อาจารย์เซนขี้เกียจสอนหมอหนุ่มคนหนึ่งในโตเกียวชื่อคาสุดะ พบเพื่อสมัยเรียนที่กำลังเรียนเซน หมอหนุ่มถามเขาว่าเซนคืออะไร
“ฉันไม่รู้จะอธิบายอย่างไร” เพื่อนตอบ “แต่ถ้าคุณเข้าใจเซน คุณจะไม่กลัวความตายอีกต่อไป”
“งั้นรึ?” คาสุดะพูดต่อ “ฉันจะลองดู จะหาอาจารย์ได้ที่ไหนล่ะ”
“ลองไปหาอาจารย์นานอินดูสิ” เพื่อนตอบ
ดังนั้น คาสุดะจึงมุ่งหน้าไปพบนานอินโดยพกดาบยาว ๙ นิ้วครึ่งไปด้วย หมายจะทดสอบว่าอาจารย์ไม่กลัวตายจริงหรือไม่
เมื่ออาจารย์เซนนานอินพบคาสุดะก็เอ่ยว่า “สวัสดีเพื่อน เป็นไงบ้าง เราไม่ได้เจอกันนานแล้วนะ”
คำพูดนี้ทำให้คาสุดะชะงัก ก่อนจะตอบกลับไปว่า “เราไม่เคยพบกันมาก่อน”
“ถูกแล้ว” อาจารย์เซนตอบ “ฉันจำคนผิด นึกว่าเป็นหมอคนหนึ่งที่กำลังมาเรียนที่นี่”
เมื่อเหตุการณ์ไม่เป็นไปอย่างที่คาด คาสุดะเสียโอกาสที่จะทดสอบอาจารย์ เขาฝืนถามไปว่าจะสามารถเรียนเซนที่นี่ได้หรือไม่
อาจารย์นานอินตอบว่า “เซ็นไม่ใช่ของยาก ถ้าคุณเป็นหมอ ก็รักษาคนไข้ด้วยใจเมตตา นั่นแหละคือเซน”
คาสุดะเข้าพบอจารย์ ๓ ครั้ง ๓ ครา แต่ละครั้งอาจารย์ก็พูดอย่างเดิม “หมอไม่ควรจะมาเสียเวลาแถวนี้ กลับไปรักษาคนไข้ได้แล้ว”
คาสุดะยังคงคาใจ ว่าการสอนของอาจารย์เกี่ยวข้องกับการไม่กลัวความตายอย่างไร ดังนั้นเมื่อเขาเข้าพบอาจารย์ในครั้งที่ ๔ จึงถามไปตรงๆว่า
“เพื่อนของผมบอกว่า ใครก็ตามเมื่อเรียนเซนแล้วจะไม่กลัวความตาย แต่ว่าทุกครั้งที่ผมมาหาท่าน ท่านกลับบอกให้ไปรักษาคนไข้ เรื่องนั้นน่ะผมรู้ดีอยู่แล้ว ถ้านั่นเป็นสิ่งที่ท่านเรียกว่าเซน ต่อไปผมจะไม่มาหาท่านแล้วนะ!!”
อาจารย์นานอิน ตบหน้าหมอหนุ่ม แล้วก็พูดว่า “ข้าเสียเวลากับเจ้ามากไปแล้ว เอาปริศนาธรรมไปแก้ซะ” จากนั้นอาจารย์ก็ให้คำถาม “ความว่างของโจสุ” ซึ่งเป็นปริศนาธรรมข้อแรกในหนังสือ “ประตูที่ไร้ประตู”
หมอหนุ่มพยายามไขปริศนาธรรมข้อนี้ถึง ๒ ปี ในระหว่างนั้นจิตใจเขาสงบขึ้นมาก แต่อาจารย์ยังบอกว่า “ยังใช้ไม่ได้”
เขาพยายามแก้ปัญหาต่ออีกปีครึ่ง จิตใจของเขาสงบนิ่ง ปริศนาธรรมถูกไขออก ความว่างกลายเป็นความจริง เขาเป็นอิสระทางความคิดจากความเป็นและความตายโดยไม่รู้ตัว
เมื่อเขากลับไปเยี่ยมนานอินอีกครั้ง อาจารย์เฒ่าก็ยิ้ม ทั้งสองต่างเข้าใจกันโดยไร้คำพูด
......................................................
ความว่างของโจสุ
ครั้งหนึ่ง ลูกศิษย์ถามอาจารย์เซนโจสุว่า “หมามีธรรมชาติแห่งพุทธะหรือไม่?” โจสุตอบว่า “มิว” (ว่าง)
17 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 16:14 น.
ประตูที่ไร้ประตูอู๋เหมินฮุ่ยคาย (มูมอนเอไก หรือมูมอนในภาษาญี่ปุ่น) เป็นนามของอาจารย์เซนชาวจีนสมัยราชวงศ์ซ่ง ช่วง ค.ศ. 1183-1260 เกิดที่เมืองหางโจว ศึกษากับอาจารย์หลายท่าน อาจารย์ท่านหนึ่งนาม เยียะหลินซือก่วน (ชื่อแปลตรงตัวว่า อาจารย์จันทร์ไพร) ให้อู๋เหมินศึกษาโกอานเรื่อง หมาของเส้าโจว (เส้าโจวเป็นชื่ออาจารย์เซน ค.ศ. 778-897 ญี่ปุ่นเรียก โจสุ) หมาของเส้าโจว เป็นโกอานสั้นๆ เนื้อความว่า:
พระรูปหนึ่งถามอาจารย์เส้าโจว “หมามีธรรมชาติแห่งพุทธะหรือไม่?”
อาจารย์เส้าโจวตอบว่า “อู๋” (ไม่มี)
หากโกอานอ่านได้ง่ายๆ อย่างนี้ ก็ย่อมไม่ใช่โกอาน!
อู๋เหมินขบคิดเรื่องนี้เนิ่น ผ่านไปเพียงหกปี เสียงนาฬิกาปลุกก็ดัง ท่านเข้าใจทะลุ และเขียนกวีบทนี้
“ฟ้าผ่าฟาดใต้ฟ้าสีน้ำเงินสดใส
สรรพชีวิตบนโลกเบิกตากว้าง
ทุกสิ่งใต้สวรรค์รวมเข้ากัน
เขาพระสุเมรุลุกขึ้นและเต้นรำ”
อู๋เหมินเดินทางจากวัดหนึ่งไปอีกวัดหนึ่ง สวมจีวรขาดเก่าคร่ำคร่า ไว้หนวดเครายาว และทำงานเยี่ยงชาวบ้าน ขณะเดียวกันก็รวบรวมและวิจารณ์โกอาน 48 บท เป็นหนังสือชื่อ อู๋เหมินกวน แปลว่า ประตูที่ไร้ประตู (อู๋เหมิน แปลว่า ไร้ประตู กวน แปลว่า ปิด ภาษาญี่ปุ่นเรียก มูมอนกาน ภาษาอังกฤษว่า The Gateless Gate)
อู๋เหมินกวนตั้งคำถาม-สำรวจสภาวะและกระบวนการทางความคิดและจิตของตนเอง ในเรื่องของสองขั้วสุดโต่ง เฉกเช่นประตูที่กีดขวางการรู้แจ้ง ศิษย์เซนจะต้องก้าวข้าม ‘ประตู’ นี้ไปโดยการเฝ้าสังเกตของอาจารย์
อู๋เหมินกล่าวว่า การเข้าใจเซนก็คือการปลุกความสงสัยในร่างทั้งวันทั้งคืน ไม่หยุดหย่อน และปิดล้อมทางหนีทุกทางของศิษย์เซนด้วย ‘ประตูที่ไร้ประตู’
ย้อนกลับมาที่โกอานเรื่อง หมาของเส้าโจว
“หมามีธรรมชาติแห่งพุทธะหรือไม่?”
อู๋เหมินเขียนบทขยายโกอานบทนี้ว่า:
การรู้แจ้งเซนนั้นจำต้องก้าวพ้นกำแพงแห่งพระสังฆปรินายก การรู้แจ้งมักเกิดหลังจากที่ทางคิดทุกสายถูกขวางกั้น ถ้าเจ้าไม่สามารถก้าวพ้นกำแพงแห่งพระสังฆปรินายก หรือหนทางคิดทุกสายของท่านไม่ถูกขวางกั้นทุกสิ่งที่เจ้าคิดและทำเป็นเช่น ปีศาจที่ลอยล่อง เจ้าอาจอยากถาม แล้วอะไรเล่าคือกำแพงแห่งพระสังฆปรินายก คำว่า ‘อู๋’ (ไม่มี) นี้ก็คือคำตอบ
นี่คือสิ่งกีดขวางของเซน ถ้าเจ้าข้ามไปได้ เจ้าจะได้พบท่านเส้าโจวต่อหน้าต่อตา เจ้าจะเดินเคียงคู่กับพระสังฆปรินายกทั้งหลาย นี่มิใช่สิ่งที่ควรกระทำหรือ?
ถ้าเจ้าต้องการข้ามพ้นสิ่งกีดขวางนี้ เจ้าต้องทำงานอย่างหนักหน่วง ทั้งวันและคืนกระดูกทุกท่อน ผิวหนังทุกรูขุมขนของเจ้าต้องบรรจุด้วยคำถามว่า “อะไรคือ อู๋” จงอย่าเชื่อว่ามันคือสัญลักษณ์ของด้านลบและไร้ความหมาย มันไม่ใช่ความไม่มีที่เป็นสิ่งตรงข้ามกับความมี ถ้าเจ้าต้องการข้ามพ้นสิ่งกีดขวางนี้จริงๆ เจ้าต้องรู้สึกเช่นดื่มลูกเหล็กร้อน มิอาจกลืนเข้าและคายออก แลความไม่รู้ที่ติดตัวมากับเจ้าจะหายไปเช่นผลไม้ที่สุกในฤดูกาลของมัน อัตวิสัยและภววิสัยจะรวมเป็นหนึ่งเดียวโดยธรรมชาติ นี่ก็เป็นเช่นคนโง่เขลาที่ฝัน รู้แต่มิอาจเล่าความฝันนั้น
เมื่อเขาย่างเข้าสู่สถานะนี้ เปลือกแห่งอัตตาของเขาจะถูกกระเทาะออก เขาจะสามารถเขย่าสวรรค์และเคลื่อนย้ายโลก เป็นเช่นนักรบยิ่งใหญ่ที่มีดาบคมกริบ หากองค์พุทธะขวางทางเขา เขาจะ ‘โค่น’ พุทธะลง หากพระสังฆปรินายกเป็นอุปสรรคขวางทาง เขาก็จะ ‘ฆ่า’ พระเสีย เขาจะเป็นอิสระจากการเกิดและการตาย เขาสามารถโลดแล่นไปโลกใดก็ได้เหมือนว่ามันเป็นสนามเด็กเล่นของเขา ข้าฯจะบอกเจ้าว่าจะทำอย่างไรด้วยโกอานบทนี้
จงรวมพลังงานทั้งมวลเข้ากับคำว่า ‘อู๋’ อย่าให้สะดุด เมื่อเจ้าเข้าสู่อู๋และไม่สะดุด การรู้แจ้งของเจ้าจะเหมือนเทียนไขที่จุดขึ้นส่องสว่างทั้งจักรวาล
“หมามีธรรมชาติแห่งพุทธะหรือไม่
นี่เป็นคำถามที่สำคัญที่สุด
ถ้าเจ้าตอบว่าใช่หรือไม่ใช่
เจ้าก็สูญเสียธรรมชาติแห่งพุทธะของตัวเจ้าเอง”
– วินทร์ เลียววาริณ,
11 กรกฎาคม 2551
___________________
ที่มา :http://www.prachathon.org/forum/index.php?topic=1868.0
>>> พระพุทธศาสนา นิกายเซ็น - Zen
17 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 21:14 น.