บทที่ 2 การรู้และการเห็น
จากอสัตย์จงนำข้าฯสู่สัจจะ จากความมืดจงนำข้าฯสู่ความสว่าง จากความตายจงนำข้าฯสู่อมตะ อุปนิษัท ก่อนที่เราจะศึกษาความสอดคล้องระหว่างวิชาฟิสิกส์สมัยใหม่และศาสนาตะวันออก เราจะต้องพิจารณาปัญหาว่า เราจะเปรียบเทียบอย่างไรระหว่างวิทยาศาสตร์ซึ่งถูกอธิบายด้วยภาษาทางคณิตศาสตร์อันสลับซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง กับวินัยปฏิบัติในทางศาสนาซึ่งมีพื้นฐานอยู่ที่การภาวนา และยืนยันว่า แท้จริงความรู้แจ้งในภายในนั้นไม่อาจอธิบายได้ สิ่งที่จะนำมาเปรียบเทียบในที่นี้คือข้อความซึ่งกล่าวโดยนักวิทยาศาสตร์และนักปราชญ์ของตะวันออกเกี่ยวกับความรู้ของตน เพื่อที่จะให้การเปรียบเทียบนี้มีประสิทธิภาพ ประการแรก เราต้องถามตนเองก่อนว่า “ความรู้” ชนิดใดที่เรากำลังพูดถึง พระภิกษุจากนครวัดหรือเกียวโตพูดถึง “ความรู้” ชนิดเดียวกับที่นักฟิสิกส์จากออกซฟอร์ดหรือเบิร์กเคยพูดถึงหรือไม่ ประการที่สอง ข้อความหรือประโยคชนิดใดที่เรากำลังศึกษาเปรียบเทียบ เราจะเลือกเอาสิ่งใดจากข้อมูลของการทดลอง สมการ หรือทฤษฎีในด้านหนึ่ง และจากคัมภีร์ทางศาสนา เทพปกรณัม (myths)* โบราณ หรือตำราทางปรัชญาในอีกด้านหนึ่ง บทนี้มุ่งที่จะทำความกระจ่างในประเด็นทั้งสองนี้ คือ ธรรมชาติของความรู้ซึ่งเรากำลังพิจารณาและภาษาที่ใช้ในการอธิบายความรู้นั้น ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเป็นที่ยอมรับกันว่า ความรู้ของมนุษย์นั้นมีสองลักษณะ คือ ความรู้ที่เกิดจากการคิดในแนวเหตุผล และความรู้ที่ผุดขึ้นในใจหรือญาณทัศน์ (rational and intuitive) ซึ่งเทียบได้กับวิทยาศาสตร์และศาสนาตามลำดับ ในตะวันตกความรู้ชนิดหลังถูกถือว่าด้อยกว่าความรู้ในเชิงเหตุผลและเป็นวิทยาศาสตร์ แต่ในตะวันออกความรู้นี้กลับตรงกันข้าม ความคิดของปราชญ์สองท่านของตะวันตกและตะวันออก ซึ่งแสดงออกในประโยคต่อไปนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของความรู้สองลักษณะ โสเครติสของกรีกกล่าวประโยคซึ่งมีชื่อเสียงว่า “ข้าพเจ้ารู้ว่า ข้าพเจ้าไม่รู้อะไรเลย” และเหลาจื้อของจีนกล่าวว่า “การไม่รู้ว่าตนรู้อะไร เป็นการดีที่สุด” ในตะวันออกคุณค่าของความรู้ทั้งสองประการปรากฏชัดเจนในชื่อที่เรียก ตัวอย่างเช่น ในคัมภีร์อุปนิษัทกล่าวถึงความรู้อย่างสูงและความรู้สัมบูรณ์ หรือ “สมมติสัจจะ” และ “ปรมัตถสัจจะ” ในทางตรงกันข้ามปรัชญาจีนกลับสอนว่าความรู้ทั้งสองประการนั้นสนับสนุนซึ่งกันและกันซึ่งแสดงออกในคู่หยินและหยังอันเป็นพื้นฐานของความคิดจีน ดังนั้นปรัชญาเต๋าและขงจื้อจึงเกิดขึ้นในจีนยุคโบราณเพื่อรองรับความรู้ทั้งสองลักษณะไว้อย่างสอดคล้องกัน
2.1 ความรู้สัมพัทธ์
ความคิดเชิงเหตุผลได้มาจากประสบการณ์ซึ่งเราได้เกี่ยวข้องกับวัตถุ บุคคล หรือเหตุการณ์ในสภาพแวดล้อมประจำวัน เป็นฝักฝ่ายของปัญญาซึ่งทำงานในการจำแนก แบ่ง เปรียบเทียบ วัด และจัดหมวดหมู่สิ่งต่าง ๆ ลักษณะเช่นนี้จึง ก่อให้เกิดการแบ่งแยกในโลกของความคิด เกิดสิ่งตรงกันข้ามซึ่งต้องอิงอาศัยซึ่งกันและกัน เป็นเหตุที่ชาวพุทธเรียกความรู้ชนิดนี้ว่าความรู้สัมพัทธ์ การย่อสรุป (Abstraction) จึงเป็นลักษณะสำคัญของความรู้ชนิดนี้ เพราะว่าในการเปรียบเทียบ การจัดแบ่งหมวดหมู่ตามความแตกต่างที่สำคัญของรูปลักษณะโครงสร้างและปรากฏการณ์ต่าง ๆ รอบตัวเรานั้น เราไม่อาจจะนำเอาทุกลักษณะของสิ่งนั้นมาพิจารณาได้ แต่เราต้องเลือกเอาลักษณะที่สำคัญบางลักษณะเท่านั้น ดังนั้น เราได้สร้างแผนที่ของความจริงขึ้นในความคิดคำนึงของเรา โดยย่นย่อสิ่งต่าง ๆ ให้เหลือเพียงโครงร่างคร่าว ๆ ของมันเท่านั้น ความรู้ในเชิงเหตุผลจึงเป็นระบบของความคิดและสัญลักษณ์ที่ถูกย่นย่อสรุป มีลักษณะโครงสร้างแบบลำดับการณ์เชิงเส้นตรง ซึ่งเป็นแบบฉบับของความคิดและการพูดของเรา ในภาษาพูดส่วนใหญ่ โครงสร้างเชิงเส้นตรงเช่นนี้ แสดงออกอย่างชัดแจ้งโดยการใช้ตัวอักษร ซึ่งสื่อสารประสบการณ์และความคิดออกมาเป็นข้อความยาว ๆ ในทางตรงกันข้าม โลกธรรมชาติเป็นสิ่งหลากหลายและซับซ้อน โลกซึ่งกอปรด้วยมิติหลาย ๆ มิติ มิได้มีเส้นตรงหรือรูปร่างที่แน่นอนสม่ำเสมออย่างสมบูรณ์โลกซึ่งสิ่งต่าง ๆ มิได้ปรากฏเป็นลำดับ แต่ปรากฏพร้อม ๆ กัน โลกซึ่งวิชาฟิสิกส์สมัยใหม่บอกเราว่า แม้อวกาศอันว่างเปล่าก็มีลักษณะโค้ง เป็นสิ่งที่ชัดเจนว่าระบบการย่อสรุปความคิดของเราไม่สามารถอธบายหรือเข้าใจความจริงนี้ได้อย่างสมบูรณ์ ในการคิดเกี่ยวกับโลก เราต้องเผชิญกับปัญหาในลักษณะเดียวกันที่นักเขียนแผนที่เผชิญ เมื่อเขาจะเขียนแสดงผิวโค้งของโลกบนแผนที่แผ่นราบ เราคาดหวังได้แต่เพียงสิ่งที่ใกล้เคียงความจริงเท่านั้นในขบวนการดังกล่าว และดังนั้นความในเชิงเหตุผลทั้งหมดจึงอยู่ขอบเขตที่จำกัด อาณาเขตของความคิดในเชิงเหตุผล เป็นขอบเขตของวิทยาศาสตร์ซึ่งกอปรด้วยการวัดและกำหนดปริมาณ การจัดหมวดหมู่และวิเคราะห์ ข้อจำกัดของความรู้ใด ๆ ซึ่งได้มาโดยวิธีการเช่นนี้ปรากฏชัดเจนมากขึ้น ๆ ในวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ โดยเฉพาะวิชาฟิสิกส์สมัยใหม่ ซึ่งได้แสดงให้เห็นดังคำกล่าวของเวอร์เนอร์ ไฮเซนเบิร์ก ว่า “คำพูดหรือความคิดที่กระจ่างชัดที่สุดก็มีขอบเขตการประยุกต์ใช้ได้อย่างจำกัด” (1)
2.2 นิ้วชี้ที่ดวงจันทร์หาใช่ดวงจันทร์ไม่
ผู้คนโดยมาก ยากที่จะตระหนักรู้อยู่ตลอดเวลาถึงข้อจำกัดและความเป็นสิ่งสัมพันธ์ของความรู้เชิงเหตุผล เนื่องจากการจัดฉวยเอาสิ่งที่เป็นตัวแทนของความจริงนั้นง่ายกว่าการจับฉวยเอาตัวความจริงมาก เราจึงมักจะสับสนเกี่ยวกับตัวแทนและความจริง และทึกทักเอาว่าความคิดและสัญลักษณ์ต่าง ๆ เป็นตัวความจริงศาสนาของตะวันออกมีเป้าหมายสำคัญประการหนึ่งในการที่จะขจัดความสับสนอันนี้พวกนิกายเซนกล่าวว่า นิ้วที่ชี้ดวงจันทร์หาใช่ดวงจันทร์ไม่และจางจื้อกล่าวว่า ไซมีไว้สำหรับจับปลา แต่เมื่อได้ปลา คนก็ลืมไซ แร้วมีไว้สำหรับดักกระต่าย แต่เมื่อได้กระต่าย คนก็ลืมแร้ว คำพูดมีไว้ถ่ายทอดความคิด แต่เมื่อจับความคิดนั้นได้แล้ว คนก็ลืมคำพูด (2) ในตะวันตก อัลเฟรด คอร์เยฟซกี (Alfred Korzybski) นักภาษาศาสตร์ได้ชี้ประเด็นเดียวกันด้วยคำขวัญของเขาว่า “แผนที่มิใช่ตัวอาณาเขต” สิ่งที่นักปราชญ์ทางตะวันออกกล่าวถึงหรือสนใจ คือ ประสบการณ์โดยตรงแห่งสัจจะ ซึ่งล่วงพ้นทั้งความคิดและการรับรู้ในทางประสาทสัมผัส ในคัมภีร์อุปนิษัทกล่าวไว้ว่า สิ่งใดไร้ลักษณ์ ไร้สรรพสำเนียง สัมผัสมิได้ เป็นอมตะ สิ่งใดไร้รส ไร้กลิ่น ไม่เปลี่ยนแปร ไม่มีต้น ไม่มีปลาย ยิ่งใหญ่กว่ามหาราช คงสภาพอยู่นิรันดร์ เมื่อบุคคลหยั่งรู้สิ่งนั้น ย่อมรอดพ้นจากปากของมรณา (3) ชาวพุทธเรียกความรู้ซึ่งมาจากประสบการณ์เช่นนั้นว่า “ความรู้สัมบูรณ์” เพราะไม่ขึ้นกับการแบ่งแยก การย่อสรุป การจำแนกแจกแจงในทางปัญญา (ซึ่งเราก็ได้เห็นแล้วว่าเป็นความรู้สัมพัทธ์ และเป็นความรู้ซึ่งมาจากการประมาณ) ความรู้สัมบูรณ์เป็นประสบการณ์โดยตรงต่อ “ความเป็นเช่นนั้นเอง” (suchness) ซึ่งไม่มีการแบ่งแยก แตกต่าง ความเข้าใจอย่างสมบูรณ์ต่อความเป็นเช่นนั้นเองเป็นแกนสำคัญของศาสนาตะวันออกและของประสบการณ์ทางจิตวิญญาณในทุกสายวัฒนธรรม ศาสนาตะวันออกเน้นย้ำอยู่เสมอว่า สัจจะสูงสุดมิใช่วัตถุที่ตั้งแห่งการคิดคำนึงหรือการอรรถาธิบาย คำพูดมิอาจจะอธิบายถึงสัจจะได้ครบถ้วน ทั้งนี้ เพราะสัจจะนั้นอยู่เหนือการรับรู้ทางอายตนะ เหนือความนึกคิดซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของทัศนะและคำพูด คัมภีร์อุปนิษัทกล่าวไว้ว่า ที่ซึ่งจักษุไม่อาจแลเห็น อธิบายไม่ได้ด้วยคำพูด จิตดำริไปไม่ถึง เราไม่อาจรู้ ไม่อาจเข้าใจ ใครจะสอนถึงมันได้อย่างไร (4)
2.3 เต๋าเตอจิง
เหลาจื้อเรียกสัจจะนี้ว่า “เต๋า” และบรรทัดแรกของคัมภีร์ เต๋าเตอจิง (Tao Te Ching) ของเหลาจื้อกล่าวไว้ว่า “เต๋าที่แสดงให้เห็นได้ มิใช่เต๋าอันเป็นนิรันดร์” ข้อเท็จจริงซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากหน้าหนังสือพิมพ์ที่ว่า มนุษยชาติมิได้มีปัญญามากขึ้น แต่อย่างใดตลอดเวลาสองพันปีที่ผ่านมา ซึ่งตรงกันข้ามกับความรู้เชิงเหตุผลที่เพิ่มพูนขึ้นอย่างมากมาย เป็นสิ่งที่แสดงอย่างชัดเจนถึงการที่ไม่อาจถ่ายทอดความรู้สัมบูรณ์นั้นได้ด้วยคำพูด ดังที่จางจื้อกล่าวว่า “หาก (สัจจะ) เป็นสิ่งที่อธิบายได้ทุกคนก็คงจะบอกน้อง ๆ ของตัวแล้ว” (5) ดังนั้นความรู้สัมบูรณ์ จึงเป็นประสบการณ์แห่งสัจจะ ซึ่งนอกเหนือความคิดนึกโดยสิ้นเชิง เป็นประสบการณ์ซึ่งผุดโพลงขึ้นในสำนึกอันมิใช่สามัญ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าภาวะแห่ง “ฌาน” ภาวะดังกล่าวมีอยู่จริง ซึ่งได้รับการพิสูจน์ยืนยัน มิใช่แต่ในหมู่ศาสนิกของตะวันออกและตะวันตกเท่านั้น แต่ยังได้รับการชี้ชัดในการวิจัยทางจิตวิทยาด้วย ดังปรากฏในคำกล่าวของวิลเลียม เจมส์ว่า ความรับรู้สามัญของเรา ซึ่งเรียกกันว่าความรับรู้ในเหตุผล เป็นเพียงความรับรู้ ลักษณะหนึ่งเท่านั้น ยังมีความรับรู้อีกลักษณะหนึ่งซึ่งแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง เป็นความรับรู้ซึ่งมีศักยภาพสูง แยกจากความรู้สามัญด้วยเพียงฉากกั้นที่บาง ที่สุดเท่านั้นเอง (6) ถึงแม้ว่านักฟิสิกส์จะสัมพันธ์กับความรู้เชิงเหตุผลมาก และศาสนิกจะสัมพันธ์กับญาณปัญญา ทว่าความรู้ทั้งสองลักษณะเกิดขึ้นในทั้งสองสาขา เราจะเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อเราตรวจสอบวิธีการได้มาและการแสดงออกซึ่งความรู้ทั้งในฟิสิกส์และในศาสนาตะวันออก
2.4 วิธีทางวิทยาศาสตร์
ในวิชาฟิสิกส์ความรู้ได้มาจากกระบวนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีสามขั้นตอน ขั้นตอนแรกเป็นการรวบรวมข้อเท็จจริงในการทดลองเกี่ยวกับปรากฏการณ์ซึ่งทำการศึกษา ขั้นตอนที่สองนำเอาข้อเท็จจริงจากการทดลองมาโยงเข้ากับคณิตศาสตร์ และสร้างเป็นโครงร่าง (scheme) ทางคณิตศาสตร์ขึ้น ซึ่งจะเชื่อมโยงสัญลักษณ์ต่าง ๆ เข้าด้วยกันอย่างกระชับและเที่ยงตรง โครงร่างนี้เรียกว่าแบบจำลอง (model) ทางคณิตศาสตร์ หรือหากว่ามันสื่อสารความเข้าใจได้มาก ก็จะเรียกว่า ทฤษฎี (theory) ทฤษฎีนี้ก็จะถูกใช้ในการทำนายผลของการทดลองอันต่อไป ซึ่งกระทำขึ้นเพื่อทดสอบความเป็นไปได้ในแง่มุมต่าง ๆ ของทฤษฎีนั้น ในขั้นนี้นักฟิสิกส์อาจจะพึงพอใจเมื่อได้พบโครงร่างทางคณิตศาสตร์แล้ว และรู้วิธีที่จะใช้ทำนายการทดลองต่อ ๆ มา แต่กระนั้นก็ตาม เขาก็อาจจะต้องการที่จะแสดงผลของการทดลองของเขาแก่ผู้ที่มิใช่นักฟิสิกส์ ดังนั้นจึงต้องอธิบายมันในภาษาทั่ว ๆ ไป นั่นหมายความว่าเขาจะต้องสร้างแบบจำลองโดยอาศัยภาษาสามัญ ซึ่งจะอธิบายโครงร่างทางคณิตศาสตร์ของเขา แม้สำหรับนักฟิสิกส์เอง การสร้างแบบจำลองทางภาษาเช่นนั้น อันเป็นขั้นที่สามของการวิจัย จะเป็นบรรทัดฐานของความเข้าใจซึ่งเขาบรรลุถึง แน่นอนว่าในทางปฏิบัติ ขั้นตอนทั้งสามไม่ได้แยกจากกันอย่างสิ้นเชิง และไม่ได้เกิดตามลำดับเช่นนั้นเสมอไป ยกตัวอย่างเช่น นักฟิสิกส์อาจจะคิดแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ได้โดยอาศัยความเชื่อบางประการในทางปรัชญา ซึ่งเขาก็จะเชื่อในแนวคิดนั้น แม้ว่าจะมีการทดลองซึ่งแสดงผลในทางกันข้ามอยู่ก็ตาม ดังนั้นเขาจึงต้องพยายามดัดแปลงแบบจำลองของเขาให้ครอบคลุมถึงการทดลองใหม่ ๆ ดังกล่าวด้วย แต่หากว่า ผลการทดลองยังคงขัดแย้งแบบจำลองของเขาเขาก็จะต้องทิ้งมันไป วิธีการสร้างทฤษฎีโดยอาศัยการทดลองเป็นพื้นฐานนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์และเราจะพบว่าในปรัชญาตะวันออกก็เป็นเช่นเดียวกันในทางตรงกันข้าม ปรัชญากรีกกลับมีวิธีที่แตกต่างกันออกไป ถึงแม้ว่านักปรัชญากรีกหลายคนมีความคิดที่ลึกซึ้งมากเกี่ยวกับธรรมชาติ ซึ่งมักจะคล้ายคลึงเป็นอย่างยิ่งกับแบบจำลองทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ แต่ความแตกต่างอันสำคัญระหว่างวิทยาศาสตร์และปรัชญากรีกก็คือ ทัศนคติแห่งวิทยาศาสตร์ซึ่งถือการสังเกตเป็นหลัก อันเป็นสิ่งที่จิตใจแบบกรีกไม่คุ้นเคยเป็นอย่างยิ่ง ชาวกรีกสร้างแบบจำลองต่าง ๆ โดยอาศัยการคิดคำนึงเอาด้วยเหตุผลจากหลักการพื้นฐานหรือสัจพจน์บางประการ (deduction) มิใช่โดยการสรุปหลักการเอาจากสิ่งที่ถูกสังเกต (induction) ในทางตรงกันข้าม ศิลปะแห่งการคิดค้นหาความจริงเอาจากหลักเกณฑ์ทั่วไปของชาวกรีกนี้ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับขั้นตอนที่ลองของการวิจัยทางวิทยาศาสตร์คือการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่กระชับใจความสำคัญ ดังนั้นมันจึงเป็นส่วนสำคัญที่จำเป็นส่วนหนึ่งของวิทยาศาสตร์ ความรู้และกิจกรรมต่าง ๆ ในเชิงเหตุผล เป็นองค์ประกอบส่วนใหญ่ในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ทว่ามิใช่ทั้งหมด ส่วนที่เป็นเหตุผลในการวิจัยอาจจะเป็นสิ่งที่ไร้ค่าหากไม่ได้รับการเสริมประกอบด้วยส่วนที่เป็นญาณทัศน์ (intuition) ซึ่งทำให้นักวิทยาศาสตร์มีความเข้าใจและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ขึ้น ญาณเช่นว่านี้มักจะเกิดขึ้นทันทีทันใด และมิใช่ขณะเมื่อนั่งคิดสมการที่โต๊ะทำงาน แต่มักจะเกิดขึ้นในขณะแห่งการพักผ่อนในอ่างอาบน้ำในระหว่างเดินเล่นอยู่ในป่าหรือบนหาดทรายในขณะแห่งการพักผ่อนเช่นนี้เอง หลังจากการคิดค้นอย่างหนัก จิตใจดูเหมือนจะเอาชนะอุปสรรคของความคิดได้ และญาณอันในกระจ่างเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ซึ่งยังมีความปิติและรื่นเริงในงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เป็นอันมาก
2.5 ทุกสิ่งเป็นตัวเลข
อย่างไรก็ตาม ญาณดังกล่าวจะเป็นสิ่งไร้ค่าแก่วิชาฟิสิกส์ หากว่าไม่สามารถนำใปใช้สร้างสูตรทางคณิตศาสตร์ขึ้นและอธิบายเป็นภาษาสามัญได้ ลักษณะสำคัญของสูตรดังกล่าวก็คือการย่อสรุปดังที่ได้กล่าวแล้ว มันประกอบด้วยระบบของความคิดและสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่ก่อรูปขึ้นเป็นแผนที่ของความจริง แผนที่นี้แทนบางแง่มุมของความจริงเท่านั้น เราไม่อาจรู้ได้อย่างชัดเจนว่าความจริงคืออะไร เนื่องจากเรารวบรวมแผนที่ของเราทีละเล็กทีละน้อยตั้งแต่ในวัยเด็กโดยมิได้มีการวิเคราะห์อย่างจริงจัง ดังนั้นภาษาคำพูดของเราจึงไม่อาจระบุความหมายที่ชัดเจนได้ เมื่อเราได้ยินคำพูดสักคำหนึ่งซึ่งมักจะมีความหมายหลายประการส่วนมากมันจะผ่านเข้าไปในจิตใจของเราอย่างสลัว ๆ ไม่ชัดเจน และค้างอยู่ในจิตใต้สำนึกของเรา ความที่ภาษาของเรามีความหมายกำกวมไม่ละเอียดชัดเจนนั้น จำเป็นสำหรับกวี ซึ่งรังสรรค์งานของเขาโดยอาศัยความหมายของภาษาที่แฝงฝังในจิตใต้สำนึก และสิ่งที่เกี่ยวโยงกับความหมายนั้นเป็นส่วนใหญ่ ในทางตรงกันข้ามวิทยาศาสตร์มุ่งที่จะจับฉวยภาษาที่มีความหมายชัดเจนและความเกี่ยวพันของภาษาที่ไม่กำกวม ดังนั้นจึงย่อสรุปภาษาอีกชั้นหนึ่ง โดยจำกัดความหมายของคำทำให้โครงสร้างของมันเป็นมาตรฐานเดียวกันโดยกฏของตรรกศาสตร์การย่อสรุปดังกล่าวถึงขึ้นสัมบูรณ์ในคณิตศาสตร์เมื่อคำพูดถูกแทนด้วยสัญลักษณ์และความเกี่ยวโยงระหว่างสัญลักษณ์ต่าง ๆ ถูกกำหนดอย่างชัดเจนตายตัว ในลักษณะเช่นนี้ นักวิทยาศาสตร์สามารถสรุปเอาข้อมูลต่าง ๆ ลงในสมการทางคณิตศาสตร์เพียงสมการเดียว กล่าวคือสรุปลงเป็นสัญลักษณ์บรรทัดเดียว ซึ่งหากจะอธิบายเป็นภาษาธรรมดาอาจใช้ความยาวหลายหน้ากระดาษ ทัศนะที่ว่าคณิตศาสตร์มิใช่อะไรอื่นนอกจากภาษาซึ่งย่นย่อสรุปและถูกอัดแน่นเท่านั้น ได้รับการท้าทายเช่นกัน โดยแท้จริงนักคณิตศาสตร์หลายคนเชื่อว่าคณิตศาสตร์มิใช่เพียงภาษาซึ่งใช้อธิบายธรรมชาติ หากทว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติเองแล้ว ผู้ริเริ่มความคิดนี้คือ ปิทากอรัส ( Pythagoras) ผู้ซึ่งกล่าวประโยคที่มีชื่อเสียงว่า “ทุกสิ่งเป็นตัวเลข” และได้พัฒนารหัสยลัทธิอันมีลักษณะพิเศษในเชิงคณิตศาสตร์ได้อย่างลึกซึ้ง ปรัชญาของปิทากอรัสได้เสนอเหตุผลเชิงตรรกะเข้าสู่ขอบเขตของศาสนา จนพัฒนามาเป็นพื้นฐานที่มั่นคงของปรัชญาศาสนาตะวันตก เบอร์ทรันด์ รัสเซล กล่าวว่า การเชื่อมโยงเอาคณิตศาสตร์และเทวศาสตร์เข้าด้วย ซึ่งเริ่มขึ้นโดยปิทากอรัส ได้เป็นลักษณะสำคัญของปรัชญาศาสนาในกรีก ในยุคกลางและในสมัยปัจจุบัน เรื่อยมาจนถึงคานต์...ในเพลโต เซนต์ออกุสติน, โทมัส อควินา, เดคาร์ต, สปิโนชา และเลียบนิซ มีการผสมผสานอย่างแนบแน่นระหว่างศาสนาและเหตุผล ระหว่าง ศีลธรรมและตรรกะของสิ่งซึ่งเป็นนิรันดร ซึ่งมาจากปิทากอรัส และเป็นสิ่งที่แยก เทวศาสตร์ของยุโรปที่เต็มด้วยเหตุผลความคิดนึก จากศาสนาของเอเชียซึ่งมี ลักษณะตรงไปตรงมามากกว่า (7)
2.6 ตัวเลขที่คับแคบและอึดอัด
“ศาสนาของเอเชียซึ่งมีลักษณะตรงไปตรงมามากกว่า” ย่อมไม่ได้รับเอาทัศนะทางคณิตศาสตร์ของปิทากอรัสไปอย่างแน่นอน ในทัศนะของตะวันออกคณิตศาสตร์ซึ่งมีโครงสร้างซึ่งแตกแขนงออกไปมากมายและสื่อความหมายอย่างชัดเจนนั้น เป็นส่วนของแผนที่ซึ่งเกิดขึ้นจากความคิดมิใช่ภาพของตัวสัจจะเอง สัจจะในประสบการณ์ของนักปราชญ์ตะวันออกนั้น เป็นสิ่งที่ไม่อาจวัดคำนวณเอาได้ ไม่อาจแบ่งแยกได้ วิธีการย่อสรุปในทางวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่ทรงพลังและมีประสิทธิภาพ ทว่าเราต้องสูญเสียอะไรบางอย่างเป็นสิ่งทดแทน เมื่อเราจำกัดระบบความคิดของเราให้ชัดเจนเพียงไร เมื่อเราจัดให้มันประสานสอดคล้องกันอย่างมีระบบ ก็ยิ่งไกลออกไปจากโลกที่แท้จริงมากเพียงนั้น ย้อนมาดูข้อเปรียบเทียบเรื่องแผนที่และอาณาเขตของคอร์เยฟซกี เราอาจกล่าวได้ว่าภาษาสามัญเป็นแผนที่แผ่นหนึ่งซึ่งในขอบเขตแห่งความเที่ยงตรงของมัน มีความยืดหยุ่นแก่การอธิบายหรือคิดโค้งไปตามอาณาเขตจริง ๆ ได้พอสมควร แต่เมื่อเราทำให้มันเป็นระบบที่จริงจังมากขึ้น ความยืดหยุ่นค่อย ๆ หายไปทีละน้อยและด้วยภาษาของคณิตศาสตร์เราได้มาถึงจุดซึ่งการเชื่อมโยงกับความจริงมีอยู่เพียงบางเบาจนกระทั่งความสัมพันธ์ระหว่างสัญลักษณ์และประสบการณ์ในการรับรู้ของเราไม่ปรากฏนี่คือเหตุผลที่เราจำต้องให้คำอธิบายด้วยภาษาธรรมแก่แบบจำลองทางคณิตศาสตร์และทฤษฎี แม้จะกำกวมและไม่ชัดเจนเท่าภาษาทางคณิตศาสตร์ก็ตาม เป็นสิ่งสำคัญในการที่จะเข้าใจความแตกต่างระหว่างแบบจำลองทางคณิศาสตร์และความหมายในภาษาพูดของมัน แบบจำลองทางคณิตศาสตร์เป็นภาษาที่มีโครงสร้างกระชับและแน่นอนมาก ทว่าสัญลักษณ์ในภาษาที่ใช้ไม่สัมพันธ์โดยตรงกับประสบการณ์ของเรา ในทางตรงกันข้าม ภาษาพูดซึ่งอธิบายแบบจำลองนั้น เป็นการใช้แนวคิดเพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจโดยไม่ผ่านความคิดนึกในทางคณิตศาสตร์ แต่มักจะไม่ชัดเจนและค่อนข้างกำกวม ในแง่นี้ทั้งสองไม่ต่างไปจากแบบจำลองของความจริงทางปรัชญา และสามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้เป็นอย่างดี หากว่ามีส่วนซึ่งเป็นญาณทัศน์ในวิทยาศาสตร์ ก็ย่อมมีส่วนที่เป็นเหตุผลในศาสนาตะวันออกเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ระดับความสำคัญของเหตุผลและตรรกะก็ต่างกันออกไปในคำสอนของศาสนาต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น ในคัมภีร์พระเวทของฮินดู หรือคัมภีร์มัธยมิกะ (Madhyamika) ของพุทธมีคำสอนซึ่งเป็นเหตุเป็นผลอยู่มาก ในขณะที่เต๋าไม่ให้ความเชื่อถือต่อเหตุผลและตรรกะ เซนซึ่งแตกแขนงจากพุทธศาสนาโดยได้รับอิทธิพลอย่างมากจากเต๋ากลับเน้นที่การ “ไร้คำพูด ไร้อรรถาธิบาย ไร้คำสอน ไร้ความรู้” เซนมุ่งความสนใจทั้งหมดไปที่ประสบการณ์ของการรู้แจ้ง และให้ความสำคัญน้อยมากกับการอธิบายประสบการณ์ ดังกล่าว วลีของเซนซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีกล่าวว่า “ในขณะที่ท่านกล่าวถึงสิ่ง ๆ หนึ่ง ท่านก็พลาดจากสิ่งนั้นเสียแล้ว” แม้ว่าศาสนาตะวันออกอื่น ๆ จะไม่เน้นไปในด้านใดด้านหนึ่งอย่างชัดเจนก็ตาม แต่ตัวประสบการณ์โดยตรงยังเป็นแกนสำคัญของทุกศาสนา แม้แต่ศาสนิกที่มีความสนใจในการวิเคราะห์วิจารณ์อย่างลึกซึ้ง ก็มิได้ยึดความนึกคิดเป็นแหล่งที่มาของความรู้ ทว่าใช้ความนึกคิดเพื่อวิเคราะห์และอธิบายประสบการณ์โดยตรงในการปฏิบัติศาสนธรรมของตน ความรู้ทั้งมวลตั้งอยู่บนประสบการณ์เช่นที่ว่านี้ ดังนั้นธรรมเนียมปฏิบัติของตะวันออกจึงมีลักษณะสำคัญอยู่ที่การเฝ้าสังเกต ซึ่งผู้สอนมักจะเน้นอยู่เสมอ ดังเช่นที่ ดี.ที. สีซึกิ เขียนเกี่ยวกับพุทธศาสนาว่า ประสบการณ์ของบุคคลเป็น...รากฐานของพุทธปรัชญา ในแง่นี้พุทธศาสนา เป็นศาสนาแห่งการสังเกตและทดลอง เหตุผลต่าง ๆ เกิดขึ้นภายหลัง เพื่อหยั่งถึง ความหมายของประสบการณ์แห่งการรู้แจ้ง (
2.7 นอกเหนือจากประสาทสัมผัส
โจเซฟ นีดแฮมได้นำเอาทัศนคติแห่งการเฝ้าสังเกตของเต๋ามาเป็นจุดเด่นในงานเขียนของเขาชื่อ Science and Civilization in china เขาได้ค้นพบว่าทัศนคติเช่นนี้ได้ส่งให้เต๋าเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน นีดแฮมกล่าวเกี่ยวกับนักปรัชญาเต๋ารุ่นแรก ๆ ว่า เป็นผู้ที่ “ถอนตัวออกจากสังคม มุ่งสู่ถิ่นกันดาร ป่าเขา เพื่อภาวนาให้แจ้งต่อกฎของธรรมชาติและสรรพสิ่งอันหลากหลาย ซึ่งเป็นสิ่งปรากฏแสดงของธรรมชาติ” (9) จิตวิญญาณทำนองเดียวกันได้แสดงออกในวลีของเซน ผู้ที่อาจจะเข้าใจในความหมายของธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ คือผู้ที่เฝ้าสังเกต ฤดูกาลและความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย (10) ฐานของความรู้ซึ่งตั้งอย่างมั่นคงอยู่บนประสบการณ์ในศาสนาตะวันออกสอดคล้องกับฐานแห่งความรู้ทางวิทยาศาสตร์ซึ่งตั้งอยู่บนการทดลอง ความสอดคล้องนี้มีมากยิ่งขึ้นเมื่อพิจารณาธรรมชาติของประสบการณ์ในทางศาสนา ซึ่งได้รับการอธิบายในศาสนธรรมของตะวันออกว่าเป็นญาณทัศนะ ซึ่งเกิดขึ้นโดยตรง อยู่นอกขอบเขตของความคิดนึกและได้มาด้วยการเฝ้าดูมิใช่ด้วยการคิดคำนึง ได้มาด้วยการมองด้านในและการเฝ้าสังเกต ในลัทธิเต๋า ความคิดในเรื่องการเฝ้าสังเกตได้ปรากฏในชื่อของโบสถ์แห่งเต๋า กูอัน (Kuan) ซึ่งมีความหมายเดิมว่า “การดู” พวกเต๋าจึงถือเอาโบสถ์เป็นสถานที่แห่งการเฝ้าสังเกต ในธยาน ซึ่งเป็นชื่อเรียกนิกายเซนในจีน การรู้แจ้งมักจะถูกอธิบายว่า “การเห็นซึ่งเต๋า” และการเห็นถือเป็นฐานของความรู้ในพุทธศาสนาทุกนิกาย คำสอนของพระพุทธเจ้าในอริยมรรคมีองค์แปด มรรคองค์แรกคือ การเห็นชอบ ตามด้วยการรู้ชอบ ดี.ที. สีซึกิ เขียนเกี่ยวประเด็นนี้ว่า การเห็นเป็นสิ่งที่สำคัญที่ในญาณวิทยาของชาวพุทธ เพราะการเห็นเป็นพื้นฐาน ของการรู้ การรู้จะเป็นไปไม่ได้ถ้าปราศจากการเห็น ความรู้ทั้งมวลเริ่ม จากการเห็น ดังนั้นการรู้และการเห็นจึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในคำสอนของพระพุทธองค์ พุทธธรรมในขั้นปรมัตถ์จึงมุ่งสู่การเห็นสัจจะตามที่มันเป็น การเห็น คือ การมีประสบการณ์ของการรู้แจ้ง (11) ข้อความข้างบนนี้คล้ายคลึงกับคำสอนของดอน ฮวน อาจารย์แห่งเผ่ายาคี ซึ่งกล่าวว่า “ความพึงพอใจของข้าอยู่ที่การเห็น...เพราะด้วยการเห็นเท่านั้นที่มนุษย์ผู้ทรงปัญญาจะรู้ได้” (12) มีข้อควรระวังที่จุดนี้คือ ไม่ควรถือการเน้นที่การเห็นในธรรมเนียมปฏิบัติของศาสนาตะวันออกนั้นอย่างเถรตรงเกินไป แต่ต้องเข้าใจในเชิงเปรียบเทียบเนื่องจากประสบการณ์ต่อสัจจะในทางศาสนาโดยเนื้อแท้มิใช่ประสบการณ์ของประสาทสัมผัส เมื่อปราชญ์ทางตะวันออกกล่าวถึงการเป็น หมายถึงขบวนการรับรู้ซึ่งอาจรวมการมองเห็น แต่โดยสาระแล้วมีความหมายเลยพ้นออกไปถึงประสบการณ์ต่อสัจจะที่นอกเหนือจากประสาทสัมผัส อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ท่านเหล่านั้นมุ่งเน้นเมื่อกล่าวถึงการเห็น การดู หรือการสังเกต คือลักษณะการที่ได้ความรู้จากการสังเกต ท่าทีการแสวงหาความรู้จากการสังเกตเช่นนี้ของปรัชญาตะวันออกได้เตือนให้ระลึกถึงการมุ่งเน้นอยู่ที่การสังเกตในวิทยาศาสตร์ โดยที่เป็นประเด็นแห่งการศึกษาเปรียบเทียบของเรา ขั้นตอนการทดลองในงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ อาจเทียบได้กับการมองด้านในของศาสนาตะวันออก และแบบจำลองและทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ก็อาจเทียบได้กับการอธิบายความหมายของญาณทัศนะ ซึ่งเกิดจากการมองนั้นในหลาย ๆ แบบ