แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - แปดคิว

หน้า: [1] 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 ... 66
1
คนไทยเราคุ้นกับกิเลส ๓ ตัว คือ โลภะ โทสะ และโมหะ เพราะได้ยินบ่อย ที่จริงยังมีกิเลสอีกชุดหนึ่ง ๓ ตัวเหมือนกัน คือ ตัณหา มานะ และทิฏฐิ แต่กิเลสชุดนี้คนไทยรู้จักน้อยกว่า โดยเฉพาะคำว่ามานะ คนไทยเรามักเข้าใจว่าเป็นของดีจนถึงกับตั้งชื่อลูกว่ามานะ บางคนก็เปลี่ยนชื่อตัวเองจากที่พ่อแม่ตั้งให้เป็นมานะ เพราะเราเข้าใจว่ามานะคือ “พยายาม” ที่จริงแล้วมานะไม่ได้แปลว่าพยายาม แต่มานะอาจทำให้เกิดพยายามได้ เพราะว่าคนเราโดยเฉพาะคนไทยนั้นจะพากเพียรพยายามได้ก็เพราะกลัวเสียหน้าหรือไม่อยากแพ้คนอื่น เห็นคนอื่นเขาทำได้ เราก็ต้องทำได้ มีคำว่าขัตติยะมานะ ซึ่งหมายถึง มานะของกษัตริย์ จะแพ้ใครไม่ได้ เสียเกียรติยศไม่ได้ หรือจะให้ใครมาหยามน้ำหน้าไม่ได้ แต่ไม่ใช่กษัตริย์เท่านั้นที่มีมานะ ปุถุชนทั่วไปก็มีกันทั้งนั้น แม้แต่พระอริยะเจ้าระดับต้น ๆ ก็ยังมีอยู่ แต่ว่าเบาบางมาก

มานะแปลว่าความถือตัว ความสำคัญตัวว่าสูง หรือความอยากใหญ่ อยากเด่น อยากดัง เป็นกิเลสอย่างหนึ่ง ส่วนตัณหาคือความอยากมีอยากได้ เช่น อยากรวย แต่ถ้าอยากใหญ่ อยากดัง อยากเด่น หรือสำคัญว่าฉันเหนือกว่า ฉันดีกว่า อันนี้เราเรียกว่ามานะ ส่วนทิฐิหมายถึงความยึดติดถือมั่นในความคิด เราคงเคยได้ยินคำว่า “ตัวกูของกู” ความยึดติดว่า “ของกู” หรืออยากได้มาเป็น “ของกู” นี้คือตัณหา ส่วนความยึดติดว่ามี “ตัวกู” หรือหลงยึดมั่นว่า กายและใจนี้คือ “ตัวกู” อันนี้คือทิฏฐิ ถ้าพูดให้เต็มก็คือ สักกายทิฏฐิ แต่มีอีกตัวหนึ่งซึ่งท่านเจ้าคุณพรหมคุณาภรณ์บัญญัติขึ้นมาให้ล้อกับคำว่า ตัวกูของกูก็คือ “นี่กูนะ” อันหลังนี้แหละคือมานะ

นี่กูนะ แสดงอาการหลายอย่างเช่น พูดใส่หน้าคนอื่นว่า รู้ไหมว่ากูเป็นใคร รู้ไหมว่ากูเป็นลูกใคร อันนี้มาจากกิเลสตัวที่ชื่อว่ามานะ เพราะฉะนั้นถ้าพูดตามหลักแล้ว มีกิเลส ๓ ตัว คือ ตัวกู ของกู และนี่กูนะ หรือ ทิฏฐิ ตัณหา และมานะ บางทีก็เรียกว่า อหังการ มมังการ มานานุสัย

การแสดงออกของมานะ
มานะนั้นแสดงอาการได้หลายอย่าง อย่างหยาบๆ ก็คือ เย่อหยิ่ง จองหอง ถือตัว ดูถูกคนอื่น รวมทั้ง อวดเก่ง อวดเบ่ง อวดดี อวดฉลาด ขี้โม้ อวดรวย อวดสวย อวดหล่อ อาการอวดเหล่านี้ใช่มานะทั้งนั้น ลักษณะที่เราอวดรวยเช่น ใช้นาฬิกาโรเล็กซ์ หรือขับรถเบนซ์ หรือรถสปอร์ตราคาแพง ใช้กระเป๋าหลุยส์วิตตอง เป็นต้น คำว่าอวดแทบทุกตัวมันมาจากกิเลสคือมานะ มีทั้งการแสดงออกแบบดิบๆ โฉ่งฉ่าง หรือเนียนๆ ถ้าแบบเนียนๆ ก็เช่น นักปฏิบัติธรรมบางคนชอบสร้างภาพว่าฉันสงบ สมถะ เรียบร้อย อันนี้เน้นเรื่องการสร้างภาพ เพื่อต้องการแสดงให้เห็นว่าฉันเหนือกว่าเธอ ฉันดีกว่าเธอ เพราะฉะนั้นถ้าคิดว่าฉันไม่อวดเบ่งแล้วฉันปลอดภัยจากกรงเล็บของมานะ นั่นไม่ใช่

นอกจากความเย่อหยิ่ง จองหอง ดูถูก อวดเก่ง สร้างภาพแล้ว มานะยังแสดงอาการอย่างอื่นได้อีกเช่น ความภาคภูมิใจ เกิดความมั่นใจในตัวเอง จนกระทั่งเกิดความรู้สึกว่า ฉันแน่ ฉันเก่ง ฉันวิเศษ จนถึงขั้นหลงตัวลืมตน ที่จริงความภาคภูมิใจก็มีประโยชน์เหมือนกัน ไม่ใช่มีโทษอย่างเดียว เช่น ทำให้รู้สึกดีกับตัวเอง ไม่ใช่ว่าไร้ค่า แต่มันก็ยังเป็นกิเสลอยู่นั่นเอง

นอกจากนี้มานะยังทำให้เราไม่อยากฟังคำแนะนำจากใคร ไม่ชอบเวลามีใครตักเตือนหรือวิจารณ์ อาการแบบนี้ใกล้เคียงกับกิเลสที่ชื่อทิฏฐิ ทิฏฐิคือความใจแคบ ความยึดมั่นว่าความคิดของฉันนั้นถูก ความคิดของฉันนั้นดี ดังนั้นคนไทยจึงมักเรียก ทิฏฐิมานะ คู่กัน ก็เพราะว่าทั้งทิฏฐิและมานะ ทำให้เราดื้อดึง ไม่ฟังใคร อย่างไรก็ตาม ทิฏฐิกับมานะต่างกัน ตรงที่ทิฏฐิเป็นความยึดมั่นในความเชื่อของตน ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นความคิดที่ถูกต้อง ส่วนมานะนั้นเป็นความยึดมั่นในอัตตาตัวตน คือยึดมั่นว่าฉันเก่ง ฉันแน่ ฉันถูก ก็เลยไม่ยอมฟังคำวิจารณ์

ความรู้สึกอิจฉาเมื่อเห็นเขาดีกว่า เก่งกว่า สวยกว่า เคร่งกว่า ปฏิบัติธรรมได้ก้าวหน้ากว่าเรา อันนี้ก็มาจากตัวมานะ เพราะมาจากความยึดมั่นถือมั่นว่า ฉันต่ำกว่าเขาไม่ได้ แม้เสมอเขายังไม่ได้เลย ฉันต้องสูงกว่าเขา คำว่าสูงนั้น แต่ละคนให้ความหมายไม่เหมือนกัน บางคนหมายความถึงการมีอำนาจ ความรู้ ความสวย ความเด่นดังมากกว่า หรือมีสถานภาพสูงกว่า ความรู้สึกยึดมั่นสำคัญหมายว่าฉันต้องสูงกว่า ฉันด้อยกว่าไม่ได้ อันนี้เกิดจากกิเลสที่ชื่อมานะ

มานะยังหมายถึงการกลัวเสียหน้า เวลาโต้แย้งกับใคร หรือว่าทำอะไรผิด ทั้ง ๆ ที่ก็รู้นะว่าเราผิดพลาดไป แต่เราก็ไม่กล้ายอมรับผิด หรือไม่กล้าขอโทษ โดยเฉพาะถ้าอีกฝ่ายนั้นมีสถานะต่ำกว่าเรา เช่น เราคิดว่าลูกโกหก ก็เลยต่อว่าลูก ภายหลังมารู้ว่าลูกไม่ได้โกหก เราเข้าใจผิดไปเอง แต่เราดุลูกไปแล้ว เราเคยมีความรู้สึกอยากจะขอโทษไหม แล้วขอโทษหรือเปล่า หรือบางครั้งเราต่อว่าลูกน้องอย่างรุนแรง ภายหลังรู้ว่าเราด่าผิดคน เรารู้สึกผิด อยากจะขอโทษ แล้วเรากล้าขอโทษเขาหรือเปล่า บางครั้งเรารู้ว่าผิดแต่ไม่กล้าขอโทษ ความไม่กล้านั้นก็มาจากความกลัวเสียหน้า จริงอยู่เราอาจมีเหตุผลว่า ถ้าเราขอโทษแล้วลูกน้องจะเหลิง ได้ใจ ทำให้เราปกครองลูกน้องได้ยาก ก็เลยคิดว่าอย่าขอโทษเลย แต่นั่นเป็นเหตุผลลวง เหตุผลที่แท้จริงคือเรากลัวเสียหน้า

เราเห็นกิเลสตัวนี้ไหม หลายคนไม่เห็นเพราะถูกบดบังด้วยเหตุผลที่ปรุงแต่งขึ้นมาเพื่อทำให้เรารู้สึกว่า การขอโทษนั้นไม่ดี ทำให้เราเป็นผู้นำที่อ่อนแอ เป็นการเปิดช่องให้คนอื่นเล่นงานเรา แต่ที่จริงแล้วมันมาจากกิเลสส่วนลึก นั่นคือมานะ คือความกลัวเสียหน้า อย่าว่าแต่คนรับใช้หรือลูกน้องเลย แม้กระทั่งกับพ่อแม่ บางทีเราก็กลัวเสียหน้า ไม่กล้าขอโทษเมื่อทำผิดกับท่าน อาตมาเคยทะเลาะกับพ่อตอนที่เป็นฆราวาส ต่อมารู้สึกว่าตัวเองผิด แต่ไม่กล้าขอโทษ อันนี้เกิดจากมานะ ต้องรวบรวมความกล้าอยู่นาน จึงจะกล้าไปขอโทษพ่อได้ จะเห็นว่ามานะนั้นแทรกซึมอยู่ในพฤติกรรมทั่วๆ ไป แสดงอาการออกมาหลายรูปแบบ ทั้งแบบดิบ แบบเนียน ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นการปูพื้นเพื่อให้เข้าใจว่า มานะหรือ “นี่กูนะ” มันเป็นกิเลสที่แสดงอาการออกมาอย่างไรบ้าง ทีนี้จะพูดถึงโทษของมัน ถ้าเราไม่รู้ว่ามันมีโทษอย่างไร เราก็จะไม่รู้ว่าจะไปลดมันเพื่ออะไร หรือไปจัดการกับมันอย่างไร เหมือนกับที่ฝรั่งคนหนึ่งบอกว่า Greed is good แปลว่า ความโลภนี้ดี ถ้ามันดีแล้วจะไปลดหรือจัดการมันทำไม ควรแต่จะเพิ่มพูนให้มากขึ้น ฝรั่งเขาเชื่อว่าความโลภนี้ดี เพราะทำให้เกิดการผลักดัน เกิดความขยัน เกิดความอุตสาหะ

มานะก็เช่นเดียวกัน บางคนเห็นว่าดีเพราะทำให้เราเกิดความพยายาม จึงมีสำนวนว่า “มานะพยายาม” บางคนมองว่ามันทำให้เกิดพลังสร้างสรรค์ เคยได้ยินไหมที่บอกว่า ศิลปินต้องมีอีโก้ เพราะถ้าไม่เช่นนั้นจะผลักดันผลงานไม่ได้ เขาต้องสร้างผลงานที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน เพราะฉะนั้นเขาก็ต้องพยายามสร้างหรือบ่มเพาะตัวนี้ตั้งแต่แรก หรือบางครั้งพ่อแม่ก็จะสอนว่า อย่าไปยอมแพ้เขานะลูก ถ้าลูกแพ้ ก็จะถูกพ่อแม่ต่อว่าแกแพ้เขาได้อย่างไร แกก็มีมือมีเท้าเหมือนเขา นั่นเป็นการสร้างมานะให้แก่ลูก

มีเรื่องขำขันเรื่องหนึ่งเล่าว่า เมื่อ ๑๐๐ ปีที่แล้ว พ่อคนหนึ่งเฝ้าสอนลูกว่าแพ้ไม่ได้ แล้ววันหนึ่งแม่ป่วย พ่อให้ลูกไปเอายาจากหมอ ลูกไปตั้งแต่เช้า บ่ายลูกก็ยังไม่มาทั้งๆ ที่แม่มีอาการหนักแล้ว พ่อแปลกใจว่าลูกหายไปไหน รู้สึกไม่พอใจขึ้นมา จึงไปตามหาลูก ปรากฏว่าไปเจอลูกอยู่บนสะพานแคบๆ ยืนประจันหน้ากับผู้ชายคนหนึ่ง ไม่ขยับเขยื้อนเลย พ่อจึงถามลูกว่า ทำไมไม่รีบไปเอายา ลูกตอบว่าไปเอาไม่ได้เพราะผู้ชายคนนี้ขวางเอาไว้ เขาจะให้ผมหลีกทางก่อนแต่ผมไม่ยอม ส่วนเขาก็ไม่ยอมหลีกทางให้ผม ก็เลยยืนประจันหน้ากันอยู่บนสะพาน ๓ ชั่วโมงแล้ว พอพ่อได้ยินเช่นนี้ ก็บอกว่า ดีแล้ว ลูกรีบไปเอายาเร็ว ส่วนพ่อจะยืนตรงนี้แทนลูกเอง

พ่อแทนที่จะต่อว่าลูกว่าไปยืนตรงนั้นทำไมตั้ง ๓ ชั่วโมง กลับดีใจที่ลูกไม่ยอมแพ้ใคร ทั้ง ๆ ที่แม่กำลังจะแย่อยู่แล้ว แถมยังยอมเสียเวลายืนแทนลูกให้ เพื่อจะได้ไม่เป็นฝ่ายยอมเขาก่อน นี้คือฤทธิ์ของมานะที่ทำให้คนเรากลายเป็นคนโง่ขึ้นมาได้โดยไม่รู้ตัว

มานะมีข้อดีตรงที่ทำให้ใจเราฟูขึ้น ถ้าไปไหนเราสะพายกระเป๋าหลุยส์วิตตอง ใส่นาฬิกาโรเล็กซ์ ขับรถเบนซ์เราก็ยืดอกได้ เราจะไม่กลัวตำรวจ แต่ข้อเสียของมันก็คือ เมื่อฟูแล้วก็เหมือนกับลูกโป่งที่ยิ่งพองโตเท่าไหร่ ก็ยิ่งแตกง่ายเท่านั้น ลูกโป่งนี้กลัวแม้กระทั่งฟางเส้นเล็กๆ แค่ถูกฟางทิ่มเอาก็แตกแล้ว คนที่มีมานะ อัตตาใหญ่แค่ถูกกระทบนิดหน่อยก็ระเบิดแล้ว เช่น เป็นนายพลไปรับประทานอาหารที่ร้านแล้วเขาเสิร์ฟช้าก็ทุกข์แล้ว เป็นดาราเวลาไปที่ไหนไม่มีใครทักก็เป็นทุกข์แล้ว หรือคนสวยเวลาเดินไปไหนแต่ไม่มีใครมอง ก็อาจจะรู้สึกไม่สบายใจ คนที่เป็นดาราจะหวั่นไหวกับเรตติ้งมาก ถ้าเรตติ้งลดลงก็จะทุกข์มากเลย

โทษของการมีมานะนั่นคือโกรธง่าย ทุกข์ง่าย ไม่ยอมแพ้ และความไม่ยอมแพ้บางทีก็สร้างปัญหาให้กับเรา เช่นเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน เพราะยอมไม่ได้ที่ถูกขับรถปาดหน้า เมื่อมีรถปาดหน้าแล้วต้องปาดหน้ากลับ บางรายถึงกับเสียชีวิตเพราะถูกอีกฝ่ายลงจากรถลงมายิงด้วยความแค้น

เมื่อสองสามปีก่อน ที่โรงเรียนชื่อดังแห่งหนึ่งชานกรุงเทพฯ ตอนเย็นจะมีรถของผู้ปกครองมารับนักเรียน ปัญหาคือโรงเรียนมีที่จอดรถน้อยมาก รถจึงติดยาวเป็นแพ จึงมีการออกกฎให้ขับรถทางเดียว มีผู้ชายคนหนึ่งรีบไปรับลูกจึงแหกกฎเข้าทางประตูออก และได้ที่จอดรถซึ่งเหลือเพียงที่เดียว คนที่ขับรถตามกฎแต่ถูกตัดหน้าไปจึงไม่พอใจ ลงจากรถมาต่อว่าชายผู้นั้นโดยไม่รู้ว่าคนนั้นเป็นนายพล นายพลคนนั้นไม่พอใจ ลงจากรถแล้วถามว่า “รู้ไหมว่าผมเป็นใคร” เขาตอบว่า “ผมไม่สนหรอกว่าคุณเป็นใคร แต่คุณทำผิดกฎ ทำอย่างนี้ไม่ถูก” พูดแล้วก็เดินกลับไปที่รถ นายพลคนนั้นโกรธมากเดินกลับไปที่รถ คว้าปืนแล้วเดินตามชายคนนั้น หมายจะยิงให้หายแค้น ลองนึกภาพต่อไปว่าจะเกิดอะไรขึ้น อาจจะมีคนถูกยิงตาย ส่วนคนที่ยิงติดคุก ถ้าไม่ติดคุกเพราะใช้เส้นสายจนหลุดได้แต่ก็คงเดือดร้อน ตกเป็นข่าวหน้าหนึ่ง นี่คือโทษของมานะทำให้คนเราโกรธเพราะเสียหน้าจนลืมตัว มันทำให้เราไม่ยอมรับความจริง ไม่ยอมรับคำวิจารณ์ แตะต้องไม่ได้และบางทีทำให้เรากลายเป็นคนสร้างภาพโดยไม่รู้ตัว

ที่ประเทศจีน เมื่อหลายร้อยปีก่อนมีสำนักแห่งหนึ่ง ขณะที่อาจารย์กำลังนั่งกินอาหารอยู่ก็เกิดแผ่นดินไหว ลูกศิษย์ตื่นตกใจ วิ่งโกลาหล แต่ว่าอาจารย์นั่งนิ่งดูสงบ หลังจากเหตุการณ์ผ่านไปเรียบร้อยโดยไม่มีอะไรรุนแรงเกิดขึ้น ตอนค่ำก็มีการแสดงธรรม อาจารย์พูดเรื่องสติ ลูกศิษย์ถามว่า “สติคืออะไรครับ” อาจารย์บอกว่า “สติคือการที่จิตสามารถอยู่นิ่งเป็นปกติได้ แม้แต่เวลาเกิดเหตุร้าย ก็ไม่ตื่นตระหนก อย่างอาจารย์เมื่อตอนกลางวันนี้ พวกเธอเห็นไหม ขณะที่พวกเธอวิ่งแตกตื่นกันหมด แต่อาจารย์กลับนั่งนิ่ง จิบน้ำชา” พูดจบก็มีเสียงแทรกขึ้นมาว่า “ไม่ใช่ครับ.... ที่อาจารย์ดื่มนั้นไม่ใช่น้ำชาครับ แต่เป็นซีอิ๊วครับ”

อาจารย์ก็ไม่รู้ตัวว่าดื่มน้ำซีอิ๊ว ยังคิดว่าดื่มชา แสดงว่าจริงๆ แล้วอาจารย์ก็กลัวเหมือนกันแต่กำลังสร้างภาพว่า เราเป็นอาจารย์ ต้องสงบ อยู่นิ่ง ๆ จะทำให้คนอื่นเห็นว่าเรากลัวหรือตื่นตกใจไม่ได้ นี่คืออาการของมานะเช่นกัน เป็นการสร้างภาพให้ดูดี ซึ่งถ้าเราไม่รู้เท่าทันมัน ก็จะถูกมันหลอกได้โดยไม่รู้ตัว

คนดีหรือนักปฏิบัติธรรมถ้าไม่รู้ตัว ก็โดนมานะเล่นงานได้ เช่นเห็นคนอื่นทำความดีมากกว่าเรา ปฏิบัติธรรมได้ก้าวหน้ากว่าเรา รักษาศีลได้มากกว่าเรา ก็ไม่พอใจ รู้สึกเขม่นเขาขึ้นมา คนดีถ้ายึดติดกับภาพลักษณ์ตัวเอง อยากให้ตัวเองดูดี คนอื่นชื่นชมสรรเสริญ ก็จะมีปัญหาแบบนี้ คือเขม่นคนที่ดีกว่า นักปฏิบัติธรรมเป็นอย่างนี้ไม่น้อย เช่น สำคัญตนว่าฉันดีกว่าเธอเพราะฉันถือศีลแปดเธอ เธอถือศีลห้า ฉะนั้นเธออย่ามาเถียงฉัน นี่เป็นมานะแบบหนึ่ง แทนที่จะแลกเปลี่ยนความเห็นกันด้วยเหตุผล ก็เอาความดีมาข่ม พอเหตุผลของเราสู้เขาไม่ได้ก็เอาเรื่องศีลมาข่มด้วยความรู้สึกว่าฉันดีกว่า ฉันสูงกว่า เธออย่ามาเถียงฉัน กิเลสตัวนี้ถ้าเราไม่รู้ทัน เราก็จะกลายเป็นคนน่าระอา บางทีคนดีที่เคร่งศีลหรือติดดีก็น่าระอาเพราะความถือตัวนี่แหละ



http://www.visalo.org/article/sukkala13.htm

3
ไหว้พระหน้าคอม / ประวัติลอยกระทง
« เมื่อ: พฤศจิกายน 07, 2011, 09:19:23 pm »
ลอยกระทง

“ลอยกระทง”เป็นพิธีอย่างหนึ่งที่มักจะทำกันในคืนวันเพ็ญ เดือน ๑๒ หรือวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ อันเป็นวันพระจันทร์เต็มดวง และเป็นช่วงที่น้ำหลากเต็มตลิ่ง โดยจะมีการนำดอกไม้ ธูป เทียนหรือสิ่งของใส่ลงในสิ่งประดิษฐ์รูปต่างๆที่ไม่จมน้ำ เช่น กระทง เรือ แพ ดอกบัว ฯลฯ แล้วนำไปลอยตามลำน้ำ โดยมีวัตถุประสงค์ และความเชื่อต่างๆกัน สำหรับในปีนี้วันลอยกระทงตรงกับวันที่ 10 พฤศจิกายน 2554

ประเพณีลอยกระทง มิได้มีแต่ในประเทศไทยเท่านั้น ในประเทศจีน อินเดีย เขมร ลาว และพม่าก็มีการลอยกระทงคล้ายๆกับบ้านเรา จะต่างกันบ้างก็คงเป็นเรื่องรายละเอียด พิธีกรรม และความเชื่อในแต่ละท้องถิ่น แม้แต่ในบ้านเราเอง การลอยกระทงก็มาจากความเชื่อที่หลากหลายเช่นกัน


ทำไมถึงลอยกระทง
การลอยกระทง เป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าปฏิบัติกันมาแต่เมื่อไร เพียงแต่ท้องถิ่นแต่ละแห่งก็จะมีจุดประสงค์และความเชื่อในการลอยกระทงแตกต่างกันไป เช่น ในเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ก็จะเป็นการบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นบูชารอยพระพุทธบาท ณ หาดทรายริมฝั่งแม่น้ำนัมมทา ซึ่งปัจจุบันคือแม่น้ำเนรพุททาในอินเดีย หรือต้อนรับพระพุทธเจ้าในวันเสด็จกลับจากเทวโลกเมื่อครั้งไปโปรดพระพุทธมารดา นอกจากนี้ ก็ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อบูชาพระอุปคุตเถระที่บำเพ็ญบริกรรมคาถาในท้องทะเลลึกหรือสะดือทะเล บางแห่งก็ลอยกระทงเพื่อบูชาเทพเจ้าตามความเชื่อของตน บางแห่งก็เพื่อแสดงความขอบคุณพระแม่คงคาซึ่งเป็นแหล่งน้ำให้มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์ต่างๆ รวมทั้งขอขมาที่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงไป ส่วนบางท้องที่ก็จะทำเพื่อระลึกถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับ หรือเพื่อสะเดาะเคราะห์/ลอยทุกข์โศกโรคภัยต่างๆ และส่วนใหญ่ก็จะอธิษฐานขอสิ่งที่ตนปรารถนาไปด้วย


พระยาอนุมานราชธน ได้สันนิษฐานว่า ต้นเหตุแห่งการลอยกระทงอาจมีมูลฐานเป็นไปได้ว่า การลอยกระทงเป็นคติของชนชาติที่ประกอบกสิกรรม ซึ่งต้องอาศัยน้ำเป็นสำคัญ เมื่อพืชพันธุ์ธัญชาติงอกงามดี และเป็นเวลาที่น้ำเจิ่งนองพอดี ก็ทำกระทงลอยไปตามกระแสน้ำไหลเพื่อขอบคุณแม่คงคา หรือเทพเจ้าที่ประทานน้ำมาให้ความอุดมสมบูรณ์ เหตุนี้ จึงได้ลอยกระทงในฤดูกาลน้ำมาก และเมื่อเสร็จแล้วจึงเล่นรื่นเริงด้วยความยินดี เท่ากับเป็นการสมโภชการงานที่ได้กระทำ ว่าได้ลุล่วงและรอดมาจนเห็นผลแล้ว ท่านว่าการที่ชาวบ้านบอกว่าการลอยกระทงเป็นการขอขมาลาโทษและขอบคุณต่อแม่คงคา ก็คงมีเค้าในทำนองเดียวกับการที่ชาติต่างๆ แต่ดึกดำบรรพ์ได้แสดงความยินดีที่พืชผลเก็บเกี่ยวได้ จึงได้นำผลผลิตแรกที่ได้ไปบูชาเทพเจ้าที่ตนนับถือเพื่อขอบคุณที่บันดาลให้การเพาะปลูกของตนได้ผลดี

รวมทั้งเลี้ยงดูผีที่อดอยาก และการเซ่นสรวงบรรพบุรุษที่ล่วงลับ เสร็จแล้วก็มีการสมโภชเลี้ยงดูกันเอง ต่อมาเมื่อมนุษย์มีความเจริญแล้ว การวิตกทุกข์ร้อนเรื่องเพาะปลูกว่าจะไม่ได้ผลก็น้อยลงไป แต่ก็ยังทำการบวงสรวงตามที่เคยทำมาจนเป็นประเพณี เพียงแต่ต่างก็แก้ให้เข้ากับคติลัทธิทางศาสนาที่ตนนับถือ เช่น มีการทำบุญสุนทานเพิ่มขึ้นในทางพุทธศาสนา เป็นต้น แต่ที่สุด ก็คงเหลือแต่การเล่นสนุกสนานรื่นเริงกันเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ดี ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น การลอยกระทงจึงมีอยู่ในชาติต่างๆทั่วไป และการที่ไปลอยน้ำ ก็คงเป็นความรู้สึกทางจิตวิทยา ที่มนุษย์โดยธรรมดา มักจะเอาอะไรทิ้งไปในน้ำให้มันลอยไป





ทำไมกระทงส่วนใหญ่เป็นรูปดอกบัว
ในหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์หรือตำนานนางนพมาศ ซึ่งเป็นพระสนมเอกของพระมหาธรรมราชาลิไทยหรือพระร่วง แห่งกรุงสุโขทัย ได้กล่าวถึงวันเพ็ญเดือนสิบสองว่าเป็นเวลาเสด็จประพาสลำน้ำตามพระราชพิธีในเวลากลางคืน และได้มีรับสั่งให้บรรดาพระสนมนางในทั้งหลายตกแต่งกระทงประดับดอกไม้ธูปเทียนนำไปลอยน้ำหน้าพระที่นั่ง ในคราวนั้นท้าวศรีจุฬาลักษณ์หรือนางนพมาศ พระสนมเอกก็ได้คิดประดิษฐ์กระทงเป็นรูปดอกบัวกมุทขึ้น ด้วยเห็นว่าเป็นดอกบัวพิเศษที่บานในเวลากลางคืนเพียงปีละครั้งในวันดังกล่าว สมควรทำเป็นกระทงแต่งประทีป ลอยไปถวายสักการะรอยพระพุทธบาท ซึ่งเมื่อพระร่วงเจ้าได้ทอดพระเนตรเห็นก็รับสั่งถามถึงความหมาย นางก็ได้ทูลอธิบายจนเป็นที่พอพระราชหฤทัย พระองค์จึงมีพระราชดำรัสว่า “แต่นี้สืบไปเบื้องหน้าโดยลำดับ กษัตริย์ในสยามประเทศถึงกาลกำหนดนักขัตฤกษ์ วันเพ็ญเดือน ๑๒ ให้นำโคมลอยเป็นรูปดอกบัว อุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานที ตราบเท่ากัลปาวสาน” ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นโคมลอยรูปดอกบัวปรากฏมาจนปัจจุบัน

ตำนานและความเชื่อ
จากที่กล่าวมาข้างต้นว่า การลอยกระทง ในแต่ละท้องที่ก็มาจากความเชื่อ ความศรัทธาที่แตกต่างกัน บางแห่งก็มีตำนานเล่าขานกันต่อๆมา ซึ่งจะยกตัวอย่างบางเรื่องมาให้ทราบ ดังนี้

เรื่องแรก ว่ากันว่าการลอยกระทง มีต้นกำเนิดมาจากศาสนาพุทธนั่นเอง กล่าวคือก่อนที่พระพุทธองค์จะตรัสรู้เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ประทับอยู่ใต้ต้นโพธิ์ ใกล้แม่น้ำเนรัญชรา กาลวันหนึ่ง นางสุชาดาอุบาสิกาได้ให้สาวใช้นำข้าวมธุปายาส (ข้าวกวน/หุงด้วยน้ำผึ้งหรือน้ำอ้อย) ใส่ถาดทองไปถวาย เมื่อพระองค์เสวยหมดแล้ว ก็ทรงตั้งสัตยาธิษฐานว่า ถ้าหากวันใดจะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ก็ขอให้ถาดลอยทวนน้ำ ด้วยแรงสัตยาธิษฐานและบุญญาภินิหาร ถาดก็ลอยทวนน้ำไปจนถึงสะดือทะเล แล้วก็จมไปถูกขนดหางพระยานาคผู้รักษาบาดาล

พระยานาคตื่นขึ้น พอเห็นว่าเป็นอะไร ก็ประกาศก้องว่า บัดนี้ได้มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกอีกองค์แล้ว ครั้นแล้วเทพยดาทั้งหลายและพระยานาคก็พากันไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า และพระยานาคก็ได้ขอให้พระพุทธองค์ประทับรอยพระบาทไว้บนฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เพื่อพวกเขาจะได้ขึ้นมาถวายสักการะได้ พระองค์ก็ทรงทำตาม ส่วนสาวใช้ก็นำความไปบอกนางสุชาดา ครั้นถึงวันนั้นของทุกปี นางสุชาดาก็จะนำเครื่องหอมและดอกไม้ใส่ถาดไปลอยน้ำเพื่อไปนมัสการรอยพระพุทธบาทเป็นประจำเสมอมา และต่อๆมาก็ได้กลายเป็นประเพณีลอยกระทงตามที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน





ในเรื่องการประทับรอยพระบาทนี้ บางแห่งก็ว่า พญานาคได้ทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าไปแสดงธรรมเทศนาในนาคพิภพ เมื่อจะเสด็จกลับ พญานาคได้ทูลขออนุสาวรีย์จากพระองค์ไว้บูชา พระพุทธองค์จึงได้ทรงอธิษฐานประทับรอยพระบาทไว้ที่หาดทรายแม่น้ำนัมมทา และพวกนาคทั้งหลายจึงพากันบูชารอยพระพุทธบาทแทนพระองค์ ต่อมาชาวพุทธได้ทราบเรื่องนี้จึงได้ทำการบูชารอยพระบาทสืบต่อกันมา โดยนำเอาเครื่องสักการะใส่กระทงลอยน้ำไป

ส่วนที่ว่าลอยกระทงในวันเพ็ญ เดือน ๑๑ หรือวันออกพรรษา เพื่อเฉลิมฉลองวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับมาสู่โลกมนุษย์ หลังการจำพรรษา ๓ เดือน ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อแสดงอภิธรรมโปรดพุทธมารดานั้น ก็ด้วยวันดังกล่าว เหล่าทวยเทพและพุทธบริษัทพากันมารับเสด็จนับไม่ถ้วน พร้อมด้วยเครื่องสักการบูชา และเป็นวันที่พระพุทธองค์ได้เปิดให้ประชาชนได้เห็นสวรรค์และนรกด้วยฤทธิ์ของพระองค์ คนจึงพากันลอยกระทงเพื่อเฉลิมฉลองรับเสด็จพระพุทธเจ้า

สำหรับคติที่ว่า การลอยกระทงตามประทีปเพื่อไปบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสรวงสรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น ก็ว่าเป็นเพราะตรงกับวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จออกบรรพชาที่ริมฝั่งแม่น้ำอโนมา ทรงใช้พระขรรค์ตัดพระเกศโมลีขาดลอยไปในอากาศตามที่ทรงอธิษฐาน พระอินทร์จึงนำผอบแก้วมาบรรจุ แล้วนำไปประดิษฐานไว้ในจุฬามณีเจดีย์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (ตามประทีป คือ การจุดประทีป หรือจุดไฟในตะเกียง /โคม หรือผาง-ถ้วยดินเผาเล็กๆ) ซึ่งทางเหนือของเรามักจะมีการปล่อยโคมลอย หรือโคมไฟที่เรียกว่า ว่าวไฟ ขึ้นไปในอากาศเพื่อบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีด้วย

เรื่องที่สอง ตามตำราพรหมณ์คณาจารย์กล่าวว่า พิธีลอยประทีปหรือตามประทีปนี้ แต่เดิมเป็นพิธีทางศาสนาพราหมณ์ ทำขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้าทั้งสามคือ พระอิศวร พระนารายณ์และพระพรหม เป็นประเภทคู่กับลอยกระทง ก่อนจะลอยก็ต้องมีการตามประทีปก่อน ซึ่งตามคัมภีร์โบราณอินเดียเรียกว่า “ทีปาวลี” โดยกำหนดทางโหราศาสตร์ว่าเมื่อพระอาทิตย์ถึงราศีพิจิก พระจันทร์อยู่ราศีพฤกษ์เมื่อใด เมื่อนั้นเป็นเวลาตามประทีป และเมื่อบูชาไว้ครบกำหนดวันแล้ว ก็เอาโคมไฟนั้นไปลอยน้ำเสีย ต่อมาชาวพุทธเห็นเป็นเรื่องดี จึงแปลงเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทและการรับเสด็จพระพุทธเจ้าดังที่กล่าวมาข้างต้น โดยมักถือเอาเดือน ๑๒ หรือเดือนยี่เป็งเป็นเกณฑ์ (ยี่เป็งคือเดือนสอง ตามการนับทางล้านนา ที่นับเดือนทางจันทรคติ เร็วกว่าภาคกลาง ๒ เดือน)





จากเรื่องข้างต้น เราจะเห็นได้ว่า การลอยกระทง ส่วนใหญ่จะเป็นการแสดงความกตัญญูระลึกถึงผู้มีพระคุณต่อมนุษย์ เช่น พระพุทธเจ้า เทพเจ้า พระแม่คงคา และบรรพชน เป็นต้น และแสดงความกตเวที (ตอบแทนคุณ) ด้วยการเคารพบูชาด้วยเครื่องสักการะต่างๆ โดยเฉพาะการบูชาพระพุทธเจ้าหรือรอยพระพุทธบาท ถือได้ว่าเป็นคติธรรมอย่างหนึ่ง ที่บอกเป็นนัยให้พุทธศาสนิกชนได้เจริญรอยตามพระบาทของพระพุทธองค์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความดีงามทั้งปวงนั่นเอง

ประเพณีลอยกระทง นอกจากจะเป็นประเพณีที่มีคุณค่าในเรื่องการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณดังที่กล่าวมาแล้ว ประเพณีนี้ยังมีคุณค่าต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และศาสานาด้วย เช่น ทำให้สมาชิกในครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกัน ทำให้ชุมชนได้ร่วมมือร่วมใจกันจัดงาน หรือในบางท้องที่ที่มีการทำบุญก็ถือว่ามีส่วนช่วยสืบทอดพระศาสนา และในหลายๆแห่งก็ถือเป็นโอกาสดีในการรณรงค์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในแม่น้ำลำคลองไปด้วย

ทั้งหมดที่กล่าวมาคงจะทำให้ท่านได้รู้จักคุณค่า สาระและเรื่องราวเกี่ยวกับ“ประเพณีลอยกระทง” มากขึ้น และหวังว่า “ลอยกระทง” ปีนี้ นอกจากความสนุกสนานแล้ว คงจะมีความหมายแก่ท่านทั้งหลายเพิ่มขึ้นด้วย



http://www.dek-d.com/board/view.php?id=1184468

4
ไหว้พระหน้าคอม / Re: งานตักบาตรเทโว
« เมื่อ: ตุลาคม 19, 2011, 08:48:48 pm »
ครับสาธุครับ

5
ไหว้พระหน้าคอม / Re: งานตักบาตรเทโว
« เมื่อ: ตุลาคม 13, 2011, 08:44:00 pm »
ไปงานมาเมื่อเช้านี้ครับฝนหยุดพอดี  ถ่ายเองครับ




วิดีโอ0012.3gp ตักบาตรเทโว

6
ไหว้พระหน้าคอม / งานตักบาตรเทโว
« เมื่อ: ตุลาคม 12, 2011, 09:18:06 pm »
ตักบาตรเทโว



วันตักบาตรเทโวหมายถึง วันทำบุญตักบาตรในเทศกาลวันออกพรรษา ตามความเชื่อของพุทธศาสนิชน ว่าเป็นวันที่เสด็จลงจากสวรรค์ ชั้นดาวดึงส์หลังจากเทศนาอภิธรรมปิฎกโปรดพุทธมารดา
ความเป็นมา
เทโว ย่อมาจากคำว่า เทโวโรหนะ ซึ่งแปลว่า การหยั่งลงจาก เทวโลก หมายถึง การเสด็จลงจากเทวโลกของพระพุทธเจ้า ตามตำนาน กล่าวว่า เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ทรงเทศนาโปรดประชาชนในแคว้นต่าง ๆ ของอินเดียตอนเหนือ ตั้งแต่ เมืองราชคฤห์ เมืองพาราณสี เมืองสาวัตถี ตลอดถึงเมืองกบิลพัสดุ์ ซึ่งเป็นบิตุภูมิของพระองค์ ทรงเทศนาโปรดพระประยูรญาติทั้งหลายถ้วนหน้า แล้วทรงปรารถนาจะสนองพระคุณมารดา ซึ่งหลังประสูติพระองค์ ได้ ๗ วัน ก็สิ้นพระขนม์ และได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต ฉะนั้นในพรรษาที่ ๗ หลังจากตรัสรู้พระพุทธองค์จึงเสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เทศนาพระอภิธรรมปิฎกโปรดพระพุทธมารดาอยู่พรรษาหนึ่ง ถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ จึงเสด็จลงจาก สวรรค์ชั้นดาวดึงส์มาประทับที่เมืองสังกัสสะประชาชนพากันไปเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อทำบุญตักบาตรอย่างหนาแน่น
การตักบาตรเทโวนี้ บางวัดทำในวันออกพรรษา คือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ บางวัดก็ทำในวันรุ่งขึ้น คือวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ทั้งนี้ แล้วแต่ความตกลงร่วมใจทั้งทางวัดและทางบ้าน พิธีที่ทำนั้นทางวัดอัญเชิญพระพุทธรูปประดิษฐานในบุษบก ซึ่งตั้ง อยู่บนล้อเลื่อนหรือคานหาม มีบาตรขนาดใหญ่ใบหนึ่งตั้งไว้หน้าพระพุทธรูป มีคน ลากล้อเลื่อนไปช้า ๆ นำหน้าพระสงฆ์ สามเณร ซึ่งถือบาตรเดินเรียงไปตามลำดับ พุทธศาสนิกชนต่างก็นำข้าว อาหารหวานคาว มาเรียงรายกันอยู่เป็นแถวตามแนวทางที่รถบุษบกเคลื่อนผ่าน คอยตักบาตร อาหารที่นิยมตักในวันนั้น นอกจากข้าวและอาหารคาวหวาน ธรรมดาแล้วก็จะมีข้าวต้มลูกโยนด้วย ซึ่งบางท่านสันนิษฐานว่าในครั้งนั้นผู้คนรอใส่บาตรกันแออัดมาก เข้าไม่ถึงพระ จึงใช้ข้าวก่อ หรือปั้นโยนลงบาตร
ประเพณีการตักบาตรเทโวนี้ เนื่องมาจากการเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา เมื่อมีเหตุการณ์อะไรปรากฏในตำนาน ก็จะปรารภเหตุนั้นๆ เพื่อบำเพ็ญบุญกุศลเช่นการถวายทาน รักษาศีล เป็นต้น ตักบาตรเทโวจึงเป็นการทำบุญอย่างมโหฬารของพุทธศาสนิกชน นับแต่นั้นมา
พิธีตักบาตรเทโวโรหณะในสมัยปัจจุบัน
ตอนรุ่งอรุณของวันตักบาตรเทโว พระภิกษุสามเณรลงทำวัตรในพระอุโบสถ พอพระอาทิตย์ขึ้นก็สมมติว่า พระลงมาจากบันใดสวรรค์ บางที่ก็มีดนตรีบรรเลงเพลงไทยเดิม สมมุติว่าเป็นพวกเทวดาบรรเลง ขับกล่อมตามส่งพระพุทธเจ้า ยังมีพวกแฟนตาซีอีก แต่งเป็นพวกยักษ์ เทวดา พระอินทร์ พรหม นางเทพธิดา นำหน้าขบวนพระภิกษุสามเณร ชาวบ้านก็จะใส่บาตรด้วยอาหารหวาน อาหารคาว ข้าวต้มลูกโยน ข้าวต้มมัดจึงเป็นสัญลักษณ์ของพิธีนี้

ภาคกลาง
จังหวัดนครปฐม ที่พระปฐมเจดีย์ พระภิกษุสามเณรจะมารวมกันที่องค์พระปฐมเจดีย์ แล้วก็เดินลงมาจากบันใดนาคหน้าวิหารพระร่วง สมมติว่าพระเดินลงมาจากบันใดสวรรค์ชาวบ้านก็คอยใส่บาตร
จังหวัดอุทัยธานีซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาสูง ณ วัดสะแกกรัง พระภิกษุจะเดินลงมาจากเขารับบิณฑบาตรจากชาวบ้าน อนึ่ง ขบวนพระภิกษุสงฆ์นั้นที่ลงมาจากบันใดนั้นนิยมให้มีพระพุทธรูป นำหน้าสมมติว่าเป็นพระพุทธเจ้าจะใช้พระปางอุ้มบาตร ห้ามมาร ห้ามสมุทร รำพึง ถวายเนตรหรือปางลีลา โดยตั้งบนรถ หรือตั้งบนคานหาม มีที่ตั้งบาตรสำหรับอาหารบิณฑบาตร
สำหรับบางที่ไม่นิยมตักบาตรเทโว แต่นิยมตักบาตรตอนเช้าถวายอาหารพระภิกษุแล้ว ฟังเทศน์รักษา อุโบสถศีล
สำหรับที่นิยมตักบาตรเทโว จะทำบุญเป็น ๒ วันคือวันออกพรรษากับวันเทโว ในวันแรม 1 ค่ำเดือน ๑๑ ในวันออกพรรษานั้น ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ก็มีการฟังเทศน์ตอนสาย และรักษาอุโบสถศีล

ภาคใต้
ประเพณีชักพระ (พระพุทธรูป) ทางภาคใต้เรียกว่า พิธีลากพระมีสองกรณี คือ ชักพระทางบก และชักพระทางน้ำ
ถึงแม้ภาคนี้จะมีความแตกต่างไปจากภาคอื่น ภาคใต้ ก็มีจุดประสงค์ปรารภเหตุ การเสด็จลงมาของพระพุทธเจ้าจากเทวโลกมาถึงพื้นโลก ในวันปวารณาออกพรรษาเช่นเดียวกัน ก็จัดให้มีประเพณีแห่พระพุทธรูป ในวันแรม 1 ค่ำเดือน ๑๑ จึงนำมากล่าวในที่นี้ด้วยประเพณีชักพระ มี ๒ ประเภท คือ ชักพระทางบก กับชักพระทางน้ำ
พิธีชักพระทางบก
จังหวัดนครศรีธรรมราช ก่อนวันชักพระ ๒ วันจะมีพิธีใส่บาตรหน้าล้อ นอกจากอาหารคาวหวาน ยังมีสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของงาน " ปัด" คือข้าวต้มผัด น้ำกะทิห่อด้วยใบมะพร้าว บางที่ห่อด้วยใบกะพ้อ (ปาล์มชนิดหนึ่ง) ในภาคกลางเขาเรียกว่า ข้าวต้มลูกโยน ก่อนจะถึงวันออกพรรษา ๑ - ๒ สัปดาห์ทางวัดจะทำเรือบก คือเอาท่อนไม้ขนาดใหญ่ ๒ ท่อนมาทำเป็นพญานาค ๒ ตัว เป็นแม่เรือที่ถูกยึดไว้อย่างแข็งแรง แล้วปูกระดาน วางบุษบก (ร้านม้า)บนบุษบกจะนำพระพุทธรูปยืนรอบบุษบกก็วางเครื่องดนตรี ไว้บรรเลงเวลาเคลื่อนพระไปสู่บริเวณงานพอเช้าวัน ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ชาวบ้านจะช่วยกันชักพระ โดยถือเชือกขนาดใหญ่ ๒ เส้นที่ผูกไว้กับพญานาคทั้ง ๒ ตัวเมื่อถึงบริเวณงานจะมีการสมโภช และมีการเล่นกีฬาพื้นเมืองต่าง ๆ กลางคืนมีงานฉลองอย่างมโหฬาร การชักพระที่ปัตตานี มีอิสลามร่วมด้วย

พิธีชักพระทางน้ำ
ก่อนถึงวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ทางวัดที่อยู่ริมน้ำ ก็จะเตรียมการต่าง ๆ ก็จะนำเรือมา ๒ - ๓ ลำ มาปูด้วยไม้กระดานเพื่อตั้งบุษบก หรือพนมพระประดับประดาด้วยธงทิว ในบุษบกก็ตั้งพระพุทธรูปในเรือบางที่ก็มีเครื่องดนตรีประโคมตลอดทางที่เรือเคลื่อนที่ไปสู่จุดกำหนด คือบริเวณงานท่าน้ำที่เป็นบริเวณงานจะมีเรือพระหลาย ๆ วัดมาร่วมงาน ปัจจุบันจะนิยมใช้เรือยนต์จูง แทนการพาย เมื่อชักพระถึงบริเวณงานทั้งหมดทุกวัดที่มาร่วม จะมีการฉลองสมโภชพระ มีการเล่นต่าง ๆ อย่างสนุกสนาน เช่นแข่งเรือปาโคลน ซัดข้าวต้ม เป็นต้น เมื่อฉลองเสร็จ ก็จะชักพระกลับวัด บางทีก็จะแย่งเรือกัน ฝ่ายใดชนะก็ยึดเรือ ฝ่ายใดแพ้ต้องเสียค่าไถ่ให้ฝ่ายชนะ จึงจะได้เรือคืน


พิธีรับพระภาคกลาง
พิธีรับพระเป็นพิธีบูชาพระพุทธเจ้า ในโอกาสที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากการจำพรรษา ณ ดาวดึงส์เทวโลก พิธีนี้มักจะปรากฏในภาคกลางที่อยู่ติดกับแม่น้ำ ลำคลอง ที่เป็นคมนาคมทางน้ำ เช่น อำเภอบางบ่อ บางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ทางวัดจะอัญเชิญพระพุทธรูปยืนลงบุษบกในตัวเรือแล้วแห่ไปตามลำคลอง ชาวบ้านก็จะโยนดอกบัวจากฝั่งให้ตกในเรือหน้าพระ-พุทธรูป แล้วโยนข้าวต้ม ยังมีการแข่งขันเรือชิงรางวัลอีกด้วย
ประเพณีตักบาตรพระร้อย
"ประเพณีตักบาตรพระร้อย" หรือ ใส่บาตรพระร้อยรูป เป็นบุญประเพณีของชาวประเพณีโดยเฉพาะ ส่วนมากจัดพิธีขึ้นทางน้ำเนื่องด้วยแต่เดิมบ้านอยู่ติดริมน้ำลำคลอง จึงใช้เรือสัญจร พระส่วนมากจึงใช้เรือบิณฑบาต
เนื่องมาแต่ความเชื่อเดิมว่าหลังวันเสด็จลงจากเทวโลก คือวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ หรือวันตักบาตรเทโว พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงนำพระภิกษุสงฆ์จำนวนเป็นร้อยออกบิณฑบาต ชาวประชาจึงหลั่งไหลมาถวายสักการะต้อนรับด้วยดอกไม้และบิณฑบาตทาน จึงมีพิธีตักบาตรเทโวขึ้น แต่ชาวปทุมธานีนิยมกำหนดเอาพระบิณฑบาตจำนวนร้อยรูป จึงเรียกว่า ตักบาตพระร้อยสืบมา
ประโยชน์ของพิธีออกพรรษา
๑. เมื่อวันออกพรรษามาถึงเป็นการเตือนใจชาวพุทธว่า เวลาที่ผ่านไป ชีวิตก็ใกล้ตายเข้าไปทุกขณะแล้ว ควรเร่งทำกุศล และยังได้ถึงความปีติ ที่ได้บำเพ็ญกิจมาตลอดพรรษาและเป็นการเตือนสติอย่าให้จิตของตนละเลิกการทำกุศลไม่ให้ตกไปสู่ทางอบายมากเกินไป
๒. ประโยชน์ที่โดดเด่น คือประโยชน์ของการปวารณาที่สงฆ์การกระทำกันในวันออกพรรษาเพื่อให้สงฆ์ดำรงค์ความเป็นปึกแผ่นแน่นเหนียวยากแก่การทำลาย ถ้าคนในชาติเราทุกฝ่ายหันมา ปวารณากัน คือเปิดใจกัน เปิดเผยซึ่งกันและกัน หันหน้ามารวมพลังกันพัฒนาประเทศความทุกข์ก็จะบรรเทาเบาบางลง
จากพิธีออกพรรษา
๑. เตือนสติว่าเวลาที่ผ่านพ้นไปอีกพรรษาหนึ่งแล้วได้คร่าชีวิตมนุษย์ ให้ผู้คนนั้นดำรงค์อยู่ในความไม่ประมาทและหันมาสร้างกุศล
๒. การทำบุญออกพรรษาเปิดโอกาสให้ผู้อื่นชำระความผิดของตนได้ คือหลักปวารณา ปกติคนเราคบกันนาน ๆ ก็จะเผย "สันดาน" ที่แท้ออกมาอาจจะไม่ดีนักแต่ตนเองไม่รู้ตัวแล้วมองไม่เห็น แต่ผู้อยู่ข้าง ๆ มองเห็นแต่ไม่กล้าเตือน ดังนั้นตนเองต้องปวารณาตัวให้ผู้อื่นชี้แนะได้ ความสัมพันธ์ก็จะดีขึ้นและยั่งยืน
๓. ได้ข้อคิดที่ว่า คนเราส่วนใหญ่มักจะลำเอียงเข้าข้างตนเองเป็นฝ่ายถูกความผิดของคนอื่นเห็นง่ายส่วนตนเองนั้นความผิดนั้นเห็นยาก นี่แหละสัญชาตญาณของคนเรา
๔. เป็นการให้รู้ถึงการมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีในการเปิดใจซึ่งกันและกันโดยไม่มีเล่ห์เหลี่ยมลับลมคมในใด ๆ ต่อในการคบหาหรืออยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
http://www.watkoh.com/forum/index.php?topic=2598.0

7




 หลังเทศกาลเข้าพรรษาผ่านพ้นไปได้ 3 เดือน ก็จะเป็น วันออกพรรษา ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดระยะการจำพรรษา หรือออกจากการอยู่ประจำที่วัดในช่วงฤดูฝนตลอด 3 เดือนของพระภิกษุสงฆ์ โดย วันออกพรรษา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ซึ่งเรียกอีกอย่างว่า "วันมหาปวารนา" คำว่า "ปวารนา" นั้นแปลว่า อนุญาตหรือยอมให้ โดยในปีนี้ วันออกพรรษา ตรงกับวันที่ 12 ตุลาคม 2554

          ทั้งนี้ วันออกพรรษา พระสงฆ์จะประกอบพิธีทำสังฆกรรมใหญ่ที่เรียกว่า มหาปวารณา ใน วันออกพรรษา ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ภิกษุว่ากล่าวตักเตือนซึ่งกันและกันได้ เนื่องจากในระหว่างที่เข้าพรรษาอยู่ด้วยกัน พระสงฆ์บางรูปอาจมีข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไข และการให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนก็จะทำให้รู้ข้อบกพร่องของตน อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ถามข้อสงสัยซึ่งกันและกันได้ด้วย พระผู้ใหญ่ก็กล่าวตักเตือนพระผู้น้อยได้ และพระผู้มีอาวุโสน้อยก็สามารถชี้แนะถึงข้อไม่ดีของพระผู้ใหญ่ได้เช่นกัน แม้พระผู้ใหญ่จะมีอาวุโสมากกว่า แต่ท่านก็มิได้สำคัญตนผิดคิดว่าท่านทำอะไรแล้วถูกไปหมดทุกอย่าง เพื่อเป็นเครื่องมือชี้ให้เห็นวิธีการคอยสังวร คือ ตามระวัง ไม่ประมาท ไม่ยอมให้ความเลวร้ายเกิดขึ้นได้ เหมือนล้อมรั้วไว้ก่อนที่วัวจะหาย ไม่ว่าจะอยู่ในเทศกาลเข้าพรรษาหรืออกพรรษา พระท่านจะประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ตามระบอบของพระธรรมวินัยอยู่ตลอดเวลา

          สำหรับ คำกล่าว ปวารณา มีคำกล่าวเป็นภาษาบาลีเป็นดังนี้ "สังฆัมภันเต ปะวาเรมิ ทิฎเฐนะ วา สุเตนะ วาปะริสังกายะ วา วะทันตุ มัง อายัส์มันโต อะนุกัทปัง อุปาทายะ ปัสสันโต ปฎิกะริสสามิ" มีความหมายว่า ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ กระผมขอปวารณาต่อสงฆ์ ด้วยได้เห็นหรือได้ฟังก็ตาม ขอท่านทั้งหลายโปรดอนุเคราะห์ ว่ากล่าวตักเตือนกระผมด้วย เมื่อกระผมมองเห็นแล้ว จักประพฤติตัวเสียเลยใหม่ให้ดี

          เมื่อทำพิธี วันออกพรรษา แล้ว พระภิกษุสงฆ์สามารถจาริกไปในสถานที่ต่าง ๆ หรือค้างคืนที่อื่นได้โดยไม่ผิดพระพุทธบัญญัติ และยังได้รับอานิสงค์ก็คือ 


           ไปไหนไม่ต้องบอกลา
           ไม่ต้องถือผ้าไตรครบชุด
           มีสิทธิ์รับลาภที่เกิดขึ้นได้
           มีโอกาสได้อนุโมทนากฐิน ที่จะสามารถขยายเวลาของอานิสงค์ออกไปอีก 4 เดือน

 ประเพณีเกี่ยวข้องกับวันออกพรรษา

           ประเพณีเกี่ยวข้องกับวันออกพรรษา ที่นิยมปฏิบัติอยู่ 2 อย่าง คือ

1. ประเพณีตักบาตรเทโว หลัง วันออกพรรษา

          หลังวันออกพรรษา 1 วัน คือ แรม 1 ค่ำ เดือน 11 จะมีการ "ตักบาตรเทโว" หรือชื่อเต็มตามคำพระว่า "เทโวโรหนะ" แปลว่า การหยั่งลงจากเทวโลก โดยสามารถเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ตักบาตรดาวดึงส์" โดยอาหารที่นิยมนำไปใส่บาตรคือ ข้าวต้มมัด และ ข้าวต้มลูกโยน

ความเป็นมาของประเพณีตักบาตรเทโว มีดังนี้

          สมัยพุทธกาล เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม และเสด็จขึ้นไปโปรดพระพุทธมารดาโดยจำพรรษาอยู่ ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นเวลา 1 พรรษา และเมื่อออกพรรษาแล้วพระองค์ได้เสด็จกลับยังโลกมนุษย์ ณ เมืองสังกัสสคร การที่พระพุทธองค์เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เรียกตามศัพท์ภาษาบาลีว่า "เทโวโรหณะ" ในครั้งนั้นบรรดาพุทธศาสนิกชนผู้มีความศรัทธาเลื่อมใส เมื่อทราบข่าวต่างพร้อมใจกันไปรอตักบาตรเพื่อรับเสด็จกันอย่างเนืองแน่น จนถือเป็นประเพณีตักบาตรเทโวปฏิบัติสืบทอดกันมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

          โดยพิธีตักบาตรเทโวโรหณะในปัจจุบันนั้นจะเริ่มตั้งแต่ตอนรุ่งอรุณ หลัง วันออกพรรษา พระภิกษุสามเณรลงทำวัตรในพระอุโบสถ พอพระอาทิตย์ขึ้นก็สมมติว่า พระลงมาจากบันไดสวรรค์ บางที่ก็มีดนตรีบรรเลงเพลงไทยเดิม สมมุติว่าเป็นพวกเทวดาบรรเลง ขับกล่อมตามส่งพระพุทธเจ้า ยังมีพวกแฟนตาซีอีก แต่งเป็นพวกยักษ์ เทวดา พระอินทร์ พรหม นางเทพธิดา นำหน้าขบวนพระภิกษุสามเณร ชาวบ้านก็จะใส่บาตรด้วยอาหารหวาน อาหารคาว ข้าวต้มลูกโยน ข้าวต้มมัดจึงเป็นสัญลักษณ์ของพิธีนี้

2. ประเพณีเทศน์มหาชาติ หลัง วันออกพรรษา

          งานเทศน์มหาชาติ นิยมทำกันหลัง วันออกพรรษา พ้นหน้ากฐินไปแล้ว ซึ่งกฐินจะทำกัน 1 เดือนหลังออกพรรษา ที่จะร่วมกันทอดกฐินทั้ง จุลกฐิน และ มหากฐิน โดยประเพณีงานเทศน์มหาชาติอาจทำในวันขี้น 8 ค่ำกลางเดือน 12 หรือในวันแรม 8 ค่ำ ก็ได้ เพราะในช่วงนี้น้ำเริ่มลดและข้าวปลาอาหารกำลังอุดมสมบูรณ์ จึงพร้อมใจกันทำบุญทำทานและเล่นสนุกสนานรื่นเริง แต่ในภาคอีสานนั้นนิยมทำกันในเดือน 4 เรียกว่า "งานบุญพระเวส"  ซึ่งเป็นช่วงที่เสร็จจากการทำบุญลานเอาข้าวเข้ายุ้ง ในภาคกลาง บางท้องถิ่นทำกันในเดือน 5 ต่อเดือน 6 ก็มี

          งานเทศน์มหาชาตินั้นจะทำในเดือนไหนก็ได้ไม่จำกัดฤดูกาล โดยมากเพื่อเป็นการหาเงินเข้าวัด บางแห่งนิยมทำในเดือน 10 โดยการเทศน์มหาชาตินั้น มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 13 กัณฑ์ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระเวสสันดรอันเป็นพระชาติสุดท้ายของพระบรมโพธิสัตว์ ก่อนที่จะมาประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ และออกบวชจนตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ประเพณี วันออกพรรษา ในแต่ละภาค

นอกจากนี้ในแต่ละภาคก็จะมีประเพณีที่ต่างกันไป

วันออกพรรษา ภาคกลาง

          จังหวัดนครปฐม ที่พระปฐมเจดีย์ พระภิกษุสามเณรจะมารวมกันที่องค์พระปฐมเจดีย์ แล้วก็เดินลงมาจากบันไดนาคหน้าวิหารพระร่วง สมมติว่าพระเดินลงมาจากบันไดสวรรค์ชาวบ้านก็คอยใส่บาตร

          จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาสูง ณ วัดสะแกกรัง พระภิกษุก็จะเดินลงมาจากเขารับบิณฑบาตจากชาวบ้าน โดยขบวนพระภิกษุสงฆ์ที่ลงมาจากบันไดนั้นนิยมให้มีพระพุทธรูปนำหน้า ทำการสมมติว่าเป็นพระพุทธเจ้า จะใช้พระปางอุ้มบาตร ห้ามมาร ห้ามสมุทร รำพึง ถวายเนตรหรือปางลีลา ตั้งไว้บนรถหรือตั้งบนคานหาม มีที่ตั้งบาตรสำหรับอาหารบิณฑบาต

          แต่สำหรับบางที่ไม่นิยมตักบาตรเทโว แต่นิยมตักบาตรตอนเช้าถวายอาหารพระภิกษุแล้วฟังเทศน์รักษาอุโบสถศีล ส่วนที่นิยมตักบาตรเทโว จะทำบุญเป็น 2 วัน คือวันออกพรรษากับวันเทโว ในวันแรม 1 ค่ำเดือน 11  ในวันออกพรรษานั้น หรือในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ก็มีการฟังเทศน์ตอนสาย ๆ และรักษาอุโบสถศีล

          ส่วนทางภาคใต้ก็จะมีประเพณีชักพระหรือลากพระ ซึ่งก็คือพระพุทธรูปนั่นเอง โดยมี 2 กรณี คือ ชักพระทางบก กับ ชักพระทางน้ำ 


พิธีชักพระทางบก         

          ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ก่อนวันชักพระ 2 วัน จะมีพิธีใส่บาตรหน้าล้อ นอกจากอาหารคาวหวานแล้ว ยังมีสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของงาน คือ "ปัด" หรือข้าวต้มผัดน้ำกะทิห่อด้วยใบมะพร้าว บางที่ห่อด้วยใบกะพ้อ (ปาล์มชนิดหนึ่ง) ในภาคกลางเขาเรียกว่า ข้าวต้มลูกโยน ก่อนจะถึงวันออกพรรษา 1 - 2 สัปดาห์ ทางวัดจะทำเรือบก คือ เอาท่อนไม้ขนาดใหญ่ 2 ท่อนมาทำเป็นพญานาค 2 ตัว เป็นแม่เรือที่ถูกยึดไว้อย่างแข็งแรง แล้วปูกระดาน วางบุษบก บนบุษบกจะนำพระพุทธรูปยืนรอบบุษบกก็วางเครื่องดนตรีไว้บรรเลง เวลาเคลื่อนพระไปสู่บริเวณงานพอเช้าวัน 1 ค่ำ เดือน 11 ชาวบ้านจะช่วยกันชักพระ โดยถือเชือกขนาดใหญ่ 2 เส้นที่ผูกไว้กับพญานาคทั้ง 2 ตัว เมื่อถึงบริเวณงานจะมีการสมโภช และมีการเล่นกีฬาพื้นเมืองต่างๆ กลางคืนมีงานฉลองอย่างมโหฬาร อย่างการชักพระที่ปัตตานีก็จะมีชาวอิสลามร่วมด้วย

พิธีชักพระทางน้ำ

          ก่อนถึงวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ทางวัดที่อยู่ริมน้ำ ก็จะเตรียมการต่างๆ โดยการนำเรือมา 2 - 3 ลำ มาปูด้วยไม้กระดานเพื่อตั้งบุษบก หรือพนมพระประดับประดาด้วยธงทิว ในบุษบกก็ตั้งพระพุทธรูป ในเรือบางที่ก็มีเครื่องดนตรีประโคมตลอดทางที่เรือเคลื่อนที่ไปสู่จุดกำหนด คือบริเวณงานท่าน้ำที่เป็นบริเวณงานก็จะมีเรือพระหลายๆ วัดมาร่วมงาน ปัจจุบันจะนิยมใช้เรือยนต์จูง แทนการพาย เมื่อชักพระถึงบริเวณงานทั้งหมด ทุกวัดที่มาร่วมจะมีการฉลองสมโภชพระ มีการละเล่นต่างๆ อย่างสนุกสนาน เช่น แข่งเรือปาโคลน ซัดข้าวต้ม เป็นต้น เมื่อฉลองเสร็จ ก็จะชักพระกลับวัด บางทีก็จะแย่งเรือกัน ฝ่ายใดชนะก็ยึดเรือ ฝ่ายใดแพ้ต้องเสียค่าไถ่ให้ฝ่ายชนะ จึงจะได้เรือคืน

          ในเขตที่มีบ้านเรือนอยู่ในเขตแม่น้ำลำคลองก็จะมีพิธีรับพระเช่นกัน อย่างที่อำเภอบางบ่อ บางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ทางวัดจะอัญเชิญพระพุทธรูปยืนลงบุษบกในตัวเรือแล้วแห่ไปตามลำคลอง ชาวบ้านก็จะโยนดอกบัวจากฝั่งให้ตกในเรือหน้าพระพุทธรูป แล้วโยนข้าวต้ม และยังมีการแข่งขันเรือชิงรางวัลอีกด้วย หรือจะเป็นประเพณีตักบาตรพระร้อย ที่เป็นการใส่บาตรพระร้อยรูป ส่วนมากจะจัดพิธีขึ้นทางน้ำเนื่องจากแต่ก่อนบ้านเรือนจะอยู่ติดแม่น้ำลำคลอง การสัญจรไปไหนมาไหนก็จะใช้เรือ พระส่วนใหญ่จึงใช้เรือในการออกบิณฑบาต

กิจกรรมต่างๆ ที่พุทธศาสนิกชนควรปฏิบัติใน วันออกพรรษา

           1. ทำบุญตักบาตรอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ

           2. ฟังพระธรรมเทศนา รักษาศีล ถวายสังฆทาน ถวายภัตตาหาร หรือจัดดอกไม้ ธูป เทียน ไปบูชาที่วัด และฟังพระธรรมเทศนา

           3. ร่วมกุศลธรรม "ตักบาตรเทโว"

           4. ปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาด ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการและ ประดับธงชาติและธงธรรมจักรตามวัด และสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา

           5. ตามสถานที่ราชการ สถานที่ศึกษาและที่วัด ควรจัดให้มีนิทรรศการ การบรรยาย หรือ บรรยายธรรม เกี่ยวกับวันออกพรรษาฯลฯ เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนและผู้สนใจทั่วไป

           6. งดการเที่ยวเตร่ ละเว้นอบายมุข รวมทั้งละเว้นการฆ่าสัตว์และบริโภคเนื้อสัตว์

โดยประโยชน์ที่เราจะได้รับจากการทำพิธี วันออกพรรษา จะมีดังต่อไปนี้

           เตือนสติว่าเวลาที่ผ่านพ้นไปอีกพรรษาหนึ่งแล้วได้คร่าชีวิตมนุษย์ ให้ผู้คนนั้นดำรงอยู่ในความไม่ประมาทและหันมาสร้างกุศล

           การทำบุญออกพรรษาจะเปิดโอกาสให้ผู้อื่นชำระความผิดของตนได้ คือหลักปวารณา ปกติคนเราคบกันนานๆ ก็จะเผย "สันดาน" ที่แท้ออกมา อาจจะไม่ดีนักแต่ตนเองไม่รู้ตัวแล้วมองไม่เห็น แต่ผู้อยู่ข้างๆ มองเห็นแต่ไม่กล้าเตือน ดังนั้นตนเองต้องปวารณาตัวให้ผู้อื่นชี้แนะได้ ความสัมพันธ์ก็จะดีขึ้นและยั่งยืน

           ได้ข้อคิดที่ว่า คนเราส่วนใหญ่มักจะลำเอียงเข้าข้างตนเองเป็นฝ่ายถูก ความผิดของคนอื่นเห็นง่ายส่วนตนเองนั้นความผิดนั้นเห็นยาก นี่แหละสัญชาตญาณของคนเรา

           เป็นการให้รู้ถึงการมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีในการเปิดใจซึ่งกันและกัน โดยไม่มีเล่ห์เหลี่ยมลับลมคมในใดๆ ต่อในการคบหาหรืออยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

          ดังนั้นใครที่อยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง วันออกพรรษา จึงน่าจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม สำหรับการย้อนมองดูตัวเองว่าได้ทำสิ่งใดผิดพลาดไว้บ้างหรือเปล่า เพื่อที่จะได้ปรับปรุงและไม่ทำผิดซ้ำในเรื่องเดิมอีก


http://hilight.kapook.com/view/26828

8
โปรดใช่วิจารณะญาณในการชม

หน้า: [1] 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 ... 66