เรื่องดี ๆ ที่ต้องแชร์ เมื่อนักข่าวต่างชาติเล่าเรื่องในหลวงรัชกาลที่ ๙ ในมุมมองของโลกเสรีนิยมประชาธิปไตยโดยทั่วไปแล้ว อาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเข้าใจระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในประเทศไทยได้อย่างถ่องแท้ และยิ่งยากที่จะเข้าใจได้อย่างลึกซึ้งว่า เหตุใดประชาชนในประเทศและชุมชนคนไทยทั่วโลกจึงพากันเศร้าโศกในเวลาเดียวกันของค่ำคืนวันที่ 13 ต.ค. 2559 อย่างที่ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อน อย่างน้อยก็ในรอบหนึ่งร้อยปี
เหตุใดคนไทยทุกหมู่เหล่าจึงตกอยู่ในห้วงอารมณ์แห่งความโศกเศร้าพร้อมกันจนมารวมตัวกันเป็นชั่วโมง หรือแม้แต่เป็นวันเพื่อแสดงความไว้อาลัยร่วมกัน หลายคนต่างเป็นคนแปลกหน้าที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ในประเทศที่ยังมีการแบ่งขั้วทางการเมืองอย่างชัดเจนอยู่ และแม้แต่คนที่อยู่ห่างออกไปหลายพันกิโลเมตรในเมืองบอสตัน แมสซาชูเซตส์ ยังร่วมกันฝ่าลมหนาวในคืนฤดูใบไม้ร่วง เพื่อมาร่วมวางดอกไม้เพื่อแสดงความไว้อาลัยที่หน้าจตุรัสภูมิพล โรงพยาบาลเมาต์ออเบิร์น
เนอร์มัล โกช ผู้สื่อข่าวอาวุโสและหัวหน้าข่าวภาคพื้นอินโดจีนของหนังสือพิมพ์สเตรทไทมส์ ในสิงคโปร์ ระบุว่า อาจเป็นเพราะคนไทยกำลังสูญเสีย “พ่อแห่งแผ่นดิน” กับการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ในฐานะประธานสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (เอฟซีซีที) ตั้งแต่ปี 2008-2012 โกชได้ร่วมกับนักข่าวต่างชาติกลุ่มหนึ่งเข้าเฝ้าฯ รอรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อปี 2008 และทำให้ได้รับทราบอีกมุมมองหนึ่งต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ของไทย
โกช เล่าว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีความยินดีที่ได้พบกับกลุ่มนักข่าวต่างชาติ และได้ร่วมสนทนากันนานกว่า 2 ชั่วโมง โดยในระหว่างการสนทนาครั้งนั้น พระองค์ทรงถ่ายทอดถึงความสนพระทัยในดนตรี เรื่องสิ่งแวดล้อม และเรื่องในพระราชวงศ์อย่างเปิดเผย พระองค์ทรงเล่าด้วยอารมณ์ขัน ซึ่งทำให้ผู้ฟังต้องพากันหัวเราะ
ในการเข้าเฝ้าฯ ครั้งนั้น พระองค์ยังตรัสถามด้วยความห่วงใยอย่างจริงใจ หลังเห็นว่าตัวเองนั้นบาดเจ็บที่ขาจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระชนมพรรษา 81 พรรษา ในขณะนั้น ซึ่งแก่กว่าพ่อของผมไม่กี่ปี พระองค์ได้ตรัสถึงเรื่องการสูญเสียค่านิยมดั้งเดิมบางอย่างในสังคมไทย ไปจนถึงเรื่องป่าไม้ การสร้างเขื่อน และสนามกอล์ฟ ทำให้ผมนึกถึงพ่อของตัวเอง โกช ระบุ และว่าการที่ตนเองมาจากสังคมเอเชียนั้น ทำให้เข้าใจได้ถึงวัฒนธรรมการเคารพผู้อาวุโส และเป็นเรื่องที่ค่อนข้างง่ายที่จะรู้สึกเคารพและเชื่อฟังพระองค์ได้อย่างเป็นธรรมชาติ
เดนนิส ดี เกรย์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสของสำนักข่าวเอพี ที่เคยมีโอกาสติดตามพระองค์ท่านไปทำข่าวพระราชกรณียกิจในไทย ตั้งแต่พื้นที่ภูเขาในภาคเหนือ นาข้าวของภาคอีสาน ไปจนถึงชุมชนชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในช่วงปลายทศวรรษ 1970 และได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยจากสมัยที่เคยปกคลุมด้วยความยากจน ไปสู่ขุมพลังใหม่ทางเศรษฐกิจที่เชื่อมพลวัตของโลก และเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวหลายล้านคนดังเช่นปัจจุบัน
เกรย์ระบุเช่นกันว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไม่ทรงถือพระองค์และทรงเข้ากับยุคสมัยใหม่ได้เป็นอย่างดี ทรงมีพระอารมณ์ขัน ทรงมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย และทรงผสานความเป็นตะวันตกเข้ากับความเป็นไทยพุทธได้เป็นอย่างดี ซึ่งอาจเป็นเพราะการถ่ายทอดมาจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทำให้ได้เห็นอีกมุมมองของพระองค์ที่ต่างไปจากในงานพระราชพิธีอันเคร่งขรึม
ทั้งนี้ โกช ยังระบุในบทความของสเตรทไทมส์ว่า ขณะที่ในช่วงหลายเดือนที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงรักษาพระองค์อยู่ในโรงพยาบาล ชาวไทยล้วนกังวลถึงพระอาการประชวรของพระองค์ ซึ่งถือเป็นกษัตริย์เพียงพระองค์เดียวที่คนไทยในยุคนี้รู้จัก แต่คนไทยกลับไม่ต้องการพูดถึงข่าวการสวรรคตนัก
ผมถามเพื่อนคนไทยว่าทำไมคนจึงไม่เต็มใจที่จะพูดถึงการเสด็จสวรรคตของพระองค์นัก ทั้งที่เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้โดยสัจธรรม เขาก็นิ่งไปสักพักก่อนตอบว่า คุณเคยคิดเตรียมตัวสำหรับการเสียชีวิตของพ่อตัวเองหรือเปล่า
ผู้สื่อข่าวอาวุโสยังอ้างข้อความของ จัสมิน เชีย นักศึกษาไทยวัย 20 ปี ซึ่งศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ร่วมอภิปรายกับสำนักข่าวบีบีซี ในประเด็นการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า เข้าใจลักษณะการรายงานข่าว โดยเฉพาะสื่อตะวันตกที่มุ่งสนใจการถกเถียงประเด็นการเมือง แต่คนไทยต้องการมีเวลาอย่างน้อย 1 วันที่จะรู้สึกเสียใจอย่างที่สุดต่อการจากไปของผู้ที่เป็นเหมือนพ่อของชาวไทยทุกคน
โกช ระบุว่า ทั้งผู้เป็นลูกและเป็นพ่อแม่ทุกคนต่างรู้ดีว่า ความสัมพันธ์กับพ่อแม่สำหรับลูกทุกคนเป็นเรื่องที่ลึกซึ้งและซับซ้อน เพราะแม้จะอยู่ห่างไกลแค่ไหนแต่ก็ยังสัมผัสได้ถึงการมีอยู่ของพ่อแม่ พ่อแม่เป็นคนในอุดมคติของลูก แต่ก็ต้องยอมรับอย่างเจ็บปวดว่า พ่อแม่ก็มีข้อผิดพลาด ข้อดีเสียเหมือนมนุษย์ทั่วไป
ผมเคยสูญเสียพ่อของผมไปเมื่อไม่กี่ปีหลังเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผมจำได้ว่าเป็นความรู้สึกที่โหดร้ายมากที่สุดจากการสูญเสียพ่อของเราไป วินาทีนั้นผมตระหนักรู้ว่า เราต้องอยู่ด้วยตัวเองหลังจากนี้
ขณะที่การเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในครั้งนี้ ประชาชนทั้งประเทศก็กำลังประสบกับความรู้สึกที่โหดร้ายนั้นเช่นเดียวกัน หรืออาจมากกว่าในการสูญเสียผู้เป็นทั้งพ่อและพระราชาแห่งแผ่นดิน
เรียบเรียงโดย สถาพร สำนักข่าวทีนิวส์
ขอบคุณข้อมูลจาก New Straits Timesจาก
http://inter.tnews.co.th/contents/212134/