ผู้เขียน หัวข้อ: ชม โรงเจหอคุณธรรมฟ้า อันงดงาม ที่ วัดอ้อน้อย (ธรรมอิสระ)  (อ่าน 2712 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


<a href="https://www.youtube.com/v/Qpl0jLeM0Wc" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/Qpl0jLeM0Wc</a>

ชมหอคุณธรรมฟ้าอันงดงามที่ วัดอ้อน้อย (ธรรมอิสระ)

เช้าตรู่อาทิตย์วันที่ 2 พฤศจิกายน ยวดยานบนท้องถนนจำนวนมากมุ่งตรงสู่นครปฐม ดินแดนที่เชื่อกันว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่พระพุทธศาสนาประดิษฐานลงเป็นแห่งแรกก่อนเผยแผ่ไปทั่วแผ่นดินสุวรรณภูมิ การเดินทางจากกรุงเทพฯ ใช้เส้นถนนปิ่นเกล้า-นครชัยศรี หรือถนนบรมราชชนนี ตรงไปจนสุดทาง ขึ้นสะพานข้ามแยกเข้าสู่ถนนเพชรเกษม ตรงไปจนถึงนครปฐม ชิดซ้ายขึ้นสะพานข้ามแยกเข้าสู่ตัวเมือง วิ่งตรงเข้าตัวเมือง เจอสามแยกบริเวณข้างหน้าเป็นองค์พระ ให้เลี้ยวซ้าย แล้วถึงสี่แยกให้เลี้ยวขวา เลยมาอีกราว 1 กิโลเมตร ผ่านหน้ามหาวิทยาลัยศิลปากร ทับแก้ว ถึงสามแยกมาลัยแมนเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนมาลัยแมน ตรงไปอีกราว 17 กิโลเมตร ด้านซ้ายมือก็มองเห็นวิหารจีนขนาดใหญ่สลักเสลาด้วยลวดวิจิตรงดงาม มองเห็นเด่นแต่ไกล เป็นจุดหมายปลายทางของการเดินทางครั้งนี้ เพื่อมาร่วมบุญทอดกฐินสามัคคีที่วัดอ้อน้อย (ธรรมอิสระ) ที่มากล้นด้วยศรัทธาชนหลั่งไหลมากันเนื่องแน่นตั้งแต่เช้า โดยในงานนี้มีทั้งประชาชนเดินทางหลั่งไหลมาจากทั่วทุกภูมิภาค รวมทั้งห้างร้านต่างๆ ตลอดจนผู้มีจิตศรัทธานำเอาอาหารการกิน น้ำดื่ม ตลอดจนข้าวของต่างๆมากมายมาออกร้าน และแจกจ่ายเพื่อร่วมบุญกับทางวัดกันอย่างคับคั่ง



เมื่อเข้ามาภายในบริเวณวัดก็แวะเข้ามาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์บริเวณโรงเจหอคุณธรรมฟ้า ที่ตั้งตระหง่านอยู่หน้าวัดกันก่อน วิหารแห่งนี้ประดิษฐานเหล่าเทพเจ้าผู้ทรงคุณธรรม ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนทั่วไป ด้านหน้าเป็นวิหารที่ประดิษฐานองค์เทพเง็กเซียน ผู้ปกครองแห่งแดนสวรรค์ และเทพบริวารน้อยใหญ่ เช่น เทพเจ้ากวนอู เทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ และเทพเจ้าไฉ่ซิ่งเอี้ยปางขี่เสือ เทพพิทักษ์คลังสมบัติสวรรค์ ฯลฯ ด้านในสุดเป็นที่ตั้งของวิหารพระโพธิสัตว์ซึ่งมีองค์พระโพธิสัตว์กวนอิมปางพันมือเป็นองค์ประธานรายล้อมด้วยวิหารทิศทั้ง4ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานท้าวจตุโลกบาลหรือเทพผู้รักษาทิศทั้ง4 โรงเจหอคุณธรรมฟ้าหมายถึงคุณธรรมของฟ้าที่เน้นถึงความกตัญญู กตเวทิตาตอบแทนคุณ "พ่อแม่มีคุณธรรม ลูกหลานกตัญญู"

โรงเจหอคุณธรรมฟ้า (เทียน หงี่ ตั๊ว) เริ่มสร้างขึ้นในพ.ศ.2545 ด้วยความคิดริเริ่มที่ต้องการผสานความหลากหลายทางวัฒนธรรมทั้งไทย จีน ทิเบตสื่อผ่านงานศิลปกรรมรูปแบบต่างๆ ทั้งด้านจิตรกรรม ประติมากรรมฯสะท้อนถึงศรัทธาในคุณงามความดีทั้งปวงของมวลมนุษยชาติ โดยสร้างสรรค์เป็นเรื่องราวของเหล่าเทพ พรหม จนถึงเซียนองค์ต่างๆที่กอปรด้วยคุณธรรมความดีงาม ประดิษฐานอยู่ภายในวิหาร ประดับประดาด้วยลวดลายอันวิจิตรบรรจงอยู่ตามซุ้มประตู เสาอาคาร ริมผนัง สองข้างกำแพงทางเดิน จนถึงทั่วถึงทุกมุม ทั้งภายในและภายนอกอาคาร

ด้านการออกแบบเป็นเสมือนการจำลองแผนผังของระบบสุริยจักรวาล โดยจัดลำดับความสำคัญลดหลั่นกันของเทพเจ้าต่างๆ โดยให้เทพแต่ละองค์รายล้อมองค์พระมหาโพธิสัตว์ หรือองค์พระโพธิสัตว์กวนอิมปางพันมือ ซึ่งเปรียบเสมือนศูนย์กลางและเป็นองค์ประธานอยู่ด้านในสุด ภายในวิหารแห่งนี้ยังถูกออกแบบตกแต่งด้วยเซรามิคเขียนลายทั้งหลังเพื่อความคงทนถาวร รวมทั้งเลือกใช้โทนสีที่สมดุลกับธาตุทั้งสี่ทิศ ตามความนิยมนับถือและความเชื่อในเทพเจ้าต่างๆของคนจีนโบราณในการก่อสร้าง ทางวัดอ้อน้อยได้จัดหาช่างฝีมือผู้ชำนาญการมาจากเมืองจีน ร่วมกับช่างฝีมือจากไทย ทำให้สร้างสรรค์ผลงานได้อย่างอลังการงดงามยิ่งนัก โดยมีการจัดแบ่งพื้นที่ภายในวัดสำหรับเป็นโรงงานเผาเซรามิค ตลอดทั้งการออกแบบ ปั้นลาย เขียนลาย ดำเนินการทุกขั้นตอนอยู่ภายในวัดเสร็จสรรพ นับเป็นสถาปัตยกรรมที่ได้รับความสนใจจากสาธุชนและดึงดูดผู้คนให้มาเยี่ยมเยือนที่วัดอ้อน้อยแห่งนี้เป็นจำนวนมาก เจตนารมณ์ที่สร้างขึ้น หลวงปู่พุทธะอิสระ ได้เคยเล่าไว้ว่า "สถานที่นี้ หลวงปู่เจตนาสร้างไว้เพื่อสำนึกถึงบุญคุณของสวรรค์และฟ้าดิน บุญคุณของผู้มีคุณ และบุญคุณของเทพยดา เทพเจ้าผู้อภิบาลดูแลรักษาพระพุทธศาสนา แล้วก็ผู้คนที่ศรัทธาพระพุทธศาสนา รวมทั้งคนที่ทำดี พูดดี คิดดี เพราะฉะนั้น ทำเพื่อเป็นพลีกรรมต่อฟ้าดิน ต่อสิ่งที่งดงาม ต่อสิ่งที่ดีงาม" ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา ภายในวิหารศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ยังเป็นสถานที่สำหรับจัดพิธีพุทธาภิเษกพระเครื่องที่หลวงปู่พุทธะอิสระจัดสร้าง โดยนับเป็นครั้งแรกที่มีการจำลองรูปเหมือนแทนองค์หลวงปู่ขึ้น ในชื่อรุ่น กูคือผู้ชนะ เพื่อนำมอบให้แก่สาธุชนผู้มีศรัทธาจองพระไว้ ที่จะเดินมาทางมาร่วมบุญในงานวันกฐินของทางวัด ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2557 โดยในแก่นคำสอนของท่านนั้น หมายถึงความดีเป็นสิ่งทำได้ยากยิ่ง และยากยิ่งกว่า คือการต้องเผชิญกับสิ่งที่เป็นปัญหาระหว่างการทำดีนั้น ถ้าเรามีขันติ มีความจริงใจ ไม่ย่อท้อต่อสิ่งที่เราทำ ก็ถือได้ว่าเราเป็นผู้มีชัยชนะ อย่างน้อยที่สุดก็ชนะหัวใจเราเอง มีพระธรรมเป็นสิ่งยึดเหนี่ยว เป็นเครื่องชำระล้างและฟอกจิต พากเพียรเอาชนะใจตนให้เป็นอิสระจากกิเลส ที่เกิดจากความรัก ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความทะยานอยาก ตระหนี่ ได้เปรียบ อิจฉาริษยา เห็นแก่ตัว และจิตใจคับแคบ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ไม่มีอะไรทำลายลงได้ ถ้าไม่อาศัยพระธรรม

คำสอนหนึ่งที่ท่านย้ำเตือนอยู่เสมอก็คือ ไม่ให้เป็นคนยอมแพ้ต่ออุปสรรคทั้งหลายที่เกิดขึ้น เป็นคำสอนที่มีค่าสำหรับลูกหลาน ทุกปัญหาที่เกิดขึ้น สิ่งแรกที่ขอให้มีคือ ปัญญา เพื่อให้เราจัดการกับปัญหาได้ ท่านสอนเสมอว่า ไม่ต้องขอพรจากฟ้าดิน หรือสวรรค์ เพราะสิ่งที่มีค่าที่สุด คือสองมือทำได้ สองขายืนหยัดได้ หนึ่งตัวตั้งมั่น หนึ่งหัวคิดได้ เท่านี้ก็คือพรอันประเสริฐที่สุดแล้ว

วัดอ้อน้อย (ธรรมอิสระ) นอกจากมีอาคารศาสนสถานอันงดงามแล้ว บริเวณวัดยังมีบรรยากาศที่เต็มไปด้วยธรรมชาติร่มรื่น วัดแห่งนี้เริ่มสร้างขึ้น ในปี 2532 ด้วยศรัทธาจิตของ นางทองห่อ วิสุทธิผล ที่มีต่อพระพุทธศาสนา จึงได้บริจาคทรัพย์ซื้อที่ดินเริ่มแรกจำนวน 9 ไร่ ทั้งยังได้บริจาคเงินกองทุนในเบื้องต้นสำหรับก่อสร้างสำนักสงฆ์ธรรมอิสระ เป็นสาขาของวัดลาดหญ้าไทร ภายหลังจึงดำเนินการขออนุญาตสร้างวัดต่อกรมการศาสนา ดังนั้น ต่อมาวัดอ้อน้อยจึงเป็นวัดที่ก่อตั้งขึ้นในโครงการเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมายุ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบ 72 พรรษา ในปี 2542 ทั้งนี้หลวงปู่พุทธะอิสระได้ดำริและริเริ่มจัดทำโครงการต่างๆมากมาย เช่น มูลนิธิอโรคยาศาลา บริษัทสมบัติเจ้าคุณปู่ดี จำกัด บริษัทพฤกษายาไทย จำกัด บริษัทพฤกษเวช จำกัด ผลิตภัณฑ์หอมจัง ฯลฯ ตลอดจนมีโครงการเผยแผ่ธรรมะ รวมทั้งสร้างศาสนสถานของวัดให้สมกับเป็นวัดของผู้แสวงหาและปฏิบัติธรรม

สถานที่น่าสนใจภายในมีวัดอยู่หลายแห่ง ที่สำคัญๆก็เช่น พระอุโบสถกลางน้ำ พระอุโบสถรูปทรงจตุรมุขงดงามอยู่กลางสระน้ำล้อมรอบ ศาลาอเนกประสงค์ ใช้เป็นที่ทำกิจกรรมในพระศาสนา หอพระกรรมฐาน ใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรมของพระภิกษุสงฆ์ ลานโพธิ์ เป็นที่ประดิษฐาน "ต้นศรีมหาโพธิ์" หรือโพธิ์ตรัสรู้ ซึ่งปลูกขึ้นที่หน้าหอพระกรรมฐานโดยหลวงปู่พุทธะอิสระ ได้บรรจุอัฐิธาตุของหลวงปู่ทวดไว้ที่โคนต้นด้วย หมู่กุฏิสงฆ์ พร้อมทั้งได้ปลูกต้นไม้ไว้ร่มรื่นงดงามทั่วบริเวณ ฯลฯ

จากเริ่มแรกมีพระภิกษุ 2 รูป และสามเณร 3 รูป ที่ได้ช่วยกันปลูกสร้างกุฏิ ปลูกต้นไม้ ต่อมาจึงมีการพัฒนาขยับขยายมากขึ้น แรงงานส่วนใหญ่ในการจัดสร้างทุกขั้นตอนยังคงใช้แรงงานของพระภิกษุ และสามเณรภายในวัด กระทั่งภายหลังวัดได้ขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นเป็น 80 ไร่ และมีลูกศิษย์ลูกหาที่เป็นฆราวาสเข้ามาช่วยงานเพิ่มจำนวนมากขึ้น ภายในวัดยังจัดแบ่งเนื้อที่ให้มี "สวนเกษตรเพื่อชีวิต" คือนาข้าว แปลงผักสวนครัว สวนไม้ผลเพื่อใช้ในโรงทานและบริจาคผู้ยากไร้

สำหรับผลงานสร้างสรรค์ และสถาปัตยกรรมต่างๆภายในวัดอ้อน้อย เกิดจากกลุ่มศิลปินผู้ทุ่มเทฝึกฝนตนและอุทิศแรงกายแรงใจช่วยครูบาอาจารย์สร้างสรรค์ศิลปะอันพิสุทธิ์มอบไว้ให้แก่พุทธศาสนา กาพย์แก้ว สุวรรณกูฏและผองเพื่อศิลปิน โดยเธอได้เล่าถึงแนวทางการทำงานของหลวงปู่ในการคิดค้นสร้างสรรค์ผลงานทางศิลปะ ที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในวัดอ้อน้อยแห่งนี้ เช่น ผลงานทางด้านสถาปัตยกรรมฯ โดยกล่าวถึงหลวงปู่ว่า "ท่านได้แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมภายในวัดอ้อน้อย มาจากความเชื่อในเรื่องจักรวาล และตำนานโบราณ เช่น ตำราพลศาสตร์ ฮวงจุ้ยศาสตร์ นรลักษณ์ศาสตร์ และตำราพิชัยสงคราม ในคัมภีร์หรือตำราโบราณเหล่านี้ ได้เน้นย้ำถึงทิศทาง ตำแหน่งแห่งความเหมาะสมของการก่อตั้ง หรือสร้างอาคารโรงเรือนต่างๆเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการใช้ประโยชน์ต่อการใช้สอนอย่างสูงสุด และมีประสิทธิภาพ ซึ่งผลตอบรับของผู้ที่อยู่อาศัยนั้นก็คือ รู้สึกอบอุ่น ร่มเย็น ปลอดภัย ปลอดโปร่ง และรู้สึกสบาย"

ด้วยแนวความคิดความเชื่อเช่นนี้ จึงได้เห็นรูปธรรมจากการสร้างโบสถ์ ที่ตั้งอยู่กลางน้ำ ให้มีน้ำล้อมรอบ แบ่งขอบเขตเป็นชั้นนอก ชั้นกลาง และชั้นใน ตัวโบสถ์เป็นรูปจัตุรมุข สร้างด้วยหินอ่อน เป็นอาคารเปิดโล่งทั้ง 4 ด้าน ประดับด้วยลวดลายต่างๆที่เป็นการผสานงานศิลปะในแต่ละยุคสมัยได้อย่างลงตัว

บนเพดานจะมีภาพเขียนจิตรกรรมที่งดงามมาก เป็นความงามที่ด้วยความหมายแห่งอรรถและธรรม เป็นรูปมันดรา หรือมณฑลธรรม เป็นภาพปริศนาธรรม ปฏิจจสมุปปัณธรรม สื่อถึงวงล้อแห่งชีวิต ที่มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย หมุนเวียนเป็นวัฏจักรไปใน12 ราศี ที่มนุษย์ทุกคนต้องเวียนว่ายภายใต้ราศีทั้ง 12 ไม่รู้จบสิ้น จนกว่าจะพัฒนาธาตุศักดิ์สิทธิ์ที่มีอยู่ในกายตนให้พ้นสู่อิสระที่แท้จริง มงคลธาตุทั้ง 6 ที่มีอยู่ในกายมนุษย์ ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ธาตุไม้ ธาตุทอง ผสมผสานกันทั้งอ่อน แข็ง เปราะบาง อยู่ในตัว หรืออีกนัยหนึ่งหมายถึงอารมณ์ หรือจริต6 ของมนุษย์นั่นเอง คือ ราคจริต โทสจริต โมหจริต วิตกจริต ศรัทธาจริต และพุทธิจริต

สืบเนื่องจากผลงานภาพวาดภายในโบสถ์ที่มีความงามอ่อนหวาน หลวงปู่จึงมีความคิดที่จะสร้างประติมากรรมรอบๆอุโบสถ เป็นรูปพระอรหันต์ 18 องค์ ตามคตินิกายมหายาน โดยสร้างเป็นรูปปั้นพระอรหันต์ 18 องค์ ที่มีกิริยาท่าทาง สีหน้า แววตา และรูปลักษณ์ให้ดูดุดัน เข้มแข็ง เป็นดุลถ่วงให้เกิดความสมดุล คนที่อยู่ในพิธีกรรมภายในโบสถ์จะได้รับความรู้สึกอบอุ่น เคร่งขรึม ระมัดระวังต่ออากัปกิริยาที่จะผิดพลาดล่วงเกินต่อตน และคนอื่น และรู้สึกเหมือนได้เข้ามานั่งอยู่ในวงล้อมของผู้ใหญ่ที่มีทั้งความเมตตา อ่อนโยน เข้มแข็ง ถมึนทึง ดุดัน มีความรักและความเอื้ออาทร

พระอุโบสถกลางน้ำหลังนี้หรืออีกชื่อหนึ่งเรียกว่า โบสถ์จุฬามณี บรรยากาศข้างในโบสถ์เย็นและสงบมาก บริเวณด้านหน้าทางขวามือจัดเป็นสวนหย่อมที่ประดับด้วยหินหยกสีเขียวอ่อนที่นำมาจากสระบุรี หรือมีอีกชื่อว่า หินมังกร สมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระญาณสังวร สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อครั้งเสด็จมาเยี่ยมชมวัด ยังได้ทรงรับสั่งว่า พระอุโบสถของวัดเป็นอุโบสถที่มีความงดงามไม่มีใครเหมือน

ทั้งนี้ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้เสด็จเป็นองค์ประธานจุดเทียนชัย ในพิธีพุทธาภิเษกในงานผูกพัทธสีมาปิดทองลูกนิมิต วัดอ้อน้อย (ธรรมอิสระ) อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2542 เวลา 17.00 น. โดยก่อนหน้านี้ ได้เสด็จเยี่ยมชมวัดอ้อน้อย เป็นการส่วนพระองค์ถึง 2 ครั้ง ดังที่มีบันทึกอยู่ในหนังสือของทางวัด โดยคณะศิษย์หลวงปู่พุทธะอิสระเล่าถึงเหตุการณ์ในคราวที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวรฯ เสด็จมาทรงเยี่ยมวัดในคราวหนึ่งว่า

"...ทราบรายละเอียดพอคร่าวๆว่าสมเด็จพระสังฆราชเสด็จมาที่ จังหวัดนครปฐม และจะเสด็จต่อไปยัง จังหวัดกาญจนบุรี เนื่องจากวัดอ้อน้อยเป็นทางผ่าน มีเวลาจึงแวะมาเยี่ยมดูการก่อสร้างถาวรวัตถุของวัดอ้อน้อย และมาดูการทำงานของพระภิกษุสามเณร จึงไม่แจ้งหมายกำหนดการให้วัดได้ทราบ...พระบางองค์อยู่กลางแจ้ง ขุดดิน จัดสวน ทั่วกายเต็มไปด้วยเหงื่อ อังสะเปียกชุ่ม จึงจำเป็นที่จะต้องถอดอังสะออกจากตัว บางองค์เข็นรถบรรทุกขยะไปทิ้ง เมื่อเลยไปถึงศาลาเห็นพระภิกษุสามเณรหลายองค์กุลีกุจอ กับการจัดสถานที่เตรียมการใน "วันแม่แห่งชาติ" บ้างก็เช็ดโต๊ะหมู่ บ้างก็จัดแจกัน บ้างก็จัดดอกไม้ใส่แจกัน ทันทีที่ทราบว่า สมเด็จพระสังฆราชเสด็จมา พระภิกษุสามเณรก็รีบหาจีวรกันจ้าละหวั่น" ในบันทึกยังเล่าด้วยว่า สถานการณ์แบบนี้ทั้งภิกษุและสามเณรหยิบจีวรสลับกันห่มก็มี บ้างก็ต้องรีบวิ่งไปเอาจีวรที่กุฏิมาห่ม แต่ทุกอย่างก็รวดเร็วพร้อมสรรพในเวลาไม่ถึง 5 นาที

"ทุกคนภายในวัดดูเหมือนว่าจะประหม่าตกใจกับที่สมเด็จพระสังฆราชเสด็จมา คนในวัดหลายคนเริ่มตั้งสติได้ แม่ครัวเตรียมน้ำมาถวาย พระภิกษุสามเณรปูพรม ปูอาสนะ พร้อมที่ประทับที่เหมาะสมในศาลา สมเด็จพระสังฆราชทรงกราบพระประธานแล้วหันมาสอบถามเรื่องต่างๆภายในวัด...

หลังจากได้ฟังการสนทนาปราศรัยจากสมเด็จพระสังฆราชแล้ว บรรดาพระภิกษุสามเณรก็เริ่มสีหน้าแววตาแช่มชื่นขึ้น เนื่องจากคลายความประหม่าตกใจ ที่ทุกคนในวัดต่างพากันเกรงกลัวว่า อาจจะพลาดพลั้ง หรือทำสิ่งใดที่ไม่ดีไม่งาม หรือบกพร่อง ท่านมิได้ทรงตำหนิแต่อย่างใด แต่กลับทรงมีเมตตานำจีวรมาแจกพระภิกษุภายในวัดถึง 15 ไตร อีกต่างหาก สร้างความปลาบปลื้มยินดีให้กับทุกคนในวัดเป็นอย่างยิ่ง

"ก่อนเสด็จกลับสมเด็จพระสังฆราชทรงกราบพระประธานอีกครั้งจึงเสด็จออกจากศาลา ไปดูการก่อสร้างโบสถ์จุฬามณีที่โดดเด่นกลางน้ำภายในวัด มีสีสันที่สวยสด งามสง่า ท่ามกลางแสงอาทิตย์ที่ทอแสงวาววับกับสายน้ำในสระ แม้ว่าจะอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง จึงระเกะระกะเต็มไปด้วยไม้ค้ำยันทั่วบริเวณ บางแห่งต้องก้มย่อพระเศียรลงมาเพื่อให้รอดพ้นจากไม้ค้ำยัน...

ก่อนเสด็จเข้าไปในอุโบสถ ทรงสอบถามเกี่ยวกับหินหยกที่นำมาจากสระบุรี เพื่อประดับสวนหย่อม เมื่อเข้าไปในพระอุโบสถ ได้ทรงพิจารณาดูภาพวาด ช่างวาดภาพได้บรรยายพอสรุปว่า กำลังวาดรูปภูเขาคันธมาทน์ในแดนสวรรค์ ที่มีถ้ำแก้ว ถ้ำเงิน ถ้ำทอง และที่นั่งสีรุ้งสำหรับพระโพธิสัตว์

เมื่อได้ทรงชมแล้วจึงเสด็จออกจากอุโบสถไปยังรถยนต์พระที่นั่ง พระภิกษุสามเณรทุกองค์มาส่งเสด็จที่รถยนต์พระที่นั่งสีเหลืองคันเดิม ซึ่งจอดรอหน้าอุโบสถ พระภิกษุสามเณรทุกองค์พร้อมฆราวาสคุกเข่าพนมมือก้มลงกราบกับพื้นถนนยางมะตอยกันถ้วนหน้า เป็นภาพที่แสนจะปลื้มใจและประทับใจอยู่ในความทรงจำมิรู้ลืม"

เหตุการณ์คราวนี้หลวงปู่พุทธะอิสระเจ้าอาวาสวัดอ้อน้อยในขณะนั้นท่านมิได้อยู่ที่วัด แต่ติดภารกิจอยู่ที่ถ้ำแก้วมังกรทองหรือถ้ำไก่หล่น ที่ตำบลหนองพลับ ย่านอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ห่างจากชายหาดไปทางป่าละอูราว 20 กิโลเมตร ตกเย็นเมื่อหลวงปู่กลับถึงวัด ได้เห็นภิกษุสามเณรเสร็จจากทำวัตรเย็นกำลังทยอยกันลงจากศาลา ท่านจึงได้ทราบว่า เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชฯ ทรงมีพระเมตตาเสด็จมาเยี่ยมที่วัดอ้อน้อย ธรรมอิสระอย่างไม่เป็นทางการ

ด้านความเป็นอยู่ของพระภิกษุและสามเณรภายในวัด ใช้หลักการปกครองโดยสามัคคีธรรม เมื่อไหร่ที่มีกิจน้อยใหญ่จะก็ขอฉันทานุมัติและร่วมกันจัดกิจกรรมนั้นๆ โดยพร้อมเพรียงกัน นอกจากนี้ทางคณะสงฆ์ยังได้กำหนดข้อปฏิบัติเรื่องความเป็นอยู่ของพระสงฆ์ในอารามนี้ว่า พระสงฆ์สามารถจะมีปัจจัยติดตัวได้ไม่เกิน 100 บาท เมื่อมีเอกลาภเกิดขึ้น ทุกสิ่งจะสละให้รวมเข้าสู่ส่วนกลาง พระภิกษุ และสามเณรจะมีของใช้ได้ไม่เกินหนึ่งชิ้น ถ้ามีเกินกว่านี้ ให้สละให้กับกองคลัง เมื่อมีความจำเป็นจะต้องใช้ของสิ่งนั้นก็มาขอเบิกไปใช้ได้ นี่เป็นส่วนหนึ่งของวัตรปฏิบัติอันเคร่งครัดของทางคณะสงฆ์ ที่ก่อให้เกิดเป็นอิสระในธรรมอันงดงามภายในจิตใจ มุ่งตรงสู่การฝึกปฏิบัติขัดเกลาตนบนหนทางอันประเสริฐต่อไป

<a href="https://www.youtube.com/v/0BRUSgXx1Uc" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/0BRUSgXx1Uc</a>

"...วนเวียนในจักรวาล สุขและทุกข์ซ้ำๆไม่เคยพ้นไป

วนเวียนกำเนิดเกิดตาย ดังชีวิตนั้นมีเพียงเพื่อใช้กรรม

ดวงวิญญาณที่อ่อนที่ล้า....เกิดขึ้นมาใต้เงาแห่งองค์พระพุทธและพระธรรม

เป็นทางเดียวสู่ทางนฤพาน อันเป็นทางที่หยุดใจ

โอ...อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

วิญญาณที่ทุกข์ทน วนเวียนเหมือนไม่สิ้นสุด

วางแล้วจงเดินตามทางองค์พระพุทธ ให้ใจมีพระธรรมนำทาง

บ่วงอันที่ก่อเกิดกรรม ติดและยึดยิ่งย้ำให้เกิดทุกข์ใจ

เพียงกายสดับหลับไป แต่ไม่พ้นต้องวนมาเพื่อใช้กรรม

ดวงวิญญาณที่อ่อนที่ล้า เกิดขึ้นมาใต้เงาแห่งองค์พระพุทธและพระธรรม เป็นทางเดียวสู่ทางนฤพาน อันเป็นทางที่หยุดใจ..."

(จากบทเพลง วนเวียนดังวัฏฏะ โดย หลวงปู่พุทธะอิสระ)


จาก http://yingthai-mag.com/magazine/reader/14394/4

<a href="https://www.youtube.com/v/uMkvd2uQEkk" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/uMkvd2uQEkk</a>





​(ต่อจากฉบับที่แล้ว)

บรรยากาศวันงานบุญใหญ่ ในงานทอดกฐินสามัคคี ประจำปี 2557 ที่วัดอ้อน้อย มีญาติโยมจำนวนมากเดินทางมาค้างคืนที่วัดอ้อน้อยเพื่อช่วยกันเตรียมงานอย่างคึกคัก ทางวัดได้จัดฉลององค์กฐินตั้งแต่เย็นวันที่ 1 พฤศจิกายน ราวหกโมงเย็น ที่ศาลาปฏิบัติธรรม ครั้นอรุณรุ่งยามหกโมงเช้า บรรดาพระภิกษุท่านฉันอาหารเช้ากันที่โรงครัว เพื่อให้สาธุชนที่มาร่วมงานได้ใช้สถานที่ในการรับประทานอาหารเช้า นอกจากนี้ยังมีญาติโยมสาธุชนทยอยหลั่งไหลมาร่วมงานกันตั้งแต่เช้าตรู่จนลานจอดรถของวัดที่มีอาณาบริเวณกว้างใหญ่แน่นขนัดและคับแคบลงภายในพริบตา

ถึงเวลาแปดโมงเช้าพระภิกษุท่านทยอยกันเข้าประจำอาสนะในมณฑลพิธี ต่อมาราวแปดโมงครึ่ง มีการตั้งองค์กฐิน พอได้เวลาเก้าโมงตรงหลวงปู่พุทธอิสระท่านเมตตาแสดงพระธรรมเทศนาให้ญาติโยมฟัง จนกระทั่งถึงเวลาสิบนาฬิกาจึงเข้าสู่พิธีการทอดกฐิน โดยมี "ย่า" หรือ คุณแม่อัมพร ทองประเสริฐ มารดาวัย 88 ปี ของหลวงปู่สวมใส่ชุดสีฟ้าสดใสละออตา ซึ่งใครๆเห็นแล้วก็อดปลาบปลื้มชื่นใจไปกับหลวงปู่ไม่ได้ มาร่วมเป็นประธานในพิธี ร่วมกับประธานฝ่ายฆราวาสอีกหลายท่าน

เสร็จจากพิธีทอดกฐิน ได้เวลาพระภิกษุท่านฉันเพล และญาติโยมสาธุชนอิ่มหนำสำราญกับอาหารอร่อยที่มาร่วมออกร้านในงานบุญ พอบ่ายโมงหลวงปู่เมตตาแสดงพระธรรมเทศนาอีกครั้งจากนั้นท่านจึงแจกของที่ระลึก สำหรับยอดเงินทำบุญกฐินในปีนี้ รวมแล้วราวเจ็ดล้านกว่าบาท เป็นที่น่ายินดีและร่วมอนุโมทนาสาธุ

ประเพณีทอดกฐิน เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สำคัญอย่างหนึ่งของพุทธศาสนิกชน นิยมทำกันตั้งแต่วันแรมหนึ่งค่ำเดือนสิบเอ็ด ไปจนถึงกลางเดือนสิบสอง และมีการปฏิบัติสืบๆกันมานานกว่า 2,600 ปี มาแล้ว เริ่มมีขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยพุทธกาล ในครั้งนั้นพระบรมศาสดาประทับอยู่ที่วัดเชตวัน ใกล้เมืองสาวัตถี ภิกษุชาวเมืองปาฐา จำนวน 30 รูป ประสงค์จะไปเฝ้าพระพุทธองค์ และร่วมจำพรรษา จึงพากันเดินทางไป แต่เมื่อเดินทางมาถึงเมืองสาเกตซึ่งอยู่ห่างจากเมืองสาวัตถีประมาณ 6 โยชน์ ก็ถึงวันเข้าพรรษาเสียก่อน จึงต้องจำพรรษาในเมืองสาเกตนั่นเอง

ในระหว่างที่จำพรรษาอยู่ก็เกิดความกระวนกระวายใจ เพราะไม่ได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์ตามที่ตั้งใจไว้แต่แรก เมื่อออกพรรษาปวารณาเสร็จแล้ว จึงพากันเดินทางไปเมืองสาวัตถีทันที แต่ก็ประสบปัญหาในการเดินทาง เพราะยังอยู่ในฤดูฝนจึงมีฝนตกชุก พื้นดินและถนนหนทางเจิ่งนองไปด้วยน้ำและโคลน ร่างกายก็ดี ผ้าไตรจีวรก็ดี บริขารอื่นๆก็ดี ล้วนเปียกชุ่ม เปรอะเปื้อน สร้างความไม่สะดวกและเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากการเดินทาง

เมื่อเดินทางมาถึงวัดเชตวันแล้ว ได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ทรงมีปฏิสันถารสอบถามความเป็นอยู่ จนถึงปัญหาอุปสรรคในการเดินทาง จึงกราบทูลตามความเป็นจริง เมื่อทรงสดับเรื่องราวและปัญหาเหล่านั้นแล้ว ทรงเล็งเห็นความลำบากของภิกษุทั้งหลายที่ต้องเดินทางในขณะที่ฝนตกชุกอยู่ มีพระประสงค์จะให้ภิกษุทั้งหลายไม่ต้องลำบากด้วยการเดินทาง และไม่ต้องลำบากด้วยจีวร จึงทรงบัญญัติเรื่องกฐินแก่ภิกษุทั้งหลายว่า "ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้รู้อยู่จำพรรษาแล้วกรานกฐินได้ ภิกษุผู้ได้กรานกฐินแล้ว ย่อมได้อานิสงส์ 5 ประการ คือเที่ยวไปโดยไม่ต้องบอกลา ไม่ต้องนำไตรจีวรไปครบทั้งหมด ฉันคณโภชนะได้ เก็บผ้าอื่นที่นอกจากไตรจีวรได้ตามความต้องการ และมีสิทธิได้จีวรที่เขาถวายแก่สงฆ์ในวัดนั้น" นับแต่นั้นประเพณีทอดกฐินจึงถือกำเนิดขึ้น และสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

หัวใจของการถวายผ้ากฐินก็คือ ผ้า 3 ผืน มี จีวร สบง สังฆาฏิ ผืนใดผืนหนึ่งในไตรจีวรเท่านั้น โดยทั่วไปนิยมใช้สังฆาฏิ ถ้ามากกว่านั้นก็เป็นอดิเรกจีวรหรือผ้าส่วนเกินเท่านั้น ซึ่งจัดเป็นหนึ่งในไทยธรรมหรือบริวารกฐิน การถวายผ้ากฐินเป็นการนำผ้ามาถวายแก่พระสงฆ์ในระยะเวลาที่กำหนดไว้เท่านั้น เลยเวลาไปแล้วไม่ได้ ส่วนวัดที่จะรับกฐินได้จะต้องมีพระอยู่จำพรรษาจำนวน ไม่น้อยกว่า 5 รูป หรือ 5 รูปขึ้นไปครบองค์สงฆ์จึงจะเป็นกฐิน แล้วก็จะต้องรับกฐินที่อาวาสหรือวัดของตัวเองเท่านั้น

คำว่า กฐิน หมายถึงผ้าพิเศษที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตแก่ ภิกษุสงฆ์เฉพาะกฐินกาล แปลตามศัพท์ได้ว่า ไม้สะดึง คือกรอบไม้สำหรับขึงผ้าที่จะเย็บเป็นจีวร ก่อนจะถึงกฐินกาลผู้ประสงค์จะถวาย ผ้ากฐินแก่ภิกษุสงฆ์วัดใดจะต้องไปแจ้งความจํานงว่าจะนำผ้ากฐินไปทอดที่วัดนั้นเป็นการล่วงหน้า การแสดงความจํานงล่วงหน้านี้เรียกกันว่า จองกฐิน การทําพิธีถวายผ้ากฐิน เรียกว่า ทอดกฐิน พระภิกษุผู้ได้รับมอบผ้ากฐินจากสงฆ์โดยวิธีที่กําหนดไว้ใน พระวินัย เรียกว่า ผู้กรานกฐิน ผู้ครองกฐิน หรือองค์ครองกฐิน เฉพาะผ้ากฐิน บางทีก็เรียกว่า องค์กฐิน ถ้าพร้อมกับของอื่นอันเป็นบริวารสําหรับถวายภิกษุสงฆ์ เรียกว่า เครื่องกฐิน หรือบริวารกฐิน เมื่อนําผ้ากฐินไปทอดโดยมีขบวน แห่ เรียกว่า แห่กฐิน ถ้ามีพิธีฉลอง เรียกว่า ฉลองกฐิน การที่ภิกษุสงฆ์ผู้ร่วมอยู่ในพิธีอนุโมทนาต่อองค์ครองกฐิน ตามพระวินัย หรือการที่บุคคลแสดงความยินดีในการที่เขาทอดกฐิน เรียกว่า อนุโมทนากฐิน ภิกษุสงฆ์ผู้ได้ อนุโมทนากฐินแล้วนั้น ย่อมได้ชื่อว่าเป็น ผู้กรานกฐิน ด้วย

ส่วนอีกคำที่ได้ยินกันบ่อยๆในพิธีทอดกฐินก็คือคำว่า อปโลกน์กฐิน หมายถึงการที่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเสนอขึ้นในที่ประชุมสงฆ์ถามความเห็นชอบว่าควรมีการกรานกฐินหรือไม่ เมื่อเห็นชอบร่วมกันแล้วจึงหารือกันต่อไปว่า ผ้าที่ทำสำเร็จ แล้วควรถวายแก่ภิกษุรูปใด การปรึกษาหารือ การเสนอความเห็นเช่นนี้เรียกว่า อปโลกน์ (อะ-ปะ-โหลก) หมายถึง ช่วยกันมองดูว่าเห็นสมควรอย่างไร เพื่อให้คณะสงฆ์นำผ้าไปอปโลกน์ ยกให้ แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งตามที่คณะสงฆ์ลงมติเมื่ออปโลกน์เสร็จแล้ว ก็ต้องสวดประกาศในหมู่สงฆ์ จึงนับว่าเป็นสังฆกรรมเรื่องกฐิน

เชื่อกันว่าอานิสงส์บุญกฐินนั้นมีมากมายมหาศาล เพราะบุญจากการทอดกฐินนับเป็นบุญพิเศษที่ทำได้ยากกว่าบุญอื่น เนื่องจากกฐินมีกำหนดระยะเวลาถวาย คืออยู่ในช่วง 1 เดือนหลังจากออกพรรษา หรือตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 หรือวันเพ็ญเดือน 12 ระยะเวลานี้เรียกว่า กฐินกาล คือระยะเวลาทอดกฐิน หรือเทศกาลทอดกฐิน ถ้าถวายนอกจากเวลาที่กำหนดนี้เรียกว่า ทอดผ้าป่า การถวายผ้ากฐิน จัดว่าเป็นสังฆทาน คือเป็นการถวายแก่คณะสงฆ์โดยไม่เจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง อีกทั้งมีกำหนดระยะเวลาถวายแน่นอน ห้ามเกินระยะเวลาที่กำหนด ดังนั้น การทอดกฐินนี้จึงเป็นทั้งสังฆทานและกาลทาน อีกทั้งเนื่องจากคณะสงฆ์วัดหนึ่งๆ สามารถรับกฐินได้ครั้งเดียวในรอบปี จึงทำให้การทอดกฐินกลายเป็นบุญประเพณีนิยมที่สำคัญของพุทธศาสนิกชนโดยเฉพาะในเมืองไทย และนับเป็นทานชนิดเดียวที่ผู้ให้และผู้รับได้อานิสงส์ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย

ฝ่ายผู้รับ คือภิกษุสงฆ์ เมื่อท่านรับกฐินแล้วย่อมได้รับอานิสงส์ตามพระวินัย 5 ประการ คือ 1. เที่ยวไปไหนไม่ต้องบอกลา ก็ไม่เป็นอาบัติ 2. เที่ยวไปไหนไม่ต้องถือเอาไตรจีวรไปครบสำรับก็ได้ ไม่เป็นอาบัติ 3. ฉันโภชนะเป็นหมู่เป็นคณะได้ ไม่เป็นอาบัติ 4. ฉันโภชนะที่รับถวายภายหลังได้ ไม่เป็นอาบัติ 5. เก็บอติเรกจีวรได้ตามปรารถนาตลอดกาล 4 เดือน และขยายเขตจีวรกาลออกไปได้ถึงกลางเดือน 4

ในขณะที่ฝ่ายผู้ให้ ทายกผู้ถวายกฐินทาน และผู้มีส่วนร่วมในงานบุญนี้ ด้วยการบริจาคทรัพย์ก็ดี ด้วยบริจาควัตถุสิ่งของก็ดี ย่อมได้อานิสงส์อันไพบูลย์ทั้งในภพนี้และภพชาติต่อๆไป อาทิ ทำให้เป็นผู้มีความมั่งคั่ง มั่นคงในโภคทรัพย์สมบัติและหน้าที่การงาน เป็นคนรูปงาม ผิวพรรณงาม เป็นที่รักของบุคคลทั่วไป เป็นผู้มีจิตใจบริสุทธิ์ผ่องใส ตั้งมั่นในสมาธิและเข้าถึงธรรมได้ง่าย แม้ละโลกแล้วย่อมได้ยังเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เป็นต้น โดยเฉพาะอานิสงส์แห่งการถวายผ้ากฐินแก่พระสงฆ์นั้น ต่อไปในภายหน้า ผู้ถวายย่อมจะมีเครื่องนุ่งห่มอันประณีตและบริบูรณ์ไม่ขาดแคลนเครื่องนุ่งห่มด้วยประการใดๆเลย จึงนับได้ว่ากฐินทานเป็นบุญใหญ่ มีอานิสงส์มากมายสุดประมาณ

ที่ใดมีกฐินก็มักได้เห็นสัญลักษณ์ของงานกฐิน คือมีธงจระเข้ ธงนางมัจฉาฯ อยู่ด้วย หลายคนอาจนึกสงสัยว่าทำไมต้องมี ที่มาของธงเหล่านี้มาจาก ในสมัยโบราณการแห่กฐินไปตามวัดต่างๆ นิยมไปกันทางเรือ บางคราวก็มีจระเข้มาหนุนเรือให้ล่ม กัดผู้คนบ้าง จึงมีการคิดอุบายทำธงจระเข้ปักไว้หน้าเรือ เสมือนบอกกล่าวให้สัตว์ร้ายในน้ำได้รู้ว่าเป็นงานบุญงานกุศล อย่าได้เข้ามาทำร้ายผู้คน และขอให้ร่วมอนุโมทนาบุญ



ส่วนอีกตำนานหนึ่งเป็นนิทานโบราณเล่าถึง เศรษฐีผู้หนึ่งเป็นคนขี้เหนียว ไม่เคยคิดที่จะทำบุญทำกุศล เมื่อได้ทรัพย์สมบัติมาก็นำไปฝังไว้ที่ท่าน้ำหน้าบ้าน ครั้นตายลงจึงไปเกิดเป็นจระเข้เฝ้าสมบัติของตน ได้รับทุกขเวทนามาก จึงไปเข้าฝันภรรยาให้มาขุดสมบัติที่ท่าน้ำเอาไปทำบุญ ฝ่ายภรรยาเมื่อขุดลงไปเจอทรัพย์สินเป็นอันมาก จึงตั้งใจนำเอาทรัพย์นั้นไปทำบุญตามประสงค์ของเศรษฐี จึงจัดให้มีการทอดกฐินขึ้น ถึงวันงานบุญ ภรรยานำเอาสิ่งของบรรทุกลงขบวนเรือมุ่งหน้าสู่วัด จระเข้เศรษฐีนั้นก็บังเกิดความยินดี ว่ายน้ำตามขบวนเรือแห่องค์กฐินมายังไม่ทันถึงวัดก็หมดแรง ไปต่อไม่ไหว จึงบอกกล่าวภรรยาขอให้วาดรูปจระเข้ใส่ธงไปในขบวนเรือด้วย แล้วก็สิ้นใจลง ภรรยาจึงจัดให้ช่างทำธงรูปจระเข้ขึ้นปักไว้ที่หัวเรือแล้วยกไปทอดกฐินด้วย นับแต่นั้นจึงมีธรรมเนียมทำธงจระเข้ขึ้นในงานกฐินสืบมา

ว่ากันว่าคติความเชื่อเรื่องนี้ตรงกับเรื่องบาปบุญทางพุทธศาสนา เตือนสติให้คนรู้จักเสียสละ ทำบุญบ้าง เมื่อสิ้นใจลงหากจิตใจยังเต็มไปด้วยความหวงทรัพย์สินและข้าวของเงินทองอยู่ก็จะเกิดเป็นสัตว์มาเฝ้าสมบัติ ตรงกับหลักธรรมที่ว่า ตายด้วยความโลภ จะเกิดเป็นเปรต ตายด้วยความโกรธจะตกนรก ตายด้วยความหวงจะเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน

ส่วนในแง่ของคำสอนนั้นผู้รู้ท่านว่า ความหมายของธงกฐิน มาจากที่พระพุทธเจ้าทรงตักเตือนพระภิกษุสามเณรผู้บวชในพระพุทธศาสนาให้ระวังภัย 4 อย่างที่จะเป็นเหตุให้ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ได้ไม่ยั่งยืน ต้องลาสิกขาไป โดยทรงอุปมาภัย 4 อย่างของพระภิกษุสามเณร กับภัยของผู้ลงไปเล่นน้ำ เปรียบดั่งการแสดงปริศนาธรรมให้ได้รับรู้ถึงภัยที่อาจจะเกิดขึ้นนั่นคือ 1. อุมมิภัย ภัยอันเกิดจากคลื่น เกิดจากความอดทนต่อโอวาทคำสอนมิได้ จึงเกิดความขึ้งเคียด คับใจ เบื่อหน่ายในคำตักเตือนพร่ำสอน จนต้องลาสิกขาไป 2. กุมภีลภัย หรือภัยจระเข้ คือภัยอันเกิดจากความเห็นแก่ปากท้อง ทนความอยากมิได้ เพราะถูกจำกัดด้วยวินัยในการบริโภค ทนไม่ได้จึงต้องลาสิกขาไป จระเข้ถูกนำมาเปรียบกับคนเห็นแก่กิน ด้วยเป็นสัตว์เห็นแก่กิน กินสัตว์ทุกชนิด 3. อาวฎภัย ภัยเกิดจากน้ำวน คือความห่วงพะวงในความสุขแบบชาวโลก เกิดจากความเพลิดเพลินยินดีในกามคุณ เช่น สะสมของสวยๆงามๆ 4. สุสุกาภัย ภัยอันเกิดจากปลาร้ายหรือนางมัจฉา หมายถึงภัยที่เกิดจากผู้หญิง คือไปหลงรักผู้หญิง หรือหมกมุ่นในกามคุณ มีความปรารถนาในเพศรส อยู่ไม่ได้ ต้องลาสิกขาไป

คนโบราณจึงนิยมทำเป็นรูปธง 2 ผืน ปักไว้คู่กันที่หน้าวัด คือภัยคลื่นกับภัยจระเข้ วาดรูปจระเข้ว่ายน้ำฝ่าคลื่น ส่วนภัยน้ำวนกับภัยปลาร้าย วาดรูปน้ำวนกับนางมัจฉา โดยนางมัจฉาแทนปลาร้ายและผู้หญิง มีน้ำวนรอบๆ ถ้าเห็นธงจระเข้ กับธงนางมัจฉา ที่ปักไว้หน้าวัดก็เป็นอันรู้กันว่า วัดนี้ได้ทอดกฐินแล้ว ผู้ที่ผ่านไปมาจะได้อนุโมทนาด้วย ปัจจุบันหลายวัดหันมาใช้ธงรูปธรรมจักรที่เป็นสัญลักษณ์ของพุทธศาสนาแทน ก็เป็นอันรู้ว่ามีงานกฐินเช่นเดียวกัน แต่สำหรับวัดอ้อน้อยยังคงใช้ธงสัญลักษณ์เดิมที่มีมาแต่โบราณ โดยธงกฐินของทางวัดนั้นปีนี้ทำมาเป็นปีที่ 3 ธงจระเข้ ทำเป็นรูปจระเข้คาบดอกบัวสามดอก แสดงถึงความตั้งใจมั่นที่จะบูชาคุณพระรัตนตรัย และธงนางมัจจาถือดอกบัว 3 ดอกเช่นกัน ธงทั้ง 2 มีสัญลักษณ์รูปยันต์สุริยะ ที่มีเครื่องหมายสวัสดิกะอยู่ภายในจำนวน 7 ดวง ซึ่งในบรรดาศิษย์ของหลวงปู่เป็นที่รู้กันว่ายันต์ประจำตัวหลวงปู่ คือสัญลักษณ์รูปสวัสดิกะ ที่หมายถึงพระเจ้าอันสูงสุด อันเป็นสัญลักษณ์แห่งมงคล

เครื่องหมายยันต์สุริยะ 7 ดวง ในธงคู่รูปจระเข้ และรูปนางมัจฉานี้ หลวงปู่ต้องการสื่อถึง อริยทรัพย์ทั้ง 7 คือ ศรัทธา ศีล หิริ โอตัปปะ จาคะ พาหุสัจจะ และปัญญา พร้อมทั้งมีข้อความว่า "โจรปล้นไม่ได้ น้ำท่วมก็ไม่หาย ไฟไหม้ไม่หมด"

หลวงปู่ท่านสอนว่า " บุญเป็นเครื่องยังให้ถึงสมบัติทั้งปวง ดังนั้น หากบุคคลใดขยันทำมาหากิน แต่ตระหนี่ถี่เหนียว ไม่สนใจในบุญทาน ก็จะได้แต่สมบัติในชาติปัจจุบัน แล้วก็เป็นคนที่โง่เอามากๆ บริหารทรัพย์ไม่เป็น เรียกว่า ไม่ใช้ทรัพย์ต่อทรัพย์ เผื่อไว้ในชาติต่อๆไปหรือในอนาคต คนมีทรัพย์แล้วไม่รู้จักใช้ทรัพย์ ไม่เอาทรัพย์มาสั่งสมอบรมอริยทรัพย์ ไม่สร้างให้ทรัพย์กลายเป็นอริยะ คือทรัพย์ที่จะติดตามตัวไปในภพชาติต่อๆไป ก็ถือว่าเป็นคนโง่เขลาเบาปัญญา คนสมัยโบราณนิยมทำทาน ทำบุญบริจาคแบ่งปันทรัพย์ของตนให้กับผู้อื่น ช่วยเหลือสัตว์อื่นที่ตกทุกข์ได้ยาก เพราะถือว่านี่คือกระบวนการที่จะสั่งสมอริยทรัพย์ ให้ติดตามตัวได้ตราบนานเท่านาน ข้ามภพข้ามชาติไปได้ แต่คนตระหนี่จะไม่มีสิทธิ์เป็นเจ้าของทรัพย์ใดๆเลย" อริยทรัพย์ จึงเป็นบุญอันยิ่งใหญ่ เป็นยิ่งกว่าสมบัติล้ำค่าใดๆที่จะติดตามไปทุกภพชาติ ตราบที่ยังเวียนว่ายอยู่ในวัฏฏะ

เกี่ยวกับเครื่องหมายสวัสดิกะ ที่หลวงปู่นำมาเป็นเครื่องหมายประจำตัวนี้ ในทางพุทธ ถือกันว่า ภาพสวัสดิกะ เป็นยันต์เก่าแก่ที่สุดในโลก ปรากฏหลังพระพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว ได้พบเครื่องหมายสวัสดิกะสลักไว้ในรอยพระบาทของพระพุทธเจ้า สวัสดิกะในศาสนาพุทธเป็นตัวแทนอันสูงสุดของพระธรรมที่สัตว์ต้องศึกษาเรียนรู้ มีบางคนพูดไปในทำนองว่าเป็นสัญลักษณ์ของนาซี แต่แท้ที่จริงเป็นสัญลักษณ์ของพุทธศาสนาที่มีมานานหลายพันปี ในรอยพระพุทธบาทคู่แรกๆของโลก ก็มีปรากฏสัญลักษณ์นี้ให้เห็น แล้วต่อมาภายหลังฝ่ายนาซีรู้ถึงความเป็นมงคลของสัญลักษณ์นี้จึงมาเอาไปใช้เป็นเครื่องหมายของพรรค ดังนั้น การนำเครื่องหมายนี้มาใช้จึงมิได้หมายถึงการฝักใฝ่ในอำนาจนิยมแบบพรรคนาซีแต่อย่างใด หากแต่หมายถึงการบูชาคุณแห่งพระรัตนตรัยอย่างสูงสุดที่มาแต่ครั้งโบราณกาล ผู้ที่มาทำบุญกับวัดอ้อน้อยก็จะเป็นที่รู้ดีว่าเงินทำบุญที่ตนเองทำไปนั้น เป็นการนำไปใช้เพื่อช่วยชาติ ช่วยวัด ช่วยศาสนา และพระมหากษัตริย์ เป็นที่ประจักษ์แจ้งกันดีอยู่แล้วว่า หลวงปู่ที่มีความกตัญญูต่อแผ่นดินยิ่งนัก โดยเฉพาะกับองค์พ่อหลวงและแม่หลวงของแผ่นดินที่มีพระชนมายุมากแล้วด้วยกันทั้งสองพระองค์ ในคราวที่ทั้งสองพระองค์เสด็จฯเข้าประทับรักษาพระองค์ที่โรงพยาบาลศิริราชคราวล่าสุด หลวงปู่ได้นำประชาชนมาร่วมกันสวดมนต์ถวายพระราชกุศลแด่ทั้งสองพระองค์ ในวันเสาร์ที่ 11 ตุลาคม 2557 เพื่อให้ทรงหายจากพระอาการประชวร และมีพระพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์ ถัดมาในวันพุธที่ 15 ตุลาคม 2557 เวลาราวสี่โมงครึ่งตอนเย็น เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังได้อัญเชิญแจกันดอกไม้สดพระราชทาน จาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง นำมอบถวายหลวงปู่พุทธะอิสระ โดยมี พระอธิการศิริชัย สิริโสภโณ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย (ธรรมอิสระ) เป็นตัวแทนรับมอบฯ

และต่อมาหลวงปู่ได้มีนัดหมายให้มาร่วมกันสวดมนต์ถวายพระราชกุศลให้กับในหลวงและพระราชินี ที่โรงพยาบาลศิริราช ทุกๆวันจันทร์ เวลาบ่ายโมงตรง ที่บริเวณสนามหญ้า ข้างพระบรมรูปสมเด็จพระราชบิดา หน้าศาลาศิริราช 100 ปี คณะพระภิกษุจากวัดอ้อน้อย และประชาชนส่วนใหญ่ที่พร้อมใจกันสวมใส่เสื้อเหลืองคละกันกับสีชมพู มาพร้อมกันแล้ว หลวงปู่จึงเริ่มนำเข้าสู่พิธีการสวดมนต์ถวายพระพร เริ่มด้วยบทนมัสการพระพุทธเจ้า บทสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ บทสรรเสริญคุณบิดา มารดา

จากนั้นเป็นบทสรรเสริญคุณครูอาจารย์ บทสวดโพชฌังคะปะริตตัง พระคาถาสักกัตวา คาถาโพธิบาท อะภะยาปะริตตัง ฯลฯ ที่ล้วนแล้วแต่เป็นบทสวดมนต์ที่เป็นมิ่งมงคล ขจัดปัดเป่าโรคาพาธทั้งปวงให้มลายหายสูญ ขอพระบารมีและพระกำลังของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระอรหันต์ทั้งหลาย ทวยเทพเทวาทั่วสากลภิภพปกป้องคุ้มครอง องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ ทุกๆพระองค์ ให้ทรงพระเกษมสำราญ และมีพระชนมายุยิ่งยืนนาน


จาก http://yingthai-mag.com/magazine/reader/14645/124
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 18, 2016, 05:26:55 pm โดย มดเอ๊กซ »
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


โรงเจหอคุณธรรมฟ้า (เทียนหงีตึ้ง)

“โรงเจไม่ใช่เรื่องนอกศาสนา พระพุทธะหรือพระโพธิสัตว์หวังให้มนุษยชาติได้อยู่ร่วมกัน ทำสิ่งที่ดีที่งดงาม พัฒนาตนไปตามลำดับขั้นเพื่อนำไปถึงซึ่งความหลุดพ้น พระศาสดาเจ้าจึงอบรมสั่งสอนให้มีการให้ทาน โรงเจเป็นสถานที่เจริญทาน เพื่อนำไปสู่การเจริญศีล และเจริญภาวนาเป็นลำดับและเป็นขั้นตอน ซึ่งมีพระ โพธิสัตว์เป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนาชีวิต สอนให้รู้ชีวิตเรียนชีวิต ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา เพื่อนำพาชีวิตไปให้ถึงซึ่งความดับทุกข์ทั้งปวง” หลวงปู่พุทธะอิสระ 5 ธันวาคม 2550

ชื่อโรงเจ “หอคุณธรรมฟ้า”

หมายถึง คุณธรรมของฟ้า ในเบื้องต้นคือ ความกตัญญู กตเวทิตาตอบแทนคุณ ซึ่งบนผนังกำแพงโรงเจจะมีรูปมังกร จารึกข้อความไว้ว่า “พ่อแม่มีคุณธรรมลูกหลานกตัญญู” มังกร หมายถึงความร่ำรวยรุ่งเรืองเจริญเกิดแก่ผู้มีกตัญญูรู้คุณ


มูลเหตุเบื้องต้นในการสร้างโรงเจ

หลวงปู่พุทธะอิสระได้เล่าให้ลูกหลานฟังหลายครั้งว่า ในครั้งอดีตท่านเคยอาพาธหนักจากโรคลำไส้ถ่ายเป็นเลือดซึ่งเป็นผลจากการไปธุดงค์ที่เขมร ขณะนอนอาพาธหนักอยู่รูปเดียวภายในโรงเจซอยแสนสุข ได้ฝันว่ามีสตรีแต่งกายด้วยอาภรณ์งดงามนำผลลูกท้อมาถวาย เมื่อท่านได้ฉันผลลูกท้อนั้นแล้วตื่นขึ้นในตอนเช้าอาการอาพาธต่าง ๆ หายไปหมด และพบว่าสตรีที่นำผลท้อมาถวายก็คือพระโพธิสัตว์กวนอิมที่ประดิษฐานอยู่ภายในโรงเจแสนสุขนั่นเอง เนื่องจากโรงเจแห่งนี้ไม่มีพระภิกษุประจำจึงถูกทิ้งร้างไม่มีคนดูแล หลวงปู่จึงได้ตั้งปณิธานไว้ว่าในอนาคตจะสร้างโรงเจถวายพระโพธิสัตว์เพื่อตอบแทนท่านผู้มีคุณ


การสร้างโรงเจ

เริ่มต้นก่อสร้างในปี 254…….. โดยหลวงปู่พุทธะอิสระเป็นผู้ออกแบบ และกำหนดแนวทางการสร้างทั้งหมด ท่านกล่าวว่าการสร้างโรงเจนั้นสร้างยากกว่าสร้างวัด สร้างโบสถ์ สร้างวิหารเพราะตำแหน่งของอาคาร วิหารต่างๆ ในโรงเจ รวมทั้งการประดิษฐานเทพเจ้า รูปเคารพ และสัญญลักษณ์มงคลต่าง ๆ ต้องถูกต้องตรงกับตำแหน่งและตัวเลขมงคลตามศาสตร์ฮวงจุ้ย เพื่อให้ผู้ที่มาทำบุญกราบไหว้ได้รับศิริมงคล โชคลาภ ความผาสุกอย่างแท้จริง ในช่วงแรกของการก่อสร้างโรงเจทางวัดได้จ้างช่างชาวจีนมาทำการก่อสร้าง แต่เมื่อหลวงปู่มาตรวจงานพบว่างานก่อสร้างไม่ได้คุณภาพ โครงสร้างอาคารผิดเพี้ยนไม่ตรงตามหลักมงคลฮวงจุ้ย แม้ข้อบกพร่องผิดพลาดเพียงเล็กน้อย แต่หลวงปู่ท่านจะสั่งให้ทุบทิ้งทันทีทำให้การก่อสร้างโรงเจเป็นไปด้วยความล่าช้า และสิ้นเปลืองงบประมาณโดยไม่จำเป็น ในที่สุดท่านได้ยกเลิกการจ้างคณะช่าง และเป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้างโรงเจทั้งหมดเอง ทำให้โรงเจหอคุณธรรมฟ้า เป็นโรงเจที่มีรายละเอียดที่ประณีตงดงาม และถูกต้องสมบูรณ์ตามหลักมงคลของศาสตร์ฮวงจุ้ยโบราณ เพื่อให้สาธุชนที่มาไหว้พระทำบุญ ณ สถานที่แห่งนี้ได้รับแต่สิ่งที่เป็นมงคลอย่างแท้จริง ปัจจุบันนี้อาคารสำคัญของโรงเจหอคุณธรรมฟ้าได้ก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมดแล้ว คงเหลือการก่อสร้างปลีกย่อย และการเก็บรายละเอียดต่าง ๆ และได้เปิดให้สาธุชนได้เข้ามาไหว้พระ สักการะเทพเจ้า ณ บริเวณด้านหน้าโรงเจ และสามารถชมความงามของพุทธศิลป์ จีน ธิเบต ไทย ภายในโรงเจได้ทุกวัน ประมาณการว่าโรงเจทั้งหมดจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ ภายในปี……………..นี้ ซึ่งจะได้มีพิธีศักดิ์สิทธิ์คือการอัญเชิญพระโพธิสัตว์ และเทพเจ้าต่าง ๆ เข้าประดิษฐาน ภายในโรงเจ และพิธีเฉลิมฉลองเปิดเป็นทางการให้ประชาชนได้เข้ามาทำบุญไหว้พระต่อไป


สถาปัตยกรรมและศิลปกรรมสำคัญ ของโรงเจหอคุณธรรมฟ้า

“ประตูสวรรค์” ซุ้มประตูด้านหน้าสุดของโรงเจ เปรียบได้ดั่งประตูสวรรค์ ที่นำสาธุชนเข้าสู่หนทางการเรียนรู้พัฒนาชีวิตของตนให้มีคุณธรรมสูงยิ่ง ๆ ขึ้น เหนือซุ้มประตูจารึกชื่อโรงเจด้วยตัวอักษรจีน 3 ตัว คือ เทียน – หงี – ตึ้ง หรือ หอคุณธรรมฟ้า หมายถึง คุณธรรมของฟ้าเบื้องต้น คือความกตัญญู กตเวทิตาตอบแทนคุณ บนผนังกำแพงมีรูปมังกร จารึกข้อความว่า “พ่อแม่มีคุณธรรมลูกหลานกตัญญู” มังกร หมายถึงความร่ำรวยรุ่งเรืองเจริญเกิดแก่ผู้กตัญญูรู้คุณ เมื่อผ่านประตูสวรรค์เข้าไปภายใน ด้านหน้าโรงเจจะเห็นเสาต้นใหญ่ ซึ่งอยู่ในทิศทั้ง 4 แต่ละต้นจะมีรูปเคารพและมีมงคลอยู่ในเสาทั้ง 8 ต้น เสาซ้ายมือด้านหน้า 2 ต้นเขียนเป็นภาษาจีน และ 2 ต้นด้านหลังเขียนเป็นภาษาไทยว่า “ดวงดาราคือทรัพย์สินบริวารของเจ้า” และ “สุริยันจันทราคือปัญญาของเจ้า” ส่วนเสาขวามือด้านหน้า 2 ต้น เขียนเป็นภาษาจีน และ 2 ต้นด้านหลังเขียนเป็นภาษาไทยว่า “ขุนเขาคือวาสนาของเจ้า” และ “ฟ้าคือชีวิตของเจ้า”


อาคารสำคัญภายใน โรงเจหอคุณธรรมฟ้า

ภายในโรงเจประกอบด้วย อาคารใหญ่ 2 อาคาร คือ อาคารวิหารเซียนฟ้า และอาคารวิหารพระโพธิสัตว์ มีอาคารหลังเล็ก 4 อาคารตั้งอยู่ด้านข้างซ้ายและขวาทั้งสี่ทิศรอบโรงเจ คือวิหารท้าวจตุโลกบาล เทพราชารักษาสวรรค์ทั้ง 4 ทิศ



วิหารท้าวจตุโลกบาล

อาคารซ้ายมือติดกับวิหารเซียนฟ้า คือที่ประทับของ ท้าวธตรฐ (ถี่กกเทียงอ้วง) เทพราชารักษาสวรรค์ทิศตะวันออก ธาตุดิน เขียนด้วยศิลปะจีน โทนสีเขียว น้ำตาล ส่วนอาคารขวามือของวิหาร คือที่ประทับของ ท้าวเวสสุวัณณ หรือท้าวกุเวร (ตอบุ๋งเทียงอ้วง) เทพราชารักษาสวรรค์ทิศเหนือ ธาตุน้ำ โทนเขียนด้วยศิลปะจีน ส่วนอาคารเล็กอีก 2 หลังที่อยู่ขนาบข้างวิหารพระโพธิสัตว์ชั้นใน อาคารซ้ายมือคือที่ประทับของ ท้าววิรุฬปักข์ (ก่วงมักเทียงอ้วง) เทพราชารักษาประตูสวรรค์ทิศตะวันตก ธาตุโลหะ เขียนด้วยศิลปะจีน อาคารขวามือคือที่ประทับของ ท้าววิรุฬหก (เจงเชียงเทียงอ้วง) เทพราชาสวรรค์ด้านทิศใต้ มือถือกระบี่ ธาตุไฟ เขียนด้วยศิลปะจีนโทนสีแดง
อาคารวิหารเซียนฟ้า

เป็นอาคารใหญ่ด้านหน้าสุดภายในโรงเจ แสดงภาพของสรวงสวรรค์ซึ่งเป็นที่ประทับของเทพเจ้าต่าง ๆ ซึ่งแต่ละองค์ล้วนมีเรื่องราวการได้ประกอบกรรมดี คุณธรรมอันใหญ่ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ จึงได้ส่งผลให้ได้มาเกิดเป็นเทพบนสวรรค์ ภายนอกด้านหน้าวิหารประดิษฐานประติมากรรมโลหะเทพผู้พิทักษ์สรวงสวรรค์ 2 องค์ ทางซ้ายมือคือ เทพเอ้อหลาง (เทพสามตา) เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ท่านเพียรทำความดีนับแสนครั้งและยังช่วยบิดาหาญสู้พญามังกรเพื่อช่วยราษฎร ทางขวามือคือ เทพนาจา เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ท่านแล่เนื้อขูดกระดูกตนเองให้พญามังกรเพื่อแทนคุณบิดา ด้วยคุณธรรมความกตัญญู กตเวทิตาต่อบิดาที่เลี้ยงดูมาด้วยชีวิตของตนเอง เมื่อสิ้นชีพลง ทั้ง 2 ท่านจึงอุบัติเป็นเทพบนสรวงสวรรค์



ภายในวิหารเซียนฟ้าเป็นที่ประดิษฐานเทพเจ้าสำคัญ 3 องค์

เง็กเซียนฮ่องเต้ เทพราชาแห่งสรวงสวรรค์ เป็นตัวแทนของความสมบูรณ์ด้วยยศ ศักดิ์ เกียรติ อำนาจ ประทับเป็นองค์ประธานตรงกลาง สร้างโดยศิลปะจากจีนผสมผสานกับธิเบต

เทพเจ้าไฉ่ซิ้งเอี้ย เทพเจ้าแห่งความมั่งคั่งร่ำรวย เงินทองโชคลาภ ประทับบนหลังเสือ ท่านเป็นผู้ดูแลคลังสมบัติของ ๓ โลก มือซ้ายถือดาบ มือขวาถือก้อนเงินก้อนทอง คล้องแขนด้วยหอยมุก

ภายในวิหารเซียนฟ้า ยังมีประตูสวรรค์ 3 ประตู เป็นทางออกของเทวดาที่กำลังจะจุติไปสู่ภพภูมิใหม่ เทวดาที่มีบุญต่างกันจะออกประตูสวรรค์แต่ละช่องไม่เหมือนกัน ประตูทางทิศตะวันออก เทวดาเมื่อหมดบุญออกประตูทางทิศตะวันออกก็จะไปเกิดเป็นเทวดาชั้นสูงขึ้นไป

ประตูช่องบันไดมังกร ถ้าออกช่องนี้จะได้ไปเกิดเป็นเจ้าเมืองเจ้าครองนคร หรือเป็นฮ่องเต้เป็นพระราชา ถ้าลงบันไดแก้วบันไดทองจะได้เกิดเป็นเสนาบดี เป็นอาจารย์ เป็นผู้มีสติปัญญา ช่องสุดท้ายคือ ประตูทางทิศตะวันตก หรือช่องทิ้งขยะ ช่องนี้ถ้าเทวดาหมดบุญตกสวรรค์ จะถูกผลักให้ลงประตูสวรรค์ ทางทิศตะวันตกไปเกิดในนรก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอำนาจแห่งกฏของกรรม ซึ่งเป็นสัจธรรมที่สัตว์ทั้งปวง หรือแม้แต่เทพเทวดาก็ไม่อาจหลีกหนี กฏของกรรมได้พ้น

ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารเซียนฟ้า มีภาพเขียนศิลปะจีน และธิเบตที่งดงามเขียนโดยช่างชาวจีนและธิเบต เป็นภาพของ 8 เซียน และเทพบนสวรรค์ ตามคติความเชื่อของชาวจีน ภาพบนผนังด้านตะวันออก เป็นภาพเง็กเซียนฮ่องเต้ประธานแห่งสรวงสวรรค์ ถัดลงมาเป็นพระโพธิสัตว์โปรดเทวดาบนสวรรค์ ทิศตะวันตกเป็นท้าวเวสสุวรรณ กลางวิหารเซียนฟ้ามีเสาขนาดใหญ่…..ต้น ประกอบไปด้วยเสามังกร กับ เสาหงส์ เสาริมซ้ายขวาสี่ต้นจะเป็นหงส์แบบลวดลายไทยละเอียด มังกรไทยมีลวดลายกนก เสากลางสี่ต้นจะเป็นมังกรจีน หงส์จีนหรือนกสวรรค์ ดอกไม้ของจีนคือดอกโบตั๋น และดอกพุดตาลดอกไม้ของไทย และแสดงภาพเขียนและประติมากรรมนูนต่ำฝีมือช่างธิเบต ประกอบไปด้วยสัญลักษณ์มงคลทั้ง 8 ของทิเบต คือ ฉัตรสีขาว ปลาคู่สีทอง แจกันแห่งโภคทรัพย์สีทอง ดอกบัว หอยสังข์ลายวนขวา เงื่อนมงคล ธงแห่งชัยชนะ และกงล้อหรือธรรมจักร ที่หัวเสาแกะเป็นบัว หมายถึงความอุดมสมบูรณ์ มีรูปนกมงคล และค้างคาว ซึ่งหมายถึงอายุยืน เพื่อให้ผู้ที่มากราบไหว้ได้รับพรและความเป็นมงคลต่าง ๆ อย่างครบถ้วน

พระมหาโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระกวนอิมปางสหัสสหัตถ์ สหัสสเนตร (พันมือ) เป็นองค์ประธานอยู่บนแท่นประทับใหญ่กลางวิหาร มีพุทธลักษณะงดงามอิ่มเอิบ สงบเย็น โดยหลวงปู่ได้มอบโจทย์ให้ช่างไทยผู้ปั้นพระประธานวัดอ้อน้อย ขึ้นแบบ และแก้ไขหลายครั้งจนได้เทวลักษณะที่งดงาม สมบูรณ์ พระอวโลกิเตศวร(กวนอิม) เป็นพระโพธิสัตว์ที่มีผู้เคารพนับถือมากที่สุด เพราะเชื่อกันว่าพระองค์เป็นผู้ทรงไว้ด้วยพระมหากรุณาอันกว้างใหญ่ ไพศาลในอันที่จะโปรดสัตว์โลก ที่ได้รับความทุกข์ให้พ้นจากทุกข์ พระนามของพระองค์ อวโลกิเตศวร นั้นหมายถึง “พระโพธิสัตว์ที่คอยสดับตรับฟังเสียงความทุกข์ของโลก” ส่วนปางพันมือนั้นมีที่มาในพระสูตรว่า เมื่อครั้งที่พระธิดาเมี่ยวซันสำเร็จเป็นพระโพธิสัตว์ ได้สละมือของท่านเพื่อช่วยพระบิดาซึ่งป่วยเป็นโรคร้ายไม่มีทางรักษาอันเนื่องมาจากกรรม ด้วยความกตัญญูทำให้เกิดเป็นมือ 1,000 มือ และมีดวงตากลางพระหัตถ์ ทรงซึ่งอาวุธและของวิเศษต่าง ๆ ล้วนเป็นสิ่งมงคลเพื่อช่วยเหลือปลดเปลื้องความทุกข์ของสรรพสัตว์ ทรงมีพระปณิธานว่า ตราบใดยังมีสรรพสัตว์ตกทุกข์ได้ยากอยู่ จะไม่ขอบรรลุพุทธภูมิ



พระศรีอาริยเมตไตรย์มหาโพธิสัตว์ พุทธลักษณะสำคัญของพระศรีอริยเมตไตรย์คือ เป็นรูปพระอ้วนท้องพลุ้ยนั่งหัวเราะ คนไทยเราเรียกกันว่า พระสังกัจจายน์ หรือหลวงพ่อผาสุก ท่านจะเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต มหาปณิธานของพระองค์ท่านคือ เมื่อรู้แล้วจักช่วยผู้อื่นรู้ด้วย เมื่อพ้นทุกข์แล้วจะช่วยผู้อื่นพ้นทุกข์ด้วย เมื่อข้ามโอฆะแล้ว จะช่วยผู้อื่นข้ามโอฆะด้วย เมื่อได้พุทธภูมิแล้วจะช่วยให้ผู้อื่นได้พุทธภูมิด้วย ในชั้นแรกหลวงปู่พุทธะอิสระได้มอบหมาย ให้ช่างไทยเป็นผู้ปั้นองค์หลวงพ่อผาสุก โดยกำหนดให้แสดงถึงพุทธลักษณะสำคัญคือ พุงป่อง สะดือหงาย นั่งยิ้มบนดอกบัว แต่ก็พบว่าแบบต่าง ๆ ที่ช่างทำมานั้นใช้ไม่ได้ แม้แก้ไขไปหลายครั้งแต่ดูอย่างไรก็ไม่สามารถสัมผัสถึงความสุขสมบูรณ์อย่างแท้จริงได้ ท่านจึงลงมือปั้นเอง ท่านเล่าว่าท่านจะรู้สึกเป็นสุขทุกครั้งในการปั้น เมื่อปั้นส่วนท้องที่พุงป่องกลมก็จะนึกถึงความสุขที่ได้เอาหน้าไปแนบท้องของหลวงพ่อชุ้น(พระธรรมเสนานี)วัดวังตะกู แล้วถามว่าจะคลอดหรือยัง หลวงพ่อจะหัวเราะชอบใจ ส่วนที่ต้อง สะดือหงาย นั้นเป็นเคล็ดสำคัญที่มีความหมายว่าเงินจะขังอยู่ ในสะดือที่หงายไม่หลุดล่วงหล่นหาย ลาภสักการะจะได้ขังไว้ได้ ที่มือข้างซ้ายมีกำไลหัวมังกรกินหางมังกร คล้องไว้ซึ่งมีความหมายว่ากินไม่หมด มีแต่กำไรมีเงินทองไหลออกมาจากถุง มือข้างขวาจะถือลูกประคำชึ่งมีความหมายแห่งสติปัญญา การศึกษา ท่านมีวิมานไม้โสนมีกลิ่นที่หอมเหมือนดอกโสน ในสวรรค์ชั้นกามาวจร ซึ่งเป็นผลบุญที่ท่านได้ทำไว้ในครั้งอดีตกาล ในสมัยที่ท่านเกิดเป็นเด็กเลี้ยงควาย เดินไปเลี้ยงควายผ่านไปพบพระปัจเจกพุทธเจ้านั่งฉันอาหารอยู่ริมสระน้ำที่มีแดดส่องเกิดความรู้สึกสงสาร จึงไปหักต้นโสนมาทำเป็นเสา 4 ต้น แล้วเอาผ้าที่ใช้ผูกชายพกของตัวเองไปขึงกันแดดให ้แล้วเฝ้าปฏิบัติพระปัจเจกพุทธเจ้าทุกวัน ด้วยผลบุญจึงได้เกิดเป็นเทวดาและมีวิมานดังกล่าว



ภาพจิตรกรรมฝาผนังในอาคาร

แสดงเรื่องราวจากพระสูตรมหากรุณาสูตร ซึ่งเล่าเรื่องมหากรุณาของพระโพธิสัตว์กวนอิมปางต่าง ๆ ที่เสด็จไปช่วยเหลือสรรพสัตว์ เขียนโดย คุณกาพย์แก้ว สุวรรณกูฏ ช่างไทยผู้เขียนจิตรกรรมในอุโบสถวัดอ้อน้อย เป็นงานศิลปะแบบจีนที่มีความงดงาม และได้ศึกษาค้นคว้ารายละเอียดต่าง ๆ อย่างดี บริเวณผนังอาคารโดยรอบแสดงภาพสวรรค์ทั้ง 6 ชั้น ทางทิศตะวันออก เขียนภาพสวรรค์ชั้นดุสิต ซึ่งเป็นที่ประทับของพระโพธิสัตว์ ผนังอาคารด้านทิศเหนือเป็นภาพพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ผนังอาคารด้านทิศใต้ แสดงภาพสวรรค์ชั้น ยามา นิมานรดี และปรนิมานรดี ซึ่งเป็นที่ประทับของพญามาร



บนเพดานหอพระโพธิสัตว์

เป็นภาพเขียนรูปมือพระโพธิสัตว์กวนอิม ทรงศาสตราวุธและของมงคลวิเศษต่าง ๆ ซึ่งเป็นสัญญลักษณ์ที่แสดงถึงปณิธาน และบารมีอันสูงส่งยิ่งใหญ่ของพระโพธิสัตว ์ที่สามารถโอบอุ้ม ช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นจากทุกข์ โดยการประพฤติคุณธรรมอันยากยิ่ง นานานับประการอย่างไม่ย่อท้อ พระโพธิสัตว์ จึงเป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนาชีวิต คือมนุษย์หรือสัตว์โลกที่มีชีวิตอย่างมีพัฒนาการ มีความมุ่งมั่นศรัทธาฝึกหัดปฏิบัติในวิถีโพธิธรรมทั้ง 10 ประการ จนสามารถพัฒนาตนเองจากสามัญสัตว์เป็นโพธิสัตว์ผู้สามารถพึ่งตนเองและช่วยเหลือขนสรรพสัตว์ให้พ้นจากทุกข์ นับเป็นวิถีการปฏิบัติบำเพ็ญบารมีอันยาวไกลและยากยิ่งเหนือกว่าเทพเทวดาใด ๆ สิ่งนี้คือแก่นธรรมซึ่งเป็นหัวใจของการสร้างโรงเจหอคุณธรรมฟ้าแห่งนี้ รวมถึงศาสนสถานอื่น ๆ ภายในวัดอ้อน้อย เพื่อให้ศิษย์และอนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ เป็นผู้มีศรัทธาที่จะฝึกหัดอบรมพัฒนา นำพาชีวิตของตนเองให้มีคุณธรรมสูงยิ่งขึ้น จากสามัญสัตว์ไปสู่อริยชน หรือโพธิชน จนเป็นผู้ที่มีชีวิตอย่างมีพัฒนาการสูงสุด คือถึงการดับแห่งทุกข์ได้

จาก http://issaradhamtv.com/ โรงเจหอคุณธรรมฟ้า-เทีย

http://photobynanan.blogspot.com/2014/06/blog-post_7.html
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...