แม้ระบบชีวิตจะมีคุณลักษณะสำคัญดังที่กล่าวมา แต่คาปร้าก็เห็นว่าสรรพสิ่งมิได้สัมพันธ์กันในแบบเดียวกันหมด และในระดับเท่ากันหมด โดยระบบชีวิตทุกระดับที่มีมนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยนั้น โดยเฉพาะระดับสังคม(Social Systems) จะมีความแตกต่างอย่างสำคัญ คือ มีความสัมพันธ์ 3 ระดับ ได้แก่
ระดับวัตถุ (Material) เช่น เงิน ทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ,
ระดับชีววิทยา คือชีวิตและจิตใจ (Life and Mind) และ
ระดับสุดท้าย คือจิตสำนึก อันเป็นเรื่องของการให้ความหมาย ค่านิยม จริยธรรม ซึ่งคาปร้าเห็นว่า เป็นระดับที่มีในมนุษย์เท่านั้น
การบริหารจัดการองค์กรของมนุษย์ จะต้องรู้และไปครบทั้ง 3 ระดับ จึงจะพัฒนาองค์กรที่มีมนุษย์เกี่ยวข้องอยู่ได้สำเร็จ นอกจากนี้มนุษย์ยังเป็นระบบชีวิตที่มีจุดมุ่งหมาย (Purpose) ซึ่งสร้างขึ้นจากความสามารถในการสร้างภาพของจิต(Mental Images) ซึ่งเป็นคุณลักษณะของจิตสำนึกมนุษย์ที่ไม่มีในพืชและสัตว์ที่อยู่ระดับต่ำกว่า และพุทธิภาวะของมนุษย์นั้นยังมีความคิดเชิงมโนทัศน์ (Conceptual Thought) สติสัมปชัญญะ (Self Awareness) และจิตสำนึก (Consciousness) ที่ไม่มีในระบบชีวิตอื่นด้วย และในอาณาบริเวณของสังคมมนุษย์ การสื่อสาร(Communication) ภาษาและการสนทนา (Conversation) เป็นสิ่งสำคัญในกระบวนการของระบบชีวิตมนุษย์
3.หัวใจข่ายใยชีวิต : การคิดเชิงระบบ
(Systems Thinking)
ด้วยกระบวนทัศน์ใหม่จากทฤษฎีข่ายใยชีวิตนี้ คาปร้าเชื่อว่า เป็นการสร้างความหมายใหม่แก่"ชีวิต"ในมิติวิทยาศาสตร์ และเป็นการเปลี่ยนวิทยาศาสตร์แบบกลจักรให้เป็นวิทยาศาสตร์แบบชีวิต (Life Science) ที่จิต วัตถุ และชีวิตเป็นหนึ่งเดียวกันครั้งแรก เขาเชื่อว่ากระบวนทัศน์ที่เปลี่ยนย้ายนี้ จะก่อให้เกิดสิ่งที่เขาเรียกว่าการคิดเชิงระบบ ( Systems Thinking)ด้วย เป็นระบบคิด วิธีคิดชุดใหม่ของมนุษย์ที่มีต่อสรรพสิ่ง และจะเปลี่ยนวิถีที่มนุษย์สัมพันธ์กันทั้งหมด และสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากทฤษฎีข่ายใยชีวิต ครอบคลุมทั้งชีวิต ชุมชน องค์กรธุรกิจ ระบบการศึกษา สถาบันทางสังคม การเมือง ระบบนิเวศฯลฯ
จากการศึกษา คาปร้าพบว่า ความคิดเชิงระบบเริ่มปรากฏและพัฒนามาในหลายสาขาวิชา จากการค้นพบใหม่ ๆ ทั้งในชีววิทยา จิตวิทยา นิเวศวิทยา แต่ที่ก่อผลเด่นชัดมากที่สุดคือ จากทฤษฎีควอนตัมในวิชาฟิสิกส์ ที่พบอย่างน่าตื่นใจว่า "ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าส่วนประกอบ(Part) อยู่เลย สิ่งที่เราเรียกว่า"ส่วนประกอบ"นั้น เป็นแบบแผน(Pattern) ของข่ายใยความสัมพันธ์ที่แยกออกจากกันไม่ได้"
ดังนั้น การเอาส่วนประกอบย่อยมาเชื่อมโยงเป็นองค์รวม จึงเหมือนการเอาวัตถุมาเชื่อมต่อให้สัมพันธ์กัน ซึ่งแน่นอนว่ามีปฏิสัมพันธ์และเกิดความสัมพันธ์ระหว่างส่วนประกอบเหล่านั้น แต่ความสัมพันธ์เกิดขึ้นเป็นอันดับที่ 2 หรือภายหลัง ในขณะที่ระบบองค์รวม เห็นว่าสิ่งต่าง ๆ โดยตัวมันเองเป็นเครือข่ายของความสัมพันธ์ที่อยู่ในเครือข่ายที่ใหญ่กว่า นักคิดเชิงระบบจึงเชื่อว่าความสัมพันธ์เชื่อมโยงเป็นสิ่งพื้นฐานหรืออันดับแรกสุด (เป็นตัวของระบบเอง) ส่วนขอบเขตของรูปแบบหรือวัตถุที่มองเห็นนั้น เกิดขึ้นเป็นที่สอง
ส่วนอีกทัศนะหนึ่ง คือกระบวนทัศน์แบบกลไก ลดส่วน แยกส่วน ที่เดคาร์ตสร้างขึ้นเป็นระบบคิดแบบวิเคราะห์ (Analytical Thinking) คือการแตกปรากฏการณ์ที่ซับซ้อนให้เป็นส่วน ๆ แล้วศึกษาคุณสมบัติของส่วนประกอบนั้น เพื่อเข้าใจในพฤติกรรมของทั้งหมด การเชื่อมโยงสัมพันธ์เกิดขึ้นภายหลัง ดังนั้นในขณะที่นักคิดเชิงระบบเห็นว่า "องค์รวมเป็นมากกว่าผลรวมขององค์ประกอบของมัน" ("The whole is more than the sum of its parts") ระบบคิดแบบกลไกจะคิดว่า "องค์รวมไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากผลรวมขององค์ประกอบของมัน"
ในทัศนะของคาปร้า การคิดเชิงระบบ หมายถึงการเปลี่ยนย้ายมุมมองจากองค์ประกอบสู่องค์รวม และสิ่งที่องค์รวมมีมากกว่าคือ "สัมพันธภาพ" การคิดเชิงระบบจึงเป็นการคิดในมุมมองของสัมพันธภาพ เป็นการย้ายจุดเน้น (Focus) จากตัววัตถุมาอยู่ที่สัมพันธภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชั่งตวงวัดไม่ได้ แต่จะศึกษาและทำความเข้าใจได้โดยการทำแผนที่ (Mapping) ความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่าง ๆ
คาปร้าเห็นว่าการปรากฏซ้ำ ๆ ของสัมพันธภาพ นำไปสู่"แบบแผน"(Pattern ) ดังนั้น การคิดเชิงระบบจึงเป็นการเปลี่ยนมุมมองจากตัวเนื้อหา (Contents) มาสู่การมองแบบแผน คือให้ความสำคัญแก่ระบบคิด วิธีการคิด มากกว่าเนื้อหา และกฎนิเวศทำให้เห็นว่า แบบแผนทั้งหมดสัมพันธ์อยู่กับบริบท สิ่งแวดล้อม หรือระบบที่ใหญ่กว่า เขาจึงเรียกการคิดเชิงระบบว่าเป็น "การคิดเชิงบริบท" (Contextual Thinking) และเป็นการคิดเชิงกระบวนการ (Process Thinking) ด้วย เพราะในตัวระบบ บริบทมีการเคลื่อนไหว เลื่อนไหลอยู่ตลอดเวลานั่นเอง อีกทั้งเห็นว่าการคิดเชิงระบบเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะสรรพสิ่งทั้งหลายดำรงอยู่เป็นระบบ การคิดของมนุษย์จึงต้องเป็นระบบด้วย คือ คิดแบบเชื่อมโยงกันและกัน มีสัมพันธภาพและบริบท (Interconnections Relationships and Context ) และถึงแม้ว่าโดยข้อเท็จจริง ความเชื่อมโยงกันหรือสัมพันธภาพของสรรพสิ่งจะมิได้เท่ากันหมด มีระดับแตกต่างกัน แต่มนุษย์ไม่สามารถแยกส่วนความคิด เลือกเฉพาะที่สำคัญมากสำหรับตนเอง แล้วทิ้งส่วนไม่สำคัญหรือสำคัญน้อย เพราะเท่ากับละเลยกฎความจริงของระบบชีวิต
จากความคิดหลักในทฤษฎีข่ายใยชีวิต คาปร้าเชื่อว่า การคิดเชิงระบบของมนุษย์ มิใช่เป็นเพียง"ความคิด"ล้วน ๆ แต่รวมค่านิยม (Values) ไว้ด้วย ดังนั้น ระบบคิด จะประกอบด้วย ความคิดและค่านิยม ตามแบบกระบวนทัศน์แต่ละแบบ ที่แสดงเปรียบเทียบได้ดังนี้
ระบบคิด-วิธีคิดของกระบวนทัศน์ 2 แบบ
ปรับปรุงจาก Capra , Fritjof. The Web of Life. op.cit. p10 และ Fritjof Capra 's Perspective : A Crisis of Perception . <
http://freespace.virgin.net/steve.charter/big-picture/capra.html> 12 / 10 / 2000
กระบวนทัศน์แบบกลไก ลดส่วน ฯ ระบบคิดแบบเดี่ยว
(Self-Assertive)
ความคิด (Thinking)
- เหตุผล ( Rational)
- วิเคราะห์ ( Analysis)
- เส้นตรง ( Linear)
- ลดส่วน แยกย่อย (Reductionist)
- ค่านิยม (Value)
- การแข่งขัน ( Competition) การแผ่ขยาย (Expansion) การครอบครอง ( Domination)
- ปริมาณ (Quantity)
กระบวนทัศน์แบบนิเวศ /องค์รวม
ระบบคิดแบบบูรณาการ
Integrative(การคิดเชิงระบบ)
ความคิด (Thinking)
- ญาณทัศนะ ( Intuitive)
- สังเคราะห์ (Synthesis)
- ไม่เป็นเส้นตรง (Non-linear)
- องค์รวม ( Holistic)
ค่านิยม (Value)
- ความร่วมมือ ( Co-operation)
- การอนุรักษ์ (Conservation)
- ความเป็นภาคี (Partnership)
- คุณภาพ (Quality)
คาปร้าเห็นว่า ในทุกระบบชีวิต มีระบบคิดทั้ง 2 แบบ ทำหน้าที่แตกต่างกันเพื่อรักษาสัมพันธภาพภายในและภายนอกระบบให้สมดุล จึงไม่มีอันหนึ่งดีกว่าหรือเลวกว่าอีกอันหนึ่ง ในระบบชีวิตที่มนุษย์เกี่ยวข้องด้วย ปัญหาเกิดจากความไม่สมดุลในระบบคิด ซึ่งเสียดุลไปทางระบบคิดแบบเดี่ยวตามกระบวนทัศน์แบบกลไก โดยละทิ้งระบบคิดแบบบูรณาการตามกระบวนทัศน์นิเวศ
คาปร้าเห็นว่าการคิดแบบเดี่ยวไปในทางแข่งขัน แผ่ขยาย ครอบครอง เป็นระบบคิดที่มักเชื่อมโยงกับเพศชาย ดังนั้นในสังคมชายเป็นใหญ่จึงมีแนวโน้มการคิดแบบเดี่ยวมาก โดยเฉพาะเมื่อรวมกับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ และอำนาจด้วย ทำให้การเปลี่ยนสู่สมดุลของระบบคิด 2 แบบ จึงเกิดขึ้นยาก โดยเฉพาะ"อำนาจ"ในความหมายของการครอบงำ สั่งการนั้น มักไม่เปิดโอกาสให้แก่ระบบคิดแบบบูรณาการ เพศหญิงซึ่งมีระบบคิดแบบนี้มากกว่า จึงมีโอกาสเปลี่ยนดุลของระบบคิดได้ยาก อย่างไรก็ตามคาปร้าเชื่อว่า การสร้างอำนาจขึ้นใหม่ด้วยระบบ"เครือข่าย" จะเป็นหนทางสำคัญของการปรับสมดุลของระบบคิดทั้ง 2 แบบได้