ผู้เขียน หัวข้อ: เรื่องของการพระศาสนาโดยรวม :พระไพศาล วิสาโล  (อ่าน 1061 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


                 

ถามหาชาวพุทธไทยในกรณีธรรมกาย
: พระไพศาล วิสาโล

ขออภัยหากจะต้องพูดว่าตั้งแต่ระดับมหาเถรสมาคมลงมาถึงชาวพุทธทั่วไป ส่วนใหญ่ดูจะไม่ใส่ใจกับเรื่องนี้เท่าไร ทั้ง ๆ ที่กรณีธรรมกายนั้น ไม่ใช่แค่เรื่องการอ้างอิทธิปาฏิหาริย์เพื่อดึงเงินเข้าวัด หรือทำให้บุญกลายเป็นสินค้าที่วัดกันด้วยจำนวนเงิน หรือการสร้างเจดีย์ที่ใหญ่โตสวนกระแสเศรษฐกิจเท่านั้น ปัญหาที่ร้ายแแรงกว่านั้นก็คือการเผยแพร่คำสอนที่กระทบถึงหัวใจของพุทธศาสนาโดยตรง นั่นคือการอ้างว่านิพพานเป็นอัตตายิ่งกว่านั้นการอ้างเหตุผลเพื่อสนับสนุนทิฏฐิดังกล่าว ก็ทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาอีก เพราะมีการอ้างต่อไปว่าพระไตรปิฎกเถรวาทนั้นเชื่อถือไม่ได้บ้าง การทำให้ผู้คนเข้าใจพุทธพจน์ผิด ๆ ว่าทรงยืนยันเรื่องอัตตาบ้างทั้งหมดนี้มีผลกระทบโดยตรงต่อพระธรรมวินัย พุทธศาสนาแบบเถรวาทนั้นอยู่ได้เพราะการรักษาพระธรรมวินัยไว้ได้ ไม่มีวิธีใดที่จะรักษาพุทธศาสนาได้ดีไปกว่าการรักษาพระธรรมวินัย ถ้าปล่อยให้พระธรรมวินัยถูกปรับเปลี่ยนถึงเพียงนี้ พุทธศาสนาที่บรรพชนสืบทอดกันมา ย่อมจะดำรงอยู่ไม่ได้

ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องใหญ่ถึงขั้น"จาบจ้วงพระธรรมวินัย"หรือ"ทำพระธรรมวินัยให้วิปริต" ดังคำของพระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตโต) แต่ไม่ปรากฏว่ามีท่าทีที่เด่นชัดจากมหาเถรสมาคม นอกจากการยืนยันมติเดิมเมื่อปีที่แล้วคือให้พระพรหมโมลี(เจ้าคณะภาค ๑)ไปวินิจฉัย อันที่จริงหากมหาเถรสมาคมมีความใส่ใจจริงจัง ย่อมเข้าไปดูแลและจัดการเรื่องนี้ตั้งแต่แรกด้วยความริเริ่มของตนเอง แทนที่จะปล่อยให้เรื่องลุกลามและเป็นข่าวตามสื่อมวลชนเป็นเดือน ๆ จนประชาชนเป็นฝ่ายเรียกร้องให้มหาเถรสมาคมเข้ามาจัดการ

ที่แล้วมาการผลักดันให้มีการดำเนินการกรณีธรรมกายเป็นความพยายามในระดับบุคคล (ถ้าไม่นับหนังสือพิมพ์) แต่ความเคลื่อนไหวของสถาบันทางพุทธศาสนา มีให้เห็นน้อยมาก ความข้อนี้รวมถึงมหาวิทยาลัยสงฆ์ด้วย ทั้ง ๆ ที่เป็นสถาบันทางวิชาการ อันเปรียบเหมือนหัวสมองของวงการชาวพุทธไทย แต่กลับสงวนท่าที แทนที่จะออกมาชี้ว่าพฤติกรรมของวัดพระธรรมกายตามที่กล่าวหาและวิพากษ์วิจารณ์กันนั้น อะไรบ้างที่ถูก อะไรบ้างที่ผิดตามหลักการพุทธศาสนา ทั้งนี้เพื่อสร้างความกระจ่างให้แก่ผู้คน และเป็นการเสริมสร้างภูมิปัญญาและสัมมาทิฏฐิแก่ชาวพุทธ อาจเป็นไปได้ว่ามหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองรอดูท่าทีจากมหาเถรสมาคม ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง อิสรภาพและความเป็นตัวของตัวเองในทางวิชาการก็ยังเป็นปัญหาของมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่รอการแก้ไข

เป็นไปได้ว่าที่หลายคนนิ่งเฉยเพราะเห็นว่ากรณีธรรมกายเป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าตนจะทำอะไรได้ พระสังฆาธิการบางท่านเปรียบเปรยว่าเหมือนกับ"หมาเห่าช้าง" อีกหลายท่านคงเกรงว่าจะเปลืองตัวเพราะเป็นที่รู้กันว่าใครที่เป็นแกนนำในการวิจารณ์ธรรมกาย มักจะถูกตอบโต้ด้วยวิธีการต่าง ๆ นานา ซึ่งมักจะเป็นวิธีการ"ใต้ดิน" เช่น ถูกโจมตีด้วยสมุดปกดำ ด่าเสีย ๆ หาย ๆ ทางโทรสาร ถูกบีบจนหาวัดอยู่ไม่ได้ รวมทั้งปล่อยข่าวลือทางอินเตอร์เน็ต แม้แต่บุคคลนิรนามที่อาศัยอินเตอร์เน็ตเป็นสื่อเผยแพร่กรณีธรรมกายของพระธรรมปิฎกก็ยังถูกอีกฝ่ายส่ง"แฮ็คเกอร์"ไปทำลาย"เมล์บ็อกซ์"จนได้ (การตอบโต้ทางอินเตอร์เน็ตกรณีธรรมกายนั้นดุเดือดรุนแรงยิ่งกว่าที่ปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์มากนัก)

ถ้านิ่งเฉยเพราะกลัวก็แสดงว่าทุกวันนี้ชาวพุทธไทยไม่ได้ถือธรรมเป็นใหญ่แล้ว แทนที่จะถือธรรมาธิปไตยเราพากันนับถืออัตตาธิปไตย และโลกาธิปไตยกันเป็นแถว ๆ ถ้าไม่กลัวว่าตนเองจะเดือดร้อน ก็หวั่นว่าจะเสียผลประโยชน์ หาไม่ก็กลัวว่าจะถูกคนอื่นค่อนแคะด่าว่า ถ้าหากว่าชาวพุทธไทยตั้งแต่มหาเถรสมาคมลงมาถือธรรมาธิปไตยแล้ว แวดวงเครือข่ายธรรมกายคงไม่กลายเป็น"ช้าง" และทำให้ชาวพุทธสำคัญตนว่าเป็น"สุนัข"ดอก

แต่จริงหรือที่เครือข่ายธรรมกายเป็น"ช้าง" และชาวพุทธทั่วไปเป็นแค่"สุนัข" ความจริงนั้นตรงกันข้ามชาวพุทธซึ่งมีอยู่ทั้งประเทศจะเป็น"สุนัข"ไปได้อย่างไร ในเมื่อเครือข่ายธรรมกายเป็นแค่ชนส่วนน้อย เป็นไปได้ว่าเรากำลังถูกล้างสมอง ไม่ต่างจากที่คนอินเดียสมัยหนึ่งเคยคิดว่าเจ้าอาณานิคมคืออังกฤษนั้นทรงพลังมหาศาล ทั้ง ๆ ที่อังกฤษมีทหารไม่กี่หมื่นคน ขณะที่อินเดียมีประชากรหลายร้อยล้านคน

มองในแง่ดีคือชาวพุทธจำนวนมากอาจจะห่วงใยในเรื่องนี้อยู่ แต่ที่นิ่งเฉยเพราะถือว่าเป็นเรื่องของมหาเถรสมาคมและกรมการศาสนา หาไม่ก็เพราะไม่รู้ว่าจะทำอะไรดี ถ้าหากเป็นเพราะเหตุผลข้อแรก ก็ขอตอบว่าหากชาวพุทธพากันนิ่งเฉยเสียแล้ว เห็นจะไม่มีอะไรเป็นมรรคเป็นผลออกมาจากมหาเถรสมาคม(ส่วนกรมการศาสนานั้นไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในเรื่องนี้) ทางเดียวเท่านั้นที่จะให้มหาเถรสมาคมใส่ใจในเรื่องนี้จริงจังก็คือ ชาวพุทธต้องออกมาเรียกร้องอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะผ่านทางหน้าหนังสือพิมพ์ หรือสื่อถึงกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตรง จะโดยทางจดหมายหรือสนทนากับท่านโดยตรง ก็ล้วนมีประโยชน์ทั้งสิ้น และถ้าจะให้ดีควรชักชวนมิตรสหายให้ช่วยกันคนละไม้ละมือด้วย โดยเข้าใจในประเด็นปัญหาอย่างถ่องแท้ มิใช่ว่ากันไปตามกระแสหรือใช้อารมณ์เป็นใหญ่

แม้แต่การแสดงความห่วงใยผ่านพระสงฆ์ในวัดใกล้บ้านก็มีประโยชน์ ท่านเหล่านั้นควรที่จะรู้ว่าญาติโยมมีความรู้สึกอย่างไรต่อเรื่องนี้ และท่านเองควรขวนขวายใส่ใจในเรื่องนี้ ถือว่าเป็นการพระศาสนาที่ท่านต้องเอาเป็นธุระ พระสงฆ์ระดับธรรมดาสามัญก็สามารถช่วยเหลือในเรื่องนี้ได้ ด้วยการบอกกล่าวให้พระสังฆาธิการระดับสูงขึ้นไป รับทราบถึงความคิดเห็นของญาติโยมในกรณีดังกล่าว
ถ้ามีการสื่อหรือบอกกล่าวให้พระสังฆาธิการระดับสูงรับรู้เรื่องนี้เป็นลำดับไปจนถึงเจ้าคณะภาค เจ้าคณะหน และถึงมหาเถรสมาคมในที่สุด ท่านก็จะรับทราบว่าชาวพุทธทั่วทั้งประเทศกำลังปริวิตกเรื่องธรรมกาย กรณีธรรมกายมิใช่เป็นความขัดแย้งระหว่างสำนักนี้กับหนังสือพิมพ์บางฉบับ หรือกับพระธรรมปิฎก หรือกับเสฐียรพงษ์ วรรณปก แต่เป็นเรื่องระหว่างสำนักนี้กับชาวพุทธทั้งประเทศ เป็นเรื่องของการพระศาสนาโดยรวม ที่ไม่สมควรผัดผ่อนทอดธุระเลย

กรณีธรรมกายเป็นเครื่องวัดความเป็นชาวพุทธของคนไทยได้เป็นอย่างดี ถ้ากรณีนี้ในที่สุดบ่งชี้ว่าชาวพุทธไทยยังถือธรรมเป็นใหญ่และใส่ใจในกิจส่วนรวม ผลดีย่อมบังเกิดแก่พระศาสนา แต่ถ้าบ่งบอกในทางตรงข้าม อนาคตของพระศาสนาจะน่าเป็นห่วงเพียงใด และสมควรหรือไม่ที่เราจะยังคงชื่นชมภาคภูมิใจกับความเป็นชาวพุทธของตนอยู่อีก


                       -http://www.facebook.com/goiPapawi