เดือน"มะเร็งเต้านม" ร่วมรณรงค์ - พบเร็วระยะแรกมีโอกาสหายได้
-http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNNE1UUXpNVE0zTkE9PQ==&subcatid=-
มะเร็งเต้านม ปัญหาสาธารณสุขของโลก รวมทั้งประเทศไทย ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย มีโอกาสเสี่ยง ซึ่งเดือนตุลาคมเป็นเดือนแห่งการรณรงค์มะเร็งเต้านม (Breast Cancer Awareness Month) เรารู้จักกันดีกับ "สัญลักษณ์โบสีชมพู" ในเดือนนี้แคมเปญเกือบทั้งหมดจะเน้นเรื่องการดูแลสุขภาพของเต้านมด้วยตนเอง การตรวจหามะเร็งตั้งแต่ระยะแรก และยังมีคำขวัญว่า "มะเร็งเต้านมระยะแรก มีโอกาสหาย (ขาด) ได้"
นพ.อาคม เชียรศิลป์ ที่ปรึกษาชมรม Thai Breast Friends แห่งประเทศไทย ในฐานะเป็นหมอที่รักษาดูแลผู้ป่วยมะเร็งเต้านม มีข้อสังเกตว่า มะเร็งเต้านมระยะลุกลาม คือ เซลล์มะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ หรือแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ โดยเฉพาะกรณีที่แพทย์สามารถผ่าตัดเอามะเร็งที่กระจายออกหมด มีโอกาสหายได้เช่นกัน เพียงแต่กระบวนการรักษาจะมีความซับซ้อนกว่า ใช้เวลานานกว่า
จากข้อมูลทางวิชาการ ร้อยละ 30 ของมะเร็งเต้านมระยะแรก มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมระยะลุกลามแต่ปัจจุบันการรักษามะเร็งเต้านมระยะลุกลามมีความก้าวหน้าขึ้นมาก ผู้ป่วยมะเร็งลุกลามมีโอกาสหายได้ หรือควบคุมโรคได้หลายครั้ง ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตได้เป็นปกติ เป็นผลทำให้บนโลกใบนี้มีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะลุกลามเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีต
ปัจจุบันการรณรงค์เกี่ยวกับมะเร็งเต้านม ควรจะมีเนื้อหาสาระของมะเร็งเต้านมระยะลุกลามรวมอยู่ด้วย จะได้เป็นขวัญกำลังใจให้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ เพราะความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์มีมากมาย และลงลึกถึงระดับโมเลกุล (DNA) มีผลทำให้การรักษาโรคมะเร็งพัฒนาไปไกลมาก เช่น เราสามารถจัดผู้ป่วยมะเร็งเต้านมออกเป็นกลุ่มตามลักษณะการแสดงของยีน (DNA) ว่าแต่ละกลุ่มควรจะรักษาอย่างไร เป็นการแพทย์เฉพาะบุคคล
แม้แต่ผู้ป่วยมะเร็งที่โรคกลับมาเป็นซ้ำ อาจมีการแสดง ออกของยีนแตกต่างไปจากโรคมะเร็งเต้านมต้นกำเนิด ซึ่งแผนการรักษาอาจเปลี่ยนไป ที่สำคัญการพัฒนาการรักษาและยา เพื่อเอาชนะการดื้อยาของเซลล์มะเร็ง อาจออกมาในรูปของยาขนานใหม่ หรือนำยาเดิมมาใช้ร่วมกับสูตรยาขนานใหม่ เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม ในกลุ่มที่มีตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นบวก (ER+) แม้ว่าจะมีการกระจายของโรคไปที่อวัยวะอื่นๆ แล้ว แต่ผู้ป่วยยังอยู่ในสภาพร่างกายที่ดี ก็สามารถรักษาได้
เมื่อปี ค.ศ.2009 ในสหรัฐอเมริกา ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม 9 คน ได้รวมพลังกันขอเข้าพบกับสมาชิกรัฐสภา เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม ในที่สุด คณะรัฐสภามีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับความก้าวหน้าในการรักษามะเร็งเต้านมระยะลุกลาม และการเข้าถึงการรักษา เพื่อให้ประชาชนทราบความจริง พร้อมทั้งประกาศให้วันที่ 13 ต.ค. ของทุกปี เป็นวันรณรงค์ต่อต้านและช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม
ดังนั้น เพียง 1 วันในเดือนตุลาคม ควรจะเป็นวันที่ทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกัน ช่วยกระจายความรู้เรื่องโรคมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม การรักษาที่มีประสิทธิภาพ และเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย และแสดงให้เห็นว่ามะเร็งเต้านมระยะลุกลามไม่ใช่ระยะสุดท้ายของชีวิตอีกต่อไป
ปีที่แล้ว ผมไปตรวจร่างกายที่สถาบันมะเร็งมา
คุณหมอบอกว่า ผู้ชายเป็นมะเร็งเต้านมเยอะขึ้น
โปรดระมัดระวังกัน ไปตรวจสุขภาพกันทุกๆปีครับ
รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม
-----------------------------------------------------------
พยาธิในช่องคลอด
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 26 กุมภาพันธ์ 2557 01:12 น.
-http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9570000022336-
อ.พญ.เจนจิต ฉายะจินดา
ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
โรคพยาธิในช่องคลอดเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้น้อยลงในปัจจุบัน แต่สามารถทำให้เกิดอาการแสบคันในช่องคลอดหรือท่อปัสสาวะที่ค่อนข้างรุนแรง
พยาธิในช่องคลอด
สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัวที่ชื่อ Trichomonas vaginalis ซึ่งมีขนาดใกล้เคียงเม็ดเลือดขาว เชื้อนี้มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา ทำให้เกิดการระคายเคืองมาก สามารถตรวจพบได้ในน้ำอสุจิและน้ำในช่องคลอด จึงถ่ายทอดผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์เป็นหลัก แต่ไม่ติดต่อโดยการกอดจูบหรือมีเพศสัมพันธ์โดยใช้มือหรือนิ้วช่วย รวมถึงการใช้ห้องน้ำ ผ้าเช็ดตัว สระว่ายน้ำ จนถึงแก้วน้ำ จาน ชามร่วมกันก็ไม่ติดต่อค่ะ
ในเรื่องอาการ พบว่าผู้ชายมักไม่แสดงอาการ ในขณะที่ผู้หญิง อาการจะค่อนข้างชัดเจน มีตกขาวออกมากและมีสีเหลืองหรือเขียว แสบเวลาปัสสาวะ คันในช่องคลอด ส่วนผู้ชาย จะมีมูกใสออกจากท่อปัสสาวะ ซึ่งไม่ใช่น้ำปัสสาวะหรือน้ำอสุจิ แสบเวลาปัสสาวะ ปวดที่อัณฑะ และอาจมีการอักเสบที่หนังหุ้มปลายองคชาติ แต่อาการอย่างหลังพบได้น้อย
หากมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งที่กล่าวมา หรือมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดใดชนิดหนึ่ง ควรมารับการตรวจที่โรงพยาบาลใกล้บ้านท่าน ซึ่งแพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจภายใน โดยนำตกขาวไปตรวจ รวมถึงตรวจมะเร็งปากมดลูก และหากพบว่าติดเชื้อ ก็ควรตรวจเลือดเพื่อหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่นร่วมด้วย เช่น เอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี และซิฟิลิส พร้อมกับเก็บสิ่งส่งตรวจทุกส่วนของร่างกายที่ใช้ในการมีเพศสัมพันธ์ เช่น ตรวจหาเชื้อในคอ หรือตรวจทางทวารหนัก
อย่างไรก็ดี ไม่มีการตรวจใดให้ผล 100 % ดังนั้น หากท่านยังคงมีอาการอยู่ ทั้งที่ผลการตรวจทุกอย่างเป็นลบ แนะนำให้มาตรวจติดตามเพื่อประเมินซ้ำอีกครั้ง ในทางกลับกัน หากท่านไม่มีอาการแต่ผลการตรวจเป็นบวก เนื่องจากคู่ของท่านติดเชื้อ แนะนำให้ท่านรับการรักษาไปพร้อม ๆ กัน
ทั้งนี้ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง แพทย์จะรักษาด้วยยาปฏิชีวนะโดยเร็วที่สุด เพื่อลดการแพร่เชื้อ ส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นภายใน 2-3 วัน หลังเริ่มการรักษา แต่มีข้อห้ามคือ ในระหว่างการรักษาห้ามดื่มแอลกอฮอล์
โรคพยาธิในช่องคลอดเป็นโรคที่รักษาได้ง่ายและหายขาด แต่อาจกลับเป็นซ้ำได้ ไม่ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก -ไม่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก และจะมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เมื่อเป็นโรคนี้ในระหว่างตั้งครรภ์ เพราะอาจกระตุ้นให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดได้ แต่จะไม่มีการถ่ายทอดเชื้อไปสู่ทารก