กระทู้เมื่อเร็วๆ นี้

หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 7 8 9 10
31




อัษฎางคประดิษฐ์

ทับหลังการกราบบูชาแบบ “อัษฎางคประดิษฐ์” (Aṣṭāṅga Namaskāra) ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย

"อัษฎางคประดิษฐ์" เป็นการแสดงความเคารพบูชาสูงสุดด้วยการกราบที่กำหนดให้อวัยวะทั้ง 8 คือ หน้าผาก ฝ่ามือทั้งสอง หน้าอก เข่าทั้งสอง และปลายเท้าทั้งสอง แนบพื้นดิน
โดยการกราบเช่นนี้แพร่หลายในกลุ่มพุทธศาสนิกชนที่นับถือลัทธิวัชรยาน ตันตระ ซึ่งคงได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพราหมณ์ฮินดู ในปัจจุบันหลายท่านอาจเคยพบเห็นการกราบแบบนี้จากผู้จาริกแสวงบุญในอินเดียทิเบต เนปาล และภูฏาน เรียกว่า Chag Tsel


สำหรับทับหลังของปราสาทพิมาย นับได้ว่าเป็นทับหลังสลักภาพการกราบแบบ “อัษฎางคประดิษฐ์" ที่เก่าแก่ในประเทศไทยและในวัฒนธรรมเขมรโบราณ กำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 17 หรือประมาณ 900 ปีมาแล้ว

โดยในภาพสลักเป็นภาพบุคคลกำลังกราบแบบอัษฎางคประดิษฐ์และถวายเครื่องบรวงสรวงบูชาแก่พระพุทธรูปนาคปรก เป็นไปได้ว่าผู้ที่กำลังบูชาพระพุทธรูปนาคปรกนั้น คือ กมรเตงอัญศรีวิเรนทราธิบดีวรมะเมืองโฉกวะกุล

กำลังถวายเครื่องบูชาแก่กมรเตงชคตเสนาบดีไตรโลกยวิชัยซึ่งเป็นเสนาบดีแห่งกมรเตงชคตวิมาย ตามที่ปรากฏในจารึกปราสาทหินพิมาย 3

สำหรับในประเทศกัมพูชา เราพบภาพสลักการกราบแบบ “อัษฎางคประดิษฐ์" ในปราสาทที่สร้างในรัชกาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (สมัยบายน)
ซึ่งนับถือพุทธศาสนาลัทธิวัชรยาน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 หรือประมาณ 800 ปีมาแล้ว เช่น ปราสาทบันทายฉมาร์ ปราสาทตาพรหม ปราสาทบันทายกุฎี ปราสาทบายน

อย่างไรก็ตามใน Angkor National Museum ได้จัดแสดงประติมากรรมรูปบุคคลกราบแบบอัษฎางคประดิษฐ์ในสมัยบายนและระบุว่าเป็นสุเมธดาบส



สุเมธดาบส เป็นอดีตชาติของพระโคตมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นพระชาติที่ได้รับพุทธทำนายจากพระพุทธเจ้าทีปังกร ว่าสุเมธดาบสผู้นี้จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

เรื่องราวของสุเมธดาบสมีอยู่ว่า

พระพุทธเจ้าทีปังกรได้เสด็จมายังเมืองอมราวดี ซึ่งมีพื้นที่ช่วงหนึ่งขรุขระมีน้ำขัง ผู้มีศรัทธาจึงได้ช่วยกันถากถางทางและปรับพื้นที่เพื่อให้พระทีปังกรเสด็จดำเนินได้โดยสะดวก

เมื่อสุเมธดาบผ่านมาเห็นก็ขอร่วมในการปรับถนนด้วย แต่ยังไม่ทันเสร็จดี พระพุทธเจ้าทีปังกร พร้อมพระสาวก ก็เสด็จดำเนินมา

สุเมธดาบสเห็นไม่ทันการณ์ เพราะยังมีบ่อที่น้ำท่วมขังอยู่ช่วงตัวหนึ่ง จึงตัดสินใจทอดตัวลงนอนปิดทับแอ่งน้ำนั้น ตั้งใจถวายชีวิตให้พระทีปังกรและพระสาวกเดินไปบนแผ่นหลังของตน

และในครานั้นสุเมธดาบสได้ตั้งความปรารถนาไว้ขอให้ได้เป็นพระพุทธเจ้าเช่นพระองค์ท่าน เมื่อพระพุทธเจ้าทีปังกรเสด็จมาทอดพระเนตรเห็นก็รู้ด้วยญาณว่าสุเมธดาบสผู้นี้จะได้เป็นพระพุทธเจ้า
จึงแสดงพุทธทำนายแก่สุเมธดาบส ว่า สุเมธดาบสผู้นี้จะได้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลข้างหน้า พระนามว่า พระโคตมพุทธเจ้า















จาก เว็บกรมศิลปากร https://www.finearts.go.th/phimaimuseum/categorie/general

เพิ่มเติม
<a href="https://www.youtube.com/v//sZn9sl6u-WE" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v//sZn9sl6u-WE</a> 

https://youtu.be/sZn9sl6u-WE?si=F7qT_Tqv2ngxny_a

เพิ่มเติม http://www.tairomdham.net/index.php/topic,16389.0.html
32
กราบแบบอัษฎางคประดิษฐ์ : เอกลักษณ์ของพุทธทิเบต ศรัทธาอันเต็มเปี่ยม







ปกติคนไทยจะรู้จักแต่การกราบพระแบบเบญจงคประดิษฐ์ ซึ่งเป็นการโน้มอวัยวะร่างกายให้ต่ำจนแตะพื้น 5 จุด แต่ในที่นี้จะขอแนะนำให้รู้จักการกราบแบบ "อัษฎางคประดิษฐ์" เป็นท่ากราบแบบนอนราบไปทั้งตัวตามแบบฉบับของชาวธิเบต โดยให้ส่วนสำคัญของร่างกายแตะพื้น 8 จุดหรือ 8 ส่วน ได้แก่ มือทั้งสอง เข่าทั้งสอง เท้าทั้งสอง ลำตัว และหน้าผาก

สัมผัสกับพื้นดินการกราบสักการะแบบอัษฎางคประดิษฐ์ หรือ ชากเซล ในภาษาธิเบต มีความหมาย โดยคำว่า ชาก (chag) หมายถึง กายศักดิ์สิทธิ์ วาจาศักดิ์สิทธิ์

และจิตศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธเจ้าพระโพธิสัตต์ทั้งหลาย ส่วนคำว่า เซล (tsel) หมายถึงการที่เราอุทิศตนอย่างจริงจังและจริงใจที่จะก้าวตามรอยพระพุทธบาทบน หนทางอันถูกต้องมุ่งสู่การบรรลุเป็นพระโพธิสัตต์หรือพระพุทธเจ้า

วิธีการกราบจะเริ่มต้นด้วยการยืนตัวตรง พนมมือ ที่ระดับหน้าอก โดยให้นิ้วหัวแม่มืออยู่ภายในอุ้งมือเป็นรูปดอกบัว

อันเป็นสัญลักษณ์มีความหมายถึงการฝึกฝนปฏิบัติเป็นหนึ่งเดียวกันบนวิถีของ เมตตาและปัญญา อุทิศตนมุ่งสู่การรู้แจ้งเพื่อยังประโยชน์ต่อสรรพชีวิตทั้งมวล

จากนั้นให้เคลื่อนมือไปยังตำแหน่งกลางกระหม่อม หน้าผาก ลำคอ และหน้าอก อันเป็นตำแหน่งที่ตั้งของจักรที่สำคัญในร่างกาย จากนั้นเหยียดแขนออกไปข้างหน้า ย่อเข่าลงพร้อมกับเคลื่อนตัวไปข้างหน้าจนลำตัวเหยียดตรงกับพื้น

ต้องระวังไม่ให้หัวเข่าแตะพื้นก่อนที่ลำตัวจะเหยียดออกไป จากนั้นเคลื่อนลำแขนทั้งสองข้างไปด้านข้างของลำตัวตามแนวโค้งของวงกลมพร้อม กับค่อยๆ ชันตัวขึ้นบนเข่า ยืดตัวขึ้นกลับสู่ท่ายืนตรงนตอนเริ่มต้น

นักบวชชาวทิเบตจะเดินไปก้มลงกราบแบบไถพรืดไปรอบ ๆ เจดีย์พร้อมกับผ้าที่ใช้รองมือสองข้าง ผลพลอยได้ก็คือ พื้นวันทิเบตจะสะอาดมาก

ที่น่าทึ่งที่สุดคือ การจาริกแสวงบุญของชาวธิเบต ที่เทือกเขาหิมะขาว พวกเขาจะเดินทางไปด้วยวิธีการที่เรียกว่า "เดิน 3 ก้าว กราบหนึ่งครั้ง" เป็นการเดิน 3 ก้าว แล้วก้มลงกราบแบบอัษฎางคประดิษฐ์กับพื้นไหว้ทีหนึ่ง เป็นวิธีการของชาวธิเบตที่จะจารึกแสวงบุญ

ชาวธิเบตใช้วิธีการนี้ในการแสวงบุญทำให้มีความรู้สึกว่าสามารถที่จะเดินทาง โดยเท้าได้เหมือนคนทุกคน ทั้งขึ้นและลงรวมแล้ว 3,000 กว่ากิโลเมตร

ชาวธิเบตเดินทางจากซินหนงเสี้ยนเป็นอำเภอของเมืองซินหนง กันซือเป็น เขตปกครองตัวเองของมณฑลเสฉวนที่อยู่ในฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของเสฉวน ติดกับทิเบตกับมณฑลยูนาน รวมการไหว้จนมาถึงที่นี่ได้ทั้งหมด 100,000 ครั้ง คนทิเบตมีพระองค์หนึ่งอยู่ในใจตลอดเวลา
...

พระพุทธศาสนาแบบทิเบต คือพุทธศาสนานิกายวชิรยาน กำเนิดและแพร่หลายในทิเบตโดยตรง ปัจจุบันได้แพร่หลายไปในหลายประเทศ มีเอกลักษณ์เฉพาะเพราะเป็นการผสมผสานระหว่างพุทธศาสนานิกายมหายานทั้งจากอินเดียและจีน รวมทั้งอิทธิพลจากพุทธศาสนานิกายตันตระของอินเดีย จนเกิดเป็นนิกายวัชรยานขึ้น

ว่ากันว่าตามความเชื่อของชาวทิเบต จะต้องกราบไหว้ในแบบอัษฎางคประดิษฐ์ครบ 100,000 ครั้ง บนเส้นทางจาริกแสวงบุญไปยังนครลาซา ขณะที่นักบวชชาวทิเบตหลายคนเดินทางไปยังเจดีย์พุทธคยา เพื่อกราบไหว้สถานที่ตรัสรู้ให้ได้ 100,000 ครั้งเช่นกัน

นอกจากชาวทิเบตแล้ว ชาวตะวันตกที่นับถือพุทธศาสนานิกายวัชรยานมากมาย ก็เดินทางไปสักการะเจดีย์แห่งนี้ด้วยวิธีการเดียวกัน บางคนกราบอัษฎางคประดิษฐ์วนรอบองค์มหาเจดีย์ ขณะที่บางคนยึดพื้นที่เล็ก ๆ พอสำหรับตัวเองรอบนอกองค์เจดีย์ ปูผ้าผืนเท่าตัวคนแล้วเริ่มกราบไหว้ด้วยจังหวะสม่ำเสมอราวกับเครื่องจักร

ชาวพุทธไทยไม่เพียงทึ่งกับศรัทธา หากแต่อีกมุมมองของบางคนมองว่า การกราบแบบนี้ผู้แสวงบุญจะต้องมีร่างกายที่แข็งแรงพร้อมด้วย เพราะการกราบแบบอัษฎางคประดิษฐ์นั้นต้องใช้ทุกสัดส่วนของร่างกายรวมทั้งพละกำลังอย่างมหาศาล

ก็ว่ากันว่า การน้อมตัวลงกราบนอนราบไปกับพื้นมีความหมายถึงการที่เรายินดี อุทิศตน พร้อมเข้าสู่วัฏสงสาร เพื่อช่วยสรรพสัตว์อื่น ๆ และเมื่อเรากลับมายืนขึ้นอีกครั้ง มีความหมายถึงเมื่อนั้นเราพร้อมที่จะนำพาสรรพสัตว์อื่น ๆ ให้หลุดพ้นออกมาจากห้วงทุกข์แห่งวัฏสงสารมาด้วยกัน


















33


13 มิถุนายน 2552

Paprika บางทีความฝันก็ต้องเผ็ดบ้าง

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

ในเดือนพฤษภาคม 2009 นี้มีนวนิยายไซไฟดัดแปลงจากภาษาญี่ปุ่นเรื่องหนึ่งวางจำหน่ายในอังกฤษค่ะ ชื่อเรื่องน่าแสบลิ้นว่า "Paprika" ซึ่งฉบับนวนิยายดั้งเดิมได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์แอนิเมชั่นสำหรับฉายโรง (Theatrical Anime) ในปี 2006 ที่ผ่านมา ถึงขนาดฝรั่งเอามาแปลแบบนี้ต้องมีดีแน่นอนค่ะ ตามประสาคนที่มักจะรู้จักของดีช้ากว่าชาวบ้านเสมอก็เลยต้องหามาดูเสียหน่อยว่าจะแจ่มแค่ไหน

Paprika เริ่มเรื่องจากนวัตกรรมใหม่ล่าสุดของการทำจิตบำบัดโดยผู้ป่วยไม่ต้องพูดคุยกับนักจิตบำบัดเพื่อค้นหาสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายในจิตใต้สำนึกอีกแล้ว จิตใต้สำนึกสามารถถ่ายทอดออกมาผ่านทางจอคอมพิวเตอร์ในรูปของความฝันด้วยเครื่องมือชื่อว่า DC Mini ดังนั้น นักจิตบำบัดจึงมองเห็นความฝันของผู้ป่วยเหมือนกำลังดูโทรทัศน์ แล้วจึงค่อยนำภาพต่างๆ ที่ปรากฏในความฝันมาตีความอีกครั้งหนึ่ง

"ดร.ชิบะ เอ็ตสึโกะ" นักจิตบำบัดสาวที่ดูเป็นนักวิชาการจืดชืดเข้าร่วมทดลองใช้ DC Mini เพื่อรักษาผู้ป่วยด้วยเช่นกัน แต่เมื่อเธอเข้าไปในความฝันของผู้ป่วย เธอจะเปลี่ยนตัวตนเป็นอีกคนหนึ่งและใช้ชื่อว่า "ปาปริก้า" ซึ่งมีทุกสิ่งตรงข้ามกับเธอทั้งหมด ทั้งทรงผม เสื้อผ้า การแต่งหน้า หรือแม้แต่อุปนิสัย เหตุการณ์ประหลาดเกิดขึ้นเมื่อหัวหน้าของเอ็ตสึโกะมีอาการเหมือนตกอยู่ในความฝันและกระโดดลงมาจากตึก เธอใช้ DC mini เข้าไปดูความฝันของหัวหน้าที่รอดชีวิตอย่างปาฏิหาริย์และพบว่าเขากำลังฝันถึงขบวนพาเหรดที่เต็มไปด้วยตุ๊กตา แต่ความฝันนี้กลับเป็นฝันของเพื่อนร่วมงานอีกคนหนึ่ง ไม่ใช่หัวหน้าเข้าไปอยู่ในความฝันของคนอื่นแต่ความฝันของคนอื่นกำลังควบคุมเขาอยู่ค่ะ

เมื่อพบผลข้างเคียงของ DC mini เช่นนี้ เอ็ตสึโกะจึงต้องการหยุดโครงการให้เร็วที่สุด แต่เธอกลับถูกดูดเข้าไปในความฝันที่ไร้จุดสิ้นสุดของใครบางคนเสียแทน ทางออกของความฝันอยู่ตอนจบเรื่องค่ะ ปมทุกอย่างคลายลงโดยมีแกนอยู่ที่ความฝันซึ่งมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าของแต่ละคนซ่อนอยู่ภายในจิตใต้สำนึก เอ็ตสึโกะซึ่งปฏิเสธตัวตนของปาปริก้าเข้าใจในท้ายที่สุดว่าชีวิตจืดชืดของเธอจำเป็นต้องมีความเผ็ดร้อนของปาปริก้ามาเติมเต็มให้สมบูรณ์ และรสเผ็ดที่ชีวิตเธอขาดหายไปก็คือความรักนั่นเอง ทุกอย่างจบสมบูรณ์เหมือนนวนิยายขนาดสั้นหนึ่งเล่มที่เมื่อปิดหน้าสุดท้าย สิ่งที่จะเหลือไว้กับเราก็มีแค่ความตื่นเต้นหวาดเสียวและความรู้สึกดีๆ ที่ได้ชมผลงานชั้นเยี่ยมค่ะ

Paprika ได้รับรางวัลภาพยนตร์แอนิเมชั่นฉายโรงยอดเยี่ยมในงานโตเกียวอินเตอร์เนชั่นแนลอนิเมแฟร์ ปี 2007 และได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์ว่านี่คือภาพยนตร์แอนิเมชั่นที่โดดเด่นนับจากเรื่อง Spirited Away ที่ฉายก่อนหน้านี้ 5 ปี และได้รับรางวัลออสการ์

ความสำเร็จของเรื่องนี้น่าจะมาจากหลายปัจจัยค่ะ คนแรกที่ต้องยกความดีให้คือผู้ประพันธ์ดั้งเดิม สึสึอิ ยาสุทากะ ซึ่งตีพิมพ์นวนิยายเรื่องนี้ในปี 1993 และผู้กำกับคอน ซาโตชิ นำมาดัดแปลงเป็นแอนิเมชั่นใน 13 ปีต่อมา การนำเสนอความฝันที่ซ้อนทับกันไปมาและวนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นหลายครั้งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะทำให้ผู้ชมดูอย่างสนุกโดยไม่หลงทางกลางเรื่องเสียก่อน ยกนิ้วให้ผู้กำกับจริงๆ ค่ะ งานภาพทั้งสองมิติและสามมิติที่สวยเนียนต้องยกความดีให้ Madhouse Studios และที่ลืมไม่ได้เลยคือเพลงประกอบของฮิราซาวะ สุสุมุ ที่ผสมเพลงมาร์ชของขบวนพาเหรดกับการร้องเสียงโหยหวนแบบ celtic แนวลูกทุ่งญี่ปุ่นได้ลงตัวค่ะ ฟังแล้วหัวใจเหมือนจะเต้นตามจังหวะเพลงไปด้วยเลย


รู้สึกว่า Paprika จะมีจำหน่ายเป็น DVD ลิขสิทธิ์ในไทยพากย์ไทยด้วยนะคะ แต่เวอร์ชั่นที่ได้ดูเป็นเสียงญี่ปุ่นซับไตเติ้ลอังกฤษ ขนาดอ่านแทบไม่ทันยังสนุกจนอยากซื้อนิยายมาอ่านเลยค่ะ นิยายเล่มละ 9.99 ปอนด์ ในระหว่างที่ DVD 12.99 ปอนด์ (ประมาณ 675 บาท) โอ้...

มันก็ต้องซื้อ DVD สิคะ! แต่กลับไปซื้อในไทยดีกว่าค่ะ ถูกและดีมีพากย์ไทยอย่างนี้ ที่ไหนจะแจ่มไปกว่าเมืองไทยบ้านเรา

จาก https://rith99999.blogspot.com/2009/06/paprika.html?m=1

<a href="https://www.youtube.com/v//PIUqozzyW2k" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v//PIUqozzyW2k</a> 

https://youtu.be/PIUqozzyW2k?si=eXzadCY_3SSr2tZ_
34


มหัศจรรย์การ์ตูน : การพยายามเข้าใจและการพยายามไม่เข้าใจ

วันที่ 24 กรกฎาคม 2559 - 22:56 น.

ที่มาคอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูนผู้เขียนวินิทรา นวลละออง

เด็กหนุ่มคนหนึ่งมากับคุณแม่พร้อมจดหมายจากคณะ เขาสอบผ่านข้อเขียนเข้าคณะหนึ่งในมหาวิทยาลัยแต่อยู่ระหว่างพิจารณาผลการสอบสัมภาษณ์ กรรมการต้องการให้จิตแพทย์ลงความเห็นว่าหนุ่มน้อยคนนี้ “เรียนได้หรือไม่” ซึ่งดูเป็นความเห็นกว้างๆ และตอบยากสำหรับจิตแพทย์ที่ประกอบอาชีพรักษาผู้ป่วยมากกว่าประเมินว่าใครเรียนหนังสือได้หรือไม่

“หมอขอถามคำถามทั่วไปที่ถามทุกคนเป็นปกตินะคะ สมัยเรียนมัธยมปลายมีเพื่อนสนิทกันเยอะไหมคะ กลางวันกินข้าวกับเพื่อนไหมคะ”

“ก็สนิทกับทั้งห้อง กินข้าวก็ขึ้นกับว่าเจอใครก็กินกับคนนั้น”

“ส่วนใหญ่เพื่อนบอกว่าคุณเป็นคนนิสัยใจคอยังไงคะ”

“ก็ร่าเริง ตลก”

“ขอเสียมารยาทถามสักนิดนะคะ เคยได้ยินชื่อโรคออทิสติกไหมคะ”

คราวนี้หนุ่มน้อยตาขวางอย่างน่ากลัวจนต้องถามว่า “หมอพูดอะไรที่ทำให้โกรธหรือเปล่าคะ” เขาจึงรู้ตัวและสงบลง พอเชิญคุณแม่เข้ามาคุยบ้าง คุณแม่ก็บอกว่าลูกชายขยัน เป็นเด็กดี เพื่อนเยอะ และไม่เคยรู้จักโรคชื่อออทิสติกมาก่อน แม้จิตแพทย์ผู้ใหญ่จะไม่คุ้นเคยกับโรคทางพัฒนาการเด็กแบบนี้เท่าไรแต่ก็พอจะสังเกตได้ว่าหนุ่มน้อยคนนี้มีบางอย่างน่าค้นหาค่ะ

เล่าเรื่องนี้ไม่ได้คิดว่าหนุ่มน้อยหรือคุณแม่ไม่พูดความจริงนะคะ แต่รู้สึกฉุกใจคิดขึ้นมาเมื่อได้ดูแอนิเมชั่น “Mob Psycho 100” การ์ตูนแนวกวนประสาทนิดๆ ที่ตีพิมพ์เป็นเล่มแล้วถึง 12 เล่มในญี่ปุ่น ส่วนแอนิเมชั่นเพิ่งฉายทางโทรทัศน์ในญี่ปุ่นตอนแรกเมื่อ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา กล่าวถึง “คาเกยามะ ชิเกโอะ” ชื่อเล่น “ม็อบ” เด็กหนุ่มมัธยมต้นที่มีพลังปราบวิญญาณมหาศาล เขาช่วยหมอผีเก๊คนหนึ่งปราบวิญญาณร้ายโดยได้ค่าแรงแค่ชั่วโมงละ 300 เยน ซึ่งถือว่ากดขี่มาก ในการ์ตูนอธิบายบุคลิกภาพของม็อบว่าเขารู้ตัวว่าอารมณ์ด้านลบของเขาจะทำให้พลังวิญญาณในตัวทำร้ายผู้อื่นจึงพยายามเก็บอารมณ์ไว้จนสีหน้านิ่งเฉย เขาอ่านบรรยากาศเวลาเข้าสังคมไม่ออกทำให้พยายามหลีกเลี่ยงการเข้าสังคมและคบเพื่อน ในแอนิเมชั่นตอนที่ 1 จะเห็นว่าม็อบมีทักษะการใช้ร่างกายอย่างการเล่นกีฬาไม่ดีนัก เรื่องที่ชอบคือการนั่งมองมดเดินเป็นแถวซึ่งดูจะนั่งมองได้เป็นวันเลยด้วยถ้าไม่มีใครเตือน ม็อบมีคนที่น่าจะเรียกเพื่อนได้คนเดียวคือ “อาราตากะ ไรเก็น” หมอผีเก๊ที่ดูจะหลอกใช้ม็อบให้ปราบวิญญาณให้บ่อยๆ ค่ะ ไม่แน่ใจว่าม็อบรู้ตัวว่าโดนเอาเปรียบหรือไม่แต่อย่างน้อยเขาก็คุยกับไรเก็นรู้เรื่อง

จุดที่น่าสนใจคือ “คำอธิบายบุคลิกภาพของม็อบ” ค่ะ ทุกคนแม้แต่ผู้เขียนต่างหาคำอธิบายให้กับความคิดความอ่านทุกอย่างของม็อบโดยมีฐานความคิดจากสายตาคนทั่วไป ในการ์ตูนเป็นคำอธิบายที่ดูเหนือจินตนาการคือเนื้อในของม็อบเป็นคนใจดีแต่มีพลังบางอย่างที่ยิ่งใหญ่และพลังทำลายล้างสูงในตัวซึ่งต้องแลกกันกับทักษะทางกีฬาที่ไม่ดีนัก ต้องเก็บอารมณ์ไม่ให้พลังระเบิดออกมาและหนีหน้าจากสังคมจนไร้เพื่อน มีงานอดิเรกแบบเด็กแนวเท่ๆ คือดูมดเดิน ความพยายามอธิบายให้ดูธรรมดาสามัญที่สุดมีทั้งข้อดีและข้อเสียค่ะ ข้อดีคือทำให้รู้สึกสบายใจว่าพฤติกรรมเหล่านี้เป็นเรื่องปกติของผู้มีพลังวิญญาณ (ในการ์ตูน) หรือเด็กแนวที่คิดอ่านไม่เหมือนใคร (ในชีวิตจริง) แต่ข้อเสียคือบางครั้งทำให้พลาดการมองปัญหาและลงไปแก้ไขให้ถูกจุด ที่เชื่อว่าคุณแม่และหนุ่มน้อยไม่ได้ปิดบังความจริงเพราะอาจจะพยายามหาคำอธิบายมาลบล้างความรู้สึกไม่สบายใจก็ได้เพราะทันทีที่พูดคำว่าออทิสติกออกมา ทั้งคุณแม่และหนุ่มน้อยก็มีปฏิกิริยารุนแรงไปคนละแบบ หนุ่มน้อยโกรธ ส่วนคุณแม่ร้องไห้

เราจะข้ามความรู้เรื่องออทิซึ่มซึ่งหาอ่านได้ทั่วไปตามเว็บไซต์และไปที่นวัตกรรมน่าสนใจของ รศ.ครินติน โซห์ล ผู้พัฒนาโปรแกรมดูแลผู้ป่วยออทิซึ่มจากมหาวิทยาลัยแห่งมิสซูรี โปรแกรมนี้ชื่อ Extension for Community Healthcare Outcomes (ECHO) Autism มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคลากรสาธารณสุขในระดับปฐมภูมิ (เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบลหรืออำเภอ) สามารถให้การดูแลผู้ป่วยในกลุ่มออทิซึ่มได้อย่างเหมาะสมแทนที่จะพึ่งแพทย์เฉพาะทางที่มีจำนวนไม่มาก นอกจากนั้น ยังเพิ่มความมั่นใจให้บุคลากรเหล่านี้สามารถคัดกรองและดูแลเบื้องต้นก่อนพบแพทย์เฉพาะทางต่อไปซึ่งมักใช้เวลานานกว่าจะนัดได้ รศ.โซห์ลอธิบายว่า อาการออทิซึ่มเห็นได้ตั้งแต่อายุ 12 เดือน แต่พบว่าหลายรายไม่ได้รับการวินิจฉัยจนกระทั่งอายุ 5 ขวบ ทั้งที่หากวินิจฉัยและได้รับการฝึกกระตุ้นเร็วจะช่วยให้อาการดีกว่าการเริ่มฝึกเมื่ออายุมากแล้ว

แต่ชีวิตไม่มีเรื่องสายเกินแก้ค่ะ ทั้งม็อบและหนุ่มน้อยมีหมอผีเก๊และคุณแม่คอยช่วยอยู่ ม็อบเริ่มเข้าสังคมโดยอยู่กับไรเก็นและเรียนรู้ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ส่วนคุณแม่ก็เริ่มถามวิธีช่วยลูกชายซึ่งปัญหาหนักที่สุดขณะนี้คือหนุ่มน้อยควบคุมอารมณ์หงุดหงิดได้ยากและหาคำพูดนุ่มนวลมาพูดกับเพื่อนไม่ค่อยได้

แม้คุณแม่จะเริ่มยอมรับเมื่ออธิบายลักษณะของออทิซึ่มให้ฟังแต่คำนี้ก็ทำให้ปวดใจจนร้องไห้ทุกครั้งที่ได้ยิน การพยายามเข้าใจอาจทำให้ทุกข์ในเวลานี้ แต่การพยายามไม่เข้าใจก็อาจจะทำให้ทุกข์ในอีกสิบกว่าปีต่อมาได้เหมือนกันค่ะ


จาก https://www.matichon.co.th/prachachuen/news_222757

<a href="https://www.youtube.com/v//uP2hY4ouejE" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v//uP2hY4ouejE</a> 

https://youtu.be/uP2hY4ouejE?si=t2L6m_kqFNb87aoU
35
Delicious in Dungeon EP. 1-2 อนิเมะแนวทำอาหาร ว่าด้วยอภิมหามีมของเอลฟ์สาว และก๊วนป่วนสุดพิสดาร

โดย กษาปณ์ หาญดิฐกุล




สิ่งแรกที่ทำให้คนรู้จัก Delicious in Dungeon อาจไม่ใช่เรื่องของการเป็นอนิเมะแนวทำอาหาร หากแต่เป็นมีมของเอลฟ์สาวผมทอง มาร์ซิล ที่ ณ ปัจจุบันออกมาเพียงแค่ 2 ตอนก็ทำให้ใครหลายคนเกิดความสนใจในตัวเธอและซีรีส์เป็นอย่างมาก โดยที่บางครั้งอาจไม่ได้มองด้วยซ้ำว่าแกนหลักของเรื่องนั้นเป็นอย่างไร




Delicious in Dungeon คือผลงานที่ดัดแปลงมาจากมังงะชื่อเดียวกันของ เรียวโกะ คุอิ ว่าด้วยเรื่องราวของ ไลออส กับกลุ่มนักผจญภัยที่เข้าไปปราบมังกรในดันเจียน แต่เนื่องจากความหิวพวกเขาเลยพลาดท่าโดนมันเล่นงาน จนทำให้น้องสาวอย่าง ฟาริน ถูกจับกิน กระนั้น ก่อนที่เธอจะถูกกลืนอย่างสมบูรณ์ หญิงสาวก็ได้ใช้เวทมนตร์เพื่อพาทุกคนออกมาข้างนอกอย่างปลอดภัย 

 

ไลออสที่ตื่นขึ้นได้พบกับสมาชิกที่เหลืออยู่ ซึ่งประกอบไปด้วย จอมเวทสาวเผ่าเอลฟ์ มาร์ซิล และนักแก้กับดัก ซิลแช็ค ทั้งสามจึงวางแผนกลับเข้าไปข้างในอีกครั้งเพื่อช่วยเหลือฟารินที่ติดอยู่ในท้องของมังกรก่อนที่เธอจะถูกย่อย ทว่าทุกสิ่งอย่างก็ไม่ได้ง่ายเหมือนที่คิด เพราะการเดินทางแต่ละครั้งจำเป็นจะต้องใช้เงินจำนวนมากในการซื้อเสบียง ไลออสเลยผุดไอเดียหนึ่งขึ้นมาแก้ปัญหานั้น นั่นคือการจับมอนสเตอร์มาทำอาหาร 

 

พวกเขาที่กลับไปในดันเจียนได้พบกับ เซนชิ คนแคระมากประสบการณ์ที่เก่งกาจในเรื่องการนำมอนสเตอร์มาทำอาหาร ทั้งหมดพูดคุยกันและตกลงที่จะออกเดินทางร่วมกัน โดยมีเป้าหมายในการช่วยเหลือน้องสาว พลางศึกษาวิธีการทำอาหารจากสิ่งมีชีวิตต่างๆ ไปด้วย





ในระหว่างนั้นเองถึงซีรีส์จะมีความแฟนตาซีอย่างเต็มตัว แต่ก็มันไม่ได้ทอดทิ้งวิธีการนำเสนอที่สมจริง Delicious in Dungeon แบ่งความก้ำกึ่งของสองสิ่งนี้ด้วยการให้ความรู้และความบันเทิงไปพร้อมๆ กัน ซึ่งอนิเมะก็ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งยวดในส่วนนี้ เพราะเวลาที่ตัวละครเริ่มสาธยายถึงวัตถุดิบในการทำอาหาร งานภาพเหล่านั้นก็น่าจะส่งผลกระทบต่อท้องไส้ของคนดูไม่มากก็น้อย แต่สิ่งที่น่าทึ่งยิ่งกว่าคือ เมนูที่ปรากฏตามท้องเรื่องนั้นทางสตูดิโอเจ้าของผลงานอย่าง TRIGGER ถึงขั้นทำมันออกมาในรูปแบบข้อมูลออฟฟิเชียลด้วย

 

นอกจากการทำอาหารแล้ว ความหลากหลายทางอารมณ์และบทบาทที่แตกต่างกันก็เป็นส่วนช่วยให้การเดินทางของพวกเขาดูมีชีวิตชีวา ไม่ว่าจะเป็น ไลออส อัศวินหนุ่มที่หลงใหลในการลิ้มรสสิ่งต่างๆ มาร์ซิล เอลฟ์สาวรันทดที่ขยันปล่อยมีมอย่างไม่ลดละ แต่ลึกๆ แล้วเธอก็กลัวว่าตัวเองจะเป็นภาระให้กับคนอื่น ซิลแช็ค สมาชิกตัวเล็กที่มีความเป็นผู้ใหญ่ และ เซนชิน คนแคระที่เนิร์ดเรื่องอาหาร ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ เมื่อประกอบร่างกันกลายเป็นปาร์ตี้ พวกเขาก็ยิ่งสร้างสีสันให้แก่เรื่องราวมากขึ้น 

 



 

อีกทั้งการได้สตูดิโอ TRIGGER มารับหน้าที่ผลิตก็เป็นส่วนสำคัญอย่างมากในการช่วยยกระดับจังหวะมุกต่างๆ ภายในเรื่อง และสิ่งที่เด่นชัดเลยคือ พวกเขาเก็บรายละเอียดของเรื่องราวที่อ้างอิงมาจากเกม RPG ได้อย่างครบถ้วนทุกประการ (เรียวโกะ คุอิ เป็นแฟนตัวยงของเกม Baldur’s Gate)

 

โดยเฉพาะเมื่อนำการเดินทางที่อ้อยอิ่งของก๊วนทำอาหารมาเทียบเคียงกับวลีสุดคลาสสิกในหมู่คนเล่นเกมอย่าง “ต่อให้จะแวะข้างทางแค่ไหน แต่ภารกิจของเราก็ไม่หนีไปไหน” ประโยคนี้ช่างเป็นสิ่งที่เหมาะสมเหลือเกินในการนิยามถึงวิถีชีวิตของพวกเขา เพราะต่อให้สถานการณ์ของน้องสาวจะหน้าสิ่วหน้าขวานเพียงใด แต่การแวะข้างทางก่อนย่อมเป็นสิ่งที่คนรัก RPG ต้องเคยทำ

 

และ เรียวโกะ คุอิ เองก็เข้าใจถึงความรู้สึกนั้น เขาจึงเอามันมาต่อยอดในการเล่าเรื่องราวของตัวเอง ฉะนั้นจึงไม่แปลกที่ความเนิบนาบของตัวละครจะมีท่าทีคล้ายคลึงกับการเล่นเกม RPG ซึ่งในการดัดแปลงเป็นอนิเมะก็ต้องชื่นชมทีมสร้างด้วย ที่สามารถดึงองค์ประกอบส่วนนี้มาใช้งานให้เกิดเป็นรูปธรรมได้จริง



 

แต่ก็มีเรื่องขำขันอยู่อย่างคือ ตัวละครเผ่าเอลฟ์ ที่ในอดีตมักจะถูกวางบทบาทให้มีความสง่างาม แต่ในปัจจุบันกลับเต็มไปด้วยความขาดๆ เกินๆ ไม่ว่าจะเป็น ฟรีเรน ที่โด่งดังมาจากซีซันที่แล้ว หรือ มาร์ซิล ที่กำลังอยู่ในจุดที่ท็อปฟอร์มในปีนี้ พวกเธอทั้งคู่ต่างก็ทำให้ภาพจำของเอลฟ์มลายหายไปจนหมด ซึ่งบางคนก็ตั้งคำถามแบบติดตลกว่า หากผู้แต่ง The Hobbit และ The Lord of the Rings อย่าง J. R. R. Tolkien มาเห็นเอลฟ์ในยุคนี้เข้า เขาจะรู้สึกอย่างไร คำตอบนั้นคงเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากทีเดียว

 



 

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ตลอด 2 ตอนที่ออกมาของ Delicious in Dungeon จะไม่ได้วางโครงเรื่องให้มีฉากแอ็กชันที่หวือหวามากมาย แต่ซีรีส์ก็ทดแทนในส่วนนี้ด้วยฉากทำอาหารที่น่ารับประทานและความตลกของตัวละคร ที่สำคัญ มันเป็นอนิเมะที่คนดูสามารถสัมผัสถึงความสนุกได้อย่างง่ายดาย โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องอ่านมังงะมาก่อนอีกด้วย 

จาก https://thestandard.co/delicious-in-dungeon-ep-1-2/

<a href="https://www.youtube.com/v//TqrdGdR1SIQ" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v//TqrdGdR1SIQ</a> 

https://youtu.be/TqrdGdR1SIQ?si=UH9maWDRaBExGtaM


<a href="https://www.youtube.com/v//Ds9_wJLv3ZY" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v//Ds9_wJLv3ZY</a> 

https://youtu.be/Ds9_wJLv3ZY?si=1SsllGNN0v5Q3rbv
36
Hagiography – Sacred Biography : การถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตอันเหนือจริงของผู้รู้แจ้ง

โพสต์โดย วัชรสิทธา

บทความโดย THANYA วัชรสิทธา





Hagiography แปลว่า ชีวประวัติหรือเรื่องราวชีวิตอันศักดิ์สิทธิ์ของนักบุญ ผู้รู้แจ้ง หรือบุคคลทางศาสนาที่น่าเคารพนับถือ เช่น ในคัมภีร์ไบเบิล ที่บอกเล่าเรื่องราวของนักบุญต่างๆ ตำนานที่มาของพระโพธิสัตว์ สิทธา หรือเรื่องเล่าของหลวงปู่ในบ้านเรา เหล่าบุคคลที่มีคุณสมบัติของความตื่นรู้ ซึ่งจากสายตาแบบมนุษย์โลก ชีวิตของคนเหล่านี้มีความ “พิเศษ” “แปลก” และ “แตกต่าง” ไปจากชีวิตของคนทั่วไป ด้วยพันธกิจที่พวกเขาทำ สิ่งที่พวกเขาพบเจอ ทั้งประสบการณ์และปรากฎการณ์เหนือจริง เหลือเชื่อ ที่เกิดขึ้นในชีวิต รวมถึงมิติของการบรรลุธรรมที่ไปพ้นจากขอบเขตประสบการณ์ที่คนธรรมดาคุ้นเคย การศึกษาชีวประวัติของบุคคลเหล่านี้อย่างลึกซึ้ง จึงเป็นทั้งการเรียนรู้ชีวิตและเรียนรู้คำสอนไปพร้อมๆ กัน

เรื่องราวชีวิตที่ “พิเศษ” นี้แตกต่างจากชีวิตมนุษย์ทั่วไปที่เป็นชีวิต “ปกติ” นั่นก็คือชีวิตทางโลกย์ ชีวิตที่อยู่ในกฎเกณฑ์ มาตรฐานบางอย่างที่จะบอกว่าชีวิตนี้ “โอเค” เช่น มีอาชีพ มีบ้าน มีรถ มีครอบครัว มีจุดอ้างอิงที่ทำให้เราเป็นความปกติในสังคมที่อยู่ร่วมกัน ในขณะที่ชีวิตของบุคคลผู้ใช้ชีวิตทางธรรมนั้นไปพ้นจากพื้นตรงนี้ คนที่มีพลังในการหลุดพ้น หรือสร้างอิทธิพลในการถ่ายทอดคำสอนให้กับคนในสาย จะมีคุณสมบัติแห่งการตื่นรู้ที่มากกว่าคนปกติ ซึ่งนำไปสู่วิถีชีวิตที่ต่างไป เช่น อาจจะเป็นผู้ที่มีความเมตตามากกว่า มีปัญญาญาณที่มากกว่า มีอิสระในการแสดงออกที่มากกว่า หรือสามารถสัมพันธ์อยู่กับสถานการณ์บางอย่างที่ต่างไปจากคนปกติ

จริงๆ แล้ว Hagiography วนเวียนอยู่รอบตัวในบรรยากาศของการพูดคุยเรื่องศาสนาเสมอ ชีวิตของพระเยซูที่ตายแล้วเกิดใหม่ พระพุทธเจ้าที่เกิดมาแล้วเดินเจ็ดก้าวทันที  หรือใกล้ตัวคนไทยมากๆ อย่างเรื่องราวของหลวงปู่มั่นที่เต็มไปด้วยอภินิหาร หรือประสบการณ์ทางธรรมที่เหนือไปจากความเป็นจริงปกติ

ในภาษาอังกฤษ Hagiography แปลว่า Sacred Biography ชีวประวัติที่มีมิติของความศักดิ์สิทธิ์ จะเห็นได้ว่าในชีวประวัติของนักบุญ หรือบุคคลสำคัญทางศาสนา จะมีธีมบางอย่างที่เชื่อมโยงทั้งชีวิตให้ร้อยเรียงเป็นเรื่องราวที่พิเศษ เช่น มีคำพยากรณ์ ดังเช่นที่ ตรุงปะรินโปเชได้รับคำทำนายตั้งแต่ยังเด็กว่าจะเป็นผู้เผยแผ่พุทธรรมในโลกตะวันตก และชีวิตคนเหล่านี้จะมีเรื่องราวของอภินิหาร เหตุการณ์เหนือธรรมชาติ เช่น โมเสสผ่าทะเลแดง หรือการแทงไม่เข้า ฆ่าไม่ตาย หรือตายแล้วเกิดใหม่ หรือปรากฏการณ์ธรรมชาติรอบๆ ตัวที่พิเศษด้วยความประจวบเหมาะเกินกว่าที่จะเป็นเรื่องบังเอิญ



Too Fancy to Be True

เรื่องเล่าที่มีความ “เหนือจริง” เป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก เรื่องเล่าของนักบุญที่เป็นมากกว่าชีวประวัติเฉยๆ แต่ยังบรรจุความเชื่อ ความศรัทธาไว้ในนั้นด้วย ดังนั้นแน่นอนว่าส่วนที่เป็นนามธรรมนี้จึงทำงานกับทั้งตัวเรื่องเล่าและตัวผู้อ่าน ว่าจะเชื่อหรือไม่ดี

ในยุคสมัยของสังคมวัตถุและความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เราอยู่ทุกวันนี้ ความเชื่อดั้งเดิม ความรู้แบบ traditional ด้านอื่นๆ ถูกปฏิเสธไปมาก มิติของความศักดิ์สิทธิ์อยู่บนเส้นขอบของ “ความงมงาย” จากฐานคิดสมัยใหม่ (ในหนังสือศาสนศึกษาบางเล่มใช้คำว่า Postmodern Thinker) ที่มองสิ่งที่วัดไม่ได้ด้วยสายตาระแวงสงสัยอยู่เสมอ ดังนั้นไม่แปลกเลยที่ตำนาน ชีวประวัติ เรื่องเล่าจากศาสนาหรือมีมิติทางจิตวิญญาณ จะถูกจับไปอยู่หมวดอภินิหาร เป็นเรื่องเล่างมงายที่ไมได้เกิดขึ้นจริง

อย่างเรื่องเล่าของสิทธาอย่าง ติโลปะ นาโรปะ มาร์ปะ มิราเลปะ ล้วนแต่เป็น Sacred Biography ที่ฟังดูแล้วแปลกประหลาดพิสดาร เช่น

เพื่อที่จะได้เป็นศิษย์ของตีโลปะ นาโรปะโดดลงจากยอดเจดีย์ ตกลงมากระดูกหักทุกท่อน และได้แต่อธิษฐานขอให้ชาติหน้าได้เรียนกับตีโลปะ แต่แล้วตีโลปะก็ปรากฏกายและรักษานาโรปะหายในพริบตา จากนั้นก็ถ่ายทอดคำสอนให้

มิราเลปะถูกมาร์ปะสั่งให้สร้างบ้านให้ มิราเลปะอุทิศแรงกายสร้างบ้านขึ้นมา แต่มาร์ปะก็จะพังมันลงทุกครั้งพร้อมข้อแก้ตัวส่งๆ เช่น เมา ไม่ได้ตั้งใจ มิราเลปะสร้างหอคอยเก้าชั้นเพื่อหวังให้มาร์ปะยอมรับ แต่ก็ไม่สำเร็จ จนมิราเลปะจะฆ่าตัวตายเพราะหมดหวังที่จะได้รับคำสอน มาร์ปะก็ปรากฏตัวขี้นและกล่าวว่า มิลาเรปะพร้อมจะได้รับคำสอนแล้ว




เรื่องราวเหล่านี้น่าจะถูกจัดอยู่ในหมดนิทานปรำปรามากกว่าหมวดชีวประวัติ แต่หากเรามองว่านี่คือชีวิตของบุคคลที่ตื่นรู้ มีภูมิธรรมหรือการเข้าถึงประสบการณ์ทางจิตระดับสูง เป็นผู้อยู่บนหนทางแห่งการรู้แจ้ง การเล่าเรื่องราวชีวิตแบบที่เราคุ้นเคย เช่น เกิดที่ไหน ครอบครัวคือใคร ทำอะไรบ้าง ประสบความสำเร็จอย่างไรบ้าง อาจไม่เพียงพอที่จะถ่ายทอดมิติความลึกซึ้งของประสบการณ์ออกมาได้

เรื่องราวจะจริงไม่จริง เชื่อได้หรือเชื่อไม่ได้ ถือเป็นข้อสงสัยคลาสสิก ที่ธรรมาจารย์ซองซาร์ เค็นเซ รินโปเช กล่าวไว้อย่างน่าสนใจ

“…ความคิดที่ว่า “เรื่องนี้มันเชื่อได้หรือเปล่า?” ไม่เคยแวบขึ้นมาเลยด้วยซ้ำ ข้าพเจ้าไม่ได้คิดแบบนั้น มิลาเรปะเป็นสถาปนิกที่ร่ำเรียนมาอย่างนั้นหรือ? นาโรปะกระโดดลงมาจากหลังคาอาคารสูงแล้วไม่ตายจริงๆ หรือ? ข้าพเจ้าไม่รู้ แล้วก็ไม่สนใจด้วย ไม่มีใครสนใจหรอก แต่สิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจสำหรับเราก็คือความมุ่งมั่นและความโหยหาพระธรรมของมิลาเรปะกับนาโรปะต่างหาก สำหรับเราแล้ว แรงบันดาลใจมีความสำคัญกว่ารายละเอียดปลีกย่อยที่น่าเชื่อถือ และข้าพเจ้าสามารถกล่าวด้วยความสัตย์จริงว่า ข้าพเจ้าพบว่าในวันนี้เรื่องราวที่เหลือเชื่อเหล่านี้ยิ่งน่าประทับใจยิ่งกว่าเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้วมาเสียอีก ถ้าพูดแบบนี้แล้วจะดูเหมือนเป็นคนหูเบาหรือเหมือนเด็กอมมือหรือเปล่า? ก็เป็นไปได้ แต่มีใครบ้างล่ะที่ไม่เป็นแบบนั้น?

“คนสมัยใหม่มีแนวโน้มที่จะเอาเรื่องราวของมิลาเรปะและนาโรปะไปรวมอยู่ในจำพวกตำนานปรัมปราและเทพนิยาย ในบทความที่ชื่อ Why I Quit Guru Yoga’ (ทำไมผมถึงเลิกปฏิบัติคุรุโยคะ) สตีเฟน แบตชเลอร์ (Stephen Batchelor) ให้ความเห็นว่าติโลปะและนาโรปะเป็นตัวละครในนิทานสอนใจ และเรื่องราวชีวิตของทั้งคู่เป็นแค่การสมมติเปรียบเทียบ เมื่อไม่สามารถจินตนาการคุรุทั้งสองได้ในสภาพปัจจุบัน แบตชเลอร์ก็เลือกที่จะเชื่อว่าท่านไม่ได้มีตัวตนจริง ๆ ด้วยซ้ำ แต่ข้าพเจ้าเห็นตรงกันข้าม ข้าพเจ้าเลือกที่จะเชื่อว่ามิลาเรปะและนาโรปะมีตัวตนจริง ๆ และไม่เพียงเท่านั้น แต่ข้าพเจ้าเชื่อว่าเรื่องราวทั้งหมดก็เป็นความจริงด้วยเช่นกัน”

– ซองซาร์ จัมยัง เคียนเซ รินโปเช

จาก “ยาพิษคือโอสถ ไขข้อกังขาเกี่ยวกับวัชรยาน”


A True Story from Sacred World

ประเด็นเรื่อง “เชื่อได้ -เชื่อไม่ได้” ของการอ่าน Hagiography เกี่ยวข้องโดยตรงกับระดับของ “ความจริง” ในงานวิชาการทางด้านตะวันตก มีข้อเสนอที่ว่า Hagiography ควรถูกมองในฐานะ ประวัติศาสตร์ที่ศักดิ์สิทธิ์ (Sacred History) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส Paul Ricoeur กล่าวว่าสิ่งที่ Hagiography นำเสนอคือ “ความจริงแท้แห่งการสำแดง”  (Truth of Manifestation) ซึ่งไม่ใช่แค่การเล่าเรื่องธรรมดาๆ อย่างที่ว่าไว้ แต่บรรจุความศักดิ์สิทธิ์ พิธีกรรม ความเชื่อ ความศรัทธา และความจริงแท้บางอย่างที่ชีวิตนั้นได้สัมผัสและถ่ายทอดต่อๆ กันมาถึงคนรุ่นหลัง

“ความจริง” เป็นสิ่งที่แข็งตัวแค่ไหนกัน ต้องจับต้องได้แค่ไหนจึงจะเข้าเกณฑ์ว่า นี่คือจริง

Process Work เป็นศาสตร์หนึ่งที่อธิบายระดับของความจริงไว้อย่างเป็นระบบ เป็นภาพสามเหลี่ยมคว่ำลง ชั้นบนสุดคือชั้นภูเขาน้ำแข็งของ CR – Consensus Reality ความจริงที่ตกลงร่วมกัน เช่น สิ่งของเชิงกายภาพที่จับต้องได้ เช่น โต๊ะ ตู้ เก้าอี้ ชุดความเชื่อ ศาสนา กฎหมาย ชุดคุณค่าในสังคม ความรวย ความจน ถูกผิด ว่าง่ายๆ เป็นพื้นที่ความจริงที่เราใช้ชีวิตกันอยู่ ลงมาเป็นระดับของ Dreamland พื้นที่ของอารมณ์ ความรู้สึก ความฝัน ความรัก ความศรัทธา ประสบการณ์ ประวัติศาสตร์ เป็นความจริงที่อยู่ใต้ CR ที่ประกอบขึ้นมาเป็นตัวเรา และลึกสุดคือ ความจริงระดับ Essence เป็นคุณค่าที่ลึกซึ้ง ไปพ้นจากตรรกะทวิภาวะ และเป็นสิ่งสากลที่ทุกคนแชร์ร่วมกัน ความจริงนี้จะอยู่ในระดับจิตวิญญาณในการพูดถึงความจริงสูงสุด

เช่นนั้น สิ่งที่ไปพ้นจากความจริงระดับตกลงร่วมกันยังเป็นความจริงอยู่หรือไม่ คำตอบคือ เป็น เป็นความจริงที่สัมพันธ์อยู่กับประสบการณ์ที่เป็นปัจเจกมากขึ้น ทว่าในระดับลึกสุด ก็ยังเชื่อมโยงอยู่กับความจริงแท้หนึ่งเดียวที่ทุกคนมีร่วมกัน

ชีวิตของนักบุญ นักบวช พระอรหันต์ สิทธา โพธิสัตว์ พระพุทธเจ้า คือชีวิตของคนที่เข้าใกล้กับความจริงสูงสุด (Absolute Truth) ดังนั้นพื้นที่ของการใช้ชีวิตจึงไม่ได้อยู่แค่ในระดับ CR แบบคนปกติ แต่ลงไปในโลกของประสบการณ์ สถานการณ์ที่ธรรมชาติรายรอบที่บริสุทธิ์ ไม่ปรุงแต่ง เป็นบุคคลที่ข้ามพ้นไปจากความคิดตัดสิน การแบ่งขั้วทวิลักษณ์ พวกเขาอยู่ในพื้นที่ของ Essence ที่ภาษาแบบทวิลักษณ์ไม่อาจอธิบายได้แล้ว

‘The modern concepts of science are not adequate to understand people and our experience of art and even communication’  – Hans-Georg Gadamer (1900–2002) from Truth and method

เมื่อชีวิตที่ไม่ได้อยู่เพียงแค่ระดับความจริงที่ตกลงร่วมกัน รูปแบบการเล่าเส้นเรื่องปกติธรรมดา และการอ่านบนพื้นฐานความคิดเชิงวิทธาศาสตร์ก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้รับรู้ถึงสิ่งที่อยู่ลึงลงไป ดังที่ริเกอร์เสนอว่า Hagiography บรรจุความจริงแท้บางอย่าง นั่นคือความจริงในระดับ dreamland และ essence


พื้นที่ว่างระหว่างผู้อ่านและตัวบท

เรื่องเล่าอีกรูปแบบหนึ่งที่เราสามารถพูดถึงได้ในลักษณะเดียวกัน คือ myth หรือตำนาน เรื่องราวของตำนานเป็นความจริงเท่าไหร่กัน? เราพบเจอกันนานจากเรื่องเล่าก่อนนอนสมัยเด็กๆ เก็บเป็นความทรงจำลางๆ ไว้เล่าที่มาของสิ่งต่างๆ ในเวลาที่โตมา ไม่แน่ใจหรอกว่าจริงหรือไม่ ได้แต่พูดว่า “เขาเล่ากันว่า…”  หรือบางทีก็เห็นตามรายการโทรทัศน์ตามรอยสถานที่ในตำนาน คำถามว่าตำนานจริงไม่จริงแค่ไหน ก็จึงยังวนเวียนอยู่ในใจเสมอ

ความน่าสนใจของการอ่านหรือฟัง myth ทั้งหลาย คือพื้นที่ว่างระหว่างตัวเราและเรื่องราวที่เอื้อให้เกิดจินตนาการใหม่ๆ ขึ้นในแต่ละครั้ง นึกถึงประสบการณ์การรับรู้ myth เรื่องเดิม ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ตัวเราในแต่ละขณะก็จะมีการตีความ เลือกหยิบสานร์ที่แตกต่างกันออกไป นี่คือลักษณะของตัวบทที่ทำงานกับผู้อ่าน ผ่านพื้นที่ว่างที่สร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ

ในการศึกษาด้านจิตวิญญาณ หรือสายพลังงาน สายโยคะ มักมีการอธิบายถึงสิ่งที่ไม่สามารถจับต้องได้ ไม่สามารถวัดได้ เป็นพลังงานที่ละเอียด (Subtle) ซึ่งจะเข้าไปใกล้กับการอธิบายเรื่องความเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับโลกธรรมชาติ และโลกศักดิ์สิทธิ์ แล้วเราจะถ่ายทอดสิ่งวัดไม่ได้มองไม่เห็นเหล่านี้อย่างไรล่ะ เรื่องเล่าในระดับความเป็นจริงทั่วไปคงไม่พอที่จะบรรจุมิติของความละเอียดและศักดิ์สิทธิ์นั้น เรื่องราวจึงต้องถูกถ่ายทอดในรูปแบบของ myth ที่มีความว่าง มีพื้นที่ unknown ให้ความเป็นไปได้ทั้งหลายเกิดขึ้น

สุดท้ายแล้ว เราจะมองว่าอะไร จริง ไม่จริง อย่างไรก็เป็นเรื่องระดับปัจเจก แต่อย่าลืมปล่อยให้ความไม่รู้ พื้นที่ของความอธิบายไม่ได้ พาเราไปสู่ประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ไปพ้นจากภาษา พ้นจากคำอธิบายโดยสมอง ให้เส้นขอบฟ้าของความตระหนักรู้เราขยายออกไปจรดขอบกับผืนฟ้าแห่งความว่างอันอุดมไปด้วยความเป็นจริงแบบใหม่ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด


จาก https://www.vajrasiddha.com/article-hagiography/

วัชรสิทธา

สถาบันวัชรสิทธา ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ทดลองทางการศึกษา บนพื้นฐานของการภาวนา การใคร่ครวญด้วยใจ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์อย่างเป็นมนุษย์ระหว่างผู้เรียน :31:
37
“ไตรยาน” : โลกทัศน์ก้าวหน้าทางจิตวิญญาณของพุทธศาสนาทิเบต

โพสต์โดย วัชรสิทธา


บทความโดย ฟาบริซ มิดาล
แปลและเรียบเรียงโดย วิจักขณ์ พานิช

จาก chapter 6 : “Progressive Approach of the Three Yanas”
ในหนังสือ Chögyam Trungpa : His Life and Vision




ในการวางรากฐานพุทธธรรมในโลกตะวันตก เชอเกียม ตรุงปะ นำเอาโครงสร้างคลาสสิคของไตรยาน มาใช้ในการสื่อสารคำสอนอย่างเป็นลำดับ

คำว่า “ยาน” แปลว่า พาหนะ “บางอย่างที่ยกเธอขึ้นและพาเธอไป” ยานคือสิ่งที่จะนำพาเราเดินทางไปสู่จุดหมาย ไม่ว่าจะเป็น รถ เรือ รถไฟ หรือ เครื่องบิน ในพุทธศาสนา ยานไม่ใช่แค่พาหนะ แต่คือถนนหรือเส้นทางในตัวมันเอง ที่ผู้ปฏิบัติจะใช้ในการพาตัวเองไป สู่เป้าหมายแห่งการหลุดพ้น

อาจารย์ชาวทิเบตบางคนเชื่อว่าการเลือก “พาหนะ” ที่เหมาะสม ขึ้นอยู่กับวุฒิภาวะหรือการสุกงอมทางจิตวิญญาณของแต่ละคน ถ้าสติปัญญาน้อยก็ควรใช้หินยาน ส่วนผู้ที่มีศักยภาพทางจิตวิญญาณสูงก็ควรใช้วัชรยาน

ตรุงปะไม่เห็นด้วยกับแนวคิดแบบนั้น เขาโคว้ตคัมภีร์หลายเล่มเพื่อเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ผู้ฝึกตนทุกคนจะต้องเริ่มต้นบนเส้นทางหินยาน ไม่เช่นนั้นก็มีแนวโน้มที่หนทางที่เหลือจะกลายเป็นแค่การเสริมสร้างอัตตาตัวตนไป เชอเกียม ตรุงปะ ไม่เคยพูดถึงหินยานในทางดูถูกเลยแม้แต่ครั้งเดียว

การให้ความสำคัญและการเน้นย้ำต่อหินยานแบบที่เชอเกียม ตรุงปะ ทำนั้น ค่อนข้างจะไม่ใช่เรื่องปกติในพุทธศาสนาทิเบต ธรรมาจารย์ชาวทิเบตที่มาสอนที่ตะวันตกส่วนใหญ่มักนำเสนอการปฏิบัติวัชรยาน การตั้งนิมิต มนตรา พิธีกรรม ให้ใครก็ตามที่ขอรับคำสอน แม้แต่นักเรียนใหม่มากๆ ที่ไม่รู้จักพุทธศาสนามาก่อน สำหรับเชอเกียม ตรุงปะ การทำแบบนั้นถือเป็นความผิดพลาด

“ชาวตะวันตกส่วนใหญ่ยังไม่ได้เตรียมพร้อมกับการฝึกปฏิบัติวัชรยาน เพราะพวกเขายังไม่ได้ทำความเข้าใจคำสอนพื้นฐานของพุทธศาสนาเลยสักนิด โดยทั่วไปพวกเขายังไม่มีแม้แต่ความเข้าใจเรื่องทุกขสัจ ที่อธิบายไว้ในคำสอนอริยสัจสี่เลย ดังนั้น ณ จุดนี้ การนำเสนอคำสอนพุทธศาสนาต่อชาวตะวันตกจึงต้องเริ่มด้วยพื้นฐานของหินยานก่อน ผู้คนจะต้องสัมพันธ์กับวัตถุดิบในจิตใจของพวกเขาเองให้ได้เป็นอย่างแรก”   – เชอเกียม ตรุงปะ

เชอเกียม ตรุงปะ รู้สึกถึงความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องเริ่มที่ “square one” หากปราศจากพื้นฐานตรงนี้ งานทางจิตวิญญาณทั้งหมดจะกลายเป็นวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ การเดินทางทางจิตวิญญาณที่จริงแท้จะเป็นไปไม่ได้เลยหากไม่เริ่มต้นด้วยความซื่อตรงของหินยาน

ตอนที่ตรุงปะ เดินทางไปสอนธรรมะในโลกตะวันตกช่วงแรกๆ มีนักเรียนชาวตะวันตกจำนวนมากที่ตื่นตาตื่นใจกับคำสอนซกเช็น ซึ่งถือเป็นคำสอนขั้นสูงสุดของวัชรยาน และ “ล้ำค่า” มากกว่าคำสอนอื่น ทัศนคติแบบนั้นทำให้ตรุงปะโกรธมาก เขาพบว่ามันเป็นการลดทอนคุณค่าของสายธรรมปฏิบัติ และเป็นปัญหาใหญ่ของยุคสมัย ที่ผู้คนกำลังมองทุกอย่างรวมถึงคำสอนทางจิตวิญญาณเหมือนเป็นสินค้า

การศึกษายานทั้งสามอย่างสมบูรณ์ ก็เหมือนกับการศึกษาแผนที่ก่อนที่จะออกเดินทาง มันจะช่วยเราให้รู้ว่ากำลังไปที่ไหนและทำให้ความสนใจใคร่รู้และสติปัญญาของเราตื่นตัวและแหลมคมขึ้น เมื่อถึงเวลาเดินทางจริง ไม่มีเส้นทางใดที่สูงค่ากว่าเส้นทางอื่น ทั้งหมดต่างเป็นหนทางที่แตกต่างทว่าสำคัญต่อการพาเราไปสู่จุดหมายทั้งสิ้น

ในการอธิบายเส้นทางนี้ ตรุงปะมักใช้ภาพตัวอย่างคลาสสิกของการเปรียบเทียบหินยานเหมือนเป็นฐานรากของบ้าน ขณะที่มหายานคือตัวบ้าน และวัชรยานคือหลังคาทองคำ ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องน่าขันหากจะเริ่มต้นที่หลังคาแทนที่จะเป็นฐานราก แต่ละขั้นตอนนำไปสู่ขั้นถัดไปอย่างเป็นธรรมชาติ และเป็นการข้ามพ้นทว่าหลอมรวมขั้นก่อนหน้า เส้นทางไม่ใช่การผ่านจากระดับหนึ่งไปสู่อีกระดับหนึ่ง เหมือนเรียนในโรงเรียน หรือไม่ใช่การเปรียบเทียบว่าอันไหนดีกว่า แล้วตัดสินใจเลือกว่าจะนั่งรถไปอิตาลี หรือจะนั่งเครื่องบินไปเที่ยวป่าดงดิบในเคนย่า เส้นทางเผยตัวเองอย่างสอดคล้องต่อประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติ  the path will unfold according to the practitioner’s experience…

ตรุงปะอธิบายว่า สำคัญที่จะเรียนรู้ยานหนึ่งก่อนหน้าอีกยานหนึ่ง แต่ไม่จำเป็นที่จะต้องสำเร็จยานหนึ่งก่อนที่จะเริ่มต้นยานถัดไป การทำความคุ้นเคยกับประสบการณ์ในยานก่อนหน้าเป็นสิ่งที่จะเป็นต้องมี ก่อนที่จะก้าวต่อไปสู่ยานถัดไป แต่ผู้ปฏิบัติไม่จำเป็นต้องรู้แจ้งในยานนั้นๆ โดยสมบูรณ์ก่อนที่จะฝึกยานถัดไปได้ ในท้ายที่สุด ยานทั้งสามจะดำรงอยู่ไปด้วยกันในการปฏิบัติของคนคนนั้นอย่างเป็นธรรมชาติ ดังนั้นมันจึงไม่ใช่การข้ามพ้นหินยานไปสู่ยานอื่นที่ลึกซึ้งกว่า

“คำสอนหินยานไม่ควรถูกมองในฐานะบางสิ่งที่เธอแค่ถือไว้พักนึง แล้วทิ้งไปได้ในภายหลัง คำสอนหินยานคือพลังชีวิตที่เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติและวินัยของเธอ ซึ่งดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ด้วยมุมมองเช่นนี้ หินยานควรถูกให้การเคารพในฐานะ life’s strength จำไว้นะ “Never forget Hinayana””

– เชอเกียม ตรุงปะ



วัชรสิทธา

สถาบันวัชรสิทธา ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ทดลองทางการศึกษา บนพื้นฐานของการภาวนา การใคร่ครวญด้วยใจ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์อย่างเป็นมนุษย์ระหว่างผู้เรียน

จาก https://www.vajrasiddha.com/article-triyana/
38
พาลาดิน ยอดอัศวินจากแดนไกล (Saihate no Paladin)




พาลาดิน ยอดอัศวินจากแดนไกล อนิเมะแนวแอคชั่นแฟนตาซี ถูกดัดแปลงมาจากไลน์โนเวลของคุณ Kanata Yanagino และวาดภาพประกอบโดยคุณ Kususaga Rin เริ่มเผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์นิยายออนไลน์ Shōsetsuka ni Narō ที่ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนพฤษภาคม ปี 2015 ก่อนที่จะได้รับการตีพิมพ์ออกจำหน่ายโดยสำนักพิมพ์ Overlap Bunko จำนวนทั้งสิ้น 4 เล่ม และถูกดัดแปลงเป็นมังงะออกวางจำหน่ายในเดือน กันยายน ปี 2017 รวมทั้งสิ้น 7 เล่ม

ด้วยกระแสตอบรับที่ดีจากเหล่าแฟน ๆ จึงได้รับการดัดแปลงเป็นอนิเมะ โดยสตูดิโอ Children’s Playground Entertainment สตูดิโออินดี้ ที่มีผลงานอยู่หลายเรื่อง เช่น Citrus , Seisen Cerberus: Ryuukoku no Fatalités , Hatena☆Illusion เป็นต้น





















เนื้อเรื่องย่อ

ณ เมืองที่ถูกทำลายไร้ซึ่งผู้คน มีเพียงเหล่าอันเดดที่เดินกันอยู่เพ่นพ่าน มันเป็นเมืองแห่งความตายที่เงียบสงบ แต่แล้วทันใด ความสงบก็ถูกทำลายลง ด้วยเสียงร้องของเด็กทารกปริศนา เสียงร้องนั้น ดังกระหึ่มกลบเสียงของเราอันเดดที่กำลังเดินกันอยู่ขวักไขว่ ต่างมุ่งตรงไปยังเสียงนั้น โชคยังดีที่ได้มีกลุ่มคนปริศนามาเจอหนูน้อยทารกคนนี้เข้า พวกเขาได้อุทิศเวลายอมเสียสละเลี้ยงดูหนูน้อยจนเติบใหญ่ และให้ชื่อแก่เด็กคนนี้ว่า “วิลล์” 

วิลล์เติบโตมากับครอบครัวที่มีพ่อบุญธรรมที่เป็นโครงกระดูกร่างใหญ่ และ แม่บุญธรรมที่เป็นมัมมี่นักบวชขั้นสูง พร้อมคุณปู่จอมเวทย์ที่แสนลึกลับจอมเจ้าเล่ห์ ทั้งสามต่างเลี้ยงดูวิลล์มาด้วยความรัก และสอนถึงสิ่งที่ตนเองรู้ทั้งหมด ถึงแม้วิลล์จะเป็นมนุษย์เพียงคนเดียวก็ตาม

นานวันเข้า วิลล์ก็เริ่มพบกับคำถามที่ว่า แท้จริงแล้ว เขาคือใครกันแน่ อีกทั้งยังพบเจอกับเหตุการณ์บางอย่างที่ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของพวกเขาไปตลอดกาล ท่ามกลางความสับสนวุ่นวาย หนุ่มน้อยวิลล์ผู้ที่ต้องการออกค้นหาถึงเรื่องราวว่า “เขาคือใคร” พร้อมทั้งปฏิญาณอันแรงกล้าในการมีชีวิตใหม่ ภายใต้วิถีทางแห่ง “พาราดิน นักรบศักดิ์สิทธิ์”…

แนะนำตัวละครหลัก



วิลเลี่ยม จี แมรีบลัด (William G. Maryblood)

วิลเลี่ยม จี แมรีบลัด หรือ วิลล์ เด็กกำพร้าที่ถูกทิ้งไว้ให้ตายที่เมืองแห่งความตายเพียงลำพัง ในภายหลังได้รับการช่วยเหลือจากแมรี่มัมมี่นักบวชหญิง และเลี้ยงดูเขาจนเติบใหญ่ด้วยความรัก ความอบอุ่นที่เธอมอบให้ ทำให้วิลล์รักและเคารพแมรี่ จนเปรียบได้กับแม่แท้ ๆ ของเขา นอกจากนี้ วิลล์ยังได้รับการสอนสั่ง รวมทั้งการฝึกฝนร่างกาย จนเขานั้นกลายเป็นนักรบที่แข็งแกร่งคนหนึ่ง

หลังจากเหตุการณ์ที่ทำให้เขาจำต้องลาจากออกจากบ้าน เพื่อเดินทางค้นหาความหมายของชีวิต และปูมหลังของเขา ด้วยชื่อและนามสกุลที่เขาได้รับมาจากการผสมคำของชื่อ พ่อ แม่ และปู่ของเขา ว่า “William G. Maryblood”




แมรี่ (Mary)

แมรี่ เธอเป็นนักบวชหญิงชั้นสูงของเทพี Mater เทพีแห่งความรักและความอุดมสมบูรณ์ ก่อนที่จะเข้าร่วมในสงคราม และผลจากสงครามในครานั้นได้เปลี่ยนเธอจนกลายเป็นมัมมี่ ถึงแม้ว่าเธอจะกลายเป็นบางสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์กับเทพี Mater ที่เธอเคารพ มันก็ไม่สามารถมาทำลายความศรัทธาที่เธอมีให้ต่อพระองค์ได้ ถึงแม้การสวดมนต์จะทำให้เธอต้องเจ็บปวดก็ตาม แมรี่เป็นผู้พบเจอวิลล์และเลือกที่จะเลี้ยงดูเขาให้เติบใหญ่ ในฐานะ แม่บุญธรรม ที่พร้อมจะเสียสละแม้กระทั่งชีวิตของตนให้วิลล์บุตรอันเป็นที่รักยิ่งของเธอ…





บลัด (Blood)

บลัด เขาเป็นนักรบโครงกระดูกขนาดใหญ่ มีศักดิ์เป็นพ่อบุญธรรมของวิลล์ ในอดีต บลัด เคยเป็นนักรบที่แข็งแกร่ง จนได้รับฉายาว่า อสูรสงคราม และได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในผู้พิทักษ์ตราประทับของกษัตริย์สูง (Arc 1) จนกระทั่งได้เกิดการต่อสู้ครั้งใหญ่ที่ทำให้เขาต้องกลายเป็นอันเดด แต่ถึงแม้เขาจะกลายเป็นอันเดด  Blood ก็ยังมีความทรงจำของมนุษย์ พร้อมทั้งความรักที่เขามอบให้กับ วิลล์ จนถึงขนาดที่ตัวเขาเองก็ยอมตายเพื่อวิลล์ได้เลย..




ออกัสตัส (Augustus)

ออกัสตัส เขามีรูปร่างเป็นวิญญาณโปร่งใส(โพลเตอร์ไกสท์) มีศักดิ์เป็นปู่บุญธรรมของวิลล์ ในอดีต ออกัสตัส เคยเป็นจอมเวทย์ผู้ยิ่งใหญ่ มีฉายาว่า จอมปราชญ์พเนจร ในภายหลังได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในผู้พิทักษ์ตราประทับของกษัตริย์สูง (Arc1-4) จนกระทั่งได้เข้าต่อสู้ในสงครามครั้งยิ่งใหญ่ ผลของสงครามนี่เองที่ทำให้ออกัสตัส ต้องกลายร่างเป็นวิญญาณ

หลังจากที่ได้พบเจอกับวิลล์ เด็กลึกลับที่ถูกทิ้ง ในทีแรกเขาเย็นชาและไม่ยอมเปิดใจกับวิลล์ พร้อมทั้งไม่เห็นด้วยที่อันเดดจะเลี้ยงเด็กมนุษย์ได้ แต่พอเวลาผ่านไป ออกัสตัสก็เริ่มใจอ่อน และยอมรับว่าวิลล์คือหลานของเขา พร้อมทั้งสอนวิชาเวทย์และปรัชญาการใช้ชีวิต เพื่อเตรียมตัวให้วิลล์มีอนาคตที่ดีขึ้นต่อไป….





เมเนลดอร์ (Meneldor)

เมเนลดอร์ มนุษย์ลูกครึ่งเอลฟ์ที่มีความสามารถในการยิงธนูที่เป็นเลิศ เพราะด้วยความที่เขามีพ่อเป็นมนุษย์ จึงทำให้ เมเนลดอร์ไม่ได้รับการยอมรับจากเผ่าของตน จนถูกขับไสไล่ส่งออกมา และได้มาใช้ชีวิตอยู่ในหมู่บ้านมนุษย์ที่เปิดโอกาสและยอมรับในตัวเขา ในภายหลังด้วยความช่วยเหลือจากวิลล์เพื่อปลดปล่อยหมู่บ้านจากพวกโจร จึงทำให้เขาเริ่มเปิดใจและยอมรับในตัววิลล์ จนได้กลายเป็นเพื่อนสนิทคนแรกของวิลล์…




สรุป พาลาดิน ยอดอัศวินจากแดนไกล (Saihate no Paladin)

พาลาดิน ยอดอัศวินจากแดนไกล อนิเมะมาใหม่ประจำฤดูใบไม้ร่วง (fall 2021) ที่ได้ปล่อยตัวอย่างออกมาให้รับชมกันไปแล้ว ต้องบอกเลยว่าจากตัวอย่างเราจะเห็นถึงงานภาพที่สวยงาม อัดแน่นไว้ด้วยคุณภาพ ที่สตูดิโอ Children’s Playground Entertainment รังสรรค์ผลงานออกมาได้เป็นอย่างดี มาให้เราได้รับชมกัน นอกจากงานภาพแล้ว ในส่วนเนื้อเรื่องเอง ก็มีความเข้มข้นสนุกสนาน แสดงให้เห็นถึงความรักที่ถึงแม้จะต่างสถานะกันมากแค่ไหน ก็ยังสามารถมอบความสุขให้แก่กันได้ โดยเฉพาะฉากดราม่าที่อาจจะทำให้เรารู้สึกตื้นตันใจ จนอาจจะมีน้ำตาซึมออกมาได้

นอกจากความดราม่าในตอนต้นของเนื้อเรื่องแล้ว ในส่วนต่อมาจะเป็นการผจญที่มีทั้งความสนุก ตื้นเต้น ตามแบบฉบับอนิเมะแฟนตาซี ซึ่งไม่บ่อยเท่าไหร่นักที่จะมีอนิเมะที่ดำเนินเรื่องแฟนตาซีที่ในทีแรกออกจะดูธรรมดา เหมือนกับแนวแฟนตาซีทั่วไป แต่พอได้รองดูไปซักพักจะพบเข้ากับความสนุก ความแปลกใหม่ที่เนื้อเรื่องทำออกมาได้เป็นอย่างดี ถือว่าเป็นอีกหนึ่งอนิเมะประจำฤดูใบไม้ร่วง ที่น่าติดตาม และควรค่าแก่การหามารับชม ไปร่วมลุ้นเอาใจช่วยหนูน้อยวิลล์ในการเดินทางเพื่อตามหาความจริงว่า เขาคือใครบนโลกใบนี้ได้เลยใน พาลาดิน ยอดอัศวินจากแดนไกล ตุลาคมนี้!!…. แล้วพบกันใหม่บทความหน้า สวัสดีครับ….

จาก https://keywordsfun.com/2021/09/paladin/

<a href="https://www.youtube.com/v//lXuVzSKd7wM" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v//lXuVzSKd7wM</a> 

https://youtu.be/lXuVzSKd7wM?si=XEJaCOqYE_DFYQ6D
39
สำนึกของดอกไม้ : การแสดงตน และร่ายรำในพื้นที่ว่าง

โพสต์โดย วัชรสิทธา

บทความโดย KONG วัชรสิทธา



ในฐานะอดีตนักเรียนศิลปะคนหนึ่ง​ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจทางศิลปะผ่านการเรียนในสถาบันและประสบการณ์ทางโลกศิลปะมาแบบนึง ​เมื่อได้มีโอกาสร่วมคลาสเรียน​ “ดอกไม้สื่อใจ ขั้น​ 1”​ ในเดือนกุมภา ฯ ที่ผ่านมา​ ชั้นเรียนดังกล่าวว่าด้วยแนวทางของศิลปะการจัดดอกไม้แบบ​ “อิเคบานะ”​ ควบคู่ทั้งทางด้านเนื้อหาทฤษฎีและการปฏิบัติ ถือเป็นการเปิดโลกทัศน์​ทางศิลปะที่เคยมี ชนิดที่ว่าพลิกผันมุมมองเชิงศิลปะ​-ทัศนศิลป์จากประสบการณ์ที่ผ่านมาโดยสิ้นเชิง

ในโลกของงานศิลปะ​ ตัวผลงานโดยทั่วไปมักจะมี​แนวความคิด​ หรือข้อความที่ต้องการสื่อสารให้ผู้ชม​ได้รับรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศิลปะที่เน้นการใช้ความคิดเพื่อสื่อสารทัศนคติ ความเชื่อ หรือหลักปรัชญาบางประการ ก่อนที่จะออกผลสำเร็จมาเป็นชิ้นงานจริงนั้น​ จำต้องผ่านการร่างแบบ​ คัดสรร​สื่อและวัตถุดิบที่ต้องการ การคำนึงถึงหลักองค์ประกอบศิลป์​ ฯ เพื่อให้สอดรับกับแนวความคิดที่ต้องการสื่อสารออกไป​ ซึ่งในหลายต่อหลาย​ครั้ง ​ท่าทีดังกล่าวมักมีแนวโน้มของการ​ “ยัดเยียดความคิดของผู้สร้างสรรค์แก่ผู้ชมอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก ทั้งนี้​เพื่อให้เกิดการคล้อยตามความคิดของผู้สร้างสรรค์โดยใช้งานศิลปะเป็นสื่อกลางในการรับใช้ concept ที่ต้องการส่งต่ออีกทอดหนึ่ง ผ่านความชำนิชำนาญทางการจัดการเชิงศิลปะ




ในขณะที่เริ่มศึกษาการจัดดอกไม้อิเคบานะ​ มีความเป็นได้อย่างใหม่เกิดขึ้นเป็นหน่ออ่อน​ ๆ ซึ่งเริ่มแตกยอดแทรกผ่านความเข้าใจทางศิลปะแบบเดิมออกมา ทั้งทางด้านรูปแบบการเรียนที่ถือเป็นประสบการณ์อย่างใหม่สำหรับตัวผู้เขียน เพราะเป็นการศึกษาศิลปะแขนงนึงซึ่งจัดอยู่ในหมวด tradition อันมีปูมหลังทางวัฒนธรรมมาอย่างเข้มข้น มีพัฒนาการทางด้านรูปแบบและปรัชญามาอย่างยาวนาน ทว่ายังคงสามารถแสดงสุนทรียะในแนวทางของตนได้อย่างสง่างามและเป็นสากล จุดพลิกผันสำคัญซึ่งถือเป็นกุญแจในการไขสู่ความเข้าใจปรัชญาทางศิลปะประเภทนี้คือ การเปิดนิยามต่อมุมมองของ​ “ความก้าวร้าว” ซึ่งในที่นี้ไม่ใช่การแสดงออกที่ดูรุนแรง​ เช่น​ การใช้กำลัง​ หรือ​ อาการหัวฟัดหัวเหวี่ยง​ เสมอไป​ หากคือแนวทางที่เราตีกรอบความคิด​ วางแผนสิ่งต่าง​ ๆ​ ไว้อย่างชัดเจน​ การตั้งจินตภาพในหัว​เบ็ดเสร็จ การตัดสินล่วงหน้า​ ฯ ซึ่งแง่มุมต่าง ๆ ข้างต้นเหล่านี้คืออะไรที่เราไม่เคยตระหนักเลยด้วยซ้ำว่าคือ “ความก้าวร้าว” นั่นเอง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันต่างแฝงอยู่ในกระบวนการทาง “ศิลปะ”

“เส้นทางคือจุดหมาย”

หน่ออ่อนดังกล่าวได้ถูกบ่มเพาะให้ค่อย ๆ เติบโตขึ้นเรื่อย​ ๆ​ ผ่านการศิลปะการจัดดอกไม้​ โดยมีหลักสำคัญสำหรับการตั้งต้นอยู่ที่​ “วินัย​ 14​ ขั้นตอน” เพื่อผ่านเข้าสู่บานประตูของโลกศิลปะจัดดอกไม้อิเคบานะ (เช่น​ การดูสถานที่​ การยืนภาวนา​ 1​ นาที​ เพื่อปล่อยวางความคิดเกี่ยวกับการจัดดอกไม้​ การพินิจดอกไม้-แจกัน​ ไปจนจบขั้นตอนที่การชื่นชมความงาม)​ การตั้งต้นที่ขั้นตอนทางวินัยดังกล่าวนี้ถือเป็นภูมิปัญญาที่ควรค่าแก่การเคารพ ทั้งนี้เพราะเราต่างก็มีสิ่งที่สั่งสมมาต่างกัน ทั้งทางด้านแบบแผนความคิด ความรู้ ประสบการณ์ และสิ่งละอันพันละน้อยต่าง ๆ ดังนั้น​ หลักคิดของ “วินัย 14 ขั้นตอน” นี้เองจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เราละวางสิ่งต่าง ๆ ดังว่านั้นไว้ในที่ทางของมัน​ ทั้งก่อน-ในขณะ-และหลังการสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อช่วยส่งเสริมการแปรเปลี่ยนแบบแผนของ “ความก้าวร้าว​” สู่ “ความอ่อนโยน​​” เพื่อลด​ ละ​ ความคิดและการคาดเดา​ ประสบการณ์​ต่าง​ ๆ​ ที่เคยมีต่อการจัดดอกไม้​ การมีใจฝักใฝ่เลือกเฉพาะดอกที่เราพึงใจ​ การตัดสินล่วงหน้า ความคาดหวังต่อตัวงาน​ ความกลัวว่าจะทำไม่ได้ดี ฯลฯ​ ทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อให้เราได้เปิดออก​ และสามารถกระทำการโดยสัมพันธ์กับปัจจุบันขณะในแต่ละกระบวนการอย่างเปิดกว้างโดยธรรมชาติในฐานะเส้นทาง​ ซึ่งก็คือจุดหมายในขณะเดียวกัน


ภาพวาดลายเส้นผลงานสาธิตหลักการ​ ฟ้า​ ดิน​ มนุษย์​ ผลงานจัดดอกไม้โดย​ อ.​ ดิเรก​ ชัยชนะ

ฟ้า​-ดิน​-มนุษย์

​เมื่อผ่านการเรียน-สร้างสรรค์ผลงาน​ผ่านพัฒนาการของอิเคบานะในหัวข้อต่าง​ ๆ​ มาพอสมควรแล้ว​ ในที่สุดก็มาถึงปรัชญาการจัดดอกไม้แห่งสำนัก​ Kalapa​ Ikebana​​ ซึ่งมีวิถีทางปรัชญาที่พัฒนาขึ้นมาผ่านสายธรรม​Shambhala​ โดย​ ตรุงปะ​ รินโปเช​ ชัมบาลาคือดินแดนศักดิ์สิทธิ์​ โลกของผู้ตื่นรู้​หรือสังคมอริยะ​ที่ทุกคนต่างดำรงตนอยู่ในสังคมและสัมพันธ์กับโลกแห่งปรากฏการณ์ด้วยพุทธภาวะเดิมแท้ภายใน แนวคิดที่ว่านำมาสู่ปรัชญาทางศิลปะแบบ​ “ธรรมศิลป์”​ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายให้ผู้สร้างสรรค์และผู้ชมเข้าถึงสภาวธรรมได้​ ผ่านการทำงานศิลปะ​และถ่ายทอดสภาวะของ “ความดีงามพื้นฐาน”​ (Basic​ Goodness)​ ซึ่งมีอยู่ในตัวเราทุกคนนั้นออกมา

*​ เรียนรู้แนวคิด “ธรรมศิลป์”​ เพิ่มเติมได้ใน “รู้เห็นเป็นธรรม”​

สำหรับการจัดดอกไม้อิเคบานะของสำนัก​ Kalapa​ นั้น​ มีหลักการสร้างสรรค์ผลงานที่ถูกพัฒนาขึ้นมาใหม่​ คือ​ หลักการ​ “ฟ้า​ ดิน​ มนุษย์”​ โดยสามารถอธิบายคร่าว​ ๆ​ ได้ดังนี้

•ฟ้า​ แทน​ “กิ่งหลัก” (กิ่งแรก) ทำหน้าที่เป็น​ vision ของงาน​ เปิดพื้นที่ว่าง​ (space)​ หรือความเป็นไปได้ต่าง​ ๆ​ ที่จะถือกำเนิดขึ้นในพื้นที่ว่างนับจากนี้ เปรียบได้เป็นเฟรมผ้าใบว่างเปล่า

•ดิน​ แทน​ ​สิ่งแรกที่ผุดขึ้นบนพื้นที่ว่าง มีเซนส์ของความ grouding ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่เชื่อมโยงลงสู่เบื้องล่างของผืนดิน เปรียบได้กับรูปร่างหรือรูปทรงที่ปรากฎบนผืนผ้าใบ

•มนุษย์​ แทน สิ่งที่ตามมาหลังจาก ดิน-ฟ้า ได้ปรากฏขึ้น​ เป็นความรื่นรมย์ของชีวิตที่ผุดขึ้นบนโลกเพื่อเล่นล้อไปกับสองสิ่งแรก​ เป็นแง่มุมของการชื่นชมในความงามและการเชื่อมโยงฟ้ากับดินเข้าสู่กัน ซึ่งในศิลปะอิเคบานะ​ มนุษย์ก็คือ​ ดอกไม้​ นั่นเอง

ภาวนากับร่างกายสู่ผืนดิน (Yin Breathing)



สิ่งหนึ่งที่ประทับใจเป็นพิเศษสำหรับการเข้าร่วมชั้นเรียนนี้​ คือ​ การทำ​ bodywork​ คั่นระหว่างกิจกรรม​ เป็นการภาวนาแบบ Yin-Breathing เพื่อเชื่อมโยงกับ “จุดหยิน” บริเวณท้องน้อย​ โดยเน้นการ​ grouding ลงสู่ผืนดิน​ เป็นคุณลักษณะของพลังงานสตรี​ และมีความเชื่อมต่อกับร่างกายส่วนล่าง​ ไม่เน้นความคิด​ (ซึ่งเป็นส่วนบน)​ จุดหยินนี้มีความสัมพันธ์กับ​ root chakra ซึ่งเชื่อมโยงกับผืนโลก​ ความรู้สึกได้รับการโอบอุ้บและความรู้มั่นคง​ โดยในการภาวนาจะค่อย​ ๆ​ ใช้ลมหายใจแตะสัมผัสกับจุดหยิน​ รับรู้ถึงการมีอยู่ของพลังงานส่วนนี้อย่างละเมียดละไม​ มากขึ้นและมากขึ้น​ แล้วปล่อยให้ร่างกายมี​เซนส์ของการจมลงสู่พื้นดิน​ ลึกขึ้น ลึกขึ้น และลึกขึ้นจนไม่อาจหยั่งประมาณ​ สำรวจลักษณะของ​ Space​ ที่เราเข้าไปสัมพันธ์ด้วย​ รวมทั้งการสำรวจขอบเขตของร่างกายและลองแผ่ขยายขอบเขตนั้นออกมา​ทั้งในแนวดิ่งและแนวราบ​ แล้วพากลับมาสู่ปัจจุบันขณะที่สดใหม่​ คมชัด​ ยิ่งขึ้น

หลังจบเซสชั่นการภาวนา bodywork นี้แล้ว รู้สึกว่าส่งผลเป็นอย่างมากต่อการที่จะปฏิบัติงานสร้างสรรค์ต่อไป​ เพราะเมื่อการจัดดอกไม้นับตั้งแต่ช่วงเช้า​ได้ผ่านไป​ 3-4​ กระถาง​ แบบแผนทางความคิดจะเริ่มแทรกตัวเข้ามาโดยไม่รู้ตัว​ เช่น​ การเริ่มรู้จัก-คุ้นตาดอกไม้และกระถาง​​ การได้เห็นงานตัวเองและเพื่อน ๆ ในชั้นเรียน ความคาดหวัง การวิเคราะห์เปรียบเทียบ ฯ อันนำไปสู่การวางแผน​ สร้างภาพในใจ​ และความคิดเกี่ยวกับความงาม-ไม่งาม ซึ่งจะนำไปสู่การตัดสินล่วงหน้า ณ จุดนี้เองที่แง่มุมของ “ความก้าวร้าว” ได้แทรกซึมเข้ามาโดยไม่รู้ตัว ทว่า Yin-Breathing จะช่วยให้เราตระหนักรู้ในส่วนนั้นได้แล้วปล่อยให้สิ่งเหล่านั้นกระจัดกระจายกลับสู่ที่ทางของมัน



ภาพวาดบันทึกผลงานจัดดอกไม้ของผู้เขียนในห้อง​ Hri : Dakini Space

ดิน-ฟ้า (ธรรมชาติ) ก็มีแปรปรวน

เมื่อเข้าสู่วันที่สองของการเรียน โจทย์ของการสร้างผลงานก็จะเริ่มท้าทายมากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากการทำงานกับดอกไม้และแจกันแล้ว ปัจจัยเรื่องพื้นที่ก็ได้ถูกเสริมเข้ามา เพื่อให้การจัดดอกไม้นั้นมีความเชื่อมโยงกับ space ที่ต้องเข้าไปสัมพันธ์ด้วยโดยใช้ดอกไม้และกระถางเป็นสื่อ จากภาพตัวอย่างผลงานเป็นโจทย์ของการทำงานในวันสุดท้ายและชิ้นสุดท้ายของชั้นเรียน โดยเราจับฉลากได้ห้องโถงกิจกรรม “หรีะ” หรือ Dakini Space ด้วยตัวพื้นที่นั้นกว้างใหญ่และใช้เป็นสถานที่สำหรับการจัดกิจกรรมต่าง ๆ รวมไปถึงงานดนตรี

หลังจากผ่านการจัดดอกไม้มาสองวัน เราพยายามวางความคิดและความคาดหวังลง ซึ่งพอดีจังหวะกับเซสชันการภาวนาแบบ​ Yin Breathing ที่ได้กล่าวถึงข้างต้น​ ​มาคั่นระหว่างกิจกรรมก่อนจะเริ่มงานชิ้นสุดท้ายนี้พอดี​ ดังนั้นการเผชิญความท้าทายใหม่​ ๆ​ ที่ซึ่งความกลัวและความคาดหวังได้เจือจางลง​ก็ดำเนินต่อไป เริ่มจากการเดินสำรวจพื้นที่​-แท่นวาง​ และมาเลือกกระถาง​ โดยใช้กระถางที่ตลอดมาเราหลีกเลี่ยงเสมอ ซึ่งจัดอยู่ในหมวด “กระถางทรงแปลก” และเข้าสู่ความ unknown ของพื้นที่ ตลอดการปฏิบัติงานชิ้นนี้ราว 30-40 นาที ปัญหาต่าง ๆ ก็เริ่มถาโถม แม้จะพอคาดเดาล่วงหน้าไว้บ้างแต่ก็ดูจะเหนือกว่าที่คาด เราเริ่มงานด้วยการใช้กิ่งแห้งแทนฟ้าเพื่อเปิด space ด้านบนให้ดูโปร่งโล่ง ทำงานไปกับหลักการ ฟ้า-ดิน-มนุษย์ ที่เพิ่งได้ร่ำเรียนมา ใช้ดอกและใบที่ไม่คุ้นเคยรวมทั้งสีโทนร้อนของดอกไม้ที่เรามักจะหลีกหนี เวลาผ่านเรื่อยไป เราทำงานกับข้อจำกัดของกระถางและของกิ่ง ใบ ดอก เมื่อเวลาผ่านไปเลยครึ่งทาง อาจารย์ผู้สอนที่เคารพเดินมาดูขณะเราจัดและถามว่า “เราต้องการให้เห็นด้านนี้ใช่ไหม? ด้านนี้เป็นด้านหลังของกระถางนะ” !? ทันใดนั้น แบบแผนทุกอย่างก็พังครืน เราแทบจะต้องรื้อทุกอย่างใหม่หมด สิ่งต่าง ๆ ใด ๆ ที่วาดหวังไว้ต้องมีอันแปรเปลี่ยนไปด้วยเวลาที่ยิ่งกระชั้นเข้ามา

ด้วยสถานการณ์เช่นว่านี้เองทำให้เราไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากทำให้สำเร็จในเวลาที่กำหนด เมื่อแยกส่วนต่าง ๆ ออกจากกันและเรียบเรียงใหม่ เราหยิบ ตัด ปัก ไปอย่างรวดเร็ว จัดวาง ปรับแต่งตามสมควร และปล่อยให้กิ่ง ใบ ดอก สื่อสารออกมาผ่านข้อจำกัดต่าง ๆ ด้วยการหาสมดุลของปัจจัยนานัปการ ณ ขณะนั้น ทั้งของภาพรวมผลงานเมื่ออยู่ในพื้นที่ ของเวลาอันน้อยนิด ของกระถาง (ไม่ให้ล้ม) ของเส้น-สี ของดอก กิ่งและใบ และละความหวังตั้งใจไว้ในที่ทางของมัน น่าแปลกใจ การจัดดอกไม้กระถางนี้ผลลัพย์กลับกลายออกมาในทางที่ดีและน่าประทับใจหลังได้รับ feedback จากอาจารย์และเพื่อน ๆ ดีกว่าหลายกระถางก่อนหน้าที่เราดูจะตั้งใจและมีเวลาให้มากกว่านี้ด้วยซ้ำ การทำงานกับพื้นที่นี้นับเป็นบทเรียนที่เข้มข้นมากสำหรับเราในชั้นเรียนครั้งนี้ ด้วยสถานการณ์ที่สืบเนื่องมาทำให้เราต้อง ละ วาง ปล่อย อย่างแท้จริง สถานการณ์ที่ดำเนินไปมีส่วนทำให้เราต้องสัมพันธ์กับพื้นที่และดอกไม้ด้วยความเป็นไป ณ ขณะนั้นจริง ๆ นั่นอาจเป็นเหตุให้ “ความคิด” เบาบางลงโดยปริยาย เมื่อนั้นพื้นที่ของ “ใจ” (space) ก็ว่างโล่งขึ้น เป็นเหตุให้เราได้สื่อสารกับพืชพันธุ์ด้วยความซื่อตรง แม่นยำ ชัด ลึก ยิ่งขึ้น

กระบวนการระหว่างการปฏิบัติงานอันทุลักทุเลและไม่อาจเดาทางได้นี้ในตัวมันเองก็คงคลับคล้ายการร่ายรำของเหล่าฑากินีบนท้องฟ้า  เมื่อเราสื่อสารกับพื้นที่ผ่านดอกไม้ พื้นที่ก็ดูเหมือนจะสื่อสารกับเราดุจเดียวกัน

เหมือนตอนที่กลับไปถ่ายผลงานชิ้นนี้ กลีบดอกสีส้มในวงรีกลีบหนึ่งก็ร่วงหล่นลงตรงหน้างาน ดังคำทักทายของพื้นที่


ภาพวาดลายเส้นแสดงการเริงรำระหว่าง​ มนุษย์​ พืชพันธุ์​ และพื้นที่ว่าง​ (ฟ้า​ ดิน​ มนุษย์)​

“ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนยอมรับได้ ทั้งใน อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต”

ประโยคหนึ่งของ อ.เชค (ดิเรก ชัยชนะ) ในช่วงท้ายของชั้นเรียนวันที่สอง

ในความเข้าใจของผู้เขียนคือ สภาวการณ์ต่าง ๆ ล้วนเป็นที่ต้อนรับเข้ามาให้เราได้สัมผัส-สัมพันธ์ หากเราสามารถกระทำการไปกับปัจจัยต่าง ๆ ด้วยสภาวะของความเปิดกว้างมากพอ “ความก้าวร้าว” ก็ย่อมแปรเปลี่ยนไปสู่ “ความอ่อนโยน” ได้อย่างเป็นธรรมชาติ แล้วสำนึกของเรากับสำนึกของดอกไม้ก็อาจพบบรรจบกันตรงนั้นเอง

แล้วพบกันอีกใน “ดอกไม้สื่อใจ ขั้น 2”



วัชรสิทธา

สถาบันวัชรสิทธา ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ทดลองทางการศึกษา บนพื้นฐานของการภาวนา การใคร่ครวญด้วยใจ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์อย่างเป็นมนุษย์ระหว่างผู้เรียน

จาก https://www.vajrasiddha.com/article-kongikebana/
40


เวลาอยากเขียน จิตก็ไหล ใจก็พุ่ง กระบี่คำ ปราณอักษรก็ทะยาน จนตามตัวเองไม่ทัน แล้ว จู่ ๆ มันก็อันตรธาน หายวับ ไปกับอะไรก็ไม่รู้ ขณะนี้ เราไม่อยากเขียนซะงั้น เรียกว่า แรงดลใจ ไม่ก็ แล้วแต่อารมณ์ คงใช่ ฝากภาพก่อนนอน ละกัน

<a href="https://www.youtube.com/v//g7eQ2x-Lk94" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v//g7eQ2x-Lk94</a> 

หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 7 8 9 10