ผู้เขียน หัวข้อ: เซน...หิวก็กิน, ง่วงก็นอน (สุทธิชัย หยุ่น)  (อ่าน 972 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


ตอนที่ผมทำสารคดีเรื่อง "เซน...2010...สวนโมกข์ถึงหมู่บ้านพลัม" แล้ว ก็ทำให้สนใจศึกษาเรื่อง "เซน" ลงลึกมากขึ้นเพราะตระหนักดีว่าเรื่องปรัชญาและศาสนานั้นเรื่องตลอดชีวิตก็ไม่จบ

ยิ่งรู้ว่าเรียนยังไงก็ไม่จบ ยิ่งอยากเรียน เพราะท้าทายความเชื่อของผมที่ว่าอะไรที่เรียนจบได้ก็ไม่น่าเรียนเป็นปฐมแล้ว

นักคิดนักเขียนเรื่องเซนมีหลากหลาย ต้องติดตามค้นหาและอ่านให้มากจึงจะสนุก

ใช่ครับ ผมชอบเซนเพราะสนุก ไม่ใช่เพราะขลังหรือจะพาไปสวรรค์ได้

ผมอ่าน "นิกายเซน" ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช และตามอ่านปรมาจารย์ชาวญี่ปุ่นไดเซตซ์ ที. สุสุกิ (ภาษาอังกฤษเขียน Daisetz T. Suzuki) ที่เขียนเรื่องเซนมากมายหลายเล่ม...ตามอ่านที่ท่านพุทธทาสเขียนถึงเรื่องนี้ด้วยก็เกิดความสนใจ

จนวันหนึ่งไปขอไปอยู่วัดเซนที่ญี่ปุ่นสองสามวันเพื่อทำความเข้าใจกับวิถีชีวิตของคนที่เชื่อในเรื่องของเซนอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

เอาแค่ต้องตื่นตีสี่เพื่อมานั่งทำสมาธิกับพระเซนวัยรุ่นจำนวนหนึ่งที่ต้องถูพื้น,ทำกับข้าวและช่วยงานวัดด้วยมือไม้จริง ๆ ก็ทำให้ผมอยากรู้อยากเห็นมากขึ้น

ส่วนจะสามารถเข้าถึงความคิดความอ่านของ "เซน"จริง ๆหรือไม่ ผมถือเป็นเรื่องรอง แม้ไม่สามารถซึมซับลึกซึ้งเกินว่าผิวของมัน ผมก็นอนตายตาหลับได้

เอาไว้เรียนรู้ใหม่ชาติหน้าก็ไม่สาย



ผมว่าของผมอย่างนี้แหละ ท่านเจ้าสำนักแห่งเซนที่ไหนจะว่าอย่างไร ก็ไม่เป็นไร เพราะเซนเขาสอนให้ไม่ต้องสนใจเจ้าสำนึกนี่นา (ฮา)

อ. คึกฤทธิ์เขียนไว้ว่าสิ่งที่ลัทธิ "เซน" อ้างว่าสามารถกระทำได้ก็คือการเข้าถึงปัญญา ตรัสรู้โดยตรง โดยไม่ต้องใช้สื่อใด ๆ ....เป็นต้นว่าจิตหรือความรู้อันได้มาด้วยจิต

พระอาจารย์ในลัทธิเซนพูดเสมอว่า การชี้ให้คนดูพระจันทร์นั้น ผู้ชี้จำต้องใช้นิ้ว แต่นิ้วนั้นไม่ใช่พระจันทร์ ใครไปนึกว่านิ้วนั้นเป็นพระจันทร์คนนั้นก็โง่

ผมชอบเซนตรงที่ใช้คำว่า "โง่" ตรงไปตรงมา ส่วนจะเรียกนิ้วว่าพระจันทร์หรือไม่  ผมสงวนสิทธิ์ที่จะขอถกแถลงวันอื่น หากผมหายโง่ตามคำนิยามของท่านพระอาจารย์เซนมากกว่าสองคนขึ้นไป

ท่านอาจารย์พุทธทาสเขียนว่าคำว่า "เซน" ตรงกับคำบาลีว่า"ฌาน"

แต่ท่านบอกว่าผู้ที่ประพฤติลัทธินี้ไม่ยอมจำกัดความหมายของคำว่า "เซน" แต่เพียงว่า "ฌาน" ซึ่งหมายถึงสมาธิโดยตรง



ท่านพุทธทาสอ้างต่อถึง ส. โอกาตา ที่เคยเขียนคำจำกัดความไว้ว่า

"เซนมิได้เป็นเพียงลัทธิศาสนาล้วน ๆ หรือปรัชญาล้วน ๆ  แต่ได้เป็นอะไรบางอย่างที่ยิ่งไปกว่านั้น และมีของสองอย่างที่กล่าวมานั้นรวมอยู่ด้วยทั้งหมด คือมันเป็นตัวชีวิตนั่นเอง"

แปลว่าศาสนาก็ไม่ใช่ ปรัชญาก็ไม่เชิง เอาสองอย่างมาบวกกันก็ยังไม่หมด เพราะเซนคือตัวชีวิตเองเลย

งงไหมเล่า?

ดี, ผมชอบงง เพราะหากอ่านแล้วรู้เรื่องเลย มันก็จะง่ายไป ไม่ท้าทาย ไม่สนุก และคงจะไร้สาระด้วย

ผมจึงต้องตามหาความหมายของมันต่อไป

เซนนั้นไม่ประสงค์ให้มีสิ่งใดมากีดขวางระหว่างความจริงกับบุคคล ไม่สนใจว่าอะไรเป็นโลกียะ อะไรเป็นโลกุตตระ

ไม่สนใจด้วยซ้ำว่าอะไรเป็นกาย อะไรเป็นใจ หรืออะไรเป็นรูป และอะไรป็นนาม เพราะถือว่าทุกอย่างเป็นไม้ท่อนเดียวกันทั้งหมด อีกทั้งจะเป็นหัวหรือท้ายก็ไม่สำคัญ

ใครที่มัวมานั่งแยกแยะสิ่งเหล่านี้ คนที่เขา “อิน” กับเซนมาก ๆ จะบอกว่าคนนั้นนึกว่านิ้วคือพระจันทร์ให้แล้วไม่โง่ก็เชยเต็มที

อ. คึกฤทธิ์สรุปให้ฟังง่าย ๆ ว่าสำหรับชาวเซนแท้ ๆ แล้วจะเชื่อว่า...หิวก็กิน , ง่วงก็นอน
เท่านั้นแหละ, ไม่ได้ยุ่งยาก, สลับซับซ้อนอะไรเลยแม้แต่น้อย




เหมือนที่ท่านทิช นัท ฮันห์, เซนมาสเตอร์แห่งหมู่บ้านพลัมเคยเขียนไว้ว่า ตามหลักในพระสูตรที่ว่าด้วยเรื่องของ “สติ” นั้น ขณะล้างจานเราก็ควรจะล้างจานอย่างเดียว แปลว่าขณะล้างจาน เราต้องรู้ตัวทั่วพร้อมว่าเรากำลังล้างจาน

ดูเผิน ๆ ก็อาจจะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ออกจะดูโง่เขลาที่ให้ความสำคัญมากมายกับสิ่งธรรมดา ๆ
แต่อาจารย์ทิช นัท ฮันห์ใช้ความเป็นเซนตอบว่า นี่แหละ ตรงจุดเผงเลย

“ความเป็นจริงที่ว่า ครูกำลังยืนอยู่ตรงนั้น และล้างถ้วยชามเหล่านั้นอยู่ เป็นความจริงที่ถือว่าเป็นความอัศจรรย์ทีเดียว ครูเป็นตัวของตัวเองอย่างสมบูรณ์ ตามลมหายใจตลอดเวลา รู้ตัวทั่วพร้อมถึงปัจจุบันกาลของตนเอง รู้พร้อมทั้งมโนกรรมและวจีกรรมต่างๆ ...ไม่มีทางที่จะทำให้ใจของครูลอยแกว่งไปแกว่งมาเหมือนขวดแกว่งบนยอดคลื่น ความสำนึกของครูไม่มีอะไรจะมาทำให้หวั่นไหวได้ ดังฟองบนผิวคลื่นที่ซัดกระแทกกระทบกับหน้าผา...”

ไอ้ที่ว่าง่ายนั้นความจริงมันยาก...เพราะคนเรานั้นเวลาล้างจาน (ถ้าไม่ใช้เครื่องล้างจานแทน) มักจะคิดเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับจาน, ไปคิดเรื่องละครน้ำเน่าหรือเรื่องจะโทรฯหาใครดีทันทีที่ล้างจ้านเสร็จ
เซนบอกให้ทำอะไรก็ทำอย่างนั้นอย่างเดียว, ไม่ต้องคิดถึงเรื่องอื่น...ฟังดูง่าย, แต่ใครทำได้ต้องถือว่าเก่ง

ผมชอบเซนตรงนี้...ตรงบอกให้ทำเรื่องง่ายให้ง่าย, อย่าไปทำให้เรื่องง่ายมันยาก...ทั้ง ๆ ที่ความจริงมันยากที่จะทำเรื่องง่ายให้ง่าย

มหาเถระองค์แรกที่ก่อตั้งพุทธศาสนานิกายเซนมีนามว่า “โพธิธรรม” ประกาศไว้ว่าเซนเป็นสิ่งที่ป่าวประกาศแพร่หลาย อยู่นอกพระคัมภีร์ ไม่เกี่ยวข้องกับภาษา และตัวหนังสือ เป็นสิ่งที่ชี้ตรงไปยังตัวชีวิตมนุษย์ เฝ้ามองดูอยู่แต่ในสภาพธรรมดาของตัวเองและลุถึงพุทธภาวะ

ด้วยเหตุนี้ เซนจึงไม่ใส่ใจต่อข้อคิดที่ลี้ลับเช่นเรื่องพระเป็นเจ้าผู้สร้าง หรือปรมัตถธรรม และเรื่องที่เกี่ยวกับเทวดาหรือสวรรค์...

“เราต้องการเพียงแต่ให้ผู้ปฏิบัติเฝ้ามองเข้าไปยังภายในตัวของตัวเองเท่านั้น มองดู หน้าตา ดั้งเดิมตามที่เป็นจริงของตัวเองเท่านั้น และกระทำให้ตรงตามกฎแห่งธรรมดาได้กำหนดไว้แต่เพียงอย่างเดียว....”

คำว่า “หน้าตาดั้งเดิมของตัวเอง” ที่ไม่เสริมไม่แต่ง, ไม่ต้องสนใจว่าจะเหมือนหรือไม่เหมือนใคร...นี่แหละคือความเป็น “เซน” ที่แท้จริง

ผมยังถามหาความเป็น “เซน” ต่อครับ...ว่าง ๆ จะมาเล่าให้ฟังว่ามันเกี่ยวกับ “ชีวจิต” มากกว่าที่เราคาดคิดด้วยซ้ำไป

จาก http://www.oknation.net/blog/suthichai/2012/08/16/entry-1

https://www.facebook.com/ZenTheWayOfLife/?fref=nf

" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...