ผู้เขียน หัวข้อ: การฟังเทศน์มหาชาติหรือประเพณีตั้งธรรมหลวง  (อ่าน 1229 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
ประเพณีตั้งธรรมหลวง
ประเพณีการฟังเทศน์มหาชาติหรือประเพณีตั้งธรรมหลวง

มหาชาติ คือชาติที่ยิ่งใหญ่เป็นชาติสุดท้ายของพระพุทธเจ้า ก่อนที่จะมาอุบัติตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในชาติปัจจุบัน รวมอยู่ในพระเจ้าสิบชาติ แต่คนนิยมฟังกันเป็นประเพณีเฉพาะตอนเป็นมหาชาติคือเมื่อเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดรเท่านั้น เพราะสังคายนาจารย์ทั้งหลายได้กล่าวอานิสงส์แห่งการสร้างหรือฟังมหาเวสสันดรชาดกไว้ว่า

“สังคายนาจารย์เจ้าทั้งหลายกล่าวดั่งนี้แล้ว ก็กล่าวคาถามาว่า “ปูชา ปาเก เตชยนติ ทุคคติ เตน ปุญญสส ปาเก “ ดังนี้ว่า อันว่าคนทั้งหลายฝูงใด ได้บูชามหาเวสสันดรชาตก ผู้นั้นก็จะได้เป็นเจ้าพระยาในเมืองคน ยศประวารบ่จนมีมาก ชางม้าหากเนืองนันต์ มีกลองนันทเภรีเก้าพันลูก เปี๊ยะพิณผูกเก้าพันเสียง สัททะสำเนียงชมชื่น สนุกต้องตื่นทุกรวายตรีทิวา ทาสีทาสามีมาก พร้อมอยู่แวดล้อมเฝ้าปฏิบัติ ทิพพสัมปัตติล้ำเลิศ ก็กลับเกิดมีตาม เล้มเงินเล้มคำและเสื้อผ้า ทั้งช้างม้าและเปลือกเข้าสาร ก็จักมีตามปรารถนาทุกเมื่อ จำเริญเชื่อมงคล ยถา ในกาลเมื่อใดพระศรีอริยเมตไตรยมาตรัสประยาและปัญญา เป็นพระพายหน้าบุญแก่กล้าก็จักได้หันหน้าท่านบ่สงสัย เหตุได้เป็นปาเถยยะกับธัมม์เวสสันตระชาตกะ อันยกมาที่นี้แล้ว ก็จักเถิงเซิ้งเวียงแก้วยอดมหาเนรพาน บ่อย่าชะแล”

คัดมาจากธรรมอานิสงฆ์สร้างมหาเวสสันตรชาดก ของล้านนาไทยซึ่งโบราณาจารย์ท่านได้แต่งไว้อีกประการหนึ่งท่านกล่าวว่า “ บุคคลใดตั้งใจฟังธรรมมหาชาติจนจบ 13 กัณฑ์ ภายในวันหนึ่งคืนหนึ่ง ท่านว่าผู้นั้นจะวุฒิจำเริญด้วยสมบัตินานาประการในปัจจุบัน และจะได้เกิดร่วมศาสนาพระศรีอริยเมตไตรยในอนาคต ไม่ต้องสงสัย

ในคัมภีร์มาลัยสูตรก็กล่าวเป็นใจความว่า “เมื่อครั้งมหาเถรขึ้นไปนมัสการพระเกศแก้วจุฬามณีในชั้นดาวดึงษ์นั้น ได้พบพระอริยเมตไตรยเทพบุตร ท่านก็ได้สั่งมหาเถรเจ้ามาว่า “ให้คนทั้งหลายฟังธรรมมหาชาติให้จบทั้ง 13 กัณฑ์ในวันเดียวคืนเดียว แล้วจะได้ร่วมกับศาสนาของเรา” ดังนี้ เมื่อพระมหาเถรเทพมาลัยกลับจากสวรรค์แล้ว ก็นำเรื่องนี้มาบอกกับชาวโลกคนทั้งหลายได้ฟังก็เลยพากันฟังเทศน์มหาชาติจนถือเป็นประเพณีมา”

เพราะความนิยมที่คนชอบชาดกเรื่องนี้มาก จึงเกิดมหาชาติล้านนาไทยสำนวนต่าง ๆ ขึ้นประมาณ 120 สำนวน ส่วนมากแต่งมาตั้งแต่สมัยพระเจ้ากือนา (พ.ศ. 1910 -1943) และแต่งในสมัยต่อ ๆ มา จนถึง พ.ศ. 2300 ในสมัยพระเจ้ากาวิละต้นรัตนโกสินทร์ ได้มีนักปราชญ์ล้านนาไทยนำเอามหาชาติสำนวนเก่ามาเกลาใหม่ เช่นฉบับอินทร์ลงเหลา (เหลาแปลว่า เกลา) ฉบับพระยาพื้น เป็นต้น

การฟังเทศน์มหาชาติ
การฟังเทศน์มหาชาติ นิยมฟังกันมาตั้งแต่สมัยโบราณมา โดยปฏิบัติตามคำสั่งของอริยเมตไตรยเทพบุตร ให้จบในวันหนึ่งคืนหนึ่ง และแต่งเครื่องบูชาครบตามที่สั่งไว้ คือดอกบัวเผื่อน ดอกปีบ ธูป เทียน ข้าวตอกให้ครบพัน เพื่อบูชาพันคาถาในเรื่องนี้พร้อมกับวาดรูปนี้เป็นกัณฑ์ ๆ ของเหล่านี้เตรียมวางไว้หน้าพระประธานในวิหาร ส่วนรูปช้างม้าที่เป็นของทานแห่งพระยาเวสสันดรนั้น ส่วนมากทำด้วยแผ่นเงินตอกเป็นรูปนูนด้านหนึ่งมัดแขวนไว้ที่ค้างเหมือนฉัตร รูปภาพมัดนั้นแขวนไว้ตามผาผนัง ส่วนดอกบัวเผื่อนนั้นจะลอยบนกระถางน้ำก็ได้ ส่วนดอกปีบทำเป็นแผง ๆใช้ดอกไม้แห้งทำถึงแม้ดอกบัวเผื่อนจะทำเช่นนี้ก็ได้
นอกจากสิ่งของที่กล่าวมาแล้ว เมื่อจะมีการฟังเทศน์มหาชาติ ซึ่งถือเป็นประเพณีสืบต่อกันมา ท่านกำหนดเอาวันเดือนยี่ (เหนือ ) เพ็ญเป็นวันฟังเทศน์เรื่องนี้ อันเป็นจบประเพณีฟังในฤดูเข้าพรรษา ตามที่กล่าวในประเพณีเข้าพรรษานั้น

ก่อนจะถึงวันฟังเทศน์มหาชาติ ทุกวัดวาอารามจะเตรียมสถานที่ ทำซุ้มประตูวัดเรียกกันว่าซุ้มประตูป่า สมมุติว่าเป็นประตูเข้าสู่ป่าหิมพานต์ อันเป็นด่านที่พรานเจตบุตรคอยเฝ้าระวังมิให้คนใดผ่านเข้าไปรบกวนพระเวสสันดร ต่อจากประตูวัดเข้าไปจะทำราชวัตรปลูกกล้วยอ้อยประดับช่อทุงและฉัตร บริเวณลานวัดจะผังค้างโคมแขวน โคมทำด้วยกระดาษ โครงทำด้วยไม้ไผ่หักเป็นเหลี่ยมเป็นมุม หุ้มรอบป้องกันมิให้ลมพัดไฟดับ ด้านล่างของโคมจะใช้กระดาษตัดขนาดเท่าผ่ามือ ยาวเหมาะสมกับโคมนั้น ทำเป็นชายห้อยลงมาหลายชาย เวลาแขวนอยู่บนค้างชายโคมนี้จะถูกลมพัดพริ้วน่าดูมาก หน้าวิหารจะมีโคมกระดาษรูปร่างแปลก ๆ แขวนเป็นระยะ ถ้ามีโคมมากก็จะแขวนถึงในวิหาร ส่วนในวิหารนั้นประดับด้วยธงราวและเครื่องบูชามหาชาติ โดยได้เขียนไว้เป็นกลอนในนิราศเดือนล้านนาไทย ดังต่อไปนี้ ฯลฯ

ราชวัตรฉัตรธงบรรจงจัด   ประดับวัดด้วยไฟวิไลร่าม
ประตูป่าหน้าอาวาสสะอาดงาม   กระทำตามแบบเก่าแต่เบาราณ
ปลูกกล้วยอ้อยถ้อยแถวเป็นแนวเหมาะ   ทางเฉพาะมุ่งสู่ประตูวิหาร
ฝังค้างโคมแขวนโคมโพยมยาน   พระพายพานพัดไกวอยู่ไปมา

ตามหำยนโคมห้อยไม่น้อยอย่าง   ประจงสร้างรูปร่างต่างกันหนา
เป็นรูปนกหกเหินจำเริญตา   ทั้งดาราดวงจันทร์พรรณราย
รูปเรือเล่นโผนโจนผงาด   ดารดาษประทีปปั้นฝั้นสีสาย
ในวิหารผูกธงราวดูพราวพราย   ทั้งธงชายแผ่นผ้าประดามี

โคมญี่ปุ่นแขวนราวดูพราวพร้อย   ระย้าย้อยตั้งโคมผัดจำรัสศรี
พึ่งแรงเทียนเวียนหมุนหุ่นเข้าที   เข้าทำดีรูปสร้างต่าง ๆ กัน
เป็นรูปรถคชสารทะยานเหยาะ   ทั้งรูปเกาะแก่งป่าพนาสัณฑ์
และรูปลิงรบรุมหมู่กุมภัณฑ์   รูปบุษบันชูช่อลออตา

เหมราชลงสระอโนดาต   รูปอากาศหนหาวพราวเวหา
รูปดาวฤกษ์ลอยเลื่อนเกลื่อนนภา   สกุณาโผผินล่าบินจร
สารพัดจัดไว้ในโคมผัด   พวกเด็กวัดเป็นหมู่ดูสลอน
ตามผนังติดรูปเวสสันดร   แต่ทศพรผุสดีลีลาลง

สิบสามกัณฑ์บันทึกผนึกภาพ   ให้คนทราบเรื่องรู้ดูไม่หลง
เป็นภาพงามตามถนัดจัดบรรจง   ระบายลงแผ่นผ้าอย่างน่าดู
หน้าแท่นแก้วบัลลังก์พุทธังอาสน์   ใช้พรมลาดตั้งโต๊ะบูชาหมู่
ประดับดอกไม้สดดูชื่นชู   สำหรับบูชาองค์พระทรงญาณ

ตั้งกระถางอ่างอุบลจงกลดอก   ตำราบอกแจ้งจิอธิษฐาน
ทั้งดอกปีบอย่างละอันพันตระการ   แต่โบราณบูชาคาถาพัน
ฯลฯ   

วันเดือนยี่เหนือขึ้น 14 ค่ำ เวลาประมาณ 15.00 น ศรัทธาชาวบ้านจะมาฟังเทศน์คาถาพัน คือเรื่องราวของเวสสันดรชาดกที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เป็นภาษาบาลี รวมทั้งหมดมี 1,000 พระคาถา และเทศน์คัมภีร์ต่อไปอีก คือ คัมภีร์มาลัยต้น มาลัยปลายและอานิสงส์เวสสันตระ

รุ่งขึ้นวันเดือนยี่เหนือเพ็ญ เวลาเช้าตรู่จะเริ่มฟังกัณฑ์ทศพรและกัณฑ์ต่อ ๆ มาตามลำดับ มีเวลาพักตักบาตรตอนเช้าและฉันเพล จากนั้นก็เทศน์ติดต่อกันไป เมื่อเทศน์กัณฑ์ใดเจ้าภาพของกัณฑ์ก็จะจุดธูปเทียนบูชาคาถาของกัณฑ์นั้น จนครบคาถา ดังนี้

1.   กัณฑ์ทศพร   มี 19 คาถา
2.   กัณฑ์หิมพาน   มี 134 คาถา
3.   ทานกัณฑ์   มี 209 คาถา
4.   กัณฑ์ประเวสน์   มี 57 คาถา
5.   กัณฑ์ชูชก   มี 79 คาถา
6.   กัณฑ์จุลพล   มี 15 คาถา
7.   กัณฑ์มหาพน   มี 80 คาถา
8.   กัณฑ์กุมาร   มี 10 คาถา
9.   กัณฑ์มัทรี   มี 90 คาถา
10.   กัณฑ์สักกบรรพ   มี 43 คาถา
11.   กัณฑ์มหาราช   มี 69 คาถา
12.   กัณฑ์ฉกษัตริย์   มี 39 คาถา
13.   นครกัณฑ์   มี 48 คาถา
รวมทั้งหมด   1,000 คาถา
ชื่อกัณฑ์เทศน์และเนื้อเรื่องย่อในแต่ละกัณฑ์
*ในแต่ละกัณฑ์ที่พระสงฆ์จะเทศน์จะมีเนื้อเรื่องย่อซึ่งเป็นเรื่องราวของเวสสันดรชาดกที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เป็นภาษาบาลีดังนี้

กัณฑ์ที่ 1 ชื่อกัณฑ์ทศพร พรรณนาตอนที่พระนางผุสดีขอพรจากพระอินทร์ 10 ประการ ก่อนที่จะจุติในโลกมนุษย์เป็นมารดาของพระเวสสันดร

กัณฑ์ที่ 2 ชื่อกัณฑ์หิมพานต์ พรรณนาถึงจุติปฏิสนธิของพระเวสสันดร จนถึงทรงได้อภิเษกสมรสกับพระนางมัทรี พระธิดาแห่งกษัตริย์แคว้นมัทราชจนกระทั่งถูกเนรเทศออกจากเมืองเข้าสู่ป่าพรรณนาถึงป่าหิมพานต์

กัณฑ์ที่ 3 ชื่อทานกัณฑ์ พรรณนาสัตตสดกมหาทาน พระเวสสันดรสั่งเมืองและให้ทานรถเทียมด้วยม้าแก่ผู้ที่มาทูลขอ

กัณฑ์ที่ 4 ชื่อกัณฑ์วนปเวศน์ พรรณนาถึงสี่กษัตริย์เสด็จถึงนครมาตุลราช พระยาเจตราฐ เจ้าเมืองทูลขอให้ครองสมบัติ พระเวสสันดรไม่ทรงรับ

กัณฑ์ที่ 5 ชื่อกัณฑ์ชูชก พรรณนาถึงพราหมณ์ชูชกขอทานจนได้นางอมิตตดาลูกสาวเพื่อนเป็นเมีย เมียต้องการคนรับใช้ให้พราหมณ์ชูชกไปขอกัณหาและชาลีมาเป็นคนใช้ พราหมณ์จึงออกเดินทางไปสู่เขาวงกฏ เจอพรานเจตบุตรผู้รักษาทางเข้าป่าหิมพานต์

กัณฑ์ที่ 6 ชื่อกัณฑ์จุลพน พรานเจตบุตรถูกชูชกหลอกจึงบอกทางไปสู่เขาวงกฏ

กัณฑ์ที่ 7 ชื่อกัณฑ์มหาพน พรรณนาถึงพราหมณ์ชูชกพบอจุตฤาษี ก็ชี้ทางไปสู่เขาวงกฏ พรรณนาถึงป่าเขาลำเนาไพร

กัณฑ์ที่ 8 ชื่อกัณฑ์กุมาร ชูชกไปถึงเขาวงกฏเพื่อขอกัณหาชาลี สองกุมารลงไปหลบในสระน้ำ พระเวสสันดรเรียกขึ้นมามอบให้พราหมณ์ชูชก ชูชกทุบตีฉุดกระชากลากสองกุมารไป

กัณฑ์ที่ 9 ชื่อกัณฑ์มัทรี พระนางมัทรีกลับจากหาผลไม้ในป่าพบสัตว์สามตัวนอนขวางทางจึงไม่พบลูกทั้งสอง พอทราบความจริงก็เป็นลมสลบไป

กัณฑ์ที่ 10 ชื่อกัณฑ์สักกบรรพ์ พระอินทร์แปลงกายมาทูลขอพระนางมัทรีจากพระเวสสันดรแล้วคืนให้ พระเวสสันดรทูลขอพร 8 ประการจากพระอินทร์

กัณฑ์ที่ 11 ชื่อกัณฑ์มหาราช พราหมณ์ชูชกพา 2 กุมารหลงทางเข้าสู่เมืองสีพี พระเจ้าสัญชัยทรงไถ่กุมารคืนด้วยสิ่งของอย่างละ 100 พราหมณ์ชูชกรับประทานอาหารจนตายพระเจ้าสัญชัยเตรียมไปรับพระเวสสันดรและพระนางมัทรี

กัณฑ์ที่ 12 ชื่อกัณฑ์ฉกษัตริย์ พรรณนาถึงหกกษัตริย์พบกัน เกิดความยินดีจนเศร้าโศกสลบไป พระอินทร์บันดาลฝนโบกขรพรรณตกลงมาประพรมจนฟื้นคืนสติทั้งหมด

กัณฑ์ที่ 13 ชื่อกัณฑ์นครกัณฑ์ (ขณะเทศน์จะมีการโปรยข้าวตอกข้าวสาร สมมติว่าพระอินทร์ได้บันดาลฝนแก้ว “รัตนธารา”) กัณฑ์สุดท้ายถือเป็นกัณฑ์ชัยมงคลพรรณนาถึงพระเวสสันดร พระนางมัทรี ลาจากเพศพรตฤาษีนิวัติคืนสู่พระนครครองเมืองสีพี พระอินทร์บันดาลห่าฝนสัตตรตนะธาราตกลงทั้งภูมิมณฑลโปรดให้ประชาชีทำบุญทำทาน ตลอดพระชนมชีพ

เมื่อเทศน์จบกัณฑ์หนึ่งๆ จะมีการประโคมฆ้องกลองบูชาบนวิหารก็จะจุดประทัดบอกสัญญาณให้รู้ว่า“ธรรมจบ กัณฑ์หนึ่ง“แล้วคนอยู่ที่ไหนได้ยินเสียงกลองก็จะประนมมือไหว้มาทางวัดกล่าว คำว่า “สาธุ”
* (จากเอกสารแนะนำภูมิปัญญาล้านนา ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดลำพูน โรงเรียนส่วนบุญโญปถัมภ์ลำพูน)

กัณฑ์ที่นิยมฟังเป็นพิเศษและนิยมเสียง
ในมหาเวสสันดรชาดกทั้ง 13 กัณฑ์นั้น จะมีบางกัณฑ์ที่คนนิยมฟังเป็นพิเศษและนิยมกำหนดเสียงพระนักเทศน์ไว้ คือ

1.   กัณฑ์ชูชก   นิยมเสียงใหญ่หรือค่อนข้างใหญ่
2.   กัณฑ์มัทรี   นิยมเสียงเล็กคล้ายเสียงผู้หญิง
3.   กัณฑ์กุมาร   นิยมเสียงเล็กกลมกล่อมนุ่มนวล
4.   กัณฑ์สักกบรรพ   นิยมเสียงคล้ายกับมัทรีหรือกุมาร
5.   กัณฑ์มหาราช   นิยมเสียงใหญ่หนักแน่น
6.   กัณฑ์ฉกษัตริย์   นิยมเสียงเด็กส่วนมากเป็นสามเณรเล็กๆเทศน์
7.   นครกัณฑ์   นิยมเสียงใหญ่ทุ้มกังวาน
ในการเทศน์ตามกัณฑ์ที่กล่าวมานี้ ก่อนจะเทศน์พระผู้เทศน์จะใส่กาบเค้า คือแหล่กาพย์ตอนต้นจะเป็นเรื่องอะไรก็ได้ที่เข้ากับเหตุการณ์ เช่น กาบสิทธารถ กาบพิมพาพิลาป กาบศีลห้า เป็นต้น แต่เสียงใหญ่มักนิยมใส่กาบคำสอน เช่น กาบทศพิธราชธรรม กาบร่ำสงสาร เป็นต้น เฉพาะกัณฑ์ชูชก จะต้องใส่กาบเค้าเรื่องกำเนิดของชูชก เมื่อจบกาบเค้าแล้วจะดำเนินเทศน์ตามเนื้อเรื่องที่มีในคัมภีร์

เมื่อเทศน์จบในกัณฑ์ใดแล้ว จะมีการใส่กาบปลายอีกครั้งหนึ่ง เป็นการสรุปใจความในกัณฑ์นั้น ถ้าเป็นกัณฑ์สุดท้ายคือนครกัณฑ์ มักจะใส่กาบลำดับกัณฑ์ คือสรุปเรื่องราวของมหาเวสสันดรทั้งหมด ตั้งแต่กัณฑ์ทศพรถึงนครกัณฑ์

การฟังเทศน์มหาชาตินี้ มีบางครั้งบางกัณฑ์เช่นกัณฑ์มัทรี กัณฑ์กุมาร กัณฑ์มหาราชมักจะนิมนต์พระที่เทศน์เก่งมาเทศน์ประชันกัน การเทศน์ประชันกันนี้ ให้องค์หนึ่งเทศน์จนจบกัณฑ์แล้วองค์ที่ 2 จึงจะเทศน์ต่อ ไม่ได้เปลี่ยนกันแหล่สลับกันเหมือนภาคกลาง มีการเทศน์ในกัณฑ์เดียวมากๆเวลาที่จะฟังให้จบในวันหนึ่งคืนหนึ่งก็น้อยลง บางครั้งเมื่อเทศน์ถึงนครกัณฑ์จวนจะจบแล้ว พระอาทิตย์ในวันใหม่ก็จะโผล่พ้นขอบฟ้า ศรัทธาต้องเร่งปิดประตูวิหารเพื่อมิให้แสงสว่างอย่างนี้ก็มี

การตั้งธรรม
เมื่อพูดถึงประเพณีการเทศน์มหาชาติ ก็ใคร่จะนำเอาประเพณีการตั้งธรรมมาพูดรวมไว้ในทีเดียวกัน “การตั้งธรรม” ฟังชื่อแล้วรู้สึกแปลกเหมือนเอาพระธรรมคัมภีร์มาตั้งไว้ ความเป็นจริงหมายถึงการฟังเทศน์เป็นการใหญ่ คือฟังกัน 3 วันบ้าง 5 วันบ้าง 7 วันบ้าง 10 วันบ้างการตั้งธรรมเช่นนี้เป็นประเพณีนิยมสืบต่อกันมา ตั้งแต่สมัยโบราณ

วัตถุประสงค์ เพื่อต้องการหาเงินมาสร้างสิ่งถาวรภายในวัดอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะในสมัยโบราณนั้นยังไม่มีการทอดกฐิน หรือผ้าป่าบำรุงเหมือนปัจจุบัน

เมื่อจะตั้งธรรมก็ประชุมศรัทธาชาวบ้านถามความเห็น เป็นการปรึกษาหารือกัน เมื่อศรัทธาส่วนมากเห็นชอบด้วย ก็จะกำหนดเดือนวันที่จะตั้งธรรม ส่วนมากมักจะเป็นเดือนยี่ เดือน 3 เดือน 4 เดือน 5 เดือน 6 เหนือ นอกจากเดือนเหล่านี้แล้วไม่นิยมกัน

ธรรมหรือคัมภีร์ที่ใช้เทศน์
เมื่อตกลงกันแล้วก็จะเริ่มหาศรัทธาเป็นเจ้ากัณฑ์นั้นๆ ใครจะเป็นเจ้าภาพเรื่องอะไร กัณฑ์ไหนก็มาแจ้งแก่เจ้าอาวาส ท่านจะจดชื่อไว้

นักปราชญ์ล้านนาไทยแต่โบราณ ท่านมีกุศโลบายอันฉลาดที่จะดึงให้ชาวบ้านรู้จักทำบุญท่านได้กำหนดชาดกธรรมประจำปีเกิด เดือนเกิด วันเกิด ของคนทั้งหลายไว้ พร้อมกับบอกไว้ว่า”บุคคลใดก็ตาม” ถ้าริบรอมทรัพย์สมบัติใดไม่ขึ้น เก็บเงินไม่อยู่มักทำให้สิ้นไปหมดไป ให้ทานธรรมชาตาของตนเสีย แล้วจะวุฒิจำเริญ”

ปรากฏว่าคนทั้งหลายต่างก็ขวนขวายหาทางสร้างคัมภีร์ทั้งหลายอันเป็นธรรมประจำชาตาตนเอง โดยจ้างคนที่เข้าใจจารคัมภีร์นั้นๆให้ แล้วนำมาถวายแก่สงฆ์ ด้วยเหตุนี้คัมภีร์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นมหาชาติหรือชาดกอื่นๆมักจะมีเป็นจำนวนมาก บางวัดเฉพาะมหาชาติมีเป็นตู้ๆปิฏกะทั้งสามมีเยอะทีเดียว หากว่าไม่อาจจะสร้างใหม่ ท่านก็อนุญาตให้บูชา (เช่า) เอาคัมภีร์ที่มีอยู่แล้วในวัดมาถวายทาน ก็ชื่อว่าได้บุญได้อานิสงส์เช่นกัน

ธรรมคัมภีร์ที่ท่านกำหนดไว้เป็นธรรมชาตาปี

คนเกิดปี      ธรรม
ไจ้   (ชวด)   เตมียะ
เป้า   (ฉลู)   เวสสันดร
ยี   (ขาล)   สุทธนะ
เหม้า   (เถาะ)   เนมิราช
สี   (มะโรง)   สมภมิตร
ไส้   (มะเส็ง)   ภูริทัต
สะง้า   (มะเมีย)   สุธน
เม็ด   (มะแม)   ช้างฉัททันต์
สัน   (วอก)   มโหสถ
เส้า   (ระกา)   สิทธัตถะ
เส็ด   (จอ)   กุสราช
ไก๊   (กุน)   สุตตโสม
ธรรมคัมภีร์ที่ท่านกำหนดให้เป็นธรรมชาตาเดือน

คนเกิดเดือน      ให้สร้างธรรม
เกี๋ยง   (11)   สุทธนู หรือปฐมกัปป์
ยี่   (12)   ช้างฉัททันต์ หรือปทุมกุมาร
สาม   (อ้าย)   มโหสถ หรือ มัฎฐกุณฑลี
สี่   (ยี่)   หงส์ผาคำ หรือ ภูริทัต
ห้า   (3)   อมธรา หรือ ปุริสาท
หก   (4)   พุทธโฆสเถร หรือ เตมิยะ
เจ็ด   (5)   อรินทุม หรือเนมิราช
แปด   (6)   สิทธัตถะ หรือ พารทะ
เก้า   (7)   พุทธาภิเสก หรือ ทสะสิบชาติ วิฑุรบัณฑิต
สิบ   ( 8 )   ธรรมจักร หรือ สุวรรณสาม
สิบเอ็ด   (9)   พุทธนิพพาน หรือ เวสสันตระ
สิบสอง   (10)   มหามังคลสูตร หรือ สมภมิตร
ธรรมหรือคัมภีร์ที่ท่านกำหนดให้เป็นธรรมชาตาวัน

คนเกิดวัน   ให้สร้างธรรม
วันจันทร์   สังคิณี
วันอังคาร   วิภังคะ
วันพุธ   ปุคคลปัญญัตติ
วันพฤหัสบดี   กถาวัตถุ
วันศุกร์   ยมกะ
วันเสาร์   มหาปัฏฐาน
ใครเกิดปีใด เดือนใด ปีใด ก็เลือกสร้างหรือบูชา (เช่า) ธรรมคัมภีร์นั้นๆนำไปไว้ที่บ้านตระเตรียมทำกัณฑ์เทศน์ตามแต่อัธยาศัย ใครจะทำบุญอุทิศให้แก่ใครก็เขียนใส่สะเรียงคือกระดาษตัดเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านไม่เท่ามีปลายแหลม แล้วเอาพันปลายไม้ที่เหลาไว้ปักบนกัณฑ์เทศน์

กำหนดวันฟังเทศน์หรือตั้งธรรม
มีคนเอากัณฑ์เทศน์หรือธรรมมาก ทางวัดก็จะกำหนดวันที่จะฟังเทศน์กัณฑ์นั้นๆถ้ามีผู้เป็นศรัทธากัณฑ์เทศน์ มหาชาติมากๆก็จะกำหนดฟังมหาชาติเป็นวันๆ เช่น 2 วัน 3 วันเป็น ต้น นอกนั้นฟังธรรมวัตรคือธรรมคัมภีร์ที่ไม่ใช่มหาชาติ สลับวันกับการฟังเทศน์มหาชาติ
เมื่อกำหนดวันแล้วก็จะนำคัมภีร์นั้นๆไปตกหัววัดที่เคยทำบุญถึงกัน วัดละกัณฑ์ ส่วนมหาชาตินั้นถ้าต้องการจะฟังพระองค์ใดที่ไหน ก็ไปนิมนต์ท่านถึงวัดแม้หัววัดจะไม่เคยถึงกันก็ตาม กำหนดนิมนต์ให้ท่านมาเทศน์ในวันที่กำหนดไว้ ส่วนมากการฟังเทศน์มหาชาติจะมีกี่วันก็ตามแต่ต้องฟังในวันสุดท้ายด้วย

การประดับตกแต่งสถานที่
ในการฟังเทศน์ทุกวันจะมีการเวนทานโดยอาจารย์ของวัดทุกวัด ส่วนวันใดมีการเวนทานธรรมคัมภีร์เวสสันดรชาดก ก็จะเวนทานมหาชาติซึ่งนักปราชญ์โบราณได้แต่งไว้โดยเฉพาะ เป็นประเพณีสืบต่อกันมา ในปัจจุบันนี้การตั้งธรรมหรือฟังเทศน์มหาชาติไม่ค่อยได้ทำตามแบบตามที่โบราณาจารย์กำหนดไว้ การสร้างธรรมคัมภีร์ตามชาตาปี เดือน วันเกิดของตน ก็ไม่ค่อยจะมีใครปฏิบัติตามเท่าไรนัก อาจเป็นเพราะไม่ทราบหรือเพราะประเพณีทางภาคกลางเข้ามาครอบงำจนไม่ทราบประเพณีอันแท้จริงของล้านนาไทย ประกอบกับทางการก็ไม่สนับสนุนฟื้นฟู สิ่งที่นับวันจะหายไป คือ พระธรรมคัมภีร์ทั้งหลายจะน้อยลง พระนักเทศน์ทำนองมหาชาติล้านนาไทยก็จะหมดไป ปัจจุบันมีเหลืออยู่ไม่กี่รูป ส่วนมากก็มีอายุเกิน 75 ปีแล้ว ถึงแม้จะจัดให้มีการฟังเทศน์มหาชาติในปัจจุบัน ก็เลือกฟังเฉพาะกัณฑ์ ไม่ได้ฟังครบทั้ง 13 กัณฑ์ กัณฑ์ดังกล่าวและฟังกันเพื่อความสนุกสนานเหมือนฟังจำอวดไป

http://www.lanna-arch.net/society/nov_3