ผู้เขียน หัวข้อ: Prometheus หนังศาสนา ภายใต้โฉมหน้า วิทยาศาสตร์?  (อ่าน 1190 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


โดย แบ๊งค์ งามอรุณโชติ

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า (ธนบุรี)

หากผู้อ่านทุกท่านได้ชม Trailer ของหนังเรื่องนี้ก็คงคาดหมายไปในทางเดียวกันว่า “เป็นหนังวิทยาศาสตร์ (Sci-Fi)”แน่ๆ, ผมเองก็คิดเช่นนั้นครับก่อนที่จะได้เข้าไปชมในโรงหนัง ทว่า เมื่อได้ชมแล้วก็พบว่า ไม่ใช่เลย หนังเรื่องนี้กล่าวถึงประเด็นทางศาสนาและความเชื่ออย่างเข้มข้นมาก


ข้อสังเกตแรกเลยก็คงไม่พ้นชื่อเรื่อง โพรมีธีอุส (Prometheus) ซึ่งตั้งตามชื่อของข้ารับใช้ซูส (Zeus) มหาเทพแห่งโอลิมปัส โพรมีธีอุสได้อาศัยกลอุบายหลอกนายตนเองเพื่อ ขโมย/ละเมิด/ขอแบ่งไฟจากซูสมาให้แก่มวลมนุษย์ เพราะโพรมีธีอุสรักมนุษย์มากกว่าซูส

ไฟนี้ก็เป็นสัญญะของปัญญาและต้นกำเนิดของอารยธรรม ไฟทำให้เกิดความอบอุ่น เอื้อให้คนกินของสุก และมีอายุยืนเพียงพอที่จะสืบทอดความรู้ ไฟยังถูกนำมาใช้เชิงอุปมาในเรื่อง Allegory of the Cave ของเพลโต (Plato) ซึ่งเชื่อมโยงไปสู่เรื่องของความรู้เช่นเดียวกัน

การขโมยไฟ (ความรู้) มาให้แก่มนุษย์นั้นส่งผลให้ซูสโกรธมาก จึงได้สั่งลงโทษโพมิธิอุสให้โดนเหยี่ยวบินมาจิกกินตับทุกวัน โดยไม่สามารถตายได้ และในวันรุ่งขึ้นตับก็จะงอกขึ้นมาใหม่ให้ถูกจิกกินเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ในขณะที่มนุษย์ผู้ได้รับไฟ (ปัญญา) ไป ซูสก็ส่งกล่องที่บรรจุความชั่วร้ายต่างๆ ไว้ไปพร้อมกับสาวคนหนึ่งชื่อ “แพนโดรา” พร้อมกำชับกับเธอว่าห้ามเปิดกล่องนี้ออก

สุดท้ายด้วยความอยากรู้อยากเห็น (Curiosity) อันเป็นคุณสมบัติรากฐานของการเกิดปัญญาทางโลกย์ เธอก็ได้เปิดกล่องนั้นออกและความชั่วร้ายต่างๆ ก็พลันหลุดมาสู่โลกให้มนุษย์ต้องใช้ปัญญา (ไฟ) ขบคิดแก้ปัญหาไม่มีวันจบสิ้น

เค้าโครงความคิดปกรณัมเช่นนี้สืบสานมาแม้กระทั่งเข้าสู่ยุคของศาสนาคริสต์แล้ว ดังจะเห็นได้จากร่องรอยของพระคัมภีร์ (Bible) ที่กำหนดให้อดัมกับอีฟถูกล่อลวงโดยงูให้ทานผลไม้แห่งความรู้ (แอปเปิล/ไฟ) และก็เป็นผู้หญิงอีกเช่นเคย (อีฟ/แพนโดรา) ที่ชวนผู้ชายให้ละเมิดคำสั่งของพระเจ้า

นอกจากนี้ ถ้าตามหาดูภาพตัวแทนของเหตุการณ์ อดัมและอีฟถูกงูล่อลวงนั้นก็จะพบว่า ภาพจำนวนมากใช้ร่างตัวแทนของงูเป็นผู้หญิง (หลายภาพหน้าตาเหมือนอีฟเสียด้วยซ้ำ) เหล่านี้สะท้อนเค้าโครงของบาปที่มากับความรู้ และ ผู้หญิงในฐานะเพศที่มีบาปและความอยากรู้อยากเห็นมากกว่าฝ่ายชาย


ภาพ: อดัมกับอีฟกำลังถูกล่อลวงโดยงู

การใช้ชื่อของเรื่องทั้งหมดว่าโพรมีธิอุสจึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่อย่างไร ตลอดทั้งเรื่องสัญญะต่างๆ ที่ปรากฏในหนังเรื่องนี้สะท้อนถึงการลงโทษของพระผู้สร้างต่อความรู้ ความอยากรู้อยากเห็น และโดยเฉพาะความรู้แบบวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น ในตอนต้นเรื่องนั้น คู่รักนักโบราณคดีสองคนได้เข้าไปสืบเสาะค้นหาและพบกับสัญลักษณ์เหมือนกันในอารยธรรมต่างๆ กันทั่วโลก ซึ่งอารยธรรมเหล่านั้นไม่น่าจะเคยติดต่อกันเลยโดยตรง

ทำให้เขาสรุปได้ว่า น่าจะมีผู้มาเยือนจากต่างดาวและต้องการที่จะไปเพื่อค้นหา โดยมีสมมติฐานว่า ณ ดาวดวงที่ปรากฏเป็นสัญลักษณ์ในถ้ำอารยธรรมโบราณเหล่านั้น คือผู้ที่สร้างมนุษย์ขึ้นมา (the Creator/the Engineer)

ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงออกเดินทางโดยมีสมาชิกได้แก่ ไฟฟิลด์ (Fifield – นักธรณีวิทยา), มิลเบิร์น (Milburn – ชีววิทยา), ฟอร์ด (Ford – แพทย์), ชอว์และแฟนของเธอชื่อฮอลลาเวย์ (Hollaway), ลูกสาวประธานบริษัทชื่อ วิคเคอส์ (Vickers) ผู้ออกทุนให้แก่การเดินทางครั้งนี้ ที่เหลือคือกัปตันและลูกเรือ และที่ขาดไม่ได้คือเดวิด (David) หุ่นยนตร์เสมือนมนุษย์ผู้ที่พูดได้หลายภาษา และเดวิดยังชื่นชอบในหนังเรื่อง Lawrence of Arabia มากๆ จุดนี้เองที่มีรายละเอียดซึ่งจะมองข้ามไปไม่ได้เลย

ประการแรก การที่มนุษย์สร้าง เดวิด ขึ้นมาเพื่อที่จะรวบรวมวิเคราะห์ภาษาเพื่อที่จะสามารถสื่อสารกับ the Creator/the Engineer ก็เปรียบเสมือนการตอกย้ำถึงเรื่องเล่าของไบเบิล ที่กล่าวถึงการเกิดขึ้นของภาษาและหอคอยบาเบล

เรื่องมีอยู่ว่า มนุษย์ได้ใช้ความรู้ที่ตนเองมีพยายามไปถึงสวรรค์หรือถึงพระผู้เป็นเจ้าด้วยกำลังของตนเองโดยการสร้างหอคอยสูงเรียกว่าหอคอยบาเบลขึ้นมา พระเจ้าพิโรธในความจองหองของมนุษย์จึงสาปให้มนุษย์มีหลายภาษา การสร้างหอคอยจึงไม่สำเร็จเพราะพูดจากันไม่รู้เรื่อง การที่ เดวิด ต้องรวบรวมภาษาที่กระจัดกระจายทั่วโลกเพื่อสื่อสารกับ the Creator/the Engineer จึงเป็นการท้าทายต่อพระผู้สร้างใหม่ ด้วยการรวบรวมภาษาที่พระเจ้าสาปให้แตกกระจายจนกลับมาเป็นหนึ่งอีกครั้ง

ประการที่สอง น่าสนใจอย่างมากที่ เดวิด ได้กล่าวถึงท่อนหนึ่งในนิยาย Lawrence of Arabia ตอนที่ยานดินทางมาถึงดาว (ซึ่งคาดว่าจะเป็นที่อยู่ของ the Creator/the Engineer) ว่า “there is nothing in the desert and no man need nothing” โดยฉากหลังของเรื่อง Lawrence of Arabia นั่นคือประเทศจอร์แดน ประเทศที่พระเยซูเข้ารับพิธี Baptism หรือการชำระล้างบาปเพื่อเป็นศาสนาคริสต์ ดังนั้น การที่ เดวิด กล่าวบทของนิยายเรื่องนี้ออกมาจึงไม่ต่างจากการกล่าวว่า “ผมกลับมาแล้วครับ พ่อ, the Creator/the Engineer ”

เมื่อมาถึงดาวแล้ว ทางคณะสำรวจก็ได้เข้าไปในอาคารที่มีลักษณะไม่เป็นธรรมชาติ (น่าจะถูกสร้างขึ้น) เมื่อเข้าไปในนั้น คณะสำรวจก็ได้พบกับศพของกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่ไม่ทราบที่มา ลักษณะมีแขนขาเหมือนมนุษย์ ทันใดนั้น สองคนในคณะสำรวจก็ออกอาการสติแตกและแยกจากวงเพื่อที่จะกลับยานก่อนคนอื่นๆ สองคนนั้นได้แก่ นักชีววิทยาและนักธรณีวิทยา อาการวิตกอย่างรุนแรงนั้นดูไม่เป็นธรรมชาติอย่างยิ่ง จนชวนให้ตั้งสงสัยว่า “พวกเขาหวาดกลัวต่อสิ่งใดกันแน่?” การหวาดกลัวนั้นอาจจะไม่ใช่การหวาดกลัวต่ออะไรอย่างอื่นนอกเสียจาก การตระหนักที่ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ซึ่งตนเองนับถือกำลังสั่นคลอน

อย่างน้อยที่สุดนักชีววิทยาซึ่งเชื่อในดาร์วินก็ย่อมต้องไม่คิดว่ามนุษย์เกิดมาจากพระผู้สร้างนอกโลกพวกเขาจึงหนีไปจากภาพที่เห็น (การค้นพบ the Creator/the Engineer) ในท้ายสุดการเตลิดหนีไปดังกล่าวได้ทำให้พวกเขา “หลงทาง” และคณะสำรวจคู่แรกที่ตายก็คือเขาสองคนนี้เอง การตายของเขาทั้งสองนี้ยังเป็นสัญญะของการฆ่าคนที่ไม่เชื่อในพระผู้เป็นเจ้าด้วย เพราะทั้งชีววิทยาและธรณีวิทยาเป็น สองสาขาที่ (พยายาม) พิสูจน์ถึงความคลาดเคลื่อนของไบเบิลในการเล่าเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับโลกใบนี้

เมื่อกลับมาจากสถานที่พบ the Creator/the Engineer ในด้านหนึ่ง อลิสเบธ ชอว์ (Elizabeth Shaw – นักโบราณคดี) ซึ่งเชื่อในพระเจ้าค้นพบว่ายีนของสิ่งมีชีวิตที่พบนั้นสอดคล้องกับมนุษย์ (แต่เก่าแก่กว่า) ดังนั้นสิ่งที่พบจึงเป็นผู้สร้างมนุษย์จริงๆ แต่นั่นก็ไม่ได้บั่นทอนศรัทธาของเธอต่อพระเจ้าแต่อย่างไร เพราะ เธอเชื่อว่า อย่างไรเสียก็ต้องมีพระเจ้าที่สร้าง พระผู้สร้างของมนุษย์อีกที ในขณะที่ชอว์เจอข้อค้นพบดังกล่าว อีกด้านหนึ่ง เหตุร้ายกำลังเกิดขึ้น นั่นก็คือ เดวิด ได้นำเอาหยดสารลึกลับที่พบในอาคาร (แห่งที่พบพระผู้สร้าง) กลับมาด้วย

เขาพกหยดสารดังกล่าวไปคุยกับฮอลลาเวย์, เช่นเคย, ฮอลลาเวย์ถากถางความเป็นหุ่นยนต์และไม่มีวันเท่าเทียมกับมนุษย์ของ เดวิด ยกตัวอย่างเช่น เดวิด ถามว่า มนุษย์สร้างเขาขึ้นมาทำไม? ฮอลลาเวย์ตอบไปว่า “เพราะเราทำได้ยังไงหละ” เดวิด จึงย้อนถามกลับไปว่า “คุณจะรู้สึกอย่างไร ถ้าพระเจ้าของคุณกล่าวแบบนี้บ้าง?” เป็นการยอกย้อนที่ชวนให้รู้สึกว่า เดวิด เป็นคนมากกว่าหุ่นยนต์ และเขาน่าจะเจ็บปวดกับการถากถางของฮอลลาเวย์อย่างล้ำลึก

ภายหลังบทสนทนา เดวิด นำหยดสารลึกลับใส่ลงไปในแชมเปญจ์ให้ฮอลลาเวย์ดื่ม โดย เดวิด ถามคำถามสุดท้ายก่อนจะใส่หยดสารนั่นลงไปว่า “คุณพยายามทุกอย่างหรือไม่ที่จะได้คำตอบว่า ทำไมพระเจ้าถึงสร้างคุณขึ้นมา?” ซึ่งฮอลลาเวย์ตอบว่า “ใช่, ผมยอมทุกอย่าง” เดวิด จึงใส่สารดังกล่าวลงไป เราจะตีความบทสนทนาตรงนี้อย่างไร, ผมมีสองทฤษฎีที่จะอธิบาย

<a href="https://www.youtube.com/v/N0WUpsErUBA" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/N0WUpsErUBA</a>

ทฤษฎีที่หนึ่ง เดวิด กำลังพยายามสื่อนัยว่า พระเจ้าก็เพียงแค่ “ทดลอง (Experiment)” เท่านั้น มนุษย์ที่เกิดมานั้นไม่ใช่สิ่งอื่นใดเลยนอกเสียจากผลพลอยได้ของการทดลอง จากพระผู้เป็นเจ้า เราไม่ได้มีค่ามากขนาดที่จะกล่าวได้ว่าพระองค์มีความมุ่งหมายเฉพาะที่จะสร้างเราขึ้นมา หรือพูดง่ายๆ พระองค์ทำเราขึ้นมาก็เพราะพระองค์สามารถจะทำได้ก็เท่านั้น (เหมือนที่ เดวิด ถูกเสียดสีจากแฟนของชอว์) แต่นั่นก็อาจจะไม่ใช่ก็เป็นได้ อีกทฤษฎีหนึ่งซึ่งมีความเป็นไปได้เช่นเดียวกันคือ

ทฤษฎีสอง เดวิด พยายามสื่อสารว่า มนุษย์เกิดจากการลงโทษและโดยเฉพาะ “การดื่มยาพิษ” ข้อสนับสนุนเรื่องนี้กลับมาที่ประเด็นของความรู้และการลงโทษครับ, ในตอนเกิดเรื่องของหนังเรื่องนี้นั้น เป็นฉากที่สิ่งมีชีวิตหน้าตาเหมือน the Creator/the Engineer ยืนโดดเดี่ยวอยู่ข้างน้ำตก บนโลก และเหม่อมองยานอวกาศลำใหญ่บินลับขอบฟ้าไป the Creator/the Engineer ดังกล่าวหยิบถ้วยทรงครึ่งวงกลม ข้างในมีน้ำเมือกบางอย่างอยู่และยกขึ้นมาดื่ม หลังจากนั้น the Creator/the Engineer ดังกล่าวก็ตายตกลงไปในน้ำตก ยีนของเขาพังทลายและกลับมารวมตัวใหม่ซึ่งทำให้เราเข้าใจได้ว่านั่นคือจุดกำเนิดของมนุษย์


ทฤษฎีที่สองค่อนข้างลงตัวมากกว่าทฤษฎีที่หนึ่ง เพราะมันสัมพันธ์กับประเด็นของ “โทษที่มาจากความรักในความรู้” โดยคำว่า ความรัก (philos) และ ความรู้ (sophia) เมื่อรวมกันก็จะได้คำว่า นักปราชญ์ (Philosopher) และปราชญ์ที่ตายด้วยวิธีการเดียวกันกับ the Creator/the Engineer (การดื่มยาพิษนั้น) ได้แก่ “โสเครติส” ผู้ที่ยกถ้วยยาพิษชื่อ Hemlock ขึ้นดื่มและตายลง …

ผู้เขียนนึกอยากรู้ว่าโสเครติสกล่าววรรคทองอะไรเป็นคำสุดท้ายก่อนจากโลกนี้ไป พอค้นหาจากอินเตอร์เน็ต อ่านแล้วอดขำไม่ได้เพราะชั่วขณะแรกที่อ่านมันฟังดูเรียบง่ายมาก ความว่า:

‘Crito, we owe a cock to Asclepius. Do pay it. Don’t forget.’ ซึ่งถ้าแปลตรงตัวเลยก็อาจจะแปลได้ว่า “คลิโต-ชื่อลูกศิษย์, เราเป็นหนี้ค่า (ไก่/องคชาต) ของ Asclepius, จ่ายเขาด้วย, อย่าลืมเสียหละ” (แอ๊ก! ตาย)

แต่หากจะคิดมากขึ้น Asclepius ก็มิใช่ชื่อธรรมดาแต่เป็นชื่อของเทพที่ชาวกรีกเชื่อว่าช่วยรักษาโรคองค์หนึ่ง ดังนั้น หากจะตีความประโยคของโสเครติสอย่างลึกซึ้งมากกว่าการพิจารณาตามตัวบท ก็อาจจะตีความได้อีกแบบ คือ การตายของเขาเองนั้นคือการรักษา เป็นการแสดงออกเพื่อรักษาความป่วยทางปัญญาของชาวเอเธนส์เอง


การตายเช่นนี้คือ หายนะเพราะความรู้ เหมือนที่อดัมและอีฟ/โพรมิธิอุสและแพนโดราต้องเผชิญ ดังนั้น ผู้ประพันธ์หนังเรื่องนี้จึงพยายามสื่อสารว่า เป็นไปได้ที่ the Creator/the Engineer จริงๆ แล้วไม่ได้ตั้งใจมาสร้างมนุษย์ แต่กลับเป็นการถูกลงโทษให้ทานยาพิษจากเผ่าพันธุ์ของตนเอง มนุษย์อันเป็นผลพลอยได้ของการนี้จึงเป็นเพียงอุบัติเหตุที่ปราศจากความตั้งใจ

ไม่ว่าทฤษฎีใดจะถูกต้องกว่ากันก็ตาม การหยดสารลึกลับดังกล่าวลงไปส่งผลให้ Charlie ต้องตาย (และสุดท้าย ก็ตายด้วยไฟอันเป็นสัญลักษณ์ของความรู้อีกต่างหาก) เมื่อฮอลลาเวย์ตาย ชอว์ก็ตระหนักอย่างชัดเจนว่าดวงดาวแห่งนี้ไม่ใช่แดนสวรรค์ แต่มันอบอวลไปด้วยความตายและประสงค์ร้าย เธอต้องการที่จะกลับโลก ทว่าเรื่องราวกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะจังหวะนี้เองที่เรื่องราวคลี่คลาย แท้ที่จริงแล้ว ปีเตอร์ เวย์แลนด์ (Peter Wayland) เจ้าของบริษัทผู้ออกเงินทุนให้แก่การเดินทางในครั้งนี้ แอบแฝงตัวอยู่ในเครื่องหยุดการทำงานของร่างกายเพื่อเดินทางมาด้วย และเพื่อที่จะได้พบกับ the Creator/the Engineer

เดวิด ได้ยืนยันว่ายังมี the Creator/the Engineer หลงเหลืออยู่ 1 คน (องค์?) นั่นส่งผลให้ชอว์ไม่สามารถตัดใจกลับไปสู่โลกได้โดยไม่พบกับ the Creator/the Engineer เพียงแต่คำถามของเธอแตกต่างจาก เดวิด หรือ เวยน์แลนด์ (ซึ่งสนใจจะยืดอายุของตนเองออกไปให้ยาวนานที่สุด) เธอสนใจพบ the Creator/the Engineer เพื่อที่จะถามว่าทำไมท่านจึงอยากจะทำลายโลก ทำลายมนุษย์ (แน่นอนหนึ่งในคำตอบที่เป็นไปได้ก็คือ พวกเราเป็นลูกหลานของผู้ที่ถูกทำโทษให้ตาย เราไม่ใช่สิ่งที่ถูกตั้งใจให้เกิดขึ้น) สุดท้ายเธอก็ยินยอมที่จะไปพบกับ the Creator/the Engineer

เมื่อเรื่องนี้รู้ไปถึงกัปตัน สิ่งแรกที่กัปตันยานบินแสดงออกคือ “ไม่ว่าคุณพบสิ่งใดในนั้น ผมจะไม่นำมันกลับไปที่โลกเด็ดขาด” ทำไมเขาจึงมั่นใจเช่นนั้น? เพราะไม่ว่าจะไบเบิล หรือ ปกรณัมโบราณ ก็มักที่จะกล่าวถึงการกลับมาสู่โลกของพระผู้สร้าง ซึ่งวันนั้นก็มักจะเป็นวันแห่งคำพิพากษา กล่าวง่ายๆ คือวันสิ้นโลก หากสิ่งที่ค้นพบในอาคาร (ซึ่งในช่วงนี้ของหนังทุกคนเข้าใจตรงกันแล้วว่ามันไม่ใช่อาคารธรรมดาแต่เป็นยานบิน) คือสัญญะการเดินทางของพระผู้สร้าง/the Creator/the Engineer การกลับไปสู่โลกของสิ่งๆ นั้นไม่ว่าจะคืออะไรก็ตาม ก็ย่อมหมายถึงจุดจบของโลกไปด้วย

ในระหว่างช่วงเวลาสั้นๆ ที่เวย์แลนด์ตื่นขึ้นและกำหลังจะเดินทางไปหา the Creator/the Engineer นั้นหนังได้นำเสนอมุมมองความสัมพันธ์ระหว่างเวยแลนด์ และ ลูกสาวของเขา, วิคเคอส์, ว่าเวย์แลนด์เฉยชาต่อลูกสาวมากเพียงใด และดูเหมือนว่าจะรัก เดวิด มากกว่าเสียด้วยซ้ำ ความสัมพันธ์ในลักษณะทั้งรักทั้งชังระหว่างพ่อและลูกนั้นก็เหมือนภาพจำลองของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และพระบิดาหรือพระเจ้า

มนุษย์เองทั้งรัก กลัว และ โกรธพระเจ้าในบางครั้ง และแน่นอนพระเจ้าเองก็ลงโทษมนุษย์อยู่เป็นเนืองๆ ไม่ว่าจะบางส่วนหรือจำนวนมากพร้อมๆ กันก็ตาม (การสาปในกรณีของหอคอยบาเบล เป็นตัวอย่างหนึ่ง) เพราะมนุษย์นั้นดื้อและมีเจตจำนงของตนเองไม่เหมือนเดวิดที่เชื่อฟังเวย์แลนด์อย่างหุ่นยนต์

เรื่องราวหลังจากนี้คือการที่เวยแลนด์, ฟอร์ด, ชอว์, เดวิด เดินทางไปพบกับ the Creator/the Engineer ที่ยังมีชีวิตอยู่ในเครื่องจำศีล ส่วนผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรนั้นขอให้ผู้อ่านได้ติดตามดูเองจะสนุกกว่าครับ

จาก http://www.siamintelligence.com/prometheus-sci-or-religion-movies/
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...