(http://1.bp.blogspot.com/-squBOiYJ2tw/ToH3yePEttI/AAAAAAAAAAc/4BGNQxOtvek/s520/%25E0%25B8%25A5%25E0%25B8%259B.%25E0%25B8%259E%25E0%25B8%25B4%25E0%25B8%259A%25E0%25B8%25B9%25E0%25B8%25A5%25E0%25B8%25A2%25E0%25B9%258Ca.jpg)
หลวงปู่พิบูลย์
วัดพระแท่นบ้านแดง อ.พิบูลย์รักษ์ จ.อุดรธานี
อีกเรื่อง พ่อจารย์คำตัน บุญพา เคยได้บวชร่วมกับหลวงปู่พิบูลย์ ได้เล่าให้ฟังว่าสมัยหลวงปู่พิบูลย์อยู่ที่วัดโพธิสมภรณ์ ฝายห้วยยางมันขาด ชำรุดอุดอย่างไรก็ไม่อยู่ จึงได้ปรึกษากับหลวงปู่ๆจึงแนะนำว่าให้เริ่มทำตั้งแต่ตอสะแบงถึงก่อไผ่โจด (กอไผ่ชนิดหนึ่ง) อยู่ ทั้งที่หลวงปู่ไม่ได้เห็น แต่สามรถบอกได้ว่าให้กั้นเสริมจาก จุดนั้นให้ถึงจุดนั้นได้พอชาวบ้านได้ทำตามคำแนะนำของหลวงปู่แล้ว ฝายกั้นน้ำห้วยยางก็ใช้กักเก็บน้ำได้ และไม่มีการชำรุดอีกเป็นที่สาธารณะประโยชน์ของหมู่บ้านแดงมาจนถึงทุกวันนี้ สิ่งใดชาวบ้านสงสัยก็ได้ไปปรึกษากับท่าน หลวงปู่จะให้คำแนะนำและบอกแนวทางในการปฏิบัติทุกอย่าง ถ้าเงินขาดเขิน พ่อจารย์คำตันกับพรรคพวกก็ได้ไปรับเงินจากหลวงปู่มาสร้าง และพัฒนาหมู่บ้านตลอดการพัฒนาของหลวงปู่ทั้งวัดทั้งบ้าน ถนนหนทางห้วยหนองคลองบึง การจัดสรรที่ดิน สถานที่จัดตั้งหน่วยงานราชการในอนาคต เช่น ที่ตั้งอำเภอ โรงเรียนมัธยม โรงเรียนประถม การไฟฟ้า อนามัย ตลาด โรงพยาบาล การประปา เหล่านี้เป็นต้น หลวงปู่ได้จัดสรรไว้ให้เป็นที่เป็นทางตั้งแต่ประมาณ ๗๐-๘๐ ปีมาแล้ว ทุกอย่างเข้าที่เข้าทางชาวบ้านก็มีอยู่มีกิน ไม่มีภูตผีปีศาจเข้ามารบกวน แม้แต่บ่อน้ำทุกบ่อที่หลวงปู่ขุดไว้ หลวงปู่ก็เอาหินเสกหว่านลงไปไม่ให้ภูตผีปีศาจเข้ามาอยู่ได้ ทำลายวิชาอาคมพวกเดรัจฉานให้หมดไปหายไป
หลวงปู่อยู่วัดโพธิสมภรณ์เป็นเวลา ๑๕ ปี ในวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๓ ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ เวลา ๐๖.๐๐ น. หลวงปู่ก็เริ่มมีอาการป่วยเป็นโรคท้องร่วง เมื่อเสร็จกิจออกจากห้องน้ำแต่ก็ออกมาไม่ได้เนื่องจากแข้งขาไม่มีเรี่ยวแรง หลวงปู่หนูซึ่งขณะนั้นเป็นโยมอุฐากหลวงปู่อยู่เป็นผู้เข้าไปพยุงหลวงปู่มาที่ห้องพัก เป็นอยู่อย่างนั้นหลายเที่ยวจนกระทั่งเวลา ๑๐.๐๐ น. หลวงปู่ก็ยังไม่ได้ฉันอาหารเช้าจนถึงเวลา ๑๑.๐๐ น.ถึงได้ฉันอาหารแต่ก็ฉันได้แค่สองสามคำเท่านั้น หลวงปู่หนูก็ได้ช่วยประคับประครองหลวงปู่อยู่อย่างนั้น บางวันก็ฉ้นข้าวได้บ้างไม่ได้บ้างจนกระทั่งอาการของหลวงปู่ทรุดลงไปเรื่อยๆ พอถึงวันขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๓ ตอนค่ำของวันนั้น หลวงปู่จึงได้บอกให้หลวงปู่หนูนำหลวงปู่เข้าไปในกุฏิ นุ่งสบงทรงจีวรรัดอกให้ดีแล้วนำหลวงปู่เข้าไปนอนในท่าสีหไสยาสน์ เอาผ้าห่มผืนหนึ่งห่มให้ หลวงปู่หนูจึงถามว่า “หลวงปู่อยากกลับบ้านแดงไหม” หลวงปู่จึงตอบว่า “ต้องกลับให้ได้ แม้จะเหลือแต่หัวก็จะกลิ้งกลับบ้าน” สุดท้ายก็สั่งให้หลวงปู่หนูปิดประตูให้แน่น อย่าใครเข้ามาจนกว่าจะมีสัญญาณบอก แล้วทุกคนก็ออกไปหมดรวมทั้งหลวงปู่หนูด้วย
(http://4.bp.blogspot.com/-jDwe-MvXSrk/ToVyjKH9cTI/AAAAAAAAABY/L-ibfodrevE/s320/130720111910.jpg) (http://4.bp.blogspot.com/-ggiVK7DjSlY/ToVyoHoyo3I/AAAAAAAAABc/g6QvCf519_Y/s320/130720111911.jpg)
วันนั้นหลวงปู่โชติก็อยู่ข้างนอกพร้อมกับแม่ชีปุยดัวย เพื่อจะกันไม่ให้คนเข้าไปเพราะมีคนเป็นจำนวนมากคอยอยู่ข้างนอก จนกระทั่งถึงเวลา ๖ ทุ่ม ก็มีสัญญาณดังขึ้นบนหลังคากุฏิ คือ สังกะสีดังโครมและมีแสงสว่างพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าดุจพลุดอกไม้ไฟ หลวงปู่หนูก็เข้าใจว่าหลวงปู่ได้สิ้นลมหายใจแล้ว จึงได้เปิดประตูเข้าไปจับดู ตัวหลวงปู่ก็เย็นไปหมดทั้งตัวแล้ว พอรู้ว่าหลวงปู่มรณภาพแล้วก็เลยออกมาจากห้องพูดอะไรไม่ออก และได้มีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งเมื่อรู้ว่าหลวงปู่มรณภาพก็กรูเข้าไปรื้อค้นสิ่งของที่สำคัญของท่าน ชาวบ้านที่อยู่บริเวณนั้นก็ว่าไม่ได้ เงินในบัญชีของท่านที่แม่ชีปุยเก็บไว้จำนวน ๓,๐๕๘ บาท ก็เหลือแต่ตัวเลขจำนวนเงิน พอช่วงเช้าก็จ้างช่างที่เป็นคนญวนมาทำหีบศพให้หลวงปู่ในราคา ๒๐๐ บาท ทำพิธีศพอยู่ที่นั่น ๕ คืน แล้วจึงนำศพของหลวงปู่บรรจุในเบ้า (ที่เก็บศพ) หลังจากนั้นชาวบ้านก็เลิกลากลับบ้าน
หลังจากนั้นมาอีก ๔ ปี ชาวบ้านแดงพร้อมด้วยผู้ใหญ่บ้านก็ได้ปรึกษาหารือชักชวนกัน มีความประสงค์ที่จะนำศพของหลวงปู่กลับบ้านแดง การไปติดต่อประสานงานกับทางวัดโพธิสมภรณ์มีปัญหายุ่งยากมากจนแทบจะไม่ได้ศพกลับมา แต่ชาวบ้านก็ไม่ท้อถอย จนในที่สุดก็สามารถนำศพของหลวงปู่กลับมาสู่บ้านแดง โดยได้นำคณะเกวียนร้อยเล่มนำขบวนศพของหลวงปู่ออกจากเมืองอุดรฯ เมื่อนิมนต์ศพหลวงปู่ขึ้นเกวียนแล้วจะเอาวัวไปเทียมเกวียนเอาวัวคู่ไหนเข้าไปก็ไม่สามารถเข้าเทียมเกวียนได้ จำเป็นต้องปลดแอกทิ้งหมด จึงได้จัดสรรวัวอยู่หลายคู่ และในที่สุดวัวก็ได้ของนายทราย สร้อยสน บุตรชายของนายคำมี สร้อยสนู ซึ่งนายคำมีเคยบวชเป็นพระอยู่ร่วมกับหลวงปู่พอเอาวัวคู่ของนายทรายก็ไม่มีปัญหาอันใด
ขบวนเกวียนจึงเริ่มเดินทางออกจากเมืองอุดรฯโดยไปทางทิศเหนือของอุดรฯทางบ้านบ่อน้ำ เลี้ยวมาทางทิศตะวันออกทางบ้านเหล่า บ้านหนองบุ บ้านสามพร้าว บ้านหว้าน บ้านไท บ้านดอนกลอย และเลี้ยวมาทางบ้านแดงจนมาถึงทาง ทางกฐินของหลวงปู่ คณะชาวบ้านแดงจำนวนมากพากันออกไปต้อนรับอยู่หนองโพธิ์คำ ในตอนนั้นผู้คนจากบ้านใกล้เรือนเคียงเยอะมากมืดฟ้ามัวดินกันไปหมดเพื่อจะไปจัดตั้งขบวนแห่ศพของหลวงปู่เข้าบ้านแดง ในวันขึ้น ๑๐ ค่ำเดือน ๒ ปี (บ้างก็ว่า พ.ศ. ๒๔๙๒ บ้าง พ.ศ. ๒๔๙๓ บ้าง) เมื่อมาถึงบ้านแดงแล้วได้นำศพของหลวงปู่พิบูลย์มาประกอบพิธีอยู่สนามพิบูลย์รังสรรค์ ตามที่พ่อเถิง ศรีเดช ซึ่งในขณะนั้นเป็นไวยากรณ์อยู่ ได้บอกว่าครบวัน (สมโภช) อยู่ทั้งหมด ๗ วัน ๗ คืน เสร็จแล้วจึงได้นำศพหลวงปู่เข้ามาไว้ในวัดพระแท่น ญาติโยมก็มีมาบำเพ็ญกุศลตามยุคสมัย
กล่าวถึงพ่อครูคำพันธ์ เข็มพรหยิบ ตอนนั้นบวชเป็นเจ้าอาวาสอยู่ได้ปรึกษาหารือกับชาวบ้านจัดสร้างเจดีย์ไว้บรรจุอัฐิของหลวงปู่ จึงได้ตกลงกันสร้างเจดีย์ขนาดใหญ่เป็นเวลาหลายปีกว่าจะเสร็จ เมื่อถึง พ.ศ. ๒๕๐๔ จึงได้ทำพิธีถวายเพลิงศพหลวงปู่การจัดงานศพในครั้งนั้น ฝ่ายสงฆ์มีพระครูอาทรศิริรัตน์ หลวงปู่โชติ ธมฺมธโร เจ้าอธิการคำพันธ์ คนฺธโร พระครูวิลาศวิหารกิจ บ้านนาทราย หลวงพ่อชม พระครูอมรธัมโมภาส โยมฆราวาสผู้เป็นสายธรรมของท่านคือ พ่อจารย์กุ้ม พร้อมด้วยข้าราชการ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ชาวบ้านทุกคนทำบุญบำเพ็ญอุทิศกุศลให้ท่านอยู่ ๒ คืน แล้วนำศพออกไปสู่เมรชั่วคราวที่สนามพิบูลย์รังสรรค์ ในพิธีปล่อยไฟด้วยตะไลม้าเข้าสู่เมรุ วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๔ ปีฉลู พ.ศ. ๒๕๐๔ บำเพ็ญกุศลต่อจนถึงเวลา ๑๙.๓๐ น. จึงได้ทำพร้อมเหรียญรุ่นแรกจำนวน ๔,๐๐๐ เหรียญ เป็นเหรียญทองแดง ๒,๐๐๐ เหรียญ เป็นเหรียญทองเหลือง ๒,๐๐๐ เหรียญ
ประวัติเหล่านี้ได้คัดลอกออกมาจากหนังสืออักษรธรรม จากใบลาน หลวงปู่หนูเป็นผู้เขียนไว้หลังจากที่หลวงปู่พิบูลย์ได้มรณภาพแล้ว ข้าพเจ้าผู้เขียนได้สอบถามข้อมูลจากผู้เฒ่าผู้แก่และผู้ที่เคยได้อยู่ร่วมกับท่านมาเพิ่มเติมเนื้อหาพยัญชนะข้อความทุกประโยคเป็นความจริงไม่ได้เพิ่มเติมเสริมเนื้อหา ข้าพเจ้าพระครูมัญจาภิรักษ์ขอนอบน้อมกราบคารวะแต่หลวงปู่พิบูลย์ผู้เป็นครูอาจารย์ ถ้าผิดพลาดประการใดข้าพเจ้าขอขมาลาโทษแก่ท่าน ขอให้ผู้อ่านจงพิจารณาใคร่ครวญด้วยปัญญาของตน เทอญฯ
(http://1.bp.blogspot.com/-yGDMJPIJg5E/ToVj0OIK1GI/AAAAAAAAAAw/ulhbWZit6Us/s320/3%25E0%25B8%25A7%25E0%25B8%25B1%25E0%25B8%2594%25E0%25B8%259A%25E0%25B9%2589%25E0%25B8%25B2%25E0%25B8%2599%25E0%25B9%2581%25E0%25B8%2594%25E0%25B8%25870009_resize.JPG)
คัดลอกมาจาก
หนังสืออนุสรณ์ที่ระลึก.. งานพระราชทานเพลิงศพ
พระครูวิบูลคุณาทร (หลวงปู่โชติ ธมฺมธโร)
เมื่อวันที่ 13 -18 มีนาคม พ.ศ.2546
ซึ่งจัดทำขึ้นโดย.. พระครูมัญจาภิรักษ์
เจ้าคณะอำเภอพิบูลย์รักษ์ จังหวัดอุดรธานี
บ้านขุนเดช /คัด/พิมพ์/ตรวจทาน
:http://bankhundej.blogspot.com/2011/09/blog-post.html