1.เวลาเรานั่ง ถ้าเรายังสังเกตลมไม่ได้ก็ให้ตั้งใจว่า “เราจะหายใจเข้า เราจะหายใจออก” (คือ เราจะเป็นผู้หายใจ ไม่ใช่ปล่อยให้มันหายใจเองโดยธรรมชาติ)
ตั้งสติทำดังนี้ทุกครั้งที่หายใจ แล้วเราก็จะจับลมได้
2.การกั้นจิตให้รู้อยู่ในตัว ไม่ใช่หมายความว่า ให้กั้นโดยกักขัง ได้แก่ การสะกดจิต สะกดลม กลั้นลม จนเกิดความอึดอัดขาดความอิสระ อย่ากลั้นลม หรือสกัดลมไว้ ต้องปล่อยให้จิตอยู่เฉยๆ ให้มีอิสระตามสภาพของมัน เพียงแต่คอยกันจิตไว้ให้อยู่คนละทางกับอารมณ์เท่านั้น ถ้าไปสะกดจิตสะกดลมเข้าแล้วก็จะทำให้ร่างกายอึดอัดทำการงานไม่สะดวก อาจทำให้ปวดให้เมื่อยบ้าง ทำให้ขัดยอกบ้าง หรือทำให้มึนชาเป็นเหน็บก็ได้ ฉะนั้นจึงต้องปล่อยให้จิตอยู่โดยธรรมดาของมันเอง คอยระวังแต่ไม่ให้วอกแวกหรือยื่นออกไปในสัญญาอารมณ์ภายนอกอย่างเดียวเท่านั้น
3.การกั้นจิตไม่ให้ยื่นออกไปหาสัญญา หรือกั้นสัญญาไม่ให้ยื่นเข้ามาถึงจิตนี้ก็เหมือนกับเราปิดประตูหน้าต่างบ้านของเรา ไม่ให้แมว สุนัขหรือผู้ร้ายเข้ามาในบ้าน ได้แก่ การปิดทวารทั้ง 6 เสีย คือ 1.จักขุทวาร รูปต่างๆ ที่รับจากทางตา 2.โสตทวาร เสียงทั้งหลายที่ได้ยินจากทางหู 3.ฆานทวาร กลิ่นทั้งหมดที่ได้รับจากทางจมูก 4.ชิวหาทวาร รสทุกชนิดที่ได้รับจากทางลิ้น 5.มโนทวาร อารมณ์ต่างๆ ที่กระทบทางใจ 6.กายทวาร สิ่งสัมผัสต่างๆ ที่กระทบทางกาย
สัญญาที่เกิดจากทวารทั้ง 6 นี้ ทั้งดีและไม่ดี ทั้งเก่าและใหม่ ต้องตัดทิ้งให้หมด
4.“สัญญา” คือ ทูต หรือ สื่อ แห่งความชั่วร้าย เพราะเป็นผู้นำมาแห่งความทุกข์เดือดร้อน ถ้าเราคบมันไว้ก็เท่ากับเราเป็นใจให้ผู้ร้ายมาปล้นบ้านของเราเอง ทรัพย์สมบัติของเรา ก็มีแต่จะพินาศหมดไปไม่มีอะไรเหลือติดตัว
5.นิวรณ์ต่างๆ เกิดจากสัญญา อดีตบ้าง อนาคตบ้าง ถ้าจะเปรียบก็จะเหมือนกับต้นหญ้าต่างๆ ที่ขึ้นอยู่ในนาหรือที่ดินของเรา มีแต่จะแย่งอาหารต้นไม้อื่นและทำให้พื้นดินรก หาประโยชน์อันใดมิได้ จะมีประโยชน์ก็แต่สัตว์ เช่น วัว ควาย ช้าง ม้า เคี้ยวกินเป็นอาหารนั้น เพราะเป็นธรรมชาติของมันจะต้องกิน ถ้าใครปล่อยให้ที่ดินของตนรกไปด้วยหญ้าแล้ว พืชผลที่เกิดจากที่ดินนั้นก็ย่อมงอกงามเจริญขึ้นมาไม่ได้ ฉันใดก็ดี ถ้าเราไม่มีสัญญาอารมณ์ออกจากใจแล้ว เราก็จะไม่สามารถทำดวงจิตของเราให้ผ่องใสบริสุทธิ์ได้
สัญญาเป็นอาหารของคนโง่ ที่เห็นว่าเป็นของเอร็ดอร่อย แต่นักปราชญ์บัณฑิตท่านจะไม่ยอมบริโภคเลย
6.นิวรณ์ 5 ที่เปรียบเหมือนกับต้นหญ้านั้นย่อมมีลักษณะอาหารต่างๆ กัน
กามฉันทะ ก็ได้แก่ใจที่กำหนัดยินดีและเพลิดเพลินไปในอารมณ์
พยาปาทะ ใจที่ไม่ชอบ มีโกรธ มีเกลียด มีชัง เป็นต้น
ถีนมิทธะ ใจที่เหงาหงอย ง่วงซึม หดหู่ ไม่เบิกบาน อุทธัจจกุกกุจจะ ใจที่หงุดหงิด ฟุ้งซ่าน รำคาญ วิจิกิจฉา ใจที่ลังเลสงสัยในศีลธรรมในข้อปฏิบัติของตน
ทั้งหมดนี้ “อุทธัจจกุกกุจจะ” ดูเหมือนจะเป็นหญ้าที่มีพิษร้ายแรงกว่าอย่างอื่นทั้งหมด เพราะมีทั้งหงุดหงิดฟุ้งซ่าน และรำคาญใจ เป็นหญ้าประเภทมีหนามและใบของมันก็คมด้วย ถ้าใครถูกเข้าก็ต้องมีพิษแปลบปลาบและแสบร้อนไปทั้งตัว
ฉะนั้น จงพากันทำลายมันเสีย อย่าให้มันมีขึ้นได้ในพื้นที่นาของเราเลย
7.อานาปานสติภาวนา เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้ให้เป็นหลักปฏิบัติ สำหรับขับไล่และปราบนิวรณ์ต่างๆ เหล่านี้ให้หมดสิ้นไป คือ การภาวนาที่ใช้สติกำหนดอยู่กับลมหายใจ
วิตก ได้แก่ การกำหนดลม
วิจาร ได้แก่ การขยายลม
วิตกวิจาร เป็น กาเย กายานุปัสสนาสติปัฏฐานด้วย คือ พิจารณาลมในกองธาตุ หรือพิจารณากายในกาย
วิตกเปรียบกับไถ วิจารเปรียบกับคราด ถ้าเราเพียงใช้ไถกับคราดบนที่นาของเราเสมอๆ แล้ว หญ้าทั้งหลายก็จะไม่เกิดขึ้นได้ พืชพันธุ์ที่หว่านไว้ก็จะเกิดผลงอกงามไพบูลย์ พื้นที่นาซึ่งเปรียบเหมือนกับร่างกายของเรา คือ ธาตุ 4 ก็สงบ ธาตุดินก็ไม่กำเริบ ธาตุน้ำก็ไม่เสีย ธาตุไฟก็ไม่อ่อน ธาตุลมก็ไม่กล้า ทุกๆ ธาตุก็ตั้งอยู่ปรกติ ไม่มีความยิ่งหย่อน มีความเสมอภาคกัน หมดทุกๆ ส่วน ร่างกายก็จะแข็งแรงสมบูรณ์ ไม่มีอาการเจ็บไข้ อากาศก็โล่ง ใจก็โปร่ง ปราศจากนิวรณ์
8.เมื่อเราปราบพื้นที่ของเราราบเรียบแล้ว ต่อไปนี้พืชมหากุศล คือ พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณก็จะผุดขึ้นในดวงจิตดวงใจของเรา ยกจิตขึ้นสู่ลมหายใจ ก็จะเกิดความปีติ ความอิ่มใจ อิทธิบาท 4 คือ ฉันทะ ความรักความพอใจชอบใจในข้อปฏิบัติของตน วิริยะ ความพากเพียรบากบั่นไม่ทอดทิ้งในข้อปฏิบัติของตน วิมังสา ความพิจารณาใคร่ครวญในข้อปฏิบัติของตนก็ย่อมเจริญขึ้นเป็นลำดับ
อิทธิบาทนี้เปรียบเหมือนกับขาตู้หรือขาโต๊ะ 4 ขาที่ยันไว้ให้วัตถุนั้นตั้งตรงไม่คลอนแคลน เป็นอำนาจอันหนึ่งที่จะพยุงตัวเราให้แข็งแรงและก้าวไปสู่ที่สูงได้
จะเปรียบอีกอย่างหนึ่งก็เหมือนกับเครื่องยา 4 สิ่งที่ประกอบกันขึ้นแล้วก็กลายเป็นยาอายุวัฒนะอย่างวิเศษขนานหนึ่ง ซึ่งใครกินแล้วไม่ตาย มีอายุยืน ถ้าใครอยากตายก็ไม่ต้องกิน ถ้าใครไม่อยากตายก็กินให้มากๆ ยิ่งกินได้มาก โรคที่เกาะกินใจของเราก็จะหายเร็ว คือ กิเลสมันตาย ฉะนั้น ถ้าใครรู้ตัวว่าเป็นโรคมากก็ควรกินยาขนาดนี้เสีย
9.การตัดสัญญาต่างๆ ไม่ได้หมายความว่าให้เราตัดความคิด เราไม่ได้ตัดความคิดนึกให้หายไป เป็นแต่น้อมความนึกคิดมาใช้ในทางที่เป็นประโยชน์ เช่น มานึกตรวจตรองในข้อกัมมัฏฐานบทใดบทหนึ่ง ถ้าเราให้จิตของเราทำงานอย่างนี้ เราก็จะไม่มีทุกข์และไม่เกิดโทษขึ้นแก่ใจและตัวเราเอง
10.ปกติ จิตของเราก็ทำงานอยู่เสมอ แต่งานนั้นไม่เป็นเรื่องเป็นราว เป็นเรื่องวุ่นวาย ยุ่งๆ เหลวไหล ไม่มีสารประโยชน์ เราจึงต้องหางานที่มีสารประโยชน์มาให้จิตทำ คือ หาเรื่องดีๆ ไม่มีโทษ เรื่องที่เราทำนี้คือ อานาปานสติ ได้แก่ การตั้งใจกำหนดจริงของเราเอง หรือกำหนดลมหายใจของเราเอง เราจะงดเว้นงานอื่นทั้งหมด ตั้งหน้าทำงานนี้อย่างเดียว นี่เป็นจุดมุ่งหมายของการทำสมาธิ ...
(เทศน์อบรมสมาธิ วันที่ 30 ก.ค. 2499)
.
.
http://www.posttoday.com/%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%B0-%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B9%83%E0%B8%88/%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B9%83%E0%B8%9A%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%9C%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0/91598/%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B8%B5-%E0%B8%98%E0%B8%B1%E0%B8%A1%E0%B8%A1%E0%B8%98%E0%B9%82%E0%B8%A3.