ผู้เขียน หัวข้อ: คำตอบของชีวิต : บทสัมภาษณ์หลวงพี่นิรามิสา แห่งหมู่บ้านพลัม ( รายการเจาะใจ )  (อ่าน 1219 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


บทสัมภาษณ์หลวงพี่นิรามิสา แห่งหมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส : คำตอบของชีวิต
รายการ ‘เจาะใจ’ ๘ มีนาคม ๒๕๕๐


สัญญา              วันที่ ๘ มีนาคม ตรงกับวันสตรีสากล เป็นวันที่เราจะได้ระลึกถึงความสำคัญของผู้หญิง และสิ่งดีงามที่ท่านได้ทำไว้ให้กับโลกของเรา  ‘เจาะใจ’ มีแขกรับเชิญเป็นสุภาพสตรีท่านหนึ่ง ซึ่งท่านเลือกที่จะบวชเป็นภิกษุณี อยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส  เหตุผลในการบวชและวิถีชิวิตการเป็นนักบวชหญิงเป็นอย่างไร เราจะได้คุยกันในช่วงนี้ครับ... กราบนมัสการท่านนิรามิสาครับ …ผมไม่แน่ใจว่าเราควรจะเรียกท่านว่าอย่างไรครับ
หลวงพี่นิรามิสา    เรียก “หลวงพี่” ก็ได้ค่ะ
สัญญา               หลวงพี่ถือศีลเหมือนพระภิกษุสงฆ์ทั่วไปอย่างนั้นใช่ไหมครับ
หลวงพี่นิรามิสา    ค่ะ
สัญญา               ท่านบวชมากี่ปีแล้วครับ
หลวงพี่นิรามิสา    บวชมา ๙ ปี ค่ะ
สัญญา               ท่านเป็นคนไทยใช่ไหมครับ
หลวงพี่นิรามิสา    ค่ะ
สัญญา               แต่ไปบวชที่ฝรั่งเศส ในนิกาย ...
หลวงพี่นิรามิสา    นิกายพุทธมหายาน
สัญญา               จริงๆ แล้ว มหายานแบ่งไปอีกเยอะใช่ไหมครับ
หลวงพี่นิรามิสา    ใช่ค่ะ
สัญญา               แบบนี้เรียกว่าอะไรครับ
หลวงพี่นิรามิสา    นี่เป็นเซนมหายานค่ะ
สัญญา               หลวงพี่ถือศีลเท่าไรนะครับ ๒๒๗ ข้อ ?
หลวงพี่นิรามิสา    สำหรับทางสายของเรา พระภิกษุณีจะถือศีล ๓๔๘ ข้อ และพระภิกษุในสายมหายานจะถือ ๒๕๐
สัญญา               อ๋อ..ตามแต่ละนิกาย ... เราจะย้อนไปในมุมมองของสุภาพสตรีท่านหนึ่งที่เลือกที่จะศึกษาพระธรรมคำสอน ... หลวงพี่อยู่เมืองไทยตั้งแต่เกิด เป็นคนไทยเลยใช่ไหมครับ
หลวงพี่นิรามิสา    ใช่ค่ะ
สัญญา               เริ่มต้นยังไงครับ เรียนหนังสือยังไง ที่ไหน เป็นคนกรุงเทพฯ หรือเปล่าครับ
หลวงพี่นิรามิสา    เป็นคนกรุงเทพฯ ค่ะ เกิดอยู่ที่กรุงเทพฯ เกิด รพ.หญิง และเกิดอยู่ในครอบครัวคนจีน คุณพ่อคุณแม่ทำค้าขาย เรียนหนังสืออยู่ที่กรุงเทพฯ
สัญญา               ถึงชั้นไหนครับ
หลวงพี่นิรามิสา    เรียนต่อพยาบาลรามาธิบดี ที่ ม.มหิดล แล้วทำงานอยู่ที่ รพ.รามาธิบดีอยู่ช่วงนึง แล้วออกไปทำงานอยู่ที่ค่ายอพยพ ที่ชลบุรีค่ะ
ปิยะ                  ทำไมหลวงพี่ถึงสนใจที่จะเป็นพยาบาลครับ
หลวงพี่นิรามิสา    จริงๆ ตอนเป็นวัยรุ่น ตอนอายุ ๑๖ ขวบ ก็จะสงสัยว่า เอ๊ะ..เราเกิดมาทำไม แล้วเราอยากจะทำอะไรในชีวิต ก็มักจะถามจากรุ่นพี่ๆ ว่าเค้าไปเรียนอะไรมา ทำอะไรบ้าง ... ตั้งแต่คนที่ไปทำธุรกิจบ้าง เป็นแอร์โฮสเตสบ้าง เป็นหมอ เป็นพยาบาล ... และคงเป็นคนที่ชอบ...อยู่เฉยๆบางครั้งชอบนั่งคิด แล้วอยู่ดีๆ วันนึงก็คิดขึ้นได้ว่า ทำอะไรก็ได้ที่ได้ช่วยคนอื่น ทำอะรก็ได้ที่ได้ช่วยเหลือคน ทำอะไรก็ได้ที่ได้อยู่กับคน ... ตอนนั้นก็ต้องสอบเอ็นทรานซ์ ก็ต้องเลือก เลยเลือกงานเกี่ยวกับทางด้านเป็นหมอ เป็นพยาบาลที่ได้ช่วยเหลือคน...ทำนองนี้ แล้วก็ติดอันดับที่เลือกได้เข้าเรียนเป็นพยาบาล
สัญญา               เกี่ยวไหมครับ ที่พอทำงานเห็นคนเจ็บป่วย เห็นความไม่เที่ยงแท้แน่นอน เลยสนใจธรรมะ
หลวงพี่นิรามิสา    จริงๆ มีความสนใจมาก่อนหน้านั้นนะคะ ตั้งแต่แรก
ปิยะ                  ตั้งแต่เมื่อไหร่ครับ หลวงพี่
หลวงพี่นิรามิสา    คงเป็นช่วงอายุ ๑๕-๑๖ แถวนั้นค่ะ จะมีความสนใจในลักษณะอย่างนี้  และอีกอันหนึ่งคือ มีความสนใจทางด้านจิตวิญญาณ ทางด้านเกี่ยวกับจิตใจ ก็จะไปสวนโมกข์เป็นระยะๆ ... เข้าวัดบ่อยไหม ก็ไม่บ่อย แต่ก็จะหาอ่านหนังสือ สมัยนั้นเด็กวัยรุ่นก็จะชอบอ่านนิยาย เพื่อนๆ ก็จะอ่านนิยายกัน แล้วก็ติดนิยาย เราก็พยายามอ่านเหมือนกัน แต่มันไม่ติด แต่ก็อ่าน...แต่พออ่านหนังสือที่เกี่ยวกับเรื่องที่ไม่เชิงธรรมะเสียทีเดียว แต่เป็นหนังสือที่มีความหมาย ซึ่งตอนอายุ ๑๖ ก็ได้อ่านหนังสือของหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ เล่มแรกคือ เรื่อง ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ
สัญญา               ท่านติช นัท ฮันห์ ที่เราพูดถึงก็คือพระอุปัชฌาของหลวงพี่
หลวงพี่นิรามิสา    ใช่ค่ะ
สัญญา               ท่านเจออะไรที่มันน่าสนใจเป็นพิเศษในนั้น อะไรที่เป็นเสน่ห์ที่ทำให้สนใจเรื่องนี้มาก
หลวงพี่นิรามิสา    เสน่ห์อยู่ที่ว่ารู้สึกว่าเราเอามันมาใช้ได้ในชีวิตของเรา แล้วมันเข้าใจง่าย และตอนที่อ่านครั้งแรกไม่คิดว่าผู้เขียนยังมีชีวิตอยู่ และก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นหนังสือทางด้านศาสนา แต่รู้สึกว่าเป็นวิธีแนะนำที่ง่ายๆ ที่ทำยังไงให้ชีวิตเราเบิกบาน ทำยังไงให้ชีวิตเรามีความสุข
สัญญา               มันตอบคำถามตั้งแต่เด็กของท่านไหมครับ หนังสือเล่มนี้
หลวงพี่นิรามิสา    ตอบค่ะ
สัญญา               ว่าเราเกิดมาทำไม เราควรจะใช้ชีวิตอย่างไร
หลวงพี่นิรามิสา    ค่ะ ใช่ ... ท่านก็จะแนะนำอย่างง่ายๆ ว่า เวลาล้างจานก็เพื่อล้างจาน ล้างจานยังไงให้มีความสุข หรือว่าทานผลส้มยังไงให้มีความสุข เราก็รู้สึกว่า โอ๊ย ทำไมชีวิตมันง่าย
สัญญา               มีความสุขง่ายมากกับเรื่องที่บางคนอาจจะนึกว่าไม่มีอะไร ก็แค่ทำๆ ไป
หลวงพี่นิรามิสา    ใช่ๆ
สัญญา               จากเป็นพยาบาล ได้ทำงานที่ค่ายอพยพ ๔ ปี แล้วไปยังไงต่อครับ
หลวงพี่นิรามิสา    ก็ไปเรียนต่อที่อเมริกาค่ะ ๒ ปี ทางด้านการศึกษาเด็กเล็ก หลังจากจบปริญญาโทก็ได้งานที่ประเทศลาว จากองค์กร American Friends Service Community เป็นองค์กรช่วยเหลือพัฒนาชาวบ้าน พัฒนาชนบท ให้ชาวบ้านช่วยเหลือตัวเองทั้งในด้านการศึกษา การเกษตร
สัญญา               อยู่ที่นั่นกี่ปีครับ
หลวงพี่นิรามิสา    จริงๆ อยู่ลาว ๗ ปี นะคะ แต่ว่างานที่ทำอยู่ตรงนั้น ๒ ปี และหลังจากนั้นก็เป็นที่ปรึกษาให้กับองค์การยูนิเซฟในเรื่องการทำวิจัยและทดลองโครงการเด็กและครอบครัวที่นั่น  แต่จริงๆ แล้วตอนช่วงที่ทำงานกับองค์กร American Friends Service Community นั้น ทำได้ ๒ ปี แล้วก็รู้สึกว่าเราอยากจะไปค้นพบพุทธศาสนาทางตะวันตก เพราะได้ข่าวว่าพุทธศาสนาทางตะวันตกนั้นเริ่มที่จะรุ่งเรือง และคงจะกลับมามีคำสอนที่เป็นประโยชน์ต่อทางเอเชีย ก็เลยติดต่อไปทางหมู่บ้านพลัม เพราะได้ข่าวว่ามีองค์กรพุทธศาสนาอยู่ที่นั่น ก็เลยเริ่มต้นรู้จักกับหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ ที่นั่น ... พอฝึกมาเรื่อยๆ เราก็เอามาใช้กับงาน แล้วรู้สึกว่าเรามีความสุขมากกับการทำงาน เข้ากันได้กับการทำงาน ทำงานก็มีความสำเร็จ ... แต่มันรู้สึกว่าชีวิตมันมีอะไรที่มากกว่านั้น
สัญญา               ผมสงสัยอย่างนี้ครับ ตอนอยู่ที่ลาว ท่านศึกษาจนรู้จักเรื่องราวของท่านติช แล้วก็รู้ว่ามีหมู่บ้านพลัมที่ฝรั่งเศส แต่ท่านตัดสินใจว่าท่านน่าจะอยากเป็นนักบวชตั้งแต่ตอนนั้น หรือครับ
หลวงพี่นิรามิสา    ไม่ใช่ค่ะ ฝึกกับท่าน ได้พบท่านเมื่อปี ๑๙๙๓ ตอนนั้นจริงๆ ก็มีความรู้สึกเหมือนลึกๆ อยากจะบวช แต่พอไปพบท่านแล้ว มีความรู้สึกเหมือนไม่ใช่ความรู้สึกที่อยากจะบวชที่แท้จริง เพราะตอนนั้นเราเหนื่อยล้าจากการทำงาน
สัญญา               อ๋อ ตอนนั้นคือทำงานแล้วรู้สึกว่าโลกมีความทุกข์เยอะ
หลวงพี่นิรามิสา    ใช่
สัญญา               แต่ยังไม่ได้แน่ใจว่าอยากจะบวช
หลวงพี่นิรามิสา    ใช่
สัญญา               เพียงแต่คิดว่าอาจจะเป็นทางเลือกหนึ่ง
หลวงพี่นิรามิสา    คือมีความทุกข์เยอะ...ในความรู้สึกลึกๆ คือรู้สึกว่าอยากจะหนีไปบวช  แต่พอไปฝึกกับท่านแล้ว เลิกล้มความตั้งใจที่อยากจะบวช
ปิยะ                  เหมือนกับว่ายังไม่พร้อมหรือครับ
หลวงพี่นิรามิสา    ค่ะ มีความรู้สึกว่าจริงๆ แล้วเราต้องกลับไปอยู่กับสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ให้ดีที่สุด และมันยังมีหนทางให้เรายังแก้ไขปัญหานั้นได้ ... อยู่กับงานอย่างมีความสุข อยู่กับคนที่เราทำงานด้วยอย่างมีความสุข และเรามีวิธีการที่จะกลับไปฝึกปฏิบัติที่จะทำ พอกลับไปฝึกปฏิบัติดูแล้ว เราก็ทำได้ และก็มีความสุขจริงๆ มันสัมผัสความสุขที่แท้จริงที่เราบอกไม่ได้
ปิยะ                  ครั้งแรกที่ไปหมู่บ้านพลัม ไปอยู่นานไหมครับ
หลวงพี่นิรามิสา    ทุกปีจะไปช่วงเวลา ๑ เดือน
สัญญา               ๑ เดือน อยู่ที่นั่นเลยหรือครับ
หลวงพี่นิรามิสา    ใช่ค่ะ
ปิยะ                  ฝึกอะไรบ้างครับ ตอนที่อยู่ที่วัด
หลวงพี่นิรามิสา    ก็ฝึกในวิถีชีวิตประจำวันนะคะ ตั้งแต่ตื่นนอน ตื่นยังไงให้มีความสุข...รู้จักที่จะฟังเสียงระฆัง กลับมาอยู่กับลมหายใจ...ฝึกการนั่งสมาธิ การเจริญสติ...ฝึกที่จะหยุดเมื่อได้ยินเสียงระฆัง...ฝึกที่จะเดินชมธรรมชาติอย่างมีความสุขในวิถี ทุกอิริยาบถ... การรับประทานอาหารอย่างมีสติ และจะได้ฟังเทศน์ ฟังบรรยายธรรมของท่าน นำไปใช้ร่วมกัน...ฝึกที่จะสนทนาธรรม เรียนรู้ซึ่งกันและกัน...ฝึกที่จะปรับความเข้าใจเวลาที่เรามีปัญหากับคนที่เรารัก หรือกับเพื่อนที่เราอยู่ด้วย จะมีวิธีการยังไงที่จะ... เขาเรียกว่า “เริ่มต้นใหม่”  ทำยังไงให้ความสัมพันธ์ของเราใหม่เสมอ และเข้าใจกันอยู่เสมอ... ก็จะมีหลายอย่าง... ฝึกที่จะฟังอย่างลึกซึ้ง ซึ่งเราเอาไปใช้ในที่ประชุมได้มาก ตอนที่กลับไปทำงาน ...ฟังยังไงให้เข้าใจว่าอีกฝ่ายกำลังพูดอะไร แทนที่ถ้าเป็นเมื่อก่อนจะเป็นประเภทที่ฟังเฉยๆ แล้วรอให้เขาพูดจบก่อน แล้วเราจะได้พูดของเราบ้าง ... แต่พอไปฝึกที่นั่น เราก็ได้เริ่มฟังจริงๆ ฟังเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่เขากำลังพูด บางทีไม่ได้เข้าใจสิ่งที่เขากำลังพูดออกมาด้วยซ้ำ แต่ว่าเข้าใจถึงแหล่งที่มาของสิ่งที่เขากำลังพูด ... พอฝึกอย่างนั้นได้ก็รู้สึกว่าชีวิตมันมีความสุข และที่นั่นจะฝึกสอนให้เรารู้จักรดน้ำเมล็ดพันธุ์แห่งความสุขด้วย คือ ทุกคนมีเมล็ดพันธุ์ที่เหมือนกับเป็นนิสัยที่ทำให้เราทำอะไรแล้วเรามีความสุขได้ โดยวิธีที่จะเดิน หรือว่าชมดอกไม้แล้วมีความสุข...จะทำยังไงที่จะให้ตัวเองมีความสุข สัมผัสกับความสุขที่แท้จริง
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


สัญญา              ฟังท่านพูดว่า ความสุข หลายครั้ง ในหลายอิริยาบถที่เราคุยกันอยู่ ... ผมคิดเอาเองนะครับ ถ้าไม่ถูกท่านช่วยสอนหน่อยนะครับ... ว่า ถ้าเรารู้สึกว่าสิ่งที่เราเป็นอยู่ ไม่ว่าเราจะทำอะไรอยู่ก็ตาม กินข้าว กินน้ำ เดิน ทำงาน หรือนอน หรืออ่านหนังสือ ถ้าไม่เป็นความสุข เราก็จะดิ้นรนไปหาความสุขจากอย่างอื่น และการดิ้นรนเหล่านั้นอาจจะเพิ่มความทุกข์ใส่ตัวก็เป็นได้... อย่างนั้นถูกไหมครับ
 
หลวงพี่นิรามิสา    ใช่ค่ะ เพราะว่าเวลาที่เราทำอย่างนั้น เราไม่รู้วิธีที่จะกลับมาอยู่กับปัจจุบัน
 
สัญญา               ทำสิ่งนี้ คิดสิ่งโน้น
 
หลวงพี่นิรามิสา    ใช่
 
สัญญา               และก็ไม่รู้ว่ากำลังเป็นอย่างไร และไม่รู้ว่าทุกข์หรือสุข
 
หลวงพี่นิรามิสา    ใช่
 
สัญญา               แต่บางทีทำไปทำมาเลยไม่ชอบมันเลย
 
หลวงพี่นิรามิสา    ใช่
 
สัญญา               แต่จริงๆ ทุกอย่างเป็นความสุขได้หมด หรือครับ
 
หลวงพี่นิรามิสา    ใช่ๆ  แม้ความทุกข์ก็เปลี่ยนแปรเป็นความสุขได้
 
สัญญา               ได้หรือครับ
 
หลวงพี่นิรามิสา    ได้ค่ะ
 
ปิยะ                  เปลี่ยนยังไงครับ
 
หลวงพี่นิรามิสา    (หัวเราะ)
 
สัญญา               ผมถามตัวอย่างง่ายๆ นะครับ สมมติผมกำลังโดนคุณหมอถอนฟัน ผมมีความทุกข์มาก เพราะผมเจ็บ และผมไม่อยากถอนฟัน มันเปลี่ยนเป็นความสุขได้หรือครับ
 
หลวงพี่นิรามิสา    ถ้าเรามีความเข้าใจ ความเข้าใจในความหมายตรงนี้ก็เหมือนกับปัญญา  ถ้ามีความเข้าใจว่า...
 
สัญญา               มันทำให้เราดีขึ้น
 
หลวงพี่นิรามิสา    ใช่  เราก็จะมีทัศนะที่ดีขึ้นต่อสิ่งที่เรากำลังจะต้องทำ...ถ้าเราเปิดใจของเรา เราก็จะฟังคุณหมอว่า...
 
สัญญา               มันเป็นอย่างไร เกิดอะไรขึ้นถึงต้องเป็นอย่างนั้น
 
หลวงพี่นิรามิสา    ใช่ ทีนี้ใจของเราจะเปิด และทัศนะของเราจะดีขึ้น... คนเราเวลาจะทุกข์หรือสุข มันอยู่ที่ใจ อยู่ที่วิธีคิดของเรามาก ทีนี้ถ้าเกิดว่าฟังคุณหมอแล้ว เข้าใจว่าต้องถอน ถ้าไม่ถอนแล้วเราจะทุกข์ ในอนาคตมันจะยิ่งทุกข์กว่านี้  อันนั้นเป็นทุนอันหนึ่งแล้ว ใจของเรามันเริ่มเปิดแล้ว
 
สัญญา               อ๋อ ถ้าเราถอนด้วยความรู้สึกว่าเรากำลังจะไปสู่สิ่งที่ดีกว่า
 
ปิยะ                  เหมือนกับเราเต็มใจในการที่จะถอนฟัน
 
สัญญา               นี่คือตัวอย่างอันหนึ่งเท่านั้น
 
หลวงพี่นิรามิสา    ค่ะ
 
สัญญา               แต่วิธีการที่ท่านได้รับมาก็คือว่า ทุกอิริยาบถของลมหายใจ เรามีความสุขได้ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม
 
หลวงพี่นิรามิสา    ใช่ๆ ใช่ค่ะ
 
สัญญา               นี่คือวิถี ... ท่านไปบ่อยไหมครับ ที่ว่าไป ๑ เดือน ปีละ ๑ ครั้ง กี่ปีครับ
 
หลวงพี่นิรามิสา    ปี ๙๔, ๙๕, ๙๖... ๓ ปีค่ะ แล้วปีที่ ๔ ปี ๙๗ ก็ไปอยู่เลย
 
สัญญา               คำว่า “อยู่” นี่คือไปถือบวช
 
หลวงพี่นิรามิสา    ตอนที่ตัดสินใจคือ เมื่อปีสุดท้ายที่อยู่ที่ประเทศลาว ก็คือปี ๑๙๙๖ แล้วเป็นวันเกิดของตัวเอง เดือนพฤษภา... ก็ไปเดินสมาธิ เดินจงกรมที่วัดในเวียงจันทน์  ที่จริงตอนนั้นก็เป็นช่วงที่ทั้งสุขทั้งทุกข์ เพราะว่าเรารู้ว่าพลังส่วนหนึ่งที่เราอยากจะไปเติบโตทางด้านจิตวิญญาณน่ะ..แรง แต่พลังทางด้านการทำงานทางโลก..ก็แรง เพราะว่างานก็ประสบความสำเร็จ และวิถีที่เราใช้มันก็ก้าวหน้า ... ในขณะที่เราเดินจงกรมอยู่ในขณะนั้น มันเป็นเสียงที่มันก้องขึ้นมาในใจเราเลยว่า “เราจะต้องบวช”  แต่เรายังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่  เรารู้ว่าเราบวชแน่ ... พอถึงจากวันนั้นไป รู้แล้วค่ะ ว่าเราจะบวช ... ก็เลยตัดสินใจที่เริ่มเคลียร์งาน เริ่มเคลียร์ชีวิตของตัวเอง ... แล้วพอต้นปี ๑๙๙๗ ก็เดินทางไปอยู่ที่หมู่บ้านพลัม
 
สัญญา               ตอนที่ตัดสินใจว่าจะบวช ครอบครัวท่านว่าอย่างไร
 
หลวงพี่นิรามิสา    ครอบครัวก็คงไม่เข้าใจ ในตอนแรก
 
สัญญา               ผมกำลังสงสัยว่า ลูกสาวกำลังจะไปบวชเนี่ย คุณแม่จะว่าอย่างไร
 
หลวงพี่นิรามิสา    คุณพ่อไม่เข้าใจเลย และคุณพ่อโกรธ ... โกรธอยู่นานเหมือนกันนะคะ...๒ ปี หลังจากบวชด้วย เพราะไปเตรียมบวชก็ปีนึง... ที่บ้าน หลายๆ คนก็จะแปลกใจ เพราะว่าไม่เคยเห็นผู้หญิงบวช
 
สัญญา               คือ ตั้งแต่ผมโตขึ้นมานะครับ สิ่งที่ผมรู้สึกเวลาผู้ชายบวช คือ อาจจะไปศึกษาพระธรรม บวชเพราะว่า บวชให้พ่อให้แม่ หรือจะบวชเพราะอะไรก็แล้วแต่  แต่พอผู้หญิงไปบวชเนี่ย แค่บวชชีนะครับ ยังไม่ต้องบวชพระ... บางคนก็จะถูกมองว่า เอ ผิดหวังอะไรมา อกหักหรือเปล่า มีความทุกข์มากมายหรือเปล่า... เพราะตอนจบนางเอกอาจจะปลงผมบวชชี ละครทำให้มันเป็นอย่างนั้น ก็เลยเกิดความเชื่อผิดๆ แบบนั้นขึ้น ... บางคนอาจจะอยากบวชเพื่อศึกษาพระธรรม เพื่อค้นหาความหมายของชีวิต ... อธิบายนานไหมครับ
 
หลวงพี่นิรามิสา    อธิบายนานค่ะ แล้วก็ไม่ใช่อธิบายด้วยถ้อยคำ แต่อธิบายด้วยวิถีการปฏิบัติ อธิบายด้วยวิถีชีวิต แล้วก็เขียนจดหมายกลับมาหาท่านว่าเราอยู่ยังไง เรามีความสุขอย่างไร และบางทีก็เขียนอธิบายในความหมายของการบวชที่นั่น ในความหมายของจิตแห่งโพธิ คือ ในจิตใจของตัวเอง ... เวลานักบวชที่อยากบวช เขาเรียกว่าเป็น “จิตแห่งโพธิ” คือ จิตตื่นรู้  ... โพธิ แปลว่า ความตื่นรู้ ... หลวงปู่จะแปลว่า จิตแห่งรัก รักที่แท้ ... หมายถึง รักที่เราอยากจะรัก รักตัวเราเอง และรักทุกคน... ไม่ใช่รักเฉพาะคนคนเดียว...รักคนทั่วโลก ... และตอนที่ไปบวชได้สัมผัส... พอฝึกปฏิบัติไปแล้ว ได้สัมผัสกับชีวิตที่มันเบาสบาย มันมีความสุข และมันมีความหมาย และทำให้เข้าใจชีวิตของเรามากขึ้น เข้าใจทั้งความสุขที่เรามี เข้าใจทั้งความทุกข์ที่เรามี  และด้วยพื้นฐานที่เราอยากทำอะไรช่วยเหลือคนอยู่แล้ว พอเห็นส่วนของความทุกข์ที่เราก็ยังมีอยู่ด้วย ก็อยากจะบวชเพื่อจะเปลี่ยนแปรความทุกข์ที่รากฐาน เพื่อที่จะให้เราเป็นบุคคลที่มีพื้นฐานที่มั่นคงในความสุข เพื่อที่จะช่วยคนได้อย่างแท้จริง... พอสัมผัสกับความสุขตรงนั้น มันบอกไม่ได้น่ะค่ะ มันอธิบายไม่ได้ แต่รู้แต่ว่า เราอยากจะมีวิถีชีวิตแบบนี้แหละ... รู้ว่ามันเป็นประโยชน์ต่อตัวเราและต่อคนอื่น
 
สัญญา               ท่านบวชที่หมู่บ้านพลัม ฝรั่งเศส ใช่ไหมครับ ... ถ้าหมู่บ้านพลัมมีอยู่ที่เมืองไทย ท่านก็บวชที่เมืองไทยได้ใช่ไหมครับ
 
หลวงพี่นิรามิสา    ได้ แต่ว่ามันไม่เกิด เพราะว่าตอนที่ไปถึงหมู่บ้านพลัมครั้งแรก มันเหมือนกับที่เขาเรียกว่า “เหตุปัจจัย”  เมื่อไรที่เหตุปัจจัยมันลงตัว หรือที่บ้านเราบางคนเรียก “ธรรมะจัดสรร” ... พอตอนที่เหยียบไปถึงหมู่บ้านพลัมครั้งแรกเลย ตอนนั้นคงประมาณ ๓๒ แล้วมังคะ ... สิ่งแรกที่ขึ้นมาในใจคือ ถ้าเราอายุ ๑๖ ปี เรามาหมู่บ้านพลัม เราบวชไปแล้ว แต่ตอนนั้นเราไม่ได้มา เราไปสวนโมกข์ แต่ว่า ๑๖ ขวบ หมู่บ้านพลัมยังไม่เกิด ... ตอนนั้นพอฝึกไปเรื่อยๆ ดูชีวิตไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่ง มันเหมือนกับว่า หมู่บ้านพลัมเลือกเรา เมื่อก่อนเราเลือกเขา
 
สัญญา               ตอนท่านบวช ท่านรู้สึกอย่างไรครับ เหมือนกับละทางโลกไปอยู่ในอีกโลกหนึ่ง... เสียดายไหมครับ
 
หลวงพี่นิรามิสา    ไม่เสียดายเลย
 
สัญญา               ไม่ได้มีความรู้สึกเสียดายเลย
 
หลวงพี่นิรามิสา    ไม่เลย มันเหมือนการสืบเนื่องจากวิถีชีวิตของการเป็นนักปฏิบัติ จากอุบาสิกาสืบเนื่องต่อไปเป็นสามเณรี เป็นนักบวช ... แล้วก็..วันที่ปลงผมมีความสุขมาก เหมือนกับเป็น BLISS เป็นความสุขที่ล้นพ้น เป็นปิติ ... รู้สึกว่าเราได้สละ ปลงผมเพื่อที่จะตั้งใจกลับมาบ่มเพาะทางจิตวิญญาณ บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ที่ดีๆ ... ตามภาษาบ้านเราคงคล้ายๆ บ่มเพาะบุญบารมีให้มีความสุข ให้มีคุณงามความดี เพื่อที่เราจะช่วยตัวเอง ช่วยครอบครัว ช่วยคนอื่นรอบๆ ข้าง
 
สัญญา               ตอนบวชท่านตั้งใจไหมครับว่าจะบวชนานแค่ไหน อย่างไร มีการตั้งแบบนั้นไหมครับ
 
หลวงพี่นิรามิสา    มีค่ะ  ถ้าเราบวชมันเหมือนกับเราเกิดเข้าไปในครอบครัวทางธรรม เราตั้งใจที่จะอยู่อย่างนั้นไปตลอดชีวิต ตั้งใจที่จะบวชไปตลอดชีวิต ...  อันนี้เป็นประเพณีของเราด้วย
 
สัญญา               นี่คือประเพณีของทางนี้ เมื่อบวช ก็คือตั้งใจไว้เลยว่าจะบวชไปตลอดชีวิต
 
หลวงพี่นิรามิสา    ค่ะ ใช่
 
สัญญา               สิ่งหนึ่งที่กระตุ้นให้จิตใจที่สนใจเรื่องธรรมะเกิดขึ้นได้ ก็คือ คำสอนของท่านติช นัท ฮันห์...  คำถามคือ ตอนนี้อยากให้หลวงพี่เล่าให้ฟังว่าท่านเป็นใคร ท่านสร้างผลงานอะไร และคำสอนของท่านอยู่ในทิศทางเช่นไร เผื่อใครที่ยังไม่รู้จักท่าน
 
หลวงพี่นิรามิสา    ท่านติช นัท ฮันห์ ที่วัดเราจะเรียกท่านว่า “หลวงปู่”  ศัพท์ทางธรรมเรียกว่าท่านเป็นพระมหาเถระ เพราะท่านบวชมาได้๖๐ กว่าปีแล้ว ๖๕ พรรษา  ท่านบวชเมื่อท่านอายุได้ ๑๖ ปี เป็นสามเณรอยู่ที่วัดตื่อหิว ที่เมืองเว้ ประเทศเวียดนาม
 
สัญญา               ท่านเป็นชาวเวียดนาม
 
หลวงพี่นิรามิสา    ค่ะ  ช่วงที่มีสงครามเวียดนาม ท่านพยายามเรียกร้องให้เกิดสันติภาพ ไม่ให้เกิดสงคราม ที่มาทะเลาะเบาะแว้งกัน และท่านก็ไม่ได้ขึ้นหรือฝักใฝ่กับฝ่ายใด และใช้วิถีของพุทธนี่แหละ ในการทำสมาธิ ทำให้ทุกคนมีจิตใจที่สงบ ทำให้ทุกคนมีความเมตตา... เมื่อท่านเดินทางออกนอกประเทศไปที่อเมริกา ไปเพื่อที่จะไปเป็นเสียงอันหนึ่งให้กับตาสีตาสา ชาวนา ชาวไร่ ชาวบ้าน ชาวเวียดนาม ว่าเขาไม่ได้อยากมีสงคราม  เมื่อท่านเดินทางไปตรงนั้นก็ปรากฎว่า ทางฝ่ายเวียดนามเหนือก็คิดว่าท่านเป็นซีไอเอ เพราะไปอเมริกา ทางฝ่ายเวียดนามใต้ก็คิดว่าท่านเป็นเวียดกง ท่านกะว่าจะไปแค่ ๒-๓ เดือน ลูกศิษย์ลูกหาท่านก็ไม่ให้ท่านเดินทางกลับ เพราะเกรงว่าท่านจะเป็นอันตราย
 
สัญญา               จนถึงปัจจุบัน ท่านก็สอนธรรมะหรือครับ หรืออย่างไร
 
หลวงพี่นิรามิสา    ท่านก็ดำเนินวิถีชีวิตอยู่ในประเทศตะวันตก แล้วก็สอนเผยแผ่พระพุทธศาสนา ตั้งศูนย์ปฏิบัติธรรม ตั้งวัด สร้างวัดอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส ทุกปีเราก็จะมีชาวต่างประเทศ ชาวตะวันตกจากทั่วโลก ทั้งชาวเอเชียด้วยมาฝึกปฏิบัติธรรมกับเรา
 
สัญญา               ผมเห็นมีหนังสือที่แต่งโดยท่าน เขียนไว้เยอะ ที่แปลเป็นภาษาไทยมีหลายเล่มมากทีเดียว  ท่านเขียนมานานแล้วใช่ไหมครับ
 
หลวงพี่นิรามิสา    ท่านเขียนมานานแล้วค่ะ ท่านเขียนทั้งหมด ๗๐-๘๐ กว่าเล่มแล้ว และได้แปลเป็นภาษาไทยทั้งหมด ๓๐ กว่าเล่ม
 
สัญญา               ก็เป็นคำสอนที่เราเอาไปใช้ได้ ... ปลูกรัก วิธีมองอย่างลึกซึ้งตามคติพุทธศาสนามหายาน, ศานติในเรือนใจ เรียนรู้การมองชีวิตอย่างมีสติและผาสุก ... ก็จะอยู่ในวิถีอย่างที่หลวงพี่บอกไว้ว่า นำไปใช้ ได้ในชีวิตทางโลกได้อย่างมีความสุข ... ตอนที่ท่านบวช ท่านอายุเท่าไหร่ครับ
 
หลวงพี่นิรามิสา    ๓๖
 
สัญญา               บวชเสร็จแล้ว ครอบครัว คุณแม่ก็กลับไปที่เมืองไทย   
 
หลวงพี่นิรามิสา    ค่ะ
 
สัญญา               ท่านก็เป็นนักบวชอยู่ที่นั่น... จะถามว่าเณรหรือพระ มีเหงาไหมครับ... ความเหงาเป็นสิ่งหนึ่งที่ท่านจะต้องต่อสู้หรือทำความเข้าใจไหมครับ
 
หลวงพี่นิรามิสา    มันไม่ใช่เหงาแต่ว่าคิดถึงบ้าน
 
สัญญา               มีความเป็นห่วงครอบครัว พ่อแม่พี่น้อง อะไรอย่างนี้ใช่ไหม
 
หลวงพี่นิรามิสา    ค่ะ มีค่ะ
 
สัญญา               แล้วทำอย่างไรครับ
 
หลวงพี่นิรามิสา    แต่ว่าคิดถึงแล้วไม่เป็นทุกข์ คิดถึงแล้วมีความสุข อันนั้นจะเป็นข้อต่าง เพราะว่าเรามีการปฏิบัติ ... เวลาที่เหงา มันไม่ใช่เหงา แต่จะเป็นการคิดถึง ระลึกถึง ก็จะไปเดินจงกรม เดินสมาธิ ซึ่งคล้ายๆ เดินจงกรมของบ้านเรา แต่เราจะเดินอยู่กับธรรมชาติ และให้ฝ่าเท้าสัมผัสกับพื้นดินเหมือนกับเราสัมผัสกับแผ่นดินแม่ อยู่กับฝ่าเท้า อยู่กับขณะปัจจุบัน แล้วกลับมาสัมผัสกับลมหายใจที่สัมพันธ์ไปกับการก้าวย่าง และในภาวะอย่างนั้นเรารู้สึกว่าเราสัมผัสท่านได้ ถึงแม้ว่าเราจะอยู่ฝรั่งเศส ท่านจะอยู่ประเทศไทย...  เวลาที่ฝึก ที่เราสามารถจะกลับมาอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับฝ่าเท้าที่เรากำลังก้าวย่างได้ เรา
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


หลวงพี่นิรามิสา     หลวงพี่จำได้ว่าตอนที่เหงา... เหงาครั้งสุดท้ายตอนนั้นอยู่ที่ประเทศลาว ยังไม่บวช ตอนนั้นเช่าบ้านอยู่ริมแม่น้ำโขง นั่งอยู่ริมแม่น้ำโขง แล้วรู้สึกว่าเหงา เหงาจังเลย  แต่ว่าครั้งนั้นเริ่มปฏิบัติแล้ว พอความรู้สึกว่าเหงาขึ้นมาปุ๊บ เรากลับมาอยู่กับลมหายใจ กลับมาสัมผัสกับลมหายใจ ไม่ใช่เฉพาะความคิดอย่างเดียว แต่กลับมาอยู่กับลมหายใจ มันต้องอาศัยการปฏิบัติด้วย ... ทุกครั้งที่เหงา ไม่เคยเตือนตัวเองกลับมาอยู่กับลมหายใจ เหงาแล้วก็ไปหาอย่างอื่นทำ ไปหาขนมทาน ออกไปข้างนอก โทรศัพท์ไปคุยกับเพื่อน ขับรถออกไปที่โน่นที่นี่  แต่ครั้งนั้นก็นั่งอยู่ตรงนั้นแหละ แล้วก็กลับมาอยู่กับลมหายใจ ... หายใจเข้า ฉันรู้ว่าฉันกำลังเหงา ... หายใจออก ฉันยิ้มกับความเหงาที่เกิดขึ้น ... หายใจเข้า ฉันพยายามโอบรับความเหงา เหมือนกับโอบกอดความเหงา เหมือนแม่ที่กำลังกล่อมลูก อุ้มลูก ... นี่เขาเรียกว่า “พลังแห่งสติ” คือเราอยู่ตรงนั้นกับความเหงา ... และทำอยู่สักระยะหนึ่ง แล้วดู เสร็จแล้วความเหงามันก็ค่อยๆ หายไป พอมันหายไป มันกลายเป็นความอิ่ม และตั้งแต่วันนั้นรู้แล้วว่า ไม่กลัวความเหงา
 
สัญญา               แปลว่า ความรู้สึกจะเป็นบวกหรือลบ จะเหงา จะเศร้า จะคิดถึง จะอะไรก็ตามแต่ อยู่ที่เราทั้งสิ้น
 
หลวงพี่นิรามิสา    ค่ะ
 
สัญญา               เมื่อเราทำความเข้าใจ เราจะอยู่กับความรู้สึกอะไรก็ได้
 
หลวงพี่นิรามิสา    ค่ะ และเราต้องมีการปฏิบัติ
 
สัญญา               ต้องฝึก ไม่ใช่เข้าใจแล้วได้
 
หลวงพี่นิรามิสา    ใช่ๆ ต้องฝึกให้เป็นรูปธรรม ให้เป็นความเป็นจริง ... ถ้าเข้าใจ บางทีเรายังอยู่แต่ในสมองเฉยๆ เรายังไม่ได้เอามาใช้
 
สัญญา               มีภาพของหมู่บ้านพลัมที่อยากให้ท่านผู้ชมได้จินตนาการออกว่าที่นั่นเป็นอย่างไร และขอให้หลวงพี่ช่วยเล่าให้ฟังด้วยนะครับ
 
หลวงพี่นิรามิสา    ได้ค่ะ ... (บรรยายภาพ) นี่เป็นวัดใหม่ที่หลวงพี่อยู่ ที่เห็นเป็นทิวนั่นคือ ต้นพลัม
 
สัญญา               ถึงเรียกว่าหมู่บ้านพลัม
 
หลวงพี่นิรามิสา    ค่ะ ใช่ ทุกวันนี้เราก็จะเก็บต้นพลัมกันเอง เราทำกันเอง แล้วเอาไว้ใช้ในชุมชน เอาไปทำแยมบ้าง เอามาขายในร้านที่วัดบ้าง เล็กๆ น้อยๆ ... นี่เป็นวัดใหม่ เป็นที่ที่หลวงพี่พัก
 
สัญญา               ดูเหมือนหอพัก เหมือนตึก ทั้งหอนี่เป็นภิกษุณีหมดเลยหรือครับ
 
หลวงพี่นิรามิสา    ค่ะ ภิกษุณีกับสามเณรี
 
หลวงพี่นิรามิสา    นี่เป็นวัดบน เป็นอีกวัดหนึ่งที่เป็นที่ของพระภิกษุ สามเณร และฆราวาสชาย ... นี่เป็นหอใหญ่ ปฏิบัติธรรม เหมือนกับอุโบสถของบ้านเรา ... นี่เป็นวัดภูล่าง วัดของพระภิกษุ ส่วนใหญ่จะเป็นพระภิกษุชาวตะวันตก ... และนี่เป็นวัดบนของพระภิกษุ สามเณร
 
สัญญา               สวยงามนะครับ
 
หลวงพี่นิรามิสา    มีดอกบัวหลวง เป็นธรรมชาติ เราจะเน้นให้ใช้ ... นี่เป็นกุฏิของหลวงปู่ ... และนี่เป็นบรรดาพระภิกษุ ภิกษุณี และบรรดาหลวงปู่ หลวงย่าทั้งหลายที่เข้ามาร่วมในพิธีบวชศีลปาฏิโมกข์ บวชภิกษุ ภิกษุณี
 
สัญญา               ชุมชนนี้อยู่ได้ด้วยอะไรครับ มีการทำงานอื่นไหมครับ หรือเป็นองค์กรต่างๆ บริจาคมาดูแล
 
หลวงพี่นิรามิสา    ก็มีทั้งสองส่วน อันหนึ่งคือ ส่วนที่เราปลูกผัก พยายามช่วยตัวเอง และอีกส่วนหนึ่งคือ เวลาที่เขามา เขาก็จะบริจาค ก็จะเป็นทุนอันหนึ่งจะเข้ามาช่วยจ่ายค่าอาหารให้นักบวช
 
ปิยะ                  (ภาพหมู่บ้านพลัม ปกคลุมด้วยหิมะ)  นี่หิมะตก ใบไม้ร่วงหมดต้นเลย
 
หลวงพี่นิรามิสา    ค่ะ นี่เป็นฤดูหนาวที่เพิ่งผ่านมา หนาวมาก... นี่เป็นเส้นทางเดินจงกรม ... มีหอระฆัง หิมะตกเยอะมาก ... นี่หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ ท่านออกมาเล่นหิมะด้วย เดินจงกรมด้วย ... อันนี้เป็นพิธีเปิดสำหรับรับศีล ทุกปีเราจะมีการบวชภิกษุ ภิกษุณี ซึ่งในนั้นก็จะเป็นเหมือนกับ...อาทิตย์แห่งการรับศีลต่างๆ เริ่มตั้งแต่ศีล ๕, ศีล ๑๔ ข้อ, ศีลสามเณร สามเณรี, ศีลสิกขามณา และศีลภิกษุ ภิกษุณี .... นี่เป็นหอปฏิบัติธรรมที่เราทำวัตรเช้า วัตรเย็น ... นี่วัดใหม่ที่หลวงพี่อยู่ ... นี่เป็นสระบัว บัวหลวง เป็นที่ที่เราออกมาเดินชมธรรมชาติด้วยวิถีแห่งสติ
 
สัญญา               ชาวฝรั่งเศสที่อยู่รอบๆ ชุมชนนี้นับถือพุทธหรือครับ
 
หลวงพี่นิรามิสา    ไม่ใช่ค่ะ  ส่วนใหญ่จะเป็นคาทอลิก หรือไม่ก็เป็นคริสต์  แต่ว่าคนที่มาฝึกกับเราส่วนใหญ่ก็จะเป็นชาวต่างชาติ เป็นบุคคลที่มีทั้งนับถือคริสต์ คาทอลิก คริสเตียน ชาวยิว มุสลิม มีมาหลายๆ ที่
 
สัญญา               ชุมชนธรรมะนี้มีการทำกิจกรรมหรือทำงานร่วมกับผู้คนอื่นๆ ที่ไม่ใช่พระ ไม่ใช่ฆราวาสที่ประจำอยู่กับเราบ้างไหมครับ
 
หลวงพี่นิรามิสา    มีค่ะ ทุกๆ ปี เราจะได้รับนิมนต์เข้าไปเปิดอบรมธรรมะมากมาย
 
สัญญา               พระเล่นดนตรีได้ไหมครับ
 
หลวงพี่นิรามิสา    ได้ค่ะ เป็นการเป่าขลุ่ย แต่ก็จะต้องเน้นในเรื่องของทำนอง การเป่าโดยวิถีแห่งสติ เป็นการทำภาวนา ... นี่เป็นวันพักผ่อน เราเรียก Lazy Day หรือวันขี้เกียจ
 
สัญญา               วันนั้นเป็นอย่างไรครับ ต่างจากวันอื่นอย่างไร
 
หลวงพี่นิรามิสา    วันนั้นเป็นวันที่ต้องปฏิบัติอย่างก้าวหน้ามากเลยค่ะ เพราะว่าจะไม่มีตารางกำหนดไว้เหมือนทุกๆ วัน จะมีแต่บอกเวลาที่จะฉันอาหารเท่านั้น แต่ทุกคนจะต้องกลับมาอยู่กับตัวเอง แล้วก็ผ่อนคลาย เป็นวันที่เน้นให้มีการผ่อนคลาย
 
สัญญา               เลือกเองว่าตนควรจะปฏิบัติพัฒนาตนเองในเรื่องใด
 
หลวงพี่นิรามิสา    ใช่ๆ ค่ะ ... ในหนึ่งสัปดาห์เราจะมีทุกวันจันทร์ค่ะ
 
ปิยะ                  นั่นคือวันพักผ่อน หนึ่งวันในหนึ่งสัปดาห์
 
หลวงพี่นิรามิสา    เรียกวันขี้เกียจค่ะ ภาษาอังกฤษเรียก Lazy Day  เหมือนกับวันที่หยุด  หลวงปู่เริ่มวันนี้เพราะเห็นว่าทุกคน ... บางคนมีความตั้งใจดี แต่ไม่รู้จักที่จะหยุด เราทำงาน ทำอะไรไปแล้วเราวิ่งอยู่เสมอ ไม่รู้จักที่จะหยุดกลับมาอยู่กับตัวเองจริงๆ ... ก็ให้เวลากับตัวเอง ให้การพักผ่อน อยู่กับการผ่อนคลายอย่างแท้จริง
 
ปิยะ                  แล้วที่วัดหมู่บ้านพลัมได้เน้นหรือสอนอะไรเป็นพิเศษไหมครับ
 
หลวงพี่นิรามิสา    เราเน้นเรื่องการเจริญสติเป็นพิเศษ เน้นให้ฝึกอย่างไรให้มีสติ กลับมาอยู่กับขณะปัจจุบัน และ Logoของเราก็คือ  I have arrived, I’m home  “ฉันได้มาถึงแล้ว ฉันได้กลับมาอยู่บ้านที่แท้จริง” เวลาใครมา เราจะสนับสนุนให้ฝึกให้ได้มาถึงจริงๆ หมายถึงว่า กายเราอยู่ตรงนี้ ใจเราอยู่ตรงนี้ด้วย  โดยการเจริญสติให้อยู่กับลมหายใจ หายใจเข้า ฉันรู้ว่าฉันอยู่ที่นี่  หายใจออก ฉันรู้ว่าฉันอยู่ในขณะนี้  กายฉันอยู่ที่นี่ ไม่ใช่ว่าใจฉันวิ่งไปไหน ... ส่วนใหญ่คนมาก็มักจะยังเครียดมาจากที่ทำงานบ้าง หรือว่ามีความเจ็บปวดมา หรือว่ามาถึงแล้วก็ยังไม่หยุด ยังวิ่ง วิ่ง หมายถึงวิ่งอยู่ในใจตลอด
 
สัญญา               ใจยังวิ่งอยู่กับเรื่องอื่นๆ ที่ผ่านมาในอดีต
 
หลวงพี่นิรามิสา    ใช่ๆๆ  เราก็บอกเขาว่า “กลับมานะ กลับมาอยู่บ้านที่แท้จริง”  บ้านที่แท้จริงก็หมายถึง กายและใจเราอยู่ด้วยกัน เป็นหนึ่งเดียวกัน และเราสามารถที่จะดำรงอยู่ในภาวะปัจจุบัน ขณะปัจจุบัน ในขณะนั้น ซึ่งทำให้เราสัมผัส เห็นทุกอย่างอย่างที่มันเป็นอยู่อย่างชัดเจนได้ และเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น เกิดปัญญาที่จะทำให้เราสัมผัสกับความสุขหรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
 
สัญญา               ๙ ปีผ่านไป ถ้าท่านมองกลับไปตอนที่ท่านเป็นฆราวาส ท่านรู้สึกว่าท่านได้เห็นอะไรในมุมมองอื่น ในมุมมองที่ต่างไป ได้เข้าใจ ได้ตอบคำถามที่ท่านถามตัวเองตอนเด็กๆ ว่าเกิดมาทำไม มีชีวิตอยู่อย่างไร แล้วหรือยังครับ
 
หลวงพี่นิรามิสา    ได้ค่ะ
 
สัญญา               เป็น ๙ ปีที่ท่านรู้สึกว่าได้เรียนรู้มากขึ้นเรื่อยๆ และมาถูกทางแล้วอย่างนั้นไหมครับ
 
หลวงพี่นิรามิสา    ค่ะ เป็น ๙ ปีที่เรารู้สึกว่าชีวิตเราเติบโต และเป็นชีวิตที่ใหม่อยู่เสมอ และเป็นชีวิตที่ประเสริฐ มีความรู้สึกว่า “สบาย”  สบายภายใน และมีความหมาย
สัญญา               ได้มาเทศน์โปรดครอบครัวบ้างไหมครับ
 
หลวงพี่นิรามิสา    คงมาแลกเปลี่ยนมังคะ และเวลามาเยี่ยมก็จะอยู่ที่บ้าน เป็นวิถีชีวิตที่แลกเปลี่ยนกับท่าน
 
ปิยะ                  หลวงพี่ได้หาคำตอบให้กับตัวเองได้แล้ว ทีนี้เป้าหมายในชีวิตที่เรายังบวชต่อไป เป้าหมายของหลวงพี่คืออะไรครับ
 
หลวงพี่นิรามิสา    เป้าหมายจริงๆ มันก็อยู่ที่ขณะนี้ คือขอให้อยู่ในชีวิตขณะนี้ ในทุกๆ วันที่มีวิถีชีวิตแบบนี้ ที่อยู่กับการปฏิบัติ ที่สามารถจะสัมผัสกับความสุขในขณะปัจจุบันได้ สามารถที่จะเข้าใจ สัมผัสกับสิ่งที่เกิดขึ้นในใจ ไม่ว่าจะเป็นปัญหา เป็นความทุกข์ได้ และเรียนรู้แก้ไขมันได้
 
สัญญา               แนวทางคือ ไม่ใช่การวางแผนว่าอีก ๕ ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร จะอยู่ที่ไหน มีความสุขหรือไม่ อย่างนั้นใช่ไหมครับ ผมไม่ทราบจริงๆ
 
หลวงพี่นิรามิสา    แนวทางคือ ไม่มุ่งหวัง ไม่คาดหวัง
 
สัญญา               ไม่คาดหวังว่าอีก ๕ ปี ๑๐ ปี จะเป็นอย่างโน้น จะเป็นอย่างนี้
 
หลวงพี่นิรามิสา    แต่ว่าวางแผนได้ เราวางแผนอยู่เสมอเลย เพราะว่าเรามีตารางที่ว่าปีหน้าจะต้องเดินทางไปที่ไหน ที่ไหน และจะต้องทำอะไร  แต่ในขณะที่เราวางแผน เราอยู่กับขณะปัจจุบัน หมายถึงว่าเรารู้ว่าปีหน้าในช่วงนี้ จะต้องไปแบบนี้ แบบนี้  คือเข้าใจข้อมูลทุกสิ่งทุกอย่าง และเรามองมันอย่างที่มันเป็นอยู่ แต่ไม่ได้วางแผนโดยที่กังวล
 
สัญญา               บางคนวางแผนเสร็จปั๊บ เป็นทุกข์เลย
 
หลวงพี่นิรามิสา    ใช่
 
สัญญา               ฉันต้องเหนื่อยแน่ๆ อะไรอย่างนี้
 
หลวงพี่นิรามิสา    ใช่ๆๆ ใช่ค่ะ  อันนั้นคือวิถีการปฏิบัติ เพราะจริงๆ แล้วการกลับมาอยู่กับปัจจุบันทำให้เราวางแผนในอนาคตได้ดีมาก เพราะว่าเราเข้าใจสภาพที่กำลังเกิดอยู่ในขณะนี้ เพื่อที่จะมองอนาคต แต่เรารู้ว่าเรากำลังอยู่ขณะนี้ และเรามองอนาคตให้ชัดเจนจากตรงนี้
 
สัญญา               อย่ากลุ้มล่วงหน้า
 
หลวงพี่นิรามิสา    ใช่ อย่ากลุ้มล่วงหน้า
 
สัญญา               แต่วางแผนล่วงหน้าได้
 
หลวงพี่นิรามิสา    ได้ค่ะ
 
สัญญา               การมาประเทศไทยครั้งนี้หลวงพี่มาธุระ มาเยี่ยมครอบครัว หรือว่ามาทำอะไรครับ
หลวงพี่นิรามิสา    ประการแรกคือ กลับมานำภาวนาให้กับผู้ที่สนใจ และในคณะกลุ่มที่ได้ฝึกปฏิบัติตามแนวของท่านก็สนใจที่อยากจะสร้างหมู่บ้านพลัมที่เมืองไทย ให้เกิดแนววิถีปฏิบัติแบบนี้  อันนั้นก็เป็นอันหนึ่งที่กลับมาช่วยพี่ๆ น้องๆ ทางธรรมที่นี่... อันที่สองก็คือ หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ เป็นนิมิตหมายอันดีมากที่ท่านจะเดินทางมาประเทศไทยในเดือนพฤษภา
 
สัญญา               ท่านเคยมาไหมครับ ก่อนหน้านี้เคยมาไหม
 
หลวงพี่นิรามิสา    เมื่อ ๓๑ ปีก่อนค่ะ มาเยี่ยมเฉยๆ แต่ว่าครั้งนี้จะมาอย่างเป็นทางการ ท่านจะเดินทางมาในวันที่ ๑๙ พฤษภา และหลวงพี่ก็อยู่ที่นี่ช่วยเตรียมงานด้วย
 
สัญญา               อย่างนี้พวกเรา ฆราวาสก็มีโอกาสได้ฟังธรรมจากท่านได้ ได้ร่วมปฏิบัติธรรมก็ได้
 
หลวงพี่นิรามิสา    ค่ะ
 
สัญญา               ถ้าอย่างนั้นผมขอถามคำถามสุดท้าย ในโอกาสอันดีนี้ วันที่เราออกอากาศเป็นวันสตรีสากล  มีสุภาพสตรีหลายท่านตั้งใจ สนใจอยากปฏิบัติธรรม อยากศึกษาธรรมะ อยากได้รับความรู้ ท่านมีคำแนะนำอะไรสำหรับคนที่ยังเป็นฆราวาสอยู่ ในการสนใจอยากรู้ธรรมะ โดยเฉพาะสุภาพสตรี
 
หลวงพี่นิรามิสา    อันหนึ่งที่หลวงพี่คิดว่าจะแนะนำคือว่า ทุกคนมีความสามารถที่จะเข้าถึงการปฏิบัติได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย  ที่แนะนำตรงนี้เพราะมีน้องที่เห็นหลวงพี่แล้วบอกว่า ไม่นึกว่าผู้หญิงบวชได้ ...  ผู้หญิงก็บวชได้ ผู้ชายก็บวชได้ เพราะทุกคนมีความเป็นพุทธะอยู่ภายใน ทุกคนมีความสามารถที่จะตื่นรู้ และถ้าเรามีจิตฝักใฝ่ที่เราอยากจะดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย ที่มีความสุข ถ้าเราตั้งปณิธาณตรงนั้นไว้ มันจะมีเส้นทางที่ให้เราสัมผัสได้ในวิถีการปฏิบัติ ถ้าเราสามารถที่จะปฏิบัติ และทำให้เราเปลี่ยนแปรความทุกข์ให้เป็นความเข้าใจ มีความสุข มีความรัก เมตตามากขึ้น หรือเราสัมผัสกับความสุขที่แท้จริงภายในได้  ขอให้เราสืบต่อ ดำเนินแบบนั้นต่อไปเรื่อยๆ แล้วเราจะเห็นหนทางในชีวิตของเราอย่างแท้จริง และที่จริงเป็นของขวัญ ที่จริงๆ แล้วองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า พระผู้ตื่นรู้ ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นทางพระพุทธศาสนาเท่านั้น บรรดาพระ อาจารย์ทั้งหลายท่านได้มอบไว้ให้เป็นของขวัญกับเราอยู่แล้ว และจะเป็นผู้หญิงก็ทำได้ ผู้ชายก็ทำได้ ปฏิบัติได้ และเราทำร่วมกันได้ อันนั้นคือสิ่งที่งดงาม

จาก http://group.wunjun.com/agaligohome/topic/216551-5757
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...