ผู้เขียน หัวข้อ: ถอดรหัสวัดเมืองน่าน ตอน วัดภูมินทร์ แง่งามแห่งนิพพาน  (อ่าน 1066 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด



ถอดรหัสวัดเมืองน่าน ตอน วัดภูมินทร์ แง่งามแห่งนิพพาน

หลายท่านอาจเคยรู้จักและมีโอกาสไปเยือนวัดภูมินทร์ จ.น่าน แต่หลายท่านอาจยังไม่รู้ว่าแท้จริงแล้ววัดแห่งนี้มีนัยยะของพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์แฝงไว้อย่างแยบคาย

วัดภูมินทร์
เดิมชื่อวัดพรหมมินทร์ เป็นวัดหลวงตั้งอยู่ในเขตพระนคร ตำบลในเวียง จังหวัดน่าน เจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2139 ต่อมาอีกประมาณ 300 ปี มีการบูรณะครั้งใหญ่ ในสมัยเจ้าอนันตวรฤทธิ์เดช เมื่อ พ.ศ.2410 (ปลายสมัยรัชกาลที่ 4) ใช้เวลาซ่อมแซมนานถึง 7 ปี

ความสวยแปลกของวัดภูมินทร์ที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน อันเป็นหนึ่งเดียวในประเทศไทยคือเจดีย์ พระอุโบสถและพระวิหารสร้างเป็นอาคารหลังเดียวกัน เป็นทรงจตุรมุข (กรมศิลปากรได้สันนิษฐานว่าเป็นอุโบสถจตุรมุขหลังแรกของประเทศไทย) มีนาคสะดุ้งขนาดใหญ่แห่แหนพระอุโบสถเทินไว้บนกลางลำตัว ใจกลางพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ 4 องค์ ประทับนั่งบนฐานชุกชี หันพระพักตร์ออกด้านประตูทั้ง 4 ทิศ เบื้องพระปฤษฎางค์ชนกัน ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังศิลปกรรมไทลื้อ ที่เล่าเรื่องชาดกตำนานพื้นบ้านและความเป็นอยู่ของชาวน่านในอดีต



สาเหตุที่พระอุโบสถหันหน้าไปทางทิศเหนือ เพราะถือเป็นทิศเดียวกับที่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าหันเศียรไปเมื่อครั้งเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน บริเวณซุ้มกึ่งกลางประตูวิหารใช้รูปตุงล้านนามาประดับ เชื่อกันว่า ตุง คือ ธงแห่งชัยชนะ หนึ่งในแปดสัญลักษณ์ที่พระพุทธเจ้าใช้ประกาศชัยชนะเหนือหมู่มาร (สัญลักษณ์ทั้ง 8 ได้แก่ สังข์ ดอกบัว ธรรมจักร ฉัตร เงื่อนอนันตภาคย์ ปลาทองคู่ ธงแห่งชัยชนะและแจกันแห่งโภคทรัพย์)



บริเวณลำตัวของพญานาคทั้ง 4 ด้าน (ด้านหน้า 2 ตัว ด้านหลังอีก 2 ตัว) ทำเป็นซุ้มประตูไว้ตรงกลาง เชื่อกันว่า ผู้ใดได้ลอดประตูพญานาคราชวัดภูมินทร์จะไม่ตกอบายภูมิทั้ง 4 ได้แก่ สัตว์นรก เปรต อสุรกายและสัตว์เดรัจฉาน ชีวิตจะประสบแต่สุขสวัสดิมงคล หากญาติพี่น้องเจ็บไข้รักษาไม่หาย ชาวน่านจะนิมนต์พระไปทำพิธีสิบชะตาหลวงที่บ้าน แล้วนำเสื้อผ้าผู้ป่วยมาลอดซุ้มประตูสามรอบ ขอให้หายจากอาการหรือหากไม่หายก็ขอให้จากไปอย่างสงบ และยังเชื่ออีกว่าหากคนต่างถิ่นมาลอดแล้ว จะได้กลับมาเยือนเมืองน่านอีกครั้ง



อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินเอกของไทย เคยเอ่ยปากชื่นชมว่า การปั้นเกร็ดพญานาคที่วัดแห่งนี้มีความงดงามอย่างยิ่ง เพราะไม่ได้เป็นทรงกลมเหมือนวัดอื่นๆ แต่จงใจปั้นให้เหมือนพญานาคทิ้งน้ำหนักตัวลงบนพื้น เพื่อให้เห็นพลังกล้ามเนื้อด้านในที่กำลังเคลื่อนไหว นับเป็นนาคสะดุ้งที่สมบูรณ์และเป็นแบบอย่างที่ดี

สาเหตุที่กล่าวว่า หัวพญานาคเทินพระวิหารหลวงไว้ เนื่องจากเปรียบพระอุโบสถแห่งนี้เหมือนพระเขาสุเมร ที่มีแม่น้ำทั้ง 4 ล้อมรอบ ได้แก่ สังสารสาคร ชลสาคร นยสาครและญาณสาคร โดยชั้นล่างสุดของวัด (ชั้นพื้นดินก่อนขึ้นอุโบสถ) เปรียบได้กับชั้นชลสาคร  หมายถึง ห้วงน้ำมหาสมุทรขนาดใหญ่ เมื่อก้าวขึ้นบันไดไปยังจุดที่มีพญานาคราช เรียกว่าชั้นสังสารสาคร อุปมาว่าพญานาคราชเทินพระวิหารไว้ เพื่อให้เวไนยสัตว์ก้าวข้ามทะเลแห่งวัฏสงสาร เมื่อข้ามธรณีประตูเข้าไปเรียกว่าชั้นนยสาคร หมายถึง พระพุทธพจน์ คือ พระไตรปิฎก ด้านในมีเสาแปดต้น แสดงถึงอริยมรรคมีองค์แปด ที่พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ ส่วนชั้นเจดีย์ที่รองรับพระพุทธรูปไว้ คือชั้นญาณสาคร หรือญาณทัศนะที่เกิดจากการบำเพ็ญเพียรและฝึกปฏิบัติ สุดท้ายพระพุทธรูปที่อยู่กึ่งกลางเจดีย์ แทนความหมายของ “นิพพาน” อันเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของพุทธศาสนา โดยพระพุทธรูปหันพระพักตร์ไปทิศแห่งทวีปทั้ง 4 เปรียบได้กับ พรหมวิหาร 4 ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา





จิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ เป็นผลงานของหนานบัวผัน จิตรกรพื้นถิ่นเชื้อสายไทลื้อ ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นผลงานที่ปราณีต เนื้อหาส่วนใหญ่เล่าเรื่อง “คันธกุมาร” เป็นนิทานชาดก ที่มุ่งสอนให้คนทำความดี ช่างวาดได้สอดแทรกภาพวิถีชีวิตของชาวน่านในอดีตเอาไว้หลายเรื่องราว เช่น วัฒนธรรมการแต่งกายของสตรีที่มักนิยมนุ่งซิ่นลายน้ำไหล การสักยันต์ของผู้ชายตั้งแต่เอวลงไปที่ขาเพื่อแสดงถึงความเป็นชายชาตรี (การสักยันต์สีดำเช่นนี้ทำให้ชาวน่านได้รับฉายาว่า “ลาวพุงดำ”) การทอผ้าด้วยกี่ทอมือของสตรีโบราณ โดยเชื่อกันว่าหากใครทอผ้าไม่เป็นแสดงว่าขาดคุณลักษณะของกุลสตรี ผู้ชายจะไม่แต่งงานด้วย รวมทั้งการติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติในช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ 5  ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลตะวันตกที่เข้ามาผสมผสานในวิถีพื้นเมืองน่าน





นอกจากนี้ยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังอันเลื่องชื่อ คือ ภาพ “เสียงกระซิบบันลือโลก” หรือภาพ “ปู่ม่าน ย่าม่าน” ซึ่งเป็นภาพชายหญิงกำลังกระซิบสนทนากัน อันจัดเป็นภาพโรแมนติกที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนวัดแห่งนี้

ทั้งนี้ภาพปู่ม่าน ย่าม่าน ได้รับการแต่งคำบรรยายภาพดังกล่าวเป็นภาษาถิ่นพายัพอันสละสลวยความว่า



คำฮักน้อง กูปี้จักเอาไว้ในน้ำก็กลัวหนาว

จักเอาไว้พื้นอากาศกลางหาว ก็กลัวหมอกเหมยซอนดาวลงมาคะลุม

จักเอาไปใส่ในวังข่วงคุ้ม ก็กลัวเจ้าปะใส่แล้วลู่เอาไป

ก็เลยเอาไว้ในอกในใจตัวชายปี้นี้ จักหื้อมันไห้อะฮิอะฮี้

ยามปี้นอนสะดุ้งตื่นเววา…

 

แปล:

ความรักของน้องนั้น พี่จะเอาฝากไว้ในน้ำก็กลัวเหน็บหนาว

จะฝากไว้กลางท้องฟ้าอากาศกลางหาว ก็กลัวเมฆหมอกเดือนดาวมาปกคลุมรักของพี่ไปเสีย

หากเอาไว้ในวังในคุ้ม เจ้าเมืองมาเจอก็จะเอาความรักของพี่ไป

พี่จึงขอฝากเอาไว้ในอกในใจของพี่ จะให้มันร้องไห้รำพี้รำพันถึงน้อง

ไม่ว่ายามพี่นอนหลับหรือยามสะดุ้งตื่น


เพราะความงดงามเหล่านี้เอง ทำให้วัดภูมินทร์ เป็นจุดหมายปลายทางของใครหลายคนในการมาเยือนเมืองน่าน และยังเป็นตัวอย่างที่ดีว่า ทุกสถานที่มีแง่งามต่างๆ ซ่อนอยู่มากมาย ขึ้นอยู่กับว่า เราเลือกจะค้นหามัน หรือปล่อยให้ความงามนั้นผ่านเลยไป…
 

เรื่องและภาพ รำไพพรรณ บุญพงษ์

**ข้อมูลทั้งหมดผู้เขียนได้ฟังบรรยายมาจาก อาจารย์สมเจตน์ วิมลเกษม ผู้ทรงคุณวุฒิแห่งหน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมจังหวัดน่าน

จาก http://www.secret-thai.com/dhamma-practice/place-peace/5405/pumintemple-nan/
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...