ใต้ร่มธรรม
อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี => มาลาบูชาครู => หลวงตามหาบัว => ข้อความที่เริ่มโดย: lek ที่ เมษายน 12, 2014, 04:36:21 am
-
สติเป็นสำคัญมากนะ เรื่องสตินี้เว้นไม่ได้ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานที่ใดของนักภาวนา จะเผลอไปไม่ได้ นี่คือหลักแห่งการภาวนาเพื่อจะให้จิตสงบ ถือเรื่องความปรุงความแต่งเป็นข้าศึกของใจ เป็นข้าศึกของสมาธิภาวนา สติให้รู้ แม้ทำการทำงานอะไรอยู่ก็ให้เป็นสัมปชัญญะ คือให้ความรู้อยู่กับตัวๆ ผู้เป็นนักภาวนาต้องเป็นอย่างนั้น จึงต้องลำบาก จิตนี่ต้องถูกควบคุมอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าอิริยาบถใด นอกจากหลับเท่านั้น ต้องถูกควบคุมอยู่ตลอด จึงเรียกว่าผู้รักษาใจ
เมื่อควบคุมอยู่ด้วยสติแล้ว จิตย่อมจะเข้าสู่ความสงบเย็นใจสบายได้ สบายหลายครั้งหลายหน สงบหลายครั้งหลายหน ก็เป็นฐานแน่นหนามั่นคงขึ้นมาที่ใจ แน่นปึ๋ง นั่น นี่ใจเป็นสมาธิ จากความสงบหลายครั้งหลายหน สร้างฐานขึ้นมาในตัวเองให้เกิดความมั่นคงขึ้นได้ เพียงขั้นนี้ก็สบายแล้ว ไม่มีอะไรกวน อะไรจะกวน นอกจากรูปเสียงกลิ่นรสเครื่องสัมผัส โดยหมายเอารูปข้างนอกมาเป็นสัญญาอารมณ์ ทั้งๆ ที่ใจเป็นผู้ไปปรุงไปแต่งเรื่องราวเหล่านั้นเข้ามา รูปไม่ทราบเขาอยู่ที่ไหน เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ไม่ทราบเขาอยู่ที่ไหน แต่ผู้นี้ปรุงขึ้นมาสดๆ ร้อนๆ เผาตัวเอง มันจึงเกิดความทุกข์ขึ้นมา เมื่อความสงบทับหัวมันอยู่แล้วมันก็ไม่ปรุงไม่แต่ง แล้วก็อิ่มอารมณ์ในตัวเอง
คือใจอิ่มอยู่ในตัวเอง ได้อาหารคือความสงบ เป็นเครื่องดื่มเป็นเครื่องเสวย จึงไม่หิวโหยในอารมณ์ทั้งหลายซึ่งเป็นพิษเป็นภัยเหล่านั้น ใจจึงสบาย นี่เรียกว่าใจอิ่มตัว เมื่ออิ่มตัวแล้วจะพา ก้าวทางด้านปัญญาจึงง่าย เพราะอะไร เพราะไม่เถลไถล จิตอิ่มอารมณ์ เมื่อจิตอิ่มอารมณ์แล้ว เราจะพาพิจารณาเรื่องทางด้านปัญญา จะเป็นไตรลักษณ์ใดก็ตาม หรืออสุภะอสุภังในร่างกายของเขาของเราตลอดสัตว์ทั่วโลกดินแดน ให้เห็นเป็นอสุภะอสุภังไม่หยุดไม่ถอยในการพิจารณา หรือแยกออกเป็น อนิจฺจํ ก็ดี ทุกฺขํ ก็ดี อนตฺตา ก็ดี อยู่โดยสม่ำเสมอ จิตต้องมีความหยั่งทราบลงไปโดยลำดับ ลึกซึ้งลงไปละเอียดลงไป
ต่อไปความรู้ที่เป็นความจริงอันนี้ก็ซึมซาบเข้าสู่ใจ กลายเป็นใจที่จริงต่อไตรลักษณ์ จริงต่ออสุภะอสุภัง นั่นแหละที่นี่จะเริ่มรู้ความจริงทั้งหลาย เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นความจริง อันว่าสวยว่างามว่าจีรังถาวรนั้น มันเป็นเรื่องของกิเลสปรุงแต่งหลอกสัตว์โลกต่างหาก ไม่ใช่ความจริง ความจริงแท้ก็ดังที่กล่าวนี้แล ปัญญาเวลาก้าวก็ก้าวอย่างนี้ ก้าวไปไหนก็ทำงานตามหน้าที่ของตนๆ เพราะไม่เถลไถล เนื่องจากไม่หิวโหยในอารมณ์ ท่านจึงว่า สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา. ปัญญาที่สมาธิอบรมแล้วย่อมมีผลมากมีอานิสงส์มาก ท่านกล่าวไว้อย่างนั้นในตำรา ในภาคปฏิบัติเพื่อพูดเอาความเลย แปลโดยอรรถก็ ปัญญาที่สมาธิหนุนหลังแล้วย่อมเดินคล่องตัว เดินได้คล่องแคล่วว่องไวไม่เถลไถลไปนอกลู่นอกทาง ปญฺญาปริภาวิตํ จิตฺตํ สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ. จิตเมื่อปัญญาซักฟอกแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงโดยชอบ แน่ะ นี่แหละหลักความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไม่นอกเหนือไปจากนี้เลย
ที่มา : http://www.luangta.com/thamma/thamma_ta ... 36&CatID=3
.....................................................
"องค์ใดพระสัมพุทธ สุวิสุทธสันดาน ตัดมูลเกลศมาร บ มิหม่นมิหมองมัว
หนึ่งในพระทัยท่าน ก็เบิกบานคือดอกบัว ราคี บ พันพัว สุวคนธกำจร"
ขอบพระคุณที่มาhttp://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?t=47485
-
:45: อนุโมทนาครับพี่เล็ก