ผู้เขียน หัวข้อ: 'มัจฉา ปักษี ผีเสื้อ: อุปลักษณ์สัตว์และการผดุงชีวิตในปรัชญาของจวงจื่อ'  (อ่าน 80 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
'มัจฉา ปักษี ผีเสื้อ: อุปลักษณ์สัตว์และการผดุงชีวิตในปรัชญาของจวงจื่อ'

<a href="https://www.youtube.com/v//hGR2pd0jx-8" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v//hGR2pd0jx-8</a> 

https://youtu.be/hGR2pd0jx-8



หนังสือ 'มัจฉา ปักษี ผีเสื้อ: อุปลักษณ์สัตว์และการผดุงชีวิตในปรัชญาของจวงจื่อ' ของศริญญา อรุณขจรศักดิ์

ในแวดวงวิชามนุษยศาสตร์ไทยเท่าที่ข้าพเจ้าได้รู้เห็นในปัจจุบันขณะนี้ เห็นทีจะไม่มีใครเกินกว่าอาจารย์ ศริญญา อรุณขจรศักดิ์ ที่ได้ศึกษาสมาคมสนิทสนมกับแนวคิดทางปรัชญาของ “จวงจื่อ” มาอย่างถี่ถ้วนและต่อเนื่องยาวนานนับเป็นทศวรรษ

การจับประเด็นเรื่อง “อุปลักษณ์สัตว์” มาวิเคราะห์วิจัยแล้วเรียบเรียงเนื้อความจนสำเร็จเป็นเล่มหนังสือได้ในครั้งนี้ เป็นผลงานอีกชิ้นหนึ่งที่พิสูจน์ชัดว่าเธอมีความ “เข้าใจ” และ “เข้าถึง” แก่นปรัชญาของจวงจื่ออย่างถ่องแท้ ทั้งยังสามารถนำสารัตถะของตำรับจีนเล่มที่ได้ชื่อว่าน่าพิศวงที่สุดเล่มหนึ่งนี้ มาบรรยายและพรรณนาได้อย่างแจ่มแจ้งด้วยกระบวนภาษาที่หนักแน่นแต่เต็มไปด้วยไมตรีจิตชวนให้ติดตาม ทำความพิสดารของเนื้อหาสาระที่ซับซ้อนให้ง่ายขึ้นต่อการสดับรับรู้ ช่วยให้ผู้อ่านเกิดความกระจ่างเกี่ยวกับปรัชญาจีนมากขึ้น

ไม่เพียงแต่จะพานำเที่ยว “สวนสัตว์เปิด” อันน่าพิสมัยของจวงจื่อด้วยลีลาอารมณ์ชวนเพลินเท่านั้น ยังสอดแทรกนัยต่าง ๆ ให้เข้าใจด้วยว่าชาววัฒนธรรมจีนมีกิจกรรมการถกเถียงกันทางปัญญาด้วยท่าทีอย่างไร จึงทำให้แนวคิดที่มุ่งมองไปยังทิศทางที่ต่างกันสามารถ “วิวาทะ” กันได้โดยไม่จำเป็นต้อง “วิวาท” หรือมุ่งทำร้ายทำลายกัน

ดังการเรียกร้องของปรัชญาเต๋าให้ใฝ่หาชีวิตที่มีอิสรภาพและความเสมอภาคในสังคมมนุษย์ แม้จะเน้นในจุดที่ต่างกัน แต่ในที่สุด ก็มิได้ขัดแย้งหรือเป็นอุปสรรคต่อความมุ่งมั่นต้องการสรรสร้างสังคมมนุษย์ซึ่งเน้นเรื่องความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์และการรับผิดชอบต่อสังคมอันเป็นอุดมการณ์ของปรัชญาขงจื่อแต่อย่างใด

ในงานชิ้นนี้ อาจารย์ศริญญายังช่วยเปิดมุมมองใหม่ต่อภาพลักษณ์ของปรัชญาเต๋าที่มักจะเข้าใจกันว่าเป็นแนวทางที่ชวนให้หลีกลี้หรือทอดทิ้งสังคมอย่างไม่ใยดี ด้วยการชี้ให้เห็นโดยนัยว่า การปลีกตัวจากสังคมของปรัชญาเต๋านั้น อันที่จริง คือการถอดถอนตนจากสังคมมนุษย์เพื่อแหวกกรงล้อมออกไปสู่สังคมที่มีขอบเขตและมิติที่ขยายกว้างขวางยิ่งขึ้น

มนุษย์ไม่ควรจะรักและให้ค่าก็แต่มนุษย์ด้วยกันเท่านั้น ยังจำเป็นต้องรักและคำนึงถึงสัตว์และสรรพสิ่งอื่น ๆ ที่แวดล้อมมนุษย์ด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่ง ปรัชญาเต๋าชวนให้ละทิ้งสังคมมนุษย์ที่คับแคบเพื่อจะได้ออกไปสู่สังคมของธรรมชาติที่เปิดกว้างกว่านั่นเอง เป็นการละทิ้งที่ไม่ได้ทอดทิ้ง ทั้งยังเพิ่มความรับผิดชอบที่จะต้องเอาใจใส่ต่อสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์กับชีวิตอื่นที่แวดล้อมอยู่ด้วย

บางส่วนจากคำนิยม
ปกรณ์ ลิมปนุสรณ์
สาขาวิชาภาษาจีน คณะศิลปศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



อ่านสารบัญ คำนิยม และบทนำ ที่ https://bit.ly/3RpGWcZ

จวงจื่อเป็นงานปรัชญานิพนธ์ของสำนักเต๋าที่โดดเด่นในแง่การนำเสนอปรัชญาผ่านการสร้างจินตนาการ เรื่องเล่า บทสนทนา และอุปลักษณ์  เรื่องแต่งในจวงจื่อมีการใช้ตัวละครที่หลากหลายในการดำเนินเรื่องราวและบทสนทนา ตัวละครเหล่านั้นแบ่งเป็นสี่กลุ่มหลักๆ ได้แก่


1) กลุ่มผู้นำทางการเมืองทั้งที่ได้รับการยกย่องเป็นราชาปราชญ์ เช่น หวงตี้ เหยา ซุ่น และผู้ปกครอง อำมาตย์ เสนาบดี ของแคว้นต่างๆ รวมทั้งผู้ที่รับราชการในตำแหน่งต่างๆ เช่น เว่ยเหวินโหวผู้ปกครองแคว้นเว่ย เผิงจู่อำมาตย์ของแคว้นเหยา ตั้งเสนาบดีแห่งซัง นายด่านอิ่น เป่ยกงเซอผู้เก็บภาษีอากร เป็นต้น


2) กลุ่มที่เป็นปราชญ์เต๋า เช่น หนันกัวจื่อฉี สี่สหายปราชญ์เต๋า (จื่อซื่อ จื่ออี๋ว์ จื่อหลี และจื่อไหล) รวมถึงนักคิด ผู้นำการเปลี่ยนแปลงของสังคม ผู้หลีกเร้น และปราชญ์ร่วมสมัยเดียวกับจวงจื่อ เช่น ฮุ่ยจื่อ ขงจื่อและบรรดาศิษย์เอกของขงจื่อ เหลาตันหรือเหลาจื่อ เลี่ยจื่อ กงซุนหลง ซ่งหรงจื่อปราชญ์แคว้นซ่ง และซื่อหนันอี๋เหลียวชายชาวแคว้นฉู่ผู้หลีกเร้นตน เป็นต้น 


3) กลุ่มของสัตว์และพืชพรรณทั้งที่มีอยู่จริงบนโลกและในจินตนาการ เช่น ผีเสื้อ ต้นไม้ จักจั่น นกกระทา งู กิ้งกือ พญามัจจาคุน พญานกเผิง เป็นต้น รวมทั้งสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์และสิ่งนามธรรมต่างๆ เช่น ลม น้ำ ไร้การแบ่งแยก (หรือหุนตุ้น) หัวกระโหลก แสงสลัวและเงาดำ จ้าวเมฆาและลี้ลับ เทพแห่งสายน้ำ เทพแห่งทะเลเหนือ เป็นต้น


4) กลุ่มบุคคลสามัญชนที่ประกอบอาชีพต่างๆ หรือมีทักษะความสามารถพิเศษ เป็นช่างฝีมือหรือศิลปิน เช่น พ่อครัวติง ช่างไม้สือ  ช่างปั้นหมอ  คนฝึกม้า  เปี่ยนนายช่างทำล้อ  ชายค่อมจับจักจั่นโดยใช้ไม้ยางเหนียวสอยจับ  คนถ่อเรือ นักว่ายน้ำ ช่างไม้แกะสลักระฆัง  ผู้เฒ่านักตกปลา ช่างตีหัวเข็มขัด ปรมาจารย์ดนตรีซือจิน มหาโจร หญิงชราหมอดู เป็นต้น รวมถึงบุคคลที่สังคมมองว่าอ่อนด้อย ไม่ปกติ ไร้ประโยชน์ หรือไร้ความสามารถ เช่น ชายบ้าเจียอี๋ว์ นายขาเป๋หลังค่อมปากแหว่ง  นายคอพอกโตเท่าเหยือก ชายอัปลักษณ์ไอไถทัว ชายพิการซู ชายพิการถูกตัดขา (หวังไถ สูซันอู๋จื่อ และเซินถูจยา) เป็นต้น 


ในบรรดากลุ่มตัวละครข้างต้น ตัวบทที่มีสัตว์ดำเนินเรื่องราวหรือเกี่ยวข้องกับสัตว์มีนัยสำคัญต่อการเข้าใจปรัชญาในจวงจื่ออย่างยิ่ง เห็นได้จากจวงจื่อ บทที่ 1 เปิดด้วยจินตนาการและเรื่องราวของ “คุน” พญามัจฉาที่กลายร่างเป็นพญานก “เผิง” แล้วบินสู่ทะเลสาบสวรรค์ ณ แดนใต้ บทสนทนาของจักจั่นและนกกระทาที่หัวเราะเยาะการเดินทางสู่แดนใต้ของพญานกเผิง โดยใช้มุมมองวิถีชีวิตอันเล็กน้อยของพวกมันตัดสินพญานกเผิง นักวิชาการปรัชญาจีนต่างลงความเห็นว่าการเปิดด้วยเรื่องราวจินตนาการของสัตว์ดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการเข้าใจวิธีการนำเสนอปรัชญาของจวงจื่อ (莊子) ซึ่งต่างจากงานปรัชญานิพนธ์อื่นๆ ที่มักนำเสนอเป็นความเรียงและเต็มไปด้วยข้อถกเถียงที่โต้แย้งด้วยวิธีการทางตรรกะ  แต่จวงจื่อเลือกใช้สัตว์และความเป็นตำนาน (myth) เพื่อแสดงความคิดเห็นทางปรัชญาของตน ซึ่งมีนัยว่าการจะเข้าใจปรัชญาของจวงจื่อได้ ผู้อ่านจะต้องใช้จินตนาการและปัญญาของตนร่วมเดินทางท่องไปกับเรื่องราวต่างๆ ในคัมภีร์  

จวงจื่ออาจจะกำลังเชื้อเชิญและเตือนผู้อ่านด้วยว่า ความคิดทางปรัชญาที่ตนจะนำเสนอนั้นจะต้องใช้จินตนาการร่วมเดินทางไปด้วยกัน หากใช้กรอบความคิดหรือมุมมองที่คุ้นชินของผู้อ่านตัดสิน ก็อาจมองว่าสิ่งที่จวงจื่อนำเสนอนั้นไร้สาระและไร้คุณค่า ซึ่งมิต่างอะไรกับจักจั่นและนกกระทาที่หัวเราะเยาะพญานกเผิง การที่สัตว์อย่างจักจั่นและนกกระทาต่างก็มีข้อจำกัดตามมุมมองและกรอบชีวิตของตนแต่กลับใช้เกณฑ์ของตนตัดสินผู้อื่นนั้น นำไปสู่การเข้าใจข้อเสนอทางปรัชญาที่สำคัญอย่างหนึ่งในจวงจื่อคือ การถอดถอนแนวคิดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง (de-anthropocentrism) ซึ่งในหลายๆ บทต่อมาจวงจื่อก็ใช้วิถีธรรมชาติและการดำรงชีวิตของสัตว์ที่หลากหลาย สะท้อนให้เห็นว่ามนุษย์ไม่ได้มีฐานทางญาณวิทยาเพียงพอที่จะตัดสินว่าเกณฑ์ตัดสินของตนดีกว่าหรือถูกต้องกว่าเกณฑ์ตัดสินของสรรพชีวิตอื่น

ในบรรดาตัวบทที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ จวงจื่อมักใช้สัตว์เป็นอุปลักษณ์ (Metaphor) ในฐานะเป็นวิธีการนำเสนอความคิดทางปรัชญาอย่างหนึ่ง  และตั้งใจเลือกใช้สัตว์บางชนิดเพื่อนำเสนอความคิดของตน นอกจากเรื่องราวของพญามัจฉา นก จักจั่น และนกกระทาในบทเปิดคัมภีร์ จะเข้าใจได้ว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งของการคัดสรรสัตว์บางชนิดเพื่อใช้เป็นอุปลักษณ์แล้ว  บทความฝันของผีเสื้อ (จวงจื่อ บทที่ 2) และบทสนทนาระหว่างจวงจื่อกับฮุ่ยจื่อ ณ ริมแม่น้ำเหา เรื่องความสุขของปลา (จวงจื่อ บทที่ 17) อันเป็นบทที่มีชื่อเสียงและมักมีการถกเถียงกันถึงเนื้อหาปรัชญาที่แฝงอยู่ ก็ใช้สัตว์เป็นอุปลักษณ์เช่นกัน โรเบิรต์ อี. อัลลินสัน (Robert E. Allison) มองว่าจวงจื่อจงใจใช้ “ผีเสื้อ” เป็นอุปลักษณ์สื่อถึงทัศนะเรื่องการแปรเปลี่ยนทางจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นข้อเสนอทางปรัชญาที่เป็นแก่นแกนของจวงจื่อภาคสมุดใน การที่จวงจื่อฝันว่าตนเป็นผีเสื้อจึงน่าจะสะท้อนความปรารถนาถึงอิสรภาพและสภาวะความแปรเปลี่ยนทางจิตวิญญาณนั้น   นัยสำคัญดังกล่าวของ “ผีเสื้อ” ทำให้อธิบายได้ว่าเพราะเหตุใดจวงจื่อจึงไม่ฝันว่าเป็นตัวตุ่น ค้างคาว สัตว์เลื้อยคลาน หรือสัตว์อื่นๆ ในจินตนาการ ส่วนบทสนทนาเรื่องความสุขของปลา จวงจื่อใช้ภาพของปลาที่แหวกว่ายอยู่ในน้ำเพื่อเป็นอุปลักษณ์สื่อถึง “สภาวะการลืม” และ “ความรื่นรมย์” ในการใช้ชีวิต อันเป็นท่าทีและญาณวิทยาที่โยงสู่การมีชีวิตที่ดีแบบสำนักเต๋า


จาก https://www.illuminationseditions.com/





มัจฉา ปักษี ผีเสื้อ: อุปลักษณ์สัตว์และการพดุงชีวิตในปรัชญาของจวงจื่อ

ชี้ให้เห็นโดยนัยว่า การปลีกตัวจากสังคมของปรัชญาเต๋านั้น อันที่จริง คือการถอดถอนตนจากสังคมมนุษย์เพื่อแหวกกรงล้อมออกไปสู่สังคมที่มีขอบเขตและมิติที่ขยายกว้างขวางยิ่งขึ้น

เนื้อหาโดยสังเขป

    คัมภีร์จวงจื่อ เป็นงานปรัชญานิพนธ์ที่สร้างทั้งความประหลาดใจ ความบันเทิง และความฉงนชวนให้ขบคิดได้อย่างมากที่สุดชิ้นหนึ่ง จากการนำพาผู้อ่านสู่จินตนาการอันลึกล้ำพิสดาร ทั้งฉาก ตัวละคร และเรื่องราวที่ดูเหนือจริง เช่น การกลายร่างจากปลาเป็นพญานกเพื่อเดินทางสู่แดนใต้ ความฝันของผีเสื้อ มิตรภาพระหว่างเจ้าแห่งทะเลแดนใต้ แดนเหนือ และใต้กลางสมุทร ลีลาการหันแล่เนื้อวัวของพ่อครัวดังนาฎกรรม เป็นต้น

    อีกทั้งยังทำให้ผู้อ่านเกิดความฉงน และกระตุ้นให้ขบคิดด้วยบทสนทนาที่ขบขัน เสียดสี ประชด ประชัน และท้าทายจารีต ขนบคิด ความเข้าใจ การให้คุณค่าที่คุ้นชินในสังคมและการดำเนินชีวิตของมนุษย์ เช่น บทสนทนาเรื่องประโยชน์ในความไร้ประโยชน์ระหว่างช่างไม้กับต้นโอ๊ก การพูดคุยระหว่างจวงจือกับหัวกะโหลกเรื่องชีวิตหลังความตาย บทสนทนาระหว่างฮุ่ยจือและจวงจื่อเรื่องความสุขของปลา เป็นต้น

สารบัญ

บทที่ 1 ทฤษฎีอุปลักษณ์และการใช้อุปลักษณ์ใน จวงจื่อ
บทที่ 2 มนุษย์ สัตว์ และโลกธรรมชาติใน จวงจื่อ
บทที่ 3 อุปลักษณ์สัตว์ที่สำคัญใน จวงจื่อ
บทที่ 4 ผู้ล่า ผู้เลี้ยง ผู้แล่าเนื้อสัตว์ การผดุงชีวิตและการปกครองใน จวงจื่อ
บทที่ 5 บทสรุป

คำนิยม

หนังสือที่สร้างขึ้นอย่างพิถีพิถนเล่มนี้อุบัติขึ้นในบรรณพิภพไทย ทั้งยังเห็นว่านี่คือสมบัตที่มีคุณค่าน่าถนอมของปัญญาชนไทย เป็นหนังสือที่ไม่ควรจำกัดดวงไว้อ่านแต่จำเพาะผู้สนใจวิชาปรัญชาหรือจีนศึกษาเท่านั้น ผู้ที่ต้องการคิดนึกตรึกตรองเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตหรือพัฒนาการของสังคมก็สมควรจะได้พิจารณาเพื่อสดับสติปัญญาด้วยเช่นกันปกรณ์ ลิมปนุสรณ์

จาก https://m.se-ed.com/
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...