ผู้เขียน หัวข้อ: คำเตือนจาก “พระไพศาล” ถ้าไม่ปฏิรูปวงการสงฆ์ ระวังถึงจุดเสื่อม  (อ่าน 1130 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานไตรสรณะสุจิปุลิ
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


คำเตือนจาก “พระไพศาล” ถ้าไม่ปฏิรูปวงการสงฆ์ ระวังถึงจุดเสื่อม

สัมภาษณ์พระไพศาล วิสาโล
สำนักข่าวอิสรา เขียนโดย ทีมข่าวเฉพาะกิจ หมวด เวทีทัศน์
วันจันทร์ที่ 15 กรกฏาคม 2013
อ่านข่าวที่สำนักข่าวอิสรา

หลายคำถามต่อปัญหาในวงการสงฆ์ปัจจุบัน จากกรณีอื้อฉาว “หลวงปู่เณรคำ” แฝงตัวในผ้าเหลืองหาประโยชน์จากเงินบริจาค เมื่อยิ่งสาวก็ยิ่งเละ จนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมจับสึกและดำเนินคดีหลายกระทง

อีกหลายรูปที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ปรากฏเป็นข่าวต่อเนื่อง สร้างความเสื่อมศรัทธาไม่น้อย “พระไพศาล วิสาโล” เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ มองปัญหาของวงการผ้าเหลืองขณะนี้ และทางออกต่อวิกฤตที่เกิดขึ้น
 

มองปัญหาเณรคำอย่างไร

พฤติกรรมอย่างเณรคำเกิดขึ้นมาโดยตลอดกับวงการพระในเมืองไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แต่ที่น่าสนใจ คือทำไมกรณีอย่างเณรคำถึงปล่อยให้มีความผิดเกิดขึ้นเนิ่นนานอย่างนั้น อีกทั้งมีการแห่แหน เชิดชูสักการะอย่างมาก ทั้งที่ไม่ได้มีคุณวิเศษใดๆ ปรากฏให้เห็น แม้กระทั่งคำสอนก็ไม่ได้มีอะไรโดดเด่น นอกจากการพูดถึงคุณวิเศษของตน

อาตมาคิดว่า พฤติกรรมของเณรคำไม่ได้พิเศษอะไร แต่ที่เด่นดังมีผู้คนนับถือมากมายส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการใช้สื่อต่างๆ ไปในทางที่ปั่นคุณวิเศษ ไม่ต่างจากการปั่นหุ้น มีการปั่นบารมีหรือคุณวิเศษของเณรคำขึ้นมาให้กลายเป็นพระอรหันต์ เรื่องนี้อาจเป็นเพราะมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องเยอะมาก เลยทำให้คนอย่างเณรคำกลายเป็นพระอรหันต์ได้ภายในช่วงเวลาไม่กี่ปีทั้งที่อายุก็ยังน้อย และทั้งที่มีพฤติกรรมน่าเคลือบแคลงมากมาย แต่ก็มีการปิดงำ ไม่ให้คนล่วงรู้ หรือที่ล่วงรู้ก็ปล่อยเลยตามเลย

เรื่องนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของคณะสงฆ์ในเชิงโครงสร้าง แต่ก่อนเรามักจะมองว่า นี่เป็นปัญหาตัวบุคคล แต่ที่ผ่านมามีปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นเยอะมาก ถึงแม้ส่วนใหญ่จะไม่เด่นดังเท่าเณรคำ หรือไม่มีวิธีการที่อุกอาจอย่างเณรคำ ก็เลยไม่เป็นข่าวเท่าไร แต่เมื่อมันมีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันก็ฟ้องอยู่ในตัวว่า นี่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่เฉพาะของคณะสงฆ์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างคณะสงฆ์กับฆราวาส คือ ฆราวาสก็ปล่อยปละละเลย ให้มีพระอลัชชีเกิดขึ้นมากมาย

เห็นได้ชัดว่าบุคคลที่แวดล้อมได้ผลประโยชน์จากเณรคำ ทั้งๆ ที่รู้ว่า เณรคำมีพฤติกรรมอย่างไร แม้กระทั่งชาวบ้านหลายคนก็รู้ ถึงแม้จะไม่มีผลประโยชน์ เช่น พอผู้สื่อข่าวไปสัมภาษณ์เรื่องเณรคำ ชาวบ้านหลายคนก็บอกว่า รู้พฤติกรรมของเขามานานแล้ว แต่ไม่อยากพูดถึง แสดงว่า มีการปล่อยปละละเลย อาจเป็นเพราะกลัวอิทธิพลของเณรคำด้วย

ปัญหาเหล่านี้ ถ้าปล่อยไปเรื่อยๆ แม้จะจับเณรคำสึกได้ ก็จะมีปัญหาตามมาอีก เพราะคณะสงฆ์ไม่ตื่นตัวที่จะแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ขณะเดียวกันสื่อมวลชนก็อาจถูกใช้เพื่อสร้างกระแสให้เกิดมีพระอรหันต์หรือผู้วิเศษคนใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้คน

ตอนนี้ ศาสนากับบริโภคนิยมเกี่ยวข้องกันอย่างมาก หลายคนเข้าหาศาสนาเพราะหวังประโยชน์จากศาสนา ไม่ใช่ประโยชน์ในเชิงธรรมะ แต่เป็นประโยชน์ในเชิงวัตถุ เช่น อยากร่ำรวย อยากมีโชคลาภ บุคคลอย่างเณรคำก็รู้ดีว่า คนเข้ามาทำบุญเพราะอะไร ก็เลยสนองกิเลสคนเหล่านั้น ด้วยการให้คำมั่นสัญญา หรือสร้างความหวังให้คนเหล่านั้น มีการปลุกกระแสเพื่อสร้างบารมีให้คนแห่แหนเข้ามากราบไหว้และทำบุญกับตัวเองมากขึ้น เพราะอยากได้ผลประโยชน์ อยากร่ำรวย มีโชคลาภ อันที่จริงความต้องการแบบนี้เป็นธรรมดาของมนุษย์ เพียงแต่ปัจจุบันมีมากขึ้น เพราะว่า ระบบบริโภคนิยมเข้าไปมีอิทธิพลต่อผู้คนมาก อีกทั้งศาสนาก็ไปส่งเสริมกิเลสส่วนนี้ด้วย

ตอนนี้บุญกลายเป็นสินค้าชนิดหนึ่ง ทำให้เกิดตลาดบุญ ซึ่งเป็นตลาดที่มีเงินหมุนเวียนจำนวนมาก ไม่ต่างจาก ตลาดหุ้น หรือ ตลาดสินค้าชนิดอื่นๆ ที่มีทั้งการปั่นราคา มีการโฆษณาชวนเชื่อ มีการเก็งกำไร เป็นตลาดที่ถูกขับเคลื่อนด้วยความโลภ นี่เป็นปรากฏการณ์อย่างใหม่ในยุคนี้ที่แตกต่างจากสมัยก่อน

ความแตกต่างของ "ตลาดบุญ" สมัยนี้กับสมัยก่อน เป็นอย่างไร

สมัยก่อน ไม่มีตลาดบุญ บุญไม่ใช่สินค้าที่มาเสนอขายหรือโฆษณาอย่างเอิกเกริกให้คนซื้อ เพื่อหวังความร่ำรวย ความมั่งมี แต่เดี๋ยวนี้บุญกลายเป็นสินค้าชนิดหนึ่ง มีการโฆษณาว่า ถ้าคุณทำบุญกับฉัน คุณจะร่ำรวย วัดพระธรรมกายประสบความสำเร็จมากที่ทำให้บุญกลายเป็นสินค้า คือยิ่งบุญราคาแพงมากเท่าไร ก็เชื่อว่าจะมีอานิสงส์มากเท่านั้น เหมือนสินค้า จะเป็นของดีก็ต้องราคาแพง เช่น หลุยส์วิตตอง ราคาเป็นหมื่นเป็นแสน ใครซื้อก็ภูมิใจว่า ได้ของดีมีคุณภาพ ถ้าเป็นของราคาถูก ก็รู้สึกว่าไม่มีคุณภาพ

ทุกวันนี้บุญก็ถูกนำเสนอในลักษณะเดียวกัน รวมทั้งมีการใช้หลักการตลาดเพื่อกระตุ้นให้คนมาซื้อบุญมากมาย มีการออกบุญตัวใหม่ๆ และโฆษณาว่าบุญตัวนี้ดีอย่างนั้นอย่างนี้ ให้มาซื้อบุญตัวนี้ เรื่องแบบนี้สมัยก่อนไม่มี หรืออย่างน้อยก็ไม่มีถึงขนาดนี้

ลักษณะของพระอย่างเณรคำมีอีกเยอะไหมในวงการสงฆ์

มีมาตลอดโดยเฉพาะช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา มีพระมากมายที่ทำตัวเป็นผู้วิเศษและมีความร่ำรวยจากการเร่ขายบุญในลักษณะต่างๆ มีการสร้างบุญตัวใหม่ๆ หรือ gimmick ใหม่ขึ้นมา เช่น จตุคามรามเทพ พระพิฆเนศ พระราหู ชูชก นี่คือการเสนอสินค้าตัวใหม่ๆ เพื่อให้คนมาบริโภค เป็นการซื้อความหวังว่า ถ้าคุณทำบุญกับฉันแล้ว คุณจะรวย แคล้วคลาดจากอันตราย อันนี้คือ การตลาดในวงการศาสนาที่เห็นทั่วไป

ทุกวันนี้มีวิธีการต่างๆ มากมายในการโปรโมทบุญ แต่ก็หนีไม่พ้นการอ้างตัวเป็นผู้วิเศษหรือมีคุณวิเศษ เช่น เป็นพระอรหันต์ อันนี้เป็นช่องทางให้ร่ำรวยได้ง่าย สิ่งที่ตามมา ก็คืออิทธิพลในทางโลก เช่น มีเส้นสายกับ ตำรวจ ทหาร มีเส้นสายกับพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ ทำให้ได้รับการปกป้อง หรือได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์ แล้วก็สามารถใช้อิทธิพลเหล่านั้นขยายผลประโยชน์ของตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ หรือข่มขู่ผู้อื่น ใครฟ้องร้องหรือ ขัดผลประโยชน์ของเขา ก็จะถูกเล่นงานกลับ เราจะได้ยินข่าวทำนองนี้อยู่เรื่อย ๆ แต่ว่าเป็นข่าวแค่ 1-2 วันแล้วก็หายไป

แต่ส่วนใหญ่ไม่ดังเหมือนเณรคำ ซึ่งนอกจากจะมีสานุศิษย์เยอะ มีความร่ำรวยแล้ว ยังมีพฤติกรรมที่โจ่งแจ้งกว่า เช่น โชว์ความร่ำรวยของตนจนเกินเลย เช่น มีรถหรูราคาหลายสิบล้าน เดินทางด้วยเครื่องบินเจ็ทส่วนตัว แถมยังมีพฤติกรรมที่ล่อแหลมมาก อันนี้นับว่าโดดเด่นกว่าพระรูปอื่น แต่โดยเนื้อหาสาระแล้ว ก็ไม่ได้แตกต่างจากกรณีอื่นๆ ที่เคยเกิดขึ้นมา

กรณีเณรคำ ธรรมกายก็อีกแบบหนึ่ง ปัญหาที่มากขึ้น ซับซ้อนขึ้น กิเลสมากขึ้น สะท้อนอะไร

มันสะท้อนให้เห็นถึง ความผิดพลาด ความบกพร่องในวงการศาสนาและวงการสงฆ์ของไทย คือถ้าไม่มีความผิดพลาดมากขนาดนี้ คนอย่างเณรคำจะเกิดขึ้นได้ยาก อย่างน้อยเขาก็จะไม่ถลำตัวทำสิ่งผิดพลาดมากมายขนาดนี้ อาจจะถูกสกัดตั้งแต่ 6-7 ปีที่แล้วก็ได้

แต่เนื่องจากไม่มีใครสกัดหรือขัดขวางเขา ปล่อยให้สร้างเส้นสายทั้งในวงการสงฆ์ และวงการตำรวจ ทหาร ทำให้ เณรคำเกิดความเหิมเกริม ชะล่าใจ ทำสิ่งที่อุกอาจ เพราะไม่มีใครค้าน ไม่มีใครทักท้วงตักเตือน มีแต่คนไปอวยด้วย ก็เลยทำสิ่งที่อุกอาจมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่การฉ้อโกง แต่ถึงขั้นปาราชิก และผิดกฎหมายบ้านเมือง หลายเรื่องก็ไม่มีการปกปิดหรือเม้มเลย เช่น ภาพถ่ายต่างๆที่เป็นข่าว ก็ล้วนแต่เอามาจากเว็บไซต์ของเณรคำและลูกศิษย์ทั้งนั้น เขาไม่เห็นว่าเป็นสิ่งที่ผิดต่อสมณสารูปเลย เช่น ภาพเที่ยวห้าง หรือว่าทำท่าแอบแบ๊วตามสถานที่ต่างๆ ภาพเหล่านี้ไม่ใช่ภาพแอบถ่าย แต่เป็นลูกศิษย์ถ่ายแล้วเอาขึ้นเว็บไซต์ตัวเอง โดยที่ไม่รู้สึกสะดุ้ง สะเทือนว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แสดงว่าตัวเองมีเกราะป้องกัน หรือไม่ก็เพราะไม่รู้สึกนี่เป็นสิ่งผิด นั่นแปลว่า คงทำเป็นอาจิณ และมีคนเออออห่อหมกด้วย เลยทำเป็นประจำ

นี่ไม่ใช่ปัญหาของคณะสงฆ์ แต่เป็นปัญหาของชาวพุทธไทยด้วย

ความผิดพลาดของระบบเกิดจากอะไร สงฆ์ หรือ ฆราวาส

ถ้าพูดถึงปัญหาโครงสร้างของสงฆ์ไทยเวลานี้ มีสองเรื่องใหญ่ๆ คือ ปัญหาการปกครองคณะสงฆ์ และ ปัญหาการศึกษาคณะสงฆ์

ปัญหาการปกครองคณะสงฆ์ เช่น มีการรวมศูนย์เข้าสู่ส่วนกลางมาไว้ที่ มหาเถรสมาคม ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างคณะสงฆ์กับรัฐ ที่ใกล้ชิดเกินไป การไม่มีระบบกลั่นกรองและกล่อมเกลา ใครจะเข้ามาบวชก็บวชได้ อันนี้ที่จริงยังไม่เป็นปัญหามากเท่าไร ถ้าวัดมีการกล่อมเกลาที่ดี ก็ไม่เกิดปัญหามาก ข้อนี้โยงมาถึงปัญหาการศึกษาของคณะสงฆ์ที่อ่อนแอมาก พระไม่มีความรู้ในทางธรรม และไม่มีแรงจูงใจที่จะศึกษาธรรม ตอนนี้การศึกษาของคณะสงฆ์เรียกได้ว่าล้มเหลว ไม่ว่าระบบนักธรรมหรือบาลี การทุจริตในการสอบมีเยอะมาก เพราะพระเณรไม่มีแรงจูงใจที่จะเรียน คือไม่รู้ว่าจะเรียนไปทำไม ฉะนั้น ผลสอบจึงตกกันเยอะมาก นี่เป็นปัญหาที่มีมานานและไม่มีการพูดถึงกันเลย

ความรู้ในทางธรรมะก็ไม่ค่อยมี เนื่องจากใช้วิธีท่องจำเอา การที่จะมาประยุกต์ใช้กับตัวเอง หรือใช้สอนญาติโยมก็ไม่สามารถทำได้ นอกจากนั้นการศึกษาของสงฆ์ก็ไม่ให้ความสำคัญกับการฝึกจิตภาวนา ฝึกกรรมฐาน พระสมัยก่อน ไม่ว่าบวชระยะสั้นหรือระยะยาว ก็ต้องได้ฝึกจิตภาวนา อย่างน้อยก็มีการฝึกเรื่องวินัยและการใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ถ้ามีการฝึกจิตภาวนา จิตจะมีภูมิคุ้มกันต่อกามราคะหรือ สิ่งยั่วยุทางกามซึ่งปัจจุบันมีมาก เพราะยุคนี้เป็นยุคบริโภคนิยม สิ่งยั่วยวนแพร่เข้าไปถึงกุฎิ เพราะเดี๋ยวนี้พระมีโทรศัพท์มือถือ อินเตอร์เนต โทรทัศน์ ดีวีดี ดังนั้น ถ้าพระไม่ฝึกจิตภาวนา จิตใจก็จะถูกกามราคะครอบงำได้ง่าย แล้วอาจลืมตัวจนกระทั่งขาดจากความเป็นพระไป นี่เป็นประเด็นใหญ่ๆ สองประเด็นที่เกี่ยวกับปัญหาคณะสงฆ์ คือโครงสร้างการปกครองที่รวมศูนย์และอิงรัฐมาก อีกทั้งย่อหย่อนในเรื่องการศึกษา ทำให้คณะสงฆ์อ่อนแอมาก

ทีนี้ยังมีปัญหาอีกอย่างคือ ความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์กับฆราวาสที่เหินห่างกัน สมัยก่อน พระมีความสัมพันธ์กับรัฐ และกับชุมชนพอดีกัน คือใกล้ชิดกับชุมชนแต่เหินห่างจากรัฐ แต่ตอนหลังโดยเฉพาะนับแต่รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา คณะสงฆ์ใกล้ชิดกับรัฐมาก แต่เหินห่างกับสังคมและประชาชน ฉะนั้น การตรวจสอบ ควบคุม โดยประชาชน จึงมีน้อยลง พระไม่ค่อยตระหนักว่าตนเป็นพระของชาวบ้าน แต่เป็นพระของระบบราชการที่เรียกว่าราชการคณะสงฆ์ หรือเป็นพระของรัฐ พระกลายเป็นข้าราชการกลายๆ เพราะว่าถูกครอบด้วยระบบราชการ คราวนี้เมื่อพระถูกครอบด้วยระบบราชการ ก็จะไม่รู้สึกว่า ตัวเองเป็นพระของชาวบ้าน สนใจแต่การตอบสนองคำสั่งของมหาเถรสมาคมหรือนโยบายของรัฐ มากกว่าสนใจความเป็นไปของชุมชนรอบวัด

ตอนหลังพระก็สนใจเรื่องการวิ่งเต้นต่อเส้นสายกับผู้ปกครองคณะสงฆ์เพื่อการเลื่อนสมณศักดิ์ และไม่ค่อยสนใจปัญหาชาวบ้าน ยิ่งรูปไหนมีเส้นสายที่ดี ได้รับการปกป้องจากเจ้าคณะ ก็สามารถทำอะไรก็ได้ โดยที่ชาวบ้านทำอะไรไม่ได้หรือไม่กล้าแตะต้อง เปิดช่องให้พระที่ทำตัวผิดวินัย หรือไม่คำนึงถึง โลกวัชชะ มีเพิ่มขึ้น

พระหลายรูปมีความร่ำรวยมากขึ้น หรือมีความสัมพันธ์ที่ไม่ถูกต้องกับญาติโยม แม้มีเมีย มีลูกก็ยังลอยนวลอยู่ได้ เพราะชาวบ้านไม่สนใจ หรือถ้าชาวบ้านสนใจ ก็ไม่สามารถทำอะไรกับพระเหล่านั้นได้ ไม่เหมือนสมัยก่อน ชาวบ้านจะรวมตัวกันขับไล่และจับสึกเลย

เราควรปฏิรูปอย่างไร เพื่อแก้ปัญหาการรวมศูนย์ที่ของมหาเถรสมาคม

การกระจายอำนาจออกจากมหาเถรสมาคม เป็นเรื่องเร่งด่วน โดยต้องกระจายให้พระสงฆ์ในพื้นที่ดูแลกิจการคณะสงฆ์ของเขาเอง คือตอนนี้การปกครองของคณะสงฆ์ใช้วิธีการเดียวกับการปกครอง ในสมัย ร.5 คือ รวมศูนย์แบบมณฑลเทศาภิบาล กล่าวคือ ส่งข้าหลวงจากกรุงเทพฯ ไปปกครองตามมณฑลต่างๆ ซึ่งปัจจุบันก็เปลี่ยนเป็นการส่งผู้ว่าราชการจังหวัดจากส่วนกลางไป แต่ของคณะสงฆ์ยังล้าหลังกว่านั้น คือแทบจะไม่ต่างจากสมัยรัชกาลที่ 5 คือเจ้าคณะภาคอยู่ในกรุงเทพ ฯ มีอำนาจเหนือเจ้าคณะจังหวัด

ความจริงควรมีการกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น รวมทั้งมีการจัดตั้งสภาสงฆ์ระดับประเทศ ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับตำบล ทำงานร่วมกับเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล ซึ่งก็ควรมีการทำงานในรูปกรรมการมากกว่าที่ทำแบบรวมศูนย์ที่ตัวบุคคล

ขณะเดียวกันควรให้ฆราวาสเข้ามามีส่วนร่วมดูแลความเป็นไปของคณะสงฆ์ในทุกระดับ เช่น มีสภาชาวพุทธในระดับประเทศ ระดับจังหวัด และระดับอำเภอ ไปจนถึงระดับตำบล เพื่อดูแลเอาใจใส่เรื่องต่างๆ ของพระ เช่น การประพฤติปฏิบัติของพระ การศึกษา ความเป็นอยู่ วิธีนี้จะช่วยให้ท้องถิ่นตื่นตัวเรื่องการความเป็นไปของคณะสงฆ์ ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นเรื่องของรัฐหรือสำนักพุทธศาสนาแห่งชาติเท่านั้น

จำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีการกระจายอำนาจจากมหาเถรสมาคมออกไป ไม่ใช่มารวมศูนย์อยู่ที่พระ 20-30 รูป ซึ่งแต่ละรูปก็อายุ 70 ปีขึ้นไป ท่านเหล่านี้แทบไม่มีกำลัง ทำอะไรแล้ว นอกจากไปแสดงธรรม หรือเปิดป้าย

ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามทำให้คณะสงฆ์อิงรัฐน้อยลง โดยเฉพาะในช่วงร้อยปีมานี้ คณะสงฆ์อิงรัฐมาก อันนี้เป็นผลจากการที่รัชกาลที่ 5 ปฏิรูปการปกครองคณะสงฆ์ เป็นการรวมศูนย์มาอยู่ที่พระองค์ ในบางช่วง รัชกาลที่ 5 มีบทบาทเหมือนสังฆราชอยู่ถึง 11 ปี โดยมีมหาเถรสมาคมเป็นที่ปรึกษาเท่านั้น ที่ทำเช่นนี้ก็เพื่อให้เกิดเอกภาพในคณะสงฆ์ แต่ทุกวันนี้โครงสร้างแบบนี้ไม่สามารถทำให้เกิดเอกภาพได้แล้ว

การรวมศูนย์นั้นละเลยการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น ทั้งพระและชาวบ้าน อีกทั้งทำให้คณะสงฆ์เหินห่างหรือตัดขาดจากชุมชน เพราะไปอิงกับรัฐมาก ก็เลยไม่คิดที่จะพึ่งตนเอง เมื่อมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นก็รอแต่ว่า เมื่อไหร่รัฐจะยื่นมือมาแก้ไข นอกจากนั้นคณะสงฆ์ก็ยังพึ่งพางบประมาณจากรัฐ และพึ่งพาอำนาจรัฐในการจัดการกับพระที่ผิดวินัย ทั้งที่ๆ เป็นเรื่องที่พระควรจัดการกันเอง แต่คณะสงฆ์กลับเรียกหาอำนาจจากรัฐเข้ามาจัดการเรื่องภายในของคณะสงฆ์ สมัยก่อนมีอะไรเกิดขึ้นกับพระ คนก็นึกถึงอธิบดีกรมศาสนา ตอนนี้ก็เรียกร้องให้สำนักพุทธศาสนามาจัดการกับเณรคำ ทั้งที่เรื่องแบบนี้พระต้องเป็นผู้ริเริ่มจัดการแก้ไข ไม่ใช่ปล่อยให้ ตำรวจหรือฝ่ายบ้านเมืองเข้ามาจัดการ

ใครต้องเป็นผู้ปฏิรูป

สมัยก่อน ผู้ปฏิรูปที่สำคัญ คือพระมหากษัติรย์ นั่นเป็นสมัยราชาธิปไตยหรือยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ยุคปัจจุบันหน้าที่นี้ควรเป็นของรัฐบาล แต่เราก็หวังไม่ได้ และที่จริงก็ไม่ควรเป็นเช่นนั้นด้วย เพราะรัฐบาลก็อาจทำเพื่อผลทางการเมืองของตนมากกว่าเพื่อประโยชน์ของพระศาสนา ดังนั้นการปฏิรูปควรมาจากคณะสงฆ์

แต่คณะสงฆ์ในเมืองไทยมีประวัติการปฏิรูปตัวเองน้อยมาก ยกเว้นสมัย สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งเป็นโอรสรัชกาลที่ 4 และเป็นอนุชารัชกาลที่ 5 ในอดีตที่ผ่านมา เรามีแต่การปฏิรูปคณะสงฆ์จากชายขอบ คือจากพระที่ไม่อยู่ในศูนย์กลางอำนาจ ถ้าเป็นสมัยนี้ ก็ได้แก่ท่านอาจารย์พุทธทาส รวมไปถึงสันติอโศก แต่ตอนนี้การปฏิรูปจากชายขอบดูจะเกิดขึ้นได้ยาก ภาระจึงมาอยู่ที่สังคมหรือประชาชน เราก็ได้แต่หวังว่าประชาชนจะตื่นตัวและผลักดันให้มีการปฏิรูป แต่ประชาชนก็มีความเข้าใจในปัญหาคณะสงฆ์น้อย ตกลงตอนนี้จึงอยู่ในสภาพที่ยังหาเจ้าภาพไม่ได้

เจ้าภาพจริงๆ คือคณะสงฆ์ แต่คณะสงฆ์อ่อนแอ อีกทั้งผู้นำก็ยังได้รับประโยชน์จากโครงสร้างที่เป็นอยู่แล้วเขาจะปฏิรูปทำไม ยังไม่ต้องพูดถึงความขัดแย้งในวงการสงฆ์เองเมื่อ 10 ปีที่แล้ว มีความพยายามปฏิรูปมหาเถรสมาคมแต่ก็ถูกต่อต้านจากพระสงฆ์ด้วยกัน จนกระทั่งรัฐบาลต้องเอาแผนปฏิรูป หรือ ร่าง พรบ.สงฆ์ฉบับแก้ไข เก็บใส่ลิ้นชักไป

ถ้าปฏิรูปไม่ได้จะเกิดอะไร

ก็จะเกิดระส่ำระสาย จนกลายเป็นภาวะอนาธิปไตยในวงการสงฆ์มากขึ้น เช่น มีพระที่ทำตัวผิดธรรมวินัยมากขึ้น หรือมีเจ้าลัทธิต่างๆ เกิดขึ้น ขณะเดียวกันด้านดีก็มีอยู่ คือพระที่ต้องการปฏิรูป ก็สามารถทำงานได้มากขึ้น หรืออาจแยกเป็นเอกเทศอย่างกลายๆ เพื่อทำในสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งสันติอโศกก็พยายามทำ ตอนหลังก็มีภิกษุณีเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทำให้เกิดความหลากหลายในเรื่องการนับถือศาสนา

ตอนนี้ก็มีคนเรียกร้องให้ยกเลิก พรบ.สงฆ์ ฉบับปัจจุบัน ก็เป็นประเด็นที่น่าถกเถียงกันว่า ถ้ายกเลิก พรบ.สงฆ์ ซึ่งหมายความว่า รัฐจะหมดบทบาทในการเป็นผู้คุ้มครองคณะสงฆ์ ซึ่งหมายความว่าคณะสงฆ์ก็ต้องพึ่งตัวเองแล้ว หรือหันมาพึ่งพิงประชาชนมากขึ้น เงื่อนไขแบบนี้ผลักดันให้คณะสงฆ์ต้องปฏิรูปตัวเอง ไม่เช่นนั้นก็จะขาดการสนับสนุนจากประชาชน ขณะเดียวกันก็จะมีองค์กรสงฆ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นเพื่อดึงดูด ศรัทธาญาติโยม พูดง่ายๆ คือมีคู่แข่งมากขึ้น เพราะถ้าเลิก พรบ.สงฆ์ฉบับปัจจุบัน ก็หมายความว่าความเป็นคณะสงฆ์ไทยที่ถูกผูกขาดโดยองค์กรสงฆ์ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ก็จะหมดไป อันนี้ก็มีทั้งข้อดีข้อเสีย

นี่เป็นประเด็นที่ต้องมาถกเถียงกันว่า การเปิดเสรีทางศาสนา จะมีผลดีผลเสียอย่างไร ผลดีก็มีไม่น้อย เหมือนกับช่วงสิบปีที่แล้ว ที่รัฐบาลเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ทำไมถึงทำเช่นนั้น ก็มีเหตุผลว่า ถ้ารัฐวิสาหกิจยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐ เช่น มีอำนาจผูกขาดก็จะทำให้ รัฐวิสาหกิจขาดทุนไม่หยุดหย่อน เพราะไม่ยอมเติบโตเสียที เนื่องจากไม่ต้องแข่งกับใคร ดังนั้นจึงมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อไปแข่งขันกับธุรกิจอื่นๆ ในตลาดเสรี อันนี้ ก็เป็นวิธีที่ทำให้ธุรกิจหรือกิจการที่เคยเป็นรัฐวิสาหกิจเหล่านั้นต้องหันมาปฏิรูปตัวเอง เรื่องนี้ก็มีข้อดีข้อเสียอย่างที่เห็นอยู่ น่าคิดว่าถ้าเอาแนวคิดนี้มาใช้กับวงการสงฆ์ จะช่วยให้คณะสงฆ์มีการปฏิรูปมากน้อยเพียงใด

แน่นอนว่าการเปิดเสรีแบบนี้ก็จะทำให้มีองค์กรใหม่ๆ เกิดขึ้น จนอาจมามีบทบาทแทนคณะสงฆ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็ได้ อย่างไรก็ตามเปิดเสรีทางศาสนาที่ว่า ไม่ใช่หมายถึงการเปิดแบบไม่มีกฎเกณฑ์ ควรมีกฎหมายที่มาดูแลให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย รวมทั้งส่งเสริมให้พระสงฆ์ปกครองกันเองด้วย โดยไม่ต้องพึ่งรัฐ

องค์กรใหม่ๆ ที่จะมามีบทบาทแทนคณะสงฆ์ที่เป็นอยู่นั้น มีทั้งข้อดีข้อเสีย เช่น ถ้าเปิดเสรีทางศาสนา เครือข่ายวัดพระธรรมกายก็จะโดดเด่นขึ้นมาเลยเพราะทุกวันนี้ธรรมกายเป็นองค์กรในคณะสงฆ์ที่เข้มแข็งมาก จัดการอย่างเป็นระบบ มีพระในสังกัดมากมาย มีทั้งเงินและญาติโยมที่อุปถัมภ์อย่างแน่นหนามั่นคง ซึ่งถ้าคณะสงฆ์พังครืนเมื่อไร ธรรมกายก็จะเข้ามาแทนที่ อันนี้เป็นแนวโน้มที่น่าห่วง เพราะการสอนของธรรมกายในพุทธศาสนานั้นผิดเพี้ยนไปจากหลักธรรมอยู่มาก

คำถามดังๆ ต่อวงการสงฆ์ขณะนี้คืออะไร

จะต้องมีการปฏิรูปอย่างจริงจังได้แล้ว การที่มีปัญหาพระสงฆ์เกิดขึ้นวันแล้ววันเล่า ปีแล้วปีเล่า มันฟ้องให้เห็นว่า คณะสงฆ์อ่อนแอเต็มที่ และเป็นการอ่อนแอที่เกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่เรื่องตัวบุคคล

ถ้าไม่ปฏิรูปโครงสร้าง ทั้งเรื่องการปกครอง และการศึกษา คณะสงฆ์ก็จะมีความหมายน้อยลงต่อสังคมไทย สุดท้ายก็ทำให้เกิดความเสื่อมศรัทธาในพระพุทธศาสนา เปิดช่องให้เกิดภาวะอนาธิปไตยในวงการศาสนา คือจะมีกลุ่มสงฆ์ กลุ่มนักบวชต่างๆ เกิดขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งที่ดีและไม่ดี และนี่จะทำให้ความสับสน และความเสื่อมศรัทธาในพระพุทธศาสนามากขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายโครงสร้างอย่างนี้ก็จะกลายเป็นตัวทำลายศาสนาพุทธเสียเอง ดังนั้นจะไปโทษ มุสลิม หรือคริสต์ ว่า บ่อนทำลายศาสนาพุทธไม่ได้ เพราะเป็นชาวพุทธด้วยกันเองที่ไม่ใส่ใจในการปฏิรูปเพื่อทำให้คณะสงฆ์เป็นเสาหลักด้านศาสนาได้

ปัญหาความเสื่อมของศาสนานั้นมันเกิดจากปัจจัยภายในทั้งสิ้น ปัจจัยภายนอกเป็นแค่ปัจจัยรอง กรุงศรีอยุธยาแตก เพราะแตกสามัคคี จากความปั่นป่วนข้างใน ไม่ใช่พม่ามีอานุภาพมากกว่า เมื่อดูความเสื่อมสลายของศาสนา อาณาจักร ในหลายประเทศก็เกิดจากปัจจัยภายในทั้งสิ้น ความเละเทะข้างใน ฉะนั้น ถ้าเราไม่ตระหนักตรงนี้ไม่รีบปฏิรูปเพื่อให้ปัจจัยภายในเข้มแข็ง มิเช่นนั้นก็จะเสื่อมสลายในที่สุด

จาก http://visalo.org/columnInterview/5607isaranews.html
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...