ผู้เขียน หัวข้อ: ทางเลือก...ก่อนสิ้นลม  (อ่าน 2551 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
ทางเลือก...ก่อนสิ้นลม
« เมื่อ: กรกฎาคม 23, 2011, 08:10:56 am »



ทางเลือก...ก่อนสิ้นลม
โดย : เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ

ถ้าเลือกได้ วาระสุดท้าย ทุกคนคงอยากจากไปอย่างสงบ ติดตาม
การผลักดันกฎหมายที่เอื้อต่อการแสดงเจตนาปฏิเสธการใช้เครื่องมือแพทย์ยื้อชีวิต


“ผมเคยร่างเอกสารเรื่องการจัดการงานศพท่านอาจารย์พุทธทาส ส่วนเรื่องการรักษาพยาบาล
ท่านพูดด้วยวาจา ท่านบอกว่าถ้าวันหนึ่งเจ็บป่วย จะไม่หอบสังขารหนีความตาย

จะขอตายที่วัด แต่ท่านไม่ได้เขียนเอาไว้” ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว

ศ.แสวง พยายามโยงให้เห็นว่า เพราะท่านอาจารย์พุทธทาสไม่ได้ทำหนังสือแสดงเจตนา
ในวาระสุดท้ายของชีวิตในเรื่องการรักษาพยาบาล
เมื่อท่านอาพาธจึงมีปัญหามากมายในการรักษาที่ไม่เป็นไปตามประสงค์ของท่านอาจารย์

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ทางเลือก...ก่อนสิ้นลม
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กรกฎาคม 23, 2011, 08:13:48 am »

ในวาระสุดท้ายของชีวิต ท่านอาจารย์พุทธทาสมีความประสงค์จะจากไปตามวิถีธรรมชาติที่สวนโมกข์ แต่ความหวังดีของแพทย์พยายามช่วยเหลือในการยื้อชีวิตให้อยู่นานที่สุด และท่านไม่ประสงค์จะเดินทางไปรับการรักษาในโรงพยาบาลที่กรุงเทพฯ

ช่วงที่ท่านอาจารย์พุทธทาสอาพาธ ถ้ามีเรี่ยวแรงท่านยังคงใช้ชีวิตปกติ นั่งเขียนหนังสือในกุฏิเล็กๆ กว้างสองเมตรยาวสามเมตรครึ่ง

“ตอนท่านอาจารย์อายุ 84 ปีเป็นน้ำท่วมปอด เคยมีเฮลิคอปเตอร์มารับไปรักษาตัวที่กรุงเทพฯ ท่านบอกว่า “เราไม่หอบสังขารหนีความตายโว้ย” พระสิงห์ทอง เขมิโย ซึ่งเคยรับใช้ท่านอาจารย์พุทธทาส เล่า และช่วงที่ท่านอาจารย์สลบ จำเป็นต้องให้เลือด เมื่อท่านตื่นขึ้นมาเห็นถุงเลือดระโยงระยาง ท่านบอกพระสิงห์ทองว่า “เราไม่เคยเอาเลือดใครโว้ย เอาคืนไปเลย ให้รักษาตามธรรมชาติ”

จนวาระสุดท้ายช่วงเช้าตรู่ ท่านอาจารย์พุทธทาสเรียกพระสิงห์ทองที่นอนข้างเตียงให้ตื่นขึ้นแล้วบอกว่า “ทอง...ตื่นๆ เราจะตายแล้วโว้ย”


เรื่องราวของท่านอาจารย์พุทธทาสแสดงให้เห็นถึงการมรณานุสติ ตั้งแต่การเจ็บป่วยจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต แต่ในสังคมปัจจุบันใช่ว่าปุถุชนหรือภิกษุสงฆ์ทั่วไปจะเผชิญหน้ากับความตายได้เช่นนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ทางเลือก...ก่อนสิ้นลม
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: กรกฎาคม 23, 2011, 08:17:03 am »

ปัจจุบันผู้ป่วยมีสิทธิที่จะปฏิเสธการรักษาพยาบาลที่เป็นไปเพื่อยืดการตายที่สิ้นหวังออกไป โดยทำเป็นหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข หรือเรียกว่า Living Will เมื่อเห็นว่า การรักษาไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยที่อยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต อาทิ กระบวนการฟื้นชีพเมื่อหัวใจหยุด, การเจาะคอ การให้สารอาหารและน้ำทางสายยาง ฯลฯ

ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 12 เปิดโอกาสให้บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้

บางคนอาจสงสัยว่า การป่วยระดับไหนที่ไม่ควรยื้อชีวิตไว้ให้ทรมานทั้งกายและใจ เรื่องนี้แพทย์จะเป็นผู้ประเมินอาการ
หากเกิดจากการบาดเจ็บหรือโรคที่ไม่อาจรักษาให้หายได้ จากการพยากรณ์โรคตามมาตรฐานทั่วไปในทางวิชาชีพ เมื่อเห็นว่า ภาวะนั้นจะนำไปสู่การตายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในระยะเวลาที่ไม่นาน รวมไปถึงภาวะผู้ป่วยในสภาพผักถาวร (ภาวะของผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยตามมาตรฐานทางวิชาการแพทย์ว่า มีการสูญเสียหน้าที่อย่างถาวรของเปลือกสมองใหญ่ ทำให้ขาดความสามารถในการรับรู้และติดต่อสื่อสารอย่างยาวนานและถาวร)

“หนังสือแสดงเจตนา จำเป็นต้องเขียนเป็นหนังสือไหม พูดใส่เทป ถ่ายวีดีโอ หรือใช้เครื่องมืออิเลคโทรนิคส์ที่สามารถสืบค้นก็ได้ ใช้ได้หมด ผมไปเจอพยาบาลคนหนึ่งบอกว่า ดีใจที่มีแบบนี้ แต่เกรงว่าลูกจะไม่ทำตาม เธอถามว่าสักไว้ที่หน้าอกได้ไหม ผมก็บอกว่าได้ ถ้าสื่อเจตนาได้ เราต้องเปิดกว้างเรื่องนี้” ศ.แสวง ขยายความ

สาเหตุที่ต้องทำหนังสือแสดงเจตนาอย่างเป็นรูปธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย มีความเห็นว่า บางครั้งการรั้งชีวิตผู้ป่วยไปเรื่อยๆ และนึกว่า กำลังทำเพื่อคนที่เรารัก แต่สิ่งที่ทำอยู่นั้นเป็นการแทรกแซงทำให้เขาจากไปอย่างลำบาก

“สิ่งเหล่านี้เราต้องค่อยๆ แก้ ผมเคยเห็นบางคนพยายามวิ่งเต้นให้คุณแม่เข้าห้องไอซียู นั่นเขาคิดว่าดีที่สุด แต่เรื่องนี้ต้องแก้ไขใหม่”

เพราะวาระสุดท้ายที่ไม่อาจรักษาได้แล้ว มนุษย์ทุกคนควรมีสิทธิจากไปอย่างเป็นธรรมชาติ โดยปราศจากเครื่องมือการแพทย์สมัยใหม่ด้วยสภาวะจิตที่สงบนิ่ง

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ทางเลือก...ก่อนสิ้นลม
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: กรกฎาคม 23, 2011, 08:19:27 am »

บทเรียนวาระสุดท้าย

แม้หนังสือแสดงเจตนาในวาระสุดท้ายของชีวิตจะไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย แต่ความเข้าใจเรื่องนี้ยังไม่ชัดเจนนัก จึงมีเรื่องถกเถียงในหลายประเด็น หากลูกหลานไม่ปฏิบัติตามเมื่อผู้ป่วยไม่สามารถตัดสินใจได้...

แล้วใครจะเป็นผู้ตัดสินใจ? 

&หากมีหนังสือแสดงเจตนาชัดเจน แพทย์และพยาบาลสามารถกระทำตามเจตนาของผู้ป่วย โดยไม่ถูกฟ้องร้องทางกฎหมาย

“การจากไปอย่างเป็นธรรมชาติ สังคมน่าจะได้เรียนรู้กรณีของภิกษุสงฆ์ที่โรงพยาบาลสงฆ์” นพ.ชาตรี เจริญศิริ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีศึกษาและในช่วงใกล้เที่ยงวันนั้น (4 สิงหาคม) มีภิกษุสงฆ์มรณภาพหนึ่งรูป

หลายคนเห็นกระบวนการตายที่อยู่เบื้องหน้า พยาบาลกำลังนำสวดเพื่อให้ร่างไร้วิญญาณของภิกษุสงฆ์ไปสู่สุคติ จากนั้นพนักงานใช้ผ้าสีเหลืองค่อยๆ ห่อหุ้มร่างกาย


“เรามักคิดว่า ภิกษุสงฆ์มีความสมบูรณ์ทุกเรื่อง เราก็เลยใช้ท่านทำทุกเรื่อง ทั้งการประกอบพิธีกรรม เป็นบุรุษไปรษณีย์นำข้าวของที่เราใส่บาตรส่งไปให้ญาติที่เสียชีวิต แต่ความจริงแล้วแต่ละรูปก็มีความทุกข์ของท่าน มีความเจ็บป่วย ซึ่งบางคนก็ถวายความเจ็บป่วยให้ท่าน ทั้งบุหรี่ อาหารหวานมัน ทองหยิบ ฝอยทอง แล้วมาลงท้ายด้วยสุขภาพของท่าน” นพ.สถาพร ลีลานันทกิจ ที่ปรึกษาโรงพยาบาลสงฆ์และสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เล่าหลังจากร่างไร้วิญญาณภิกษุสงฆ์ห้องข้างๆ ถูกเคลื่อนออกไป

พระบางรูปฝึกจิตมาอย่างดี ก็ผ่านเรื่องเหล่านี้ไปได้ แต่บางรูปบอกว่า ไม่อยากตาย ทำใจไม่ได้ คุณหมอเล่าต่อว่า บางรูปถ้าไม่บรรลุก็เหมือนคนธรรมดา เป็นกลุ่มที่น่าสงสาร ก็จะให้ทีมที่เข้าใจเรื่องพุทธศาสนาเข้าไปพูดคุย "คุณหมอแสง" จะช่วยดึงสติกลับมา ถ้ายังปล่อยวางไม่ลงก็จะใช้วิธีเตือน

“ท่านช่วยเรา ไม่ใช่เราช่วยท่าน เพราะบทเรียนชีวิตของท่าน สอนให้เราไม่ประมาท” ทันตแพทย์แสง จตุรานนท์ นอกจากทำงานด้านการรักษาพยาบาล ยังมีหน้าที่เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านศาสนพิธี โรงพยาบาลสงฆ์

แม้หอผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่โรงพยาบาลสงฆ์จะมีเพียง 10 เตียง แต่ใช่ว่าจะเต็มทุกเตียง เนื่องจากภิกษุสงฆ์ที่มีโอกาสอยู่ที่นี่จะได้รับการประเมินว่า กำลังจะมรณภาพภายใน 3 เดือน จากนั้นจะได้รับการดูแลตามอาการเพื่อให้ใช้ชีวิตอย่างสงบ หากมีอาการปวดก็ให้ยาแก้ปวดหรือมอร์ฟีน โดยไม่ใช้เครื่องมือการแพทย์ยื้อชีวิต และดูแลเรื่องจิตใจ บางครั้งมีอาสาสมัครเข้ามาช่วยอ่านหนังสือให้คนป่วยฟัง

“ส่วนใหญ่เป็นมะเร็งระยะสุดท้าย เราก็ให้ยาแก้ปวดธรรมดาหรือไม่ก็มอร์ฟีน ไม่ต้องกลัวติด ถึงติดก็มีความสุข เพราะเราประเมินเรื่องนี้แล้ว”  แพทย์หญิงไพรัตน์ แสงดิษฐ โรงพยาบาลสงฆ์ กล่าว

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ทางเลือก...ก่อนสิ้นลม
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: กรกฎาคม 23, 2011, 08:24:17 am »


สุขสงบเมื่อสิ้นลม

ในช่วงที่ คุณหมอวราภรณ์ ภูมิสวัสดิ์ มารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงฆ์ใหม่ๆ เธอพบว่า กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ภิกษุสงฆ์ป่วยเป็นมะเร็ง และผู้ป่วยระยะสุดท้ายหากพักปะปนกับหอผู้ป่วยทั่วไป เมื่อมีคนหนึ่งถูกหามออกไป คนอื่นๆ ก็จะรู้สึกเศร้าสลดหดหู่ตามไปด้วย

2 ปีที่แล้ว เธอจึงจัดตั้งหอผู้ป่วยระยะสุดท้ายเพื่อดูแลรักษาแบบประคับประคอง ทั้งเรื่องกายและจิตเพื่อให้จากไปอย่างสงบ

“พระหลายรูปไม่ต้องการสึก แต่บางครั้งต้องสึกเพื่อให้ลูกสาวดูแลที่บ้าน เราจึงต้องทำส่วนนี้เพื่อให้การดูแล ถ้าเป็นช่วงที่ใกล้เสียชีวิตจะมีห้องส่วนตัวไม่ปะปนกัน เพื่อให้ญาติพี่น้องได้มาดูแลพูดคุยสวดมนต์ก่อนจากไป” คุณหมอวราภรณ์ เล่า และเมื่อเดินไปถึงห้องถัดไป มีเด็กผู้หญิงกำลังดูแลภิกษุสงฆ์ชราภาพรูปหนึ่ง

จิราภรณ์ ศรไชย พยาบาลวิชาชีพ หัวหน้าหอผู้ป่วยระยะสุดท้าย บอกว่า หลานสาวมาดูแลปู่ตลอดแปดเดือนแล้ว เพราะปู่กำลังจะจากไป ที่นี่ไม่เสียค่ารักษาพยาบาลใดๆ  อาศัยผู้ใจบุญช่วยกันบริจาคทำบุญ

           

เมื่อคุยกันเรื่องความตาย คุณหมอวราภรณ์ หันมาคุยต่อว่า โดยหลักพุทธศาสนาแล้ว เล่นเรื่องทุกข์เรื่องเดียว ประเด็นคือ ถ้าเราจะตายให้เป็น ต้องอยู่ให้เป็น

“คนเราถ้าคิดดี ถึงจะพูดดี แต่ถ้าคุณคิดไม่ดี พูดดี นั่นเป็นอันตรายกับสังคม”

เธอเองก็มีบทเรียนชีวิตที่เป็นอุทาหรณ์สอนใจ รวมถึงเป็นคุณหมอที่ปฏิบัติธรรม เธอเล่าว่า ตอนคุณแม่เป็นมะเร็ง หากมีการใช้เครื่องมือการแพทย์ที่จะทำให้เกิดปัญหากับร่างกาย ขออนุญาตไม่ทำ

“ตอนเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลโทรมาบอกว่า คุณแม่หมดลมแล้ว เราก็เปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดดำตรงมาที่โรงพยาบาลราชวิถี พอมาถึงคุณหมอกู้ชีพฟื้นขึ้นมาได้ เราก็ไปหาชุดเปลี่ยนอีก จริงๆ จองวัดไว้แล้ว และที่ผ่านมาเราเตรียมแม่ให้พร้อมที่จะเดินทางไกล ไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม ตอนนั้นเราจ้างพยาบาลพิเศษให้สวดมนต์ให้แม่อย่างเดียว ญาติคนไข้เตียงข้างๆ บอกว่า สวดดังๆ หน่อยเผื่อคุณพ่อของเขาด้วย เรามองว่า การเตรียมให้คนจากไปอย่างสงบ คนจากไปก็ได้บุญกุศล ถือว่าเป็นการตอบแทนบุพการี”

การเรียนรู้เรื่องมรณานุสติเป็นส่วนหนึ่งที่คุณหมอวราภรณ์ย้ำเตือนตัวเอง เธอบอกว่า มีอยู่วันหนึ่งไปงานศพ บาทหลวงเทศน์ว่า อย่าเชื่อในสิ่งที่เห็น นั่นคือ อนัตตา ความไม่เที่ยง เพราะอะไรก็ไม่ใช่ของเรา

“ความเป็นหมอ เราอาจได้เห็นมากกว่าคนอื่น แต่การปฏิบัติจริงๆ ถ้าเรารู้ว่า เราต้องตายในวันนี้ เราจะทำอะไร อาจจะอยากทำโน่น ทำนี่ แต่จริงๆ แล้วอาจไม่มีโอกาส ความตายอาจไม่ทันให้เราตั้งตัว”



ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ทางเลือก...ก่อนสิ้นลม
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: กรกฎาคม 23, 2011, 08:30:20 am »

ปลดเปลื้องสิ่งค้างคาใจ

ไม่ว่ายุคสมัยไหน ไม่มีใครอยากพูดถึงความตาย แต่ก็มีคนกลุ่มหนึ่งให้ความสำคัญกับการทำงานด้านนี้ เพราะการเผชิญหน้ากับความตายเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

“เครือข่ายพุทธิกามีความสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้คนเรียนรู้เรื่องความตาย ทำให้คนในสังคมหันมาคิดเรื่องความตายบ้าง ถ้าอีกสามเดือนข้างหน้าคุณจะตาย คุณจะทำอะไร” คุณหมอชาตรีตั้งคำถาม เพราะคนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการหาเงินมากกว่าเรื่องความตาย แต่สำหรับเขาการมีชีวิตอยู่อย่างมีความหมาย และการตายอย่างมีศักดิ์ศรี ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

“ในสังคมฉาบฉวย เราก็รู้อยู่ว่าคนสนใจเรื่องการสะสมความมั่งคั่งมากกว่า เพราะคนยึดสิ่งที่อยู่นอกกายนอกจิต แต่เมื่อใดชีวิตสั่นคลอนก็จะกลับเข้ามามองชีวิตด้านใน พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ ม.12 มีไว้เพื่อให้สอดคล้องกับการตายตามธรรมชาติ และเรื่องจิตใจ โดยเฉพาะสิ่งที่ค้างคาใจกับคนใกล้ตัว”

มนุษย์น่าจะมีสิทธิเลือก หากต้องการจากไปท่ามกลางญาติพี่น้องและเพื่อนสนิท โดยไม่มีเครื่องมือทางการแพทย์พันธนาการขัดขวางการสื่อสารระหว่างมนุษย์  เรื่องนี้คุณหมอชาตรี บอกว่า สังคมไทยคงพัฒนาเทคโนโลยีไปมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว เรามีข้อจำกัดทางเทคโนโลยีและค่าใช้จ่าย ถ้ามองเรื่องนี้ผ่านกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งให้อิสระดำเนินการใดๆ เพื่อแสดงเจตนาโดยไม่ขัดแย้งกับวิธีการของหมอและพยาบาล ก็น่าจะเรียนรู้เรื่องนี้

"สำหรับตัวผม ไม่มีสักวันที่จะไม่คิดเรื่องความตาย” 

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ทางเลือก...ก่อนสิ้นลม
« ตอบกลับ #6 เมื่อ: กรกฎาคม 23, 2011, 08:34:39 am »


ไม่ว่าใครก็ตาม หากรู้ว่าตัวเองกำลังจะตาย ส่วนใหญ่จะโศกเศร้า ไม่ยอมรับ และบางครั้งโทษคนอื่น คุณหมอชาตรีบอกว่า จะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ยอมรับสภาพความเป็นจริงไม่ได้ เสียดายว่าบางคนมีเวลาเหลือน้อยในการตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ ดังนั้นการมีกัลยาณมิตรที่ดีสำคัญมาก หนังสือก็เป็นกัลยาณมิตรได้

“ถ้าใครนึกไม่ออกลองไปอ่านหนังสือสนทนากับความตายของเชิด ทรงศรี เขาคุยกับความตายได้อย่างไร ผมเองก็ได้เรียนรู้จากความตายของคุณพ่อ คุณแม่ ผมดูแลท่านอย่างใกล้ชิดและพยายามให้ลูกๆ เรียนรู้ความตายเป็นเรื่องปกติในชีวิต”

คุณหมอเล่าต่อว่า กรณีของคุณแม่และคุณย่าที่จากไป เขาใช้กรณีนี้สอนลูกๆ ในเรื่องการดูแลบุพการี เขาไปป้อนข้าวคุณแม่ในห้องพิเศษทุกวัน และลูกๆ ของเขาต้องไปเยี่ยมคุณย่า เพื่อให้ลูกๆ เห็นว่าความตายไม่น่ากลัว

กรณีคุณพ่อของคุณหมอที่จากไปด้วยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ คุณหมอชาตรีเล่าว่า ในช่วง 3 ปีแรกคุณพ่อไม่ยอมรับความจริง แต่พอ 3 ปีผ่านไปท่านรู้แล้วว่าไม่มีทางหาย ท่านจึงเปลี่ยนเป้าหมายว่า จะทำอย่างไรไม่ทุกข์ อาศัยว่ามีความสนใจธรรมะสายพระอาจารย์ชา สุภัทโท อยู่ด้วย

“ตอนเรียนก็ไม่มีใครสอนผมให้มองด้านในของชีวิต แต่บังเอิญคนใกล้ชิดทำให้เราต้องเรียนรู้ ช่วงคุณพ่อป่วย ท่านก็ตั้งคำถามว่า ทำไมต้องเป็นท่าน กล่าวโทษคนอื่น ผมเป็นลูกคนเดียวที่เป็นหมอ ดังนั้นอะไรๆ ก็มาลงที่ผม

ท่านบันทึกอาการต่างๆ ไว้ในสมุดบันทึก ท่านเปิดดูมีทั้งวันทุกข์มาก ทุกข์น้อยและวันไม่มีทุกข์ ท่านก็ได้เรียนรู้ และคุณหมอที่ดูแลก็ผูกพันกันดี ช่วงท้ายของชีวิต ท่านมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น สามารถไปเดินจตุจักร ทั้งๆ ที่ต้องถือถุงปัสสาวะซุกไว้ในกระเป๋า”

คุณหมอเล่าต่อว่า คืนสุดท้ายก่อนคุณพ่อจะเสียชีวิต เขาและภรรยาไปเฝ้า ชวนให้คุณพ่อกลับมาที่สติและสวดมนต์ร่วมกัน

"ตอนเช้าคุณแม่มาเยี่ยม คุณพ่อบอกว่า เหนื่อยแล้วขอหลับ แล้วค่อยๆ จากไป” นั่นเป็นวาระสุดท้ายของคนที่คุณหมอรัก และเป็นเหตุให้คุณหมอเห็นว่า การขับเคลื่อนกฎหมายเรื่องนี้เป็นเรื่องดีๆ ที่จะเกิดขึ้นในสังคม




Credit by : http://www.thailivingwill.in.th/index.php?mo=3&art=330016
Pics by : Google
สุขใจดอทคอม * อกาลิโกโฮม
ใต้ร่มธรรมดอทเน็ต
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ