ผู้เขียน หัวข้อ: เอ็ดดี้ เชฟหมี ธรรมะ จากมุมมองสองนักคิดแห่งยุค  (อ่าน 1314 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


ครึ่งปีผ่านไป ไวกว่าโกหก ได้เวลากลับมาทบทวนความจริงในชีวิต โดยไม่เกี่ยงศาสนาหรือหลักธรรม หากสามารถเตือนสติเราให้สงบ - สุข ณ ปัจจุบัน คำสอนนั้นล้วนดี ออลฯ ขอแนะนำสองนักคิด - นักเขียน ต่างสไตล์ ต่างวิถีทางที่บรรจบกันด้วยการเรียนรู้เข้าใจธรรมชาติของชีวิต เอ็ดดี้ - พิทยากร ลีลาภัทร์ เจ้าของเพจ ‘ธนาคารความสุข’ ผู้ให้คำปรึกษาเรื่องการปรับปรุงคุณภาพจิตใจเพื่อลดความทุกข์และสร้างความสุข กับอีกหนึ่งเชฟหมี เพจ ‘ครัวกาก ๆ’ หรือ อาจารย์คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง  อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้มองเห็นความสุขจากการทดลองใช้ชีวิตด้วยจิตใจที่เป็นกลาง

------------------------------------------------------------------



เอ็ดดี้ - พิทยากร ลีลาภัทร์

เจ้าของเพจ ‘ธนาคารความสุข’

ปัจจุบันผู้คนไม่น้อยเมื่อพบเจอปัญหามักหันหน้าเข้าคอมพิวเตอร์ สาระธรรมกลายเป็นสิ่งห่างไกลจากความรับรู้ของพวกเขา แต่เอ็ดดี้ - พิทยากร ลีลาภัทร์ คือบุคคลที่กำลังค่อย ๆ เชื่อมคนเหล่านั้นให้หันหน้ากลับเข้าหาตัวเนื้อธรรมะแท้ ไม่ใช่แค่เปลือกกลวง

จุดเริ่มต้น ‘นักประชาสัมพันธ์ประจำพระพุทธศาสนา’

“ผมโตมากับอาม่าที่เชียงใหม่ ท่านชอบไปวัด โดยเฉพาะวัดอุโมงค์ ซึ่งเป็นสายท่านพุทธทาส จะมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง - นิทานเซนให้ศึกษา ตอนนั้นยังไม่เข้าใจความหมาย แค่รู้สึกว่าชอบ เท่ดี ที่บ้านอาม่าก็สวดมนต์นั่งสมาธิ ผมก็หัดทำตาม” กระทั่งย้ายมาเรียนที่กรุงเทพฯ ทำให้ห่างวัดไป แต่สุดท้ายก็มีเหตุดึงให้กลับเข้ามาหาธรรมะ “ชีวิตผมเป็นกราฟขาขึ้นตลอด กระทั่งทำงานได้สัก 3 ปี รถคว่ำ 2 ครั้ง ในเวลาใกล้ ๆ กัน ตอนที่รถคว่ำบนภูเขาน่ากลัวมาก ด้านขวาเป็นเหว ซ้ายเป็นคูน้ำ ถ้าลงทางขวาคงตาย แต่เราลงซ้าย รถจึงแค่พลิก ตัวผมปลอดภัยดีมีแค่รอยข่วนเล็กน้อยก็คลานขึ้นมา เจอรถเครือซิเมนต์ไทยเป็นคนรู้จักผ่านมารับไปพอดี ช่วงที่เรียกว่ากรรมวิบากให้ผล จะไม่ค่อยลำบาก มีอะไรมารับเสมอ บอกว่าฟลุคก็พอดีไป เลยเริ่มเชื่อเรื่องกรรม รู้ว่าเวลาบาปให้ผล แต่บุญมาช่วยเป็นอย่างไร ก็มีความคิดจะต่อบุญครับ”

จากจุดนั้นเอ็ดดี้เริ่มศึกษาอีกครั้งและรู้ว่าบุญมีหลายระดับ คือ ทาน ศีล ภาวนา ตอนแรกเขาคิดว่าการบวชคือการภาวนาสูงสุด แต่ก็ยังไม่มีโอกาสบวช กระทั่งอายุ 28 ได้ไปอบรมปฏิบัติธรรมกับคุณแม่สิริ กรินชัยจึงเข้าใจหลักธรรมลึกซึ้งขึ้น “เป็นสายหลวงพ่อจรัญครับ เรียนประมาณ 7 ปี จากนั้นเจอหลวงพ่อปราโมทย์ ปราโมทโช เรียนกับท่านสัก 2 ปี ก็เริ่ม อ๋อ ! ที่ผ่านมาเข้าใจผิด ภาวนาไม่ได้แปลว่าต้องบวชพระ เป็นฆราวาสก็บวชได้ จริง ๆ ภาวนาแปลว่าทำให้จิตเจริญขึ้น คือการพัฒนาจิตตัวเอง จากนั้นก็ต่อยอดมาเรื่อย ๆ หลวงพ่อปราโมทย์ท่านจะอธิบายอะไรยาก ๆ ให้เราเข้าใจได้เยอะ ท่านสอนให้เราดูตัวเอง เรียนรู้จากตัวเอง ก็จะเข้าใจอะไรมากขึ้น” จากการที่จบด้านวารสารศาสตร์ เอ็ดดี้จึงเริ่มเขียนบล็อก เริ่มต้นชีวิตการเป็นผู้ช่วยเหลือ ตอบปัญหาพุทธศาสนาให้คนทั่วไป เปิดเฟซบุ๊กเพจ ‘ธนาคารความสุข’
 

จุดเด่นอันเป็น ‘ธรรมดา’

สำนวนการเขียนของเอ็ดดี้จะสนุกสนาน ทำให้คนอ่านชื่นชอบ แต่ก็ไม่ทิ้งสาระธรรม ซึ่งเอ็ดดี้อธิบาย ‘สุข’ ไว้ว่า “มันจะเป็นขั้นนะ เวลาเรารักษาศีล ทำทาน ไม่ได้แปลว่าเราพ้นทุกข์ครับ เพียงแต่เราเรียนรู้ที่จะสละความยึดมั่นถือมั่น สละความเห็นแก่ตัวบางอย่าง ขัดเกลาความรู้สึกมีตัวมีตนของเราออกไปเรื่อย ๆ มันยังไม่หมด มันยังมี เพราะฉะนั้นตราบใดที่เรายังมีความรู้สึกเป็นตัวเป็นตนก็จะมีทุกข์อยู่ มากน้อยขึ้นกับความรู้สึกนี้ เหมือนกับตัวเรา ถ้าใหญ่มาก คนก็เดินมาชนง่าย แต่ถ้าเราตัวเล็กก็จะไม่กระทบกระทั่งใคร ทุกข์จะน้อยลงเรื่อย ๆ ตามภูมิรู้ ภูมิธรรมที่เราค่อย ๆ สะสม”

เอ็ดดี้ขยายความการฝึกละความยึดมั่นถือมั่นว่าให้ใช้การรู้ตัวเป็นพื้นฐาน จากนั้นจะรู้ทันการทำงานของร่างกายและจิตใจโดยอัตโนมัติ “ให้เรารู้ตัวแบบจงใจกระทั่งจิตมันจำสภาวะนี้ได้ ไม่ใช่สักแต่รู้ตัวเฉย ๆ พอรู้ตัวไปถึงขึ้นหนึ่ง มันจะจำได้ อ๋อ ! จิตที่หลงไปคิดเป็นอย่างนี้ จิตที่หลงไปรู้สึกโกรธ อิจฉา รู้สึกว่ามีตัว มีตน มีกู เป็นอย่างนี้ พอจำได้ จิตจะรู้โดยอัตโนมัติ และเมื่อพัฒนาถึงขั้น เวลาที่จิตมองสภาวะอย่างหนึ่ง ก็จะเห็นว่าเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นเองโดยเหตุและปัจจัย ไม่มีความเป็นเราอยู่ในนั้น เช่น เห็นความโกรธผุดขึ้นมาก็เป็นแค่จิตโกรธ ไม่ได้รู้สึกเหมือนคนทั่ว ๆ ไปว่าเราโกรธ จิตเราจะเห็นและรู้ว่าความโกรธเป็นหนึ่งดวง จิตที่มีความโกรธผุดขึ้นมาเป็นอีกดวง จิตจะค่อย ๆ แยกโดยอัตโนมัติ ไม่ใช่เราจงใจไปแยก ไปนั่งเห็น การเรียนธรรมะก็คือการเรียนให้เห็นความจริงอันเป็นธรรมดา ๆ ของกายของใจเรา ประโยชน์คือเมื่อเข้าใจแล้ว เราจะเข้าใจตัวเองและคนอื่นมากขึ้น ถ้ามีคนมาว่าเรา เราก็จะเข้าใจว่าเป็นจิต ไม่ใช่เขา เป็นจิตเขาที่มีความทุกข์ใจแล้วทนไม่ได้ เขาก็หาที่ระบาย เราจะไม่ค่อยเดือดร้อนเหมือนก่อน ฝึกจิตจึงไม่ใช่เรื่องของการเป็นคนดี แต่เป็นเรื่องของคนมีปัญญา มีสติ เข้าใจเรา เข้าใจเขา ก็ทุกข์น้อยลง”


จุดสุดท้าย ‘เข้าใจชีวิต’

ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดจากการฝึกจิตยังทำให้สามารถแยกแยะสิ่งต่าง ๆ ได้ชัดเจน ขนาดของปัญหาจะเล็กลง แก้ไขง่ายขึ้น ขอเพียงรู้เหตุ เข้าใจผล หลายครั้งที่มีคำถามซ้ำ ๆ แปลก ๆ เขียนไม่รู้เรื่องเข้ามา หลักการที่เอ็ดดี้ใช้ตอบคือต้องรู้จักการวางใจ “ปัญหาเกิดจากนอกกาย แต่ทุกข์อยู่ในใจเรา ตั้งปรับที่ใจ ให้เข้าใจจิต แยกปัญหาและความทุกข์ออกจากกัน เช่น แม่ติดพนัน ปัญหาคือแม่ติดพนัน แต่เราทุกข์เพราะไม่พอใจที่แม่ติดพนัน เราต้องแก้ที่ใจเราก่อน หาทางออกด้วยใจและจะเข้าใจปัญหา เพราะความทุกข์ในใจคือความไม่พอใจ ไม่ใช่ปัญหา ปัญหานับเป็นส่วนหนึ่ง ทุกข์แยกเป็นอีกส่วนหนึ่ง ปัญหาบางอย่างอาจแก้ไม่ได้ แค่ต้องวางใจให้ถูกที่”

สำหรับเอ็ดดี้ การช่วยเหลือให้คำปรึกษาคนยิ่งมากยิ่งสะท้อนสิ่งดี ๆ กลับมา “พี่ได้เตือนตัวเองเยอะมากเรื่องความน่ากลัวของสังสารวัฏ วงจรชีวิตคน จริง ๆ ไม่มีอะไรเลย ตามภาษาชาวบ้าน คนทุกข์เพราะเรื่อง ‘กิน ขี้ ปี้ นอน’ ครับ กินเยอะไปก็อ้วน ก็มีโรค ก็ทุกข์ ขี้ไม่ออกก็ทุกข์ ปี้คือไม่พอใจคู่ของตนก็ทุกข์ นอนก็คือคิดมาก ฟุ้งซ่าน นอนไม่หลับก็ทุกข์ วนอยู่อย่างนี้ ที่เขาบอกว่าการเกิดเป็นทุกข์ คือ พอเกิดมา ชีวิตต้องเวียนอยู่ในเรื่องพวกนี้ ยากมากที่จะเกิดมาแล้วอยู่เป็นคนดี ปกติ ไม่เบียดเบียนใคร ไม่โดนใครเบียดเบียนเลย บางทีไม่มีปัญหากับคน ก็เช่น ขับรถไม่ตั้งใจไปชนสุนัขตาย ปลวกขึ้นบ้านทำอย่างไร ดังนั้นการเป็นคนปกติธรรมดาที่ไม่เบียดเบียนชีวิตอื่นเลยน่ะยากมาก นี่คือความน่ากลัว ทีนี้เราก็จะเห็นแล้วว่าคนเราเกิดมา เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเจอปัญหา มันก็ช่วยเตือนเราเองว่าการเวียนอยู่ในสังสารวัฏเนี่ยอันตราย และช่วยให้เราได้ฝึกการเข้าใจตนเอง เข้าใจคนอื่นมากขึ้น”

หลายคนที่เคยมาขอคำปรึกษาเริ่มนำไปต่อยอด เป็นจุดที่ทำให้เอ็ดดี้รู้สึกว่าได้ทำหน้าที่ช่วยเหลือคนตามธรรมชาติแล้ว “พระพุทธเจ้าบอกว่าช่วยตัวเองได้แล้วให้ช่วยผู้อื่น หลายคนที่เคยมีปัญหาเขาก็สนใจไปปฏิบัติ ฝึกจิต ทำทาน รักษาศีล แล้วชีวิตเขาดีขึ้น เราทำให้คนเห็นได้จริงว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนไม่ใช่มีแต่วัด เอาเงินหยอดตู้ เสี่ยงเซียมซี รดน้ำมนต์ สวดมนต์บาลีฟังไม่รู้เรื่อง แต่ประเด็นคือถ้าจะเข้าใจศาสนาพุทธจริง ๆ ต้องสามารถพัฒนาให้จิตดีขึ้นได้ มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้นได้ด้วยตนเอง ด้วยการทำเหตุที่ดี ไม่ใช่ด้วยการหวังขอพรหรือพึ่งแต่คนอื่น จิตที่พัฒนาแล้วของเราคือปาฏิหาริย์ที่เราสร้างได้เอง”

ผู้คนมีความต้องการต่างกัน แค่ต้องมีสติ รู้จักตนเอง และ “อะไรคือสิ่งที่เราต้องการมากที่สุดในชีวิต” เอ็ดดี้ฝากไว้ให้ทุกคนลองถามใจตัวเอง



เชฟหมี หรือ อาจารย์คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

เจ้าของเพจ ‘ครัวกาก ๆ’ และอาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยศิลปากร

            เมื่อมองลึกลงที่ตัวคำสอน การนับถือศาสนาใดจึงไม่ใช่ประเด็น แต่เป็นที่การรู้จักคิด รู้จักจิตตน นี่อาจเป็นอีกขั้นสู่การทุกข์น้อย ๆ สุขหน่อย ๆ พบกับอีกหนึ่งบทบาทของเชฟหมี จาก ‘ครัวกาก ๆ’ หรือ อาจารย์คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ผู้ปัจจุบันเปลี่ยนจากพุทธมานับถือศาสนาฮินดู จะเป็นผู้มาร่วมถ่ายทอดวิธีคิด การใช้ชีวิตแนวผสมผสานของฮินดูในสังคมพุทธให้เราได้รู้จักและเข้าใจกับแก่นธรรมที่แท้จริง
 

‘ความเหมือน’ ในความต่าง

            “เริ่มจากตอนเรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผมสนใจเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งของอินเดีย ชื่อทับบล้า[1]เลยไปเรียนกับพราหมณ์ชาวอินเดียที่บรรเลงดนตรีขับร้องถวายเทพเจ้าในวัด ผมไม่ได้เริ่มจากศาสนา ผมเริ่มจากดนตรี” ด้วยความที่คำสอนมักจะแฝงอยู่ในบทเรียนดนตรี จึงศึกษาเพิ่มเติมลึกซึ้งตามวิสัยนักวิชาการ สู่การศึกษาคัมภีร์พระเวทแบบดั้งเดิมและนับถือฮินดูในปี 2548 “จริง ๆ แล้ว ผมเรียนปริญญาตรีด้านสื่อสารมวลชน แต่ได้รับอิทธิพลความคิดทางปรัชญาจากอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ ซึ่งท่านสอนปรัชญาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เลยตัดสินใจเปลี่ยนสายมาเรียนปริญญาโทด้านปรัชญาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ก็เรียนรวมทั้งปรัชญาตะวันออก- ตะวันตก ซึ่งผมเลือกทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับปรัชญาอินเดีย ก็ไปศึกษาขอคำแนะนำจากอาจารย์ลลิต โมหันวยาส ประธานพราหมณ์ วัดเทพมณเฑียร จนมานับถือฮินดู แต่เดิมครอบครัวผมก็เป็นไทยพุทธ เชื้อสายจีน มีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ไปศาลเจ้าแบบจีน พอมานับถือฮินดูก็ยังทำบุญแบบพุทธได้อยู่ ค่อนข้างยืดหยุ่นครับ”
 

 ‘ความเข้าใจ’ ในการมีชีวิต

            เอกลักษณ์ของฮินดูคือมีความใกล้ชิดและเคารพธรรมชาติ เทพเจ้าต่าง ๆ จึงมีลักษณะของการมีอยู่จริงตามธรรมชาติ “ผมคิดว่าศาสนาฮินดูให้ความเคารพต่อโลกและธรรมชาติของชีวิต เป้าหมายคล้ายคลึงกับพุทธศาสนา เพื่อบรรลุโมกษะ ซึ่งเหมือนนิพพาน คำสอนคล้ายกัน มีเรื่องกรรม การปฏิบัติ แต่แนวทางหรือเป้าหมายสู่การหลุดพ้นอาจต่างกัน ฮินดูจะพูดเรื่อง อาศรม 4[2] เป็นคำสอนพื้นฐานและมีเทพเจ้าหลัก 5 องค์ แทนธาตุทั้ง 5 ในจักรวาล คือการบูชาพระผู้เป็นเจ้าภายนอกแล้วกลับมาสู่ภายในตัวเอง ต้องเข้าใจก่อนครับว่าศาสนาที่เกิดในอินเดีย ไม่ว่าจะพุทธ ฮินดู เชน หรือซิกข์ล้วนมีคอนเซ็ปต์ร่วมเรื่องการหลุดพ้น กรรม กิเลส ความติดข้อง เหมือนกัน แก่นจริง ๆ ของศาสนาที่เกิดในอินเดียจึงมีบางลักษณะคล้ายกัน เพียงแต่ฮินดูมีเรื่องเทพเจ้าอยู่มาก เคยมีคนนับจากพระเวทได้ 33 ล้านองค์ ตรงนี้ต่างจากพุทธครับ”

ด้านการประยุกต์ใช้ในสังคมไทยอาจารย์บอกว่า “ผมคิดว่าฮินดูยุคหลังเน้นเรื่องอหิงสาหรือความไม่เบียดเบียน ผมว่าคำสอนนี้จำเป็นต่อสังคมไทย กับอีกหลักธรรมที่น่าสนใจจากภควัทคีตา คือเรื่องการทำหน้าที่หรือศีลธรรมแบบหน้าที่ คุณมีหน้าที่อะไร ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ของคุณ รับผิดชอบและกระทำหน้าที่โดยไม่บกพร่อง” ในภควัทคีตาจะให้คุณค่าเรื่องหน้าที่ไว้ค่อนข้างสูง โดยแยกเป็นสวธรรมคือธรรมของแต่ละคน คล้ายหน้าที่หรืออาชีพ กับสามานยธรรมคือธรรมะทั่วไป อาทิ ความกรุณา ความเสียสละ คนฮินดูจึงต้องปฏิบัติธรรม 2 อย่างพร้อมกันในหนึ่งบุคคล เสมือนการสวมหมวกได้หลายใบแต่ต้องมีใจเป็นกลาง มีเหตุผลเหนืออารมณ์ เช่น ตำรวจจับขโมยตามหน้าที่ แต่ต้องไม่โกรธหรือสะใจขณะจับกุม

ฮินดูอยู่ได้เพราะอยู่กับคนในวิถีชีวิต ไม่จำเป็นต้องพึ่งรัฐ “ในประวัติศาสตร์อินเดีย หลังการรุกรานของต่างชาติ อาทิ อัฟกานิสถาน เปอร์เซีย หรือว่าพวกโมกุนเอง ศาสนาอื่นในอินเดียมักได้รับผลกระทบ เปลี่ยนหรือว่าหายไปเลยก็มี แต่ฮินดูอยู่ได้มาตลอดเพราะไม่อิงกับรัฐ ผู้ปกครองในสมัยนั้นจะเป็นอะไร นับถืออะไรหรือถูกโค่นล้ม ฮินดูก็ไม่ได้รับผลกระทบ เพราะอยู่กับอาชีพกับคน เป็นศาสนาที่บ่งถึงบทบาทหน้าที่คน เป็นธรรมชาติที่เริ่มจากพื้นฐานการใช้ชีวิต” อาจมีหลายคนที่มานับถือฮินดูเพราะสัจธรรมหรือความศรัทธาในเทพเจ้า แต่แท้จริงแล้วฮินดูก็มีการทำสมาธิด้วยกายและจิต เรียกว่าชัปปะ “ปัญหาคือเวลาคนทำสมาธิมักจะโฟกัสที่จิต ไม่คิดเรื่องกาย แต่ความจริงแล้วกายสำคัญเท่ากับจิต กายเป็นฐานของจิตครับ” เป็นการนำคำสวดใส่ในทุกอากัปกิริยา ไม่ว่าจะตื่น ยืน เดิน นั่ง เป็นกุศโลบายหนึ่งให้มีสติจดจ่อกับสิ่งที่ทำ
 

‘ความจริง’ จากการทดลอง

            “ชีวิตในโลกเป็นชีวิตที่มีความทุกข์และเสื่อมสลาย สิ่งที่ฮินดูสอนคือละความยึดมั่น ถือมั่น ในความสุขความทุกข์ จริง ๆ แล้วไม่มีอะไรเป็นของเรา ทั้งหมดที่มี ยืมพระผู้เป็นเจ้ามา สิ่งที่เราเห็นว่าเป็นสุข เป็นทุกข์ ล้วนเป็นของชั่วคราว ดังนั้นถ้ามีใครมาปรึกษาปัญหา ผมจะใช้ความจริง ใช้เหตุผลช่วยแก้ไข” ฮินดูมีหลักการให้มนุษย์วางใจในสุข - ทุกข์ได้เสมอกัน เพียงแต่ความสุขที่ปราณีตและละเอียดกว่า คือการเข้าไปดื่มด่ำกับความรักในพระผู้เป็นเจ้าซึ่งมาจากธรรมชาติ ดังที่บอกว่าการบูชาเทพคือการบูชาธรรมชาติ เพื่อพบความสุขที่ละเอียดกว่าความสุขทั่วไปทางวัตถุ

ไม่ว่าศาสนาใด หากเข้าใจความคิดจิตของตนจริง ๆ ก็พ้นจากทุกข์ได้ทั้งนั้น “ส่วนใหญ่เวลาเผชิญปัญหา เรามักแสวงหาสิ่งภายนอกมาช่วยให้รู้สึกดีขึ้น เช่น เอาคำสอนทางศาสนา พิธีกรรม รูปแบบบางอย่างมาทำให้ตนสบายใจ ผมคิดว่าสิ่งนี้อันตราย มันเป็นวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ สุดท้ายเราไม่ได้เอาคำสอนทางศาสนามาแก้ปัญหา แต่เราเอามาเพื่อกล่อมประสาทให้รู้สึกดีขึ้นกับตัวเอง หนีปัญหาได้ชั่วคราว สุดท้ายก็ไม่ช่วยอะไรเลย เพราะแม้แต่คำสอนทางศาสนาก็เป็นอันตรายได้ เราจะเห็นภาวะแบบนี้ในโลกโซเชียลเยอะ แชร์ธรรมะแล้วรู้สึกเป็นสุข หนีไปบวชชี 3 วัน คิดว่าทุกอย่างจะดีขึ้น ลืมไปว่าปัญหาที่เจอจริง ๆ คืออะไร หลอกตัวเองด้วยวิธีเหล่านี้ ซึ่งไม่ใช่การเผชิญปัญหาจริง ๆ ผมว่าถ้าเราเผชิญปัญหาแล้วเราไม่หนี แต่ค่อย ๆ พิจารณาหาหนทางของเราเพื่อจัดการชีวิต จะเป็นสิ่งประเสริฐกว่า”

ก่อนจากกัน อาจารย์ยังบอกเคล็ดลับการใช้ชีวิตเด็ด ๆ ให้เราขบคิด “ฮินดูสอนให้เราเปิดกว้างในความคิด ทุกคน มีวิธีการ วิถีทางของตัวเองที่จะเรียนรู้ชีวิต โดยไม่จำเป็นต้องเลียนแบบใคร แต่ละคนมีกรรม มีทางของตัวเองที่ต้องเผชิญ ศาสนาฮินดูบอกว่าสุดท้ายแล้ว สิ่งที่ต้องทำคือคุณต้องเดินทาง ไปเรียนรู้เสาะแสวงหาคำตอบในปัญหาของคุณ ไม่จำเป็นต้องลอกคนอื่น ซึ่งพระศาสดาทั้งหลาย นักบุญทั้งหลายในฮินดูก็ใช้ชีวิตอย่างทดลองมาหมด ทดลองใช้ชีวิตของตัวเอง ไม่ต้องกลัวว่าจะผิด เรายังมีเวลาอีกหลายชาติครับ ที่จะลองใหม่ อย่างมากก็เสียไปชาติหนึ่ง”
 

รู้อย่างนี้จาก 2 นักคิดแล้ว ได้คำตอบหรือยัง ‘อยากทดลองใช้ชีวิตนี้อย่างไร’ ให้ลงตัวทั้งธรรม (ะ) ชาติ - ธรรม (ะ) ดา


[1] ทับบล้า (Tabla) : ชื่อเรียกกลองชนิดหนึ่งของอินเดีย

[2] อาศรม 4 (เป้าหมายชีวิต 4 อย่าง) : ธรรมะ คือ ศีลธรรมหรือคุณความดี, อรรถะ คือ ความมั่งคั่ง, กามะ คือ ความปรารถนาหรือการครอบครอง, โมกษะ คือ ความหลุดพ้นจากความไม่รู้


จาก http://www.all-magazine.com/ColumnDetail/allColumDetail/tabid/106/articleType/ArticleView/articleId/5348/--.aspx

http://www.sookjai.com/index.php?topic=178319.0
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...