ผู้เขียน หัวข้อ: พุทธประวัติตอน ๑๔ ประวัติพระเทวทัต  (อ่าน 2031 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ sithiphong

  • ทีมงานก้านแก้วเกล็ดใบทอง
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7544
  • พลังกัลยาณมิตร 2681
  • พระวังหน้าที่หลวงปู่เทพโลกอุดรเสก
    • ดูรายละเอียด
.
พุทธประวัติตอน ๑๔ ประวัติพระเทวทัต
.
ประวัติพระเทวทัต
.

สมัยหนึ่ง พระบรมศาสดาเสด็จจาริกไปประทับ ณ เมืองโกสัมพี
ครั้งนั้น ลาภสักการะบังเกิดแก่พระองค์กับทั้งภิกษุสงฆ์สาวกเป็นอันมาก
คนทั้งหลายถือสักการะ มีจีวร บิณฑบาต เภสัช อัฎฐบาน เป็นต้น เข้ามาสู่วิหาร
ถวายแก่พระสงฆ์สาวกเป็นเนืองนิตย์
ส่วนมากทุก ๆ คนที่มา ย่อมถามถึงแต่พระอัครสาวกทั้งสอง
และพระสาวกองค์อื่น ๆ ว่า ท่านอยู่ ณ ที่ใด
แล้วพากันไปเคารพนบไหว้สักการะบูชา ไม่มีใครถามถึงพระเทวทัตแม้แต่ผู้เดียว . พระเทวทัตเกิดความโทมนัสน้อยใจ
ตามวิสัยของปุถุชนจำพวกที่มากด้วยความอิจฉา ฤษยา
คิดว่า เราเป็นกษัตริย์ศากยะราชสกุลเหมือนกัน
ออกบรรพชากับด้วยกษัตริย์ขัตติวงศ์นั้น ๆ แต่ไม่มีใครนับถือ ถามหา น่าน้อยใจ
เมื่อคิดดังนี้แล้ว ก็เกิดตัณหาในลาภสักการะ เข้าครอบงำจิต
คิดใคร่จะได้ลาภสักการะ สัมมานะ เคารพนับถือ
แล้วก็คิดต่อไปว่า เราจะทำบุคคลผู้ใดให้เลื่อมใส กราบไหว้บูชาดีหนอ
จึงจะบังเกิดลาภสักการะ ครั้นคิดต่อไปก็มองเห็นอุบายทันทีว่า
พระอชาตศัตรูราชกุมาร พระโอรสของพระเจ้าพิมพิสารนั้น ยังทรงพระเยาว์
ยังไม่รอบรู้คุณและโทษแห่งบุคคลใด ๆ ควรจะไปคบหาด้วยพระราชกุมารนั้นเถิด
ลาภสักการะก็จะพลันบังเกิดเป็นอันมาก . ครั้นดำริดังนั้นแล้ว ก็หลีกจากเมืองโกสัมพีไปสู่เมืองราชคฤห์
แล้วนิรมิตกายเป็นกุมารน้อย เอาอสรพิษ ๔ ตัว ทำเป็นอาภรณ์ประดับมือและเท้า
ขดทำเป็นเทริดบนศรีรษะ ๑ ตัว ทำเป็นสังวาลย์พันกาย ๑ ตัว
สำแดงปาฎิหาริย์ปุถุชนฤทธิ์ของตนเหาะไปยังพระราชนิเวศน์
ลอยลงจากอากาศ ปรากฎกายอยู่เฉพาะหน้าพระอชาตศัตรูราชกุมาร
.
ครั้นพระราชกุมารตกพระทัยกลัว ก็ทูลว่า “อาตมา คือพระเทวทัต”
แล้วเจรจาเล้าโลมให้พระราชกุมารหายกลัว
สำแดงกายเป็นพระทรงไตรจีวรและบาตร ยืนอยู่ตรงพระพักตร์พระราชกุมาร
เมื่อพระราชกุมารเห็นปาฎิหาริย์เช่นนั้น ก็ทรงเลื่อมใส เคารพนับถือ
ถวายลาภสักการะบูชาเป็นอันมาก . ภายหลัง พระเทวทัตเกิดบาปจิตคิดใฝ่สูงด้วยอำนาจตัณหา
มานะครอบงำจิตคิดผิดไปว่า เราสมควรจะเป็นผู้ครองพระภิกษุสงฆ์ทั้งปวง
พอดำริดังนั้น ปุถุชนฤทธิ์ของตนก็เสื่อมสูญพร้อมกับจิตตุบาท
ครั้นคิดดังนั้นแล้ว ก็เดินทางมาเฝ้าพระพระบรมศาสดาซึ่งประทับอยู่ที่พระเวฬุวันวิหาร ณ เมืองราชคฤห์
ในเวลาที่พระบรมศาสดาทรงแสดงธรรมแก่มวลพุทธบริษัท
ซึ่งพระเจ้าพิมพิสารมหาราชประทับเป็นประธานอยู่ เมื่อจบพระธรรมเทศนาแล้ว
พระเทวทัตได้กราบทูลว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค บัดนี้พระองค์ทรงชราภาพแล้ว
จงเสวยทิฎฐธรรมสุขวิหารสำราญพระกมล
มีความขวนขวายน้อยเถิด ข้าพระองค์จะรับภาระธุระช่วยว่ากล่าวครอบครองภิกษุสงฆ์ทั้งปวง
ขอพระองค์จงมอบเวรพระภิกษุสงฆ์สาวกทั้งสิ้นให้แก่ข้าพระองค์เถิด
ข้าพระองค์จะได้ว่ากล่าวสั่งสอนแทนพระองค์สืบไป”
.
พระเทวทัตคิดการณ์ใหญ่ อยากเป็นประมุขสงฆ์
. ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสดับ จึงตรัสห้ามว่า “ไม่ควร”
ไม่ทรงอนุญาตให้เป็นไปตามความปรารถนาของพระเทวทัต ๆ ก็โทมนัส
ผูกอาฆาตในพระบรมศาสดา จำเดิมแต่นั้นมา
พระบรมศาสดาได้ทรงประกาศความประพฤติอันไม่ดีอันไม่งามของพระเทวทัต
ซึ่งเกิดขึ้นด้วยจิตลามกให้พระสงฆ์ทั้งหลายทราบ
เพื่อให้ภิกษุที่ยังเป็นปุถุชนอยู่ จะได้สังวรระวังจิตมิให้วิปริตไปตาม
. ต่อมาพระเทวทัตคิดการใหญ่ ปรารถนาจะทำอันตรายแก่พระผู้มีพระภาค
จึงเข้าไปเฝ้าพระอชาตศัตรูราชกุมาร แล้วด้วยอุบายทูลว่า
แต่ก่อนมนุษย์ทั้งหลายมีอายุยืน บัดนี้อายุของมนุษย์น้อยถอยลง
หากพระองค์สิ้นพระชนม์เสียก่อนพระราชบิดา
แต่เวลายังหนุ่มอยู่แล้ว ไฉนพระองค์จะได้รับราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์
เสวยพระราชสมบัติสมดังพระทัยที่ปรารถนาไว้เล่า
ฉะนั้น พระองค์จงปลงพระชนม์ชีพพระราชบิดา
จัดการสถาปนาพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ เสวยราชสมบัติเสียตั้งแต่บัดนี้เถิด
แม้อาตมาก็จะฆ่าพระสมณะโคดมเสีย
จะได้เป็นพระบรมศาสดา ปกครองพระสงฆ์ทั้งปวงเช่นเดียวกัน. . เมื่อพระอชาตศัตรูราชกุมาร ยังเยาว์พระวัย พระทัยเบา
หลงเชื่อถ้อยคำของพระเทวทัต จึงทำปิตุฆาต
ปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์พระเจ้าพิมพิสาร
พระชนกนาถ ให้อภิเษกพระองค์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์สำเร็จดังปราถนา .
พระเทวทัตลอบปลงพระชนม์พระพุทธเจ้าด้วยวิธีต่าง ๆ
.
พระเทวทัตได้พยายามทำร้ายพระบรมศาสดา
โดยคบคิดกับพระเจ้าอชาติศัตรูเป็นการใหญ่ ครั้งที่หนึ่ง
ได้ใช้ให้นายขมังธนูทั้งหลาย เข้าไปทำอันตรายยิงพระบรมศาสดา
แต่นายขมังธนูกลับมีจิตศรัทธา สดับพระธรรมเทศนา ให้บรรลุโสดาปัตติผลด้วยกันสิ้น.
.
ครั้งที่สอง พระเทวทัตลอบขึ้นไปบนภูเขาคิชฌกูฎ กลิ้งก้อนหินศิลาใหญ่ลงมาหวังจะให้ประหารพระบรมศาสดา
ขณะเสด็จขึ้น ถึงสะเก็ดศิลาได้กระทบพระบาทจนห้อพระโลหิต
นับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียว ที่พระผู้มีพระภาค ผู้เป็นนาถะของโลก
เป็นพระบรมครูขอเทพยดาและมวลมนุษย์
ต้องประสบอันตรายถึงเสียพระโลหิตจากพระกาย เพราะพระเทวทัตกระทำอนันตริยกรรมพุทธโลหิตุบาท.
.
ครั้งที่สาม พระเทวทัตให้ปล่อยช้างนาฬาคีรี
ช้างพระที่นั่งกำลังซับมันดุร้าย
เพื่อให้ทำอันตรายพระชนม์ชีพพระบรมศาสดา
ในเวลาเสด็จออกบิณฑบาต แต่ช้างนาฬาคีรีก็ไม่ทำร้ายพระองค์
.
ครั้งนั้น พระอานนท์เถระเจ้า มากด้วยความกตัญญู สละชีวิตถวายเป็นพุทธบูชา
โดยกลัวว่าช้างนาฬาคีรีจะทำร้ายพระผู้มีพระภาคเจ้า
จึงได้ออกไปยืนกั้นหน้าช้างนาฬาคีรีไว้ เพื่อให้ช้างทำลายชีวิตท่าน
ปรารถนาจะป้องกันพระบรมศาสดา
ในทันใดนั้น พระบรมศาสดาได้ทรงช้างนาฬาคีรีให้หมดพยศอันร้ายกาจ
หมอบยอบกายเข้าไปถวายบังคมพระบรมศาสดา
ฟังพระบรมศาสดาตรัสสอนแล้วเดินกลับเข้าสู่โรงช้าง ด้วยอาการอันสงบ
ปรากฎแก่มหาชนที่ประชุมกันดูอยู่เป็นอันมาก เป็นมหัศจรรย์
.
ครั้นพระผู้มีพระภาค พาพระสงฆ์เสด็จกลับยังพระเวฬุวันวิหาร
มหาชนก็พากันแซ่ซ้องร้องสาธุการ ติดตามไปยังพระเวฬุวันวิหาร
จัดมหาทานถวายครั้นเสร็จภัตตกิจแล้วพระบรมศาสดาได้ตรัสอนุปุพพิกกถาอนุโมทนา
เมื่อได้ทรงสดับคำพรรณนาถึงคุณของพระอานนท์เถระเจ้าที่ได้สละชีวิตออกไปยืนกั้นช้างนาฬาคีรี
สมเด็จพระชินสีห์ จึงประทานพระธรรมเทศนามหังสชาดก และจุลลหังสชาดก
ยกคุณของพระอานนท์เถระเจ้าที่ได้สละชีวิตถวายพระองค์แม้ในอดีตชาติ . แท้จริง การที่พระเทวทัตเกิดมีจิตบาปหยาบช้าลามก
ทำร้ายพระบรมศาสดามาก่อนนั้นก็ดี
แนะนำให้พระเจ้าอชาตศัตรู ปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสารก็ดี
มิสู้จะปรากฎแพร่หลายนัก
ต่อเมื่อปล่อยช้างนาฬาคีรี ให้ประทุษร้ายพระบรมศาสดาครั้งนั้นแล้ว
ความชั่วร้ายแต่หนหลังของพระเทวทัตก็ปรากฎทั่วไป
ชาวพระนครราชคฤห์พากันโพนทนากันโกลาหลว่า
พระเทวทัตคบคิดด้วยพระเจ้าอชาติศัตรูปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสาร
ทำร้ายพระสัมมาพุทธเจ้า ทำกรรมชั่วช้าลามกสิ้นดี . ครั้นพระเจ้าอชาติศัตรูได้ทรงสดับข่าวติฉินร้ายแรงเช่นนั้น ก็ละอายพระทัย
จึงเลิกโรงทานที่จัดอาหารบำรุงพระเทวทัตและศิษย์เสียสิ้น
ทั้งไม่เสด็จไปหาพระเทวทัตเหมือนแต่ก่อน
แม้ชาวเมืองทั้งหลายก็ไม่ศรัทธาเลื่อมใส ไม่พอใจให้การบำรุง
แม้พระเทวทัตไปสู่บ้านเรือนใด ๆ ก็ไม่มีใครต้อนรับ
เพียงแต่อาหารทัพพีหนึ่งก็ไม่ได้ พระเทวทัตได้เสื่อมเสียจากลาภสักการะทั้งปวง.
.
พระเทวทัตขอวัตถุ ๕ อย่าง (ที่เคร่งเกินพอดี)
.
ภายหลัง พระเทวทัตปรารถนาจะเลี้ยงชีพด้วยโกหัญญกรรม
การหลอกลวงสืบไป เพื่อจะเเสดงว่าตนเป็นผู้เคร่งครัด
ได้เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา ทูลขอวัตถุ ๕ ประการ
เพื่อให้พระบรมศาสดาบัญญัติให้ภิกษุทั้งหลายปฎิบัติโดยเคร่งครัด คือ… .

    ให้อยู่ในเสนาสนะป่า เป็นวัตร
    ให้ถือบิณฑบาต เป็นวัตร
    ให้ทรงผ้าบังสุกุล เป็นวัตร
    ให้อยู่โคนไม้ เป็นวัตร
    ให้งดฉันมังสาหาร เป็นวัตร

. ในวัตถุทั้ง ๕ ภิกษุรูปใด จะปฎิบัติข้อใด ให้ถือข้อนั้นโดยเคร่งครัด
คือให้สมาทานเป็นวัตร ปฎิบัติโดยส่วนเดียว . พระบรมศาสดาไม่ทรงอนุญาต ตรัสว่า “ไม่ควร ควรให้ปฎิบัติได้ตามศรัทธา”
ด้วยทรงเห็นว่า ยากแก่การปฎิบัติ เป็นการเกินพอดีไม่เป็นทางสายกลางสำหรับบุคคลทั่วไป
พระเทวทัตโกรธแค้น ไม่สมประสงค์ กล่าวยกโทษพระบรมศาสดา ประกาศว่า
คำสอนของตนประเสริฐกว่า ทำให้ภิกษุที่บวชใหม่ มีปัญญาน้อยหลงเชื่อ ยอมทำตนเข้าเป็นสาวก
ครั้นพระเทวทัตได้ภิกษุยอมเข้าเป็นบริษัทของตนแล้ว
ก็พยายามทำสังฆเภท แยกจากพระบรมศาสดา . เมื่อพระบรมศาสดาทรงทราบ
ก็โปรดให้หาพระเทวทัตมาเฝ้า รับสั่งถาม พระเทวทัตก็ทูลตามความสัตย์
จึงทรงตรัสพระพุทธโอวาทห้ามปรามว่า
“ดูก่อนเทวทัต ท่านอย่าพึงทำเช่นนั้น อันสังฆเภทนี้เป็นครุกรรมใหญ่หลางนัก”
พระเทวทัตมิได้เอื้อเฟื้อในพระโอวาท ไปจากที่นั้น พบพระอานนท์ ในพระนครราชคฤห์
ได้บอกความประสงค์ของตนว่า
“ท่านอานนท์ จะเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าเลิกจากพระบรมศาสดา
ข้าพเจ้าเลิกจากหมู่สงฆ์ทั้งปวง ข้าพเจ้าจะทำอุโบสถสังฆกรรมเป็นการภายในแต่พวกของเราเท่านั้น”
พระอานนท์ได้นำความนั้นมากราบทูลพระบรมศาสดา เมื่อทรงทราบแล้วก็บังเกิดธรรมสังเวช
ทรงพระดำริว่า
“พระเทวทัตจะกระทำอนันตริยกรรม อันจะนำตัวให้ไปทนทุกข์อยู่ในอเวจีมหานรก”
แล้วทรงอุทานว่า
“กรรมใดไม่ดีด้วย ไม่เป็นประโยชน์ด้วย กรรมนั้นทำได้ง่าย
ส่วนกรรมใดดีด้วย มีประโยชน์ด้วย กรรมนั้นทำได้ยากยิ่งนัก”
.
พระเทวทัตทำสังฆเภท (ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน)
. ในที่สุด พระเทวทัตก็ประชุมภิกษุ ส่วนมากเป็นชาววัชชี บวชใหม่ ในโรงอุโบสถ
ประกาศทำสังฆเภท จักระเภท แยกออกจากหมู่สงฆ์ทั้งปวง
แล้วพาภิกษุเหล่านั้นไปยังตำบลคยาสีสะประเทศ . ครั้นพระบรมศาสดาได้ทรงทราบเหตุนั้นแล้ว
ทรงดำรัสให้พระสารีบุตรเถระและพระโมคคัลลานะเถระ
ไปนำภิกษุพวกนั้นกลับ อัครสาวกทั้งสองรับพระบัญชาแล้วไปที่คยาสีสะประเทศนั้น
แนะนำพร่ำสอนภิกษุเหล่านั้น ให้กลับใจ
ด้วยอำนาจเทศนาปาฎิหาริย์และอิทธิปาฎิหาริย์ต่างๆ ให้ภิกษุเหล่านั้นได้บรรลุอมตธรรม
แล้วพาภิกษุเหล่านั้นกลับมาเฝ้าพระบรมศาสดา
.
พระโกกาลิกะ ซึ่งเป็นศิษย์ผู้ใหญ่ของพระเทวทัต มีความโกรธ
กล่าวโทษแก่พระเทวทัต ที่ไปคบค้าด้วยพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ
ให้พระอัครสาวกทั้งสองพาภิกษุทั้งหลายกลับไปหมดสิ้น
แล้วประหารพระเทวทัตที่ทรงอก ด้วยเท้าอย่างแรงด้วยกำลังโทสะ เป็นเหตุให้พระเทวทัตเจ็บปวดอย่างสาหัส ถึงอาเจียนเป็นโลหิต ได้รับทุกข์เวทนากล้า
.
พระเทวทัตอาพาธและสำนึกผิด
. เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จจากพระนครราชคฤห์
ไปประทับยังพระเชตวันวิหารพระนครสาวัตถีแล้ว
ต่อมาพระเทวทัตก็อาพาธหนักลง ไม่ทุเลาถึง ๙ เดือน
กลับหวลคิดถึงพระบรมศาสดา ใคร่จะเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นครั้งสุดท้าย
ด้วยแน่ใจในชีวิตสังขารของตนคงจะดับสูญในกาลไม่นานนั้นเป็นแน่แท้
จึงได้ขอร้องให้ภิกษุที่เป็นสาวกของตนให้ช่วยพาไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ภิกษุพวกนั้นกล่าวว่า
“ท่านอาจารย์เป็นเวรอยู่กับพระบรมศาสดาหนักนัก
ข้าพเจ้าทั้งหลาย หาอาจพาไปเฝ้าได้ไม่”
พระเทวทัตจึงกล่าวว่า
“ท่านทั้งปวงอย่าให้เราพินาศฉิบหายเสียเลย
แม้เราจะได้ทำเวรอาฆาตในพระผู้มีพระภาค แต่พระผู้มีพระภาคจะได้อาฆาตตอบเราแม้แต่น้อยหนึ่งก็มิได้มี
เราจะไปขมาโทษ ขอให้พระองค์อดโทษให้สิ้นโทษ
ด้วยน้ำพระทัยพระผู้มีพระภาคเปี่ยมด้วยพระกรุณา
ทรงพระการุญในพระเทวทัตก็ดี ในองคุลีมาลโจรก็ดี
ในช้างนาฬาคีรีก็ดี ในพระราหุลผู้เป็นพระโอรสก็ดี เสมอกัน”
เหตุนั้น พระเทวัตจึงขอร้อง วิงวอนแล้ว ๆ เล่า ๆ
ให้ภิกษุผู้เป็นศิษย์ ช่วยนำตัวไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
บรรดาภิกษุผู้เป็นศิษย์มีความสงสาร
จึงพร้อมกันยกพระเทวทัตขึ้นนอนบนเตียงแล้วช่วยกันหามมา
ตั้งแต่เมืองราชคฤห์ จนถึงเมืองสาวัตถี
.
ครั้นพระสงฆ์ทั้งหลายรู้ข่าว จึงเข้าไปกราบทูลพระบรมศาสดา
พระองค์ตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย พระเทวทัตได้ทำกรรมหนัก
ไม่อาจเห็นตถาคตในอัตตภาพนี้ได้เลย”
แม้ภิกษุทั้งหลายจะได้เข้ากราบทูลให้ทรงทราบเป็นระยะ ๆ หลายหน
 ถึงครั้งสุดท้าย พระเทวทัตได้ถูกหามมาใกล้พระเชตวันวิหารแล้ว
พระผู้มีพระภาค ก็ยังทรงรับสั่งเช่นเดิมอยู่อย่างนั้นอีกว่า
“ภิกษุทั้งหลาย แม้พระเทวทัต จะเข้ามาในพระเชตวัน
พระเทวทัตก็จะไม่ได้เห็นตถาคตเป็นแน่แท้” .
พระเทวทัตโดนแผ่นดินสูบในวาระสุดท้าย
.
เมื่ออันเตวสิกทั้งหลาย หามพระเทวทัตมาถึงสระโบกขรณี
ซึ่งอยู่นอกพระเชตวันวิหาร จึงวางเตียงลงในที่ใกล้สระ
แล้วก็ชวนลงอาบน้ำในสระนั้น ส่วนพระเทวทัตก็ลุกขึ้นนั่งอยู่บนเตียง
ห้อยเท้าทั้งสองถึงพื้นดิน ประสงค์จะเหยียบยันกายขึ้นบนพื้นปฐพี
ในขณะนั้น พื้นปฐพีก็แยกออกเป็นช่อง
สูบเอาเท้าทั้งสองของพระเทวทัตลงไปในแผ่นดินโดยลำดับ
พระเทวทัตได้จมหายไปในภาคพื้น ตราบเท่าถึงคอ และกระดูกคาง วางอยู่บนพื้นปฐพี . ในเวลานั้น พระเทวทัตได้กล่าวคาถาสรรเสริญบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
“พระผู้มีพระภาค เป็นอัครบุรุษ ยอดแห่งมนุษย์และเทพดาทั้งหลาย
พระองค์เป็นสารถีฝึกบุรุษอันประเสริฐ พระองค์ทรงสมบูรณ์ด้วยบุญญลักษณ์ถึงร้อย
และบริบูรณ์ด้วยสมันตจักษุญาณ หาที่เปรียบมิได้ ข้าพระองค์
ขณะนี้ มีเพียงกระดูกคางและศรีษะ กับลมหายใจเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว
ขอถึงพระพุทธเจ้า เป็นสรณะ”
.
พอสิ้นเสียงแห่งคำนี้เท่านั้น
ร่างพระเทวทัตก็จมหายลงไปในแผ่นพื้นปฐพีไปบังเกิด ในอเวจีมหานรก
ด้วยบาปไม่เคารพในพระรัตนตรัย ประทุษร้ายในพระบรมศาสดา
ทำสังฆเภทอันเป็นอนันตริยกรรม ข่าวพระเทวทัตถูกแผ่นดินสูบ
เป็นข่าวใหญ่เกรียวกราว ได้แพร่สะพัดไปในชาวนครสาวัตถี
ไม่นานก็รู้กันทั่วกรุง โจษจันกันไปทั่วชุมนุมชน
ด้วยเพิ่งจะรู้จะได้ยิน เพิ่งจะปรากฎ ผู้หนักในธรรมก็สังเวชสลดใจ
คนใจบุญก็สดุ้งต่อปาบ เห็นบาปเป็นภัยใหญ่หลวง
คนที่เกลียดชังพระเทวทัต ก็พากันดีใจ โลดเต้นสาปแช่ง สมน้ำหน้าพระเทวทัตหนักขึ้น
. ภิกษุทั้งหลายทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
“บัดนี้ พระเทวทัตไปบังเกิดในที่ไหน?”
พระบรมศาสดาตรัสว่า ไปบังเกิดในอเวจีมหานรก
ภิกษุทั้งหลาย คนทำบาป ย่อมเดือดร้อนในโลกนี้
เมื่อละจากโลกนี้ไป ก็ย่อมทวีความเดือดร้อนยิ่งขึ้น . ภายหลัง พระเจ้าอชาตศัตรูทรงรู้สึกในความผิดของพระองค์
ทรงเดือดร้อนพระทัย โปรดให้หมอชีวกโกมารภัจจ์
พาพระองค์เฝ้าพระผู้มีพระภาค ซึ่งประทับอยู่ที่พระวิหารกลม
ในชีวกัมพวนาราม
ครั้นสดับพระธรรมเทศนาของพระบรมศาสดาแล้วทรงเลื่อมใส
ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ เป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นกำลังอุปถัมภ์บำรุงพระศาสนาต่อมา.
.
ในกาลนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ กุฎาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้พระนครไพศาลี
ทรงทราบว่า พระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดา
ซึ่งประทับอยู่กบิลพัสดุ์นคร ทรงประชวรหนัก
อาศัยที่ทรงสมบูรณ์ด้วยพระกตัญญูกตเวทีตาธรรม
จึงเสด็จไปเยี่ยมพระพุทธบิดา พร้อมด้วยพระสาวกเป็นอันมาก
ทรงบำเพ็ญปิตุปัฏฐานธรรมถวายการพยาบาลตามพุทธวิสัย
.
เขียนโดย Dhamma for Lerner
https://dhammaforlearner.blogspot.com/2015/09/BuddhaHistoryEp14.html
.
คณะหลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดร 1.หลวงปู่พระอุตรเถระเจ้า 2.หลวงปู่พระโสณเถระเจ้า 3.หลวงปู่พระมูนียะเถระเจ้า(หลวงปู่อิเกสาโร)4.หลวงปู่พระฌาณียะเถระเจ้า(หลวงปู่ขรัวขี้เถ้า) 5.หลวงปู่พระภูริยะเถระเจ้า(หลวงปู่หน้าปาน)