คีตราชนิพนธ์ บทเพลงในดวงใจราษฎร์ จากแรงบันดาลใจ4บทเพลงพระราชนิพนธ์ สู่ 4 ภาพยนตร์เทิดพระเกียรติ
เนื่องในวาระมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “คีตราชนิพนธ์ บทเพลงในดวงใจราษฎร์” โครงการภาพยนตร์เทิดพระเกียรติ 4 เรื่องที่รังสรรค์แรงบันดาลใจจาก 4 บทเพลงพระราชนิพนธ์ โดย 4 ผู้กำกับภาพยนตร์ชั้นแนวหน้าของเมืองไทย ได้กลับมาฉายให้ชมฟรีอีกครั้ง ระหว่างวันที่ 2-7 ธันวาคมนี้ ในโรงภาพยนตร์เครือเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ทั่วประเทศ
ทั้ง “The Singers” โดย นนทรีย์ นิมิบุตร, “อมยิ้ม” โดย วัลลภ ประสพผล, “ฝนตกที่ห้วยขาแข้ง” โดย ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ และ “ดาว” โดย ยงยุทธ ทองกองทุน ที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก 4 บทเพลงพระราชนิพนธ์ ได้แก่ “ชะตาชีวิต”, “ยิ้มสู้”, “สายฝน” และ “ความฝันอันสูงสุด” พร้อมเล่าเรื่องราวความประทับใจอีกครั้งหนึ่ง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระอัจฉริยภาพทางด้านดนตรี ที่ผู้กำกับภาพยนตร์ทั้ง 4 ได้เล่าผ่านภาพยนตร์สะท้อนภาพชีวิตต่างวัยทั้ง 4 เรื่อง หลังจากที่ได้รับโจทย์จากบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ที่มุ่งหวังเผยแพร่พระปรีชาสามารถทางดนตรีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้เป็นที่ประจักษ์ โดยเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 4 บทเพลงที่ไพเราะและมีความหมายลึกซึ้งมาเป็นแรงบันดาลใจในแนวคิดของแต่ละเรื่อง และเปิดโอกาสให้ผู้กำกับแต่ละคนได้เลือกสรรอย่างอิสระ
นนทรีย์ นิมิบุตร คุ้นเคยและชื่นชมบทเพลง “ชะตาชีวิต” มาตั้งแต่เด็ก จากความสะเทือนใจบางอย่างที่มีกลิ่นอายของความเหงาและความรู้สึกที่ไร้คนเหลียวแล จึงนึกถึงคนแก่ที่ถูกทอดทิ้งให้อยู่บ้านตามลำพัง
The Singers เล่าถึงเรื่องราวของคุณยายสองคนที่มีชีวิตที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ระหว่างคนหนึ่งเก็บดีวีดีในกองขยะมาวางขายที่ตลาด และโดนตำรวจจับปรับสองแสนบาท และอีกคนมาจากข่าวเล็กๆ ในหน้าหนังสือพิมพ์ เป็นคุณป้าเศรษฐีที่เป็นโรคร้ายผู้เบื่อลูกหลานต่อสู้แย่งชิงทรัพย์สมบัติจึงหนีออกมาอยู่วัดได้อยู่ใกล้ชิดศาสนาเพื่อจะจากไปอย่างสงบ แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือมีเพลงขับเคลื่อนชีวิต ท้ายสุดสามารถเรียนรู้ซึ่งกันและกันจนก่อเกิดความผูกพัน และการสานต่อความฝันของอีกฝ่ายด้วยความเต็มใจ มากกว่านั้นคือแม้มีเรื่องเศร้ามากมายแต่ตอนท้ายยังคงมีความหวังและทางออกเสมอ ดั่งใน “ชะตาชีวิต” ได้ว่าไว้
ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ มีภาพและเรื่องของสืบ นาคะเสถียรอยู่ในความทรงจำมาตั้งแต่เยาว์วัย และเมื่อได้ฟังเพลง “สายฝน” ที่ว่า “...เมื่อลมฝนบนฟ้ามาลิ่ว ต้นไม้พลิ้วลู่กิ่งใบ เหมือนจะเอนรากคลอนถอนไป แต่เหล่าไม้ยิ่งกลับงาม..” ภาพของนักต่อสู้แห่งห้วยขาแข้ง จึงผุดขึ้นมาอีกครั้ง คุณประโยชน์ที่สืบ นาคะเสถียร สร้างไว้คือการทำงานเพื่อส่วนรวม ไม่ท้อถอยต่ออุปสรรคเหล่านั้นควรอย่างยิ่งที่จะสืบสานเจตนารมณ์และเรื่องราวสู่รุ่นต่อๆ ไป
“ฝนตกที่ห้วยขาแข้ง” เรื่องจริงของ “สืบ นาคะเสถียร” หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง นักสู้ผู้อุทิศชีวิตเพื่อผืนป่าเมืองไทย ในช่วงสี่ปีสุดท้ายที่เขามุ่งมั่นและต่อสู้เพื่อยุติการตัดไม้ทำลายป่า และล่าสัตว์ป่าอย่างไม่เกรงกลัว ต่อกฎหมาย สืบยืนหยัดต่อกรกับอิทธิพลมืด นักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริตด้วยมือเปล่า และหัวใจที่จะไม่ยอมให้ผืนป่าของเมืองไทยต้องหมดสิ้นไปเพราะความโลภและเห็นแก่ตัว
วัลลภ ประสพผล ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง “อมยิ้ม” ชื่นชมบทเพลงพระราชนิพนธ์ “ยิ้มสู้” ในฐานะที่มีความหมายเชิงบวกทั้งแง่คิดและกำลังใจในการดำเนินชีวิต เพราะโลกทุกวันนี้อยู่ยาก แต่ด้วยการมองโลกอย่างเป็นจริงจะทำให้คนเราผ่านไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าสู้ไปด้วยและยิ้มไปด้วยแล้ว ย่อมฝ่าฟันได้ทุกเรื่อง
“อมยิ้ม” จึงเล่าถึงเด็กหนุ่มคนหนึ่งฉายา “จ่าเฉย” ผู้ยิ้มไม่ได้ ร้องไห้ไม่เป็น แต่วันหนึ่งต้องแสดงละครเวที น่าติดตามว่าสิ่งใดกันที่ทำให้เขาลุกขึ้นมา “ยิ้มสู้”
ยงยุทธ ทองกองทุน ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง “ดาว” ประทับใจในบทเพลง “ความฝันอันสูงสุด” มายาวนาน และสังเกตว่าส่วนใหญ่อยู่ในโอกาสงานใหญ่ไกลตัว ทั้งที่ความฝันนั้นอยู่ในทุกวัย จึงเชื่อมโยงเรื่องราวผ่านเด็กๆ ที่จะเป็นอนาคตของชาติ
“ดาว” เป็นเรื่องของเด็กชาย 2 คนที่ขอไล่ล่า “ดาว” เพื่อชิงตำแหน่งผู้เชิญธงชาติที่มีได้เพียงหนึ่งซึ่งเป็นความฝันเพื่อทำให้พ่อภูมิใจ เหมือนเป็นความฝันอันสูงสุด ทั้งนี้ความฝันสูงสุดอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เราต้องไปให้ถึงอย่างเดียวเสมอไป ถ้าทำความเดือดร้อนให้คนอื่นหรือจำเป็นต้องทำผิดจริยธรรม ก็หาใช่ความฝันสูงสุดไม่
ครั้งนี้ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด และบริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด ในฐานะผู้จัดทำโครงการเปิดที่นั่งรอถึง 300,000 ที่นั่ง และจัดฉายระยะยาวนานขึ้น โดยวันที่ 2-4 ธันวาคม เปิดฉายวันละ 1 รอบ จากนั้นวันที่ 5-7 ธันวาคมเปิดฉายวันละ 4 รอบ ติดตามรอบการฉายและวิธีการรับบัตรชมภาพยนตร์เพิ่มเติมได้ที่
http://www.คีตราชนิพนธ์.com และ Facebook:คีตราชนิพนธ์
สำหรับ “สายฝน” เป็นบทเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 3 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2489 ท่วงทำนองมีลีลานุ่มนวลอ่อนหวาน ไพเราะ เปรียบดั่งสายฝนที่โปรยปรายสร้างความชุ่มชื่นสู่แผ่นดินและหัวใจผู้ฟัง
เพลงพระราชนิพนธ์ “H.M. Blues ชะตาชีวิต” เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 5 ทรงพระราชนิพนธ์หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์ และเสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีกวาระหนึ่ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษ
เพลงพระราชนิพนธ์ “ยิ้มสู้” เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 16 ทรงพระราชนิพนธ์ในปี 2495 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทย เพื่อเป็นการปลอบขวัญและให้กำลังใจแก่คนตาบอด แล้วพระราชทานให้นำไปบรรเลงในงานสมาคมช่วยคนตาบอดในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันเสาร์ที่ 1 มีนาคม 2495
และเพลงพระราชนิพนธ์ “ความฝันอันสูงสุด” เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 43 ทรงพระราชนิพนธ์ในปี 2514
มากกว่าการฟังเพลงจึงเป็นการสร้างความจดจำอย่างลึกซึ้งผ่านศิลปะอีกรูปแบบหนึ่ง เนื่องจากเพลงและภาพยนตร์สามารถรองรับความรู้สึกซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่จะได้เรียนรู้และสัมผัสกับบทเพลงอันทรงคุณค่าต่อไป
จาก
http://www.komchadluek.net/news/ent/217636คีตราชนิพนธ์ บทเพลงในดวงใจราษฎร์ - "The Singers" : https://tv.line.me/v/1178439
คีตราชนิพนธ์ บทเพลงในดวงใจราษฎร์ - "อมยิ้ม" : https://tv.line.me/v/1178429
คีตราชนิพนธ์ บทเพลงในดวงใจราษฎร์ - "ฝนตกที่ห้วยขาแข้ง" : https://tv.line.me/v/1186034
คีตราชนิพนธ์ บทเพลงในดวงใจราษฎร์ - "ดาว" : https://tv.line.me/v/1185997