วัดราชนัดดารามฯ พ.ศ.๒๔๖๓ และ ๒๕๑๑ ตามลำดับ Image Source : Kanno Rikio, Japan
จากเพจ https://www.facebook.com/77PPP
ความเจ็บปวดที่ชุมชนป้อมมหากาฬ "เมืองประวัติศาสตร์ต้องมีชุมชน"บทความโดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
เรียบเรียงเมื่อ 16 เม.ย. 2559, 20:19 น.
เข้าชมแล้ว 180 ครั้ง
หลังจากเงี่ยหูฟังมาโดยตลอดของยุคสมัยที่มีกฎหมายสูงสุดกลายเป็นมาตรา ๔๔ และรัฐธรรมนูญทั้งฉบับกำลังถูกร่างแล้วร่างเล่าและยังไม่เห็นภาพของกฎหมายสูงสุดของประเทศที่จะทำให้ชีวิตวัฒนธรรมของชาวไทยดำเนินไปอย่างสันติสุขเสียที
หลังจากกรุงเทพมหานครเริ่มไล่รื้อย่านตลาดเก่าและตลาดใหม่ ที่ทำมาหากินของชาวบ้านชาวเมืองไปแทบจะหมดเพื่อพัฒนาพื้นที่ตามเกณฑ์การจัดระเบียบพื้นที่ต่างๆ ก็มาถึงลำดับการไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ งานสำคัญที่ยังทำไม่เสร็จตลอดระยะเวลาเข้าปีที่ ๒๔ แล้ว
แม้ปัญหาจะยืดเยื้อเปลี่ยนแปลงผู้รับผิดชอบมามากมายจนแทบจะไม่รู้จุดเริ่มต้นหรือจุดสิ้นสุดของปัญหาการไล่รื้อชุมชนที่นับวันจะกลายเป็นนโยบายแสนจะล้าหลังไปแล้วว่า ควรมีกระบวนการแก้ปัญหาที่ใดหรือทำอย่างไรจะไม่ให้เกิดความเสียหายต่อทั้งกระบวนการพัฒนาพื้นที่ย่านเมืองเก่า การท่องเที่ยวเมืองประวัติศาสตร์ และทำลายภาพลักษณ์ของประเทศด้วยความรุนแรงในการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมมากไปกว่านี้
รู้จัก “ตรอกพระยาเพชรฯ” และความเป็นชุมชนย่านชานพระนครเมื่อผู้สื่อข่าวไปถามผู้อำนวยการท่านหนึ่งของกรุงเทพมหานครถึงเรื่องการไล่รื้อชุมชนที่อาจจะเสี่ยงต่อการสูญหายไปของชุมชนเก่าแก่ภายในย่านเก่าของกรุงเทพมหานคร ท่านให้คำตอบกลับมาว่า บริเวณชุมชนที่ใกล้กับป้อมมหากาฬนั้นไม่มีรากเหง้าหลงเหลืออีกแล้ว หากจะมีก็ต้องให้เห็นภาพประจักษ์ดังเช่น “บ้านสาย” ที่เคยถักสายรัดประคดแต่เลิกไปหลายปีแล้วเพราะไม่มีผู้ทำ แต่บริเวณนั้นเป็นพื้นที่ของเอกชนที่ลูกหลานได้รับพระราชทานที่ดินจากพระมหากษัตริย์ในการเป็นผู้บูรณะวัดเทพธิดารามฯ หรือต้องเห็นคนนั่งตีบาตรแบบ “บ้านบาตร” ย่านตีบาตรพระมาตั้งแต่เริ่มสร้างกรุงฯ และปัจจุบันยังมีผู้สืบทอดการตีบาตร คนบ้านบาตรต่อสู้กับโรงงานปั๊มบาตรราคาถูกด้วยตนเอง ไม่มีหน่วยงานใดไปช่วยเหลือ ทุกวันนี้ยังตีบาตรกันอยู่ ๓-๔ รายด้วยลมหายใจรวยริน และแน่นอนพื้นที่นั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งกรุงเทพมหานครไม่มีส่วนได้เสียหรือรับผิดชอบร่วมจัดการให้คนอยู่กับย่านเก่าแต่อย่างไร
ชุมชนป้อมมหากาฬ ถ่ายเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ช่างภาพ George Lane,
United States, จากเพจ https://www.facebook.com/77PPP
จะให้เข้าใจกันมากกว่านี้ ต้องขอส่งผ่านความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเมืองกรุงเทพมหานครในบริเวณที่เป็นเมืองกรุงเทพฯ แต่แรกเริ่มในพื้นที่ย่านประวัติศาสตร์ กรุงเทพมหานครเป็น “เมืองประวัติศาสตร์” แห่งหนึ่งที่ยังมีชีวิต [Living Historic City] ซึ่งแม้จะมีร่องรอยกลิ่นอายชุมชนย่านเก่าแก่ทั้งหลายอยู่ แต่ดูเหมือนจะไม่มีการศึกษาหรือกล่าวถึงเป็นชิ้นเป็นอันที่เป็นการศึกษาจากภายใน ชุมชนที่ยังมีชีวิตเหล่านี้ต่างเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยที่กรุงเทพฯ ได้เปลี่ยนแปลงมากว่า ๒๐๐ ปี จากเมืองตามขนบจารีตแบบเมืองโบราณในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั่วไป มาเป็นเมืองในแบบสมัยใหม่ตั้งแต่เมื่อราวรัชกาลที่ ๔ ลงมา และปรับเปลี่ยนไปมากเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ราชสำนักที่เคยอุปถัมภ์งานช่างงานฝีมือ การมหรสพต่างๆ ของผู้คนรอบพระนครก็เปลี่ยนแปลงไป จนต้องมีการผลิตและค้าขายด้วยตนเอง ซึ่งก็มักต้องพบกับทางตันและทำให้งานช่างฝีมือเหล่านี้ที่ไม่ได้รับการเอื้อเฟื้อจากราชสำนักขุนนาง คหบดีอีกต่อไปแล้วถึงแก่กาลจนแทบจะหายไปหมดสิ้น จากย่านสำคัญต่างๆ ในกรุงเทพฯ เหลือไว้แต่เพียงผู้สูงอายุที่เคยทันงานช่างต่างๆ และคำบอกเล่าสืบต่อกันมา
นอกกำแพงเมืองส่วนที่ต่อกับคูคลองเมืองนั้นเรียกว่า “ชานพระนคร” เป็นพื้นที่ซึ่งเคยนิยมอยู่อาศัยเป็นธรรมเนียมปกติสืบทอดกันมาตามขนบชุมชนแบบโบราณตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาต่อกับกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะเป็นเมืองริมน้ำและเมืองลอยน้ำที่มีการคมนาคมและซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าโดยใช้เรือเป็นพาหนะ ผู้คนจึงนิยมอาศัยทั้งบนเรือ ในแพ และบ้านริมน้ำมากกว่าบริเวณพื้นที่ภายในที่ต้องใช้การเดินบนบก
ชุมชนป้อมมหากาฬ พ.ศ. ๒๕๑๕ ช่างภาพ Nick DeWolf, Image Source:
Steve Lundeen, Nick DeWolf Photo Archive, United States,
จากเพจ https://www.facebook.com/77PPP
บริเวณ “ชานพระนคร” ด้านหน้ากำแพงเมืองใกล้ป้อมมหากาฬมาจนจรดริมคลองหลอดวัดราชนัดดาเป็นที่อยู่อาศัยของข้าราชการและชาวบ้านมาหลายยุคสมัยมีการปลูกสร้างอาคารเป็นแนวยาวตลอดตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าลีลาศจรดแนวคูคลองวัดเทพธิดารามในปัจจุบัน ในยุคตั้งแต่ราวครั้งรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา บริเวณนี้
ผู้คนเรียกกันว่า “ตรอกพระยาเพชรฯ” “ตรอกพระยาเพชรฯ” เคยเป็นนิวาสสถานของพระยาเพชรปาณี (ตรี) ข้าราชการกระทรวงวังและเป็นชาวปี่พาทย์โขนละครเป็นแหล่งกำเนิดลิเกทรงเครื่อง สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเขียนถึงสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ใน “สาส์นสมเด็จ” ถึงต้นกำเนิดของลิเกว่า อาจจะเป็นพระยาเพชรปาณี (ตรี) คิดตั้งโรงลิเกเก็บค่าดูและเล่นเป็น “วิก” ตามแบบละครเจ้าพระยามหินทรที่มีวิกละครอยู่ที่ท่าเตียน และเล่นเป็นเรื่องต่างๆ เหมือนอย่างละครไม่เล่นเป็นชุด โดยเอาดิเกร์แบบชาวมลายูผสมกับละครนอกของชาวบ้านเริ่มเมื่อราว พ.ศ. ๒๔๔๐
ลิเกของพระยาเพชรปาณีเป็นลิเกแบบทรงเครื่องคือส่วนที่เป็นสวดแขกกลายเป็นการออกแขก มีผู้แสดงแต่งกายเลียนแบบชาวมลายูออกมาร้องเพลงอำนวยพร ส่วนที่เป็นชุดออกภาษากลายเป็นละครเต็มรูปแบบ วงรำมะนายังคงใช้บรรเลงตอนออกแขก แต่ใช้ปี่พาทย์บรรเลงในช่วงละคร เดินเรื่องฉับไว เครื่องแต่งกายหรูหราเลียนแบบข้าราชสำนักในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ และเอาใจความชอบแบบชาวบ้าน
เพลงรานิเกลิงหรือเพลงลิเกคิดขึ้นโดย นายดอกดิน เสือสง่าในยุคลิเกทรงเครื่องช่วงรัชกาลที่ ๖ แพร่หลายไปทั่วภาคกลางอย่างรวดเร็ว มีวิกลิเกเกิดขึ้นทั้งในพระนครและต่างจังหวัดนำเนื้อเรื่องและขนบธรรมเนียมของละครรำมาใช้ แต่เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีความขาดแคลนไปทั่ว ลิเกทรงเครื่องก็หมดไป วงรำมะนาที่ใช้กับการออกแขกก็เปลี่ยนไปใช้วงปี่พาทย์แทน ต่อมานายหอมหวลนาคศิริ ได้นำเพลงรานิเกลิงไปร้องด้นกลอนสดดัดแปลงแบบลำตัด ทำให้เป็นที่นิยมจนมีชื่อเสียงและมีลูกศิษย์มากมาย วิกลิเกที่โด่งดังมาตลอดยุคสมัยของความนิยมในมหรสพชนิดนี้คือ “วิกเมรุปูน” ซึ่งอยู่ทางฝั่งวัดสระเกศฯ และไม่ไกลจากวิกลิเกดั้งเดิมของพระยาเพชรปาณี ที่ใกล้ป้อมมหากาฬ
ตัวอย่างร่องรอยของผู้คนที่เกี่ยวเนื่องในการแสดงมหรสพลิเกในย่านตรอกพระยาเพชรฯ คือสถานที่ผลิตเครื่องดนตรีไทย ตั้งเสียงระนาด และขุดกลองคุณภาพดีในช่วงรัชกาลที่ ๖ ที่ควรจดจำ คือ
นายอู๋และนางบุญส่ง ไม่เสื่อมสุข ที่เป็นผู้สร้างกลองเป็นพุทธบูชา ในหลายวัดและที่สำคัญคือ กลองที่ “ศาลเจ้าพ่อหอกลอง” กรมการรักษาดินแดน ข้างกระทรวงมหาดไทยบ้านของนายอู๋และนางบุญส่ง ไม่เสื่อมสุข สืบทอดมาจากบิดาอีกทอดหนึ่ง ท่านทั้งคู่เป็นตาและยายของคุณธวัชชัย วรมหาคุณ ผู้นำชุมชนป้อมมหากาฬ ผู้ซึ่งอายุห้าสิบกว่าปีแล้ว ดังนั้น บ้านหลังนี้จึงอยู่อาศัยสืบทอดตกกันมาไม่ต่ำกว่าในยุครัชกาลที่ ๕ หรือน่าจะใกล้ เคียง ซึ่งควรจะมีรากเหง้าอยู่อาศัยมาไม่ต่ำกว่าร้อยปีแล้ว
พื้นที่ดังกล่าวของบ้านเรือนในป้อมมหากาฬมีเจ้าของที่ดินหลายโฉนดหลายแปลงทั้งของเอกชนและของวัดราชนัดดาฯ เมื่อต้องถูกพระราชบัญญัติเวนคืนที่ดินเพื่อใช้สำหรับสร้างสวนสาธารณะให้กับโครงการเกาะรัตนโกสินทร์ ที่ถูกสร้างขึ้นมาเมื่อครั้งหลังยังมีกรรมการเกาะรัตนโกสินทร์ที่ต้อง “ปรับภูมิทัศน์” พื้นที่ต่างๆ ในย่านเมืองประวัติศาสตร์ โดยไม่เห็นความสำคัญของชุมชนที่อยู่อาศัยมาแต่เดิมและคงอยู่ในสภาพทรุดโทรมเพราะติดปัญหาในด้านทุนทรัพย์ซ่อมแซมในรุ่นลูกหลานและเปลี่ยนมือเนื่องจากการย้ายออกไปของกลุ่มตระกูลและการย้ายเข้าของผู้มาใหม่ ซึ่งเป็นปกติของการอยู่อาศัยในย่านเมือง
การออกพระราชบัญญัติเวนคืนในยุคดังกล่าวนั้น น่าจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาสืบตกทอดมาถึงทุกวันนี้คือ
“ไม่ได้ศึกษารอบด้านในเรื่องประวัติศาสตร์สังคมของชุมชนต่างๆจนละเลยจนกระทั่งถืออภิสิทธิ์ไม่เคารพสิทธิชุมชนหรือกฎเกณฑ์ทางสังคมที่ถือเอากรรมสิทธิ์ทางกฎหมายปัจจุบันเป็นหลักแบบมัดมือชก” เช่นนี้
บรรยากาศภายในชุมชนป้อมมหากาฬในปัจจุบันเป็นที่น่าหดหู่เมื่อเกิดปัญหาการไล่รื้อชุมชน ซึ่งกรุงเทพมหานครให้ข่าวว่าจะกำหนดให้เสร็จสิ้นในเดือนพฤษภาคม๒๕๕๙ นี้ โดยไม่ได้เริ่มเจรจากับชุมชนแต่อย่างใด
ชุมชนตามธรรมชาติแห่งนี้ไม่สามารถเติบโตหรือสืบทอดการอยู่อาศัยในพื้นที่ชานพระนครได้มานานแล้วเพราะการไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการปกครองของกรุงเทพมหานคร เนื่องจากปัญหาทางกฎหมายจากพระราชบัญญัติเวนคืนและการควบคุมไม่ให้มีผู้คนเพิ่มจากที่มีอยู่เดิม
แต่พื้นที่เหล่านี้ยังมีผู้คนที่สืบทอดความทรงจำของคนตรอกพระยาเพชรปาณี วิกลิเกแหล่งมหรสพชานพระนครอยู่ และยังคงสภาพความร่มรื่นชื่นเย็นในบรรยากาศแบบเมืองประวัติศาสตร์ในอดีตที่ยังมีชีวิตชีวา
หากกรุงเทพมหานครยังยืนยันว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินจากพระราชบัญญัติเวนคืนที่ศาลปกครองได้ตัดสินไปแล้ว โดยไม่สนใจสิทธิแบบจารีตและสิทธิชุมชนที่ควรจะได้รับการพูดคุยถกเถียงในช่วงเวลาที่การท่องเที่ยวชุมชนและการท่องเที่ยวเมืองประวัติศาสตร์กำลังเป็นที่เข้าใจแก่ผู้คนทั่วไปและเห็นประโยชน์ในการเก็บรักษามรดกวัฒนธรรมทางประวัติศาสตร์ที่มีผู้คนอยู่อาศัยได้จริงและมีชีวิตชีวานั้นไว้
หากจะเหลียวมองดูการทำงานการจัดการกับชุมชนในพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกับที่ทางสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้ปรับเปลี่ยนวิธีปฏิบัติต่อชุมชนต่างๆ มาเป็นเวลาสักระยะแล้ว เพื่อทำให้ผู้คนสามารถอยู่อาศัยในพื้นที่ประวัติศาสตร์ได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีระบบระเบียบและสร้างความเป็นชุมชนด้วยการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อดูแลตนเอง ก็จะช่วยให้พื้นที่เหล่านี้ไม่ได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปเป็นการสร้างตึก สร้างสนามหญ้าที่ไม่มีจิตวิญญาณหรือบรรยากาศของสภาพความเป็นเมืองประวัติศาสตร์แต่อย่างใด
พวกเราสูญเสียสิ่งมีค่าในพระนครเก่าของเราไปแล้วมากมายและไม่สามารถเรียกคืนได้เนิ่นนานแล้ว อย่าปล่อยให้ชาวบ้านที่ย่านป้อมมหากาฬต่อสู้เพียงลำพัง การย้ายออกไปนั้นง่ายดาย แต่หากย้ายไปแล้ว หมดสิ้นสภาพย่านเก่าที่มีชีวิตวัฒนธรรมให้เหลือเพียงความทรงจำในแผ่นป้ายหรือกระดาษนั้น ไม่นับว่าเป็นประโยชน์ต่อแผ่นดินและผู้คนแต่อย่างใด
หากมีการไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นมรดกแห่งความบอบช้ำและความสูญเสียที่พวกเราต้องรับไม้ต่อแทนชาวชุมชนป้อมมหากาฬ เป็นมรดกแห่งความทุกข์ยากที่ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งมอบไว้ให้ผู้คนในเมืองกรุงเทพฯ และปัญหาอันไม่มีวันจบสิ้นนี้ พวกเราทั้งสิ้นต้องเป็นผู้รับผิดชอบร่วมกันสืบต่อไปนานเท่านาน
เป็นตราบาปแก่ใจที่ไม่สามารถพูดคุยให้เกิดความก้าวหน้าในการจัดการเมืองประวัติศาสตร์ที่มีปัญหายืดเยื้อยาวนาน จนแทบจะไม่น่าเชื่อว่าเรากำลังสู้ทนในสิ่งเหล่านี้เพื่ออะไร
ความหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรม : จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉ.๑๐๙ (ม.ค.-มี.ค.๒๕๕๙)
จาก
http://lek-prapai.org/home/view.php?id=5133ภาพแมว แถว ป้อมมหากาฬ