-๕-
ไกวัลยธรรม
ในฐานะจตุราริยสัจจ์ การที่พวกเราเข้าถึงธรรมะกันไม่ได้ ก็เพราะ ไม่รู้จักมอง ให้ลึกซึ้ง ให้เห็นถึง สิ่งที่มีอยู่จริง ชนิดที่เรียกว่าเป็น "ไกวัลย์" คือ มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง มีอยู่ตลอดเวลา ทรงตัวอยู่ ในลักษณะที่เป็น
อสังขตธรรม ไม่เกี่ยวด้วยเวลา เป็นสิ่งที่มีอยู่ก่อน สิ่งทั้งปวงไกวัลยธรรม มีลักษณะเป็นพระเจ้า อันได้แก่ กฏแห่งสามัญญลักษณะ กฏแห่งอิทัปปัจจยตา กฏแห่งจตุราริยสัจจ์ ดังกล่าวแล้ว อันหมายถึง พระเจ้า ๓ องค์ ได้แก่ พระเจ้าผู้สร้าง พระเจ้าผู้ควบคุม และพระเจ้าผู้ทำลาย คือ ทำลายความทุกข์ ให้ดับไป.
ตอนนี้ จะกล่าวถึง พระเจ้าผู้ทำลาย ได้แก่
กฏแห่งจุตราริยสัจจ์
ความหมายของไกวัลยธรรม ในฐานะจุตราริยสัจจ์
คำว่า "ไกวัลยธรรม" หมายถึง ธรรมชาติ หรือ ธรรมดา อันหนึ่ง ซึ่งมีอำนาจ ทั้งในการสร้าง และ ทำลายสิ่งทั้งปวง ให้สิ้นไป อำนาจทั้งสองนี้ ปรากฏชัดเจน อยู่ใน จตุราริยสัจจ์ ซึ่งแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนของการสร้างทุกข์ (ผู้สร้าง) กับ ส่วนของการดับทุกข์ (ผู้ทำลาย) และ อำนาจทั้งสองนี้ รวมอยู่ในสิ่งเดียวกัน นั่นคือ พระเจ้าแห่ง"ไกวัลยธรรม"
คำว่า "
จตุราริยสัจจ์" แปลว่า "ความจริงอันประเสริฐสี่" คือ ความทุกข์ ต้องเป็นอย่างนี้ๆ เหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์ ต้องเป็นอย่างนี้ๆ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ต้องเป็นอย่างนี้ๆ วิธีปฏิบัติ ที่ทำสัตว์ให้ลุถึง ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ต้องเป็นอย่างนี้ๆ
ลักษณะที่แสดงว่า "ต้อง" คือ "ต้องเป็นอย่างนี้ๆ" เป็นลักษณะของคำสั่ง หมายถึง คำสั่งของพระเจ้าแห่งไกวัลยธรรม อันมีอยู่ก่อนสิ่งทั้งปวง นั่นเอง ความหมายนี้ ตรงกับ ความหมายของ "พระคำ" ในศาสนาคริสต์ที่ว่า "แรกเริ่มเดิมที พระคำ ได้มีอยู่แล้ว พระคำอยู่กับพระเจ้า พระคำ สร้างสิ่งทั้งปวง พระคำ เป็น พระเจ้า เป็นชีวิต และแสงสว่าง" นี่แสดงว่า พระคำหรือพระเจ้า ก็คือ "ไกวัลยธรรม"
จตุราริยสัจจ์ เป็นกฏ ใช้ได้เฉพาะสิ่งที่มีความรู้สึก
จตุราริยสัจจ์ เป็นกฏที่ใช้ได้เฉพาะสิ่งที่มีความรู้สึก เท่านั้น ดังพระพุทธดำรัสมีว่า "
เราบัญญัติจตุราริยสัจจ์ สำหรับสัตว์ที่กำลังมีความรู้สึกอยู่" ดังนี้ ถ้าตายแล้ว ก็หมดเรื่อง เพราะเป็นผู้หมดความรู้สึก ย่อมไม่มีความทุกข์.
"สัจจะ" คือ "ความจริง" จริง คือไม่มุสา ถ้าจริงอย่างไม่มุสา ก็ต้องเป็น "อสังขตะ" ดังพระพุทธภาษิตมีว่า "สัจจะทั้งหลายย่อมเป็นอสังขตะ" คือ ไม่อยู่ภายใต้อำนาจ การแตะต้องของสิ่งใด.
"อริยะ" แปลว่า "ประเสริฐ" หมายความว่า สัจจะใดที่ช่วยให้มีการดับทุกข์ได้ สัจจะนั้นย่อมประเสริฐ เพราะ ความประเสริฐของคนเรา อยู่ที่สามารถดับทุกข์ได้ ถ้าแปลตามตัว"อริยะ" แปลว่า"ไปจากข้าศึก" คือ หลุดพ้นไปจากกิเลส หรือ ความทุกข์ เป็นการได้รับสิ่งประเสริฐ ฉะนั้น คำว่า "ไปจากข้าศึก" จึงมีความหมาย เดียวกันกับ "ประเสริฐ"
"จตุ" แปลว่า "สี่" หมายความว่า ความจริงอันประเสริฐนั้น ประกอบด้วยองค์๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำงานพร้อมกันไป โดยไม่อาจ แยกออกจากกันได้ เรียกว่า "รวมกำลังเข้าเป็นหนึ่งเดียว" บางที ตรัสแต่ผล ย่อเหลือเพียงสอง คือ ความทุกข์ กับความดับทุกข์ ดังพระพุทธภาษิต มีว่า "เราบัญญัติขึ้นสอนเฉพาะ ความทุกข์ กับความดับทุกข์เท่านั้น" ดังนี้ แม้ข้อนี้ ก็ย่อมแสดงชัดว่า "ความทุกข์ กับความดับทุกข์ จักหาพบได้ในที่เดียวกัน" คือ รวมเข้าเป็นหนึ่งเดียว จึงจะเป็นการดับทุกข์ได้สิ้นเชิง เปรียบความสกปรก กับความสะอาด ย่อมหาพบได้ในที่เดียวกัน.
กฏแห่งอริยยสัจจ์ ๔ เป็นไกวัลยธรรม เพราะเป็น ตถตา
คำว่า "ตถตา" หมายถึง สภาพที่มีลักษณะเฉพาะ "ความเป็นอย่างนั้น" ไม่ผิดไปจากความเป็นอย่างนั้น มีความไม่เป็นไปโดยประการอื่น นั่นคือ ความทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ หรือ ทางให้ถึงความดับทุกข์ มีลักษณะเฉพาะว่า "ต้องเป็นอย่างนั้น" จักเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ อันเป็นลักษณะของไกวัลยธรรม.
ในทางปฏิบัติ ความทุกข์ คือ สิ่งที่ทนได้ยาก อันเป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้ เหตุให้เกิดทุกข์ ได้แก่ ตัณหา อันเป็นสิ่งที่ควรละ ความดับทุกข์ ได้แก่ การดับตัณหา อันเป็นสิ่งที่ควรทำให้แจ้ง สำหรับทางให้ถึงความดับทุกข์ ได้แก่ อริยมรรคมีองค์แปด อันเป็นสิ่งที่ควรทำให้เจริญ แม้ในทางปฏิบัติก็ต้องเป็นอย่างนี้ จักเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้
ทุกขอริยสัจจ์ที่ ๑
ต้องเป็นอย่างนั้น
คำว่า "ทุกข์" มีลักษณะ ๒ ประการ คือ "ทนยาก" กับ "น่าเกลียด"
จำแนกโดยอาการ มี ๑๑ ประการ คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส พลัดพรากจากของรัก ประสบกับสิ่งที่ไม่รัก และ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น สิ่งเหล่านี้เป็นสภาวทุกข์ คือ เป็นไปเอง ตามเหตุปัจจัย มิได้ทำความเดือดร้อนให้ใคร แต่บุคคลจะเกิดความทุกข์ร่วมกันขึ้นมา ก็เพราะ ไปยึดถือด้วยอุปาทาน ว่า "สิ่งนั้นเป็นตัวเรา เป็นของเรา" โดยเหตุนี้ จึงสรุปความทุกข์ทั้งหมด ลงที่ การยึดถือในขันธ์ ๕ ดังบทบาลี แสดงว่า "สงฺขิตฺเตน ปญฺจุปาทานกฺขนฺธา ทุกฺขา- เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ความยึดมั่นในขันธ์ ๕ เป็นตัวทุกข์" ดังนี้ นี่เป็นอาการหนึ่ง ที่กล่าวว่า "ทุกข์ต้องเป็นอย่างนี้" เป็นลักษณะของความทุกข์ ในความหมายที่ว่า "ทนยาก"
ส่วนความหมายของทุกข์ ที่ว่า "น่าเกลียด" ได้แก่ความทุกข์ ในความหมาย ของความเปลี่ยนแปลง ซึ่งใช้ได้ทุกสิ่ง ทั้งที่มีชีวิต และไม่มีชีวิต ดังมีคำกล่าวว่า "สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์" คือ เป็นทุกข์ เพราะดูแล้วน่าเกลียด ที่เปลี่ยนแปลง แม้นี้ก็เป็นการแสดงถึง ลักษณะของความทุกข์ว่า "ต้องเป็นอย่างนี้"
ยังมีบาลีอีกบทหนึ่ง ที่แสดงถึง การถือเอาของหนัก ว่าเป็นทุกข์ "ภาราทานํ ทุกขํ โลเก - การถือเอาของหนัก เป็นความทุกข์ในโลก" คำว่า "ของหนัก" ในที่นี้ หมายถึง สิ่งที่เรียกว่า "โลก" ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ สิ่งเหล่านี้จะเกิดความหนักขึ้นมาได้ โดยการเข้าไปถือเอา ถ้าวางเสียก็ไม่หนัก ฉะนั้น ถ้ามีอะไร ก็อย่ามีด้วยความยึดถือ
ข้อนี้ ตรงกับความหมาย ในคำสอนของชาวคริสต์ที่ว่า
- "มีภรรยา ก็จงทำเหมือนไม่มีภรรยา"
- มีทรัพย์สมบัติ ก็จงทำเหมือนกับไม่มีทรัพย์สมบัติ
- มีความทุกข์ ก็จงทำเหมือนกับไม่มีความทุกข์
- มีความสุข ก็จงทำเหมือนกับ ไม่มีความสุข
- ซื้อของที่ตลาดแล้ว จงอย่าเอาอะไรมา"
ดังนี้แสดงว่า มีความหมายตรงกับ หลักพุทธศาสนา ที่ว่า เมื่อจะทำอะไร มีอะไร เป็นอะไร ก็จงทำจงมี จงเป็น แต่เพียงหน้าที่ อย่ามีความยึดถือในสิ่งนั้นว่า เป็นเรา เป็นของเราเข้า.
ลักษณะของการ "เกิด-ดับ" เป็นอีกความหมายหนึ่งของความทุกข์ ดังเถรีภาษิต แสดงไว้ว่า "
ทุกฺขเมว หิ สมฺโพติ ทุกฺขเมว นิรุชฺฌติ ฯลฯ - สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว มีแต่ทุกข์ สิ่งที่ดับลงแล้ว ก็มีแต่ทุกข์ นอกจากทุกข์แล้ว ไม่มีอะไรเกิดขึ้น และไม่มีอะไรดับไป" ดังนี้ หมายความว่า สิ่งที่มีอาการ "เกิด-ดับ" เป็นลักษณะ ของความทุกข์
แม้พระพุทธภาษิต ก็แสดงไว้อย่างเดียวกัน คือ พระอริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมไม่มีความสงสัย ในข้อที่ว่า "
ถ้ามีการเกิดอยู่ละก็ ทุกข์ทั้งนั้น ถ้ามีการดับลง ละก็ทุกข์ทั้งนั้น ไม่มีอะไรที่ไม่ทุกข์ สำหรับสิ่งที่เกิดอยู่ หรือดับอยู่ -ทุกฺขเมว อุปฺปชฺชมานํ อุปฺปชฺชติ ทุกฺขเมว นิรุชฺฌมานํ นิรุชฺฌติ" ดังนี้ นี่ก็เป็น ข้อแสดง อีกอย่างหนึ่งว่า "ทุกข์ต้องเป็นอย่างนี้".
เกี่ยวกับการ "เกิด-ดับ" ที่แสดงว่า เป็นความทุกข์นั้น หมายถึง การ "เกิด-ดับ" ของกิเลส ได้แก่ การเกิดขึ้นของ อายตนะภายใน๖ อายตนะภายนอก๖ ธาตุ๖ ตลอดจน การเกิดขึ้นของขันธ์๕ และ การเกิดขึ้นของอาหาร๔ ทั้งหมดนี้ เป็นการแสดงถึง ลักษณะแห่งการเกิด ของความทุกข์
ที่เรียกว่า "เกิด" ในที่นี้ หมายถึง "การเกิดทำหน้าที่" เช่น ธาตุที่มีอยู่ ตามธรรมชาติ ยังไม่เรียกว่า เกิด ต่อเมื่อใด มาทำหน้าที่ร่วมกันเข้า เป็น ตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือเป็น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อย่างนี้เรียกว่า "เกิด" การเกิดอย่างนี้ จัดเป็นการเกิดทุกข์ "เกิดทุกที เป็นทุกข์ทุกที"เมื่อใด ตา หู เป็นต้น ยังไม่ทำหน้าที่ แม้จะลืมตาอยู่ เมื่อนั้นตายังไม่เกิด ครั้นเมื่อ ตาทำหน้าที่ด้วยอวิชชา ตัณหา อุปาทาน จึงจะเรียกว่า "ตาเกิด" แล้วก็เป็นทุกข์ เพราะการเห็นนั้น แม้การเกิดขึ้นของขันธ์๕ ก็มีความหมายอย่างเดียวกัน คือ ขันธ์๕ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติมิได้เกิด จะมีการเกิด ต่อเมื่ออุปาทานเข้าไปยึดถือ แล้วก็เป็นทุกข์ เช่นเดียวกัน เมื่อมีการเกิดย่อมเป็นทุกข์ ครั้นมีการดับลง ก็เป็นทุกข์ เช่นเดียวกัน
แม้นี้ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่า "ทุกข์ต้องเป็นอย่างนี้"เมื่อการเกิดทุกข์ มีความเกี่ยวข้องกับ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ฉะนั้น ปริมาณของความทุกข์ ก็วัดได้ด้วยอำนาจของ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน เช่นกัน ถ้ามีอวิชชา ตัณหา อุปาทาน เต็มที่ หรือ ปริมาณมาก ความทุกข์ย่อมมากหรือหนัก แต่ถ้ามีอวิชชา ตัณหา อุปาทาน เบาบาง ความทุกข์ก็น้อย หรือเบาบาง เช่นเดียวกัน
เกี่ยวกับการทำความทุกข์ ให้จางคลาย ก็เช่นเดียวกัน ถ้ามีอุปาทาน เหนียวแน่นมาก ย่อมจางคลายช้า (ทนฺธวิราคี) ถ้ามีอุปาทาน เหนียวแน่นน้อย ก็จางคลายเร็ว (ขิปฺปวิราคี)
ทั้งหมดนี้ เป็นการแสดงให้เห็นว่า "ความทุกข์ ต้องเป็นอย่างนั้นๆ" ต้องไม่เป็นอย่างอื่น ไม่ผิดไปจากความเป็นอย่างนั้น มันจะต้องมี ความเป็นอยู่อย่างนั้นๆ ในทุกหนทุกแห่ง ทุกอณู ทุกปรมาณู และตลอดเวลา ที่ไม่อาจกำหนดต้นปลายได้ นั่นคือ กฏจตุราริยสัจจ์ เป็นไกวัลยธรรม เพราะ มีลักษณะตรงกันทุกประการ.
ทุกขสมุทยสัจจ์ อริยสัจจ์ข้อที่ ๒
ต้องเป็นอย่างนั้น
ข้อที่สอง "เหตุให้เกิดทุกข์" เรียกว่า "ทุกขสมุทยสัจจ์" สมุทยะ แปลว่า "ตั้งขึ้นอย่างครบถ้วน" คำว่า "ทุกขะ" แปลว่า "แห่งทุกข์" ฉะนั้นคำว่า "ทุกขสมุทัย" จึงแปลว่า "การตั้งขึ้นอย่างครบถ้วนแห่งทุกข์" ได้แก่ "เหตุให้เกิดทุกข์" นั่นเอง
เหตุให้เกิดทุกข์ หมายถึง "ตัณหา" คือ ความอยาก ๓ ประการ อันสืบเนื่อง มาจากอวิชชา แต่ความอยาก ที่มาจากสติปัญญา ที่ถูกต้อง ไม่เรียกว่า "ตัณหา" ลักษณะของตัณหา ตามบาลีแสดงไว้ดังนี้
"ยายํ ตณฺหา โปโนพฺภวิกา นนฺทิราคสหคตา ตตฺรตตฺราภินนฺทินี - ตัณหาใดเป็นไป เพื่อภพใหม่ เกิดใหม่ ประกอบอยู่ด้วย นันทิราคะ คือ ความกำหนัด ด้วยอำนาจ แห่งความเพลิน เป็นเหตุให้เพลินอย่างยิ่ง ในอารมณ์นั้นๆ" นี่เรียกว่า "ตัณหา" ความอยาก หรือตัณหา ในลักษณะอย่างนี้ เป็นสิ่งที่แน่นอนว่า ต้องมาจาก "อวิชชา"
เมื่อตัณหา คือ ความอยากเกิดขึ้น จะเกิดความรู้สึกว่ามี "ตัวกู" ผู้อยากตามมา นั่นคือ "อุปาทาน" ความยึดมั่น ตามหลักที่ว่า "ตัณหาทำให้เกิดอุปาทาน" ขอทำความเข้าใจว่า "ตัวผู้อยาก เกิดทีหลัง ความอยาก" นี่เป็นลักษณะที่ล้ำลึก ของสัจจธรรมหรือ ปรมัตถธรรม ผู้ที่ไม่เข้าใจ อาจคิดว่า ต้องมีตัวผู้อยากก่อน จึงจะมีความอยาก เมื่อเกิดอุปาทานตัวผู้อยาก ความทุกข์ ความหนัก ก็เกิดขึ้น.
ภาษิตพระสารีบุตร ในคัมภีร์มัชฌิมนิกาย แสดงลักษณะของสมุทัย ไว้โดยนัยอื่น แต่รวมความแล้ว มีความหมายเหมือนกัน คือ สมุทัยเกิดขึ้น เพราะ ความรัก ความพอใจ ความอาลัย ที่ฝังตัวลงไปในเบญจขันธ์ อันเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน ดังบทบาลี แสดงไว้ดังนี้
"โย อิเมสุ ปญฺจสุ อุปาทานกฺขนฺเธสุ ฉนฺโท อาลโย อนุนโย อชฺโฌสานํ โส ทุกฺขสมุทโย - ความพอใจ ความอาลัย ความวิ่งตามไป ความหยั่งลงไปในนั้น ในอุปาทานักขันธ์ ทั้งหลาย ๕ ประการ เหล่านี้ อันใด อันนั้นแล ชื่อว่า ทุกข - สมุทัย" ดังนี้
นี่แสดงว่า ความพอใจ ความอาลัย ความหยั่งลงไปใน อุปาทานขันธ์ เป็นเหตุของความทุกข์.
ในคัมภีร์มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ มีพระพุทธภาษิตแสดงไว้ว่า "อวิชฺชา จ ภวตณฺหา จ - อวิชชาด้วย ภวตัณหาด้วย เป็น ธรรมที่ควรละ คือ ทุกขสมุทัย นั่นเอง หมายความว่า เมื่อเกิดอวิชชา ย่อมปรุงแต่ง เป็นภวตัณหา คือ ตัณหาในความเป็น ได้แก่ ตัณหาในกามภพ รูปภพ อรูปภพ อย่างใดอย่างหนึ่ง นั่นแหละคือ ธรรมที่ควรละเสีย ในฐานะเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์.ในคัมภีร์สุตตนิบาต ได้แสดงเหตุให้เกิดทุกข์ไว้อย่างพิสดารถึง ๑๑ อย่าง ดังบาลีที่นำมาแสดงเป็นเบื้องต้นว่า ยงฺกิญฺจิ ทุกฺขํ สมฺโภติ -
ทุกข์ชนิดใดเกิดขึ้น สพฺพํ อุปธิปจฺจยา -
ทุกข์ทั้งหมดนั้น มีอุปธิเป็นปัจจัยอย่างที่ ๑ แสดงว่า เพราะอุปธิเป็นปัจจัย ความทุกข์จึงเกิดขึ้น คำว่า "อุปธิ" แปลว่า เข้าไปทรงไว้ หรือเข้าไปแบกไว้ คือ แบกของหนัก หมายถึง อุปาทาน นั่นเอง.
อย่างที่ ๒ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย ความทุกข์จึงเกิดขึ้น เป็นการระบุลงที่ความไม่รู้ อันเป็นต้นเหตุให้มีการแบก อันนี้ก็นับว่าเป็น ต้นเหตุของความทุกข์
อย่างที่ ๓ เพราะสังขารเป็นปัจจัย ความทุกข์จึงเกิดขึ้น หมายถึง สภาพการปรุงแต่ง มีการปรุงแต่งให้เกิด กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม หรือ ปรุงแต่ง ให้เกิด ความยึดมั่น ในบุญ ในบาป ในอเนญชา เหล่านี้เป็นต้น เรียกว่า สังขารทั้งสิ้น เพราะ มีสังขารปรุงแต่ง ความทุกข์จึงเกิดขึ้น.
อย่างที่ ๔ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย ความทุกข์จึงเกิดขึ้น หมายถึง อวิชชาสัมผัส คือ รับอารมณ์ด้วยความไม่รู้ อันทำให้เกิดเวทนา ตัณหา อุปาทาน และเกิดทุกข์.
อย่างที่ ๕ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย ความทุกข์จึงเกิดขึ้น หมายถึง วิญญาณธาตุ ที่ทำการรู้แจ้ง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ ถ้าขาดสิ่งนี้ สิ่งเดียว ความทุกข์จะไม่มีทางเกิดขึ้น เพราะมีวิญญาณ จึงเกิดผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน และเกิดทุกข์.
อย่างที่ ๖ เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ความทุกข์จึงเกิดขึ้น หมายถึง ความรู้สึก ที่เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือ อุเบกขา ที่มาจากอวิชชาสัมผัส เรียก "อวิชชาสัมผัสสชาเวทนา" ย่อมทำให้เกิดความทุกข์ เช่นเดียวกับข้อที่ว่าด้วย "ผัสสะ" ต่างกันเพียง ปรากฏในรูปของเวทนา
อย่างที่ ๗ เพราะตัณหาเป็นปัจจัย ความทุกข์จึงเกิดขึ้น ตัณหา คือ ความอยาก ๓ ประการ ได้แก่ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา อันเป็นลำดับที่สืบต่อจากเวทนา ซึ่งเป็นสายของการเกิดทุกข์
อย่างที่ ๘ เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ความทุกข์จึงเกิดขึ้น อุปาทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่นมี ๔ ประการ ได้แก่ กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน สีลัพพตุปาทาน และ อัตตวาทุปาทาน อันเป็นลำดับของการเกิดทุกข์ ซึ่งสืบต่อมาจากตัณหา
อย่างที่ ๙ เพราะอารัมภะเป็นปัจจัย ความทุกข์จึงเกิดขึ้น "อารัมภะ" แปลว่า "ความปรารภ ปรารมภ์" ได้แก่ ความหวังนั่นเอง ปรารมภ์ใจในสิ่งใด ความทุกข์ก็เกิดขึ้น จากการปรารมภ์นั้น การปรารภปรารมภ์มาจากความโง่ จึงทำให้เกิดทุกข์ ถ้าฉลาด ไม่ต้องมีการปรารภปรารมภ์ ให้เสียเวลา
อย่างที่ ๑๐ เพราะอาหารเป็นปัจจัย ความทุกข์จึงเกิดขึ้น เมื่อมีอาหาร ย่อมทำให้เกิดสิ่งอื่น ตามมาเสมอ สิ่งที่เรียกว่า "อาหาร" จำแนกเป็น ๔ ประการ คือ
ก. กวลิงการาหาร - อาหารคือคำข้าว ทำให้เกิดเนื้อหนัง
ข. ผัสสาหาร - อาหารคือการสัมผัส ทำให้เกิดวิญญาณ เกิดเวทนา
ค. มโนสัญญเจตนาหาร - อาหารคือความนึกคิด ทำให้เกิดกรรม ได้แก่ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม
ง. วิญญาณาหาร - อาหารคือ ความรู้ในอารมณ์ ทำให้เกิดความรู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
ตามหลักมีอยู่ว่า "สิ่งใดเกิด สิ่งนั้นดับ" ฉะนั้น เมื่ออาหารเป็นเหตุให้เกิด ก็จะนำไปสู่ความดับ อันเป็นลักษณะของความทุกข์ นั่นคือ อาหารทั้ง ๔ เป็นแดนเกิดแห่งทุกข์
อย่างที่ ๑๑ เพราะอัญชิตาเป็นปัจจัย ความทุกข์จึงเกิดขึ้น "อัญชิตา" แปลว่า "ความหวั่นไหว" กิเลสที่เป็นเหตุให้หวั่นไหว คือ ความวิตก กังวล ความสะดุ้ง ความหวาดเสียว ความนิ่งอยู่ไม่ได้ อันมีมูลมาจากอวิชชา ซึ่งเป็น ต้นเหตุของ ความทุกข์ในสูตร
ปฏิจจสมุปบาท แสดงไว้ชัดที่สุดว่า เพราะ ความเกิดเป็นปัจจัย ความทุกข์ จึงเกิดขึ้น ดังบทบาลีมีว่า "ชาติปจฺจยา ชรามรณํ โสกปริเทวทุกฺข โทมนสฺสุปายาสา ทุกฺขา - เพราะมีชาติ เป็นปัจจัย จึงมี ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส" ดังนี้
ความเกิดในที่นี้ หมายถึง เกิดจากกิเลส คือ ความอยาก เมื่อเกิดความอยาก ย่อมเกิดเป็นตัวกูผู้อยาก ได้แก่ อุปาทาน เมื่อมีความเกิดอย่างนี้ จะทำให้เป็นทุกข์ ทุกที "เกิดทุกที เป็นทุกข์ทุกที" จะรวมการเกิด จากท้องแม่ ด้วยก็ได้ แต่ต้อง หมายถึง ความยึดถือในการเกิดนี้ว่า "เป็นความเกิดของเรา" จึงมีความทุกข์ รวมความว่า "เมื่อไร เกิดตัวกู-ของกู เมื่อนั้นย่อมเป็นทุกข์"
ทั้งหมดนี้ เป็นการแสดงให้เห็นว่า "ทุกขสมุทยสัจจ์" คือ เหตุให้เกิดทุกข์ ต้องเป็นอย่างนั้น ทั้งที่เป็นส่วนกาย และ ส่วนจิตใจ เพราะ พระพุทธองค์ ทรง
บัญญัติโลก แห่งความทุกข์ไว้ ที่ "
ร่างกายอันยาวประมาณวาหนึ่ง ประกอบด้วย สัญญา และ ใจ" ดังนี้