ผู้เขียน หัวข้อ: ความเข้าใจ(ผิด)เกี่ยวกับ “รามายณะ” : คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (เชฟหมี)  (อ่าน 1529 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด



คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : ความเข้าใจ(ผิด)เกี่ยวกับ “รามายณะ” (1)

ประเด็นเรื่อง “โขน” กลายเป็นประเด็นร้อนระหว่างไทยกับเขมรว่าตกลงเป็นของใครกันแน่

ปราชญ์หลายท่านจึงได้จังหวะเสนอความรู้อะไรหลายหลาก ซึ่งนั่นทำให้ผมเองก็ได้ความรู้ไปด้วยเช่นกัน

สุดท้ายก็มีข้อเสนอที่น่าสนใจว่า ต้องเข้าใจให้ได้ว่ามันเป็นวัฒนธรรมร่วมของอุษาคเนย์

และบางท่านยังเสนอว่าถ้าจะจดทะเบียนอะไรต่างๆ ก็จดแยกกันไปเลยดีกว่า

ที่จริงผมสนใจเรื่องโขนละครพอสมควรครับ แต่เป็นในมิติศาสนาและความเชื่อ

คือเห็นว่าโขนนี่สะท้อนอะไรหลายอย่างในความเชื่อโบราณของเรา จึงตั้งใจไว้นานแล้วว่าจะลองเขียนเรื่อง “ศาสนาโขน-ละคร” ดู

แต่ช่วงนี้มีเรื่องที่แทรกเข้ามาในใจแล้วอยากเขียนก่อน ที่จริงก็เกี่ยวกับเรื่องโขนนิดหน่อยครับ คือเรื่องความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ “รามายณะ” อันเป็นที่มาของ “รามเกียรติ์” ของเราที่เอาไว้เล่นโขนนั่นแล

ประการแรก ผมขอใช้พื้นที่นี้โต้แย้งบทความเรื่อง “รามายณะ มหากาพย์กับพุทธศาสนา” ของคุณกลิ่นบงกช ในมติชนรายวัน ฉบับวันที่ 18 พฤษภาคม 2558

สมัยนั้นยังไม่ได้เขียนในมติชนครับ ครานี้สังคมมีประเด็นเรื่องโขนเลยได้โอกาส

ประเด็นที่คุณกลิ่นบงกชเสนอ ผมสรุปมาดังนี้ คือ

ข้อแรก เสนอว่าวาลมีกิผู้แต่งรามายณะ มีความตั้งใจจะกดพระพรหมให้ต่ำลงและยกชูพระเจ้าองค์ใหม่ขึ้นมาคือพระวิษณุ ด้วยเหตุว่าพระพรหมที่เคยสำคัญหนักหนาของพราหมณ์ แปรพักตร์ (ทั้งสี่) ไปเข้ากับพุทธศาสนาเสียแล้ว

ข้อที่สอง ศังกราจารย์ (ที่คุณบงกชอ้างว่าเกิดในปี พ.ศ.1331-1361) ผู้เคยบวชเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา เป็นผู้แต่งรามเกียรติ์เพื่อจะยกชูเทพองค์ใหม่เช่นกัน แทนที่พระพรหมด้วยพระศิวะ แทนที่พระอินทร์ด้วยพระวิษณุ (ซึ่งอ้างว่าสีเขียวเหมือนกัน) สร้างเรื่องให้พระพุทธเจ้าเป็นอวตารของพระวิษณุ

ข้อสาม ทำพระศิวะให้ดูดีโดยถือว่าพระศิวะนั้นเป็นต้นวงศ์ของพระราม คือให้กำเนิดท้าวอโนมาตันบรรพบุรุษพระราม แต่ให้พระพรหมซึ่งเป็นต้นวงศ์ทศกัณฐ์อยู่ฝ่ายร้าย เพราะให้กำเนิดท้าวลัสเตียนบรรพบุรุษทศกัณฐ์

สุดท้ายเปล่งน้ำเสียงคล้ายยั่วยุให้ชาวพุทธมีน้ำโห โดยบอกว่าทั้งวาลมีกิและศังกราจารย์ ลอกวรรณกรรมชาวพุทธ คือทศรถชาดกเพื่อแต่งรามายณะ และลอกกุณาลชาดกเพื่อแต่งมหาภารตะ

ครับ ไม่จบไม่สิ้นกับการแสวงหาตัวร้ายทำลายพุทธศาสนา ตอกย้ำประวัติศาสตร์อันควรเคืองแค้นว่าฮินดูนั่นเองคือผู้ทำลายพุทธศาสนาจนพินาศสิ้น แฝงเร้นน้ำเสียงยั่วยุชวนหวาดกลัวภัยภายนอกและให้หาทางออกมาปกป้องหรือทำอะไรสักอย่างเพื่อพุทธศาสนา

ผมมิได้ปฏิเสธนะครับว่าการสูญสิ้นของพุทธศาสนาในอินเดียฮินดูไม่เกี่ยว แต่อย่าลืมว่ามันมิได้มีปัจจัยง่ายๆ แค่นั้น มีปัจจัย “ภายใน” ของพุทธศาสนาเองและปัจจัยอีกมากมายที่ทำให้พุทธศาสนาเสื่อมสลายจากอินเดีย

เรื่องนั้นคงต้องสาธกกันอีกยาว

มาเรื่องรามายณะกันดีกว่าครับ

ประเด็นเรื่อง “ศังกราจารย์” ซึ่งเป็นปราชญ์ของฮินดูนั้น นักวิชาการไทยรุ่นเก่าๆ มักจะคิดว่ามีชีวิตอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-14 ตามที่คุณกลิ่นบงกชอ้างมาแหละครับ

จริงๆ แล้วมีการค้นคว้ากันใหม่แล้วพบว่า ความเข้าใจผิดดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากศังกราจารย์ไม่ได้เป็นแค่ชื่อคน แต่เป็น “ตำแหน่ง” ของสำนักนั้นด้วย (ปัจจุบันยังมีอยู่) ศังกราจารย์จึงมีหลายท่านทำให้เข้าใจผิดเรื่อง พ.ศ. ที่แท้จริงได้

แต่ “ศังกราจารย์” ตัวจริงเสียงจริงซึ่งคุณกลิ่นบงกชและชาวพุทธหมายถึงนั้น คือศังกราจารย์คนแรก ซึ่งมักเรียกกันว่าอาทิศังกราจารย์ (อาทิ – แรก, เริ่ม) และนักวิชาการอินเดียทั้งหลายได้ข้อสรุปกันแล้วว่า ท่านผู้นี้มีชีวิตอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 10-12 อย่างแน่นอน

ที่สำคัญคือศังกราจารย์ไม่เคยแต่งรามายณะครับ

ผลงานของศังกราจารย์ทั้งหมดยังคงรักษาไว้ได้ในปัจจุบัน งานนิพนธ์ของศังกราจารย์แบ่งออกเป็นสามแบบ คืองานอรรถาธิบายคัมภีร์ทางปรัชญา เช่น อุปนิษัทหรือพรหมสูตร งานนิพนธ์ทางปรัชญา และงานนิพนธ์เบ็ดเตล็ด เช่น กวีขนาดสั้น

แต่เคยมีรายงานว่าพบรามายณะหรือเรื่องเกี่ยวกับรามายณะของศังกราจารย์ ข้อมูลนี้เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปทั้งจากฝ่ายตะวันตกและฝ่ายอินเดีย

ฉะนั้น ข้อเสนออะไรอื่นเกี่ยวกับรามายาณะที่ลากไปถึงศังกราจารย์ ก็ตกหมด ไม่ต้องพูดต่อ

อ่อ ทั้งนี้ ศังกราจารย์ไม่เคยบวชเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนาครับ แม้ว่าจะตั้งองค์กรและจัดระเบียบนักบวชฮินดูคล้ายกับพระในพุทธศาสนา แต่แกไม่เคยบวชแน่ๆ ครับ

คนที่ตามประวัติว่าคณาจารย์ฮินดูที่เคยบวชพระคือ กุมาริลภัฏฏาจารย์ต่างหาก

ข้อถัดไปผมว่า ผู้เขียนบทความมีความสับสนเรื่องรามายณะในระดับพื้นฐานพอสมควรครับ

คือสับสนระหว่าง “รามายณะ” ของวาลมีกิ กับ “รามเกียรติ์” ของไทย

รามายณะของวาลมีกิแต่งในภาษาสันสกฤต อาจจะถือเป็นต้นเค้าของฉบับอื่นๆ ในอินเดียด้านโครงเรื่องหลักก็ได้ แต่รามายณะในอินเดียมีมากมายหลายร้อยเรื่องครับ เฉพาะในภาษาสันสกฤต ก็มี อัทภุตรามายณะ อานันทรามายณะ อาทยาตมรามายณะ ฯลฯ และในฉบับภาษาพื้นบ้านต่างๆ อีกมากมายมหาศาล เช่น รามจริตมานัสของตุลสีทาส รามายณะฉบับพังคลี รามายณะฉบับภาษาทมิฬคือรามาวตารัมของกัมพน ฉบับกัศมีรี ฯลฯ

นอกจากนั้น ยังมีฉบับ “นอกฮินดู” เช่น ทศรถชาดก ของพุทธศาสนา รามายณะของศาสนาไชนะ

ฉบับ “นอกอินเดีย” อีกมากมาย เช่น รามเกียรต์ของไทย พระรามพระลักของลาว ของเขมร ของชวา มลายู ฯลฯ

“รามเกียรติ์” ฉบับไทย ซึ่งปัจจุบันเป็นฉบับต้นรัตนโกสินทร์ น่าจะมีเค้ามาจาก “คัมภีร์นารายณ์ยี่สิบปาง” ปราชญ์ทั้งหลายเห็นว่าไม่ใกล้ฉบับวาลมีกิเลยครับ แต่น่าจะได้รับอิทธิพลจากฉบับอินเดียใต้ เช่นรามาวตารัมของกัมพน หรือ มยิลิราวัณ ฯลฯ หรือแม้แต่จากชวา เพราะมีเรื่องและตัวละครไม่ตรงกับฉบับวาลมีกิมากมาย

การอ้างว่าวาลมีกิแต่ง “รามายณะ” แต่พูดถึง “รามเกียรติ์” เช่นพูดถึงตัวละครในรามเกียรติ์ อย่าง อโนมาตัน ฯลฯ หรืออ้างถึงโครงเรื่องแบบรามเกียรติ์ ย่อมแสดงว่าผู้เขียนบทความ ขาดความเข้าใจความแตกต่างระหว่างรามายณะและรามเกียรติ์

ส่วนข้ออ้างว่า วาลมีกิแต่งรามายณะโดยมีเป้าหมายกดข่มพระพรหม เพื่อสนับสนุนเทพองค์ใหม่เพราะต้องการโต้ตอบกับพุทธศาสนานั้น รวมทั้งเรื่องลอกชาดกพุทธยิ่งฟังดูไม่น่าใช่ ด้วยเหตุผล คือ

ข้อแรก นักวิชาการภารตวิทยายังคงถกเถียงกันว่า รามายณะ แต่งขึ้นก่อนหรือหลังพุทธศาสนา

ส่วนหนึ่งเห็นว่า เนื้อความหลายส่วนของรามายณะฉบับวาลมีกิน่าจะแต่งขึ้นก่อนพุทธศาสนา เว้นแต่บางกัณฑ์ เช่น อุตรกัณฑ์ซึ่งเน้นคุณวิเศษของพระเป็นเจ้าและเหมือนอรรถถาธิบาย อาจแต่งขึ้นหลังพุทธศาสนา

นอกจากนี้ ยังมีความเห็นว่า เรื่องพระรามคงมีทั่วไปแล้วในอินเดียก่อนการประพันธ์ของวาลมีกิ ทำนองนิทานชาวบ้าน และบางท่านเสนอว่า เป็นเรื่องที่แปลงจากตำนานในพระเวทด้วยซ้ำ

ดังนั้น หากการวิเคราะห์นี้ถูกต้อง การอ้างว่า รามายณะฉบับวาลมีกิลอกทศรถชาดกมาทั้งหมดจึงฟังไม่ขึ้น

ในแง่นี้ ” ตำนานพระราม” จึงเป็นสมบัติโดยทั่วไปของแผ่นดินอินเดียและโลก ที่ใครจะไปหยิบไปจับมาปรุงอย่างไรก็ได้ ไม่ใช่สมบัติของศาสนาใดศาสนาหนึ่งหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงอย่างเดียว

ข้อสอง ข้อเสนอที่ว่าวาลมีกิต้องการกดข่มพระพรหมและต้องการให้เทพองค์ใหม่มีความสำคัญมากขึ้น ข้อนี้ผมก็ว่าเข้าใจผิด

เพราะในตำนานการกำเนิด “รามายณะ” ของวาลมีกิ วาลมีกิแต่งรามายณะเพื่อ “พระพรหม” นะครับ พอแต่งจบพระพรหมยังให้พรให้รามายณะอยู่ไปอีกนานแสนนานอีก

ถ้าอ้างฉบับไทยว่าทศกัณฐ์มีบรรพบุรุษเป็นพระพรหม เพื่อจะให้พระพรหมอยู่ฝ่ายร้าย ก็ฟังดูแปลกๆ เพราะลูกหลานจะชั่วจะร้ายเกี่ยวอะไรกับบรรพบุรุษครับ ผมว่าถ้าคิดจะดิสเครดิตพระพรหมแค่นี้ยังน้อยไปด้วยซ้ำ

อย่างแขกเองถ้าจะดิสเครดิตพระพรหม เช่นในปุราณะ ก็แต่งว่าพระพรหมชอบให้พรตัวร้ายจนเทพอื่นต้องมาจัดการแก้ไขทีหลัง หรือวันๆ เอาแต่หลับนอนหลังสร้างโลกไม่ทำอะไร เป็นต้น

แรงกว่าแค่เป็นต้นวงศ์ทศกัณฐ์เยอะ

ที่สำคัญ “แนวคิดภักติ” ที่ทำให้วรรณกรรมรามายณะ และมหาภารตะไปผูกโยงกับลัทธินับถือพระวิษณุนั้น เกิดขึ้นในภายหลัง โดยขบวนการภักติในอินเดียใต้ที่เริ่มต้นด้วย รามานุชาจารย์ วรรณกรรม รามายณะถึงได้ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาอีกมากมายกว่าสมัยวาลมีกิ

ผมคิดว่า การตีความวรรณกรรมเก่าๆ เป็นเรื่องดีครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่มีวาระซ่อนเร้น แต่การตีความนั้น ควรอย่างยิ่งที่จะต้องตั้งอยู่บน “ข้อมูลเบื้องต้น” ที่ถูกต้อง

ตีความบนหลักฐานที่น้อยยังพอมาเถียงกันต่อได้ แต่ตีความไปบนข้อมูลผิดๆ ยากที่จะไปต่อ

นอกจากบทความดังกล่าวแล้ว ยังมีความเข้าใจที่แพร่หลายโดยทั่วไปเกี่ยวกับรามายณะซึ่งน่าจะต้องไว้จาระไนกันต่อ

ได้โปรดติดตาม

นาร้ายณ์ นารายณ์…


จาก https://www.matichonweekly.com/column/article_4203





คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : ความเข้าใจ(ผิด)เกี่ยวกับ “รามายณะ” (2)

รามายณะมีหลายฉบับมากในอินเดีย ว่ากันว่ามีถึงสามร้อยฉบับ แต่ละฉบับมีโครงเรื่องคล้ายกัน เช่น มีแก่นแกนอยู่ที่การรบ

แต่รายละเอียดอื่นอย่างตอนสีดาลุยไฟ พระลพพระกุศครองเมือง บางฉบับก็มี บางฉบับก็ไม่

บางฉบับเป็นการตีความให้เป็นเนื้อหาทางปรัชญาเลย เช่น อาทยาตมรามายณะ อธิบายว่า เรื่องราวของพระรามที่ปรากฏเป็นเพียง “มายา” เท่านั้น พระรามองค์จริงเป็น “พรหมัน” หรือสัจธรรมสูงสุด การจะเข้าใจธรรมขั้นโลกุตระในเรื่องรามายณะได้จะต้องตีความ “ลีลา” เหล่านั้น และต้องบำเพ็ญเพียรเพื่อเข้าถึงแง่มุมที่ลึกลับดังกล่าว

ที่จริงแล้ว ชาวบ้านในอินเดีย โดยมากไม่ได้รู้จักรามายณะฉบับมหาฤษีวาลมีกิ ทั้งที่เป็นฉบับสำคัญที่สุด (มิได้หมายความว่าเป็นฉบับแรกสุด) แต่เพราะเขียนด้วยสันสกฤต ซึ่งชาวบ้านไม่ได้ใช้

ชาวบ้านจึงมักรู้จักรามายณะผ่านฉบับ “เล่าใหม่” ในภาษาพื้นบ้านอื่นๆ

เช่น ในภาคเหนือของอินเดีย ผู้คนคุ้นเคยกับ “รามจริตมานัส” ของโคสวามีตุลสีทาส (เขียนในภาษาอวธีหรือฮินดีตระกูลหนึ่ง) แถมยังแพรวพราวไปด้วยลีลา “บ้านๆ” และสอดแทรกเรื่องราวทางศาสนาไว้มากจนรัชกาลที่ 6 เคยทรงวิจารณ์ไว้ใน “บ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์” ว่า ไม่มีคุณค่าทางวรรณศิลป์สักเท่าใด

แต่ฉบับนี้คนอินเดียก็รักชอบเสียจนนำมาสวดขับกันอยู่เสมอถึงปัจจุบัน

ถ้าอยากลองไปฟังขับรามจริตมานัส ไปวัดฮินดู เช่น เทพมณเฑียร เสาชิงช้าหรือวัดวิษณุ ยานนาวาก็ได้ครับ พราหมณ์และศาสนิกท่านสวดกันทุกวันตอนเช้า บางครั้งก็สวดทั้งเล่มเวลามีงานใหญ่ๆ

ส่วนชาวอินเดียภาคใต้ก็มีฉบับสำคัญของตัวเองอย่าง รามาวตารัม ในภาษาทมิฬของกัมพัน เป็นต้น

และน่าจะเป็นที่มา (ส่วนหนึ่ง) ของ “รามเกียรติ์” ของเรา

เพราะรามเกียรติ์เรามีอะไรที่ค่อนไปทางทมิฬอยู่มาก เช่น ตัวละคร ไมยราพณ์ (ทมิฬ-มยิลิราวัณ) มูลพลัม ฯลฯ ที่ไม่มีในฉบับพระวาลมีกิ หรือบางพล็อตบางตอนที่หาในฉบับพระวาลมีกิไม่ได้

ถ้าสนใจโปรดอ่านต่อในหนังสือเกี่ยวกับรามเกียรติ์ของท่านพระยาอนุมานราชธนเถิดครับ

คือหากจะไปเทียบรามายณะของเรากับของพระวาลมีกิ โดยละเลยฉบับชาวบ้านทั้งหลายในอินเดีย ก็เหมือนไปหาของผิดที่

ยิ่งจะชวนให้งงให้สับสนไปกันใหญ่

 

หากถามว่า เหตุใดรามายณะจึงเป็นวรรณคดีที่สำคัญที่สุดของอินเดีย ผมคิดว่ามีสองเหตุผลใหญ่ๆ คือ

ข้อแรก เพราะรามายณะพัฒนามาจากเรื่องที่ “เก่าแก่” มากๆ

ท่านพระยาอนุมานราชธน เขียนไว้ในหนังสือ “อุปกรณ์รามเกียรติ์” (ใครสนใจเรื่องนี้ควรต้องมีไว้) ว่า นักวิชาการฝรั่ง เช่น ศ.ปิกฟอร์ถ และ ศ.ยโกบี เสนอว่าตำนานพระรามคงเป็นนิทานชาวบ้านมานานแล้ว แต่ยิ่งไปกว่านั้นมันมีเรื่องที่น่าจะเป็นต้นเค้าปรากฏในฤคเวทที่เก่าแก่ที่สุดด้วย

พระรามในรามายณะตรงกับ “พระอินทร์” ในพระเวท ซึ่งเป็นเทพแห่งฝน

พระรามกับพระอินทร์จึง “ตัวเขียว” หรือในบางแห่งว่าสีคล้ำอย่างเมฆฝนใหม่ๆ ไงครับ เพราะเธอคือตัวแทนของฝนทั้งคู่

ส่วน “สีดา” ในคัมภีร์พระเวทนั้น เป็นเทวีแห่ง “รอยไถ” เป็นเทวีแห่งผืนดินและความสมบูรณ์นั่นเอง

ดังนั้น รามายณะ คือภาพจำลองหรือการกลายมาของตำนานในฤคเวท พระอินทร์ (พระราม) คือเมฆฝนผู้ปราบวฤตาสูร (ทศกัณฐ์) อสูรแห่งความแห้งแล้ง แล้วแต่งงานกับแผ่นดิน (สีดา) จนมีลูกคือพืชพันธุ์ (พระลพ มาจาก ลว-แปลได้ว่า เก็บเกี่ยว กุศะ แปลว่าหญ้าคา)

สีดาในรามายณะถึงเกิดจากดิน (เธอถูกฝังแล้ว ถูก “ไถ” ขึ้นมาโดยท้าวชนก) แล้วสุดท้ายก็ลากลับไปสู่ดิน

รามายณะจึงเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ของชาวบ้าน ก่อนการนับถือพระรามในฐานะพระวิษณุอวตารด้วยซ้ำ เพราะเป็นอย่าง “นิทานขอฝน” สมัยดึกดำบรรพ์ ที่เล่นตำนาน “สร้างจักรวาล”

ฟ้า (เมฆ) สมสู่ดิน โดยเข้ารบกับความแห้งแล้ง แล้วก่อเกิดสรรพชีพ

อีกทั้ง “การรบ” เป็นแก่นอย่างหนึ่งที่สำคัญด้วย เพราะสมัยโบราณ การฆ่าฟันคือภาพสะท้อนการบูชายัญบน “เวที” (แปลว่าลานบูชายัญก็ได้) คือลานบูชายัญหรือสมรภูมิ

ในยุคเรืองศีลธรรม สงครามช่วยขับเน้นระบบศีลธรรมให้ชัดเจน เช่น ความกล้าหาญ ความสัตย์ ความเมตตา สงครามจึงเป็นพล็อตที่ขาดไม่ได้ของ “อิติหาส” หรือเรื่องของวีรบุรุษ

ดังนั้น สมัยโบราณ การรบพุ่งกันจึงเป็น “พิธีกรรม” อันหนึ่งด้วย มันมีอะไรมากกว่าการเอาชนะเข่นฆ่ากัน

ผมว่านี่คือเหตุผล “ลึกๆ” อันหนึ่งที่การแสดงชั้นสูงของไทย (และบางการแสดงชั้นสูงของแขก) อย่างโขน จึงกำหนดให้เล่นแต่รามายณะเท่านั้น

เพราะสภาพการณ์แบบเดียวกับที่มาของรามายณะ ได้เกิดขึ้นอีกครั้งใน “เวที” การแสดง (ที่ถูกถือว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์) นักแสดงเสกสร้างจักรวาลจำลองขึ้นมาบนพื้นที่เล็กๆ นั้น และจำต้อง “ฆ่า” ตัวตนคนแสดง เพื่อไป “สวมใส่” อัตตาใหม่ เป็นเทพ ยักษ์ ลิง ฯลฯ โลดเล่นอยู่ชั่วขณะแล้วตายใหม่อีกครั้ง

เฉกเช่นการบูชายัญของโบราณกาล

การแสดงโขนถึงมีประเพณี พิธีกรรม และความเชื่อหลายอย่างของตนเอง ที่ผนวกเอาทั้งศาสนาโบราณในท้องถิ่น ศาสนาพราหมณ์ และจักรวาลวิทยาของนาฏดุริยศิลป์เข้าไว้ด้วยกัน

เป็นการซ้อนทับไปมาหลายชั้นของความศักดิ์สิทธิ์แบบพื้นเมือง แบบพราหมณ์ และความบันเทิง ทั้งโลกโลกีย์และโลกทิพย์

เช่นเดียวกับตัวเรื่องรามายณะเองที่ซับซ้อนเหลือประมาณ

 

ประการที่สอง รามายณะ ถูกทำให้เป็นวรรณคดีศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา

ลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งในศาสนาของอินเดีย คือทำให้คนในวรรณกรรมถูกตีความจนสามารถกลายเป็นเทพเจ้าหรือภาวะศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ได้

รามายณะถูกผนวกเข้ากับการนับถือพระวิษณุในไวษณพนิกาย พระรามเป็นองค์อวตารที่สำคัญของพระวิษณุ เนื่องจากเรื่องรามายณะวางพระรามเป็น “ปุรุโษตมะ” หรือบุรุษอันอุดมดีพร้อม ทั้งยังมีความกรุณาหาที่เปรียบ ควรที่สุดที่จะเป็นอวตารของพระเป็นเจ้า

แต่ด้วยการผนวกรวมเช่นนี้ ก็ทำให้เกิด พระราม “หลายองค์” ขึ้นมา

คือพระรามในรามายณะองค์หนึ่ง ซึ่งมีข้อให้เราคิดแย้งเช่น การนำสีดาไปลุยไฟ หรือพาไปปล่อยในป่า พระรามองค์นี้ดูเหมือนมีความบกพร่องหลายประการในแบบมนุษย์

คณาจารย์ในไวษณพนิกายจึงพัฒนาแนวคิดเกี่ยวกับพระรามโดยเขียนอรรถาธิบายเพิ่มหรือเล่ารามายณะฉบับอื่นๆ อย่างที่เขียนไว้ข้างต้นแล้ว เพื่อแก้ปัญหานี้

เช่น ตีความว่าสีดาไม่ได้ลุยไฟจริงๆ แต่ที่ลุยไฟคือสีดามายา (พระรามจึงไม่ผิดอะไร) หรือแม้แต่เรื่องทั้งหมดนี้ในรามายณะคือมายา เพราะพระเจ้าต้องการแสดงภาวะต่างๆ ให้มนุษย์ได้ดู หรือไม่ก็ตัดบางตอนออกไปเลย เช่น ตอนลุยไฟ

ที่สำคัญคือการขับเน้นบางด้านของพระรามให้เด่นชัด เช่น ด้านของความเมตตากรุณาและอยู่ข้างคนยากคนจน

พระราม (องค์ในทางศาสนา) จึงค่อยๆ แตกต่างกับพระราม (ในรามายณะ) ขึ้นเรื่อยๆ

จนในที่สุด ก็มีนิกายย่อยๆ (ภายใต้ไวษณวะ) ที่ถือเอาพระรามเป็นพระเจ้าสูงสุดก็มี

และในเวลาต่อมา แม้แต่คำว่า “ราม” ได้กลายเป็นมนตร์ศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดู ซึ่งแปรความหมายไปเป็น “พระเจ้า” มากกว่าจะบ่งถึงพระรามใดๆ ไปแล้ว

จริงๆ นอกจากสองข้อข้างต้น ผมว่า เรื่องรามายณะยังสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนอินเดียที่ทนทุกข์ด้วย เฉกเช่นเดียวับตัวละครผู้ทนทุกข์ทั้งหลายในรามายณะนั้น

วรรณคดีทางศาสนาของอินเดียจึงมีความหมายต่อผู้คน เพราะผู้คนนำตนเองเข้าไปอยู่ในเรื่องราวเหล่านั้น

พระรามจึงกลายเป็นความหวังของชาวบ้านที่เชื่อว่าด้วยความภักดีจะทำให้ชีวิตดีขึ้น หรือไม่ก็ไปสู่โลกของพระเจ้าที่ดีกว่าโลกเดิม

โคสวามีตุลสีทาสผู้นิพนธ์ “รามจริตมานัส” ถึงบอกว่า รามายณะเป็นเหมือนทะเลสาบ ที่มีท่าลงหลายท่า

นักปราชญ์ราชบัณฑิตอาจลง “ราชฆาฏ” (ท่ายิ่งใหญ่) คือไปหาเอาความรู้ชั้นสูง หรือเรื่องจิตวิญญาณจากรามายณะ

ส่วนคุณแม่บ้านหรือชาวบ้านทั่วๆ ไป อาจลงไปอีกท่า เพื่อเอาข้อคิดและศีลธรรมระดับครอบครัว หรือเอาเรื่องสนุกฟังแก้เบื่อ

ตัวท่านโคสวามีเองท่านว่า จะขอลงท่าน้ำที่ต่ำต้อยที่สุด ขนาดพวกสัตว์พิการ และคนแก่คนยากลงไปได้ เอาพอแค่ได้ดื่มแก้กระหายชุ่มชื่นใจ

ช่างอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างยิ่ง

แต่ท่านคงไม่คิดว่า ทะเลสาปแห่งเรื่องราวของพระรามอันกว้างใหญ่ไพศาลนี้ ยังมีคนอื่นๆ ที่อยากจะลงไปใช้อีกมากมาย เช่น เอาไปส่งเสริมพระราชอำนาจ

หรืออย่างร่วมสมัยหน่อยก็มีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองขอลงไปใช้ด้วย และดูเหมือนจะใช้อย่างเอิกเกริกกว่าชาวบ้านเสียอีก

และทำให้รามายณะกลายเป็นประเด็นทางการเมืองระดับชาติไป

โปรดติดตามต่อ

นาร้ายณ์ – นารายณ์!

จาก https://www.matichonweekly.com/column/article_4228
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด



คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : ความเข้าใจ(ผิด)เกี่ยวกับ “รามายณะ” (จบ)

การเมืองเข้ามาสัมพันธ์กับรามายณะหลากมิติ ในโลกโบราณไม่ว่าที่ไหนที่อิทธิพลทางศาสนาของอินเดียแผ่ไปถึง รามายณะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมพระราชอำนาจ และการสถาปนาความเป็นอินเดีย (ซึ่งดูเหมือนจะเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาลในเวลานั้น) แก่ท้องถิ่น

เพราะพระรามคือตัวอย่างแห่งผู้ปกครองที่ทรงอำนาจและบุคคลในอุดมคติทางศีลธรรม อโยธยาบ้านเมืองของพระองค์ก็เป็นบ้านเมืองในอุดมคติเช่นกัน

ด้วยเหตุนั้นรามายณะจึงมีผลต่อชื่อบ้านนามเมือง ขนบประเพณี การละเล่นอย่างมากมาย

อีกทั้งความเก่าแก่ของรามายณะเองก็ทำให้รามายณะผสมกลมกลืนกับคติพื้นเมืองไม่ยากนัก

ในอินเดีย ผู้ศรัทธาหลายคนเชื่อว่า รามายณะไม่ใช่เรื่องแต่ง แต่เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในอดีต พวกเขาสามารถบอกสถานที่สำคัญตามท้องเรื่องได้ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่เกิดของพระราม (รามชนมภูมิ) คือเมืองอโยธยา สะพานพระราม (เสตุราม-ซึ่งคือแนวหินที่ทอดผ่านไปยังลังกา) กรุงลงกา ฯลฯ

แต่ถ้าถามว่าเกิดขึ้นตอนไหน พวกเขาจะงงสักพัก บางท่านว่าในยุคอื่นๆ หรือเป็นล้านปีมาแล้ว

รามายณะมีอิทธิพลถึงเพียงนี้ ไม่แปลกที่จะถูกนำมาใช้ในทางการเมือง

ในยุคกลางของอินเดีย โคสวามีตุลสีทาสประพันธ์ “ศรีรามจริตมานัส” ในภาษาถิ่นแล้วมีผู้นิยมมาก ตำนานว่าจักรพรรดิโมกุลซึ่งเป็นมุสลิมไม่ค่อยพอพระทัย เกรงผู้คนกระด้างกระเดื่อง

ในทางตรงข้าม หลายครั้งที่นักบุญฝ่ายไวษณวนิกายสายภักติในยุคกลางของอินเดีย ก็ได้ตีความคำสอนเรื่องพระรามไปในทางสันติเพื่อประสานความขัดแย้งระหว่างฮินดูและมุสลิม

คือเน้นว่าพระรามเป็นองค์แห่งความสันติและเมตตา พระเจ้านั้นคือองค์ภาวะเดียวกัน แต่ถูกเรียกขานต่างกันไป มนุษย์เราจึงไม่ควรแบ่งแยกและปฏิบัติต่อกันอย่างเลวร้าย

ท่านถึงขนาดว่า “ราม”นั้นไม่ต่างกับ “รอฮีม” เลยทีเดียว (คำนี้ท่านนักบุญกพีรทาสกล่าวไว้ มิใช่ผม)

แต่นักการเมืองและองค์กรสายชาตินิยมและฮินดูนิยม ให้ภาพของ “ราม” อีกแบบ

ดร.เทวทัต นักเทวตำนานวิทยาคนโปรดของผมให้ข้อสังเกตในหนังสือ Book of Ram ของท่านว่ารูปเคารพพระรามแต่เดิม มักประทับยืนขวาซ้ายแวดล้อมด้วยพระลักษมณ์และพระแม่สีดา เบื้องหน้ามีหนุมานกราบไหว้ เรียกปางว่า ราชสภาของราม (Ramdarbar)

รูปเคารพชุดนี้ พระรามประคองศรศิลป์ไว้ด้านข้าง (มิได้ใช้) พระหัตถ์หนึ่งทรงอภัยมุทราคือแสดง “ความไม่กลัว” ไม่มีท่าทีห้าวหาญอย่างจะไปรบ แต่ให้ความรู้สึกสงบสันติแต่สง่างาม ดุจพระราชาเสด็จออก

แต่เมื่อพรรคการเมืองและองค์กรชาตินิยมทั้งหลาย มี “ประเด็น” ทางการเมืองเรื่องศาสนา โดยเอาพระรามเป็นสัญลักษณ์ เช่น โฆษณาชวนเชื่อเรื่อง “รามราชยะ” อาณาจักรของพระรามที่พระรามปกครองอย่างร่มเย็น (คือเชิดชูฮินดูให้ปกครองอินเดียทั้งหมดนั่นแล) การต่อต้านการขุดเสตุราม การเรียกร้องต้องการสร้างเทวสถานของพระราม ฯลฯ

พวกเขาจะใช้รูปพระรามอีกแบบ เป็นพระรามที่โดดเดี่ยวปราศจากบริวารรายรอบ มีเพียงพระองค์อยู่ในท่าพร้อมรบ ยืนอย่างสง่า กำลังยกศรขึ้นเงื้อง่า พุ่งเล็งไปที่ศัตรู น่าเกรงขามอย่างยิ่ง

รูปนี้แหละครับคือ “ภาพ” ของพระรามสำหรับนักการเมืองและองค์กรชาตินิยม มิติที่เขาต้องการคือความกล้าหาญพร้อมรบ และรับใช้อุดมการณ์อย่างสุดใจเท่านั้น มิใช่ความเมตตากรุณาอย่างที่พวกนักบุญชอบ

ในราวคริสต์ศตวรรษที่ 16 สมัยโมกุลปกครองอินเดีย มีการสร้างมัสยิดขึ้นที่เมืองอโยธยา เรียกกันว่า มัสยิดบาบรี (Babri) ถึงปี 1853 นักบวชฮินดูกลุ่มหนึ่งอ้างว่ามัสยิดนี้สร้างอยู่บนสถานที่ประสูติของพระราม (รามชนมภูมิ) ข้อขัดแย้งนี้ยุติลงเมื่อได้มีการแบ่งสถานที่ออกเป็นสองส่วน โดยชาวฮินดูและชาวมุสลิมต่างใช้สถานที่นั้นด้วยกันอย่างสันติ

แต่พอถึงราวต้นทศวรรษที่ 40 ก็เกิดความขัดแย้งอีกครั้ง ครั้นถึงปี ค.ศ.1949 มีชาวฮินดูกลุ่มหนึ่งแอบนำเทวรูปพระรามไปไว้ในมัสยิดกลางดึก และประกาศว่าเทวรูปปรากฏขึ้นเองโดยปาฏิหาริย์ ซึ่งทำให้มีผู้มาชุมนุมมากมาย ก่อกระแสความตื่นตัวไปทั่วอินเดีย

ปี ค.ศ.1984 องค์กรวิศวฮินดูปริษัท (VHP) และนักการเมืองในพรรค BJP บางคน สร้างแคมเปญรณรงค์ให้สร้างเทวสถานของพระรามขึ้นมาใหม่ บนพื้นที่ของมัสยิดบาบรี และจัดขบวนโดยรถเดินทางไปยังอโยธยา ชูประเด็นรามชนมภูมิ ทั้งๆ ที่ชาวบ้านทั้งฮินดูและมุสลิมที่อาศัยในอโยธยาและใกล้มัสยิดไม่เห็นด้วย

ครั้นเดือนธันวาคม ปี 1992 เกิดเหตุจลาจลครั้งใหญ่ ชาวฮินดูปะทะกับชาวมุสลิมด้วยต้องการเข้าไปทำลายมัสยิด มีผู้เสียชีวิตเฉพาะในอโยธยาถึงเกือบสองพันคน และยังลุกลามไปยังส่วนอื่นๆ ของอินเดีย เช่น มุมไบ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตเกือบพันคน

ท่านที่สนใจเหตุการณ์นี้โปรดดูสารคดี เรื่อง “In the name of God” หรือในชื่อภาษาฮินดี ว่า “Ram ke naam” (ในนามแห่งราม) แล้วท่านจะเข้าใจประเด็นนี้ยิ่งขึ้น

ที่น่าเศร้าคือนักบวชประจำเทวสถาน (เดิม) ซึ่งใช้พื้นที่ร่วมกับมัสยิด คือ ท่านปูชารี ลาลทาส ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการรณรงค์ของวิศวฮินดูปริษัท และแสดงอย่างชัดเจนในสารคดีนี้ก็โดนลอบฆ่าในภายหลัง

ปัจจุบัน เรื่องรามชนมภูมิยังคงเป็นปัญหาของศาลสูงและรัฐบาลอินเดียทุกยุคสมัย

นอกจากเรื่องนี้ ที่จริงแล้วยังมีประเด็นทางการเมืองเกี่ยวกับรามายณะอีกประเด็นหนึ่ง แต่เป็นประเด็นทางวิชาการที่มีความสัมพันธ์กับการเมือง

นักวิชาการโดยเฉพาะในบ้านเรา มักเชื่อสืบๆ กันมาว่ารามายณะ เป็นเรื่องราวสะท้อนการรุกรานของชนเผ่าอารยันกับพวกฑราวิทหรือชนพื้นเมือง

เป็นการรุกรานจากภาคเหนือมายังภาคใต้ของอินเดีย (ฟังคล้ายๆ เรื่องเทือกเขาอัลไตกับเผ่าไท)

พระรามจึงเป็นตัวแทนของเผ่าอารยัน ส่วนพวกพื้นเมืองถูกมองว่าเป็นยักษ์เป็นมาร (ที่จริงทศกัณฑ์มิใช่ยักษ์แต่เป็นอมนุษย์จำพวกหนึ่งเรียกว่า รากษส)

เรายังคงเชื่อทฤษฎีนี้กันต่อๆ มา และบางครั้งขยายไปถึงว่า รามายณะเป็น “สงครามชนชั้น” ขณะที่ทางอินเดียมีการถกเถียงเรื่องนี้กันอย่างจริงจังมานานพอสมควร

เรื่องนี้ที่จริงมีที่มานะครับ ในราวปี ค.ศ.1922 นายเปริยาร์ อีวี รามสวามี (Periyar E.V. Ramaswami) ชาวอินเดียใต้ ตีความรามาวตารัมหรือรามยณะฉบับอินเดียใต้ใหม่ว่า พระรามคือชาวเหนือ (วัฒนธรรมเหนือหรือวัฒนธรรมสันสกฤต) ที่เข้ามารุกรานภาคใต้ของอินเดีย

ในขณะที่ทศกัณฐ์นั้นคือตัวแทนกษัตริย์ของชาวทมิฬ รามายณะจึงเขียนให้พวกคนใต้กลายเป็นพวกยักษ์มารเสีย วรรณกรรมนี้คือความพยายามลดคุณค่าทั้งชาวทมิฬและวัฒนธรรมทมิฬ

นายเปริยาร์ไม่เพียงแต่ตีความอย่างเดียวนะครับ ยังมีการรณรงค์ให้เผาหนังสือรามายณะทิ้งด้วย ในปี 1956 แกยังรณรงค์ให้เผารูปพระรามในที่สาธารณะอีก โดยอ้างว่าในเทศกาลของชาวเหนือ เช่น ทศหรา (ดุสเซร่า) ยังมีการเผารูปทศกัณฐ์ได้ ทำไมชาวใต้จะเผารูปพระรามบ้างไม่ได้

ความพยายามของนายเปริยาร์ในครั้งนั้นทำให้ความคิดที่ว่ารามายณะคือภาพสะท้อนความขัดแย้งของคนสองเผ่าสองวัฒนธรรมแพร่กระจายไปทั่วอินเดีย และกลายเป็นที่มาของความคิดเรื่องความขัดแย้งระหว่างอารยันและฑราวิทของรามายณะในที่สุด

ที่จริง จะโทษนายเปริยาร์อย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะความคิดเรื่องแบ่งแยกเหนือใต้ อารยันและฑราวิทนี้ มีที่มาจากทฤษฎีของพวกฝรั่งก่อนครับ โดยมีรากฐานที่ทฤษฎีการรุกรานของเผ่าอารยันจากภาคเหนือสู่ภาคใต้

แต่ในเวลานี้นักวิชาการหลายท่าน เช่น M. Lal Goel เสนอความเห็นใหม่ๆ ว่า การรุกรานของอารยันดังที่เคยเชื่อกันนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเลย ชาวอารยันและชนพื้นเมืองอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีการผสมผสานทั้งชาติพันธุ์และวัฒนธรรมมาโดยตลอด การขุดค้นทางโบราณคดียิ่งสนับสนุนความคิดนี้ เพราะในโบราณสถาน เช่น หารัปปาและโมเหนโชทะโรกลับไม่พบสัญลักษณ์พิเศษใดๆ ที่บ่งชี้ถึงการเข้ามาทำลายล้างของชาวอารยัน

นักวิชาการทางภาษาศาสตร์ยังเห็นว่าในงานวรรณคดีสันสกฤตแบบแผนเช่นรามายณะของวาลมีกิ พอมองเห็นอิทธิพลของวรรณกรรมทมิฬที่ผสมอยู่

แม้แต่ภาษาทมิฬเอง ก็มีอิทธิพลของภาษาสันกฤตอยู่มากเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ หากกล่าวถึงในเชิงวัฒนธรรมของคนทมิฬเอง ศูนย์กลางการนับถือพระรามที่สำคัญ ก็มีมากในอินเดียใต้และมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ

นักวิชาการอีกหลายท่านเสนอว่า ที่จริงอารยันมิใช่ “ชาติพันธุ์” อย่างที่เคยเข้าใจ แต่น่าจะเป็น “วัฒนธรรม” มากกว่า

ถ้าเช่นนี้ ทศกัณฐ์ผู้มีวรรณะพราหมณ์ มีการศึกษาและเป็นปราชญ์ ก็ย่อมแสดงว่า ทศกัณฐ์มิใช่ชาวบ้านกระจอกๆ แต่ก็เป็นผู้มีวัฒนธรรมอย่างอารยันด้วย

ที่สำคัญ เวลาพูดถึงการเข้ามาของวัฒนธรรมจากทางเหนือหรือวัฒนธรรมสันสกฤต ชาวอินเดียใต้มักใช้ตำนาน ฤษีอคัสตยะเดินทางข้ามเขาวินธัยมาสู่ที่ราบภาคใต้มากกว่าใช้รามายณะอธิบาย

ความเชื่อที่ว่า รามายณะเป็นภาพสะท้อนตำนานการรบพุ่งของสองเผ่า หรือเป็นการต่อสู้ทางชนชั้น จึงเป็นเรื่องการเมือง

ลากเข้าการเมืองไม่ว่าจากทั้งคนอินเดียภาคไหนๆ ฝรั่ง หรือไทยเราเอง

พอๆ กับเรื่องโขนในอุษาคเนย์เลยพี่น้องเอ้ย

นาร้ายณ์ นารายณ์

จาก https://www.matichonweekly.com/column/article_4236
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...