สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
-http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%88%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B9%8C_%28%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%87_%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%84%29-
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์
เกิด 23 ธันวาคม พ.ศ. 2351
เสียชีวิต 19 มกราคม พ.ศ. 2425 (74 ปี)
บิดา สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค)
มารดา ท่านผู้หญิงจันทร์
ภรรยา ท่านผู้หญิงกลิ่น ท่านพัน ท่านหยาด
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) (พ.ศ. 2351 – พ.ศ. 2425) ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ของไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ ผู้มีบทบาทสำคัญในการเมืองการปกครองของไทย โดยเริ่มเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งนับเป็นผู้ที่ดำรงตำแหน่ง "สมเด็จเจ้าพระยา" เป็นคนสุดท้าย นอกจากนี้ ท่านยังมีบทบาทในการอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นครองสิริราชสมบัติและได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2411 - พ.ศ. 2416 ด้วย
นอกจากด้านการปกครองแล้ว ท่านยังมีบทบาทสำคัญในด้านวรรณกรรม การละคร และดนตรี รวมถึงเป็นแม่กองในการก่อสร้าง บูรณะ ซ่อมแซม สถานที่ต่าง ๆ มากมาย เช่น พระนครคีรี พระอภิเนาว์นิเวศน์ คลองผดุงกรุงเกษม เป็นต้น
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์มีชีวิตยืนยาวถึง 5 รัชกาล ตั้งแต่เกิดในปลายรัชกาลที่ 1 และถึงแก่พิราลัยด้วยโรคลมขณะที่กำลังเดินทางกลับจากราชบุรี เมื่อ พ.ศ. 2425 ในสมัยต้นรัชกาลที่ 5 โดยมีอายุยืนยาวถึง 74 ปี
ตราผู้สำเร็จราชการของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาสุริยวงศ์
ตรามหาสุริยมณฑล สำหรับประกอบอิสริยยศสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ภายหลังได้ใช้เป็นตรากระทรวงการคลังก่อนจะเปลี่ยนเป็นตราปักษาวายุภักษ์ในปัจจุบัน)
ประวัติ
ชีวิตส่วนตัว
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ มีนามเดิมว่า “ช่วง” เป็นบุตรชายคนใหญ่ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) กับท่านผู้หญิงจันทร์ เกิดปีมะโรง วันศุกร์ เดือนยี่ ขึ้น 7 ค่ำ ตรงกับวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2351 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดารวม 9 คน แต่มีชีวิตจนเติบใหญ่มาพร้อมกับท่านเพียง 4 คน ได้แก่ เจ้าคุณหญิงแข (เจ้าคุณตำหนักใหม่), เจ้าคุณหญิงปุก (เจ้าคุณกลาง), เจ้าคุณหรุ่น (เจ้าคุณน้อย) และพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) [1] การศึกษาในวัยเยาว์ของท่านนั้น คงเล่าเรียนที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร เนื่องจากการเล่าเรียนของผู้ดีสมัยก่อนนั้นมักจะเรียนกันที่วัด เมื่อเติบใหญ่จึงเล่าเรียนวิชาที่บ้านจากบุคคลในตระกูลของท่านเอง โดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ บิดาของท่านนั้นดำรงตำแหน่งเป็นพระยาพระคลังเสนาบดีว่าการต่างประเทศและได้ว่าการปกครองหัวเมืองชายทะเลฝ่ายตะวันออก ดังนั้น ท่านจึงได้ศึกษาราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการต่างประเทศและการปกครองมาจากบิดาของท่านเอง[2]
ท่านสมรสกับท่านผู้หญิงกลิ่น มีบุตรธิดา 4 คน เป็นบุตรชาย 1 คน ได้แก่ เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) สมุหพระกลาโหมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นบิดาของเจ้าคุณพระประยูรวงศ์และเจ้าจอมมารดาโหมด บุนนาค เจ้าจอมมารดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนธิดาอีก 3 คน ได้แก่ คุณหญิงกลาง ภรรยาพระยาสีหราชฤทธิไกร (แย้ม บุณยรัตพันธุ์) คุณหญิงเล็ก และคุณหญิงปิ๋ว[3] นอกจากนี้ ท่านยังสมรสกับ ท่านพันและท่านหยาด บุตรีพระยาวิชยาธิบดี (เมือง บุนนาค) แต่ไม่มีบุตรด้วยกัน[4]
การรับราชการ
บิดาได้นำท่านเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ชื่อว่า มหาดเล็กช่วง โดยช่วยบิดาทำงานด้านการคลังและกรมท่า รวมทั้งติดต่อกับต่างประเทศด้วย[5]
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มหาดเล็กช่วงได้เลื่อนเป็น นายไชยขรรค์ มหาดเล็กหุ้มแพร ซึ่งท่านเป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งแต่วัยเยาว์[6][7] และได้เลื่อนเป็น หลวงสิทธิ์ นายเวรมหาดเล็ก เรียกกันทั่วไปว่า หลวงนายสิทธิ์ ตามลำดับ หลวงนายสิทธิ์ได้ชื่อว่าเป็นพวก “หัวใหม่” ในสมัยนั้น เป็นผู้สนใจศึกษาวิชาการของชาวตะวันตก เนื่องจากอังกฤษและฝรั่งเศสเริ่มแผ่อิทธิพลเข้าสู่โลกตะวันออกและประชิดเขตแดนสยามมากขึ้น หากไม่ปรับตัวให้รู้เท่าทันฝรั่ง สยามอาจถูกยึดครองเป็นอาณานิคมได้
ในช่วงเดียวกันนี้ก็มีผู้เล็งเห็นการณ์ไกลในแนวเดียวกัน ได้แก่ วชิรญาณภิกขุ (พระนามขณะนั้น) สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (พระยศขณะนั้น) กรมหลวงวงศาธิราชสนิท และท่าน ซึ่งท่านสนใจที่จะศึกษาในวิชาการต่อเรือกำปั่นเป็นพิเศษและได้ศึกษาภาษาอังกฤษพอประมาณ[2] ในรัชสมัยรัชกาลที่ 3 นี้ หลวงนายสิทธิ์ได้รับการเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น จมื่นไวยวรนาถ หัวหมื่นมหาดเล็ก และในปี พ.ศ. 2384 จึงมีการเพิ่มสร้อยนามของท่านเป็น จมื่นไวยวรนาถภักดีศรีสุริยวงศ์ เมื่อปี พ.ศ. 2393 ในปลายรัชกาลที่ 3 นั้น ท่านได้รับการเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาศรีสุริยวงศ์ จางวางมหาดเล็ก[5]
หลังจากบิดาได้รับการเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้ง พระยาศรีสุริยวงศ์ จางวางมหาดเล็ก ขึ้นเป็น เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ว่าที่สมุหพระกลาโหม และเนื่องจากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ยังคงถือตราคชสีห์สำหรับตำแหน่งสมุหพระกลาโหมอยู่ตามตำแหน่ง ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงสร้าง "ตราศรพระขรรค์" สำหรับพระราชทานแก่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ต่อมา เมื่อท่านดำรงตำแหน่งสมุหกลาโหมเต็มตำแหน่งแล้ว ท่านก็ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ทั้งตราคชสีห์และตราศรพระขรรค์สำหรับตำแหน่งสมุหพระกลาโหม[8] ในการเข้ามารับตำแหน่งนี้ทำให้ท่านมีบทบาทสำคัญในการปกครองประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงแก่พิราลัยและสวรรคต ตามลำดับ อำนาจของท่านมีมากจนสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวเปรียบเทียบไว้ว่า[8]
“ถ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 เป็นเสมือนแม่ทัพแล้ว สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ก็เป็นเสมือนเสนาธิการ ช่วยกันทำงานมาตลอดรัชกาลที่ 4”
ภายหลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์ ได้เสนอสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองสิริราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี ซึ่งที่ประชุมนั้นมีความเห็นพ้องเป็นเอกฉันท์[9] แต่เนื่องจากพระองค์ยังทรงพระเยาว์ ดังนั้น เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ จึงได้รับเลือกจากที่ประชุมเสนาบดีและพระบรมวงศานุวงศ์ให้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ผู้มีอำนาจสิทธิ์ขาดในราชการแผ่นดินทั่วราชอาณาจักรระหว่าง พ.ศ. 2411-2416 หลังจากท่านพ้นจากการเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแล้ว ก็ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ มีสร้อยสมญาภิไธยนามตามจารึกในสุพรรณบัตรว่า[6]
“สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ สมันตพงศ์พิสุทธิ มหาบุรุษยรัตโนดม บรมราชุตมรรคมหาเสนาบดี มหาสุริยมัณฑลีมุรธาธร จักรรัตนสหจรสุรศรขรรค์ วรลัญจธานินทร์ ปริมินทรมหาราชวรานุกูล สรรพกิจจานุกิจมูลประสาท ปรมามาตยกูลประยูรวงศ์วิวัฒน์ สกลรัชวรณาจักโรประสดัมภ์ วรยุติธรรมอาชวาธยาศัยศรีรัตนตรัยคุณาภรณ์ภูษิต อเนกบุยฤทธิประธิสรรค์ มหันตวรเดชานุภาพบพิตร”
โดยมีอำนาจบรมอิสริยยศบรรดาศักดิ์ 30,000 ไร่ ยิ่งกว่าจตุสดมภ์มนตรี 3 เท่า ดำรงตรามหาสุริยมณฑล ได้บังคับบัญชาสิทธิขาดราชการแผ่นดินในกรุงนอกกรุงทั่วพระราชอาณาจักร และสำเร็จสรรพอาญาสิทธิประหารชีวิตคนที่ถึงอุกฤษฏโทษมหันตโทษได้[10] สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์นับเป็นบุคคลที่ดำรงบรรดาศักดิ์ ระดับ "สมเด็จเจ้าพระยา" เป็นคนสุดท้ายของประวัติศาสตร์ไทย[11]
บั้นปลายชีวิต
หลังพ้นหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ท่านก็ชอบออกไปตรวจราชการตามหัวเมืองต่าง ๆ และพำนักอยู่ที่เมืองราชบุรีเป็นส่วนใหญ่ นับเป็นเวลา 9 ปี ในวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2425 ท่านถึงแก่พิราลัยด้วยโรคลมขณะที่กำลังเดินทางกลับจากราชบุรี รวมสิริอายุได้ 74 ปี 27 วัน[3] โดยเหตุการณ์ในวันถึงพิราลัยของท่านนั้น มีบันทึกไว้ในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ดังต่อไปนี้[12]
“วันเสาร์ ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 2 ปีมะเมีย จัตวาศก จุลศักราช 1244 เวลาย่ำรุ่ง ท้าวราชกิจวรภัตร เข้ามากราบบังคมทูลพระกรุณาว่า สมเด็จเจ้าพระยาเมื่อป่วยหนักออกไปอยู่ที่ราชบุรีแล้ว ครั้งเมื่อจะไปฉลองศาลาที่ท่านสร้างไว้ที่มะขามเตี้ยไปถึงกลอนโต ขึ้นไปเก็บมะขามป้อมบนบก หามไปกลางแดดเวลาเที่ยง ไม่ให้ไปก็ไม่ฟัง ครั้งไปถึงต้นมะขามป้อมก็ไปนอนหลับตาซึมอยู่ กลับมาถึงเรือตัวร้อนอาการมาก จึงปรึกษาพร้อมกัน เอากลับมาเรือนราชบุรี มานอนท่าพระแท่นดงรังครึ่งคืน แล้วล่องลงมาถึงเมืองราชบุรี เวลาบ่ายโมงเศษหามขึ้นบก พอถึงต้นมะขามหน้าบ้านก็เป็นลมคอพับ จึงหามเข้าไปแก้ไขกันอยู่ในเรือน เวลานั้นลมก็จัดเอาลับแลเข้าบังไว้ ครั้งเจ้าพระยาสุรวงศ์และญาติ ซึ่งตามมาภายหลังมาถึง จึงพร้อมกันพาท่านลงเรือมาเวลาบ่าย 5 โมงเศษวานนี้ เรือไฟจูงมาพ้นคลองดำเนินสะดวกมาแล้ว จะเข้าคลองภาษีเจริญติดน้ำ ๆ แห้ง จึงไปรอน้ำอยู่ปากคลองกระทุ่มแบน ถึงปากคลองเวลา 5 ทุ่มเศษ ชักเยื้องไหล่หน่อยหนึ่ง ก็ถึงแก่พิราลัยที่ปากคลองกระทุ่นแบนนั้น ครั้งน้ำขึ้นจึงรีบเอาศพเข้ามาถึงจวนเวลากรู่ ๆ"
ภายหลังการถึงแก่พิราลัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรดน้ำศพพระราชทาน พร้อมทั้งพระราชทานโกศกุดั่นน้อยประกอบลองใน ตั้งบนแว่นฟ้า พร้อมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ไว้ทุกข์เป็นระยะเวลา 7 วัน นอกจากนี้ ในวันชักศพเข้าเมรุ ณ วัดบุปผารามวรวิหารนั้น พระองค์โปรดฯ ให้เจ้าหมื่นไวยวรนารถ (ยศขณะนั้น) จัดทหารจำนวน 100 คนไปแห่ศพ พร้อมทั้งพระราชทานเปลี่ยนโกศประกอบลองในเป็นโกศกุดั่นใหญ่เพื่อเป็นเกียรติยศ และเสด็จพระราชทานเพลิงศพ[13]