ผู้เขียน หัวข้อ: “รู้สติ” วิถีแห่งความสุขในสังคมที่คิดต่าง ตามแนวทางของพระไพศาล วิสาโล  (อ่าน 1100 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานไตรสรณะสุจิปุลิ
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


“รู้สติ” วิถีแห่งความสุขในสังคมที่คิดต่าง ตามแนวทางของพระไพศาล วิสาโล

นิตยสารหญิงไทย ฉบับที่ ๘๓๓ ปีที่๓๕
คอลัมน์นัดพบ ปักษ์หลังมิถุนายน ๒๕๕๓

ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง เราไม่อยากเห็นความรุนแรงเกิดขึ้นไม่ว่าคุณจะอยู่ฝ่ายใดก็ตาม “ความคิดต่าง” คือมูลเหตุแห่งความขัดแย้ง บ้านหลังใหญ่ของ ‘พ่อ’ รังอุ่นที่สู้อุตส่าห์อาบเหงื่อต่างน้ำสร้างมาด้วยความยากลำบาก เริ่มคลอนแคลน ทำให้บรรยากาศความเป็นอยู่ภายใน “บ้าน” สับสนอลหม่าน ส่อแววถึงความไม่ปกติ ชายคาแห่งความอบอุ่นดูจะไม่เพียงพอที่จะยื่นล้ำนำพาความสันติปรองดองไปสู่ลูกๆ ซึ่งบัดนี้เลือกข้าง เพราะถูกอำนาจแห่งความเกลียดชังเข้าครอบงำ

“ ความสุข” จึงค่อยๆ ถอยห่างออกไปจากสังคมไทย ความวิตกกังวล หวาดกลัว ความโกรธ กัดกร่อนคำว่า “ สันติวิธี” จนแทบไม่เหลือรูปรอย ถึงวันนี้ไม่ว่าสถานการณ์จะลุกลามบานปลายไปเพียงใดก็ตาม ข้อธรรมของ พระไพศาล วิสาโล แห่งวัดป่าสุคะโต จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งท่านจะบรรยายให้ฟังต่อไปนี้ก็น่าที่จะรั้งสติของพุทธศาสนิกชนผู้รักสงบให้รู้สึกสร่างโศกและผ่อนคลายลงได้บ้าง การรุ่มร้อนไปตามกระแสไม่เกิดประโยชน์รังแต่จะสร้างความทุกข์ ซึ่งถือว่าเป็นศัตรูตัวร้ายที่คอยประหัตประหารตัวเราเองให้ย่อยยับลง

- ในสถานการณ์บ้านเมืองเช่นปัจจุบันคนเราจะใช้ชีวิตอย่างไรให้มีความสุขคะ


ตามหลักพระพุทธศาสนาคนเราจะมีความสุขได้อยู่ที่ ” ใจ “ อากาศ สิ่งแวดล้อม หรือแม้กระทั่งสุขภาพก็มีส่วน แต่ไม่ใช่เรื่องหลัก เพราะว่าคนที่เจ็บป่วยเขาก็มีความสุขได้ อาตมาเองรู้จักผู้ที่เจ็บป่วยหลายคน บางคนบอกว่าโชคดีที่เป็นมะเร็ง เพราะมะเร็งทำให้เขาเห็นคุณค่าของชีวิต รู้จักและเข้าถึงธรรมะ ถ้าไม่ป่วยเขาก็ยังคงใช้ชีวิตแบบปล่อยปละละเลย ขาดการเรียนรู้ อยู่อย่างประมาท

มีนักศึกษาคนหนึ่งเป็นลิวคีเมีย (มะเร็งเม็ดเลือดขาว) หลังจากที่ป่วยด้วยโรคนี้แกบอกว่าโรคมะเร็งได้นำพาสิ่งดี ๆ เข้ามาในชีวิตของแกมากมาย เพราะทำให้ได้รู้จักกับพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง

ได้เห็นความรักที่บริสุทธิ์แท้จริงจากพ่อแม่ ทำให้มีเวลาอ่านหนังสือ และมีเวลาหยุดคิด แกบอกว่า
หากไม่มีโรคมะเร็งเข้ามาในชีวิตนั้น ผมจะเป็นเพียงแค่เด็กผู้ชายอายุ ๒๑ ปีที่ใช้ชีวิตที่หอพัก ตื่นเวลาบ่ายสามโมง รอเวลากินเหล้ากับเพื่อน หลับ และตื่นขึ้นมาใหม่ ใช้ชีวิตอย่างไม่นึกถึงคนอื่น ไม่มองคนรอบข้าง ใช้ชีวิตอย่างประมาท และไม่รู้จักระวัง

อาตมาเคยพาอาสาสมัครไปเยี่ยมผู้ป่วยระยะสุดท้าย มีคนหนึ่งได้พบเด็กหญิงอายุ ๑๔ เป็นมะเร็งสมอง หน้าตาแกสดใสมาก แต่ศีรษะไม่มีผมแล้วเพราะถูกฉายแสง คุยไปคุยมาแกก็บอกว่าโชคดีนะที่ไม่ได้ป่วยเป็นมะเร็งในมดลูก มีญาติคนหนึ่งป่วยด้วยโรคนี้ เจ็บปวดทรมานอย่างมาก แกว่าแกโชคดีที่เป็นแค่มะเร็งสมอง แกไม่มีท่าทางทุกข์ร้อนเลย เห็นไหมว่าทุกสิ่งทุกอย่างจึงอยู่ที่มุมมอง

มีอีกตัวอย่างหนึ่ง ผู้หญิงคนนี้ป่วยเป็นธาลัสซีเมียตั้งแต่เกิด หมอวินิจฉัยว่าน่าจะมีอายุอยู่ได้ไม่เกิน 20 ปี แต่ตอนที่ให้สัมภาษณ์อายุเกือบ 30 ปีแล้ว ผู้ป่วยคนนี้ให้แง่คิดที่ดีว่า ถึงแม้ว่าเลือดเธอจะจาง แต่เธอก็ยังมีตาเอาไว้มองสิ่งสวยงาม ยังมีจมูกไว้ดมกลิ่นหอม ยังมีปากไว้กินอาหารอร่อยๆได้ แล้วยังมีร่างกายที่ทำอะไรได้อีกหลายอย่าง แค่นี้ก็เพียงพอแล้วที่เธอจะมีความสุข

“ความสุข” จึงเป็นเรื่องของใจและมุมมอง ตราบใดที่เรายังมองไม่เป็น ก็จะไม่เห็นความสุข อาตมาอยากจะบอกว่าความสุขนั้นอยู่กับเราตลอดเวลา แต่เรามองไม่เห็นเพราะชอบมองและจดจ่อกับสิ่งที่เรายังไม่มี หรือสิ่งที่เราเคยมีแต่เสียไป

- พระอาจารย์คะนอกจากไม่มองไม่เห็นความสุขแล้วคนเรายังทุกข์กับเรื่องใดบ้าง

คนเรามักจะมีความทุกข์อยู่กับ 2 เรื่อง 1) ทุกข์เพราะอยากได้สิ่งที่ไม่มี 2)ทุกข์เพราะอาลัยในสิ่งที่เคยมีแล้วเสียไป แต่ถ้าเราหันมาใส่ใจกับสิ่งที่เรามี เราก็จะพบว่าความสุขนั้นอยู่กับเราแล้ว อย่างผู้หญิงคนที่เป็นธาลัสซีเมีย เธอมองเห็นว่าตัวเองยังมีสิ่งดี ๆ อยู่ในตัวมากมาย มีอวัยวะครบพอที่จะรับรสแห่งความสุขได้อย่างครบถ้วน เธอจึงมีความสุข ไม่มัวเป็นทุกข์กับโรคภัยไข้เจ็บ ขณะเดียวกันเธอก็ไม่มัวสนใจความสุขที่เธอไม่มี เมื่อไหร่ก็ตามที่เราหันมาชื่นชมและเห็นคุณค่าของสิ่งที่เรามีเราก็จะมีความสุข แต่ถ้าเราไปสนใจสิ่งที่เรายังไม่มี เราจะทุกข์ทันที

คนที่ยังมีพ่อมีแม่ ยังมีลูกหลาน ยังมีสุขภาพดี ยังไปไหนมาไหนได้ คุณเคยรู้สึกไหมว่านี้แหละคือความสุขอย่างหนึ่ง คุณเคยรู้สึกไหมว่าตัวเองมีโชคที่ยังมีมือและเท้าเหมือนคนอื่นเขา ผู้คนไม่ค่อยตระหนักว่าการที่เรามีมือสองมือ มีเท้าสองเท้า เป็นความสุข แต่เราจะเริ่มรู้สึกก็ต่อเมื่อเราเสียมือเสียขาไป ถึงตอนนั้นเราจึงตระหนักว่าสองสิ่งนี้มีค่า และตอนที่เรามีสองสิ่งนี้เราก็มีความสุขแล้ว เราไม่เคยรู้สึกว่าการที่เราเดินไปไหนมาไหนได้นั้นเป็นความสุขอย่างหนึ่ง แต่พอเดินไม่ได้จะรู้เลยว่าตอนที่เราเดินเหินได้นั้นเป็นความสุขมาก ๆ

ตอนที่เรายังมีพ่อแม่อยู่กับเรา เราไม่เคยตระหนักเลยว่าเรามีความสุข ต่อเมื่อสูญเสียท่านไปจึงหวนระลึกได้ว่าตอนที่ท่านยังอยู่กับเรานั้นเป็นช่วงเวลาที่เรามีความสุขมาก ถึงตอนนี้เราจะอิจฉาคนที่ยังมีบุพการีอยู่ครบ อาตมาถึงได้บอกว่าความสุขมีอยู่กับเราแล้วเพียงแต่ว่าเรามองไม่เห็นเอง

ถ้าเรามัวใส่ใจกับสิ่งที่เรายังไม่มี จะไม่มีประโยชน์เลยเพราะมันเป็นเรื่องของอนาคต ถ้าเรามัวเสียใจกับสิ่งที่เราเคยมีแต่เสียไป สูญไป อันนั้นเรียกว่ายังหมกมุ่นอยู่กับอดีตซึ่งก็เป็นเรื่องที่ไร้ประโยชน์เช่นกัน เพราะแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว แต่ถ้าเราหันมาใส่ใจปัจจุบัน ชื่นชมปัจจุบัน เห็นคุณค่าของสิ่งทีเรามี เช่น สุขภาพ ร่างกายที่เป็นปกติ เราจะมีความสุข

พูดอย่างนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าถ้าหากเราต้องสูญเสียอวัยวะบางส่วนไปเราจะทุกข์ มันไม่แน่เสมอไป ทั้งนี้เพราะว่าเราก็ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่จะให้ความสุขกับเราได้ แม้ว่าเราจะไม่มีแขนไม่มีขาก็ตาม มีชายชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งชื่อ โอโตทาเกะ แกเขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่งชื่อว่า “ ไม่ครบ 5 “ ไม่ครบ 5 ในที่นี้คือ ไม่มีแขน ไม่ขา เมื่อเกิดมามีแต่ตัวกับหัว หนังสือเล่มนี้ขายดีมากในประเทศญี่ปุ่น มีคนแปลเป็นภาษาไทยแล้ว มีตอนหนึ่งเขาเขียนว่า “ ถึงแม้ว่าผมจะเกิดมาพิการ แต่ผมก็มีความสุขและสนุกทุกวัน” เขาสามารถทำทุกอย่างได้ด้วยตนเอง กินข้าว แต่งตัว เขียนหนังสือ และสามารถเล่นบาสเกตบอลได้ด้วย เพราะทั้งหลายทั้งมวลมันอยู่ที่ใจ แต่เป็นเพราะเราไม่เปิดใจยอมรับมากกว่า เราจึงเป็นทุกข์ นี่คือสิ่งที่อาตมาอยากจะเน้น

แม้เราจะอยู่ท่ามกลางอากาศร้อนเราก็ยังมีความสุขได้ มีคนหนึ่งเขาเล่าว่า วันหนึ่งอากาศร้อนมาก เขาจึงนั่งพักผ่อนในห้องแอร์ ขนาดอยู่ในห้องแอร์ก็ยังรู้สึกอ้าว ตอนบ่าย เขาได้ยินเสียงบุรุษไปรษณีย์ตะโกนเรียกที่หน้าบ้าน เขารู้สึกหงุดหงิดมากเพราะไม่อยากออกไปรับจดหมาย เนื่องจากอากาศข้างนอกร้อนมาก แต่บุรุษไปรษณีย์ก็ยังคงรออยู่ที่หน้าบ้าน ไม่ได้รอเฉย ๆ แต่ร้องเพลงไปเรื่อยๆ เพราะเขารู้ว่าในบ้านมีคนอยู่ ในที่สุดเจ้าของบ้านก็ต้องออกมารับจดหมายด้วยสีหน้าที่ไม่พอใจ บุรุษไปรษณีย์ยื่นจดหมายให้อย่างอารมณ์ดี เจ้าของบ้านถามไปว่าอากาศร้อนอย่างนี้ยังมีอารมณ์ร้องเพลงอีกหรือ? บุรุษไปรษณีย์ตอบว่าอย่างไร เขาตอบว่า ถ้าโลกร้อน แต่ใจเราเย็น มันก็เย็นครับ ร้องเพลงเป็นความสุขของผมอย่างหนึ่ง ส่งไปร้องไป

เห็นไหม อากาศร้อนก็จริงแต่ถ้าใจเราเย็น เราก็รู้สึกเย็น อากาศแม้รุ่มร้อนแต่ใจเย็น ก็เป็นสุขได้ การเมืองแม้มันจะรุ่มร้อน แต่ใจก็มีความสุขได้

- พระอาจารย์มีแนวทางที่จะช่วยให้คนเราเปิดรับความสุข มองให้เห็นถึงความสุขบ้างมั้ยคะ

ในเมื่อเห็นแล้วว่าเราทุกข์เพราะความคิด ดังนั้นเมื่อใดที่เผลอคิดไปในทางที่จะทำให้ทุกข์ ก็ต้องรู้ทันความคิด คนเราจะรู้ทันความคิดได้ก็ต้องมี”สติ” สติ ในที่นี้หมายถึงการไม่ลืมตัว คนเราทุกข์เพราะลืมตัว เคยสังเกตไหมว่าเวลาที่เราคิดถึงคนที่เราไม่ชอบ คนที่ทำให้เราโกรธ เราทุกข์ใช่ไห เคยถามตัวเองไหมว่าทำไมเราชอบคิดถึงเขา ทั้ง ๆ ที่คิดแล้วก็ทุกข์ นั่นก็เพราะเราลืมตัว ไม่มีสติ

หลายคนเล่าว่าเวลาดูข่าวทีวี อ่านหนังสือพิมพ์แล้วเครียด แต่ก็ยังอยากดู ไม่ยอมเลิก อาตมามีญาติคนหนึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน เมื่อปีที่แล้วก็มีการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่หน้าทำเนียบรัฐบาล พี่สาวชอบเสื้อเหลือง แต่น้องสาวชอบเสื้อแดง ฝ่ายพี่สาวพอไปเห็นน้องสาวดูข่าวการชุมนุมของคนเสื้อแดง พี่สาวก็พูดกับน้องด้วยความไม่พอใจว่า “ ดูไปทำไมไอ้พวกเสื้อแดง” ความที่ไม่อยากมีเรื่องน้องสาวก็เลยปิดทีวี แล้วก็เดินออกนอกห้องไป 1 ชั่วโมงผ่านไปน้องสาวเดินกลับมาที่ห้องเดิม พบว่าพี่สาวนั่งดูข่าวคนเสื้อแดงแทน ไม่ได้ดูเฉย ๆ ดูไปด่าไปด้วย เห็นได้ชัดเลยว่าพี่สาวไม่มีความสุขที่ดูข่าว แต่ทำไมไม่เลิกดู พี่สาวไม่อยากให้น้องสาวดู แต่กลับดูเอง ก็เพราะว่าเวลาเราเกลียดโกรธหรือไม่ชอบอะไรก็ตาม ใจเราจะปักอยู่กับสิ่งนั้น จะทำอะไรก็ตาม จะกิน จะนอนก็อดคิดถึงสิ่งนั้นไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่คิดแล้วก็ทุกข์ แต่ก็ยังคิด นี่เพราะไม่มีสติ

อาตมาเพิ่งกลับจากภูฏาน ที่นั่นมีเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งซึ่งคนนิยมมาก เป็นเรื่องของนักบวชรูปหนึ่งซึ่งชอบทำอะไรแปลกๆ แม้กระทั่งวิธีการสอนก็ไม่เหมือนใคร ท่านชอบออกธุดงค์ วันหนึ่งในค้างแรมในถ้ำ ท่านรู้ว่าแถวนั้นมีแก๊งโจร ที่ชอบปล้นสะดมผู้คนที่สัญจรผ่านไปมา แล้วท่านก็รู้ด้วยว่าประเดี๋ยวคงจะถูกโจรปล้นทรัพย์ ท่านจึงออกอุบายสั่งสอนโจร ด้วยการเอาเงินเทออกจากถุงหนัง แล้วก็ถ่ายอุจจาระลงไปในถุงนั้นก่อนที่จะวางไว้ข้างตัว ตกดึกโจรก็มาปล้นทรัพย์ของท่าน พอเห็นถุงเงินโจรก็เปิดถุงแล้วเอามือล้วงเข้าไป พอมือแตะถูกอุจจาระ ก็ร้องขึ้นด้วยเสียงอันดังว่า “โอ้ย ขี้” ว่าแล้วก็สะบัดมืออย่างแรงเพื่อให้อุจจาระหลุด มือเลยสะบัดถูกก้อนหินที่พื้นถ้ำ รู้สึกปวดเป็นกำลัง จึงเอานิ้วใส่ปากเพื่อจะดูดให้คลายปวด ผลก็คือดูดอุจจาระของท่านเข้าไปเต็มที่ นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าเมื่อไหร่ที่เราลืมตัวเราก็ทำได้ทุกอย่างแม้กระทั่งดูดอุจจาระของผู้อื่น

คนเรานั้นลืมตัวได้เพราะหลายสาเหตุ เช่น ลืมตัวเพราะโกรธ ลืมตัวเพราะตกใจ การลืมตัวเป็นสาเหตุของการทำร้ายตัวเองอย่างหนึ่ง หรือแม้กระทั่งทำสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัยแก่ตัวเองได้ อาตมาจึงเน้นย้ำว่าถ้าไม่อยากลืมตัวต้องมีสติ ถ้าเราป่วยเป็นมะเร็งแล้วมัวแต่คิดว่า ตายแล้วฉันคงมีชีวิตอยู่อีกไม่นาน ฉันจะทำอย่างไรดีกับชีวิตที่เหลือ ถ้าล้มหมอนนอนเสื่อฉันจะทำอย่างไรดี ใครจะดูแลฉัน จะเอาเงินจากไหน แล้วลูกล่ะ เขาจะอยู่อย่างไรถ้าไม่มีฉัน เรามัวกังวลกับเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น ยิ่งคิดก็จะยิ่งทุกข์ ในเมื่อเรายังทำอะไรได้เหมือนคนปกติ ยังฟังเพลงไพเราะได้ ยังทำงานได้ สนทนากับลูกหลานได้ ยังมีครอบครัวที่อบอุ่น ทำไมเราจึงไม่ใช้ชีวิตให้มีความสุขกับคนเหล่านั้น กังวลทำไมกับเรื่องที่ยังมาไม่ถึง พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องวางแผนชีวิต วางแผนชีวิตเป็นสิ่งสำคัญ แต่อย่าลืมที่จะมีความสุขกับปัจจุบันด้วย

อันนี้เพราะเราไม่มีสติ เราจึงจมอยู่กับความคิด จมอยู่กับอารมณ์ เพราะฉะนั้นสติจึงสำคัญมาก เมื่อรู้ว่าใจกำลังทุกข์ ก็ควรตั้งหลักหันมาอยู่กับปัจจุบัน ใครจะนินทาว่าร้ายอย่างไรก็ช่าง พอฟังข่าวเกี่ยวกับการชุมนุมประท้วง รู้สึกเครียดขึ้นมา ขณะที่เรากินข้าวเราอาจจะเผลอไปคิดเรื่องนั้น ทันทีที่รู้เราก็วางความคิดนั้นลง หันมากินข้าวต่อ หรือทำงานของเราไป สักพักก็ไปคิดถึงข่าวนั้นอีก พอเรารู้ทันเราก็วางความคิดนั้น จิตใจก็สบายโปร่งโล่ง

ทุกวันนี้ที่เราทุกข์อยู่กับเหตุการณ์บ้านเมืองเพราะเราไม่ยอมปล่อยไม่ยอมวาง หารู้ไม่ว่าสิ่งต่างๆเหล่านี้มันเป็นพิษต่อจิตใจของเรา เราต้องรู้จักระบายถ่ายเทออกไป ร่างกายเรามีกลไกในการช่วยกำจัดของเสียหรือสารพิษออกไป จิตใจเราก็เช่นกัน มีวิธีกำจัดสิ่งที่เป็นพิษต่อจิตใจ นั่นคือ “สติ” สติช่วยให้เราระบายอารมณ์ที่เป็นพิษออกไปจากใจ ช่วยให้เราเบาสบาย

เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเก็บอารมณ์โกรธก็เท่ากับเราเก็บของเสียเน่าบูดไว้ในจิตใจ อะไรก็ตามที่เก็บสะสมนาน ๆ ก็เป็นของเสียได้ แม้กระทั่งอาหารที่เรากินเข้าไปซึ่งเป็นของดีทั้งนั้น แต่ถ้ากินแล้วไม่ถ่ายแค่สองสามวัน มันก็จะกลายเป็นของเสีย แต่ความโกรธ ความเกลียด ความกังวล มันมีผลเสียต่อจิตใจตั้งแต่วินาทีแรกที่เกิดขึ้นแล้ว เรามักจะได้ยินคนโบราณสอนว่า ถ้าโกรธก็อย่าให้โกรธข้ามคืน ความเครียดก็เช่นกัน ถ้าอ่านหนังสือพิมพ์ ดูโทรทัศน์ แล้วเกิดความเครียด ทันทีที่รู้ตัวว่าเครียด ก็ให้วางมันเสีย

- สำหรับคนทำงานล่ะคะ ซึ่งมักจะเครียดกับงานอยู่เสมอๆ

ที่เราเครียด ขาดความสุขในการทำงานเพราะเราชอบมองข้ามชอต คือชอบไปมองที่อนาคต จึงเกิดความวิตกกังวลว่างานชิ้นนี้เมื่อไหร่จะเสร็จสักที กว่าจะเสร็จก็ต้องเหนื่อยอีกนาน เสร็จแล้วจะถูกด่าหรือเปล่าก็ไม่รู้ ฯลฯ คิดแบบนี้ก็ต้องเครียดแน่นอน จะไม่ดีกว่าหรือหากเราเอาใจมาจดจ่ออยู่กับงานที่กำลังทำอยู่ งานชิ้นนั้นจะใช้เวลากี่วัน กี่เดือน กี่ปี ก็แล้วแต่ เวลาเราทำงานเราควรจะอยู่กับสิ่งเฉพาะหน้า รู้จักซอยงานใหญ่ให้เป็นชิ้นย่อย ๆ งานนั้นอาจจะต้องใช้เวลา 1 ปีกว่าจะเสร็จ เราก็ควรย่อยลงให้เป็นเดือน เป็นวัน เป็นชั่วโมง เป็นนาที แล้วเราก็ใส่ใจอยู่กับแต่ละนาที ๆ อย่าเพิ่งสนใจวันพรุ่งนี้หรือเดือนหน้า

มีนักปีนเขาคนหนึ่งซึ่งโชกโชนมาก เวลาจะปีนเขา ทุกครั้งที่มองยอดเขา เขาจะรู้สึกท้อมาก เพราะ มันทั้งสูงทั้งชัน เขาแก้ปัญหานี้ด้วยการจับจ้องอยู่ที่พื้นใต้ฝ่าเท้า แล้วก้าวไปข้างหน้าทีละก้าว ในที่สุดก็จะถึงยอดเขาเอง เขากำลังบอกว่าอย่ามองไปข้างหน้า ให้สนใจกับสิ่งที่กำลังอยู่เฉพาะหน้า นี้คือเคล็ดลับในการทำงานอย่างมีความสุข

เวลาเรากินพิซซ่า มันชิ้นใหญ่ใช่ไหม พนักงานเสิร์ฟยังต้องซอยออกเป็นชิ้นเล็กๆไม่ว่าพิซซ่าถาดนั้นจะอร่อยแค่ไหน เราก็กินได้แค่ทีละคำ งานก็เช่นกันมันจะยากแค่ไหนเราก็ต้องซอยให้เป็นชิ้นเล็กลงเช่นเดียวกับพิซซ่า แล้วทำทีละขณะ ๆ เหมือนกับกินพิซซ่าทีละคำ เส้นทางไม่ว่าจะยาวไกลแค่ไหนเราก็ต้องเดินทีละก้าว จะเดินทีละหลายก้าวไม่ได้ แต่ถ้าไม่เดินก็ไม่ถึง อาตมาจึงมักจะพูดว่าจุดหมายอยู่ที่ปลายเท้า เมื่อไหร่ที่ปลายเท้าคุณขยับจุดหมายก็ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ นี่คือ ความหมายของคำว่า”สติ” ซึ่งก็คือการอยู่กับปัจจุบัน

การดำเนินชีวิตของเราก็เช่นกัน ถ้าเราอยู่กับปัจจุบัน เราไม่กังวลกับอนาคต ไม่เสียใจกับอดีต เราก็จะมีความสุขได้ เพราะความสุขนั้นอยู่กับเราทุกขณะเพียงแต่ว่าเรามองเห็นหรือไม่เท่านั้นเอง มีนักธุรกิจคนหนึ่งถูกโกงเงินไป 60 ล้าน สองสามวันแรกก็เสียใจ แต่เมื่อตั้งสติก็คิดได้ว่าในเมื่อฉันยังมีข้าวอร่อย ๆ กิน ยังมีบ้านพักอย่างสุขสบาย แล้วจะทุกข์ไปทำไม เธอไม่มัวเสียใจกับสิ่งที่หายไป แต่หันมาชื่นชมกับสิ่งดี ๆ ที่ยังมีอยู่ ก็เลยไม่ทุกข์

อาตมาจึงย้ำว่าคนเราทุกข์เพราะมัวอาลัยในสิ่งที่เสียไป แต่ลืมที่จะชื่นชมสิ่งที่มีอยู่ เงินหายไปแค่ 100 บาทเรากลับเป็นทุกข์ ทั้งๆ ที่มีเงินในกระเป๋าหรือในธนาคารตั้งมากมาย มากกว่าเงินที่หายไปหลายร้อยเท่า สิ่งที่หายไปเป็นแค่ส่วนเสี้ยวเดียวของสิ่งที่เรามี แต่ทำไมเราจึงไปทุกข์ ก็เพราะไปจมจ่อมอยู่กับส่วนเสี้ยวที่หายไป

- “สติ” ฝึกฝนได้ด้วยวิธีใดคะ

“สติ” ฝึกได้ในชีวิตประจำวัน วิธีการง่าย ๆ คือ ตัวอยู่ไหนใจอยู่นั่น อาบน้ำ กินข้าว ล้างจาน ใจก็อยู่กับสิ่งที่เราทำ แต่ส่วนใหญ่เวลาที่กินข้าวเรามักจะใจลอย ควรพาใจกลับมาอยู่กับการกินข้าว ต่อไปก็รู้กายเคลื่อนไหวรู้ใจที่คิด เช่น เวลาเดินก็ให้รู้สึกตัวว่ากำลังเดิน เราจะรู้สึกตัวได้เมื่อใจเราอยู่กับอิริยาบถนั้น ๆ สาเหตุที่เราขาดสติเพราะตัวอยู่ตรงนี้แต่ใจลอยไปไหนก็ไม่รู้ ตัวอยู่ไหนใจอยู่นั้นเป็นวิธีการฝึกสติที่ไม่ยาก ครั้งแรกๆ อาจจะมีหลุดบ้าง แต่ขอให้ทำไปเรื่อยๆ ทุกวัน

ต่อไปเราต้องรู้เท่าทันเรื่องอารมณ์ เมื่อไหร่โกรธ เมื่อไหร่เสียใจ เราต้องรู้ รู้เฉยๆไม่ต้องไปกด ข่ม หรือห้าม เพียงแค่รู้ก็ช่วยได้มากแล้ว แม้กระทั่งเวลาที่เราเกิดความเครียด กังวล เช่น อ่านข่าวแล้วรู้สึกเครียด ก็ให้รู้ว่ากำลังเครียด วิธีที่อาตมาแนะนำนี้ใช้ได้แม้แต่กับเด็ก มีลูกของเพื่อนอาตมาอายุประมาณ 3-4 ขวบ วันหนึ่งโกรธย่ามากที่เอาดอกไม้ที่แกจัดมารวมกันแทนที่จะแยกเป็นสี ๆ บังเอิญแม่มาเห็นเข้า ก็ถามลูกว่า หนูรู้สึกอย่างไร ไม่พอใจคุณย่าใช่มั้ย เด็กน้อยตอบว่าใช่ แม่ถามต่อว่า หนูโกรธแค่ไหน แค่นี้หรือโกรธเท่าฟ้า เด็กตอบว่าโกรธคุณย่าเท่าฟ้าเลย ฟังดูน่าตกใจ แต่ทันทีที่เด็กรู้ว่าตัวเองโกรธเท่าฟ้า ความรู้สึกโกรธก็จะลดลง สักพักก็กลับไปคุยเล่นกับย่าได้ ขอให้สังเกตว่า แม่ไม่ได้บอกว่าลูกอย่าโกรธคุณย่าเลย แต่แม่ช่วยให้ลูกได้เห็นถึงความโกรธของตัว

มีอีกเรื่องหนึ่งที่อาตมาอยากเล่าให้ฟัง มีเด็กคนหนึ่งอายุ 12 เดินไปขอเงินจากแม่ บอกว่าจะไปซื้อไมโครโฟนไฟฟ้าซึ่งวางขายอยู่ในโรงเรียน แม่ถามว่าเท่าไหร่? 400 บาทค่ะแม่ ลูกสาวตอบ แม่บอกว่ามันแพงไปนะลูก แต่ลูกก็พยายามรบเร้าเพราะอยากได้มาก แม่ก็ไม่ห้าม ปกติแล้วแม่มักจะทำอย่างใดอย่างหนึ่งในสองอย่างคือ ห้ามไม่ให้ลูกซื้อ หรือให้เงินลูกเพื่อตัดความรำคาญ แต่แม่คนนี้ไม่ทำทั้งสองอย่าง เธอพูดกับลูกว่า ถ้าลูกอยากได้แม่ก็จะให้เงินลูกไปซื้อ แต่มีเงื่อนไข ๒ ข้อคือ ลูกต้องถูกหักเงินค่าขนมวันละครึ่งหนึ่งจนกว่าจะครบ ๔๐๐ บาทแล้วค่อยเอาเงินนั้นไปซื้อ อีกข้อคือทุกเย็นก่อนกลับบ้านให้ลูกเดินไปที่ร้านเพื่อดูของชิ้นนั้น แล้วก็ดูใจของตัวเองไปด้วยว่าความอยากยังเท่าเดิมหรือลดลงไปแล้ว ทำไปสัก 3-4 วัน ลูกก็เดินมาบอกแม่ว่าหนูไม่อยากได้แล้ว แม่จึงถามว่าทำไม ลูกก็ตอบว่าเบื่อ แล้วก็เสียดายเงิน 400 บาทนั้นด้วย

เด็กหญิงคนนั้นตอนแรกที่เห็นของเล่นเกิดความอยากได้ แต่เมื่อมองเห็นความอยากของตัวเองทุกวัน ความอยากก็ค่อยๆจางหายไป สิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กคนนี้คือเกิดสติหรือความรู้ตัว วิธีนี้ใช้สอนได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่ส่วนใหญ่แล้วพ่อแม่มักจะไม่สอนลูกด้วยวิธีนี้ ถ้าไม่ต้านความอยากของลูกก็ตามใจลูก แต่สิ่งที่แม่คนนี้ทำก็คือช่วยให้ลูกได้สติ เกิดการรู้เท่าทันความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นในใจ

อาตมาจึงคิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากในปัจจุบัน เพราะว่าตอนนี้ผู้คนกำลังอยู่ในอารมณ์เครียด โกรธ เกลียด เนื่องจากเรากำลังปล่อยให้อารมณ์อยู่เหนือสติ เช่นเดียวกับการชุมนุมที่ผ่านมา เมื่อเราโกรธเกลียดใครเราก็อยากให้เขาถูกลงโทษหรือมีอันเป็นไป จริงๆ แล้วอาตมาอยากให้มองมากกว่านี้ คือว่า คนเรานั้นโกรธเกลียดกัน เพราะเราเห็นว่าเขาแตกต่างจากเรา ไม่เหมือนกับเรา เป็นคนละพวกกับเรา ใส่เสื้อคนละสีกับเรา เราจึงไม่พอใจเขา ใหม่ๆ ก็ยังไม่ค่อยรู้สึกเท่าไหร่ แต่นานเข้าก็จะมองว่าอีกฝ่ายหนึ่งนั้นผิด และในที่สุดก็เห็นเป็นศัตรู ความรู้สึกเหล่านี้เริ่มต้นจากการที่เห็นเขาไม่เหมือนกับเราก่อน

อาตมาอยากจะบอกว่าอย่าไปมองที่ความแตกต่างเพียงอย่างเดียว ให้มองที่ความเหมือนบ้าง คนบางคนเขาเหมือนกับเราถึง 95 อย่าง แตกต่างกันแค่เพียง 5 อย่าง เราก็ไปด่วนสรุปแล้วว่าเขาอยู่ตรงข้ามกับเรา ที่สำคัญคนนั้นอาจจะเป็นภรรยาเรา เป็นสามีเรา เป็นลูกของเรา เป็นเพื่อนเรา เพราะเรามัวแต่จดจ่อกับสิ่งที่แตกต่างมากกว่าสิ่งที่เหมือนกัน ทั้งๆ ที่ความเหมือนนั้นมีมากกว่า

คนที่เป็นเสื้อแดงวันนี้เมื่อ 2-3 ปีก่อนก็อาจจะเคยเป็นเสื้อเหลือง เมื่อ 30 ปีก่อนทหารกับคอมมิวนิสต์รบกันจะเป็นจะตาย แล้ววันนี้กลายมาเป็นมิตรกัน อยู่พรรคการเมืองเดียวกัน เล่นกอล์ฟด้วยกัน ร้องเพลงคาราโอเกะด้วยกัน ขึ้นเวทีเดียวกันด่าฝ่ายตรงข้าม เสธ.แดงกับหมอเหวงเมื่อ 30 ปีก่อนก็เคยอยู่คนละขั้ว อาจจะจับปืนไล่ล่ากันในป่าด้วยซ้ำ คุณสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ หนึ่งในแกนนำเสื้อเหลืองกับพลตรีจำลอง ศรีเมือง ก็เคยอยู่คนละฝ่ายมาก่อน แต่วันนี้ก็มาร่วมเป็นร่วมตายกันบนเวทีพันธมิตร สรุปแล้วที่เราทะเลาะกันทุกวันนี้เราไม่คิดหรือว่าอีก 10 ปีข้างหน้าเราอาจจะกลับมาเป็นเพื่อนกัน แล้วเราจะมาเป็นศัตรูเข่นฆ่ากันทำไม อาตมาจึงอยากให้มองกว้าง มองไกลด้วย

- แต่ในอารมณ์นี้คนไม่สามารถทำใจยอมรับที่จะมองกว้าง มองไกล ได้อีกต่อไป

นั่นเป็นเพราะเราขาดสติ ตราบเท่าที่เรามีสติเราจะมองอะไรได้รอบด้านมากขึ้น ไม่มีใครบอกได้ นอกจากต้องบอกตัวเอง ที่เราพูดกันวันนี้ก็เพื่อที่จะมีใครสักคนมีสติขึ้นมา อย่างน้อยก็เพื่อความสุขของตัวเอง ไม่ว่าเราจะโกรธ จะเกลียดใครก็ตาม คนเหล่านั้นเขาก็ไม่ใช่ศัตรูของเรามากเท่ากับที่เราเป็นศัตรูของตัวเอง พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ โจรกับโจรทำร้ายกัน ก็ไม่ร้ายเท่ากับจิตที่วางไว้ผิด” พูดง่ายๆ ก็คือไม่มีอะไรที่ทำร้ายเราได้เท่ากับจิตของตัวเอง เพราะเมื่อเวลาที่เราโกรธเราเกลียดเราก็จะนอนไม่หลับ อาจจะถึงขั้นเส้นโลหิตในสมองแตกได้ คนอื่นอย่างมากก็ทำร้ายร่างกายเรา แต่จิตใจเราไม่มีใครสามารถทำร้ายได้นอกจากตัวเราเอง

ในสมัยพุทธกาลมี พระสงฆ์รูปหนึ่งชื่อ ปุณณะ มาทูลลาพระพุทธเจ้าเพื่อไปยังเมือง สุนาปรันตะ พระพุทธเจ้าทรงท้วงว่าเมืองนี้มีแต่คนดุนะ ถ้าไปแล้วเขาด่าทอท่าน ท่านจะคิดอย่างไร? ท่านปุณณะก็ตอบว่าเขาด่าว่าก็ดีกว่าเขาทุบตี พระองค์จึงถามต่อว่า แล้วถ้าเขาทุบตีล่ะ? เขาตุบตีก็ดีกว่าเขาเอาก้อนหินมาขว้าง แล้วถ้าเขาเอาก้อนหินมาขว้างล่ะท่านจะคิดอย่างไร? พระปุณณะตอบว่าก็ยังดีกว่าเขาเอาไม้มาฟาด แล้วถ้าเขาเอาไม้มาฟาดท่านล่ะ? พระปุณณะตอบว่า ก็ยังดีกว่าเขาเอาของแหลมมาทิ่มแทง พระพุทธเจ้าก็ถามต่อว่าแล้วถ้าเขาเอาของแหลมมาแทงล่ะท่านจะคิดอย่างไร? พระปุณณะตอบว่า ก็ยังดีกว่าเขาฆ่าให้ตาย พระพุทธเจ้าจึงตรัสถามคำถามสุดท้ายว่า แล้วถ้าเขาฆ่าท่านให้ตายล่ะ? ท่านปุณณะก็ตอบว่าคนบางคนอยากตายก็ต้องไปหาอาวุธมาฆ่าตัวเอง หรือไปจ้างคนอื่นมาฆ่าตัวเองให้ตาย แต่ถ้าเป็นอย่างที่พระองค์ว่าก็ดีเหมือนกัน คือตายโดยไม่ต้องเหนื่อย

พระปุณณะท่านมองในแง่บวกว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับตัวท่านนั้นดีเสมอ อย่างน้อยก็ดีที่มันไม่แย่ไปกว่านี้ เพราะฉะนั้นถ้าเปรียบเทียบบ้านเมืองเราตอนนี้ก็ดีกว่าเขมร ดีกว่ารวันดาที่เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กัน คิดอย่างนี้จะทำให้เราเกิดกำลังใจ มีความหวัง แต่ไม่ใช่ปล่อยปละละเลย ที่เราทุกข์อยู่กับเหตุการณ์บ้านเมืองอยู่ทุกวันนี้ เราพากันกล่าวโทษรัฐบาล เสื้อแดง เสื้อเหลือง ยังไม่ถูก เราต้องโทษใจของเราเองที่ไม่รู้จักวาง ไม่รู้จักมองให้เป็น ก็เลยทุกข์ไม่เลิกเสียที

- เหตุการณ์ที่จบลงไปใครเป็นฝ่ายถูกหรือฝ่ายผิดคะ

ขอพูด ๒ เรื่อง เรื่องแรกคือ ไม่มีทางลัดสู่ความสงบสุข ไม่มีทางลัดสู่ประชาธิปไตย ความสงบสุข ความปกติสุขของบ้านเมืองก็ไม่มีทางลัดอีกเช่นกัน เมื่อปี 2549 เกิดการประท้วงขับไล่รัฐบาลทักษิณ บ้านเมืองวุ่นวาย แล้วก็เกิดรัฐประหารซึ่งใคร ๆ ก็คิดว่าเป็นทางลัดที่จะคืนความสงบสุขให้แก่บ้านเมือง แต่แล้วก็ไม่ใช่ กลับวุ่นวายหนักขึ้นกว่าเดิม เพราะเริ่มมีกลุ่มคนเสื้อแดงมาต่อต้านรัฐประหาร ตอนนี้หลายคนก็ยังคิดว่าถ้าใช้ความรุนแรงเหตุการณ์ต่างๆ ก็จะสงบสุขเสียที เพราะเราชอบทางลัด วัฒนธรรมของคนไทยคือมักชอบอะไรที่เป็นทางลัด เช่น ทำอย่างไรเราจะรวยโดยที่ไม่เหนื่อย



- อะไรคือสาเหตุที่ทำให้คนไทยหันมามีวัฒนธรรมการนิยมทางลัดคะ

มันเกิดจากทัศนคติแบบบริโภคนิยม ที่ทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยเงิน เด็กนักเรียนอยากได้เกรดดีก็ซื้อของให้ครู หรือไม่ซื้อข้อสอบ ที่ผ่านมาเราใช้เงินเป็นบัตรผ่าน หรือไม่ก็หันไปพึ่งไสยศาสตร์ การพนัน คอรัปชั่น และพึ่งพาวัตถุมงคล เช่น เมื่อไม่นานมานี้จตุคามรามเทพจึงโด่งดังมาก ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะคนเชื่อว่ามันคือทางลัดสู่ความร่ำรวย เราไม่ค่อยพึ่งพาความเพียรของตัวเอง

ที่ประเทศเกาหลีมีผู้หญิงคนหนึ่งอายุ 60 กว่าปี แกเพียรพยายามสอบใบขับขี่ถึง 950 ครั้งกว่าจะผ่าน ตอนที่อาตมาได้ยินเรื่องของแกครั้งแรก แกได้สอบมาแล้ว 750 ครั้งแต่ยังไม่ผ่าน เพิ่งมาได้เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วนี้เอง เบ็ดเสร็จแล้วแกใช้เวลาสอบทั้งหมด 4 ปี คนแบบนี้อาตมาเชื่อว่าไม่มีในเมืองไทย เพราะคนไทยเรามีทางลัดที่จะเป็นเจ้าของใบขับขี่ คือ 1)ใช้เงิน 2) ใช้เส้น

ถ้าอยากจะสอบบรรจุเป็นนายอำเภอหรือเป็นตำรวจ คุณไม่จำเป็นต้องอ่านหนังสือหรอก เงินกับเส้นช่วยคุณได้ สิ่งเหล่านี้มันสะท้อนให้เห็นว่าคนไทยไม่มีความเพียร เพราะนิยมทางลัดตลอดเวลา ความคิดแบบนี้ทำให้เราไม่รู้จักอดทนที่จะรอ ชอบอะไรที่ให้ผลไว ๆ เช่นอยากได้ความสงบสุข แทนที่จะอดทนรอคอย ก็เรียกร้องความรุนแรง อยากให้ทหารมาปราบผู้ชุมนุมเสียที เพราะคิดว่ามันจะทำให้เกิดความสงบสุขโดยเร็ว แต่เราไม่ตระหนักว่าถ้าทำเช่นนั้นแล้วจะเกิดผลเสียอะไรตามมา อาจได้ความสงบมาชั่วครู่ชั่วยาม แต่ในระยะยาวก็เกิดความวุ่นวายหนักกว่าเดิม เหมือนกับที่รัฐประหารปี ๔๙ ทำให้การชุมนุมยุติ แต่กลับมีความแตกแยกตามมาหนักกว่าเดิมหลังจากนั้น

ประการที่ 2 ของคำถามที่ว่าใครถูกใครผิด ตอนนี้อาตมามีความรู้สึกเหมือนว่า รถสองคันกำลังพุ่งเข้าหากัน ไม่มีใครยอมหลีกทางให้ใคร เพราะต่างฝ่ายต่างคิดว่าตัวเองวิ่งถูกเลนแล้ว อีกคันต่างหากที่ขับขับผิดเลน ทำไมฉันจะต้องหลีกทางให้ด้วย ที่สุดก็ต้องประสานงากัน ในสถานการณ์บางสถานการณ์จะมามัวเอาผิดเอาถูกไม่ได้ ถ้าจำเป็นก็ต้องหลีกต้องถอยก่อน แล้วค่อยว่ากันใหม่ ถ้าทั้งสองฝ่ายยืนกรานว่าฉันถูก แกผิด ฉะนั้นฉันไม่ถอย แกต่างหากต้องถอย ผลพวงที่เกิดตามมาก็ต้องมีบาดเจ็บล้มตายอย่างแน่นอน

คนที่มีสติมีปัญญาเขาจะไม่ดึงดันแล่นต่ออย่างแน่นอน แต่จะหลีกทางให้รถอีกคัน ถ้าเป็นอาตมาจะหลบก่อนถึงแม้ว่าจะขับมาถูกเลนก็ตาม พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าความถูกต้องไม่สำคัญ แต่ถ้าเรายึดติดถือมั่นมากไป จนเกิดทิฐิมานะ ก็นำมาซึ่งความพินาศ สามีภรรยาทะเลาะกัน ถ้าต่างฝ่ายต่างยืนกรานว่าฉันถูกเธอผิด เคยเห็นสามีภรรยาคู่ไหนบ้างที่อยู่กันยืดถ้ามัวแต่เอาถูกเอาผิดกันไม่เลิก

เพราะถึงจุดหนึ่งการเอาถูกเอาผิดมันกลายเป็นเรื่องการยึดติดถือมั่นในอัตตาตัวตน ในทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า “ทิฐิมานะ” ทิฐิหมายถึงยึดติดในความเห็นของตัว มานะคือความยึดถือในตัวตนว่าฉันถูกแกผิด ถ้าเรามองถึงผลประโยชน์ร่วมกัน เรามีเมตตากรุณาต่อกัน และเรามีสติ เราก็จะไม่ใช้วิธียืนกรานจนเดินหน้าสู่ความพินาศทั้งสองฝ่าย

มีตัวอย่างหนึ่งดีมาก มีสามีภรรยาคู่หนึ่ง ภรรยาเป็นคนธรรมะธรรมโม ส่วนสามีชอบตกปลา ภรรยาผู้ใจบุญก็พูดจาของร้องสามีไม่ให้ตกปลา ที่สุดสามีก็ยอมรับปากว่าจะไม่ตกปลาอีก วันหนึ่งภรรยามีเหตุให้ต้องออกไปสัมมนาต่างจังหวัด วันแรกที่ภรรยาไม่อยู่บ้าน สามีก็ยังทนต่อเสียงปลาที่กระโดดหุบเหยื่ออยู่ในสระน้ำข้างบ้านได้ แต่พอถึงวันที่สองสามีก็หมดความอดทน คว้าเบ็ดออกไปตกปลา ปรากฏว่าในบ่ายวันนั้นเองภรรยาเดินทางกลับบ้านก่อนกำหนด และพบว่าสามีกำลังนั่งสำราญอยู่กับการตกปลา ภรรยาก็ถามขึ้นด้วยน้ำเสียงปกติว่า พ่อทำอะไร? สามีก็ตอบด้วยน้ำเสียงเจื่อนๆ ว่า พ่อเอาไส้เดือนมาเล่นน้ำ ภรรยาก็บอกกับสามีว่า พ่อป่านนี้ไส้เดือนมันคงหนาวแล้วเอามันขึ้นบกเถอะนะ สงสารมัน สามีเมื่อเจอไม้นี้เข้าก็ต้องยอมโดยดุษฎี ลองคิดดูถ้าภรรยาพูดกับสามีว่า ทำอย่างนี้ได้ยังไง ตกลงกันแล้วไม่ใช่หรือว่าจะไม่ตกปลา แล้วทำไมถึงตกปลา ทำไมเธอไม่รักษาคำพูด ถ้าภรรยาพูดอย่างนี้ สามีก็คงโต้เถียง สุดท้ายก็ต้องมีปากเสียงกันอย่างแน่นอน แต่ภรรยาก็ฉลาดพอที่จะพูดโดยไม่เอาถูกเอาผิด หรือไล่ให้สามีจนแต้ม สามีก็เลยยอม

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทกับคณะผู้พิพากษาซึ่งเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเรื่องการทำหน้าที่ พระอาจารย์มีความเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไรคะ

ท่านอาจารย์พุทธทาสท่านกล่าวเสมอว่า “ธรรมะคือหน้าที่” ธรรมะมีอยู่ 4 ความหมาย ความหมายหนึ่งคือหน้าที่ คนที่ทำหน้าที่คือคนที่มีธรรมะ อาตมาว่าทุกฝ่ายไม่ทำหน้าที่เพราะขาดธรรมะ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดบกพร่อง ปัญหาความขัดแย้งในปัจจุบันมันไม่ใช่เรื่องของขาวกับดำ ที่พระองค์ท่านตรัสนั้นถูกทุกเรื่องเพราะทุกฝ่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ อย่ามองแต่ผู้อื่นให้มองที่ตัวเองด้วย

- นอกจากสติแล้วยังมีธรรมะข้อใดที่คนไทยควรจะมีพึงมีอีกคะ

ควรจะมี”ขันติ” ด้วย ต้องรู้จักอดทนอดกลั้น ต้องมีเมตตา เพราะเมื่อไหร่ที่เราขาดเมตตา เราจะปล่อยให้ความโกรธ ความเกลียด เข้ามาครอบงำ กรณีนี้สติจะช่วยได้มากเพราะจะทำให้ใจเราเบา ไม่ติด ไม่ยึด ทุกวันนี้เราทุกข์เพราะแบก หลวงพ่อชาท่านพูดว่า “ทุกข์มีเพราะยึด ทุกยืดเพราะอยาก ทุกข์มากเพราะพลอย ทุกข์น้อยเพราะหยุด ทุกข์หลุดเพราะปล่อย “ สติจะช่วยให้เราปล่อยวาง ส่วนเมตตาเป็นน้ำเย็นที่ทำให้เราคลายความโกรธ จิตใจหายรุ่มร้อน

- พระอาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไรต่อกรณีที่เราเห็นพระสงฆ์เข้าไปร่วมชุมนุมเรียกร้องในเรื่องต่างๆ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วอนาคตของพระพุทธศาสนาจะเป็นเช่นไรคะ

ปัญหานี้เกิดขึ้นมานานแล้ว เพราะพระสงฆ์เป็นอันมากไม่มั่นคงในธรรมะ ไม่ตระหนักชัดในบทบาทของตัวว่ามีหน้าที่อะไร พระสงฆ์เราจึงเข้าไปเป็นฝักเป็นฝ่ายทางการเมืองแทนที่จะเป็นผู้นำพาผู้คนสู่ความสงบเย็น พาผู้คนให้อยู่เหนือการเมืองที่เป็นฝักฝ่าย กลับไปเป็นเครื่องมือของการเมืองแบบนี้

- ณ ปัจจุบันสถาบันสงฆ์ยังน่าเชื่อถืออยู่อีกหรือไม่คะ

ต้องยอมรับว่าตอนนี้สถาบันสงฆ์อ่อนแอมาก ถึงแม้ว่าเรายังมีพระอริยสงฆ์ที่มีวัตรปฏิบัติงดงามอยู่ไม่น้อยก็ตาม สาเหตุที่ทำให้พระสงฆ์เราอ่อนแอมีอยู่ 2 ประการคือ 1) ระบบการปกครองที่ไม่เอื้อให้พระสงฆ์ให้อยู่ในความถูกต้องได้ เพราะว่าองค์กรปกครองพระสงฆ์เองก็ไม่โปร่งใส มีการใช้เส้นสายวิ่งเต้นเรื่องสมณศักดิ์ อะไรที่เราวิจารณ์นักการเมืองหรือรัฐบาล ก็ล้วนเกิดขึ้นแก่คณะสงฆ์ด้วยเช่นกัน 2) การศึกษาของพระสงฆ์อ่อนแอมานานแล้ว ไม่มีการสร้างให้พระสงฆ์เข้มแข็งในเรื่องจริยธรรม และศาสนธรรม ยังไม่ต้องพูดถึงความเข้าใจในปัญหาทางโลก

- พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามิได้เปลี่ยนแปลง แต่เป็นพระสงฆ์สาวกของพระองค์ท่านที่เปลี่ยนแปลง

พระธรรมวินัยยังคงเดิมแต่พระสงฆ์เป็นอันมากละเลยที่จะนำมาใช้กับตัวเอง พระสงฆ์จำนวนมากยึดติดในลาภสักการะ อันนี้อาตมาว่ามันสืบเนื่องมาจากการปกครองคณะสงฆ์ และการศึกษาที่อ่อนแอ เราจึงได้เห็นพระสงฆ์ขึ้นไปปราศรัยบนเวทีการเมือง ร่วมชุมนุมประท้วง ถ้าพระเรามีการศึกษาที่ดีถูกต้องตามพุทธธรรม เราจะไม่เห็นวัดต่างๆ มีพุทธพาณิชย์อย่างเป็นล่ำเป็นสัน ทุกวันนี้พระสงฆ์เดินตามชาวบ้านมากไป ชาวบ้านอยากได้วัตถุมงคล เพราะหลงในบริโภคนิยม ต้องการสิ่งต่าง ๆ มาสนองกิเลส พระเราก็ไปสนองกิเลสของญาติโยม พระสงฆ์ควรจะเป็นผู้นำไม่ใช่ผู้ตาม สังคมอยากได้อะไรก็ไม่ควรที่จะคล้อยตาม สังคมนิยมรถเบนซ์พระก็อยากมีบ้าง สังคมชื่นชมเงินทอง พระเราก็ชื่นชมและแสวงหาสิ่งเหล่านั้น รวมทั้งส่งเสริมให้ญาติโยมมุ่งหาสิ่งเหล่านั้น

คนเราทุกวันนี้บวชด้วยหลายสาเหตุ เราจึงได้พระสงฆ์ที่แตกต่าง ในสมัยก่อนจำนวนไม่น้อยบวชเพื่อศึกษาพระธรรมจริงๆ แต่ไม่ว่าจะบวชด้วยสาเหตุใดก็ตามนั่นไม่ใช่ปัญหา ถ้าหากว่าเมื่อบวชแล้วได้รับการศึกษาและกล่อมเกลาที่ถูกต้อง จนเกิดสัมมาทิฐิได้ แต่ถ้าขาดสองสิ่งที่กล่าวมาการบวชก็เปล่าประโยชน์หรืออาจทำให้ผู้บวชแย่ลงกว่าเดิมก็เป็นได้

แล้วก็ไม่จำเป็นด้วยว่าต้องไปปฏิบัติธรรมกับพระเกจิอาจารย์ หากคณะสงฆ์เข้มแข็ง ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็สามารถทำสมาธิภาวนาได้ สถานการณ์ตอนนี้ไม่เพียงพระสงฆ์ที่อ่อนแอ แต่สังคม ชุมชน ก็อ่อนแอทั้งนั้น ญาติโยมก็มีพฤติกรรมบริโภคนิยม คณะสงฆ์ก็ไม่รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด จึงไม่สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีของญาติโยมได้

- พระอาจารย์เองบวชด้วยสาเหตุใดคะ

ศรัทธาอาตมามีอยู่แล้ว อยากจะบวชมาตั้งแต่อายุครบ 20 ปี สำหรับอาตมาศรัทธาเป็นแรงดึง แต่ความเครียด ความทุกข์เป็นแรงผลัก คนเราต้องมีทั้งแรงดึงแรงผลักถึงจะบวชได้นาน หลายคนมีศรัทธาก็จริง แต่แรงดึงไม่พอ ต้องอาศัยแรงผลักด้วย 7 ปีที่ทำงานรู้สึกเครียดมาก พักผ่อนน้อย ก็เลยกลายเป็นคนอารมณ์ร้าย อาละวาดกับผู้คนจนเสียศูนย์จึงต้องไปหาทางสงบ ทำสมาธิ

แต่การออกบวชในปัจจุบันเพื่อสงบใจชั่วครั้งชั่วคราวก็มีนะ บางคนก็บวชเพื่อทดแทนคุณพ่อแม่ หรือบวชเพื่อทำตามประเพณี คนที่บวชเพราะต้องการพ้นทุกข์จึงมีน้อยมาก แต่นั่นไม่สำคัญถ้าหากว่าบวชแล้วมีการศึกษาที่ถูกต้อง จนเกิดความตระหนักว่าชีวิตนั้นเป็นทุกข์และอยากพ้นทุกข์ คนที่ผ่านประสบการณ์แบบนี้ก็มีมาก และน่าจะมีมากขึ้นถ้าคณะสงฆ์เข้มแข็ง และให้การศึกษาที่ช่วยสร้างศรัทธาและปัญญาแก่ผู้บวชไปพร้อม ๆ กัน

- พระอาจารย์จึงกล่าวว่า “ ขอเป็นพระเท่านั้นที่เหลือคือส่วนเกิน"

ที่อาตมาพูดเช่นนี้ เพราะพระจำนวนมากอยากจะได้สมณศักดิ์ หลายท่านอยากมีคำว่าดอกเตอร์นำหน้า อยากบอกใคร ๆ ว่าตัวเองเป็นดอกเตอร์ แต่สำหรับอาตมาเองแค่เป็น”พระ”ก็เป็นเกียรติแล้ว ไม่ต้องมีคำอื่นนำหน้า ก็รู้สึกภาคภูมิใจแล้ว

- มาระยะหลังพระอาจารย์มักจะเขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องของความตาย เช่น เรื่องตื่นก่อนตาย

เพราะความตายเป็นธรรมดาของชีวิตที่คนมักจะมองข้าม เมื่อเรามองข้ามเราก็เลยประมาทในชีวิต ประมาทในสุขภาพ ถ้าเราระลึกถึงความตายอยู่เสมอเราก็จะไม่ประมาท จะตั้งหน้าตั้งตาทำความดี ทำหน้าที่ ไม่สร้างศัตรู ทุกวันนี้คนเราอยู่แบบลืมตาย ก็เลยเพลิดเพลินไปกับการตักตวงหาความสุข และก็สร้างความทุกข์แก่ผู้อื่น สุดท้ายพอจะตายก็เลยทุกข์ทรมาน ไม่เตรียมตัวรับความตาย เลยตายไม่สงบ ทุรนทุราย

ที่อาตมาพูดถึงบ่อยคือ “เผชิญความตายอย่างสงบ” ใช้หัวข้อนี้อบรมนานานหลายปีแล้ว เพราะคนเราเวลาที่พูดถึงความตายมักกลัว ยิ่งความตายมาใกล้ตัวก็ยิ่งตื่นตระหนก

- ในเมื่อคนเรารู้ว่าจะต้องตาย แล้วทำไมคนเราถึงกลัวตายล่ะคะ

เพราะคนเรายังไม่รู้จักความตายดีพอ เพราะคนเรายังยึดติดอะไรต่ออะไรมากมาย รวมทั้งหวงแหนตัวตน เรากลัวตายเพระเรากลัวสูญเสีย กลัวพลัดพราก กลัวความเจ็บปวดก่อนตาย กลัวจะไม่ได้รับความสุขหลังความตาย กลัวแม้กระทั่งว่าตายแล้วจะไปไหนก็ไม่รู้

- ทราบว่าปีนี้พระอาจารย์ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ที่ได้รับรางวัล”ศรีบูรพา”

อาตมารู้สึกงงงวยตอนที่รู้ข่าว เพราะเท่าที่ผ่านมาเขาก็ไม่เคยมอบรางวัลนี้ให้พระภิกษุ ก็แปลกใจอยู่เหมือนกัน แต่เท่าที่ทราบเขาให้รางวัลนี้แก่ผู้ที่มีงานเขียนต่อเนื่องมานานราว 30 ปี ไม่ได้เจาะจงงานเขียนชิ้นใดชิ้นหนึ่งเหมือนรางวัลซีไรต์ อาตมาเองยังเป็นแค่นักเขียนสมัครเล่น ไม่ได้ตั้งใจเขียนให้เป็นเรื่องเป็นราว ไม่ได้คิดว่าจะมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการเขียน และก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นนักเขียน เพราะในเพศบรรพชิตเราจะเป็นอะไรไม่ได้นอกจาก “เป็นพระ”

ศัตรูที่แท้จริงไม่ใช่เสื้อเหลือง-เสื้อแดง หรือรัฐบาล แต่ศัตรูที่แท้จริงคือความโกรธเกลียดภายในใจเรา และถ้าเราไม่รู้เท่าทันสิ่งเหล่านี้ เราก็จะกลายเป็นศัตรูของตัวเอง ความรุนแรงอาจจะแก้ปัญหาได้ชั่วคราวแต่ขณะเดียวกันก็จะสร้างปัญหาใหม่ให้ปะทุขึ้นได้ตลอดเวลาและแก้ได้ยากขึ้น และก่อปัญหาที่ร้ายแรงกว่าเดิม

จาก http://visalo.org/columnInterview/yingThai5306.htm
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...