ผู้เขียน หัวข้อ: เจ้าหนูอะตอม Ver. อุราซาว่า อะตอมแอสโตรบอย(มหัศจรรย์การ์ตูน โดย วินิทรา นวละออง)  (อ่าน 94 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 3 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
เจ้าหนูอะตอม Ver. อุราซาว่า อะตอมแอสโตรบอย



คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวละออง

โลดแล่นจากปลายปากกา เท็ตสึกะ โอซามุ เมื่อ ปี ค.ศ. 1952 หรือ หลังจาก เหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง ราว 7 ปี ระยะเวลาเพียงเท่านั้น ไม่อาจยืนยันได้เลยว่า จิตใจของชาวซากุระยังคงจมจ่อมอยู่ในฝันร้ายของเปลวสงครามอย่างฝังแน่น หรือดิ่งลึกเพียงใด กระนั้น นายแพทย์ผู้กลายมาเป็นนักเขียนการ์ตูนระดับตำนานอย่าง โอซามุ ก็หาญกล้าที่จะมอบชีวิตให้ “อะตอม” เป็นทูตสันติภาพ เพื่อยับยั้ง “สงคราม” หรือความขัดแย้งต่างๆ อันจะนำไปสู่การทำลายล้าง เสียเลือดเสียเนื้อ ของทั้งมนุษย์และเผ่าพันธุ์อื่นๆ

ซึ่งงานแรกที่เจ้าหนูอะตอมได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ของเขา ก็คือ ยับยั้งสงครามระหว่างชาวญี่ปุ่น กับชาวดาวโลกคู่ขนานของพวกเขา ที่อาจปะทุรุนแรงขยายวงกว้างเกินจะคาดคิด แน่นอนว่า ภารกิจแรก จบลงอย่างงดงาม

ความน่าสนใจอย่างยิ่งประการหนึ่ง ของ “อะตอม” อยู่ที่ ทั้งความตั้งใจของ เท็ตสึกะ โอซามุ เอง กับ ดร. เท็นมะ ตัวการ์ตูนที่เขาเนรมิตรขึ้น ให้เป็นนักวิทยาศาสตร์มากพรสวรรค์ และรับหน้าที่สร้าง “เจ้าหนูอะตอม" ขึ้นมา จนถึงวันนี้ กว่ากึ่งศตวรรษ ผู้อ่านหลายล้านคนก็ยังคงจดจำอะตอม ในฐานะ หุ่นยนต์ทูตสันติภาพ แต่ ขึ้นชื่อ ว่า เท็ตสึกะ โอซามุ เขาย่อมทิ้ง “บางสิ่ง” ไว้ให้ผู้อ่านเสมอ

แม้หน้าวรรณกรรม จะขอหยิบยกเพียงตอนแรกของเจ้าหนูอะตอม มาเป็นตัวอย่างเพื่อกล่าวถึง หากก็เชื่อว่าคงพอจะทำให้ผู้อ่านเห็นถึง จุดประสงค์ ของโอซามุได้ชัดเจนพออยู่ นั่นคือ แรกทีเดียว “อะตอม” ไม่ได้ถูกสร้างเพื่อให้เป็น “ทูตสันติภาพ” แต่ โอซามุ เขียนให้ ดร. เท็นมะ ตั้งใจสร้างอะตอมขึ้นมา แล้วไม่ช้าไม่นาน ก็มอบหมายให้เป็น “หุ่นสังหาร” ซึ่งมีอานุภาพรุนแรงที่สุดในโลก เพื่อให้ทำลายล้างชาวญี่ปุ่นโลกคู่ขนาน ที่อพยพมาอาศัยอยู่ในโลกมนุษย์ นั่นเพราะ ดร. เท็นมะ เกิดความหวาดกลัว ว่าผู้ลี้ภัยทั้งหลายจะมาแย่งชิงทรัพยากรของโลกจนหมดสิ้น



ฝ่ายชาวดาวคู่ขนาน เมื่อรู้ดังนั้น ก็พร้อมจะตอบโต้ ด้วยอาวุธที่มีอานุภาพร้ายแรงไม่น้อยไปกว่ากัน ทว่า สงครามที่อาจจะกวาดล้างสิ่งมีชีวิตทั้งมวลบนโลกให้หมดไป ก็ไม่เกิดขึ้น เพราะ “อะตอม” ไม่ได้ทำร้ายใครเลย แม้ ดร.เท็นมะ ผู้สร้างเขาขึ้นมา หวังในสิ่งที่ตรงกันข้าม แต่ หุ่นยนต์ปรมาณู ตนนี้ กลับทำหน้าที่ "ยุติ" การนองเลือด ด้วยบทบาทของ “ฑูตสันติภาพ” ที่นำความสงบมาสู่โลกและมวลมนุษย์ คงไม่ต้องมีคำบรรยายกระมัง ว่า เท็ตสึกะ โอซามุ ส่งต่อความเชื่อใดของเขาให้แก่ผู้อ่าน เพราะเจตนาเหล่านั้น ชัดแจ้งดีแล้ว ในตัวของมันเอง

ส่วนเรื่องราวใน พลูโต ของ นาโอกิ อุราซาว่า เริ่มต้นขึ้นเมื่อหุ่นยนต์อานุภาพสูงสุดของโลก ทั้งหมด 7 ตน ถูก “ฆาตกรรมต่อเนื่อง” อะตอม หุ่นยนตร์ ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงที่สุด จึงรวมอยู่ในเป้าหมายของการทำลายล้างด้วย และเกซิกต์ หุ่นยนตร์ประสิทธิภาพสูง ผู้เป็นตำรวจเจ้าของคดี อีกหนึ่งหุ่นยนต์ที่อาจตกเป็นเหยื่อ ก็เป็นผู้ที่ คลำพบร่องรอย เงื่อนงำอันน่าสงสัยของการฆาตกรรมอันทารุณนี้

ขณะที่ในเล่ม 2 อะตอม เริ่มมีส่วนร่วมมากขึ้น ในการช่วยสืบคดี และหาร่องรอยของฆาตกร เหล่านี้เป็นเพียงเนื้อเรื่องย่นย่ออย่างที่สุด แต่เมื่อได้อ่านฉบับเต็ม ความรู้สึกปวดร้าวของเหล่าหุ่นยนต์ ที่ต้องตกเป็นฝ่าย “ถูกกระทำ” จากน้ำมือมนุษย์ รวมถึงการเข่นฆ่า แย่งชิงอำนาจของเหล่าผู้นำต่างๆ ทั่วโลก นับเป็นเนื้อหาที่ไม่ล้าสมัย

โครงเรื่องหลักๆ ที่ โอซามุ ทิ้งไว้ นับเป็นวัตถุดิบ ชั้นยอด อย่างแท้จริง ขณะที่ อุราซาว่า ก็หยิบมาใช้ได้อย่าง “ไม่เสียของ” การนำเนื้อหาเดิมที่มีอยู่บางส่วน มาตีความใหม่ ในครั้งนี้ อุราซาว่า ไม่เพียงปล่อยให้บทสนทนา หรือความนึกคิดของตัวละคร รับหน้าที่ถ่ายทอดความรู้สึกทั้งด้านมืด ขมขื่น หรือด้านสว่าง ของจิตใจ แต่ก็ยังใช้ เพียง “ภาพ” เป็นตัวสื่อได้ดีไม่น้อยไปกว่ากัน

ดังเช่น หน้าตาของ กษัตริย์ดาริอุส ที่ 14 แห่งราชอาณาจักรเปอร์เซีย และ ประธานาธิบดี อเล็กซานเดอร์ แห่งสหพันธรัฐเธรส (Thrace) นั้น เพียงแว่บแรกที่ได้เห็น เชื่อเหลือเกินว่าผู้อ่านจำนวนไม่น้อย เข้าใจได้ว่า อุราซาว่า จงใจ “ล้อ” หรือ “เสียดสี” ใครบ้าง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเล่มล่าสุด ที่เผยให้พอคาดเดาได้ ว่า ผู้บงการที่แท้จริงเป็นใคร การ “ล้อ” ของ อุราซาว่า” จึงนับเป็นการดึงเอาความจริงในหลายส่วนของสถานการณ์โลกเข้าไปโยงได้อย่างกลมกลืนและน่าหวั่นกลัว ส่วนความแตกต่างอื่นๆ จากต้นฉบับดั้งเดิมนั้น ล้วนถือได้ว่า เป็นการคารวะอย่างสูงสุด ต่อ ปรมาจารย์ผู้ล่วงลับ ซึ่งแรงสนับสนุนที่ช่วยส่งให้อุราซาว่า “กล้า” ที่จะถ่ายทอด “พลูโต” ออกมา ตามแนวทางถนัดของตน ก็ไม่ใช่ใครอื่น หากคือ “เท็ตสึกะ มาโคโตะ” ทายาทของ “เท็ตสึกะ โอซามุ” นั่นเอง



"ไหนๆ ถ้าจะทำแล้ว ผมก็อยากเห็นผลงานการ์ตูนที่เป็นของคุณ อุราซาว่า มากกว่าการ์ตูนที่เป็นภาพเหมือน ดังนั้น รู้ทั้งรู้ว่าเป็นการเสียมารยาท แต่ผมก็ขอร้องให้ช่วยแก้ไขลายเส้นของตัวละครเสียใหม่...ที่ผ่านมา ทุกคนให้ความเคารพรัก เท็ตสึกะ โอซามุ มาก จึงพยายามวาดเลียนแบบลายเส้นเดิม ไม่มีใครกล้าฉีกแนวสักคน คราวนี้ ผมจะขอทำหน้าที่เป็นกรรมการ อยากเห็นการแข่งขันแบบคู่คี่สูสีดูสักครั้ง” มาโคโตะ บอกเล่า ความรู้สึกของเขา ไว้ในตอนท้าย ของพลูโตเล่ม 2 ซึ่งเป็นเล่มล่าสุด

และนับจากนี้ ใช่จะมีเพียง มาโคโตะ เท่านั้น หากแต่สาวกของทั้ง อาจารย์เท็ตสึกะ และ อุราซาวะ ก็คงตื่นเต้นและเฝ้าชมการแข่งขันของสองนักเขียนคุณภาพ ด้วยใจที่จดจ่อระทึกไม่แพ้กัน

นับแต่วินาทีแรก ที่ เซอร์ ไอแซค อาซิมอฟ บัญญัติ “กฎ” ของ หุ่นยนต์ขึ้น นับแต่นั้น ทั่วทั้งโลกก็ได้ร่วมขานรับ กฎที่ว่า อย่างพร้อมเพรียง “หุ่นยนต์ ต้องไม่ฆ่ามนุษย์” ทุกชิพล้วนถูกบรรจุข้อมูลนี้ไว้ แน่นอนว่า ผู้อ่านแต่ละคน ย่อมมีความรู้สึกต่อ “สาร” ของผู้เขียน ต่างกันไป แต่มีสิ่งหนึ่งใน "พลูโต" ที่หน้าวรรณกรรมเห็นว่า ควรหยิบมาถก หรือพิจารณา สิ่งหนึ่งที่ได้รับ ชวนให้รู้สึกว่า มนุษย์ได้ก้าวข้ามการทำร้ายและทำลายไปอีกขั้น ไม่ใช่จากด้านต่ำขึ้นสู่ด้านสูง หากคือขั้นที่ต่ำอยู่แล้ว กลับตกต่ำดิ่งลึกลงไปยิ่งกว่า

ในยุคสมัยแห่งอนาคต แม้สงครามล้างเผ่าพันธุ์ การกระหายในอำนาจ การมุ่งฉกชิงทรัพยากร การจ้องทำลายล้างอีกฝ่ายด้วยความหวาดระแวง จะยังคงอยู่ ไม่แปรเปลี่ยนไปจากยุคสมัยปัจจุบัน แต่เมื่อวิทยาการล้ำหน้า ความมืดบอดในจิตใจ ก็ย่อมต้องได้รับการสนองตอบด้วยเครื่องไม้เครื่องมือที่ชักนำให้ผู้ครอบครองหลงอยู่ในวังวนแห่งความมืดมิดนั้นได้ดียิ่งขึ้น

ไม่เพียงเท่านั้น ยิ่งทำลายล้างเผ่าพันธุ์เดียวกันไปมากเท่าไหร่ สัตว์ที่เรียกตนเองว่า ผู้มีสติปัญญาสูงส่ง อย่าง “มนุษย์” ก็ยังคงไม่สาแก่ใจ สิ่งใดเล่า? จะสามารถรองรับการกดขี่ข่มเหง เพื่อให้เผ่าพันธุ์ของตนยืดอกภาคภูมิใจได้อย่างสง่างาม จะมีเหยื่อรายไหน ประเภทใด? ตอบสนองความรู้สึกดังกล่าวได้บ้าง? อุราซาว่า มอบหมายให้ เหล่าแอนดรอย์ หรือ หุ่นยนต์ทรงประสิทธิภาพทั้งหลาย รับหน้าที่นั้น




“คุณรู้มั้ย? ทำไมมนุษย์ ถึงชอบสร้างอนุสาวรีย์กันนัก?… เพราะมนุษย์ชอบลืมยังไงล่ะ มนุษย์ต้องรีบสร้างอนุสาวรีย์พวกนั้นขึ้นมากันลืม ก่อนที่ความทรงจำจะค่อยๆ ลบเลือน ส่วนพวกเราน่ะเหรอ? ตราบใดที่ยังไม่ลบเม็มโมรี่ “ความทรงจำ” ก็จะคงอยู่ตลอดไป" หุ่นยนต์ทรงประสิทธิภาพตนหนึ่งของโลก กล่าวไว้

ทั้ง ลายเส้นละเมียด, เนื้อหามากชั้นเชิง, ความรู้สึกหม่นเศร้าที่บาดลึก อุราซาว่า ใช้สิ่งเหล่านี้ “เจียระไน” เพชร ของ โอซามุ ให้ส่องประกายได้อย่างน่าชื่นชม แต่ ณ ตอนนี้ บทโหมโรงเพิ่งเริ่มบรรเลง เพชรจะเจิดจรัสมากขึ้นหรือไม่ เป็นหน้าที่ของ อุราซาว่า ที่จักต้อง คารวะ ดวงวิญญาณ เท็ตสึกะ โอซามุ ให้ดีที่สุด


จาก https://rith99999.blogspot.com/2008/06/blog-post_22.html?m=1

<a href="https://www.youtube.com/v//bZYqxdPtrtw" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v//bZYqxdPtrtw</a> 

https://youtu.be/bZYqxdPtrtw?si=H6vrLqFF4eaaJ2A5

" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...