ผู้เขียน หัวข้อ: ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร  (อ่าน 25572 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร
« ตอบกลับ #10 เมื่อ: มกราคม 28, 2011, 09:29:11 pm »



ครั้งที่ ลักษณะพุทธศาสนา - อริยสัจ ()

ญาณในอริยสัจ ๔

คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ๔ บทคือ
๑. ทุกข์ ๒. ทุกขสมุทัย เหตุเกิดทุกข์
๓. ทุกขนิโรธ ความดับทุกข์ ๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ หรือมรรคทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้เรียกกันว่าอริยสัจ ก็เรียกตามพระพุทธเจ้าที่ได้ตรัสไว้ในปฐมเทศนา คือเทศนาทีแรกของพระองค์ ที่ตรัสว่าพระตถาคตคือพระองค์ได้เว้นทางสุดโต่ง ๒ ทาง คือทางกามสุขัลลิกานุโยค ความประกอบพัวพันอยู่ด้วยความสุขสดชื่นในกามและทางอัตตกิลมถานุโยค ทางทรมานตนให้ลำบาก ได้ทรงปฏิบัติอยู่ในทางอันเรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา ข้อปฏิบัติอันเป็นหนทางกลาง ไม่เกี่ยวข้องด้วยทางสุดโต่งทั้ง ๒ นั้น ก็คือมรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบเป็นต้น มีสัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นชอบเป็นที่สุด จึงได้ทรงเกิดญาณคือความหยั่งรู้ขึ้นในอริยสัจทั้ง ๔ คือ ทุกข์ ทุกขสมุทัย ทุกขนิโรธ และมรรคหรือทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ญาณคือความหยั่งรู้ที่บังเกิดขึ้นแก่พระองค์นั้นเป็นญาณที่บังเกิดขึ้นในธรรมที่มิได้เคยสดับแล้วมาก่อน ก็คืออริยสัจทั้ง ๔ ดังกล่าว โดยมีวนรอบ ๓ มีอาการ ๑๒

สัจจญาณ

มีวนรอบ ๓ ก็คือวนรอบในสัจจะทั้ง ๔ นี้โดยเป็นสัจจญาณ คือความหยั่งรู้ว่าจริง คือนี้เป็นทุกข์จริง นี้เป็นทุกขสมุทัยคือเหตุให้เกิดทุกข์จริง นี้เป็นทุกขนิโรธคือความดับทุกข์จริง นี้เป็นมรรคคือทางดับทุกข์จริง ข้อที่ว่านี้เป็นทุกข์จริง ก็คือว่า ความเกิดเป็นทุกข์จริง ความแก่เป็นทุกข์จริง ความตายเป็นทุกข์จริง ความโศกคือความแห้งใจ ความปริเทวะคือความรัญจวนคร่ำครวญใจ ทุกขะคือความไม่สบายกาย โทมนัสสะคือความไม่สบายใจ อุปายาสะ ความคับแค้นใจ เป็นทุกข์จริง ความประจวบกับสิ่งคือสัตว์และสังขารไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์จริง ความพลัดพรากจากสัตว์และสังขารที่เป็นที่รักเป็นทุกข์จริง ความปรารถนามิได้สมหวังเป็นทุกข์จริง

และกล่าวโดยย่อ ขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการ คือรูปขันธ์ กองรูป เวทนาขันธ์ กองเวทนา สัญญาขันธ์ กองสัญญา สังขารขันธ์ กองสังขาร วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ เป็นทุกข์จริง ทุกขสมุทัยเหตุเกิดทุกข์นั้นก็คือตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก อันประกอบด้วยนันทิคือความเพลิน ราคะคือความติดใจยินดี เพลิดเพลินยินดียิ่งในอารมณ์นั้นๆ จำแนกออกเป็น
กามตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากไปในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ
ภวตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากไปในภพคือความเป็นนั่นเป็นนี่
วิภวตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากไปในความไม่เป็นนั่นไม่เป็นนี่
นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์จริง ดับตัณหาเสียได้ ทุกข์ดับไปหมด นี้เป็นความดับทุกข์จริง มรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบดังกล่าวเป็นต้นนั้น เป็นมรรคคือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์จริง พระญาณคือความหยั่งรู้ว่า นี้เป็นทุกข์จริง นี้เป็นเหตุเกิดทุกข์จริง นี้เป็นความดับทุกข์จริง นี้เป็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์จริง นี้เป็นสัจจญาณ นี่ก็วนไปในสัจจะทั้ง ๔ รอบหนึ่ง

กิจจญาณ

กิจจญาณ ความหยั่งรู้ในกิจคือข้อที่พึงกระทำ ได้เกิดพระญาณคือความหยั่งรู้ขึ้นว่าทุกข์เป็นข้อที่พึงกำหนดรู้อันเรียกว่าปริญญา สมุทัยเป็นข้อที่ควรละอันเรียกว่าปหานะ ความดับทุกข์เป็นข้อที่พึงกระทำให้แจ้งอันเรียกว่าสัจฉิกรณะ มรรคคือข้อที่ควรอบรมปฏิบัติให้มีขึ้นให้เป็นขึ้นอันเรียกว่าภาวนา นี้เป็นกิจที่พึงกระทำในสัจจะทั้ง ๔ เรียกว่ากิจจญาณ

กตญาณ

และกตญาณ คือความหยั่งรู้กิจทั้ง ๔ นั้นว่าได้กระทำแล้ว คือว่าทุกข์นั้นพระองค์ก็ได้ทรงกำหนดรู้แล้ว สมุทัยคือตัณหาพระองค์ก็ทรงละได้แล้ว นิโรธคือความดับทุกข์พระองค์ก็ทรงกระทำให้แจ้งแล้ว มรรคพระองค์ก็ได้ทรงปฏิบัติทำให้มีให้เป็นขึ้นครบถ้วนแล้ว เรียกว่ากตญาณ ญาณคือความหยั่งรู้ว่ากิจได้กระทำเสร็จแล้ว

เพราะฉะนั้นพระญาณทั้ง ๓ สัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ ในอริยสัจทั้ง ๔ รวมเข้าก็เป็นอาการ ๑๒ จึงเรียกว่ามีวนรอบ ๓ อาการ ๑๒ วนรอบไปโดยเป็นสัจจญาณ กิจจญาณ และกตญาณในอริยสัจทั้ง ๔ ก็เป็น ๑๒ เรียกว่ามีอาการ ๑๒ พระญาณที่มีวนรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ นี้บังเกิดขึ้นในขณะเดียวกัน เพราะเหตุที่พระองค์ได้บรรลุพระญาณคือความหยั่งรู้ ซึ่งมีวนรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ นี้ ในอริยสัจทั้ง ๔ สมบูรณ์ จึงได้ทรงปฏิญญาพระองค์ว่าได้ตรัสรู้อภิสัมโพธิคือความตรัสรู้ยิ่งเป็นยอดเยี่ยมแล้ว พระองค์สิ้นชาติแล้ว พรหมจรรย์พระองค์ได้อยู่จบแล้ว ไม่มีกิจอื่นที่จะพึงกระทำเพื่อที่จะเป็นอย่างนี้อีก ก็เป็นอันว่าพระองค์ได้ตรัสรู้เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้า



ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร
« ตอบกลับ #11 เมื่อ: มกราคม 28, 2011, 10:06:41 pm »

อธิบายอริยสัจ

นี้เป็นเนื้อความในปฐมเทศนาที่พระองค์แสดงทีแรก เพราะฉะนั้นข้อความทั้ง ๔ บทนี้จึงได้เรียกว่าอริยสัจตามที่พระองค์ได้ทรงเรียกในปฐมเทศนานั้น และคำว่าอริยะนั้น แปลกันว่าประเสริฐ แปลกันว่าเจริญ เดิมก็ใช้เป็นชื่อของเผ่าพันธุ์ ดังที่มีแสดงในพุทธประวัติตอนที่แสดงประวัติของประเทศอินเดีย คือชมพูทวีปในครั้งนั้น ว่าเดิมเป็นเผ่าของมิลักขะหรือทัสสยุ และต่อมาได้มีชนเผ่าอริยะหรือเรียกเป็นภาษาสันสกฤตว่าอาริยะได้อพยพเข้ามาอยู่ โดยที่พวกอริยะหรืออาริยะนี้มีความเจริญกว่า พวกทัสสยุหรือมิลักขะก็ต้องกลายเป็นทาสไป พวกอริยะหรืออาริยะก็ได้เป็นผู้ปกครองประเทศถิ่นสืบต่อมา เดิมเป็นชื่อของเผ่าพันธุ์ที่มีความเจริญดังที่แสดงมา และเมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ก็ได้ตรัสเรียกสัจจะคือความจริงที่พระองค์ได้ตรัสรู้ทั้ง ๔ บทนั้นว่าอริยสัจในปฐมเทศนา

เพราะฉะนั้นพระอาจารย์จึงได้แปลคำว่าอริยสัจไว้ว่า สัจจะที่พระอริยะทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นได้รู้แจ้งแทงตลอด คือได้ตรัสรู้สัจจะของบุคคลผู้เป็นอริยะ คือพระตถาคตผู้เป็นอริยะ สัจจะที่ให้สำเร็จความเป็นพระอริยะ เพราะว่าเป็นสัจจะที่พระอริยะทั้งหลายได้ตรัสรู้ สัจจะที่เป็นอริยะเอง คือหมายความว่าเป็นสัจจะที่แท้ เป็นสัจจะที่ไม่ผิด เป็นสัจจะที่กล่าวไม่ผิด เป็นสัจจะที่ไม่เป็นอย่างอื่น คือเป็นจริงอยู่โดยแท้จริง ไม่มีที่จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น พระอาจารย์ได้อธิบายคำแปลไว้อย่างนี้ และหากจะพิจารณาดู ถ้าแปลว่าสัจจะที่พระอริยะทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นตรัสรู้ หรือว่าสัจจะของพระตถาคตพุทธเจ้าผู้เป็นอริยะ หรือว่าสัจจะที่ให้สำเร็จความเป็นพระอริยะ เพราะพระอริยะเหล่านั้นตรัสรู้ก็เข้าใจ พิจารณาดูไม่ขัดข้อง แต่คำแปลที่ว่าสัจจะเป็นอริยะเอง

ถ้าอธิบายอย่างที่ท่านอธิบายว่า ที่เป็นอริยะเองนั้น อริยะในคำนี้หมายถึงจริงแท้ไม่ผิด ไม่มีที่จะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นก็เข้าใจ แต่ว่าถ้าแปลว่าเจริญ แปลว่าประเสริฐ ก็น่าคิดเหมือนกัน ว่าสำหรับความดับทุกข์และสำหรับมรรคนั้นก็เป็นอันว่าเจริญประเสริฐจริง แต่ว่าตัวทุกข์กับตัวสมุทัยนั้นเจริญประเสริฐได้อย่างไร เพราะฉะนั้นจึงน่าจะทำความเข้าใจได้ ว่าจะต้องอธิบายอย่างที่ท่านอธิบายคือสัจจะเป็นอริยะเอง อริยะเองในที่นี้ก็ต้องหมายความว่าจริงแท้แน่นอนไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ไม่ได้หมายความว่าประเสริฐเจริญ แต่หากว่าจะหมายความว่าประเสริฐเจริญก็จะต้องเข้าใจ ว่าเพราะเป็นสัจจะที่บังเกิดขึ้นในญาณคือความหยั่งรู้ที่เป็นตัวปัญญา

ดังที่ตรัสแสดงไว้ในปฐมเทศนาว่าเป็นสัจจะที่บังเกิดขึ้นในความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ว่าข้อนี้จริง คือเป็นทุกข์จริง เป็นสมุทัยจริง เป็นนิโรธจริง เป็นมรรคจริง และทุกข์เป็นข้อที่ควรกำหนดรู้ สมุทัยเป็นข้อที่ควรละ นิโรธเป็นข้อที่ควรกระทำให้แจ้ง มรรคเป็นข้อที่ควรปฏิบัติอบรมให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น และทุกข์พระองค์ได้กำหนดรู้แล้ว สมุทัยพระองค์ละได้แล้ว นิโรธพระองค์ได้กระทำให้แจ้งแล้ว มรรคพระองค์ได้ปฏิบัติอบรมให้มีขึ้นแล้ว ที่ปรากฏในปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าดั่งนี้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นอริยสัจ

ฉะนั้นทุกข์ที่จะเป็นอริยสัจนั้นจะต้องเป็นทุกข์ที่ได้ปัญญาหยั่งรู้ว่านี้เป็นทุกข์จริง ทุกข์เป็นข้อที่ควรกำหนดรู้ และทุกข์เป็นข้อที่กำหนดรู้แล้ว สมุทัยก็เหมือนกัน จะเป็นอริยสัจขึ้นก็เพราะได้ปัญญาหยั่งรู้ ว่านี้เป็นสมุทัยจริง สมุทัยควรละ และสมุทัยละได้แล้ว นิโรธก็เหมือนกัน จะเป็นอริยสัจก็เพราะได้มีปัญญาหยั่งรู้ ว่านิโรธเป็นความดับทุกข์จริง นิโรธเป็นข้อที่ควรกระทำให้แจ้ง นิโรธเป็นข้อที่กระทำให้แจ้งแล้ว มรรคก็เหมือนกัน จะเป็นอริยสัจก็เพราะบังเกิดขึ้นในญาณปัญญาที่หยั่งรู้ ว่านี้เป็นมรรค

มรรคควรปฏิบัติอบรมให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น มรรคเป็นข้อที่ปฏิบัติอบรมให้มีขึ้นแล้วให้เป็นขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้นจึงเป็นอริยสัจ จะแปลว่าเป็นสัจจะที่เจริญที่ประเสริฐก็คงได้เหมือนกัน อันหมายถึงว่าเป็นอริยสัจในปัญญาที่ตรัสรู้ของพระผู้รู้ดังกล่าวนั้น ถ้าไม่เป็นสัจจะบังเกิดขึ้นในปัญญาของผู้รู้ดังกล่าวนั้น แม้ว่านิโรธก็ดี มรรคก็ดีก็ยังไม่เป็นอริยสัจอยู่นั่นเอง

เหมือนอย่างว่าสัจจะในความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าที่พระองค์ทรงแสดงไว้ในปฐมเทศนานั้นเป็นอริยสัจ และในพระธรรมที่ทรงสั่งสอนก็เป็นอริยสัจ แต่ว่าสำหรับในปัญญาที่บุคคลรู้อยู่ด้วยปัญญาที่เป็นสามัญ คือยังไม่บรรลุมรรคผลอย่างที่ผู้ศึกษาปฏิบัติธรรมทั่วไปรู้กันอยู่ หมายความว่ารู้กันอยู่ด้วยปัญญาของตัวเอง ไม่ใช่ว่ารู้ด้วยปัญญาของพระพุทธเจ้า ถ้ารู้ด้วยปัญญาของพระพุทธเจ้าและของพระอรหันตสาวกทั้งหลาย อันประกอบด้วยวนรอบ ๓ อาการ ๑๒ นั้น นั้นเป็นอริยสัจในปัญญาของท่าน แต่ว่ารู้ด้วยปัญญาของผู้ศึกษาปฏิบัติที่ยังไม่ได้เป็นอริยบุคคล คือรู้ด้วยปัญญาของตนเอง ก็ยังไม่เป็นอริยสัจอยู่นั่นเอง

เพราะว่ายังไม่ได้ญาณที่วนรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ ดังพระพุทธเจ้านั้น คือยังไม่แล้ว ทุกข์ก็ยังไม่ได้กำหนดรู้แล้ว สมุทัยก็ยังละไม่ได้แล้ว นิโรธก็ยังไม่ได้กระทำให้แจ้งแล้ว มรรคก็ยังไม่ได้ปฏิบัติให้มีให้เป็นขึ้นแล้วอย่างสมบูรณ์ เมื่อยังไม่แล้วก็แปลว่ายังไม่เป็นอริยสัจของแต่ละบุคคล คือเป็นแค่สัจจะเท่าที่ปัญญาของบุคคลจะรู้ ต่อเมื่อมีญาณปัญญาที่มีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ ดั่งนั้นแหละ คือว่าแล้ว จึงจะเป็นอริยสัจทั้ง ๔ บท ถ้ายังไม่แล้วก็แปลว่ายังไม่เป็นอริยสัจทั้ง ๔ บท ยังเป็นสัจจะคือความจริงอยู่เท่าที่ศึกษาและปฏิบัติได้ของแต่ละบุคคล



ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร
« ตอบกลับ #12 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 13, 2011, 03:49:36 pm »




ครั้งที่ ลักษณะพุทธศาสนา - พระรัตนตรัย

พระพุทธคุณ

พระรัตนตรัย รัตนะทั้ง ๓ คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ พระบรมศาสดาในพุทธศาสนาคือพระพุทธเจ้า คำว่าพระพุทธเจ้านี้มิใช่เป็นพระนามเดิมของบุคคล คือสิทธัตถราชกุมาร ซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางสิริมหามายา แต่ว่าเป็นเนมิตกนาม คือเป็นพระนามซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งนิมิตคือเครื่องกำหนดหมายแห่งความตรัสรู้ของสิทธัตถราชกุมาร เพราะคำว่าพุทธะแปลว่า ผู้ตรัสรู้ ผู้เบิกบาน ผู้ตื่น ผู้ปลุกให้ตื่น จึงมาใช้นามว่าพระพุทธเจ้าหรือพระพุทธะ ไม่ใช้พระนามเดิมว่าสิทธัตถะ เมื่อเรียกว่าสิทธัตถราชกุมารและเมื่อเรียกว่าพระพุทธเจ้า ความรู้สึกของบุคคลผู้เรียกย่อมต่างกัน ฉะนั้นจึงควรจะรู้จักลักษณะของพระพุทธะผู้พระบรมศาสดาในพุทธศาสนา

พระพุทธคุณซึ่งเป็นเครื่องแสดงลักษณะพิเศษที่เราสวดกันอยู่ก็คือ อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ อรหํ ก็คือพระอรหังหรืออรหันต์ ผู้ไกลกิเลส ผู้ควรไหว้บูชา สมฺมาสมฺพุทฺโธ ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ คำว่าสัมมาสัมพุทธะนี้เป็นพระพุทธคุณ เป็นนามที่แสดงลักษณะพิเศษของพระพุทธเจ้าอยู่ในถ้อยคำอย่างสมบูรณ์ สัมมา ก็แปลว่า โดยชอบ สัม ก็แปลว่าเอง พุทธ ก็คือตรัสรู้ ตรัสรู้เองโดยชอบ หรือตรัสรู้ชอบเอง เพราะฉะนั้นคำนี้จึงเป็นคำแสดงว่าตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง และตรัสรู้โดยชอบคือถูกต้องสมบูรณ์ และข้อนี้ก็ได้มีพระพุทธาธิบายไว้เองแล้วในปฐมเทศนา ซึ่งได้เคยย่อความมากล่าวแล้ว ซึ่งในปฐมเทศนานั้นก็ได้แสดงไว้ชัดเจนตามเหตุและผลของการตรัสรู้ คือได้ทรงพบทางที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา

ข้อปฏิบัติอันเป็นหนทางกลาง อันได้แก่มรรคมีองค์ ๘ ก็โดยที่ตั้งแต่เสด็จออกผนวช ก็ปฏิบัติพระองค์เองอยู่ในศีล มีสัมมาวาจา เจรจาชอบ สัมมากัมมันตะ การงานชอบ สมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ ซึ่งเป็นส่วนศีลอยู่ และครั้นเมื่อได้ทรงระลึกได้ถึงสมาธิที่เคยทรงได้เมื่อเป็นพระราชกุมารดังกล่าวนั้น ก็ทรงเห็นว่าทางนั้นจะเป็นทางแห่งสมาธิอันถูกต้อง จึงได้ทรงเริ่มจับปฏิบัติทำสมาธิไปตามทางนั้นกำหนดลมหายใจเข้าออกอย่างบริสุทธิ์ ก็เป็นอันว่าได้ทรงได้สัมมาสติได้สัมมาสมาธิขึ้นโดยลำดับ

สัมมาวายามะ เพียรชอบ
นั้นเล่าก็ได้ทรงพากเพียรอย่างยิ่งมาโดยลำดับแล้ว แต่ว่าเมื่อยังไม่พบทางที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา ความเพียรนั้นก็ยังไม่เป็นสัมมาโดยแท้ คือยังไม่ชอบโดยแท้ แต่ครั้นเมื่อได้จับทางที่ถูกของจิตใจ เริ่มพบทางที่เป็นสัมมาสมาธิ มีสัมมาสติ ความเพียรก็เป็นสัมมาคือโดยชอบขึ้น ฉะนั้นจึงได้มีจักขุคือดวงตา ญาณคือความหยั่งรู้ ปัญญาคือความรู้ทั่วถึง วิชชาคือความรู้ อาโลกคือความสว่าง ผุดขึ้นในธรรมที่มิได้เคยทรงสดับมาก่อนในอริยสัจทั้ง ๔ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว คำนี้เองคือคำว่าจักษุดวงตาผุดขึ้นเป็นต้น ก็เป็นอันว่าทรงได้สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ นั่นเป็นตัวปัญญาในธรรมที่มิได้เคยสดับมาแล้วก่อนคำนี้ก็ชี้ว่ามิได้ทรงฟังมาจากใคร ผุดขึ้นเอง เมื่อเป็นดั่งนี้ ปัญญาที่ผุดขึ้นในอริยสัจทั้ง ๔ นี้ จึงเป็นปัญญาที่ผุดขึ้นแก่พระองค์เอง ไม่มีครูบาอาจารย์สั่งสอนมาก่อน อันนี้เป็นความตรัสรู้เองและโดยชอบคือถูกต้อง นี้เป็นลักษณะพิเศษของพระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดาของเราทั้งหลาย ความตรัสรู้ของพระองค์ผุดขึ้นเองในธรรมที่มิได้ทรงสดับมาก่อนคือ อริยสัจทั้ง ๔

จึงไม่ทรงมีเทวดาไม่ทรงมีมนุษย์เป็นครูบาอาจารย์มาบอกกล่าวไว้ก่อน เป็นปัญญาผุดขึ้นเอง จึงเป็นสัมมาสัมพุทโธผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ และความตรัสรู้เองโดยชอบนี้ก็ปรากฏแก่พระองค์เอง และก็มาปรากฏแก่ผู้อื่นและแก่โลก ตั้งแต่เมื่อพระโกณฑัญญะเกิดดวงตาเห็นธรรมขึ้นเมื่อได้ฟังปฐมเทศนาจบแล้ว จึงเป็นเครื่องยืนยันว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ เพราะฉะนั้นคำว่าสัมมาสัมพุทธะนี้จึงเป็นคำเรียกพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นผู้ตั้งพุทธศาสนา แสดงธรรมสั่งสอนผู้อื่นให้รู้ตามได้ โดยที่มีแสดงพุทธไว้ ๓ คือสัมมาสัมพุทธะ ปัจเจกพุทธะ และอนุพุทธะ ซึ่งจะได้อธิบายต่อไปในเมื่อถึงพระสงฆ์

ฉะนั้นพระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดาของเราทั้งหลายจึงมิใช่เป็นศิษย์ของใครทั้งเทวดาทั้งมนุษย์ แต่ทรงเป็นพระสยัมภูคือเป็นผู้เป็นเอง ผู้ตรัสรู้ขึ้นเอง ความตรัสรู้ขึ้นเองนั้นเล่าก็ด้วยได้ทรงพบทางที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา และได้ทรงปฏิบัติมาโดยสมบูรณ์ จึงมีปัญญาผุดขึ้นแก่พระองค์เองในอริยสัจทั้ง ๔ ดังกล่าวนั้น อันปัญญาที่ผุดขึ้นเองนี้ ในเมื่อจับทางที่ถูกได้ ย่อมมีถึงในสมัยปัจจุบัน ดังที่ปรากฏแก่นักคิดค้นซึ่งได้พบความรู้ซึ่งใช้ประโยชน์อยู่ในปัจจุบันเป็นอันมาก ก็คล้ายกัน เป็นความรู้ที่ผุดขึ้นในเมื่อจับทางปฏิบัติที่ถูก

เพราะฉะนั้นอันความรู้ที่ผุดขึ้นเองนี้จึงเป็นสิ่งที่มีได้แก่นักปฏิบัติคิดค้นที่จับทางถูก จึงได้พบความรู้ที่ไม่เคยรู้กันมาก่อน แล้วนำมาปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ขึ้นได้ พระพุทธเจ้ามิได้เป็นเพียงผู้ที่ตรัสรู้เองชอบเท่านั้น และมิได้เป็นศิษย์ของเทวดาและมนุษย์เท่านั้น แต่ยังเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์อีกด้วย ดังพระพุทธคุณบทที่ว่า สตฺถา เทวมนุสฺสานํ เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้นจึงนับว่าพระพุทธเจ้าเป็นศาสดาเอกในโลก คำว่าเอกก็คือพระองค์เดียวซึ่งเป็นผู้ตรัสรู้ขึ้นเอง ไม่มีใครมากระซิบบอกหรือไม่มีใครมาบอกธรรมแก่พระองค์ จะเป็นเทวดาก็ตามเป็นมนุษย์ก็ตาม แต่พระองค์กลับทรงเป็นศาสดาของเทพและมนุษย์ทั้งหลาย นี้เป็นลักษณะพิเศษของพระพุทธเจ้า


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 18, 2012, 12:31:55 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร
« ตอบกลับ #13 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 13, 2011, 03:51:54 pm »

พระธรรมคุณ

คราวนี้มาถึงพระธรรม ลักษณะของพระธรรมในพุทธศาสนานั้น ก็ตั้งต้นแต่เป็นความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ดังที่ยกขึ้นแสดงในปฐมเทศนาก็คืออริยสัจทั้ง ๔ และในโลกจะรู้จักพระธรรมก็เพราะพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว ได้ทรงนำพระธรรมมาแสดงสั่งสอน เพราะฉะนั้นพระธรรมในพระพุทธศาสนา ตั้งต้นแต่พระธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ คือความจริงที่พระองค์ได้ตรัสรู้ จึงได้มีแสดงไว้ในพระสูตรหนึ่งว่า ธาตุนั้นตั้งอยู่ เป็นธรรมฐิติ ความตั้งอยู่แห่งธรรม เป็นธรรมนิยาม เป็นธรรมที่กำหนดได้แน่นอนด้วยปัญญา คือข้อที่ว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน ข้อนี้เป็นสัจจะคือความจริงที่ตั้งอยู่ จึงเรียกว่าธรรมฐิติ พระตถาคตพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นหรือไม่อุบัติขึ้น ข้อนี้ก็ตั้งอยู่ คือข้อที่ว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา แต่ว่าพระตถาคตพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ครั้นตรัสรู้แล้วจึงนำมาเปิดเผยแสดงกระทำให้แจ้งให้โลกได้รู้จักความจริงข้อนี้ดั่งนี้ เพราะฉะนั้นธรรมที่เป็นตัวความจริงที่ตั้งอยู่นี้จึงเป็นสิ่งที่ตั้งอยู่ตลอดมา พระพุทธเจ้าจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นความจริงข้อนี้ก็ยังตั้งอยู่ดำรงอยู่ พระพุทธเจ้าก็ได้มาตรัสรู้ความจริงข้อนี้อันเป็นความจริงที่ตั้งอยู่นั้นเอง แต่อาศัยที่ความจริงที่ตั้งอยู่นี้เป็นธรรมนิยาม คือกำหนดได้ด้วยปัญญาให้รู้จักได้ ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสรู้ได้ และเมื่อตรัสรู้แล้วก็นำมาแสดงสั่งสอนได้

เพราะฉะนั้นธรรมในพุทธศาสนานั้นจึงจับตั้งแต่ธรรมฐิติ ความจริงที่ตั้งอยู่ที่ดำรงอยู่ ไม่มีกาลไม่มีเวลา ตั้งอยู่ดำรงอยู่ตลอดไป ถึงแม้ว่าไม่มีพระพุทธเจ้ามาอุบัติขึ้นคือมาตรัสรู้ ธรรมฐิตินี้ก็ยังเป็นธรรมฐิติคือยังตั้งอยู่อย่างนี้นั้นแหละ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้านั้นจึงเป็นผู้ที่มาตรัสรู้พระธรรมที่ตั้งอยู่แล้ว ความจริงที่ดำรงอยู่แล้วนี้แหละ แล้วก็ทรงนำมาแสดงเปิดเผยชี้แจงแสดงให้แจ้งให้โลกเข้าใจ และธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงนำมาแสดงสั่งสอนนี้ ก็ทรงแสดงสั่งสอนในบุคคลนี้เองไม่ใช่ในที่อื่น ดังที่มีแสดงไว้ในพระสูตร (โรหิตัสสสูตร พระไตรปิฎก เล่ม ๑๕ หน้า ๘๙) หนึ่งว่า ได้ทรงบัญญัติโลก บัญญัติเหตุเกิดโลก บัญญัติความดับโลก บัญญัติทางปฏิบัติให้ถึงความดับโลก ในกายอันยาววาหนึ่ง มีสัญญามีใจนี้เอง คำว่าโลกในที่นี้ท่านแสดงว่าหมายถึงทุกข์ที่แสดงโดยทั่วไป คือทรงแสดงให้เห็นทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ และทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ก็คืออริยสัจ ๔ นี้เอง ทรงแสดงที่กายอันยาววาหนึ่ง มีสัญญามีใจของทุกๆ คนนี้แหละ ไม่ได้ทรงแสดงที่ไหน เมื่อทรงแสดงภายในดั่งนี้ ทุกคนจึงสามารถรู้ได้

และก็เป็นเหตุเป็นผลที่ตรองตามให้เห็นจริงได้และปฏิบัติได้ เพราะว่าธรรมที่ทรงบัญญัติดังกล่าวนี้ โลกหรือทุกข์ก็เป็นผล เหตุเกิดโลกหรือเกิดทุกข์ก็เป็นเหตุ ความดับโลกหรือดับทุกข์ก็เป็นผล ทางปฏิบัติให้ถึงความดับโลกหรือดับทุกข์ก็เป็นเหตุ รวมความก็เป็นผลหรือเหตุในด้านเกิดทุกข์หรือเกิดโลก เป็นผลและเป็นเหตุในด้านดับทุกข์และดับโลก ทั้งหมดนี้อยู่ในกายยาววาหนึ่งซึ่งมีสัญญามีใจครองของทุกๆ คน เพราะฉะนั้นอาการที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนจึงมี ๓ อย่างคือสอนให้รู้ยิ่งเห็นจริงในธรรมที่ควรรู้ควรเห็น สอนมีเหตุที่ผู้ฟังอาจตรองตามให้เห็นจริงได้สอนมีปาฏิหาริย์คือปฏิบัติได้รับผลสมจริง

ประการแรกอันทุกข์และเหตุเกิดทุกข์ก็เป็นผลและเหตุที่รู้ยิ่งเห็นจริงได้ เพราะมีอยู่ในตนเองในบุคคลนี้เอง ดับทุกข์และปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ผลและเหตุส่วนนี้ก็ยิ่งรู้เห็นจริงได้และก็เป็นเหตุเป็นผล โดยในอริยสัจนี้ยกผลขึ้นก่อนแล้วจึงยกเหตุ เป็นผลและเหตุที่ตรองตามให้เห็นจริงได้แล้วก็ปฏิบัติได้ คือปฏิบัติในการที่จะกำหนดรู้ทุกข์ ที่จะละเหตุเกิดทุกข์ จะทำให้แจ้งความดับทุกข์ และที่จะปฏิบัติอบรมทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ให้เกิดขึ้นได้ เป็นสิ่งที่ทำได้ เพราะฉะนั้นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นจึงสั่งสอนอยู่ในภายใน ปฏิบัติได้อยู่ในภายใน รู้ยิ่งเห็นจริงได้เองทุกๆ คน มีเหตุตรองตามให้เห็นได้จริงทุกๆ คน ปฏิบัติได้ผลสมจริงทุกๆ คน เพราะไม่ได้สอนในภายนอก สอนในภายใน แล้วก็เป็นเหตุเป็นผลที่ตรองตามให้เห็นได้ปฏิบัติได้ นี้เป็นลักษณะพิเศษของธรรมของพระพุทธเจ้า

อีกประการหนึ่งพุทธศาสนานั้นได้แสดงธรรมที่เป็นเหตุและผล ซึ่งเป็นธรรมที่ละเอียดสุขุมคือปฏิจจสมุปบาท ธรรมที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น หากจะจับตั้งแต่ชาติคือความเกิดเป็นเหตุและผลย้อนขึ้นไป ต้นเหตุก็จะพบอวิชชาคือความไม่รู้ เป็นตัวเหตุที่ให้เกิดสังขารเป็นต้น และทุกๆ อย่างเป็นอันดับมาเพราะฉะนั้นผู้สร้างที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็คือตัวอวิชชาคือความไม่รู้ และสืบมาเป็นตัณหาเป็นอุปาทานเป็นกรรม ฉะนั้นจะสิ้นทุกข์ได้ก็ต้องทำลายผู้สร้าง คืออวิชชาเสีย เมื่อทำลายอวิชชาเสียได้แล้ว ก็ดับสังขารดับตัณหาอุปาทานกรรมและทุกๆ อย่าง สิ้นทุกข์ได้ ซึ่งเป็นธรรมที่เป็นเหตุเป็นผลซึ่งโยงกันไปอย่างละเอียด รวมความเข้าแล้วก็คือว่าตัวผู้สร้างใหญ่ก็คืออวิชชา ซึ่งทางพุทธศาสนานั้นต้องละต้องดับเสียจึงจะพ้นทุกข์ได้ ก็ดับได้ด้วยวิชชาคือความรู้ก็ต้องปฏิบัติอบรมวิชชาคือความรู้ให้เกิดผุดขึ้นมา



ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร
« ตอบกลับ #14 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 13, 2011, 03:53:27 pm »

พระสังฆคุณ

และมาถึงพระสงฆ์ ซึ่งเป็นหมู่ผู้ฟังคือศิษย์ของพระพุทธเจ้านั้น พระสงฆ์ในพุทธศาสนานั้นสูงสุดก็คือเป็นผู้ได้ปัญญาคือความรู้ในอริยสัจ ๔ ดับกิเลสและกองทุกข์ได้เหมือนพระพุทธเจ้า แต่ว่าต่างจากพระพุทธเจ้าโดยที่มิได้ตรัสรู้เอง เป็นผู้ตรัสรู้ตาม คือเมื่อฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าให้ปฏิบัติแล้วก็ปฏิบัติตาม เมื่อปฏิบัติตามก็ได้ปัญญารู้แจ้งขึ้น ตั้งต้นแต่ได้ปัญญาเห็นธรรม จนถึงตรัสรู้ในอริยสัจ ๔ ตามพระพุทธเจ้า ก็ทำกิเลสและกองทุกข์ให้สิ้นไปได้เหมือนกัน แต่พระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่ตรัสรู้เองชอบและทรงสั่งสอน พระสงฆ์เป็นผู้ที่รู้ตาม แต่ก็ทำกิเลสและกองทุกข์ให้สิ้นไปได้เช่นเดียวกัน

เพราะฉะนั้นพระสงฆ์ในพุทธศาสนานั้นจึงได้ปัญญาที่ตัดกิเลสและกองทุกข์ตามพระพุทธเจ้าเช่นเดียวกัน เป็นผู้สิ้นกิเลสและกองทุกข์ได้เช่นเดียวกัน แต่ว่ารู้ตามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นผู้รู้ด้วยพระองค์เองและทรงแสดงสั่งสอน พระสงฆ์เป็นผู้ที่รู้ตาม แต่ก็ต้องปฏิบัติให้รู้ด้วยตัวเองเช่นเดียวกัน

เพราะฉะนั้นพระสงฆ์ในพุทธศาสนานั้นจึงมิใช่เป็นผู้ที่มีแต่ศรัทธาคือความเชื่อแต่ไม่มีปัญญาคือความรู้ แต่ว่ามีปัญญาคือความรู้ได้ด้วยตนเอง คือรู้ตามพระพุทธเจ้า ปฏิบัติตามที่ทรงสั่งสอน และก็ปฏิบัติทำกิเลสและกองทุกข์ให้สิ้นไปได้เหมือนกัน ต่างแต่ว่าเป็นผู้รู้ตามพระองค์ เป็นสาวกของพระองค์ เพราะฉะนั้นพระสงฆ์ในพุทธศาสนานั้นจึงเป็นผู้ที่เข้าถึงมรรคผลนิพพานได้เช่นเดียวกัน จึงได้เรียกพระสงฆ์ว่าอนุพุทธคือเป็นผู้รู้ตาม

พระพุทธนั้นมี ๓ คือพระสัมมาสัมพุทธ พระผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ คือเป็นผู้ที่ตั้งพุทธศาสนาขึ้น พระปัจเจกพุทธคือพระผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง แต่จำเพาะพระองค์ ไม่สั่งสอนใครให้รู้ตาม ไม่ตั้งพุทธศาสนาขึ้น และพระอนุพุทธ คือพระผู้ตรัสรู้ตาม ได้แก่พระสงฆ์สาวกผู้ที่ได้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าได้ นี้เป็นลักษณะแห่งพระรัตนตรัย คือพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์


๑๘ สิงหาคม ๒๕๒๖



ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร
« ตอบกลับ #15 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 25, 2011, 01:45:10 pm »





ครั้งที่ ลักษณะพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับกายและ จิต

จะ แสดงลักษณะพุทธศาสนาเกี่ยวกับกายและจิต ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ว่าธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ก็ทรงสั่งสอนจากกายและจิตอันนี้ ดังที่ได้อ้างพระพุทธภาษิตว่าทรงบัญญัติโลก เหตุเกิดโลก ความดับโลก ทางปฏิบัติให้ถึงความดับโลก ในกายอันยาววาหนึ่ง มีสัญญามีใจนี้ เพราะฉะนั้นจึงมาถึงที่ตั้งแห่งคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าดังกล่าว อันได้แก่กายและจิตนี้เอง กายและจิตนี้ได้ตรัสแสดงโดยเป็นธาตุ ๖ ก็มี โดยเป็นขันธ์ ๕ ก็มี โดยเป็นกายและจิตโดยตรงก็มี โดยเป็นธาตุ ๖ นั้น ก็คือที่ตรัสแสดงไว้ในธาตุวิภังคสูตร ว่า บุรุษบุคคลนี้มีธาตุ ๖ คือ ปฐวีธาตุ ธาตุดิน อาโปธาตุ ธาตุน้ำ เตโชธาตุ ธาตุไฟ วาโยธาตุ ธาตุลม อากาศธาตุ ธาตุอากาศ วิญญาณธาตุ ธาตุรู้ ธาตุ ๕ ข้างต้นคือปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาศธาตุ เป็นธาตุที่รวมกันเข้ามาเรียกว่ากาย ส่วนวิญญาณธาตุ ธาตุรู้ ก็คือจิต จะแสดงเรื่องจิตก่อน

จิตเป็นธาตุรู้

คำว่าจิตนี้เป็น ภาษาบาลี มีคำเรียกสิ่งที่เป็นจิตใจอีก ๒ คำคือ วิญญาณ มโน หรือมนะ คำว่าจิต วิญญาณ มโน ทั้งสามนี้เอามาใช้ในภาษาไทย จนคนไทยได้ยินได้ฟังและเข้าใจ ในคำภาษาไทยว่าใจ แต่ว่ามีความต่างกันตามที่ใช้ในภาษาธรรม ในภาษาธรรมนั้นส่วนใหญ่คำว่าจิตใช้หมาย ถึงตัวธาตุรู้ที่เป็นภายใน คำว่าวิญญาณใช้หมายถึงวิญญาณในขันธ์ ๕ ที่เป็นขันธ์ข้อที่ ๕ วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ คือเมื่อตากับรูปประจวบกัน เกิดความรู้คือเห็นรูปขึ้น ก็เรียกว่าจักขุวิญญาณ รู้ทางตา ดั่งนี้ เป็นต้นไป คำว่ามโนนั้นใช้เป็นอายตนะภายในข้อที่ ๖ คือตา หู จมูก ลิ้น กายและมโนหรือมนะคือใจ อันเป็นอายตนะข้อที่ ๖ ในพระสูตรที่ ๒ ของพระพุทธเจ้าคืออนัตตลักขณสูตร พระสูตรที่ว่าด้วยลักษณะคือเครื่องกำหนดหมายขันธ์ ๕ ว่าเป็นอนัตตามิใช่ตัวตน ก็ทรงแสดงขันธ์ทั้ง ๕ คือรูปขันธ์ กองรูป เวทนาขันธ์ กองเวทนา สัญญาขันธ์ กองสัญญา สังขารขันธ์ กองสังขาร วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ ว่าเป็นอนัตตา มิใช่ตัวตน

และเมื่อผู้ พิจารณาเห็นขันธ์ ๕ ว่าเป็นอนัตตา พร้อมทั้งเป็นอนิจจะคือไม่เที่ยง เป็นทุกข์คือเป็นสิ่งที่ทนอยู่ไม่ได้ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ก็หน่ายในขันธ์ ๕ หน่ายในรูปในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ เมื่อหน่ายก็สิ้นกำหนัดยินดี และเมื่อสิ้นติดใจยินดี จิตก็วิมุตติคือหลุดพ้นจากอาสวกิเลส เป็นเครื่องดองจิตทั้งหลาย อันนี้แสดงว่าจิตต่างจาก วิญญาณ จิตนั้นจะเป็นผู้ที่วิมุตติหลุดพ้น และในพระสูตรที่ ๓ อาทิตตปริยายสูตร พระสูตรที่ว่าแสดงสิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน ซึ่งสิ่งทั้งปวงนั้นก็ทรงยกเอาอายตนะภายในภายนอก อายตนะภายในก็คือตา หู จมูก ลิ้น กายและมนะคือใจ ว่าเป็นของร้อน ร้อนด้วยราคะโทสะโมหะ ร้อนด้วยความเกิดความแก่ความตายความโศกเป็นต้น และเมื่อพิจารณาเห็นว่าเป็นของร้อน จิตก็หน่าย เมื่อหน่ายก็สิ้นความติดใจยินดี เมื่อสิ้นความติดใจยินดี จิตก็วิมุตติหลุดพ้นเช่นเดียวกัน ก็แสดงว่าวิญญาณก็ดี มโนก็ดี เป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง ซึ่งต้องเป็นอนัตตาและต้องเป็นของร้อนดังกล่าว เพราะฉะนั้นจึงต่างกับคำว่าจิต

จิตไม่มีสรีระสัณฐาน

คำ ว่าจิตนี้จึงมีความหมายถึงตัวธาตุรู้ที่มีอยู่ ในบุคคล อันมีพระพุทธภาษิตแสดงไว้ว่าไม่มีสรีระคือรูปร่างทรวดทรงสัณฐานอันเป็น เรื่องของรูป มีคูหาคือถ้ำเป็นที่อาศัย และคำว่ามีคูหาคือถ้ำเป็นที่อาศัยนี้ พระอาจารย์ได้อธิบายมาแต่ดั้งเดิมรวมๆ มาว่าร่างกายอันนี้ แต่ว่ามีพระอาจารย์อีกจำพวกหนึ่งมีความเห็นว่า จิตนี้ตั้งอยู่ที่หทัยวัตถุ คือว่าเนื้อหัวใจที่เต้นอยู่นี้และมาถึงสมัยต่อมาเมื่อได้พบมันสมองว่าเป็น ที่รวมของประสาททั้งหลาย ก็มีคนเข้าใจว่าจิตนี้อาศัยตั้งอยู่กับมันสมอง แต่ก็มีบุคคลบางคนเข้าใจว่า ตัวมันสมองนี้เป็นตัวจิตทีเดียว ดั่งนี้ก็มีแต่ว่าถ้าพิจารณาตามพระพุทธภาษิต ที่ตรัสถึงจิตไว้โดยตรงดังที่ยกมากล่าวข้างต้นว่า จิตเป็นอสรีระ คือไม่มีรูปร่างสรีระสัณฐาน

ก็จะเป็นหลักฐานที่ต้องเห็นว่าจิต กับมันสมองต่างกันเพราะมันสมองนั้นเป็น สิ่งที่มีสรีระสัณฐาน จึงเป็นรูปกายส่วนหนึ่ง แต่ว่าจิตไม่มีสรีระสัณฐานเพราะฉะนั้นจิตจึงไม่ใช่มันสมอง แต่จิตกับกายต้องอาศัยกัน เพราะฉะนั้นหากว่าจิตเป็นธรรมชาติ ที่ไม่มีสรีระสัณฐาน อาศัยอยู่กับกายนี้ จะอาศัยอยู่กับส่วนไหน ก็น่าจะเห็นว่าอาศัยอยู่กับมันสมองเป็นหลักสำคัญ เพราะมันสมองนั้นเป็นที่ตั้งของประสาททั้งหลาย ให้เกิดความรู้ทางประสาททั้งปวง และจิตนี้ที่จะรู้อะไรออกมาทางภายนอกได้ เช่นรู้รูปทางตา รู้เสียงทางหู ก็ต้องอาศัยประสาทตาอาศัยประสาทสมองเป็นต้น ซึ่งศูนย์รวมของประสาทก็รวมอยู่ที่มันสมองให้ไปดูรูปความสัมพันธ์กันของ ประสาทตาหูเป็นต้นกับมันสมอง ที่พิพิธภัณฑ์ของวัดนี้ ซึ่งได้มีเขียนแสดงความสัมพันธ์เอาไว้ ฉะนั้นจิตก็น่าจะอาศัยอยู่กับส่วนนี้คือมันสมอง

คำว่ามีถ้ำเป็นที่ อาศัย มันสมองนั้นก็อยู่ในกระโหลกศีรษะ กระโหลกศีรษะนั้นก็มีลักษณะเป็นถ้ำเป็นคูหา เพราะฉะนั้นก็เข้ากันกับถ้อยคำคูหาคือถ้ำ มีคูหาเป็นที่อาศัย ส่วนพระอาจารย์ในสมัยก่อนที่เอาจิตไปอาศัยอยู่กับหทัยวัตถุคือเนื้อหัวใจที่ เต้นอยู่นี้ ก็เนื่องด้วยเข้าใจว่าหัวใจที่เต้นอยู่นี้เป็นส่วนที่สำคัญในชีวิตของบุคคล เมื่อหัวใจยังทำงานอยู่คือเต้นอยู่ ชีวิตก็ยังคงดำรงอยู่ หยุดทำงานหรือหยุดเต้นชีวิตก็สิ้นไป จึงเอาจิตมาอาศัยอยู่กับเนื้อหัวใจ นี้เป็นข้อที่น่าพิจารณาเทียบเคียงดังกล่าว และก็น่าพิจารณาต่อไปอีกว่า อันลักษณะของจิตนั้นกำหนดได้ ว่าอาการต่างๆ ที่เนื่องมากับจิตก็ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่มีสรีระสัญฐานด้วยกันทั้งนั้น ดังเช่นว่าจิตที่แสดงอาการเป็นราคะหรือโลภะโทสะ โมหะ ตัวกิเลสเหล่านี้ก็ไม่มีรูปร่างสัณฐาน หรือจิตที่แสดงอาการออกมาเป็นธรรมที่เป็นส่วนเกื้อกูล เช่นเป็นเมตตาเป็นกรุณา เมตตากรุณาก็ไม่มีสรีระสัณฐาน และจิตนี้ประกอบด้วยอารมณ์คือเรื่อง บรรดาอารมณ์คือเรื่องทั้งหลายก็ไม่มีสรีระสัณฐาน อาการของจิตอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน เป็นต้นว่าความรู้ทางอายตนะ เช่นรู้รูปทางตา รู้เสียงทางหูเป็นต้น ที่เราเรียกกันว่าเห็นรูปได้ยินเสียง ความรู้คือการเห็นรูปได้ยินเสียงเป็นต้นนั้นก็ไม่มีสรีระสัณฐาน ตัวรูปที่เห็นตัวเสียงที่ได้ยินนั้นมีสรีระสัณฐาน แต่เมื่อมาเป็นอารมณ์ของจิตมาเป็นเรื่องที่จิต คิดถึงหมกมุ่นถึงกำหนดถึง มาเป็นเรื่องที่ตั้งขึ้นในจิต ตัวเรื่องเหล่านี้ก็ไม่มีสรีระสัณฐาน

อนึ่ง ความรู้ที่บุคคลได้เรียนศึกษาตั้งแต่ต้นมา ตั้งแต่ชั้นอนุบาลชั้นประถมชั้นมัธยมถึงชั้นอุดม หรือตลอดจนถึงความรู้ที่เล่าเรียนทางพระธรรมวินัยกันนี้ ก็ไม่มีสรีระสัณฐานอีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้นที่กล่าวว่าคนนี้รู้มากเรียนมากสำเร็จถึงชั้นนั้นชั้นนี้ คนนั้นเรียนน้อยรู้น้อยสำเร็จเพียงแค่ชั้นประถมชั้นมัธยมเป็นต้น ก็ไม่มีสรีระสัณฐานที่จะนำมาชี้บอกได้ว่า ความรู้ที่ว่าน้อยหรือมากนั้นมากน้อยแค่ไหน จะเอาเครื่องชั่งตวงวัดความรู้ของบุคคลว่าเท่านั้นเท่านี้ก็ชั่งตวงวัดไม่ ได้ เพราะฉะนั้นในการที่จะตรวจสอบความรู้ของบุคคลจึงต้องจัดเกณฑ์ที่จะทดสอบหรือ ตรวจสอบความรู้ของบุคคลขึ้นอีกอย่างหนึ่ง ให้บุคคลผู้ที่เล่าเรียนนั้นๆ มาแสดงความรู้ด้วยการเขียนคำตอบก็ดี การแสดงข้อค้นคว้าก็ดีเป็นต้น แล้วก็เอาใบตอบเหล่านั้นมาตรวจอีกทีหนึ่ง แล้วก็ให้คะแนนกันไปให้ชั้นกันไปว่าสำเร็จเป็นชั้นนั้นชั้นนี้เท่านั้นเท่า นี้ ทั้งนี้เพราะความรู้นั้นไม่มีสรีระสัณฐานที่จะมาวัดชั่งกันได้เหมือนอย่าง วัตถุ และมันสมองนั้นเป็นกายส่วนหนึ่งเพราะฉะนั้นโรคของมันสมองก็เป็นอีกลักษณะ หนึ่ง แต่เราก็เรียกกันว่าโรคจิต

แต่อันที่จริงนั้นไม่ใช่โรคจิต เป็นโรคสมอง เพราะฉะนั้นจึงมีการรักษากันเป็นโรคอย่างหนึ่งของร่างกาย แต่เป็นโรคของส่วนที่เป็นมันสมอง จึงมีการแสดงออกมาทางประสาททั้งหลาย และจิตใจก็อยู่ใต้อำนาจของประสาท เพราะฉะนั้นจึงแสดงออกไปเป็นอาการที่วิปริตที่เราเรียกกันว่าเสียจริตและ เรียกกันว่าโรคจิต แต่อันที่จริงเรียกว่าโรคจิตนั้นไม่ถูก โรคเสียจริตนั้นพอได้ ต้องเป็นโรคสมอง โรคประสาท แต่ว่าโรคของจิตโดยตรงนั้นก็คือกิเลสนั้นเอง อันได้แก่ตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากและบรรดา กิเลสทั้งปวง เป็นต้นว่าราคะหรือโลภะ โทสะ โมหะ เหล่านี้เป็นโรคจิตโดยตรงซึ่งตั้งขึ้นในอารมณ์

เพราะจิตนี้เองไป ยึดถืออารมณ์ แล้วก็ยินดียินร้ายหลงงมงายไปในอารมณ์ต่างๆ แล้วก็เป็นตัณหา เป็นราคะหรือโลภะ เป็นโทสะ เป็นโมหะ นี่เป็นโรคจิตโดยตรงอันทำให้เกิดทุกข์ใจต่างๆ เดือดร้อนใจต่างๆ เพราะฉะนั้นบรรดาคนที่มีกิเลสอยู่ ยังละกิเลสไม่ได้ก็เรียกว่ามีโรคจิต ทั้ง นั้น คือโรคกิเลสนั่นแหละเป็นโรคจิตทั้งนั้น เพราะฉะนั้นจึงไปเข้าเรื่องที่พระพุทธเจ้าต้องทรงรักษา ถอนลูกศรคือตัณหาออกจากจิตให้ได้เสียก่อน ไม่ต้องไปเสียเวลาที่จะสอบสวนอะไรต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ด้วยการที่ต้องรีบทรงแสดงธรรมให้บุคคลเกิดปัญญาอันเป็นยาธรรมเรียก ว่าธรรม โอสถที่จะรักษาโรคจิตคือบรรดากิเลส ทั้งหลาย

จิตเป็นวิญญาณธาตุ

เพราะ ฉะนั้น ธรรมโอสถคือธรรมนั้นเองที่เป็นยารักษาโรคกิเลสของบุคคล สำหรับที่จะดับตัณหา ดับราคะหรือโลภะ โทสะ โมหะ ตามที่ได้ยกมากล่าวนี้ก็เพื่อแสดงว่า ในบุคคลเรานี้ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่เรียกว่าจิต ซึ่งไม่มีสรีระสัณฐาน อาศัยอยู่กับกายอันนี้ ซึ่งรวมเข้าก็เป็นธาตุ ๖ และจิตนี้ก็เป็นวิญญาณธาตุ และธาตุอีก ๕ ข้อที่กล่าวมาข้างต้นนั้นก็รวมกันเข้าเป็นกาย วิญญาณธาตุก็เป็นจิต กายและจิตนี้อาศัยกันอยู่ จึงเป็นบุคคล ถ้าหากว่ากายแตกทำลาย จิตก็ต้องเคลื่อนออกไป เพราะฉะนั้นเมื่อกายรวมเข้ามา ธาตุดินน้ำลมไฟอากาศรวมเข้ามาตั้งต้นแต่ในครรภ์ของมารดา จิตก็ปฏิสนธิเรียกว่าปฏิสนธิ จิต และในที่สุดเมื่อร่างกายนี้แตกสลาย คือธาตุที่รวมกันเข้านี้ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศแตกสลาย จิตก็เคลื่อนออกไปเรียกว่าจุติ จิต ทีแรกก็เป็นปฏิสนธิจิต จิตปฏิสนธิประกอบเข้ามา และเมื่อกายแตกสลายจิตก็เคลื่อนเรียกว่าจุติจิต จิตเคลื่อนหรือความเคลื่อนของจิตในที่สุด

ในบัดนี้คนมักเข้าใจผิดไป เรียกเอาปฏิสนธิว่าจุติกันมาก เช่นว่าจุติในที่นั่นที่นี่คือเกิดในที่นั่นที่นี่ ความจริงไม่ใช่เกิดจุติคือ เคลื่อนซึ่งเราเรียกกันว่าตาย เมื่อเกิดในที่นั่นที่นี่เราเรียกว่าปฏิสนธิ แต่ว่าเป็นคำที่ใช้สำหรับจิตเท่านั้น จิตปฏิสนธิและจุติจิตเคลื่อนออกไปในที่สุด

จิตนี้ท่านแสดงไว้ในตำราศัพท์ รวมเข้าก็มีความหมาย ๓ อย่าง คือ

หนึ่ง คิดหรือรู้
สอง สั่งสม และ
สาม วิจิตร คือแตกต่างกันหลายอย่างหลายประการ


๑๙ สิงหาคม ๒๕๒๖

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 25, 2011, 02:44:13 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร
« ตอบกลับ #16 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 25, 2011, 05:22:56 pm »



ครั้งที่ ๑๐ ลักษณะพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับกายและจิต (๒)

อธิบายลักษณะ ๓ ประการของจิต

ได้แสดงลักษณะพุทธศาสนามาถึง เรื่องจิต ซึ่งได้กล่าวไว้แล้ว ว่าพระอาจารย์ผู้อธิบายศัพท์ได้ให้คำอธิบายศัพท์ของจิตไว้ แปลเป็น ๓ อย่าง คือ คิดหรือรู้ เก็บ และวิจิตรคือหลายหลากหลายอย่างต่างๆ กัน ที่แปลว่าคิดหรือรู้นั้น ก็โดยอธิบายว่าจิตเป็นธรรมชาติที่คิดนึกอะไรได้ หรือว่ารู้อะไรได้ คำว่าคิดและคำว่ารู้ในที่นี้มีความหมายเป็นอย่างเดียวกัน เพราะจะคิดอะไรได้ก็ต้องรู้อะไรนั้น หรือว่าจะรู้อะไรได้ก็ต้องคิดอะไรนั้น และในความคิดนั้นก็มีความรู้อยู่ด้วย ในความรู้ก็มีความคิดอยู่ด้วย ฉะนั้นจิตจึงเป็นธรรมชาติที่คิดนึกอะไรได้หรือว่ารู้อะไรได้

ลักษณะ ที่ ๒ เก็บ ก็หมายความว่าเก็บสิ่งที่ประสบผ่านต่างๆ ไว้ได้ และเก็บกรรมที่ได้กระทำแล้วไว้ได้ ที่ปรากฏเป็นเก็บดีที่เรียกว่าบารมี เก็บชั่วที่เรียกว่าอาสวะ และที่ว่ามีลักษณะวิจิตรคือหลายหลากหรือว่าหลายอย่างต่างๆ กัน ก็คือจิตมีลักษณะต่างๆ ดังเช่นที่มีจำแนกไว้ในอภิธรรม เป็นกามาวจรจิต จิตที่ท่องเที่ยวไปในกาม รูปาวจรจิต จิตที่ท่องเที่ยวไปในรูปภพ อรูปาวจรจิต จิตที่ท่องเที่ยวไปในอรูป โลกุตรจิต จิตที่เป็นโลกุตระ ฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่วิจิตรคือหลายหลากหลายอย่างต่างๆ กัน ดังเช่นเราเรียกในภาษาไทยว่าวิจิตรพิสดาร หรือว่าวิจิตรงดงาม ดังคำว่าราชรถอันวิจิตร ราชรถที่งดงาม ที่ทำอย่างงดงามตกแต่งอย่างงดงาม จิตก็เป็นธรรมชาติที่งดงาม เพราะเหตุว่ามีลักษณะที่เหมือนดังตกแต่งเอาไว้อย่างราชรถนั้น นี้เป็นการให้คำอธิบายคำว่าจิต ดังที่พระอาจารย์ผู้อธิบายศัพท์ได้ให้เอาไว้

จิตตัวเดิมและจิตที่เป็นตัวอาการ

และ ก็พึงทราบไว้ ว่าคำว่าจิตท่านใช้เป็น ๒ อย่าง อย่างหนึ่งใช้หมายถึงธรรมชาติที่เป็นตัวเดิม กับอีกอย่างหนึ่งท่านใช้หมายถึงธรรมชาติที่เป็นตัวอาการ ที่ใช้หมายถึงธรรมชาติที่เป็นตัวเดิมนั้น ก็ใช้หมายถึงธรรมชาติที่เป็นธาตุรู้ อันเป็นธรรมชาติที่ประภัสสรคือผุดผ่อง ดังที่ได้มีพระพุทธภาษิตแสดงไว้ ว่าจิตนี้เป็นธรรมชาติประภัสสร คือผุดผ่อง แต่ต้องเศร้าหมองไปเพราะอุปกิเลสคือเครื่องเศร้าหมองที่จรเข้ามา แต่ว่าเมื่อปฏิบัติทำจิตตภาวนาคืออบรมจิต จิตก็จะบริสุทธิ์ คือหมดจดสะอาดผ่องใสได้ วิมุตติคือหลุดพ้นได้ และจิตที่เป็นตัวเดิมนี้ ที่มีพุทธภาษิตแสดงไว้เป็นอันมาก เช่นว่าให้ฝึกจิต ให้ข่มจิต จิตที่ฝึกแล้วนำสุขมาให้ และเมื่อบุคคลอบรมให้ได้ปัญญารู้แจ้งเห็นจริง จิตก็หน่าย จะสิ้นความติดใจยินดีและวิมุตติหลุดพ้นจากอาสวะ คือเครื่องดองจิตดองสันดานทั้งหลายได้ ดั่งนี้ เหล่านี้หมายถึงจิตที่เป็นตัวเดิม

ส่วนจิตที่เป็นตัวอาการนั้นหมาย ถึงตัวความคิดต่างๆ คิดดีก็มีคิดไม่ดีก็มี ตัวความคิดนี้เป็นจิตที่เป็นอาการ จิตที่เป็นอาการนี้เกิดดับอยู่ในอารมณ์ทุกขณะจิต ทุกขณะอารมณ์ ดังจะพึงเห็นได้ ว่าทุกคนย่อมมีความคิดไปในอารมณ์ คือเรื่องต่างๆ คิดถึงเรื่องนี้ ปล่อยเรื่องนี้ไปคิดเรื่องโน้น ปล่อยเรื่องโน้นไปคิดเรื่องนั้น เรื่องที่จิตจับคิดแล้วปล่อยไปครั้งหนึ่งก็เรียกว่าเกิดดับไปคราวหนึ่ง เพราะฉะนั้นจิตที่เป็นตัวความคิดนี้จึงเกิดดับอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นท่านจึงเปรียบจิตที่เป็นตัวอาการนี้ ว่าเหมือนอย่างวานรที่กระโดดไปมาอยู่บนต้นไม้ กระโดดจับกิ่งไม้นี้ ปล่อยกิ่งไม้นี้ กระโดดไปจับกิ่งไม้นั้น จากกิ่งไม้นั้นก็กระโดดไปจับกิ่งไม้อื่นต่อไปอีกอยู่ตลอดเวลา

อาการที่จับและปล่อยอารมณ์ต่างๆ ของจิตนี้คือจิตที่เป็นตัวอาการ คือความคิดเหมือนอย่างอาการของวานรที่กระโดดจับกิ่งไม้ กระโดดจับกิ่งโน้นกิ่งนี้กิ่งนั้นไปอยู่เสมอ อาการที่จับปล่อยๆ กระโดดไปดั่งนี้ของวานรคือความคิด แต่ก็น่าจะต้องคิดดูตรงนี้ด้วยว่า แม้วานรจักกระโดดจับปล่อยกิ่งไม้ไปอยู่เสมอดั่งนี้ก็ตาม แต่ว่าตัววานรนั้นคงเป็นวานรตัวเดียวกัน ตัววานรที่อยู่ที่กิ่งไม้นี้ ตัววานรที่อยู่ที่กิ่งไม้นั้น ตัววานรที่อยู่ที่กิ่งไม้โน้นซึ่งกระโดดไปนั้น ก็เป็นตัววานรตัวเดียวกัน จึงเทียบได้กับจิตที่เป็นตัวเดิม ก็เป็นจิตเดียวกัน แต่ว่าอาการคือความคิดนั้นเปลี่ยนไปต่างๆ และตัวความคิดนี้ก็คืออาการ จิตมี ๒ อย่างดั่งนี้



ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร
« ตอบกลับ #17 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 25, 2011, 05:24:54 pm »



ความอุปบัติและจุติของจิต
หากจะ มีปัญหาว่า จิตที่เป็นตัวอาการนั้นก็เป็นจิตที่เกิดดับอยู่เสมอดังกล่าว แต่ว่าจิตที่เป็นตัวเดิมนั้นเล่า เป็นสิ่งที่เกิดดับหรือไม่ ปัญหานี้ก็เป็นข้อที่น่าพิจารณา ถ้าจะพิจารณาจำเพาะชาตินี้ ไม่ตั้งปัญหาไปถึงชาติหน้าหรือว่าชาติอดีตก็ตอบได้ง่าย ว่าจิตที่เป็นตัวเดิมนั้นก็เป็นสิ่งที่ตั้งอยู่ดำรงอยู่ตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ว่าจิตที่เป็นตัวอาการนั้นก็เปลี่ยนแปลงไปตามอารมณ์ เกิดดับไปพร้อมกับอารมณ์อยู่ทุกขณะจิต อยู่ทุกขณะอารมณ์ดังกล่าวนั้น จิตที่เป็นตัวเดิมอันเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ตั้งแต่เกิดจนตายนั้นก็ดังที่ได้ กล่าวมาแล้ว ว่าเมื่อเกิดจิตมาปฏิสนธิที่เรียกว่าจิตปฏิสนธิ เมื่อตายจิตก็จุติคือเคลื่อนออกไป อันเรียกว่าเคลื่อนออกไปหรือว่าดับจึงต้องเข้าใจคำนี้

ว่า
คำว่าดับกับคำว่าจุตินั้นต่างกัน
คำว่าดับก็เหมือนกับไฟดับไป แต่คำว่าจุตินั้นแปลว่าเคลื่อน คือว่าไม่ดับ เคลื่อนออกไป ในข้อนี้ก็ตรงกับพระญาณของพระพุทธเจ้าที่ทรงได้ในปฐมยามแห่งราตรีที่ตรัสรู้ คือ บุพเพนิวาสานุสสติญาณ ความหยั่งรู้ระลึกได้ถึงนิวาสน์คือขันธ์เป็นที่อาศัยอยู่ในปางก่อน คำว่านิวาสน์นั้นเราแปลกันว่าบ้าน คือเป็นที่อาศัยอยู่ ในที่นี้ใช้หมายถึงขันธ์คือขันธ์ ๕ นี่แหละอันเป็นที่อาศัยอยู่ในปางก่อน เพราะว่าขันธ์ ๕ นี้เรียกว่านิวาสน์แปลว่าเป็นที่อาศัยอยู่ หากจะถามว่าเป็นที่อาศัยอยู่ของใคร เหมือนอย่างบ้านก็เป็นที่อาศัยอยู่ของบุคคล มีคนมาอาศัยอยู่ในบ้าน ปลูกบ้านอยู่ ทีนี้มาเรียกว่านิวาสน์อันหมายถึงขันธ์ ๕ นี้ ขันธ์ ๕ นี้เป็นที่อาศัยอยู่ของใคร

สำหรับในพระญาณที่ตรัสรู้พระญาณแรกนี้ ตรัสแสดงถึงพระองค์เองโดยใช้คำว่าฉันหรือข้าพเจ้าหรือว่าเรา ซึ่งได้อุปบัติคือเข้าถึงชาตินี้ แล้วก็จุติคือว่าเคลื่อนจากชาตินี้ไปสู่ชาติอื่นเคลื่อนจากชาติอื่นนั้นไป สู่ชาติอื่นต่อไปอีก เรื่อยมาดั่งนี้ ตั้งแต่ ๑ ชาติ ๒ ชาติ ๓ ชาติจนถึงนับชาติไม่ถ้วน และระลึกได้ว่าเราหรือข้าพเจ้าหรือว่าฉันได้มีชื่ออย่างนั้นอย่างนี้ในชาติ นั้นๆ มีความสุขทุกข์อย่างนี้ๆ ในชาตินั้นๆ ระลึกได้ถึงประวัติความเป็นไปของชีวิตในชาติหนึ่งๆ ด้วยตามพระญาณที่ตรัสแสดงไว้นี้ ก็แสดงว่าข้าพเจ้าหรือว่าฉันว่านั้น เป็นผู้ไม่ดับ และก็เป็นผู้ที่เข้าถึงชาตินี้เคลื่อนถึงชาตินี้ แล้วเข้าถึงชาตินั้นเคลื่อนถึงชาตินั้น และก็ต้องเข้าใจว่าคำว่าดับนั้นคู่กับคำว่าเกิด หรือคำว่าตายคู่กับคำว่าเกิด เกิดตายหรือว่าเกิดดับ เป็นศัพท์บัญญัติที่หมายถึงขันธ์อันเป็นที่อาศัยอยู่ อันเป็นตัวนิวาสน์หรือตัวบ้าน ขันธ์ที่อาศัยอยู่อันเป็นตัวนิวาสน์หรือเป็นตัวบ้านนี้

ในชาติหนึ่งๆ ก็สร้างขึ้นมาทีหนึ่ง
เช่นเมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์นี้ก็เริ่มสร้างตั้งแต่ในครรภ์ของมารดา เป็นกลละหนึ่ง แล้วก็แตกเป็นปัญจสาขา มีอายตนะบริบูรณ์ได้กำหนดก็คลอดออกมาแล้วก็เติบใหญ่ขึ้นมา จนในที่สุดขันธ์นี้ก็แตกสลาย คือตายหรือว่าดับ คำว่าเกิดตายหรือเกิดดับนี้เป็นชื่อของขันธ์ เรียกขันธ์หรือว่าบ้าน สร้างบ้านทีหนึ่งก็เกิด บ้านพังทีหนึ่งก็ดับหรือว่าตาย แล้วก็สร้างบ้านขึ้นใหม่ก็เป็นเกิด บ้านพังไปอีกทีหนึ่งก็เป็นดับหรือตาย เพราะฉะนั้นคำว่าเกิดตายก็ดีเกิดดับก็ดีเป็นชื่อหรือเป็นศัพท์บัญญัติ หมายถึงนิวาสน์เป็นที่อาศัยอยู่ แต่ว่าตัวผู้มาอาศัยเหมือนเช่นคนที่มาอยู่บ้าน ไม่ใช่ตัวบ้าน ซึ่งเรียกในพระญาณที่ ๑ ว่าข้าพเจ้าหรือว่าเราหรือว่าฉัน นี่ไม่เรียกว่าเกิดดับหรือว่าเกิดตาย แต่เรียกว่าอุปบัติ เรียกว่าจุติ อุปบัติแปลว่าเข้าถึง จุติแปลว่าเคลื่อน

คือเมื่อบ้านสร้างขึ้น ผู้ที่มาอาศัยบ้านก็เข้าถึงบ้านที่สร้างขึ้นนั้น คือเข้ามาอยู่บ้านนั้น ก็เป็นอุปบัติ แล้วก็เหมือนบ้านพัง ตัวผู้อาศัยบ้านนั้นก็เคลื่อนคือย้ายออกไป
เพราะว่าบ้านพังแล้วก็ต้องย้ายออกไป นี่แปลว่าจุติคือเคลื่อนซึ่งในพระญาณที่ ๑ นี้ได้เรียกผู้ที่เข้าอาศัยบ้าน อุปบัติเข้าอาศัย และจุติคือย้ายบ้าน เรียกว่าเราหรือข้าพเจ้าหรือว่าฉัน คือหมายถึงพระองค์เอง คือทรงระลึกถึงพระองค์เองว่าเราหรือฉันหรือข้าพเจ้าเข้าถึงชาตินี้ แล้วก็เคลื่อนจากชาตินี้ แล้วก็เข้าถึงชาตินั้น แล้วก็เคลื่อนจากชาตินั้นแล้วเข้าถึงชาติโน้น แล้วเคลื่อนจากชาติโน้น เห็นทยอยมาโดยลำดับดั่งนี้ ด้วยพระญาณที่ระลึกได้ ซึ่งเรียกกันง่ายๆ ว่าระลึกชาติหนหลังได้ แต่ว่าตามศัพท์แสงของท่านนั้น ระลึกถึงชาติคือระลึกถึงบ้านเก่าคือบ้านที่อาศัยอยู่ในปางก่อนมีความหมายดัง ที่กล่าวมานี้


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 05, 2012, 04:43:57 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร
« ตอบกลับ #18 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 25, 2011, 05:25:42 pm »



สัตวโลกหรือสัตตภาวะ
คราวนี้มาถึงในพระญาณที่ ๒ เรียกว่า จุตูปปาตญาณ ทรงหยั่งรู้ถึงความเข้าถึงและจุติคือความเคลื่อนไปของสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งในพระญาณที่ ๒ นี้ แสดงว่าได้ทรงระลึกได้ถึงสัตว์ทั้งหลาย ว่าสัตว์ที่ประกอบกรรมที่ชั่วไว้ คือประกอบกรรมที่เป็นทุจริตที่เป็นอกุศลที่เป็นบาปทางกายทางวาจาทางใจต่างๆ กายแตกสลายทำลายไปแล้วตายไปแล้วก็อุบัติ คือว่าเข้าถึงชาติที่ชั่ว ที่เป็นทุคติคือคติที่ชั่ว ที่เป็นอบายเป็นนรกเป็นเปรตเป็นอสุรกายต่างๆ แต่ว่าสัตว์ทั้งหลายที่ประกอบกรรมที่ดีไว้เป็นกุศลเป็นสุจริตทางกาย ทางวาจา ทางใจ กายแตกทำลายตายไปแล้วก็ถึงสุคติโลกสวรรค์ แต่ว่าก็ไม่ได้อยู่ยั่งยืนในสุคติในทุคตินั้น เมื่อสิ้นบาปสิ้นบุญที่ให้ไปเกิดในสุคติหรือในทุคตินั้นแล้ว ก็ต้องจุติ คือเคลื่อนจากชาติที่เป็นสุคติหรือทุคตินั้นไปตามกรรมที่กระทำไว้ต่อไปอีก

ดั่งนี้ ในพระญาณที่ ๒ นี้ ทรงแสดงถึงผู้ที่สร้างบ้านขึ้น เข้าถึงบ้าน และเมื่อบ้านพัง ก็เคลื่อนออกจากบ้าน ว่าเป็นสัตว์ ซึ่งคำว่าสัตว์นี้มิใช่หมายถึงสัตว์เดียรัจฉานดังที่เราเรียกเพียงอย่าง เดียว แต่หมายความคลุมหมดถึงสัตวโลก จะเป็นเทวดาเป็นมนุษย์หรือเป็นสัตว์เดียรัจฉาน เป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกายหรือเป็นอะไร เมื่อยังมีกิเลสเป็นเหตุให้ข้องติดอยู่ในโลก ก็เรียกว่าสัตว์ทั้งนั้น ดังที่เรียกสัตวโลก เมื่อยังมีกิเลสที่ข้องติดอยู่กับโลก จึงต้องเวียนเกิดเวียนตายอยู่ในโลกทั้งปวง ความท่องเที่ยววนเวียนเกิดตายอยู่นี้เรียกว่าสังสารวัฏ สังสาระก็แปลว่าท่องเที่ยวไป วัฏก็คือวัฏฏะ แปลว่าวนเวียน สังสารวัฏก็คือว่าท่องเที่ยววนเวียนหรือว่าวนเวียนท่องเที่ยว และคำว่าวนเวียนนี้ ท่องเที่ยวนี้ ก็พูดกันง่ายๆ ว่าวนเวียนท่องเที่ยวหรือท่องเที่ยวเวียนเกิดเวียนตาย เพราะว่ามาจับความเอาง่ายๆ ตอนที่ว่าต้องเวียนเกิดเวียนตายกันอยู่ สร้างบ้านขึ้นมาก็เกิด เข้าไปอาศัยอยู่ บ้านพังขึ้นมาก็ตาย ตัวบ้านพังก็ตาย ตัวผู้อาศัยก็จุติเคลื่อนออกไป และเมื่อเคลื่อนออกไป ก็เข้าถึงชาติใหม่ แปลว่าสร้างบ้านกันใหม่ เข้าอยู่ใหม่ บ้านพังก็คือตาย ผู้อาศัยก็เคลื่อนออกไป ก็วนเวียนอยู่เท่านี้

จะเป็นเทวดา เป็นมนุษย์ เป็นสัตว์เดียรัจฉาน เป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย ก็ต้องขึ้นต้นด้วยเกิดแล้วลงท้ายด้วยดับหรือตาย หรือว่าขึ้นต้นด้วยเข้าถึงคืออุปบัติลงท้ายด้วยจุติคือเคลื่อนออกไปไม่จบ สิ้น จึงเรียกว่าสังสารวัฏ ท่องเที่ยววนเวียนหรือวนเวียนท่องเที่ยวไป ในพระญาณที่ ๒ นี้เรียกว่าสัตว์ เพราะฉะนั้นตามที่เล่ามานี้ ที่แรกนั้นก็คือจิต จิตที่เป็นตัวเดิม แล้วมาถึงว่าเราหรือข้าพเจ้าหรือฉัน และในพระญาณที่ ๒ ที่อ้างมานี้ก็สัตว์ซึ่งแสดงว่ามีอยู่สิ่งหนึ่งที่เป็นตัวเดิมและดำรงอยู่ใน ปัจจุบันนี้ ทุกคนก็มีจิตที่เป็นตัวเดิม แล้วก็มีตัวเราหรือตัวฉันตัวข้าพเจ้าอยู่ด้วยกันทุกคน และก็มีภาวะที่เป็นสัตว์ คือเป็นผู้ข้องติดอยู่ในโลกเป็นสัตวโลก เรียกว่ามีภาวะที่เป็นจิตตัวเดิม มีภาวะที่เป็นเรา เป็นข้าพเจ้าเป็นฉัน แล้วก็มีภาวะที่เป็นสัตวโลกหรือสัตตภาวะอยู่ทุกคนในบัดนี้


๒๑ สิงหาคม ๒๕๒๖

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 05, 2012, 04:46:37 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร
« ตอบกลับ #19 เมื่อ: มีนาคม 13, 2011, 07:35:19 am »




ครั้งที่ ๑๑ ลักษณะพุทธศาสนา - สังสารวัฏ

ลักษณะพุทธศาสนา
ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร

ในการอบรมนวกภิกษุพรรษา ๒๕๒๖
ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร

วิญญาณธาตุ - จิตที่เป็นตัวเดิม

ได้ กล่าวถึงบุรุษสตรีบุคคลว่ามีกายและจิตประกอบกันอยู่ และจิตนั้นในธาตุวิภังคสูตร เรียกว่าวิญญาณธาตุ แปลว่าธาตุรู้ หมายถึงจิตที่เป็นตัวเดิม และจิตที่เป็นตัวเดิมนี้ในพระญาณที่ ๑ ของพระพุทธเจ้าเมื่อก่อนที่จะตรัสรู้ในราตรีที่จะตรัสรู้นั้น ที่ทรงได้ในปฐมยาม ที่ทรงระลึกถึงขันธ์เป็นที่อาศัยอยู่ในปางก่อนได้ คำว่าขันธ์เป็นที่อาศัยอยู่ในปางก่อนนั้นเรียกว่านิวาสน์ ที่มาใช้กันว่าบ้านที่อยู่อาศัย ตรัสเล่าถึงพระองค์เอง ก็ทรงใช้คำว่าฉันข้าพเจ้าหรือเรา และในพระญาณที่ ๒ ทรงใช้ว่าสัตว์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้นส่วนที่หมายถึงในบุคคลทุกๆ คน อันเป็นส่วนที่แม้เมื่อขันธ์เป็นที่อาศัยอยู่แตกสลาย ก็ไม่แตกสลายไป เป็นแต่ว่าเคลื่อนคือเคลื่อนออกจากขันธ์เป็นที่อาศัยอยู่ที่แตกสลายนั้น ไปเข้าถึงขันธ์เป็นที่อาศัยอยู่ใหม่ คือว่าเคลื่อนออกจากบ้านเก่าไปเข้าอาศัยอยู่ในบ้านใหม่ ในพระญาณที่ ๑ ตรัสเล่าถึงพระองค์เองก็เรียกว่าเราหรือฉันหรือข้าพเจ้า ในพระญาณที่ ๒ ก็ตรัสเรียกว่าสัตว์ทั้งหลาย

และในส่วนที่แบ่งออกเป็นกายและจิต ก็เรียกว่าวิญญาณธาตุ ธาตุรู้ หรือเรียกว่าจิต แม้ในธาตุวิภังคสูตรนั้นเองที่ตรัสแสดงถึงธาตุ ๖ ก็ตรัสสอนให้พิจารณาธาตุ ๕ ข้างต้น คือปฐวีธาตุ ธาตุดิน อาโปธาตุ ธาตุน้ำ เตโชธาตุ ธาตุไฟ วาโยธาตุ ธาตุลม อากาศธาตุ ธาตุอากาศคือช่องว่าง บรรดาที่มีอยู่ในกายนี้ ว่าเป็นสิ่งที่ไม่พึงยึดถือ ว่านี่เป็นของเรา เราเป็นนี่ นี่เป็นอัตตาตัวตนของเราเพราะเป็นสิ่งที่เกิดดับ จึงแสดงวิญญาณธาตุคือธาตุรู้ต่อไปว่า ธาตุรู้ย่อมผ่องใสควรแก่การงาน ในเมื่อได้พิจารณาเห็นธาตุ ๕ ข้างต้นตามที่เป็นจริงดั่งนั้น ฉะนั้นวิญญาณธาตุที่เป็นธาตุรู้นี้จึงหมายถึงจิตที่เป็นตัวเดิม ดังที่ตรัสสอนชี้ให้รู้ลักษณะของจิตว่า ไม่มีสรีรสัณฐาน มีคูหาเป็นที่อาศัย เที่ยวไปไกล และตรัสสอนให้ฝึกจิตให้ข่มจิตให้รักษาจิตให้อบรมจิต

จิต - อัตตภาวะหรือสัตตภาวะ

ฉะนั้น จึงสรุปว่าสิ่งที่มีอยู่อาศัยอยู่ในกายอันนี้ ซึ่งแม้กายอันนี้จะแตกสลายก็เคลื่อนออกไป ไม่แตกสลายไปตามกาย เข้าถึงกายใหม่ซึ่งเป็นบ้านใหม่ต่อไป ก็เรียกว่าจิตบ้าง วิญญาณธาตุ ธาตุรู้ หรือวิญญาณบ้าง ถ้ามุ่งขึ้นมาถึงตัวเราเอง ก็เรียกว่าเราหรือฉันหรือข้าพเจ้า โดยนัยนี้เมื่อมุ่งถึงผู้อื่นเมื่อจะพูดถึง ก็เรียกท่านหรือเธอเป็นต้น และเมื่อเรียกรวมๆ ก็เรียกว่าสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งคำว่าสัตว์นี้ก็ได้กล่าวแล้วว่า ไม่ได้หมายจำเพาะถึงสัตว์เดรัจฉาน แต่หมายถึงทุกถ้วนหน้า จะเป็นมนุษย์สัตว์เดียรัจฉานเปรตอสุรกาย หรือเป็นเทวดามารพรหมก็เรียกว่าสัตว์ทั้งหมด ในเมื่อยังมีกิเลสเป็นเครื่องข้องอยู่ก็เรียกว่าสัตว์ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นจึงสรุปว่าตามคติที่แสดงไว้ในพุทธศาสนานั้น บุคคลทุกๆ คนไม่ว่าชายไม่ว่าหญิงจึงมีกายและจิตอาศัยกันอยู่ หรือเมื่อแบ่งเป็นธาตุทั้ง ๖ ก็มีธาตุที่เป็นส่วนกาย คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ และวิญญาณธาตุหรือธาตุรู้ที่เป็นส่วนจิต และส่วนจิตนี้ก็เรียกว่าเราเขาหรือเรียกว่าสัตว์ จึงมีวิญญาณธาตุหรือจิต มีอัตตภาวะ คือภาวะที่เรียกว่าเราหรืออัตตาตัวตน หรือเรียกว่าสัตตภาวะ ความเป็นสัตว์ อยู่ด้วยกัน ซึ่งสภาพที่เป็นจิตเป็นวิญญาณธาตุ เป็นอัตตาหรืออัตตภาวะ ความเป็นเรา

ดังที่เรียกเป็นกิเลสว่าอหังการ มมังการ กิเลสที่เป็นเครื่องกระทำให้เป็นเราเป็นของเรา ในที่นี้ไม่ใช้คำนั้น แต่ใช้คำว่าอหภาวะ ภาวะที่เป็นของเราหรือว่าเขาก็ได้ที่คู่กัน และสัตตภาวะ แต่ว่าภาวะเหล่านี้ไม่มีรูปสัณฐาน แต่ก็อาศัยอยู่ในกายอันนี้ เมื่อก่อเกิดกายอันนี้ขึ้นมาก็เกิดปฏิสนธิหรืออุปบัติคือเข้ามาอาศัย และเมื่อกายอันนี้แตกสลายก็จุติคือว่าเคลื่อนออกไป แล้วก็เข้าถึงกายใหม่หรืออุปบัติ แต่ว่าภาวะที่เข้ามาและภาวะที่เคลื่อนออกไป หรือว่าสภาพที่เข้ามาสภาพที่เคลื่อนออกไปอันเรียกว่าจิตหรือวิญญาณธาตุ หรืออหภาวะหรือว่าสัตตภาวะดังกล่าวนั้น เมื่อไม่มีสรีรสัณฐานก็เป็นสิ่งที่มองไม่เห็น เป็นสิ่งที่พิสูจน์ทางวัตถุคือจะชั่งตวงวัดหรือจะพิสูจน์เหมือนอย่างพิสูจน์ วัตถุทั้งหลายไม่ได้ เพราะไม่มีสรีระ เมื่อเป็นดั่งนี้ ผู้ต้องการที่จะพิสูจน์เหมือนอย่างผู้ที่มีสรีระ จึงกล่าวปฏิเสธว่าไม่มี เพราะเมื่อคนเกิดก็ไม่ปรากฏเป็นสรีระเป็นวัตถุว่า มีสิ่งที่เรียกว่าจิตหรือวิญญาณ หรือภาวะเป็นเราภาวะเป็นสัตว์ ดังกล่าวนั้นเข้ามา และเมื่อตายก็ไม่ปรากฏเป็นวัตถุว่า มีอะไรเคลื่อนออกไป แต่ว่าแม้จะพิสูจน์ทางวัตถุไม่ได้ดั่งนั้น ก็ควรจะพิจารณาว่าสิ่งที่เรียกว่าจิตหรือวิญญาณหรือภาวะเป็นเราหรือภาวะเป็น สัตว์ดังกล่าวนั้น คือในเดี๋ยวนี้สภาพที่เป็นวัตถุไม่มีสรีระสัณฐานนั้น มีอยู่ในบุคคลหรือไม่ในบัดนี้ อย่างตัวเราเองในบัดนี้มีอยู่หรือไม่