ผู้เขียน หัวข้อ: เมฆสีขาว ทางก้าวเก่าแก่  (อ่าน 2289 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ lek

  • ต้นไม้ใหญ่ยืนหยัดมั่นคงดั่งภูผา
  • ****
  • กระทู้: 1724
  • พลังกัลยาณมิตร 687
    • ดูรายละเอียด
เมฆสีขาว ทางก้าวเก่าแก่
« เมื่อ: ธันวาคม 20, 2010, 04:41:31 am »
บทความ เนื้อเรื่อง หรือ คำอธิบาย โดยละเอียด
โสภณ พรโชคชัย*

พระพุทธเจ้าเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ไม่ได้อวตารหรือถูกส่งมายังโลกนี้ นี่คือความจริงที่ไม่อาจบิดเบือน แต่ในภายหลังพระพุทธเจ้ากลับได้รับการยกฐานะให้แปลกแยกไปจากความเป็นมนุษย์ บทความนี้จึงมุ่งชี้ให้เห็นถึงพระพุทธเจ้าในแง่มุมที่เป็นมนุษย์ ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและถือเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติเพื่อให้บรรลุธรรมได้

ผมเขียนบทความนี้จากการอ่านหนังสือ “คือเมฆสีขาว ทางก้าวเก่าแก่ วรรณกรรมพุทธประวัติในทัศนะใหม่” ที่แปลมาจากหนังสือ “Old Path White Clouds: Walking in the Footsteps of the Buddha” ของท่านภิกษุ ติช นัท ฮันห์ และได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษาไทยโดย คุณรสนา โตสิตระกูล และคุณสันติสุข โสภณสิริ ซึ่งจัดพิมพ์โดยมูลนิธิโกมลคีมทอง

ฝึกฝนเพื่อเป็นพระพุทธเจ้า
มนุษย์ผู้กลายเป็นศาสดานี้ ศึกษาจนรอบรู้ทั้งศาสตร์และศิลปอย่างกว้างขวางลึกซึ้ง สมัยที่ยังเป็นเด็กนั้นศึกษาจนเก่งคณิตศาสตร์อย่างหาใครเทียบไม่ได้ มีความตั้งใจเรียนด้านภาษาและประวัติศาสตร์ อีกทั้งยังฝึกฝนกีฬาจนชนะเลิศในการแข่งขันทุกประเภททั้งยิงธนู ฟันดาบ ขี่ม้าและยกน้ำหนัก พระพุทธเจ้ามีความพยายามอย่างยิ่งยวดในการแสวงหาโอกาสศึกษา
ก่อนตรัสรู้ พระพุทธเจ้ายังศึกษาคัมภีร์ศาสนาอื่นจนหมดสิ้น น้อมใจเป็นศิษย์ในหลายสำนักโดยพำนักแห่งละ 3 เดือนบ้าง 6 เดือนบ้าง จนพลังภาวนาและพลังสมาธิแก่กล้ายิ่งขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถค้นพบหนทางที่แท้จริงได้ในช่วงแรก นี่แสดงชัดว่าผู้ที่จะบรรลุธรรมได้ต้องศึกษาอย่างจริงจังต่อเนื่องจนรู้แจ้งเพื่อนำมาสังเคราะห์ด้วยตนเองในที่สุด

ผู้ตื่นรู้จากความเชื่อเดิม
พระพุทธเจ้าหมายถึงบุคคลผู้ตื่นและมีความรู้แจ้งต่อการเปลี่ยนแปลง ความเป็นเอกภาพของสรรพสิ่งที่มีทั้งความเกื้อหนุน ความขัดแย้งและความสัมพันธ์ต่อกันและกัน พระพุทธเจ้าบรรลุถึงหนทางไปสู่การดับทุกข์ในระดับต่าง ๆ ตามศักยภาพของมนุษย์แต่ละคน พระพุทธเจ้าสอนว่าบุคคลไม่สามารถข้ามพ้นจากอวิชชาโดยการสวดอ้อนวอนและยัญบูชาอย่างงมงาย และไม่อาจกำจัดความโกรธ ความกลัวได้ด้วยการเก็บกดความรู้สึก ต้องใช้ปัญญาให้เกิดการรู้จริงถึงปัญหา
พระพุทธเจ้ายังกล่าวว่า คำสอนเป็นวิธีการในการบรรลุถึงความจริง แต่มิใช่เป็นตัวความจริงเอง เป็นมรรควิธีแห่งการปฏิบัติ มิใช่เป็นอะไรที่มีไว้สำหรับยึดถือหรือบูชา ดังนั้นใครก็ตามแม้อ่านและจำพระไตรปิฎกได้ทั้งหมด แต่ไม่ปฏิบัติ ก็ไม่อาจรู้แจ้ง คำสอนของพระพุทธเจ้านั้นไม่ใช่สิ่งลี้ลับยากเย็น เพราะแม้แต่เด็ก ๆ วรรณะจัณฑาลผู้ไม่มีการศึกษา ก็ยังฟังเข้าใจ
พระพุทธเจ้าเน้นความเป็นวิทยาศาสตร์โดยกล่าวว่า หากการหมายรู้ของบุคคลถูกต้องแม่นยำ (ด้วยการใช้ข้อมูล ความรู้และปัญญา) ความจริงก็จะปรากฏ พระพุทธเจ้าสอนให้เชื่อและยอมรับต่อสิ่งที่สอดคล้องกับมโนธรรมสำนึก ต่อสิ่งที่บัณฑิตผู้มีคุณธรรมและปัญญายอมรับและสนับสนุน และต่อสิ่งที่เมื่อปฏิบัติแล้วสามารถยังประโยชน์และความสุขแก่ทุกฝ่าย คำสอนของพระพุทธเจ้าไม่อิงกับศรัทธาความเชื่อที่ห้ามโต้แย้ง พระพุทธเจ้าสอนให้เคารพอย่างแท้จริงต่อเสรีภาพทางความคิด

ความเป็นมนุษย์ของพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าก็มีความชอบส่วนบุคคล เช่น โปรดประทับภาวนาท่ามกลางป่าประดู่ลาย มีความไม่พอใจ เช่น เคยดุว่าพระราหุล หรือมีความเศร้าในยามที่ภิกษุกลุ่มหนึ่งไม่ใส่ใจรับฟังคำชี้แนะ พระอรหันต์เช่นพระสาลีบุตรก็แสดงอารมณ์เศร้าโดยการเก็บตัวอยู่แต่ในกุฏินับแต่พระโมคคัลลานะถูกฆาตกรรม จนพระพุทธเจ้าไปเยี่ยมปลอบใจ เป็นต้น
ในด้านศิลป พระพุทธเจ้ายังเป่าขลุ่ยได้ รู้จักชื่นชมในสิ่งอันสุนทรีย์โดยไม่ถูกครอบงำด้วยความสวยงามหรือความน่าเกลียด นอกจากนี้ยังเคยฝึกเลียนเสียงช้างจนเหมือน ซึ่งครั้งหนึ่งนำไปใช้ในยามคับขันที่ช้างดุร้ายเชือกหนึ่งวิ่งตรงเข้ามา พระพุทธเจ้าเปล่งเสียงช้างออกมาดังสะท้านจนช้างเชือกนั้นหยุดชะงักในทันที
พระพุทธเจ้ายังอาจพูดใหม่ แก้ไขให้ถูกต้องได้ กล่าวคือ ครั้งหนึ่งบอกให้พระอหิงสกะ (องคุลิมาล) บอกแก่หญิงผู้หนึ่งว่า ตั้งแต่ตนเกิดมา ไม่เคยประทุษร้ายชีวิตใด พอพระอหิงสกะทักว่า ถ้ากล่าวเช่นนั้นก็เท่ากับพูดเท็จ พระพุทธเจ้าจึงให้พระอหิงสกะกล่าวใหม่ว่า นับแต่วันที่ตนถือกำเนิดในอริยธรรม ไม่เคยประทุษร้ายชีวิตใดเลย เป็นต้น

ต่อครอบครัวและความรัก
พระพุทธเจ้ากล่าวสัจจพจน์สำคัญกว่า “ที่ใดที่รัก ที่นั่นมีทุกข์” เพราะความผูกพัน หากสูญไป ก็เสียดาย โดยเฉพาะความรักที่อยู่บนฐานของราคะ ตัณหา และความยึดติด แต่ก็ยังมีความรักอีกประเภทหนึ่งที่ประกอบไปด้วยความปรารถนาดีและต้องการให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ หรือที่เรียกว่า เมตตาและกรุณา ซึ่งถือเป็นความงามประเภทเดียวที่ไม่จางหายและไม่ก่อให้เกิดความทุกข์
พระพุทธเจ้าแยกแยะเรื่องส่วนตัวกับส่วนรวมเป็นอย่างดี เช่น การระมัดระวังในการปฏิบัติต่อสงฆ์กลุ่มที่เป็นญาติโดยไม่ให้สิทธิพิเศษใด การเข้มงวดแม้กระทั่งภิกษุณีมหาปชาบดี พระราหุลก็ไม่เคยนอนในกุฏิเดียวกับพระพุทธเจ้า พระราหุลยังเคยปรารภว่าพระพุทธเจ้าไม่เคยปฏิบัติต่อท่านอย่างชื่นชอบเป็นพิเศษ แต่พระอหิงสกะ (องคุลิมาล) กลับได้รับคำยกย่องอย่างสูงยิ่งในฐานะโจรกลับใจผู้มีความอดทนสูงส่ง เป็นต้น

มุมมองใหม่ในสิ่งที่เคยเชื่อ
ปกติเราเชื่อว่าภิกษุไม่ควรสัมผัสสตรี แต่เราก็คงเคยเห็นองค์ทะไล ลามะ หรือท่านภิกษุ ติช นัท ฮันท์ สัมผัสมือกับสตรี ในขณะที่พระพุทธเจ้าไปหาพระนางยโสธรา ก็ยังสัมผัสมือกัน หรือสามเณรราหุลก็ยังเคยสวมกอดพระมารดา เป็นต้น ข้อนี้เป็นกรณีตัวอย่างที่แตกต่างระหว่างพุทธศาสนาแบบไทยกับแบบอื่น ซึ่งแสดงว่าเราควรใช้วิจารณญาณศึกษาเชิงเปรียบเทียบ
กรณีอดีตชาตินั้น มีกล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าเห็นการเกิดและตายทุกครั้งที่ผ่านมา ซึ่งกรณีนี้คงขึ้นอยู่กับการตีความ หากตีความอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ก็หมายถึงว่า “สสารไม่สูญหายไปไหน” พระพุทธเจ้าเคยกล่าวว่า ก่อนที่ตถาคตจะเกิดมาเป็นมนุษย์ ตถาคตเคยเป็นดินและก้อนหิน เคยเป็นต้นไม้ เป็นนก และในชาติปางก่อน พวกเราล้วนเคยเกิดเป็นมอส หญ้า ต้นไม้ ปลา เต่า นก เป็นต้น ดังนั้นพระพุทธเจ้าคงหมายถึงการเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งเป็นสำคัญ

ปัญหาสังคมในมุมมองใหม่
ในสมัยพุทธกาล ความยากจนของชาวนา ปัญหาเด็กพิการ ขอทาน การเจ็บป่วย เป็นปัญหาที่แม้แต่กษัตริย์ก็ไม่มีอำนาจที่จะแก้ไข อำนาจของกษัตริย์เปราะบางและมีอยู่อย่างจำกัด แม้กษัตริย์จะทราบถึงความละโมบและการฉ้อราษฎร์บังหลวง แต่ก็จำต้องอาศัยพวกขุนนางทุจริตเหล่านี้รักษาบัลลังก์ ขุนนางเหล่านี้ต่างก็ขับเคี่ยวกันเพื่อมุ่งปกป้องและสร้างฐานอำนาจของตนเอง ไม่ใช่มุ่งขจัดความทุกข์ยากให้ผู้ยากไร้
อาจกล่าวได้ว่า การทำทานก็ช่วยบรรเทาทุกข์ผู้ยากไร้ได้บ้าง แต่ไม่ใช่ทางออกที่ดีจริง อาชญากรรมและความรุนแรง เป็นผลพวงของความอดอยาก ยากจน วิธีที่ดีที่สุดในการช่วยเหลือประชาชน และช่วยให้ประชาชนมั่นคงปลอดภัยดี ก็คือการมุ่งสร้างเศรษฐกิจที่สมบูรณ์ โดยการจัดสรรทรัพยากร ทุน และภาษี เป็นต้น

สร้างความเท่าเทียมในหมู่ชน
ในสมัยนั้น ประชาชนถูกครอบงำกดขี่จากพวกพราหมณ์ โดยต้องยอมเสียเงินให้เพื่อรับการทำพิธีที่ถูกต้องแม้ว่าพวกเขาจะยากจนเพียงใด แต่พระพุทธเจ้ากลับมุ่งสร้างความเท่าเทียมในหมู่ชน โดยแสดงออกด้วยการดื่มน้ำแก้วเดียวกับเด็กชายวรรณะจัณฑาลทั้งยังให้เด็กคนนั้นดื่มก่อน และยังรับคนจัณฑาลเข้ามาอยู่ในคณะสงฆ์ แต่ทำไมในทุกวันนี้ พุทธศาสนากับศาสนาพราหมณ์กลับแยกกันแทบไม่ออก ใครเป็นคนทำ ใครเป็นคนเสริมต่อ และใครได้ประโยชน์จากการนี้
การช่วงชิงผลประโยชน์ทางการเมือง และการสงครามของกษัตริย์นครต่าง ๆ ทำให้ประชาชนเดือดร้อน พระพุทธเจ้าก็เคยห้ามศึกในหมู่ญาติ นี่แสดงว่าหากกษัตริย์หรือข้าราชการไม่ได้รับการควบคุมที่ดี ประเทศไม่ได้เป็น “ประชารัฐ” ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยของคนส่วนใหญ่ ก็ย่อมก่อสงคราม กดขี่และสร้างความไม่เป็นธรรมให้กับประชาชนได้

คำราชาศัพท์กับพระพุทธเจ้า
ในการเขียนถึงพระพุทธเจ้า เรามักใช้คำราชาศัพท์ พระพุทธเจ้าก็เคยเป็นเจ้าชายมาก่อน และหากครองราชย์ ก็อาจเป็นมหาจักรพรรดิที่ยิ่งใหญ่ของโลก แต่พระพุทธเจ้าก็ไม่ประสงค์จะอยู่ในวรรณะกษัตริย์ ประสงค์จะใช้ภาษาและคำพูดธรรมดา ดังนั้นการใช้คำราชาศัพท์กับพระพุทธเจ้า แม้ในแง่หนึ่งถือเป็นการแสดงความเคารพสูงสุด แต่ในอีกแง่หนึ่งก็อาจเป็นการไม่นำพาต่อความตั้งใจของพระพุทธเจ้าในการสละวรรณะนี้ การใช้คำราชาศัพท์ก็เท่ากับการผูกพันพระพุทธเจ้าไว้กับวรรณะเฉพาะ
โปรดสังเกตว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ไม่ถือตน โดยสมัยที่ลาจากวรรณะกษัตริย์มาบำเพ็ญเพียร เด็กชายวรรณะจัณฑาลให้หญ้ามาใช้ปูนั่ง ก็ยกมือไหว้ขอบคุณ สมัยเป็นพระพุทธเจ้าก็พนมมือ น้อมกายเป็นการตอบรับ พระพุทธเจ้าเคยช่วยเด็กวรรณะจัณฑาลตัดหญ้าด้วย หรือร่วมกับพระอานนท์ช่วยกันอุ้มภิกษุที่อาพาธขึ้นเตียงและเปลี่ยนจีวรให้ แล้วยังขัดถูพื้นกุฏิและซักจีวรที่เกรอะกรังดินของภิกษุดังกล่าว เป็นต้น

การที่มนุษย์ผู้หนึ่งสามารถบรรลุธรรม จนประกาศศาสนาให้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจมานับได้ 2551 ปีเช่นนี้ ทำให้เห็นชัดถึงศักยภาพของมนุษย์ที่สามารถพัฒนาตนเองให้ก้าวหน้าทั้งทางวัตถุและจิตใจอย่างเอนกอนันต์ได้ เราจึงต้องเชื่อมั่นในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่สามารถเป็นอิสระจากอวิชชาด้วยการศึกษาอย่างจริงจังและเป็นวิทยาศาสตร์ เพื่อนำมาสังเคราะห์ด้วยปัญญาให้รู้จริง
พระพุทธเจ้าเป็นมนุษย์ที่เราเข้าถึงได้ และที่สำคัญอย่าลืม “บุคคลไม่สามารถข้ามพ้นจากอวิชชาโดยการสวดอ้อนวอนและยัญบูชา”

* ดร.โสภณ พรโชคชัย เป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินและนักวิจัยด้านอสังหาริมทรัพย์ ขณะนี้ยังเป็นกรรมการหอการค้าสาขาจรรยาบรรณ ที่ปรึกษาหอการค้าไทยสาขาอสังหาริมทรัพย์ ผู้แทนสมาคมประเมินค่าทรัพย์สินนานาชาติ (IAAO) ประจำประเทศไทย กรรมการบริหาร ASEAN Valuers Association และ ASEAN Association for Planning and Housing และกรรมการสภาที่ปรึกษาของ Appraisal Foundation ซึ่งเป็นหน่วยงานควบคุมวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินในสหรัฐอเมริกาที่แต่งตั้งขึ้นโดยสภาคองเกรส Email: sopon@thaiappraisal.org 

ออฟไลน์ แก้วจ๋าหน้าร้อน

  • สิ่งใดคือธรรมะ สิ่งนั้นย่อมดีแล้วสูงสุด
  • ทีมงานกวาดลานดิน
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 6503
  • พลังกัลยาณมิตร 1741
  • ธรรมะอวยพรความดีคุ้มครอง
    • kaewjanaron
    • facehot
    • ดูรายละเอียด
    • ใต้ร่มธรรม
Re: เมฆสีขาว ทางก้าวเก่าแก่
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: ธันวาคม 20, 2010, 09:39:23 pm »
 :45: ขอบคุณครับพี่เล็ก
การโพสภาพโดยใช้เว็บฝากไฟล์ภาพ imageshack.us/ (เว็บกบ)
การปรับแต่งห้องสมาชิกไร้ขีดจำกัด Ultimate Profile + ห้องเพลงส่วนตัว
การตั้งกระทู้และการโพสกระทู้ในเว็บใต้ร่มธรรมครับ
การแก้ไข้ข้อมูล ชื่อ ระหัส ส่วนตัวของสมาชิกใต้ร่มธรรมครับ
การใส่รูปประจำตัวเรา Avatar รวมทั้งลายเซ็นต์ ในกระทู้หรือโพสของเราครับ
เพิ่มไอคอน ทวิสเตอร์ เฟชบุ๊ค ยูทูบ ในโปรโปรไฟล์ของเรา
การสร้างอัลบั้มภาพส่วนตัวในห้องสมาชิก Profile Pictures
การเพิ่มเพื่อน กัลยาณมิตรใต้ร่มธรรม ในห้องสมาชิกส่วนตัว
การดูกระทู้ทั้งหมดที่เรายังไม่ได้อ่านครับ
โค้ดสี bb color code ไว้สำหรับโพสกระทู้ครับ
*วิธีเคลียร์แคชในทุกเว็บเบราว์เซอร์ครับ เมื่อคอมอืด*

ห้องประชุมของทีมงาน
~ธรรมะอวยพรความดีคุ้มครองครับ~