ผู้เขียน หัวข้อ: คำสอนเซ็น โพธิธรรมคำสอน:THE ZEN TEACHING OF BODHIDHARMA  (อ่าน 12297 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 3 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด

คำสอนเซ็น :
โพธิธรรมคำสอน... (ปรมาจารย์ตั๊กม้อ)
แปลจาก THE ZEN TEACHING OF BODHIDHARMA
พุทธยานันทภิกขุ แปลและเรียบเรียง

วันที่ 5 มีนาคม 2547 มีโอกาสไปทอดผ้าป่าที่วัดป่าโสมพนัส บ้านภูเพ็ก ต.นาหัวบ่อ อ.พรรณานิคม จ. สกลนคร ได้ทราบว่าคณะญาติธรรมวัดป่าโสมพนัสกำลังเตรียมต้นฉบับ เพื่อจัดพิมพ์หนังสือ คำสอนเซ็น โพธิธรรมคำสอน...(ปรมาจารย์ตั๊กม้อ) ซึ่งแปลและเรียบเรียงโดย พุทธยานันทภิกขุ

ความตั้งใจของคณะญาติธรรมวัดป่าโสมพนัส คือ พิมพ์เพื่อเผยแพร่เป็นธรรมทาน พระมหาปัญโญภิกขุได้กรุณาให้นำต้นฉบับมาเผยแพร่ในลานธรรมเพื่อให้ผู้อ่านพิจารณาให้ข้อเสนอแนะก่อนจัดพิมพ์เป็นหนังสือต่อไป

คำปรารภการแปล
ข้าพเจ้าได้รับต้นฉบับคำสอนของท่านโพธิธรรมที่เป็นภาษาจีน และภาษาอังกฤษจากคุณรณชัย เมื่อ 10 กว่าปีมาแล้ว เมื่ออ่านแล้วรู้สึกว่าชอบมาก เลยลงมือแปลเล่น ๆ เพื่อให้เพื่อนนักปฏิบัติกรรมฐานร่วมกันในขณะนั้นได้อ่านเพื่อการศึกษา เพราะแนวคำสอนหลัก ๆ ตรงกับแนวคำสอนของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ที่พวกเราสมาทานปฏิบัติกันอยู่ แม้ท่านปรมาจารย์ทั้งสองท่าน จะมีชีวิตห่างกันกว่า 2 พันปีแล้วก็ตาม แต่แนวความคิดและคำสอนตรงกันอย่างน่าประหลาด จึงนึกถึงคำพูดของหลวงพ่อเทียนที่ว่า “ ธรรมะแท้เป็นสิ่งเดียวกัน ” ไม่ว่าจะต่างกันกี่พันปีก็ตาม

ดังนั้น เมื่อปลายปี 2546 พระอาจารย์สุริยา มหาปัญโญ ได้นำต้นฉบับที่ข้าพเจ้าแปลไว้ให้ กลับมาปรับปรุงแก้ไขอีกครั้งหนึ่ง เพราะมีผู้มีจิตศรัทธาประสงค์จะพิมพ์เผยแพร่ให้ได้อ่านกันกว้างขวางต่อไป แม้ข้าพเจ้าจะไม่ค่อยมีเวลามากนัก แต่เล็งเห็นประโยชน์ของสาระคำสอน ที่จะสร้างสรรค์สืบทอดนักปฏิบัติจิตตภาวนารุ่นต่อ ๆ ไป ข้าพเจ้าจึงตกลงทำการปรับปรุงแก้ไขอีกครั้ง

เป็นธรรมดาว่า คำพูดของคนเมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว จะนำมาสื่อความหมายกับคนปัจจุบันโดยตรงเป็นเรื่องยากมาก แต่อาศัยว่าท่านได้ใช้ภาษาจิต เป็นหลักการสอน ภาษาจิตเป็นภาษาที่อยู่เหนือกาลเวลา สามารถสื่อกันรู้เรื่องได้ ทุกยุคทุกสมัย คือภาษาธรรมะเป็นภาษาที่ไม่ล้าสมัย ด้วยความเข้าใจเช่นนี้ ข้าพเจ้าจึงได้แปลและเรียบเรียงขยายความ ผสมผสานกัน จนสื่อความหมายได้ระดับหนึ่ง ดังนั้น ลักษณะของการเขียนจึงมี 4 ลักษณะด้วยกัน

1. การแปลโดยตรง
2. ขยายความ ( ในวงเล็บ – ผู้แปลไทย )
3. ข้อสังเกต
4. เรียบเรียงความไม่ชัดให้ชัดขึ้น


แต่รับรองได้ว่าเนื้อหาสาระ และความหมายยังคงเดิมทุกประการไม่ผิดเพี้ยน แต่ท่านต้องอ่านอย่างพินิจพิจารณาหลาย ๆ รอบ จึงจะเข้าใจได้ครบถ้วน แต่ที่แน่ ๆ ก็คือ ผู้อ่านต้องมีพื้นฐานการเจริญวิปัสสนามาก่อน พอสมควร มิฉะนั้นแล้ว ก็ยากจะเข้าใจได้ครบถ้วนและแจ่มแจ้ง เพราะผู้พูดพูดด้วยคารมการวิปัสสนา ผู้แปลก็แปลด้วยสำนวนวิปัสสนา

ดังนั้น ผู้อ่านก็ต้องอ่านด้วยอารมณ์วิปัสสนา ถึงจะสื่อความหมายถูกต้องและตรงกัน ถ้าผู้อ่านจะอ่านหนังสือเล่มนี้ให้เข้าใจ ต้องไปปฏิบัติวิปัสสนาให้เข้าใจเสียก่อน มิฉะนั้น ท่านจะงุนงง สับสนในการอ่านเป็นอันมาก เช่น สำนวนท่านพูดว่า

คนบูชาย่อมไม่รู้ คนรู้ย่อมไม่บูชา
( Those who worship don’t know, and those who know don’t worship.) เป็นต้น
ข้อความเดิมเป็นเช่นนี้ท่านจะเข้าใจว่าอย่างไร หรือข้อความต้นฉบับที่ว่า

“But why shouldn’t we worship Buddha and Bodhisattava?”
“แล้วทำไมเราจะต้องบูชาพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์กันอีกละ ?”

ข้อความเหล่านี้ล้วนท้าทายชาวพุทธเถรวาท ให้พิสูจน์ พิจารณากันทั้งสิ้น ตลอดทั้งเล่ม จะมีข้อความเหล่านี้เยอะมาก จึงใคร่ขอให้ผู้อ่านอย่าเพิ่งรับและปฏิเสธ หรือตั้งข้อรังเกียจใด ๆ แต่ขอให้พิจารณาและปฏิบัติวิปัสสนาเพื่อพิสูจน์ความจริงกันต่อไป

จึงขอบคุณพระอาจารย์สุริยา ที่มีวิริยะอุตสาหะขวนขวายเก็บต้นฉบับแปลไทยเอาไว้ ซึ่งข้าพเจ้าลืมไปแล้วและเมื่อข้าพเจ้าต้องการต้นฉบับภาษาอังกฤษ ท่านก็ขวนขวายมาจนได้อีก

ก็นับว่าพระคุณท่านเริ่มเห็นด้วยกับคำสอนของท่านโพธิธรรมบ้างแล้ว และก็หวังว่าผู้อ่านอีกหลาย ๆ ท่านก็เห็นความจริงตามท่านปรมาจารย์โพธิธรรม มากขึ้นเรื่อย ๆ นั้นหมายถึงมิติใหม่แห่งพุทธศาสนาแบบเถรวาทได้เจริญก้าวหน้ามาเป็นมหายานได้อย่างถูกต้องและกลมกลืนที่สุด เพื่อจะได้เข้าสู่วิถีแห่งวัชรยานในศตวรรษต่อไป

ขอขอบคุณทุกท่านผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและช่วยกัน ทำหนังสือเล่มนี้พิมพ์ออกมาสู่สายตาของสาธุชน ขอท่านทั้งหลายจงเจริญสติสัมปชัญญะ อย่างถูกต้อง จริงจัง ต่อเนื่อง จนเข้าถึงกระแสแห่งพุทธภาวะด้วยกันทุกคนทุกท่านเทอญ 

พุทธยานันทภิกขุ ( พระมหาดิเรก ศักดิ์สิทธิ์ )
วันจันทร์ ที่ 12 ธันวาคม 2546 เวลา 12.00 น.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 05, 2011, 06:25:22 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: คำสอนเซ็น โพธิธรรมคำสอน...
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: สิงหาคม 04, 2011, 11:29:52 am »

สารบัญ

คำปรารภ ( INTRODUCTION )
บทที่ 1 หลักการปฏิบัติธรรม (OUTLINE OF PRACTICE)
- หลักการปฏิบัติธรรม

บทที่ 2 ธรรมเทศนาดุจกระแสเลือด (BLOOD STREAM SERMON)
- ธรรมเทศนาดุจกระแสเลือด (โลหิตสูตร)
- จงทำตามธรรม แต่อย่าทำตามความคิด
- การตัดเวรตัดกรรมคือการตัดความคิดปรุงแต่ง
- การศึกษาภายนอกมากเกินไป ทำให้ลืมการศึกษาภายใน
- คนตาบอดย่อมไม่รู้จักคนตาบอด
- เพราะตัณหาเกิด ทุกข์ก็เกิด เพราะตัณหาดับ ทุกข์ก็ดับ
- การถ่ายทอดธรรม คือการถ่ายทอดจิตสู่จิต


บทที่ 3 เสียงปลุก ( ภัทเทกรัตตสูตร : WAKE-UP SERMON )
- เสียงปลุก

บทที่ 4 บรรลุธรรม (ปฏิเวธสูตร : BREAK THROUGH SERMON )
- บรรลุธรรม
- สิ่งที่ท่านเรียกว่า “ วัด ”
- การก่อเจดีย์
- การจุดธูปบูชา
- การบูชาพระพุทธเจ้าที่ถูกต้อง
- ประทีปที่ติดไว้ตลอดเวลา
- การอดอาหาร

- การบูชา
- ห้องน้ำ (อุทกฆรสูตร)


เชิงอรรถบทที่ 1
เชิงอรรถบทที่ 2
เชิงอรรถบทที่ 3
เชิงอรรถบทที่ 4


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: คำสอนเซ็น โพธิธรรมคำสอน...
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: สิงหาคม 04, 2011, 11:45:13 am »

คำปรารภ
INTRODUCTION

พระพุทธศาสนาได้เข้ามาสู่ประเทศจีนเป็นเวลากว่า 2,000 ปีมาแล้ว ประมาณหลังปี พุทธศักราช 65 คณะสงฆ์แห่งพระพุทธศาสนาตามบันทึกกล่าวว่า ได้รับการอุปถัมภ์บำรุงจากกษัตริย์ ซึ่งอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของจังหวัดเกียงซู ( Kiang Su ) อันตั้งอยู่ไม่ไกลจากภูมิลำเนาของท่านขงจื้อ คณะสงฆ์กลุ่มแรก น่าจะเดินทางมาถึงก่อนหน้านี้แล้วหลายร้อยปี

ดังนั้น พระภิกษุชาวอินเดียและเอเชียกลาง จำนวนหลายพันรูปได้เดินทางมาสู่ประเทศจีน ทั้งทางบกและทางเรือ ในบรรดาพระสงฆ์ที่นำพระพุทธศาสนามาสู่ประเทศจีนเหล่านี้ ไม่มีใครโดดเด่นเทียบเท่าท่านโพธิธรรมได้เลย

แต่ในยุคของท่าน ไม่ค่อยมีใครรู้จักมากนัก นอกจากสานุศิษย์ของท่านเพียงไม่กี่คน ท่านโพธิธรรมเป็นสังฆราชแห่งนักบวชเซ็น ( มหายาน ) และนักศึกษากังฟูรวมแล้วหลายล้านคน ท่านเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในพงศาวดารหลายแห่ง

นอกจากลัทธิเซ็นและการฝึกกังฟูแล้ว ท่านโพธิธรรมยังได้นำเอาชามาสู่ประเทศจีนด้วย ตามที่ปรากฏในพงศาวดารคือการแก้ง่วง ( แบบพิสดาร ) ในขณะที่ท่านปฏิบัติกรรมฐาน คือท่านได้เฉือนเอาหนังตาออก เหลือแต่ลูกตา และในสถานที่ที่ท่านทิ้งหนังตานั้นเองปรากฏต้นชาเกิดขึ้นมาแทน

ดังนั้น ใบชาจึงกลายมาเป็นเครื่องดื่ม ไม่เพียงแต่พระเท่านั้นแต่รวมทั้งชนชาวตะวันออกด้วย ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาต่อการกระทำของท่านนั้น นักจิตรกรรมมักจะแกะสลักภาพท่านโพธิธรรมที่มีแต่ลูกตาไม่มีหนังตาเสมอ

มักเป็นเรื่องธรรมดาที่ปรากฏในพงศาวดาร คือ ไม่สามารถแยกเรื่องจริงออกจากเรื่องนิยายได้ ( เรื่องจริง อิงนิยาย ) กาลเวลาในยุคของท่านไม่ค่อยแน่นอน ความจริงแล้ว ข้าพเจ้ารู้จักนักปราชญ์ทางพุทธศาสนาอย่างน้อยก็ท่านหนึ่ง ผู้ซึ่งตั้งข้อสงสัยว่า ท่านโพธิธรรมมีอยู่จริงหรือเปล่า ?

แต่ก็เป็นการเสี่ยงที่จะเขียนถึงคนที่ไม่มีชีวิตอยู่จริง ข้าพเจ้าเองได้ตรวจสอบกับอัตตชีวประวัติที่คล้ายคลึงกันโดยอาศัยบันทึกที่มีอยู่สมัยแรกๆ และจากการคาดคะเนของข้าพเจ้าเองบ้าง และได้จากการจัดรวบรวมหลักฐานที่ปรากฏในธรรมเทศนาของท่านบ้าง

ท่านโพธิธรรม ถือกำเนิดประมาณปีพุทธศักราช 440 ในเมืองกันจิ ( Kanchi ) อันเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรปัลลวะ ( Pallava ) ทางอินเดียตอนใต้ ท่านนับถือศาสนาพราหมณ์โดยกำเนิด และเป็นพระราชบุตรองค์ที่ 3 ของพระเจ้าสิงหวรมัน(Simhavarman) เมื่อท่านโตเป็นหนุ่ม ท่านได้หันมานับถือพุทธศาสนา

และกาลต่อมา ท่านได้รับการสอนธรรมะจากท่านปรัชญาตาระ ( Prajnatara ) ซึ่งเป็นครูที่พระบิดาท่านได้นิมนต์มาจากดินแดนสำคัญทางศาสนา คือเมืองมคธและท่านปรัชญาตาระนี้เองที่เป็นผู้แนะนำท่านโพธิธรรมให้เดินทางมาสู่ประเทศจีน แต่การเดินทางไปต่างประเทศตามระเบียบแล้วจำกัดให้เฉพาะพวกฮั่น (Huns : ชนชาวฮั่น) แต่ด้วยชนชาวปัลลวะมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ท่านโพธิธรรมจึงได้โดยสารเรือมาขึ้นใกล้ ๆ กับท่ามหาปัลลิปุรัม ( Mahaballipurum )

หลังจากนั้น ก็ได้เดินลัดเลาะมาตามชายฝั่งมหาสมุทรอินเดียมาทางเกาะมาเลย์เป็นเวลา 3 ปี ในที่สุดท่านก็มาถึงจีนทางภาคใต้ ประมาณปีพุทธศักราช 475


ในสมัยนั้นประเทศจีนตอนเหนือถูกแบ่งออกเป็น 2 ราชวงศ์ คือ ราชวงศ์ ไว่ (Wei) และราชวงศ์หลิวซ่ง ( Liu – Sung ) ต่อมาประเทศจีนถูกแบ่งเป็นราชวงศ์ฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ โดยเริ่มจากศตวรรษที่สามและเรื่อยมา

ต่อมาก็กลับมาเข้าร่วมกันใหม่ ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ซุย ( Sui ) มาถึงตอนปลายของศตวรรษที่หก ในช่วงแห่งการแบ่งแยกและต่อสู้ชิงกันนี้ พระพุทธศาสนาแบบอินเดียก็พัฒนาผสมผสานเข้ากันเป็นพุทธศาสนาแบบจีน ประชาชนฝ่ายเหนือมีจิตใจฝักใฝ่การปกครองแบบทหาร จึงมีแนวโน้มการทำกรรมฐานเพื่อให้เกิดอำนาจขลังศักดิ์สิทธิ์มากกว่า ส่วนประชาชนฝ่ายใต้ฝักใฝ่เหตุผลและสติปัญญา จึงชอบการวิเคราะห์ด้วยหลักปรัชญาและหลักปรีชาญาณตามคำสอนของศาสนา

เมื่อท่านโพธิธรรมมาถึงประเทศจีน ซึ่งอยู่ในช่วงหลังของศตวรรษที่ห้า มีวัดในพระพุทธศาสนาประมาณ 2,000 วัด และมีพระประมาณ 36,000 รูป ทางตอนใต้

ทางตอนเหนือ ตามที่สำรวจในปี พ.ศ. 477 มีวัดประมาณ 6,500 วัด และมีนักบวชเกือบ 80,000 รูป ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่าอีก 50 ปี ต่อมา

ที่สำรวจกันอีกแห่งหนึ่งที่ทำไว้ ทางตอนเหนือมีวัดเพิ่มจำนวนมากถึง 3,000 วัด และมีพระมากถึง 2,000,000 รูป หรือประมาณ 5 % ของประชากรทั้งหมด

แน่นอนว่าสถิตินี้ คงจะรวมเอาประชาชนที่พยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษี , พวกหนีการเกณฑ์ทหาร หรือพวกแสวงหาการคุ้มครองจากทางศาสนาและลัทธิอื่น ๆ อีกทั้งเหตุผลอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องศาสนาด้วย

แต่เป็นที่แน่ชัดว่า พุทธศาสนาได้เผยแพร่เข้าสู่สามัญชน ทางตอนเหนือของแม่น้ำแยงซีเกียง ทางตอนใต้พุทธศาสนายังเผยแพร่อยู่ในกลุ่มของผู้ดีมีการศึกษา จนกระทั่งมาถึงศตวรรษที่ 6

เมื่อท่านโพธิธรรมมาถึงท่าเรือหนานไห่ (Nanhai) อาจเป็นได้ว่า ท่านได้รับนิมนต์จากศูนย์พุทธศาสนาทางตอนใต้ของจีนและเริ่มศึกษาภาษาจีน เมื่อเดินทางมาจากอินเดีย ยังไม่ได้ศึกษาภาษาจีนมาก่อนเลย
ตามบันทึกของท่านเต้าหยวน (Tao-Yuan) ในหนังสือชื่อว่า “ Transmission Of The Lamp” (การถ่ายทอดประทีปธรรม) ซึ่งบันทึกไว้เมื่อปี พ.ศ. 1002 ระบุว่า ท่านโพธิธรรมเดินทางมาถึงตอนใต้ของจีน อย่างช้าประมาณ พ.ศ. 520 และได้รับนิมนต์ให้พักอยู่ที่เมืองหลวงชื่อว่า เฉียนกัง (Chienkang) เพื่อแสดงธรรมตามคำนิมนต์ของพระจักรพรรดิหวู ( Wu) แห่งราชวงศ์เหลียง ในการพบปะกันครั้งนี้ พระเจ้าจักรพรรดิได้ตรัสถามถึงอานิสงส์ของการบำเพ็ญทาน ในพุทธศาสนาท่านโพธิธรรมได้ตอบตามหลักคำสอนว่าด้วยความว่าง (หรือตอบด้วย สำนวนปรมัตถ์ )ปรากฏว่าพระจักรพรรดิไม่สามารถเข้าใจคำตอบของท่านได้ ท่านโพธิธรรมก็จากไป แต่บันทึกยุคแรก ๆ มิได้เอ่ยถึงการพบปะของบุคคลทั้งสองไว้เลย

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: คำสอนเซ็น โพธิธรรมคำสอน...
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: สิงหาคม 04, 2011, 12:11:08 pm »

จะอย่างไรก็ตาม ท่านโพธิธรรมได้ข้ามมาทางแม่น้ำแยงซี , ตามตำนานที่บันทึกไว้ในเรื่อง Hollow Reed ซึ่งอยู่ทางเหนือของประเทศ ระบุว่า ครั้งแรกท่านได้พักอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของเมืองไว่ (Wei) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นปิงเซ็ง(Ping-Cheng)

ในปี พ.ศ. 494 เมื่อจักรพรรดิ เฉา – เวน (Hsiao – Wen ) ได้ย้ายเมืองหลวงจากทางใต้ ไปอยู่ที่โลหยาง (Loyang) ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งด้านเหนือของแม่น้ำโล พระสงฆ์ส่วนมากที่อาศัยอยู่เมือง ปิงเซ็ง ( PingCheng ) ก็ย้ายตามไปด้วย และท่านโพธิธรรมก็อาจจะย้ายตามพระสงฆ์กลุ่มนี้ไปด้วย

ตามบันทึกของท่านเต้าส่วน (Tao – Hsuan) ชื่อว่าชีวิตพระผู้เป็นแบบอย่างในอนาคต (Further lives of exemplary monk) ซึ่งเป็นหนังสือเล่มแรกที่ท่านได้แต่งขึ้นในปี พ.ศ. 645 บอกว่าท่านโพธิธรรมได้ให้การอุปสมบทแก่พระรูปหนึ่งชื่อว่า เช็ง–ฟู (Sheng-Fu) เมื่อเมืองหลวงถูกย้ายมาอยู่ที่ โลหยาง ท่านเช็ง- ฟู ก็ย้ายไปทางใต้ ตามปกติเมื่อบวชแล้วต้องฝึกฝนตนเองอยู่กับอาจารย์ถึง 3 ปี แต่ท่านโพธิธรรมก็ยังพักอยู่ทางตอนเหนือของเมืองหลวงจนถึงปี พ.ศ. 490 และสนทนาเป็นภาษาจีนได้บ้างแล้ว

ห้า – หกปีต่อมา ประมาณ พ.ศ. 496 พระเจ้าจักรพรรดิ ได้รับสั่งให้สร้างวัดเส้าหลินขึ้น ซึ่งอยู่ติดกับภูเขา ซ่ง (Sung) ที่จังหวัด โหหนาน (Honan) อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองโลหยาง ปัจจุบันนี้วัดนั้นก็ยังมีอยู่ ( เป็นวัดที่นักท่องเที่ยวชอบไปกันมากที่สุด ) ซึ่งสร้างไว้เป็นที่พักของอาจารย์กรรมฐานรูปอื่น มิใช่ท่านโพธิธรรม วัดนี้เป็นวัดที่พระสงฆ์เซ็น แวะเวียนมาอยู่พักอาศัยตั้งแต่อดีตเป็นเวลา 1,500 ปีมาแล้ว

ท่านโพธิธรรม เป็นพระเพียงองค์เดียว ที่นักประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนานำมาโยงเข้ากับประวัติของวัดเส้าหลิน

ณ ที่ยอดเขาเฉาฉือ (Shaoshih) ตั้งอยู่ด้านตะวันตกของภูเขาซ่ง ( Shung) ตามประวัติกล่าวว่า ท่านโพธิธรรม ได้ใช้เวลาบำเพ็ญกรรมฐาน ณ ที่ตรงนี้ ถึง 9 ปี โดยนั่งสมาธิแล้ว หันหน้าสู่กำแพงหินของถ้ำ ห่างจากวัดเส้าหลินไปเพียง 1 ไมล์ ต่อมาวัดเส้าหลินกลายเป็นสำนักฝึกกังฟูของพระสงฆ์ และท่านโพธิธรรมก็ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้ก่อตั้ง ศิลปะกังฟูด้วย ด้วยเหตุที่ท่าน
เดินทางมาจากอินเดีย ( อันเป็นดินแดนลือชื่อเกี่ยวกับศิลปะการฝึกโยคะ ) แน่นอนว่า ท่านคงได้ฝึกฝนหลักการทำโยคะให้แก่สานุศิษย์ ในรูปแบบอย่างใดอย่างหนึ่งบ้างก็ได้ แต่ในบันทึกชั้นต้น ๆ ไม่ได้เอ่ยถึงการสอนกังฟู หรือการออกกำลังกายและศิลปะแบบตะวันออกใด ๆ เอาไว้เลย

ผ่านมาถึง พ.ศ. 500 เมืองโลหยาง กลายเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดเมืองหนึ่งของโลก ซึ่งมีประชากรมากกว่าครึ่งล้าน เมื่อจักรพรรดิซุนหวู (Hsuan – Wu) สวรรคตลงในปี พ.ศ. 516 จากนั้นพระจักรพรรดินีหลิง (Ling) ผู้เป็นพระชายาก็ส่งทหารเข้ายึดอำนาจของรัฐบาล บทบาทต่อพุทธศาสนาอันดับแรกของเธอ ก็คือ สั่งให้สร้างอาราม ชื่อว่าย่ง – หนิง ( Yung – Ning) ได้สร้างพระเจดีย์สูงถึง 400 ฟุต ทรัพย์สินในท้องพระคลังถูกใช้จ่ายไปในการก่อสร้างเกือบหมดสิ้น ตามบันทึกของวัดโลหยาง กล่าวไว้ ในปี พ.ศ. 547 โดยท่าน หยางฉวนฉี่ ว่า “ระฆังทองที่แขวนไว้ตามระเบียงโบสถ์ ก็สามารถได้ยินไกลออกไปถึง 3 ไมล์ และยอดพระเจดีย์สูง สามารถมองเห็นได้ระยะไกลเกินกว่า 30 ไมล์” บันทึกของท่านหยางฉวนฉี่ รวมทั้งข้อคิดเห็นของพระที่มาจากตะวันตก เชื่อว่า ท่านโพธิธรรมได้กล่าวไว้ว่า “ วัดนี้มีโครงสร้างที่โดดเด่นสง่างามมากที่สุดเท่าที่เห็นมา” วัดนี้ยังสร้างไม่สำเร็จ มาจนถึงปี พ.ศ. 516 และต่อมาก็ถูกไฟไหม้ ในปี พ.ศ. 534

ท่านโพธิธรรม ก็ยังอยู่ที่เมืองหลวงมาถึงราว พ.ศ. 520 บันทึกยุคแรก ๆ บอกว่า ท่านเดินผ่านอาณาจักรโลหยาง ไป – มา บริเวณนี้ในบางโอกาส ที่เมืองแห่งนี้ ท่านได้พักประจำอยู่ที่วัด ย่ง – หมิง ( Yung – Ming ) อย่าจำสับสนกับวัด ย่ง – หนิง ( Yung – Ning ) วัดย่ง - หมิง ได้สร้างมาก่อนวัด ย่ง - หนิง คือประมาณต้น ๆ ศตวรรษที่ 6 โดยพระเจ้าจักรพรรดิซุนหวู เพื่อเป็นสำนักที่พักพิงของสงฆ์ชาวต่างประเทศก่อนหน้าที่จะมีการอพยพครั้งใหญ่ ซึ่งเป็นช่วงของการล่มสลาย ของอาณาจักรไว่ ทางตอนเหนือ ในปี พ.ศ.534 ตามรายงานบอกว่า วัดนี้มีพระสงฆ์ซึ่งมาจากประเทศต่าง ๆ ตลอดถึงประเทศซีเรีย ถึง 3,000 องค์

แม้ว่าพุทธศาสนิกในประเทศจีน ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วก็ตาม ท่านโพธิธรรมก็ได้สานุศิษย์ที่แท้จริงเพียง 2-3 ท่าน คือ ท่านเช็งฟู ผู้ซึ่งต่อมาได้ย้ายลงมาอยู่ทางตอนใต้ หลังจากอุปสมบทแล้วไม่นานสานุศิษย์องค์อื่น ๆ ที่ถูกเอ่ยถึงอีก 2 รูป ก็คือท่านเต้าหยู ( Tao-yu ) และท่านฮุ้ยค้อ ( Hui- Ko )

ท่านทั้งสองที่กล่าวถึงนี้ ได้อยู่ศึกษากับท่านโพธิธรรมเป็นเวลา 5-6 ปี ท่านเต้าหยูที่พูดถึงนี้แม้ท่านเข้าใจธรรมะแต่ก็ไม่เคยสอน


สำหรับท่านฮุ้ยค้อ ท่านโพธิธรรมได้มอบบาตรและจีวรให้รับช่วงเป็นธรรมทายาทแทน แต่ฉบับแปลของท่านคุณาภัทระ (Gunabhadra) ในเรื่องลังกาวตารสูตรกล่าวว่า ท่านโพธิธรรมได้มอบตำแหน่งธรรมทายาทให้แก่ท่านเต้าส่วน

ในธรรมเทศนานี้ แม้ท่านโพธิธรรมแสดงไว้ ส่วนมากนำมาจาก นิรวาณสูตร, อวตังสกสูตรและวิมลกีรติสูตร (วิมลกีรติ) และไม่ใช่ลักษณะทางไวยากรณ์เหมือนลังกาวตารสูตร บางทีอาจเป็นเทศนาของท่านฮุ้ยค้อ ( ไม่ใช่ของท่านโพธิธรรม ) ผู้ซึ่งพิจารณาพระสูตรนี้ไว้อันดับสูงสุด

ในเรื่องนี้ว่าด้วยเรื่อง “การถ่ายทอดประทีปธรรม” ของท่านเต้าหยวน (Tao-Yuan) กล่าวว่าไม่นานหลังจากท่านได้มอบตำแหน่งสังฆปรินายกแก่ทายาทของท่านคือท่านฮุ้ยค้อ ท่านโพธิธรรมก็มรณภาพ ในปี พ.ศ. 528 ตรงกับวันที่ 5 เดือน 12 ซึ่งถูกวางยาพิษจากพระที่อิจฉาท่าน

ชีวะประวัติของท่านโพธิธรรมฉบับแรก ๆ ของท่านเต้าหยวน กล่าวเพียงว่า “ท่านมรณภาพบนฝั่งแม่น้ำโล (Lo-River)” และไม่ได้เอ่ยถึงวันเวลาและสาเหตุของการมรณภาพ ตามบันทึกของท่านเต้าหยวน กล่าวถึงว่า เมื่อท่านโพธิธรรมยังมีชีวิตอยู่ได้เข้าไปเมืองโลหยาง ที่วัดติงหลิน ( Tinglin Temple ) ใกล้ภูเขาหูหมี ( Bear ear Mountain )

ท่านเต้าหยวนกล่าวว่า “สามปีต่อมาได้มีเจ้าหน้าที่ทางการพบท่านโพธิธรรมกำลังเดินไปตามภูเขาแถบเอเชียกลาง ท่านกำลังนำคณะเดินไปพร้อมกับรองเท้าข้างเดียว และท่านก็บอกแก่เจ้าหน้าที่ว่าท่านกำลังเดินทางกลับประเทศอินเดีย”

จากข่าวการได้พบท่านโพธิธรรมนี้เอง ก็ทำให้พระภิกษุรูปอื่น ๆ ต้องการทราบข้อเท็จจริง ในที่สุดก็ตกลงกันที่จะเปิดดูหลุมฝังศพท่านโพธิธรรม ( เมื่อเปิดแล้ว ) ทุกอย่างที่ท่านเหล่านั้นพบก็คือมีรองเท้าข้างเดียวอยู่ในหลุม

ดังนั้นภาพของท่านโพธิธรรมที่ถูกวาดต่อมาก็คือ ภาพของท่านที่กำลังนำคณะจาริกไปพร้อมกับรองเท้าข้างที่หายไป

เมื่อจักรพรรดิเฉียวหวู่ ( Shio Wu ) ถูกลอบปลงพระชนม์ ในปี พ.ศ. 534, ราชวงศ์ไว่ ฝ่ายเหนือได้แตกกันเป็นสองฝ่ายคือ ฝ่ายตะวันตกและฝ่ายตะวันออกและอาณาจักรโลหยางก็ถูกโจมตี

เมื่อตระกูลเคียว ( Kao ) แห่งราชวงศ์ไว่ฝ่ายตะวันออกมีอำนาจก็ได้กลับมาฟื้นฟูอุปถัมภ์อุปัฏฐากพระพุทธศาสนาอีก

พระภิกษุที่อาศัยอยู่ในอาณาจักรโลหยาง มีเป็นจำนวนมากรวมทั้งท่านฮุ้ยค้อ ด้วย ก็ได้ย้ายมาอยู่กับราชวงศ์ไว่ ฝ่ายตะวันออกอันเป็นเมืองหลวงของแคว้นเย้ ( Yeh )

ณ ที่นั้นท่านฮุ้ยค้อ ได้พบกับท่านภิกษุตันหลิน ( Tan – Lin ) บ่อยครั้ง ท่านภิกษุตันหลินท่านมีผลงานเผยแพร่ครั้งแรกที่โลหยาง และต่อมาที่แคว้นเย้ ท่านได้เขียนคำปรารภและคำอธิบายการแปลครั้งใหม่ของพุทธพจน์

หลังจากท่านได้พบกับท่านฮุ้ยค้อ ท่านก็เกิดความสนใจการเข้าถึงพุทธธรรมของท่านโพธิธรรม และเพิ่มบทนำว่าด้วยหลักของการปฏิบัติธรรม (Outline Of Practice)


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: คำสอนเซ็น โพธิธรรมคำสอน...
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: สิงหาคม 04, 2011, 12:55:07 pm »

ในบทนำท่านกล่าวว่า ท่านโพธิธรรมมาจากอินเดียใต้ และเดินทางมาถึงจีน ท่านได้พบสาวกคนสำคัญเพียงสองท่าน คือท่านฮุ้ยค้อ และท่านเต้าหยู และท่านกล่าวอีกว่า ท่านโพธิธรรมสอนกรรมฐานกำแพง ( Wall Meditation ) และหลักปฏิบัติ 4 ประการ ซึ่งอธิบายไว้ใน Outline of Practice

ถ้าเรื่องทั้งหมดนี้ทำให้เรารู้จักท่านโพธิธรรม ( ก็ไม่มีอะไรมาก ) แต่ทำไมท่านจึงมีชื่อเสียงมากที่สุด ในจำนวนพระตั้งหลายล้านรูป ซึ่งให้การศึกษา และสอนธรรมะในประเทศจีน ?

เหตุผลก็คือว่า ท่านเป็นพระเพียงรูปเดียวที่ได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นผู้นำเซ็นมาสู่จีน แน่นอน “ เซ็น ” ในฐานะเป็นกรรมฐานแบบหนึ่ง ซึ่งได้มีการสอนและปฏิบัติกันมาเป็นเวลาหลายร้อยปีก่อนที่ท่านโพธิธรรมจะมาถึงประเทศจีน และสิ่งที่ท่านนำมาสอนส่วนมากก็เกี่ยวข้องกับคำสอนที่มีการสอนกันมาก่อนแล้ว เช่น ท่านเต้าเซ็ง ( Tao – Sheng ) เป็นต้น ก็สอนกันมาหลายร้อยปีแล้ว

แต่การเข้าถึงเซ็นของท่านโพธิธรรมนั้นพิเศษกว่า เช่นตัวอย่างที่ท่านแสดงไว้ในพระธรรมเทศนาเหล่านี้ว่า
การเห็นธรรมชาติของตัวท่านเองคือเซ็น... Seeing your nature is Zen …
  ไม่คิดถึงอะไรคือเซ็น… Not thinking about anything is Zen...
                   
ทุกสิ่งที่ท่านทำคือเซ็น... Everything you do is Zen…


ขณะที่ท่านอาจารย์ท่านอื่น ๆ เห็นว่าเซ็นเป็นธรรมะ สำหรับชำระจิตหรือเป็นขั้นตอนไปสู่เส้นทางแห่งพุทธภาวะ แต่ท่านโพธิธรรมเห็นเซ็นเสมอด้วยพุทธภาวะ และเห็นพุทธภาวะเสมอด้วยจิต คือจิตธรรมดาสามัญ แทนที่จะบอกให้สาวกของท่านชำระจิตของตน ท่านกลับชี้ให้ศิษย์หันหน้าสู่กำแพงหิน ชี้ให้ดูการเคลื่อนไหวของเสือและนกกระเรียน ชี้ให้ดูไม้อ้อที่กำลังลอยไปตามแม่น้ำแยงซี ( เกียง ) ชี้ให้ดูรองเท้าข้างเดียว

เซ็นของท่านโพธิธรรมเป็นเซ็นแบบมหายาน ไม่ใช่เซ็นแบบหินยาน คือดาบแห่งปัญญา ไม่ใช่กรรมฐานแบบเบาะนุ่มๆ ท่านก็สอนสาวกของท่านแบบเดียวกับอาจารย์อื่นๆ สอนอย่างไม่ต้องสงสัย คือสอนหลักพุทธธรรมกรรมฐาน และคำสอนอันเป็นหลักทฤษฎี แต่ท่านได้ใช้ดาบที่ท่านปรัชญาตาระได้มอบให้แก่ท่าน คือ ตัดใจเป็นอิสระจากกฎเกณฑ์, จากฌานและคัมภีร์
แม้ดาบเช่นนั้นจะยากแก่การจับและการใช้ก็ตาม แต่ก็ประหลาดเล็กน้อยที่ธรรมทายาทเพียงคนเดียวของท่านคือท่านฮุ้ยค้อ กลับเป็นคนมีแขนข้างเดียว

แต่ความเข้าใจ เซ็นดั้งเดิมไม่ได้เกิดมาจากท่านโพธิธรรม หรือท่านปรัชญาตาระ แต่ท่านกล่าวว่า วันหนึ่งพระพรหม เทพเจ้าผู้สร้างโลก ได้ถวายดอกบัวแก่พระพุทธเจ้าและอาราธนาให้ทรงเผยแพร่ธรรมะ เมื่อพระองค์ทรงชูดอกบัวขึ้น พระสาวกของพระองค์ก็เกิดความงุนงง ยกเว้นพระมหากัสสปะซึ่งได้ยิ้มออกมา

นี่คือมูลฐานว่า เซ็นได้เริ่มต้นอย่างไร นี้คือวิธีถ่ายทอด ( เซ็น ) ด้วยดอกไม้ ด้วยกำแพงหิน ด้วยการตะโกน,(เพื่อแสดงให้เห็นว่า) การเข้าถึงเซ็นด้วยวิธีนี้ ท่านโพธิธรรมได้ทำให้เป็นที่รู้จักมาแล้วครั้งหนึ่ง และธรรมทายาทของท่านได้ทำการปฏิวัติความเข้าใจและการปฏิบัติพุทธศาสนาในประเทศจีน

การเข้าถึงเซ็นเช่นนี้ ไม่อาจพานพบได้ด้วยการอ่านหนังสือ แต่ในหนังสือของท่านเต้าส่วน ชื่อ “ FURTHER LIVES OF EXAMPLARY MONKS ” กล่าวไว้ว่าคำสอนของท่านโพธิธรรมที่บันทึกไว้ นักปราชญ์ ส่วนมากเห็นว่า “ OUTLINE OF PRACTICE ” เป็นบันทึกชิ้นหนึ่ง แต่แนวความคิดได้แยกไว้ในธรรมเทศนาอีก 3 กัณฑ์ที่นำมาแปลในที่นี้ และเทศนาทั้งหมด 3 กัณฑ์นี้ เชื่อว่าเป็นของท่านโพธิธรรม ( แท้ ๆ )

แต่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ผู้รู้หลายท่านให้ข้อสังเกตว่า เทศนาเหล่านั้นน่าจะเป็นงานเขียนของสาวกรุ่นหลัง ๆ เช่น ท่านยานาจิตะ ( Yanagita ) ได้อ้างว่า “ ธรรมะดุจสายเลือด ” เป็นส่วนหนึ่งของนิกาย OXHEAD ZEN ซึ่งเจริญรุ่งเรืองในศตวรรษที่ 7 – 8 และท่านคิดว่าเทศนาชื่อ “ ปลุกให้ตื่น ( WAKE- UP ) ” เป็นงานเขียนในศตวรรษที่ 8 ของนิกายเซ็นฝ่ายเหนือและเทศนาชื่อ “ บรรลุธรรม ( BREAK-THROUGH) ” เป็นเทศนาของท่านเช็นสู ( Shen – Hsiu ) ซึ่งเป็นสังฆปรินายกแห่งนิกายเซ็นฝ่ายเหนือในศตวรรษที่ 7

น่าเสียดายว่าหลักฐานที่จะนำมาพิสูจน์ หรือหักร้างเหตุผลที่ยกมาอ้างเดิม ๆ นั้นยังอ่อนอยู่ จนกระทั่งมาถึงศตวรรษนี้ ฉบับคัดลอกที่เป็นที่รู้จักกันในยุคแรก ๆ ของธรรมเทศนาเป็นคำแปลของราชวงศ์ถัง ในศตวรรษที่ 14 ( 618 – 907 ) ซึ่งเกิดขึ้นด้วยการรวบรวมของพุทธสมาคมของญี่ปุ่น แต่ต้นฉบับของพุทธธรรมได้ถูกค้นพบโดยราชวงศ์ถังมาเป็นเวลาพัน ๆ ปีแล้ว

มาถึงศตวรรษนี้ คัมภีร์นี้ได้ถูกค้นพบในถ้ำ ตุน –ฮวง ( Tun – Huang Caves ) ในประเทศจีน บัดนี้มีต้นฉบับที่ได้มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 7- 8
แน่นอนว่า ธรรมเทศนาเหล่านี้ ได้รับการรวบรวมมาแต่ยุคแรก ๆ โดยพระที่ปฏิบัติตามอาจารย์รุ่นเก่า ๆ ต่อมาจากท่านโพธิธรรม ถ้าไม่ใช่ท่านฮุ้ยค้อ หรือสาวกรูปใดรูปหนึ่งของท่านแล้ว บางทีอาจ
เป็นท่านตันหลินเป็นผู้เขียนก็ได้

จะด้วยเหตุใดก็ตาม เมื่อไม่มีหลักฐานอ้างอิงที่จะทำให้เชื่อถือได้มาเปรียบเทียบ ข้าพเจ้าไม่เห็นเหตุผลว่าต้นฉบับเหล่านี้ จะไม่ถูกยอมรับว่าเป็นธรรมเทศนาของคน ๆ หนึ่ง ซึ่งคำสอนของท่านถูกอ้างอิงมาเป็นเวลานานกว่า 1,200 ปี มาแล้ว

สาวกของท่านโพธิธรรมมีเพียงไม่กี่รูป และธรรมเนียมเซ็นที่ถือปฏิบัติตามกันมาแต่บรรพบุรุษจนมาถึงท่าน ก็ไม่ได้เริ่มต้นด้วยดอกไม้บาน จนกระทั่งผ่านมาเกือบ 200 ปี หลังจากการมรณกรรมของท่าน การเข้าถึงธรรมก็ให้เป็นไปเอง ไม่สนับสนุนการเข้าถึงเซ็นโดยวิธีการของท่านโพธิธรรม
มันเป็นการง่ายที่จะเห็นว่า เพราะเหตุใดธรรมเทศนาเหล่านี้ จึงไม่เป็นที่นิยมของอาจารย์เซ็นที่มีสัญชาติจีนในเวลาต่อมา ด้วยการเปรียบเทียบกับธรรมเทศนา ของท่านโพธิธรรมแล้วดูเหมือนจะพบว่าเพราะท่านเป็นพระต่างด้าวและไม่มีอะไร

ข้าพเจ้าได้พบเรื่องนี้ด้วยตัวเองโดยบังเอิญ คือในการรวบรวมงานเขียนของท่านฮวงโป ว่าด้วยเรื่อง ESSETIALS ON THE TRANSMISSION OF MIND ซึ่งเป็นเวลา 12 ปี มาแล้ว

แต่ข้าพเจ้ารู้สึกติดอกติดใจมาก ในเรื่องกระดูกเซ็น ( BARE BONES ZEN ) และข้าพเจ้าแปลกใจว่าทำไมพวกอาจารย์เซ็นของจีนจึงไม่ชอบ แต่จะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม ในเรื่องนี้จะนำมากล่าวอีกครั้ง ก่อนที่มันจะเหี่ยวแห้งเป็นผงธุลีอยู่ใต้ถุนโบสถ์ หรือห้องสมุดต่อไป


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
บทที่ 1 หลักการปฏิบัติธรรม : OUTLINE OF PRACTICE
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: สิงหาคม 04, 2011, 01:52:58 pm »


บทที่ 1 หลักการปฏิบัติธรรม
OUTLINE OF PRACTICE

ถนนหลายสายย่อมนำไปสู่มรรค 1* แต่โดยพื้นฐานแล้ว ย่อมมีทางเพียง 2 ทางเท่านั้น คือภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ การเข้าถึงทฤษฎี หมายถึงการเข้าใจอย่างชัดเจนถึงเนื้อหาสาระในการสอน และความเชื่อที่ว่าสรรพชีวิตย่อมรวมอยู่ในธรรมชาติอันเดียวกัน แต่ความเข้าใจตามหลักทฤษฎีนี้ ไม่เป็นที่แจ่มแจ้งชัดเจน เพราะเราถูกห่อหุ้มด้วยอำนาจแห่งเวทนา และความหลง

สำหรับบุคคลที่ขจัดความหลงออกได้ ย่อมพบความจริง คือบุคคลที่เพ่งพินิจต่อกำแพงธรรม 2* ( สุญญตาธรรม ) อยู่เสมอ ไม่มีความสำคัญมั่นหมายในตนเองและผู้อื่น ย่อมรวมความเป็นปุถุชนและพุทธะเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเป็นผู้ดำรงจิตไว้อย่างมั่นคงไม่คลอนแคลนหวั่นไหวไปกับอำนาจคัมภีร์ตำรา

บุคคลเช่นนั้น ย่อมประสบกับความสำเร็จ และไม่ขัดแย้งกับทฤษฎีด้วย การไม่คลอนแคลนหวั่นไหวไปกับหลักทฤษฎี เรากล่าวว่าบุคคลนั้นเข้าสู่กระแสธรรม

การเข้าสู่กระแสธรรมโดยการปฏิบัติ หมายถึง การปฏิบัติที่ประกอบไปด้วย
หลัก 4 ประการ
( อริยสัจแบบมหายาน ) เหล่านี้คือ
1. การกำหนดรู้ทุกข์
2. การปรับปรุงแก้ไขทุกข์อยู่เสมอ
3. การไม่มีความทะเยอทะยาน
4. การเจริญภาวนาธรรม ( อริยมรรค )


ประการที่ 1. การกำหนดรู้ทุกข์ เมื่อแสวงหาอริยมรรค ย่อมเผชิญกับความยากลำบาก ผู้แสวงหาย่อมคิดถึงตัวเอง ( ด้วยความท้อถอยว่า ) “ ในกัป กัลป์ที่ผ่านไป อันกำหนดนับไม่ได้นี้ ฉันได้ใช้ชีวิตสิ้นเปลืองไปกับสิ่งไร้สาระ และเวียนว่ายไปในภพภูมิต่าง ๆ มากมาย บ่อยครั้งที่เราโกรธอย่างไร้เหตุผล และละเมิดฝ่าฝืนทำสิ่งผิดนับครั้งไม่ถ้วน

มาบัดนี้ แม้จะไม่ได้ทำผิดอะไรเลย แต่เราก็ต้องถูกลงโทษด้วยอดีตกรรม เมื่อกรรมชั่วให้ผลตอบสนอง ทั้งเทวดาและมนุษย์ก็ไม่อาจมองเห็น ฉันจะก้มหน้ารับผลกรรมอันนี้ด้วยจิตใจที่เปิดเผย และจะไม่คร่ำครวญพร่ำบ่นถึงความไม่เป็นธรรม”


พระสูตรกล่าวว่า “ เมื่อท่านพบกับความทุกข์ยากลำบาก อย่าเสียใจ เพราะมันจะทำให้เกิดอุปาทาน ” เมื่อเข้าใจเช่นนี้ ชื่อว่าท่านทำถูกต้องกับทฤษฎี และการกำหนดรู้ทุกข์ย่อมทำให้ท่านเข้าสู่กระแสแห่งอริยมรรค

ประการที่ 2. การปรับปรุงแก้ไขทุกข์อยู่เสมอ ในฐานะเราเป็นสัตว์ที่ต้องตาย เราถูกสังขารธรรมทั้งหลายครอบงำ ไม่ใช่ตัวเราเอง ความทุกข์ความสุขที่เราได้รับล้วนเกิดจากสังขาร ( การปรุงแต่งกาย – ใจ ) เราจะไม่มีความรู้สึกเป็นสุข

ถ้าเราประสบโชคอันยิ่งใหญ่ เช่น ชื่อเสียง โภคทรัพย์ เป็นต้น อันเป็นผลของบุญกุศลอันเราได้บำเพ็ญไว้ในอดีตกาล เมื่อเหตุปัจจัยเปลี่ยนแปลงโชคลาภก็หมดไป

ทำไมเราต้องยินดีพอใจในชีวิตเช่นนั้นด้วยเล่า ? เมื่อความสำเร็จและความล้มเหลวต่างก็เป็นสังขารธรรมทั้งนั้น จึงไม่ควรปล่อยจิตใจให้ฟู – แฟบไปกับสังขารเหล่านั้น ผู้ดำรงจิตไว้อย่างมั่นคง ไม่หวั่นไหวไปกับกระแสแห่งความสุข , ความทุกข์ ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติตามอริยมรรคอย่างเงียบ ๆ

ประการที่ 3. การไม่มีความทะเยอทะยาน คนในโลกนี้ถูกความหลงครอบงำ พวกเขาจึงมักหมกมุ่นมัวเมาอยู่กับโลกธรรม ด้วยความหลงละเมอทะเยอทะยาน แต่ผู้รู้ ( วิญญูชน ) ย่อมตื่นตัว ท่านเหล่านั้นย่อมเลือกทำตามเหตุผลมากกว่าความเคยชิน และมีโยนิโสมนสิการ คือ ทำทุกสิ่งไว้ด้วยใจอันแยบคาย และปล่อยร่างกายให้เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล

ปรากฏการณ์ ( รูป – นาม ) ทุกอย่างเป็นของว่างเปล่า ไม่มีคุณค่าควรแก่การทะยานอยาก ความเสื่อมกับความเจริญ 4* เกิดขึ้น และดับไปสลับกันอยู่ตลอดเวลา ความยินดีพอใจอยู่ในภพทั้งสาม 5* เป็นเสมือนการอาศัยอยู่ในเรือนที่ไฟกำลังไหม้อยู่ การมีกายนี้จึงเป็นทุกข์

มีใครบ้างที่อาศัยกายนี้แล้ว พบกับความสงบสุข บรรดาผู้ที่เข้าใจสัจจธรรมข้อนี้ ย่อมถ่ายถอนตนเองออกจากภพทั้งปวง และหยุดการปรุงแต่ง หรือทะยานอยากในสิ่งใด ๆ

พระสูตรกล่าวว่า “ การแสวงหาด้วยความทะยานอยากย่อมเป็นทุกข์ , การไม่แสวงหาด้วยความอยากย่อมเป็นสุข ” เมื่อไม่ทะยานอยาก ท่านดำรงอยู่ในกระแสแห่งอริยมรรค

ประการที่ 4. การเจริญภาวนาธรรม 6* คำว่า ธรรม หมายถึงปรมัตถสัจจะซึ่งถือว่าธรรมชาติทั้งปวงเป็นสิ่งบริสุทธิ์ด้วยธรรมสัจจะนี้ ปรากฏการณ์ทั้งปวงจึงเป็นความว่างกิเลส,ตัณหาและอุปาทาน ทั้งที่เป็นอัตตวิสัยและภาวะวิสัยเป็นภาวะที่ไม่มีอยู่จริง

พระสูตรกล่าวว่า “ ธรรมะ ” เป็นนิชชีวะ คือ มิใช่สัตว์บุคคลเพราะว่างเปล่าจากความมั่นหมายจากสัตว์บุคคล และธรรมะเป็นอนัตตาเพราะว่างเปล่าจากความมั่นหมายแห่งความเป็นตัวตน ( ที่จะปฏิบัติตาม )

บุคคลผู้นั้นย่อมอุทิศทั้งกายชีวิต ตลอดถึงทรัพย์สมบัติให้เป็นทานโดยไม่เสียดายและไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ จากการให้ ไม่ว่าเป็นวัตถุข้าวของเงินทองและไม่มีความลำเอียงยึดติดในการให้ทาน และช่วยสั่งสอนให้ผู้อื่นได้ขัดเกลากิเลส โดยไม่มีความยึดมั่นถือมั่นในรูปแบบ

ดังนั้นเมื่อตนเองปฏิบัติได้สำเร็จแล้ว ก็สามารถช่วยเหลือผู้อื่น และทำให้เขาได้เข้าถึงธรรมได้อย่างสมบูรณ์เช่นกัน เพราะการเอื้ออาทรต่อผู้อื่นก็เป็นการบำเพ็ญบารมีธรรมไปด้วย
และเมื่อบำเพ็ญบารมีธรรมทั้ง 6 ประการ 7* นั้นก็ช่วยกำจัดความหลงของตนเองไปด้วย ซึ่งไม่ต้องไปบำเพ็ญคุณธรรมอย่างอื่น ๆ อีก (นอกจากบารมีธรรม 6 ประการ )

เมื่อตั้งอยู่ในคุณธรรมเหล่านี้ ก็ไม่ต้องปฏิบัติธรรมอันอื่นอีกก็ได้ นี้ความหมายของคำว่า “ การปฏิบัติธรรม

( จบบทที่ 1 ) 
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 04, 2011, 07:51:57 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: คำสอนเซ็น โพธิธรรมคำสอน...
« ตอบกลับ #6 เมื่อ: สิงหาคม 04, 2011, 03:11:46 pm »

    เชิงอรรถบทที่ 1

1* เมื่อพระพุทธศาสนามาสู่ประเทศจีน “ เต๋า ” เคยถูกแปลว่า “ ธรรม ” และ “ โพธิ ” ที่ถูกมองเช่นนี้เพราะพุทธศาสนาถูกมองว่า เป็นศาสนาจากต่างด้าว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเต๋า ในธรรมเทศนา กล่าวว่า “ มรรค คือ เซ็น ”

2*หลังจากที่ท่านมาถึงจีน ท่านโพธิธรรมได้ใช้เวลา 9 ปี โดยการนั่งกรรมฐานหันหน้าสู่กำแพงหิน ณ ถ้ำใกล้ ๆ วัดเส้าหลิน คำว่ากำแพงตามความหมายของท่านโพธิธรรม คือความว่าง ที่สัมพันธ์กับสิ่งตรงข้ามทุกสิ่ง รวมทั้งตนเองและผู้อื่น , คนพาลหรือบัณฑิต

3* อริยสัจมีความแตกต่างกันคือ ก.ทุกชีวิตถูกครอบงำด้วยความทุกข์ (ทุกขสัจจ์ ) ข. ทุกข์เกิดแต่เหตุ ( สมุทัยสัจจ์ ) ค. เหตุแห่งทุกข์สามารถทำให้หมดได้ ( นิโรธสัจจ์ ) ง. ทางให้ถึงความดับทุกข์คือ อริยมรรคมีองค์ 8 ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาเซ็น ( สัมมาสมาธิ )

4* เทพเจ้าทั้งสอง สามารถให้ผลตอบสนองทั้งโชคร้ายและโชคดีตามลำดับ เรื่องนี้มีอยู่ในบทที่ 12 ของนิพพานสูตร

5* ความเหมือนระหว่างจิตวิทยาพุทธศาสนาและไตรภูมิ ของจักรวาลวิทยา ในศาสนาพราหมณ์ คือการใช้คำเหล่านี้ ภูระ , ภูวะ , และ สวระ หรือโลก , บรรยากาศและสวรรค์ ไตรภูมิในพระพุทธศาสนารวมเอากามธาตุเข้าด้วย หรือเรียกว่า กามจรภูมิ - นรก หรือภูมิทั้ง 4 ของมนุสสโลก และสัตว์โลกและสวรรค์หกชั้นแห่งอิฏฐารมณ์ รูปธาตุหรือรูปาวจรภูมิสวรรค์ 4 ชั้น ของสมถะและอรูปธาตุหรือ อรูปาวจรภูมิของวิสุทธิจิต คือความว่าง 4 ระดับ อรูปฌาน 4 สภาวะรวมกันเข้าแล้ว ภูมิทั้งสามเป็นองค์ประกอบของภพสามในบทที่สามของ ปุณฑริกสูตร ( LOTUS SUTRA ) ภูมิสามปรากฏเสมือนบ้านที่กำลังถูกไฟไหม้ดังนั้นการอาศัย ภพทั้งสาม ( กามภพ , รูปภพ , อรูปภพ ) ก็เหมือนอาศัยอยู่ในบ้านที่กำลังถูกไฟไหม้

6* ศัพท์สันสกฤตคำว่า ธรรมะ มาจาก “ ธฺรี ” (Dhri) ธาตุ หมายถึง การทรงไว้, ถือไว้ และหมายถึงสิ่งใดก็ตามที่ถือว่าเป็นความจริงซึ่งแสดงความหมายในทางดีหรือสูงสุด

7* คำว่า ปารมิตา หมายถึง ฝั่งอีกฝั่งหนึ่ง คือ ทาน ศีล ขันติ จาคะ สมาธิและปัญญา ธรรมทั้ง 6 ประการทั้งหมดนี้จะต้องปฏิบัติเพื่อถ่ายถอนออกจาก มิจฉาทิฏฐิ กรรม และวัตถุกามทั้งหลาย เพื่อขจัดโมหะ



ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: คำสอนเซ็น โพธิธรรมคำสอน...
« ตอบกลับ #7 เมื่อ: สิงหาคม 04, 2011, 04:17:07 pm »




บทที่ 2 ธรรมเทศนาดุจกระแสเลือด
( โลหิตสูตร )

BLOOD STREAM  SERMON
คลิ๊กค่ะ
: http://www.tairomdham.net/index.php/topic,220.0.html