ผู้เขียน หัวข้อ: ธรรมะจากรามเกียรติ์ พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย)  (อ่าน 2846 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



ธรรมะจากรามเกียรติ์
โดย พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย)
วัดป่าสาลวัน ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา

สงครามเทพและอสูร

สงครามระหว่างเทพและอสูรมีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก ธชัคคสูตร... ภูตะ ปุพพัง ภิกขะเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเรื่องดึกดำบรรพ์เคยมีมาแล้ว สงครามแห่งเทวดากับอสูรได้เกิดประชิดกันแล้ว ครั้งนั้นแล ภิกษุทั้งหลาย ท้าวสักกเทวราช ผู้เป็นเจ้าแห่งเทพยดา เรียกหมู่เทวดาในชั้นดาวดึงส์มาสั่งว่า

"ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ ถ้าความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ขนพองสยองเกล้าก็ดี บังเกิดขึ้นแก่หมู่เทพยดาผู้ไปสู่สงครามในสมัยใด ในสมัยนั้นท่านทั้งหลายพึงแลดูชายธงของเรานั้นเทียว เพราะว่าเมื่อท่านทั้งหลายแลดูชายธงของเราอยู่ ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ขนพองสยองเกล้าก็ดี อันใดจักมี อันนั้นจักหายไป
ถ้าท่านทั้งหลายไม่แลดูชายธงของเรา ทีนั้นท่านทั้งหลายพึงแลดูชายธงของเทวราชชื่อ ปชาบดี เพราะว่าท่านทั้งหลายแลดูชายธงของเทวราชชื่อปชาบดี ความกลัวก็ดี ความสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี อันใดมีอยู่ อันนั้นจักหายไป"
สูตรนี้เกิดขึ้นระหว่างสงครามของเทวดากับพวกอสูร มันต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องทศกัณฐ์ เมืองลงกา แน่ๆ

สรณะที่แท้จริงยามมีภัย
พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหตุว่าท้าวสักกเทวราช ผู้เป็นเจ้าแห่งเทวดา เธอมีราคะยังไม่สิ้นไป มีโทสะยังไม่สิ้นไป มีโมหะยังไม่สิ้นไป เธอยังเป็นผู้กลัว ยังเป็นผู้หวาด ยังเป็นผู้สะดุ้ง ยังเป็นผู้หนี ดังนี้
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนเราแลกล่าวอย่างนี้ว่า ถ้าว่าท่านทั้งหลายไปอยู่ในป่าก็ตาม อยู่โคนต้นไม้ก็ตาม อยู่ในเรือนเปล่าก็ตาม ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี พึงเกิดขึ้นในสมัยใด ในสมัยนั้น ท่านทั้งหลายพึงระลึกถึงเรานั้นเทียวว่า
แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ไกลจากกิเลส เป็นผู้ควรไหว้ควรบูชา เป็นผู้รู้ชอบเอง เป็นผู้บริสุทธิ์แล้วด้วยวิชชาและจรณะ เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว เป็นผู้ทรงรู้แจ้งซึ่งโลก เป็นผู้ฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกแจกธรรมดังนี้
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะว่าเมื่อท่านทั้งหลายตามระลึกถึงเราอยู่ ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี
อันใดจักมี อันนั้นจักหายไป"

ดูเป็น เห็นธรรม
ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะ ดูอะไรมันก็ดูได้ ความเข้าใจของคนทั่วไป คำว่า ธรรมะ ที่จะนำมาพิจารณานี่ มีแต่เรื่องของกายกับใจ เรื่องของกิเลสที่มีอยู่ในใจ ความจริง ธรรมะอันเป็นอารมณ์ของจิตนี่มันหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เราสามารถรู้ได้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ถ้าหากว่าจิตใจถึงธรรมะแล้ว ดูอะไรมันก็ไม่เสียหาย

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน) ถามหลวงปู่มั่นว่า
"ท่านมั่น อยู่แต่ป่าไปฟังเทศน์ที่ไหน"
อาจารย์มั่นท่านก็ตอบว่า "ถ้าจิตใจมีธรรมะ อยู่ที่ไหนก็ได้ฟังธรรม"
ทำไมถึงว่าอย่างนั้น...เพราะทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลนี้ ตั้งแต่อณูปรมาณูจนกระทั่งมวลสารที่เกาะกลุ่มกันเป็นก้อนใหญ่โต มันคือธรรมะประเภท สภาวธรรม
ธรรมะประเภทสภาวธรรมนี่แหละเป็นอารมณ์จิต ถ้าหากว่าผู้ขาดสติ สติไม่เข้มแข็ง ตาเห็นรูปมันก็หลงยินดียินร้าย หูได้ยินเสียงมันก็หลงยินดียินร้าย จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัส ใจนึกคิด ก็หลงยินดียินร้าย พอใจ ไม่พอใจ

ความจริงมันก็แสดงปรากฏการณ์ให้เรารู้เห็นอยู่ตลอดเวลา
เราดูสิ่งนี้เราทุกข์หรือเราสุข เราเห็นสิ่งนี้เรายึดมั่นถือมั่นหรือว่าเรารู้จักปล่อยวาง อันนี้คือความจริงที่ปรากฏอยู่ทุกขณะจิต ทุกลมหายใจ สำหรับผู้มีสติ
เพราะฉะนั้น การดูหนังดูละคร ละครที่เป็นธรรมะ เขาจะสรุปลงว่า ดูหนังดูละครให้ย้อนดูตัวเอง ชีวิตของคนเราในโลกนี้คือตัวละครแต่ละตัวๆ ต่างคนต่างแสดงออกตามนิสัยและความสามารถของตัวเอง

นัจจะ คีตะ วา หมายถึงการขับร้องประโคมดนตรี ถ้าหากว่าเป็นเรื่องขับร้องประโคมดนตรี พระไปดู มันก็ล่อแหลมต่ออันตราย

แต่นิยายอันใดที่เป็นบทละคร มันเป็นคติเตือนใจ เช่น ละครเรื่อง เวสสันดรชาดก อันนี้เป็นนิยายอิงธรรมะ เรื่องรามเกียรติ์ นี่ก็เป็นนิยายอิงธรรมะ เป็นนิยายเก่าแก่ที่สุด ของจีนก็สามก๊ก เป็นนิยายอิงธรรมะเหมือนกัน มีทั้งการเมือง เศรษฐกิจ อุตสาหกรรม เกษตรกรรม พร้อมหมดในเรื่องนั้น ใน เวสสันดรชาดก ก็มีเกษตรกรรม อุตสาหกรรม รัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย มีพร้อมหมด ถ้าเรื่องอย่างนี้พระดูก็ไม่เสียหาย

จากสุภะ...สู่อสุภะ
มีอยู่หลายๆ คน ปฏิบัติสมาธิแล้ว นั่งดูโทรทัศน์ พอตัวพระตัวนางออกมา ตอนแรกก็รู้สึกสวยงามดี พอดูไปดูมาจิตมันเป็นสมาธิ เห็นแต่โครงกระดูกเต้นไล่หยอกกันอยู่
ข้อเท็จจริงที่เกิดกับหลวงพ่อเอง วันหนึ่ง เดินจงกรมอยู่ หลวงพ่อก็พิจารณา กายคตาสติ ตามสูตรท่านให้พิจารณาว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครก แต่หลวงพ่อไม่เอาอย่างนั้น พอขึ้นต้น ผมฉันเกิดอยู่บนศรีษะไม่แก่ไม่หงอก ที่เกิดของผมเป็นท่อทางระบายสิ่งโสโครกออกจากร่างกาย ผมเป็นเครื่องประดับร่างกายให้ครบถ้วน อาการ ๓๒ ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ก็พิจารณาไปตามหน้าที่ของแต่ละส่วน จนกระทั่งไปถึงหัวใจ หัวใจมีหน้าที่สูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงร่างกาย ปอดมีหน้าที่หายใจ มีประโยชน์อย่างนั้นๆ แล้วสรุปลง อวัยวะทุกส่วนในร่างกายของฉันนี่ มีความแข็งแรงสมบูรณ์ ต่างก็ทำหน้าที่ของตนไม่ขาดตกบกพร่อง ทำให้สุขภาพร่างกายของฉันแข็งแรงสมบูรณ์
พิจารณาไปๆ จิตแยกเป็น ๓ มิติ มิติหนึ่งพิจารณาเอง มิติหนึ่งจ้องมองดู อีกมิติหนึ่งมาเฉยอยู่ในท่ามกลางของร่างกาย

           
                 นายปิรติ รูปประดิษฐ์ ภาพรามเกียรติ์ ตอน อินทรชิต
                 http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=somchai1972&month=24-02-2009&group=4&gblog=9 

ของดีจากรามเกียรติ์
ธรรมะที่ได้จากรามเกียรติ์ เราสรุปหัวข้อได้ชัดเจน ๕ เรื่อง

๑. เวรไม่ระงับเพราะการจองเวร
๒. สมาธิ ตบะ ญาน ญาณต่างๆ เราไม่มีศีลเราก็ปฏิบัติได้แต่สมาธิที่ไม่มีศีลเป็นเครื่องประกันความปลอดภัย ย่อมเป็นพิษภัยต่อสังคม
๓. ความซื่อสัตย์ต่อสามี สีดาเป็นหญิงผู้เคารพในศีลข้อกาเมฯ
๔. ความรักอันแน่นแฟ้นระหว่างพี่กับน้อง มีความซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อกัน
๕. ความกตัญญูของลูกที่มีต่อพ่อ


หนังละครที่ชอบที่สุดคือ รามเกียรติ์ มันไปได้คติตรงที่ว่าตอนที่พระรามหักคันศรพระศิวะ พระปิตุลาบำเพ็ญตบะอยู่บนยอดเขามเหธร สำเร็จอิทธิฤทธิ์ล่องหนหายตัวได้ พอได้ยินเสียงคันศรหัก เหาะมาทางอากาศ "มันมาบังอาจพังคันศรพระศิวะที่ข้าบูชาอยู่ คนนั้นมันจะต้องตายลูกเดียว"
วาทะของผู้ปฏิบัติโดยมีศีลเป็นเครื่องประกันความปลอดภัยจะไม่มีอย่างนี้ เพราะฉะนั้น สมาธินี่ใครจะเก่งแค่ไหนเชิญเก่งไปเถอะ แต่ถ้าศีลไม่บริสุทธิ์ ไม่มีทางจะรอดพ้นจากกองทุกข์ ไม่พ้นจากนรกเสียด้วยซ้ำ
เพราะฉะนั้น ใครจะว่าเราได้หรือไม่ได้ เราภาวนาเป็นหรือไม่เป็น ขอให้ยึดศีล ๕ เป็นหลัก พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ อยู่ที่ตรงไหน อยู่ที่เรามีสติรู้จิตอยู่ตลอดเวลา จิตที่มีสติสัมปชัญญะ มันก็รู้ตัวอยู่ แล้วมันก็เตรียมพร้อมอยู่มันตื่นอยู่ตลอดเวลา พร้อมที่จะรับสถานการณ์ตลอดเวลา มันจะไม่หันหลังให้ เมื่อเป็นเช่นนั้นมันก็แช่มชื่น เบิกบาน แจ่มใส เป็น พุทโธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
ในเมืองไทยมีนักภาวนาเก่งๆ แต่แก้ปัญหาไม่ได้ เพราะอะไร เพราะนักภาวนามันทุศีล มาสมาทานศีล ๘ กินนมตอนเย็น พระภิกษุสงฆ์บวชเข้ามาแล้วจับเงินจับทองใช้เอง ในเมื่อมาละเมิดศีลสิกขาบทในพระปาฏิโมกข์นี่ มันก็กลายเป็นคนทุศีล

สมาธินี่ไม่จำเป็นต้องมีศีล แต่ต้องอาศัยสัจจะ ลองว่าฉันจะนั่งให้ได้ ๑๐ ชั่วโมง มันก็ได้สมาธิ ได้ฌานเหมือนกัน แต่สมาธิฌานที่ไม่มีหลักประกันความปลอดภัยคือศีล สามารถประทุษร้ายคนอื่นได้ เช่นอย่างพวกยักโขทั้งหลายนี่ อันนี้ใครจะถือว่าเป็นนิยายปรัมปราก็ช่างเถอะ แต่หลวงพ่อเอามาเป็นเครื่องสอนตัวเอง มันมาได้นึกว่าสมาธินี่มันเก่งแค่ไหนก็เชิญเก่งไป อินทรชิตเข้าสมาธิ แสงสว่างมันออกวาบๆๆ จนลุกเป็นไฟ แต่พอออกจากสมาธิแล้วจับศรยิงกันสะบั้นหั่นแหลก นี่คือสมาธิที่ไม่มีศีล
เพราะฉะนั้น ใครจะว่าอย่างไรก็ตาม ให้เราดูจิตดูใจของเรา เราปฏิบัติอย่างนี้ จิตของเราสงบไหม เราได้ความสุขจากการปฏิบัตินั้นไหม สิ่งที่เป็นบาปทั้งหลายเราเลิกละได้ไหมดูกันที่ตรงนี้ ไม่ต้องไปเที่ยวดูเมืองฟ้าเมืองสวรรค์ที่ไหนหรอก

เพราะฉะนั้น การรู้ธรรม เห็นธรรม
๑. รู้ความจริงของกายของเรา ว่าเรามีสุขภาพแข็งแรงพอที่จะแบกหามภารกิจได้ไหม
๒. เรามีจิตใจมั่นคงต่อการสร้างคุณงามความดีได้ไหม

เราไปนั่งภาวนาแล้วเห็นเทวดาอินทร์พรหมยมยักษ์มาแล้ว เราคิดจะนอกอกนอกใจสามีไหม เราคิดอยากจะไปลักขโมยฉ้อโกงทรัพย์สมบัติของใครไหม เราคิดอยากจะด่า จะฆ่า จะตีใครไหม ดูกันที่ตรงนี้ อย่าไปดูที่อื่น

อิทธิฤทธิ์หรือจะสู้บุญฤทธิ์
หนุมานทุ่มก้อนหินใส่กุมภกรรณ กุมภกรรณจับขยี้แหลกเป็นผงไปเลย เอาก้อนใหม่ทุ่มไปอีก ก็จับโยนไป พวกนี้สำเร็จอิทธิฤทธิ์มาได้อย่างไร มันสำเร็จมาได้ด้วยการบำเพ็ญตบะ จนพระอินทร์ พระพรหม พระอิศวร เห็นใจประทานพรให้มันเป็นผู้มีฤทธิ์ แต่เสร็จแล้วมันก็มาเที่ยวฆ่ากันอยู่ เพราะฉะนั้น สิ่งที่วิเศษที่สุดก็คือศีล ถ้ามีศีลบริสุทธิ์แล้วไม่ต้องไปคำนึงถึงอะไร
พระท่านไปเที่ยวเทศน์ ท่านไล่เรื่องญาณเรื่องฌานอะไรแข่งกัน พอเทศน์จบ ลงจากธรรมาสน์มา ก็มานั่งด่ากันขโมงโฉงเฉงอยู่ ไม่เห็นได้ประโยชน์อะไร เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะได้ประโยชน์อย่างแท้จริงในปัจจุบันนี่

ใครมีเมีย รักสงสารเมียของตนเองมากๆ
ใครมีผัว รักสงสารผัวของตนเองให้มากๆ
ใครมีลูก รักเมตตาปราณีต่อลูกให้มากๆ
ใครมีพ่อมีแม่ รักเคารพบูชาพ่อแม่ให้มากๆ เลี้ยงดูท่านให้มีความสุข
ถ้าใครทำได้ มันจะมีฤทธิ์เดช เรียกว่า บุญฤทธิ์

คนมีบุญฤทธิ์นี่ ไปที่ไหนก็สงบเยือกเย็น ไม่ไป
ก่อกรรมทำเข็ญให้ใครเดือดร้อน มีแต่พวกภูติผีปีศาจที่มันไม่นิยมชมชอบในคุณธรรมนั่นแหละ มันจะร้อนเป็นไฟ
เราปฏิบัติสมาธิ จิตของเราไปถึงไหน สมาธิขั้นใด ตอนใด กี่ขั้นก็ตาม ผลลัพธ์ก็คือ เราละความชั่วได้ นี่มันอยู่ที่ตรงนี้ เรื่องของสมาธินี่ ถึงใครจะวิเศษวิโสสักปานใด มันไม่ใช่สิ่งวิเศษหรอก มันวิเศษอยู่ตรงที่ว่า เมื่อจิตเราเป็นสมาธิแล้ว เราละบาปได้หรือเปล่า ศีล ๕ เราบริสุทธิ์หรือเปล่า

เวรย่อมไม่ระงับเพราะการจองเวร
ตอนที่ทศกัณฐ์ทำสงครามกับเทวดา ทศกัณฐ์จับพระอินทร์มาขังเอาไว้ แล้วก็ปลอมแปลงเป็นพระอินทร์ไปขโมยสีดาซึ่งเป็นชายาของพระอินทร์ พอพระอินทร์พ้นจากการถูกคุมขังของทศกัณฐ์ กลับไปสวรรค์ สีดาก็รายงานพระอินทร์ว่า ได้เสียท่าทศกัณฐ์แล้ว ขอพรพระอินทร์ ขอลงไปแก้แค้นทศกัณฐ์ พระอินทร์ก็อนุญาต สีดามาปฏิสนธิในครรภ์ของพระนางมณโฑซึ่งเป็นมเหสีของทศกัณฐ์

พอคลอดออกมาได้ เด็กตัวเล็กๆ เอามีดปลายแหลมๆ นี่จิ้มหน้าอกพ่อ โหรพิเภกก็ทำนายว่าลูกคนนี้เลี้ยงไว้ไม่ได้จะทำลายวงศ์สกุล เมืองลงกาจะพินาศย่อยยับเพราะลูกคนนี้ ทศกัณฐ์ก็ให้เอาใส่หีบทองคำปิดให้มิดชิด แล้วเหาะข้ามทะเลไปฝังไว้ในแดนมนุษย์ ไม่ทราบว่ากี่วันกี่เดือน นายพรานของพระยาเมืองมิถิลาไปล่าเนื้อไปพบเข้าพูดขึ้นมา เด็กตัวเล็กๆ ถูกฝังดินอยู่ตั้งหลายวันไม่ตาย

นี่ ปัญหาตรงนี้ ว่าทำไมจึงไม่ตาย ถูกฝังอยู่ในดิน ก็เพราะ เวรกรรมมันจองกันอยู่ มันเลี้ยงเอาไว้ อำนาจของกรรมเวรเลี้ยงเอาไว้
เขานำไปถวายพระเจ้ากรุงมิถิลา พระองค์ก็เลี้ยงไว้เป็นพระธิดาบุญธรรม มีรูปร่างหน้าตาสวยที่สุด ในสามโลกนี่ไม่มีใครเทียมเท่า
ภายหลังรามกับลักษมณ์ไปอยู่ป่า ทศกัณฐ์ก็มาขโมยเอาสีดาไป เรียกว่ามาขโมยเอาลูกตัวเองไป ไปกักไว้ที่สวนอโศก คนใส่เสื้อผ้าชุดเดียว อยู่ในสวนอโศก ๑๔ ปี ตากแดดตากฝนอยู่นั่นไม่เป็นไข้ตาย นี่ก็เพราะ แรงกรรมเลี้ยงเอาไว้ จนกระทั่งพระรามยกกองทัพไปปราบกรุงลงการาพณาสูร

อินทรชิตลูกกตัญญู
อินทรชิตมาบอกกับทศกัณฐ์ว่า "เสด็จพ่อยังมีเวลา พระลักษมณ์หรือพระราม ไม่ใช่มนุษย์ธรรมดา เขาเป็นพระเป็นเจ้า ยังไม่สายเกินไป รีบเอาสีดาไปคืนให้เขา แล้วไปอ่อนน้อมต่อเขาเสีย"
ทศกัณฐ์ก็โมโหใหญ่ ไล่ลูกชาย "ถ้าเจ้าขี้ขลาดก็ไปนอนอยู่วังของเจ้า พ่อได้ตัดสินใจแล้วว่าจะรบกับพระรามจนถึงที่สุด"
อินทรชิตเมื่อถูกบิดาบังคับ ก็ได้คติอันหนึ่งว่า จะเป็นใครก็ตาม ถ้าหันหลังให้บิดามารดา ทิ้งทรัพย์สมบัติ แล้วเอาตัวรอด เอาตัวหลุดพ้นแต่ตัวคนเดียว แม้เทวดาก็ไม่สรรเสริญ จึงบอกกับพระบิดาว่า "จิตใต้สำนึกของหม่อมฉัน ไม่ยอมรับว่าเราจะชนะสงคราม แต่ต้องทำใจแข็งว่าเราจะต้องชนะ เพราะเป็นคำสั่งของพระบิดา" ออกไปรบก็ถูกพระลักษมณ์ยิงศรตัดศีรษะตาย

สัมมาทิฏฐิ
ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญู หิ ธรรมะของจริงอันผู้ปฏิบัติ ผู้รู้ พึงเห็นเอง รู้แล้วให้คนอื่นตอบให้ก็ไม่ได้ ต้องตัดสินเอาเอง หลักตัดสิน เราจะเอาอะไรเป็นเครื่องวัด ในเมื่อรู้แล้วเห็นแล้ว เมื่อจิตของเรายอมรับ มันเลิกละสิ่งที่เป็นบาปเป็นอกุศลได้ จิตใจบริสุทธิ์ นั่นใช้ได้
ถ้ายิ่งรู้ยิ่งเห็น ยิ่งทะนงตัว เหมือนทศกัณฐ์ อันนั้นใช้ไม่ได้ ทศกัณฐ์เก่งตบะ บำเพ็ญฌาน จนพระพรหมประทานน้ำอมฤตให้ไว้ในทรวงอก ใครฆ่าไม่ตาย พอพระรามยิงศรไปถูกคอมัน ศีรษะมันขาดลอยไป ศีรษะใหม่เกิดขึ้นมา มันยิ่งเก่งก็ยิ่งทะนงตัว ถือว่าเป็นใหญ่ มีอำนาจคลุมหมดทั้งสามโลก แต่มันลืมนึกว่า เหนือฟ้ายังมีฟ้า ในที่สุดมันก็สิ้นชีวิตไปเพราะน้ำมือของพระราม

สัมมาสติ-สัมมาสมาธิ
พระพุทธเจ้าถามพระอานนท์ว่า "อานนท์ เธอว่าตัณหาเกิดจากอะไร"
"ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงแสดงธรรม"
พระองค์ก็ทรงแสดงว่า "ตัณหาเกิดจากตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ เกิดได้เพราะตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัส"
"มันจะดับที่ตรงไหน"
"มันเกิดที่ไหนมันก็ดับที่ตรงนั้น คือมันจะดับที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ"

"ทำอย่างไรมันจึงจะดับ"
"ฝึกสติ"
อันนี้หลักฐานยืนยันชัดเจน เพราะฉะนั้น ผู้ที่ฝึกสติ ไม่ต้องไปคำนึงว่าเราจะไปนั่งสมาธิที่ไหน ในวัดใด สมาธิจะได้ลึกตื้นหนาบางเพียงใด แค่ไหน ขอให้มีสติรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา



ที่มา www.geocities.com/thaniyo/
นำมาแบ่งปันโดย
one mind : อกาลิโกโฮม
สุขใจดอทคอม : ใต้ร่มธรรมดอทเน็ท

อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 06, 2011, 07:28:19 am โดย ฐิตา »