแรกที่กำหนดเรียกเพื่อความสะดวกในขั้นสมมติสัจจะโดยรู้สภาพตามที่เป็นจริง ย่อมไม่เป็นเหตุให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นด้วยความหลงผิด แต่ตัวตนอย่างหลังที่สร้างขึ้นซ้อนไว้ในตัวตนอย่างแรก ย่อมเป็นตัวตนแห่งความยึดมั่นถือมั่น คอยรับความกระทบกระเทือนจากตัวตนอย่างแรก จึงเป็นที่มาของความทุกข์

 การมีชีวิตอยู่อย่างที่กล่าวข้างต้น นอกจากเป็นการแฝงเอาความกลัวและความกระวนกระวายไว้ในจิตใจส่วนลึกที่สุด เพื่อไว้บังคับบัญชาพฤติ-กรรมของตนเอง ทำให้กระบวนการแห่งชีวิตไม่เป็นตัวของตัวเอง หรือทำตนเองให้ตกเป็นทาสไปโดยไม่รู้ตัวแล้ว ยังแสดงผลร้ายออกมาอีกเป็นอันมาก คือ

 - ทำให้มีความอยากได้อย่างเห็นแก่ตัว ความแส่หาสิ่งต่างๆ ที่จะสนองความต้องการของตนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และยึดอยากหวงแหนไว้กับตน โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ของผู้ใดอื่น

 - ทำให้เกาะเหนี่ยวเอาความคิดเห็น ทฤษฎี หรือทัศนะอย่างใดอย่างหนึ่งมาตีค่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับตนหรือเป็นของตน แล้วกอดรัดยึดมั่นทะนุถนอมความคิดเห็น ทฤษฎีหรือทัศนะนั้นๆ ไว้ เหมือนอย่างป้องกันรักษาตัวเอง เป็นการสร้างกำแพงขึ้นมากั้นบังตนเองไม่ให้ติดต่อกับความจริง หรือถึงกับหลบตัวปลีกตัวจากความจริง ทำให้เกิดความกระด้างทื่อๆ ไม่คล่องตัวในการคิดเหตุผลและใช้วิจารณญาณ ตลอดจนเกิดความถือรั้น การทนไม่ได้ที่จะรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น

 - ทำให้เกิดความเชื่อและการประพฤติปฏิบัติงมงายไร้เหตุผลต่างๆ ที่หวังว่าจะบันดาลผลให้ และยึดมั่นในความเชื่อความประพฤติและวิธีปฏิบัติเหล่านั้น เพราะรู้เห็นความสัมพันธ์ในทางเหตุผลของสิ่งเหล่านั้นอย่างลางๆ มัวๆ แม้จะไม่มีความแน่ใจ แต่ในเวลาเดียวกัน ก็มีความห่วงใยในตัวตนที่สร้างขึ้นยึดถือมั่นไว้ กลัวจะเกิดความสูญเสียแก่ตัวตนนั้นได้ จึงรีบไขว่คว้ายึดฉวยเอาอะไรๆ ที่พอจะหวังได้ไว้ก่อน แม้จะอยู่ในรูปที่ลางๆ มืดมัวก็ตาม

 - ทำให้เกิดมีตัวตนลอยๆ อันหนึ่ง ที่จะต้องคอยยึดคอยถือ คอยแบกเอาไว้ คอยรักษาทะนุถนอมป้องกันไม่ให้ถูกกระทบกระเทือนหรือสูญหาย พร้อมกันนั้น ก็กลายเป็นการจำกัดตนเองให้แคบ ให้ไม่เป็นอิสระ แบ่งแยกและพลอยถูกกระทบกระแทกไปกับตัวตนที่สร้างขึ้นยึดถือแบกไว้นั้นด้วย

 โดยนัยนี้ ความขัดแย้ง บีบคั้นและความทุกข์จึงมิได้มีอยู่เฉพาะในตัวบุคคลผู้เดียวเท่านั้น แต่ยังขยายตัวออกไปเป็นความขัดแย้ง บีบคั้น และความทุกข์แก่คนอื่นๆ และระหว่างกันในสังคมด้วย กล่าวได้ว่าภาวะเช่นนี้ เป็นที่มาแห่งความทุกข์ความเดือดร้อนและปัญหาทั้งปวงของสังคม ในฝ่ายที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์
หัวข้อ: Re: มีปัญญารู้เท่าทัน จะได้ประโยชน์จากกฎธรรมชาติ
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ มีนาคม 06, 2013, 09:51:14 pm

(https://fbcdn-sphotos-f-a.akamaihd.net/hphotos-ak-frc3/t1/482087_327277587356818_2128835381_n.jpg)

มีปัญญารู้เท่าทัน จะได้ประโยชน์จากกฎธรรมชาติ ดุจเป็นนายเหนือมัน
 หลักปฏิจจสมุปบาทแบบประยุกต์ แสดงการเกิดขึ้นของชีวิตแห่งความทุกข์ หรือการเกิดขึ้นแห่งการ(มีชีวิตอยู่อย่าง)มีตัวตน ซึ่งจะต้องมีทุกข์เป็นผลลัพธ์แน่นอน เมื่อทำลายวงจรในปฏิจจสมุปบาทลง ก็เท่ากับทำลายชีวิตแห่งความทุกข์ หรือทำลายความทุกข์ทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นจากการ(มีชีวิตอยู่อย่าง)มีตัวตน นี่ก็คือภาวะที่ตรงกันข้าม อันได้แก่ ชีวิตที่เป็นอยู่ด้วยปัญญา อยู่อย่างไม่มีความหลงยึดถือติดมั่นในตัวตน อยู่อย่างอิสระ อยู่อย่างประสานกลมกลืนกับความจริงของธรรมชาติ หรืออยู่อย่างไม่มีทุกข์

 การมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา หมายถึง การอยู่อย่างรู้เท่าทันสภาวะ และรู้จักถือเอาประโยชน์จากธรรมชาติ การถือเอาประโยชน์จากธรรมชาติได้เป็นอย่างเดียวกับการอยู่อย่างประสานกลมกลืนกับธรรมชาติ การอยู่ประสาน
    กลมกลืนกับธรรมชาติ เป็นการอยู่อย่างอิสระ การอยู่อย่างเป็นอิสระ ก็คือการไม่ต้องตกอยู่ในอำนาจของตัณหาอุปาทาน หรือการอยู่อย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น การอยู่อย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น ก็คือการมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา หรือการรู้และเข้าเกี่ยวข้องจัดการกับสิ่งทั้งหลายตามวิถีทางแห่งเหตุปัจจัย

 มีข้อควรย้ำเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติอีกเล็กน้อย ตามหลักพุทธธรรม ย่อมไม่มีสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ หรือนอกเหนือธรรมชาติ ในแง่ที่ว่ามีอิทธิฤทธิ์บันดาลความเป็นไปในธรรมชาติได้ หรือแม้ในแง่ที่ว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างหนึ่งอย่างใดกับความเป็นไปในธรรมชาติ สิ่งใดอยู่นอกเหนือธรรมชาติ สิ่งนั้นย่อมไม่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ คือย่อมพ้นจากธรรมชาติสิ้นเชิง สิ่งใดเกี่ยวข้องกับธรรมชาติ สิ่งนั้นไม่อยู่นอกเหนือธรรมชาติ แต่ต้องเป็นส่วนหนึ่งในธรรมชาติ

 อนึ่ง กระบวนการความเป็นไปทั้งปวงในธรรมชาติย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่มีความเป็นไปลอยๆ และไม่มีการบันดาลให้เกิดขึ้นได้โดยปราศจากเหตุปัจจัย ความเป็นไปที่ประหลาดน่าเหลือเชื่อ ดูเป็นอิทธิปาฏิหาริย์ หรืออัศจรรย์ใดๆ ก็ตาม ย่อมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นไปตามเหตุปัจจัยทั้งสิ้น แต่ในกรณีที่เหตุปัจจัยในเรื่องนั้นสลับซับซ้อนและยังไม่ถูกรู้เท่าทัน เรื่องนั้นก็กลายเป็นเรื่องประหลาดอัศจรรย์ แต่ความประหลาดอัศจรรย์จะหมดไปทันทีเมื่อเหตุปัจจัยต่างๆ ในเรื่องนั้นถูกรู้เท่าทันหมดสิ้น ดังนั้น คำว่าสิ่งเหนือหรือนอกเหนือธรรมชาติ ตามที่กล่าวมาแล้ว จึงเป็นเพียงสำนวนภาษาเท่านั้น ไม่มีอยู่จริง

 ในเรื่องมนุษย์กับธรรมชาติ ก็เช่นกัน การที่แยกออกมาเป็นคำต่างหากกัน ว่ามนุษย์กับธรรมชาติก็ดี ว่ามนุษย์สามารถบังคับควบคุมธรรมชาติได้ก็ดี เป็นเพียงสำนวนภาษา แต่ตามเป็นจริงแล้ว มนุษย์เป็นเพียงส่วนหนึ่งในธรรมชาติ และการที่มนุษย์ควบคุมบังคับธรรมชาติได้ ก็เป็นเพียงการที่มนุษย์ร่วมเป็นเหตุปัจจัยอย่างหนึ่งและผลักดันปัจจัยอื่นๆ ในธรรมชาติให้ต่อเนื่องสืบทอดกันไปจนบังเกิดผลอย่างนั้นๆ ขึ้น เป็นแต่ในกรณีของมนุษย์นี้ มีปัจจัยฝ่ายจิต อันประกอบด้วยเจตนา เข้าร่วมในกระบวนการด้วย จึงมีการกระทำและผลการกระทำอย่างที่เรียกว่าสร้างสรรค์ขึ้น ซึ่งก็เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยล้วนๆ ทั้งสิ้น มนุษย์ไม่สามารถสร้างในความหมายที่ว่าให้มีให้เป็นขึ้นลอยๆ โดยปราศจากการเป็นเหตุปัจจัยกันตามวิถีทางของมัน

 ที่ว่ามนุษย์บังคับควบคุมธรรมชาติได้ ก็คือการที่มนุษย์รู้เหตุปัจจัยต่างๆ ที่จะสัมพันธ์ส่งทอดเป็นกระบวนการให้เกิดผลที่ต้องการแล้ว จึงเข้าร่วมเป็นปัจจัยผลักดันปัจจัยต่างๆ เหล่านั้นให้ต่อเนื่องสืบทอดกันจนเกิดผลที่ต้องการ

 ขั้นตอนในเรื่องนี้มี ๒ อย่าง อย่างที่ ๑ คือรู้ จากนั้น จึงมีอย่างหรือขั้นที่ ๒ คือ เป็นปัจจัยให้แก่ปัจจัยอื่นๆ ต่อๆ กันไป
 ใน ๒ อย่างนี้ อย่างที่สำคัญและจำเป็นก่อนคือ ต้องรู้ ซึ่งหมายถึงปัญญา เมื่อรู้หรือมีปัญญาแล้ว ก็เข้าร่วมด้วยเจตนาในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย อย่างที่เรียกว่าจัดการให้เป็นไปตามประสงค์ได้

 การเกี่ยวข้องจัดการกับสิ่งทั้งหลายด้วยความรู้หรือปัญญาเท่านั้น จึงจะชื่อว่าเป็นการถือเอาประโยชน์จากธรรมชาติได้ หรือจะเรียกตามสำนวนภาษาก็ว่า สามารถบังคับควบคุมธรรมชาติได้ และเรื่องนี้มีหลักการอย่างเดียวกัน ทั้งในกระบวนการฝ่ายรูปธรรมและนามธรรม หรือทั้งฝ่ายจิตและฝ่ายวัตถุ

 ฉะนั้น ที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า การถือเอาประโยชน์จากธรรมชาติได้ เป็นอย่างเดียวกับการอยู่อย่างประสานกลมกลืนกับธรรมชาติ จึงเป็นเรื่องของข้อเท็จจริงของการเป็นเหตุเป็นปัจจัยแก่กันตามกฎธรรมดานี่เอง ทั้งนี้รวมถึงธรรมชาติด้านนามธรรมด้วย ซึ่งจะพูดเป็นสำนวนภาษาว่า สามารถบังคับควบคุมธรรมชาติฝ่ายนามธรรมได้ ควบคุมจิตใจของตนได้ ควบคุมตนเองได้ ก็ถูกต้องทั้งสิ้น
 ดังนั้น การมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญาจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ทั้งในฝ่ายรูปธรรมและนามธรรม ที่จะช่วยให้มนุษย์ถือเอาประโยชน์ได้ ทั้งจากกระบวนการฝ่ายจิตและกระบวนการฝ่ายวัตถุ

 ชีวิตแห่งปัญญา จึงมองลักษณะได้ ๒ ด้าน คือ ด้านภายใน มีลักษณะสงบเย็น ปลอดโปร่ง ผ่องใสด้วยความรู้เท่าทัน เป็นอิสระ เมื่อเสวยสุขก็ไม่สยบมัวเมาหลงระเริงลืมตัว เมื่อขาด พลาด หรือพรากจากเหยื่อล่อสิ่งปรนปรือต่างๆ ก็มั่นคง ปลอดโปร่งอยู่ได้ ไม่หวั่นไหว ไม่หดหู่ซึมเศร้าสิ้นหวังหมดอาลัยตายอยาก ไม่ปล่อยตัวฝากความสุขทุกข์ของตนไว้ในกำมือของอามิสภายนอกที่จะตัดสินให้เป็นไป ด้านภายนอก มีลักษณะคล่องตัว ว่องไว พร้อมอยู่เสมอที่จะเข้าเกี่ยวข้องและจัดการกับสิ่งทั้งหลาย ตามที่มันควรจะเป็น โดยเหตุผลบริสุทธิ์ ไม่มีเงื่อนปม หรือความยึดติดภายในที่จะมาเป็นนิวรณ์ เข้าขัดขวาง กั้นบัง ถ่วง ทำให้เขว หรือทำให้พร่ามัว
หัวข้อ: Re: ชีวิตที่แตกต่าง ระหว่างผู้มัวยึดมั่น กับท่านที่อยู่ด้วยปัญญา
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ มีนาคม 06, 2013, 10:16:24 pm

                (https://lh4.googleusercontent.com/-7ofQFcsQ9_Y/UTcY2qZmR_I/AAAAAAAABQ0/BCmfwFuZif4/s646/65550_10151408996252381_1118532072_n.jpg)

ชีวิตที่แตกต่าง ระหว่างผู้มัวยึดมั่น กับท่านที่อยู่ด้วยปัญญา
 มีพุทธพจน์บางตอนที่แสดงให้เห็นลักษณะบางอย่าง ที่แตกต่างกันระหว่างชีวิตแห่งความยึดมั่นถือมั่น กับชีวิตแห่งปัญญา เช่น
 ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ ย่อมเสวยสุขเวทนาบ้าง ทุกข- เวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนา (เฉยๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข) บ้าง อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้แล้ว ก็ย่อมเสวยสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนั้น อะไรเป็นความพิเศษ เป็นความแปลก เป็นข้อแตกต่าง ระหว่างอริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ กับปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ ?

 ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ ถูกทุกขเวทนากระทบเข้าแล้ว ย่อมเศร้าโศกคร่ำครวญ ร่ำไห้ รำพัน ตีอกร้องไห้ หลงใหลฟั่นเฟือนไป เขาย่อมเสวยเวทนาทั้ง ๒ อย่าง คือ เวทนาทางกาย และเวทนาทางใจ

 เปรียบเหมือนนายขมังธนู ยิงบุรุษด้วยลูกศรดอกหนึ่ง แล้วยิงซ้ำด้วยลูกศรดอกที่ ๒ อีก เมื่อเป็นเช่นนี้ บุรุษนั้นย่อมเสวยเวทนาเพราะลูกศรทั้ง ๒ ดอก คือ ทั้งทางกาย ทั้งทางใจ ฉันใด ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ ก็ฉันนั้น...ย่อมเสวยเวทนาทั้ง ๒ อย่าง คือ ทั้งทางกาย และทางใจ

 อนึ่ง เพราะถูกทุกขเวทนานั้นกระทบ เขาย่อมเกิดความขัดใจ เมื่อเขามีความขัดใจเพราะทุกขเวทนา ปฏิฆานุสัยเพราะทุกขเวทนาก็ย่อมนอนเนื่อง เขาถูกทุกขเวทนากระทบเข้าแล้ว ก็หันเข้าระเริงกับกามสุข  เพราะอะไร? เพราะปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ ย่อมไม่รู้ทางออกจากทุกขเวทนา นอกไปจากกามสุข และเมื่อเขาระเริงอยู่กับกามสุข ราคานุสัยเพราะสุขเวทนานั้นย่อมนอนเนื่อง เขาย่อมไม่รู้เท่าทันความเกิดขึ้น ความสลายไป ข้อดีข้อเสีย และทางออก ของเวทนาเหล่านั้นตามที่มันเป็น เมื่อเขาไม่รู้ตามที่มันเป็น อวิชชานุสัยเพราะอทุกขมสุขเวทนา (= อุเบกขาเวทนา) ย่อมนอนเนื่อง

 ถ้าได้เสวยสุขเวทนา เขาก็เสวยอย่างถูกมัดตัว ถ้าเสวยทุกขเวทนา เขาก็เสวยอย่างถูกมัดตัว ถ้าเสวยอทุกขมสุขเวทนา เขาก็เสวยอย่างถูกมัดตัว ภิกษุทั้งหลาย นี้แล เรียกว่าปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ ผู้ประกอบ  ด้วยชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เราเรียกว่าผู้ประกอบด้วยทุกข์

 ภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายอริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ ถูกทุกขเวทนากระทบเข้าแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่คร่ำครวญ ไม่ร่ำไร ไม่รำพัน ไม่ตีอกร้องไห้ ไม่หลงใหลฟั่นเฟือน เธอย่อมเสวยเวทนาทางกายอย่างเดียว ไม่เสวยเวทนาทางใจ

 เปรียบเหมือนนายขมังธนู ยิงบุรุษด้วยลูกศร แล้วยิงช้ำด้วยลูกศรดอกที่ ๒ ผิดไป เมื่อเป็นเช่นนี้ บุรุษนั้น ย่อมเสวยเวทนาเพราะลูกศรดอกเดียว ฉันใด อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ก็ฉันนั้น...ย่อมเสวยเวทนาทางกายอย่างเดียว ไม่ได้เสวยเวทนาทางใจ

 อนึ่ง เธอย่อมไม่มีความขัดใจเพราะทุกขเวทนานั้น เมื่อไม่มีความขัดใจเพราะทุกขเวทนา  ปฏิฆานุสัยเพราะทุกขเวทนานั้น  ก็ไม่นอนเนื่อง เธอถูกทุกขเวทนากระทบ ก็ไม่หันเข้าระเริงกับกามสุข เพราะอะไร? เพราะอริยสาวกผู้เรียนรู้แล้ว ย่อมรู้ทางออกจากทุกขเวทนา นอกจากกามสุขไปอีก เมื่อเธอไม่ระเริงกับกามสุข ราคานุสัยเพราะสุขเวทนานั้นก็ไม่นอนเนื่อง เธอย่อมรู้เท่าทันความเกิดขึ้น ความสลายไป ข้อดี ข้อเสีย และทางออกของเวทนาเหล่านั้นตามที่มันเป็น เมื่อเธอรู้ตามที่มันเป็น อวิชชานุสัยเพราะอทุกขมสุขเวทนา ก็ไม่นอนเนื่อง

 ถ้าเสวยสุขเวทนา เธอก็เสวยอย่างไม่ถูกมัดตัว ถ้าเสวยทุกขเวทนาเธอก็เสวยอย่างไม่ถูกมัดตัว ถ้าเสวยอทุกขมสุขเวทนา เธอก็เสวยอย่างไม่ถูกมัดตัว ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าอริยสาวก ผู้ได้เรียนรู้ ผู้ปราศจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เราเรียกว่า ผู้ปราศจากทุกข์
 ภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นความพิเศษ เป็นความแปลก เป็นข้อแตกต่าง ระหว่างอริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ กับปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้”

 ที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร อะไรควรทำลาย เมื่อทำลายแล้วจะได้อะไร อะไรควรทำให้เกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะได้อะไร ส่วนที่ว่า ในการทำลายและทำให้เกิดขึ้นนั้น จะต้องทำอะไรบ้าง เป็นเรื่องของ จริยธรรม ที่จะกล่าวต่อไปข้างหน้า

(http://sphotos-e.ak.fbcdn.net/hphotos-ak-ash4/c67.0.403.403/p403x403/408391_184078911716136_1306333740_n.jpg)
ต่อที่>>>> ๕. คำอธิบายตามแบบ
- http://portal.in.th/i-dhamma/pages/8134/ (http://portal.in.th/i-dhamma/pages/8134/)

หัวข้อ: Re: พุทธธรรม หรือ กฎธรรมชาติและคุณค่าสำหรับชีวิต (ป. อ. ปยุตฺโต)
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ มีนาคม 06, 2013, 10:23:29 pm

                  (http://sphotos-h.ak.fbcdn.net/hphotos-ak-prn1/19627_541350662571666_1242266890_n.jpg)

๕. คำอธิบายตามแบบ
 คำอธิบายแบบนี้ มีความละเอียดลึกซึ้ง และกว้างขวางพิสดารมาก เป็นเรื่องทางวิชาการโดยเฉพาะ ผู้ศึกษาต้องอาศัยพื้นความรู้ทางพุทธธรรมและศัพท์วิชาการภาษาบาลีมาก และมีคัมภีร์ที่แสดงไว้เป็นเรื่องจำเพาะที่จะศึกษาได้โดยตรงอยู่แล้ว  จึงควรแสดงในที่นี้เพียงโดยสรุปพอเป็นหลักเท่านั้น

ก. หัวข้อและโครงรูป
 หัวข้อทั้งหมด ได้แสดงไว้ในตอนว่าด้วยตัวบทแล้ว จึงแสดงในที่นี้
แบบรวบรัด .ให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้
 อวิชชา-สังขาร-วิญญาณ-นามรูป-สฬายตนะ-ผัสสะ-
    ๑       ๒ ๓     ๔  ๕      ๖
เวทนา-ตัณหา-อุปาทาน-ภพ-ชาติ-ชรามรณะ .... โสกะ  ปริเทวะ
   ๗      ๘  ๙ ๑๐  ๑๑ ๑๒
ทุกข์ โทมนัส อุปายาส = ทุกขสมุทัย
ส่วนฝ่ายดับ หรือทุกขนิโรธ ก็ดำเนินไปตามหัวข้อเช่นเดียวกันนี้
อนึ่ง โดยที่กระบวนธรรมของปฏิจจสมุปบาท หมุนเวียนเป็นวัฏฏะหรือวงจร ไม่มีจุดเริ่มต้น ไม่มีจุดจบ ไม่มีเบื้องต้นเบื้องปลาย จึงควรเขียนใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดในแง่นี้ ดังนี้
 
ข. คำจำกัดความองค์ประกอบ หรือหัวข้อ ตามลำดับ ก่อนแสดงคำจำกัดความและความหมายตามแบบ จะให้คำแปลและความหมายง่ายๆ ตามรูปศัพท์ เป็นพื้นฐานความเข้าใจไว้ชั้นหนึ่งก่อน ดังนี้

๑. อวิชชา ความไม่รู้แจ้ง คือ ไม่รู้ความจริง หรือไม่รู้ตามเป็นจริง
๒. สังขาร ความคิดปรุงแต่ง เจตจำนงและทุกสิ่งที่จิตได้สะสมไว้
๓. วิญญาณ ความรู้ต่อสิ่งที่ถูกรับรู้ คือ การเห็น-ได้ยิน-ฯลฯ-รู้เรื่องในใจ
๔. นามรูป นามธรรมและรูปธรรม ชีวิตทั้งกายและใจ
๕. สฬายตนะ อายตนะ คือช่องทางรับรู้ ๖ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
๖. ผัสสะ การรับรู้ การประจวบกันของอายตนะ+อารมณ์(สิ่งที่ถูกรับรู้)+วิญญาณ
๗. เวทนา ความเสวยอารมณ์ ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉยๆ
๘. ตัณหา ความทะยานอยาก คือ อยากได้ อยากเป็น อยากไม่เป็น
๙. อุปาทาน ความยึดติดถือมั่น การยึดถือค้างใจ การยึดถือเข้ากับตัว
๑๐. ภพ ภาวะชีวิตที่เป็นอยู่ สภาพชีวิต ผลรวมกรรมทั้งหมดของบุคคล
๑๑. ชาติ ความเกิด ความปรากฏแห่งขันธ์ทั้งหลายที่ยึดถือเอาเป็นตัวตน
๑๒. ชรามรณะ ความแก่-ความตาย คือ ความเสื่อมอินทรีย์-ความสลายแห่งขันธ์

 ต่อไปนี้ คือ คำจำกัดความองค์ประกอบ หรือหัวข้อทั้ง ๑๒ ตามแบบ
๑. อวิชชา = ความไม่รู้ทุกข์-สมุทัย-นิโรธ-มรรค (อริยสัจ ๔) และ (ตามแบบ อภิธรรม) ความไม่รู้หนก่อน-หนหน้า-ทั้งหนก่อนหนหน้า -ปฏิจจสมุปบาท
๒. สังขาร  = กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร  และ(ตามนัยอภิธรรม)ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อาเนญชาภิสังขาร
๓. วิญญาณ =  จักขุวิญญาณ โสต~ ฆาน~ ชิวหา~ กาย~  มโนวิญญาณ  (วิญญาณ ๖)
๔. นามรูป =นาม (เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ; หรือ ตามแบบอภิธรรมว่า เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์) + รูป (มหาภูต ๔ และ รูปที่อาศัยมหาภูต ๔)
๕. สฬายตนะ = จักขุ-ตา  โสตะ-หู  ฆานะ-จมูก  ชิวหา-ลิ้น กาย-กาย  มโน-ใจ
๖. ผัสสะ   = จักขุสัมผัส  โสต~  ฆาน~  ชิวหา~  กาย~  มโนสัมผัส  (สัมผัส ๖)
๗. เวทนา =   เวทนาเกิดจากจักขุสัมผัส จากโสต~ ฆาน~ ชิวหา~ กาย~ และมโนสัมผัส (เวทนา ๖)
๘. ตัณหา =   รูปตัณหา (ตัณหาในรูป) สัททตัณหา (ในเสียง) คันธตัณหา  (ในกลิ่น)  รสตัณหา (ในรส)  โผฏฐัพพตัณหา (ในสัมผัสทางกาย)  ธัมมตัณหา (ในธรรมารมณ์) (ตัณหา ๖)
๙. อุปาทาน =   กามุปาทาน (ความยึดมั่นในกาม คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสต่างๆ) ทิฏฐุปาทาน (ความยึดมั่นในทิฏฐิ คือ ความเห็น ลัทธิ ทฤษฎีต่างๆ)สีลัพพตุปาทาน (ความยึดมั่นในศีลและพรต ว่าจะทำให้คนบริสุทธิ์ได้)อัตตวาทุปาทาน (ความยึดมั่นในการถืออัตตา สร้างตัวตนขึ้นมายึดถือไว้ด้วยความหลงผิด) 
๑๐. ภพ =   กามภพ รูปภพ อรูปภพ   อีกนัยหนึ่ง= กรรมภพ (ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อาเนญชาภิ-สังขาร) กับ อุปปัตติภพ (กามภพ รูปภพ อรูปภพ สัญญา-ภพ อสัญญาภพ เนวสัญญานาสัญญาภพ เอกโวการภพ จตุโวการภพ ปัญจโวการภพ)
๑๑. ชาติ =ความปรากฏแห่งขันธ์ทั้งหลาย การได้มาซึ่งอายตนะต่างๆ หรือความเกิด ความปรากฏขึ้น ของธรรมต่างๆ เหล่านั้นๆ
๑๒. ชรามรณะ = ชรา (ความเสื่อมอายุ ความหง่อมอินทรีย์) กับ มรณะ  (ความสลายแห่งขันธ์ ความขาดชีวิตินทรีย์) หรือ ความเสื่อม กับ ความสลายแห่งธรรมต่างๆ เหล่านั้นๆ๑

 ค. ตัวอย่างคำอธิบายแบบช่วงกว้างที่สุด
 เพื่อให้คำอธิบายสั้นและง่าย เห็นว่าควรใช้วิธียกตัวอย่าง ดังนี้(อาสวะ-) อวิชชา เข้าใจว่าการเกิดในสวรรค์เป็นยอดแห่งความสุข เข้าใจว่าฆ่าคนนั้นคนนี้เสียได้เป็นความสุข เข้าใจว่าฆ่าตัวตายเสียได้จะเป็นสุข เข้าใจว่าถึงความเป็นพรหมแล้วจะไม่เกิดไม่ตาย เข้าใจว่าทำพิธีบวงสรวงเซ่นสังเวยแล้วจะไปสวรรค์ได้ เข้าใจว่าจะไปนิพพานได้ด้วยการบำเพ็ญตบะ เข้าใจว่าตัวตนอันนี้นั่นแหละจะได้ไปเกิดเป็นนั่นเป็นนี่ด้วยการกระทำอย่างนี้ เข้าใจว่าตายแล้วสูญ ฯลฯ จึง

 - สังขาร นึกคิด ตั้งเจตจำนงไปตามแนวทางหรือโดยสอดคล้องกับความเข้าใจนั้นๆ คิดปรุงแต่งวิธีการและลงมือกระทำการ (กรรม) ต่างๆ ด้วยเจตนาเช่นนั้น เป็นกรรมดี (บุญ) บ้าง เป็นกรรมชั่ว (อบุญ หรือบาป) บ้าง เป็นอาเนญชาบ้าง จึง
 - วิญญาณ เกิดความตระหนักรู้และรับรู้อารมณ์ต่างๆ เฉพาะที่เป็นไปตามหรือเข้ากันได้กับเจตนาอย่างนั้นเป็นสำคัญ พูดเพื่อเข้าใจกันง่ายๆ ก็ว่า จิตหรือวิญญาณถูกปรุงแต่งให้มีคุณสมบัติเฉพาะขึ้นมาอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือแบบใดแบบหนึ่ง เมื่อตาย พลังแห่งสังขารคือกรรมที่ปรุงแต่งไว้ จึงทำให้ปฏิสนธิวิญญาณที่มีคุณสมบัติเหมาะกับตัวมัน ปฏิสนธิขึ้นในภพ และระดับชีวิตที่เหมาะกัน คือถือกำเนิดขึ้น แล้ว

 - นามรูป กระบวนการแห่งการเกิด ก็ดำเนินการก่อรูปเป็นชีวิตที่พร้อมจะปรุงแต่งกระทำกรรมต่างๆ ต่อไปอีก จึงเกิดมีรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์  สังขารขันธ์ขึ้นโดยครบถ้วน  ประกอบด้วยคุณสมบัติและข้อ บกพร่องต่างๆ ตามพลังปรุงแต่งของสังขารคือกรรมที่ทำมา และภายในขอบเขตแห่งวิสัยของภพที่ไปเกิดนั้น สุดแต่จะเกิดเป็นมนุษย์ ดิรัจฉาน เทวดา เป็นต้น

 - สฬายตนะ แต่ชีวิตที่จะสนองความต้องการของตัวตน และพร้อมที่จะกระทำการต่างๆ โต้ตอบต่อโลกภายนอก จะต้องมีทางติดต่อกับโลกภายนอก สำหรับให้กระบวนการรับรู้ดำเนินงานได้ ดังนั้น อาศัยนามรูปเป็นเครื่องสนับสนุน กระบวนการแห่งชีวิตจึงดำเนินต่อไปตามพลังแห่งกรรม ถึงขั้น เกิดอายตนะทั้ง ๖ คือ ประสาท ตา หู จมูก ลิ้น กาย และเครื่องรับรู้อารมณ์ภายใน คือ ใจ จากนั้น

 - ผัสสะ กระบวนการแห่งการรับรู้ก็ดำเนินงานได้ โดยการเข้ากระทบหรือประจวบกันระหว่างองค์ประกอบสามฝ่าย คือ อายตนะภายใน (ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ) กับอารมณ์ หรืออายตนะภายนอก (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์) และวิญญาณ (จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ และมโนวิญญาณ) เมื่อการรับรู้เกิดขึ้นครั้งใด

 - เวทนา ความรู้สึกที่เรียกว่า การเสวยอารมณ์ ก็จะต้องเกิดขึ้นในรูปใดรูปหนึ่ง คือ สุขสบาย (สุขเวทนา) ไม่สบาย เจ็บปวด เป็นทุกข์          (ทุกขเวทนา) หรือไม่ก็เฉยๆ (อทุกขมสุขเวทนา หรืออุเบกขาเวทนา) และโดยวิสัยแห่งปุถุชน กระบวนการย่อมไม่หยุดอยู่เพียงนี้ จึง

 - ตัณหา ถ้าสุขสบาย ก็ชอบใจ ติดใจ อยากได้ หรืออยากได้ให้มากยิ่งๆ ขึ้นไปอีก เกิดการทะยานอยากและแส่หาต่างๆ ถ้าเป็นทุกข์ ไม่สบาย ก็ขัดใจ ขัดเคือง อยากให้สูญสิ้นให้หมดไป หรือให้พ้นๆ ไปเสีย ด้วยการทำลายหรือหนีไปให้พ้นก็ตาม เกิดความกระวนกระวายดิ้นรนอยากให้พ้นจากอารมณ์ที่เป็นทุกข์ ขัดใจ หันไปหาไปเอาสิ่งอื่นอารมณ์อื่นที่จะให้ความสุขได้ หรือไม่ก็รู้สึกเฉยๆ คืออุเบกขา ซึ่งเป็นความรู้สึกเพลินๆ อย่างละเอียด จัดเข้าในฝ่ายสุข เพราะไม่ขัดใจ เป็นความสบายอย่างอ่อนๆ จากนั้น

 - อุปาทาน ความอยากเมื่อรุนแรงขึ้นก็กลายเป็นยึด คือยึดมั่นถือมั่นติดสยบหมกมุ่นในสิ่งนั้น หรือ เมื่อยังไม่ได้ก็อยากด้วยตัณหา เมื่อได้หรือถึงแล้ว ก็ยึดฉวยไว้ด้วยอุปาทาน และเมื่อยึดมั่นก็มิใช่ยึดแต่อารมณ์ที่อยากได้ (กามุปาทาน) เท่านั้น แต่ยังพ่วงเอาความยึดมั่นในความเห็น ทฤษฎี ทิฏฐิต่างๆ (ทิฏฐุปาทาน) ความยึดมั่นในแบบแผนความประพฤติและข้อปฏิบัติที่จะให้ได้สิ่งที่ปรารถนา (สีลัพพตุปาทาน) และความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน (อัตตวาทุปาทาน) พัวพันเกี่ยวเนื่องกันไปด้วย ความยึดมั่นถือมั่นนี้ จึงก่อให้เกิด

 - ภพ เจตนา เจตจำนงที่จะกระทำการ เพื่อให้ได้มาและให้เป็นไปตามความยึดมั่นถือมั่นนั้น และนำให้เกิดกระบวนพฤติกรรม (กรรมภพ) ทั้งหมดขึ้นอีก เป็นกรรมดี กรรมชั่ว หรืออาเนญชา สอดคล้องกับตัณหา อุปาทานนั้นๆ เช่น อยากไปสวรรค์ และมีความเห็นที่ยึดมั่นไว้ว่าจะไปสวรรค์ได้ด้วยการกระทำเช่นนี้ ก็กระทำกรรมอย่างนั้นๆ ตามที่ต้องการ พร้อมกับการกระทำนั้น ก็เป็นการเตรียมภาวะแห่งชีวิต คือขันธ์ ๕ ที่จะปรากฏในภพที่สมควรกับกรรมนั้นไว้พร้อมด้วย (อุปปัตติภพ) เมื่อกระบวนการก่อกรรมดำเนินไปเช่นนี้แล้ว ครั้นชีวิตช่วงหนึ่งสิ้นสุดลง พลังแห่งกรรมที่สร้างสมไว้ (กรรมภพ) ก็ผลักดันให้เกิดการสืบต่อขั้นตอนต่อไปในวงจรอีก คือ

 - ชาติ เริ่มแต่ปฏิสนธิวิญญาณที่มีคุณสมบัติสอดคล้องกับพลังแห่งกรรมนั้น ปฏิสนธิขึ้นในภพที่สมควรกับกรรม บังเกิดขันธ์ ๕ ขึ้นพร้อม เริ่มกระบวนการแห่งชีวิตให้ดำเนินต่อไป คือ เกิดนามรูป สฬายตนะ ผัสสะและเวทนาขึ้น หมุนเวียนวงจรอีก และเมื่อการเกิดมีขึ้นแล้ว ย่อมเป็นการแน่นอนที่จะต้องมี

 - ชรามรณะ ความเสื่อมโทรม และแตกดับ แห่งกระบวนการของชีวิตนั้น สำหรับปุถุชน ชรามรณะนี้ ย่อมคุกคามบีบคั้น ทั้งโดยชัดแจ้ง และแฝงซ่อน (อยู่ในจิตส่วนลึก) ตลอดเวลา ดังนั้น ในวงจรชีวิตของปุถุชน ชรามรณะจึงพ่วงมาพร้อมด้วย
 ..... โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ซึ่งเรียกรวมว่าความทุกข์นั่นเอง คำสรุปของปฏิจจสมุปบาทจึงมีว่า “กองทุกข์ทั้งปวง จึงเกิดมีด้วยอาการอย่างนี้”

 อย่างไรก็ดี เนื่องจากเป็นวัฏฏะ หรือวงจร จึงมิใช่มีความสิ้นสุดที่จุดนี้ แท้จริงองค์ประกอบช่วงนี้ กลับเป็นขั้นตอนสำคัญอย่างยิ่งอีกตอนหนึ่ง ที่จะทำให้วงจรหมุนเวียนต่อไป กล่าวคือ โสกะ (ความแห้งใจ) ปริเทวะ (ความร่ำไร) ทุกข์ โทมนัส (ความเสียใจ) อุปายาส (ความผิดหวังคับแค้นใจ) เป็นอาการสำแดงออกของการมีกิเลสที่เป็นเชื้อหมักดองอยู่ในจิตสันดาน ที่เรียกว่า “อาสวะ” อันได้แก่ความใฝ่ใจในสิ่งสนองความอยากทางประสาททั้ง ๕ และทางใจ (กามาสวะ) ความเห็นความยึดถือต่างๆ เช่น ยึดถือว่า รูปเป็นเรา รูปเป็นของเรา เป็นต้น (ทิฏฐาสวะ) ความชื่นชอบอยู่ในใจว่าภาวะแห่งชีวิตอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นสิ่งดีเลิศ ประเสริฐ มีความสุข เช่น คิดภูมิใจหมายมั่นอยู่ว่าเกิดเป็นเทวดามีความสุขแสนพรรณนา เป็นต้น (ภวาสวะ) และความไม่รู้สิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น (อวิชชาสวะ)

 ชรามรณะเป็นเครื่องหมายแห่งความเสื่อมสิ้นสลาย ซึ่งขัดกับอาสวะเหล่านี้ เช่นในด้านกามาสวะ ชรามรณะทำให้ปุถุชนเกิดความรู้สึกว่า ตนกำลังพลัดพราก หรือหมดหวังจากสิ่งที่ชื่นชอบที่ปรารถนา ในด้านทิฏฐาสวะ เมื่อยึดถืออยู่ว่าร่างกายเป็นตัวเราเป็นของเรา พอร่างกายแปรปรวนไป ก็ผิดหวังแห้งใจ ในด้านภวาสวะทำให้รู้สึกตัวว่า จะขาด พลาด พราก ผิดหวัง หรือหมดโอกาสที่จะครองภาวะแห่งชีวิตที่ตัวชื่นชอบอย่างนั้นๆ ในด้านอวิชชาสวะ ก็คือขาดความรู้ความเข้าใจมูลฐานตั้งต้นแต่ว่าชีวิตคืออะไร ความแก่ชราคืออะไร ควรปฏิบัติอย่างไรต่อความแก่ชรา เป็นต้น เมื่อขาดความรู้ความคิดในทางที่ถูกต้อง พอนึกถึงหรือเข้าเกี่ยวข้องกับชรามรณะก็บังเกิดความรู้สึกและแสดงอาการในทางหลงงมงาย หวาดกลัว และเกิดความซึมเศร้าหดหู่ต่างๆ ดังนั้น อาสวะจึงเป็นเชื้อ เป็นปัจจัยที่จะให้ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เกิดขึ้นได้ทันทีที่ชรามรณะเข้ามาเกี่ยวข้อง
 อนึ่ง โสกะ เป็นต้นเหล่านี้ แสดงถึงอาการมืดมัวของจิตใจ เวลาใดความทุกข์เหล่านี้เกิดขึ้น จิตใจจะพร่ามัวเร่าร้อนอับปัญญา เมื่อเกิดอาการเหล่านี้ ก็เท่ากับพ่วงอวิชชาเกิดขึ้นมาด้วย อย่างที่กล่าวในวิสุทธิมัคค์

 ว่า: โสกะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ไม่แยกไปจากอวิชชา และธรรมดาปริเทวะก็ย่อมมีแก่คนหลง เหตุนั้น เมื่อโสกะเป็นต้นสำเร็จแล้ว อวิชชาก็ย่อมเป็นอันสำเร็จแล้ว 
 ว่า: ในเรื่องอวิชชา พึงทราบว่า ย่อมเป็นอันสำเร็จมาแล้วแต่ธรรมมีโสกะเป็นต้น 
 และว่า: อวิชชาย่อมยังเป็นไปตลอดเวลาที่โสกะเป็นต้นเหล่านั้นยังเป็นไปอยู่   
 โดยนัยนี้ ท่านจึงกล่าวว่า “เพราะอาสวะเกิด อวิชชาจึงเกิด”  และสรุปได้ว่า  ชรามรณะของปุถุชน ซึ่งพ่วงด้วยโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส  อุปายาส ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดอวิชชา หมุนวงจรต่อเนื่องไปอีกไม่ขาดสาย

มีต่อค่ะ
หัวข้อ: Re: พุทธธรรม หรือ กฎธรรมชาติและคุณค่าสำหรับชีวิต (ป. อ. ปยุตฺโต)
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ กันยายน 23, 2013, 02:52:53 pm

(https://fbcdn-sphotos-c-a.akamaihd.net/hphotos-ak-prn1/t1.0-9/p403x403/555675_344658888952021_560078956_n.jpg)

ต่อค่ะ
 จากคำอธิบายตามแบบ ที่ได้แสดงมา มีข้อสังเกตและสิ่งที่ควรทำความเข้าใจเป็นพิเศษ ดังนี้
 ๑. วงจรแห่งปฏิจจสมุปบาทตามคำอธิบายแบบนี้  นิยมเรียกว่า   “ภวจักร” ซึ่งแปลว่าวงล้อแห่งภพ หรือ “สังสารจักร” ซึ่งแปลว่า วงล้อแห่งสังสารวัฏ และจะเห็นได้ว่า คำอธิบายคาบเกี่ยวไปถึง ๓ ช่วงชีวิต คือ อวิชชา กับ สังขาร ช่วงหนึ่ง วิญญาณ ถึง ภพ ช่วงหนึ่ง และ ชาติ กับ ชรามรณะ (พ่วงด้วย โสกะ เป็นต้น) อีกช่วงหนึ่ง
 ถ้ากำหนดเอาช่วงกลาง คือ วิญญาณ ถึง ภพ เป็นชีวิตปัจจุบัน ช่วงชีวิตทั้ง ๓ ซึ่งประกอบด้วยองค์ (หัวข้อ) ๑๒ ก็แบ่งเป็น กาล ๓ ดังนี้

 ๑) อดีต  = อวิชชา สังขาร
 ๒) ปัจจุบัน = วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา
     ตัณหา อุปาทาน ภพ
 ๓) อนาคต = ชาติ ชรามรณะ (+ โสกะ ฯลฯ)

 ๒. เมื่อแยกออกเป็น ๓ ช่วงเช่นนี้ ย่อมถือเอาช่วงกลาง คือชีวิตปัจจุบัน หรือชาตินี้ เป็นหลัก และเมื่อถือเอาช่วงกลางเป็นหลัก ก็ย่อมแสดงความสัมพันธ์ในฝ่ายอดีตเฉพาะด้านเหตุ คือสืบสาวจากผลที่ปรากฏในปัจจุบันว่าเกิดมาจากเหตุอะไรในอดีต (= อดีตเหตุ-ปัจจุบันผล) และในฝ่ายอนาคตแสดงเฉพาะด้านผล คือสืบสาวจากเหตุในปัจจุบันออกไปว่าจะให้เกิดผลอะไรในอนาคต (= ปัจจุบันเหตุ-อนาคตผล) โดยนัยนี้ เฉพาะช่วงกลาง คือปัจจุบันช่วงเดียว จึงมีพร้อมทั้งฝ่ายผล และ เหตุ เมื่อมองตลอดสาย ก็แสดงได้เป็น ๔ ช่วง (เรียกว่า สังคหะ ๔ หรือ สังเขป ๔) ดังนี้

 ๑) อดีตเหตุ = อวิชชา สังขาร
 ๒) ปัจจุบันผล = วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ
     ผัสสะ เวทนา
 ๓) ปัจจุบันเหตุ = ตัณหา อุปาทาน ภพ
 ๔) อนาคตผล = ชาติ ชรามรณะ (+ โสกะ ฯลฯ)
 ๓. จากคำอธิบายขององค์ประกอบแต่ละข้อ จะเห็นความหมายที่

คาบเกี่ยวเชื่อมโยงกันขององค์ประกอบบางข้อ ซึ่งจัดเป็นกลุ่มได้ดังนี้
 ๑) อวิชชา กับ ตัณหา อุปาทาน
 - จากคำอธิบายของ อวิชชา  จะเห็นชัดว่า มีเรื่องของความอยาก (ตัณหา) และความยึดมั่น (อุปาทาน) โดยเฉพาะความยึดมั่นในเรื่องตัวตนเข้าแฝงอยู่ด้วยทุกตัวอย่าง เพราะเมื่อไม่รู้จักชีวิตตามความเป็นจริง หลงผิดว่ามีตัวตน ก็ย่อมมีความอยากเพื่อตัวตน และความยึดถือเพื่อตัวตนต่างๆ และในคำที่ว่า “อาสวะเกิด อวิชชาจึงเกิด” นั้น  กามาสวะ  ภวาสวะ  และ ทิฏฐาสวะ ก็เป็นเรื่องของตัณหาอุปาทานนั่นเอง ดังนั้นเมื่อพูดถึงอวิชชา จึงมีความหมายพ่วงหรือเชื่อมโยงไปถึงตัณหาและอุปาทานด้วยเสมอ

 - ในคำอธิบาย ตัณหา และ อุปาทาน ก็เช่นเดียวกัน จะเห็นได้ว่า มีอวิชชาแฝงหรือพ่วงอยู่ด้วยเสมอ ในแง่ที่ว่า เพราะหลงผิดว่าเป็นตัวตน จึงอยากและยึดถือเพื่อตัวตนนั้น เพราะไม่รู้สิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น จึงเข้าไปอยากและยึดถือในสิ่งเหล่านั้นว่าเป็นเราเป็นของเรา หรืออยากได้เพื่อเรา เป็นเรื่องของความเห็นแก่ตัวทั้งสิ้น และในเวลาที่อยากและยึดถือเช่นนั้น ยิ่งอยากและยึดแรงเท่าใด ก็ยิ่งมองข้ามเหตุผล มองไม่เห็นสิ่งทั้งหลายตามสภาพของมัน และละเลยการปฏิบัติต่อมันด้วยสติปัญญาตามเหตุตามผล มากขึ้นเพียงนั้น โดยเหตุนี้ เมื่อพูดถึง ตัณหา อุปาทาน จึงเป็นอันพ่วงเอาอวิชชาเข้าไว้ด้วย

 โดยนัยนี้ อวิชชา ในอดีตเหตุ กับ ตัณหา อุปาทาน ในปัจจุบันเหตุ จึงให้ความหมายที่ต้องการได้เป็นอย่างเดียวกัน แต่การที่ยกอวิชชาขึ้นในฝ่ายอดีต และยกตัณหาอุปาทานขึ้นในฝ่ายปัจจุบัน ก็เพื่อแสดงตัวประกอบที่เด่นเป็นตัวนำ ในกรณีที่สัมพันธ์กับองค์ประกอบข้ออื่นๆ ในภวจักร

 ๒) สังขาร กับ ภพ
 สังขารกับภพ มีคำอธิบายในวงจรคล้ายกันมาก สังขารอยู่ในช่วงชีวิตฝ่ายอดีต และภพอยู่ในช่วงชีวิตฝ่ายปัจจุบัน ต่างก็เป็นตัวการสำคัญ ที่ปรุงแต่งชีวิตให้เกิดในภพต่างๆ ความหมายจึงใกล้เคียงกันมาก ซึ่งความจริงก็เกือบเป็นอันเดียวกัน ต่างที่ขอบเขตของการเน้น

 สังขาร มุ่งไปที่ตัวเจตนา หรือเจตจำนงผู้ปรุงแต่งการกระทำ เป็นตัวนำในการทำกรรม
 ส่วน ภพ มีความหมายกว้างกว่า โดยแบ่งเป็นกรรมภพ กับ อุปปัตติภพ กรรมภพแม้จะมีเจตนาเป็นตัวการสำคัญเหมือนสังขาร แต่ให้ความรู้สึกครอบคลุมมากกว่า  โดยเพ่งเอากระบวนพฤติกรรมทั้งหมดทีเดียว  ส่วน อุปปัตติภพ หมายถึงขันธ์ ๕ ที่เกิดเพราะกรรมภพนั้น
 โดยนัยนี้ สังขาร กับกรรมภพ จึงพูดพ่วงไปด้วยกันได้

 ๓) วิญญาณ ถึง เวทนา กับ ชาติ ชรามรณะ (+ โสกะ ฯลฯ)
 - วิญญาณ ถึง เวทนา เป็นตัวชีวิตปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลมาจากเหตุในอดีต มุ่งกระจายกระบวนการออกให้เห็นอาการที่องค์ประกอบส่วนต่างๆ ของชีวิต ซึ่งเป็นฝ่ายผลในปัจจุบัน เข้าสัมพันธ์กันจนเกิดองค์ประกอบอื่นๆ ที่เป็นเหตุปัจจุบัน ที่จะให้เกิดผลในอนาคตต่อไปอีก

 - ส่วน ชาติ ชรามรณะ แสดงไว้เป็นผลในอนาคต ต้องการชี้ให้เห็นเพียงว่า เมื่อเหตุปัจจุบันยังมีอยู่ ผลในอนาคตก็จะยังมีต่อไป จึงใช้เพียงคำว่า ชาติ และชรามรณะ ซึ่งก็หมายถึงการเกิดดับของ วิญญาณ ถึงเวทนา นั่นเอง แต่เป็นคำพูดแบบสรุป และต้องการเน้นในแง่การเกิดขึ้นของทุกข์ เชื่อมโยงกลับเข้าสู่วงจรอย่างเดิมได้อีก

 ดังนั้น ตามหลักจึงกล่าวว่า วิญญาณ ถึง เวทนา กับ ชาติ ชรามรณะ เป็นอันเดียวกัน พูดแทนกันได้
 เมื่อถือตามแนวนี้ เรื่อง เหตุ-ผล ๔ ช่วงในข้อ ๒. จึงแยกองค์ประกอบเป็นช่วงละ ๕ ได้ทุกตอน คือ
 ๑) อดีตเหตุ ๕  = อวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทาน ภพ
 ๒) ปัจจุบันผล ๕ = วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา
         (= ชาติ ชรามรณะ)
 ๓) ปัจจุบันเหตุ ๕ = อวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทาน ภพ
 ๔) อนาคตผล ๕  = วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา
           (= ชาติ ชรามรณะ)
 เมื่อนับหัวข้อดังนี้ จะได้ ๒๐ เรียกกันว่า อาการ ๒๐

 ๔. จากคำอธิบายในข้อ ๓. จึงนำองค์ ๑๒ ของปฏิจจสมุปบาท มาจัดประเภทตามหน้าที่ของมันในวงจร เป็น ๓ พวก เรียกว่า วัฏฏะ ๓ คือ
 ๑) อวิชชา ตัณหา อุปาทาน เป็น กิเลส คือตัวสาเหตุผลักดันให้คิดปรุงแต่งกระทำการต่างๆ เรียกว่า กิเลสวัฏ
 ๒) สังขาร (กรรม)ภพ เป็น กรรม คือกระบวนการกระทำ หรือกรรมทั้งหลายที่ปรุงแต่งชีวิตให้เป็นไปต่างๆ เรียกว่า กรรมวัฏ
 ๓) วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา เป็น วิบาก คือ
  สภาพชีวิตที่เป็นผลแห่งการปรุงแต่งของกรรม และกลับเป็น
  ปัจจัยแห่งการก่อตัวของกิเลสต่อไปได้อีก เรียกว่า วิปากวัฏ
 วัฏฏะ ๓ นี้ หมุนเวียนต่อเนื่องเป็นปัจจัยอุดหนุนแก่กัน ทำให้วงจรแห่งชีวิตดำเนินไปไม่ขาดสาย ซึ่งอาจเขียนเป็นภาพได้ดังนี้

 ๕. ในฐานะที่กิเลสเป็นตัวมูลเหตุของการกระทำกรรมต่างๆ ที่จะปรุงแต่งชีวิตให้เป็นไป จึงกำหนดให้กิเลสเป็นจุดเริ่มต้นในวงจร เมื่อกำหนดเช่นนี้ก็จะได้จุดเริ่มต้น ๒ แห่งในวงจรนี้ เรียกว่า มูล ๒ ของ ภวจักร คือ
 ๑) อวิชชา เป็นจุดเริ่มต้นในช่วงอดีต ที่ส่งผลมายังปัจจุบัน ถึงเวทนาเป็นที่สุด
 ๒) ตัณหา เป็นจุดเริ่มต้นในช่วงปัจจุบัน ต่อจากเวทนา ส่งผลไปยัง  อนาคต ถึงชรามรณะเป็นที่สุด

 เหตุผลที่แสดงอวิชชาในช่วงแรก และตัณหาในช่วงหลังนั้น เห็นได้ชัดอยู่แล้วอย่างที่กล่าวในข้อ ๓. คือ อวิชชา ต่อเนื่องจาก โสกะ ปริเทวะ ฯลฯ ส่วนตัณหา ต่อเนื่องจากเวทนา ดังนั้น อวิชชา และ ตัณหา จึงเป็นกิเลสตัวเด่นตรงกับกรณีนั้นๆ
 อนึ่ง ในแง่ของการเกิดในภพใหม่ คำอธิบายตามแบบก็ได้แสดงความแตกต่างระหว่าง กรณีที่อวิชชาเป็นกิเลสตัวเด่น กับ กรณีที่ตัณหาเป็นกิเลสตัวเด่น ไว้ด้วย คือ

- อวิชชา เป็นตัวการพิเศษ ที่จะให้สัตว์ไปเกิดในทุคติ เพราะผู้ถูกอวิชชาครอบงำ ไม่รู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรถูก อะไรผิด อะไรเป็นประโยชน์ไม่เป็นประโยชน์ อะไรเป็นเหตุให้เกิดความเสื่อมพินาศ ย่อมทำการต่างๆ ด้วยความหลง มืดมัว ไม่มีหลัก จึงมีโอกาสทำกรรมที่ผิดพลาดได้มาก

- ภวตัณหา เป็นตัวการพิเศษที่จะให้สัตว์ไปเกิดในสุคติ ในกรณีที่ภวตัณหาเป็นตัวนำ บุคคลย่อมคำนึงถึงและใฝ่ใจในภาวะแห่งชีวิตที่ดีๆ ถ้าเป็นโลกหน้า ก็คิดอยากไปเกิดในสวรรค์ ในพรหมโลก เป็นต้น ถ้าเป็นภพปัจจุบัน ก็อยากเป็นเศรษฐี อยากเป็นคนมีเกียรติ ตลอดจนอยากได้ชื่อว่าเป็นคนดี เมื่อมีความอยากเช่นนี้ ก็จึงคิดการและลงมือกระทำกรรมต่างๆ ที่จะเป็นทางให้บรรลุจุดหมายนั้นๆ เช่น อยากไปเกิดเป็นพรหม ก็บำเพ็ญฌาน อยากไปสวรรค์ ก็ให้ทานรักษาศีล อยากเป็นเศรษฐี ก็ขยันหาทรัพย์ อยากเป็นคนมีเกียรติ ก็สร้างความดี ฯลฯ ทำให้รู้จักยั้งคิด และไม่ประมาท ขวนขวายในทางที่ดี มีโอกาสทำความดีได้มากกว่าผู้อยู่ด้วยอวิชชา

 เรื่องที่ยกอวิชชา และ ภวตัณหา เป็นหัวข้อต้น (มูล) ของวัฏฏะ แต่ก็มิใช่เป็นมูลการณ์นั้น มีพุทธพจน์แสดงไว้อีก เช่น
 ภิกษุทั้งหลาย ปลายแรกสุดของอวิชชาจะปรากฏก็หาไม่ว่า “ก่อนแต่นี้ อวิชชามิได้มี ครั้นมาภายหลัง จึงมีขึ้น” เรื่องนี้ เรากล่าวดังนี้ว่า “ก็แล เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย อวิชชาจึงปรากฏ”

 ส่วน ภวตัณหา ก็มีพุทธพจน์แสดงไว้ มีความอย่างเดียวกัน ดังนี้
 ภิกษุทั้งหลาย ปลายแรกสุดของภวตัณหาจะปรากฏก็หาไม่ว่า “ก่อนแต่นี้ ภวตัณหามิได้มี ครั้นมาภายหลัง จึงมีขึ้น” เรื่องนี้ เรากล่าวดังนี้ว่า “ก็แล เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย ภวตัณหาจึงปรากฏ”

 ข้อที่อวิชชาและตัณหาเป็นตัวมูลเหตุ และมาด้วยกัน ก็มีพุทธพจน์แสดงไว้ เช่น
 ภิกษุทั้งหลาย กายนี้ เกิดขึ้นพร้อมแล้วอย่างนี้ แก่คนพาล แก่บัณฑิต ผู้ถูกอวิชชาปิดกั้น ผู้ถูกตัณหาผูกรัด ก็แล กายนี้นั่นเอง กับนามรูปภายนอก จึงมีเป็น ๒ อย่าง อาศัย ๒ อย่างนั้น จึงมีผัสสะเพียง ๖ อายตนะเท่านั้น คนพาล...บัณฑิต ได้ผัสสะโดยทางอายตนะเหล่านี้ หรือเพียงอันใดอันหนึ่ง จึงได้เสวยความสุขและความทุกข์

 ๖. อาการที่องค์ประกอบต่างๆ ในปฏิจจสมุปบาท สัมพันธ์เป็นปัจจัยแก่กันนั้น ย่อมเป็นไปโดยแบบความสัมพันธ์อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่าง ในบรรดาแบบความสัมพันธ์ที่เรียกว่า ปัจจัย ๒๔ อย่าง ตามคำอธิบายแบบที่เรียกว่า ปัฏฐานนัย
 อนึ่ง องค์ประกอบแต่ละข้อย่อมมีรายละเอียดและขอบเขตความหมายกว้างขวางอยู่ในตัว เช่น เรื่องวิญญาณหรือจิต ก็แยกออกไปได้อีกว่า วิญญาณหรือจิต ที่ดีหรือชั่ว มีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง มีกี่ระดับ จิตอย่างใดจะเกิดได้ ณ ภพใด ดังนี้เป็นต้น หรือในเรื่องรูป ก็มีรายละเอียดอีกเป็นอันมาก เช่น รูปมีกี่ประเภท แต่ละอย่างมีคุณสมบัติอย่างไร ในภาวะเช่นใดจะมีรูปอะไรเกิดขึ้นบ้าง ดังนี้เป็นต้น

 เรื่อง ปัจจัย ๒๔ นั้นก็ดี รายละเอียดโดยพิสดารขององค์ประกอบแต่ละข้อๆ ก็ดี เห็นว่ายังไม่จำเป็นจะต้องนำมาแสดงไว้ในที่นี้ทั้งหมด ผู้สนใจพิเศษพึงศึกษาโดยเฉพาะจากคัมภีร์ฝ่ายอภิธรรม
 จากคำอธิบายข้างต้น อาจแสดงเป็นแผนภาพประกอบความเข้าใจได้ดังนี้

หมายเหตุ: เทียบตามแนวอริยสัจ เรียกช่วงเหตุว่า “สมุทัย” เพราะเป็นตัวการก่อทุกข์  เรียกช่วงผลว่า “ทุกข์” อีกอย่างหนึ่ง เรียกช่วงเหตุว่า “กรรมภพ” เพราะเป็นกระบวนการฝ่ายก่อเหตุ เรียกช่วงผลว่า “อุปปัตติภพ” เพราะเป็นกระบวนการฝ่ายเกิดผล- จุดเชื่อมต่อระหว่าง เหตุ กับ ผล และ ผล กับ เหตุ เรียกว่า “สนธิ” มี ๓ คือ สนธิที่ ๑=เหตุผลสนธิ   สนธิที่ ๒=ผลเหตุสนธิ   สนธิที่ ๓=เหตุผลสนธิ

มีต่อค่ะ
หัวข้อ: Re: พุทธธรรม :๖. ความหมายในชีวิตประจำวัน (ป. อ. ปยุตฺโต)
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ กันยายน 23, 2013, 03:20:27 pm

(https://fbcdn-sphotos-g-a.akamaihd.net/hphotos-ak-ash2/t1/p480x480/391292_337122499705660_1604698895_n.jpg)

๖. ความหมายในชีวิตประจำวัน
 คำอธิบายที่ผ่านมาแล้วนั้น เรียกว่าคำอธิบายตามแบบ โดยความหมายว่า เป็นคำอธิบายที่มีในคัมภีร์อรรถกถาต่างๆ และนิยมยึดถือกันสืบมา จะเห็นได้ว่า คำอธิบายแบบนั้นมุ่งแสดงในแง่สังสารวัฏ คือ การเวียนว่ายตายเกิด ข้ามชาติข้ามภพ ให้เห็นความต่อเนื่องกันของชีวิตในชาติ ๓ ชาติ คือ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต และได้จัดวางรูปคำอธิบายจนดูเป็นระบบ มีแบบแผนแน่นอนตายตัว

 ผู้ไม่เห็นด้วย หรือไม่พอใจกับคำอธิบายแบบนั้น และต้องการอธิบายตามความหมายที่เป็นไปอยู่ทุกขณะในชีวิตประจำวัน นอกจากจะสามารถอ้างคำอธิบายในคัมภีร์อภิธรรม ที่แสดงปฏิจจสมุปบาทตลอดสายในขณะจิตเดียวแล้ว ยังสามารถตีความพุทธพจน์ข้อเดียวกันกับที่ฝ่ายอธิบายตามแบบได้ใช้อ้างอิงนั่นเอง ให้เห็นความหมายอย่างที่ตนเข้าใจ นอกจากนั้น ยังสามารถอ้างเหตุผลและหลักฐานในคัมภีร์อย่างอื่นๆ เป็นเครื่องยืนยันความเห็นฝ่ายตนให้หนักแน่นยิ่งขึ้นไปอีกได้ด้วย คำอธิบายแบบนี้ มีความหมายที่น่าสนใจพิเศษเฉพาะตัวมัน จึงแยกมาตั้งเป็นอีกหัวข้อหนึ่งต่างหาก

 เหตุผลที่อ้างได้ในการอธิบายแบบนี้มีหลายอย่าง เช่นว่า การดับทุกข์ และอยู่อย่างไม่มีทุกข์ของพระอรหันต์ เป็นเรื่องที่เป็นไปอยู่ตั้งแต่ชีวิตปัจจุบันนี้แล้ว ไม่ต้องรอให้สิ้นชีวิตเสียก่อนจึงจะไม่มีชาติใหม่ ไม่มีชรามรณะแล้วจึงไม่มี โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ในอนาคตชาติ แต่โสกะ ปริเทวะ ฯลฯ ไม่มีตั้งแต่ชาติปัจจุบันนี้แล้ว วงจรของปฏิจจสมุปบาทในการเกิดทุกข์ หรือดับทุกข์ก็ดี จึงเป็นเรื่องของชีวิตที่เป็นไปอยู่ในปัจจุบันนี้เองครบถ้วนบริบูรณ์ ไม่ต้องไปค้นหาในชาติก่อน หรือรอไปดูชาติหน้า

 นอกจากนั้น เมื่อเข้าใจวงจรที่เป็นไปอยู่ในชีวิตปัจจุบันดีแล้ว ก็ย่อมเข้าใจวงจรในอดีตและวงจรในอนาคตไปด้วย เพราะเป็นเรื่องอย่างเดียวกันนั่นเอง

 ในด้านพุทธพจน์ ก็อาจอ้างพุทธดำรัสต่อไปนี้ เช่น
 ดูกรอุทายี ผู้ใดระลึกขันธ์ที่เคยอยู่มาก่อนได้ต่างๆ มากมาย… ผู้นั้น จึงควรถามปัญหากะเราในเรื่องหนหลัง (ชาติก่อน)  หรือเราจึงควรถามปัญหาในเรื่องหนหลังกะผู้นั้น ผู้นั้นจึงจะทำให้เราถูกใจได้ด้วยการแก้ปัญหาในเรื่องหนหลัง หรือ เราจึงจะทำให้ผู้นั้นถูกใจได้ด้วยการแก้ปัญหาในเรื่องหนหลัง

 ผู้ใดเห็นสัตว์ทั้งหลาย ทั้งที่จุติอยู่ ทั้งที่อุบัติอยู่ ด้วยทิพยจักษุ...ผู้นั้นจึงควรถามปัญหากะเราในเรื่องหนหน้า (ชาติหน้า)  หรือว่า เราจึงควรถามปัญหาในเรื่องหนหน้ากะผู้นั้น ผู้นั้นจึงจะทำให้เราถูกใจได้ด้วยการแก้ปัญหาในเรื่องหนหน้า หรือเราจึงจะทำให้ผู้นั้นถูกใจได้ด้วยการแก้ปัญหาในเรื่องหนหน้า

 ก็แล อุทายี เรื่องหนก่อน ก็งดไว้เถิด เรื่องหนหน้า ก็งดไว้เถิด เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน “เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิด เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ”

 นายบ้าน ชื่อ คันธภัก นั่งลง ณ ที่สมควรแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าได้โปรดแสดงความอุทัยและความอัสดงแห่งทุกข์ แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด”

 พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า:- แน่ะท่านนายบ้าน ถ้าเราแสดงความเกิดขึ้นและความอัสดงแห่งทุกข์แก่ท่าน โดยอ้างกาลส่วนอดีตว่า “ในอดีตกาล ได้มีแล้วอย่างนี้” ความสงสัยเคลือบแคลงในข้อนั้น ก็จะมีแก่ท่านได้ ถ้าเราแสดงความเกิดขึ้นและความอัสดงแห่งทุกข์แก่ท่าน โดยอ้างกาลส่วนอนาคตว่า “ในอนาคตกาล จักเป็นอย่างนี้” ความสงสัย ความเคลือบแคลง ก็จะมีแก่ท่านแม้ในข้อนั้นได้อีก ก็แล ท่านนายบ้าน เรานั่งอยู่ที่นี่แหละ จักแสดงความเกิดขึ้นและความอัสดงแห่งทุกข์แก่ท่าน ผู้นั่งอยู่ ณ ที่นี้เหมือนกัน

 ดูกรสิวก เวทนาบางอย่างเกิดขึ้น มีดีเป็นสมุฏฐานก็มี...มีเสมหะเป็นสมุฏฐานก็มี...มีลมเป็นสมุฏฐานก็มี...มีการประชุมแห่งเหตุเป็นสมุฏฐานก็มี...เกิดจากความแปรปรวนแห่งอุตุก็มี...เกิดจากบริหารตนไม่สม่ำเสมอก็มี...เกิดจากถูกทำร้ายก็มี...เกิดจากผลกรรมก็มี ข้อที่เวทนา...เกิดขึ้นโดยมี (สิ่งที่กล่าวมาแล้ว) เป็นสมุฏฐาน เป็นเรื่องที่รู้ได้ด้วยตนเอง ทั้งชาวโลกก็รู้กันทั่วว่าเป็นความจริงอย่างนั้น

 ในเรื่องนั้น  สมณพราหมณ์เหล่าใด มีวาทะ มีความเห็นอย่างนี้ว่า “บุคคลได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม เวทนาทั้งหมดนั้น เป็นเพราะกรรมที่กระทำไว้ในปางก่อน”  สมณพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าแล่นไปไกลล่วงเลยสิ่งที่รู้กันได้ด้วยตนเอง แล่นไปไกลล่วงเลยสิ่งที่ชาวโลกเขารู้กันทั่วว่าเป็นความจริง ฉะนั้น เรากล่าวว่าเป็นความผิดของสมณพราหมณ์เหล่านั้นเอง

 ภิกษุทั้งหลาย บุคคลจงใจ กำหนดจดจ่อ ครุ่นคิดถึงสิ่งใด สิ่งนั้นย่อมเป็นอารมณ์เพื่อให้วิญญาณดำรงอยู่ เมื่ออารมณ์มีอยู่ วิญญาณก็มีที่อาศัย เมื่อวิญญาณตั้งมั่นแล้ว เมื่อวิญญาณเจริญขึ้นแล้ว การบังเกิดในภพใหม่ต่อไปจึงมี เมื่อการบังเกิดในภพใหม่ต่อไปมีอยู่ ชาติ ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส จึงมีต่อไป ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีได้อย่างนี้
 
 ความหมายของปฏิจจสมุปบาทตามแนวนี้ แม้จะต้องทำความเข้าใจเป็นพิเศษ ก็ไม่ทิ้งความหมายเดิมที่อธิบายตามแบบ ดังนั้น ก่อนอ่านความหมายที่จะกล่าวต่อไป จึงควรทำความเข้าใจความหมายตามแบบที่กล่าวมาแล้วเสียก่อนด้วย เพื่อวางพื้นฐานความเข้าใจและเพื่อประโยชน์ในการเปรียบเทียบต่อไป

มีต่อค่ะ
หัวข้อ: Re: พุทธธรรม หรือ กฎธรรมชาติและคุณค่าสำหรับชีวิต (ป. อ. ปยุตฺโต)
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ กันยายน 23, 2013, 03:28:12 pm

(https://fbcdn-sphotos-a-a.akamaihd.net/hphotos-ak-ash2/t1.0-9/p480x480/425109_337123463038897_452762069_n.jpg)

ก. ความหมายอย่างง่าย
๑. อวิชชา (ignorance, lack of knowledge) = ความไม่รู้ไม่เห็นตามความเป็นจริง ความไม่รู้เท่าทันตามสภาวะ ความหลงไปตามสมมุติบัญญัติ ความไม่เข้าใจโลกและชีวิตตามที่เป็นจริง ความไม่รู้ที่แฝงอยู่กับความเชื่อถือต่างๆ ภาวะขาดปัญญา ความไม่หยั่งรู้เหตุปัจจัย การไม่ใช้ปัญญาหรือปัญญาไม่ทำงานในขณะนั้น

๒. สังขาร (volitional activities) = ความคิดปรุงแต่ง ความจงใจ มุ่งหมาย ตัดสินใจ และการที่จะแสดงเจตนาออกเป็นการกระทำ กระบวนความคิดที่เป็นไปตามความโน้มเอียง ความเคยชิน และคุณสมบัติต่างๆ ของจิตซึ่งได้สั่งสมไว้

๓. วิญญาณ (consciousness) = การรู้ต่ออารมณ์ต่างๆ คือ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัสกาย รู้ต่ออารมณ์ที่มีในใจ ตลอดจนสภาพพื้นเพของจิตใจในขณะนั้นๆ

๔. นามรูป (animated organism) = ความมีอยู่ของรูปธรรมและนามธรรม ในความรับรู้ของบุคคล ภาวะที่ร่างกายและจิตใจทุกส่วนอยู่ในสภาพที่สอดคล้องและปฏิบัติหน้าที่เพื่อตอบสนองในแนวทางของวิญญาณที่เกิดขึ้นนั้น ส่วนต่างๆ ของร่างกายและจิตใจที่เจริญหรือเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพจิต

๕. สฬายตนะ (the six sense-bases) = ภาวะที่อายตนะที่เกี่ยวข้องปฏิบัติหน้าที่โดยสอดคล้องกับสถานการณ์นั้นๆ
๖. ผัสสะ (contact) = การเชื่อมต่อความรู้กับโลกภายนอก การรับรู้อารมณ์ หรือประสบการณ์ต่างๆ
๗. เวทนา (feeling) = ความรู้สึกสุขสบาย ถูกใจ หรือทุกข์ ไม่สบาย หรือเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์

๘. ตัณหา (craving) = ความอยาก ทะยานร่านรนหาสิ่งอำนวยสุขเวทนา หลีกหนีสิ่งที่ก่อทุกขเวทนา แยกโดยอาการเป็น อยากได้ อยากเอา อยากเป็น อยากคงอยู่ในภาวะนั้นๆ ยั่งยืนตลอดไป อยากเลี่ยงพ้น อยากให้ดับสูญ หรืออยากทำลาย

๙. อุปาทาน (attachment, clinging) = ความยึดติดถือมั่นในเวทนาที่ชอบหรือชัง รวบรั้งเอาสิ่งต่างๆ และภาวะชีวิตที่อำนวยเวทนานั้นเข้ามาผูกพันกับตัว, การเทิดค่าถือความสำคัญของภาวะและสิ่งต่างๆ ในแนวทางที่เสริมหรือสนองตัณหาของตน

๑๐. ภพ (process of becoming) = กระบวนพฤติกรรมทั้งหมดที่แสดงออก เพื่อสนองตัณหาอุปาทานนั้น (กรรมภพ-the active process) และ ภาวะแห่งชีวิตสำหรับตัวตน หรือตัวตนที่จะมีจะเป็นในรูปใดรูปหนึ่ง (อุปปัตติภพ-the passsive process)  โดยสอดคล้องกับอุปาทานและกระบวน   พฤติกรรมนั้น

๑๑. ชาติ (birth) = การเกิดความตระหนักในตัวตนว่าอยู่หรือไม่ได้อยู่ในภาวะชีวิตนั้นๆ มีหรือไม่ได้มี เป็นหรือไม่ได้เป็นอย่างนั้นๆ

๑๒. ชรามรณะ (decay and death) = ความสำนึกในความขาด พลาด หรือ พรากแห่งตัวตน จากภาวะชีวิตอันนั้น ความรู้สึกว่าตัวตนถูกคุกคามด้วยความสูญสิ้น สลาย หรือพลัดพรากจากภาวะชีวิตนั้นๆ หรือจากการได้มี ได้เป็นอย่างนั้นๆ จึงเกิด โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส พ่วงมาด้วย คือ รู้สึกคับแค้น ขัดข้อง ขุ่นมัว แห้งใจ หดหู่ ซึมเซา หวาด กังวล ไม่สมหวัง กระวนกระวาย และทุกขเวทนาต่างๆ

มีต่อค่ะ
หัวข้อ: Re: พุทธธรรม หรือ กฎธรรมชาติและคุณค่าสำหรับชีวิต (ป. อ. ปยุตฺโต)
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ กันยายน 23, 2013, 07:08:10 pm

ข. ตัวอย่างแสดงความสัมพันธ์อย่างง่าย
๑. อวิชชา-สังขาร:
  เพราะไม่รู้ตามเป็นจริง ไม่เข้าใจชัดเจน จึงคิดปรุงแต่ง เดา คิดวาดภาพไปต่างๆ
 เหมือนคนอยู่ในความมืด เห็นแสงสะท้อนนัยน์ตาสัตว์ มีความเชื่อเรื่องผีอยู่แล้ว เลยคิดเห็นเป็นรูปหน้าหรือตัวผีขึ้นมาจริงๆ และเห็นเป็นอาการต่างๆ เกิดความกลัว คิดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น วิ่งหนี
 หรือเหมือนคนไม่เห็นของทายที่อยู่ในกำมือ จึงคิดหาเหตุผลมาทายเดา และถกเถียงต่างๆ ฯลฯ
 ยิ้มให้เขา เขาไม่ยิ้มตอบ ไม่ได้สอบสวนหรือพิจารณาว่า เขาอาจไม่ทันมอง เขาสายตาสั้นมองไม่เห็น หรือเขามีอารมณ์ค้าง เป็นต้น จึงโกรธ น้อยใจ คิดฟุ้งซ่านไปต่างๆ
 หรือเห็นเขายิ้ม ไม่รู้ยิ้มอะไร ตัวมีปมในใจ คิดวาดภาพไปว่าเขาเยาะ และผูกอาฆาต
 คนที่เชื่อว่าเทวดาชอบใจจะบันดาลอะไรให้ได้ ก็คิดปรุงแต่งคำอ้อนวอน พิธีบวงสรวงสังเวยต่างๆขึ้น กระทำการเซ่นสรวงอ้อนวอนต่างๆ

๒. สังขาร-วิญญาณ: เมื่อมีเจตนา คือตั้งใจมุ่งหมาย ตกลงจะเกี่ยวข้อง วิญญาณที่เห็น ได้ยิน เป็นต้น จึงจะเกิดขึ้น แต่ถ้าไม่จำนง ไม่ใส่ใจ ถึงจะอยู่ในวิสัยที่จะรับรู้ได้ วิญญาณก็ไม่เกิดขึ้น (= ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ฯลฯ) เหมือนคนกำลังคิดมุ่งหรือทำงานอะไรอย่างจดจ้องสนใจอยู่อย่างหนึ่ง เช่น อ่านหนังสืออย่างเพลิดเพลิน จิตรับรู้เฉพาะเรื่องที่อ่าน มีเสียงดังควรได้ยินก็ไม่ได้ยิน ยุงกัดก็ไม่รู้ตัว เป็นต้น

 กำลังมุ่งค้นหาของอย่างใดอย่างหนึ่ง มองไม่เห็นคนหรือของอื่นที่ผ่านมาในวิสัยที่จะพึงเห็น
 มองของสิ่งเดียวกันคนละครั้ง ด้วยเจตนาคนละอย่าง เห็นไปตามแง่ของเจตนานั้น เช่น มองไปที่พื้นดินว่างแห่งหนึ่งด้วยความคิดของเด็กที่จะเล่น ได้ความรับรู้และความหมายอย่างหนึ่ง มองไปอีกครั้งด้วยความคิดจะปลูกสร้างบ้าน ได้ความรับรู้และความหมายไปอีกอย่างหนึ่ง มองไปอีกครั้งด้วยความคิดของเกษตรกร ได้ความรับรู้และความหมายอย่างหนึ่ง มองด้วยความคิดของอุตสาหกร ได้ความรับรู้และความหมายอีกอย่างหนึ่ง มองของสิ่งเดียวกันคนละครั้งด้วยความคิดนึกคนละอย่าง เกิดความรับรู้คนละแง่ละด้าน

 เมื่อคิดนึกในเรื่องที่ดีงาม จิตก็รับรู้อารมณ์ที่ดีงาม และรับรู้ความหมายในแง่ที่ดีงามของอารมณ์นั้น เมื่อคิดนึกในทางที่ชั่วร้าย จิตก็รับรู้อารมณ์ส่วนที่ชั่วร้าย และรับรู้ความหมายในแง่ที่ชั่วร้ายของอารมณ์นั้น โดยสอดคล้องกัน เช่น

       ในกลุ่มของหลายอย่างที่วางอยู่ใกล้กัน และอยู่ในวิสัยของการเห็นครั้งเดียวทั้งหมด มีมีดกับดอกไม้อยู่ด้วย คนที่รักดอกไม้ มองเข้าไป จิตอาจรับรู้เห็นแต่ดอกไม้อย่างเดียว และการรับรู้จะเกิดซ้ำอยู่ที่ดอกไม้อย่างเดียว จนไม่ได้สังเกตเห็นของอื่นที่วางอยู่ใกล้ ยิ่งความสนใจชอบใจ ติดใจในดอกไม้มีมากเท่าใด การรับรู้ต่อดอกไม้ก็ยิ่งถี่ขึ้น และการรับรู้ต่อสิ่งของอื่นๆ ก็น้อยลงไปเท่านั้น ส่วนคนที่กำลังจะใช้อาวุธมองเข้าไป จิตก็จะรับรู้แต่มีดเช่นเดียวกัน และแม้ในกรณีเห็นมีดเป็นอารมณ์ด้วยกัน สำหรับคนหนึ่งอาจรับรู้มีดในฐานะอาวุธสำหรับประหารผู้อื่น อีกคนหนึ่งอาจรับรู้ในแง่สิ่งที่จะใช้ประโยชน์ในครัว อีกคนหนึ่งอาจรับรู้ในฐานะเป็นชิ้นโลหะชิ้นหนึ่ง สุดแต่ผู้นั้นเป็นโจร เป็นคนครัว เป็นคนรับซื้อโลหะเก่า และอยู่ในภาวะแห่งความคิดนึกเจตจำนงอย่างใด ฯลฯ

๓. วิญญาณ-นามรูป: วิญญาณกับนามรูป อาศัยซึ่งกันและกัน อย่างที่พระสารีบุตรกล่าวว่า “ไม้อ้อ ๒ กำ ตั้งอยู่ได้เพราะต่างอาศัยซึ่งกันและกันฉันใด เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป ฯลฯ ฉันนั้น ไม้อ้อ ๒ กำนั้น ถ้าเอาออกเสียกำหนึ่ง อีกกำหนึ่งย่อมล้ม ถ้าดึงอีกกำหนึ่งออก อีกกำหนึ่งก็ล้ม ฉันใด เพราะนามรูปดับ วิญญาณก็ดับ เพราะวิญญาณดับ นามรูปก็ดับ ฯลฯ ฉันนั้น”

      โดยนัยนี้ เมื่อวิญญาณเกิดมี นามรูปจึงเกิดมีได้ และต้องเกิดมีด้วย ในกรณีที่สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณนั้น ก็เป็นปัจจัยให้เกิดนามรูปพร้อมกันไปด้วย แต่เพราะนามรูปจะมีได้ต้องอาศัยวิญญาณ ในฐานะที่เป็นคุณสมบัติเป็นต้นของวิญญาณ จึงกล่าวว่าสังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป ในที่นี้อาจแยกภาวะที่วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูปได้ดังนี้

 ๑) ที่ว่าจิตรับรู้ต่ออารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เห็นของสิ่งหนึ่ง ได้ยินเสียงอย่างหนึ่งเป็นต้นนั้น แท้จริงก็คือรับรู้ต่อนามรูป (ในที่นี้หมายถึง รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ และสังขารขันธ์) ต่างๆ นั่นเอง สิ่งที่มีสำหรับบุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง ก็คือ สิ่งที่มีอยู่ในความรับรู้ของเขาในขณะนั้นๆ หรือนามรูปที่ถูกวิญญาณรับรู้ในขณะนั้นๆ เท่านั้น เช่น ดอกกุหลาบที่มีอยู่ ก็คือดอกกุหลาบที่กำลังถูกรับรู้ทางจักษุประสาท หรือทางมโนทวารในขณะนั้นๆ เท่านั้น นอกจากนี้ ดอกกุหลาบ ที่มีอยู่ และที่เป็นดอกกุหลาบอย่างนั้นๆ ก็มิได้มีอยู่ต่างหากจากบัญญัติ (concept) ในมโนทวาร และมิได้ผิดแปลกไปจากเวทนา สัญญา และสังขารของผู้นั้น ที่มีอยู่ในขณะนั้นๆ เลย โดยนัยนี้ เมื่อวิญญาณมี นามรูปจึงมีอยู่พร้อมกันนั่นเอง และมีอยู่อย่างอิงอาศัยค้ำจุนซึ่งกันและกัน

 ๒) นามรูปที่เนื่องอาศัยวิญญาณ ย่อมมีคุณภาพสอดคล้องกับวิญญาณนั้นด้วย โดยเฉพาะนามทั้งหลายก็คือคุณสมบัติของจิตนั่นเอง เมื่อความคิดปรุงแต่ง (สังขาร) ดีงาม ก็เป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณซึ่งรับรู้อารมณ์ที่ดีงามและในแง่ที่ดีงาม ในขณะนั้น จิตใจก็ปลอดโปร่งผ่องใสไปตาม อากัปกิริยาหรือพฤติกรรมต่างๆ ทางด้านร่างกาย ก็แสดงออกหรือปรากฏรูปลักษณะในทางที่ดีงามสอดคล้องกัน เมื่อคิดนึกในทางที่ชั่ว ก็เกิดความรับรู้อารมณ์ในส่วนและในแง่ที่ชั่วร้าย จิตใจก็มีสภาพขุ่นมัวหม่นหมอง อากัปกิริยาหรือพฤติกรรมต่างๆ ทางร่างกาย ก็แสดงออกหรือปรากฏรูปลักษณะเป็นความเครียดกระด้างหม่นหมองไปตาม ในสภาพเช่นนี้ องค์ประกอบต่างๆ ทั้งในทางจิตใจ และร่างกาย อยู่ในภาวะที่พร้อม หรืออยู่ในอาการที่กำลังปฏิบัติหน้าที่โดยสอดคล้องกับสังขารและวิญญาณที่เกิดขึ้น

 เมื่อรู้สึกรักใคร่มีไมตรี (สังขาร) ก็เกิดความรับรู้อารมณ์ส่วนที่ดีงาม (วิญญาณ) จิตใจก็แช่มชื่นเบิกบาน (นาม) สีหน้าก็สดชื่นยิ้มแย้มแจ่มใส ตลอดจนกิริยาอาการต่างๆก็กลมกลืนกัน (รูป) อยู่ในภาวะที่พร้อมจะแสดงออกในทางที่ดีงามต่อไป

 เมื่อโกรธเคือง ก็เกิดความรับรู้อารมณ์แต่ส่วนที่เลว จิตใจก็ขุ่นมัวขัดข้อง สีหน้ากิริยาอาการก็บึ้งบูดเคร่งเครียด อยู่ในภาวะที่พร้อมจะแสดงอาการและกระทำการต่างๆ ในแนวทางนั้นต่อไป

 นักกีฬาที่อยู่ในสนาม เมื่อการแข่งขันเริ่มขึ้น ความนึกคิด เจตจำนงต่างๆ จะพุ่งไปในกีฬาที่แข่งขันอยู่นั้น ความรับรู้ต่างๆ ก็เกิดดับอยู่ในเรื่องนั้น ด้วยอัตราความถี่มากน้อยตามกำลังของเจตจำนงความสนใจที่พุ่งไปในกีฬานั้น จิตใจและร่างกายทุกส่วนที่เกี่ยวข้องก็อยู่ในภาวะพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่แสดงพฤติกรรมออกมาโดยสอดคล้องกัน

 ความเป็นไปในช่วงนี้ เป็นขั้นตอนสำคัญส่วนหนึ่งในกระบวนการแห่งกรรมและการให้ผลของกรรม วงจรแห่งวัฏฏะหมุนมาครบรอบเล็ก (อวิชชา:กิเลส - สังขาร:กรรม - วิญญาณ+นามรูป:วิบาก) และกำลังจะเริ่มตั้งต้นหมุนต่อไป นับว่าเป็นขั้นตอนสำคัญส่วนหนึ่งในการสร้างนิสัย ความเคยชิน ความรู้ ความชำนาญ และบุคลิกภาพ

๔. นามรูป-สฬายตนะ: การที่นามรูปจะปฏิบัติหน้าที่ต่อๆ ไป ต้องอาศัยความรู้ต่อโลกภายนอก หรือดึงความรู้ที่สะสมไว้แต่เดิมมาเป็นเครื่องประกอบการตัดสินหรือเลือกว่า จะดำเนินพฤติกรรมใดต่อไป ในทิศทางใด ดังนั้น นามรูปส่วนที่มีหน้าที่เป็นสื่อหรือช่องทางติดต่อรับรู้อารมณ์ต่างๆ คืออายตนะที่เกี่ยวข้องในกรณีนั้นๆ จึงอยู่ในสภาพตื่นตัวและปฏิบัติหน้าที่สัมพันธ์สอดคล้องกับปัจจัยข้อก่อนๆ ตามลำดับมา เช่น ในกรณีของนักฟุตบอลในสนาม อายตนะที่ทำหน้าที่รับรู้อารมณ์อันเกี่ยวกับกีฬาที่เล่นอยู่นั้น เช่น ประสาทตา ประสาทหู เป็นต้น ก็จะอยู่ในสภาพตื่นตัวที่จะรับรู้อารมณ์ที่เกี่ยวข้องกับกีฬาที่เล่นด้วยความไวเป็นพิเศษ ในขณะเดียวกัน อายตนะที่ไม่เกี่ยวกับการรับรู้อารมณ์ที่มุ่งหมายนั้น ก็จะไม่อยู่ในสภาพตื่นตัวที่จะให้เกิดการรับรู้อารมณ์ พูดง่ายๆ ว่า ผ่อนการปฏิบัติหน้าที่ลงไปตามส่วน เช่น ความรู้สึกกลิ่น และความรู้สึกรสอาจไม่เกิดขึ้นเลย ในขณะที่กำลังเล่นอย่างกระชั้นชิดติดพัน เป็นต้น

๕. สฬายตนะ-ผัสสะ: เมื่ออายตนะปฏิบัติหน้าที่ การรับรู้ก็เกิดขึ้น โดยมีองค์ประกอบ ๓ อย่างเข้าบรรจบกัน คือ อายตนะภายใน (ตา หู จมูก ลิ้น กาย มโน อย่างใดอย่างหนึ่ง) กับอารมณ์ภายนอก (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อย่างใดอย่างหนึ่ง) และวิญญาณ (ทางจักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มโน อย่างใดอย่างหนึ่ง) การรับรู้ก็เกิดขึ้นโดยสอดคล้องกับอายตนะนั้นๆ

๖. ผัสสะ-เวทนา: เมื่อผัสสะเกิดขึ้นแล้ว ก็จะต้องมีความรู้สึกเกี่ยวด้วยสุขทุกข์เกิดขึ้น อย่างใดอย่างหนึ่งใน ๓ อย่าง คือ สบาย ชื่นใจ เป็นสุข (สุขเวทนา) หรือไม่ก็ บีบคั้น ไม่สบาย เจ็บปวด เป็นทุกข์ (ทุกขเวทนา) หรือไม่ก็เฉยๆ เรื่อยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ (อุเบกขา หรือ อทุกขมสุขเวทนา)

      ปฏิจจสมุปบาทตั้งแต่หัวข้อที่ ๓ ถึง ๗ คือ วิญญาณ-ถึง-เวทนา นี้ เป็นกระบวนการในช่วงวิบาก คือ ผลของกรรม โดยเฉพาะข้อ ๕-๖-๗ ไม่เป็นบุญเป็นบาป ไม่ดีไม่ชั่วโดยตัวของมันเอง แต่จะเป็นเหตุแห่งความดีความชั่วได้ต่อไป

๗. เวทนา-ตัณหา: เมื่อได้รับสุขเวทนา ก็พอใจ ชอบใจ ติดใจอยากได้ และอยากได้ยิ่งๆ ขึ้นไป เมื่อได้รับทุกขเวทนา ก็ขัดใจ อยากให้สิ่งนั้นสูญสิ้นพินาศไปเสีย อยากให้ตนพ้นไปจากทุกขเวทนานั้น และอยากได้ แส่ ดิ้นรนไปหาสิ่งอื่นที่จะให้สุขเวทนาต่อไป เมื่อได้รับอุเบกขาเวทนา คือรู้สึกเฉยๆ ก็ชวนให้เกิดอาการซึมๆ เพลิน อย่างมีโมหะ และเป็นสุขเวทนาอย่างอ่อนๆ ที่ทำให้ติดใจได้ และเป็นเชื้อให้ขยายตัวออกเป็นความอยากได้สุขเวทนาต่อไป

      ตัณหา นั้น เมื่อแยกให้ชัดโดยอาการ ก็มี ๓ อย่าง คือ
 ๑) กามตัณหา (craving for sense-pleasure) ความอยากได้สิ่งสำหรับสนองความต้องการทางประสาททั้ง ๕
 ๒) ภวตัณหา (craving for self-existence) ความอยากได้สิ่งต่างๆ โดยสัมพันธ์กับภาวะชีวิตอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือความอยากในภาวะชีวิตที่จะอำนวยสิ่งที่ปรารถนานั้นๆ ได้ ในความหมายที่ลึกลงไป คือ ความอยากในความมีอยู่ของตัวตนที่จะได้จะเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง
 ๓) วิภวตัณหา (craving for non-existence or self-annihilation) ความอยากให้ตัวตนพ้นไป ขาดหาย พรากหรือสูญสิ้นไปเสียจากสิ่งหรือภาวะชีวิตที่ไม่ปรารถนานั้นๆ ตัณหาชนิดนี้ แสดงออกในรูปที่หยาบ เช่น ความรู้สึกเบื่อหน่าย ความเหงา ว้าเหว่ ความเบื่อตัวเอง ความชังตัวเอง ความสมเพชตนเอง เป็นต้น

   ตัณหาจึงแสดงออกในรูปต่างๆ เป็นความอยากได้กามคุณต่างๆ บ้าง อยากได้ภาวะแห่งชีวิตบางอย่าง เช่น ความเป็นเศรษฐี ความเป็นผู้มีเกียรติ ความเป็นเทวดา เป็นต้น ซึ่งจะอำนวยสิ่งที่ปรารถนาให้บ้าง อยากพ้นไปจากภาวะที่ไม่ปรารถนา เบื่อหน่าย หมดอาลัยตายอยาก ตลอดจนถึงอยากตายบ้าง หรือในกรณีที่แสดงออกภายนอก เมื่อถูกขัดหรือฝืนความปรารถนา ก็เป็นเหตุให้เกิดปฏิฆะ ความขัดใจ ขัดเคือง โทสะ ความคิดประทุษร้าย ความคิดทำลายผู้อื่น สิ่งอื่น เป็นต้น

๘. ตัณหา-อุปาทาน: เมื่ออยากได้สิ่งใด ก็ยึดมั่นเกาะติดเหนียวแน่น ผูกมัดตัวตนติดกับสิ่งนั้น ยิ่งอยากได้มากเท่าใดก็ยิ่งยึดมั่นแรงขึ้นเท่านั้น ในกรณีที่ประสบทุกขเวทนา อยากพ้นไปจากสิ่งนั้น ก็มีความยึดมั่นในแง่ชิงชังต่อสิ่งนั้นอย่างรุนแรง พร้อมกับที่มีความยึดมั่นในสิ่งอื่นที่ตนจะดิ้นรนไปหารุนแรงขึ้นในอัตราเท่าๆ กัน จึงเกิดความยึดมั่นในสิ่งสนองความต้องการต่างๆ ยึดมั่นในภาวะชีวิตที่จะอำนวยสิ่งที่ปรารถนา ยึดมั่นในตัวตนที่จะได้จะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ยึดมั่นในความเห็น ความเข้าใจ ทฤษฎี และหลักการอย่างใดอย่างหนึ่งที่สนองตัณหาของตน ตลอดจนยึดมั่นในแบบแผน วิธีการต่างๆ ที่สนองความต้องการของตัวตน

๙. อุปาทาน-ภพ: ความยึดมั่นย่อมเกี่ยวข้องไปถึงภาวะชีวิตอย่างใดอย่างหนึ่ง ความยึดมั่นนั้นแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งสองสิ่ง คือ เป็นการนำเอาตัวตนไปผูกมัดไว้ หรือทำให้เป็นอันเดียวกันกับภาวะชีวิตอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นภาวะชีวิตที่จะอำนวยสิ่งที่ปรารถนา หรือเป็นภาวะชีวิตที่ช่วยให้พ้นไปจากสิ่งที่ไม่ปรารถนา ในเวลาเดียวกัน เมื่อมีภาวะชีวิตที่ต้องการ ก็ย่อมมีภาวะชีวิตที่ไม่ต้องการอยู่ด้วยพร้อมกัน ภาวะชีวิตที่ถูกยึดเกี่ยวเกาะไว้นี้ เรียกว่า อุปปัตติภพ

      เมื่อยึดมั่นในภาวะชีวิตนั้น จึงคิดมุ่งหมายหรือมีเจตจำนงเพื่อเป็นอย่างนั้นๆ หรือเพื่อหลีกเลี่ยงความเป็นอย่างนั้นๆ แล้วลงมือกระทำการต่างๆ เริ่มแต่คิดสร้างสรรค์ปรุงแต่งแสวงวิธีการต่างๆ และดำเนินการตามจุดมุ่งหมาย แต่ความคิดและการกระทำทั้งหมดนั้นย่อมถูกผลักดันให้ดำเนินไปในทิศทาง และในรูปแบบที่อุปาทานกำหนด คือ เป็นไปตามอำนาจของความเชื่อถือ ความคิดเห็น ความเข้าใจ ทฤษฎี วิธีการ ความพอใจ ชอบใจอย่างใดอย่างหนึ่งที่ตนยึดถือไว้ จึงแสดงออกซึ่งพฤติกรรมและกระทำการต่างๆ โดยสอดคล้องกับอุปาทานนั้น

      ตัวอย่างในชั้นหยาบ เช่น อยากเกิดเป็นเทวดา จึงยึดถือในลัทธิคำสอน ประเพณี พิธีกรรม หรือแบบแผนความประพฤติอย่างใดอย่างหนึ่งที่เชื่อว่าจะให้ไปเกิดได้อย่างนั้น จึงคิด มุ่งหมาย กระทำการต่างๆ ไปตามความเชื่อนั้น จนถึงว่า ถ้าความยึดมั่นรุนแรง ก็ทำให้มีระบบพฤติกรรม ที่เป็นลักษณะพิเศษจำเพาะตัวเกิดขึ้นแบบใดแบบหนึ่ง

      หรือตัวอย่างใกล้เข้ามา เช่น อยากเป็นคนมีเกียรติ ก็ย่อมยึดมั่นเอาคุณค่าอย่างใดอย่างหนึ่งว่าเป็นความมีเกียรติ ยึดมั่นในแบบแผนความประพฤติที่สอดคล้องกับคุณค่านั้น ยึดมั่นในตัวตนที่จะมีเกียรติอย่างนั้นๆ เจตจำนง และการกระทำ ก็มุ่งไปในทิศทางและรูปแบบที่ยึดไว้นั้น พฤติกรรมต่างๆ ที่แสดงออกก็มีรูปลักษณะสอดคล้องกัน

       อยากได้ของมีค่าของผู้อื่น จึงยึดมั่นในภาวะที่ตนจะเป็นเจ้าของสิ่งของนั้น จึงยึดมั่นในความเคยชิน หรือวิธีการที่จะให้ได้สิ่งของนั้นมา ไม่รู้โทษและความบกพร่องของวิธีการที่ผิด จึงคิดนึก มุ่งหมาย และกระทำการตามความเคยชินหรือวิธีการที่ยึดไว้ กลายเป็นการลักขโมย หรือการทุจริตขึ้น ความเป็นเจ้าของที่ยึดไว้เดิม กลายเป็นความเป็นโจรไป
      โดยนัยนี้ เพื่อผลที่ปรารถนา มนุษย์จึงทำกรรมชั่ว เป็นบาป เป็นอกุศลบ้าง ทำกรรมดี เป็นบุญ เป็นกุศลบ้าง ตามอำนาจความเชื่อถือความยึดมั่นที่ผิดพลาดหรือถูกต้องในกรณีนั้นๆ
      กระบวนพฤติกรรมที่ดำเนินไปในทิศทางแห่งแรงผลักดันของอุปาทานนั้น และปรากฏรูปลักษณะอาการสอดคล้องกับอุปาทานนั้น เป็นกรรมภพ
      ภาวะแห่งชีวิตที่สืบเนื่องมาจากกระบวนพฤติกรรมนั้น เช่น ความเป็นเทวดา ความเป็นคนมีเกียรติ ความเป็นเจ้าของ และความเป็นโจร เป็นต้น เป็นอุปปัตติภพ อาจเป็นภพ (ภาวะแห่งชีวิต) ที่ตรงกับความต้องการ หรือภพที่ไม่ต้องการก็ได้
      ปฏิจจสมุปบาทช่วงนี้ เป็นขั้นตอนสำคัญในการทำกรรมและรับผลของกรรม การก่อนิสัย และการสร้างบุคลิกภาพ

๑๐. ภพ-ชาติ: ชีวิตที่เป็นไปในภาวะต่างๆ ทั้งหมดนั้น ว่าตามความหมายที่แท้  ก็คือขันธ์ ๕ ที่เกิด-ดับ เปลี่ยนแปลงไป  โดยมีคุณสมบัติที่สะสมเพิ่ม-ลดในด้านต่างๆ ตามเหตุปัจจัยทั้งภายในและภายนอก ซึ่งมีเจตจำนงคือเจตนาเป็นตัวนำ ทำให้กระแสโดยรวมหรือกระบวนธรรมนั้นๆ มีลักษณะอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง

      ขันธ์ ๕ ที่รวมเป็นชีวิตนั้น เกิดดับเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะตลอดเวลา เมื่อกล่าวถึงความจริงนั้นด้วยภาษาตามสมมติ จึงพูดว่าคนเรานี้เกิด-แก่-ตายอยู่ทุกขณะ อย่างที่อรรถกถาแห่งหนึ่งกล่าวว่า

      โดยปรมัตถ์ เมื่อขันธ์ทั้งหลาย เกิดอยู่ แก่อยู่ ตายอยู่ การที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุ เธอเกิด แก่ และตายอยู่ ทุกขณะ” ดังนี้ ก็พึงทราบว่าเป็นอันได้ทรงแสดงให้เห็นแล้วว่า ในสัตว์ทั้งหลายนั้นการเล็งถึงขันธ์เสร็จอยู่แล้วในตัว” อย่างไรก็ตาม สำหรับปุถุชน ย่อมมิใช่มีเพียงการเกิด-ดับของขันธ์ ๕ ตามธรรมดาของธรรมชาติเท่านั้น แต่เมื่อมีภพขึ้นตามอุปาทานแล้ว ก็เกิดมีตัวตนซึ่งสำนึกตระหนักขึ้นมาว่า “เรา” ได้เป็นนั่นเป็นนี่ อยู่ในภาวะชีวิตอันนั้นอันนี้ ซึ่งตรงกับความต้องการ หรือไม่ตรงกับความต้องการ พุดสั้นๆ ว่า ตัวตนเกิดขึ้นในภพนั้น จึงมีตัวเราที่เป็นเจ้าของ ตัวเราที่เป็นโจร ตัวเราที่เป็นคนไม่มีเกียรติ ตัวเราที่เป็นผู้ชนะ ตัวเราที่เป็นผู้แพ้ ฯลฯ

 ในชีวิตประจำวันของปุถุชน การเกิดของตัวตนจะเห็นได้เด่นชัดในกรณีความขัดแย้ง เช่น การถกเถียง แม้ในการเถียงหาเหตุผล ถ้าใช้กิเลส ไม่ใช้ปัญญา ก็จะเกิดตัวตนที่เป็นนั่นเป็นนี่ขึ้นมาชัดว่า เราเป็นนาย เราเป็นผู้มีเกียรติ (พร้อมกับ เขาเป็นลูกน้อง เขาเป็นคนชั้นต่ำ) นี่เป็นความเห็นของเรา เราถูกขัดแย้ง ทำให้ความเป็นนั่นเป็นนี่ด้อยลงพร่องลง หรือจะสูญสลายไป ชาติจึงยิ่งชัด เมื่อปรากฏชรามรณะ แต่เพราะมีชาติจึงมีชรามรณะได้

๑๑. ชาติ-ชรามรณะ: เมื่อมีตัวตนที่ได้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ย่อมมีตัวตนที่ไม่ได้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ตัวตนที่ขาด พลาด หรือพรากจากความเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ตัวตนที่ถูกคุกคามด้วยความขาด พลาด หรือพรากไปจากความเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ และตัวตนที่ถูกกระทบกระทั่ง ถูกขัดขวาง ขัดแย้ง ให้กระแสความเป็นอย่างนั้นๆ สะดุด หวั่นไหว สะเทือน ลด ด้อยลง พร่องลง เสื่อมลงไป ไม่สมบูรณ์เต็มเปี่ยมอย่างที่อยากให้เป็นและอย่างที่ยึดถืออยู่

 เมื่อตัวตนเกิดมีขึ้นแล้ว ก็อยากจะดำรงอยู่ตลอดไป อยากจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้อย่างที่ต้องการ หรืออยากให้ภาวะแห่งชีวิตนั้นอยู่กับตัวตนตลอดไป แต่เมื่อตัวตนเกิดมีขึ้นได้ พองโตใหญ่ขึ้นได้ ตัวตนก็ย่อมเสื่อมสลายได้ แม้เมื่อยังไม่สูญสลาย ก็ถูกคุกคามด้วยความพร่อง ความด้อย และความสูญสลายที่จะมีมา จึงเกิดความหวาดกลัวต่อความถูกหวั่นไหว กระทบกระแทก และความสูญสลาย และทำให้เกิดความยึดมั่นผูกพันตัวตนไว้กับภาวะชีวิตนั้นให้เหนียวแน่นยิ่งขึ้น
 
 ความกลัวต่อความสูญสลายแห่งตัวตนนี้ เกิดสืบเนื่องมาจากความรู้สึกถูกคุกคามและหวาดกลัวต่อความตายของชีวิตนี้นั่นเอง ซึ่งแฝงอยู่ในจิตใจอย่างละเอียดลึกซึ้งตลอดเวลา และคอยบีบคั้นพฤติกรรมทั่วๆ ไปของมนุษย์ ทำให้หวาดกลัวต่อความพลัดพราก สูญสลาย ทำให้ดิ้นรนไขว่คว้าภาวะชีวิตที่ต้องการอย่างเร่าร้อน ทำให้เกรงกลัวและผิดหวังเมื่อได้รับทุกขเวทนา และทำให้เสวยสุขเวทนาอย่างกระวนกระวาย พร้อมด้วยความหวาดกลัวความพลัดพราก ทั้งนี้โดยไม่ตระหนักรู้ว่า ที่แท้นั้น ชีวิตคือขันธ์ทั้ง ๕ เกิด-ตายอยู่แล้วตลอดเวลา

 โดยนัยนี้ เมื่อตัวตนเกิดขึ้นในภาวะชีวิตที่ไม่ต้องการ ไม่เกิดในภาวะชีวิตที่ต้องการก็ดี เมื่อตัวตนเกิดได้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อยู่ในภาวะชีวิตที่ต้องการ แต่ต้องสูญสลายพรากไปก็ดี ถูกคุกคามด้วยความขาด พลาด และพรากจากภาวะชีวิตที่ต้องการก็ดี ความทุกข์แบบต่างๆ ย่อมเกิดขึ้น คือ เกิดโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส และในภาวะแห่งความทุกข์เช่นนี้ จิตใจก็ขุ่นมัวเศร้าหมอง ไม่รู้ไม่เข้าใจหรือไม่มองสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง มีความคับข้องขัดใจ ความหลงใหล และความมืดบอด อันเป็นลักษณะของอวิชชา จึงเกิดการดิ้นรนหาทางออกด้วยวิธีการแห่งอวิชชาตามวงจรต่อไป

 ตัวอย่างง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน เมื่อมีการแข่งขัน และมีการชนะเกิดขึ้น สำหรับปุถุชนจะไม่มีเพียงการชนะที่เป็นเหตุการณ์ทางสังคม ซึ่งมีความหมายและวัตถุประสงค์ตามที่ตกลงกำหนดวางกัน (สมมติ) ไว้เท่านั้น แต่จะมีความเป็นผู้ชนะที่ยึดมั่นไว้กับความหมายพิเศษบางอย่างเฉพาะตัวด้วยอุปาทาน (ภพ) ด้วย ในบางโอกาส โดยเฉพาะในกรณีของคนมักหยิ่งผยอง หรือในกรณีเกิดเรื่องกระทบกระเทือนใจ ก็จะเกิดความรู้สึกโผล่ขึ้นมาว่า เราเป็นผู้ชนะ = ตัวเราเกิดขึ้นในความเป็นผู้ชนะ (ชาติ) แต่ความเป็นผู้ชนะของเราในความหมายสมบูรณ์เต็มตัว ต้องพ่วงเอาความมีเกียรติ ความยกย่องเยินยอ ความได้ผลประโยชน์ ความนิยมชมชอบ การยอมรับของผู้อื่น เป็นต้น ไว้ด้วย ความเกิดของตัวเราในความชนะ หรือความชนะของเรา จึงเกิดพร้อมกับการที่จะต้องมีผู้ยอมรับ ยกย่องเชิดชู การทำให้ผู้ใดผู้หนึ่งแพ้ไปได้ การได้ทำหรือแสดงออกอะไรสักอย่างที่สุดขีดของความอยาก ฯลฯ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่าง

 จากนั้น ในขณะเดียวกับที่ตัวเราในฐานะผู้ชนะ พร้อมทั้งความหมายต่างๆ ที่พ่วงอยู่กับมัน เกิดขึ้น ความสมหวัง หรือไม่สมหวังก็เกิดขึ้น เมื่อสมหวัง ก็จะตามมาด้วยความรู้สึกที่จะต้องผูกพันมัดตัวไว้กับความเป็นผู้ชนะนั้นให้แน่นแฟ้น เพราะกลัวว่าความเป็นผู้ชนะจะสูญสิ้นไปจากตน กลัวว่า ความยอมรับนิยมยกย่องเชิดชูที่ได้รับในฐานะนั้น จะไม่คงอยู่อย่างเดิม จะลดน้อยลง เสื่อมไป หรือหมดไปจากตน เมื่อพบเห็นผู้ใดผู้หนึ่งแสดงอาการไม่เชิดชูให้เกียรติอย่างที่หวัง หรือเท่าที่หวัง หรือการยกย่องเชิดชูเกียรติที่เคยได้อยู่ มาลดน้อยลง ก็ย่อมเกิดความขุ่นมัวหม่นหมองใจและอุปายาส เพราะตัวตนในภาวะผู้ชนะนั้นกำลังถูกกระทบกระแทก หรือถูกบีบคั้นกำจัดให้พรากไปเสียจากภาวะผู้ชนะ คือกำลังถูกคุกคามด้วยความเสื่อมโทรม (ชรา) และความสูญสลาย (มรณะ) จากความเป็นผู้ชนะพร้อมทั้งคุณค่าผนวกต่างๆ ที่ยึดไว้ (ภพ)

 เมื่อภาวการณ์ดำเนินไปเช่นนี้ ความรู้สึกขุ่นมัวหม่นหมอง กังวล ผิดหวังต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งหมด ซึ่งมิได้ถูกขุดทิ้งโดยสติและสัมปชัญญะ (ปัญญา) ก็จะเข้าหมักหมมทับถมในสันดาน มีผลต่อบุคลิกภาพ สภาพชีวิตจิตใจ และพฤติกรรมของบุคคลนั้น ตามวงจรปฏิจจสมุปบาทต่อไป เป็นการเสวยเวทนาอย่างที่เรียกว่าหมกตัวหรือผูกมัดตัว

 ขอให้ตั้งข้อสังเกตง่ายๆ ว่า เมื่อมีตัวตน (ในความรู้สึก) เกิดขึ้น ก็ย่อมมีความกินเนื้อที่ เมื่อกินเนื้อที่ ก็มีขอบเขต หรือถูกจำกัด เมื่อถูกจำกัด ก็มีการแยกตัวออกต่างหาก เมื่อมีการแยกตัวออกต่างหาก ก็มีการแบ่งว่าตัวเราและมิใช่ตัวเรา เมื่อตัวตนของเราเกิดขึ้นแล้ว ก็ขยายตัวเบ่งพองออก พร้อมด้วยความอยากได้อยากเด่นอยากแสดงต่อตัวตนอื่นๆ พลุ่งออกมา แต่ตัวตนและความอยากนั้นไม่สามารถขยายออกไปอย่างอิสระไม่มีที่สุด ต้องถูกฝืนกดหรือข่มไว้โดยบุคคลนั้นเอง ในกรณีที่เขามีความสำนึกในการแสดงตัวแก่ผู้อื่นว่าตนเป็นคนดี หรือถ้าตนเองไม่กดหรือข่มไว้ ปล่อยให้แสดงออกเต็มที่ ก็ย่อมเกิดการปะทะขัดแย้งภายนอกและแม้แสดงออกได้เต็มที่ ก็ทำให้พลังในตนเองลดน้อยลง เสริมกำลังความอยากให้แรงยิ่งๆขึ้น และความรู้สึกพร่องให้มากขึ้นๆ ในคราวต่อๆไป เป็นการเพิ่มโอกาสให้แก่ความขัดแย้งและการปะทะที่จะแรงยิ่งๆ ขึ้น และหมดความเป็นตัวของตัวเองลงไปทุกที ความสมบูรณ์เต็มอยากจึงไม่มี และความกดดันขัดแย้งกระทบกระทั่งบีบคั้น ย่อมเกิดขึ้นได้ในทุกกรณี

 อย่างไรก็ดี ตัวอย่างที่กล่าวมานี้ มุ่งความเข้าใจง่ายเป็นสำคัญ บางตอนจึงมีความหมายผิวเผิน ไม่ให้ความเข้าใจแจ่มแจ้งลึกซึ้งเพียงพอ โดยเฉพาะหัวข้อที่ยากๆ เช่น อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร และ โสกะ ปริเทวะทำให้วงจรเริ่มต้นใหม่ เป็นต้น ตัวอย่างที่แสดงในข้ออวิชชา เป็น เรื่องที่มิได้เกิดขึ้นเป็นสามัญ ในทุกช่วงขณะของชีวิต ชวนให้เห็นได้ว่า มนุษย์ปุถุชนสามารถเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันโดยไม่มีอวิชชาเกิดขึ้นเลย หรือเห็นว่า ปฏิจจสมุปบาทไม่ใช่หลักธรรมที่แสดงความจริงเกี่ยวกับชีวิตอย่างแท้จริง จึงเห็นว่าควรอธิบายความหมายลึกซึ้งของบางหัวข้อที่ยากให้ละเอียดชัดเจนออกไปอีก

(https://fbcdn-sphotos-e-a.akamaihd.net/hphotos-ak-ash3/p480x480/534335_681408918553470_843397183_n.jpg)

ต่อที่ ๗. ความหมายลึกซึ้งขององค์ธรรมบางข้อ
ก. อาสวะหล่อเลี้ยงอวิชชา ที่เปิดช่องแก่สังขาร
ข. ตัณหา อาศัยอวิชชา โดยสัมพันธ์กับทิฏฐิ
ค. อุปาทาน เป็นเงื่อนปมสำคัญ ที่ปั่นวงจรชีวิต
ง. การผ่อนเบาปัญหา เมื่อยังมีอวิชชาและตัณหา
หัวข้อ: Re: พุทธธรรม :อาสวะหล่อเลี้ยงอวิชชา ที่เปิดช่องแก่สังขาร
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ กันยายน 24, 2013, 03:11:09 pm

(https://encrypted-tbn2.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRgeVhXHMQe6qFX8nXwlFmWagaoL_UclVgBBXe4bRTL3vAzCAC3Pw)

ก. อาสวะหล่อเลี้ยงอวิชชา ที่เปิดช่องแก่สังขาร
 ตามปกติ มนุษย์ปุถุชนทุกคน เมื่อประสบสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรืออยู่ในสถานการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง จะแปลความหมาย ตัดสินสิ่งหรือเหตุการณ์นั้น พร้อมทั้งคิดหมาย ตั้งเจตจำนง แสดงออกซึ่งพฤติกรรม และกระทำการต่างๆ ตามความโน้มเอียง หรือตามแรงผลักดันต่อไปนี้ คือ

 ๑. ความใฝ่ในการสนองความต้องการทางประสาททั้ง ๕ (กาม)
 ๒. ความใฝ่หรือห่วงในความมีอยู่คงอยู่ของตัวตน การที่ตัวตนจะได้  เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ และการที่ตนจะดำรงคงอยู่ในภาวะที่อยากเป็นนั้นยั่งยืนตลอดไป (ภพ)
 ๓. ความเคยชิน ความเชื่อถือ ความเข้าใจ ทฤษฎี แนวความคิด  อย่างใดอย่างหนึ่งที่สั่งสมอบรมมา และยึดถือเชิดชูไว้ (ทิฏฐิ)
 ๔. ความหลง ความไม่เข้าใจ คือ ความไม่ตระหนักรู้และไม่กำหนดรู้  ความเป็นมาเป็นไป เหตุ ผล ความหมาย คุณค่า วัตถุประสงค์ ตลอด  จนความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ หรือเหตุการณ์ทั้งหลายตามสภาวะ  โดยธรรมชาติของมันเอง ความหลงผิดว่ามีตัวตนที่เข้าไปกระทำ  และถูกกระทำกับสิ่งต่างๆ ไม่มองเห็นความสัมพันธ์ทั้งหลาย ในรูปของกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย พูดสั้นๆ ว่า ไม่รู้เห็นตามที่มันเป็น แต่รู้เห็นตามที่คิดว่ามันเป็น หรือคิดให้มันเป็น (อวิชชา)

 โดยเฉพาะข้อ ๓ และ ๔ นั้น จะเห็นได้ว่าเป็นสภาพที่สัมพันธ์ต่อเนื่องกัน คือเมื่อไม่ได้กำหนดรู้ หลงเพลินไป ก็ย่อมทำไปตามความเคยชิน ความเชื่อถือ ความเข้าใจที่สั่งสมอบรมมาก่อน

 อนึ่ง ข้อ ๓-๔ นี้ มีความหมายกว้างขวางมาก รวมไปถึง นิสัย ความเคยชิน ทัศนคติ แบบแผน ความประพฤติต่างๆ ที่เป็นผลมาจากการศึกษาอบรม ค่านิยมหรือคตินิยมทางสังคม การถ่ายทอดทางวัฒนธรรม เป็นต้น สิ่งเหล่านี้แสดงอิทธิพลสัมพันธ์กับข้อที่ ๑ และ ๒ นั้น กลายเป็นตัวการกำหนดและควบคุมความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมทั้งหมดของบุคคล ตั้งต้นแต่ว่าจะให้ชอบอะไร ต้องการอะไร จะสนองความต้องการของตนในรูปแบบและทิศทางใด แสดงพฤติกรรมออกมาอย่างไร คือเป็นสิ่งที่แฝงอยู่ลึกซึ้งในบุคคลและคอยบัญชาพฤติกรรมของบุคคลนั้น โดยเจ้าตัวไม่รู้ตัวเลย

 ในความเข้าใจตามปกติ บุคคลนั้นย่อมรู้สึกว่าตัวเขากำลังกระทำกำลังประพฤติอย่างนั้นๆ ด้วยตนเอง ตามความต้องการของตนเองอย่างเต็มที่ แต่แท้จริงแล้ว นับเป็นความหลงผิดทั้งสิ้น เพราะถ้าสืบสาวลงไปให้ชัดว่า เขาต้องการอะไรแน่ ทำไมเขาจึงต้องการสิ่งที่เขาต้องการอยู่นั้น ทำไมเขาจึงกระทำอย่างที่กระทำอยู่นั้น ทำไมจึงประพฤติอย่างที่ประพฤติอยู่นั้น ก็จะเห็นว่าไม่มีอะไรที่เป็นตัวของเขาเองเลย แต่เป็นแบบแผนความประพฤติที่เขาได้รับถ่ายทอดมาในการศึกษาอบรมบ้าง วัฒนธรรมบ้าง ความเชื่อถือทางศาสนาบ้าง เป็นความนิยมในทางสังคมบ้าง เขาเพียงแต่เลือกและกระทำในขอบเขตแนวทางของสิ่งเหล่านี้ หรือทำให้แปลกไปอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเอาสิ่งเหล่านี้เป็นหลักคิดแยกออกไปและสำหรับเทียบเคียงเท่านั้นเอง สิ่งที่เขายึดถือว่าเป็นตัวตนของเขานั้น จึงไม่มีอะไรนอกไปจากสิ่งที่อยู่ในข้อ ๑ ถึง ๔ เท่านั้นเอง สิ่งเหล่านี้นอกจากไม่มีตัวมีตนแล้ว ยังเป็นพลังผลักดันที่อยู่พ้นอำนาจควบคุมของเขาด้วย จึงไม่มีทางเป็นตัวตนของเขาได้เลย

 ในทางธรรมเรียกสิ่งทั้งสี่นี้ว่า อาสวะ ๔ (inflowing impulses หรือ influxes หรือ biases)
 อย่างที่ ๑ เรียก กามาสวะ (sense-gratification)
 อย่างที่ ๒ เรียก ภวาสวะ (existence หรือ self-centered pursuits)
 อย่างที่ ๓ เรียก ทิฏฐาสวะ (views)
 อย่างที่ ๔ เรียก อวิชชาสวะ (ignorance)
 บางแห่งตัดข้อ ๓ ออก เหลือเพียงอาสวะ ๓

 จึงเห็นได้ว่า อาสวะต่างๆ เหล่านี้ เป็นที่มาแห่งพฤติกรรมของมนุษย์ปุถุชนทุกคน เป็นตัวการที่ทำให้มนุษย์หลงผิด ยึดถือในความเป็นตัวตนที่พร่ามัว อันเป็นอวิชชาชั้นพื้นฐาน แล้วบังคับบัญชาให้นึกคิดปรุงแต่ง แสดงพฤติกรรม และกระทำการต่างๆ ตามอำนาจของมันโดยไม่รู้ตัวของตัวเอง เป็นขั้นเริ่มต้นวงจรแห่งปฏิจจสมุปบาท คือ เมื่ออาสวะเกิดขึ้น อวิชชาก็เกิดขึ้น แล้วอวิชชาก็เป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร ในภาวะที่แสดงพฤติกรรมด้วยความหลงว่าตัวตนทำเช่นนี้ กล่าวได้ด้วยคำย้อนแย้งว่า มนุษย์ไม่เป็นตัวของตัวเอง เพราะพฤติกรรมถูกบังคับบัญชาด้วยสังขารที่เป็นแรงขับไร้สำนึกทั้งสิ้น

 กล่าวโดยสรุปเพื่อตัดตอนให้ชัด ภาวะที่เป็นอวิชชา ก็คือ การไม่มองเห็นไตรลักษณ์ โดยเฉพาะความเป็นอนัตตา ตามแนวปฏิจจสมุปบาท คือ ไม่รู้ตระหนักว่า สภาพที่ถือกันว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา นั้น เป็นเพียงกระแสแห่งรูปธรรมนามธรรมส่วนย่อยต่างๆ มากมาย ที่สัมพันธ์เนื่องอาศัยเป็นเหตุปัจจัยสืบต่อกัน โดยอาการเกิดสลายๆ ทำให้กระแสนั้นอยู่ในภาวะที่กำลังแปรรูปอยู่ตลอดเวลา

 พูดให้ง่ายขึ้นว่า บุคคลก็คือผลรวมแห่งความรู้สึกนึกคิด ความปรารถนา ความเคยชิน ความโน้มเอียง ทัศนคติ ความรู้ ความเข้าใจ ความเชื่อถือ (ตั้งแต่ขั้นหยาบที่ผิดหรือไม่มีเหตุผล จนถึงขั้นละเอียดที่ถูกต้องและมีเหตุผล) ความคิดเห็น ความรู้สึกในคุณค่าต่างๆ ฯลฯ ทั้งหมดในขณะนั้นๆ ที่เป็นผลมาจากการถ่ายทอดทางวัฒนธรรม การศึกษาอบรม และปฏิกิริยาต่างๆ ทั้งที่เกิดขึ้นภายใน และที่มีต่อสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย อันกำลังดำเนินไปอยู่ตลอดเวลา

 เมื่อไม่ตระหนักรู้เช่นนี้ จึงยึดถือเอาสิ่งเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นตัวตนของตนในขณะหนึ่งๆ เมื่อยึดถือสิ่งเหล่านี้เป็นตัวตน ก็คือถูกสิ่งเหล่านั้นหลอกเอา จึงเท่ากับตกอยู่ในอำนาจของมัน ถูกมันชักจูงบังคับเอา ให้เห็นว่าตัวตนนั้นเป็นไปต่างๆ พร้อมทั้งความเข้าใจว่า ตนเองกำลังทำการต่างๆ ตามความต้องการของตน เป็นต้น

 ที่กล่าวมานี้ นับว่าเป็นคำอธิบายในหัวข้ออวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร ในระดับที่จัดว่าละเอียดลึกซึ้งกว่าก่อน ส่วนหัวข้อต่อจากนี้ไปถึงเวทนา เห็นว่าไม่ยากนัก พอจะมองเห็นได้ตามคำอธิบายที่กล่าวมาแล้ว จึงข้ามมาถึงตอนสำคัญอีกช่วงหนึ่ง คือ ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน ซึ่งเป็นช่วงของกิเลสเหมือนกัน

มีต่อค่ะ
หัวข้อ: Re: พุทธธรรม :ตัณหา อาศัยอวิชชา โดยสัมพันธ์กับทิฏฐิ
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ กันยายน 24, 2013, 03:24:51 pm

(https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRk0thLvhrUGZWhrz5n28-GGjefHWWDqdIfjIFm_2fpxojq6g0t)

ข. ตัณหา อาศัยอวิชชา โดยสัมพันธ์กับทิฏฐิ
 ตัณหาทั้ง ๓ อย่างที่พูดถึงมาแล้วนั้น ก็คืออาการแสดงออกของตัณหาอย่างเดียวกัน และมีอยู่เป็นสามัญโดยครบถ้วนในชีวิตประจำวันของปุถุชนทุกคน แต่จะเห็นได้ต่อเมื่อวิเคราะห์ดูสภาพการทำงานของจิตในส่วนลึก เริ่มแต่มนุษย์ไม่รู้ไม่เข้าใจและไม่รู้จักมองสิ่งทั้งหลายในรูปของกระบวนการแห่งความสัมพันธ์กันของเหตุปัจจัยต่างๆ ตามธรรมชาติ จึงมีความรู้สึกมัวๆ อยู่ว่ามีตัวตนของตนอยู่ในรูปใดรูปหนึ่ง มนุษย์จึงมีความอยากที่เป็นพื้นฐานสำคัญ คือ ความอยากมีอยู่เป็นอยู่ หรืออยากมีชีวิตอยู่ ซึ่งหมายถึงความอยากให้ตัวตนในความรู้สึกมัวๆ นั้นคงอยู่ยั่งยืนต่อไป

 แต่ความอยากเป็นอยู่นี้ สัมพันธ์กับความอยากได้ คือไม่ใช่อยากเป็นอยู่เฉยๆ แต่อยากอยู่เพื่อเสวยสิ่งที่อยากได้ คือเพื่อเสวยสิ่งที่จะให้สุขเวทนาสนองความต้องการของตนต่อไป จึงกล่าวได้ว่า ที่อยากเป็นอยู่ก็เพราะอยากได้ เมื่ออยากได้ ความอยากเป็นอยู่ก็ยิ่งรุนแรงขึ้น

 เมื่อความอยากเป็นอยู่รุนแรง อาจเกิดกรณีที่ ๑ คือ ไม่ได้สิ่งที่อยากทันอยาก จึงเกิดปฏิกิริยาขึ้น คือ ภพ หรือความมีชีวิตเป็นอยู่ในขณะนั้น ไม่เป็นที่น่าชื่นชม ชีวิตขณะนั้นเป็นที่ขัดใจ ทนไม่ได้ อยากให้ดับสูญไปเสีย ความอยากให้ดับสูญจึงติดตามมา แต่ทันทีนั้นเอง ความอยากได้ก็แสดงตัวออกมาอีก จึงกลัวว่าถ้าดับสูญไปเสีย ก็จะไม่ได้เสวยสุขเวทนาที่อยากได้ต่อไป ความอยากเป็นอยู่จึงเกิดตามติดมาอีก

 ในกรณีที่ ๒ ไม่ได้ที่อยาก หรือกรณีที่ ๓ ได้ไม่เต็มขีดที่อยาก ได้ไม่สมอยาก หรือกรณีที่ ๔ ได้แล้วอยากได้อื่นต่อไป กระบวนการก็ดำเนินไปในแนวเดียวกัน แต่กรณีที่นับว่าเป็นพื้นฐานที่สุดและครอบคลุมกรณีอื่นๆ ทั้งหมด ก็คืออยากยิ่งๆ ขึ้นไป

 เมื่อกำหนดจับลงที่ขณะหนึ่งขณะใดก็ตาม จะปรากฏว่ามนุษย์กำลังแส่หาภาวะที่เป็นสุขกว่าขณะที่กำหนดนั้นเสมอไป ปุถุชนจึงปัดหรือผละทิ้งจากขณะปัจจุบันทุกขณะ ขณะปัจจุบันแต่ละขณะ เป็นภาวะชีวิตที่ทนอยู่ไม่ได้ อยากให้ดับสูญหมดไปเสีย อยากให้ตนพ้นไป ไปหาภาวะที่สนองความอยากได้ต่อไป ความอยากได้ อยากอยู่ อยากไม่อยู่ จึงหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลาในชีวิตประจำวันของมนุษย์ปุถุชน แต่เป็นวงจรที่ละเอียดชนิดทุกขณะจิต อย่างที่แต่ละคนไม่รู้ตัวเลยว่า ชีวิตที่เป็นอยู่แต่ละขณะของตนก็คือ การดิ้นรนให้พ้นไปจากภาวะชีวิตในขณะเก่า และแส่หาสิ่งสนองความต้องการในภาวะชีวิตใหม่อยู่ทุกขณะนั่นเอง

 เมื่อสืบสาวลงไป ย่อมเห็นได้ว่า ตัณหาเหล่านี้ สืบเนื่องมาจากอวิชชานั่นเอง กล่าวคือ เพราะไม่รู้สิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น ไม่รู้จักมันในฐานะกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยที่สัมพันธ์ต่อเนื่องกัน จึงเกิดความเห็นผิดพื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องตัวตนขึ้นมาในรูปใดรูปหนึ่ง คือ เห็นว่าสิ่งทั้งหลายมีตัวมีตนเป็นชิ้นเป็นอัน เป็นแน่นอนตายตัว ซึ่งจะยั่งยืนอยู่ได้  หรือไม่ก็เห็นว่าสิ่งทั้งหลายแตกดับสูญสิ้นสลายตัวหมดไปได้เป็นสิ่งๆ เป็นชิ้นๆ เป็นอันๆไป

 มนุษย์ปุถุชนทุกคนมีความเห็นผิดในรูปละเอียดอยู่ในตัวทั้งสองอย่าง จึงมีตัณหา ๓ อย่างนั้น คือ เพราะเข้าใจมืดมัวอยู่ในจิตส่วนลึกว่า สิ่งทั้งหลายมีตัวตนยั่งยืนแน่นอนเป็นชิ้นเป็นอัน จึงเกิดความอยากในความเป็นอยู่คงอยู่ หรือภวตัณหาได้ และอีกด้านหนึ่ง ด้วยความไม่รู้ ไม่แน่ใจ ก็เข้าใจไปได้อีกแนวหนึ่งว่า สิ่งทั้งหลายเป็นตัวเป็นตน เป็นชิ้นเป็นอันแต่ละส่วนละส่วนไป มันสูญสิ้นหมดไป ขาดหายไปได้ จึงเกิดความอยากในความไม่เป็นอยู่ หรือวิภวตัณหา ได้ ความเห็นผิดทั้งสองนี้ สัมพันธ์กับตัณหาในรูปของการเปิดโอกาสหรือเปิดช่องทางให้

 ถ้ารู้เข้าใจเห็นเสียแล้วว่าสิ่งทั้งหลายเป็นกระแส เป็นกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยที่สัมพันธ์ต่อเนื่องกัน ก็ย่อมไม่มีตัวตนที่จะยั่งยืนตายตัวเป็นชิ้นเป็นอันได้ และก็ย่อมไม่มีตัวตนเป็นชิ้นเป็นอันที่จะหายจะขาดสูญไปได้ ตัณหา(ภวตัณหา และวิภวตัณหา) ก็ไม่มีฐานที่ก่อตัวได้

 ส่วนกามตัณหา
ก็สืบเนื่องจากความเห็นผิดทั้งสองนั้นด้วย เพราะกลัวว่าตัวตนหรือสุขเวทนาก็ตามจะขาดสูญสิ้นหายหมดไปเสีย จึงเร่าร้อนแส่หาสุขเวทนาแก่ตน และเพราะเห็นว่าสิ่งทั้งหลายเป็นตัวเป็นตนเป็นชิ้นเป็นอันแน่นอนคงตัวอยู่ได้ จึงดิ้นรนไขว่คว้า กระทำย้ำให้หนักแน่นให้มั่นคงอยู่ให้ได้

 ในรูปที่หยาบ ตัณหาแสดงอาการออกมาเป็นการดิ้นรนแส่หาสิ่งสนองความต้องการต่างๆ การแส่หาภาวะชีวิตที่ให้สิ่งสนองความต้องการเหล่านั้น ความเบื่อหน่ายสิ่งที่มีแล้ว ได้แล้ว เป็นแล้ว ความหมดอาลัยตายอยาก ทนอยู่ไม่ได้โดยไม่มีสิ่งสนองความต้องการใหม่ๆ เรื่อยๆ ไป

 ภาพที่เห็นได้ชัดก็คือ มนุษย์ที่เป็นตัวของตัวเองไม่ได้ ถ้าปราศจากสิ่งสนองความต้องการทางประสาททั้ง ๕ แล้ว ก็มีแต่ความเบื่อหน่าย ว้าเหว่ ทนไม่ไหว ต้องเที่ยวดิ้นรนไขว่คว้าสิ่งสนองความต้องการใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เพื่อหนีจากภาวะเบื่อหน่ายตัวเอง ถ้าขาดสิ่งสนองความต้องการ หรือไม่ได้ตามที่ต้องการเมื่อใด ก็ผิดหวัง ชีวิตหมดความหมาย เบื่อตัวเอง ชังตัวเอง ความสุข ความทุกข์จึงขึ้นต่อปัจจัยภายนอกอย่างเดียว เวลาว่างจึงกลับเป็นโทษ เป็นภัยแก่มนุษย์ได้ทั้งส่วนบุคคลและสังคม ความเบื่อหน่าย ความซึมเศร้า ความว้าเหว่ ความไม่พอใจ จึงมีมากขึ้น ทั้งที่มีสิ่งสนองความต้องการมากขึ้น และการแสวงหาความปรนปรือทางประสาทสัมผัสต่างๆ จึงหยาบและร้อนแรงยิ่งขึ้น

 การติดสิ่งเสพย์ติดต่างๆ ก็ดี การใช้เวลาว่างทำความผิดความชั่วของเด็กวัยรุ่นก็ดี ถ้าสืบค้นลงไปในจิตใจอย่างลึกซึ้งแล้ว จะเห็นว่าสาเหตุสำคัญ ก็คือ ความทนอยู่ไม่ได้ ความเบื่อหน่ายจะหนีไปให้พ้นจากภพที่เขาเกิดอยู่ในขณะนั้นนั่นเอง

 ในกรณีที่มีการศึกษาอบรม ได้รับคำแนะนำสั่งสอนทางศาสนา มีความเชื่อถือในทางที่ถูกต้อง หรือยึดถือในอุดมคติที่ดีงามต่างๆ แล้ว (อวิชชาไม่มืดบอดเสียทีเดียว) เกิดความใฝ่จะเป็นในทางที่ดี ตัณหาก็ถูกผันมาใช้ในทางที่ดีได้ จึงมีการทำดีเพื่อจะได้เป็นคนดี การขยันหมั่นเพียร เพื่อผลที่หมายระยะยาว การบำเพ็ญประโยชน์เพื่อเกียรติคุณ หรือเพื่อไปเกิดในสวรรค์ การใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ตลอดจนการอาศัยตัณหาเพื่อละตัณหาก็ได้

มีต่อค่ะ
หัวข้อ: Re: พุทธธรรม หรือ กฎธรรมชาติและคุณค่าสำหรับชีวิต (ป. อ. ปยุตฺโต)
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ กันยายน 24, 2013, 04:43:28 pm

(https://encrypted-tbn2.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQ5b9OTSnYNR_FCUuJPU1vyvWatr5qslYTptvURBPNR03ICnjRDHA)

ค. อุปาทาน เป็นเงื่อนปมสำคัญ ที่ปั่นวงจรชีวิต
 กิเลสที่สืบเนื่องจากตัณหา ได้แก่ อุปาทาน (ความยึดมั่นถือมั่น) ซึ่งมี ๔ อย่าง คือ

 ๑. กามุปาทาน ความยึดมั่นในกาม  (clinging to sensuality): เมื่ออยากได้ ดิ้นรน แส่หา ก็ยึดมั่นติดพันในสิ่งที่อยากได้นั้น เมื่อได้แล้วก็ยึดมั่นเพราะอยากสนองความต้องการให้ยิ่งๆ ขึ้นไป และกลัวหลุดลอยพรากไปเสีย ถึงแม้ผิดหวังหรือพรากไป ก็ยิ่งปักใจมั่นด้วยความผูกใจอาลัย พร้อมกันนั้น ความยึดมั่นก็ยิ่งแน่นแฟ้นขึ้น เพราะสิ่งสนองความต้องการต่างๆ ไม่ให้
ภาวะเต็มอิ่มหรือสนองความต้องการได้เต็มขีดที่อยากจริงๆ ในคราวหนึ่งๆ จึงพยายามเพื่อเข้าถึงขีดที่เต็มอยากนั้นด้วยการกระทำอีกๆ และเพราะสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ของของตนแท้จริง จึงต้องยึดมั่นไว้ด้วยความรู้สึกจูงใจตนเองว่าเป็นของของตนในแง่ใดแง่หนึ่งให้ได้ ความคิดจิตใจของปุถุชนจึงไปยึดติดผูกพันข้องอยู่กับสิ่งสนองความอยากอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่เสมอ ปลอดโปร่ง เป็นอิสระ และเป็นกลางได้ยาก

 ๒. ทิฏฐุปาทาน ความยึดมั่นในทฤษฎีหรือทิฏฐิต่างๆ (clinging to views): ความอยากให้เป็น หรือไม่ให้เป็นอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ตนต้องการ ย่อมทำให้เกิดความเอนเอียงยึดมั่นในทิฏฐิ ทฤษฎี หรือหลักปรัชญาอย่างใดอย่างหนึ่งที่เข้ากับความต้องการของตน ความอยากได้สิ่งสนองความต้องการของตน ก็ทำให้ยึดมั่นในหลักการ แนวความคิด ความเห็น ลัทธิ หลักคำสอนที่สนอง หรือเป็นไปเพื่อสนองความต้องการของตน เมื่อยึดถือความเห็น หรือหลักความคิดอันใดอันหนึ่งว่าเป็นของตนแล้ว ก็ผนวกเอาความเห็น หรือหลักความคิดนั้น เป็นตัวตนของตนไปด้วย จึงนอกจากจะคิดนึกและกระทำการต่างๆ ไปตามความเห็นนั้นๆ แล้ว เมื่อมีทฤษฎีหรือความเห็นอื่นๆ ที่ขัดแย้งกับความเห็นที่ยึดไว้นั้น ก็รู้สึกว่าเป็นการคุกคามต่อตัวตนของตนด้วย เป็นการเข้ามาบีบคั้นหรือจะทำลายตัวตนให้เสื่อมด้อยลง พร่องลง หรือสลายไป อย่างใดอย่างหนึ่ง จึงต้องต่อสู้รักษาความเห็นนั้นไว้เพื่อศักดิ์ศรีเป็นต้นของตัวตน จึงเกิดการขัดแย้งที่แสดงออกภายนอก เกิดการผูกมัดตัวให้คับแคบ สร้างอุปสรรค กักปัญญาของตนเอง ความคิดเห็นต่างๆ ไม่เกิดประโยชน์ตามความหมายและวัตถุประสงค์แท้ๆ ของมัน ทำให้ไม่สามารถถือเอาประโยชน์จากความรู้ และรับความรู้ต่างๆ ได้เท่าที่ควรจะเป็น

 ๓. สีลัพพตุปาทาน ความยึดมั่นในศีลและพรต (clinging to mere rule and ritual): ความอยากได้ อยากเป็นอยู่ ความกลัวต่อความสูญสลายของตัวตน โดยไม่เข้าใจกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยในธรรมชาติ ผสมกับความยึดมั่นในทิฏฐิอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้ทำการต่างๆ ไปตามวิธีปฏิบัติที่สักว่ายึดถือมา เป็นแบบแผน หรือประพฤติปฏิบัติไปตามๆ กันอย่างงมงายในสิ่งที่นิยมว่าขลัง ว่าศักดิ์สิทธิ์ ที่จะสนองความอยากของตนได้ ทั้งที่ไม่มองเห็นความสัมพันธ์โดยทางเหตุผล
 ความอยากให้ตัวตนคงอยู่ มีอยู่ และความยึดมั่นในตัวตน แสดงออกมาภายนอกหรือทางสังคม ในรูปของความยึดมั่น ในแบบแผนความประพฤติต่างๆ การกระทำสืบๆกันมา ระเบียบวิธี ขนบธรรมเนียมประเพณี ลัทธิพิธี ตลอดจนสถาบันต่างๆ ที่แน่นอนตายตัว ว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นๆ โดยไม่ตระหนักรู้ในความหมาย คุณค่า วัตถุประสงค์ และความสัมพันธ์โดยเหตุผล กลายเป็นว่ามนุษย์สร้างสิ่งต่างๆ เหล่านี้ขึ้นมาเพื่อกีดกั้น ปิดล้อมตัวเอง และทำให้แข็งทื่อ ยากแก่การปรับปรุงตัว และการที่จะได้รับประโยชน์จากสิ่งทั้งหลายที่ตนเข้าไปสัมพันธ์

 ในเรื่องสีลัพพตุปาทานนี้ มีคำอธิบายของท่านพุทธทาสภิกขุ ตอนหนึ่ง ที่เห็นว่าจะช่วยให้ความหมายชัดเจนขึ้นอีก ดังนี้
 เมื่อมาประพฤติศีล หรือธรรมะข้อใดข้อหนึ่งแล้ว ไม่ทราบความมุ่งหมาย ไม่คำนึงถึงเหตุผล ได้แต่ลงสันนิษฐานเอาเสียว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ เมื่อลงได้ปฏิบัติของศักดิ์สิทธิ์แล้ว ย่อมต้องได้รับผลดีเอง ฉะนั้น คนเหล่านี้จึงสมาทานศีล หรือประพฤติธรรมะ แต่เพียงตามแบบฉบับ ตามตัวอักษร ตามประเพณี ตามตัวอย่าง ที่สืบปรัมปรากันมาเท่านั้น ไม่เข้าถึงเหตุผลของสิ่งนั้นๆ แต่เพราะอาศัยการประพฤติกระทำมาจนชิน การยึดถือจึงเหนียวแน่น เป็นอุปาทานชนิดแก้ไขยาก...ต่างจากอุปาทานข้อที่สองข้างต้น ซึ่งหมายถึงการถือในตัวทิฏฐิ หรือความคิดความเห็นที่ผิด ส่วนข้อนี้ เป็นการยึดถือในตัวการปฏิบัติ หรือการกระทำทางภายนอก

 ๔. อัตตวาทุปาทาน ความยึดมั่นในวาทะว่าตัวตน (clinging to the ego-belief): ความรู้สึกว่ามีตัวตนที่แท้จริงนั้น เป็นความหลงผิดที่มีเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว และยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ช่วยเสริมความรู้สึกนี้อีก เช่นภาษา อันเป็นถ้อยคำสมมติสำหรับสื่อความหมาย ที่ชวนให้มนุษย์ผู้ติดบัญญัติมองเห็นสิ่งต่างๆ แยกออกจากกันเป็นตัวตนที่คงที่ แต่ความรู้สึกนี้กลายเป็นความยึดมั่นเพราะตัณหาเป็นปัจจัย กล่าวคือ เมื่ออยากได้ก็ยึดมั่นว่ามีตัวตนที่เป็นผู้ได้รับและเสวยสิ่งที่อยากนั้น มีตัวตนที่เป็นเจ้าของสิ่งที่ได้นั้น เมื่ออยากเป็นอยู่ ก็อยากให้มีตัวตนอันใดอันหนึ่งเป็นอยู่ คงอยู่ เมื่ออยากไม่เป็นอยู่ ก็ยึดในตัวตนอันใดอันหนึ่งที่จะให้สูญสลายไป เมื่อกลัวว่าตัวตนจะสูญสลายไป ก็ยิ่งตะเกียกตะกายย้ำความรู้สึกในตัวตนให้แน่นแฟ้นหนักขึ้นไปอีก
 ที่สำคัญคือ ความอยากนั้นสัมพันธ์กับความรู้สึกว่ามีเจ้าของผู้มีอำนาจควบคุม คือมีตัวตนที่เป็นนายบังคับบัญชาสิ่งต่างๆ ให้เป็นไปอย่างที่อยากให้เป็นได้ และก็ปรากฏคล้ายกับว่ามีการบังคับบัญชาได้สมปรารถนาบ้างเหมือนกัน จึงหลงผิดไปว่ามีตัวฉันหรือตัวตนของฉันที่เป็นเจ้าของ เป็นนายบังคับสิ่งเหล่านั้นได้ แต่ความจริงมีอยู่ว่า การบังคับบัญชานั้น เป็นไปได้เพียงบางส่วนและชั่วคราวเท่านั้น เพราะสิ่งที่ยึดว่าเป็นตัวตนนั้น ก็เป็นเพียงปัจจัยอย่างหนึ่งในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย ไม่สามารถบังคับบัญชาสิ่งอื่นๆ ที่เข้าไปยึด ให้เป็นไปตามที่อยากให้เป็นได้ถาวรและเต็มอยากจริงๆ การที่รู้สึกว่าตัวเป็นเจ้าของควบคุมบังคับบัญชาได้อยู่บ้าง แต่ไม่เต็มสมบูรณ์จริงๆ เช่นนี้ กลับเป็นการย้ำความหมายมั่น และตะเกียกตะกายเสริมความรู้สึกว่าตัวตนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นไปอีก

 เมื่อยึดมั่นในตัวตนด้วยอุปาทาน ก็ไม่รู้จักที่จะจัดการสิ่งต่างๆ ตามเหตุตามปัจจัยที่จะให้มันเป็นไปอย่างนั้นๆ กลับหลงมองความสัมพันธ์ผิด ยกเอาตัวตนขึ้นยึดไว้ในฐานะเจ้าของที่จะบังคับควบคุมสิ่งเหล่านั้นตามความปรารถนา เมื่อไม่ทำตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย และสิ่งเหล่านั้นไม่เป็นไปตามความปรารถนา ตัวตนก็ถูกบีบคั้นด้วยความพร่อง เสื่อมด้อย และความสูญสลาย ความยึดมั่นในตัวตนนี้นับว่าเป็นข้อสำคัญ เป็นพื้นฐานของความยึดมั่นข้ออื่นๆ ทั้งหมด

 ว่าโดยสรุป อุปาทานทำให้มนุษย์ปุถุชนมีจิตใจไม่ปลอดโปร่งผ่องใส ความคิดไม่แล่นคล่องไปตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย ไม่สามารถแปลความหมาย ตัดสิน และกระทำการต่างๆ ไปตามแนวทางแห่งเหตุปัจจัยตามที่มันควรจะเป็นโดยเหตุผลบริสุทธิ์ แต่มีความติดข้อง ความเอนเอียง ความคับแคบ ความขัดแย้ง และความรู้สึกถูกบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา ความบีบคั้นเกิดขึ้นเพราะความยึดว่าเป็นตัวเรา ของเรา เมื่อเป็นตัวเรา ของเรา ก็ต้องเป็นอย่างที่เราอยากให้เป็น แต่สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่เป็นไปตามที่เราอยากให้เป็น

 เมื่อมันไม่อยู่ในบังคับของความอยาก กลับเป็นอย่างอื่นไปจากที่อยากให้เป็น ตัวเราก็ถูกขัดแย้งกระทบกระแทกบีบคั้น สิ่งที่ยึดถูกกระทบเมื่อใด ตัวเราก็ถูกกระทบเมื่อนั้น สิ่งที่ยึดไว้มีจำนวนเท่าใด ตัวเราแผ่ไปถึงไหน ยึดไว้ด้วยความแรงเท่าใด ตัวเราที่ถูกกระทบ ขอบเขตที่ถูกกระทบ และความแรงของการกระทบ ก็มีมากเท่านั้น และผลที่เกิดขึ้น มิใช่เพียงความทุกข์เท่านั้น แต่หมายถึงชีวิตที่เป็นอยู่และกระทำการต่างๆ ตามอำนาจความยึดอยาก ไม่ใช่เป็นอยู่และทำการด้วยปัญญาตามเหตุปัจจัย จึงเป็นเหตุให้การงานที่ทำไม่สำเร็จผลดี หรือยากที่จะได้ผลดี กับทั้งยังพ่วงเอาปัญหาจุกจิกวุ่นวายนอกเรื่องตามมาอีกมากมายโดยไม่สมควร

 ต่อจากอุปาทาน กระบวนการดำเนินต่อไปถึงขั้น ภพ ชาติ ชรามรณะ จนเกิด โสกะ ปริเทวะ เป็นต้น ตามแนวที่อธิบายมาแล้ว เมื่อเกิด โสกะ ปริเทวะ เป็นต้นแล้ว บุคคลย่อมหาทางออกด้วยการคิด ตัดสินใจ และกระทำการต่างๆ ตามความเคยชิน ความโน้มเอียง ความเข้าใจ และความคิดเห็นที่ยึดมั่นสะสมไว้อีก โดยไม่มองเห็นภาวะที่ประสบในขณะนั้นๆ ตามที่มันเป็นของมันจริงๆ วงจรจึงเริ่มขึ้นที่อวิชชา แล้วหมุนต่อไปอย่างเดิม

มีต่อค่ะ
หัวข้อ: Re: พุทธธรรม หรือ กฎธรรมชาติและคุณค่าสำหรับชีวิต (ป. อ. ปยุตฺโต)
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ กันยายน 24, 2013, 04:51:51 pm

(https://lh6.googleusercontent.com/--DwtA_gMVDA/Uj_NMeRN9RI/AAAAAAABI7s/CqK2dXZKatg/w426-h290/56+-+1)

ง. การผ่อนเบาปัญหา เมื่อยังมีอวิชชาและตัณหา
 แม้อวิชชาจะเป็นกิเลสพื้นฐาน เป็นที่ก่อตัวของกิเลสอื่นๆ แต่ในขั้นแสดงออกเป็นพฤติกรรมต่างๆ ตัณหาย่อมเป็นตัวชักจูง เป็นตัวบงการและแสดงบทบาทที่ใกล้ชิดเห็นได้ชัดเจนกว่า ดังนั้น ในทางปฏิบัติ เช่นในอริยสัจ ๔ จึงถือว่าตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์

 เมื่ออวิชชาเป็นไปอย่างมืดบอดเลื่อนลอย ตัณหาไม่มีหลัก ไม่ถูกควบคุม เป็นไปสุดแต่จะให้สนองความต้องการได้สำเร็จ ย่อมมีทางให้เกิดกรรมฝ่ายชั่วมากกว่าฝ่ายดี แต่เมื่ออวิชชาถูกปรุงแปลงด้วยความเชื่อถือในทางที่ดีงาม ได้รับอิทธิพลจากความคิดที่ถูกต้องหรือจากความเชื่อที่มีเหตุผล ตัณหาถูกชักจูงให้เบนไปสู่เป้าหมายที่ดีงาม ถูกควบคุมขัดเกลา และขับให้พุ่งไปอย่างมีจุดหมาย ก็ย่อมให้เกิดกรรมฝ่ายดี และเป็นประโยชน์ได้อย่างมาก และถ้าได้รับการชักนำอย่างถูกต้อง ก็จะเป็นเครื่องอุปถัมภ์ สำหรับกำจัดอวิชชาและตัณหาได้ต่อไปด้วย

 วิถีอย่างแรกเป็นวิถีแห่งความชั่ว แห่งบาปอกุศล อย่างหลังเป็นวิถีแห่งความดี แห่งบุญกุศล คนดีและคนชั่วต่างก็ยังมีทุกข์อยู่ตามแบบของตนๆ แต่วิถีฝ่ายดีเท่านั้นที่สามารถนำไปสู่ความสิ้นทุกข์ ความหลุดพ้น และความเป็นอิสระได้

 ตัณหาที่ถูกใช้ในทางที่เป็นประโยชน์นั้น มีตัวอย่างถึงขั้นสูงสุด เช่น :-
 ดูกรน้องหญิง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้ยินว่า ภิกษุชื่อนี้ กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันหาอาสวะมิได้ ฯลฯ เธอจึงมีความดำริว่า เมื่อไรหนอ เราจักกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ ฯลฯ บ้าง สมัยต่อมา  เธออาศัยตัณหาแล้วละตัณหาเสียได้ ข้อที่เรากล่าวว่า กายนี้เกิดจากตัณหา พึงอาศัยตัณหา ละตัณหาเสีย  เราอาศัยความ ข้อนี้เองกล่าว

 ถ้าไม่สามารถทำอย่างอื่น นอกจากเลือกเอาในระหว่างตัณหาด้วยกัน พึงเลือกเอาตัณหาในทางที่ดีเป็นแรงชักจูงในการกระทำ แต่ถ้าทำได้ พึงเว้นตัณหาทั้งฝ่ายชั่วฝ่ายดี เลือกเอาวิถีแห่งปัญญา อันเป็นวิถีที่บริสุทธิ์ อิสระ และไร้ทุกข์

มีต่อค่ะ
หัวข้อ: Re: พุทธธรรม :ปฏิจจสมุปบาทในฐานะมัชเฌนธรรมเทศนา
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ กันยายน 24, 2013, 05:42:58 pm

(http://3.bp.blogspot.com/-nBfNsCp1F1w/UeIG-pB3KDI/AAAAAAAAONY/BplqDljIUJk/s1600/1069411_564267950283727_568978739_n.jpg)

๘. ปฏิจจสมุปบาทในฐานะมัชเฌนธรรมเทศนา
 ความเข้าใจในปฏิจจสมุปบาท เรียกว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ หรือเห็นถูกต้อง และความเห็นที่ถูกต้องนี้เป็นความเห็นชนิดที่เรียกว่าเป็นกลางๆ ไม่เอียงสุดไปทางใดทางหนึ่ง ปฏิจจสมุปบาทจึงเป็นหลักหรือกฎที่แสดงความจริงเป็นกลางๆ ไม่เอียงสุด อย่างที่เรียกว่า “มัชเฌนธรรมเทศนา”

 ความเป็นกลางของหลักความจริงนี้ เห็นได้โดยโดยการเทียบกับลัทธิหรือทฤษฎีเอียงสุดต่างๆ และความเข้าใจปฏิจจสมุปบาทโดยถูกต้อง จะต้องแยกออกจากทฤษฎีเอียงสุดเหล่านี้ด้วย ดังนั้น ในที่นี้จึงควรนำทฤษฎีเหล่านี้มาแสดงไว้เปรียบเทียบเป็นคู่ๆ โดยการใช้วิธีอ้างพุทธพจน์เป็นหลัก และอธิบายให้น้อยที่สุด

คู่ที่ ๑: ๑. อัตถิกวาทะ  ลัทธิว่าสิ่งทั้งหลายมีอยู่จริง (extreme realism) ๒. นัตถิกวาทะ  ลัทธิว่าสิ่งทั้งหลายไม่มีจริง (nihilism)
 ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า “สัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิ” ดังนี้ แค่ไหน จึงจะชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ?
 แน่ะ ท่านกัจจานะ โลกนี้โดยมากอิง (ทฤษฎีของตน) ไว้กับภาวะ ๒ อย่าง คือ อัตถิตา (ความมี) และนัตถิตา (ความไม่มี) เมื่อเห็นโลกสมุทัยตามที่มันเป็นด้วยสัมมาปัญญา นัตถิตาในโลกก็ไม่มี เมื่อเห็นโลกนิโรธตามที่มันเป็นด้วยสัมมาปัญญา อัตถิตาในโลกนี้ก็ไม่มี
 โลกนี้โดยมากยึดมั่นถือมั่นในอุบาย(systems) และถูกคล้องขังไว้ด้วยอภินิเวส (dogmas) ส่วนอริยสาวก ย่อมไม่เข้าหา ไม่ยึด ไม่ติดอยู่กับความยึดมั่นถือมั่นในอุบาย ความปักใจ อภินิเวส และอนุสัยว่า       “อัตตาของเรา” ย่อมไม่เคลือบแคลงสงสัยว่า “ทุกข์นั่นแหละ เมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้น ทุกข์ เมื่อดับ ก็ย่อมดับ”  อริยสาวกย่อมมีญาณในเรื่องนี้ โดยไม่ต้องอาศัยผู้อื่นเลย เพียงเท่านี้แล ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ

 ดูก่อนกัจจานะ ข้อว่า ‘สิ่งทั้งปวงมีอยู่’ นี้เป็นที่สุดข้างหนึ่ง ข้อว่า  ‘สิ่งทั้งปวงไม่มี’ นี้เป็นที่สุดข้างหนึ่ง ตถาคตย่อมแสดงธรรมเป็นกลางๆ ไม่เข้าไปติดที่สุดทั้งสองนั้นว่า “เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี ฯลฯ เพราะอวิชชานั่นแหละสำรอกดับไปไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับไป วิญญาณจึงดับ ฯลฯ” 

 พราหมณ์นักโลกายัตคนหนึ่งมาเฝ้าทูลถามปัญหาว่า:
 ท่านพระโคตมะผู้เจริญ สิ่งทั้งปวงมีอยู่หรือ?
 พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า:
 ข้อว่า ‘สิ่งทั้งปวงมี’ เป็นโลกายัตหลักใหญ่ที่สุด
 ถาม:   สิ่งทั้งปวงไม่มีหรือ?
 ตอบ:  ข้อว่า ‘สิ่งทั้งปวงไม่มี’ เป็นโลกายัตที่สอง
 ถาม:  สิ่งทั้งปวงเป็นภาวะหนึ่งเดียว (เอกัตตะ-unity) หรือ?
 ตอบ:  ข้อว่า ‘สิ่งทั้งปวงเป็นภาวะหนึ่งเดียว’  เป็นโลกายัตที่สาม
 ถาม: สิ่งทั้งปวง เป็นภาวะหลากหลาย (ปุถุตตะ-plurality) หรือ?
 ตอบ:  ข้อว่า ‘สิ่งทั้งปวงเป็นภาวะหลากหลาย’ เป็นโลกายัตที่สี่
 ดูก่อนพราหมณ์ ตถาคตไม่เข้าไปติดที่สุดทั้งสองข้างเหล่านี้ ย่อมแสดงธรรมเป็นกลางๆ ว่า “เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี เพราะ สังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี ฯลฯ เพราะอวิชชาสำรอกดับไปไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ”

คู่ที่ ๒: ๑. สัสสตวาทะ ลัทธิถือว่าเที่ยง (eternalism)
   ๒. อุจเฉทวาทะ ลัทธิถือว่าขาดสูญ (annihilationism)
 คู่ที่ ๒ นี้ มีกล่าวถึงบ่อยๆ ในที่ทั่วไปอยู่แล้ว จึงไม่แสดงไว้ที่นี้อีก

คู่ที่ ๓: ๑. อัตตการวาทะ หรือ สยังการวาทะ ลัทธิถือว่าสุขทุกข์เป็นต้น ตนทำเอง
  (self-generationism หรือ Karmic autogenesisism)
   ๒. ปรการวาทะ ลัทธิถือว่าสุขทุกข์เป็นต้น เกิดจากตัวการภายนอก
  (other-generationism หรือ Karmic heterogenesisism)
 คู่ที่ ๓ นี้ และคู่ที่ ๔ ที่จะกล่าวต่อไป มีความสำคัญมากในแง่ของหลัก
กรรม
เมื่อศึกษาเข้าใจดีแล้ว จะช่วยป้องกันความเข้าใจผิดในเรื่องกรรมได้
เป็นอย่างมาก  จึงควรสังเกตตามแนวพุทธพจน์ ดังนี้ :-

 ถาม:  ทุกข์ ตนทำเองหรือ?
 ตอบ:  อย่ากล่าวอย่างนั้น
 ถาม:  ทุกข์ตัวการอย่างอื่นกระทำให้หรือ?
 ตอบ:  อย่ากล่าวอย่างนั้น
 ถาม:  ทุกข์ตนทำเองด้วย ตัวการอย่างอื่นทำให้ด้วยหรือ?
 ตอบ:  อย่ากล่าวอย่างนั้น
 ถาม: ทุกข์มิใช่ตนทำเอง มิใช่ตัวการอย่างอื่นทำให้ แต่เกิดขึ้นเอง
  ลอยๆ (เป็นอธิจจสมุปบัน) หรือ?
 ตอบ:  อย่ากล่าวอย่างนั้น
 ถาม:  ถ้าอย่างนั้น ทุกข์ไม่มีหรือ?
 ตอบ:  ทุกข์มิใช่ไม่มี ทุกข์มีอยู่
 ถาม:  ถ้าอย่างนั้น ท่านพระโคตมะ ไม่รู้ ไม่เห็นทุกข์หรือ?
 ตอบ:  เรามิใช่ไม่รู้ ไม่เห็นทุกข์ เรารู้ เราเห็นทุกข์แท้ทีเดียว

 ถาม: ...ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้โปรดบอก โปรดแสดงทุกข์แก่
  ข้าพเจ้าด้วยเถิด
 ตอบ: เมื่อว่า ‘ทุกข์ตนทำเอง’ อย่างที่ว่าทีแรก ก็เท่ากับบอกว่า ‘ผู้นั้นทำ
  ผู้นั้นเสวย(ทุกข์)’ กลายเป็นสัสสตทิฏฐิไป เมื่อว่า ‘ทุกข์ตัวการ
  อย่างอื่นทำให้’ อย่างที่ผู้ถูกเวทนาทิ่มแทงรู้สึก ก็เท่ากับบอกว่า
  ‘คนหนึ่งทำ คนหนึ่งเสวย(ทุกข์)’ กลายเป็นอุจเฉททิฏฐิไป
  ตถาคตไม่เข้าไปติดที่สุดทั้งสองข้างนั้น ย่อมแสดงธรรมเป็น
  กลางๆ ว่า “เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี เพราะสังขาร
  เป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี ฯลฯ เพราะอวิชชาสำรอกดับไปไม่
  เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ฯลฯ”

 ถาม:  สุขทุกข์ ตนทำเอง หรือ?
 ตอบ:  อย่ากล่าวอย่างนั้น
 ถาม:  สุขทุกข์ ตัวการอย่างอื่นทำให้หรือ?
 ตอบ:  อย่ากล่าวอย่างนั้น
 ถาม:  สุขทุกข์ ตนทำเองด้วย ตัวการอื่นทำให้ด้วยหรือ?
 ตอบ:  อย่ากล่าวอย่างนั้น
 ถาม:  สุขทุกข์ มิใช่ตนทำเอง มิใช่ตัวการอย่างอื่นทำให้ แต่เกิดขึ้น
        เองลอยๆ (เป็นอธิจจสมุปบัน) หรือ?
 ตอบ:  อย่ากล่าวอย่างนั้น
 ถาม:  (ถ้าอย่างนั้น) สุขทุกข์ ไม่มีหรือ?
 ตอบ:  สุขทุกข์มิใช่ไม่มี สุขทุกข์มีอยู่
 ถาม:  ถ้าอย่างนั้น ท่านพระโคตมะ ไม่รู้ ไม่เห็นสุขทุกข์หรือ?
 ตอบ:  เรามิใช่ไม่รู้ ไม่เห็นสุขทุกข์ เรารู้ เราเห็นสุขทุกข์แท้ทีเดียว

 ถาม: ...ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า โปรดบอก โปรดแสดงสุขทุกข์แก่
  ข้าพเจ้าด้วยเถิด
 ตอบ: เพราะเข้าใจเอาแต่แรกว่า เวทนาก็นั่น ผู้เสวยเวทนาก็นั่น จึงเกิด
  ยึดถือขึ้นว่า สุขทุกข์ตนทำเอง เราหากล่าว(ว่าเป็น)อย่างนั้นไม่
  เพราะเข้าใจว่า เวทนาก็อย่าง ผู้เสวยเวทนาก็อย่าง จึงเกิดความ
  ยึดถืออย่างที่ผู้ถูกเวทนาทิ่มแทงรู้สึกว่า สุขทุกข์ตัวการอย่างอื่น
  ทำให้ เราหากล่าว(ว่าเป็น)อย่างนั้นไม่ ตถาคตไม่เข้าไปติดที่สุดทั้ง
  สองข้างนั้น  ย่อมแสดงธรรมเป็นกลางๆ ว่า  “เพราะอวิชชาเป็น
  ปัจจัย สังขารจึงมี ฯลฯ เพราะอวิชชาสำรอกดับไปไม่เหลือ
  สังขารจึงดับ ฯลฯ”

 ดูก่อนอานนท์ เรากล่าวว่าสุขทุกข์เป็นปฏิจจสมุปบันธรรม (สิ่งที่ อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น) อาศัยอะไร? อาศัยผัสสะ
 เมื่อกายมีอยู่ อาศัยความจงใจทางกายเป็นเหตุ สุขทุกข์ภายในจึงเกิดขึ้นได้ เมื่อวาจามีอยู่ อาศัยความจงใจทางวาจาเป็นเหตุ สุขทุกข์ภายในจึงเกิดขึ้นได้ เมื่อมโนมีอยู่ อาศัยมโนสัญเจตนาเป็นเหตุ สุขทุกข์ภายในจึงเกิดขึ้นได้
 เพราะอวิชชานั่นแหละเป็นปัจจัย บุคคลจึงปรุงแต่งกายสังขารขึ้นเอง เป็นปัจจัยให้เกิดสุขทุกข์ภายในบ้าง เนื่องจากผู้อื่น (ถูกคนอื่นหรือตัวการอื่นๆ กระตุ้นหรือชักจูง) จึงปรุงแต่งกายสังขาร เป็นปัจจัยให้เกิดสุขทุกข์ภายในบ้าง รู้ตัวอยู่ จึงปรุงแต่งกายสังขารนั้น เป็นปัจจัยให้เกิดสุขทุกข์ภายในบ้าง ไม่รู้ตัวอยู่ ย่อมปรุงแต่งกายสังขาร เป็นปัจจัยให้เกิดสุขทุกข์ภายในบ้าง จึงปรุงแต่งวจีสังขาร...มโนสังขารขึ้นเองบ้าง...เนื่องจากผู้อื่นบ้าง...โดยรู้ตัวบ้าง...โดยไม่รู้ตัวบ้าง เป็นปัจจัยให้เกิดสุขทุกข์ภายใน ในกรณีเหล่านี้ อวิชชาเข้าแทรกอยู่แล้ว (ทั้งนั้น)

คู่ที่ ๔:   ๑. การกเวทกาทิเอกัตตวาท  การถือว่าผู้ทำและผู้เสวยผลเป็นต้น เป็นตัวการเดียวกัน (the extremist view of a self-identical
  soul หรือ the monistic view of subject-object unity)
 ๒. การกเวทกาทินานัตตวาท๒ การถือว่าผู้ทำและผู้เสวยผลเป็นต้น
  เป็นคนละอย่างขาดจากกัน (the extremist view of
  individual discontinuity หรือ the dualistic view of
  subject-object distinction)

 ถาม:  ตัวที่ทำก็อันนั้น ตัวที่เสวย(ผล) ก็อันนั้นหรือ?
 ตอบ: ข้อว่า ตัวที่ทำก็อันนั้น ตัวที่เสวย(ผล) ก็อันนั้น เป็นที่สุดข้างหนึ่ง
 ถาม:  ตัวที่ทำก็อย่าง ตัวที่เสวย(ผล) ก็อย่างหรือ?
 ตอบ: ข้อว่า ตัวที่ทำก็อย่าง ตัวที่เสวย(ผล) ก็อย่าง เป็นที่สุดข้างที่สอง
  ตถาคตไม่เข้าไปติดที่สุดทั้งสองข้างนั้น ย่อมแสดงธรรมเป็น
  กลางๆ ว่า “เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี ฯลฯ เพราะ
  อวิชชาสำรอกดับไปไม่เหลือ สังขารจึงดับ ฯลฯ”

 ถาม:  พระองค์ผู้เจริญ  ชรามรณะ คืออะไร?  ชรามรณะนี้ของใคร?
 ตอบ: ตั้งปัญหายังไม่ถูก ผู้ใดกล่าวว่า ‘ชรามรณะคืออะไร? ชรามรณะนี้
  ของใคร?’ หรือผู้ใดกล่าวว่า ‘ชรามรณะก็อย่าง เจ้าของชรา
  มรณะก็อย่าง’ คำพูดทั้งสองแบบนี้มีความหมายอย่างเดียวกัน
  ต่างกันแต่พยัญชนะเท่านั้น
   เมื่อมีความเห็นว่า ‘ชีวะก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น’ การครองชีวิต
  ประเสริฐ (พรหมจรรย์) ก็มีไม่ได้ เมื่อมีความเห็นว่า ‘ชีวะก็อย่าง
  สรีระก็อย่าง’ การครองชีวิตประเสริฐ (พรหมจรรย์) ก็มีไม่ได้
  ตถาคตไม่เข้าไปติดที่สุดทั้งสองนั้น ย่อมแสดงธรรมเป็นกลางๆ
  ว่า “เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี

 ถาม: พระองค์ผู้เจริญ ชาติ...ภพ...อุปาทาน...ตัณหา...เวทนา...
  ผัสสะ...สฬายตนะ...นามรูป...วิญญาณ...สังขาร คืออะไร?
  ของใคร?
 ตอบ: ตั้งปัญหายังไม่ถูก (เนื้อความต่อไปแนวเดียวกับข้อชรามรณะ)
  เพราะอวิชชาสำรอกดับไปไม่เหลือ ความเห็นที่บิดเบือน ส่ายพร่า
  ขัดกัน อย่างใดๆ ก็ตามว่า  ‘ชรามรณะคืออะไร?  ชรามรณะนี้
  ของใคร?’ ก็ดี ‘ชรามรณะก็อย่าง เจ้าของชรามรณะก็อย่าง’ ก็ดี
  ‘ชีวะอันนั้น สรีระก็อันนั้น’ ก็ดี ‘ชีวะก็อย่าง สรีระก็อย่าง’ ก็ดี
  ความเห็นเหล่านั้น ทั้งหมด เป็นอันถูกกำจัด ถอนรากทิ้ง ทำให้
  สิ้นซาก ถึงความไม่มี หมดทางเกิดขึ้นได้ต่อไป

 ถาม:  ใครหนอย่อมผัสสะ (ใครเป็นผู้รับผัสสะ)?
 ตอบ: ตั้งปัญหายังไม่ถูก เรามิได้กล่าวว่า ‘ย่อมผัสสะ’ ถ้าเรากล่าวว่า
  ‘ย่อมผัสสะ’ ในกรณีนั้นจึงควรตั้งปัญหาได้ถูกต้องว่า ‘ใครหนอ
  ย่อมผัสสะ?’ แต่เรามิได้กล่าวอย่างนั้น เมื่อเราไม่กล่าวอย่างนั้น
  ผู้ใดถามอย่างนี้ว่า  ‘เพราะอะไรเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี?’  นี้จึงจะ
  ชื่อว่าตั้งปัญหาถูกต้อง  ในกรณีนั้น ก็มีคำเฉลยที่ถูกต้องว่า
  “เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี  เพราะผัสสะเป็นปัจจัย
  เวทนาจึงมี”

 ถาม:  ใครหนอเสวยเวทนา? ใครหนอทะยานอยาก (มีตัณหา)? ใคร
  หนอย่อมยึดมั่น (มีอุปาทาน)?
 ตอบ: ตั้งปัญหายังไม่ถูก ... ผู้ใดถามว่า ‘เพราะอะไรเป็นปัจจัยหนอ 
  เวทนาจึงมี? เพราะอะไรเป็นปัจจัยหนอ ตัณหาจึงมี? เพราะอะไร
  เป็นปัจจัยหนอ อุปาทานจึงมี?’ นี้ชื่อว่าตั้งปัญหาถูกต้อง ใน
  กรณีนั้นๆ ก็มีคำเฉลยที่ถูกต้องว่า “เพราะผัสสะเป็นปัจจัย
  เวทนาจึงมี เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี ฯลฯ”

 ภิกษุทั้งหลาย กายนี้ มิใช่ของพวกเธอ แล้วก็มิใช่ของใครอื่น พึงเห็นว่า กรรมเก่านี้ เป็นสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งขึ้น ถูกจงใจจำนงขึ้นมา (เกิดจากเจตนา หรือมีเจตนาเป็นมูล) เป็นที่ตั้งของเวทนา

 ภิกษุทั้งหลาย ในเรื่องนั้น อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้แล้ว ย่อมพิจารณาสืบสาว (โยนิโสมนสิการ) เป็นอย่างดี ถึงการที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันและกัน จึงเกิดขึ้น (ปฏิจจสมุปบาท) ว่า “เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้ก็ดับ กล่าวคือ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี ฯลฯ เพราะอวิชชาสำรอกดับไปไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ฯลฯ
 หลักปฏิจจสมุปบาท แสดงความจริงของธรรมชาติให้เห็นว่า สิ่งทั้งหลายมีลักษณะเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่เรียกว่าไตรลักษณ์ เป็นไปตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย ไม่มีปัญหาในเรื่องที่ว่า สิ่งทั้งหลายมีหรือไม่มีจริง ยั่งยืนหรือขาดสูญ เป็นต้น แต่ผู้ไม่รู้ความหมายของหลักปฏิจจสมุปบาท มักเข้าใจไตรลักษณ์ผิดพลาด โดยเฉพาะหลักอนัตตานั้น มักได้ยินได้ฟังกันอย่างผิวเผิน แล้วตีความเอาว่า อนัตตา หมายถึงไม่มีอะไร กลายเป็นนัตถิกวาท อันเป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างร้ายแรงไปเสีย

 ผู้เข้าใจหลักปฏิจจสมุปบาทดีแล้ว ย่อมพ้นจากความเข้าใจผิดแบบต่างๆ ที่แตกแขนงออกมาจากทฤษฎีทั้งหลายข้างต้นนั้น เช่น ความเชื่อว่าสิ่งทั้งหลายมีมูลการณ์หรือเหตุต้นเค้าเดิมสุด (the First Cause) และความเข้าใจว่ามีสิ่งวิเศษนอกเหนือธรรมชาติ (the Supernatural) เป็นต้น ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ตัวอย่างพุทธพจน์เกี่ยวกับเรื่องนี้ เช่น :-

 ภิกษุทั้งหลาย  เมื่อใดอริยสาวกเห็นปฏิจจสมุปบาทนี้ และ ปฏิจจ- สมุปบันธรรม (สิ่งที่อาศัยกันเกิดขึ้นตามหลักปฏิจจสมุปบาท) เหล่านี้ ชัดเจนตามที่มันเป็น ด้วยสัมมาปัญญาแล้ว เมื่อนั้น การที่อริยสาวกนั้นจะแล่นเข้าหาที่สุดข้างต้นว่า ‘ในอดีต เราได้เคยมีหรือไม่หนอ? ในอดีตเราได้เป็นอะไรหนอ? ในอดีต เราได้เป็นอย่างไรหนอ? ในอดีต เราเป็นอะไรแล้วจึงได้มาเป็นอะไรหนอ?’ หรือจะแล่นเข้าหาที่สุดข้างปลายว่า ‘ในอนาคต เราจักมีหรือไม่หนอ?  ในอนาคต เราจักเป็นอะไรหนอ?    ในอนาคต เราจักเป็นอย่างไรหนอ? ในอนาคต เราเป็นอะไรแล้วจักได้เป็นอะไรหนอ?’ หรือแม้แต่จะเป็นผู้มีความสงสัยกาลปัจจุบัน เป็นภายใน ณ บัดนี้ว่า ‘เรามีอยู่หรือไม่หนอ? เราคืออะไรหนอ? เราเป็นอย่างไรหนอ?  สัตว์นี้มาจากที่ไหน แล้วจักไป ณ ที่ไหนอีก?’ ดังนี้  ย่อมเป็น สิ่งที่เป็นไปไม่ได้   เพราะอะไร   ก็เพราะว่า  อริยสาวกได้เห็นปฏิจจ- สมุปบาทนี้ และปฏิจจสมุปบันธรรมเหล่านี้ ชัดเจนแล้วตามที่มันเป็นด้วยสัมมาปัญญา

 โดยนัยนี้ ผู้เห็นปฏิจจสมุปบาท จึงไม่สงสัยในปัญหาอภิปรัชญาต่างๆ ที่เรียกว่า อันตคาหิกทิฏฐิ และจึงเป็นเหตุผลที่พระพุทธเจ้าทรงนิ่งเสีย ไม่ตรัสตอบปัญหาเหล่านี้ ในเมื่อใครก็ตามมาทูลถาม โดยตรัสว่า เป็น อัพยากตปัญหา หรือปัญหาที่ไม่ทรงพยากรณ์ เพราะเมื่อเห็นปฏิจจสมุปบาท เข้าใจการที่สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยแล้ว ปัญหาเหล่านี้ย่อมกลายเป็นเรื่องเหลวไหลไป ขอยกตัวอย่างพุทธพจน์ที่แสดงเหตุผลในการไม่ตรัสตอบปัญหาเหล่านี้ เช่น :-ถาม: ท่านพระโคตมะผู้เจริญ อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พวกปริพาชก

 ผู้ถือลัทธิอื่นทั้งหลาย เมื่อถูกถามอย่างนี้ว่า
๑. โลกเที่ยง (ยั่งยืนนิรันดร) หรือ?
๒. โลกไม่เที่ยงหรือ?
๓. โลกมีที่สุดหรือ?
๔. โลกไม่มีที่สุดหรือ?
๕. ชีวะอันนั้น สรีระก็อันนั้นหรือ?
๖. ชีวะก็อย่าง สรีระก็อย่างหรือ?
๗. สัตว์หลังจากตายแล้ว มีอยู่หรือ?
๘. สัตว์หลังจากตายแล้ว ไม่มีหรือ?
๙. สัตว์หลังจากตายแล้ว ทั้งมี ทั้งไม่มีหรือ?
๑๐. สัตว์หลังจากตายแล้ว จะว่ามีอยู่ ก็ไม่ใช่ ไม่มีก็ไม่ใช่หรือ?จึงพยากรณ์ (ตอบ) ว่า ‘โลกเที่ยง’ บ้าง ‘โลกไม่เที่ยง’ บ้าง ฯลฯ
‘สัตว์หลังจากตายแล้ว จะว่ามีก็ไม่ใช่ ไม่มีก็ไม่ใช่’ บ้าง? (แต่) อะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้ท่านพระโคตมะผู้เจริญ เมื่อถูกทูลถามอย่างนั้น จึงไม่พยากรณ์ (ตอบ) ว่า ‘โลกเที่ยง’ หรือ ‘โลกไม่เที่ยง’ ฯลฯ ?

 ตอบ: แน่ะท่านวัจฉะ เหล่าปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่น ย่อมเข้าใจว่ารูปเป็นอัตตาบ้าง ว่าอัตตามีรูปบ้าง ว่ารูปอยู่ในอัตตาบ้าง ว่าอัตตาอยู่ในรูปบ้าง เข้าใจว่า เวทนา...สัญญา...สังขาร...เป็นอัตตา บ้าง ฯลฯ เข้าใจว่า วิญญาณเป็นอัตตาบ้าง ว่าอัตตามีวิญญาณบ้าง ว่าวิญญาณอยู่ในอัตตาบ้าง ว่าอัตตาอยู่ในวิญญาณบ้าง เพราะฉะนั้น เหล่าปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่นเหล่านั้น เมื่อถูกถามอย่างนั้น จึงพยากรณ์ไปว่า ‘โลกเที่ยง’ บ้าง ฯลฯ

 ส่วนพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมไม่เข้าใจเอารูปเป็นอัตตา หรือว่าอัตตามีรูป หรือว่ารูปอยู่ในอัตตา หรือว่าอัตตาอยู่ในรูป ฯลฯ ว่าวิญญาณเป็นอัตตา หรือว่าอัตตามีวิญญาณ หรือว่าวิญญาณอยู่ในอัตตา หรือว่าอัตตาอยู่ในวิญญาณ  เพราะฉะนั้น พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  เมื่อถูกทูลถามอย่างนี้  จึงไม่พยากรณ์ว่า ‘โลกเที่ยง’ หรือว่า ‘โลกไม่เที่ยง ฯลฯ’ ทฤษฎีหรือลัทธิที่ผิด ซึ่งขัดแย้งต่อหลักปฏิจจสมุปบาทนี้ ยังมีอีกบางข้อที่เกี่ยวข้องเป็นพิเศษในแง่ของกรรม แต่จะงดไว้ไม่พูดถึง ณ ที่นี้ก่อน เพราะได้ยกเรื่องกรรมไปอธิบายต่างหากอีกส่วนหนึ่งแล้ว จึงจะได้นำไปรวมแสดงไว้ ณ ที่นั้น

มีต่อค่ะ
หัวข้อ: Re: พุทธธรรม :หลักธรรมที่สืบเนื่องจากปฏิจจสมุปบาท
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ กันยายน 24, 2013, 06:46:03 pm

(https://lh5.googleusercontent.com/-XISZukubsVc/UkE_D49AnMI/AAAAAAAAbtk/u-JwINhSzxY/w426-h423/normal_buddha+4.jpg)

หลักธรรมที่สืบเนื่องจากปฏิจจสมุปบาท
 ความจริง หลักธรรมต่างๆ ไม่ว่าจะมีชื่อใดๆ ล้วนสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งสิ้น เพราะแสดงถึงหรือสืบเนื่องมาจากหลักสัจธรรมเดียวกัน และเป็นไปเพื่อจุดหมายเดียวกัน แต่นำมาแสดงในชื่อต่างๆ กัน โดยชี้ความจริงเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งคนละส่วนกันบ้าง เป็นความจริงอันเดียวกัน แต่แสดงคนละรูปละแนว เพื่อวัตถุประสงค์คนละอย่างบ้าง

 ด้วยเหตุนี้ หลักธรรมบางข้อจึงเป็นเพียงส่วนย่อยของหลักใหญ่ บางข้อเป็นหลักใหญ่ด้วยกัน ครอบคลุมความหมายของกันและกัน แต่มีแนวหรือรูปแบบการแสดงและความมุ่งหมายจำเพาะในการแสดงต่างกัน

 ปฏิจจสมุปบาทนั้น ถือว่าเป็นหลักใหญ่ที่ครอบคลุมธรรมได้ทั้งหมด เมื่ออธิบายปฏิจจสมุปบาทแล้ว เห็นว่าควรกล่าวถึงหลักธรรมสำคัญชื่ออื่นๆ อันเป็นที่รู้จักทั่วไปไว้ด้วย เพื่อให้เห็นว่าสัมพันธ์กันอย่างไร และเพื่อเสริมความเข้าใจทั้งในหลักธรรมเหล่านั้น และในปฏิจจสมุปบาทเองด้วย

 หลักธรรมที่ควรกล่าวไว้ในที่นี้ มี ๒ อย่าง คือ กรรม และอริยสัจ ๔
๑. กรรม
ก. ตัวกฎ หรือตัวสภาวะ (กรรม)
ข. คุณค่าทางจริยธรรม

ก. ตัวกฎ หรือตัวสภาวะ (กรรม)
 กรรมเป็นเพียงส่วนหนึ่งในกระบวนการแห่งปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเห็นได้ชัดเมื่อแยกส่วนในกระบวนการนั้นออกเป็น วัฏฏะ ๓ คือ กิเลส กรรม และวิบาก หลักปฏิจจสมุปบาทแสดงถึงกระบวนการทำกรรมและการให้ผลของกรรมทั้งหมด ตั้งต้นแต่กิเลสที่เป็นเหตุให้ทำกรรม จนถึงวิบากอันเป็นผลที่จะได้รับ เมื่อเข้าใจปฏิจจสมุปบาทดีแล้ว ก็เป็นอันเข้าใจหลักกรรมชัดเจนไปด้วย ดังนั้น ว่าโดยตัวกฎหรือสภาวะ จึงไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องชี้แจงเรื่องกรรมไว้ต่างหาก ณ ที่นี้อีก

 อย่างไรก็ดี มีจุดหรือแง่สำคัญบางประการที่ควรย้ำไว้ เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดที่ร้ายแรงในเรื่องกรรม ดังต่อไปนี้ :-
๑) กรรมในแง่กฎแห่งสภาวธรรม กับกรรมในแง่จริยธรรม
๒) ลัทธิหรือความเห็นผิด ที่ต้องแยกจากหลักกรรม
๓) แง่ละเอียดอ่อนที่ต้องเข้าใจ เกี่ยวกับการให้ผลของกรรมมีพุทธพจน์ว่า
๔) วิธีปฏิบัติต่อกรรม
๕) ทำกรรมเก่าให้เกิดประโยชน์
๖) อยู่เพื่อพัฒนากรรม ไม่ใช่อยู่เพื่อใช้กรรม
๗) กรรมระดับบุคคล-กรรมระดับสังคม

หัวข้อ: Re: พุทธธรรม หรือ กฎธรรมชาติและคุณค่าสำหรับชีวิต (ป. อ. ปยุตฺโต)
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ กันยายน 24, 2013, 07:22:33 pm

(https://lh5.googleusercontent.com/-CtytoKPGEiE/UkFZhw-Q-XI/AAAAAAAAAFg/ttGL0Jkh-Wc/w426-h266/2013+-+1)

๑) กรรมในแง่กฎแห่งสภาวธรรม กับกรรมในแง่จริยธรรม
 ตามหลักพุทธพจน์ว่า
 “เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย บุคคลจึงปรุงแต่งกายสังขาร ...วจีสังขาร...มโนสังขาร  ขึ้นเองบ้าง... เนื่องจากตัวการอื่นบ้าง... โดยรู้ตัวบ้าง... ไม่รู้ตัวบ้าง”

 และพุทธพจน์ซึ่งปฏิเสธทฤษฎีที่ว่า สุขทุกข์ตนทำเอง ของพวกอัตต-การวาท และทฤษฎีว่า สุขทุกข์ตัวการอื่นทำ ของพวกปรการวาท
 หลักตามพุทธพจน์นี้ เป็นการย้ำให้มองเห็นกรรมในฐานะกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย ตนเองก็ดี ผู้อื่นก็ดี จะมีส่วนเกี่ยวข้องแค่ไหนเพียงใด ย่อมต้องพิจารณาความเป็นเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องและเป็นไปในกระบวนการ มิใช่พูดขาดลงไปง่ายๆ ในทันที

 ที่กล่าวมานี้ เป็นการป้องกันความเข้าใจผิดสุดโต่ง ที่มักเกิดขึ้นในเรื่องกรรมว่า อะไรๆ เป็นเพราะตนเองทำทั้งสิ้น ทำให้ไม่คำนึงถึงองค์ประกอบและสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่เป็นปัจจัยเกี่ยวข้อง

 อย่างไรก็ดี ต้องแยกความเข้าใจอีกชั้นหนึ่ง ระหว่างหลักธรรมในแง่ตัวกฎหรือสภาวะ กับในแง่ของจริยธรรม
 ที่กล่าวมาแล้วนั้น เป็นการแสดงในแง่ตัวกฎหรือตัวสภาวะ ซึ่งเป็นเรื่องของกระบวนการตามธรรมชาติที่ครอบคลุมเหตุปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องทั้งหมด

 แต่ในแง่ของจริยธรรม อันเป็นคำสอนให้ปฏิบัติ ผู้ที่ถูกต้องการให้ปฏิบัติ ก็คือผู้ที่ถูกสอน ในกรณีนี้ คำสอนจึงมุ่งไปที่ตัวผู้รับคำสอน เมื่อพูดในแง่นี้ คือเจาะจงเอาเฉพาะตัวบุคคลนั้นเองเป็นหลัก ย่อมกล่าวได้ทีเดียวว่า เขาต้องเป็นผู้รับผิดชอบอย่างเต็มที่ ในการกระทำต่างๆ ที่เขาคิดหมายกระทำลงไป และที่จะให้ผลเกิดขึ้นตามที่มุ่งหมาย เช่น พุทธพจน์ว่า “ตนเป็นที่พึ่งของตน” นี้ เป็นการเพ่งความรับผิดชอบของบุคคล โดยมองจากตัวเองออกไป

 ในกรณีนี้ นอกจากจะมีความหมายว่าต้องช่วยเหลือตัวเอง ลงมือทำเองแล้ว ในแง่ที่สัมพันธ์กับการกระทำของผู้อื่น ยังหมายกว้างไปถึงการที่ความช่วยเหลือจากผู้อื่นจะเกิดขึ้น จะคงมีอยู่ และจะสำเร็จผล ต้องอาศัยการพึ่งตนของบุคคลนั้นเอง ในการที่จะชักจูง เร้าให้เกิดการกระทำจากผู้อื่น ในการที่จะรักษาการกระทำของผู้อื่นนั้นให้คงอยู่ต่อไป และในการที่จะยอมรับหรือสนองต่อการกระทำของผู้อื่นนั้นหรือไม่เพียงใดด้วย ดังนี้เป็นต้น

 โดยเหตุนี้ หลักกรรมในแง่ตัวสภาวะก็ดี ในแง่ของจริยธรรมก็ดี จึงไม่ขัดแย้งกัน แต่สนับสนุนซึ่งกันและกัน แต่ต้องทำความเข้าใจให้ถูก

มีต่อค่ะ
หัวข้อ: Re: พุทธธรรม :ลัทธิหรือความเห็นผิด ที่ต้องแยกจากหลักกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ กันยายน 24, 2013, 08:29:52 pm

(https://lh5.googleusercontent.com/-V5Gz9otYYWE/UkCcVw7gZTI/AAAAAAAAryE/6A-CHeXpDdI/w426-h464/aaa.jpg)

๒) ลัทธิหรือความเห็นผิด ที่ต้องแยกจากหลักกรรม
 มีลัทธิมิจฉาทิฏฐิ เกี่ยวกับสุขทุกข์และความเป็นไปในชีวิตของมนุษย์อยู่ ๓ ลัทธิ ซึ่งต้องระวังไม่ให้เข้าใจสับสนกับหลักกรรม คือ :-

 ๑. ปุพเพกตเหตุวาท การถือว่าสุขทุกข์ทั้งปวงเป็นเพราะกรรมเก่า
  (past-action determinism) เรียกสั้นๆ ว่า ปุพเพกตวาท
 ๒. อิสสรนิมมานเหตุวาท การถือว่าสุขทุกข์ทั้งปวงเป็นเพราะการ
  บันดาลของเทพผู้เป็นใหญ่ (theistic determinism) เรียกสั้นๆ
  ว่า อิศวรกรณวาท หรือ อิศวรนิรมิตวาท
 ๓. อเหตุอปัจจยวาท การถือว่าสุขทุกข์ทั้งปวง เป็นไปสุดแต่โชค
  ชะตาลอยๆ ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย (indeterminism หรือ
  accidentalism) เรียกสั้นๆ ว่า อเหตุวาท

 ทั้งนี้ตามพุทธพจน์ว่า
 ภิกษุทั้งหลาย ลัทธิเดียรถีย์ ๓ ลัทธิเหล่านี้ ถูกบัณฑิตไต่ถาม ซักไซ้ไล่เลียงเข้า ย่อมอ้างการถือสืบๆ กันมา ดำรงอยู่ในอกิริยา (การไม่กระทำ) คือ
 ๑. สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า  สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม ที่คนเราได้เสวย ทั้งหมดนั้น ล้วนเป็นเพราะกรรมที่กระทำไว้ในปางก่อน (ปุพฺเพกตเหตุ)
 ๒. สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า  สุขก็ดี ทุกข์ ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม ที่คนเราได้เสวย ทั้งหมดนั้น ล้วนเป็นเพราะการบันดาลของพระผู้เป็นเจ้า (อิสฺสรนิมฺมานเหตุ)
 ๓. สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า  สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม ที่คนเราได้เสวย ทั้งหมดนั้น ล้วนหาเหตุหาปัจจัยมิได้ (อเหตุอปจฺจย)

 ภิกษุทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์ ๓ พวกนั้น เราเข้าไปหา (พวกที่ ๑) แล้วถามว่า ‘ทราบว่า ท่านทั้งหลายมีวาทะ มีทิฏฐิอย่างนี้ จริงหรือ?’ ถ้าสมณพราหมณ์เหล่านั้น ถูกเราถามอย่างนี้แล้ว รับว่าจริง เราก็กล่าวกะเขาว่า ‘ถ้าเช่นนั้น ท่านก็จักต้องเป็นผู้ทำปาณาติบาตเพราะกรรมที่ทำไว้ปางก่อนเป็นเหตุ จะต้องเป็นผู้ทำอทินนาทานเพราะกรรมที่ทำไว้ปางก่อนเป็นเหตุ จะต้องเป็นผู้ประพฤติอพรหมจรรย์...เป็นผู้กล่าวมุสาวาท... ฯลฯ  เป็นผู้มีมิจฉาทิฏฐิ  เพราะกรรมที่ทำไว้ปางก่อน    เป็นเหตุน่ะสิ’
 ภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อบุคคลมายึดเอากรรมที่ทำไว้ในปางก่อนเป็นสาระ ฉันทะก็ดี ความพยายามก็ดี ว่า ‘สิ่งนี้ควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำ’ ก็ย่อมไม่มี เมื่อไม่กำหนดถือเอาสิ่งที่ควรทำและสิ่งที่ไม่ควรทำ โดยจริงจังมั่นคงดังนี้ สมณพราหมณ์พวกนี้ ก็เท่ากับอยู่อย่างหลงสติ ไร้เครื่องรักษา จะมีสมณวาทะที่ชอบธรรมเฉพาะตนไม่ได้ นี้แล เป็นนิคหะอันชอบธรรมอย่างแรกของเรา  ต่อสมณพราหมณ์ผู้มีวาทะ  มีทิฏฐิอย่างนี้

 ภิกษุทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์ ๓ พวกนั้น เราเข้าไปหา (พวกที่ ๒) กล่าวกะเขาว่า ‘ท่านจักเป็นผู้ทำปาณาติบาต ก็เพราะการบันดาลของพระผู้เป็นเจ้าเป็นเหตุ จักเป็นผู้ทำอทินนาทาน.. ประพฤติ อพรหมจรรย์... .กล่าวมุสาวาท...ฯลฯ เป็นผู้มีมิจฉาทิฏฐิ ก็เพราะการบันดาลของพระผู้เป็นเจ้าเป็นเหตุน่ะสิ’

 ภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อบุคคลมายึดเอาการบันดาลของพระผู้เป็นเจ้า เป็นสาระ ฉันทะก็ดี ความพยายามก็ดี ว่า ‘สิ่งนี้ควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำ’ ก็ย่อมไม่มี ฯลฯ

 ภิกษุทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์ ๓ พวกนั้น เราเข้าไปหา (พวกที่ ๓) .กล่าวกะเขาว่า ‘ท่านก็จักเป็นผู้ทำปาณาติบาต โดยไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย จักเป็นผู้ทำอทินนาทาน... ประพฤติอพรหมจรรย์...กล่าวมุสาวาท...ฯลฯ เป็นผู้มีมิจฉาทิฏฐิ โดยไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยน่ะสิ’

 ภิกษุทั้งหลาย  ก็เมื่อบุคคลมายึดเอาความไม่มีเหตุเป็นสาระ  ฉันทะก็ดี ความพยายามก็ดี ว่า ‘สิ่งนี้ควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำ’ ก็ย่อมไม่มี ฯลฯ

 โดยเฉพาะลัทธิที่ ๑ คือ ปุพเพกตเหตุวาท นั้น เป็นลัทธิของนิครนถ์ ดังพุทธพจน์ว่า
 ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี อย่างหนึ่งอย่างใดที่บุคคลได้เสวย ทั้งหมดนั้น เป็นเพราะกรรมที่ตัวทำไว้ในปางก่อน โดยนัยดังนี้ เพราะกรรมเก่าหมดสิ้นไปด้วยตบะ ไม่ทำกรรมใหม่ ก็จะไม่ถูกบังคับต่อไป เพราะไม่ถูกบังคับต่อไป ก็สิ้นกรรม เพราะสิ้นกรรม ก็สิ้นทุกข์ เพราะสิ้นทุกข์ ก็สิ้นเวทนา เพราะสิ้นเวทนา ก็จักเป็นอันสลัดทุกข์ได้หมดสิ้น ภิกษุทั้งหลาย พวกนิครนถ์มีวาทะอย่างนี้’

 นอกจากนี้ พุทธพจน์ที่เคยยกมาอ้างข้างต้น ซึ่งย้ำความอันเดียวกัน ก็มีว่า
  ดูกรสิวกะ เวทนาบางอย่างเกิดขึ้น มีดีเป็นสมุฏฐานก็มี ฯลฯ เกิด
 จากความแปรปรวนแห่งอุตุก็มี...เกิดจากการบริหารตนไม่สม่ำเสมอก็มี...
 เกิดจากถูกทำร้ายก็มี...เกิดจากผลกรรมก็มี  ฯลฯ  สมณพราหมณ์
 เหล่าใด มีวาทะ มีความเห็นอย่างนี้ว่า ‘บุคคลได้เสวยเวทนาอย่างใด
 อย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี ไม่สุขไม่ทุกข์ก็ดี เวทนานั้นเป็นเพราะ
 กรรมที่ทำไว้ปางก่อน’ ฯลฯ เรากล่าวว่า เป็นความผิดของสมณพราหมณ์เหล่านั้นเอง
 
 พุทธพจน์เหล่านี้ ป้องกันความเห็นที่แล่นไปไกลเกินไป จนมองเห็นความหมายของกรรมแต่ในแง่กรรมเก่า กลายเป็นคนนั่งนอนรอคอยผลกรรมเก่า สุดแต่จะบันดาลให้เป็นไป ไม่คิดแก้ไขปรับปรุงตนเอง กลายเป็นความเห็นผิดอย่างร้ายแรง ตามนัยพุทธพจน์ที่กล่าวมาแล้ว

 นอกจากนั้น จะเห็นได้ชัดด้วยว่า ในพุทธพจน์นี้ พระพุทธเจ้าทรงถือความเพียรพยายามเป็นเกณฑ์ตัดสินคุณค่าทางจริยธรรมของหลักกรรมและคำสอนเหล่านี้ทั้งหมด

 พุทธพจน์เหล่านี้ มิได้ปฏิเสธกรรมเก่า เพราะกรรมเก่าก็ย่อมมีส่วนอยู่ในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย และย่อมมีผลต่อปัจจุบัน สมกับชื่อที่ว่าเป็นเหตุปัจจัยด้วยเหมือนกัน แต่มันก็เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยอยู่นั่นเอง ไม่ใช่อำนาจนอกเหนือธรรมชาติอะไรที่จะไปยึดไปหมายมั่นฝากโชคชะตาไว้ ผู้เข้าใจ ปฏิจจสมุปบาท รู้กระบวนการแห่งเหตุปัจจัยดีแล้ว ย่อมไม่มีปัญหาในเรื่องนี้
 เหมือนกับการที่ใครคนหนึ่งเดินขึ้นตึก ๓ ชั้น ถึงชั้นที่สามแล้ว ก็แน่นอนว่า การขึ้นมาถึงของเขาต้องอาศัยการกระทำคือการเดินที่ผ่านมาแล้วนั้น จะปฏิเสธมิได้ และเมื่อขึ้นมาถึงที่นั่นแล้ว การที่เขาจะเหยียดมือไปแตะพื้นดินข้างล่างตึก หรือจะนั่งรถเก๋งวิ่งไปมาบนตึกชั้นสามเล็กๆ เหมือนอย่างบนถนนหลวง ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ และข้อนี้ก็เป็นเพราะการที่เขาขึ้นมาบนตึกเหมือนกัน ปฏิเสธมิได้ หรือเมื่อเขาขึ้นมาแล้ว จะเมื่อยหมดแรง เดินต่อขึ้นหรือลงไม่ไหว นั่นก็ต้องเกี่ยวกับการที่ได้เดินขึ้นมาแล้วด้วยเหมือนกัน ปฏิเสธไม่ได้

 การมาถึงที่นั่นก็ดี ทำอะไรได้ในวิสัยของที่นั่นก็ดี การที่อาจจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับอะไรต่ออะไรในที่นั้นอีก ในฐานะที่ขึ้นมาอยู่กับคนอื่นๆ ท่ามกลางสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ ณ ที่นั้นด้วยก็ดี ย่อมสืบเนื่องมาจากการที่ได้เดินมาด้วยนั้นแน่นอน แต่การที่เขาจะทำอะไรบ้าง ทำสิ่งที่ต้องเกี่ยวข้องที่นั่นแค่ไหน เพียงไร ตลอดจนว่าจะพักเสียก่อนแล้วเดินต่อ หรือเดินกลับลงเสียจากตึกนั้น ย่อมเป็นเรื่องที่เขาจะคิดตกลงทำเอาใหม่ ทำได้ และได้ผลตามเรื่องที่ทำนั้นๆ แม้ว่าการเดินมาเดิมยังอาจมีส่วนให้ผลต่อเขาอยู่ เช่น แรงเขาอาจจะน้อยไป ทำอะไรใหม่ได้ไม่เต็มที่ เพราะเมื่อยเสียแล้ว ดังนี้เป็นต้น ถึงอย่างนี้ ก็เป็นเรื่องของเขาอีก ที่ว่าจะคิดยอมแพ้แก่ความเมื่อยหรือว่าจะคิดแก้ไขอย่างไร ทั้งหมดนี้ ก็เป็นเรื่องของกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยทั้งนั้น ดังนั้น จึงควรเข้าใจเรื่องกรรมเก่าเพียงเท่าที่มันเป็นตามกระบวนการของมัน

 ในทางจริยธรรม ผู้เข้าใจปฏิจจสมุปบาท ย่อมถือเอาประโยชน์จากกรรมเก่าได้ในแง่ เป็นบทเรียน เป็นความหนักแน่นในเหตุผล เป็นความเข้าใจตนเองและสถานการณ์ เป็นความรู้พื้นฐานปัจจุบันของตน เพื่อประกอบการวางแผนทำกรรมปัจจุบัน และหาทางแก้ไขปรับปรุงต่อไป

มีต่อค่ะ
:http://portal.in.th/i-dhamma/pages/8149/

กฎแห่งกรรม  http://www.electron.rmutphysics.com/news/index.php?option=com_content&task=view&id=246&Itemid=5&limit=1&limitstart=151 (http://www.electron.rmutphysics.com/news/index.php?option=com_content&task=view&id=246&Itemid=5&limit=1&limitstart=151)
หัวข้อ: Re: เสียงอ่านพุทธธรรม ภาค ๑ มัชเฌนธรรมเทศนา(ป.อ. ปยุตฺโต)
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ พฤษภาคม 05, 2014, 08:58:00 pm

เสียงอ่าน พุทธธรรม บทนี้มี ๘ ตอน
พุทธธรรม
ภาค ๑ มัชเฌนธรรมเทศนา
หลักความจริงที่เป็นกลางตามธรรมชาติ
หรือ ธรรมที่เป็นกลาง

ตอนที่ ๓ ชีวิตเป็นไปอย่างไร
บทที่ ๕ กรรม  ในฐานะที่เนื่องอยู่ในปฏิจจสมุปบาท

- ความนำ
- กฏแห่งกรรม
- ความหมายและประเภทของกรรม

- ปัญหาเกี่ยวกับความดี - ความชั่ว
   ก. ความหมายของกุศลและอกุศล
   ข. ข้อควรทราบพิเศษเกี่ยวกับกุศลและอกุศล
     ๑) กุศลและอกุศลเป็นปัจจัยแก่กันได้
     ๒) บุญและบาป กับ กุศลและอกุศล
   ค. เกณฑ์วินิจฉัยกรรมดี-กรรมชั่ว

- ผลกรรมในช่วงกว้างไกล
- ข้อควรทราบพิเศษเพื่อป้องกันความเข้าใจผิด
   ๑) สุขทุกข์ ใครทำให้
   ๒) เชื่ออย่างไรผิดหลักกรรม ?
   ๓) กรรมชำระล้างได้อย่างไร ?
   ๔) กรรมกับอนัตตา ขัดกันหรือไม่ ?

- คุณค่าทางจริยธรรม
- บันทึกพิเศษท้ายบท
 
เสียงอ่านบทนี้มี ๘ ตอน
Download 1  หน้า 151-162
Download 2  หน้า 162-171
Download 3  หน้า 171-187
Download 4  หน้า 187-193
Download 5  หน้า 193-204
Download 6  หน้า 204-213
Download 7  หน้า 213-218
Download 8  หน้า 219-222

เพื่อฟังเสียงอ่านค่ะ : http://www.trisarana.org/talks/B/B-Voice_05.htm (http://www.trisarana.org/talks/B/B-Voice_05.htm)


พุทธธรรม
สารบัญเสียงอ่าน

ความนำ สิ่งที่ควรเข้าใจ
ภาคที่ ๑ มัชเฌนธรรมเทศนา

บทที่ ๑ ขันธ์ ๕ : ส่วนประกอบ ๕ อย่างของชีวิต
บทที่ ๒ อายตนะ ๖ : แดนรับรู้และเสพเสวยโลก
บทที่ ๓ ไตรลักษณ์ : ลักษณะโดยธรรมชาติ ๓ อย่างของสิ่งทั้งปวง
บทที่ ๔ ปฏิจจสมุปบาท : การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกัน ๆ จึงเกิดมี
บทที่ ๕ กรรม ในฐานะหลักธรรมที่เนื่องอยู่ในปฏิจจสมุปบาท
บทที่ ๖ วิชชา วิมุตติ วิสุทธิ สันติ นิพพาน : ประโยชน์สูงสุดที่ควรได้จากชีวิตนี้
บทที่ ๗ ประเภทและระดับแห่งนิพพานและผู้บรรลุนิพพาน
บทที่ ๘ ข้อควรทราบเพิ่มเติมเพื่อเสริมความเข้าใจ
บทที่ ๙ หลักการสำคัญของการบรรลุนิพพาน
บทที่ ๑๐ บทสรุปเรื่องเกี่ยวกับนิพพาน
บทที่ ๑๑ บทความประกอบที่ ๑ : ชีวิตและคุณธรรมพื้นฐานของอารยชน
บทที่ ๑๒ บทความประกอบที่ ๒ ศีลกับเจตนารมณ์ทางสังคม
บทที่ ๑๓ บทความประกอบที่ ๓ : อิทธิปาฏิหาริย์ และเทวดา
บทที่ ๑๔ บทความประกอบที่ ๔ : ปัญหาเกี่ยวกับแรงจูงใจ
บทที่ ๑๕ บทความประกอบที่ ๕ : ความสุข

ภาค ๒ มัชฌิมาปฏิปทา
บทที่ ๑๖ บทนำของมัชฌิมาปฏิปทา
บทที่ ๑๗ บุพภาคของการศึกษา : ปรโตโฆสะที่ดี
บทที่ ๑๘ บุพภาคของการศึกษา : โยนิโสมนสิการ
บทที่ ๑๙ องค์ประกอบของมัชฌิมาปฏิปทา ๑ : หมวดปัญญา
บทที่ ๒0 องค์ประกอบของมัชฌิมาปฏิปทา ๒ : หมวดศีล
บทที่ ๒๑ องค์ประกอบของมัชฌิมาปฏิปทา ๓ : หมวดสมาธิ
บทที่ ๒๒ อริยสัจ ๔ : บทสรุป

เพื่อฟังเสียงอ่านค่ะ : http://www.trisarana.org/talks/B/B-VMenu_00.htm (http://www.trisarana.org/talks/B/B-VMenu_00.htm)