ผู้เขียน หัวข้อ: บทบรรยายว่าด้วยพุทธศาสนานิกายเซน ตะวันออก-ตะวันตก  (อ่าน 957 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
วิหารธรรม

ไดเซทสึ เทตาโร ซูสุกิ: บรรยาย
พจนา  จันทรสันติ: แปล
บทบรรยายว่าด้วยพุทธศาสนานิกายเซน

(๑) ตะวันออก-ตะวันตก



         มีนักคิดผู้ยิ่งใหญ่ชาวตะวันตกหลายท่าน ได้พูดถึงปัญหาปวดขมองเรื่อง “ตะวันออกและตะวันตก” ตามทัศนะและมุมมองของตน แต่เท่าที่ข้าพเจ้ารู้กลับมีนักเขียนชาวตะวันออกน้อยคนเหลือเกินที่ได้แสดงทัศนะของตนว่าด้วยเรื่องดังกล่าว ด้วยเหตุผลนี้เองข้าพเจ้าจึงอยากจะหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาอภิปรายกันเป็นอันดับแรก

          บาโช (ค.ศ. ๑๖๔๔-๙๔) กวีญี่ปุ่นผู้ยิ่งใหญ่ในสมัยศตวรรษที่สิบเจ็ด ได้เคยเขียนบทกวีสั้นที่มีสิบเจ็ดตัวอักษร ที่เรียกว่า ไฮกุ หรือ ฮกกุ ไว้ ซึ่งเมื่อแปลเป็นภาษาอังกฤษอาจอ่านได้ดังนี้:
                           
                   เมื่อพินิจดูให้ดี
                   ฉันเห็นดอกนาสุนะเบ่งบาน
                   ตรงริมรั้ว

          โยกุ มิเรบะ
          นาสุนะ ฮานะ ซากุ
          คะคิเนะ คะนะ
         
ดูเหมือนว่าบาโชจะเดินตามหนทางในชนบท เมื่อท่านเหลือบไปเห็นบางสิ่งซึ่งไม่มีผู้ใดสนใจเหลียวแลอยู่ตรงริมรั้วต้นไม้ ท่านจึงเข้าไปใกล้เพื่อมองดูให้ชัด และพบว่ามันเป็นดอกไม้ป่าซึ่งทั้งสามัญทั้งต่ำต้อยจนไม่มีผู้ผ่านทางเหลียวมอง นี่คือข้อเท็จจริงพื้นๆ ในบทกวี โดยมิได้ใช้ถ้อยคำงดงามกินใจใดๆ เลย ยกเว้นในสองพยางค์สุดท้ายซึ่งอ่านว่า คะนะ บ่อยครั้งที่คำคำนี้ถูกนำมาประกอบเข้ากับคำนาม คำวิเศษณ์หรือคำคุณศัพท์ หรือบ่งบอกถึงอาการอันซาบซึ้งดื่มด่ำ หรือชื่นชมหรือเศร้าสร้อยหรือเบิกบาน ซึ่งบางครั้งอาจแสดงออกด้วยเครื่องหมายอัศเจรีย์ (!) ในภาษาอังกฤษ ในกวีไฮกุบทนี้จบลงด้วยเครื่องหมายอัศเจรีย์ดังกล่าว

          ความรู้สึกที่บรรจุอยู่ในบทกวีสิบเจ็ดหรือสิบห้าตัวอักษรซึ่งปิดท้ายด้วยเครื่องหมายอัศเจรีย์ อาจเป็นสิ่งที่ไม่อาจเข้าใจได้สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับภาษาญี่ปุ่น ข้าพเจ้าจะพยายามอธิบายให้กระจ่างที่สุดเท่าที่จะสามารถ ซึ่งตัวกวีเองอาจไม่เห็นด้วยกับการตีความของข้าพเจ้า แต่นี่คงจะไม่เป็นปัญหามากนัก ถ้าเราเพียงรู้ว่าอย่างน้อยก็มีบางคนสามารถเข้าใจปีติได้อย่างที่ข้าพเจ้าต้องการ

          ประการแรกสุด บาโชเป็นกวีแนวธรรมชาติ เช่นเดียวกับกวีชาวตะวันออกท่านอื่น พวกท่านหลงรักในธรรมชาติมาก จนคิดขั้นเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ชีพจรของท่านเต้นร่วมอยู่กับชีพจรธรรมชาติ ทว่าชาวตะวันตกส่วนใหญ่กลับรู้สึกแปลกแยกกับธรรมชาติ เขาคิดว่ามนุษย์กับธรรมชาตินั้นหามีสิ่งใดละม้ายคล้ายคลึงกันไม่ ยกเว้นเพียงบางแง่มุม และธรรมชาติมีอยู่เพื่อให้มนุษย์ได้ใช้สอย แต่สำหรับชาวตะวันออกแล้วธรรมชาติเป็นสิ่งที่สนิทชิดเชื้อยิ่ง ความรู้สึกดื่มด่ำในธรรมชาติดังกล่าวถูกปลุกเร้าขึ้นเมื่อกวีบาโชได้ค้นพบดอกไม้อันสงบเสงี่ยมต่ำต้อย เบ่งบานอยู่ริมรั้วรกร้างบนหนทางสายเปลี่ยว เป็นดอกไม้ที่บริสุทธิ์ไร้เดียงสา ปราศจากสิ่งปรุงแต่ง เป็นดอกไม้ซึ่งไม่ปรารถนาจะถูกผู้ใดพบเห็น ทว่าเมื่อเราเพ่งมองดู เราจะพบความละเอียดอ่อนแบบบาง และสง่างามสูงส่งยิ่งกว่าราชันโซโลมอนเสียอีก มันช่างถ่อมเนื้อถ่อมตัว ช่างงดงามอย่างปราศจากอาการเสแสร้ง ความงามของมันปลุกเร้าให้เกิดความชื่นชมพิศวง กวีอาจอ่านพบความลี้ลับของชีวิตแฝงอยู่ในทุกกลีบดอกของมัน บาโชคงจะได้หลงลืมตนไปอย่างสิ้นเชิง ทว่าข้าพเจ้ามั่นใจว่าดวงใจของท่านในเวลานั้น คงเต็มไปด้วยพลังความรู้สึกที่ชาวคริสต์เรียกกัน “ความรักอันศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งหยั่งลึกลงสู่ห้วงลึกที่สุดของชีวิต



เทือกเขาหิมาลัยอาจกระตุ้นให้เราเกิดความรู้สึกตื่นตะลึงพิศวง คลื่นอันทรงพลัง ถาโถมในมหาสมุทรแปซิฟิกอาจทำให้สัมผัสได้ถึงอนันตภาพ แต่เมื่อจิตใจของเราเปิดออกด้วยพลังของความงาม หรือความเร้นลับ เราจะรู้สึกเยี่ยงเดียวกับบาโช ซึ่งแม้ในทุกเรียวใบหญ้าก็เต็มไปด้วยบางสิ่งซึ่งผ่านพ้นความรู้สึกต่ำทรามฉ้อฉลของมนุษย์ ยกเราขึ้นสู่ทิพยภูมิดุจดังแดนสุขาวดี ในกรณีนี้มิติไม่สามารถปิดกั้นมันไว้ได้ ด้วยเหตุนี้เอง ที่กวีชาวญี่ปุ่นซึ่งมีพรสวรรค์ตรงที่สามารถแลเห็นสิ่งอันซึ่งใหญ่ในสิ่งอันเล็กน้อยสามัญได้ ขึ้นอยู่กับมิติสามัญในโลก
          นี้คือตะวันออก บัดนี้ลองมาดูกันบ้างว่าตะวันตกจะแสดงออกเยี่ยงไรในสถานการณ์ดุจเดียวกัน ข้าพเจ้าเลือกบทกวีของเทนนิสันมาเป็นตัวอย่าง แม้ว่าท่านจะมิใช่กวีตามบรรทัดฐานแบบตะวันตกที่ควรจะยกขึ้นมาเพื่อเปรียบเทียบกับกวีทางตะวันออกไกล ทว่าบทกวีสั้นๆ ของท่านซึ่งยกมาแสดงในที่นี้ กลับดูใกล้เคียงกับบทกวีของบาโชยิ่ง บทกวีดังกล่าวมีว่า:
 

ดอกไม้ในรอยร้าวของกำแพง
          ข้าถอนเจ้าออกมาจากรอยแยก
          ถือเจ้าไว้ในมือทั้งต้นและราก
          ดอกไม้น้อย เพียงแต่ข้าจะสามารถเข้าใจ
          ว่าเจ้าคือสิ่งใด ทั้งต้นและราก ทั้งหมดทั้งสิ้น
          ข้าคงจะล่วงรู้ว่าพระเจ้าและมนุษย์คือสิ่งใด
         
มีอยู่สองประเด็นที่ข้าพเจ้าอยากจะกล่าวถึงในบทกวีนี้:

        ๑. การที่เทนนิสันถอนดอกไม้ขึ้นมา “ทั้งต้นและราก”  ถือมันไว้ในมือ มองดูมันอย่างพินิจพิเคราะห์ ดูคล้ายกับว่าท่านคงจะมีอารมณ์ความรู้สึกใกล้เคียงกับการที่บาโชได้ค้นพบดอกนาสุนะ เบ่งบานอยู่ริมรั้ว ทว่าข้อแตกต่างระหว่างกวีทั้งสองก็คือ บาโชมิได้เด็ดดอกไม้ออกมา ท่านเพียงแต่มองดูมัน ดื่มด่ำอยู่ในความคิดคำนึง ท่านรู้สึกได้ถึงบางสิ่งบางอย่างในจิตใจ ทว่ามิได้กล่าวออกมา ท่านเพียงแต่ให้เครื่องหมายอัศเจรีย์กล่าวแทนทุกสิ่งที่ท่านอยากจะกล่าว ด้วยเหตุที่ท่านหามีถ้อยคำใดๆ จะเปล่งออกมาไม่ ความรู้สึกของท่านเต็มเปี่ยมล้ำลึกเกินไป และท่านไม่ปรารถนาจะทำให้อะไรมันกลับกลายเป็นแค่ความคิด

ทว่าสำหรับเทนนิสัน ท่านเต็มไปด้วยความกระหายใคร่รู้และแจกแจงแยกแยะ หะแรกก็ถอนดอกไม้ขึ้นมาจากที่ที่มันขึ้นงอกเงยอยู่ พรากมันจากที่พำนัก ซึ่งแตกต่างกันไกลจากกวีตะวันออก ตรงที่มิได้ปล่อยให้มันอยู่ตามเดิม ท่านคงจะถอนออกมาจากรอยแยกร้าวของกำแพง “ทั้งต้นและราก” ซึ่งหมายความว่าไม้ดอกต้นนี้จะต้องเหี่ยวเฉาตกตายไป ท่านมิได้กังวลสนใจกับชะตากรรมของมัน เพียงตอบสนองต่อความกระหายใคร่รู้ของตน ดุจดังที่แพทย์กระทำกัน ท่านคงจะแยกชิ้นส่วนของดอกไม้ ทว่าบาโชมิได้แม้แต่จะแตะต้องดอกนาสุนะ ท่านเพียงแต่มองดูมัน ”อย่างพินิจพิเคราะห์” นั้นคือทั้งหมดที่บาโชทำ ท่านมิได้ลงมือกระทำการใดๆ ซึ่งแตกต่างอย่างยิ่งกับพลังความเคลื่อนไหวของเทนนิสัน

          ข้าพเจ้าอยากตั้งข้อสังเกตในประเด็นนี้ไว้เป็นพิเศษ ณ ที่นี้ และอาจจะมีโอกาสยกมาพูดถึงตรงที่อื่นอีก ตะวันออกนั้นเงียบขณะที่ตะวันตกกล่าวขาน ทว่าความเงียบของตะวันออกมิได้หมายถึงเป็นบ้าใบ้ปราศจากคำพูดหรือไร้ถ้อยวาจา ความเงียบในหลายๆ กรณีก็อาจสำแดงออกดุจดังถ้อยคำ ตะวันตกชื่นชอบถ้อยคำ ไม่เพียงเท่านี้ ตะวันตกยังเปลี่ยนถ้อยคำให้กลายเป็นเนื้อหนัง และกระทำให้เนื้อหนังมังสานี้ กลายเป็นสิ่งโดดเด่นเกินไป หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือหยาบเกินไปและเป็นโลกิยะเกินไปทั้งในศาสนาและศิลปะ

       ๒. เทนนิสันทำอะไรต่อจากนั้น ขณะที่มองดูดอกไม้ที่ถูกถอนออกมา ซึ่งอาจกำลังเริ่มเหี่ยวเฉาท่านได้ถามคำถามขึ้นในตนเอง “ข้าสามารถเข้าใจเจ้าได้หรือไม่” ทว่าบาโชหาได้มีคำถามใดๆ ไม่ ท่านสัมผัสได้ถึงความลี้ลับทั้งมวลที่เผยออกผ่านดอกนาสุนะอันต่ำต้อย เป็นความลี้ลับซึ่งหยั่งลึกลงสู่ต้นกำเนิดแห่งการดำรงอยู่ ท่านดื่มด่ำอยู่ในภวังค์ความรู้สึกนี้เปล่งออกมาผ่านอัศเจรีย์ซึ่งไร้เสียง

ตรงกันข้าม เทนนิสันกลับก้าวรุดต่อไปในความเป็นปัญญาชนของตน “เพียงแต่ข้าจะสามารถเข้าใจว่าเจ้าคือสิ่งใด ข้าคงจะล่วงรู้ว่าพระเจ้าและมนุษย์คือสิ่งใด”  ความปรารถนาที่จะเข้าใจของท่านเป็นบุคลิกแบบตะวันตก บาโชยอมรับขณะที่เทนนิสันต่อต้านขัดขืน อัตภาวะของเทนนิสันถอยห่างออกจากดอกไม้ จาก “พระเจ้าและมนุษย์” ท่านมิได้เชื่อมโยงตนเองเข้ากับพระเจ้าหรือธรรมชาติ ท่านแยกตนออกห่างจากสิ่งเหล่านั้น ความเข้าใจของท่านเป็นไปดังที่ผู้คนในปัจจุบันเรียกว่า “ภววิสัยเชิงวิทยาศาสตร์” ทว่าบาโชกลับเป็น “อัตวิสัย” ล้วนๆ (นี่มิใช่คำที่ดีนัก ด้วยคำว่า อัตวิสัย มักจะถูกนำมาอยู่ตรงข้ามกับคำว่า ภววิสัย “อัตวิสัย” ของข้าพเจ้าจึงเป็นภาวะที่อยากจะเรียกว่า “ปรมัตวิสัย”)  บาโชจึงอยู่ในฟากฝ่ายของ “ปรมัตวิสัย” นี้ ซึ่งทำให้บาโชแลเห็นดอกนาสุนะและดอกนาสุนะก็แลเห็นบาโช ในที่นี้จึงปราศจากความสงสารหรือเห็นใจหรือร่วมรับรู้ด้วยอาการของการใช้สมอง



บาโชใช้คำว่า “เมื่อพินิจดูให้ดี” (โยกุ มิเรบะ ในภาษาญี่ปุ่น) คำว่า “พินิจดูให้ดี” นี้มีความหมายว่า บาโชมิใช่ผู้เฝ้าดูอีกต่อไป ทว่าดอกไม้ได้รับรู้ในตนเอง และได้สำแดงตนออกอย่างแจ่มชัดทว่าเงียบงัน และถ้อยคำอันเงียบงันหรือความเงียบงันอันกล่าวถ้อยจากแง่มุมของดอกไม้นี้ ย่อมอุโฆษผ่านอักษรทั้งสิบเจ็ดตัวของบาโชออกมาอย่างงดงามและเป็นมนุษย์ยิ่ง ทุกความล้ำลึกของอารมณ์ความรู้สึก ทุกความลี้ลับแห่งการเอื้อนเอ่ย หรือแม้แต่ปรัชญาแห่ง “อัตวิสัยสมบูรณ์” เหล่านี้ย่อมสื่อสารแก่ใจของผู้ที่อาจสัมผัสรับรู้ได้เท่านั้น

เท่าที่ข้าพเจ้าเห็นในงานของเทนนิสัน ความรู้สึกของท่านไม่ได้ลุ่มลึกกระไรนัก ท่านเป็นเพียงนักคิด เป็นจิตใจแบบตะวันตกเท่านั้น ท่านเป็นเพียงสาวกของลัทธิถ้อยคำและเหตุผลเท่านั้น ท่านจะต้องพูดบางอย่างเสมอ จะต้องแปรเปลี่ยนประสบการณ์อันจริงแท้ให้เป็นแค่นามธรรมและความคิด ท่านจะต้องออกจากอาณาจักรของความรู้สึกมาสู่โลกของสติปัญญา และจะต้องนำชีวิตและความรู้สึกไปทำการวิเคราะห์แยกแยะเพื่อสนองต่อจิตใจกระหายใคร่รู้แบบตะวันตก
ข้าพเจ้าเลือกกวีสองท่าน คือบาโชกับเทนนิสันเพื่อแสดงให้เห็นถึงแนวทางพื้นฐานสองประการในการเข้าหาความจริง บาโชคือตัวแทนของตะวันออก และเทนนิสันเป็นตัวแทนของโลกตะวันตก เมื่อเราเปรียบเทียบดู เราจะเห็นภูมิหลังทางวัฒนธรรมของคนทั้งสอง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า จิตใจแบบตะวันตกเป็นจิตใจที่วิเคราะห์ แยกแยะหาข้อแตกต่าง อุปนัย ตัดขาด ครุ่นคิด เป็นภววิสัย  เป็นวิทยาศาสตร์ มีกฎเกณฑ์ นิยาม วางแผน เย็นชา  เข้มงวด จัดการ ใช้อำนาจ ถือทิฏฐิ ครอบงำผู้อื่น ฯลฯ ทว่าบุคลิกของตะวันออกอาจแสดงออกได้ดังนี้: สังเคราะห์ องค์รวม กลืนเข้า ไม่แบ่งแย่ง อนุมาน ไม่เป็นระบบ ถือคำสอน ใช้สัญชาตญาณ (ค่อนไปทางอารมณ์ความรู้สึก) ไม่ยึดเหตุผล เป็นอัตวิสัย เป็นปัจเจกทางจิตวิญญาณ และมีจิตใจเป็นกลุ่มก้อนทางสังคม[๑] ฯลฯ

เมื่อบุคลิกภาพของทั้งตะวันตกและตะวันออกได้แสดงออกมาให้เห็นเป็นตัวบุคคลแล้วข้าพเจ้าขอย้อนไปกล่าวถึง เหลาจื๊อ (สี่ร้อยปีก่อนคริสตกาล) ปราชญ์จีนผู้ยิ่งใหญ่ในครั้งโบราณ ข้าพเจ้าจะให้ท่านเป็นตัวแทนของตะวันออก และที่ท่านเรียกว่าผู้คนส่วนใหญ่หรือมหาชนนั้นให้เป็นตัวแทนของตะวันตก เวลาที่ข้าพเจ้ากล่าวคำว่า “มหาชน” นั้น หาได้มีจิตเจตนาที่จะนำพูดถึงตะวันตกในแง่มุมที่ต่ำทราม เมื่อพูดถึงมหาชนตามที่ที่ปราชญ์เฒ่าได้บรรยายไว้

เหลาจื๊อเปรียบตนเองเป็นดุดดังคนโง่ ดุจดังว่าท่านมิได้รู้สิ่งใดเลย มิได้ถูกกระทบด้วยสิ่งใด ท่านเป็นคนไร้ประโยชน์อย่างสิ้นเชิงในโลกแห่งประโยชน์นิยมนี้ ท่านแทบจะไม่แสดงออกหรือพูดจาใดๆ เลยด้วยซ้ำ กระนั้นก็ดียังมีบางสิ่งบางอย่างในตัวท่าน ที่ทำให้ไม่คล้ายกับเจ้างั่ง ท่านเพียงแต่ดูคล้ายคลึงภายนอกเท่านั้น
ทว่าตรงกันข้าม ตะวันตกกลับมีดวงตาคู่ที่คมกริบ ฝังอยู่ในเบ้าตาลึก เป็นดวงตาที่เจาะทะลุทะลวง ซึ่งสำรวจดูโลกภายนอกดุจเดียวกับอินทรีที่ทะยานยานสูงอยู่บนฟ้า (อันที่จริงแล้ว นกอินทรีเป็นสัญลักษณ์ของชาติมหาอำนาจตะวันตกบางชาติ) จมูกที่โด่ง ริมผีปากเรียวบาง และเค้าโครงหน้าของเขา ล้วนส่อแสดงถึงพัฒนาการทางสติปัญญาที่สูงล้ำและความพร้อมที่จะกระทำการ ความพร้อมเยี่ยงนี้อาจเปรียบได้กับสิงห์ อันที่จริงแล้วทั้งอินทรีและสิงห์ล้วนเป็นสัญลักษณ์ของตะวันตก

จวงจื้อ นักปราชญ์เต๋าเมื่อสามร้อยปีก่อนคริสตกาล ได้เขียนนิทานเรื่องคอนตอน (ฮุนตุน) หรือความปั่นป่วนสับสน เพื่อนๆ ของท่านเป็นหนี้ความสำเร็จหลายประการต่อความปั่นป่วนสับสนและปรารถนาจะตอบแทน พวกเขาจึงมาปรึกษาหารือกันว่าจะทำเยี่ยงไร เขาพบว่าความปั่นป่วนสับสนนั้นปราศจากอายตนะที่จะรับรู้โลกภายนอก อยู่มาวันหนึ่งเขาจึงมอบตาให้แก่ท่าน อีกวันหนึ่งก็ให้จมูก และภายในหนึ่งสัปดาห์ก็ให้อวัยวะรับรู้ทั้งมวลครบถ้วน และที่พวกเขาพากันชื่นชมความสำเร็จอยู่นั้น ความปั่นป่วนสับสนสนก็สิ้นชีวิตลง

ตะวันออกก็คือความปั่นป่วนสับสน ส่วนตะวันตกก็คือผู้ปรารถนาดีเหล่านั้น เป็นเพื่อนผู้หวังดีทว่าขาดความรอบรู้

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าในหลายๆ กรณี ตะวันออกอาจดูโง่เง่าทึบทึม ด้วยเหตุที่ชาวตะวันออกมิได้มีจิตใจแบบวิเคราะห์แยกแยะ หรือพิสูจน์หาเหตุผลและมิได้เผยให้เห็นถึงสติปัญญาอย่างแจ่มชัด เขาเป็นพวกที่ยุ่งเหยิงและวางเฉยกับทุกสิ่ง ทว่าเขาก็รู้ดีว่าหากปราศจากบุคลิกภาพแบบปั่นป่วนยุ่งเหยิงในสติปัญญาแล้วไซร้ สติปัญญานั้นก็อาจไม่มีประโยชน์มากนักในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเยี่ยงมนุษย์ สมาชิกของสังคมผู้เป็นปัจเจกแหว่งวิ่นไม่อาจกระทำการร่วมกันอย่างสันติและกลมกลืน นอกเสียจากจะมีจุดร่วมอยู่ในอนันตภาพ ซึ่งเป็นบรรทัดฐานอยู่ในทุกกรณียกิจของหนึ่งหน่วยมนุษย์ซึ่งมีขอบเขตจำกัด สติปัญญาเป็นเรื่องของสมอง ซึ่งกิจกรรมของมันอาจแลเห็นได้ชัดและบรรลุเป้าหมายได้เป็นอันมาก ขณะที่ความยุ่งเหยิงปั่นป่วนกลับเงียบงันซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลังความบ้าคลั่งถั่งโถมอันฉาบฉวย ไม่เคยเลยที่คุณค่าความหมายที่แท้จริงของมันจะเผยให้เห็นต่อใจของมนุษย์

จิตใจที่เป็นวิทยาศาสตร์ของตะวันตก นำสติปัญญาไปประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของมนุษย์ และเพื่อช่วยให้พ้นจากสิ่งที่มันคิดว่าเป็นการทำงานหนักโดยไม่จำเป็น มันจึงพยายามนำทรัพยากรธรรมชาติทุกอย่างเท่าที่หาได้มาใช้ ในขณะที่ตะวันออกไม่มีปัญหากับการใช้แรงงานทุกชนิด มันพึงใจอยู่กับอารยธรรมที่ยังไม่พัฒนา มันไม่ชมชอบที่จะเป็นจิตใจแบบเครื่องจักร แปรเปลี่ยนตนเองให้กลายเป็นทาสของเครื่องจักร ความรักที่จะใช้แรงงานเป็นบุคลิกเฉพาะแบบตะวันออก นิทานเรื่องชาวนาของจวงจื้อจึงส่อแสดงนัยทางปรัชญาที่สำคัญยิ่ง แม้ว่าเหตุการณ์สมมุตินี้จะเกิดขึ้นในจีนเมื่อกว่าสองพันปีล่วงมาแล้ว

จวงจื้อเป็นปรัชญาเมธีผู้ยิ่งใหญ่ของจีนโบราณ ท่านคงจะได้ศึกษาเล่าเรียนยิ่งกว่าที่ท่านจะได้รับในปัจจุบัน คนจีนนั้นมิได้มีจิตใจครุ่นคิดค้นหาเทียมเท่าคนอินเดีย ดังนั้นจึงมีแนวโน้มที่จะหลงลืมนักคิดของตน ขณะที่จวงจื้อได้รับการยกย่องในแง่ของการใช้ภาษาที่งดงามในหมู่ชาวจีนผู้รักในวรรณคดี ทว่าแนวความคิดของท่านกลับมิได้รับการยกย่องเท่าที่ควร ท่านเป็นผู้รวบรวมและบันทึกเรื่องราวต่างๆ ในครั้งนั้น ทั้งยังอาจเขียนนิทานต่างๆ เพื่อแสดงปรัชญทัศนะของท่านที่มีต่อชีวิตเพื่อเติมเข้าไว้ด้วย และนี่คือนิทานซึ่งแสดงปรัชญาของจวงจื้อเกี่ยวกับการงานไว้อย่างงดงาม เป็นเรื่องของชาวนาผู้ปฏิเสธจะใช้คันชักน้ำวิดน้ำขึ้นจากบ่อ
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
ชาวนาผู้หนึ่งขุดบ่อและใช้น้ำจากบ่อนั้นรดพืชพรรณในไร่นาของตน เขาใช้ถังธรรมดาตักน้ำขึ้นมาดุจดังวิถีโบราณที่ผู้คนทำกัน มีผู้ผ่านมาแลเห็นเข้าจึงถามชาวนาว่าเหตุใดจึงไม่ใช้คันชักน้ำ ซึ่งจะช่วยทุ่นแรงและมีประสิทธิภาพมากกว่าวิธีโบราณ แต่ชาวนากลับตอบว่า “ข้ารู้ว่ามันช่วยทุ่นแรง และด้วยเหตุนี้เองข้าจึงไม่ใช้มัน ข้าเกรงว่าการใช้เครื่องมือเช่นนั้นจะทำให้จิตใจของเรากลับกลายเป็นเครื่องจักร และจิตใจที่เป็นกลไกจะทำให้เรามีนิสัยเฉื่อยชาเกียจคร้าน”



ชาวตะวันตกมักจะรู้สึกสงสัยว่าเหตุใดคนจีนจึงไม่พัฒนาวิทยาศาสตร์ประดิษฐ์เครื่องกลต่างๆ เขาพากันบอกว่า นี่เป็นเรื่องแปลกมาก เพราะคนจีนมีชื่อเสียงในเรื่องการคิดค้นและการประดิษฐ์ ยกตัวอย่างเช่น เข็มทิศ ดินปืน กงล้อ กระดาษ และสิ่งประดิษฐ์อื่นๆ เหตุผลสำคัญก็คือคนจีนและชาวเอเชียอื่นๆ ล้วนรักชีวิตอย่างที่มันเป็น และไม่ปรารถนาที่จะแปรเปลี่ยนมันให้กลายเป็นวิถีทางสู่ความสำเร็จผลอย่างอื่น ซึ่งจะทำให้วิถีชีวิตแปรเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น เขารักการงานอย่างที่มันเป็น แม้ว่าหากจะกล่าวไปแล้วการงานหมายถึงการทำบางสิ่งให้สำเร็จผล แต่ในขณะที่กระทำการงานเขาก็มีสุขในงานนั้นด้วยและไม่ได้รีบเร่งจะให้เสร็จ เครื่องจักรเป็นสิ่งที่มีประสิทธิภาพและกระทำการงานให้สำเร็จลุล่วงได้มากกว่าแรงคน ทว่าเครื่องจักรเป็นสิ่งที่ไร้หัวจิตหัวใจ ปราศจากการริเริ่มสร้างสรรค์และปราศจากความหมาย

ความเป็นกลไกหมายถึงสติปัญญา และด้วยเหตุที่สติปัญญาคือประโยชน์นิยมเป็นอันดับแรก จึงหาได้มีสุนทรียธรรม จริยธรรม อยู่ในเครื่องจักรไม่ เหตุผลที่ทำให้ชาวนาของจวงจื้อไม่ยอมมีจิตใจแบบเครื่องจักร จึงเป็นเพราะเหตุนี้ เครื่องจักรเร่งเร้าให้เรากระทำการงานได้เสร็จสิ้นและบรรลุถึงจุดมุ่งหมายที่มันได้ถูกสร้างขึ้น การงานและแรงงานในตัวของมันเองหาได้มีคุณค่าใดไม่นอกเสียจากกลายเป็นวิธีการไป กล่าวคือชีวิตได้สูญเสียพลังการสร้างสรรค์และได้กลับกลายเป็นแค่เครื่องมือเท่านั้น บัดนี้มนุษย์ได้กลายเป็นกลไกการผลิต นักปรัชญาได้พูดกันถึงเรื่องคุณค่าความหมายของมนุษย์ และดังที่เราได้เห็นกันอยู่ในยุคแห่งอุตสาหกรรมและกลไกอันทรงพลังนี้ เครื่องจักรได้กลายเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง และมนุษย์ได้ถูกลดทอนให้กลายเป็นทาสอย่างสิ้นเชิง ข้าพเจ้าคิดว่านี้คือสิ่งที่จวงจื้อหวาดเกรง แน่นอนว่าเราไม่อาจหมุนกงล้อของลัทธิอุตสาหกรรมให้ย้อนกลับไปสู่ยุคสมัยดั้งเดิมแห่งงานฝีมือ ทว่าเป็นการดีที่เราจะให้ค่ากับงานมืองานไม้และตระหนักถึงความชั่วร้ายของความเป็นกลไกในยุคสมัยใหม่ ซึ่งเน้นที่สติปัญญามากเกินไปโดยยอมละทิ้งชีวิตทั้งหมด

เราได้พูดถึงตะวันออกกันมามากแล้ว บัดนี้ลองมากล่าวถึงตะวันตกกันบ้าง Denie de Rougemont ในงานเขียนชื่อ “Man’s Western Guest” ได้กล่าวถึง “มนุษย์กับเครื่องจักร” ในฐานะเครื่องหล่อหลอมลักษณะสองประการในวัฒนธรรมตะวันตก นี่เป็นประเด็นสำคัญยิ่ง ด้วยเหตุที่มนุษย์กับเครื่องจักรเป็นแนวคิดที่ขัดแย้งกัน ซึ่งตะวันตกได้พยายามอย่างยิ่งที่จะหาทางประสานความแตกต่างเข้าด้วยกัน ข้าพเจ้าไม่แน่ใจว่าชาวตะวันตกได้กระทำไปอย่างรู้ตัวหรือไม่ ข้าพเจ้าเพียงแต่กล่าวถึงอาการที่ความคิดสุดขั้วทั้งสองดำเนินอยู่ในจิตใจของชาวตะวันตกในปัจจุบัน พึงตระหนักได้ว่าเครื่องจักรนั้นแตกต่างกับปรัชญาของจวงจื้อเรื่องการงานและการใช้แรงงาน และแนวคิดตะวันตกเรื่องเสรีภาพของปัจเจกและความรับผิดชอบใจตนเองกลับเป็นสิ่งตรงข้ามกับแนวคิดตะวันออกเรื่องเสรีภาพขั้นอันติมะ ทว่าข้าพเจ้าจะไม่ลงรายละเอียดในที่นี้ แต่จะพยายามสรุปให้เห็นซึ่งความขัดแย้งที่ตะวันตกกำลังเผชิญและทุกข์ทรมานภายใต้:

๑. มนุษย์กับเครื่องจักรเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกันอยู่ในตัว และด้วยเหตุแห่งความขัดแย้งนี้ ตะวันตกจึงต้องพบเผชิญกับความตึงเครียดทางจิตใจอย่างสุดแสน ซึ่งได้สำแดงออกให้เห็นหลายประการด้วยกันในวิถีชีวิตสมัยใหม่
๒. มนุษย์หมายถึงปัจเจกภาพ ความรับผิดชอบต่อตนเอง ในขณะที่เครื่องจักรเป็นผลผลิตของสติปัญญา เป็นนามธรรม มีกฎเกณฑ์ มีลักษณะเบ็ดเสร็จ และชีวิตรวมหมู่
๓. ถ้าจะกล้าวอย่างภววิสัยหรืออย่างเป็นวิชาการหรือพูดในมุมของจิตใจแบบกลไก ความรับผิดชอบต่อตนเองหามีความหมายใดไม่ ด้วยเหตุที่ความรับผิดชอบเป็นตรรกะที่สัมพันธ์อยู่กับเสรีภาพ และในตรรกะหาได้มีเสรีภาพอยู่ไม่ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างถูกควบคุมอยู่ด้วยกฎเกณฑ์อันแข็งกระด้างของหลักอนุมาน
๔. ยิ่งไปกว่านั้น มนุษย์ในฐานะที่เป็นผลิตผลทางชีวภาพ ย่อมตกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ทางชีวภาพด้วย พันธุกรรมคือข้อเท็จจริงซึ่งไม่อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ด้วยบุคลิกภาพ ฉันมิได้เกิดมาด้วยเจตจำนงเสรี พ่อแม่ก็ไม่ได้ให้กำเนินฉันมาด้วยเจตจำนงเสรี การเกิดไม่อาจวางแผนไว้ได้
๕. เสรีภาพเป็นแนวความคิดที่ไร้สาระ ฉันมีชีวิตอยู่ในสังคม ในกลุ่มชน ซึ่งจำกัดฉันไว้ด้วยอาการต่างๆ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ แม้ในยามที่อยู่เพียงลำพังฉันก็มิได้เป็นอิสระ ฉันมีแรงกระตุ้นหลากหลายซึ่งไม่อาจควบคุมบังคับมันได้ แรงกระตุ้นบางอย่างก็ฉุดลากฉันไปอย่างไม่อาจเหนี่ยวรั้ง ตราบใดที่เรายังอยู่ในโลกอันจำกัดคับแคบนี้ เราไม่อาจพูดถึงการเป็นอิสระหรือกระทำอย่างที่เราปรารถนาได้ แม้แต่ความปรารถนานี้ก็หาใช่สิ่งที่เป็นของเราไม่
๖. มนุษย์อาจพูดถึงเรื่องเสรีภาพ ทว่าเครื่องจักรจำกัดเขาไว้ในทุกๆ ด้าน ด้วยคำพูดไม่อาจไปได้ไกลเกินกว่านั้น ตั้งแต่แรกเริ่มมาแล้วที่คนตะวันตกเหนี่ยวรั้งควบคุมและกีดกัน ความเลื่อนไหลเป็นธรรมชาติของเขามิใช่ของจริง หากหากเกิดแต่เครื่องจักร เครื่องจักรหาได้มีการสร้างสรรค์ใดๆ ไม่ มันจะทำงานตราบเท่าที่ยังมีสิ่งที่ถูกใส่เข้าไปเพื่อให้ดำเนินไป มันไม่มีทางที่จะกระทำการดุจดังมนุษย์ได้
๗. มนุษย์จะเป็นอิสระก็ต่อเมื่อเขามิใช่ตัวบุคคลอีกต่อไป เขาจะเป็นอิสระก็ต่อเมื่อเขาปฏิเสธตนเองและกลืนรวมเข้ากับทั้งหมด หรือกล่าวให้ถูกต้องยิ่งขึ้น เขาจะเป็นอิสระเมื่อเขาเป็นตัวเองและขณะเดียวกันก็มิใช่ตัวเอง เว้นเสียแต่เราจะเข้าใจถึงนัยผกผันนี้อย่างถ่องแท้ เขาไม่มีคุณสมบัติพอที่จะพูดถึงเรื่องเสรีภาพหรือความรับผิดชอบหรือความเลื่อนไหลเป็นธรรมชาติ ดังเช่นความลื่นไหลเป็นธรรมชาติที่ชาวตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักจิตเคราะห์พูดถึง ก็มิใช่อะไรมากไปกว่าความลื่นไหลเป็นธรรมชาติแบบเด็กๆ หรือแบบสัตว์ หาใช่ความลื่นไหลเป็นธรรมชาติของผู้เปี่ยมด้วยวุฒิภาวะไม่
๘. เครื่องจักร พฤติกรรมศาสตร์ เงื่อนไขการตอบสนอง คอมมิวนิสต์ การผสมเทียม การทำให้เป็นอัตโนมัติ การผ่าชำแหละเพื่อการศึกษา เอชบอมบ์ เหล่านี้ทั้งหมดล้วนสัมพันธ์กันอยู่อย่างใกล้ชิด เชื่อมโยงต่อติดกันเป็นห่วงโซอันแข็งเหนียวแน่นแห่งตรรกะ
๙. ตะวันตกพยายามที่จะทำวงกลมให้เป็นสี่เหลี่ยม ตะวันออกพยายามที่จะเทียบเคียงวงกลมเข้ากับสี่เหลี่ยม สำหรับเซนแล้ววงกลมก็คือวงกลม และสี่เหลี่ยมก็คือสี่เหลี่ยม และในขณะเดียวกันสี่เหลี่ยมก็คือวงกลม และวงกลมก็คือสี่เหลี่ยม
๑๐. เสรีภาพเป็นเพียงทัศนะเชิงอัตวิสัยและไม่อาจตีความให้เป็นภววิสัยได้ เมื่อเราพยายามจะทำให้เป็นดังนั้น ก็เท่ากับเราได้เข้าไปพัวพันกับความขัดแย้งอย่างดิ้นไม่หลุด ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงอยากจะกล่าวว่า การพูดถึงเรื่องเสรีภาพในโลกแห่งภววิสัยอันจำกัดคับแคบซึ่งแวดล้อมเราอยู่นี้เป็นเรื่องไร้สาระยิ่ง
๑๑. ในโลกตะวันตก “ใช่” ก็คือ “ใช่” และ “ไม่” ก็คือ “ไม่” “ใช่” ไม่อาจเป็น “ไม่”  ไปได้หรือโดยนัยกลับกัน ทว่าตะวันออกทำให้ “ใช่” เคลื่อนเข้ามาสู่ “ไม่” และทำให้ “ไม่”  มาสู่ “ใช่” ไม่มีการแบ่งแยกอย่างเด็ดขาดอยู่ระหว่าง “ใช่” กับ “ไม่” ธรรมชาติของชีวิตย่อมเป็นดังนี้ มีเพียงตรรกะเท่านั้นที่เส้นแบ่งนั้นไม่อาจลบเลือนลงได้ ตรรกะเป็นเพียงสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อการใช้สอยในกิจการงานต่างๆ
๑๒. เมื่อตะวันตกเริ่มตระหนักในข้อเท็จจริงนี้ จึงได้สร้างแนวคิดทางฟิสิกซ์ที่เรียกว่าทฤษฎีสมบูรณ์หรือหลักการแห่งความไม่แน่นอน เมื่อไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ทางฟิสิกซ์บางประการได้ แม้ว่ามันจะประสบความสำเร็จในการสร้างแนวคิดใหม่ๆ ขึ้นมา แต่ก็ไม่อาจตีกรอบให้แก่ความเป็นจริงแห่งสภาวะการดำรงอยู่ได้
๑๓. ศาสนามิได้เกี่ยวข้องกับเราในที่นี้ แต่ก็คงไม่ว่างเปล่าเสียทีเดียวหากจะยกมากล่าว คริสต์ศาสนาอันเป็นศาสนาของตะวันตก พูดถึงพระวัจนะ พระคัมภีร์ พูดถึงเนื้อหนังและการกลับฟื้นคืนชีพ และความรุนแรงบ้าคลั่งชั่วกาล ทว่าศาสนาของตะวันออกกลับเน้นที่การหลุดพ้น ความสงบวิเวก ภวังค์และสันติสุขนิรันดร์ สำหรับเซนแล้วการกลับชาติมาเกิดก็คือการหลุดจากธรรมชาติ ตามเสียงคำรามครืนครั่นดุจอัสนีบาต และถ้อยคำอันยิ่งใหญ่นั้นไร้ถ้อย เนื้อหนังปราศจากเนื้อหนังปัจจุบันขณะเทียบเท่าสุญตาและอนันตภาพ
 

ที่มา: สานแสงอรุณ  ปีที่ ๑๓ ฉบับที่ ๑ มกราคม-กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒
*นำไปเผยแพร่ต่อ  กรุณาอ้างอิงที่มา*


หมายเหตุบรรณาธิการ



ไดเซทสึ เทตาโร ซูสุกิ (Daisetz Teitaro Suzuki ค.ศ. ๑๘๗๐-๑๙๖๖) เป็นศาสตราจารย์พุทธปรัชญาแห่งมหาวิทยาลัยโอตานิ เกียวโต เกิดในครอบครัวเซนสำนักรินไซ เมื่อสมัยยังเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยอิมพีเรียล โตเกียว ได้ศึกษาเซนที่กามากุระไปพร้อมกัน ภายใต้โรชิ อมาคิตะ โกเซ็น ครั้นโรชิตายลงก็ศึกษากับโสเยน ซากุ จนบรรลุธรรมในที่สุด เขามีกิจกรรมการเผยแพร่เซนแก่ชาวตะวันตก ทั้งด้านงานเขียน งานแปลคัมภีร์ การบรรยายและการก่อตั้งองค์กรต่างๆ ความพยายามอธิบายธรรมชาติ และความสำคัญของเซนแก่โลกตะวันตกของซูสุกินับว่าได้ผล เพราะเวลานี้ความสนใจเซนที่ยิ่งใหญ่นั้นอยู่ที่โลกตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอเมริกา เยอรมนี และอังกฤษ ทว่าในเกาหลีและญี่ปุ่นเซนกลับเสื่อมโทรมลงเร็วมาก

หนังสือของซูสุกิที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทย เท่าที่ทราบเข้าใจว่ามีอยู่เพียง ๒ เล่ม คือ เซนกับวัฒนธรรมญี่ปุ่น ซึ่งจำนงค์ ทองประเสริฐ ได้แปลและเรียบเรียงจากหนังสือ Zen and Japanese Culture สำนักพิมพ์ราชบัณฑิตยสถานจัดพิมพ์เล่ม ๑ (๒๕๑๘) และโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง จัดพิมพ์เล่ม ๒ (๒๕๑๙) ต่อมาสำนักพิมพ์ราชบัณฑิตยสถานนำกลับมาพิมพ์ซ้ำรวมเป็นเล่มเดียวในปี ๒๕๔๗ ส่วนอีกเล่มคือ พุทธแบบเซ็น แปลโดยโกมุที ปวัตนา สำนักพิมพ์สมิตจัดพิมพ์เมื่อปี ๒๕๓๓ ข้อมูลสังเขปประวัติของซูสุกิก็เก็บความมาจากหนังสือเล่มหลังนี้

สำหรับ “บทบรรยายว่าด้วยพุทธศาสนานิกายเซน” นี้ พจนา จันทรสันติ แปลมาจาก Zen Buddhism and Psychoanalysis by D.T. Suzuki, Erich Fromn and Richard De Martino.

จาก http://www.oknation.net/blog/print.php?id=426625
 
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...