ผู้เขียน หัวข้อ: สุดยอด “เกร็ดธรรม” สั้น ๆ จาก พระไพศาล วิสาโล  (อ่าน 2798 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานไตรสรณะสุจิปุลิ
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


  :13: เมื่อประสบเหตุร้าย เราเลือกที่จะไม่ทุกข์ก็ได้ ถ้าวางใจให้เป็น ทีนี้จะวางใจอย่างไร ?? อย่างแรกที่ควรทำก็คือ “การยอมรับความจริง” เมื่อเกิดอะไรขึ้นแล้ว ป่วยการที่เราจะไปตีโพยตีพายว่าทำไมถึงต้องเป็นฉัน ป่วยการที่จะไปโทษชะตากรรม หรือโทษคนนั้นคนนี้ ยิ่งตีโพยตีพาย หรือยิ่งปฏิเสธความจริง เราก็ยิ่งทุกข์ !!!


 :13: “การยอมรับความจริง” มิได้หมายถึง “การยอมจำนนต่อสิ่งที่เกิดขึ้น” ที่จริงแล้วมันกลับช่วยให้เราสามารถรับมือกับเหตุร้ายได้ดีขึ้น คนที่ยอมรับความเจ็บป่วยได้ นอกจากใจจะทุกข์น้อยลงแล้ว ยังมีเวลาใคร่ครวญหาทางเยียวยารักษา สามารถใช้สติปัญญาอย่างเต็มที่ ไม่ถูกรบกวนด้วยอารมณ์ต่างๆ ผิดกับคนที่ไม่ยอมรับความจริง จะมัวแต่ตีโพยตีพาย คร่ำครวญ วิตกกังวล จนไม่เป็นอันทำอะไร สิ่งที่ควรทำจึงไม่ได้ทำ ปัญหาที่ควรแก้จึงไม่ได้แก้


 :13: ความสุขนั้นมีอยู่รอบตัว แต่คนส่วนใหญ่มองไม่เห็น เพราะใจจดจ่อแต่ความสำเร็จที่รออยู่ข้างหน้า ผลก็คือขณะที่ความสุขข้างหน้ายังมาไม่ถึง เรากลับละทิ้งความสุขที่มีอยู่รอบตัว ทั้งๆ ที่เป็นสิทธิของเราโดยชอบธรรม กลายเป็นว่าเสียสองต่อ


 :13: จะไม่ดีกว่าหรือ ขณะที่ยังไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง เราก็เปิดใจชื่นชมสิ่งดีๆ ที่มีอยู่รอบตัวหรือตามรายทาง แม้ความสุขข้างหน้ายังมาไม่ถึง แต่เราก็ได้สัมผัสกับความสุขที่มีอยู่แล้วทุกขณะ


 :13: การให้อภัยเป็นเรื่องยาก แต่การมีชีวิตด้วยจิตใจที่โกรธแค้นพยาบาท กลับเป็นเรื่องที่ยากลำบากกว่า


 :13: ชีวิตของเรานั้นเหมือนกับเทียน เราไม่มีทางรู้หรอกว่า เทียนเล่มนี้จะไหม้จนหมดเชื้อ หรือว่าโดนลมพัดดับไปเสียก่อนทั้งๆ ที่ยังมีเชื้อและไขเทียนอยู่ แต่แม้จะเป็นอย่างหลังก็ไม่สำคัญเท่ากับว่าขณะที่ยังมีเปลวไฟอยู่นั้น เขาให้ความสว่างไสวแค่ไหน


 :13: คนที่ภาคภูมิใจในทรวดทรงของตน ไม่ช้าไม่นานก็ต้องระทมทุกข์เพราะสิ่งเดียวกัน ถึงวันนั้นทรวดทรงอาจแปรเปลี่ยนไป หาไม่มันก็กลายเป็นบ่อเกิดของโรคร้ายขึ้นมา


 :13: เมื่อเราถูกวิพากษ์วิจารณ์ ใจเรามักจะพุ่งตรงไปยังคนวิพากษ์วิจารณ์ แต่ไม่ค่อยสนใจคำวิพากษ์วิจารณ์เท่าใดนัก ดังนั้น แม้ว่าคำวิพากษ์วิจารณ์จะถูกต้อง ให้แง่คิดที่ดีเพียงใดก็ตาม แต่เราไม่สนใจที่จะไตร่ตรองเสียแล้ว เพราะใจนั้นเต็มไปด้วยความเกลียดและโกรธคนที่วิพากษ์วิจารณ์เรา


 :13: สุขกับทุกข์เป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน มันสามารถพลิกกลับไปกลับมาได้ ด้วยเหตุนี้เวลาจะมีความสุขกับอะไรหรือใครก็ตาม อย่าเพลินกับความสุขจนท่วมท้นใจ หรือหมดเนื้อหมดตัวไปกับอารมณ์เหล่านั้น ควรเผื่อใจไว้รับมือกับความผันผวนปรวนแปรที่ไม่ถูกใจเรา วันนี้ทุกอย่างเป็นไปตามใจหวัง แต่พรุ่งนี้อาจกลายเป็นตรงกันข้าม


 :13: อะไรล่ะที่ทำให้เรายอมรับความจริงได้ยาก ส่วนหนึ่งก็เพราะเราหวนคิดถึงอดีตที่สวยงาม เมื่อเราต้องสูญเสียอะไรสักอย่าง หรือประสบกับเหตุร้าย เราจะรู้สึกแย่ทันทีเมื่อหวนนึกถึงตอนที่เรายังมีสิ่งนั้น หรือยังสุขสบายดี ความอาลัย ความเสียดาย จะทำให้เราไม่สามารถยอมรับความจริงที่เป็นอยู่ตอนนี้ได้


 :13: “เป็นอะไร” ไม่สำคัญเท่า “เป็นอย่างไร” ถึงจะเป็นคนสวนหรือเสมียนก็อาจจะมีความสุขกว่าผู้จัดการ หากทำงานด้วยใจรักหรือมีฉันทะ และเห็นคุณค่าของงานนั้น ไม่ใช่ทำด้วยตัณหาหรือมีกิเลสเป็นตัวผลักดัน


 :13: รู้ว่าอะไรเป็นประโยชน์แก่ชีวิตตน ก็ควรรีบลงมือทำ ปฏิกจฺเจว กยิรา ยํ ชญฺญา หตมตฺตโน


 :13: “ความทุกข์” และ “ความสุข” ของชีวิต หาได้อยู่ถัดกันดั่งกลางคืนและกลางวันไม่ แท้ที่จริงความทุกข์และความสุขอยู่เคียงคู่กัน ในยามทุกข์ ความสุขก็อยู่รอบตัวเราอยู่แล้ว ใช่ว่าจะตามมาภายหลังก็หาไม่ เป็นแต่ว่าเราไปฉวยเอาเรื่องร้ายมาครองใจ ความสุขจึงแทรกเข้ามาไม่ได้ แต่หากเราวางเรื่องร้ายนั้นเสีย หรือน้อมเอาสิ่งดีงามมาใส่ใจ ความสุขก็จะบังเกิดขึ้นทันที

 แม้กระทั่งในค่ายนรกนาซี ความสุขก็อยู่ไม่ไกลหากรู้จักหา หญิงผู้หนึ่งอยู่ใกล้ความตายทุกขณะ แต่ในยามนั้นเธอหาได้ทุรนทุรายไม่ สิ่งเดียวที่ให้ความหวังและกำลังใจแก่เธอก็คือ ต้นไม้ต้นหนึ่งซึ่งมีดอกตูมอยู่สองดอกใกล้หน้าต่าง เธอชอบคุยกับต้นไม้ต้นนั้น และต้นไม้ก็บอกเธอว่า “ฉันอยู่นี่ ฉันอยู่นี่ ฉันคือชีวิตนิรันดร์”


 :13: อยู่กับปัจจุบันให้ดีที่สุด คือ เคล็ดลับสำคัญในการเอาชนะปัญหาและอุปสรรคทั้งปวง เพราะวันนี้เป็นวันเดียวเท่านั้นที่เราสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ไม่ใช่เมื่อวานหรือวันพรุ่งนี้ แต่จะว่าไปแล้ว ช่วงเวลาเดียวเท่านั้นที่เราสามารถทำสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นได้ คือ วินาทีนี้หรือขณะนี้เท่านั้น เพราะแม้แต่วินาทีหน้า นาทีหน้า หรือชั่วโมงหน้า ก็ยังเป็นอนาคตอยู่ ไม่อยู่ในวิสัยที่เราจะทำอะไรได้


 :13: “แข่งขันกับงาน ไม่ใช่แข่งขันกับคนอื่น” เวลาทำงานก็เช่นกัน ถ้าเรามองว่านี้เป็นการต่อสู้ปลุกปล้ำกับงาน เราจะไม่เดือดร้อนที่คนอื่นทำได้ดีกว่าเรา ใครจะดีจะเก่งก็เป็นเรื่องของเขา เพราะในใจนั้นนึกอยู่เสมอว่า “ฉันกำลังแข่งขันกับงาน ไม่ใช่แข่งขันกับคนอื่น” นอกจากจะไม่อิจฉาเขาแล้ว ยังพยายามเรียนรู้จากเขาว่ามีวิธีการอย่างไร เพื่อเอาไปใช้ในการพิชิตงานที่กำลังทำอยู่ หรือทำให้งานนั้นดีขึ้น


 :13: “สบายแต่ไร้สุข” ในโลกนี้มีอะไรต่ออะไรอีกมากมายที่ไม่สามารถบัญชาให้เป็นไปตามใจเราได้ แม้จะมีเงินมากมายก็ตาม ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่คนกรุงเทพฯ เป็นทุกข์กันมากเพียงเพราะรถติด ทั้งๆ ที่อยู่ในรถที่แสนเย็นสบาย แต่ถ้ารู้จักปรับตัวปรับใจเสียแล้ว ก็จะเป็นสุขได้ง่ายขึ้น ร้อนนักก็ไม่เป็นไร หนาวนักก็ไม่เดือดร้อน รถติดก็รู้จักรอ คนที่จะทำใจแบบนี้ได้เก่ง ใช่หรือไม่ว่า ชีวิตของเขาต้องไม่สะดวกสบายมากเกินไป


 :13: “เปลี่ยนศัตรูมาเป็นมิตร” ถึงที่สุดแล้ว แม้แต่คนที่คิดร้ายต่อเรา เขาก็ไม่ได้เป็นศัตรูของเรา ความโกรธเกลียดหรือความเห็นแก่ตัวในใจเขาต่างหากที่เป็นศัตรูของเรา สิ่งที่เราควรจัดการคือความชั่วร้ายในใจของเขา มิใช่จัดการตัวเขา ด้วยวิธีนี้เท่านั้นที่เราจะปลอดภัยและมีชีวิตที่สงบสุขอย่างแท้จริง เพราะการขจัดศัตรูที่ดีที่สุดคือเปลี่ยนเขามาเป็นมิตร แล้วอะไรล่ะที่จะเปลี่ยนศัตรูมาเป็นมิตรได้ หากมิใช่การใช้ความดีชนะใจเขา


 :13: “คู่แข่ง” คนไม่ใช่คู่แข่งของเรา กิเลสตัณหา ความเห็นแก่ตัว หรือความหลงตนต่างหากที่เป็นคู่แข่งของเรา แทนที่จะสู้กับใครต่อใคร เราควรหันมาสู้กับอกุศลธรรมในตัวเราดีกว่า ที่แล้วมาเราต่อสู้กับใครต่อใครมากแล้ว แต่ไม่ได้ต่อสู้กับอกุศลธรรมเหล่านี้ เราจึงทุกข์ไม่เว้นแต่ละวัน


 :13: “การทำงาน” สามารถเป็น “การปฏิบัติธรรม” ได้ตลอดเวลา หากเราทำด้วยแรงจูงใจที่เป็นกุศล เช่น ทำเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น หรือเพื่อฝึกพัฒนาตน โดยมุ่งให้มีความเห็นแก่ตัวน้อยลง อดทนมากขึ้น หรือทำโดยมีธรรมะเข้ามากำกับ เช่น ทำด้วยความซื่อสัตย์ รับผิดชอบต่อหน้าที่


 :13: พุทธศาสนาที่แท้จริงนั้น มิได้อยู่ที่วัดวาอารามหรือพระสงฆ์ แต่อยู่ที่จิตใจของผู้คน ใจที่เป็นกุศล เปี่ยมด้วยเมตตา โอบอ้อมอารีต่อกัน ไม่ถูกครอบงำด้วยโลภะ โทสะ และโมหะ คือ ที่สถิตของพุทธศาสนาที่แท้ต่างหาก


(มีต่อ) http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=41871
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานไตรสรณะสุจิปุลิ
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
 :13: แสวงหาความสุขจากการให้ กล่าวคือ ยิ่งให้ความสุข ก็ยิ่งได้รับความสุข สุขเพราะเห็นน้ำตาผู้อื่นเปลี่ยนเป็นรอยยิ้ม และสุขเพราะภาคภูมิใจที่ได้ทำความดีและทำให้ชีวิตมีความหมาย จากจุดนั้นแหละก็ไม่ยากที่เราจะค้นพบ ความสุขจากการ “ไม่มี”


 :13: “ทิ้งขยะทางอารมณ์...รักษาจิตใจให้ใหม่สดเสมอ” ต้นไม้เขียวขจีอยู่เสมอ...ก็เพราะทิ้งใบที่แห้งตาย ไม่เก็บเอาไว้ให้เป็นภาระ ร่างกายมีพลานามัย...ก็เพราะระบายสิ่งหมักหมมออกไปจากอวัยวะทุกส่วน ใจจะสดใส...ก็เพราะรู้จักปลดปล่อยอารมณ์ที่หมักหมมบูดเน่า ใจที่ว่างและเปิดกว้างต่อทุกสิ่งที่เป็นปัจจุบันเท่านั้น ที่จะทำให้ชีวิตสดใหม่อย่างแท้จริง


 :13: ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องพองขนแยกเขี้ยวเพื่อให้คนอื่นกลัว


 :13: “ความเห็นแก่ตัว” นั้น แม้จะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการอยู่รอดของมนุษย์ แต่หากปล่อยให้มันครองใจและเป็นใหญ่ในชีวิต เราก็จะเป็นทุกข์ได้ง่าย เพราะได้เท่าไรก็ไม่พอ ยิ่งใหญ่เพียงใดก็ไม่มีความสุข อะไรมากระทบแม้เพียงเล็กน้อยก็พร้อมจะระเบิดอารมณ์ได้ทันที ไม่ต่างกับลูกโป่งที่ขยายตัวเต็มที่ เพียงแค่ถูกใบหญ้าทิ่มแทงก็พร้อมจะระเบิดได้ทันที


 :13: “สติที่ว่องไว ช่วยพาใจให้เป็นปกติสุข” สติที่เรามีในชีวิตประจำวันนั้นเป็นสติที่ยังเชื่องช้าอยู่ ผิดนัดไปชั่วโมงกว่าแล้วถึงนึกขึ้นได้ ออกจากบ้านไปแล้วถึงนึกได้ว่าลืมโทรศัพท์มือถือไว้ที่บ้าน ด่าว่าเพื่อนไปแล้วถึงนึกได้ว่าไม่น่าเลยเรา โกรธแฟนเป็นอาทิตย์ กว่าจะนึกได้ว่าไปหัวเสียกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง เราต้องการสติที่ไวกว่านั้น ชนิดที่เรียกว่า พอจิตเกิดความหงุดหงิดขึ้นมา ก็รู้ตัวและระลึกได้ทันที พอจิตเริ่มส่าย สติก็ดึงจิตกลับมาสู่ความปกติได้ทันที ต้องทำให้ได้ขนาดนั้น ถึงจะทำให้เรามีชีวิตที่ปกติ


 :13: อะไรก็ตาม ถ้าทำแล้วช่วยลดละความโลภ ความเห็นแก่ตัว กำจัดสิ่งเศร้าหมอง หรือกิเลส ทำให้จิตใจอิ่มเอิบ ถือว่าเป็นบุญทั้งนั้น และจะเป็นบุญยิ่งขึ้น หากเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วย


 :13: ของอร่อยไม่จำเป็นว่าต้องดีต่อร่างกายฉันใด ความสนุกตื่นเต้นก็ใช่ว่าจะดีต่อจิตใจฉันนั้น


 :13: ทัศนคติและการวางจิตวางใจให้ถูกต้องก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน การรู้จักปล่อยวาง ยอมรับในความจริงของชีวิต ไม่ยอมจ่อมจมอยู่กับความพลัดพรากสูญเสีย เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้จิตผ่องใส เยือกเย็น เบาสบาย เมื่อใจมีสุขภาพดี สุขภาพกายก็ดีตามไปด้วย


 :13: ในแต่ละวัน แต่ละอาทิตย์ มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่จำเป็น แต่เรากลับเสียเวลากับมันไม่น้อย อาทิ งานสังคม เดินช็อปปิ้งตามห้าง ท่องอินเทอร์เน็ต ดูแลจัดการกับสมบัตินานาชนิด ฯลฯ กิจกรรมเหล่านี้ หากสะสางให้เหลือเท่าที่จำเป็น หรือจำกัดเวลาลง เราจะมีเวลาเหลือสำหรับสุขภาพกายสุขภาพจิตของตนเอง และมีเวลาให้แก่ครอบครัว ตลอดจนทำสิ่งมีประโยชน์อื่นๆ


 :13: ความแปรเปลี่ยนนั้นเป็นธรรมดาของโลก อย่าไปมองว่ามันเป็นปัญหา แต่สิ่งที่เป็นปัญหาก็คือใจของเราต่างหากที่ไปยึดอยากให้บางอย่างคงที่เหมือนเดิม หรือเป็นไปตามใจเราเสมอ ทันทีที่คิดแบบนั้น จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ก็เตรียมตัวทุกข์ไว้ได้เลย


 :13: ความคิดที่มีสติกำกับ จะไม่พาใจกวัดแกว่งไปกับความชอบหรือไม่ชอบ หรือขึ้นลงฟูแฟบไปตามสิ่งที่มากระทบ แต่จะมั่นคงบนวิถีแห่งความถูกต้อง หรือวิถีธรรมนั่นเอง


 :13: คนเรายิ่งอยู่ใกล้กันมากและอยู่ด้วยกันนานๆ ย่อมมีโอกาสจะกระทบกระทั่งหรือมีเรื่องขัดอกขัดใจกันบ้าง แต่ถ้าเราไปจดจ่อกับเรื่องไม่ดีเหล่านั้น ซึ่งอาจมีไม่ถึง ๑๐ ครั้ง โดยมองข้ามความดีที่มีต่อกันนับครั้งไม่ถ้วน เราก็จะไม่มีความรู้สึกชื่นชมหรือซาบซึ้งใจให้แก่กันเลย


 :13: ทรายดูดเป็นอย่างไร อารมณ์ทั้งหลายก็เป็นอย่างนั้น คนที่เผลอไม่รู้ตัว และไม่รู้เท่าทันมัน ถูกมันเล่นงานมานักต่อนักแล้ว


 :13: การให้อภัย มิได้หมายถึงการลืมเหตุการณ์ที่เจ็บปวด แต่หมายถึงการไม่ยอมให้เหตุการณ์เหล่านั้นมาทำร้ายเรา


 :13: คิด พูด และทำ ในทางดีงามอย่างสม่ำเสมอ การสู้รบภายในจะค่อยๆ สงบลง และบังเกิดสันติสุขในที่สุด


 :13: “มองภัยพิบัติในอีกแง่มุม” แทนที่จะมัวตื่นตระหนกถึงภัยพิบัติครั้งต่อไป ซึ่งจะเกิดที่ไหนก็ไม่มีใครรู้ เราควรมาใส่ใจกับความจริงที่ตามติดเราไปทุกหนทุกแห่ง นั่นก็คือความจริงที่ว่าสักวันหนึ่งเราทุกคนต้องตาย ถึงจะไม่มีภัยพิบัติใดๆ เกิดขึ้นในอีกร้อยปีข้างหน้า เราทุกคนก็หนีความตายไม่พ้น เราจึงควรเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมรับความตายที่จะมาถึงดีกว่า เช่น หมั่นทำความดี หลีกหนีความชั่ว ปฏิบัติต่อคนรอบข้างด้วยความใส่ใจ ฝึกจิตให้ตระหนักรู้ถึงความไม่จีรังยั่งยืนของทุกสิ่ง และพร้อมปล่อยวางเมื่อเกิดความพลัดพรากสูญเสีย ถ้าทำเช่นนี้ได้ครบถ้วน ความกลัวตายก็จะลดลง และไม่ตื่นกลัวภัยพิบัติ กลับมองว่าภัยพิบัติเหล่านี้มีข้อดีด้วยซ้ำตรงที่ช่วยเตือนไม่ให้ประมาท เราควรมองภัยพิบัติทั้งหลายในแง่นี้บ้าง ไม่เช่นนั้นก็จะมัวตื่นตระหนกตกใจจนไม่เป็นอันทำอะไร และพลาดโอกาสที่จะทำสิ่งดีๆ ให้แก่ตนเองและผู้อื่น

พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่า เราไม่ควรเตรียมการรับมือกับภัยพิบัติ เช่น มีการวางแผนบรรเทาสาธารณภัยที่รัดกุม เตรียมสิ่งของเครื่องใช้ในยามฉุกเฉิน เป็นต้น การเตรียมการดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญ แต่เราไม่ควรมองข้ามความจริงข้อหนึ่งก็คือ ภัยพิบัติไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว น้ำท่วม ฝนแล้ง หรือคลื่นสึนามิ แม้จะรุนแรงเพียงใดก็ไม่น่ากลัวเท่ากับใจวิบัติ ถ้าใจวิบัติแล้วความเสียหายจะตามมาอย่างมากมาย


 :13: อะไรทำให้คนเรามองเห็นคนอื่นได้ชัด แต่กลับมองไม่เห็นตัวเอง คำตอบก็คือ เพราะเราชอบพุ่งความสนใจไปนอกตัวจนลืมหันมาดูตัวเอง ที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในบรรดาอายตนะทั้งหมดของเรานั้น มีถึง ๕ อย่างคือ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย ที่มีหน้าที่รับรู้โลกภายนอกโดยตรง มีแต่จิตอย่างเดียวที่สามารถรับรู้หรือสำรวจตรวจตราตนเองได้


 :13: คนทั่วไปก็เป็นเช่นนั้นไม่ใช่หรือ คือเห็นความผิดเพี้ยนของคนอื่นได้ชัดเจน แต่กลับมองไม่เห็นความผิดเพี้ยนของตนเอง หลายคนไม่ชอบคนขี้บ่นขี้นินทา แต่กลับไม่รู้ว่าตัวเองก็ขี้บ่นขี้นินทาเหมือนกัน ขณะที่ชี้ให้ใครๆ ดูว่าคนนั้นคนนี้ชอบนินทา หารู้ตัวไม่ว่าตนเองก็กำลังนินทาเขาอยู่


 :13: ชีวิตคนเราส่วนใหญ่หมุนเวียนไปตามความอยาก มีความอยากเป็นตัวผลักดันให้โลดแล่นไป ความอยากของคนเรานั้นจะว่าไปก็หนีไม่พ้นความอยากมี กับความอยากเป็น เช่น อยากมีเงินมีทอง อยากมีชื่อเสียงเกียรติยศ หรืออยากเป็นคนเด่นคนดัง เป็นนักกีฬา เป็นดารา แต่ไม่ว่าจะมีอะไรหรือเป็นอะไร ถ้าอยากมีอยากเป็นแล้วก็ทำให้ทุกข์ทั้งนั้น ไม่ใช่ทุกข์เพียงเพราะมีความอยากเท่านั้น แม้ได้มีได้เป็นสมอยากในที่สุดก็ทุกข์เช่นกัน


 :13: “สุขก็ไม่นาน...หากยังเห็นแก่ตัว” ความเห็นแก่ตัวทำให้เรามีความสุขที่ได้เสพและครอบครอง ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นทรัพย์สมบัติ ชื่อเสียง อำนาจ ยิ่งได้เสพและครอบครองมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีความสุขเท่านั้น ทุนนิยมและบริโภคนิยมมีเสน่ห์กับผู้คนก็เพราะมันตอบสนองความเห็นแก่ตัว และปรนเปรอความสุขประเภทนี้ได้อย่างเต็มที่ “ความเห็นแก่ตัว” เป็นตัวการสำคัญทำให้ผู้คนเป็นทุกข์เมื่อต้องสูญเสียทรัพย์ หรือพลัดพรากจากชื่อเสียง อำนาจ อีกทั้งยังเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดความโลภอย่างไม่สิ้นสุด และเป็นแรงขับให้เกิดความโกรธเกลียดเมื่อไม่สมหวัง ทั้งความโลภและความโกรธเกลียดล้วนเป็นไฟเผาลนจิตใจ ดังนั้น ยิ่งเห็นแก่ตัวมากเท่าไร ก็ยิ่งทุกข์มากเท่านั้น


 :13: “สุขเพราะอะไร ?” ทั้งๆ ที่มีเสื้อนับร้อยตัว ทำไมเราถึงอยากได้เสื้อตัวใหม่ เพราะว่าความสุขของคนส่วนใหญ่ไม่ได้ขึ้นกับว่ามีเท่าไหร่ แต่อยู่ที่ได้ของใหม่เพิ่มขึ้น คุณมีเงินร้อยล้านพันล้าน คุณก็ไม่มีความสุขถ้าคุณไม่มีเงินก้อนใหม่เข้ามา แม้จะเป็นเงินหมื่นเงินแสนก็ตาม เพราะฉะนั้นคนที่มีเงินร้อยล้านพันล้านจึงต้องหาเงินไม่รู้จักจบสิ้น จนกระทั่งกลายเป็นทาสของมัน เพราะว่าเงินก้อนใหม่หรือของใหม่ที่ได้มานั้นมันไปกระตุ้นจิตใจ ทำให้มีความสุข ความสุขของคนเราถึงที่สุดแล้วไม่ได้เกิดจาก “การมี” แต่เกิดจาก “การได้” มีเท่าไหร่ก็ไม่มีความสุข ถ้าไม่ได้อะไรมาใหม่ๆ นี่คือโทษของความสุขแบบนี้ คือพอเสพเข้าไปมากๆ เราจะขาดมันไม่ได้ อยากได้เรื่อยไปจนตกเป็นทาสของมัน


(มีต่อ)
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานไตรสรณะสุจิปุลิ
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด



 :13: มนุษย์เราควรช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยไม่ต้องไปคำนึงว่าเขากำลังใช้กรรมหรือไม่ อันนั้นเราไม่มีทางรู้ชัด แต่ที่แน่นอนก็คือ ถ้าเราไปช่วยเขา นั่นแสดงว่าเรากำลังทำกรรมใหม่ ซึ่งเป็นกรรมดี


 :13: คนเรามักให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรายังไม่มี หรือสิ่งที่เคยมีแต่หายไปแล้ว


 :13: คนสมัยนี้คิดเก่ง แต่หยุดความคิดไม่ได้ อยู่ท่ามกลางคนหมู่มากอาจจะรู้สึกวุ่นวาย ครั้งมาอยู่กับตัวเองก็อยู่ไม่ได้ เพราะใจฟุ้งมาก ถ้าเราสามารถเข้าถึงความสงบภายในใจจากการที่จิตมีสมาธิ รู้จักปล่อยวางความคิด เราก็จะอยู่กับตัวเองได้ จะเป็นมิตรกับตัวเองได้ อยู่นิ่งๆ ก็มีความสุข เพราะเราสามารถพบความสุขภายใน


 :13: “สันโดษ” ไม่ได้หมายถึงการอยู่คนเดียวไม่สุงสิงกับใคร และไม่ได้หมายถึงความเฉื่อยเนือยไม่กระตือรือร้น แต่คือความพอใจในสิ่งที่เรามีและยินดีในสิ่งที่เราเป็น ไม่ปรารถนาสิ่งที่อยู่ไกลตัวหรือเป็นของคนอื่น ถ้ามีสันโดษก็จะพบกับความสุขในปัจจุบันทันที


 :13: ความพอใจในสิ่งที่ตนมีนั้น เป็นบ่อเกิดแห่งความสุขที่ดูแคลนไม่ได้เลย


 :13: หลวงพ่อชา เคยแนะว่า “ทุกอย่างมันถูกอยู่แล้ว แต่ที่เราทุกข์เพราะว่าเราวางใจไว้ผิด” ทุกอย่างถูก หมายความว่า ถูกตามหลักธรรมดา คือเหตุปัจจัยมันทำให้เป็นเช่นนั้นเอง ลองปรับใจให้วางให้ถูกเราจะไม่ทุกข์


 :13: ระลึกถึงความตายแม้ยังมีชีวิตอยู่ จึงเป็นสิ่งที่ดีงาม มันทำให้เราทบทวนพิจารณาตนเอง ว่าเราทำความดีมาพอหรือยัง เราได้ใช้ชีวิตคุ้มค่าที่ได้เกิดมาไหม ทำประโยชน์ได้สูงสุดหรือยัง เราได้ทำหน้าที่ทุกอย่างเสร็จสิ้นหรือยัง ไม่ว่าหน้าที่ต่อพ่อแม่ ต่อลูก และต่อตัวเอง ประโยชน์สูงสุดของการได้เกิดมาในชาตินี้ คือการได้เข้าถึงความสงบ เข้าถึงธรรมะ สรุปอย่างที่ท่านอาจารย์พุทธทาสสอนไว้ คือมีชีวิตที่สงบเย็น และเป็นประโยชน์


 :13: “ใส่ใจในทุกสิ่งที่ทำ” การกินด้วยสติจะพาเราไปสัมผัสกับอีกมิติหนึ่ง ที่ท่านพุทธทาสภิกขุ เรียกว่า “ความว่าง” เป็นมิติที่อยู่ “เหนือโลก” หรือเรียกว่า “โลกุตตระ” สิ่งสามัญธรรมดากลับกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาเพราะความใส่ใจนี้ ชีวิตประจำวันของเรา จะไม่ใช่สิ่งที่ดาษๆ ซ้ำซากจำเจอีกต่อไป หากเราใส่ใจลงไปในทุกอย่าง โดยไม่เลือกว่าเล็กว่าน้อย แทนที่จะปล่อยใจลอย หรือทำหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ลองใส่ใจกับแต่ละอย่างที่ทำอย่างจริงจัง ดูซิว่า มิติใหม่จะเผยปรากฎแก่เราหรือไม่


 :13: การรู้จักตนเอง มีความหมายหลายแง่ ไม่ใช่ว่ารู้ว่าคุณมีความสามารถอะไร มีศักยภาพอะไร รู้ว่าตัวเองต้องการอะไรเท่านั้น แต่ยังต้องรู้เท่าทันความรู้สึกนึกคิดของตัวเองอีกด้วย


 :13: คนเรามักคิดถึงการชนะคนอื่น จนมองข้ามการชนะใจตนเอง แต่ถ้าอยากจะชนะใจตนเองได้ก็ต้องวางความคิดที่จะชนะผู้อื่นเสียก่อน


 :13: ถ้าสงสารตัวเอง เราแก้ได้ด้วยการแผ่เมตตา ด้วยการทำดีกับตัวเอง ไม่ใช่แค่นึกเอา เรามักจะทำร้ายตัวเอง ด้วยการนึกถึงตัวเองในทางที่แย่ ถึงที่สุดแล้วไม่มีใครทำร้ายจิตใจเราได้นอกจากตัวเราเอง ถ้าเราสงสารตัวเอง ก็ขอให้รู้ว่าเรากำลังซ้ำเติมตัวเอง เราบอบช้ำมากพอแล้ว อย่าซ้ำเติมตัวเองอีกเลย ขอให้ตั้งจิตว่า ต่อไปนี้ฉันจะเลิกซ้ำเติมตัวเอง ฉันจะให้กำลังใจตัวเอง ฉันจะแผ่เมตตาให้ตัวเอง ฉันจะทำสิ่งดีๆ ให้ตัวเอง เช่น เข้าวัด ฟังธรรม ทำสิ่งดีงาม ฉันจะปล่อยวาง ฉันจะไม่แบกโลกเอาไว้อีกแล้วนะ


 :13: ไม่มีความล้มเหลวผิดหวังใดๆ ที่ทำให้เราเป็นทุกข์ไปได้ตลอดกาล นี้คือข่่าวดี แต่ข่าวร้ายคือ ในทางกลับกัน ไม่มีความสำเร็จสมหวังใดๆ ที่ทำให้เราเป็นสุขไปได้ตลอดกาล


 :13: ขอให้ทุกคนมีชีวิตใหม่ มีใจที่ใหม่ เพราะจะได้ปลดเปลื้องอารมณ์เก่าๆ ที่หมักหมมในจิตใจ สามารถจะปล่อยให้เหตุร้ายที่ผ่านเข้ามาในชีวิตปีนี้ได้ผ่านเลยไปเหมือนสายน้ำที่มาแล้วก็ไป อย่าได้ติดค้างในใจ ขอให้ทุกคนได้สามารถชำระจิตใจให้สะอาด เพื่อให้สามารถเปิดรับความสุขที่มีอยู่ในปัจจุบันได้อย่างต่อเนื่อง


 :13: ชีวิตเหมือนกับการเล่นไพ่ บางครั้งเราจั่วไพ่ได้ใบที่ไม่ดีมา ป่วยการที่จะบ่นว่าทำไมฉันได้ไพ่ใบนี้มา ไม่มีประโยชน์เพราะคุณไม่สามารถเปลี่ยนไพ่ที่จั่วมาได้ สิ่งที่คุณควรทำคือเล่นไพ่ในมือให้ดีที่สุด นี่คือการยอมรับความจริง เมื่อยอมรับความจริงแล้วเราจึงจะสามารถคิดต่อไปได้ว่า ต่อแต่นี้ไปฉันจะใช้ชีวิตอย่างไร


 :13: การส่งจิตออกนอก เป็นตัวการแห่งความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์ใจ หรือการสร้างความทุกข์ให้แก่ชีวิตของตน จึงประมาทไม่ได้เรื่องการส่งจิตออกนอก ทำอย่างไรเราจะไม่เผลอส่งจิตออกนอก ก็ต้องมี “สติ” สติช่วยพาจิตมาอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับงานที่เราทำ ดึงจิตกลับมาดูตัวเอง หันมาเห็นความโกรธ ความเกลียด ความพยาบาท รวมทั้งความอิจฉาริษยา ที่กำลังสะสมอยู่ในใจ เมื่อเห็นแล้วการปล่อยวางก็จะเกิดขึ้นตามมา ทำให้จิตโปร่งเบา ไม่ทุกข์ หลวงปู่ดูลย์จึงว่า “จิตเห็นจิต” คือ มรรค


 :13: โลกก้าวหน้าได้เพราะเรารู้จักเปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญา


 :13: ถ้าเราหันมาใส่ใจกับคำวิพากษ์วิจารณ์กันให้มากขึ้น และสนใจให้น้อยลงกับการตอบโต้เพื่อเอาชนะคะคานคนที่วิพากษ์วิจารณ์ นอกจากเราจะทุกข์หรือโกรธเกลียดน้อยลงแล้ว เรายังมีโอกาสที่จะได้ประโยชน์จากคำวิพากษ์วิจารณ์นั้นด้วย โดยเฉพาะหากเป็นคำวิพากษ์วิจารณ์ที่ถูกต้อง


 :13: ส่วนเกินที่ปิดกั้นหรือพอกเคลือบสิ่งวิเศษในตัวเรา ได้แก่ ความเห็นแก่ตัว ละโมบ หยิบโหย่ง รักสบาย คับแคบ อิจฉาริษยา เป็นต้น เพียงแต่ลดละสิ่งเหล่านี้ออกไป สิ่งดีงามก็ปรากฏ และยิ่งเน้นขับให้สิ่งดีงามโดดเด่นขึ้นมา ส่วนเกินอันไม่น่าดูแม้จะยังหลงเหลืออยู่ แต่ก็จะถูกกลบบังจนแทบเลือนหายไป เราทุกคนแท้จริงก็มีหน้าที่ไม่ต่างจากช่างแกะสลัก คือ ดึงเอาสิ่งงดงามและวิเศษสุดออกมาจากชีวิตที่ดูซ้ำซากจำเจ และจากจิตที่หม่นหมองวุ่นวาย


 :13: คนเราไม่สามารถยอมรับความจริงในปัจจุบันได้ ก็เพราะเรามัวอาลัยกับ “อดีต” หรือกังวลกับ “อนาคต” มีแค่สองอย่างนี้เท่านั้น แต่ถ้าเราพาจิตกลับมาอยู่กับปัจจุบัน เห็นว่าอดีตผ่านไปแล้ว อย่าไปอาลัยถึงมัน ส่วนอนาคตก็ยังมาไม่ถึง อย่าเพิ่งไปกังวลกับมันมาก ป่วยการที่จะบ่นหรือตีโพยตีพาย ให้เรามาเริ่มต้นที่ปัจจุบัน เราก็จะยอมรับความจริงได้


 :13: เวลาเราเดินไปเตะก้อนหินหรือถูกหนามแทง อย่าไปโทษก้อนหินหรือหนาม เขาอยู่ของเขาอย่างนั้นมานานแล้ว เราต่างหากที่เดินไปเตะหรือแกว่งมือไปถูกเขาเอง ในทำนองเดียวกัน โลกก็เป็นอย่างนี้มานานแล้ว คือมีความแปรเปลี่ยนเป็นธรรมดา “ใจ” เราต่างหากที่ไปยึดอยากให้ทุกอย่างเป็นไปตามใจเรา ถ้ามันไม่เป็นไปตามใจเรา แล้วเราเกิดทุกข์ขึ้นมา ก็ต้องโทษ “ใจ” ของเราก่อนอื่นใดว่าเป็นสาเหตุแห่งทุกข์ อย่าเพิ่งไปโทษโลก ผู้คน หรือสิ่งต่างๆ ว่าเป็นตัวการ


(มีต่อ)
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานไตรสรณะสุจิปุลิ
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
 :13: เราก็อย่าเป็นคนเชื่อง่าย ใครบอกอะไรเชื่อไปหมด เราต้องหูหนักและปากเบา “หูหนัก” คือ อย่าไปเชื่อง่าย “ปากเบา” คือ ชอบถาม มีอะไรก็อย่าไปเชื่อก่อน ให้ถาม ถามว่ามันเป็นอย่างไร เราไม่ค่อยถามกัน ใครลืออะไรมาก็เชื่อเลย


 :13: มีวิธีหนึ่งที่เงินสามารถให้ความสุขอย่างรวดเร็วและยั่งยืน (อย่างน้อยก็นานกว่าการเที่ยวห้าง) นั่นคือ บริจาคเงินให้แก่คนจนหรือผู้ทุกข์ยาก รอยยิ้มของเขาสามารถทำให้คุณอิ่มเอิบไปได้นานทีเดียว


 :13: เราแก่ไปทุกวัน ใกล้ความตายไปทุกที รีบสร้างความดีไว้มากๆ


 :13: พ่อกับแม่ทำดีกับลูกนับหมื่นครั้ง ลูกอาจไม่ซาบซึ้งใจเพราะชินกับความดีของพ่อแม่ แต่พอพ่อแม่ทำไม่ดีกับเขาแค่ไม่กี่ครั้ง เขาจะจำได้ไม่ลืม


 :13: “จนปัญญา เพราะยึดมั่นถือมั่น” เคยสังเกตไหมว่าเวลาเพื่อนทำกระเป๋าเงินหาย เราสามารถสรรหาเหตุผลมาได้มากมายเพื่อช่วยให้เธอทำใจ (ยังดีที่ไม่เสียมากกว่านี้, ถือว่าใช้กรรมก็แล้วกัน, เงินทองเป็นของนอกกาย ฯลฯ) ในทำนองเดียวกันเวลาเพื่อนอกหัก ถูกแฟนทิ้ง เราก็รู้ว่าควรจะพูดอย่างไรเพื่อให้เธอปล่อยวาง

แต่เวลาเราประสบเหตุอย่างเดียวกัน กลับทำใจไม่ได้ เอาแต่เศร้าซึมจ่อมจมอยู่กับความสูญเสีย คำแนะนำดีๆ ที่ให้กับเพื่อนกลับเอามาใช้กับตัวเองไม่ได้ บ่อยครั้งก็นึกไม่ออกด้วยซ้ำว่าควรจะทำใจอย่างไร ใช่หรือไม่ว่าสาเหตุที่เราสามารถแนะนำเพื่อนได้อย่างฉาดฉาน ก็เพราะเงินของเพื่อน ไม่ใช่เงินของฉัน แฟนของเพื่อน ไม่ใช่แฟนของฉัน เราจึงไม่รู้สึกทุกข์ร้อนเท่าใดนัก ปัญญาจึงทำงานได้เต็มที่ แต่เมื่อใดที่เหตุร้ายเกิดกับเงินของฉัน หรือกับแฟนของฉัน อารมณ์จะท่วมท้นใจจนนึกอะไรไม่ออก


 :13: ความเชื่อว่าคนเราเกิดมาเพื่อใช้กรรม มักทำให้ผู้คนยอมจำนนต่อทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับตน โดยถือเสียว่าเป็นวิบาก แต่การคิดเช่นนี้ทำให้เราเป็นฝ่ายถูกกระทำโดยวิบากฝ่ายเดียว ทั้งๆ ที่เราสามารถใช้วิบากนั้นให้เกิดประโยชน์ เช่น เมื่อล้มป่วย เราสามารถใช้ความเจ็บป่วยสอนใจให้เห็นถึงความไม่เที่ยงของชีวิต รวมทั้งเตือนใจไม่ให้ประมาทกับชีวิต เร่งทำความดี


 :13: คนเราไม่ได้เกิดมาเพื่อใช้กรรมอย่างเดียว แต่ยังสามารถสร้างกรรมใหม่ได้ด้วย ความผิดพลาดในอดีตนั้นเราแก้ไขไม่ได้แล้ว แต่เราสามารถสร้างกรรมดีขึ้นมาเพื่อชดเชยหรือทดแทนได้ เราสามารถใช้วิบากกรรมหรือเคราะห์กรรมให้เป็นประโยชน์ได้ เช่น ทำให้เราไม่ประมาทและรู้จักปรับปรุงพัฒนาตนเอง เพื่อให้ชีวิตเจริญงอกงาม


 :13: อย่าเอาความสุขไปผูกติดกับทรัพย์สมบัติ เหตุการณ์บ้านเมือง หรือกระแสเศรษฐกิจ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่มีความแน่นอน ผันผวนปรวนแปรตลอดเวลา ขอให้ระลึกว่าสุขแท้อยู่ที่ใจ ถ้าวางใจเป็น รู้จักปล่อยวาง รู้จักพอ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นรอบตัวก็มีความสุขได้


 :13: เมื่อมือถูกไฟลวก มือจะชักออก นี่คือความฉลาดของ “กาย” แต่เมื่อโกรธ “ใจ” จะกอดความโกรธเอาไว้ ใครด่าเรา เราจะจำได้และนึกถึงเขาบ่อยๆ ยิ่งคิดก็ยิ่งทุกข์ มองในแง่นี้จะเห็นว่าใจโง่กว่ากาย ชอบหาทุกข์ใส่ตัว


 :13: คนเราโกรธก็ไม่รู้ตัวว่ากำลังโกรธ เศร้าก็ไม่รู้ตัวว่ากำลังเศร้า ก็เลยจมอยู่ในความทุกข์เป็นวันเป็นเดือน นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องมาฝึกสติกัน เพราะคนเราทุกข์แล้วยังไม่รู้ตัว เรียกว่าทุกข์แล้วลืมตัว คนที่รวยแล้วลืมตัวนั้นมีไม่มาก เพราะมีน้อยคนที่จะร่ำรวย แต่แทบทั้งหมดทุกข์แล้วลืมตัวทั้งนั้น


 :13: สาเหตุที่สิ่งง่ายๆ กลับเกิดขึ้นได้ยาก ก็เพราะเราถูกฝึกมาให้คิดและทำอย่างซับซ้อน จนสิ่งง่ายๆ กลายเป็นเรื่องยากขึ้นมา ระหว่างการ “ทำ” กับ “ไม่ทำ” ใครๆ ก็รู้ว่าการไม่ทำนั้นง่ายกว่า แต่ในชีวิตจริงผู้คนส่วนใหญ่กลับไม่อาจอยู่นิ่งๆ หรืออยู่เฉยๆ ได้ (แม้ไม่ต้องทำมาหากินเลยก็ตาม) ต่างดิ้นรนทำอะไรต่ออะไรมากมาย ทั้งๆ ที่ทำแล้วก็ใช่ว่าจะมีความสุข กลับกลายเป็นการหาเรื่องใส่ตัวด้วยซ้ำ เพราะเหตุนี้ผู้คนจึงกลัวการนั่งสมาธิเป็นอย่างยิ่ง ทั้งๆ ที่ไม่ต้องทำอะไรเพียงแต่นั่งนิ่งๆ และดูลมหายใจเฉยๆ เท่านั้น แม้แต่คนที่พาตนมานั่งสมาธิได้แล้วก็ตาม ก็ยังมีปัญหาอีกเพราะพยายามเข้าไป “จัดการ” กับความคิดปรุงแต่งไม่หยุดหย่อน แทนที่จะ “ดู” มันเฉยๆ ทั้งๆ ที่การดูเฉยๆ โดยไม่ต้องทำอะไรกับมันนั้นเป็นเรื่องง่ายแสนง่าย แต่คนส่วนใหญ่ทำไม่ได้และไม่ยอมทำเพราะถูกฝึกมาให้ทำอะไรต่ออะไรมากมายจนอยู่เฉยๆ หรือทำใจเฉยๆ ไม่ได้


 :13: คุณจะใช้เวลา ๑๐ ปีในที่ทำงาน, ๒๐ ปีบนเตียงนอน, ๓ ปีบนโถส้วม, ๗ เดือนรถติด, ๒.๕ เดือนรอสาย (โทรศัพท์), ๑๒ ปีดูโทรทัศน์, ๑๙ วันเที่ยวมุดหารีโมทคอนโทรล และทั้งหมดทั้งปวงนี้...ทำให้คุณเหลือเวลาเพียง ๑/๕ ของชีวิตที่จะเอาไว้ใช้ แล้วคุณจะมัวรีรออะไรอยู่ - บางตอนจากคำนำ ในหนังสือ “ใช่เกลียดตะวัน มันแสบตา” โดย ผาด พาสิกรณ์


 :13: อนาคตนั้นเป็นสิ่งที่ยากแก่การทำนายได้ แม้แต่ผู้รู้ก็ทำนายผิดได้ ดังนั้น ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ขอให้ใช้สติปัญญาอย่างดีที่สุด เมื่อมั่นใจว่าเป็นสิ่งที่ดี ถูกต้อง ชอบธรรม ก็พึงทำด้วยความตั้งใจอย่างเต็มที่ อย่ากังวลกับผลข้างหน้า หรือหวั่นไหวไปกับการคาดคะเนในอนาคต ปล่อยให้ผลสำเร็จเป็นเรื่องของอนาคต หน้าที่ของเราคือทำปัจจุบันให้ดีที่สุด


 :13: น้ำเสียนั้นเราไม่จำเป็นต้องวิดดอก เพียงแค่ทดน้ำดีเข้าไปมากๆ มันก็จะไปไล่น้ำเสียเอง นิสัยไม่ดีก็เช่นกัน เพียงแต่เพิ่มกำลังให้จิตใจใฝ่ดีเท่านั้น มันก็จะไปกำจัดนิสัยไม่ดีเอง


 :13: ใจที่อ่อนโยนนุ่มนวลกับชีวิต ไม่คิดบังคับควบคุมทุกสิ่งที่เข้ามาในชีวิต นี้ต่างหากที่ทำให้ชีวิตใหม่บังเกิดขึ้นอย่างแท้จริง


 :13: ชีวิตของคนเราก็เช่นกัน มีคนจำนวนไม่น้อยที่ชีวิตเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นหลังจากประสบวิกฤต บางคนเป็นโรคหัวใจเจียนตาย ภัยร้ายได้บังคับให้เขาต้องหันมาทบทวนชีวิตของตน และพบว่าการหมกมุ่นอยู่กับตนเอง ตัดขาดจากผู้อื่น และจมอยู่กับความหดหู่เศร้าหมอง เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เขามีอาการดังกล่าว เขาจึงปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เข้าหาผู้คน ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อผู้อื่น และปล่อยวางความกังวลหม่นหมอง ไม่นานสุขภาพของเขาก็ดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น เขายอมรับว่าการเป็นโรคหัวใจเป็นสิ่งดีที่สุดอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นกับเขา


 :13: “ทางดับทุกข์” เส้นนี้แปลก เพราะเส้นทางส่วนใหญ่หรือว่าทั้งหมดนั้น มีไว้สำหรับเดินสำหรับวิ่ง ถ้าเดินช้าก็ขับรถไป แต่ว่า “ทางดับทุกข์” เส้นนี้ไม่ได้มีไว้ให้วิ่งแต่มีไว้ให้หยุด ไม่เหมือนกับเส้นทางทั่วไป เพราะมีไว้ให้หยุด ถ้าหยุดเป็น ถ้ารู้จักหยุด ก็ดับทุกข์ได้


 :13: “พุทธชยันตี” ปีนี้ครบรอบ ๒,๖๐๐ ปี ที่พระพุทธเจ้าทรงชนะกิเลสมารทั้งปวง โอกาสดีที่คนไทยจะเข้าใจความจริงอันยิ่งใหญ่ พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไรและนำมาใช้ได้อย่างไร ร่วมเฉลิมฉลองและดำเนินชีวิตตามรอยพระพุทธเจ้า


 :13: โลกนี้หาความจีรังยั่งยืนไม่ได้ แปรเปลี่ยนเป็นนิจ สิ่งที่เรายกย่องเชิดชูว่าดีวิเศษในวันนี้ สามารถกลายเป็นอื่นในวันหน้า นี้เป็นธรรมดาของสิ่งที่เรียกว่าสมมติ ใครที่ยึดติดถือมั่นกับสมมติ ปักใจเชื่อว่ามันต้องดีไปตลอด ย่อมเป็นทุกข์เมื่อเจอความเปลี่ยนแปลง


 :13: ในการสื่อธรรมะสู่ประชาชนนั้น สิ่งหนึ่งที่ต้องตระหนักก็คือ ธรรมะนั้นจะต้องสัมพันธ์กับชีวิตของเขา การเผยแผ่ธรรมตามใจนึกของผู้สอนนั้น ได้ผลน้อยกว่าการเอาปัญหาของฆราวาสเป็นตัวตั้ง ข้อที่ต้องตระหนักคือปัญหาของฆราวาสในปัจจุบันนั้นแตกต่างจากสมัยปู่ย่าตายายมาก แม้เรื่องอบายมุข เช่น การพนัน ยาเสพติด รวมทั้ง การละเมิดเบียดเบียนตามแนวศีล ๕ ยังเป็นปัญหามาถึงสมัยนี้ แต่ก็มีปัญหาใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย รวมทั้ง มีปัจจัยใหม่ๆ มาเกี่ยวข้องกับชีวิตมากขึ้น ทำให้ปัญหาเก่าๆ มีความซับซ้อนมากขึ้น


(มีต่อ)
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...