Roots : ข้อคิดจากจากยุคทาสอเมริกันถึงโซ่อิสรภาพของหนุ่มสาวไทยยุคไฮเทคhttp://www.onopen.com/2006/01/549Fri, 05/05/2006 - 07:16 — onopen
เกือบ 30 ปีมาแล้ว ฟังดูนานมากทีเดียว... มีภาพยนตร์มินิซีรี่ส์ที่โด่งดังมากเรื่องหนึ่ง ชื่อ Roots หรือในชื่อไทยว่า “ทาส” ฉายทางช่อง 3
แม้เรื่องราวจะยาวหลายสิบตอน และตอนที่ฉายครั้งแรกก็อยู่ในช่วงเวลาค่อนข้างดึก แต่ว่ากันว่ามีผู้คนติดตามชมกันเกรียว และช่อง 3 ได้แฟนๆ เพิ่มอีกพะเรอ ภายหลังต้องนำกลับมาฉายซ้ำอีกหลายรอบในช่วงกลางวัน พอๆ กับตอนที่ต้องเอาซีรี่ส์ไต้หวันเรื่อง “เปาบุ้นจิ้น” เมื่อครั้งเวอร์ชั่นแรกมาออกอากาศซ้ำอีกหลายครั้งนั่นเหมือนกัน
Roots เป็นเรื่องราวของชาวแอฟริกันผิวดำ ที่ถูกคนขาวชาวศิวิไลซ์จับตัวมาจากดินแดนบ้านเกิด ไปขายเป็นทาสในไร่ของคนขาวด้วยกันในอเมริกา
หนังแสดงให้เห็นถึงการกดขี่ข่มเหงคนผิวดำที่ถูกกวาดต้อนจับกุมมาเป็นทาสอย่างไม่น่าเชื่อว่ามนุษย์จะกระทำกับมนุษย์ได้ถึงขนาดนี้ ความลำบากยากแค้นของคนดำที่ต้องนอนแออัดกันอยู่ใต้ท้องเรือทั้งที่ถูกจองจำ ความอดอยาก เจ็บป่วย การจลาจล และความตายระหว่างการเดินทางกลางมหาสมุทร
เมื่อขึ้นฝั่ง พวกเขาก็ถูกปฏิบัติราวกับไม่ใช่คน มีการซื้อขายเหมือนกับสินค้าชนิดหนึ่ง คนดำต้องเรียนรู้ที่จะเอาชีวิตรอดในโลกใบใหม่ที่ไม่รู้จักไม่คุ้นเคย และต้องเรียกขานคนแปลกหน้าผิดสีผิวว่า “นาย” ทั้งๆ ที่ในใจระอุคั่งไปด้วยความคับแค้นจากการถูกปฏิบัติเยี่ยงสัตว์ป่า พวกเขาโหยหาเพียงสิ่งเดียวในชีวิต นั่นคือ อิสรภาพ
ตัวเอกของเรื่อง ชื่อ “คุนต้าคินเต้” ถูกจับมาจากชายฝั่งแอฟริกา บริเวณประเทศแกมเบียในปัจจุบัน เป็นทาสหัวดื้อในสายตานายผิวขาว เขาแอบหลบหนีทุกครั้งที่มีโอกาส แต่ก็ไม่เคยรอด ถูกจับได้และเฆี่ยนตีนับครั้งไม่ถ้วน จนในที่สุดก็ถูกตัดเท้าออกครึ่งหนึ่ง กลายเป็นคนพิการตลอดชีวิต
การยืนยันที่จะเรียกชื่อเดิมของตนเองในภาษาท้องถิ่นแอฟริกัน เป็นสิ่งที่คุนต้าคินเต้แสดงออกให้เห็นถึงการขัดขืนฝืนไม่ยอมรับสภาพแวดล้อมใหม่ และพยายามที่จะรักษาความทรงจำที่บ่งบอกถึงรากเหง้าตัวตนไว้ให้ได้ แต่เขากลับถูกบังคับให้ยอมรับชื่อใหม่ตามแบบคนผิวขาวว่า “โทบี้” ถ้าไม่ยอมเชื่อฟัง ก็จะถูกมัดโยงกับต้นไม้ โบยตีด้วยแส้จนแผ่นหลังแตกละเอียด เลือดแดงสีเดียวกับคนขาวไหลรินอาบร่างสีดำทะมึน
เมื่อไม่อาจกัดฟันยืนยันที่จะเรียกตัวเองด้วยชื่อแอฟริกัน ต้องยอมเรียกชื่อตนเองตามที่ “นาย” ต้องการ แต่คุนต้าคินเต้ก็เก็บสิ่งที่ยึดโยงประวัติศาสตร์ตัวตนของเขากับสภาพแวดล้อมใหม่ ด้วยการจดจำคำพื้นเมือง 2-3 คำเอาไว้ ได้แก่ ชื่อของเขา ชื่อแม่น้ำที่อยู่ใกล้ถิ่นอาศัยในแอฟริกา และชื่อของกลองพื้นเมือง แล้วถ่ายทอดให้ลูกสาวคนเดียวของเขา “คิซซี่” เป็นผู้รับสืบทอดวิญญาณของความเป็น “คนอิสระ” ต่อไป
แต่คิซซี่ก็เหมือนทาสรุ่นสองทั่วๆ ไป เธอไม่เคยรู้สึกรู้สมหรือตั้งคำถามกับชีวิตความเป็นอยู่ที่แตกต่างระหว่างคนขาวผู้เป็นนายกับทาสผิวดำ หรือแม้แต่จะสนใจรากเหง้าความเป็นมาของบรรพบุรุษซึ่งผู้เป็นพ่อเพียรพร่ำพูดถึง รวมถึงเหตุผลของการกระทำที่นำมาสู่ความพิการทางกายของพ่อเธอ
คิซซี่เป็นเพียงทาสผู้ไร้การศึกษา โลกของเธอสวยงามตามแบบฉบับหญิงสาวที่กำลังเติบโต และคิดแต่เพียงว่าพระเจ้ากำหนดให้มันต้องเป็นอย่างนี้มาแล้วตั้งแต่ต้น
แต่แล้ว พระเจ้าของคิซซี่กลับนิ่งดูดาย เมื่อ “นาย” ที่เธอให้ความเคารพยำเกรง ข่มขืนเธอราวกับไม่ใช่คน เสียงวิงวอนร้องขอโอดครวญไม่ได้ผ่านเข้าหูของนายผิวขาวที่กำลังนั่งคร่อมตัวเธอด้วยอาการเมามาย
และเสียงร่ำไห้ดังไปไม่ถึงหูของพระเจ้าเบื้องบน
กว่าเธอจะรู้ซึ้งเข้าใจถึงสิ่งที่พ่อพูดและสิ่งที่พ่อทำในวัยหนุ่ม คิซซี่ต้องแลกด้วยร่างกายและชีวิตทั้งชีวิต นับจากวันนั้น เธอเกลียดคนขาว และพยายามถ่ายทอดวิญญาณรักอิสระให้แก่ลูกชาย “ชิคเก้น จอร์จ” ซึ่งมีนิสัยชอบสนุกสนานเฮฮาไปวันๆ และเป็นนักชนไก่ฝีมือฉกาจ
เช่นเดียวกับคิซซี่ในวัยสาว ชิคเก้น จอร์จเป็นหนุ่มผิวดำที่ยอมรับในความเหนือกว่าของคนผิวขาว และไม่เคยตั้งคำถามต่อความไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนสองผิวสี กว่าที่เขาจะพบความจริงและตระหนักในตัวเองว่า ทุกสิ่งไม่ได้สวยงามและเป็นเช่นนั้นเองมาแต่ไหนแต่ไร หากแต่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ด้วยสมองและสองมือของมนุษย์ เขาก็ต้องพานพบกับความผิดหวังอย่างที่สุดเสียก่อนในวันที่พ่ายแพ้การพนันไก่ชน
ความโอหังเชื่อมั่นในตนเองว่าเป็นนักชนไก่มือหนึ่ง คำป้อยอสรรเสริญของนายผิวขาวที่ทำให้เขาคิดว่าตัวเองเป็นคนสำคัญ กลายเป็นเพียงสายลมที่พัดผ่านไป ไม่มีอะไรเลย
เมื่อกลายเป็นผู้แพ้ เขาถูกเหยียดเหยียบลงไปต่ำเท่ากับทาสคนอื่นๆ และยิ่งร้ายไปกว่าคนอื่นตรงที่เขาทำอะไรไม่เป็นเลยนอกจากเลี้ยงไก่
ชิคเก้น จอร์จเริ่มคิดถึง “อิสรภาพ”
คำซึ่งเขาไม่เคยนึกถึงเลยตลอดเวลาที่ได้รับการยอมรับจากคนขาว แต่บัดนี้ได้กลายเป็นเป้าหมายเดียวที่เขาต้องการไปหา เขาหลบหนีเดินทางขึ้นไปทางเหนือ เมื่อรับรู้ว่าคนขาวที่นั่นยอมรับในสิทธิของคนผิวดำในการมีชีวิตอย่างอิสระและไม่เห็นด้วยกับการมีอยู่ของทาส
ชิคเก้น จอร์จโชคดีกว่าคุนต้าคินเต้ผู้เป็นตา เพราะเขาหนีรอด และสามารถจับจองที่ดินผืนงามเป็นของตนเอง ก่อนจะกลับมารับแม่ ลูกชาย และหลานๆ ของเขาออกมาจากฟาร์มทาสได้เป็นผลสำเร็จ พร้อมกับทิ้งรอยแค้นให้กับคนขาวที่เคยย่ำยีพวกเขาไว้อย่างสาสม
อเล็กซ์ ฮาเลย์ ผู้เขียนนวนิยายเรื่องนี้ เป็นผู้เขียนบทโทรทัศน์มินิซีรี่ส์เรื่องนี้ด้วยตัวเอง เขาคือทายาทที่สืบสายเลือดมาจากคุนเต้คินเต้นับลงมาได้ 7 รุ่น แต่ฮาเลย์จบเรื่องราวภาคแรกของบรรพบุรุษเขาไว้ที่ 3 ชั่วอายุคน ก่อนจะเริ่มภาคสอง ที่ถ่ายทอดความเปลี่ยนแปลงของสังคมอเมริกันในยุคที่มีการปะทะขัดแย้งทางความคิดระหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้รุนแรงยิ่งขึ้น โดยมีครอบครัวอดีตทาสผิวดำตกอยู่ในกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงนั้น
ความน่าสนใจของ Roots อยู่ที่เรื่องราวเนื้อหาที่เข้มข้นและสร้างพลังใจอย่างสูง การค้นคว้าสืบสาวหาข้อเท็จจริงย้อนกลับไปหาต้นตอบรรพบุรุษของอเล็กซ์ ฮาเลย์ ด้วยการเริ่มต้นจากภาษาแอฟริกัน 2-3 คำของคุนต้าคินเต้ที่เล่าตกทอดกันมาสู่รุ่นต่อรุ่น ทำให้เรื่องที่นำเสนออกมาทั้งชวนติดตามและน่าทึ่ง
น่าทึ่งไปกับความพยายามของผู้เขียนที่ดั้นด้นค้นหาข้อมูลเพียงเพื่อหาคำตอบที่ดูเหมือนง่ายแสนง่ายว่า “ฉันคือใคร?”
แม้ข้อเท็จจริงที่พบจะโหดร้ายรวดร้าว แต่ก็เพราะความเจ็บปวดมิใช่หรือที่ทำให้มนุษย์รู้จักตัวเอง และเรียนรู้ที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างไม่สิ้นหวังและไม่ไร้ประโยชน์
ผมยังจำภาพและเสียงในตอนจบของ Roots ภาคแรกได้ดี เพลงประกอบที่ส่งอารมณ์ให้ขึ้นถึงขีดสุด โน้มนำให้ตระหนักถึงคุณค่าของอิสรภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะเชื้อชาติใด ผิวสีอะไร
จำได้ถึงอารมณ์อิ่มเอมถึงที่สุดจากคำพูดยาวเหยียดของชิคเก้น จอร์จ ทาสผู้ซึ่งกลายเป็นคนอิสระ และบัดนี้เป็นเจ้าของผืนดินของตัวเอง
เมื่อนึกถึงหนังเก่าก็มักย้อนกลับมามองปัจจุบัน ผมเคยอ่านเคยฟังนักสังเกตการณ์ทางสังคมจำนวนหนึ่ง บอกว่าเด็กรุ่นใหม่ในสังคมไทยกำลังป่วยไข้ ไร้สิ่งยึดเหนี่ยว หาตัวเองไม่เจอ และต้องการเป็นใครสักคน (somebody) เพื่อให้สังคมยอมรับ ...ไม่ว่าจะด้วยวิธีการเช่นไร
แน่นอน – คงไม่ได้หมายความตีขลุมเด็กไปทั้งเจเนอเรชั่น แต่คงไม่ยากที่จะยอมรับว่าเด็กไทยวัยใสจำนวนไม่น้อยกำลังตกอยู่ในวังวนอาการเยี่ยงนี้
มันเป็นอย่างนี้มาทุกยุคทุกสมัยในแทบทุกสังคม ก็ดูอย่าง “คิซซี่” กับ “ชิคเก้น จอร์จ” ในวัยสาวหนุ่มเป็นตัวอย่างนั่นปะไร
แต่ใช่ว่ามันต้องเป็นเช่นนี้เสมอไป
การเข้าใจตัวตนของตัวเองจะนำมาสู่การค้นพบคำตอบที่สำคัญที่สุด คือเราจะมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร? และควรทำอะไรให้ชีวิตมีคุณค่ามีความหมาย?
สำหรับผมนั้นรู้สึกว่าตัวเองเป็น “คนกลางเก่ากลางใหม่” เพราะจะให้ความคิดจิตใจหนักแน่นเหมือนคนรุ่นเก่าที่ผ่านร้อนหนาวมามากก็ไม่ใช่ แต่ก็ไม่ได้หน่อมแน้มและไม่เคยกระเหี้ยนกระหือรืออยากจะเป็นใครสักคนเพื่อให้สังคมยอมรับอย่างที่คนรุ่นใหม่ (บางคน) กำลังเป็น
ยกเว้นอยากเป็นไอ้มดแดงในสมัยยังเด็ก
แต่ถ้าหากอาการของคนหนุ่มสาวร่วมสมัยเป็นไปอย่างที่นักสังเกตการณ์สังคมว่าเอาไว้จริง มันก็น่าสงสัยว่าการพยายามเป็นคนอื่นนั้นจะทำให้พวกเขาเรียนลัดไปสู่การเข้าใจตนเองในที่สุดได้อย่างไร
เพราะผมเชื่อว่าคนเราไม่อาจค้นพบศักยภาพภายในที่สะท้อนตัวตนได้ ถ้าหากคนๆ นั้นไม่รู้จักและไม่เข้าใจรากเหง้าที่มาของตัวเอง
การแสวงหา “ตัวตน” ด้วยการพยายามเป็นใครสักคนของสังคม จึงเป็นเพียงการลอกคราบตัวตนปลอมๆ อันหนึ่ง ไปสู่ตัวตนปลอมๆ อีกอันหนึ่งเท่านั้นเอง
มันห่างไกลลิบลับกับการค้นพบคำตอบของคำถามว่า “ฉันคือใคร?”
ไม่ว่าจะชอบพันธมิตรฯ หรือรักทักษิณ แต่ถ้าน้องๆ รุ่นใหม่วัยใสเพียรสร้างตัวตนจากความพยายามเป็น “คนอื่น” ผมคิดว่าอิสรภาพของคนรุ่นใหม่ คงมีเนื้อหาและนิยามที่แปลกแปร่งไปจากอิสรภาพของคุนต้าคินเต้ คิซซี่ หรือชิคเก้นจอร์จมากทีเดียว
เพราะอิสรภาพจากการใช้โทรศัพท์มือถือรุ่นล่าสุดพร้อมสารพัดโปรโมชั่นที่โฆษณากรอกหูให้วัยรุ่นเม้าท์แตกกันมากๆ นั้น เป็นคนละเรื่องกับอิสรภาพจากการค้นพบตัวตนที่แท้
จาก
https://sites.google.com/site/daroonkku/video/roots