1
หยาดฝนแห่งธรรม / Re: อนุสติธรรมปีใหม่ (๒๕๕๔)
« เมื่อ: มกราคม 04, 2011, 08:32:10 am »ในย่างก้าวสู่ปีใหม่พุทธศักราช ๒๕๕๔ จึงใคร่ขอให้สาธุชนใช้สติตามดู ตามรู้ ตามเห็น ไอ้ตัวโกรธ ไอ้ตัวขี้หงุดหงิด ไอ้ตัวอาฆาตพยาบาท หวังประทุษร้ายในผู้อื่นว่า หน้าตามันเป็นอย่างไร !? หากหน้าตามันคล้ายกับเรา หรือเหมือนกับเรา ก็ขอให้รีบแก้ไขเสีย อย่าปล่อยปละละเลยให้มันครอบอยู่ เพราะเราจะเสียจิต ... ซึ่งจะทำให้การดำรงชีวิตเป็นไปอย่างลำบาก ประสบแต่โทษทุกข์สืบต่อไปไม่หมดสิ้น ... ที่สำคัญคือ มันสามารถทำลายผู้อื่น ... ทำลายสังคมได้อย่างฉับพลัน แค่เพียงหนึ่งอารมณ์เดียวของความคิดที่มีโทสะ ดังพระพุทธภาษิตที่ว่า โกธาภิภูโต กุสลํ ชหาติ แปลว่า ผู้ที่ถูกความโกรธครอบงำจิตแล้ว ย่อมสละกุศลเสีย หรือมองอีกนัยหนึ่ง คือ ความโกรธเกิดขึ้นกับผู้ใดแล้ว ผู้นั้นย่อมสลัดความดีทิ้งได้ไม่ยาก ทั้งนี้เพราะคนเราเมื่อความโกรธเข้าครอบงำแล้ว ย่อมจะไม่คำนึงถึงความดี ศีลธรรมนั้นไม่ต้องยกมากล่าวอ้างกันอีกแล้ว กูไม่ฟัง ... กูไม่เชื่ออะไรทั้งสิ้นแล้ว บาปบุญไม่มี .. ไม่ต้องมาพูดถึงกันอีกแล้ว ซึ่งเป็นภาวะจิตที่อันตรายมาก เรียกว่า ยอมเลว ยอมตาย ยอมตกนรกหมกไหม้ ดังที่มีบุคคลบางคนที่ผูกอาฆาตพยาบาท ชอบกล่าวว่า “แม้จะต้องลงนรก ก็ยอม...” ไม่กลัวอะไรแล้วทั้งนั้น !!! เรียกว่า ยอมวินาศ ฉิบหาย เพราะเห็นแก่ความโกรธ จึงปฏิเสธหลักศีลธรรม ไม่ยอมรับหลักอภัยทาน จองเวร จองกรรมกันไปจนกว่าตนหรือคนอื่นๆ จะต้องฉิบหายไปข้างหนึ่ง ไม่สนใจอะไรทั้งสิ้นแล้ว แม้บ้านเมือง สังคม ของตนเองจะต้องฉิบหายไปด้วย... นี่เป็นอันตรายของความโกรธประการหนึ่งที่เห็นได้ชัด และปรากฏเกิดขึ้นให้เห็นแจ้งประจักษ์ในสังคมไทยตลอดเวลาที่ผ่านมา จนมีการเผาบ้านทำลายเมืองติดอาวุธฆ่าฟันกัน ดุจสงครามกลางเมือง ก็ด้วยฤทธิ์เดชของความโกรธ ดังพระบาลีที่ว่า หนฺติ กุทฺโธ สมาตรํ แปลว่า คนโกรธย่อมฆ่าได้ แม้กระทั่งมารดาของตน
หากสืบสาวเพื่อเข้าให้ถึงความจริงว่า “ความโกรธเกิดจากอะไร ... หรือความโกรธมาจากไหน!?” ก็คงตอบกันไม่ยาก เมื่อพิจารณาดูตามหลักธรรมปฏิจจสมุปบาท ก็ให้พบว่า เหตุแห่งความโกรธ ก็คือ ตัณหา ด้วยตัณหาเป็นสมุทัยของความทุกข์ ซึ่งความโกรธนั้นนำไปสู่ความทุกข์อย่างยิ่ง ... โดยหากมองเข้าไปหาความหมายของตัณหา ก็คงจะสรุปให้ตรงกันว่า เป็นอำนาจความอยากที่เกิดขึ้นจากอวิชชาเป็นปัจจัย หรือเป็นความอยากที่เกิดขึ้นจากอวิชชาเป็นปัจจัย หรือเป็นความอยากด้วยอำนาจอวิชชาก็ว่าได้ ซึ่งหมายถึง ความอยากที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งความโง่ เช่น กามตัณหา แปลว่า ความอยากในทางกาม โดยเฉพาะการอยากเสพกาม ด้วยมีความต้องการหรือมีความรักที่สร้างขึ้นด้วยอำนาจกามตัณหา ทีนี้เมื่อได้ตามต้องการ ความโกรธก็เกิดขึ้น ดังนั้น หากไม่มีตัณหา มันก็ไม่ต้องการ ไม่ตั้งค่าความหวังใดๆ ก็ไม่ผิดหวังในเรื่องนั้นๆ ความโกรธก็ไม่เกิดขึ้น เพราะไม่มีความรัก ความไม่ชอบใจไม่เกิดขึ้น ก็เพราะไม่มีความชอบใจ ... !! ดังที่เรียกว่า ภวตัณหา คือความอยากเป็นนั่น อยากเป็นนี่ ด้วยความยึดถือความเป็นตัวตน หรือวิภวตัณหา คือ ความไม่อยากเป็นอย่างนั้น ไม่อยากเป็นอย่างนี้ ... ซึ่งเมื่อไม่ได้ตามประสงค์ ก็ให้มีความขัดใจ ขุ่นใจ และนำไปสู่ความโกรธ โดยสรุปของความโกรธก็มาจากอาการขัดใจ ไม่ได้ดังใจ ไม่สมประสงค์ ไม่สมปรารถนาตามที่ตั้งใจ อยากเสพ อยากได้ อยากมี อยากเป็น หรือไม่อยากมี ไม่อยากเป็น จึงเกิดไฟโทสะเผาไหม้ขึ้นภายในจิตใจ และหากพลุ่งพล่านออกมาภายนอก ก็ทำให้คนอื่นฉิบหายด้วย ดังพระบาลีที่ว่า นตฺถิ โทสสโม คโห นตฺถิ โทสสโม กลิ แปลว่า ความโกรธนี้เป็นเคราะห์ภัย หรือเป็นกลีที่สุด ซึ่งแปลให้ชัดตรงเข้าไปเลยก็สรุปได้ว่า “ความโกรธเป็นกลีที่สุด หรือไม่มีความเลวร้ายชนิดไหนเทียบเท่ากับความโกรธ หรือ โทสะ ได้เลย ...
หากจะถามว่า ก็ในเมื่อความโกรธมีแต่ความเลวร้าย นำไปสู่ความฉิบหาย เป็นกลีที่สุดแล้ว ทำไมคนเราจึงไม่กลัวเกรง เพื่อยุติการกระทำ ก็ต้องตอบว่า “ก็เพราะความโกรธมันมีเสน่ห์...” แต่มันมีเสน่ห์สำหรับคนโง่ ... คนอับปัญญา !!! หรือมันเป็นของอร่อยสำหรับคนโง่ ดังภาษาบาลีที่ว่า โกโธ ทุมฺ เมธโคจโร แปลว่า ความโกรธเป็นโคจรของคนด้อยปัญญา
เราจึงเห็นคนที่อยู่ในระหว่างความโกรธเขาจะเพลิดเพลินในการแสดงบทบาทคุณ .. กล่าว หรือใช้กำลังเข้าประหัตประหารกันอย่างเมามัน... จนขาดจากความเป็นสัตว์ประเสริฐไป ให้ดูคล้ายๆ กับกิริยาท่าทางของสัตว์เดรัจฉาน มีการแยกเขี้ยวเคี้ยวฟัน ดวงตาถมึงทึง หน้ายักษ์ หน้ามาร... อย่างไม่รู้ตัวว่ามีความน่าเกลียดน่ากลัวขนาดไหน ... เรียกว่า ไฟโกรธมันสำแดงฤทธิ์เดชอย่างเต็มที่ ... ไม่ว่าจะมีอะไรมาขวางหน้าก็ไม่กลัวอีกแล้ว ตายเป็นตาย (แต่พอจะตายจริงๆ กลับกลัว...) ทั้งนี้ เพราะขณะที่ไฟโกรธแผดเผาอยู่นั้น คนโง่จะให้ความรู้สึกเพลิดเพลินเหมือนได้ดื่มกินน้ำตาลหวานอร่อย แต่ภายหลังโกรธเสร็จแล้ว กลายเป็นยาพิษให้ขมขื่นทีหลัง ดังพระบาลีที่ว่า ปจฺฉาโส วิคเต โกเธ อคฺคิทฑโฒว ตปฺปติ แปลว่า ภายหลังเมื่อความโกรธหมดไปแล้ว เขาย่อมเดือดร้อนเหมือนถูกไฟไหม้
อาตมาขอน้อมนำเรื่อง ไฟแห่งความโกรธ พิษแห่งความโกรธ ความฉิบหายที่มาจากความโกรธ เพื่อเป็นอนุสติธรรมแด่สาธุชนชาวไทย จะได้เป็นเครื่องเตือนใจในการก้าวเดินต่อไปบนสะพานแห่งเวลาที่สืบเนื่องต่อไปในปีพุทธ
------------
โพสต์ทูเดย์
อนุสติธรรมปีใหม่ (๒๕๕๔)
รูปภาพประกอบกระทู้จากอินเตอร์เน็ต