ผู้เขียน หัวข้อ: Still Alice อลิซไม่ลืม : ผู้ที่เป็นสุข คือผู้ที่รู้จักลืม  (อ่าน 1210 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 3 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


โดย รณวัฒน์ จันทร์จารุวงศ์
ronnawat.j@gmail.com

ตอนรู้เรื่องย่อของ Still Alice นั้นบอกตามตรงว่าผมรู้สึกเฉยๆ และไม่ได้สนใจที่จะดู เพราะพล๊อตเรื่องที่ว่าด้วยโรคอัลไซเมอร์นั้นก็ทำให้ผมพอที่จะคาดเดาเนื้อเรื่องได้ประมาณนึง

เรามีหนังที่เอาเรื่องอาการอัลไซเมอร์มาเป็นพล๊อตอยู่หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น “50 First Date” ที่เป็นหนังรักโรแมนติกเล่าเรื่องของชายหนุ่มที่ไปตกหลุมรักหญิงสาวความจำสั้นอย่างลูซี่ (รับบทโดย ดรูว์ แบรี่มอร์) โดยทุกเช้าที่เธอตื่นมาเธอจะใช้ชีวิตเหมือนกับเป็นวันเดียวกับวันก่อนที่เธอจะสูญเสียความทรงจำ



หรือที่ใหม่ขึ้นมาหน่อยก็เรื่อง “Before I go to Sleep” ที่เพิ่งเข้าฉายไปในปีที่แล้วที่มาในแนว Thriller กับพล๊อตที่ว่าด้วยหญิงสาวที่ความจำสูญหายทุกเช้าที่ตื่นขึ้นมาและก็สงสัยว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับเธอกันแน่ (รับบทโดย นิโคล คิดแมน)

หรือถ้าเป็นหนังไทยเราก็มีเรื่อง “ความจำสั้น แต่รักฉันยาว” ที่น่าจะเป็นที่รู้จักกันดี แต่เท่าที่ผมรู้ไม่มีหนังเรื่องไหนได้ทำการสำรวจโรคที่มีชื่อว่าอัลไซเมอร์ได้อย่างจริงจังเหมือนกับที่ Still Alice ได้ทำไว้ และที่สำคัญมันทำได้เหนือความคาดหมายและเหนือชั้นมากๆ

เหนือความคาดหมายคือผมไม่รู้ว่าหนังจะเล่าเรื่องอัลไซเมอร์ออกมาในมุมนี้ มันเล่าอาการและสภาพการณ์ต่างๆ ได้ละเอียดมาก เราสามารถนึกภาพตามและจินตนาการเรื่องราวที่จะตามมาต่อได้เลย ขนาดที่ว่าผมมีประสบการณ์เคยใช้เวลาอยู่กับผู้ป่วยอาการอัลไซเมอร์มาบ้างก็ยังนึกไม่ออกว่าอาการหลงลืมนั้นจะมีแง่มุมเหล่านี้ด้วย

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณจำคำศัพท์ไม่ได้ คุณก็ไม่รู้ว่าจะสื่อสารมันออกมายังไง คุณอาจจะนัดกับเพื่อนไว้ให้มาเจอกันที่นัดหมาย แต่คุณนึกไม่ออกว่ามันเรียกว่าอะไร เลยต้องเรียกมันว่าไอ้ตู้เหลี่ยมๆ แดงๆ เพราะคุณจำคำว่า “ตู้โทรศัพท์” ไม่ได้

ส่วนที่บอกว่าเหนือชั้นก็คือว่าถึงแม้ว่าตัวหนังจะอุดมไปด้วยรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับอาการของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์อย่างที่ได้ยกตัวอย่างไป แต่ Still Alice ก็ไม่ได้ทำหน้าที่แค่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ที่เราไม่เคยรู้เหมือนกับสารคดีเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ทั่วไป แต่มันยังมีกลวิธีที่สื่อเรื่องราวได้อย่างมีประสิทธิภาพและสะกิดไปถึงอารมณ์ของผู้ชมโดยไม่ได้เร่งเร้าให้ต้องสะเทือนใจโดยไม่จำเป็น ซึ่งเรื่องนี้เดี๋ยวมาว่ากันต่อในตอนท้ายอีกทีครับ เพราะว่ามันคาบเกี่ยวกับการสปอยล์เนื้อหาของเรื่องอยู่เหมือนกัน

<a href="https://www.youtube.com/v/ZrXrZ5iiR0o" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/ZrXrZ5iiR0o</a>


เรื่องราวของ Still Alice เริ่มต้นที่ ดร. อลิซ ฮาวแลนด์ อาจารย์ด้านภาษาศาสตร์ชื่อดังที่พบว่าตัวเองเป็นโรคอัลไซเมอร์ชนิดเกิดเร็ว (early-onset Alzheimer’s) ที่สำคัญคือ โรคนี้มันไม่ได้จำกัดตัวเองว่าจะต้องเกิดขึ้นเฉพาะกับคนที่มีอายุมากเท่านั้น นั่นทำให้คนที่เพิ่งจะเข้าสู่วัย 50 อย่างอลิซต้องเผชิญกับโรคอัลไซเมอร์ก่อนวัยอันควร ยิ่งไปกว่านั้นโรคอัลไซเมอร์ที่เธอตรวจพบนั้นเป็นชนิดที่เกิดขึ้นได้จากพันธุกรรม นั่นหมายความว่ามันมีโอกาสที่ดีเอ็นเอของโรคนี้จะถูกส่งต่อไปยังลูกๆ ของเธอด้วย

จากนั้นหนังก็ทำให้เราเห็นว่าโรคอัลไซเมอร์นั้นได้ค่อยๆ แย่งชิงสิ่งสำคัญในชีวิตเธอไปอย่างไรบ้าง เริ่มต้นด้วยหน้าที่การงานอันมั่นคง ซึ่งก็ไม่มั่นคงอีกต่อไป เพราะถึงแม้ว่าอลิซจะมีตำแหน่งเป็นอาจารย์คนสำคัญในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง แต่เมื่อเธอจำไม่ได้ว่าคาบนี้เธอจะต้องสอนเรื่องอะไร สุดท้ายแล้วเธอก็ไม่สามารถที่จะสอนหนังสือต่อไปได้

ต่อมาที่เรื่องความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว ซึ่งเราจะได้เห็นทั้งความสัมพันธ์ระหว่างอลิซกับสามีในฐานะคู่ชีวิต และความสัมพันธ์ระหว่างอลิซกับลูกๆ ในฐานะแม่ ใครที่ได้ดูหนังเรื่องนี้แล้วคงพอจะสังเกตเห็นได้ว่าประเด็นเรื่องครอบครัวนั้นจะค่อยๆ ถูกเติมเข้ามาเรื่อยๆ และอยู่ไปกับหนังตลอดทั้งเรื่อง แตกต่างจากเรื่องหน้าที่การงานที่ใส่เข้ามาแล้วก็จบไป เพราะคนในครอบครัวนั้นคือคนที่จะต้องอยู่ด้วยกันไปตลอดชีวิตที่เหลือ ฉะนั้นจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องค่อยๆ เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากโรคอัลไซเมอร์ในมิติต่าง ๆ

<a href="https://www.youtube.com/v/WuFjzAD4ank" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/WuFjzAD4ank</a>

หนึ่งในความโหดร้ายของโรคนี้ก็คือการพรากความทรงจำเกี่ยวกับคนที่เรารัก อลิซ ฮาวแลนด์  ในตอนที่อาการค่อนข้างหนักแล้ว เธอถึงขั้นจำไม่ได้ว่าคนที่คุยอยู่ตรงหน้านั้นคือลูกสาวของเธอ

ฉากนี้ทำให้ผมย้อนนึกไปถึงหนังเรื่อง Eternal Sunshine of Spotless Mind ผลงานสุดล้ำที่มีพล๊อตว่าด้วยผู้คนที่ต้องการจะลบความทรงจำที่ไม่ต้องการเพื่อที่จะลืมเรื่องราวที่เจ็บปวด หนังได้ยกคำพูดของ เฟรเดอริค นิชเช่ นักปรัชญาชาวเยอรมัน ที่ว่า “ผู้ที่เป็นสุขคือผู้ที่รู้จักลืม” มาประกอบไว้ในเรื่อง ซึ่งดูเหมือนจะเป็นใจความหลักของหนัง

ส่วนตัวผมว่าประโยคที่ว่านั้นแม้จะดูเรียบง่ายและน่าเศร้าแต่มันก็เป็นความจริง และแน่นอนว่าประโยคดังกล่าวนั้นจริงสำหรับสถานการณ์นี้ด้วยเช่นกัน เพราะในกรณีนี้ผู้ที่เป็นทุกข์ไม่ใช่อลิซที่จำอะไรไม่ได้ แต่เป็นลูกสาวของเธอที่ได้เห็นว่าแม่ของตัวเองนั้นจำเธอไม่ได้ ฉะนั้นในบางมิติโรคอัลไซเมอร์มันจึงไม่ได้ทำร้ายแค่ตัวผู้ป่วย แต่ทำร้ายไปถึงคนรอบตัวของเขาหรือเธอด้วย

การจำได้และการลืมได้นั้นเป็นเรื่องใหญ่ในการใช้ชีวิตของมนุษย์ การลืมและการจำกันไม่ได้ มักจะทำร้ายผู้ที่ถูกหลงลืมด้วยเสมอ แต่บางครั้งมนุษย์ก็จำเป็นต้องจัดการกับความทรงจำหรือจำเป็นต้องลืมเพื่อทำให้เราสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้ ในกรณีนี้ถึงแม้คนในครอบครัวอยากจะลืมความโหดร้ายของโรคอัลไซเมอร์มากแค่ไหนก็ไม่อาจทำได้ เพราะมันมีให้เห็นอยู่ตรงหน้าตลอดเวลา

ส่วนตัวแล้วผมว่าสิ่งที่มีค่ามากที่สุดที่โรคอัลไซเมอร์ได้แย่งชิงไป อาจจะไม่ใช่เรื่องความทรงจำต่อเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิต แต่มันคือ ทักษะพื้นฐานในการใช้ชีวิต เพราะทักษะที่จะทำอะไรได้นั้นมันอาศัยความจำด้วยส่วนหนึ่ง อย่างถ้าถามว่าจะตักข้าวเข้าปากยังไง ในหัวคุณอาจจะนึกภาพว่าก็ต้องใช้ช้อนตักข้าวในจานแล้วก็ป้อนมันเข้าปาก แต่ถ้าคุณจำวิธีการมันไม่ได้ คุณก็ไม่รู้ว่าจะต้องเอาเข้าเข้าปากยังไง และเมื่อจำไม่ได้ ก็ทำอะไรเองไม่ได้ ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ที่อาการหนักๆ จึงไม่ต่างอะไรกับเด็กที่ต้องมีคนคอยช่วยเหลือตลอดเวลา

ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อความจำยังคงหล่นหายต่อไปเรื่อยๆ วันนึงคำศัพท์ที่เคยจำได้และใช้มันอย่างเป็นเรื่องธรรมดาก็ต้องหายไปด้วยเช่นกัน และเมื่อเป็นอย่างนี้หนักเข้า สุดท้ายคุณก็จะไม่สามารถสามารถประกอบสร้างคำได้อีก ซึ่งมันเป็นเรื่องย้อนแย้งมากสำหรับคนที่เป็นอาจารย์ทางด้านภาษาศาสตร์อย่างอลิซ และแน่นอนว่าหนังที่พูดถึงเรื่องอัลไซเมอร์ส่วนใหญ่ไม่เคยพูดถึงประเด็นเหล่านี้

<a href="https://www.youtube.com/v/9tvoF4SJ4PY" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/9tvoF4SJ4PY</a>

ไม่ว่าจะจำเหตุการณ์ในอดีตไม่ได้ นึกไม่ออกว่าจะใช้คำไหน หรือแม้แต่ทำอะไรด้วยตัวเองไม่ได้ ทั้งหมดที่ว่ามานั้นล้วนเกี่ยวกับความทรงจำซึ่งก็น่ากลัวทั้งนั้น แต่ที่น่ากลัวกว่าการสูญเสียความความทรงจำก็คือ การสูญเสียความสามารถที่จะจำสิ่งต่างๆ เพราะมันจะทำให้ผู้ป่วยวนติดอยู่ในลูปไปตลอด

ยกตัวอย่างเช่นการที่จะเดินต่อไปข้างหน้าได้ คุณต้องเดินก้าวแรกก่อน และจากนั้นค่อยมีก้าวที่สองที่เดินต่อจากก้าวแรก แต่ถ้าคุณวนซ้ำย้ำอยู่กับก้าวแรก คุณจะไม่สามารถไปต่อได้เลย มันจะวนซ้ำๆ ทำให้คุณต้องเจอสิ่งต่างๆ  ซ้ำแล้วซ้ำอีก และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับ อลิซ สุดท้ายเมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นมันมีแต่คำว่า Again มันก็เลยต้องอยู่ในสภาพ still ไปโดยปริยาย

สมมติว่าถ้าเธอจำอะไรได้ไม่เกิน 5 วินาที ชีวิตเธอก็จะวนเวียนในอยู่แค่ใน 5 วินาทีนั้น แล้วก็เริ่มต้นใหม่อยู่อย่างนั้นไปเรื่อยๆ หมายความว่าผู้ป่วยสูญเสียมิติเรื่องเวลาไปแล้ว และยิ่งถ้าเธอจำไม่ได้ด้วยว่าตอนนี้อยู่ที่ไหน นั่นเท่ากับว่าเธอได้สูญเสียมิติเรื่องสถานที่ไปด้วย เมื่อเธอไม่ตระหนักถึงทั้ง Space และ Time พร้อมกัน กลายเป็นว่าเธอต้องหลงอยู่ในสภาพเธอที่ไม่รู้จะเชื่อมโยงตัวเองกับอะไร

หลังจากที่เล่าเรื่องและเหตุการณ์ต่างๆในหนังมาพักใหญ่ มาถึงตรงนี้ผมว่ามันได้เวลาแล้วที่จะขยายความถึงคำว่า “เหนือชั้น” ของหนังที่ได้บอกไปในย่อหน้าแรกๆ (ย่อหน้านี้อาจจะสปอยล์เล็กน้อย ใครที่ยังไม่ได้ชมหนังเรื่องนี้สามารถข้ามไปก่อนได้) เหนือชั้นในที่นี้เริ่มต้นตั้งแต่การที่หนังปล่อยหมัดหนักด้วยการเปิดตัวว่า อลิซ นั้นตรวจพบเป็นโรคอัลไซเมอร์แบบไม่ทันตั้งตัว แล้วหนังก็ค่อยๆ ลากพาผู้ชมเดินลงสู่พื้นโคลนที่หนักและหน่วงเรื่อยๆ ทั้งความเปลี่ยนแปลงเรื่องหน้าที่การงาน ครอบครัว และการใช้ชีวิต ตามที่ได้เล่าไป

<a href="https://www.youtube.com/v/xqiCcY7P6OQ" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/xqiCcY7P6OQ</a>

แต่สุดท้ายมันก็พาเราไปสู่แสงสว่างและทำให้ผู้ชมเกิดความประทับใจ อย่างไรก็ตามแสงสว่างที่ว่านั้นก็เป็นเพียงแค่เรื่องที่เกิดขึ้นระหว่างทางเท่านั้น ไม่ใช่ปลายทางอย่างที่ผู้ชมหวังไว้ เพราะหลังจากนั้นหนังมันก็พาเราไปต่อ โดยการดำดิ่งไปสู่โศกนาฎกรรมบางอย่าง ซึ่งเกิดขึ้นจากความตั้งใจของตัวละครเอง และเกิดขึ้นในแบบที่ไม่มีใครคาดคิด ซึ่งใครที่ได้ดูหนังเรื่องนี้แล้วก็คงเห็นด้วยว่าสิ่งที่เกิดขั้นนั้นมันเดาไม่ได้จริงๆ

เท่าที่ได้คุยกับหลายๆ คนที่ได้ดูหนังเรื่องนี้ ส่วนใหญ่มักจะประทับใจกับสิ่งที่หนังนำเสนอ ขนาดที่ว่า จูลี่แอนน์ มัวร์ เคยได้รับโน้ตจากภรรยาของเพื่อนของเธอที่บอกว่าหนังเรื่องนี้ทำให้เธอรู้สึกใกล้ชิดกับญาติที่เป็นโรคนี้มากขึ้น เพราะหนังช่วยให้เธอเข้าใจจิตใจผู้ป่วยได้ดีขึ้น

ผมคิดว่าการที่ Still Alice ทำให้คนรู้สึก “เข้าถึง” ผู้ป่วยที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ นั้นเกิดขึ้นมาจากการทำงานหนักในเรื่องการเก็บข้อมูล ทั้งผู้กำกับที่เข้าไปพูดคุยกับผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จริงๆ เพื่อทำความเข้าใจว่าในมุมของผู้ป่วยนั้นเห็นหรือรู้สึกยังไงภายใต้สถานการณ์ต่างๆ ซึ่งนี่เองที่นำมาซึ่งรายละเอียดและแง่มุมที่ผมบอกไปว่ามันเล่าอาการและสภาพการณ์ต่างๆ ของโรคนี้ได้ละเอียดมาก

แต่คุณานุปการที่ว่าคงไม่ได้เกิดขึ้นจากการทำงานของผู้กำกับแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องชื่นชมไปถึงหนังสือต้นฉบับในชื่อเดียวกัน ซึ่งตั้งต้นมาจากการเก็บข้อมูลอย่างหนักไม่แพ้กันหรืออาจจะหนักกว่าด้วยซ้ำ เพราะนอกเหนือไปจากการพูดคุยกับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ชนิดเกิดเร็วโดยตรง เธอยังเข้าไปสังเกตการณ์การทำงานของหมอในโรงพยาบาลอีกด้วย เพื่อรวบรวมข้อมูลให้สะท้อนเรื่องราวในมุมของผู้ป่วยให้มากที่สุด

อีกส่วนที่สำคัญก็คือนักแสดงนำที่ต้องแบกหนังเรื่องนี้ไว้ทั้งเรื่อง ถึงแม้ว่าหนังสือจะตั้งต้นข้อมูลต่างๆ มาแข็งแรงแล้ว และผู้กำกับก็สานต่อให้ครอบคลุมมากขึ้น แต่ตัวจูลี่แอน มัวร์ เองในฐานะนักแสดงก็จำเป็นจะต้องศึกษาหรือทำการบ้านในเรื่องนี้ด้วยตัวเองเช่นกัน เพื่อที่จะถ่ายทอดรายละเอียดและท่าทางต่างๆ ในสิ่งที่บทไม่ได้บอกไว้

เพื่อที่จะถ่ายทอดเรื่องราวของอลิซออกมาให้ดีที่สุด มัวร์ เริ่มตั้งแต่ศึกษาจากข้อมูลที่มีคนรวบรวมเอาไว้อยู่แล้วอย่างหนังสือและสารคดี และต่อด้วยการพูดคุยกับผู้ป่วยและญาติผู้ป่วย ไปจนถึงขั้นพาตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์จริงอย่างการเข้ารับการทดสอบและการตรวจต่างๆ ของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์เพื่อให้ได้ประสบการณ์เหมือนกับผู้ป่วยจริงๆ

บางคนอาจบอกว่าการแสดงของจูลี่แอน มัวร์ ในหนังเรื่องนี้นั้นไม่ได้น่าประทับใจมากอะไรขนาดนั้น ออกจะดูเรียบๆ และค่อนไปทางธรรมดาด้วยซ้ำ แต่ต้องไม่ลืมว่าบทนี้ไม่ได้เรียกร้องการแสดงแบบอลังการ แต่ต้องการสื่อถึงการสูญเสียการควบคุมในเรื่องต่างๆ  แบบค่อยเป็นค่อยไป (จำไม่ได้ว่าจะพูดว่าอะไร จำเรื่องในอดีตไม่ได้ ไต่ระดับไปจนถึงลืมเรื่องที่เพิ่งจะได้ยินมา) ในขณะเดียวกันก็ต้องทำให้เห็นด้วยว่าการสูญเสียความสามารถในการที่จะจำนั้นมันทำให้ตัวตนของเธอค่อยๆ เปลี่ยนไปอย่างไร

ประเด็นนี้ผมนึกต่อไปถึงแนวคิดของปรัชญา Existentialism (ชื่อไทยคือลัทธิอัตถิภาวะนิยม) ที่ให้ความสำคัญถึงเรื่องการมีอยู่ คำถามคือ ถ้าเราไม่มีความทรงจำ เราจะยังมีตัวตนอยู่หรือไม่ หรือพูดให้ง่ายกว่านั้นก็คือว่าเราจะยังเป็นคนเดิมอยู่อีกมั๊ย ถ้าความทรงจำต่างๆ ที่ประกอบสร้างขึ้นมาเป็นเรามันไม่เหลือแล้ว

ในกรอบกว้างๆ ส่วนตัวแล้วผมมองว่าผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์นั้นไม่ว่าจะสูญเสียความทรงจำไปขนาดไหนก็น่าจะยังมีเค้าที่เป็นคนเดิมอยู่ ถ้ามองว่าในแต่ละวันนั้นเราทุกคนต่างก็มีความทรงจำใหม่เพิ่มขึ้นๆ เรื่อย ในความหมายนี้คือตัวเราก็ต้องเปลี่ยนไปทุกวัน และถ้าเรายอมรับว่าการเปลี่ยนไปทุกวันแบบนี้ยังถือว่าเป็นตัวตนเดิมของเรา แต่มองเป็นตัวเราที่มีพัฒนาการมากขึ้นแทน  ในทางกลับกันการลดทอนความทรงจำลง (จากการสูญเสียความทรงจำ) ก็น่าจะยังมีเค้าเดิมของตัวตนที่เราเป็นอยู่เช่นกัน

เท่ากับว่าผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์นั้นยังคงเป็นคนเดิมอยู่แม้จะค่อยๆ จำอะไรได้น้อยลงก็ตาม แต่ถ้ามันสูญหายหมดสิ้น ก็เป็นไปได้ว่าตัวตนนั้นไม่น่าจะหลงเหลืออยู่อีกแล้ว แต่ตราบเท่าที่ยังพอจะจำอะไรได้บ้าง ผมคิดว่าตัวตนเราจะไม่หายไป คนคนนั้นจะยังเป็นคนเดิมคนเดียวกับที่เรารู้จัก แต่อาจจะมีรายละเอียดที่ต่างไปบ้าง ในความหมายเดียวกัน ผมมั่นใจว่าอลิซก็จะยังคงเป็นอลิซ แม้ว่าจะความทรงจำของเธอจะไม่ได้อยู่กับเธอไปจนวันสุดท้ายก็ตาม

จาก http://www.siamintelligence.com/still-alice/
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
Still Alice สวยงาม ตื้นตัน หนังเรื่องนี้ทำให้เราเห็นคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์



ไม่รู้จะสรรหาคำพรรณาอะไรมาเทิดทูนหนังเรื่องนี้นอกความรู้สึกจากใจที่ขอมอบให้หนังเรื่องนี้อย่างเต็มหัวใจ แม้ก่อนจะไปดู ขอยอมรับสารภาพว่ามอง Still Alice ว่าอาจจะเป็นหนังที่มีความโดดเด่นทางด้านการแสดงของJulianne Moore เพียงอย่างเดียว แต่การเดินเรื่อง บท หรือการเล่าเรื่องอาจจะไม่โดดเด่นนัก สิ่งที่คาดหวังคืออยากจะเข้าไปดูการแสดงของ Julianne Moore อย่างเดียวจริงๆว่ามันยอดเยี่ยมสมราคาว่าที่เจ้าของรางวัลออสการ์ปีนี้จริงไหม แต่สิ่งที่เราได้รับกลับออกมาจากโรงหนังเรากลับพบว่า เรารู้แล้วว่าคุณค่าของมนุษย์คืออะไร

Still Alice พาเราดำดิ่งลงไปเจอตัวตนของ อลิซ ศาสตราจารย์ด้านอักษรศาสตร์และระบบประสาทวิทยาการสื่อสาร เธอเป็นผู้หญิงที่ฉลาด สมาร์ท เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย มีชีวิตครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ มีสามีเป็นหมอที่รูปหล่อมาก(เอล็ค บอลด์วิน น่ะหล่อไหมล่ะ แก่ขนาดนี้ยังโคตรหล่อ) มีลูกสาวสองคน และลูกชายอีกหนึ่งคนก็เป็นนักศึกษาแพทย์ เธอเป็นคนรักสุขภาพ ชีวิตครอบครัวสมบูรณ์แบบ ปมเดียวที่อาจจะกวนใจเธออยู่บ้างก็คงจะเป็น ลิเดีย ลูกสาวคนเล็ก ที่ดันจะไปเอาดีทางด้านการเป็นนักแสดง เลยแยกไปอยู่ที่แคลิฟอร์เนีย เพราะใฝ่ฝันอยากจะเป็นดารา ลิเดียกับอลิซเหมือนจะมีปัญหากันทุกทีที่อลิซเอ่ยปากขอให้ลูกกลับไปเรียนมหาวิทยาลัย ลิเดียมีความฝันที่ยิ่งใหญ่คืออยากเป็นนักแสดง ส่วนอลิซเองก็ยังเป็นห่วงลิเดียคนเดียวที่ยังไม่เป็นเรื่องเป็นราว ส่วนแอน ลูกสาวคนโต สวยเริ่ดเชิดหยิ่ง มีสามีมีครอบครัวที่อบอุ่นมาก เธอกำลังพยายามจะมีลูก แต่ยังไม่สำเร็จ

อลิซเริ่มพบความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตัวเองช้าๆ เริ่มจากเธอนึกสิ่งที่กำลังจะพูดไม่ได้ในระหว่างการบรรยายที่เธอไปเป็นวิทยากรพิเศษ และสิ่งที่ทำให้เธอมั่นใจว่าสมองของเธอต้องไม่ปกติแน่ๆแล้วก็คือเธอพบว่าเธอหลงทาง จำทางกลับบ้านไม่ได้ในระหว่างที่เธอออกไปวิ่งออกกำลังกาย อลิซตัดสินใจไปปรึกษาแพทย์ และแพทย์ก็บอกว่า อลิซกำลังจะเป็นอัลไซเมรอร์ชนิดเกิดเร็วในคนที่อายุน้อย อลิซจะต้องบอกกับครอบครัวว่าเธอกำลังป่วย และที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้น โรคนี้เป็นโรคติดต่อทางพันธุกรรม นั่นแสดงว่าลูกๆของเธออาจจะมีโอกาสเป็นพาหะ

ฉากที่ Julianne Moore ตื่นขึ้นมาสติแตก ร้องไห้ บอกสามีว่าเธอกำลังจะเป็นอัลไซเมอร์ คือฉากแรกที่ทำให้เราน้ำตาซึม และแอบสะอื้นข้างในใจแบบเบาที่สุด ยังไม่กล้าปล่อยโฮ แต่ฉากที่อลิซบอกกับลูกๆว่า แม่เป็นอัลไซเมอร์ และมันมีโอกาสติดต่อทางพันธุกรรม ลูกๆอาจจะเป็นแบบแม่ก็ได้ ขอให้ไปตรวจกันด้วย แล้วเธอก็ร้องไห้ ปิดหน้า บอกว่า แม่ขอโทษ ฉากนี้คือจี๊ดมาก น้ำตาค่อยๆไหลเลย คือ Julianne Moore เธอแสดงออกมาได้อย่างละเอียดอ่อนมาก คือคนดูอินและสงสารเธอ และไม่ได้คิดว่าเป็นความผิดของเธอเลย

อาการของอลิซเริ่มแย่ลงเรื่อยๆ จนต้องลาออกจากการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย มาอยู่บ้าน และเธอเริ่มจดทุกอย่างลงในโทรศัพท์มือถือ รวมถึงอัดคลิปสั่งเสียถึงตัวเองลงในคอมพิวเตอร์ แล้วใส่ไว้ใน Folder ชื่อว่า Butterfly (หมายถึงสัตว์ที่มีวงจรชีวิตสั้น) อลิซมีความปรารถนาอย่างยิ่งยวดว่าเธอจะจบชีวิตตัวเองในวันที่เธอไม่หลงเหลือความทรงจำอะไรอีกแล้ว

Still Alice ไม่ใช่หนังที่พูดถึงเพียงแค่คนป่วยเป็นอัลไซเมอร์ ได้อย่างละเอียดจนเราสะเทือนใจเท่านั้น แต่หนังเรื่องนี้กลับพาเราไปค้นพบกับความประเสริฐและความวิเศษของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า มนุษย์ สิ่งที่เราได้รับจากการเห็นคนเป็นอัลไซเมอร์ก็คือ เราอาจจะคิดว่า ความทรงจำ คือสิ่งที่ทำให้มนุษย์ก่อร่างจนกลายมาเป็นตัวตน แต่มนุษย์ไม่สามารถดำรงค์อยู่ได้หากขาด ครอบครัว และคนรอบตัว ที่มาร่วมกันสร้างประสบการณ์ชีวิต ทั้งประสบการณ์ที่ดีและไม่ดี หนังเรื่องนี้ทำให้เราค้นพบสิ่งที่วิเศษที่สุดสำหรับมนุษย์นอกจากความทรงจำก็คือ ครอบครัว ในเรื่องนี้ ครอบครัวของอลิซคือสิ่งที่ดีที่สุด แม้คนในครอบครัวอาจจะไม่ได้เพอแฟคแสนดีไปเสียทุกคน อย่าง แอนลูกสาวคนโต ที่มีครอบครัวแล้ว เธออาจจะดูเหมือนคนเห็นแก่ตัว แต่เธอก็รักแม่ หรือลิเดีย ที่ดูจะไม่เอาไหนเท่าไหร่ แต่ท้ายที่สุดเธอก็รักแม่ และเธอเลือกที่จะมาดูแลแม่  อลิซคือผู้หญิงที่โชคดีมากที่มีสามีที่นอกจากจะเป็นคนฉลาดแล้วยังรักและเข้าใจเธอเป็นอย่างดี

การแสดงของ Julianne Moore ในหลายฉากหลายตอนในหนังเรื่องนี้ คือความมหัศจรรย์ ที่นักแสดงหญิงคนนึงจะสร้างขึ้นเพื่อประดับวงการภาพยนตร์จริงๆ ฉากที่อลิซ ไปบรรยายที่สถาบันอัลไซเมอร์ ในช่วงที่เธอยังอาการไม่หนักมาก คือฉากที่ทรงพลัง และทำให้คนดูปล่อยโฮออกมาได้แบบไม่อายใครเลย อลิซบอกว่า เธอไม่ได้อยากเป็นแบบนี้ การงกๆเงิ่นๆ บางทีมันก็ทำให้เธออาย แต่ที่แย่ที่สุดคือการที่เธอจะไม่ได้เป็นคนที่เธอเคยเป็น เธอรักการสื่อสารระหว่างมนุษย์ที่สุด(จำไม่แม่นนะ) แต่สังเกตเสียงจากที่นั่งรอบข้างคือสั่งน้ำมูกกันฟืดฟาด

นอกจากนี้ ตัวหนังไม่ได้ให้เราเห็นแต่อลิซเพียงฝ่ายเดียว หนังยังพาเราไปให้เห็นถึงผลกระทบของสมาชิกในครอบครัวทุกคนของอลิซอีกด้วย อัลไซเมรอ์นอกจากจะกัดกร่อนความทรงจำของอลิซแล้ว ยังกัดก่อนความสุขของคนในครอบครัวอีกด้วย แต่สิ่งที่สวยงามที่เราได้เห็นในครอบครัวนี้คือ ทุกคนมีความพยายามเป็นอย่างยิ่งที่จะค่อยๆเรียนรู้ เข้าใจคนป่วยอย่างอลิซ ฉากที่อลิซเข้าไปในห้องของลิเดียลูกสาวคนเล็ก แล้วอ่านบันทึกของลิเดีย แล้วเดินมาคุยมาถามเรื่องในบันทึก จนลิเดียโมโหแม่มาก ที่ไปแอบอ่านบันทึกของเธอ แต่อลิซบอกว่า แม่ไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่ามันคืออะไร แม่อ่านไปทำไม ลิเดียงอนแม่ไป 1 วัน แล้ววันรุ่งขึ้นเธอเอาสมุดบันทึกมาวางไว้ตรงที่นอนแม่ แล้วเอาโน้ตมาแปะที่ปกสมุดบันทึกว่า ไม่มีความลับสำหรับแม่ ฉากนี้เราปล่อยโฮเลย คือเราได้รู้เลยว่า มนุษย์มีความประเสริฐที่มีจิตสำนึกและมีรักในตัวบุพการีนั้นคือสิ่งที่สำคัญที่สุด

Julianne Moore แสดงเป็นอลิซได้อย่างละเอียดอ่อนมาก จากที่จะไปดูเพื่อที่จะไปค้นหาว่า Julianne Moore แสดงดีขนาดไหนเชียว ถึงจะได้ออสการ์ พอดูจบก็หมดข้อกังขา ปีนี้ออสการ์คงจะใจร้ายมาก ถ้าไม่ให้รางวัลกับ Julianne Moore นี่คือหนึ่งในการแสดงที่น่าประทับใจที่สุดในชีวิตของคนที่บ้าดูหนังอย่างเราได้เห็น บทอลิซ ที่เป็นอัลไซเมอร์ไม่ใช่แสดงกันง่ายๆ มันมีการพัฒนาการของตัวละคร ที่ตั้งแต่ปกติ จนถึงเริ่มป่วย จนอาการค่อยๆหนัก และโรคนี้มันมีการสวิงกลับไปกลับมาของความทรงจำด้วย Julianne Mooreเก็บทุกเม็ด รังสรรค์การแสดงออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมไร้ที่ติ  ให้ออสการ์นางไปเถอะ อย่าไปพรากออสการ์จากนางเลย ส่วนคริสเตน สจ็วต ในบทของลิเดีย ลูกสาวคนเล็กก็ดูเข้าขากับ Julianne Moore มาก นางส่งบทให้แม่ได้อย่างมีมิติและเป็นธรรมชาติสุดๆ


อีกสิ่งที่เรารู้สึกว่าหนังเรื่องนี้สวยงามเหลือเกินก็คงอาจจะเพราะเราเป็นคนเอเชีย เป็นชาวตะวันออก ที่รู้สึกดีเวลาที่เห็นคนมีความรักมีความกตัญญูกับบุพการี เราก็เลยต้องกลับมามองตัวเอง เพราะในอดีต มีคนในบ้านคือคุณย่าก็ป่วยเป็นโรคนี้ จำได้ว่า ย่าจะด่าพ่อยังไง จะเอาอะไรขว้างป่ายังไง พ่อไม่เคยโกรธเลย กลับอุ้มพาไปดูแลทุกอย่าง ย่าเรียกพ่อเราว่า หนูหนู ช่วยป้อนข้าวหนูที คือท่านหลงมากแล้วตอนนั้น ตอนนั้นเราเด็กมากไม่ค่อยเข้าใจ พอดูเรื่องนี้เราร้องไห้หนักมาก และประทับใจทุกสิ่งอย่างที่หนังถ่ายทอดออกมา เราว่าสิ่งประเสริฐที่สุดของมนุษย์คือการดูแลบุพการีในยามแก่เฒ่าหรือในยามที่ท่านช่วยตัวเองไม่ได้ มันสำคัญและประเสริฐยิ่งกว่าการเดินทางไปทำบุญไกลๆลำบากลำบนเสียอีก
ตัวตนของเราดำรงอยู่ได้ด้วยความทรงจำของเราและการสื่อสาร หากขาดสองสิ่งนี้ เราก็เหมือนกำลังจะกลายเป็นใครอีกคนก็ไม่รู้ แต่สิ่งที่ยังช่วยให้เราดำรงเป็นตัวตนได้อย่างมั่นคงคือ ความรัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความรักจากคนรอบข้าง ความรักจากครอบครัว

หนังเรื่องนี้หากมีข้อบกพร่องตรงไหน เราจะพยายามลืมมันไป มันไม่ใช่สาระสำคัญเลย  แต่หนังเรื่องนี้ชนะใจเรา ส่วนไหนที่ขาดเราก็จะเติมเต็มให้ด้วยความรู้สึกของเราเอง เราให้ 10/10เป็นคะแนนที่ให้ด้วยหัวใจ
สัปดาห์นี้ออกมาดู Still Alice กันเถอะ โรงฉายคงไม่มาก อยากให้คนไทยได้ดูหนังดีๆแบบนี้ ดูแล้วยกระดับจิตใจได้มากเลย อย่าพลาดเชียว 10/10 การันตี ส่วนตัวจะไปดูรอบสองต่อแน่นอน

ฝากเพจหนังจากใจคนดูหนังธรรมดาๆด้วยนะครับ

https://www.facebook.com/overhyp

<a href="https://www.youtube.com/v/SkFO1qIMeSE" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/SkFO1qIMeSE</a>
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...