วิสุทธิ ๗ ประการ๑. สีลวิสุทธิ ศีลบริสุทธิ์ ได้แก่มีความประพฤติทางกาย ทางวาจา และทางใจ บริสุทธิ์สะอาด ปราศจากโทษน่าติเตียน ตนเองก็ติเตียนตนเองไม่ได้ ผู้รู้ใคร่ครวญแล้วก็ติเตียนไม่ได้ มีความเย็นใจ นึกถึงคราวไรก็เกิดปีติปราโมทย์ ทำให้เกิดความสุขกายสบายใจ และมีความสงบใจใกล้ต่อความเป็นสมาธิยิ่งขึ้น.
๒. จิตตวิสุทธิ จิตบริสุทธิ์ ได้แก่จิตใจเป็นสมาธิขั้นใดขั้นหนึ่ง มีกำลังพอเป็นที่ตั้งแห่งยถาภูตญาณทัสสนะได้ สมาธิที่จัดว่ามีกำลังเพียงพอเพื่อเป็นที่ตั้งแห่งยถาภูตญาณทัสสนะได้นั้นคือฌาน ๔ ซึ่งมีลักษณะจิตใจใสสะอาด มีความรู้สึกเป็นกลางๆ มีสติและความบริสุทธิ์ควบคุมกำกับเป็นจิตใจปราศจากกิเลสเครื่องทำให้หมองมัว มีความนิ่มนวลมั่นคงมีกำลังเพียงพอที่จะพิจารณาสภาวะอันสุขุมได้.
๓. ทิฏฐิวิสุทธิ ทฤษฎีบริสุทธิ์ ได้แก่ปัญญาจักษุมีกำลังสามารถทำลายอัตตานุทิฏฐิเสียได้มีความรู้เห็นเหตุผลว่า นามรูปเป็นสิ่งเกิดจากเหตุปัจจัยจะต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน ตกอยู่ในลักษณะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา ใครจะปรารถนาให้เป็นไปตามใจประสงค์ย่อมไม่ได้ไม่อยู่ในอำนาจและความปรารถนาของใคร ความรู้เห็นตามไตรลักษณ์เช่นนี้เป็นเครื่องชำระความเห็นให้บริสุทธิ์ เป็นยถาภูตญาณทัสสนะขึ้น รู้เห็นชัดว่าร่างกายประกอบด้วยธาตุ ๔ อาศัยสัมภวธาตุของบิดามารดาผสมกัน มีกรรมเป็นผู้ตกแต่งเจริญเติบโตด้วยอาหารมีวิญญาณอยู่ ณภายใน เป็นที่รวมแห่งความรู้สึก ซึ่งสืบต่อไปด้วยอายตนะและผัสสะเสมอ นี้เป็นเริ่มแรกแห่งวิปัสสนาญาณ.
๔. กังขาวิตรณวิสุทธิ ปัญญาบริสุทธิ์สามารถข้ามความสงสัยได้ ได้แก่วิปัสสนาญาณเล็งเห็นเหตุปัจจัยปรุงแต่งนามรูปอันสำเร็จมาเป็นตัวตนในปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นตัวตนแก่นสารของตนจริงๆ เล็งเห็นชัดว่า อวิชชา ตัณหา อุปาทานและกรรมเป็นตัวเหตุแห่งนามรูป เมื่อนามรูปเกิดขึ้นมาแล้วย่อมอาศัยอาหาร อายตนะ และผัสสะเป็นปัจจัยสืบต่อใหเจริญเติบโตและดำรงอยู่สืบไป เมื่อเหตุและปัจจัยแห่งนามรูปยังสืบต่ออยู่เพียงใดนามรูปก็ต้องสืบต่ออยู่เพียงนั้น นามรูปในอดีต ในอนาคต และในปัจจุบัน ย่อมอาศัยเหตุปัจจัยเช่นเดียวกัน แม้ในภพกำเนิดที่ประณีตสักเพียงไร ที่จะพ้นไปจากนามรูปมิได้มี เมื่อมีนามรูปอยู่ย่อมจะประสบความไม่สมหวัง คือ แก่ เจ็บ ตาย ฯลฯ เสมอไป.
๕. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ญาณบริสุทธิ์สามารถรู้จักทางผิดทางถูกได้ คือว่าเมื่อได้รู้เห็นเหตุปัจจัยของนามรูปแจ้งชัดแก่ใจเช่นนั้น จะเกิดอารมณ์วิเศษขึ้นในจิตใจอย่างใดอย่างหนึ่งที่ท่านเรียกว่าวิปัสสนูปกิเลส คือ
(๑) โอภาส ความสว่างแจ่มจ้าในจิตมองเห็นทุกทิศทางเหมือนบรรลุถึงอาสวักขยญาณแล้วฉะนั้น.
(๒) ญาณ ความรู้เฉียบแหลมคมคายกว่าเดิมหลายเท่าพันทวี มีความรู้เห็นเหตุผลทะลุปรุโปร่งไม่มีติดขัด คล้ายอรหัตตมรรคญาณฉะนั้น.
(๓) ปีติ ความอิ่มเอิบชุ่มชื่นกายใจ มีกำลังเหลือประมาณ ทำให้จิตใจมีประกายแวววาวคล้ายพ้นจากอาสวะเด็ดขาดแล้ว.
(๔) ปัสสัทธิ ความสงบ ได้แก่ความเข้าระงับพักอยู่ ไม่เจริญปัญญาต่อไป ติดอยู่ในความสงบนั้นด้วยความสำราญแช่มชื่น ไม่สามารถจะทิ้งความสงบนั้น.
(๕) สุข ความสบายใจ ปลอดโปร่งใจ เป็นไปอย่างประณีตสุขุมและสม่ำเสมอ ประหนึ่งพ้นทุกข์เด็ดขาดแล้ว.
(๖) อธิโมกข์ ตามรูปศัพท์แปลว่า ความพ้นของจิตใจปรากฏเด่นชัดยิ่งนัก คล้ายกับพ้นเด็ดขาดจากกิเลสอาสวะแล้วฉะนั้น แต่โดยความ หมายเอาน้อมใจเชื่อในเรื่องที่ประสบนั้น โดยปราศจากญาณ.
(๗) ปัคคาหะ ความเพียรกล้าหาญเด็ดเดี่ยว ประคองจิตไว้ในระดับสูง ไม่ให้จิตใจตกลงสู่ภวังค์เลยแม้แต่น้อย.
(๘) อุปัฏฐาน สติดำรงมั่นคงแข็งแรงกำกับจิตใจเป็นนิตย์ ไม่มีพลั้งเผลอ คล้ายกับมีสติไพบูลย์แล้วฉะนั้น.
(๙) อุเบกขา ความวางเฉยในอารมณ์ และมีใจเป็นกลางเที่ยงตรงอย่างยิ่ง ประหนึ่งบรรลุภูมิที่มีฉฬังคุเบกขาในอารมณ์.
(๑๐) นิกันติ ความรู้สึกพอใจในความเป็นไปของจิตขณะนั้นอย่างซึ้งๆ รู้สึกหยิ่งในใจนิดๆหรือภูมิใจหน่อยๆ ว่าตนพ้นจากอำนาจของมารแล้ว เมื่อได้ประสบกับภาวะทางจิตใจเช่นนี้แล้วหยั่งทราบว่าเพียงเป็นผลวิปัสสนาญาณขั้นข้ามความสงสัย มิใช่ผลสูงสุดของวิปัสสนาญาณที่แท้จริง จึงมิหยุดยั้งความเพียรเพียงนั้น ประคองจิตใจที่เห็นแจ้งนั้นในทางแห่งวิปัสสนายิ่งขึ้น ไม่ยอมให้เขวไปนอกทางแห่งวิปัสสนา.
๖. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ญาณบริสุทธิ์สามารถรู้เห็นทางดำเนินที่ถูกต้องของจิตใจและดำเนินจิตใจไปตามทางนั้นอย่างถูกต้องด้วย คือรวบรวมความรู้ทางวิปัสสนาให้ปรากฏแจ่มแจ้งแก่ใจทุกๆ ขั้นไปทั้ง ๙ ขั้นอย่างละเอียดลออ ได้ความรู้เห็นแจ่มกระจ่างในทางเหตุผลต้นปลายของสังขารอย่างดี จนมีใจดำรงเป็นกลางเที่ยงตรงอย่างยิ่ง.
๗. ญาณทัสสนวิสุทธิ ญาณทัสสนะบริสุทธิ์ คือเกิดความรู้ ความเห็นอริยสัจธรรมแจ่มแจ้งขึ้นในใจ สามารถทำลายกิเลสออกจากใจได้เด็ดขาด ขาดเป็นขั้นๆ ไปตามกำลังของญาณทัส-สนะนั้นๆ รู้สึกโล่งใจเบาใจยิ่งขึ้นตามลำดับไป และรู้ได้ด้วยว่ากิเลสอะไรถูกกำจัดไปแล้วงอกขึ้นอีกทิพยอำนาจ ๑๕๖ไม่ได้ เพราะมูลรากของมันถูกขจัดแล้วอย่างเด็ดขาด ความรู้ความสามารถขั้นนี้เป็นขั้นสูงและเด็ดขาด มีอำนาจเหนือกิเลสอันเป็นปัจจนึกของตนๆ ความรู้ความสามารถขั้นสูงสุดนั้นทำลายอาสวะได้สิ้นเชิงเด็ดขาด สิ้นชาติสิ้นภพจบกิจพรหมจรรย์ หมดกรณียะที่จำเป็นต้องทำแล้ว ความรู้เห็นเช่นนี้แหละเรียกว่า ญาณทัสสนะบริสุทธิ์ เป็นพระพุทธปรีชาสูงสุดของพระพุทธศาสนา.
ท่านกล่าวว่าวิสุทธิ ๗ ประการนี้ย่อมเป็นปัจจัยส่งต่อผู้ปฏิบัติ ไปสู่ภูมิพ้นทุกข์เด็ดขาดในอวสาน เปรียบเหมือนรถโดยสาร ๗ ระยะ ต่างส่งทอดผู้โดยสารไปสู่ที่สุดของทางฉะนั้น เมื่อจะพูดให้เข้าใจง่ายก็คือ วิสุทธิ ๗ นี้เป็นขั้นของการปฏิบัติ ๗ ขั้น ค่อยๆ สูงขึ้นไปโดยลำดับ ขั้นที่ ๗เป็นขั้นสูงสุดยอดของการปฏิบัติ การปฏิบัติตั้งแต่ขั้นที่ ๓ เป็นต้นมาถึงขั้นที่ ๗ ล้วนเป็นขั้นของการเจริญญาณทัสสนะ เพื่อรู้จริงเห็นแจ้งทำลายรังของกิเลสทั้งสิ้น ท่านเรียกวิธีการปฏิบัตินั้นว่าวิปัสสนาวิธี เมื่อดำเนินไปตามทางของวิปัสสนาถูกต้องจะเกิดปัญญาญาณขึ้นตามลำดับขั้นเรียกว่าวิปัสสนาญาณ มีกำลังพอแก่การประหารอาสวะในขั้นนั้นๆ เรื่อยไป จนถึงขั้นสูงสุดสามารถทำลายอาสวะได้เด็ดขาด มีอำนาจเหนือกิเลสที่ทั้งปวงเรียกว่าอาสวักขยญาณ วิปัสสนาญาณมี ๙ ประการดังต่อไปนี้
วิปัสสนาญาณ ๙ ประการ๑. อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ปรีชาญาณเล็งเห็นนามรูปมีลักษณะเกิดขึ้นเสื่อมไปเสมอๆเหมือนฟองน้ำและพยับแดด ที่ตั้งขึ้นจากเหตุปัจจัยแล้วแตกดับไปฉะนั้น.
๒. ภังคานุปัสสนาญาณ ปรีชาญาณเล็งเห็นนามรูปที่มีลักษณะเคลื่อนไปสลายไป เหมือนกระแสน้ำไหลต่อกันไปเรื่อยๆ ฉะนั้น มองดูความเกิดกับความตายแล้วเห็นเป็นลักษณะเดียวกันคือแปรจากสภาวะอย่างหนึ่งไปสู่สภาวะอีกอย่างหนึ่ง สืบเนื่องกันไปเป็นทอดๆ.
๓. ภยตุปัฏฐานญาณ ปรีชาญาณเล็งเห็นนามรูปเป็นสิ่งน่าสะพรึงกลัว ปรากฏประหนึ่งเสือหรือราชสีห์ เพราะเป็นสิ่งมีภัย ประกอบไปด้วยภัยนานาชนิด เมื่อมีนามรูปขึ้นมาแล้วที่จะหวังปราศจากภัยนั้นเป็นไปไม่ได้ นามรูปจึงเป็นตัวภัยอันน่าหวั่นกลัวที่สุด.
๔. อาทีนวานุปัสสนาญาณ ปรีชาญาณเล็งเห็นนามรูปเต็มไปด้วยโทษที่น่าเบื่อหน่ายที่สุดเป็นที่ประชุมของโรคาพาธนานาชนิด เป็นที่ก่อให้เกิดความคับใจแค้นในนานาประการ น่าระอิดระอาใจ เต็มไปด้วยสิ่งปฏิกูล เป็นสิ่งเปื่อยเน่าผุพัง ส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งอยู่เสมอ ไม่น่าภิรมย์ยินดีประการใด.
๕. นิพพิทานุปัสสนาญาณ ปรีชาเล็งเห็นนามรูปเป็นสิ่งน่าเบื่อหน่ายยิ่งขึ้น จนถึงถอนกามราคะออกจากนามรูปได้ รู้สึกเบื่อรู้สึกหน่ายนามรูปเป็นกำลัง.
๖. มุญจิตุกัมยตาญาณ ปรีชาญาณเล็งเห็นเหตุผลว่า เมื่อไม่มีนามรูป ภัยอันตรายสิ่งน่าเบื่อหน่ายทั้งหลายย่อมไม่มี จึงเกิดความพอใจใคร่จะพ้นไปจากนามรูปนั้น.
๗. ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ ปรีชาญาณเล็งเห็นเหตุผลเป็นเครื่องปลดปล่อยตนจากนามรูปคือเห็นเหตุปัจจัยปรุงแต่งนามรูปแจ่มแจ้งตามความเป็นจริง เมื่อเหตุปัจจัยของนามรูปยังมีอยู่ จะปรารถนาให้นามรูปดับไปย่อมเป็นอฐานะ เมื่อใดกำจัดเหตุปัจจัยของนามรูปได้แล้วเมื่อนั้นนามรูปย่อมดับไป อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม เป็นเหตุแต่งสร้างนามรูปขึ้น อาหารเป็นปัจจัยสืบต่อรูปกายให้เป็นไป อายตนะและผัสสะเป็นปัจจัยสืบต่อนามกายให้เป็นไป เมื่อพิจารณาเห็นเหตุผลเช่นนี้จิตใจย่อมมีกำลังมั่นคง ดำเนินไปในแนวทางเพื่อกำจัดเหตุปัจจัยของนามรูปยิ่งขึ้น.
๘. สังขารุเปกขาญาณ ปรีชาญาณเล็งเห็นเหตุผลว่า นามรูปเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมันและมีธรรมดาที่ต้องเปลี่ยนแปลงไป เป็นสิ่งบีบคั้นและไม่อยู่ในความหวังของใคร จะไปฝ่าฝืนธรรมดาของมันย่อมไม่ควร แล้ววางใจเป็นกลางในนามรูป ไม่ดีใจไม่เสียใจ ในความเปลี่ยนแปลงแปรไปของสังขาร มีญาณรู้เท่าทันเสมอไป.
๙. สัจจานุโลมิกญาณ ปรีชาญาณเล็งเห็นอริยสัจธรรม ๔ ประการ แจ้งชัดตามกำลังของญาณทัสสนะนั้นๆ แล้วกำจัดกิเลสให้ขาดไปตามกำลังของอริยมรรคญาณ ที่เกิดขึ้นถึง ๔ ขั้นตามลำดับกัน ขั้นสุดท้ายสามารถทำลายอาสวะให้ขาดเด็ดไปจากขันธสันดานสิ้นเชิง ผู้บรรลุถึงขั้นสูงสุดนี้เป็นพระอรหันต์ในพระพุทธศาสนา บรรลุถึงยอดของพระพุทธปรีชาคืออาสวักขยญาณ.
อารมณ์ของวิปัสสนาบรรดากิเลสอันเกิดขึ้นครอบงำจิตใจของบุคคลย่อมมีอวิชชาเป็นเหตุ มีอารมณ์เป็นปัจจัยมีที่อาศัยคือสภาวธาตุในภายในร่างกายและจิตใจ เมื่อไม่รู้จริงซึ่งสภาวะธาตุภายในและอารมณ์เพียงใดย่อมเป็นเหตุและเป็นปัจจัยให้เกิดกิเลสเพียงนั้น ฉะนั้น การเจริญวิปัสสนาจึงหมายถึงการพิจารณาสภาวธาตุภายในร่างกายจิตใจและอารมณ์ที่มาสัมปยุต ให้รู้เห็นแจ่มแจ้งตามความเป็นจริง เพื่อทำลายรังของอวิชชา สภาวธาตุและอารมณ์ที่ควรพิจารณานั้น มีดังต่อไปนี้
๑. ขันธ์ ๕ =
(๑) รูปขันธ์ ได้แก่ สิ่งประกอบด้วยธาตุ ๔
(๒) เวทนาขันธ์ ได้แก่ ความรู้รสผัสสะ
(๓) สัญญ่าขันธ์ ได้แก่ ความจำอารมณ์และรสผัสสะ
(๔) สังขารขันธ์ ได้แก่ ความคิดอ่านอารมณ์
(๕) วิญญาณขันธ์ ได้แก่ ความรู้จักอารมณ์
๒. อายตนะ ๑๒ =
(๑) อายตนะภายใน ๖ มีจักขุ เป็นต้น
(๒) อายตนะภายนอก ๖ มีรูป เป็นต้น
๓. ธาตุ ๑๘ =
(๑) จักขุธาตุ ได้แก่ จักขุประสาท มีหน้าที่เห็น
(๒) โสตธาตุ ได้แก่ โสตประสาท มีหน้าที่ฟัง
(๓) ฆานธาตุ ได้แก่ ฆานประสาท มีหน้าที่สูดดม
(๔) ชิวหาธาตุ ได้แก่ ชิวหาประสาท มีหน้าที่ลิ้ม
(๕) กายธาตุ ได้แก่ กายประสาท มีหน้าที่สัมผัส
(๖) มโนธาตุ ได้แก่ ธาตุรู้คือจิตใจ มีหน้าที่รับรู้
(๗) รูปธาตุ ได้แก่ สิ่งที่เป็นรูปร่างทั้งปวง
(๘) สัททธาตุ ได้แก่ สิ่งที่เป็นเสียงทั้งปวง
(๙) คันธธาตุ ได้แก่ สิ่งที่เป็นกลิ่นทั้งปวง
(๑๐) รสธาตุ ได้แก่ สิ่งทั้งปวงที่เป็นรส
(๑๑) โผฏฐัพพธาตุ ได้แก่ สิ่งสัมผัสได้ทั้งปวง
(๑๒) ธัมมธาตุ ได้แก่ สิ่งเกิดกับใจทั้งปวง
(๑๓) จักขุวิญญาณธาตุ ได้แก่ ธาตุรู้อารมณ์ทางจักขุประสาท
(๑๔) โสตวิญญาณธาตุ ได้แก่ ธาตุรู้อารมณ์ทางโสตประสาท
(๑๕) ฆานวิญญาณธาตุ ได้แก่ ธาตุรู้ทางฆานประสาท
(๑๖) ชิวหาวิญญาณธาตุ ได้แก่ ธาตุรู้ทางชิวหาประสาท
(๑๗) กายวิญญาณธาตุ ได้แก่ ธาตุรู้ทางกายประสาท
(๑๘) มโนวิญญาณธาตุ ได้แก่ ธาตุรู้ทางมโน
๔. อินทรีย์ ๒๒ =
หมวดที่ ๑ อินทรีย์ ๖ คือ
(๑) จักขุนทรีย์ ได้แก่ จักขุประสาท มีหน้าที่เห็น
(๒) โสตินทรีย์ ได้แก่ โสตประสาท มีหน้าที่ฟัง
(๓) ฆานินทรีย์ ได้แก่ ฆานประสาท มีหน้าที่สูดดม
(๔) ชิวหินทรีย์ ได้แก่ ชิวหาประสาท มีหน้าที่ลิ้ม
(๕) กายินทรีย์ ได้แก่ กายประสาท มีหน้าที่สัมผัส
(๖) มนินทรีย์ ได้แก่ มโน มีหน้าที่รู้
หมวดที่ ๒ อินทรีย์ ๓ คือ
(๑) อิตถินทรีย์ ได้แก่ ความเป็นสตรี (=อิตถีภาวะ)
(๒) ปุริสินทรีย์ ได้แก่ ความเป็นบุรุษ (=ปุริสภาวะ)
(๓) ชีวิตินทรีย์ ได้แก่ ความมีชีวิต (=ชีวภาวะ)
หมวดที่ ๓ อินทรีย์ ๕ คือ
(๑) สุขินทรีย์ ได้แก่ สภาวะเป็นสุข
(๒) ทุกขินทรีย์ ได้แก่ สภาวะเป็นทุกข์
(๓) โสมนัสสินทรีย์ ได้แก่ สภาวะเป็นความดีใจ
(๔) โทมนัสสินทรีย์ ได้แก่ สภาวะเป็นความเสียใจ
(๕) อุเปกขินทรีย์ ได้แก่ สภาวะเป็นความเฉยๆ
หมวดที่ ๔ อินทรีย์ ๕ คือ
(๑) สัททินทรีย์ ได้แก่ สภาวะเป็นความเชื่อ
(๒) วิริยินทรีย์ ได้แก่ สภาวะเป็นความเพียร
(๓) สตินทรีย์ ได้แก่ สภาวะเป็นความสำนึก
(๔) สมาธินทรีย์ ได้แก่ สภาวะเป็นความมั่นใจ
(๕) ปัญญินทรีย์ ได้แก่ สภาวะเป็นความรู้
หมวดที่ ๕ อินทรีย์ ๓ คือ
(๑) อนัญญัตตัญญัสสามีตินทรีย์ ได้แก่ ความเป็นพระโสดาบัน
(๒) อัญญินทรีย์ ได้แก่ ความเป็นพระอรหันต์
(๓) อัญญาตาวินทรีย์ ได้แก่ ความเป็นพระอริยบุคคลชั้นสกิทาคามิมรรคขึ้นไปจนถึงชั้นพระอรหัตตมรรค
๕. อริยสัจ ๔ =
(๑) ทุกข์ ได้แก่สักกายะอันประกอบด้วยความลำบาก มีอันแปรผันไปตามเหตุปัจจัยของมัน บีบคั้นเผาลนจิตใจ ไม่เป็นไปตามความหวังของใครๆ.
(๒) ทุกขสมุทัย ได้แก่ตัณหา ความทะยานอยาก ซึ่งมีอวิชชาเป็นรากแก้ว เป็นตัวเหตุก่อทุกข์เผาลนใจ เป็นตัวเหตุให้เกิดตาย สืบเนื่องไปในกำเนิดและภพต่างๆ สูงบ้างต่ำบ้าง.
(๓) ทุกขนิโรธ ได้แก่พระนิพพานอันเป็นที่ปราศจากตัณหาพร้อมทั้งอวิชชา เป็นที่ดับสนิทของทุกข์.
(๔) ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ได้แก่ข้อปฏิบัติเป็นกลาง ซึ่งมีสมรรถภาพไปสู่พระนิพพาน เป็นที่ดับทุกข์เด็ดขาด ที่พระบรมศาสดาทรงบัญญัติว่าอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ คือเห็นอริยสัจ ๔ ถูกต้อง สัมมาสังกัปปะ ความคิดชอบ คือมโนสุจริต สัมมาวาจา พูดชอบ คือวจีสุจริต สัมมากัมมันตะ การงานชอบ คือกายสุจริต สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ สัมมาวายามะ เพียรพยายามชอบ คือเพียรละบาปบำเพ็ญบุญ สัมมาสติ สำนึกชอบ คือสติปัฏฐาน ๔ ประการ สัมมาสมาธิ ความสงบใจชอบ คือฌานมาตรฐาน ๔ ประการ
หมวดที่ ๖ ปฏิจจสมุปบาท คือ
(๑) อวิชชา ได้แก่ ความรู้ไม่แจ่มแจ้งตามความเป็นจริง
(๒) สังขาร ได้แก่ ความคิดอ่านปรุงแต่งทางใจ
(๓) วิญญาณ ได้แก่ ธาตุรู้ ซึ่งไปถือปฏิสนธิในรูปธาตุตามความคิด
(๔) นามรูป ได้แก่ ร่างกายคือรูปกายและนามกาย
(๕) สฬายตะ ได้แก่ อายตนะ ๖ มีจักขุประสาทเป็นต้น ซึ่งเกิดมีในรูปกายด้วยอำนาจกุศลากุศลกรรมตามความจำนงของใจ
(๖) ผัสสะ ได้แก่ ความกระเทือนใจต่ออารมณ์
(๗) เวทนา ได้แก่ ความรู้รสผัสสะ
(๘) ตัณหา ได้แก่ ความชอบไม่ชอบรสผัสสะ
(๙) อุปาทาน ได้แก่ ความผูกใจไว้ในสิ่งที่ชอบที่ชัง
(๑๐) ภพ ได้แก่ การก่อเรื่องตามความประสงค์ เป็นรูปเป็นร่างขึ้นในจิตใจ คือโครงสร้างของกรรม
(๑๑) ชาติ ได้แก่ ความปรากฏของเบญจขันธ์
(๑๒) ชรามรณะ ได้แก่ ความแก่ และความตาย ตลอดถึงทุกข์อื่นๆ อันเป็นผลทั้งมวล ซึ่งปรากฏขึ้นแก่สักกายะ คือเบญจขันธ์ เมื่อไม่รู้เท่าก็เป็นปัจจัยแก่สังขารวิญญาณวนไปอีก เกิดเป็นวงกลมขึ้น นี่เป็นฝ่ายสมุทัยวาร ฝ่ายนิโรธวารก็มีการดับสืบเนื่องกันเป็นทอดๆ นับแต่ดับอวิชชาตัวต้นแล้ว ปัจจัยอื่นๆ ก็พลอยดับตามกันไปจนหมด เป็นอันว่ากองทุกข์ทั้งสิ้นได้ดับไป.
วิธีเจริญวิปัสสนาตามที่กล่าวมาแล้วในตอนต้นนี้ เป็นการกล่าวตามหลักปริยัติธรรม เพื่อเป็นแนวทางทำการเจริญวิปัสสนาให้เป็นไปตามลำดับ ทีนี้จะกล่าวโดยทางปฏิบัติจริงๆ สืบไป วิธีเจริญวิปัสสนามี ๒ วิธี คือ
๑. เจริญวิปัสสนาอย่างพิสดารเพื่อญาณทัสสนะ หรือทิพยอำนาจหลายประการตามแต่จะประสงค์.
๒. เจริญวิปัสสนาอย่างลัดตัดตรงไปเพื่ออาสวักขัยโดยส่วนเดียว จะอธิบายวิธีทั้งสองนี้ไว้พอเป็นตัวอย่าง ดังต่อไปนี้
วิธีเจริญวิปัสสนาอย่างพิสดาร ๑ ๑. ประมวลวิธีที่อาจเป็นได้สำหรับผู้มีบารมีใหญ่และอุตสาหะมากเท่านั้น มิใช่วิธีที่จะสาธารณะแก่ผู้บำเพ็ญทุกๆ คนวิธีเจริญวิปัสสนาแบบนี้ ผู้เจริญมุ่งหมายให้มีความรู้ความเห็นแตกฉานหลายด้านหลายมุม หรือมุ่งให้มีทิพยอำนาจหลายประการ เพื่อเป็นเครื่องมือใช้บำเพ็ญประโยชน์ช่วยเหลือผู้อื่น ในเมื่อบรรลุถึงประโยชน์สูงสุดสำหรับตนแล้ว จึงดำเนินการวิปัสสนาอย่างกว้างขวางละเอียดลออเป็นขั้นๆ ไปคือ
(๑) เจริญสมาธิให้ถึงฌานมาตรฐาน คือฌานที่ ๔ เป็นอย่างต่ำ ให้ช่ำชองชำนิชำนาญในฌานอย่างยิ่ง เพื่อเป็นฐานในการเจริญญาณทัสสนะและทิพยอำนาจนั้นๆ อย่างดี.
(๒) เพื่อป้องกันมิให้หลงตนลืมตัวในเมื่อพบเห็นอะไรๆ อันเป็นส่วนภายนอกที่มาปรากฏในมโนทวาร ในขณะเข้าฌานนั้นๆ พึงเจริญอภิภายตนะ ๘ ประการดังกล่าวแล้วในบทว่าด้วยทิพพจักขุญาณ.
(๓) เพื่อป้องกันความเห็นผิด อันเป็นเหตุยึดถือในอัตตา พึงเจริญยถาภูตญาณทัสสนะ ดังนี้ เข้าฌานถึงขั้นที่ ๔ แล้วพิจารณากายอันปรากฏแก่ญาณจักษุในขณะนั้น ให้เห็นตามเป็นจริงว่า เกิดจากสัมภวธาตุของบิดามารดาผสมกัน มีกรรมเป็นเหตุ มีวิญญาณธาตุเข้าถือปฏิสนธิแล้วเจริญเติบโตจนคลอดออกมา อาศัยอาหารหล่อเลี้ยง อาศัยอายตนะและผัสสะปรนปรือจึงดำรงสืบต่อกันไป เป็นสิ่งเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย เป็นของเปื่อยเน่าผุพังไม่จีรังยั่งยืนเป็นทุกข์บีบคั้น ไม่เป็นไปตามความปรารถนาของใครๆ คือตกอยู่ใต้อำนาจของไตรลักษณ์เสมอ เมื่อรู้เห็นอยู่โดยนัยนี้ อัตตานุทิฏฐิก็ไม่มีที่อาศัย ชื่อว่าได้กำจัดทิฏฐาสวะให้ตกไป.
(๔) เจริญทิพยอำนาจประการนั้นๆ ดังกล่าวมาในข้อว่าด้วยการเจริญทิพยอำนาจนั้นๆ แล้วจนได้ความรู้เหตุผลต้นปลายของสิ่งทั้งหลาย และมีทิพยอำนาจตามความประสงค์ มีตนเองเป็นพยานในธรรมนั้นๆ ได้ดี.
(๕) เจริญเพื่อปฏิสัมภิทา ๔ ประการ คือทำการกำหนดพิจารณารู้ความจริงแห่งธรรม อันเป็นไปอยู่ปรากฏอยู่ในภายใน คือ
(๑) ความย่อหย่อนของจิต
(๒) ความสงบอยู่ภายในของจิต
(๓) ความฟุ้งไปภายนอกของจิต
(๔) เวทนาที่เสวยอยู่ กำลังเกิดขั้น ตั้งอยู่ ดับไป
(๕) สัญญาที่กำลังเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
(๖) วิตกที่กำลังเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
(๗) นิมิตคือเครื่องหมายในธรรมทั้งหลาย ได้แก่สบาย ไม่สบาย เลว ประณีต ดำ ขาวพร้อมด้วยส่วนเปรียบของนิมิตนั้นๆ.
ทำการกำหนดรู้ใส่ใจใคร่ครวญ สอบสวนทวนดูจนรู้ทะลุปรุโปร่งแล้วทุกประการ จะเกิดปฏิสัมภิทาญาณ ๔ ประการ คือ
ก. ธัมมปฏิสัมภิทาญาณ รู้แตกฉานในธรรม คือ ตัวเหตุปัจจัยของสิ่งทั้งหลายและหลักธรรมนั้นๆ.
ข. อัตถปฏิสัมภิทาญาณ รู้แตกฉานในอรรถ คือตัวผลของเหตุปัจจัย ได้แก่สิ่งที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยและความหมายที่แน่นอนของหลักธรรมนั้นๆ.
ค. นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ รู้แตกฉานในสภาวะและภาษาที่จะใช้บัญญัติสภาวะนั้นๆ ให้ได้ความแน่ชัดตายตัวลงไป เป็นที่ฟังเข้าใจกันได้ในหมู่ชนชาติภาษาเดียวกัน.
ฆ. ปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณ รู้แตกฉานในการกล่าวธรรมโดยปฏิภาณ คือความผ่องแผ้วของจิตใจ สามารถมองเห็นเหตุผลและความจริงได้ว่องไวทันทีทันใด.
(๖) เจริญเพื่ออาสวักขยญาณ คือเข้าฌานชั้นใดชั้นหนึ่งตั้งแต่ฌานที่ ๑ ถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ ตลอดถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ (ถ้าได้) แล้วพิจารณาสิ่งที่ถึงความเป็นรูป เป็นเวทนาเป็นสังขาร เป็นวิญญาณ ในฌานนั้นๆ ให้เห็นโดยไตรลักษณะอย่างถี่ถ้วน เห็นแล้วเห็นอีก จนจิตวางอุปาทานในสิ่งนั้นๆ ได้ ก็ชื่อว่าบรรลุถึงอาสวักขยญาณ จะรู้ขึ้นในขณะนั้นเองว่าสิ้นชาติ สิ้นภพจบพรหมจรรย์ เสร็จกิจที่ต้องทำอีกแล้ว เฉพาะสมาบัติสองประการ คือเนวสัญญานาสัญญายตนะและสัญญาเวทยิตนิโรธนั้นเป็นสมาบัติประณีตเกินไป จะเจริญวิปัสสนาภายในสมาบัตินั้นไม่ได้ท่านว่าพึงเข้าและออกเสียก่อน ในลำดับที่ออกจากสมาบัตินั้น พึงรีบทำการเจริญวิปัสสนาทันทีโดยยกเอาสัญญาเป็นเครื่องกำหนดนั้นมาเป็นอารมณ์ หรือสิ่งใดๆ มาปรากฏแก่จิตใจในขณะออกจากฌานใหม่ๆ นั้นก็พึงยกเอาสิ่งนั้นๆ มาพิจารณาโดยไตรลักษณ์ให้เห็นชัดแจ้งแล้วๆ เล่าๆ จิตใจก็จะถอนความยึดมั่นในสิ่งทั้งปวงได้.