ผู้เขียน หัวข้อ: เรื่องย่อในพระธรรมบท (จิตตวรรค)  (อ่าน 4026 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



เรื่องย่อในพระธรรมบท (จิตตวรรค)
เรื่องพระเมฆิยเถระ

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ที่ภูเขาจาลิกา ทรงปรารภท่านพระเมฆิยะ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ผนฺทนํ จปลํ จิตฺตํ เป็นต้น

ในขณะนั้น พระเมฆิยเถระเป็นพระอุปัฏฐากพระศาสดา มีอยู่ครั้งหนึ่งหลังจากกลับจากบิณฑบาตมา พระเถระเห็นสวนมะม่วงมีความร่มรื่นและสวยงาม มีความคิดว่าเป็นสถานที่เหมาะที่จะปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน พระเถระได้ทูลขอพระอนุญาตจากพระศาสดาที่จะไป ณ ที่นั้น แต่ด้วยว่าขณะนั้นพระศาสดาประทับอยู่ตามลำพัง พระองค์จึงตรัสว่าให้รออยู่ก่อนจนกว่าจะมีภิกษุอื่นเดินทางมาถึง แต่พระเถระรีบร้อนที่จะไปมาก จึงได้ทูลอ้อนวอนขอพระอนุญาตอยู่หลายครั้ง จนในที่สุดพระศาสดาตรัสบอกให้ไปได้ตามความปรารถนา

จากนั้น พระเมฆิยเถระได้เดินไปที่สวนมะม่วง แล้วไปนั่งเข้าสมาธิอยู่ที่ใต้ต้นมะม่วงต้นหนึ่ง พระเถระไปนั่งอยู่ที่นั่นทั้งวัน แต่จิตของท่านไม่สงบ ทำให้ไม่มีความก้าวหน้าในการปฏิบัติสมาธิ ท่านจึงเดินทางกลับในตอนเย็น แล้วทูลให้ศาสดาได้ทรงทราบว่า ตลอดเวลาทั้งวันท่านถูกครอบงำโดยวิตกทั้ง 3 คือ กามวิตก(ความตรึกในทางกาม) พยาบาทวิตก(ความตรึกในทางพยาบาท) และวิหิงสาวิตก(ความตรึกในทางเบียดเบียน)

ดังนั้น พระศาสดาได้ตรัสกะพระเมฆิยเถระว่า จิตดิ้นรน กลับกลอกง่าย บุคคลพึงควบคุมจิตของตนให้ดี

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 33 และพระคาถาที่ 34 ว่า
ผนฺทนํ จปลํ จิตฺตํ
ทุรกฺขํ ทุนฺนิวารยํ
อุชํ กโรติ เมธาวี
อุสุกาโรว เตชนํฯ

(อ่านว่า)
ผันทะนัง จะปะลัง จิดตัง
ทุรักขัง ทุนนิวาระยัง
อุชุง กะโรติ เมทาวี
อุสุกาโรวะ เตชะนัง.

(แปลว่า)
จิตดิ้นรน กลับกลอก
รักษายาก ห้ามยาก
ผู้มีปัญญาทำให้ตรงได้

เหมือนช่างศรดัดลูกศร.


วาริโชว ถเล ขิตฺโต
โอกโมกตอุพฺภโต
ปริผนฺทติทํ จิตฺตํ
มารเธยฺยํ ปหาตเวฯ

(อ่านว่า)
วาริโชวะ ถะเล ขิดโต
โอกะโมกะตะอุบพะโต
ปะริผันทะติทัง จิดตัง
มาระเทยยัง ปะหาตะเว.

(แปลว่า)
จิตนี้ย่อมดิ้นรน
เมื่อถูกนำออกจากกามคุณ
เพื่อจะให้ละบ่วงของมาร
เหมือนกับปลาดิ้นรน

เมื่อถูกยกขึ้นจากน้ำมาไว้บนบก
ดิ้นรนเพื่อจะกลับคืนสู่น้ำอีก.


เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง พระเมฆิยเถระได้บรรลุพระโสดปัตติผล ส่วนชนเหล่าอื่นเป็นอันมาก ก็ได้บรรลุพระอริยผล มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น.


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: เรื่องย่อในพระธรรมบท (จิตตวรรค)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กรกฎาคม 27, 2011, 02:57:09 pm »

เรื่องพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
 
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ที่วัดพระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ได้ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ทุนฺนิคฺคหสฺส ลหุโน เป็นต้น
 
ครั้งหนึ่ง ภิกษุจำนวน 60รูป หลังจากที่ได้รับพระกัมมัฏฐานจากพระศาสดาแล้ว ก็ได้ไปที่หมู่บ้านมาติกะที่เชิงเขาแห่งหนึ่ง ณ ที่นั้นนางมาติกมาตา มารดาของหัวหน้าหมู่บ้าน ได้ถวายอาหารบิณฑบาตแก่ภิกษุเหล่านั้น และนางก็ยังได้สร้างวิหารสำหรับเป็นที่อยู่ในช่วงเข้าจำพรรษาถวายแก่ภิกษุเหล่านั้นด้วย อยู่มาวันหนึ่ง นางได้นิมนต์ให้พระภิกษุเหล่านี้สอนวิธีปฏิบัติพระกัมมัฏฐานแก่นาง พวกพระภิกษุได้สอนให้นางพิจารณาอาการ 32ของร่างกายซึ่งจะนำไปสู่ความตระหนักในความเสื่อมและความสิ้นไปของร่างกาย นางมาติกมาตาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนั้นด้วยความขยันหมั่นเพียรจนได้บรรลุ มรรค 3และผล 3พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณและโลกิยอภิญญา ก่อนภิกษุเหล่านั้น
 
เมื่อนางออกจากสุขอันเกิดจากมรรคและผลแล้ว ได้ตรวจดูด้วยทิพยจักษุเห็นว่า ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นยังมิได้บรรลุมรรคผลใดๆ นางได้ทราบด้วยว่า ภิกษุเหล่านี้มีศักยภาพที่จะบรรลุพระอรหัตตผลได้ แต่ท่านเหล่านี้มีความจำเป็นต้องได้อาหารอย่างเหมาะสม ดังนั้น นางจึงได้จัดแจงเลือกเฟ้นอาหารที่ล้วนแต่ดีๆมีรสอร่อยมาถวาย เมื่อได้ฉันภัตตาหารที่เหมาะสมและกระทำความพยายามโดยชอบแล้ว ภิกษุเหล่านี้ก็ได้มีจิตแน่วแน่ เจริญวิปัสสนา และในที่สุดก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์
 
เมื่อออกพรรษาปวารณาแล้ว ภิกษุเหล่านี้ก็ได้เดินทางกลับไปที่พระเชตวันอันเป็นที่ประทับอยู่ของพระศาสดา ได้กราบทูลพระศาสดาว่า พวกตนมีสุขภาพแข็งแรง เพราะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและไม่ต้องวิตกกังวลในเรื่องอาหาร พระเหล่านี้ยังได้กล่าวถีงนางมาติกมาตาว่า นางรู้ความรู้สึกนึกคิดของพวกภิกษุทั้งหลายและได้จัดอาหารต่างๆมาถวายตามความต้องการของภิกษุทั้งหลายอีกด้วย
 
มีภิกษุรูปหนึ่งเมื่อได้ฟังพระภิกษุทั้งหลายกล่าวถึงนางมาติกมาตา ก็ได้ตัดสินใจว่าจะไปอยู่ที่หมู่บ้านนั้นบ้าง ดังนั้นเมื่อรับพระกัมมัฏฐานจากพระศาสดาแล้วพระรูปนี้ก็ได้เดินทางไปยังวิหารของหมู่บ้านนั้น และพระรูปนี้ก็ได้พบว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ท่านต้องการนางมาติกมาตาได้นำมาถวายทั้งนั้น เมื่อท่านแค่นึกอยากให้นางมา นางก็จะมาที่วิหารพร้อมกับนำอาหารดีๆติดตัวมาด้วย หลังจากฉันภัตตาหารแล้วภิกษุรูปนี้ก็ได้ถามนางว่านางรู้ความนึกคิดของคนอื่นหรือไม่ นางได้ปฏิเสธที่จะตอบคำถามของภิกษุนั้นตรงๆ ทว่าเลี่ยงไปพูดว่า “พวกคนที่สามารถอ่านความคิด(วาระจิต)ของคนอื่นออกนั้นจะมีพฤติกรรมแสดงออกอย่างนี้ๆ” ครั้นได้ฟังนางกล่าวเช่นนั้นแล้ว ภิกษุนั้นคิดว่า “หากเราซึ่งยังเป็นปุถุชนอยู่คิดในสิ่งที่ไม่ดี นางก็ต้องรู้แน่ๆ” มีความกลัวนางมากและได้ตัดสินใจเดินทางกลับไปที่วัดพระเชตวัน เมื่อเดินทางไปถึงวัดพระเขตวันก็ได้เข้าไปกราบทูลพระศาสดาว่า ท่านไม่สามารถอยู่ที่หมู่บ้านมาติกะนั้นได้เนื่องจากมีความหวาดหวั่นว่านางมาติกมาตาจะล่วงรู้ความคิดที่ไม่ดีของท่าน พระศาสดาได้ขอให้ภิกษุนั้นสำรวมระวังในสิ่งเดียวเท่านั้น คือการควบคุมจิตของตนเอง และพระองค์ได้ตรัสบอกให้ภิกษุนั้นเดินทางกลับไปที่วิหารหมู่บ้านมาติกะอีกครั้งหนึ่ง แล้วไม่ต้องนึกถึงสิ่งอื่นใด ให้นึกถึงเฉพาะเรื่องของพระกัมมัฏฐานเท่านั้น เมื่อภิกษุนั้นกลับไป นางมาติกมาตาก็ได้ถวายอาหารอย่างดีเหมือนอย่างที่นางเคยถวายแก่ภิกษุรูปอื่นๆ ทั้งนี้เพื่อให้ท่านปฏิบัติพระกัมมัฏฐานโดยไม่มีความวิตกกังวล ต่อมาไม่นานภิกษุรูปนี้ก็ได้บรรลุพระอรหัตตผล
 
ครั้นแล้ว พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 38ว่า
ทุนฺนิคฺคหสฺส ลหุโน
ยตฺถ กามนิปาติโน
จิตฺตสฺส ทมโถ สาธุ
จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํฯ
 
(อ่านว่า)
ทุนนิกคะหัดสะ ละหุโน
ยัดถะ กามะนิปาติโน
จิดตัดสะ ทะมะโถ สาทุ
จิดตัง ทันตัง สุขาวะหัง.
 
(แปลว่า)
จิตควบคุมยาก ไปมารวดเร็วมาก
คิดไปตามอารมณ์ที่ต้องการ
การฝึกจิตเป็นการดี

เพราะจิตที่ฝึกแล้วนำสุขมาให้.

 
เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ผู้ที่ประชุมอยู่เป็นจำนวนมาก ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น พระสัทธรรมเทศนา มีประโยชน์แก่มหาชนแล้ว.

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: เรื่องย่อในพระธรรมบท (จิตตวรรค)
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: กรกฎาคม 27, 2011, 03:58:30 pm »

เรื่องอุกกัณฐิตภิกษุ
 
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ที่พระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุผู้กระสันจะสึกรูปใดรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า สุทุทฺทสํ เป็นต้น
 
ครั้งหนึ่ง มีบุตรเศรษฐีผู้หนึ่งอยู่ในกรุงสาวัตถี ได้สอบถามพระภิกษุผู้ไปรับบิณฑบาตที่บ้านของเขาว่า หากเขาต้องการจะพ้นทุกข์เขาควรจะทำอย่างไร พระภิกษุรูปนั้นได้แนะนำเขาให้แบ่งสมบัติออกเป็น 3 ส่วน โดยส่วนหนึ่งใช้ในการดำเนินธุรกิจ ส่วนหนึ่งใช้เลี้ยงบุตรและภรรยา และอีกส่วนหนึ่งใช้ในการทำทาน บุตรเศรษฐีได้ปฏิบัติตามคำแนะนำนั้น และต่อมาเขาได้เรียนถามพระภิกษุรูปเดียวกันนั้นอีกว่า เขาควรทำอะไรอีกต่อไป พระภิกษุนั้นบอกว่า ข้อที่ 1. ให้ถึงพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง และให้รักษาศีล 5  ข้อ 2. ให้รักษาศีล 10 และ ข้อที่ 3. ให้สละโลกออกบวชเป็นภิกษุ บุตรเศรษฐีได้ปฏิบัติตามคำแนะนำนั้นและได้บวชเป็นพระภิกษุในที่สุด
 
เมื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว อาจารย์รูปหนึ่งสอนท่านในเรื่องพระอภิธรรม ส่วนอีกรูปหนึ่งก็สอนในเรื่องพระวินัย เมื่อท่านถูกสอนแบบนี้ ท่านก็มีความรู้สึกว่าต้องมาศึกษาเล่าเรียนมาก ต้องรักษาพระวินัยที่เคร่งครัดและต้องรักษาศีลหลายข้อด้วย จนท่านไม่มีเวลาแม้แต่ “จะเหยียดมือ” ตั้งแต่นั้นมาท่านก็หมดความยินดีที่จะประพฤติพรหมจรรย์ ไม่มีความสุข และไม่ยอมทำการสาธยายในอาการ 32 และไม่ยอมศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม มีร่างกายซูบผอม มีเส้นเอ็นสะพรั่งตามตัว เมื่อพระศาสดาทรงทราบเรื่องนี้ ก็ได้ตรัสกับภิกษุหนุ่มรูปนี้ว่า “หากเธอสามารถคุ้มครองจิตของตัวเองได้ เธอก็ไม่ต้องมีอะไรจะต้องคุ้มครอง แล้วเธอก็จะพ้นทุกข์ได้
 
จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 36 ว่า
สุทุทฺทสํ สุนิปุณํ
ยตฺถ กามนิปาตินํ
จิตฺตํ รกฺเขถ เมธาวี
จิตฺตํ คุตฺตํ สุขาวหํ.
 
(อ่านว่า)
สุทุดทะสัง สุนิปุนัง
ยัดถะ กามะนิปาตะนัง
จิดตัง รักเขถะ เมทาวี
จิดตัง คุดตัง สุขาวะหัง.
 
(แปลว่า)
ผู้มีปัญญา พึงรักษาจิต
ที่เห็นได้แสนยากละเอียดยิ่งนัก
มักตกไปในอารมณ์ตามความใคร่,
(เพราะว่า) จิตที่คุ้มครองไว้ได้

เป็นเหตุนำสุขมาให้.”

 
เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ภิกษุหนุ่มรูปนั้นก็ได้บรรลุพระโสดาบัน และชนเหล่าอื่นเป็นอันมากก็ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น พระสัทธรรมเทศนา เป็นประโยชน์แก่มหาชน

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: เรื่องย่อในพระธรรมบท (จิตตวรรค)
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: กรกฎาคม 28, 2011, 10:47:01 am »

เรื่องพระภาคิไนยสังฆรักขิตเถระ

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ที่วัดพระเชตวัน ปรารภภิกษุชื่อว่าสังฆรักขิตะ ได้ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ทูรงฺคมํ เอกจรํ เป็นต้น

ครั้งหนึ่ง ในกรุงสาวัตถีมีพระเถระรูปหนึ่งชื่อ พระสังฆรักขิตเถระ เมื่อน้องชายของท่านมีบุตรก็ได้ตั้งชื่อบุตรตามชื่อพระพี่ชายว่า ภาคิไนยสังฆรักขิต(หลานของพระสังฆรักขิต) เมื่อหลานของสังฆรักขิตเจริญวัยแล้วก็ได้บรรพชาอุปสมบท ขณะที่พระภิกษุหนุ่มรูปนี้พำนักอยู่ในวัดในชนบทแห่งหนึ่ง ได้ผ้าวัสสาวาสิกสาฎก(ผ้าจำนำพรรษา) มา 2 ผืน ก็ได้ตั้งใจไว้ว่า จะนำผืนหนึ่งไปถวายพระสังฆรักขิตผู้เป็นหลวงลุง ส่วนอีกผืนหนึ่งจะเก็บเอาไว้ใช้เอง
 
เมื่อออกพรรษาปวารณาแล้ว พระภิกษุหนุ่มนี้ก็ได้เข้าไปกราบพระเถระ แล้วนำผ้าจำนำพรรษาออกถวาย แต่พระเถระได้ปฏิเสธที่จะรับผ้านั้นโดยกล่าวว่าท่านมีจีวรเพียงพอแล้ว แม้ว่าจะขยั้นคะยอให้ท่านรับอย่างไรพระเถระก็ไม่ยอมรับ ภิกษุหนุ่มรู้สึกผิดหวังมากเสียใจมากและคิดว่าเมื่อหลวงลุงไม่ประสงค์ทำการใช้สอยบริขารร่วมกับท่านเช่นนี้ ก็ควรที่ท่านจะลาสิกขาออกไปดำเนินชีวิตเป็นฆราวาสเสียเลย

จากจุดเริ่มต้นนี้เอง ท่านก็มีความคิดที่กระเจิดกระเจิงไปว่า เมื่อลาสิกขาแล้วท่านก็จะเอาผ้านี้ไปขายแล้วเอาเงินที่ได้จากขายไปซื้อแม่แพะ ซึ่งแม่แพะก็จะตกลูกออกมาอย่างรวดเร็ว และในไม่ช้าท่านก็จะมีเงินมีทองพอที่จะแต่งงานได้ ภรรยาของท่านก็จะคลอดบุตรออกมาคนหนึ่ง ท่านก็จะพาภรรยาและบุตรขึ้นเกวียนไปไหว้หลวงลุงที่วัด ในระหว่างทางท่านก็จะบอกภรรยาว่าท่านจะขออุ้มบุตรเอง แต่ภรรยาบอกให้ท่านขับเกวียนส่วนนางจะอุ้มบุตรเอง ท่านก็จะยืนยันว่าตนจะต้องอุ้มบุตรให้ได้ จึงไปยื้อยุดฉุดกระชากบุตรมาจากภรรยา เมื่อยื้อกันไปยื้อกันมาบุตรก็จะพลัดตกลงไปข้างล่าง และถูกล้อเกวียนทับ ท่านก็จะโกรธเอาด้ามปฏักตีภรรยา

ขณะที่นั่งคิดอยู่นั้น ภิกษุหนุ่มกำลังใช้พัดก้านตาลพัดพระเถระอยู่ ก็เลยเผลอใช้พัดก้านตาลนั้นฟาดลงบนศีรษะของพระเถระ พระเถระเป็นพระอรหันต์ล่วงรู้จิตของภิกษุหนุ่ม จึงกล่าวว่า “เธอตีภรรยาของเธอไม่ได้ ทำไมจะต้องมาตีพระเถระชรานี้ด้วยเล่า” พอได้ยินพระเถระพูดเช่นนี้ พระภิกษุหนุ่มก็ตกใจ เกิดความละอายใจ ทิ้งพัดก้านตาล วิ่งหนีไป แต่พวกภิกษุหนุ่มและสามเณรทั้งหลาย ไล่ตามจับตัวมายังสำนักของพระศาสดา เมื่อพระศาสดาทรงทราบเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดแล้ว ก็ได้ตรัสว่า จิตมีความสามารถที่จะคิดถึงวัตถุที่อยู่ห่างไกลออกไป ดังนั้นบุคคลพึงพยายามเพื่อความหลุดพ้นของจิตจากเครื่องผูกคือ ราคะ โทสะ และโมหะ ให้ได้
 
จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 37 ว่า
ทูรงฺคมํ เอกจรํ
อสรีรํ คุหาสยํ
เย จิตฺตํ สญฺญเมสฺสนฺติ
โมกฺขนฺติ มารพนฺธนาฯ
 
(อ่านว่า)
ทูรังคะมัง เอกะจะรัง
อะสะรีรัง คุหาสะยัง
เย จิตฺตัง สันยะเมดสันติ
โมกขันติ มาระพันทะนา.
 
(แปลว่า)
จิตชอบท่องเที่ยวไปไกล เที่ยวไปดวงเดียว
ไม่มีร่าง อยู่ในถ้ำคือห้องหัวใจ
ผู้ที่ควบคุมจิตได้
ก็จะพ้นจากบ่วงมาร.
.
เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง พระภาคิไนยสังฆรักขิตเถระ ได้บรรลุพระโสดาปัตติผล ส่วนชนเหล่าอื่นเป็นอันมาก ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น พระสัทธรรมเทศนา มีประโยชน์แก่มหาชน.

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: เรื่องย่อในพระธรรมบท (จิตตวรรค)
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: กรกฎาคม 28, 2011, 11:03:55 am »

เรื่องพระจิตตหัตถเถระ

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ที่พระเชตวัน ทรงปรารภพระจิตตหัตถเถระ ได้ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า อนวฏฺฐิตจิตฺตสฺส เป็นต้น

ชาวนาชาวเมืองสาวัตถีคนหนึ่ง ตามหาโคที่หายไปในป่า รู้สึกหิวมากจึงเข้าไปในวัดประจำหมู่บ้านแห่งหนึ่ง และได้รับประทานอาหารที่เหลือจากพระฉันในตอนเช้า ขณะที่กำลังรับประทานอาหารอยู่นั้น เขาก็มีความคิดว่า แม้ว่าเขาจะทำงานหนักทุกวัน แต่ก็ไม่สามารถหาอาหารดีๆแบบนี้รับประทานได้ หากเขาบวชเป็นพระภิกษุก็จะได้ฉันอาหารดีๆ ดังนั้นเขาจึงไปขอให้ภิกษุทั้งหลายบวชให้ เมื่อเข้าไปบวชเป็นพระอยู่ในวัดแล้ว ท่านนี้ก็ได้ทำหน้าที่ต่างๆของภิกษุ และด้วยเหตุที่มีอาหารดีๆรับประทาน ท่านก็เลยอ้วนท้วนน้ำหนักตัวขึ้นมาก แต่ต่อมาไม่นานท่านเกิดความเบื่อหน่ายกับการที่ต้องออกเดินเที่ยวบิณฑบาต และได้ลาสิกขาออกไปเป็นฆราวาสเช่นเดิม แต่พอสึกไปได้ไม่กี่วันก็มีความรู้สึกว่าชีวิตของฆราวาสน่าเบื่อหน่าย จึงได้หวนกลับไปขอบวชจากพระภิกษุอีกเป็นครั้งที่สอง ซึ่งพระภิกษุก็ได้บวชให้ แต่พอบวชครั้งที่สองนี้อยู่ไม่นาน ท่านก็ลาสิกขาออกไปเป็นฆราวาสอีก ท่านบวชแล้วลาสิกขาแบบนี้ถึง 6 ครั้ง พวกภิกษุทั้งหลายจึงตั้งชื่อให้ว่า “จิตตหัตถเถระ” ซึ่งมีความหมายว่าผู้ตกอยู่ในอำนาจของจิต

ขณะที่ท่านบวชแล้วลาสิกขาไปๆมาๆระหว่างบ้านกับวัดเช่นนี้ ภรรยาของท่านก็ได้ตั้งครรภ์ วันหนึ่งในช่วงที่ท่านลาสิกขาออกไปอยู่ที่บ้านนั้น ท่านบังเอิญเดินเข้าไปในห้องนอนในขณะที่ภรรยาของท่านนอนหลับอยู่ ผ้าที่นางนุ่งเกิดหลุดลุ่ย มีน้ำลายไหลออกจากปาก กรนเสียงดัง ปากอ้า กัดฟัน มีลักษณะคล้ายกับซากศพ เมื่อท่านมองเห็นภรรยาเป็นเช่นนี้ก็เกิดความคิดขึ้นมาว่า “เราไปบวชเป็นภิกษุหลายครั้งมาแล้ว และอยู่เป็นภิกษุไม่ได้ก็เพราะหญิงผู้นี้” คิดเช่นนี้แล้วก็ฉวยผ้ากาสาวพัสตร์เดินออกจากบ้านไปที่วัดเป็นครั้งที่ 7 ขณะที่เดินไปนั้นท่านท่องบ่นไปว่า “ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ๆๆๆ” และก็ได้บรรลุพระโสดาปัตติผลในระหว่างทางที่เดินไปวัดนั้นเอง

เมื่อเดินทางไปถึงที่วัดแล้ว ท่านก็ได้ขอให้ภิกษุทั้งหลายบวชให้ คราวนี้ภิกษุทั้งหลายปฏิเสธและกล่าวว่า “คราวนี้พวกเราบวชให้คุณไม่ได้แล้ว เพราะว่าคุณโกนศีรษะบ่อยมากจนกระทั่งว่าศีรษะของคุณเป็นเหมือนกับหินลับมีดไปแล้ว” ท่านได้วิงวอนขอให้ภิกษุทั้งหลายบวชให้ ซึ่งภิกษุทั้งหลายก็ใจอ่อนได้บวชให้ท่านอีกครั้งหนึ่ง พอบวชไปได้เพียงสองสามวัน ท่านก็ได้บรรลุพระอรหัตตผลพร้อมด้วยปฏิสัมทาญาณทั้งหลาย พอภิกษุเหล่านั้นเห็นว่าท่านอยู่วัดนานผิดปกติก็มีความแปลกใจได้ถามท่านว่า “คุณจิตตหัตถ์ คราวนี้ทำไมถึงบวชนานนัก ไม่สึกออกไปเป็นฆราวาสอีกเล่า” ท่านได้ตอบไปว่า “ผมลาสิกขาออกไปอยู่บ้าน เมื่อผมมีความยึดมั่นถือมั่น แต่ตอนนี้ความยึดมั่นถือมั่นนั้นผมตัดได้แล้ว

พวกภิกษุทั้งหลายไม่เชื่อในคำพูดของท่าน ได้ไปเฝ้าพระศาสดาแล้วกราบทูลเรื่องที่ท่านพูดนั้น พระศาสดาได้ตรัสกะภิกษุเหล่านั้นว่า “อย่างนั้น ภิกษุทั้งหลาย บุตรของเรา ได้ทำการไปและการมา(บวชแล้วสึก และสึกแล้วบวช) ในเวลาที่ไม่รู้พระสัทธรรม ในเวลาที่ตนยังมีจิตไม่มั่นคง บัดนี้ บุตรของเรานั้นละบุญและบาปได้แล้ว

จากนั้นพระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 38 และพระคาถาที่ 39 ว่า
อนวฏฺฐิตจิตฺตสฺส
สทฺธมฺมํ อวิชานโต
ปริปฺลวปสาทสฺส
ปญฺญา น ปริปูรติฯ

(อ่านว่า)
อะนะวัดถิตะจิดตัดสะ
สัดทำมัง อะวิชานะโต
ปะริบละวะปะสาทัดสะ
ปันยา นะ ปะริปูระติ.

(แปลว่า)
ผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น
ไม่รู้พระสัทธรรม
มีศรัทธาลื่อนลอย

ปัญญาของเขาย่อมไม่บริบูรณ์.


อนวสฺสุตจิตฺตสฺส
อนนฺวาหตเจตโส
ปุญฺญปาปปหีนสฺส
นตฺถิ ชาครโต ภยํฯ

(อ่านว่า)
อะนะวัดสุตะจิดตัดสะ
อะนันวาหะตะเจตะโส
ปุนยะปาปะปะฮีนัดสะ
นัดถิ ชาคะระโต ภะยัง.

(แปลว่า)
ผู้มีจิตที่ราคะรั่วรดไม่ได้แล้ว
มีใจไม่ถูกโทสะกระทบ
ละบุญและบาปได้แล้ว

ตื่นอยู่ ก็จะไม่มีภัย.


พระธรรมเทศนา มีประโยชน์แก่มหาชน.

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: เรื่องย่อในพระธรรมบท (จิตตวรรค)
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: กรกฎาคม 28, 2011, 11:17:36 am »

เรื่องภิกษุผู้ปรารภวิปัสสนา
.
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ที่วัดพระเชตวัน ทรงปรารภพวกภิกษุผู้ปรารภวิปัสสนา ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า กุมฺภูปมํ เป็นต้น

พระภิกษุ 500 รูปในกรุงสาวัตถี เมื่อรับพระกัมมัฏฐานจากพระศาสดาแล้ว ก็ได้เดินทางไปเป็นระยะทางห่างจากกรุงสาวัตถี 100 โยชน์ ไปถึงป่าใหญ่แห่งหนึ่งเหมาะที่จะใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน รุกขเทวาทั้งหลายที่อยู่ในป่านั้นคิดว่า หากภิกษุเหล่านี้มาพำนักอยู่ในป่าแห่งนี้แล้ว ก็จะไม่เป็นการสมควรที่พวกตนพร้อมด้วยครอบครัวจะอยู่บนต้นไม้ ดังนั้นพวกรุกขเทวดาจึงได้ลงมาจากต้นไม้มาอยู่ที่พื้นดินโดยคิดว่า พระภิกษุเหล่านี้จะมาพักอยู่แค่คืนเดียว แต่เมื่อครึ่งเดือนผ่านไปพวกภิกษุเหล่านี้ยังพักอยู่ที่นั่นต่อไป พวกเทวดามีความคิดว่าพวกพระภิกษุเหล่านี้อาจจะพักจำพรรษาอยู่จนกระทั่งออกพรรษาเลยก็ได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นพวกรุกเทวดาก็จะต้องพักอยู่ที่พื้นดินเป็นเวลานาน ดังนั้นพวกรุกขเทวาจึงตัดสินใจทำสงครามจิตวิทยา โดยสร้างความตกใจให้แก่ภิกษุทั้งหลายด้วยการทำเป็นเสียงอมนุษย์บ้าง เป็นร่างผีที่น่ากลัวบ้าง เพื่อที่จะให้ท่านกลัวแล้วหนีไปอยู่ที่อื่น พวกรุกขเทวดาได้แสดงร่างผีหัวขาด ผีร่างขาด เป็นต้นให้พวกภิกษุได้เห็น เมื่อพวกภิกษุเหล่านั้นเห็นก็เกิดความเกรงกลัวออกจากที่นั้นกลับไปเฝ้าพระศาสดา และได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลให้ทรงทราบ เมื่อพระศาสดาได้ทรงทราบเรื่องที่เกิดขึ้นนี้แล้ว ได้ตรัสบอกว่าที่เกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้นมาก็เพราะพระภิกษุไปอยู่ที่นั่นโดยไม่มีอาวุธใดๆติดตัวไป พระองค์ได้ทรงแนะนำว่า “แต่ก่อน พวกเธอไม่เอาอาวุธไป บัดนี้พวกเธอจงเอาอาวุธไปเถิด” และว่า “เราจักให้อาวุธแก่พวกเธอ พวกเธอจงถืออาวุธที่เราให้ไป

ดังนี้แล้ว ได้ตรัสเมตตสูตร(สูตรว่าด้วยความเมตตากรุณา) ซึ่งมีข้อความเริ่มต้นว่า
กรณียมตฺถกุสเลน
ยนฺตํ สนฺตํ ปทํ อภิสเมจฺจ
สกฺโก อุชู จ สุอุชู จ
สุวโจ จสฺส มุทุ อนติมานีฯ

(อ่านว่า)
กะระนียะมัดถะกุสะเลนะ
ยันตัง สันตัง ปะทัง อะพิสะเมจจะ
สักโก จะ อุชู จะ สุหุชู จะ
สุวะโจ จัดสะ มุทุ อะนะติมานี.

(แปลว่า)
ผู้รู้สันตบท(บทอันสงบ) พึงทำสิกขา
3 หมวดใด,ผู้ฉลาดในประโยชน์ ควรกระทำสิกขา 3หมวดนั้น
ผู้ฉลาดในประโยชน์ เป็นผู้ซื่อตรง เป็นผู้อ่อนโยน เป็นผู้ไม่ทะนงตัว.


พระศาสดาได้ทรงแนะนำว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงสาธยายเมตตสูตรนี้ จำเดิมแต่ไพรสณฑ์ภายนอกวิหาร เข้าไปสู่ภายในวิหาร” จากนั้นภิกษุเหล่านี้ก็ได้กลับคืนสู่ป่าและปฏิบัติตามที่พระศาสดาทรงแนะนำทุกประการ พวกรุกขเทวดาเมื่อได้รับคำแผ่เมตตาจากพระภิกษุเหล่านี้แล้วก็ได้ทำการต้อนรับจากรุกขเทวดาและทำการป้องกันอันตรายแก่ภิกษุเหล่านี้ หลังจากนั้นก็ไม่มีเสียงของอมนุษย์และภาพที่น่ากลัวอีกต่อไป เมื่อไม่สิ่งที่น่ากลัวเหล่านี้แล้ว จิตของภิกษุเหล่านี้ก็สงบมีอารมณ์เป็นหนึ่งเดียว พิจารณาวิปัสสนา เริ่มเห็นความสิ้นความเสื่อมในร่างกายว่า มีสภาพ “เช่นกับภาชนะดินเพราะต้องแตกและไม่มั่นคง” พระศาสดาซึ่งประทับนั่งอยู่ในพระคันธกุฎี ทรงทราบความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมของภิกษุเหล่านั้น ทรงฉายพระฉัพพรรณรังสีเป็นเหมือนประทับนั่งอยู่เบื้องหน้า แล้วตรัสว่า “อย่างนั้นนั่นแล ภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่าอัตภาพนี้ ย่อมเป็นเช่นกับด้วยภาชนะดินโดยแท้ เพราะอรรถว่าต้องแตก ไม่มั่นคง

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 40 ว่า
กุมฺภูปมํ กายมิมัง วิทิตฺวา
นครูปมํ จิตฺตมิทํ กเถตฺวา
โยเธถ มารํ ปญฺญาวุเธน
ชิตญฺจ รกฺเข อนิเวสโน สิยาฯ

(อ่านว่า)
กุมพูปะมัง กายะมิมัง วิทิดตะวา
นะคะรูปะมัง จิดตะมิทัง กะเถดตะวา
โยเทถะ มารัง ปันยาวุเทนะ
ชิตันจะ รักเข อะนิเวสะโน สิยา.

(แปลว่า)
บุคคลเมื่อทราบว่ากายนี้แตกง่าย
เปรียบได้กับหม้อดิน
ป้องจิตนี้ให้ปลอดภัยเหมือนกับนคร
ที่มีป้อมปราการสร้างไว้ดีแล้ว
ใช้อาวุธคือปัญญารบกับมาร

รักษาชัยชนะไว้ และไม่ติดอยู่ในฌานและสมาบัติ.


เมื่อพระสัทธรรมเทนาจบลง ภิกษุ 500 รูปเหล่านั้นก็ได้บรรลุพระอรหัตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย และได้สรรเสริญชมเชย ถวายบังคมพระสรีระอันมีสีทองของพระตถาคต.

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: เรื่องย่อในพระธรรมบท (จิตตวรรค)
« ตอบกลับ #6 เมื่อ: กรกฎาคม 28, 2011, 11:34:17 am »

เรื่องพระปูติคัตตติสสเถระ

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ที่พระเชตวัน ทรงปรารภพระเถระชื่อ ปูติคัตตติสสเถระ ตรัสพระธรรมธรรมเทศนานี้ว่า อจิรํ วตยํ กาโย เป็นต้น

พระติสสเถระ เมื่อรับพระกัมมัฏฐานจากพระศาสดาแล้ว ก็ได้ขยันหมั่นเพียรปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนั้น และได้เป็นโรคชนิดหนึ่ง มีอาการเป็นตุ่มพุพองทั่วร่างกาย ตุ่มนั้นได้ขยายโตขึ้นๆ แต่แรกเท่าเมล็ดถั่วเขียว โตขึ้นมาหน่อยเท่าเมล็ดถั่วดำ ขยายเท่าเมล็ดกระเบา ขยายเท่าผลมะขามป้อม และขยายเท่าผลมะตูม จนกระทั่งแตก ทั้งผ้าสบงและจีวรเลอะเทอะไปด้วยน้ำเหลืองและน้ำหนอง และทั่วทั้งร่างกายเน่าเฟะ เพราะฉะนั้นท่านจึงมีชื่อว่า พระปูติคัตตติสสะเถระ (พระติสสเถระผู้มีกายเน่า)

เมื่อพระศาสดาตรวจดูสัตว์โลกด้วยข่ายคือพระญาณพิเศษของพระองค์ พระเถระนี้ก็ได้มาปรากฏอยู่ในข่ายนั้น พระศาสดาทรงเห็นศักยภาพที่จะบรรลุพระอรหัตตผลของพระเถระ ทรงดำริว่า “ภิกษุนี้ถูกพวกสัทธิวิหาริกเป็นต้นทอดทิ้งแล้ว บัดนี้ ยกเว้นเราเสีย เธอก็ไม่มีที่พึ่งอื่น” ดังนั้นพระองค์จึงเสด็จไปสู่โรงไฟที่อยู่ใกล้กับที่ที่พระเถระนอนป่วยอยู่นั้น ทรงล้างหม้อ ใส่น้ำ ยกตั้งบนเตา เมื่อทรงรอให้น้ำร้อนได้ประทับยืนในโรงไฟนั่นเอง เมื่อน้ำเดือดแล้วพระองค์ก็ได้ยกหม้อน้ำไปยังเตียงที่พระเถระนั้นนอนอยู่ ในช่วงนี้เองที่บรรดาสัทธิวิหาริกของพระเถระได้พากันมายืนห้อมล้อมพระเถระแล้วช่วยกันหามพระเถระไปที่โรงไฟ จากนั้นพระศาสดาก็ได้ทรงรดร่างกายของพระเถระนั้นด้วยน้ำอุ่น ทรงถูร่างกายให้ ขณะที่ทรงอาบน้ำให้พระเถระอยู่นั้น ทรงรับสั่งให้ให้นำสบงและจีวรของพระเถระไปซักตาก หลังจากอาบน้ำเสร็จและนำสบงจีวรมาเปลี่ยนให้ใหม่แล้ว พระเถระก็มีร่างกายสดชื่น มีจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งเดียว นอนอยู่บนเตียง พระศาสดาไปประทับยืนอยู่เหนือหัวเตียงของพระเถระ ตรัสกะพระเถระว่า ร่างกายเมื่อปราศจากวิญญาณ ก็จะไร้ประโยชน์นอนอยู่บนพื้นดิน เหมือนท่อนไม้

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 41 ว่า
อจิรํ วตยํ กาโย
ปฐวึ อธิเสสฺสติ
ฉุฑโฑ อเปตวิญญาโณ
นิรตฺถํ ว กลิงครํ ฯ

(อ่านว่า)
อะจิรัง วะตะยัง กาโย
ปะถิวิง อะทิเสดสะติ
ฉุดโท อะเปตะวินยาโน
นิรัดถังวะ กะลิงคะรัง.

(แปลว่า)
อีกไม่นานหนอ ร่างกายนี้
จักนอนทับถมแผ่นดิน
ปราศจากวิญญาณ ถูกทอดทิ้งไว้

ราวกับท่อนไม้ ไม่มีประโยชน์.


เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง พระติสสเถระก็ได้บรรลุพระอรหัตตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย ส่วนชนเป็นอันมากก็ได้บรรลุพระอริยผล มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น ฝ่ายพระเถระบรรลุพระอรหัตผลแล้วก็ปรินิพพานในเวลาต่อมา พระศาสดาโปรดให้ทำการฌาปนกิจศพของท่าน ทรงเก็บอัฐิธาตุแล้วโปรดให้ทำเจดีย์ไว้

พวกภิกษุมีความสงสัยว่า เป็นเพราะเหตุใดพระปูติคัตตเถระจึงมีร่างกายพุพองเน่าเหม็นแต่ในภายหลังก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์เช่นนี้ จึงไปทูลถามเรื่องนี้กับพระศาสดา พระศาสดาได้ตรัสว่า ที่พระเถระมีร่างกายเน่าเปื่อยเพราะในสมัยพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะนั้น ท่านเกิดเป็นนายพราน ฆ่าวิหกนกกาไปเป็นจำนวนมาก เมื่อฆ่าแล้วก็นำไปให้แก่ผู้มีอำนาจวาสนาในราชการงานเมือง นกที่เหลือเขาก็ทำการหักกระดูกขาและกระดูกปีกเพื่อไม่ให้บินหนี แล้วนำไปขายเลี้ยงชีวิตในวันรุ่งขึ้น เขากระทำอยู่อย่างนี้ จวบจนกระทั่งวันหนึ่ง ขณะที่ปิ้งเนื้อนกเพื่อจะรับประทานอยู่นั้น ก็แลเห็นพระเถระรูปหนึ่งมายืนบิณฑบาตอยู่ที่หน้าประตูบ้าน มีจิตเลื่อมใส คิดว่า “สัตว์มีชีวิตมากมาย ถูกเราฆ่าตาย ก็พระผู้เป็นเจ้ายืนอยู่ที่ประตูเรือนของเรา และโภชนะอันมีรสก็มีอยู่พร้อมในเรือน เราจะถวายบิณฑบาตแก่ท่าน” ครั้นแล้วจึงเดินออกไปรับบาตรของพระเถระซึ่งเป็นพระอรหันต์เข้ามาในบ้านแล้วใส่เนื้อนกปิ้งและอาหารอย่างอื่นจนเต็มบาตร แล้วน้อมบาตรเข้าไปถวาย ไหว้ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วกล่าวตั้งสัตยาธิษฐานว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าพึงถึงที่สุดแห่งธรรมที่ท่านเห็นเถิด”(ภนฺเต ตุมฺเหหิ ทิฏฺฐธมฺมสฺส มตฺถกํ ปาปุเณยฺยํ) ข้างพระเถระได้กล่าวอนุโมทนาว่า “จงเป็นอย่างนั้น(เอวํ โหตุ)”

พระศาสดาทรงประมวลผลกรรมตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ผลกรรมนั่นสำเร็จแล้วแก่ติสสะ ด้วยอำนาจแห่งกรรมที่ติสสะทำแล้วในกาลนั้นนั่นเอง กายของติสสะเกิดเน่าเปื่อย และกระดูกทั้งหลายแตก ก็ด้วยผลของการทุบกระดูกนกทั้งหลาย ติสสะบรรลุอรหัต ก็ด้วยผลของการถวายบิณฑบาต อันมีรสแก่พระขีณาสพ”

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: เรื่องย่อในพระธรรมบท (จิตตวรรค)
« ตอบกลับ #7 เมื่อ: กรกฎาคม 28, 2011, 11:46:09 am »

เรื่องนันทโคปาลกะ

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในโกศลชนบท ทรงปรารภนายโคบาลชื่อนันทะ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ทิโส ทิสํ เป็นต้น
นายนันทะเป็นนายโคบาล(เลี้ยงโค) ซึ่งคอยเลี้ยงโคให้แก่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี แม้ว่าเขาจะเป็นแค่คนเลี้ยงโคแต่เขาก็เป็นคนมีทรัพย์มาก ในบางครั้งเขาจะไปที่บ้านของอนาถบิณฑิกเศรษฐี พบพระศาสดาและได้ฟังธรรมของพระองค์ เขาได้ทูลนิมนต์พระศาสดาให้เสด็จไปที่บ้าน แต่พระศาสดายังมิได้เสด็จไปในทันที โดยตรัสว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะเสด็จไป ต่อมาขณะที่พระศาสดาทรงจาริกไปกับพระภิกษุสงฆ์นั้นก็ได้ทรงแวะไปเยือนนันทะที่บ้านของเขา โดยทรงทราบว่าถึงเวลาแล้วที่เขาจะได้รับคำสอนที่เหมาะสม นันทะได้ถวายบังคมพระศาสดาและได้ทำการต้อนรับพระศาสดาและภิกษุสงฆ์ทั้งหลายด้วยความเคารพ ได้นำนมโคและผลิตผลจากนมโครวมทั้งภัตตาหารที่ดีๆมาถวายเป็นเวลา 7 วัน ในวันที่ 7 นั้น หลังจากที่ได้ฟังพระสัทธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้ว นันทะได้บรรลุพระโสดาปัตติผล เมื่อพระศาสดาเสด็จกลับในวันนั้น นันทะได้ถือบาตรตามเสด็จพระศาสดาเป็นระยะทางไกลพอสมควร แล้วก็ถวายบังคมลาและเดินทางกลับบ้าน

ในทันใดนั้นเอง นายพรานคนหนึ่งซึ่งเป็นศัตรูเก่าของนันทะ ได้ใช้ศรยิงเขาตาย เมื่อพระภิกษุทั้งหลายที่ติดตามมาข้างหลังพระศาสดา เห็นนันทะนอนตายอยู่ ก็ได้นำความขึ้นกราบทูลพระศาสดาว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะพระองค์เสด็จมาที่นี่ นันทะจึงได้ถวายมหาทานแก่พระองค์ ได้ตามส่งเสด็จพระองค์แล้วถูกฆ่าตายเมื่อตอนเดินทางกลับมาบ้าน” พระศาสดามีดำรัสตอบภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไม่ว่าเราจะมาหรือไม่ การรอดพ้นจากความตายของนันทะย่อมไม่มี เพราะจิตที่ตั้งไว้ผิดแล้ว สามารถสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อผู้นั้นยิ่งกว่าที่ศัตรูหรือโจรกระทำต่อกันเสียอีก

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 42 ว่า
ทิโส ทิสํ ยนฺตํ กยิรา
เวรี วา ปน เวรินํ
มิจฺฉาปณิหิตํ จิตฺตํ
ปาปิโย นํ ตโต กเรฯ

(อ่านว่า)
ทิโส ทิสัง ยันตัง กะยิรา
เวรี วา ปะนะ เวรินัง
มิดฉาปะนิหิตัง จิดตัง
ปาปิโย นัง ตะโต กะเร.

(แปลว่า)
จิตที่ตั้งไว้ผิด
ย่อมสร้างความเสียหายให้ยิ่งกว่า
ที่
โจรหรือศัตรู

จะพึงทำให้กันเสียอีก.


เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น พระสัทธรรมเทศนามีประโยชน์แก่มหาชน.

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: เรื่องย่อในพระธรรมบท (จิตตวรรค)
« ตอบกลับ #8 เมื่อ: กรกฎาคม 28, 2011, 12:05:17 pm »


          เรื่องพระโสไรยเถระ

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ที่พระเชตวัน ทรงปรารภนายโสไรยะ บุตรของเศรษฐีแห่งเมืองโสไรยะ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า น ตํ มาตา ปิตา กยิรา เป็นต้น

ครั้งหนึ่ง นายโสไรยะพร้อมกับเพื่อนคนหนึ่ง และผู้ติดตามอีกจำนวนหนึ่ง ได้นั่งรถม้าคันหรูจะไปอาบน้ำกัน ในขณะนั้นเองพระมหากัจจายนเถระได้มาผลัดผ้าสบงจีวรอยู่ที่นอกเมือง ขณะที่ท่านกำลังจะเข้าไปบิณฑบาตในตัวเมือง นายโสไรยะหนุ่มแลเห็นผิวพรรณเหลืองอร่ามดุจทองคำของพระเถระแล้วคิดในทางที่ไม่ดีว่า “เราอยากให้พระเถระมาเป็นภรรยาของเรา หรือมิฉะนั้นก็ให้ผิวพรรณของภรรยาของเราเหมือนกับผิวพรรณของพระเถระนี้” ขณะที่ความปรารถนาในทางอกุศลเช่นนี้เกิดขึ้นกับนายโสไรยะ เพศชายของเขาก็ได้หายไป เพศหญิงเกิดขึ้นมาแทนที่ นายโสไรยะมีความละอายจึงลงจากรถม้าวิ่งหนีไปทางถนนที่จะไปสู่เมืองตักกสิลา พวกเพื่อนๆที่มาด้วยเห็นเขาหายไป ก็ได้พยายามตามหาแต่ก็ไม่พบ

ข้างนายโสไรยะ ซึ่งตอนนี้กลายเพศมาเป็นหญิงแล้ว ได้ถอดแหวนที่อยู่ที่นิ้วมือของตนยกให้พวกคนที่กำลังจะเดินทางไปเมืองตักกสิลา เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่นางจะได้ขอร่วมเดินทางไปกับพวกเขาด้วย พอเดินทางไปถึงเมืองตักกสิลา พวกเพื่อนร่วมทางได้แนะนำตัวนางโสไรยะให้รู้จักกับบุตรเศรษฐีที่เมืองตักกสิลาคนหนึ่ง บุตรเศรษฐีเห็นว่านางโสไรยะสะสวยงดงามมากและมีอายุเหมาะสมกับตนจึงได้ขอแต่งงานด้วย เมื่อแต่งงานอยู่กินกันทั้งสองสามีภรรยานี้ก็มีบุตรด้วยกัน 2 คน ส่วนบุตรอีกสองคนของโสไรยะในตอนที่เป็นเพศชายนั้นก็มี 2 คนเท่ากัน

วันหนึ่ง บุตรของเศรษฐีที่เมืองโสไรยะผู้หนึ่งได้เดินทางมาที่เมืองตักกสิลาพร้อมด้วยกองคาราวานเกวียน 500 เล่ม นางโสไรยะจำได้ว่าบุตรเศรษฐีคนนี้ก็คือเพื่อนเก่าของนางในสมัยที่นางเป็นเพศชาย จึงได้ส่งคนไปเชิญเขามาที่บ้าน บุตรเศรษฐีจากเมืองโสไรยะมีความประหลาดใจที่ได้รับเชิญเพราะว่าเขาไม่เคยรู้จักหญิงที่มาเชิญมาก่อน เขาได้บอกกับนางโสไรยะว่าเขาไม่รู้จักกับนางมาก่อน และสอบถามว่านางรู้จักเขามาก่อนหรือไม่ นางโสไรยะตอบว่านางรู้จักเขาและก็ยังได้สอบถามถึงคนในครอบครัวของนางและคนอื่นๆในเมืองโสไรยะด้วย ชายที่มาจากเมืองโสไรยะจึงได้เล่าเรื่องบุตรชายของเศรษฐีได้หายตัวไปอย่างลึกลับขณะนั่งรถจะไปอาบน้ำ พอถึงตอนนี้นางโสไรยะก็ได้บอกว่าตนนี่แหละคือบุตรของเศรษฐีคนนั้น และนางได้เล่าเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้น ว่านางมีความคิดที่เป็นอกุศลต่อพระมหากัจจายนะทำให้เพศชายหายไปเพศหญิงเกิดขึ้นแทนที่ นางได้เดินทางมาที่เมืองตักกสิลาและได้มาแต่งงานกับบุตรชายเศรษฐีที่เมืองตักกสิลานี้ ชายที่มาจากเมืองโสไรยะได้แนะนำให้นางโสไรยะไปขอโทษพระมหากัจจายนเถระเสีย ต่อมาพระมหากัจจายนเถระก็ได้รับนิมนต์มาฉันภัตตาหารที่บ้านของนางโสไรยะ หลังจากที่พระเถระฉันภัตตาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว นางโสไรยะก็ถูกนำตัวออกมาอยู่เบื้องหน้าของพระเถระ และชายที่มาจากเมืองโสไรยะได้เรียนพระเถระว่า นางโสไรยะผู้นี้เมื่อครั้งอดีตคือบุตรชายของเศรษฐีที่เมืองโสไรยะ เขาได้บรรยายความให้พระเถระฟังต่อไปว่า ที่นางโสไรยะกลายเพศมาเป็นหญิงนี้ก็เพราะมีอกุศลจิตต่อพระเถระ จากนั้นนางโสไรยะก็ได้กราบขอขมาพระเถระ พระเถระได้กล่าวขึ้นว่า “จงลุกขึ้นเถิด เราให้อภัยแก่ท่านแล้ว” ทันทีที่คำเหล่านี้ออกมาจากปากของพระเถระ นางโสไรยะก็มีเพศกลับมาเป็นชายดังเดิม นายโสไรยะเมื่อกลับมามีเพศชายได้เช่นนี้ ก็เกิดความแคลงใจว่าเป็นไปได้อย่างไรที่ในชาติเดียวกันนี้คนๆเดียวจะเปลี่ยนเพศได้ และเป็นไปได้อย่างไรที่เขาสามารถตั้งครรภ์มีบุตรได้ เป็นต้น เขามีความรู้สึกสงสัยและอยากรู้อยากเห็นในเรื่องเหล่านี้มาก จึงได้ตัดสินใจสละชีวิตฆราวาสออกบวชเป็นพระภิกษุ โดยมีพระมหากัจจายนเถระเป็นพระอุปัชฌาย์

หลังจากที่พระโสไรยะบวชเป็นพระภิกษุแล้ว ท่านก็มักถูกตั้งคำถามเสมอๆว่า “ระหว่างบุตร 2 คนที่เกิดในขณะที่ท่านเป็นชาย กับบุตร 2 คนที่เกิดในขณะที่ท่านเป็นหญิง ท่านรักบุตร 2 คนไหน” ท่านได้ตอบคำถามของคนที่มาถามเหล่านี้ว่า ท่านรักบุตรที่เกิดในขณะที่ท่านเป็นหญิงมากกว่า มีคนถามคำถามนี้กับท่านบ่อยมาก จนท่านรู้สึกรำคาญและละอายใจที่จะตอบ ดังนั้นท่านจึงปลีกตัวไปอยู่ในที่สงัด และได้มุ่งมั่นปฏิบัติสมณธรรมโดยเพ่งพินิจความเสื่อมและความสลายไปของร่างกาย ต่อมาไม่นานท่านก็ได้บรรลุพระอรหัตตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย คราวนี้เมื่อมีคนนำคำถามเดิมๆมาถามท่านอีก ท่านก็ได้ตอบว่า ท่านไม่มีความรักกับผู้ใดผู้หนึ่งโดยเฉพาะ เมื่อภิกษุอื่นๆได้ฟังท่านพูดเช่นนี้ก็คิดว่าท่านพูดโกหก เมื่อพระภิกษุทั้งหลายนำความที่พระเถระเปลี่ยนแปลงคำพูดมากราบทูล พระศาสดาได้ตรัสว่า “บุตรของเรามิได้กล่าวเท็จ แต่ได้พูดความจริง ที่คำตอบของบุตรของเราต่างไปจากเดิมนั้น ก็เพราะว่าบัดนี้บุตรของเราได้บรรลุพระอรหัตตผลแล้ว เพราะฉะนั้นบุตรของเราจึงไม่มีความรักสำหรับผู้ใดโดยเฉพาะอีกต่อไป จิตที่ตั้งไว้ดีแล้วของบุตรของเราก่อให้เกิดผลดีที่บิดาหรือมารดาก็ไม่สามารถนำมาให้ได้

จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 43 ว่า
น ตํ มาตา ปิตา กยิรา
อญเญ วาปิจ ญาตกา
สมฺมาปณิหิตํ จิตฺตํ
เสยฺยโส นํ ตโต กเรฯ

(อ่านว่า)
นะ ตัง มาตา ปิตา กะยิรา
อันเย วาปิจะ ยาตะกา
สัมมาปะนิหิตัง จิดตัง
เสยยะโส นัง ตะโต กะเร ฯ

(แปลว่า)
มารดา บิดา ก็ทำให้ไม่ได้
ญาติพี่น้องก็ทำให้ไม่ได้
แต่จิตที่ตั้งไว้โดยชอบแล้ว

ทำสิ่งนั้นให้ได้ และทำให้ได้ดีกว่าด้วย.


เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง คนเป็นอันมากได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น พระสัทธรรมเทศนา มีประโยชน์แก่มหาชน.



นำมาแบ่งปันโดย :
one mind :http://agaligohome.com/index.php?topic=4601.0
Pics by : -http://www.chula-alumni.com/forum/forum_postpop.asp?FID=3&TID=507&PN=1&TPN=1
:Google
ใต้ร่มธรรมดอทเน็ต * อกาลิโกโฮม
สุขใจดอทคอม
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 10, 2012, 06:47:45 am โดย ฐิตา »