ผู้เขียน หัวข้อ: BTS เตือนผู้โดยสารพลอดรักกันในขบวนรถ มีสิทธิ์ถูกเชิญลง  (อ่าน 2298 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ sithiphong

  • ทีมงานก้านแก้วเกล็ดใบทอง
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7544
  • พลังกัลยาณมิตร 2681
  • พระวังหน้าที่หลวงปู่เทพโลกอุดรเสก
    • ดูรายละเอียด
BTS เตือนผู้โดยสารพลอดรักกันในขบวนรถ มีสิทธิ์ถูกเชิญลง

-http://hilight.kapook.com/view/110693-



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก YouTube Thai Variety สมาชิกเว็บไซต์ยูทูบดอทคอม

          คลิป กอดจูบกันบน BTS แชร์ว่อน BTS เตือน ผู้โดยสารพลอดรักกันในขบวนรถ เป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม มีสิทธิ์ถูกเชิญลงได้ ด้าน ดร.เสรี ฝากเตือนเยาวชนทำอะไรต้องดูความเหมาะสม

          สืบเนื่องจากกรณีที่โลกโซเชียลได้มีการแชร์คลิปเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทระหว่างผู้โดยสารบนขบวนรถไฟฟ้า BTS เหตุเพราะมีคู่รักทอม-ดี้แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม กอดจูบกันบน BTS อย่างไม่สนสายตาคนรอบข้าง จนทำให้ผู้โดยสารหญิงรายหนึ่งทนดูไม่ได้และออกมาเตือน แต่แทนที่จะสำนึกฝ่ายทอมยังโต้เถียงอย่างไม่ลดละ กระทั่งกะเทยรายหนึ่งทนพฤติกรรมก้าวร้าวของทอมไม่ไหว ออกโรงปกป้องผู้หญิงคนดังกล่าว จนสาวทอมปิดท้ายทำท่าจะไปต่อยกะเทย แต่กะเทยบอก "ต่อยสิ กูตบกลับ" นั้น

ล่าสุดเมื่อเวลา 13.00 น. วันนี้ (4 พฤศจิกายน 2557) นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการและผู้อำนวยการใหญ่ สายปฏิบัติการ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) BTS ได้ออกมาชี้แจงถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า ต้องขอความร่วมมือจากประชาชนที่ใช้บริการรถไฟฟ้าโดยสารของ BTS ทุกท่าน หากพบเห็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเช่นนี้หรือพฤติกรรมอื่น ขอความกรุณาแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทันที

          โดยผู้โดยสารสามารถแจ้งได้ที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยซึ่งอยู่ในชานชาลา นายสถานี และที่สายด่วน 02-617-6000 โดยระบุรายละเอียดขบวนรถว่ากำลังวิ่งจากที่ไหนไปยังที่ไหน ขบวนที่เท่าไร ซึ่งมีเลขแจ้งอยู่ที่ประตู จากนั้นทางเจ้าหน้าที่จะแจ้งไปยังสถานีต่อไปให้เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจเข้าไปเจรจาพูดคุย ขอร้องให้ผู้ก่อเหตุหยุดพฤติกรรมดังกล่าว ซึ่งหากยังไม่ให้ความร่วมมือ ทาง BTS จำเป็นต้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมาเชิญตัวลงจากสถานีรถไฟฟ้าทันที

          นายสุรพงษ์ ยังกล่าวว่า ส่วนตัวตนมองว่าการแสดงออกในลักษณะแบบนี้เป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับสังคมไทย ขอความร่วมมือให้ผู้โดยสารที่พบเห็นช่วยแจ้งเจ้าหน้าที่ในทันที อย่าไปตำหนิเองเพื่อป้องกันการเกิดเหตุทะเลาะวิวาทและการทำร้ายร่างกาย หลังจากนี้จะขอดูเหตุการณ์อีกสักระยะหนึ่ง ซึ่งหากยังมีผู้โดยสารแสดงพฤติกรรมในทำนองนี้อีก ทางบริษัทฯ อาจจำเป็นต้องออกมาตรการมาป้องกัน

          ด้าน ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและการตลาด นักพูด นักบรรยาย และพิธีกรชื่อดัง กล่าวว่า ตนเห็นคลิปดังกล่าวแล้วบอกตรง ๆ ว่าไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เราเป็นคนไทยมีขนบธรรมเนียมที่ดีงามก็ควรรักษาไว้ หากเป็นผู้ชายกับผู้หญิงเรายังมองว่าไม่สมควร นี่ยิ่งเป็นทอมกับดี้ซึ่งหนักกว่า ภาพที่ออกมาทำให้สังคมรับไม่ได้ ส่วนที่ทอมเถียงว่าพ่อ-แม่ตัวเองไม่เคยว่า นั่นถือเป็นการทำลายตัวเอง เนื่องจากคนจะมองว่าพ่อแม่ไม่สั่งไม่ได้สอน ก็คงฝากเตือนเยาวชนไทยในปัจจุบัน หากจะทำอะไรต้องอยู่ในความเหมาะสม และถูกกาลเทศะ จะมาอ้างว่าเป็นสิทธิส่วนตัวเสมอไปไม่ได้





อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
-http://www.dailynews.co.th/Content/regional/278520/%E0%B9%80%E0%B8%98%EF%BF%BD%E0%B9%80%E0%B8%98%E0%B8%95%E0%B9%80%E0%B8%98%E2%80%94%E0%B9%80%E0%B8%98%E0%B8%95%E0%B9%80%E0%B8%99%E2%82%AC%E0%B9%80%E0%B8%98%E0%B8%8D%E0%B9%80%E0%B8%98%E0%B8%8A%E0%B9%80%E0%B8%99%E2%82%AC%E0%B9%80%E0%B8%98%E2%80%A2%E0%B9%80%E0%B8%98%E0%B8%97%E0%B9%80%E0%B8%98%E0%B8%8D%E0%B9%80%E0%B8%98%EF%BF%BD%E0%B9%80%E0%B8%98%EF%BF%BD%E0%B9%80%E0%B8%98%E0%B8%85%E0%B9%80%E0%B8%98%E0%B8%8D%E0%B9%80%E0%B8%98%E2%80%9D%E0%B9%80%E0%B8%98%E0%B8%83%E0%B9%80%E0%B8%98%E0%B8%91%E0%B9%80%E0%B8%98%EF%BF%BD%E0%B9%80%E0%B8%98%EF%BF%BD%E0%B9%80%E0%B8%98%EF%BF%BD%E0%B9%80%E0%B8%98%E0%B8%83%E0%B9%80%E0%B8%98%E2%80%93%E0%B9%80%E0%B8%99%E2%82%AC%E0%B9%80%E0%B8%98%EF%BF%BD%E0%B9%80%E0%B8%98%E0%B8%8D%E0%B9%80%E0%B8%99%E2%82%AC%E0%B9%80%E0%B8%98%EF%BF%BD%E0%B9%80%E0%B8%98%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%98%EF%BF%BD%E0%B9%80%E0%B8%98%E0%B8%85%E0%B9%80%E0%B8%98%EF%BF%BD-
.



คณะหลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดร 1.หลวงปู่พระอุตรเถระเจ้า 2.หลวงปู่พระโสณเถระเจ้า 3.หลวงปู่พระมูนียะเถระเจ้า(หลวงปู่อิเกสาโร)4.หลวงปู่พระฌาณียะเถระเจ้า(หลวงปู่ขรัวขี้เถ้า) 5.หลวงปู่พระภูริยะเถระเจ้า(หลวงปู่หน้าปาน)

ออฟไลน์ sithiphong

  • ทีมงานก้านแก้วเกล็ดใบทอง
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7544
  • พลังกัลยาณมิตร 2681
  • พระวังหน้าที่หลวงปู่เทพโลกอุดรเสก
    • ดูรายละเอียด
สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล
-http://www.oknation.net/blog/ThaiTeacher/2011/07/06/entry-1-

          คำว่า สำเนียง หมายถึง เสียง, น้ำเสียง, หางเสียง หรือวิธีออกเสียง.  สำเนียงส่อภาษา จึงหมายถึง  การออกเสียงที่ทำให้รู้ว่าเป็นคนถิ่นใดหรือมาจากถิ่นใด  เช่นพูดภาษาไทยแต่ออกเสียงเป็นจีน เป็นแขก เป็นฝรั่ง หรือออกเสียงเป็นคนสุพรรณ คนเมืองเพชร คนเมืองจันท์ เป็นต้น.  ส่วนคำว่า กิริยา หมายถึง  มารยาท,  อาการที่แสดงออกมาด้วยกายหรือการกระทำ.  กิริยาส่อสกุล จึงหมายถึง  มารยาทหรือการกระทำของบุคคลที่แสดงถึงระดับการศึกษาอบรมที่ได้รับมาจากครอบครัว

          สำเนียงส่อภาษา  กิริยาส่อสกุล หรือ สำเนียงส่อภาษา  กิริยาส่อตระกูล เป็นคำพังเพยที่กล่าวเตือนให้บุคคลตระหนักถึงการใช้คำพูดและการกระทำว่าสำเนียงภาษาที่พูดและมารยาทที่แสดงออกมาสู่สาธารณชนนั้นจะทำให้ผู้อื่นวิเคราะห์ได้ถึงเชื้อชาติ  สัญชาติ  รวมทั้งประเมินได้ถึงการศึกษาอบรมของผู้แสดงกิริยาวาจานั้น ๆ ว่าเป็นผู้ได้รับการอบรมเลี้ยงดูหรือได้รับการศึกษามาในระดับใด  มักใช้ในทางตำหนิ เมื่อผู้นั้นพูดหรือแสดงกิริยาไม่สมควร เช่น  เขาพูดหยาบคายในที่สาธารณะได้อย่างไร สงสัยไม่ได้รับการอบรม  สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุลแท้ ๆ เชียว

ที่มา :  บทวิทยุรายการ "รู้ รัก ภาษาไทย"  ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.





-------------------------------------------------------------

สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล : อรรถาธิบายภายใต้ความเป็นผู้ดี
-http://www.oknation.net/blog/print.php?id=13742-

 “สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล” คือ หนึ่งในสำนวนไทยที่มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อเปรียบเปรยกระทบกระเทียบอยู่เป็นประจำ เพราะความหมายของสำนวนนี้จะเชื่อมโยงไปถึงการอบรมสั่งสอนของครอบครัวของคนผู้นั้นไปด้วย ความหมายของสำนวนนี้จะถูกสื่อได้เด่นชัดยิ่งขึ้น เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับสังคมยุคโลกาภิวัฒน์ (Globalization) ด้วยเหตุที่การอบรมสั่งสอนภายในครอบครัวของคนสมัยนี้ช่างห่างไกลกับแบบแผน “ผู้ดี” เสียเหลือเกิน           

“ผู้ดี” หมายถึง บุคคลผู้มีความประพฤติเรียบร้อยทั้งทางกาย ทางวาจา และทางความคิด ซึ่งขัดแย้งกับแนวคิดของคนส่วนใหญ่ที่เข้าใจว่า “ผู้ดี” คือ ผู้ที่มีฐานะร่ำรวย และมียศถาบรรดาศักดิ์ แต่แท้จริงแล้ว “ผู้ดี” ก็เป็นเพียงปุถุชน แต่เป็นมนุษย์ซึ่งเปี่ยมไปด้วยกิริยามารยาทในการแสดงออกทั้งทางกาย วาจาและใจเท่านั้นเอง ดังนั้นการเป็น “ผู้ดี” จึงมิใช่เรื่องที่ต้องลำบากยากเย็นแต่อย่างใด เพราะเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเท่านั้น สำหรับผู้ที่ชอบประชดประชันถึงความเป็น “ผู้ดี” สันนิษฐานได้ว่าผู้นั้นก็คงไม่แน่ใจนักว่าตนเองนั้นเป็น “ผู้ดี” หรือไม่...             

“ไม่มีใครที่จะเปลี่ยนแปลงหรือกำหนดชาติกำเนิดของตนเองได้” ข้อความนี้เป็นสัจธรรมที่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยเรื่องหลักการกำเนิดของมนุษย์ ดังนั้นชาติกำเนิดจึงเป็นเพียงองค์ประกอบที่ส่งเสริมสถานภาพของบุคคลในสังคมเท่านั้น มิใช่ตัวชี้วัดความเป็นผู้ดี อย่างไรก็ตามหากผู้นั้นเป็นผู้ดีทั้งโดยการกระทำและชาติกำเนิดก็ย่อมมีภาษีสังคมเหนือผู้อื่น แต่ในทางกลับกันหากผู้นั้นเป็นผู้ดีแค่โดยชาติตระกูล กล่าวคือ มีชาติตระกูลดีแต่กิริยามารยาทเข้าขั้น “สถุล” คนผู้นั้นย่อมได้รับคำครหาว่าเป็น “ผู้ดีตีนแดง ตะแคงตีนเดิน” จึงเห็นได้ชัดว่าชาติตระกูลไม่ใช่บรรทัดฐานของความเป็น “ผู้ดี” หากแต่เป็นกิริยามารยาทเท่านั้นที่จะสื่อไปถึงการอบรมสั่งสอนของ “ชาติตระกูล”           

หากจะวิเคราะห์ความหมายของ “สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล” ในการอรรถาธิบาย จำเป็นจะต้องแปลความหมายของแต่ละ “อรรถ” เสียก่อน

             สำเนียง น. เสียง, น้ำเสียง, หางเสียง, วิธีออกเสียง

             ส่อ ก. แสดงออกมาให้เห็นเค้า           

             ภาษา น. เสียงสัญลักษณ์หรือกิริยาอาการที่ใช้สื่อความต่อกัน, คำพูด, ถ้อยคำที่ใช้พูดกัน

             กิริยา น. การกระทำ; อาการที่แสดงออกทางกายตามความหมายเรื่องมารยาท

             สกุล น. ตระกูล, วงศ์, เชื้อสาย, เผ่าพันธุ์

เมื่อพิจารณาความหมายของ “อรรถ” และรวมความเป็นสำนวนแล้ว ก็น่าที่จะตีความได้ว่าหมายถึง “บุคลิก การกระทำและมารยาทจะแสดงออกมาให้ทราบว่ามาจากชาติตระกูลเช่นไร” สำนวนนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการมีมารยาท (กิริยาวาจาที่เรียบร้อย) เพราะสิ่งนี้จะสะท้อนไปถึง กำพืดของผู้นั้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพูด ซึ่งสามารถบ่งบอกระดับปัญญาของผู้นั้นได้ ดังที่มีคำกล่าวไว้ว่า “เมื่อไม่พูดก็ไม่รู้ว่าโง่หรือฉลาด จนกว่าจะพูดออกมานั่นแหละ เขาจะหายสงสัย”           

นอกจากการขยายความในเชิงอรรถสัมพันธ์แล้ว การวิเคราะห์ความสมเหตุสมผลของความหมายก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยทำให้เข้าใจกุศโลบายของผู้ริเริ่มใช้สำนวนนี้ได้ดียิ่งขึ้น ในประโยคแรกที่ว่า “สำเนียงส่อภาษา” หากพิจารณาในหมู่คนส่วนใหญ่ ประโยคนี้จะเป็นข้อสรุปที่สมเหตุสมผลในตัวเองอยู่แล้ว ไม่ว่าจะมองในแง่มุมใด เพราะคนทั่วไปจะมีสำเนียงพูดที่ต่างกัน ซึ่งจะบ่งบอกได้ว่าผู้ใดใช้ภาษาใด ถึงแม้จะใช้ภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาประจำของตน สำเนียงที่ออกมาก็จะแปร่งหูในสำเนียงที่แตกต่างออกไป เช่น คนจีนที่ตั้งรกรากในไทยซึ่งพูดภาษาไทย เป็นต้น ทั้งนี้ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีค่านิยมการใช้ภาษาในอีกลักษณะหนึ่ง ก็จะพบว่าสำเนียงจะมิได้ส่อภาษาเสียแล้ว เพราะคนพวกนี้จะเป็น “ดัดจริตชน” ที่พยายามเปลี่ยนแปลงสำเนียงของตนให้กลายเป็นภาษาอื่นที่มิใช่ “ภาษาพ่อภาษาแม่” เพื่อตอบสนองค่านิยมของตนที่ว่าการใช้ภาษาอื่นๆ จะทำให้ให้ดู “โก้” กว่าการใช้ภาษาของตน ซึ่งจะเห็นได้ชัดในคนไทยยุค “ไอที”           

ส่วนในประโยคหลังที่ว่า “กิริยาส่อสกุล” ประโยคนี้ก็สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ในเรื่อง “การขัดเกลาทางสังคม (Socialization)” ที่หมายถึง กระบวนการทางสังคมและจิตวิทยาซึ่งมีผลทำให้บุคคลมีบุคลิกภาพตามแนวทางที่สังคมต้องการ เป็นที่ยอมรับกันว่ากระบวนการขัดเกลาทางสังคมนี้จะเริ่มต้นตั้งแต่บุคคลถือกำเนิดมาในโลก ซึ่งตัวขับเคลื่อนกลไกการขัดเกลาทางสังคมเป็นกลุ่มแรกและสำคัญที่สุดก็คือ “สถาบันครอบครัว” ซึ่งมีหน้าที่ปลูกฝังแนวทางการดำเนินชีวิตทั้งทางตรงและทางอ้อม กล่าวคือ การที่พ่อแม่ผู้ปกครองสั่งสอนบุตรจัดเป็นการขัดเกลาทางสังคมทางตรง และการกระทำตนเป็นแบบอย่างให้กับลูกก็เป็นการขัดเกลาทางอ้อม ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าครอบครัวจึงมีอิทธิพลในการหล่อหลอมกิริยามารยาทของบุคคลแต่ละคน ด้วยเหตุนี้ประโยคที่ว่า “กิริยาส่อสกุล” จึงสมเหตุสมผลไปโดยนิปริยาย           

ทั้งนี้การขัดเกลาทางสังคมจากครอบครัวเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งที่สร้างพฤติกรรมของคนเพราะยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกที่สร้างบุคลิกภาพของบุคคลได้เช่นเดียวกัน ทั้งปัจจัยภายนอกและภายใน ทว่าปัจจัยอื่นนั้นจะลึกซึ้งกว่าปัจจัยด้านครอบครัว ด้วยเหตุนี้คนทั่วไปจึงมองว่ากิริยามารยาทของแต่ละคนจะมาจากครอบครัว เช่น มีเด็กชอบฉกชิงวิ่งราวทรัพย์สินผู้คนตามท้องถนน คนอื่นที่พบก็จะสรุปในทันทีเลยว่าครอบครัวนี้คงยากจน ไม่มีเวลาอบรมสั่งสอนลูก หรือถึงขั้นกล่าวว่าคงเป็นโจรทั้งครอบครัว ซึ่งในความจริงอาจจะเป็นลูกของครอบครัวฐานะดีที่มีความอบอุ่นสมบูรณ์พร้อมก็ได้ แต่สาเหตุมาจากการได้รับอิทธิพลทางความคิดที่ผิดมาจากที่อื่น เป็นต้น ในบางครั้งสำนวนนี้จึงอาจไม่ยุติธรรมสำหรับวงศ์ตระกูลสักเท่าไร จากการวิเคราะห์ความสมเหตุสมผลของความหมายจึงสรุปได้ว่า สำนวนนี้มุ่งที่จะใช้กับผู้ที่แสดงกิริยามารยาทที่ไม่เหมาะสมให้รู้จักปรับปรุงตนเพื่อมิให้เสื่อมเสียต่อวงศ์ตระกูลและครอบครัว คล้ายๆ กับการกล่าวว่า “พ่อแม่ไม่สั่งไม่สอน” นั่นเอง           

เมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างสำนวนนี้กับเรื่องของ “ผู้ดี” ก็จะพบว่ามีความเกี่ยวข้องกัน เพราะผู้ดีคือผู้ที่ระมัดระวังกิริยามารยาทของตนเอง ดังนั้นผู้ดีก็จะแสดงออกให้เห็นถึงลักษณะการอบรมสั่งสอนที่ดีของครอบครัว ซึ่งก็สามารถอธิบายได้ด้วยความหมายสำนวนได้ว่า การเป็นผู้ดีเป็นผลลัพธ์จากการขัดเกลาทางสังคมในวิถีที่ถูกต้องของครอบครัว และความเป็นผู้ดีก็จะส่อให้เห็นถึงความมี “สกุลสูง” ซึ่งก็แน่นอนว่าเป็นความสูงส่งทางจริยธรรมมิใช่ทางด้านฐานะ จึงอาจกล่าวได้ว่าลักษณะความเป็น “ผู้ดี” สอดคล้องและสนับสนุนความหมายของสำนวน “สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล” ได้ดียิ่งขึ้น เมื่อใดที่ใช้สำนวนนี้กับผู้ดี นัยของความหมายจึงมิใช่การเสียดสีประชดประชันแต่อย่างใด หากแต่เป็นการชื่นชมถึงครอบครัวนั้นอย่างจริงใจ ดังนั้นหากต้องการจะเป็น “ผู้ดี” ก็ต้องเข้าใจความหมายสำนวนนี้ที่อธิบายด้วยความเป็นผู้ดี เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจในขณะที่จะทำพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมด้วย           

ในอดีตสำนวนนี้คงจะก่อสำนึกให้กับผู้ฟังได้มาก แต่ปัจจุบันไม่ว่าใครจะด่าว่าถึงวงศ์ตระกูลอย่างไร จะกล่าวถึงสำนวนนี้เป็นร้อยครั้งพันครั้ง ก็คงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนได้ เพราะ “อัตตา” ในโลกยุคโลกาภิวัฒน์ได้ปิดกั้นไว้ กอปรกับการที่ครอบครัวในปัจจุบันก็ไม่ได้ทำหน้าที่ที่สถาบันครอบครัวพึงกระทำ คือ สั่งสอนให้คนในครอบครัวเป็นคนดี แต่กลับให้ความสำคัญกับเงินตรามากกว่า เหล่านี้คือผลของการพัฒนาในระบอบทุนนิยมโดยไม่ทำไปควบคู่กับจริยธรรมนั่นเอง เราจึงควรให้ความสำคัญกับความหมายของสำนวนนี้ในเชิง “ผู้ดี” บ้าง มิฉะนั้นในอนาคตสำนวนนี้อาจจะเปลี่ยนไปเป็น “สำเนียงส่อภาษา เงินตราส่อสกุล” ก็ได้

หมายเหตุ เรียงความนี้เขียนขึ้นเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๐ เพื่อส่งงานในรายวิชา “ภาษาไทยพื้นฐาน (ท ๔๑๑๐๒)” กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โดยกำหนดให้นักเรียนเขียนเรียงความเกี่ยวกับสำนวน สุภาษิต คำพังเพย

-http://www.oknation.net/blog/print.php?id=13742-

--------------------------------------------------------------------

มารยาททางสังคม : สิ่งที่ดูเล็กน้อยแต่สำคัญ
-http://www.stou.ac.th/schools/shs/booklet/book55_3/easily.html-

โดย รองศาสตราจารย์ ดร.พรทิพย์ เกยุรานนท์

        ก่อนที่จะกล่าวถึง “มารยาททางสังคม” ผู้เขียนขอให้มาทำความรู้จักกับคำว่า  “มารยาท” ก่อนว่า คืออะไร “มารยาท” หรือ “มรรยาท” (etiquette or good manners) หมายถึง กิริยาวาจาที่ถือว่าสุภาพเรียบร้อย ถูกกาลเทศะ (อมรรัตน์ เทพกาปนาท, 2553) หรือก็คือ การแสดงออกที่มีแบบแผนในการประพฤติปฏิบัติโดยได้รับการอบรมให้งดงามตามความนิยมแห่งสังคมมารยาท ไม่ได้ติดตัวมาแต่เกิด แต่ได้มาจากสิ่งแวดล้อม มีการศึกษา อบรมเป็นสำคัญ ดูกิริยา ฟังวาจาของคนแล้ว พอคาดได้ว่าผู้นั้นได้รับการศึกษาอบรมมาอย่างไร พื้นฐานที่สำคัญที่สุดของมารยาท คือ ความสุภาพและสำรวม คนสุภาพจะเป็นคนที่มีจิตใจสูงเชื่อมั่นในตัวเอง เพราะคนที่มีอะไรในตัวเองแล้วจึงจะสุภาพอ่อนน้อมได้ ความสุภาพอ่อนน้อมมิได้เกิดจากความเกรงกลัว แต่ถือว่าเป็นความกล้า ส่วนความสำรวม คือ การเป็นคนมีสติ ไม่พูดไม่ทำอะไรที่เกินควร รู้จักการปฏิบัติที่พอเหมาะพองาม คิดดีแล้วจึงทำ คาดแล้วว่า การกระทำจะเป็นผลดีแก่ทุกฝ่าย มิใช่เฉพาะตัวคนเดียว (บ้านมหาดอทคอม, 2552) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า มารยาทเป็นคุณลักษณะประจำตัวของบุคคล ได้แก่ การสัมมาคารวะ ความสุภาพ อ่อนน้อม ความมีวินัยและพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ปรากฏแก่สายตาของผู้อื่น (http://management.aru.ac.th) จึงกล่าวได้ว่า มารยาทเป็นคุณลักษณะประจำตัวของบุคคลที่แสดงออกทั้งในด้านกิริยา วาจา ซึ่งมีแบบแผนในการประพฤติปฏิบัติ ที่ถือว่าสุภาพเรียบร้อย อ่อนน้อม มีความสำรวม ถูกกาลเทศะ และปฏิบัติสิ่งที่พอเหมาะพองาม

        มารยาทจึงเป็นสิ่งที่เราเคยชินกับการได้ยินมาตั้งแต่เด็ก ทั้งจากในบ้านที่คุณปู คุณย่า คุณตา คุณยาย บิดา มารดา และญาติผู้ใหญ่ที่เคารพรักพร่ำสอน ตลอดจนคุณครูและอาจารย์ในโรงเรียนตั้งแต่อนุบาลจนถึงสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ปลูกฝังเรา เพื่อให้เรามีมารยาททางสังคม รู้จักอะไรควรและไม่ควรกระทำ สามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้ มารยาททางสังคมจึงเป็นกรอบหรือระเบียบแบบแผนที่ควรประพฤติหรือควรละเว้นในส่วนที่เกี่ยวกับผู้อื่น รวมทั้งชุมชนหรือคนหมู่มาก โดยเหตุที่มนุษย์เราไม่สามารถอยู่ลำพังคนเดียวในโลกได้ ต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้อื่นไม่มากก็น้อย ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมีกฎกติกากำหนดแบบแผนในการอยู่ร่วมกัน ซึ่งทุกชาติทุกประเทศต่างก็มีแบบอย่างทางวัฒนธรรมที่เรียกกันว่า มารยาททางสังคมนี้ทั้งสิ้น เพียงแต่รายละเอียดอาจจะแตกต่างกันบ้าง อย่างไรก็ดี ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีปัจจุบัน อาจทำให้คนสมัยนี้หันไปพึ่งพาเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ และมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นน้อยลง อันเป็นเหตุให้ละเลยหรือเพิกเฉยต่อมารยาทที่พึงมีต่อกัน แต่สิ่งเหล่านี้ ก็ยังจำเป็นต่อการอยู่ร่วมกันในทุกสังคม (อมรรัตน์ เทพกาปนาท, 2553)

        ปัจจุบันด้วยพิษของโลกาภิวัฒน์และโลกของการแข่งขันและการทำงานให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม ที่แย่งเวลาในการที่จะปลูกฝังสิ่งดีงามเหล่านี้ไป เกิดการหลงลืมคำว่า “มารยาท” และได้เกิดการทำสิ่งต่างๆ ที่ยึดตนเองเป็นหลัก โดยไม่ได้คำนึงถึงคนในสังคมรอบข้างว่าเขาจะรู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่ตนเองกระทำ กล่าวง่ายๆ ว่า “ไม่เอาใจเขามาใส่ใจเรา เพราะไม่ใช่เรื่องของเรา เรื่องของเรา คือ เราต้องสบาย ต้องได้ ไม่ต้องเสีย หรือต้องสำเร็จ” จึงทำให้สังคมเกิดความสับสนว่า “สิ่งใดควรทำและสิ่งใดไม่ควรทำ” “สิ่งใดเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม” “สิ่งใดถูกกาลเทศะหรือไม่ถูกกาลเทศะ” บางคนก็กล่าวไปจนถึงการมีสมบัติผู้ดี จึงทำให้เกิดความขัดแย้งกันในสังคม ความอคติต่อกันทำลายบรรยากาศดีๆ ของการอยู่ร่วมกันในสังคม ทำให้สังคมรอบข้างไม่น่าอยู่ แต่ถ้าทุกคนหันมาปรับปรุงบรรยากาศที่ดีในสังคมตั้งแต่หน่วยเล็กจนถึงหน่วยใหญ่ที่สุด จะทำให้สังคมนั้นๆ น่าอยู่มากขึ้น จะพบกับความถ้อยทีถ้อยอาศัย น้ำใจที่เอื้ออาทรกันและกัน การช่วยกัน/ ร่วมมือกันทำงาน และเกิดความสุขในการอยู่ร่วมกันในครอบครัวและการทำงาน

        ดังนั้น มาช่วยกันทำสิ่งที่หายไปนั้นกลับคืนมาสู่สังคมไทยกันเถอะ นั่นคือ “มารยาททางสังคม” ที่ดูเหมือนสิ่งที่ดูเล็กน้อย แต่มีความสำคัญที่ทำให้ครอบครัว หน่วยงาน และสังคมเราน่าอยู่ เพราะบุคคลเรานอกจากจะมีความสามารถในเชิงการทำงานที่ดีเยี่ยมแล้ว ยังต้องรู้จักรักษากิริยามารยาท และจะต้องรู้จักการสมาคมกับผู้อื่น จึงจะเป็นบุคคลที่มีเสน่ห์ เพิ่มความสนใจให้กับผู้พบเห็น (http://management.aru.ac.th) จึงนับได้ว่าบุคคลผู้นั้นเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จ ในการดำเนินชีวิตประจำวันและในการทำงาน เพราะคนมีมายาทนั้นไม่ได้วัดกันที่คุณจบวุฒิอะไรมา หรือมีดีกรีระดับใด หรือมีตำแหน่งหน้าที่อะไร หรือมาจากวงค์ตระกูลไหน หรือมีฐานะอย่างไร แต่วัดกันที่บุคลิกภาพของบุคคลที่แสดงออกมา โดยท่วงทีกริยามารยาทที่แสดงออกมาแล้วบุคคลอื่นรอบข้างเขารับได้หรือไม่ได้ บุคคลที่มีกริยามารยาทดีจะมีโอกาสได้รับความนิยมชมชอบและชื่นชมจากบุคคลรอบข้าง (อัจฉรา นวจินดา) แต่ถ้าบุคคลนั้นมีตำแหน่งหน้าที่สูง เป็นผู้บังคับบัญชา หรือมีความเก่งในหน้าที่การงาน แต่ไร้มารยาททางสังคม บุคคลนั้นก็ไม่น่าชื่นชมหรือน่านับถือ เพราะบุคคลนั้น ยังไม่รู้ว่าอะไรควรทำและไม่ควรทำ ยังนึกถึงแต่ผลประโยชน์ของตน หรือยึดตนเองหรือที่เรียกว่า “อัตตา” เป็นหลัก ยังไม่รู้จักให้เกียรติคนอื่น ลืมมองดูคนอื่นที่อยู่รอบข้างว่า ทุกคนมีความสำคัญในสังคมไม่ว่าเขาจะอยู่ในฐานะใดในสังคมก็ตาม เขาก็มีความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน จึงควรให้เกียรติไม่ว่าเขาจะมีฐานะด้อยกว่าตนก็ตาม  หลายครั้งที่บุคคลเราเมื่อมีฐานะ มีหน้ามีตาในสังคม หรือมีอำนาจขึ้นมา มักจะลืมนึกถึงคนอื่นที่เขามีความเป็นมนุษย์เช่นตนเอง ที่มีความรู้สึกและมีความต้องการเช่นกัน แต่กลับแสดงอำนาจหรือมีกริยาที่แสดงท่าทีข่มคนอื่น เพื่อให้เขาดูด้อยกว่าตนเอง ซึ่งดูเหมือนจะดีที่สร้างสถานการณ์ที่เหนือกว่าบุคคลอื่น แต่สิ่งที่ทำไปนั้น กลับติดลบ เพราะสิ่งที่ทำไปไม่ได้ใจคนที่เห็นหรือคนที่ถูกกระทำ และบางครั้งกลับกลายเป็นการเอาคืน จึงทำให้บรรยากาศดีๆ ที่จะทำให้การอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขหายไป และถ้าเป็นหน่วยงานที่ต้องทำงานร่วมกันด้วยแล้ว ความร่วมมือในการทำงานจะหายไป ผลงานที่ได้อาจไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ควรจะเป็น บางครั้งดูเหมือนประสบความสำเร็จดี แต่ถ้ามองลึกลงไปในรายละเอียดแล้วจริงๆ อาจไม่ได้ประสบความสำเร็จจริงๆ ก็ได้ เพราะคนอาจทำให้ด้วยหน้าที่ตามความจำเป็น หรือทำให้เพราะกลัวอำนาจของผู้มีอำนาจหน้าที่เหนือกว่า แต่ไม่ได้ใส่ใจกับงานที่ต้องทำ สิ่งที่ออกมาจึงไม่ได้มีประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็น เป็นการทำให้ผ่านๆ หรือพ้นๆ ตัวไปเท่านั้น และเมื่อวงจรนี้ยังคงอยู่ ไม่มีการปรับปรุง ผลกระทบที่สะสมนั้นสุกง่อม ก็จะแสดงออกมา และวันนั้นการแก้ไขก็จะยากขึ้น ส่งผลร้ายต่อตนเอง คนรอบข้าง หน่วยงาน และสังคมที่อยู่ แต่ก็ไม่มีอะไรที่สายเกินไปที่เราจะหันกลับมาและเอาใจใส่กับคนรอบข้างอย่างจริงใจ ด้วยมารยาททางสังคมที่ดีงามให้แก่กันและกัน จะทำให้สิ่งที่ดีๆ กลับมาสู่สังคมเรามากยิ่งขึ้น เกิดความรักและความสามัคคีกันในสังคม

        การที่จะทำให้ครอบครัว หน่วยงาน และสังคมน่าอยู่นั้น สิ่งที่ต้องปลูกฝังและฝึกฝนมาตั้งแต่เล็กจนโต ก็คือ การเป็นผู้มีมารยาท หรือบางคนโตแล้ว แต่ในวัยเด็กไม่ได้ถูกปลูกฝังมา ก็สามารถปรับหรือพัฒนาตนเองได้ ถ้าใจคิดที่จะทำให้ดีขึ้น เพราะมารยาทแสดงออกมาที่กิริยาท่าทางและการพูดจา  อาศัยการบอกอย่างเดียวไม่ได้  ต้องฝึกเองจนเกิดขึ้นเป็นอัตโนมัติ คนดี มารยาทดีเท่ากัน แต่อาจไม่เหมือนกัน  เพราะคนมีบุคลิกภาพต่างกัน การแสดงออกย่อมต่างกันด้วย   มีตัวร่วม  คือ  แสดงออกมาแล้วเป็นผลดีแก่ตัว  เพราะทำให้ผู้อื่นพอใจด้วยรู้สึกว่าได้รับเกียรติ   เมื่อให้เกียรติแก่ผู้อื่น  ตนเองก็จะเป็นผู้มีเกียรติด้วย  สังคมใดมีคนแสดงมารยาทดีต่อกัน  สังคมนั้นเป็นสังคมของผู้มีเกียรติ (อมร สังข์นาค) ดังนั้น มารยาทที่พบเห็นกันบ่อยๆ และควรรักษาไว้ในสังคมและปลูกฝังให้ลูกหลานคนไทยต่อไป เช่น

1. มารยาทในการพูด

        มารยาทในการพูดที่ควรปฏิบัติ มีดังนี้
1.1 คำกล่าว “ ขอบคุณ ” จะใช้เมื่อมีผู้อื่นให้สิ่งของ  ให้ความช่วยเหลือ ให้บริการ หรือเอื้อเฟื้อทำสิ่งต่างๆ ให้ ไม่ว่าจะโดยหน้าที่ของเขา หรือมีน้ำใจหรือไม่ก็ตาม เช่น บริกรเสริฟน้ำให้ คนลุกให้นั่งหรือช่วยถือของให้บนรถประจำทาง คนช่วยหยิบของให้เวลาของหล่นลงพื้น พนักงานรักษาความปลอดภัยช่วยบอกทางในขณะจอดรถ หรือคนช่วยเปิดประตูให้ เป็นต้น  การกล่าวคำขอบคุณนั้น ถ้ากล่าวกับผู้ที่อาวุโสกว่า หรือมีวัยเสมอกันจะใช้คำว่า “ขอบคุณ” หรือถ้ากล่าวกับคนอายุน้อยกว่าจะใช้คำว่า  “ ขอบใจ ” ส่วนระดับของการขอบคุณนั้นจะใช้คำว่า “ขอบคุณ” “ขอบคุณมาก” “ขอบพระคุณมาก” “ขอบใจ” “ขอบใจมาก” ขึ้นอยู่กับความรู้สึกของผู้พูดต่อสิ่งที่ทำให้หรือได้รับ โดยเฉพาะคำว่า “ขอบพระคุณมาก” จะใช้กับผู้อาวุโส มิใช่แค่คำพูดเท่านั้น น้ำเสียงที่พูด กิริยา ท่าทางที่พูดจะบอกว่า ผู้นั้นพูดออกมาจากความรู้สึกที่อยู่ในใจจริงๆ หรือพูดออกมาตามหน้าที่ หรือตามสถานการณ์ที่บังคับที่ทำให้ต้องพูด ผู้ฟังจะรู้สึกได้ถึงสิ่งที่พูด และยิ่งยกมือไหว้พร้อมกับกล่าวคำขอบคุณกับผู้อาวุโสไปพร้อมกัน จะทำให้ดูอ่อนน้อม และได้รับความเมตตาจากผู้อาวุโสมากยิ่งขึ้น และการพูดขอบคุณแบบขอไปทีกับไม่พูดนั้น ผู้เขียนเห็นว่า การพูดก็ดีกว่าการไม่พูด เพราะแสดงถึงการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ดีกว่าการไม่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน

1.2 คำกล่าว “ ขอโทษ ” จะใช้เมื่อทำสิ่งที่ไม่ดี /สิ่งที่ผิด / สิ่งผิดพลาด/ สิ่งที่ไม่เหมาะสม/ การรบกวน/ การขัดจังหวะขณะพูดหรือทำงานเมื่อมีธุระด่วน/ การพูดจาหรือแสดงกิริยาที่ไม่ดีหรือไม่เหมาะสมต่อบุคคลอื่นทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจก็ตาม  เป็นต้น การกล่าวคำขอโทษนั้น จะใช้คำว่า “ขอโทษ” เมื่อผู้พูดรู้สึกสำนึกผิดในสิ่งที่ตนได้กระทำ/ พูด/ แสดงออกมา ถ้าพูดออกมาด้วยความรู้สึกผิด จะทำให้คำขอโทษนั้นมีความหมายที่ผู้ฟังหรือคนกระทำรู้สึกดีขึ้นและพร้อมที่จะให้อภัย และถ้าเขาให้อภัยแล้ว ผู้ที่ทำผิดต้องกล่าวคำขอบคุณที่เขาให้อภัยเราด้วย แต่ถ้ากล่าวคำขอโทษออกมาแบบเสียไม่ได้ หรือในท่าทีที่ไม่เหมาะสม คำขอโทษนั้นจะมีน้ำหนักน้อยที่อาจทำให้เขาอาจไม่ให้อภัยหรือให้อภัยตามมารยาทสังคมเท่านั้น แต่ในใจยังรู้สึกติดใจอยู่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบในอนาคตได้ที่อาจมีการเอาคืนในภายหลัง แต่การกล่าวคำว่าขอโทษแบบเสียไม่ได้ก็ยังดีกว่าการไม่ยอมกล่าวคำขอโทษออกมา เพราะย่อมแสดงถึงว่าเราลดตัวตนหรือทิฐิของเราลงมาในระดับหนึ่ง  และยอมที่จะเปลี่ยนแปลงในอนาคต ถึงแม้ความรู้สึกสำนึกผิดจะช้าก็ตาม ในการกล่าวคำขอโทษนั้น ถ้ากล่าวกับผู้อาวุโสควรยกมือไหว้พร้อมกันไปด้วย จะทำให้ผู้อาวุโสที่เราขอโทษเขารู้สึกดี และบอกถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนของผู้นั้นด้วย จะทำให้ดูดีและน่ารักในสายตาผู้อาวุโสและสายตาของผู้ที่ได้พบเห็นหรืออยู่ในสถานการณ์นั้น

1.3 คำพูดที่ใช้เมื่อสนทนาหรือกล่าวถึงผู้อื่นในลักษณะให้เกียรติ เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างมาก ดังคำโบราณว่า “พูดดีเป็นศรีแก่ตัว” ก็แสดงว่า การพูดนั้นเป็นคุณแก่ผู้พูด คำพูดที่จะให้คุณ ก็คือ คำพูดดีๆ ที่พูดต่อกัน น้ำเสียงในการพูดให้น่าฟัง อ่อนโยน ใช้ภาษาที่เหมาะสม ถูกกาลเทศะ แสดงความให้เกียรติ รักษาน้ำใจผู้อื่น และไม่ควรพูดประชดประชันหรือซุบซิบนินทาผู้อื่นให้เสียหาย คำพูดดีๆ นั้นจะหมายรวมถึงการที่ไม่ดูหมิ่นเหยียดหยามผู้อื่น หรือยกตนข่มผู้อื่น หรือแสดงตนว่าอยู่เหนือคนอื่น หรือพูดไม่ถูกกาลเทศะ การพูดเหล่านี้นอกจะไม่ให้คุณแล้ว ยังแสดงถึงความไม่มีมารยาทในการพูด จะทำให้เกิดผลกระทบตามมากับผู้พูด ทำให้ผู้พูดขาดทุน เพราะขาดความน่ารัก ไม่ได้ใจผู้ฟัง และยังก่อให้เกิดความขัดแย้งกันตามมาด้วย การพูดที่ให้เกียรติผู้อื่นนั้น ไม่ใช่ให้เกียรติเฉพาะผู้อาวุโส/ ผู้ใหญ่เท่านั้น ต้องรวมไปถึงผู้ที่มีศักดิ์และสถานะเท่าเทียมกัน จนถึงผู้ที่มีศักดิ์หรือสถานภาพด้อยกว่าผู้พูดด้วย โดยเฉพาะถ้าผู้พูดเป็นผู้อาวุโสกว่าหรือเป็นผู้บังคับบัญชา ยิ่งต้องพูดดีและให้เกียรติกับผู้ที่ทำงานร่วมกันไม่ว่าเขาอยู่ในสถานภาพไหนก็ตาม จะทำให้ได้ใจผู้ฟัง และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการทำงาน

1.4 การทักทาย ในประเพณีไทยจะทักทายกันโดยการไหว้และกล่าวคำว่า “สวัสดี” ส่วนสากลเวลาพบกันจะทักทายกันโดยยื่นมือขวาจับกันและเขย่ามือเล็กน้อย และทักทายด้วยคำสวัสดีเป็นภาษาต่างประเทศและถามสารทุกข์สุกดิบระหว่างกัน

1.5 การแนะนำบุคคลให้รู้จักกัน หลักโดยทั่วๆไปแล้ว  จะแนะนำผู้อาวุโสมากก่อนผู้มีผู้อาวุโสน้อยกว่า หรือแนะนำผู้เป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ หรือมีตำแหน่งระดับสูงกว่าก่อนผู้อื่น  ถ้ามีสถานภาพเสมอกันก็ให้แนะนำตามความเหมาะสม อาจแนะนำผู้ที่มาก่อนก็ได้

2. มารยาทในการรับประทานอาหาร

        การรับประทานอาหารเป็นส่วนหนึ่งที่บ่งบอกถึงการมีมารยาททางสังคมของบุคคลว่า บุคคลนั้นได้รับการอบรมมาดีหรือไม่ มารยาทในการรับประทานอาหาร ได้แก่  มารยาทในการตักอาหาร โดยเมื่อเริ่มรับประทานอาหารต้องรอให้ผู้ใหญ่ แขกผู้ใหญ่ หรือเจ้าภาพตักอาหารก่อน ควรใช้ช้อนกลางในการตักอาหารจากจานกับข้าวกลางเพื่อแบ่งอาหารใส่จานของตน ควรตักอาหารให้พอกับการรับประทาน ไม่ควรตักอาหารมาใส่จานของตนมากจนรับประทานไม่หมด ไม่ควรตักอาหารข้ามหน้าผู้อื่น การรับประทานอาหารควรจับช้อนและซ้อม และ/ หรือตะเกียบให้ถูกหลักการใช้    ไม่พูดในขณะเคี้ยวอาหารอยู่ในปาก เพราะอาจทำให้อาหารล่วงหล่นจากปากและสำลักอาหารได้ ไม่ควรเคี้ยวอาหารหรือซดน้ำแกงเสียงดัง  ไม่ควรไอ จาม สั่งน้ำมูก หรือล้วงแคะ แกะเกาในขณะรับประทานอาหาร หากจำเป็นต้องใช้มือป้องปาก หรือใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปากหรือเช็ดน้ำมูก หากมีอาหารที่ต้องคายออกให้ป้องปากและคายใส่กระดาษเช็ดปากที่รองรับอยู่ แล้วปิดให้มิดชิด ถ้าจะใช้ไม้จิ้มฟัน ควรใช้มือป้องปากไว้ขณะแคะ เป็นต้น

3. มารยาทในการเดิน ยืน และนั่ง

        การเดิน ควรเดินด้วยอาการสำรวม และเมื่อเดินกับผู้ใหญ่ไม่ควรเดินนำหน้า ควรเดินตาม ยกเว้น ต้องนำทางผู้ใหญ่ และควรเดินเยื้องอยู่ด้านข้างใดข้างหนึ่งแล้วแต่สถานที่ ซึ่งปกติจะอยู่ด้านซ้ายมือของผู้ใหญ่ และห่างพอสมควร  เมื่อเดินสวนทางกันควรเดินชิดซ้าย และถ้าสวนทางกับผู้ใหญ่ควรก้มตัวเมื่อเดินผ่าน ถ้าเป็นทางแคบควรหยุดให้ผู้ใหญ่ไปก่อน ถ้าผู้ใหญ่นั่งอยู่ ควรหลีกเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่น เป็นต้น ส่วนการยืนนั้น ไม่ควรยืนค้ำศีรษะผู้ใหญ่ และถ้ายืนอยู่กับผู้ใหญ่ต้องอยู่ในอาการสำรวม ไม่ยืนถ่างขา ไม่ยืนกอดอกหรือเอามือล้วงกระเป๋า เป็นต้น ส่วนการนั่ง ควรนั่งในท่าที่สบาย แต่อยู่ในอาการสำรวม ไม่ควรนั่งไขว่ห้าง นั่งถ่างขา นั่งโยกเก้าอี้ หรือนั่งประเจิดประเจ้อที่ทำให้ดูโป้ หรือไม่อยู่ในอาการสำรวม  ไม่ควรเยียดขาหรือกระดิกเท้าขณะนั่งเวลานั่งกับผู้อื่นหรือในที่ระโหฐาน และไม่นั่งค้ำศีรษะผู้ใหญ่ เป็นต้น

4. มารยาทในการไปชมมหรสพ การไปซื้อของ หรืออยู่ในที่สาธารณะ

        การไปชมมหรสพ เช่น คอนเสิร์ต หนังหรือละคร ฯลฯ หรือการไปซื้อของ ควรเข้าแถวซื้อตั๋ว/ ซื้อของตามลาดับก่อน-หลัง ไม่แทรกหรือตัดแถวผู้อื่น ในขณะชมมหรสพไม่ควรลุกจากที่นั่งโดยไม่จำเป็น ไม่ควรส่งเสียงรบกวนผู้อื่นโดยการสนทนากันดังๆ วิพากษ์วิจารณ์การแสดง หรือแสดงอาการสนุกสนาน เป่าปาก ตบมือจนเกินกว่าเหตุ ไม่ควรเกี้ยวพาราสี หรือกอดจับต้องกันเมื่ออยู่ในโรงมหรสพ (อมรรัตน์ เทพกาปนาท, 2553) หรือเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ

5. มารยาทในการแต่งกาย

        การแต่งกายแสดงถึงขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรม แล้วยังแสดงถึงอุปนิสัยใจคอ จิตใจ รสนิยม ตลอดจนการศึกษาและฐานะของแต่ละบุคคลได้เป็นอย่างดี การแต่งกายของผู้ที่อยู่ในสังคมจึงเป็นสิ่งจำเป็นและมีหลักสำคัญที่ควรปฏิบัติ (http://web.eng.nu.ac.th ) ดังนี้

5.1 ความสะอาด ต้องเอาใส่เป็นพิเศษ โดยเริ่มต้นด้วยเครื่องแต่งกาย  ได้แก่  เสื้อผ้า ถุงเท้า  รองเท้า  เครื่องประดับ  กระเป๋าถือ  ต้องสะอาดหมด  ใช้เครื่องสำอางค์แต่พอควรและร่างกาย     ก็ต้องสะอาดทุกส่วนตั้งแต่   ผม  ปาก  ฟัน  หน้าตา  มือ  แขน  ลำตัว  ขาและเท้าตลอดจนถึงเล็บ รวมไปถึงกลิ่นตัวที่ต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ   ต้องอาบน้ำฟอกสบู่ให้หมดกลิ่นตัว  ถ้าทำได้ทุกส่วน ก็ถือว่าสะอาด
5.2 ความสุภาพเรียบร้อย  โดยเครื่องแต่งกายนั้นต้องอยู่ในลักษณะสุภาพเรียบร้อย  ไม่รุ่มร่ามหรือรัดตัวจนเกินไป   ไม่ใช้สีฉูดฉาด   ควรแต่งให้เข้ากับสังคมนั้น   ความสุภาพเรียบร้อยนั้นรวมไปถึงอุปกรณ์เครื่องใช้  เครื่องประดับและการแต่งหน้าแต่งผมด้วย
5.3 ความถูกต้องกาลเทศะ  โดยการแต่งกายควรให้ถูกกาลเทศะ  เป็นเรื่องสำคัญมาก ผู้มีมารยาทดีย่อมต้องเอาใจใส่ เพราะการแต่งกายให้ถูกกาลเทศะ หมายถึง  การเลือกแต่งกายให้ถูกต้องเหมาะสมกับเวลายุคสมัยนิยม สถานที่ และงานที่จะไป เช่น งานศพก็ควรใส่สีดำ งานมงคลก็ควรใส่สีสดใส หรือไปงานที่เป็นทางการควรดูว่าเป็นงานลักษณะใด เช่น ไปประชุม หรือไปศึกษาดูงาน ควรแต่งกายให้สุภาพตามประเพณีนิยม ฯลฯ เพื่อให้สมเกียรติกับงานที่ไป
   
6. มารยาทในการรักษาเวลา

        การนัดหมายกับผู้อื่นในการทำงาน การประชุม การไปเที่ยว จะต้องตรงเวลาและรักษาเวลาให้ดี ถ้ามีเหตุจำเป็นไม่สามารถทำได้ต้องรีบแจ้งหรือบอกผู้ที่เรานัดหมายก่อนล่วงหน้าหรือเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้าไม่แจ้งและคนที่นัดรอเก้อ จะถือว่าเป็นคนไม่ตรงต่อเวลา และไม่มีมารยาททางสังคม การรักษาเวลาถือเป็นการให้เกียรติต่อกันที่มีความสำคัญมากพอๆ กับการรักษาคำพูด (http://www.hotcourses.in.th/)

7. มารยาทในที่ประชุม
               
        มารยาทในที่ประชุมเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงการให้เกียรติกัน และเคารพในการแสดงความคิดเห็นของกันและกัน มารยาทที่ต้องรักษาไว้ เช่น การตรงต่อเวลาในการเข้าประชุม การขออนุญาตที่ประชุมเมื่อเข้าประชุมสายหรือการออกจากห้องประชุมก่อนกำหนด การยกมือขวาขึ้นเพื่อขอแสดงความคิดเห็นหรือต้องการถาม การเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้แสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผย การเป็นผู้ฟังที่ดี รู้จักอดทนฟังเรื่องราวที่ผู้อื่นกำลังแสดงความคิดเห็นให้จบก่อนว่าเขาต้องการแสดงความคิดเห็นหรือบอกอะไร ไม่พูดแทรกหรือตัดบทไม่ให้พูดขณะที่ผู้อื่นกำลังแสดงความคิดเห็น  การไม่พูดกวนหรือต่อเรื่องให้ยาวออกนอกประเด็นจากเรื่องที่ประชุม การเคารพกฎ กติกาของที่ประชุม การเคารพมติของที่ประชุม การไม่คุยเรื่องส่วนตัว คุยเสียงดัง หรือวิพากษ์วิจารณ์หรือนินทาผู้อื่นในขณะประชุม การพูดในที่ประชุมควรใช้เหตุผล หลักการ และความจริง ไม่ใช้อารมณ์ โดยเฉพาะอารมณ์ที่จะเอาชนะ มีอัตตาสูง หรือต้องการพูดปกป้องตนเองก่อนที่จะฟังเรื่องราวให้จบ จะทำให้ที่ประชุมปั่นป่วน ไร้ระเบียบ และทำให้การประชุมนั้นไม่มีประสิทธิภาพ ฯลฯ

        มารยาททางสังคมยังมีอีกหลายด้านที่เราควรยึดในการปฏิบัติ  เช่น การรู้จักเกรงใจในเรื่องการขอความช่วยเหลือ การขอยืมของ การสั่งงาน การไปพบ/การไปเยี่ยม/การใช้โทรศัพท์ติดต่อในเวลาส่วนตัวหรือที่บ้าน เป็นต้น การไม่ถือวิสาสะในเรื่อง การเข้าห้องผู้อื่นโดยไม่เคาะประตู การหยิบหรือใช้หรือเข้าไปสำรวจบ้านหรือห้องของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต การเปิดจดหมายหรืออิเมลของคนอื่นออกอ่านโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นต้น การให้เกียรติผู้อื่น ด้วยวาจาและท่าทาง การใช้โทรศัพท์ การนอน การช่วยเหลือผู้อื่น การเล่นกีฬาหรือเกมต่างๆ เป็นต้น ซึ่งผู้อ่านสามารถศึกษาจากหนังสือ หรือเว็บไซต์ต่างๆ เพิ่มเติมได้ ดังนั้น การที่มนุษย์เราอยู่ในสังคมเดียวกันจะต้องเคารพกฎ กติกา ขนบธรรมเนียมประเพณี และบรรทัดฐานของสังคมที่เราอยู่ เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตและทำงานอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข มารยาททางสังคมจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ทำให้คนเรารู้สึกดีต่อกัน สิ่งที่ดูเล็กน้อยแต่สำคัญ เพราะการมีมารยาทดีเปรียบเสมือนมีอาภรณ์ประดับกายที่งดงาม เป็นที่ชื่นชนและยอมรับของบุคคลรอบข้าง ผู้ที่มีมารยาทดี มักประสบความสำเร็จในชีวิตและหน้าที่การงาน เนื่องจากได้รับการยอมรับและเชื่อถือทางสังคม การมีมารยาทดีจึงเปรียบเสมือนในเบิกทางไปสู่ความสำเร็จ  (อัจฉรา นวจินดา) จึงควรส่งเสริมให้สังคมเรารักษามารยาททางสังคมกันเถอะ

................................................



เอกสารอ้างอิง

บ้านมหาดอทคอม. (พ.ค. 2552). “มารยาทในสังคม”. ค้นคืนวันที่ 11 พฤษภาคม 2555 จาก http://www.baanmaha.com/community/thread24437.html
อัจฉรา นวจินดา . “มารยาทในสังคม”. ค้นคืนวันที่ 13 พฤษภาคม 2555 จาก pirun.ku.ac.th/~agrpct/envelop/character3.doc
อมร สังข์นาค. “วิถีธรรมวิถีไทย” ”. ค้นคืนวันที่ 11 พฤษภาคม 2555 จาก http://www.nayoktech.ac.th/~amon/in11_2.html
อมรรัตน์ เทพกำปนาท. (มิถุนายน 2553). เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับมารยาททางสังคม.: ค้นคืนวันที่ 12 พฤษภาคม 2555 จาก  http://www.m-culture.go.th/detail_page.php?sub_id=1715
www.oknation.net. (ธันวาคม 2552). “ขอโทษไม่ใช่ขออภัย”. ค้นคืนวันที่ 12 พฤษภาคม 2555 จาก  http://www.oknation.net/blog/four-panya/2009/12/19/entry-1
http://web.eng.nu.ac.th . “มารยาททางสังคม”. ค้นคืนวันที่ 11 พฤษภาคม 2555 จาก http://web.eng.nu.ac.th/aesthetics/document/%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1.pdf

http://www.hotcourses.in.th/. (มิถุนายน 2555). “มารยาททางสังคมของชาวอังกฤษ”. ค้นคืนวันที่ 11 พฤษภาคม 2555 จาก http://www.studysquares.com/england/%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A4%E0%B8%A9/

www.udru.ac.th . “มารยาททางสังคม”. ค้นคืนวันที่ 12 พฤษภาคม 2555 จากwww.udru.ac.th/website/attachments/elearning/02/19.pdf
www.oknation.net. (10 เมษายน 2555). “มารยาททางสังคม..เรื่องเล็กน้อยที่ควรใส่ใจ”. ค้นคืนวันที่ 12 พฤษภาคม 2555 จาก http://www.oknation.net/blog/nookkill/2012/04/10/entry-1
http://management.aru.ac.th. “มารยาททางสังคม”. ค้นคืนวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 จาก http://management.aru.ac.th/mnge/images/pdf/e-book/wanthanee/eb_chapter10.pdf

รูปประกอบ banner จาก www.nanatham.com
คณะหลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดร 1.หลวงปู่พระอุตรเถระเจ้า 2.หลวงปู่พระโสณเถระเจ้า 3.หลวงปู่พระมูนียะเถระเจ้า(หลวงปู่อิเกสาโร)4.หลวงปู่พระฌาณียะเถระเจ้า(หลวงปู่ขรัวขี้เถ้า) 5.หลวงปู่พระภูริยะเถระเจ้า(หลวงปู่หน้าปาน)