กฎหมายคุมค่าเบี้ย
ที่มา ไทยรัฐออนไลน์
คำว่าเบี้ย คือหอยชนิดหนึ่ง ซึ่งใช้แทนเงินตราในสมัยโบราณ ส.พลายน้อย เล่าไว้ในหนังสือเกร็ดโบราณคดี ประเพณีไทย ว่า เบี้ยมีอยู่หลายชนิด เดิมนั้นเอามาจากแม่น้ำโขง ภายหลังพวกพ่อค้านำมาจากทะเล แถวเกาะมัลดิเวส (มัลดีฟ) เกาะฟิลิปปินส์ เมืองสุรัด เมืองมะละกา
เท่าที่ค้นพบ เบี้ยมีอยู่ 8 ชนิด เบี้ยโพล้ง เบี้ยแก้ เบี้ยจั่น เบี้ยนาง เบี้ยหมู เบี้ยพองลม เบี้ยบัว และเบี้ยตุ่ม เบี้ยทั้ง 8 ชนิดนี้มีค่าเท่ากันหมด เพียงแต่ราคาเบี้ย ต่างกันตามยุคสมัย
เลอเมย์ค้นคว้าเรื่องเงินตราของไทยมานาน กล่าวถึงเรื่องเบี้ยไว้ว่า ปี พ.ศ.1078 เบี้ยมีค่าในอัตรา 200 ต่อเฟื้อง
ตั้งแต่ สร้างกรุงศรีอยุธยามาจนเสียกรุง (พ.ศ. 1893-2310) ค่าของเบี้ยตามกฎหมายเป็น 800 ต่อเฟื้อง ค่าในท้องตลาด ขึ้นลงอยู่ระหว่าง 200 ถึง 1,000 และ 1,600 ตลอดเวลา 1,327 ปี ใช้เบี้ยในการแลกเปลี่ยนเล็กน้อย มาเลิกใช้เอาราวปี พ.ศ.2345
ในกฎหมายรัชกาลที่ 1 กำหนดอัตราราคาเบี้ยไว้ ส.พลายน้อย ขอคัดให้อ่านกัน โดยรักษาตัวสะกดการันต์ตามแบบเดิม...ดังต่อไปนี้
"แต่ ก่อนอนาประชาราษฎรลูกค้าวานิช ซื้อขายเบี้ยแก่กัน 300 ต่อเฟื้อง ครั้นปีรกาเอกศก แขกลูกค้าเมืองสุรัดบันทุกหอยเบี้ยเข้ามาจำหน่าย ณ กรุงเทพมหานคร หนักสองร้อยหาบ แล้วลูกค้าซึ่งออกไปค้าขาย ณ เมืองใยกะตรา เมืองมลากา บันทุกหอยเบี้ยเข้ามาจำหน่าย คราวละยี่สิบหาบ สามสิบหาบเนืองๆ
เห็น ว่าเบี้ยในพระนคร แลแขวงจังหวัดหัวเมือง จะค่อยมากภอกันใช้ฟูขึ้นอยู่แล้ว จึงให้มีกฏปรกาษ ป่าวร้องแก่อนาประชาราษฎร ลูกค้าวานิชทั้งปวง ให้ซื้อขายเบี้ยแก่กัน 400 ต่อเฟื้อง
ถ้าผู้ใดมิได้ซื้อขายเบี้ยแก่ กันสี่ร้อยต่อเฟื้อง เก็บเบี้ยกักขังไว้ซื้อขายแก่กัน 300 ต่อเฟื้อง จับได้ก็จะให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยน แล้วปรับไหม เอาตัวเป็นโทษ
แลอนา ประชาราษฎรลูกค้าวานิชทั้งปวง ก็หากลัวเกรงพระราชอาญาไม่ ยังซื้อขายเบี้ยแก่กัน 300 ต่อเฟื้อง เหมือนอย่างแต่ก่อนอีกเล่า มิหนำซ้ำกักขังเบี้ยไว้ขายเมื่อตรุดเมื่อสงกรานต์ 200 ต่อเฟื้องก็มีบ้าง.....ราษฎรได้เดือดร้อนนัก....
ทำดังนี้เห็นว่าผู้ นั้นเป็นศัตรูแผ่นดิน แกล้งจะกะทำให้บ้านเมืองกันดาร มิให้อยู่เย็นเป็นศุข จับได้พิจารณาเป็นสัจ ก็ให้ริบราช-บาทเอาเบี้ย แล้วให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยน เอาเบี้ยผูกคอทะเวนรอบเมือง จะเอาตัวเป็นโทษไปตะพุ่นญ่าช้าง และกำนันตลาดนั้น ก็จะเอาตัวเป็นโทษด้วย.....
กฎให้ไว้ ณ วัน 5 ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 10 จุลศักราช 1154 ปีชวด จัตวาศก
ส.พลาย น้อย ตั้งข้อสังเกตว่า จากกฎหมายฉบับนี้ทำให้ได้รู้ว่า เบี้ยแต่ก่อนนี้เอาเข้ามาขายกันเป็นหาบๆ และมีการค้ากำไรเกินควรกันมาแต่โบราณ บางครั้งก็แพงขึ้นเป็นเท่าตัว
มาร์ โคโปโลบันทึกไว้เมื่อ พ.ศ.1815 ว่าได้มาที่เมืองยาจี ซึ่งว่ากันว่าคือเมืองตาลีฟู เมืองนี้ใช้เบี้ยต่างเงินตรา ถ้าไทยเราอยู่ตาลีฟูมาก่อน ก็แสดงว่า ไทยเราใช้เบี้ยมานาน
สมัย สุโขทัยนั้นมีเรื่องราชาธิราช มะกะโท เอาเบี้ยไปซื้อพันธุ์ผักกาด จารึกตัวอักษรแบบสุโขทัย พบที่วัดเชียงแสน ก็ปรากฏว่าเมื่อจุลศักราช 853 กษัตริย์เชียงใหม่ได้พระราชทานนามีค่า 540,000 เบี้ย รายการสร้างต่างๆ ก็คิดราคาเป็นเบี้ย
ในกรุงศรีอยุธยามีหลักฐานการใช้เบี้ยอยู่ที่ใกล้ พระราชวังโบราณ เรียกกันว่า ท่าสิบเบี้ย ที่เรียกกัน เพราะแต่ก่อนเป็นท่าเรือจ้าง ค่าโดยสารเรือเขาคิดกันคนละ 10 เบี้ย
คน ไทยใช้เบี้ยมานาน มีสำนวนภาษาที่เกี่ยวกับเบี้ย เช่น สิบเบี้ยใกล้มือ ขายหน้าวันห้าเบี้ย พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง ฯลฯ ในบทเด็กเล่นก็มี "รีรีข้าวสาร สองทะนานข้าวเปลือก เลือกท้องใบลาน เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน พานเอาคนข้างหลังไว้"
ภาษาราชการยังมีคำว่าเบี้ยอยู่หลายคำ เช่นเบี้ยหวัด เป็นเงินที่ให้บำเหน็จแก่ข้าราชการเป็นปี ซึ่งมักเรียกติดกันว่า เบี้ยหวัดเงินปี เบี้ยเลี้ยง คือเงินเพิ่มให้เป็นค่าอาหาร เบี้ยปรับคือเงินที่ศาลเรียกจากผู้แพ้คดี เบี้ยบำนาญ คือเงินที่ให้เป็นบำเหน็จความชอบ
ยังมีคำที่ไม่ได้กล่าว ไว้ในพจนานุกรม อีกสองคำเบี้ยกันดาร หมายถึงเงินที่เพิ่มแก่ข้าราชการ นอกเหนือไปจากเงินเดือน เห็นจะเริ่มมีตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ข้าราชการที่ไปปฏิบัติราชการในท้องถิ่นที่มีอาหารการกินแพงอย่าง 1 และท้องที่นั้นมีโรคภัยไข้เจ็บชุกชุมอีกอย่าง 1 ก็จะมีเบี้ยกันดารเพิ่มให้
เบี้ย ภาษา คำนี้สมเด็จฯกรมพระยาดำรง ราชานุภาพ ทรงคิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ข้าราชการมณฑลปัตตานีได้เบี้ยกันดารเป็นประจำ ต่อมาทรงเห็นว่าบางที่ไม่กันดาร ค่าใช้จ่ายไม่สูง และไม่มีโรคภัย จนถึงสมควรได้รับพระราชทานเบี้ยกันดาร แต่มีเหตุอื่นให้ พิจารณา คือข้าราชการควรพูดภาษามลายูได้ จึงจะรับราชการได้ประโยชน์เต็มที่
แต่ ข้าราชการบางคนไม่สนใจเรียนภาษามลายู ทำให้ต้องใช้ล่าม จึงทรงวางระเบียบใหม่ ยกเลิกเบี้ยกันดาร และตั้งเบี้ยภาษาขึ้นแทน เบี้ยภาษานี้เข้าใจว่าเริ่มใช้ ตั้งแต่เดือนเมษายน ร.ศ.126
บาราย
.
กฎหมายคุมค่าเบี้ย - ข่าวไทยรัฐออนไลน์
.
http://www.thairath.co.th/column/pol/kumpee/105199.