ความรู้เกี่ยวกับพระพิฆเนศวร์อย่างที่ตรงกับ “แขก” ของเราเพิ่งสถาปนาขึ้นในสมัยรัชกาลที่6 ซึ่งทรงสนพระทัยในภารตวิทยา และเพิ่มพูนมากขึ้นในปัจจุบันนี้เอง
บทบาทของพระพิฆเนศวร์แต่โบราณของเราค่อนข้างคลุมเครือและไม่ได้เป็นอย่างที่เราเข้าใจในตอนนี้ กล่าวคือ ไม่ได้มีบทบาทด้านศิลปวิทยา ไม่ได้มีบทบาทด้านขจัดอุปสรรคหรือความสำเร็จ
แม้แต่ในโองการแช่งน้ำหรือคำไหว้ครูโขนละครและช่าง ก็ไม่มีพระนามปรากฏ แม้จะมีเทวรูปสักการะกันมาช้านานแล้ว
นอกจากนี้ ในคติดั้งเดิมของเรายังมีความเชื่อว่า “พระขันทกุมาร” เป็นองค์เดียวกันกับพระพิฆเนศวร์อีกด้วย
คัมภีร์นารายณ์ยี่สิบปาง (ต้นรัตนโกสินทร์) มีปรากฏตำนานว่า เมื่อพระขันทกุมารจะโสกันต์แต่เศียรหลุดด้วยวาจา “อ้ายลูกหัวหาย จะนอนให้สบายก็มิได้” ของพระนารายณ์ สุดท้ายได้ศีรษะช้างมาต่อ
แล้วเฉลิมพระนามใหม่เป็นพระพิฆเนศวร์
เรื่องพระคเณศเป็นองค์เดียวกับพระขันทกุมารนี้ ผมลองค้นในตำราของแขกโดยเฉพาะปุราณะต่างๆ ก็ยังไม่เจอ ชะรอยตำนานนี้เราจะแต่งเองกระมัง
หรือเป็นไปได้ว่า อาจมีอยู่ในตำนานของชาวบ้านทางอินเดียใต้สักฉบับ ใครทราบโปรดแจ้งเบาะแสจะเป็นพระคุณยิ่ง
ดังนั้น จึงมีผู้สันนิษฐานว่า เหตุใดพระคเณศตามคติเก่าของเราจึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับศิลปวิทยาและการประพันธ์อย่างของแขก เพราะเราไปผูกพระพิฆเนศวร์ไว้กับพระขันทกุมารซึ่งเป็นเทวเสนา เป็นเทพแห่งการสงคราม
นอกจากนี้ ผมยังคิดว่า อาจเพราะพระคเณศในบ้านเรามีบทบาทหนึ่งที่สำคัญกว่าบทบาทอื่น คือเป็น “ครูหมอช้าง” ในทางคชศาสตร์
ใน “ตำราช้าง” และ “ตำรานารายณ์ยี่สิบปาง” ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ มีการกล่าวถึงเทพที่สำคัญในทางคชศาสตร์ได้แก่ “พระศิวบุตร” สองพระองค์ คือ “พระพิฆเนศวร์” กับ “พระโกญจนาเนศวร” และเทพเจ้าอีกองค์นามว่า “พระเทวกรรม”พระศิวบุตรพิฆเนศวร์นั้นมิได้มีบทบาทในตำราช้างมากไปกว่าที่ระบุไว้ว่า หากพบช้างที่มีงาเดียวแต่กำเนิด ถือว่าเป็นศุภลักษณ์เพราะคล้ายกับลักษณะของพระองค์ และให้หมอช้างพึงเคารพนับถือพระพิฆเนศวร์องค์นี้ด้วย
ส่วนพระโกญจนาเนศวร์ศิวบุตร ทั้งในตำราช้างและนารายณ์ยี่สิบปางระบุรูปลักษณะที่ตรงกัน คือมีเศียรช้างสามเศียรหกกร ในพระกรทั้งหกมีช้างที่มีในสวรรค์เช่นเอราวัณ ช้างเผือกเอกโทตรีและสังข์ทักษิณาวัตรอุตรวัฏที่มีในโลก ประทับยืนบนช้างเจ็ดเศียร
มีบทบาทสำคัญในทางคชศาสตร์ว่าทรงสร้างช้างเผือกสำหรับบรรดาพระราชาในโลกนี้
แต่พระพิฆเนศวร์ในอินเดียไม่มีพระนามและปาง “โกญจนาเนศวร์” ส่วนเทวลักษณะที่ใกล้เคียงที่สุดเป็นพระคเณศสามเศียร เรียกว่า “ตรีมุขคณปติ” (พระคณบดีสามพักตร์) มีกล่าวถึงในตำราตัตวนิธิของอินเดียใต้ และไม่ได้มีบทบาทเกี่ยวกับช้างแต่อย่างใด
ท่านพระยาอนุมานราชธน สันนิษฐานว่า พระนาม “โกญจนาเนศวร”นี้ น่าจะเป็นนามของพระขันทกุมาร เพราะคำว่า “โกญจ” ตรงกับสันสกฤตว่า “เกราญจ” ซึ่งเป็นภูเขาที่พระขันทกุมารเสด็จไปประทับ
“โกญจนาเนศวร” จึงมีความหมายว่า ผู้เป็นใหญ่เหนือแผ่นพักตร์เกราญจะ (ตามการแปลของอาจารย์มณีปิ่น พรหมสุทธิลักษณ์) ดังนั้นก็ควรหมายถึงพระขันทกุมาร
และคงด้วยอิทธิพลความเชื่อแต่โบราณที่ถือว่าพระขันทกุมารและพระคเณศเป็นองค์เดียวกันนี่เอง พระนามโกญจนาเนศวร์จึงถูกใช้กับเทพที่มีเศียรช้างพระองค์นี้
แต่ผมมีข้อสังเกตเล็กๆ เพิ่มเติมครับ คือในตำราช้าง มิได้เขียนว่า “โกญจนาเนศวร” เหมือนในตำรานารายณ์ยี่สิบปาง แต่เขียนว่า “โกญจนาทเนศวร์”
โกญจนาท แปลว่า “เสียงร้องของช้าง” ฉะนั้น เป็นไปได้ว่า พระนามที่ควรเป็นคือ “โกญจนาเทศวร” (พระเป็นเจ้าที่มีเสียงร้องของช้าง) หรือ “โกญจนาทเนศวร” อาจมาจาก โกญจนาทนฺ + อีศวร ตามวิธีสนธิสันสกฤตสไตล์ทมิฬ ซึ่งนี่เป็นเพียงข้อสังเกตเบื้องต้นมากๆ และอาจแสดงให้เห็นว่า พระนามนี้ไม่ได้เกี่ยวกับพระขันทกุมารตามที่สันนิษฐานกัน
ส่วนอีกองค์ที่ซับซ้อนและสับสนมากยิ่งไปกว่าคือ “พระเทวกรรม” หรือ “เทพกรรม”
ในตำราช้าง ภาพพระเทพกรรมเป็นภาพเทวบุรุษ มีหกกร ประทับนั่งถือบ่วงบาศนาคราช มีคำบรรยายว่า” พญาองค์นี้ชื่อเทพกรรม”
ในตำรานารายณ์ยี่สิบปางก็มีรูปเดียวกันนี้ แต่บรรยายไว้ว่า “พระนารายณ์เทพกรรม”
แต่ทั้งนี้ นอกจากภาพพระนารายณ์เทพกรรมแล้ว ในตำรานารายณ์ยี่สิบปางยังมีภาพพระเทพกรรมหรือเทวกรรมแบบอื่นซึ่งไม่มีในตำราช้าง คือภาพเทพที่มีเทวลักษณะเช่นเดียวกับพระพิฆเนศวร์ทุกประการ มีสองกร ประทับยืน ในพระหัตถ์ถืองาหัก หรือบางครั้งถือคทาด้วย
ตำนานฝ่ายคชศาสตร์ เล่าว่าพระนารายณ์เสด็จไปปราบช้าง “เอกทันต์” และตั้งชาวบ้านสี่คนเป็นผู้ช่วย พร้อมถ่ายทอดสรรพวิชาเกี่ยวกับคชกรรมให้ ทั้งสี่คนนี้จึงได้กลายเป็นครู “ปะกำ” (คำนี้แปลว่าเชือกบาศที่ใช้คล้องช้าง) ของหมอช้างทั้งหลาย
พราหมณ์พฤฒิบาศที่กระทำพิธีเกี่ยวกับช้างจึงถือกันว่าเป็นฝ่าย “พระนารายณ์” ผิดกับพวกพราหมณ์ราชพิธีที่ถือ “พระศิวะ” ส่วนหมอช้างส่วนใหญ่ทั้งหลวงและราษฎร์นับถือ “ครูปะกำ” ซึ่งไม่มีลักษณะอย่างอินเดีย แต่เป็นลักษณะผีพื้นเมืองมากกว่า
น่าแปลกที่ในพระราชพิธีเกี่ยวกับช้างต้องเชิญเทวรูป “พระเทวกรรม” ที่เป็นรูป “พระพิฆเนศวร์” (เช่นเดียวกับที่มีในนารายณ์ยี่สิบปาง) แต่ไม่มีการเชิญพระโกญจนาเนศวร์หรือพระนารายณ์เทพกรรม ทั้งๆ ที่ไม่มีตำนานหมอช้างใดที่เกี่ยวข้องกับพระพิฆเนศวร์ “เทวกรรม” องค์นี้
ในอินเดียไม่มีพระพิฆเนศวร์หรือเทพเจ้าชื่อ “เทวกรรม” และคำนี้มีความหมายเพียงว่า “การกระทำของเทวดา” ซึ่งดูจะไม่มีนัยพิเศษอะไรกับบทบาทที่มีผมลองไปสืบดูอย่างคร่าวๆ เกี่ยวกับตำราคชศาสตร์ของอินเดีย โดยมีเล่มที่สำคัญได้แก่ หัสติอายุรเวท, มาตังคลีลาและคชศาสตร์ โดยมากเขียนขึ้นในอินเดียภาคใต้
ไม่มีเล่มใดเลยที่กล่าวถึง พระเทวกรรม หรือแม้แต่พระพิฆเนศวร์ในปางใดๆ ก็ตาม
เข้าใจว่าในอินเดียพระคเณศก็คือช้างอยู่แล้ว แม้จะมีบางปางที่สะท้อนว่าพระองค์น่าเกี่ยวกับคชศาสตร์ เช่น การที่ทรงถืออังกุศและปาศ (ขอช้างและเชือกบาศ) แต่ก็มิได้มีการยกพระองค์ขึ้นเป็น “ครูหมอช้าง” อย่างในอุษาคเนย์
พระเทวกรรมจึงเป็นเทพของเราโดยแท้ เป็นพระพิฆเนศวร์ในแบบที่อินเดียไม่มีและไม่รู้จักพระองค์หนึ่ง
ที่จริงก็อาจกล่าวในอีกแบบว่า พระเทวกรรม คือผีครูหมอช้างพื้นเมืองที่เราไปหยิบยืมรูปลักษณ์ของพระพิฆเนศวร์จากอินเดียมาใช้ อาจเพราะเห็นว่าเทวลักษณะของเทพองค์นี้เหมาะแก่การเป็น “ครู” ของคชกรรมหรือเรื่องช้างอย่างที่สุด
เขียนไปเขียนมา ผมเลยขอเสนออีกว่า แม้แต่พระนาม “เทวกรรม” หรือ “เทพกรรม” (อ่าน เทบ-พะ-กำ) ก็ไม่ใช่คำแขกหรือมาจากเทพแขกองค์ไหน
แต่น่าจะมาจากคำ “เทพปะกำ” (ออกเสียงคล้ายเทพกรรม) คำพื้นเมืองเรียกผีครู (ปะกำ) ผสมคำแขก (เทพ) ที่ถูกทำให้กลายเป็นคำที่ดูแขกมากขึ้นเมื่อต้องอยู่ในราชสำนักนั่นเอง
อานุภาพของผีในอุษาคเนย์นี่แน่นอนจริงๆ
จาก
https://www.matichonweekly.com/column/article_2493