เสียงจากทหาร"แนวหน้า" ณ วัน "พ่อหลวง"จากไปแม้ข่าวสารในยุคดิจิทัลจะรวดเร็วและไหลบ่า เสียจนทำให้ ข่าวลือ-ข่าวเท็จ กลายเป็นข่าวจริงไปได้ด้วยความเชื่อและกระแส แต่มีข่าวหนึ่งที่คนไทยทั้งชาติไม่ต้องการให้เป็น "ข่าวจริง" นั่นก็คือข่าว พระอาการประชวร และการเสด็จสู่สวรรคาลัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ
ในหลวง ผู้ทรงเป็นจอมทัพไทย มีความผูกพันเชื่อมโยงกับกองทัพทั้งโครงสร้างอำนาจ รัฐธรรมนูญ วัฒนธรรม ประเพณี ในขณะที่ทหารก็ทำหน้าที่พิทักษ์รักษาสถาบันกษัตริย์ และทำหน้าที่อื่นตามรัฐธรรมนูญระบุไว้ในการปกป้องอธิปไตย การรักษาความสงบเรียบร้อย ดูแลประชาชน กระทั่งกลายเป็นความสัมพันธ์ที่ยากจะแยกออกจากกัน
จึงไม่แปลกที่ทุกฐานปฏิบัติการในป่าเขา แนวชายแดน ที่มีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ท่านสถิตทุกแห่ง เหนือจรดใต้ ตะวันออกยันตะวันตก ไม่อยากได้ยิน "ข่าวร้าย" แต่ในยุคนี้ข่าวสารไว ติดจรวดผ่านโทรศัพท์มือถือสมาร์ตโฟนที่มีเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไลน์ การรับรู้ในลักษณะเหมือนเตือนให้รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นอาจทำให้ทหารทำใจได้ในระดับหนึ่ง แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องรับรู้เรื่องจริงก็ยัง น้ำตาซึม-จุก "อึ้ง-พูดไม่ออก" ไปตามๆ กัน
...ชายแดนด้านตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อ 5 ปีก่อนพื้นที่ดังกล่าวเป็นสนามแห่งการสู้รบ อันเกิดจากปัญหาพิพาทเรื่องเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน กองทัพภาคที่ 2 ยังคงมีการวางกำลังเพื่อรักษาอธิปไตยในพื้นที่ มีการตั้งฐานห่างจากทหารเพื่อนบ้านประมาณ 50 เมตร แต่ยังพัฒนาสัมพันธ์พูดคุย เล่นกีฬากันตามปกติ
ร้อยเอก ศุภชัย ภาโส ผู้บังคับกองร้อยที่ 112 หน่วยเฉพาะกิจที่ 1 ฐานปฏิบัติการภูมะเขือ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ เล่าว่า ก่อนหน้าที่พระองค์ท่านจะจากไป ได้ติดตามข่าวสารจากทางเฟซบุ๊ก อ่านข้อมูลจากแอปพลิเคชันไลน์ต่างๆ ในวันที่ 13 ตุลาคม ช่วงทุ่มกว่าหลังรัฐบาลประกาศให้ฟังข่าวสารจากทางราชการ พวกเราก็เข้าไปติดตามข่าวจากการประกาศอย่างเป็นทางการ และไลน์กลุ่มของทางการ รวมถึงการโทรศัพท์ไปถามคนที่บ้าน คนใกล้ชิด เมื่อรู้และได้รับการยืนยันว่าเป็นเรื่องจริง น้ำตาก็ไหลออกมาเอง ช่วงนี้ฝนตกบ่อยโทรทัศน์ที่ตั้งอยู่ในฐานใช้การไม่ได้ เนื่องจากเราใช้แผงโซลาเซลล์กำเนิดไฟฟ้า ทำให้ไฟไม่พอ และโทรศัพท์ก็มีสัญญาณแค่บางจุด ก็ไปยืนรวมกันตรงจุดนั้นเพื่ออ่านข่าวสารข้อมูลทางโทรศัพท์
เขาเล่าว่า เมื่อทุกอย่างแน่นอนแล้ว ตนก็บอกผู้ใต้บังคับบัญชาให้มารวมกันที่ทำการของฐาน ทั้งผู้หมู่ ผู้หมวด เพื่อสวดมนต์ถวายท่าน พร้อมกับชี้แจงลูกน้องว่า ให้กระจายข่าวสารให้กำลังพลของเราที่อยู่ตามจุดต่างๆ ที่ยังไม่ได้รับทราบข่าว ให้ได้รับทราบข่าวสารว่าเกิดอะไรขึ้น ส่วนทหารกัมพูชาที่ตั้งฐานไม่ไกลกันนั้น เงียบสงบ เขาให้เกียรติเรา เพราะคงรู้ข่าวสารว่าเกิดอะไรขึ้นกับคนไทย
"บรรยากาศในฐานเงียบสงัด พอรู้ข่าวต่างคนก็ต่างเดินไปคนละทาง ไม่รู้ว่าในใจเขาคิดอะไรกัน แต่รู้ว่าทุกคนเศร้า ส่วนผมคือการตั้งสติแล้วก็ทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาในการดูแลสถานการณ์ความสงบเรียบร้อย รองรับสถานการณ์ รักษาอธิปไตยของชาติ เพราะยังไงพระองค์ท่านก็ยังอยู่ในใจของพวกเราไม่ไปไหน เราเป็นทหาร แม้จะรู้สึกสะเทือนใจก็ต้องมีวินัยและทำหน้าที่ของเราให้สมบูรณ์ แม้จิตใจคนในชาติอาจจะอ่อนแอ แต่ทหารรั้วของชาติต้องเข้มแข็ง และแข็งแรง เพื่อป้องกันชาติบ้านเมืองของเราไม่ให้พวกที่ไม่หวังดีเข้ามาทำอะไรบ้านเมืองของเรา"
ร้อยเอก ศุภชัย กล่าวว่า เขาจบจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ได้เป็นลูกศิษย์ของทูลกระหม่อมอาจารย์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีความผูกพันกับสถาบัน อีกทั้งเราถูกปลูกฝังจากสถาบันการศึกษา จากรุ่นพี่ ถึงความเหนื่อยยากลำบากของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และส่วนตัวก็เห็นท่านทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจผ่านทางสื่อต่างๆ มากมาย ทำให้ซึมซับไปในความรู้สึกของเราตั้งแต่เด็ก เห็นพระองค์ท่านเป็นแนวทางในการทำงานและดำเนินชีวิต
.
...ข้ามไปดูแนวหน้าด้าน เหนือสุดของประเทศ ยังคงมีทหารจากกองทัพภาคที่ 3 ดูแลอธิปไตยตลอดแนวชายแดน โดยพวกเขาติดตามข่าวสารพระอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ มาตลอด ยิ่งสถานการณ์ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวลือค่อนข้างมาก การส่งต่อข่าวสารจากผู้บังคับบัญชา และจากหน่วยเหนืออย่างเป็นทางการจึงมีความต่อเนื่อง เพื่อให้พื้นที่ห่างไกลได้รับข่าวที่เที่ยงตรงที่สุด
ร้อยเอก ธีระทัศน์ อัครพงศ์ฐิติ ผู้บังคับกองร้อยทหารม้าที่ 1 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารม้าที่ 3 ดูแลพื้นที่บ้านห้วยอื้น ต.เทอดไท อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย มีฐานปฏิบัติการบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา จำนวน 15 ฐานที่ยังปฏิบัติหน้าที่ในป่าเขา ในช่วงเวลาที่คนไทยได้รับทราบข่าวสารจากทางการจากสื่อโทรทัศน์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจฯ พวกเขาซึ่งลาดตระเวนอยู่แนวชายแดนออกสนามไป 2-3 วัน ได้รับการยืนยันข่าวสารจากแอปพลิเคชันไลน์กลุ่มของหน่วยจากฐานปฏิบัติที่หมู่บ้านห้วยอื้น ส่วนบรรยากาศภายในฐานปฏิบัติการนั้นเต็มไปด้วยความเศร้าหมอง
"วันที่ 12 ตุลาคม มีข่าวลือมาบ้างเล็กน้อย จนกระทั่งมีคำสั่งจากหน่วยเหนือให้กำลังพลจัดกิจกรรมสวดมนต์ให้ในหลวง จากนั้นวันรุ่งขึ้นตอนเช้ากำลังพลก็ออกไปใส่บาตร ทำบุญ สวดมนต์ที่วัดเชียงคำกาขาว จนตอนเย็นก็มาสวดมนต์ที่วัดกันอีกครั้ง จนกระทั่งประมาณหกโมงเย็น มีคำสั่งให้เตรียมพร้อมและฟังแถลงการณ์จากทางการ และทางผู้บังคับกองพันก็ได้เรียกพวกเราให้มารับฟังพร้อมกัน ที่ฐานก็จะมีโทรทัศน์หนึ่งเครื่องก็มารับฟังพร้อมกัน พอฟังจบทุกคนเงียบ น้ำตาซึม เดินแยกย้ายกลับไป ส่วนผมก็ขับรถออกไปลาดตระเวนในหมู่บ้านจนถึง 2-3 ทุ่ม หลายบ้านเปิดไฟ สวดมนต์ ผู้เฒ่าผู้แก่ร้องไห้"
เขาเล่าด้วยว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นหมู่บ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ 6 กลุ่ม แต่ที่มีจำนวนมากที่สุดคือไทยใหญ่ ทุกบ้านมีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ท่าน เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงช่วยเหลือพวกเขา ทำให้พวกเขาสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านมาตลอด ที่ได้รับพวกเขาไว้เป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย เมื่อครั้งนั้นที่ถูกผลักดันมา จนเขาอยู่รอดปลอดภัย มีที่อยู่อาศัยในผืนแผ่นดินไทยจนถึงวันนี้
"ก่อนหน้านี้ผมลงไปปฏิบัติหน้าที่ที่จังหวัดยะลามา 2 ปี เมื่อมีการถอนทหารจากกองทัพภาคออกมา ผมก็กลับมาปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่รับผิดชอบของหน่วย และมาประจำอยู่ที่นี่ ทุกฐานก็จะมีรูปในหลวงติดอยู่ทุกฐาน ผู้บังคับบัญชาบอกผมว่า หากเหนื่อยก็ให้ดูรูปท่านว่าท่านเหนื่อยกว่าเรามาก จะได้มีกำลังใจ ผมก็บอกตัวเองว่าเป็นทหารก็ต้องทำหน้าที่ให้สมกับเป็นทหารของพระองค์ท่าน" ผบ.ร้อยผู้นี้ระบุ
......ด้าน ใต้สุดของประเทศ พื้นที่รอยต่อระหว่างเทือกเขาบูโดกับเทือกเขาตะเว "ทหารดำ" หรือทหารพรานยังทำหน้าที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ มีการตั้งฐานปฏิบัติการในหมู่บ้าน ลาดตระเวนในป่าเขาที่ยังมีการเคลื่อนไหวของผู้ก่อความรุนแรงอยู่ประปราย ในขณะที่ภารกิจของทหารเป็นการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้ประชาชน และยังช่วยเหลือเรื่องความเป็นอยู่ แก้ไขปัญหาในพื้นที่ห่างไกลที่ยังต้องการการสนับสนุนอีกหลายด้าน ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเคยเสด็จพระราชดำเนินมาแล้วเมื่อในอดีต
พันตรี มนัส เมืองปลอด ผู้บังคับกองร้อยทหารพรานที่ 4506 ต.มะรือโบตก หมู่ที่ 6 ต.มะรือโบตก อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ฐานพระองค์ดำ เล่าว่า หลังจากรับทราบข่าวผ่านแถลงการณ์สำนักพระราชวัง รู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้ง ในฐานะที่เป็นคนไทย และเป็นทหารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปฏิบัติหน้าที่ทุกวันเพื่อตอบแทนเบื้องพระยุคลบาทตามที่พระองค์เคยมีรับสั่งว่า ให้ข้าราชการทุกคนดูแลพี่น้องประชาชน ดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ในช่วงเวลานั้นคือเหมือนร้องไห้ไม่ออก จุก บรรยายไม่ถูก เหมือนขาดอะไรไปซักอย่าง พูดบ้านๆ ก็เหมือนว่าเราขาดพ่อไป เราจะทำอย่างไร ดูแลบ้านอย่างไรเหมือนที่พ่อสอนไว้ ตอนนี้ท่านขึ้นสวรรค์ไปแล้ว แต่เรายังอยู่ ก็ต้องดูแลบ้านแทนท่านให้เรียบร้อย
"ก่อนที่จะประกาศทางโทรทัศน์ ประมาณ 6 โมงเย็นมีคำสั่งให้รวมพล ใส่เสื้อขาว ตั้งแถวหน้าฐาน พร้อมถือพระบรมฉายาลักษณ์ จากนั้นได้ร้องเพลงชาติและเพลงสรรเสริญพระบารมี จากนั้นทุกคนก็รับคำสั่งในการปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะเตรียมพร้อมร้อยเปอร์เซ็นต์ ดูแลให้ทุกอย่างสงบเรียบร้อย ไม่ให้เกิดอะไรแทรกซ้อน หรือการสร้างสถานการณ์จากผู้ไม่หวังดี ก็คงเพื่อรอรับช่วงเวลาที่เศร้าที่สุดของคนไทย "
พันตรี มนัส กล่าวว่า ในพื้นที่นี้พระองค์ท่านเคยเสด็จพระราชดำเนินมาที่บ้านหมู่ 6 บ้านอาแว มาเนื่องจากชาวบ้านประสบปัญหาเรื่องน้ำเป็นอย่างมาก มีการเรียกร้องให้สร้างที่เก็บน้ำแต่มีปัญหาเรื่องที่ดิน จึงไม่ได้สร้าง จนเมื่อปลายปีที่แล้วโครงการเพิ่งแล้วเสร็จ มีประปาภูเขา มีอ่างเก็บน้ำ ตามโครงการของกรมชลประทาน ประชาชนไม่เดือดร้อนเรื่องน้ำอีกต่อไป
เขาเล่าว่า ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา หมู่บ้านพื้นที่ที่ตนรับผิดชอบไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น แต่เดิมตรงนี้เคยเกิดเหตุใหญ่ในการถล่มฐานพระองค์ดำ แต่เราก็ปฏิบัติหน้าที่อย่างระมัดระวัง และระหว่างทำงานก็ระลึกอยู่เสมอว่าต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา ต้องปฏิบัติกับประชาชนทุกภาษา ทุกศาสนาที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทยอย่างเสมอภาค อย่าไปสร้างเงื่อนไขให้ประชาชนไม่ชอบ เมื่อมีอะไรผิดปกติชาวบ้านก็บอกเรา ทหารเราต้องทำงานการเมือง เจ้าหน้าที่ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ฝ่ายปกครอง ทหาร ต้องไม่สร้างเงื่อนไข เชื่อว่าเหตุการณ์ความรุนแรงก็จะยุติลงได้ การเอาใจเขามาใส่ใจเรา ทหารเป็นฝ่ายดูแลประชาชน เหมือนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านทรงทำมาตลอด ชาวบ้านก็จะอยู่กับเรา
....ขณะที่แนวหน้า ชายแดนตะวันตก ก็มีทหารพรานปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาอธิปไตย รักษาความสงบเรียบร้อยภายในอยู่เช่นกัน ในด้านนี้แม้จะไม่มีสถานการณ์สู้รบ แต่ภัยคุกคามด้านอื่นๆ ยังคงปรากฏอย่างต่อเนื่อง ทว่าภารกิจในการดูแลประชาชนรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้คนไทย ไม่ว่าจะเป็นชาติพันธุ์ใดก็ต้องทำหน้าที่อย่างเท่าเทียม
ร้อยเอก ต่อพงษ์ ศิวิลัย ผู้บังคับกองร้อยทหารพรานที่ 1405 ฐานปฏิบัติการบ้านพุน้ำร้อน อ.บ้านเก่า จ.กาญจนบุรี พร้อมด้วยกำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่บริเวณฐานในพื้นที่ป่าติดกับหมู่บ้าน และชายแดนไทย-เมียนมา เล่าว่า ก่อนหน้านั้นเพียง 1 วัน พันเอก วรรธ อุบลเดชประชารักษ์ ผู้บังคับการกรมทหารพรานที่ 14 ได้นำพวกเราไปถวายพระพรชัยมงคลที่โรงพยาบาลศิริราช เพื่อให้พระองค์ท่านทรงหายจากพระประชวรโดยเร็ว
“วันนั้นเป็นวันพุธ มีข่าวลือมากมาย ทั้งทางโซเชียลมีเดีย จากปากต่อปาก แต่เราอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช นายก็ให้เราฟังจากข่าวสารที่เป็นทางการ และแถลงการณ์สำนักพระราชวังเท่านั้น”
เขาเล่าว่า พอกลับไปทำหน้าที่ที่ฐานปฏิบัติการก็ยังมีข่าวลือบ้าง แต่ก็ไม่หนักเหมือนเมื่อวันพุธ แม้จะมีการยืนยันแต่เราก็ไม่อยากเชื่อ จนกว่าเราจะฟังจากประกาศสำนักพระราชวัง จนช่วงเย็นวันพฤหัสบดีทุกคนก็มานั่งรวมกันหน้าจอทีวี จนกระทั่งมีพิธีกรมาอ่านว่าในหลวงจากไปแล้ว ลูกน้องก็เดินออกไปทีละคนสองคน บางคนร้องไห้ บางคนซึมเหมือนจุกอก
“เราเป็นทหารที่อยู่ในพื้นที่ชายแดน อยู่ไกลจากความเจริญ อยู่กับประชาชน ถูกสอนให้ช่วยเหลือชาวบ้าน และก็ใช้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งการฝึกอาชีพ ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ เราเข้าไปช่วยชาวบ้านตลอด แม้กระทั่งหมู่บ้านฝั่งพม่าเราก็ช่วย พอเขารับทราบข่าวก็เสียใจเหมือนกัน ในส่วนของทหารคงไม่ต้องพูดถึง เราถูกปลูกฝังเรื่องความรักสถาบัน ความจงรักภักดี เสียสละเพื่อส่วนรวม ไม่อย่างนั้นคงไม่มาอยู่ตรงนี้ ในที่ทุรกันดาร ต้องผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกำลังกันออกลาดตระเวนในพื้นที่ล่อแหลม ถ้าไม่อยากทำจริงๆ ฝืนใจทำไม่ได้ จากนี้ผมก็จะสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ในการดูแลช่วยเหลือประชาชนอย่างดีที่สุด ในส่วนตัวก็จะทำดีเพื่อแผ่นดินของในหลวงต่อไป" ร้อยเอก ต่อพงษ์ กล่าวพร้อมร้องไห้
เหล่านั้นเป็นถ้อยคำพร่างพรูที่ออกมาจากทหารที่ทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติ และประชาชน ตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ที่เสด็จสู่สวรรคาลัยไปแล้ว แต่พระองค์ท่านยังสถิตอยู่ในหัวใจเหล่าบรรดาทหารหาญที่พร้อมเสียสละตนเพื่อส่วนรวมตลอดไป.
จาก
http://www.thaipost.net/ /?q=เสียงจากทหารแนวหน้า-ณ-วัน-พ่อหลวงจากไป