เรื่องภิกษุ 2 สหายพระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุ 2 สหาย
ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า พหุมฺปิ เจ สหิตํ ภาสมาโน เป็นต้น
ครั้งหนึ่ง มีภิกษุสองรูปเป็นสหายกัน บวชจากตระกูลคฤหบดีในกรุงสาวัตถี ในภิกษุสองรูปนี้ รูปหนึ่งศึกษาเล่าเรียน
พระไตรปิฏก จนมีความเชี่ยวชาญ สามารถท่องจำความในพระคัมภีร์ต่างๆได้มากมาย ท่านรูปนี้ยังได้สอนพระภิกษุอื่นอีกเป็นจำนวน 500 รูป และยังได้เป็นผู้แนะนำภิกษุอื่นๆอีก 18 กลุ่มด้วยกัน ส่วนภิกษุอีกรูปหนึ่งนั้น
มีความขยันหมั่นเพียรตามแนวทางของวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนได้บรรลุพระอรหัตตผล พร้อมด้วย
ปฏิสัมภิทาทั้งหลาย
ครั้งหนึ่ง เมื่อพระภิกษุรูปที่สองนี้มาเฝ้าพระศาสดาที่วัดพระเชตวัน ก็ได้มาพบกัน พระภิกษุรูปที่เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎกไม่ทราบว่า พระภิกษุอีกรูปหนึ่งได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว จึงดูหมิ่นพระภิกษุรูปที่เป็นพระอรหันต์โดยคิดว่า ท่านเป็นพระภิกษุชรา รู้เรื่องคัมภีร์ต่างๆแต่เพียงเล็กน้อย ไม่มีความรู้เรื่องนิกายต่างๆสักนิกาย หรือไม่มีความรู้เรื่องในปิฎกใดปิฎกหนึ่งในพระไตรปิฎก ดังนั้น ท่านจึงคิดที่จะถามปัญหากับพระภิกษุที่เป็นพระอรหันต์ให้เกิดความอับอาย พระศาสดาทรงทราบ
เจตนาที่เป็นอกุศลของพระภิกษุ
ผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก และพระองค์ยังทรงทราบด้วยว่า จาก
ผลของการสร้างความลำบากให้แก่พระภิกษุรูปที่พระอรหันต์
จะทำให้พระภิกษุผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก
ไปเกิดในนรกได้ดังนั้น พระศาสดา
ทรงมีพระกรุณาต่อพระภิกษุผู้คงแก่เรียน จึงได้เสด็จไปหาพระภิกษุทั้งสองรูปนั้นเพื่อป้องกันมิให้พระภิกษุรูปที่คงแก่เรียนถามปัญหาพระภิกษุรูปที่เป็นพระอรหันต์ พระศาสดาจึงได้ทรงตรัสถามปัญหาเสียเอง โดยได้ตรัสถามปัญหาที่เกี่ยวกับฌาน และมรรคต่างๆกับพระภิกษุรูปที่คงแก่เรียนที่ชำนาญในพระไตรปิฎก พระภิกษุรูปนี้ไม่สามารถตอบปัญหาของพระศาสดาได้ เพราะตนไม่เคย
นำสิ่งที่ตนสอนมาปฏิบัติ สำหรับกับพระรูปที่เป็นพระอรหันต์นั้น ท่านเป็นผู้ปฏิบัติธรรมจนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ท่านสามารถตอบคำถามของพระศาสดาได้ทุกข้อ พระศาสดาทรงยกย่องพระที่ปฏิบัติธรรมะ แต่ไม่ทรงยกย่องพระที่คงแก่เรียน
พวกพระที่เป็นสัทธิวิหาริก ไม่เข้าใจสาเหตุที่พระศาสดาทรงยกย่องพระภิกษุชราที่เป็นพระอรหันต์ แต่ไม่ยกย่องพระภิกษุที่คงแก่เรียน พระศาสดาได้ทรงอธิบายเรื่องนี้แก่ภิกษุเหล่านั้นว่า
พระภิกษุคงแก่เรียนที่รู้มากแต่ไม่ปฏิบัติตามธรรมะนั้น ก็เหมือนกับคนเลี้ยงโค คอยแต่เลี้ยงโคเพื่อรับค่าจ้าง ในขณะที่พระที่ปฏิบัติธรรมนั้นเหมือนกับเจ้าของโค ที่ได้เสวยผลของผลิตผลห้าอย่างของโค(ปัญจโครส)
ด้วยเหตุนี้ พระภิกษุผู้คงแก่เรียนนั้น
ได้แต่การอุปัฏฐากจากศิษยานุศิษย์ แต่ไม่ได้บรรลุมรรคผลอะไร ส่วนพระภิกษุสายปฏิบัติธรรมนั้น แม้ว่าจะมีความรู้น้อยและท่องจำพระคัมภีร์ได้น้อย แต่สามารถเข้าใจแก่นแท้ของธรรมะและนำไปปฏิบัติอย่างมุมานะขยันหมั่นเพียร จึงได้ชื่อว่า “อนุธัมมจารี”(
ผู้ปฏิบัติตามธรรม) สามารถ
ขจัดราคะ โทสะ และโมหะได้ จิตของท่านจึงปลอดพ้นจาก
ตัณหานุสัยและความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวง ทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า ท่านจึงเป็นผู้ได้เสวยผลประโยชน์ของมรรคและผลจริงๆ
จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 19 และพระคาถาที่ 20 ว่าพหุมฺปิ เจ สหิตํ ภาสมาโน
น ตกฺกโร โหติ นโร ปมตฺโต
โคโปว คาโว คณยํ ปเรสํ
น ภาควา สามญฺญสฺส โหติ ฯ
(อ่านว่า)
พะหุมปิ เจ สะหิตัง พาสะมาโน
นะ ตักกะโร โหติ นะโร ปะมัตโต
โคโปวะ คาโว คะณะยัง ปะเรสัง
นะ ภาคะวา สามันยัสสะ โหติ.
(แปลว่า)
คนที่ได้แต่ท่องจำตำราได้มาก
แต่
มัวประมาท ไม่ปฏิบัติตามคำสอน
ย่อมไม่ได้รับผลที่ควรจะได้จากการบวช
เหมือนคนเลี้ยงโค ได้นับโคให้คนอื่นเขา.
อปฺปมฺปิ เจ สหิตํ ภาสมาโน
ธมฺมสฺส โหติ อนุธมฺมจารี
ราคญจ โทสญฺจ ปหาย โมหํ
สมฺมปฺปชาโน สุวิมุตฺตจิตฺโต
อนุปาทิยา โน อิธ วา หุรํ วา
ส ภาควา สามญฺญสฺส โหติ ฯ
(อ่านว่า)
อับปัมปิ เจ สะหิตัง ภาสะมาโน
ทัมมัสสะ โหติ อะนุทัมมะจารี
ราคันจะ โทสันจะ ปะหายะ โมหัง
สัมมับปะชาโน สุวิมุดตะจิดโต
อะนุปาทิยา โน อิทะ วา หุรัง วา
สะ พาคะวา สามันยัสสะ โหติ.
(แปลว่า)
คนที่ท่องจำตำราได้น้อย แต่
ประพฤติตามธรรมละราคะ โทสะ โมหะได้
รู้แจ้งเห็นจริง มีจิตหลุดพ้นไม่ยึดมั่นทั้งในโลกนี้และโลกหน้าเขาย่อมได้รับผลของการบวช.
เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง คนเป็นอันมาก ได้บรรลุพระอริยผล
มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น พระสัทธรรมเทศนา มีประโยชน์แก่มหาชน.