https://www.youtube.com/v/uUO0BhxZ69M(จากบางส่วนของคำนิยม โดย พระไพศาล วิสาโล)
ไม่มีสงครามใดที่เกิดขึ้นอย่างสง่างาม แม้จะอ้างอุดมการณ์อันสูงส่ง แต่ความเป็นจริงในสนามรบก็คือ การทำทุกอย่างเพื่อเอาตัวรอด แม้จะต้องฆ่าผู้บริสุทธิ์ก็ตาม เพียงเพราะมีเชื้อชาติ ผิวสี ศาสนา หรือภาษาเดียวกับฝ่ายตรงข้ามก็เป็นเหตุผลสมควรที่จะถูกสังหารแล้ว แต่ไม่เคยมีใครหนีผลแห่งการกระทำของตนพ้น แม้จะรอดชีวิตกลับมาได้อย่างปลอดภัย แต่บาปกรรมที่ทำไว้ตลอดจนความเลวร้ายสยดสยองที่พานพบ ย่อมตามมารบกวนและรังความจิตใจจนหาความสงบสุขมิได้
*สุดทางทุกข์* เป็นเรื่องราวของทหารผ่านศึกชาวอเมริกันที่เข้าสู่สมรภูมิเวียดนามด้วยอารมณ์ที่ฮึกเหิม แต่กลับถึงบ้านด้วยหัวใจที่บอบช้ำเจ็บปวด และต้องทุกข์ทรมานอยู่กับความทรงจำอันเลวร้ายที่ไม่มีวันจางหาย กว่า 20 ปีที่ชีวิตเขาวนเวียนอยู่กับเหล้า ยาเสพติด เซ็กส์ เพื่อหนีจากฝันร้าย แต่กลับลงเอยด้วยความทุกข์ยิ่งกว่าเดิม เข้าออกสถานบำบัดผู้ติดยาและเรือนจำหลายครั้งหลายครา
แต่ชีวิตของเขาพลิกผันเมื่อได้พบธรรมะจากผู้ซึ่งเขาเคยถือว่าเป็น “ศัตรู” คือพระเวียดนาม ท่านติช นัท ฮันห์ และคณะนักบวชหมู่บ้านพลัมได้นำพาให้ คล้อด อันชิน ธอมัส(Claude AnShin Thomas) ค้นพบสัจธรรมว่า ความทุกข์มิใช่สิ่งที่ต้องหนี หากเป็นสิ่งที่ต้องทำความรู้จัก เมื่อรู้จักจนเข้าใจแล้ว เราก็สามารถอยู่กับความทุกข์ได้อย่างสันติ ...
หนังสือเล่มนี้พาผู้อ่านเข้าไปร่วมเดินทางกับคล้อด ธอมัส ในการแสวงหาทางออกจากทุกข์เพื่อเข้าถึงสันติสุข แต่สันติสุขดังกล่าวมิได้จำกัดที่ภาวะภายในจิตใจเท่านั้น หากยังรวมถึงสันติสุขในสังคมด้วย ในทัศนะของเขา สันติสุขทั้งสองมิติไม่อาจแยกจากกันได้ ด้วยเหตุนี้เมื่อเขาหันมาบำเพ็ญชีวิตนักบวชเพื่อแสวงหาสันติสุขภายใน เขาก็ได้รณรงค์ให้เกิดสันติสุขในโลกไปพร้อมๆ กัน โดยมิได้มุ่งการเปลี่ยนแปลงภายในเท่านั้น หากยังพยายามให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมด้วย ...
จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้จึงอยู่ที่การเชื่อมโยงมิติทางจิตวิญญาณเข้ากับมิติทางสังคม และประสานการปฏิบัติธรรมกับการทำงานทางสังคมเข้าด้วยกัน อันเป็นสิ่งที่มักถูกละเลยในหมู่ศาสนิกชนรวมทั้งชาวพุทธส่วนใหญ่ในเวลานี้
เส้นทางชีวิตที่พลิกผันของคล้อด ธอมัส จะว่าไปแล้ว น่าจะเป็นกระจกสะท้อนเส้นทางชีวิตของเราแต่ละคนได้ไม่น้อย แม้จะไม่เคยผ่านสงครามอย่างเขา แต่ดังที่เขาได้กล่าวย้ำ เราแต่ละคนมีสงครามของตนเองที่ยังไม่ยุติ ยังมีบาดแผลที่ไม่ได้รับการเยียวยา ยังมีฝันร้ายที่คอยหลอกหลอน สงครามภายในนี้ไม่มีใครยุติได้นอกจากตัวเราเอง เป็นสงครามที่มิอาจหลบหนีได้ นอกจากเผชิญหน้าอย่างมีสติ หากคุณยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับสงครามภายในนี้ หนังสือเล่มนี้น่าจะช่วยคุณได้
สุดทางทุกข์ At Hell’s Gate: A Soldier’s Journey from War to Peace
คล้อด อันชิน ธอมัส(Claude AnShin Thomas) เขียน
คำนิยมโดย พระไพศาล วิสาโล
รศ.ดร. อมร แสงมณี, อัฐพงศ์ เพลินพฤกษา แปล
สำนักพิมพ์ Oh My God Books
จาก
https://www.facebook.com/174411215968900/photos/a.837255153017833.1073741846.174411215968900/841771385899543/?type=3&theaterสุดทางทุกข์ At HellGate(แนะนำ)เคยคิดว่าเมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้แล้วจะมาเล่าต่อ พอดีเจอบทความที่เขียนเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ที่อ่านดูแล้วน่าสนใจและเป็นประโยชน์ จึงนำเอามาเล่าแทนครับ
คอลัมน์เหะหะพาที โดย “ซูม” หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
ประจำวันที่ 11 ตุลาคม 2551
ชื่อตอน “สุดทางทุกข์”ผมมีความจำเป็นบางประการที่จะต้องส่งต้นฉบับวันนี้ล่วงหน้า จึงไม่สามารถจะรอได้ว่าเหตุการณ์ “ตุลาอาถรรพณ์” ครั้งที่ 3 จะไปจบลงอย่างไร และต้องขออนุญาตเขียนเรื่องแห้งๆ ทิ้งไว้สักเรื่องนะครับ
ท่านผู้อ่านที่ติดตามคอลัมน์ คงจะจำได้ว่าเมื่อฉบับวันเสาร์ที่ผ่านมา...ผมได้เขียนสั้นๆ แนะนำหนังสือเล่มหนึ่งไว้ว่า
“หนังสือเรื่อง “สุดทางทุกข์” (At Hell's gate) โดย คล้อด อันชิน ธอมัส จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์โอ้มายก้อด เป็นหนังสือที่ดีมาก”
ตั้งใจจะเขียนแนะนำเพียงเท่านี้จริงๆ เพราะปกติเวลาเขียนถึงหนังสือหนังหาก็มักจะเขียนสั้นๆ เนื่องจากหน้ากระดาษมีจำกัด แต่หนังสือที่สำนักพิมพ์ต่างๆ ส่งมาให้แนะนำในแต่ละสัปดาห์มีมากเหลือเกิน
พอดีได้จังหวะจะต้องส่งต้นฉบับก่อนกำหนด ก็เลยตัดสินใจหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่านอีกครั้ง
เพราะนึกขึ้นมาได้ว่าเนื้อหาสาระและบทเรียนสำคัญที่หนังสือเล่มนี้ชี้แนะไว้... น่าจะเข้ากับเหตุการณ์บ้านเมืองของเราในปัจจุบันอย่างดียิ่ง
สามารถนำข้อเสนอแนะมาใช้ปฏิบัติเพื่อที่จะฝ่าฟันสถานการณ์ที่ร้อนรุ่ม ทั้งเศรษฐกิจและการเมืองไปได้โดยไม่บอบช้ำมากนัก
หรืออาจจะผ่านไปได้ด้วยดีเลยก็ได้ หากเราสามารถ “ปฏิบัติ” ตามข้อเสนอแนะที่สำคัญที่สุดของหนังสือด้วยความแน่วแน่และมั่นคง
เนื้อเรื่องโดยย่อมีอยู่ว่า คุณ คล้อด อันชิน ธอมัส ชาวอเมริกัน สมัครเป็นทหารเมื่ออายุ 17 ปี เพื่อเข้าสู้รบในสงครามเวียดนาม และรอดตายกลับไปพร้อมกับภาพหฤโหดต่างๆ ที่ติดตามหลอกหลอน นับแต่วันแรกที่เขาคืนสู่สหรัฐฯ บ้านเกิด
เขาต้องหาทางออกด้วยสุรา ยาเสพติด เซ็กซ์ และ ฯลฯ ซึ่งกลายเป็นว่ายิ่งทุกข์มากขึ้นไปอีก
ชีวิตของเขาทำท่าจะหายนะเหมือนทหารผ่านศึกเวียดนามชาวอเมริกันคนอื่นๆ ที่กลับมาบ้าน แล้วประสบความผิดหวังจนต้องฆ่าตัวตายไปกว่า 1 แสนคน
ทั้งๆ ที่ทหารสหรัฐฯเสียชีวิตจริงๆ ในสมรภูมิเพียง 5 หมื่นกว่าคนเท่านั้น...
แสดงว่าสงครามชีวิตของทหารเหล่านี้เมื่อกลับบ้านโหดร้ายเสียยิ่งกว่า
คล้อดยังโชคดีที่วันหนึ่งเขามีโอกาสได้พบกับพระภิกษุเวียดนาม ที่ครั้งหนึ่งเขาเคยถือเป็นศัตรู...ท่าน ติช นัท ฮันท์ แห่งหมู่บ้าน พลัม ที่มหานครปารีส
เขามีโอกาสได้เล่าเรียนธรรมะกับท่านฮันท์ และเข้าไปใช้ชีวิตร่วมกับชาวชุมชนพลัม จนค้นพบสัจธรรมว่า “ความทุกข์ไม่ใช่สิ่งที่จะต้องหนี”
ในทางที่ถูกต้อง เราจะต้องทำความรู้จักกับมัน ทำความเข้าใจมัน เพื่อที่จะอยู่กับมันได้อย่างมีความสุข
เขาเขียนไว้ตอนหนึ่งว่า “การพานพบพระพุทธศาสนาได้ชักนำฉันสู่การใช้ชีวิตอย่างมีสติ...การมีสติช่วยให้ฉันตื่นรู้ และถอยจากวงจรแห่งการทำลายและความทุกข์”
ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจบวชเป็นภิกษุในพุทธศาสนา และสามารถอยู่กับความทุกข์มาได้จนทุกวันนี้
คล้อดเขียนเล่าเรื่องอย่างง่ายๆ และผู้แปล (รศ.ดร.อมร แสงมณี และอัฐพงศ์ เพลินพฤกษา) ก็แปลด้วยภาษาง่ายๆ ทำให้อ่านได้อย่างเพลิดเพลิน แม้ในช่วงที่เกี่ยวกับธรรมะ
วิถีปฏิบัติของท่านติช นัท ฮันท์ เน้นไปที่การฝึกสมาธิและการเจริญ สติโดยจะมีการตีระฆังทุกๆ 15 นาที เพื่อให้ระลึกสติด้วยการพิจารณาลมหายใจเข้าออกของตัวเอง
ในภาคผนวก คล้อดนำวิธีการฝึกสมาธิขั้นต้น ทั้งวิธีนั่ง เดิน ระหว่างทำงาน และระหว่างรับประทานอาหารมาฝากด้วย
ผมอ่านดูแล้วก็คล้ายๆกับวิธีเจริญสติที่สอนกันอยู่ทั่วไปในบ้านเราโดยเฉพาะการกำหนดลมหายใจเพื่อฝึกสมาธิ
สรุป “สติ” ซึ่งเป็นหนึ่งในคำสอนว่าด้วยมรรค 8 อันเป็นหนทางดับทุกข์ของพระพุทธองค์ คือข้อเสนอแนะที่สำคัญยิ่งของหนังสือเล่มนี้
สติ ทำให้เรารู้ตัว ทำให้เรายับยั้งชั่งใจ ทำให้เราใคร่ครวญ ทำให้เราลืมความคิดในทางชั่วร้าย หันมาคิดดีคิดชอบ